[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
18 เมษายน 2567 19:44:06 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เจ้าจอมคนโปรดแห่งพระราชสำนักฝ่ายใน กับการชิงดีชิงเด่นผ่าน “เจ้าจอมก๊กออ”  (อ่าน 1215 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2319


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 03 มีนาคม 2564 15:12:25 »


จากซ้าย : เจ้าจอมมารดาอ่อน, เจ้าจอมเอี่ยม, เจ้าจอมเอิบ, เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน
ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ.2564

เจ้าจอมคนโปรดแห่งพระราชสำนักฝ่ายใน กับการชิงดีชิงเด่นผ่าน “เจ้าจอมก๊กออ”

เจ้าจอม” คือบาทบริจาริกาผู้ถวายงานรับใช้พระมหากษัตริย์ มีตำแหน่งเทียบเท่าพระสนม หากเจ้าจอมท่านใดมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาก็จะเรียกว่า “เจ้าจอมมารดา” บรรดาเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เป็นที่รู้จักในหน้าประวัติศาสตร์มากกลุ่มหนึ่งคือ “เจ้าจอมก๊กออ”

เจ้าจอมก๊กออ ประกอบไปด้วยเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมรวม 5 ท่าน เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงอู่ ประกอบไปด้วย เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ เจ้าจอมเอื้อน ด้วยเหตุที่มีชื่อด้วยอักษร อ.อ่าง จึงเรียกเจ้าจอมกลุ่มนี้ว่าเจ้าจอมก๊กออ

เจ้าจอมมารดาอ่อนเข้าสู่พระบรมมหาราชวังถวายงานรับใช้ในตำหนักเจ้าคุณจอมมารดาแพ (เจ้าคุณพระประยูรวงศ์) ก่อนจะได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมมารดาอ่อนเป็นท่านเดียวในเจ้าจอมก๊กออที่ประสูติพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา

ส่วนเจ้าจอมท่านอื่นก็เริ่มเข้าวังมาเป็นข้ารับใช้ในตำหนัก ก่อนที่จะถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 5 ซึ่งล้วนแต่เป็นที่โปรดปรานพระราชหฤทัยทั้งสิ้น

รัชกาลที่ 5 โปรดเจ้าจอมก๊กอออย่างไร
เจ้าจอมก๊กออแต่ละท่านมีความสามารถและทำหน้าที่โดดเด่นจนสามารถถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 5 ได้อย่างดีเยี่ยม กล่าวคือ เจ้าจอมมารดาอ่อนทำหน้าที่ช่วยตั้งเครื่องเสวย, เจ้าจอมเอี่ยมทำหน้าที่ช่วยทำเครื่องเสวย และถวายงานนวด, เจ้าจอมเอิบทำหน้าที่ช่วยทำเครื่องเสวย และเป็นผู้ถวายการแต่งพระองค์ เป็นต้น

เจ้าจอมเอี่ยม
เจ้าจอมเอี่ยมเป็นที่โปรดปรานเพราะทรงเป็น “หมอนวด” ที่ดีที่สุดก็ว่าได้ รัชกาลที่ 5 ทรงปรารภถึงการนวดของเจ้าจอมเอี่ยมว่ามีเรี่ยวแรงเทียบเท่าผู้ชาย 8 คน แรงมากเท่าหมอนวดรวมกัน 16 คน เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ทรงปวดเมื่อยพระวรกายจนนอนไม่หลับ ทรงกริ้วมหาดเล็กที่ไม่สามารถถวายงานรับใช้ตามพระราชหฤทัย จนมีพระราชประสงค์จะให้โทรเลขตามเจ้าจอมเอี่ยมมานวดให้ถึงยุโรปหรือจะเสด็จกลับกรุงเทพฯ ให้รู้แล้วรู้รอดเลยทีเดียว

เหตุการณ์ในครั้นนั้นยังปรากฏในจดหมายของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรส ว่ามีการเล่าลือกันเรื่องที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าจอมเอี่ยมได้รับความดีความชอบเป็นอย่างมาก ดังความในจดหมายว่า “แม่เอี่ยมเขาได้รับพระราชหัตถ์ทรงพรรณาคุณความดีในการนวดอยู่ข้างเหวมาก บอกว่าครั้งนี้ตัวได้ชื่อเสียงที่สุด” ประโยคหลังสุดนี้คงจะเป็นสิ่งพิสูจน์ได้ชัดว่า เจ้าจอมเอี่ยมเป็นที่โปรดของรัชกาลที่ 5 มากเพียงใด

นอกจากนี้ ในช่วงที่รัชกาลที่ 5 ประชวรหนัก เจ้าจอมเอี่ยมก็ได้ถวายงานนวดอยู่เสมอ ในหนังสือ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 โดย ราม วชิราวุธ นามปากกาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกไว้ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์ประชวรหนัก ผู้ที่จะเข้าเฝ้าถึงห้องพระบรรทมได้ก็เฉพาะแต่ผู้ที่มีพระราชดำรัสให้หาเจาะตัวเท่านั้น เมื่อเจ้าจอมเอี่ยมถวายงานนวดเสร็จก็จะเรียกเจ้าจอมเอิบมาถวายงานนวดแทน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความโปรดปรานพระราชหฤทัยแด่เจ้าจอมทั้งสองได้เป็นอย่างดี

เจ้าจอมเอิบ
เจ้าจอมเอิบเป็นผู้ที่รัชกาลที่ 5 โปรดให้ถวายงานอยู่รับใช้ข้างพระวรกายอยู่โดยเสมอ อย่างที่คนโบราณเรียกว่า เอาไว้ใช้ติดตัว (กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ, 2558) ครั้นเสด็จประพาสต่างประเทศก็มักจะให้โดยเสด็จด้วยเป็นครั้งคราว แต่เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ไม่ได้มีฝ่ายในตามเสด็จ รัชกาลที่ 5 ทรงห่วงหาเจ้าจอมเอิบและมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานแด่เจ้าจอมเอิบว่า ทรงเห็นหน้าเจ้าจอมเอิบมากกว่าผู้ใด และฝันถึงเจ้าจอมเอิบอยู่ร่ำไป

หน้าที่ของเจ้าจอมเอิบที่สำคัญมากนอกจากการถวายงานนวดแล้ว คือการแต่งพระองค์ (แต่งตัว) ให้รัชกาลที่ 5 เมื่อจะเสด็จฯ ที่ใดก็มักให้เจ้าจอมเอิบเป็นผู้แต่งพระองค์ให้เสมอ โดยขณะที่แต่งพระองค์อยู่นั้น รัชกาลที่ 5 ทรงแกล้งเซไปหาเจ้าจอมเอิบ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำราญพระราชหฤทัยมาก นอกจากนี้เจ้าจอมเอิบยังเป็นผู้ทอดปลาทูได้ดีมาก เนื่องจากปลาทูเป็นพระกระยาหารโปรดของรัชกาลที่ 5 จนพระองค์ระบุเจาะจงไว้ว่าจะต้องให้เจ้าจอมเอิบเป็นผู้ทอดปลาทูถวายเท่านั้น
 
ส่วนเจ้าจอมอาบและเจ้าจอมเอื้อนก็เป็นที่โปรดปรานในรัชกาลที่ 5 ไม่แพ้เจ้าจอมก๊กออท่านอื่น ๆ ในหนังสือ บันทึกความทรงจำ ของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงเล่าไว้ว่า ขณะที่รัชกาลที่ 5 ทรงงานอยู่นั้น จะมีพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงหมอบเขียนตามรับสั่ง ส่วนเจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ เจ้าจอมเอื้อน จะนั่งที่พระเฉลียงคอยรับใช้จนกว่าจะทรงงานเสร็จเรียบร้อย บางครั้งก็ทรงงานดึกจนถึงรุ่งเช้าก็มี

รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นห่วงเป็นใยและมักพระราชทานข้าวของเครื่องใช้ ทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเพชรนิลจินดาให้เจ้าจอมก๊กอออยู่เสมอ เมื่อเสด็จนิวัติพระนครหลังจากเสด็จประพาสยุโรปก็พระราชทานเครื่องเพชรเป็นสร้อยเพชรและเทียร่าเพชร การเป็นเจ้าจอมที่โปรดมากนี้ยังสะท้อนให้เห็นจากการที่รัชกาลที่ 5 มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักและเรือนพระราชทานให้แก่เจ้าจอมก๊กออทุกท่าน ทั้งในพระราชวังสวนดุสิต สวนสุนันทา บางปะอิน

รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นว่า เจ้าจอมก๊กออนั้นไม่มีพระราชโอรส จะมีแต่เพียงเจ้าจอมมารดาอ่อนที่มีแต่พระราชธิดา หากพระองค์สวรรคตไปแล้วก็เกรงว่าบั้นปลายชีวิตของเจ้าจอมก๊กออจะลำบาก ดังนั้นจึงพระราชทานที่ดินและเงินทองให้ไว้เป็นทรัพย์ส่วนตัว เช่น ที่ดินบริเวณวัดโบสถ์ เขตสามเสน ถนนสุโขทัย เลียบคลองสามเสน เป็นที่ดินพระราชทานให้เจ้าจอมก๊กอออยู่ติดๆ กัน

เจ้าจอมก๊กออกกับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ
ชีวิตในวังหลวงส่วนพระราชสำนักฝ่ายในย่อมมีเรื่อง “ซุบซิบ” และ “ริษยา” อยู่บ้างตามประสามนุษย์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง แต่เรื่องเหล่านี้มิได้มีบันทึกไว้ด้วยถือเป็นเรื่องส่วนพระองค์ภายในพระราชวงศ์ แต่ในหนังสือ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกเกี่ยวกับเจ้าจอมก๊กออไว้บางส่วน ทรงเล่าว่า รัชกาลที่ 5 โปรดเมืองเพชรบุรีมากถึงกับตั้งพระราชหฤทัยเมื่อสร้างพระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาทฯ เสร็จแล้วจะเสด็จมาประทับที่เพชรบุรีแล้วย้ายที่นี่ให้เป็นพระราชสำนักประจำ การที่รัชกาลที่ 5 โปรดเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีบ่อยครั้งนั้น เหล่าข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในก็ต้องตามเสด็จมาด้วยเพื่อถวายงาน รวมถึงเจ้าจอมก๊กออ

รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ 5 “ทรงพระเมตตาและทรงเกรงพระหฤทัยเสด็จแม่อยู่มากตลอดกาล” และมีพระราชดำรัสชวนให้เสด็จไปเมืองเพชรบุรีแต่ “เสด็จแม่” หรือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จไปเพียงแค่ครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น โดยทรงให้เหตุผลที่ไม่ตามเสด็จในครั้งหลัง ๆ เนื่องจาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ พระราชธิดาตามเสด็จไปเมืองเพชรบุรีแล้วประชวร เมื่อกลับสู่กรุงเทพฯ ก็ประชวรจนสิ้นพระชนม์

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกว่า เหตุผลนั้นทรงยกเป็นข้ออ้างมากกว่า เพราะสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ เคยรับสั่งกับพระองค์เองว่า “แท้จริงเหตุที่ไม่อยากเสด็จเพ็ชรบุรีนั้น เพราะทรงขวาง ‘ก๊ก อ'” รัชกาลที่ 6 จึงทูลว่าหากไม่ตามเสด็จจะทำให้รัชกาลที่ 5 ไม่พอพระราชหฤทัย และอาจเปิดช่องให้ “ผู้เป็นอมิตร์ฉวยโอกาสกราบบังคมทูลอะไรต่อมิอะไรได้” สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ตรัสตอบว่า “อย่างไรๆ เขาก็หาเรื่องทูลอยู่เสมอแล้ว, จะเสด็จไปหรือมิเสด็จก็คงเท่ากัน… จะให้แม่ไปประจบเมียน้อยของพระบิตุรงค์นั้น เหลือกำลังละ”

ต่อมาภายหลัง รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสว่า “แม่เล็กเขาเบื่อผัวเสียแล้ว, อยากอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อชมบุญลูกของเขามากกว่า” (แม่เล็กหมายถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ) รัชกาลที่ 6 จึงนำความขึ้นกราบทูลให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทราบจึงทำให้พระองค์ดาลโทษะ รัชกาลที่ 6 ทรงจำเป็นต้องช่วยกราบทูลแก้ไขให้อยู่นานจนสุดท้ายก็ทรงยอมคล้อยตาม และรับสั่งว่าหากรัชกาลที่ 5 ดำรัสชวนไปอีกก็จะตามเสด็จ แต่จะให้เป็นฝ่ายไปทูลขอตามเสด็จนั้นจะไม่ทำเป็นอันขาด ดังบันทึกความว่า “แต่จะให้ฉันกระเสือกกระสนไปทูลขอตามเสด็จนั้น ฉันทำไม่ได้”

ขัดแย้ง? ชิงดีชิงเด่น?
แม้จะปรากฏเรื่องของเจ้าจอมก๊กออไม่เป็นที่พอพระทัยในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ดังเรื่องที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังปรากฏอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ เจ้าจอมเอิบกล้าทูลขอเข็มขัดต่อหน้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและพระพันปีอย่างตรงไปตรงมา จนสมเด็จพระพันปีทรงขัดไม่ได้ จึงทรงหยิบมาประทานให้กับเจ้าจอมเอิบ (กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ, 2558)

ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์ อธิบายในหนังสือ การเมืองในราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทรงมีผู้อยู่ในฐานะ “อมิตร์” ซึ่งได้กระทำการกราบบังคมทูลถึงพระองค์ในแง่ลบแก่รัชกาลที่ 5 อยู่เสมอ “โดยหนุนให้ท่านทรงเกิดความอิจฉา แก่ผู้ที่เคยเปนคู่แข่งเดิมของพระองค์ท่าน” (ราม วชิราวุธ, 2545)

ในหนังสือ ย้อนรอยเจ้าจอมก๊กออในรัชกาลที่ 5 ผู้เขียนซึ่งเป็นหลานของเจ้าจอมเอี่ยมได้เขียนเล่าเรื่องการ “แกล้ง” กันในพระราชสำนักฝ่ายในของเจ้าจอมเอี่ยม กล่าวคือ การถวายงานในรัชกาลที่ 5 จะมีผู้มารอถวายงานต่อกัน หากผู้ที่ถวายงานอยู่ไม่ได้ออกทางประตูก็จะถือว่ายังถวายงานไม่เสร็จ ผู้ที่มารอถวายงานจำเป็นต้องนั่งรอหน้าห้อง ครั้นเมื่อเจ้าจอมเอี่ยมถวายงานนวดให้รัชกาลที่ 5 เสร็จแล้ว ท่านนึกอยากแกล้งโดยไม่กลับออกไปทางประตู แต่จะแอบออกไปทางหน้าต่างแทน ปล่อยให้ผู้ที่ถวายงานต่อรอไปเช่นนั้น เพราะคิดว่าเจ้าจอมเอี่ยมยังนวดไม่เสร็จ

อย่างไรก็ดี อีกมุมหนึ่งก็ปรากฏว่า เจ้าจอมก๊กออเป็นที่สนิทสนมกับพระภรรยาเจ้า เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ค่อนข้างมาก

เจ้าจอมอาบเป็นผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเครื่องดนตรีทั้งไทยและสากล ท่านไปมาหาสู่กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมาดารชุ่ม จึงมักไปตำหนักของพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาอยู่เนือง ๆ เนื่องจากที่ตำนักนี้มักมีมโหรี กระทั่งเมื่อบั้นปลายชีวิต เจ้าจอมอาบก็ย้ายไปอาศัยอยู่ที่วังของพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา

บรรดาเจ้าจอมก๊กออนั้นยังสนิทสนมกับพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งมีความรักใคร่ไปมาหาสู่กันเสมอ โดยปรากฏภาพถ่ายภาพหนึ่งที่เจ้าจอมเอิบผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพมากคนหนึ่งในพระราชสำนัก กำลังตั้งกล้องถ่ายภาพพระราชชายา เจ้าดารารัศมี (ดูภาพถ่ายในหนังสือ เจ้าจอมก๊กออ เขียนโดย ดร. กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ หน้า 411) ขณะที่เจ้าจอมเอี่ยมที่มีฝีมือการทำอาหารอยู่ไม่น้อย ก็เป็นผู้ช่วยพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ทำเครื่องเสวยถวายรัชกาลที่ 5 (ดูภาพถ่ายในหนังสือ เจ้าจอมก๊กออ เขียนโดย ดร. กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ หน้า 310) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างพระภรรยาเจ้ากับเจ้าจอมก๊กออได้ชัดเจน
 
เจ้าจอมก๊กออถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 5 ด้วยความจงรักภักดีมาโดยตลอด เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ และเจ้าจอมเอื้อน ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ส่วนเจ้าจอมอาบได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเพียงชั้นทุติยจุลจอมเกล้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าได้เป็น “คนโปรด” แต่นั้นย่อมเกิดความหึงหวง อิจฉา ริษยา ชิงดีชิงเด่นเป็นธรรมดา

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในพระราชสำนักฝ่ายในก็ไม่ได้ถึงขั้นรุนแรง อาจมีสาเหตุมาจากอุปนิสัยของเหล่าพระภรรยาเจ้าและพระภรรยาซึ่งเป็นผู้ที่มีความอ่อนโยนมีเมตตา สมกับที่เป็นผู้ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และความจงรักภักดีที่มีต่อรัชกาลที่ 5 จนมิปรารถนาจะก่อเรื่องร้ายแรงให้ระคายเคืองพระราชกฤทัย (ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์, 2561)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.435 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้