[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 13:21:01 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อปัณณกปฏิปทา โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี  (อ่าน 1262 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 87.0.4280.141 Chrome 87.0.4280.141


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 01 กุมภาพันธ์ 2564 16:27:03 »




อปัณณกปฏิปทา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
(เทศน์ที่วัดไชยชนะ วันที่ ๔ เม.ย. ๕๖)

           ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานไปนานแล้วพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ญาติโยมสาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้

          ต่อไปก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้เอามือลงแล้วก็นั่งสมาธิฟัง การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็เริ่มเข้าร่องเข้ารอย เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมในการเข้าปริวาสกรรม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมมาถึงวันที่ ๔ ก็ถือว่าเป็นการขึ้นมานัต เมื่อขึ้นมานัตแล้วผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็ต้องเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมง การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็จะเข้มข้นขึ้นไปตามลำดับ คณะครูบาอาจารย์หรือว่าญาติโยมบางท่านบางรูป ก็อาจจะคิดว่าการเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมงนั้นมันเป็นการทรมานมันได้รับความเจ็บความปวด ความเหนื่อยความยาก ความลำบากต่างๆ อันนี้ก็อาจจะคิดว่าครูบาอาจารย์ท่านทำหนักเกินไปหรือเปล่า ท่านทำไปมีหลักการหรือไม่ คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายก็ขอให้เบาใจ

          การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น การเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมงนั้น ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติตามธรรมดา เป็นการประพฤติปฏิบัติตามหลักการ เดินจงกรม ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมงนั้นก็เพื่อจะทำจิตของเราให้มีสัมปชัญญะ ให้มีสติ ให้การกระทำความเพียรของเรานั้นได้กระทำต่อเนื่อง บางครั้ง บางรูป บางท่าน เดินจงกรม ๓๐ นาทีนั้นจิตใจยังไม่สงบเลย บางรูปบางท่านก็นั่งภาวนา ๓๐ นาที ยังไม่สงบเลย ยังคิดปรุง คิดฟุ้งซ่านต่างๆ นานาประการอยู่ เพราะฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์จึงได้เห็นสมควรว่าการเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมงนี้เป็นหลักการที่จะทำให้คณะครูบาอาจารย์ ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายที่มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ได้เกิดผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้น

          และก็ก่อนอื่นก็จะขออนุโมทนาสาธุการกับท่านพระอาจารย์บุญยัง ฐานสีโล ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส เป็นผู้ที่ดูแลวัดวาอารามแห่งนี้ ท่านก็ได้เสียสละ ได้จัดงานประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมาหลายปีต่อกัน แต่ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้จัดงานประพฤติปฏิบัติธรรมก็เว้นไป ๑ ปี ก็ถือว่าบ้านเราก็ดี วัดเราก็ดี ก็ถือว่าเป็นวัดที่ยังไม่เจริญ เป็นวัดที่อยู่ตามบ้านนอกคอกนาของเราธรรมดา แต่ว่าพวกเราทั้งหลายก็มีน้ำจิตน้ำใจอันดีงาม เรียกว่ามีน้ำจิตน้ำใจอันตีราคามิได้ การจัดงานประพฤติปฏิบัติธรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาของเราเจริญรุ่งเรือง ทำญาติโยมที่อยู่ในบ้าน ได้มีโอกาสได้ให้ทานแก่พระภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ได้ทำให้ภิกษุที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมเดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนาแล้วก็ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ ก็แสดงว่าเราถึงจะเป็นหมู่บ้านที่ไม่ใหญ่มาก แต่พวกเราทั้งหลายนั้นใหญ่ด้วยน้ำใจ ใหญ่ด้วยบุญ ใหญ่ด้วยกุศล ใหญ่ด้วยเจตนา ที่เราทั้งหลายได้เสียสละเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อทำนุบำรุงพระศาสนาให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้ก็น่าอนุโมทนาสาธุการ

          แต่ว่าการที่พวกเราทั้งหลายได้มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าเราพิจารณาตามหลักการเผยแผ่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ให้เราคิด ให้เรานึก ให้เราตริตรองดู เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ทรงเทศน์โปรดใครเป็นคนแรก ใครเป็นคนแรกที่ได้บรรลุจักษุธรรม หรือว่าได้บรรลุดวงตาเห็นธรรม

          เมื่อเราย้อนระลึกนึกถึงไปแล้วเราก็จะเห็นว่าครั้งแรกจริงๆ นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มีโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ แล้วก็อัสสชิ ผู้ที่บรรลุดวงตาเห็นธรรมจริงๆ นั้นก็คือ พระโกณฑัญญะ ก็แสดงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงบำเพ็ญบุญบารมีมาตั้ง ๔ อสงไขยกับอีกแสนมหากัป แต่เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วพระองค์ก็ทรงไปโปรดสาวกครั้งแรก ก็แค่ ๕ รูปแล้วก็มี ๑ รูปเท่านั้นที่ได้ดวงตาเห็นธรรม อันนี้ก็ถือว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงทำการเผยแผ่จากน้อยไปหามาก

          เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายที่อยู่รวมกันนี้ก็ถือว่ามีจำนวนมากพอสมควร ถ้าเราตั้งใจจริงประพฤติปฏิบัติจริงแล้วผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมเกิดขึ้น แก่คณะครูบาอาจารย์ แก่คณะอุบาสกอุบาสิกาแล้ว ผลใหญ่อานิสงส์ใหญ่ก็จะเกิดขึ้นแก่วัดวาอารามแห่งนี้ ผลใหญ่อานิสงส์ใหญ่ก็จะเกิดขึ้นแก่ญาติโยมผู้ถวายความอุปถัมภ์อุปฐาก ก็จะทำให้วัดวาอารามแห่งนี้เจริญรุ่งเรือง ทำให้เงินไหลนอง ทำให้ทองไหลมา ทำให้ญาติโยมทั้งหลายนั้นเกิดศรัทธาเกิดความเลื่อมใสได้ถึงความเคารพบูชาในวัดวาอารามแห่งนี้

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม พวกเราทั้งหลายนั้นก็ควรที่จะตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีเคล็ดลับอยู่ง่ายๆ คือ เราต้องเอาใจใส่ในการประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่าเราทำสักแต่ว่าทำ เราทำสักแต่ว่าพอผ่านไปเป็นชั่วโมง หรือว่าเราทำสักแต่ว่าให้แล้วๆ ไป ถ้าเราทำการประพฤติปฏิบัติธรรมในลักษณะอย่างนี้แล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะไม่ได้ผล เราจะเดินจงกรมเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี หรือหลายๆ ปี แต่เราไม่ตั้งใจทำ เราไม่เอาใจใส่ในการประพฤติปฏิบัติธรรม เวลาเดินจงกรมก็เหม่อลอยไปตามสภาพอารมณ์ต่างๆ ในอดีตในอนาคตก็ตาม เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมของเรานั้นไม่ได้ผล ถึงเราจะปฏิบัตินานก็ถือว่าการปฏิบัติของเรานั้นไร้ค่า เพราะอะไร เพราะปฏิปทาของเรานั้นไม่คู่ควรแก่การบรรลุธรรม ไม่คู่ควรแก่การเห็นธรรม ไม่คู่ควรแก่การรู้แจ้งในพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องตั้งใจจริงแล้วก็จริงใจทำ แล้วก็เอาใจใส่ในการประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ปรากฏขึ้นแก่บุคคลนั้นตามลำดับๆ บุคคลนั้นก็สามารถที่จะเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วก็จะได้เข้าใจในธรรมที่ตนเองได้เข้าถึง เข้าใจในธรรมที่ตนเองได้บรรลุได้รู้แจ้ง อันนี้เป็นหลักการของการประพฤติปฏิบัติธรรม

          แต่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัส การประพฤติปฏิบัติธรรมไว้มากมายหลายที่ ทั้งในพระสูตร ทั้งในอภิธรรม ทั้งในพระวินัย พระองค์ก็ตรัสในสูตรต่างๆ ไว้ในที่ต่างๆ ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างไรจึงจะได้ผลดี ทำอย่างไรการประพฤติปฏิบัติธรรมจึงจะได้ผลไว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎกมากมาย

          วันนี้กระผมก็จะได้น้อมนำเอาธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในสูตรหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นมีพราหมณ์คนหนึ่ง เข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกราบทูลว่า การสอนภิกษุก็ดี สอนสาวกก็ดี การสอนนั้นสอนอย่างไร สาวกก็ดี ภิกษุทั้งหลายทั้งปวงก็ดี จึงจะได้รู้แจ้งแทงตลอด จึงจะได้เข้าใจในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไว

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อนพราหมณ์ การที่จะสอนบุคคลอื่นนั้นต้องสอนไปตามลำดับ” หรือว่าสอนการเรียนรู้การศึกษาไปตามลำดับ สอนการประพฤติปฏิบัติไปตามลำดับ แล้วก็รู้แจ้งไปตามลำดับ อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น

          เปรียบเสมือนกับบุคคลผู้ฝึกม้าให้ชาญฉลาด เมื่อได้ม้าตัวพอที่จะมีนิสัยฝึกได้นั้น เมื่อได้มาแล้วประการแรกก็ต้องให้รู้จักการใส่บังเหียนเสียก่อน เมื่อรู้จักการสวมบังเหียนแล้วจึงสอนอย่างอื่นให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

          เปรียบเสมือนกับบุคคลผู้ปรารถนาจะเข้ามาสู่พุทธศาสนา หรือว่าบุคคลผู้ที่จะฝึกบุคคลอื่น ประการแรกก็ต้องให้บุคคลนั้นตั้งมั่นในศีลเสียก่อน เมื่อตั้งมั่นในศีลเรียบร้อยแล้วจึงจะสอนคุณธรรมอย่างอื่นให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

          เหมือนคณะครูบาอาจารย์ที่ได้มาเข้าปริวาสกรรมนี้แหละ ประการต้นหรือว่าประการแรกเราก็เข้ามาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม ชำระศีลของตนเองให้บริสุทธิ์เผื่อเหนือตกใต้ เพราะว่าศีลของภิกษุนั้นมี ๒๒๗ ข้อ มีมากมายบางครั้งเราอาจจะผิดพลาด ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่างๆ เราก็มาอยู่ปริวาสกรรม ก็ถือว่าเป็นการชำระศีลของเราให้หมดจดให้ขาวสะอาด

          หรือว่าญาติโยมทั้งหลายก็มีโอกาสได้มารักษาศีล ๘ อันนี้ก็ถือว่าเป็นการฝึกในเบื้องต้น คนเรานั้นก็ต้องมีศีลเสียก่อนเพราะว่าศีลนั้นถือว่าเป็นปทัฏฐาน หรือว่าเป็นมารดาแห่งธรรม เป็นที่รองรับของธรรมทั้งหลายทั้งปวง เราศึกษาในพระไตรปิฎกก็ดี ในวิสุทธิมรรคก็ดี ถ้าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ต้องอาบัติปราชิก หรือว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสสภิกษุเหล่านั้นก็ไม่สามารถจะยังปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ยังฌานสมาบัติให้เกิดขึ้นมาได้ ไม่ต้องกล่าวไปถึงการบรรลุมรรคผลนิพพาน

          เพราะฉะนั้น ศีลนั้นถือว่าเป็นแผ่นดิน เป็นที่รองรับแห่งธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นมารดาของธรรม ที่ยังธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้นมา ถ้าไม่มีศีลแล้วธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นศีลนั้นถือว่าเป็นเบื้องต้นแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เมื่อบุคคลตั้งมั่นในศีลดีแล้ว เราค่อยแนะนำธรรมอันยิ่งๆ ขึ้นไปกว่านี้อีก คือเมื่อบุคคลตั้งมั่นในศีลแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัส ให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นได้สำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมกาย สำรวมใจ เรียกว่าให้ภิกษุนั้นสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้นให้บริบูรณ์สมบูรณ์ขึ้นมา คือให้สำรวมในขณะที่ตาเห็นรูปก็ไม่ถือเอาโดยนิมิต

          ถือเอาโดยนิมิตก็คือ ไม่ให้เราถือเอาโดยทั้งหมด เช่นว่ารูปสวย รูปงาม หรือว่าผู้หญิงงาม กายงามอะไรทำนองนี้ หรือว่าสิ่งที่เราชอบใจนี้เรียกว่าถือโดยนิมิต

          หรือว่าถือโดยอนุพยัญชนะ การถือเอาโดยจำแนก เช่นตาสวย หูสวย ปากสวย แขนสวย ขาสวย เป็นต้น แยกออกเป็นส่วนๆ นี้ท่านให้เราสำรวมเพื่อที่จะไม่เกิดความชอบ ความชัง หรือว่าเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ในขณะที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานั้นได้สัมผัสอารมณ์ต่างๆ

          เพราะฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์ท่านจึงแนะนำพร่ำสอนให้เราสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา เพราะอะไร เพราะขณะที่ตาเห็นรูปไม่ใช่ว่าบุญจะเกิดขึ้นมาอย่างเดียว บางครั้งบาปมันก็เกิดขึ้นมาด้วย ขณะที่หูได้ยินเสียงไม่ใช่ว่าบุญจะเกิดขึ้นมาอย่างเดียว บางครั้งบาปมันก็เกิดขึ้นมาด้วย บางครั้งก็ความโกรธเกิดขึ้นด้วย บางครั้งก็ความโลภเกิดขึ้นด้วย บางครั้งก็ความหลงหรือราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทานต่างๆ เกิดขึ้นมาด้วย

          เพราะฉะนั้น เวลาตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายถูกต้องสัมผัส หรือว่าใจรับรู้อารมณ์ต่างๆ ก็ดีท่านจึงให้เรานั้นได้กำหนด ให้สำรวม ถ้าเราสำรวมได้อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงก็จะไม่มารบกวนจิตใจของเรามาก ใจของเราก็จะเป็นกลาง เมื่อใจของเราเป็นกลางแล้วการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็จะสงบขึ้นมา อันนี้มันเป็นหลักการประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อเราสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัส ให้เรานั้นสำรวมยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยการให้เรานั้นรู้จักประมาณในการโภชนาหาร หรือว่าให้เรารู้จักในการฉันภัตตาหารว่าการฉันภัตตาหารนั้น เราฉันเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป ไม่ได้ฉันเพื่อความสดใสเปล่งปลั่ง ไม่ได้ฉันเพื่อความเอร็ดอร่อย ไม่ได้ฉันเพื่อความมัวเมา ไม่ได้ฉันเพื่อความสนุกสนาน แต่เราฉันเพื่อยังอัตภาพให้พอเป็นไปได้

          เพราะฉะนั้นเวลาฉันอาหารนั้นท่านจึงให้ฉันพอดี ไม่ฉันมากเกินไป ไม่ฉันน้อยเกินไป ถ้าเราฉันมากเกินไปหนังท้องตึงมันก็ดึงหนังตาทำให้เราโงกง่วง ทำให้เกิดความเมา ทำให้สติของเรานั้นเลือนลาง ทำให้การประพฤติปฏิบัติของเรานั้นไม่ได้ผล เพราะอะไร เพราะว่าเราทานอาหารมากเกินไป แต่ถ้าเราทานอาหารน้อยเกินไปก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเหน็ดเหนื่อยในตอน ๔ โมงเย็น ๕ โมงเย็น ทำให้เรานั้นเพลีย ทำให้เรามีจิตใจอ่อนแอ ทำจิตใจของเราให้ท้อแท้ เพราะอะไร เพราะเรารับประทานอาหารไม่สมบูรณ์ ทานอาหารไม่เพียงพอ

          แต่ถ้าเราทานอาหารไม่ฉลาด เราทานประเภทที่บำรุงเกินไป อย่างเช่น เราฉันนมมากเกินไป เราฉันไข่ดาวมากเกินไป โปรตีนมากเกินไปก็ทำให้เราเกิดราคะขึ้นมา เวลาเราเดินจงกรมก็จะคิดถึงแต่เรื่องราคะขึ้นมา เรานั่งภาวนาก็จะคิดถึงแต่เรื่องราคะ จิตใจของเราก็เพลินไปตามอำนาจของราคะ เราเดินจงกรมทั้งวันก็นึกแต่เรื่องราคะ ก็ได้แต่เรื่องราคะผลของการปฏิบัติธรรมก็ไม่สามารถที่จะเกิดผลขึ้นมาได้ จิตใจก็หดหู่ จิตใจก็เศร้าหมอง จิตใจก็ฟุ้งซ่าน

          บางรูปบางท่านฉันอาหารที่มันหยาบเกินไป มันหนืดเกินไป มันเผ็ดเกินไป ทำให้ย่อยยาก ทำให้ไตของเรามันทำงานมากเกินไป ทำให้น้ำย่อยมันทำงานมากเกินไป พอถึงเวลา ๔ โมงเย็น ๕ โมงเย็น ก็จะทำให้เราเกิดความหงุดหงิด เกิดความรำคาญ เพื่อนพูดนิดพูดหน่อยก็พลอยแต่จะโกรธ พลอยแต่จะเกิดความหงุดหงิด เดินจงกรมทั้งวันคณะครูบาอาจารย์กำหนดไม่ถูกใจ กำหนดช้าเกินไป กำหนดเร็วเกินไป กำหนดเบาเกินไป กำหนดแรงเกินไปอะไรทำนองนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความหงุดหงิด เกิดความรำคาญ เดินจงกรมทั้งวันก็มีแต่ความหงุดหงิดความรำคาญ เวลานั่งภาวนาทั้งวันก็เกิดความหงุดหงิดเกิดความรำคาญทั้งวัน เพราะอะไร เพราะการที่เราทั้งหลายนั้นรับประทานอาหารไม่ถูก เรารับประทานอาหารน้อยเกินไปก็ไม่ดี มากเกินไปก็ไม่ดี ท่านกล่าวไว้ว่าเหลืออีกประมาณ ๕ คำเราถึงอิ่มท่านให้เรานั้นพอแล้วก็ดื่มน้ำตามก็จะพอดี ก็จะทำให้เรานั้นไม่ง่วง ทำให้เรานั้นไม่ได้เมาในอาหารจนเกินไป การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็จะได้ผล บางรูปบางท่านติดในอาหารเกินไป เห็นอาหารมันลำบาก เห็นอาหารมันไม่ดี เห็นอาหารไม่ถูกปากอะไรทำนองนี้ก็พาลพาโล ไม่อยากประพฤติปฏิบัติธรรม พูดอย่างโน้นพูดอย่างนี้ ในลักษณะอย่างนี้ก็แสดงว่าบุคคลนั้นไม่ได้พิจารณาว่าการฉันอาหารนั้นเป็นการยังอัตภาพให้เป็นไป

          เพราะว่าเราเป็นภิกษุผู้บวชในพระศาสนานั้น เราต้องอาศัยการบิณฑบาตเป็นการเลี้ยงชีวิต เวลาเราไปบิณฑบาตบางครั้งคนจนก็ใส่เราด้วย บางครั้งคนรวยก็ใส่เราด้วย บางครั้งคนรวยๆ เขาก็มีตังค์ มีเงินมีทองเขาก็ใส่อาหารที่ประณีต แต่บางครั้งชาวไร่ชาวนาก็มีตามอัตภาพ ตามยถากรรมก็ใส่ไปตามนั้น บางครั้งขอทานใส่บาตรเราก็มี บางครั้งก็เอาของที่ไปขอทานมามาใส่บาตรเรา ในลักษณะอย่างนี้เราเป็นภิกษุเราก็ต้องรับ เพราะอะไร เพราะสงเคราะห์ เรียกว่าสงเคราะห์เขาให้ได้รับบุญ สงเคราะห์เขาให้ได้รับกุศลอย่างมากมาย

          เพราะฉะนั้นเรานึกถึงตอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงออกบวชใหม่ๆ ขณะที่พระองค์ทรงอยู่ในพระราชวังเสวยพระกระยาหารอันปราณีตในถาดทองคำ แต่พอออกบวชวันแรกพระองค์ต้องบิณฑบาตตามตรอกตามซอย ตามบ้านเล็ก บ้านน้อย บ้านใหญ่ อาหารอันหยาบบ้าง ประณีตบ้าง แล้วก็ผสมปนเปกัน แต่พระองค์ทรงนึกพินิจพิจารณาดูว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ดี ความเป็นสมณะก็ดีนั้นเนื่องด้วยบุคคลอื่น การฉันอาหารไม่จำเป็นว่าอาหารนั้นจะประณีตหรือหยาบ อาหารจะอร่อยหรือไม่อร่อย การฉันอาหารนั้นฉันเพื่ออะไร นี้พระองค์ทรงตักเตือนร่างกายของพระองค์ ตักเตือนจิตของพระองค์ ก็นึกว่าการฉันอาหารนั้นฉันเพื่อยังอัตภาพให้พอเป็นไปได้ เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ พระองค์เสวยอาหารปนกันที่ของหยาบบ้างละเอียดบ้างนั้น ไม่มีความรังเกียจอะไร อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เป็นถึงเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ พระองค์ก็เสวยพระกระยาหารอย่างนั้นได้

          เพราะฉะนั้นเวลาฉันภัตตาหาร ให้เราพิจารณาเอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นตัวอย่าง เวลาเราเดินบิณฑบาต คนจนก็ใส่ คนรวยก็ใส่ บางครั้งคนหนุ่มก็ใส่ คนสาวก็ใส่ คนเฒ่า คนแก่ ก็ใส่เหมือนกัน เรามองดูแล้วก็มีอาหารหลากหลาย เพราะฉะนั้นเราจึงปลงธรรมสังเวชว่าเรานั้นมีชีวิตเนื่องด้วยคนอื่น คนอื่นถวายอย่างไรเราก็ฉันอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการฉันอาหารบิณฑบาตนั้นจึงถือว่าเป็นการปลงสังเวชเหมือนกัน

          เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสให้เรานั้นบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นกรณียกิจ เป็นกิจที่เราต้องกระทำ คือบิณฑบาตนั้นเราต้องกระทำ เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะให้ภิกษุทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่หลงตัวเอง ไม่หลงตัวเองว่าตนเองนั้นมีเงินมีทอง ตนเองนั้นเป็นเจ้าอาวาส ตนเองนั้นเป็นเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด ญาติโยมมาศรัทธา มีอาหารเยอะแยะมากมายอะไรทำนองนี้ ไม่ให้หลง เพราะอะไร

          เพราะขณะที่ไปบิณฑบาตนั้นถ้าเราบิณฑบาตด้วยการพิจารณาใคร่ครวญธรรมแล้วเราจะได้ประโยชน์มากมาย ได้ความเข้าใจในสัจธรรมไม่หลงมัวเมาในความเป็นสมณะ ชื่อว่าเรานั้นอาศัยคนอื่นเลี้ยงชีวิตคล้ายๆ เป็นปรทัตตูปชีวีเปรต อาศัยบุคคลอื่นเป็นอยู่ อาศัยก้อนข้าวบุคคลอื่นทิ้งลงในบาตรทำให้เราได้มีชีวิตหรืออัตภาพเป็นอยู่ได้

          ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้แล้วก็จะทำให้เรานั้นเกิดความเพียร เกิดความขยัน เกิดความอดทนว่าการที่เราอยู่ในเพศของนักบวชนั้นถ้าเราไม่มีสมาธิเป็นเรือนใจ ความสุขก็จะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้าเรามีสมาธิเป็นเรือนใจ มีเรือนแก้วเป็นที่หลบเป็นที่ซ่อนแล้ว ปีติก็ดี ปัสสัทธิก็ดี สมาธิก็ดี มันเกิดขึ้นมาก็ทำให้เราเกิดความสุขเกิดความสบายได้

          หรือว่าเราเป็นนักบวช เป็นเพศของบรรพชิต ถ้าเรายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน การอยู่ในเพศของนักบวช การอยู่ในเพศของบรรพชิตนั้นก็ลำบาก ไหนจะต้องต่อสู้กับอารมณ์ต่างๆ ไหนจะต้องต่อสู้กับความพอใจไม่พอใจ ความชอบใจ ไม่ชอบใจ ความโกรธ ความโลภ ความหลง มากระทบอยู่ทุกวี่ทุกวัน ราคะ มานะ ทิฏฐิต่างๆ ก็มากระทบทุกวี่ทุกวัน หรือว่าเรานั้นกระทำตามอำนาจของความโกรธ ความโลภ ความหลงอย่างไร และเวลาใด

          เพราะฉะนั้นการอยู่ในฐานะของนักบวชนั้นจึงเป็นฐานะที่ลำบาก ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นโอกาสอันดีที่คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้เรานั้นจงตั้งใจ ใครจะตั้งใจปฏิบัติหรือไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติก็เป็นเรื่องของบุคคลอื่น แต่เราก็ควรที่จะตั้งใจ แล้วเราก็พยายามประพฤติปฏิบัติธรรมจนกว่าจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นการฉันภัตตาหารนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

          เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงแนะนำในเรื่องการฉันภัตตาหารแล้ว พระองค์ทรงสอนกรรมฐานนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยการให้ประกอบความเพียร ให้บุคคลนั้นประกอบการเพียรในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ เพียรในการยืน ยืนก็กำหนด นั่งก็กำหนด เวลาเดินจงกรมก็เพียรในการกำหนดอาการของการเดินว่า อาการยกเป็นอย่างไร อาการย่างเป็นอย่างไร อาการเหยียบเป็นอย่างไร อาหารต้นพองเป็นอย่างไร สุดพองเป็นอย่างไร ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบเป็นอย่างไร มีความเพียรในการกำหนด

          เวลาเราจะเดินไปก็ดี เวลาเราจะถอยหลังก็ดี กำหนด “รู้หนอๆ” หรือ “เดินหนอๆ” หรือว่า “นั่งหนอๆ” เรากำหนดอยู่ตลอดเวลา เวลาเรานุ่งสบงห่มจีวรเราก็กำหนด “นุ่งหนอๆ” หรือว่าเราอาบน้ำ เราก็ “อาบหนอๆ” เวลาเราฉันก็ “ฉันหนอๆ” เวลาเรานิ่งอยู่เราก็ตั้งใจกำหนดอาการพองอาการยุบอย่างใดอย่างหนึ่ง คือไม่ให้สติของเรานั้นเผลอไปตามอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งให้มีหลักกำหนดอยู่ตลอดเวลา อันนี้เรียกว่าเรามีความเพียร

          เราจะทำกิจอะไรอยู่ก็ตามเราก็พยายามใช้ความเพียรนั้นกำหนดอยู่ตลอดเวลา ถ้าผู้ใดกำหนดอยู่ตลอดเวลาแล้วผู้นั้นชื่อว่ามีความเพียร กำหนดให้ทันปัจจุบันธรรมอยู่ตลอดเวลานั้นชื่อว่ามีความเพียร นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น ให้เราเพียรในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ เว้นไว้แต่เผลอเป็นหลับ

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงให้ภิกษุนั้นตั้งอยู่ในความเพียรแล้ว พระองค์ก็ทรงให้ภิกษุนั้นได้ตั้งอยู่ในสติแล้วก็สัมปชัญญะ เพราะว่าสติก็ดี สัมปชัญญะก็ดี ถือว่าเป็นบรมธรรม บุคคลผู้ที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นต้องอาศัยสติและสัมปชัญญะ ตัวสติก็ดี สัมปชัญญะก็ดี เป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนา เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ ตัวสติก็ดี ตัววิปัสสนาก็ดี เป็นเหตุให้เกิดมรรคเกิดผลเกิดพระนิพพาน

          เพราะฉะนั้นเราจะได้สมาธิหรือได้สมาบัติหรือไม่ได้สมาบัติก็อยู่ที่สติสัมปชัญญะของเรานั้นแหละ มีสติสมบูรณ์ไหม สมาธิเกิดไหม วิปัสสนาญาณเกิดไหม บุคคลจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานหรือไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็อยู่ที่ความสมบูรณ์ของสติ ความสมบูรณ์ของสมาธิ ถ้าสติของเราไม่สมบูรณ์ ประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่ถ้าสติของเรามันสมบูรณ์ สัมปชัญญะของเราสมบูรณ์ บางครั้งเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม ๕ วัน ๑๐ วัน เราก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ นี้เรียกว่าความสมบูรณ์แห่งสติและก็สัมปชัญญะมันเป็นประโยชน์ในลักษณะอย่างนี้

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสให้ภิกษุตลอดถึงญาติโยมทั้งหลาย ตั้งมั่นอยู่ในสติสัมปชัญญะแล้ว พระองค์ก็ทรงตรัสให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้ภิกษุทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นเสพเสนาสนะอันสงัด คือเมื่อมีสติมีสัมปชัญญะแล้ว ก็หาที่อันสัปปายะ หาที่อันสงัดเป็นเรือนว่าง ถ้ำก็ดี หน้าผาก็ดี หรือว่าซอกเขาก็ดี หรือว่ารองฟางใต้ร่มไม้ต่างๆ ที่มันสัปปายะ ก็เดินจงกรมกลับไปกลับมา แล้วก็นั่งคู้บัลลังก์ ประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ไม่เกลื่อนกล่นด้วยผู้คน ไม่เกลื่อนกล่นด้วยเสียงดนตรี ไม่เกลื่อนกล่นด้วยการทำมาหากินต่างๆ ไม่มีสัตว์ทั้งหลายมารบกวน ไม่มีเสียงปี่ เสียงฆ้อง เสียงแตร เสียงสังข์ต่างๆ มารบกวน เป็นอารามที่สงบ เป็นอารามที่เงียบ เหมาะแก่การเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหมาะแก่การเจริญภาวนา เหมาะแก่การทำความเพียร เหมาะแก่การยึดเอาเป็นสมรภูมิสำหรับเข่นฆ่ากิเลสทั้งหลายทั้งปวง มีการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นต้น

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่เราทั้งหลายได้มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ เราอย่าไปเห็นอย่างอื่นสำคัญมากกว่าปฏิปทา อย่าเห็นเรื่องอาหารสำคัญมากกว่าปฏิปทา อย่าเห็นเรื่องเสนาสนะสำคัญมากกว่าปฏิปทา อย่าเห็นเรื่องวัตถุสำคัญมากกว่าปฏิปทา เพราะปฏิปทาคือหลักการสอนที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชปริยัติยากร หลวงพ่อใหญ่วัดพิชโสภารามได้แนะนำพร่ำสอน แนะนำลูกศิษย์ลูกหามาก็ตั้งเกือบ ๓๐ เกือบ ๔๐ ปี ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ได้ผลมาตราบเท่าทุกวันนี้

          เพราะฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์มีโอกาสได้เดินจงกรม นั่งภาวนา ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้พยายามทำเต็มที่ อย่าประมาท อย่ามัวเมา อย่าเลินเล่อ เพราะบุคคลผู้จะอยู่ในพระศาสนาได้ เพื่อความสุข เพื่อความสบาย ก็คือบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้ผล บุคคลผู้จะเจริญรุ่งเรืองในพุทธศาสนา เจริญด้วยศีล เจริญด้วยสมาธิ เจริญด้วยวิปัสสนา เจริญด้วยปัญญาต่างๆ นั้นก็ต้องอาศัยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม

          เพราะฉะนั้นโอกาสดีที่เราจะต้องพิสูจน์บารมีของตนเอง บางครั้งเราเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เราไม่รู้จักการเดินจงกรม ไม่รู้จักการนั่งภาวนา บางครั้งบารมีของเราก็ยังไม่ฉายแสง บารมีของเรายังไม่ปรากฏขึ้นมา บารมีของเรายังไม่เจิดจ้า บางครั้งไม่ได้มีโอกาสเดินจงกรมนั่งภาวนาก็สิกขาลาเพศไปเสียก่อน มีภิกษุหลายรูปที่มากล่าวให้กระผมฟัง ว่าผมบวชมาแล้ว ๒ ครั้งแล้ว บวชมาแล้ว ครั้งหนึ่งแล้ว เราบวชมาแล้วไม่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานก็สิกขาลาเพศไป ตอนนี้ผมอายุ ๖๐ ปี ผมเกษียณมาบวชอีกครั้งหนึ่ง คิดว่าบวชครั้งก่อนๆ โน้นไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม จะมาบวชในพรรษาและประพฤติปฏิบัติธรรม

          เมื่อมาบวชแล้วก็ได้เปล่งอุทานว่า แต่ก่อนโน้นถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว มันได้ผลอย่างนี้ ได้สมาธิอย่างนี้ ได้ความสุขอย่างนี้ ได้ความเห็นความเข้าใจอย่างนี้ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานอย่างนี้แล้ว คงจะไม่ได้แต่งการแต่งงาน คงจะไม่ได้มีครอบมีครัว คงจะไม่ได้สึกตั้งแต่โน้น ตั้งแต่บวชครั้งแรก นี้บางคนบางท่านก็ได้หวนระลึกนึกไปอะไรอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะอุปนิสัยแห่งการประพฤติปฏิบัติมีอยู่ แต่ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นไม่มี

          เพราะฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม บางครั้งบางคราวเราอาจจะเกิดเป็นชาวไร่ชาวนา บางครั้งบาคราวเราอาจจะเกิดเป็นคนโง่ บางครั้งบางคราวเราอาจจะเกิดเป็นคนไม่เฉลียวฉลาด บางครั้งบางคราวเราอาจจะเกิดเป็นอันธพาล ตีรันฟันแทงชกต่อยกัน เราอาจจะเป็นคนกินเหล้าเมายา เราอาจจะเป็นคนสูบกัญชาผงขาวเฮโรอีนอะไรต่างๆ สิ่งเหล่านั้นบางครั้งบางคราวเรายังไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม เราอาจจะหลงสิ่งเหล่านั้นได้

          แต่เมื่อเรามีกัลยาณมิตร มีครูบาอาจารย์มาแนะนำพร่ำสอน มีโอกาสได้มาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว เรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วปีติมันเกิดขึ้นมา ปัสสัทธิมันเกิดขึ้นมา ทำให้เราละความไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงนั้นได้ แล้วก็ทำให้วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมานั้นแล้วก็ทำให้เราสลัดทิฏฐิ ความผิดต่างๆ นั้นออกไปได้ แต่ก่อนโน้นเราคิดว่าการตีรันฟันแทงมันดี เราก็เห็นเป็นของไม่ดี แต่ก่อนโน้นเราคิดว่าการสูบบุหรี่หรือว่าการติดยาเสพติดดี แต่เมื่อปีติปัสสัทธิมันเกิดเราก็เห็นเป็นของที่ไม่ดี ไม่ประเสริฐ แต่ก่อนโน้นเราเห็นความโกรธเป็นของดี แต่เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดแล้วเราก็เห็นเป็นของชั่ว แต่ก่อนโน้นความเจ้าชู้ก็ดี ความมากผัวหลายเมียก็ดี หรือว่าการทำมิจฉาจารเราคิดว่าเป็นของดี แต่เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมาแล้วเราเห็นว่าเป็นความชั่ว เพราะอะไร เพราะการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

          เพราะฉะนั้นการเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่พวกเราทั้งหลายกระทำอยู่นั้นสามารถทำคนร้ายให้กลายเป็นดี ทำคนชั่วให้กลายเป็นคนดีได้ ทำคนที่ไม่ประเสริฐให้ประเสริฐได้ ทำคนที่ไม่ตั้งมั่นในพระศาสนาให้ตั้งมั่นในพระศาสนาได้ เพราะฉะนั้นบุคคลที่มีโอกาสได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมในลักษณะอย่างนี้ควรที่จะรีบเร่งสร้างสมอบรมบารมีของเราให้เร็วที่สุด

          เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมช้าบางครั้งบางคราวเราอาจจะไม่มีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรม บางท่านบางคนผลัดวันประกันพรุ่ง พรุ่งนี้ฉันจะไป มะรืนนี้ฉันจะไป ปีนี้ฉันไม่ไปหรอกอาจารย์ ปีหน้าอาจารย์จัดแล้วฉันจะไปอะไรทำนองนี้ บ้านนี้ไม่ไป ไปบ้านหน้าจึงจะไปประพฤติปฏิบัติค่ะอาจารย์ แต่เมื่ออยู่ไปอยู่มาตายไปก็มี ตายไปด้วยโรคปัจจุบันทันด่วนก็มี

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 87.0.4280.141 Chrome 87.0.4280.141


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 01 กุมภาพันธ์ 2564 16:28:09 »




อปัณณกปฏิปทา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
(เทศน์ที่วัดไชยชนะ วันที่ ๔ เม.ย. ๕๖)

            เพราะฉะนั้นการผัดวันประกันพรุ่งนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นผู้ประมาท เราทั้งกลายก็อย่าเป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลัง ลำบากเมื่อหนุ่มดีกว่ากลุ้มใจตอนแก่ ถ้าเราลำบากตอนหนุ่มแล้วเราเจริญสมาธิจนได้สมาธิ เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน พอถึงเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย ปีติธรรมมันเกิดขึ้นมา ถึงเวลาเราแก่ร่างกายมันหมดสภาพ แขนหมดสภาพ หูหมดสภาพ ตามันหมดสภาพ แต่ใจนั้นทรงศีลทรงธรรม ทรงมรรคทรงผล ทรงความเป็นพระโสดาบัน ทรงความเป็นพระสกทาคามี ทรงความเป็นพระอนาคามี ทรงความเป็นพระอรหันต์ เป็นจิตใจของคนแก่ที่ร่างกายทุพพลภาพ แต่จิตใจนั้นเต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม เป็นเนื้อนาบุญของโลกตราบเท่าลมหายใจเฮือกสุดท้าย

          เพราะฉะนั้นการที่บุคคลลำบากตอนหนุ่ม แต่ว่าจะยิ้มได้ในตอนแก่ ยิ้มรับความแก่ ยิ้มรับความเจ็บ ยิ้มรับความตาย ยิ้มรับความเปลี่ยนแปลงภพชาติต่างๆ แต่ถ้าผู้ใดไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมพอถึงตอนแก่แล้วก็กลุ้มใจตอนแก่ หลงหน้าลืมหลัง พะวงหน้าพะวงหลัง คิดเรื่องลูกก็ยังไม่หาย มาคิดเรื่องหลาน ก็มาคิดเรื่องบ้าน คิดเรื่องบ้านไม่หายก็มาคิดเรื่องทรัพย์สินที่ไร่ที่นาต่างๆ มีจิตใจสาละวนสาละเวียนอยู่กับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง คิดดูซิว่าเวลาเกิดความเจ็บเป็นอย่างไร เวลาเกิดความตายไปจะเป็นอย่างไร จะไม่ไปสู่อบายภูมิหรือ จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตเศร้าหมองด้วยกิเลสทั้งหลายทั้งปวงแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้ ย่อมไปสู่ทุคตินั้นเป็นแน่แท้ ถ้าเราแปลด้วยความเข้าใจ คือถ้าจิตเศร้าหมองนั้นย่อมไปสู่ทุคตินั้นแน่นอน

          เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายนั้นจึงต้องพยายามอย่าให้มันลำบากตอนแก่ เหมือนที่เราเห็นคณะครูบาอาจารย์ที่ท่านมีคุณธรรม พอถึงตอนแก่แล้วญาติโยมก็ไปกราบไปไหว้ ญาติโยมจากภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง ไปกราบไปไหว้ เพราะอะไร เพราะคุณธรรม ไม่ได้ไปกราบตรงที่สังขารที่มันร่วงโรยของท่าน ไม่ได้ไปกราบตรงที่หนังเหี่ยวๆ ผมขาวๆ หรือว่าหลังที่โค้งๆ งอๆ ของท่าน ไปกราบตรงที่คุณธรรมของท่าน เหมือนไปกราบหลวงปู่แหวน หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่มั่นอะไรต่างๆ ไปกราบหลวงปู่ชาที่ท่านแก่ท่านเฒ่า ไปกราบหลวงพ่อใหญ่วัดพิชโสภาราม ร่างกายท่านทุพพลภาพหมดแล้ว ไม่น่าดูไม่น่าชม แต่เวลาเราไปกราบนั้นไปกราบคุณธรรม

          คนแก่ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมได้ผลแล้วจะมีความต่างจากคนแก่ที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ถึงท่านตายไปคนทั้งหลายทั้งปวงก็หลั่งไหลไปกราบศพท่าน เผาศพแล้วยังไม่พอยังแย่งกันเอากระดูกอีก แย่งกันเอาพระธาตุอีก เมื่อพระธาตุหมดแล้วก็แย่งกันเอาขี้เถ้าอีก เอาไปใส่ผอบ เอาไปบูชา ขี้เถ้าก็ดี อังคารก็ดีก็เป็นพระธาตุ กระดูกก็เป็นพระธาตุขึ้นมา เพราะอะไร เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรม

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นลำบากตอนหนุ่ม แล้วเราก็จะยิ้มได้ตอนแก่ นอนสบายๆ ชื่อว่ามันแก่มันก็ต้องแก่แหละ จะหนีความแก่ไปไม่ได้ เมื่อแก่แล้วมันก็ต้องเจ็บแหละ จะหนีพ้นจากความเจ็บไม่ได้ เมื่อเจ็บแล้วเราก็ต้องตายแน่นอน ชัวร์ เราต้องตายแน่นอนแต่เราไม่วิตกไม่กังวล เพราะอะไร เพราะเรามีคุณธรรมแล้ว เรามีเครื่องประกันชีวิตแล้ว นี้ถ้าเราพิจารณาถึงสิ่งนี้แล้วเราก็จะเข้าใจแล้วก็เกิดความเพียร เกิดความมุมานะ เกิดความบากบั่น ไม่เห็นแก่เหน็ดไม่เห็นแก่เหนื่อย ไม่เห็นแก่หนาว ไม่เห็นแก่ร้อน ไม่เห็นแก่หิว ไม่เห็นแก่กระหาย ไม่เห็นแก่เหลือบยุงที่มันมากัด เรามีความเพียรต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้นในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ อันนี้เรียกว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมใจเพชรมันเป็นอย่างนั้น ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมที่เราจัดขึ้นมานั้นเราต้องอาศัยผลเกิดจากบุคคลที่ใจเด็ดเดี่ยวอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม

          กระผมเองก็กล่าวธรรมมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติการแสดงพระธรรมเทศนาไว้แต่เพียงเท่านี้ ในท้ายที่สุดนี้ด้วยอำนาจของพระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยอำนาจของพระธรรมทั้งปวง ด้วยอำนาจของพระสงฆ์ทั้งปวง ด้วยอำนาจของคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงที่มาร่วมประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขออำนาจคุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจงได้มารวมกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวะปัจจัยส่งเสริมให้คณะครูบาอาจารย์ที่เป็นอาจารย์กรรมก็ดี ลูกกรรมก็ดี ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ดี ที่ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกัน จงเป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งมรรคผลพระนิพพานในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อุปาทาน โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 0 1139 กระทู้ล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2563 15:52:49
โดย Maintenence
ความหมายของธรรมะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 992 กระทู้ล่าสุด 02 ธันวาคม 2563 14:20:54
โดย Maintenence
โอวาทปาฏิโมกข์ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1158 กระทู้ล่าสุด 14 ธันวาคม 2563 14:29:31
โดย Maintenence
การอุทิศส่วนบุญ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1052 กระทู้ล่าสุด 22 ธันวาคม 2563 14:14:10
โดย Maintenence
การสำรวมอินทรีย โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1133 กระทู้ล่าสุด 15 กรกฎาคม 2564 16:07:16
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.554 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 27 กันยายน 2566 23:32:27