[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 20:17:35 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ภาวนาภิรัตธรรม - การอบรมจิต  (อ่าน 866 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 06 พฤษภาคม 2564 15:45:08 »




การอบรมจิต
(ณ วัดพิชโสภาราม วันที่ ๒๕ มี.ค. ๕๖)
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี

         ต่อไปก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมได้พยายามทำจิตทำใจของเราให้สงบ การทำจิตทำใจของเราให้สงบก็ถือว่าเป็นการเพิ่มพลังให้แก่จิตใจของเรา ตามธรรมดาจิตใจของเรานั้นเป็นสภาพที่ต้องวิ่งไปในอารมณ์ ซัดส่ายไปในอารมณ์ แล้วก็พิจารณาอารมณ์นั้นอยู่เป็นประจำตั้งแต่ตื่นขึ้นมาก็พิจารณาเรื่องโน้นบ้าง คิดเรื่องนี้บ้าง วิ่งไปหาอารมณ์ตรงโน้นบ้าง วิ่งไปหาอารมณ์ตรงนี้บ้าง บ้างก็พอใจในรูป บ้างก็พอใจในเสียง บ้างก็พอใจในกลิ่น บ้างก็พอใจในรส บ้างก็พอใจในสัมผัสในอารมณ์ที่ตนเองได้กระทบถูกต้องสัมผัสต่างๆ บางครั้งก็ไม่ชอบใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ที่ตนเองต้องการ

          จิตใจของเรานั้นวิ่งอยู่เป็นประจำตั้งแต่ตื่นขึ้นมาธรรมชาติของจิตก็ต้องคิดถึงอารมณ์ต่างๆ ต้องรับอารมณ์ต่าง ต้องจำอารมณ์ต่างๆ ต้องปรุงแต่งอารมณ์ต่างๆ อันนี้เป็นลักษณะของจิต เรียกว่าลักษณะของจิตของเรานั้นท่านกล่าวว่า รับอารมณ์แล้วก็รู้อารมณ์จำอารมณ์ รับ จำ คิด รู้ นี้เป็นลักษณะของจิตของเรา เพราะฉะนั้นจิตของเราจะวิ่งไปในอารมณ์ต่างๆ ถ้าเราไม่มีอุบาย ถ้าเราไม่มีกรรมฐาน เราก็ไม่สามารถที่จะหยุดจิตของเราได้จิตของเราก็จะเป็นไปตามอารมณ์ต่างๆ

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์โลกทั้งหลายนั้นถูกจิตดึงไป ถูกจิตลากไป ถูกจิตจูงไป สัตว์โลกทั้งหลายนั้นเป็นไปตามอำนาจของจิต จิตเป็นผู้นำไป” นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น เมื่อเรามาพิจารณาตามที่พระองค์ทรงตรัส พระองค์ทรงตรัสนั้นเป็นจริงอย่างไรหนอ เรามาพิจารณาดูใคร่ครวญดูก็รู้ว่าสัตว์โลกทั้งหลายนั้นเป็นไปตามอำนาจของจิต ถ้าจิตคิดไม่ดีการกระทำก็ไม่ดีด้วย วาจาคือการพูดก็พูดไม่ดีด้วย แต่ถ้าจิตดีการกระทำก็ดีด้วยการพูดก็ดีด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่าสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นไปตามอำนาจของจิต

          การอบรมจิตจึงถือว่าเป็นการแก้ปัญหาถูกจุด เป็นการแก้ที่ต้นเหตุไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุ เหตุเกิดตรงไหนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสให้แก้ที่ตรงนั้น เหตุบังเกิดอยู่ตรงไหนเราก็ดับที่ตรงนั้น นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ ที่พระองค์ทรงตรัสสอนพระอัสชิเถระจนพระอัสชิเถระนั้นได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วพระอัสชิเถระนั้นก็จำคำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศนาสั่งสอนอุปติสสมานพโดยใจความย่อๆ ว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เป็นต้น ว่าธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุพระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับไปแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาจากเหตุเวลาจะดับไปก็ต้องอาศัยเหตุนั้นมันดับ เหมือนเราจะดับไฟเราก็ต้องไปดับที่ฟืน เราไม่มีฟืนไฟมันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าไฟนั้นอาศัยฟืนนั้นไหม้จึงเปล่งแสงออกมาเป็นเปลวไฟได้ ข้อนี้ฉันใดจิตใจของเรามีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีสัมผัส มีอารมณ์ต่างๆ เป็นเชื้อของความโกรธ เป็นเชื้อของความโลภ เป็นเชื้อของความหลง เป็นเชื้อไฟ คือ ราคัคคิ ไฟคือราคะ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ โมหัคคิ ไฟคือโมหะ

          เราทั้งหลายทั้งปวงจะดับไฟในลักษณะอย่างนี้ เราทั้งหลายต้องพยายามที่จะตัดเล่มฟืน คือนำฟืนนั้นออก ฟืนนั้นก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ที่มากระทบกระทั่งเรานี้แหละ สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นฟืนที่จะก่อให้เกิดความชอบใจหรือความเสียใจ เราจึงมีกรรมฐาน เห็นรูปเรากำหนดว่า “เห็นหนอ” โดยที่เราไม่พอใจในรูป ไม่ได้เสียใจในรูป ไม่ได้ปรุงแต่งในรูป คิดว่ารูปนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป อันนี้เรียกว่าเราดึงด้ามฟืนนั้นออก ไม่ใส่เชื้อคือใส่ฟืนเข้าไปด้วยการที่เรามีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรม

          เวลาเราได้ยินเสียงเราก็กำหนดว่า “เสียงหนอๆ” โดยที่เราไม่ปรุงแต่งในเสียง ไม่ดีใจในเสียง ไม่เสียใจในเสียง คิดว่าเสียงนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เสียงสักแต่ว่าเสียง เสียงก็เป็นอนิจจัง เสียงก็เป็นทุกขัง เสียงก็เป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้จะเป็นเสียงที่ไพเราะขนาดไหนก็ตาม จะเป็นเสียงที่น่าพอใจ เป็นเสียงที่สรรเสริญขนาดไหนก็ตาม ถ้าผู้ใดพิจารณาเสียงในลักษะอย่างนี้แล้ว ความพอใจก็จะไม่เกิดขึ้น ความเสียใจก็จะไม่เกิดขึ้น ความผูกพัน หรือว่าความยึดมั่นในเสียงก็จะไม่เกิดขึ้น ก็จะเห็นว่าเสียงนั้น เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนบังคับบัญชาไม่ได้ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นก็บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีตัวตนที่แน่นอน เราไปยึดมั่นถือมั่นไปผูกพันกับสิ่งที่ไม่เที่ยง เราไปยึดมั่นถือมั่นไปผูกพันกับสิ่งที่เป็นทุกข์ เราไปยึดมั่นถือมั่นไปผูกพันกับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ผลออกมาเราก็ต้องโศกเศร้าพิไรรำพันเสียอกเสียใจร้องไห้คร่ำครวญ อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้เกิดความวิปลาส หลงคิดว่ารูปนั้นมันเที่ยง คิดว่าเสียงนั้นมันเที่ยง คิดว่ากลิ่น คิดว่ารส คิดว่าสัมผัสนั้นมันเที่ยงแต่ที่แท้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          เราทั้งหลายทั้งปวงที่เห็นคนทั้งหลายทั้งปวงร้องไห้โศกเศร้าพิไรรำพันบ่นเพ้อ ในเมื่อเขาต้องสูญเสียสามี สูญเสียภรรยา หรือว่าเขาสูญเสียของอันเป็นที่รัก เขาย่อมบ่นเพ้อ ย่อมพิไร ย่อมรำพัน ย่อมคร่ำครวญปานจะขาดใจตาย อันนั้นเป็นเพราะอะไร เพราะความผูกพันนั้นมันมาก ความผูกพันนั้นมันเป็นภาระจิตใจทำให้ความห่วงหาอาลัยมันท่วมทับจิตใจ ทำให้น้ำตามันไหลออกมาด้วยจิตใจที่เศร้าโศก เพราะฉะนั้นการที่บุคคลทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะอะไร เพราะกรรมฐานยังไม่สมบูรณ์ กรรมฐานยังไม่บริบูรณ์ กรรมฐานยังไม่ถึงแก่นแห่งพระสัทธรรมที่แท้จริง

          การประพฤติปฏิบัติธรรมจึงต้องอาศัยบุคคลผู้ที่กำลังถูกความทุกข์ ความโศกนี้แหละมาท่วมทับจะได้พิจารณาให้เข้าใจชัดเจนว่า เวลาถูกความโศก ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันท่วมทับแล้วมันเกิดความทุกข์อย่างไร มันเกิดความลำบากอย่างไรเราก็จะมาพิจารณาด้วยอารมณ์ของกรรมฐาน ความโศกก็เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ความทุกข์ก็เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ความพลัดพรากเสียใจก็เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ความสูญเสียของอันเป็นที่รักก็เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นสมความมุ่งมาตรปรารถนาก็เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน

          แต่ขอให้เรานั้นมีสติ มีสัมปชัญญะพิจารณาอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นตามความเป็นจริง ถ้าเราพิจารณาอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นตามความเป็นจริงแล้วเราก็จะเข้าใจชัดเจนว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่เป็นอารมณ์ของกรรมฐานทั้งนั้น แต่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เข้าไปดู เข้าไปพิจารณาด้วยสติสัมปชัญญะ หรือเราจะเข้าไปพิจารณาเข้าไปยึดมั่นด้วยความหลงหรือด้วยราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสมันก็เป็นบาปเป็นอกุศลธรรม เป็นกิเลสไป แต่ถ้าเราเข้าไปยึดมั่นด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะ ก็จะเกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดการรู้ เกิดมรรค เกิดผล เกิดพระนิพพานในสิ่งที่เรานั้นกำลังพิจารณาดูอยู่

          เพราะฉะนั้นกรรมฐานนั้นจึงมีอยู่ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ขอให้เรานั้นมีสติมีสัมปชัญญะ กรรมฐานที่ญาติโยมทั้งหลายได้มาอบรมจิต ได้มาอบรมธรรมก็ถือว่าเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายนั้นกำลังปรารถนาอยู่ พวกเราทั้งหลายปรารถนาอะไร พวกเราทั้งหลายนั้นปรารถนาความสงบ พวกเราทั้งหลายปรารถนาความสุข พวกเราทั้งหลายปรารถนาความสมหวัง พวกเราทั้งหลายปรารถนาจะไม่พลัดพรากจากของอันเป็นที่ชอบใจ พวกเราทั้งหลายปรารถนามรรค ปรารถนาผล ปรารถนาพระนิพพาน สิ่งทั้งปลายทั้งปวงนั้นบริบูรณ์ด้วยกรรมฐาน สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นบริบูรณ์ด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นบริบูรณ์ด้วยวิปัสสนาญาณ ด้วยสมาธิ ด้วยมรรค ด้วยผล ด้วยพระนิพพาน

          ผู้ใดที่เข้าถึงซึ่งมรรคก็ดี ซึ่งผลก็ดี ซึ่งพระนิพพานก็ดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าเป็นผู้บริบูรณ์ โดยเฉพาะบุคคลใดที่เป็นขีณาสพ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าเป็นผู้บริบูรณ์ในธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นผู้มีธรรมอันไม่พร่อง เป็นผู้มีธรรมอันไม่ขาด เป็นผู้มีธรรมอันบริบูรณ์สมบูรณ์ เพราะอะไร เพราะใจของท่านนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยเหตุด้วยผล ด้วยธรรม เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นหนทางที่จะใช้เดินออกไปจากกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม เราอยากพ้นไปจากความทุกข์ เราอยากพ้นอย่างไรๆ เราก็ไม่สามารถที่จะพ้นได้ เราจะเกิดกี่ร้อยภพกี่ร้อยชาติ กี่หมื่นภพกี่หมื่นชาติ กี่แสนภพกี่แสนชาติ หรือว่าหลายๆ ล้านชาติก็ตาม ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้ว เราจะพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งปลายทั้งปวงนั้นไม่ได้ เราก็ต้องร้องไห้เสียใจทุกภพทุกชาติไป เกิดมาเท่าไรเราก็ร้องไห้ทุกภพทุกชาติไป เกิดมาเท่าไรเราก็ดีใจ โกรธ โมโห ยึดมั่นถือมั่นทุกภพทุกชาติไป

          เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า น้ำตาของสัตว์โลกทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานั้นมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ คิดดูสิว่าน้ำตาเวลาเราร้องไห้จะมากเท่าไรเชียว จะร้องไห้จะเป็นขันหรือเป็นกระป๋องนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าน้ำตามันนิดเดียว แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า น้ำตาที่สรรพสัตว์นั้นร้องไห้มากกว่าน้ำในมหาสมุทร ก็แสดงว่าเรานั้นเกิดนับภพนับชาตินับกัปนับกัลป์ไม่ได้ น้ำตาที่หยดลงในภพแต่ละภพ แต่ละชาตินั้นไปรวมกันมากกว่าน้ำในมหาสมุทรก็แสดงว่าเรานั้นเกิดประมาณภพไม่ได้ ประมาณชาติไม่ได้

          การที่พวกเราทั้งหลายได้มาเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นจึงถือว่าเป็นโอกาสดี เป็นโอกาสทองของเราที่จะต้องพยายามประพฤติปฏิบัติธรรม เรามีโอกาสได้มาพบครูบาอาจารย์ ได้มาพบข้อประพฤติปฏิบัติธรรมในการที่เราจะตัดกงแห่งสังสารวัฏให้ดับไปให้สิ้นไปให้สูญไป ก็ขอให้เราทั้งหลายนั้นจงพยายามข่มความเกียจคร้าน ข่มความง่วงเหงาหาวนอน เราพยายามข่มความเพลิดเพลินต่างๆ อย่าหลงในรูปจนเกินไป อย่าหลงในเสียง ในกลิ่น ในรสจนเกินไปเพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา

          รูปตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้า เกิดขึ้นมาจากกรรม เรียกว่ากัมมชรูป รูปที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกรรมเมื่อหมดเหตุหมดกรรมแล้วมันก็ต้องแตกต้องดับต้องสลายไป ดินก็ต้องเป็นดิน น้ำต้องเป็นน้ำ ไฟก็ต้องเป็นไฟ ลมก็ไปสู่ลม เรียกว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก สิ่งไหนที่เป็นธาตุดินมันก็ย่อยสลายไปเป็นดิน พวกเลือด พวกเสลด พวกน้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำมูก เป็นต้น ที่เป็นธาตุน้ำ ก็ต้องกระจัดกระจายไปตามธาตุของน้ำ ลมหายใจเข้าออก ลมพัดในท้อง ในไส้ ลมพัดไปในเบื้องบน พัดลงในเบื้องล่างต่างๆ ธาตุลมนั้นมันก็ระจัดกระจายไปตามธรรมชาติของลม หรือว่าธาตุไฟที่มีไฟให้ร่างกายอบอุ่น ไฟที่เผาผลาญอาหารให้ย่อยไป ไฟธาตุที่เผาร่างกายของเราให้แก่ให้ชราไป ก็จะเป็นไปตามอำนาจของธาตุไฟ นี้ในลักษณะของธรรมชาติมันเป็นไปอย่างนั้น แล้วพวกเราจะมายึดมั่นถือมั่นกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร เราจะมาเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นของสวย เป็นของงาม เป็นของดี เป็นของเลิศ เป็นของประเสริฐได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ต้องเป็นไปตามกฎของสัจธรรม

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ท่านให้เรานั้นรีบถ่อรีบพาย ระวังจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวมันจะเน่า คือให้เรารีบทำความเพียรนั้นแข่งกับเวลา ทำความเพียรนั้นแข่งกับความแก่ ทำความเพียรนั้นแข่งกับโรคภัยไข้เจ็บ ทำความเพียรนั้นแข่งกับความตาย ใครจะรู้ความตายในวันพรุ่งนี้ได้ เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราอย่าประมาทว่าเรายังแข็งแรงอยู่ เราอย่าประมาทว่าเรายังไม่แก่มากยังเหลืออีกหลายปี เราค่อยๆ ปฏิบัติธรรมไปก็ไม่เป็นไร บางครั้งเราก็อาจจะพลาดโอกาสก็ได้ หรือว่าเราไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เราแข็งแรงดีคงไม่ตายง่ายหรอกอะไรทำนองนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ประมาททั้งนั้น อายุของเราก็ประมาณ ๓๐-๔๐ คงจะไม่ตายง่าย เราค่อยๆ ปฏิบัติธรรมไปอะไรทำนองนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงถือว่าประมาท

          พระองค์ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง” พระอานนท์ตอบว่า พระอานนท์ระลึกนึกถึงความตายวันละร้อยครั้ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ เธอยังเป็นผู้ประมาทอยู่” ระลึกนึกถึงความตายตั้งวันละร้อยครั้ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เป็นผู้ประมาท เราที่นั่งอยู่นี้ เราระลึกนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง แม้พระอานนท์ระลึกนึกถึงวันละร้อยครั้ง พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่าเป็นผู้ประมาท เราที่นั่งรวมกันอยู่ในขณะนี้ระลึกนึกถึงความตายได้วันละร้อยครั้งเหมือนพระอานนท์ไหม นี่เราพิจารณา เพราะอะไรพระองค์จึงตรัสอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเป็นราชาแห่งธรรม พระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งธรรม พระองค์ทรงเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยธรรม

          เพราะฉะนั้นความไม่ประมาทนั้นเป็นยอดธรรม ความไม่ประมาทนั้นเป็นความบริบูรณ์ในธรรม ธรรมทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ หรือว่าสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ต่างๆ นั้นบริบูรณ์ สมบูรณ์ด้วยอัปปมาทธรรม ถ้าผู้ใดบำเพ็ญอัปปมาทธรรมแล้ว สติปัฏฐาน ๔ ก็ดี สัมมัปปธาน ๔ ก็ดี อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ก็จะบริบูรณ์ สมบูรณ์ในจิตใจ

          ธาตุขันธ์ของบุคคลนั้น ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับเท้าช้างย่อมเป็นที่รวมลงของเท้า ของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง หรือว่าเท้าช้างนั้นเป็นยอดของเท้า หรือว่าเป็นยอดของรอยเท้า รอยเท้าเสือก็เล็กกว่าเท้าช้าง รอยเท้าม้าก็เล็กกว่ารอยเท้าช้าง รอยเท้าวัว รอยเท้าโคกระบือต่างๆ ก็เล็กกว่ารอยเท้าช้าง เพราะฉะนั้นรอยเท้าทั้งหลายทั้งปวงนั้นจึงไม่เท่ากับรอยเท้าช้าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอัปปมาทธรรมเปรียบเสมือนกับรอยเท้าช้าง เป็นที่รวมลงแห่งรอยเท้าทั้งปวง เพราะอะไร เพราะว่าอัปปมาทธรรมนั้นเป็นยอดธรรม เป็นความบริบูรณ์ในธรรม

          การประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าผู้ใดประมาทผู้นั้นจะพลาดจากคุณงามความดี อย่าคิดว่าสมาธิที่เราได้นั้นมันเพียงพอแล้ว อย่าคิดว่าความเป็นพระโสดาบันมันประเสริฐแล้ว อย่าคิดว่าความเป็นพระสกทาคามีมันประเสริฐแล้ว เราไม่ประพฤติปฏิบัติดอก อย่าคิดว่าความเป็นพระอนาคามีมันประเสริฐแล้ว เราไม่ประพฤติปฏิบัติดอก ตราบใดที่เรายังไม่ถึงหลักชัยแห่งพระศาสนา คือธงชัยแห่งพระอรหันต์แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ภพชาติยังเหลืออยู่ ความเดือดร้อน ความวุ่นวายยังเหลืออยู่ หรือว่าภพชาติที่เราจะต้องไปเกิดในสุทธาวาสพรหม ในชั้น อวิหา อตัปปา สุทัสสี สุทัสสา อกนิษฐ์พรหมมันยังมีอยู่ รูปมันยังปรากฏอยู่ นามมันยังปรากฏอยู่ เมื่อรูปปรากฏอยู่ที่ใด นามปรากฏอยู่ที่ใด เชื้อแห่งวัฏฏะมันก็ต้องอยู่ตรงนั้น ความทุกข์ ความลำบาก ตามฐานานุรูปในสิ่งนั้นๆ มันก็ยังปรากฏอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ยังไม่ถึงหลักชัยของพระศาสนา

          แต่ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมจนถึงหลักชัยแห่งพระศาสนาคือการสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนั้นแหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ถึงฝั่งโดยความปลอดภัย เป็นผู้ถึงฝั่งอันเกษมจากโยคะทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายควรที่จะต้องประพฤติปฏิบัติอยู่ทั้งวัน เดินจงกรม เวลาไหนมันว่างเราก็ประพฤติปฏิบัติ ตอนเช้าว่าง ตอนบ่ายว่าง ตอนเย็นว่าง เราก็ต้องหาเวลาประพฤติปฏิบัติ เราต้องรู้ช่องรู้ทางว่าเราจะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลายอย่างไร เราต้องตัดความยินดี ความอาลัยในโลก ในการงานทั้งหลายทั้งปวงออก พยายามที่จะยกตนให้พ้นจากเปลือกตม คือ กามคุณทั้งหลายทั้งปวง ความยินดีในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ในความผูกพัน ในความรักใคร่ ในความปรารถนาทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่าให้เรายกจิตยกใจของเราออกจากเปลือกตม คือรูป คือเสียง คือกลิ่น คือรส คือกามคุณทั้งหลายทั้งปวงนั้นให้ขึ้นสู่ธรรมะ

          การปะพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายที่เรากำลังมาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ จึงถือว่าพวกเราทั้งหลายได้มายกจิต ยกใจของเรานั้นให้พ้นไปจากเปลือกตม คือการพอใจในการเวียนว่ายตายเกิด เพราะว่าการที่จะอบรมจิตนั้นเป็นสิ่งที่ยากเป็นสิ่งที่ลำบาก ผู้ใดจะอบรมจิตได้ บุคคลนั้นต้องมีปัญญา ผู้ใดไม่มีปัญญาอยากจะอบรมจิตอย่างไรๆ ก็อบรมจิตไม่ได้ เพราะจิตนั้นเป็นภาวะที่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะอบรมได้ คนโง่ก็ดี คนเสียสติก็ดี คนไม่มีปัญญาก็ดี อยากอบรมจิตก็อบรมไม่ได้ เพราะจิตนั้นเป็นสภาพที่ละเอียด เป็นสภาพที่สุขุม เป็นสภาพที่ลุ่มลึก เป็นสภาพที่บุคคลรู้ได้ยาก ถ้าไม่มีปัญญาแล้วรู้อารมณ์ของจิตได้ยาก

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ตรัสว่า จิตนั้นเป็นสภาพที่เบา เป็นสภาพที่เที่ยวไปไกล เป็นสภาพที่ไม่มีรูปร่าง อาศัยร่างกายเป็นถ้ำ อาศัยถ้ำคือร่างกายนั้นเป็นที่อยู่ ถ้าผู้ใดสำรวมจิตได้ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร นี้พระพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสอย่านั้น การพ้นไปจากอำนาจของความพอใจก็ดี การพ้นไปจากอำนาจของความชอบใจก็ดี พ้นได้ด้วยอำนาจของจิตไม่ใช่พ้นด้วยอำนาจของกาย การที่จะพ้นจากนิวรณธรรมคือกามฉันทะ ความพอใจในกามก็ดี หรือว่าพยาบาท ความผูกโกรธ ความจองเวร ความไม่พอใจ ความปฏิฆะทั้งหลายทั้งปวงนั้น เราไม่ได้พ้นด้วยรูปกายแต่เราพ้นได้ด้วยจิตของเรานี้แหละ เรียกว่านามธรรม การพ้นจากถีนมิทธะความง่วงเหงา ความหาวนอนต่างๆ เราไม่ได้พ้นด้วยรูปกาย แต่เราพ้นด้วยนามธรรมคือใจของเรานี้แหละ หรือว่าเราจะพ้นจากอุทธัจจะ กุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน ความรำคาญต่างๆ เราก็ไม่ได้พ้นด้วยรูปกาย แต่เราพ้นด้วยนามธรรมคือใจของเรานี้แหละเป็นตัวพ้น หรือว่าความสงสัยในเรื่องของพระพุทธ ความสงสัยในเรื่องของพระธรรม ความสงสัยในเรื่องของพระสงฆ์ ความสงสัยในเรื่องบุญ เรื่องบาป ในเรื่องโลกนี้ โลกหน้า ความสงสัยในเรื่องผลของการให้ทาน ว่าเราให้ทานแล้วจะมีผลหรือเปล่าหนอ ผลทานนั้นส่งผลให้เราอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวด้วยน้ำ ด้วยโภชนาอาหาร ผลทานนั้นส่งให้เราไปถึงสุคติโลกสวรรค์หรือเปล่าหนอ นี้บางครั้งบางคราวเกิดความสงสัย เราก็พ้นได้ด้วยนามธรรม ไม่ใช่ด้วยกาย

          หรือเราสงสัยในเรื่องปฏิปทาแห่งการปฏิบัติว่า หลวงพ่อใหญ่วัดพิชโสภาราม คณะครูบาอาจารย์วัดพิชโสภารามสอนการเดินจงกรม ยุบหนอ พองหนอ ประพฤติปฏิบัติ ให้กำหนดทุกอิริยาบถอย่างนี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้หรือเปล่าหนอ นี่เกิดความสงสัยขึ้นมาความสงสัยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะข้ามพ้นได้ด้วยนามธรรม ด้วยจิตด้วยใจของเรา เพราะฉะนั้นจิตจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้ใดประมาทในจิตผู้นั้นชื่อว่าประมาทในธรรม ผู้ใดประมาทในธรรมผู้นั้นก็ชื่อว่าเป็นคนไม่มีราคา เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ให้ประมาทในจิต

          บางคนคิดว่าเราคิดชั่วไม่มีใครรู้หรอก เราคิดไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ไม่มีใครรู้หรอกยังไม่บาป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “จิตนั้นแหละสำคัญที่สุด เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนานั้นเป็นตัวกรรม มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา นี้ที่เราได้เรียนอยู่เป็นประจำว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าผู้ใดมีใจเศร้าหมองแล้ว ความทุกข์ย่อมติดตามบุคคลนั้นไป เหมือนล้อเกวียนหมุนไปตามรอยเท้าโค คิดดูซิ โคมันเดินไปไหนเมื่อมีแอกคล้องคออยู่ล้อเกวียนมันก็หมุนไปตาม บางครั้งเกวียนมันตกหลุม โคนั้นก็ต้องมาลากถึงมันจะลากลำบากก็ต้องลาก ความทุกข์ก็ติดตามบุคคลนั้นไปเหมือนกัน ถ้าบุคคลนั้นมีใจเศร้าหมองแล้ว ก็เหมือนกับโคนั้นแหละต้องทนทุกข์ทรมานลากเกวียนไปตลอด แต่บางครั้งเกวียนมันตกหล่ม หรือว่าตกตมยิ่งลำบากอีก ต้องเอากำลังทั้งหมดทั้งปวงทั้งสิ้นนั้นมาพยายามดึงเกวียนให้ขึ้นจากหล่มจากโคลน ความทุกข์ก็จะตกแก่โค

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงให้สลัดแอกออกจากบ่า คือสลัดจิตที่เศร้าหมองไปด้วยราคะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ สลัดจิตที่มากไปด้วยมานะ ทิฏฐิ ตัณหานั้นออกเหมือนกับโคสลัดแอก เมื่อโคสลัดแอกแล้วย่อมเดินไปด้วยความโล่ง ด้วยความโปร่ง ด้วยความเบาสบาย บุคคลผู้สลัดแอก คือความโกรธ คือความโลภ คือความหลง คือมานะ ทิฏฐิ ตัณหาต่างๆ ความยึดมั่นต่างๆ มันออกไปจากดวงจิตบุคคลนั้นก็ย่อมโล่ง ย่อมโปร่ง ย่อมสบาย ย่อมมีจิตใจที่ร่าเริงในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ในลักษะอย่างนี้เรียกว่าจิตที่สลัดแอกออกได้แล้วก็เป็นจิตที่ประเสริฐ

          เราทั้งหลายทั้งปวงที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม เราทั้งหลายมากำหนด “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด มีสติกำหนด เพื่ออะไร เรากำหนดอิริยาบถทั้งหลายทั้งปวงนี้ เพื่อที่จะสลัดแอกออกไปจากดวงจิตของเรา เราเพียรสร้างสมาธิ จะเป็นขณิกสมาธิก็ดี อุปจารสมาธิก็ดี อัปปนาสมาธิก็ดี เราเพียรสร้างสมาธิเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร ก็เพื่อที่จะสลัดแอกออกไปจากดวงจิตของเรานี้แหละ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเพียรบำเพ็ญคุณงามความดี

          เราเจริญสติก็ดี สัมปชัญญะก็ดี ให้วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมา ก็เพื่อที่จะสลัดแอก ผู้ใดสลัดแอกได้แล้วผู้นั้นก็เบาก็โล่งก็โปร่งถึงทางอันเกษมแล้ว แต่ผู้ใดสลัดไม่ได้ก็ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้นแหละ แดดมันจะร้อนขนาดไหนก็ต้องลากอยู่อย่างนั้นแหละ ฝนมันจะตกขนาดไหนก็ต้องลากอยู่อย่างนั้นแหละ เพราะอะไร เพราะเรายังสลัดแอกไม่ได้ ความทุกข์มันก็เกิดขึ้นกับเรา ไม่เลือกฤดูฝน ไม่เลือกฤดูแล้ง ความโกรธ ความโลภ ความหลง ก็เผาใจของเรา ไม่เลือกกลางวัน ไม่เลือกบ่าย ไม่เลือกเย็น ไม่เลือกเช้า เพราะฉะนั้นแอกเมื่อมันคล้องคอเราอยู่ตราบใด ความทุกข์มันก็เกิดขึ้นอยู่ตราบนั้น

          เพราะฉะนั้นการฝึกจิตจึงเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายนั้นอย่าประมาท จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนเกิดขึ้นมาจากจิต แม้ภพ แม้ชาติ เวลาเราละจากโลกนี้ไปแล้ว เราตายไปไม่มีใครเอาร่างกายไปได้ ร่างกายนั้นจะสวยสดงดงามขนาดไหนก็เอาไปไม่ได้ ร่างกายจะขี้เหร่ขนาดไหนก็เอาไปไม่ได้ ร่างกายจะพิกลพิการมีโรคภัยไข้เจ็บก็เอาไปด้วยไม่ได้ ตายไปแล้วก็ไปแต่นามธรรม

          ดังที่พระเจ้าปายาสิที่ไปถามปัญหาของพระนาคเสนว่า ท่านเทศน์ว่าภพหน้าชาติหน้ามีกระผมไม่เชื่อ ทำไมข้าพเจ้าไม่เชื่อ เพราะว่าคนเวลาจะตายนั้นแหละ ข้าพเจ้าสั่งให้ทหารนั้นประกอบโลงอย่างดี ไม่มีรูแม้แต่รูมดเข้าก็ไม่มีรูนิดหนึ่งก็ไม่มี แล้วก็ขณะที่คนตายนั้นก็ปิดฝาโลงแล้วก็ไม่มีรูเลย คนตายแล้วไปเกิดในภพหน้าชาติหน้านั้นไปตอนไหน พระเจ้าปายาสิพยายามให้ทหารรุมล้อมคอยดูว่าคนตายนั้นจะไปเกิดในนรกในสวรรค์ไปอย่างไร แต่ก็ไม่เห็น ไม่เห็นใครไปเกิดในนรกในสวรรค์ พระนาคเสนก็เลยอธิบายให้พระเจ้าปายาสิฟังว่า จิตนั้นมันไม่มีรูปร่าง ไม่สามารถที่จะมองได้ด้วยตา เหมือนกับมหาบพิตรคิดถึงพระราชวัง คิดเดี๋ยวนี้ก็ถึงพระราชวังแล้ว ของที่อยู่ในพระราชวังมหาบพิตรคิดถึงเดี๋ยวนี้ก็ปรากฏขึ้นมาในจิตในใจเดี๋ยวนี้ เรียกว่าถึงเดี๋ยวนี้ สภาพจิตใจก็เหมือนกันเมื่อเราคิดแล้วย่อมไม่มีกำแพงกั้น ย่อมไม่มีฝาผนังกั้น ย่อมผ่านสิ่งเหล่านั้นไปนี้เป็นลักษะของจิต จิตที่จะออกจากโลงไปเกิดในสวรรค์ไปเกิดในนรกมหาบพิตรก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้เหมือนกัน เหมือนที่จิตของมหาบพิตรเวลาคิดไปถึงห้องบรรทมก็ดี คิดไปถึงปราสาทราชวังก็ดี มหาบพิตรเห็นจิตตนเองที่ไปถึงตรงนั้นไหม ก็ไม่สามารถที่จะเห็นได้ บุคคลผู้ตายแล้วจะไปเกิดในสวรรค์ก็ดี ในนรกก็ดี มหาบพิตรก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าฉันนั้นเหมือนกัน

          นี้ในลักษณะของจิตมันเป็นของที่เบา เป็นของที่ละเอียด เป็นของที่ประณีต เราไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมจริงๆ แล้วเราก็อบรมจิตของเราไม่ได้ การอบรมจิตก็ต้องอบรมด้วยกรรมฐาน เราจะอบรมด้วยหลักสูตรของคนทั่วไปนั้น ไม่สามารถที่จะนำจิตของเรานั้นให้พ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ เพราะว่าหลักสูตรของการอบรมของคนทั่วไปนั้น ยึดมั่นอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ยึดมั่นอยู่ในอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงอยู่

          การอบรมจิตนั้นต้องอบรมตามหลักที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสรู้มาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวที่รู้ก่อนคนอื่น รู้ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างไรจึงจะพ้นไปจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวงนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงรู้ก่อนคนอื่น ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับไก่ที่ทำลายกระเปาะไข่ หรือว่าที่ทำลายเปลือกไข่นั้นออกมาก่อน เป็นไก่ผู้ที่ออกจากกระเปาะไข่ คือ อวิชชาได้ก่อนคนอื่น เรียกว่าทำลายสังสารวัฏ ทำลายอวิชชาได้ก่อนคนอื่น ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณก่อนคนอื่น แล้วพระองค์ก็ทรงสั่งสอนพุทธบริษัท สั่งสอนสาวกทั้งหลายทั้งปวงให้ประพฤติตามพระองค์ ถ้าผู้ใดประพฤติตามพระองค์แล้ว ผู้นั้นก็สามารถที่จะทำลายเปลือกไข่หรือว่ากระเปาะไข่คือ อวิชชานั้นได้ เหมือนกับพระสาวกทั้งหลายทั้งปวงมีพระอานนท์ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ พระอสีติมหาเถระทั้ง ๘๐ องค์นั้นแหละ ก็สามารถที่จะทำลายอวิชชานั้นได้

          เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายได้มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ถือว่าพวกเราทั้งหลายนั้นได้มาสืบต่อมรดกธรรมจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านแก่แล้ว ท่านมีร่างกายทุพพลภาพมากไม่สามารถที่จะบรรยายธรรมได้ ไม่สามารถที่จะมาสอนลูกศิษย์ลูกหาได้เดินจงกรมอย่างนั้นอย่างนี้ได้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อเพียงแต่เป็นที่ปรึกษา เพียงแต่เป็นผู้ที่ตัดความสงสัยในบางสิ่งบางอย่างที่เราพิจารณาแล้ว ใคร่ครวญแล้วมันไม่ออก พิจารณาไม่ถูกเราไปกราบเรียนในหัวข้อสำคัญในลักษณะอย่างนั้น แล้วก็เป็นที่พึ่งให้เราได้กราบได้ไหว้

    

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 06 พฤษภาคม 2564 15:47:06 »




การอบรมจิต

          พวกเราทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยความจริงจัง หรือว่าความอดทน หรือว่าความมุ่งมั่น มรรคผลนิพพานไม่เกิดขึ้นในจิตในใจของเรา แล้วเราจะรักษามรดกธรรมได้อย่างไร มรดกธรรมนั้นถ้าเราไม่ยังมรรคให้เกิดขึ้นมา ไม่ยังผลให้เกิดขึ้นมา ไม่ยังพระโสดา สกิทา อนาคา ไม่ยังพระอรหันต์ให้เกิดขึ้นมา เราจะรักษามรดกธรรมของพระเดชพระคุณหลวงพ่อนั้นไม่ได้ รักษามรดกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มันสืบทอดด้วยพฤตินัย มันสืบทอดด้วยปฏิปทาแห่งการปฏิบัติ มันสืบทอดด้วยปฏิเวธแห่งการปฏิบัติ คือการแทงตลอดในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่การสืบทอดด้วยการท่อง การบ่น การสาธยาย หรือว่าการท่องจำ ถ้าเราสืบทอดด้วยการบ่น การสาธยาย การท่องจำ ไม่ช้าไม่นานก็ฟั่นเฝือ บางครั้งก็ลูกศิษย์คนนี้จำได้อีกอย่างหนึ่ง ลูกศิษย์คนโน้นจำได้อีกอย่างหนึ่ง หนักๆ เข้าลูกศิษย์ทั้งหลายก็ทะเลาะกันเถียงกัน แต่การบรรลุธรรมมีพระโสดาบันเป็นต้น เหมือนกัน ใครจะบรรลุอย่างไรก็เหมือนกัน เพราะนิพพานก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี มีรสอันเดียวกันไม่ได้ต่างกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ทะเลมีรสเดียวคือรสเค็มฉันใด นิพพานก็มีรสเดียวคือวิมุตติรสฉันนั้นเหมือนกัน

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าเราจะรักษามรดกธรรมของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ รักษามรดกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เจริญรุ่งเรือง เราควรที่จะพยายามประพฤติปฏิบัติให้เข้าถึงแก่นที่แท้จริง เพราะอีกไม่นานพวกเราทั้งหลายก็ต้องจากกันไป คนโน้นก็ต้องจากไปสู่บ้านสู่เรือน พระรูปนี้อาจจะเป็นเจ้าอาวาสอยู่ตรงโน้นกลับไปสู่บ้านเกิดเมืองนอนอะไรต่างๆ เราก็ต้องจากกันไปอยู่แล้วไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ถ้าผู้ใดมีมรดกธรรม ผู้นั้นก็จะเป็นการมาโดยดี แล้วก็จากไปโดยดี ถึงไปก็ไปโดยดี ไปแล้วก็นำความสุขนำความเจริญ นำธรรมะ นำธงชัยแห่งพระศาสนาไปปักอยู่ในสถานที่ที่ตนเองไป เหมือนเขาปีนไปยอดภูเขาหิมาลัย ชาติไหนไปถึงก่อนก็ปักธงชาตินั้น เขาขึ้นไปสู่ดวงจันทร์ชาติใดไปถึงก่อนก็ปักธงชาตินั้น นี้เราทั้งหลายทั้งปวงเมื่อเรียนเอาธรรมจากสำนักวัดพิชโสภารามแล้ว เรียนเอาธรรมจากหลวงพ่อใหญ่แล้วเราก็ไปปักธงตามสถานที่ต่างๆ ประกาศให้คนทั้งหลายทั้งปวงได้มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม ผู้ใดอยากจะเข้าใจธรรม อยากจะถึงธรรม อยากจะรู้แจ้งในธรรมคนทั้งหลายทั้งปวงจงมา นี้เราไปปักธงไว้ในลักษณะอย่างนั้น

          เพราะฉะนั้นการรักษามรดกธรรมก็เป็นการกตัญญู การรักษามรดกธรรมก็ถือว่าเป็นการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บูชาครูบาอาจารย์นั้นอย่างสูงสุด ไม่มีการบูชาอย่างไรจะยิ่งยวดไปกว่าการบูชาด้วยการเผยแผ่ธรรม เพราะฉะนั้นก็ขอให้เราทั้งหลายก่อนที่เราจะเผยแผ่ธรรมก็ขอให้ประพฤติปฏิบัติธรรม จงเข้าใจ จงรู้แจ้ง ในสิ่งนั้นก่อน ไม่ใช่เป็นของปลอม เราประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเราจะไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง

          วันนี้อาตมภาพได้กล่าวธรรมก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา เรไรมาให้สัญญาณแล้ว ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้ขยับขยายคลายอิริยาบถกำหนดออก เพื่อเตรียมตัวแผ่เมตตาเป็นลำดับสืบต่อไป.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ภาวนาภิรัตธรรม - ปกิณณกธรรม
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 1022 กระทู้ล่าสุด 14 ตุลาคม 2563 16:01:04
โดย Maintenence
การอบรมจิต โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธาน
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 987 กระทู้ล่าสุด 26 ธันวาคม 2563 12:12:44
โดย Maintenence
ภาวนาภิรัตธรรม - ความหมายของธรรมะ
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 1271 กระทู้ล่าสุด 08 กุมภาพันธ์ 2564 16:07:55
โดย Maintenence
ภาวนาภิรัตธรรม - โอวาทปาฏิโมกข์
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 1051 กระทู้ล่าสุด 24 มีนาคม 2564 16:18:43
โดย Maintenence
ภาวนาภิรัตธรรม - การอุทิศส่วนบุญ
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 887 กระทู้ล่าสุด 19 เมษายน 2564 15:05:25
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.713 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 19 สิงหาคม 2566 19:12:54