[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 05:17:21 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมเนียมสืบทอดมรดกในสยาม ทำไมเจ๊สัวเนียมยกทรัพย์สินมหึมา(ตลาด)ให้ลูกสาวแทนบุตร  (อ่าน 465 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2303


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 21 มิถุนายน 2564 15:53:05 »



๑ พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) บุตรเขยเจ๊สัวเนียม (ภาพจากหนังสือสกุลบุนนาค)
๒ รูปปั้นพระศรีทรงยศ (เจ๊สัวเนียม) ที่มาของชื่อตรอกเจ๊สัวเนียมตลาดเก่า


ธรรมเนียมสืบทอดมรดกในสยาม ทำไมเจ๊สัวเนียมยกทรัพย์สินมหึมา(ตลาด)ให้ลูกสาวแทนบุตร

ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2547
ผู้เขียน - พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร
เผยแพร่ - วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2563



ธรรมเนียมการแบ่งมรดกเป็นเรื่องสำคัญ และมักส่งผลสะท้อนกลับมายังระบบเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ เสมอ โครงสร้างเศรษฐกิจของคนต่างวัฒนธรรมจึงมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ดังเช่นความแตกต่างในกรณีของอังกฤษและจีน

ในอังกฤษธรรมเนียมดั้งเดิมของการสืบทอดทรัพย์คือ ยกสมบัติทั้งหมดให้กับบุตรชายคนโตเท่านั้น บุตรคนรองๆ จะได้เพียงเงินก้นถุงเล็กน้อย เพื่อเป็นทุนในการตั้งตัว ที่ดินและคฤหาสน์เก่าแก่ของตระกูลซึ่งไม่ถูกแบ่งปันก็ตกทอดต่อกันมาหลายชั่วคน นานนับเป็นร้อยปี ขณะที่บุตรคนรองๆ ต้องออกจากบ้าน ไปดิ้นรนสร้างฐานะ เกิดเป็นกลุ่มนักแสวงโชค ซึ่งเป็นเฟืองจักรสำคัญของอาณานิคมอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘-๒๐ และสมบัติที่ตกทอดสืบต่อกันมาทางบุตรชายคนโต เมื่อสะสมรวมกับที่คนในแต่ละรุ่นทำมาหาได้ ก็เกิดเป็นความมั่งคั่งขนาดมหึมา

ส่วนที่เมืองจีน ซึ่งยึดมั่นในเรื่องของการสืบแซ่สกุล มีธรรมเนียมการแบ่งสมบัติให้ทายาทฝ่ายชายเช่นกัน แต่วิธีแบ่งสมบัติต่างไปจากของคนอังกฤษ คือนิยมปันเฉลี่ยให้บุตรชายทุกคนกับหลานชายคนโต คนละประมาณเท่าๆ กัน โดยลูกชายคนโตอาจได้รับส่วนแบ่งมากหน่อย เพราะวัฒนธรรมจีนให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว ต้องการให้ลูกหลานอยู่รวมกันในหมู่บ้านดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เวลาแบ่งที่ดินทำกินจึงแบ่งให้เท่าๆ กัน เพื่อความสามัคคีปรองดอง และหลีกเลี่ยงที่จะสร้างแรงกดดันให้ลูกหลานอพยพไปทำงานที่อื่น แต่การแบ่งมรดกแบบนี้ก็มีส่วนทำให้ความร่ำรวยของครอบครัวจีนอยู่ได้ไม่นาน ส่วนใหญ่แล้วไม่เกินสามชั่วคน โดยเฉพาะในสมัยที่คนโบราณมีลูกนับได้เรือนสิบ ทรัพย์สินชิ้นใหญ่ถูกซอยย่อยลงจากรุ่นลูกไปถึงรุ่นหลาน รุ่นเหลน ยิ่งมีลูกมากทรัพย์สินที่ทายาทได้รับก็ยิ่งชิ้นเล็กลง เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วคนที่ดินมรดกจากบรรพชนถูกซอยย่อยร่อยหรอลงเรื่อย ในที่สุดก็ไม่เพียงพอสำหรับใช้เป็นที่ทำกิน ทำให้คนส่วนใหญ่ยากจนถ้วนทั่วกัน

เมื่อเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของชาวตะวันตก การสะสมทุนขนาดใหญ่เป็นทุนรอนในการพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่น จึงมิได้เกิดขึ้นในเมืองจีนจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐

ธรรมเนียมการสืบทอดมรดกของชนชาวสยามมิได้เคร่งครัดเช่นของจีน อาจจะเป็นเพราะชาวพุทธเถรวาทส่วนใหญ่เห็นสมบัติเป็นของนอกกาย จึงมิได้เน้นเรื่องการสืบทอดมรดกและการสืบแซ่ออกมาเป็นนิติธรรมเนียม จารีตที่ใช้ปฏิบัติกันอยู่ในสยามถือเพียงว่ามรดกเป็นของผู้สืบสันดาน ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งชายและหญิง การใช้หลักผู้สืบสันดานนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สยามไม่มีธรรมเนียมการใช้นามสกุล จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจกล่าวได้ว่าสังคมสยามในอดีตมีระบบแบ่งสมบัติให้กับสตรีที่ค่อนข้างเป็นธรรม

ผู้ใหญ่ที่เคารพเคยเล่าให้ดิฉันฟังว่า บิดาเป็นทหาร เวลาแบ่งสมบัติ ลูกชายได้ปืนของพ่อ ส่วนลูกสาวได้ทองหยองของแม่ ฟังดูยุติธรรมดี ธรรมเนียมการยกทรัพย์ให้ผู้สืบสันดานทำให้หญิงชาวสยามพอมีสมบัติมอบให้กับลูกหลานได้บ้าง ส่วนจีนบางบ้านที่มาอยู่อาศัยในสยามนานๆ บางคนก็ปรับเปลี่ยนวิธีการแบ่งมรดกให้ลูกหลานให้เป็นไทยมากขึ้น แตกต่างไปจากธรรมเนียมดั้งเดิมของจีน

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากกรณีของบ้านตลาดน้อย ที่ชาวกรุงเทพฯ เรียกว่าโซวเฮงไถ่ ซึ่งส่งมอบอสังหาริมทรัพย์ให้ทายาทฝ่ายหญิงเป็นผู้ดูแลรักษาต่อเนื่องกันถึง ๔ ชั่วคนแล้ว ยังมีเรื่องเจ๊สัวเนียมยกทรัพย์สินชิ้นมหึมาให้บุตรสาว ทั้งที่มีบุตรชายสองคนเป็นผู้สืบแซ่ ทรัพย์ชิ้นนี้ได้แก่ “ตลาดเจ๊สัวเนียม” หรือ “ตลาดเก่า” ซึ่งเป็นสมบัติที่บิดาทิ้งเป็นมรดกไว้ให้บุตรสาว คือจากพระศรีทรงยศ (เนียม) มายังคุณหญิงนิ่ม ภรรยาพระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) เรื่องนี้โด่งดังในวงจีนสยามไม่แพ้เรื่องของโซวเฮงไถ่ เพราะอภิมหาเศรษฐีไม่เคยหลีกหนีพ้นความสนใจของชาวบ้าน

เจ๊สัวเนียมเป็นคนสมัยรัชกาลที่ ๒ น่าจะอายุมากกว่าหลวงอภัยวานิช (จาต) ต้นตระกูลจาติกวณิชเจ้าของโซวเฮงไถ่สักรุ่นหนึ่ง เพราะพระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม) บุตรเขยคนโตของเจ๊สัวเนียมเกิดปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๖ อายุอ่อนกว่าเจ๊สัวจาตเพียง ๑๐ ปี

เจ๊สัวเนียมเป็นลูกจีน แต่ไม่มีข้อมูลเรื่องชื่อแซ่ของบิดา ศาลเจ๊สัวเนียมที่เยาวราชก็มิได้ระบุแซ่ ว่าเป็นคนแซ่อะไร เพียงแต่ระบุว่ามีบรรดาศักดิ์เป็นพระศรีทรงยศ (เนียม) ผู้พัฒนาที่ดินตรอกเจ๊สัวเนียม ตลาดที่พ่อค้าจีนให้ความนิยมสูงสุดของกรุงเทพฯ ตลอดสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา จนคนทั่วไปขนานนามตลาดสองฟากทางของตรอกนี้ว่า “ตลาดเก่า”

แผนที่เก่าระบุชื่อตรอกนี้ไว้ว่า “ตรอกเจ๊สัวเนียม” ในขณะที่แผนที่รุ่นหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ตรอกพระยาไพบูลย์” ตามราชทินนามของเอี่ยมบุตรเขยคนโต ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ดำรงตำแหน่งเป็นพระยาไพบูลย์สมบัติ จางวางคลังสินค้าฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ เมื่อท่านเอี่ยมได้รับพระราชทานพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาอิศรานุภาพ อธิบดีกรมมหาดไทยฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ชื่อตรอกเจ๊สัวเนียมนี้ก็เปลี่ยนใหม่อีกครั้งเป็น “ตรอกอิศรานุภาพ

ดิฉันติดใจเรื่องเจ๊สัวเนียมมาตั้งแต่ครั้งที่ค้นหาข้อมูลเพื่อเขียนสำเภาสยาม : ตำนานเจ๊กบางกอก คำถามที่ติดปากมานาน และได้ถามซ้ำๆ กันอยู่หลายปีคือ “เจ๊สัวเนียมแซ่อะไร?” “เจ๊สัวเนียมมีบุตรชายหรือไม่? ถ้ามีทำไมจึงยกสมบัติให้บุตรสาวล่ะคะ?”

ไม่มีเสียงตอบจากสวรรค์ คราวนั้นจึงจำใจต้องปิดต้นฉบับไป โดยไม่มีเรื่องของพระศรีทรงยศ (เนียม) นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คนสำคัญช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์รวมอยู่ด้วย

มาคราวนี้ค้นข้อมูลเรื่องของสตรีชั้นกระฎุมพีของสยาม จึงเปลี่ยนคำถามใหม่เป็น “มารดาเจ๊สัวเนียมคือใคร? ภรรยาชื่ออะไร?” คราวนี้ได้ผล ประวัติเจ๊สัวเนียมเริ่มกระจ่างขึ้นทันตา ดิฉันได้รับความกรุณาจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ส่งสาแหรกตระกูลมารดาของเจ๊สัวเนียมมาให้ รวบรวมโดยวิชัย ทรรทรานนท์ ขออนุญาตนำบางส่วนมาพิมพ์เผยแพร่ ณ ที่นี้ด้วย

บิดาของเจ๊สัวเนียมเป็นจีนแซ่เตีย เข้ามาแต่งงานอยู่กินกับอำแดงทองดี ภรรยาไทย ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมบิดากับเจ้าจอมมารดาอิ่มในรัชกาลที่ ๓ เอกสารระบุว่าทองดีเป็นบุตรสาวคนหนึ่งในจำนวนบุตรสาว ๑๑ คนของพระศรีศุภโยคหรือพระนรินทร์ทิพย์ (ผู้เขียนสาแหรกตระกูลไม่แน่ใจ จึงระบุทั้งสองชื่อที่รับทราบมา) พระนรินทร์ทิพย์ผู้นี้มีบุตรชายเพียงคนเดียว ชื่อสิน เป็นต้นตระกูลสุวรรณเตมีย์

เจ๊สัวเนียมมีบุตรสาว ๕ คน บุตรชาย ๒ คน ชื่อรุ่ง และเชย หากเจ๊สัวเนียมแบ่งสมบัติโดยใช้ธรรมเนียมจีนเป็นหลักแล้ว ทรัพย์สินส่วนใหญ่ก็คงตกอยู่กับทายาทฝ่ายชายสองคนนี้ เพราะเป็นผู้สืบตระกูลตามวิธีคิดของคนมีแซ่

คราวนี้สมมุตินะคะสมมุติ ว่าเจ๊สัวเนียมคิดแบบไทยตามแบบมารดา สมบัติจะยกให้ใคร คราวนี้สมบัติก็ไปตกอยู่กับเอกภรรยาและบุตรธิดาผู้สืบสันดาน ตามธรรมเนียมไทยที่ใช้กันอยู่ในสมัยนั้น

เนื่องจากคนโบราณมีภรรยาหลายคน กฎหมายสยามจึงกำหนดประเภทของภรรยา โดยภรรยาทุกประเภทมีสิทธิในมรดกของสามี แต่จะได้รับส่วนแบ่งไม่เท่ากัน ดังนี้ ภริยาพระราชทานจะได้รับมรดก ๓.๕ ส่วน ภริยาสู่ขอได้มรดก ๓ ส่วน ภริยาอันทูลขอและพระราชทานให้ได้มรดก ๒.๕ ส่วน และภรรยาลำดับรองลงไปแต่ละคนได้มรดก ๑.๕ ส่วน๑ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นภรรยาประเภทไหน จะมีสิทธิในส่วนแบ่งมรดกของสามีก็ต่อเมื่ออยู่กินกับสามีมานานกว่า ๓ ปี ไม่เช่นนั้นจะได้รับส่วนแบ่งเพียง ๐.๕ ส่วนเท่านั้น

หากเทียบวิธีส่งมอบมรดกกันแล้ว ความแตกต่างระหว่างคำว่า “ผู้สืบสันดาน” และ “ผู้สืบแซ่” เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานภาพของหญิงชาวสยามดูดีกว่าสตรีจีนในสมัยเดียวกันมากมาย

สืบไปสืบมาก็พบว่าเจ๊สัวเนียมเป็นบรรพชนอีกคนหนึ่งของดิฉัน สืบสายมาทางทองคำ บุตรสาวเจ๊สัวเนียมที่แต่งงานกับพระประเสริฐวานิช (เจ๊สัวเสง) จากสายสกุลเศรษฐบุตร สังคมเจ๊สัวเมืองกรุงช่างแคบนัก ไล่สืบไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็แต่งงานเป็นญาติเกี่ยวดองกันไปหมด สำหรับมรดกของเจ๊สัวเนียมนั้นเมื่อลูกหลานรับไปเป็นทุนแล้ว จะจีรังยั่งยืนเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของแต่ละคนด้วย สำหรับทองคำ บุตรสาวเจ๊สัวเนียมผู้เป็นย่าทวดของดิฉัน หลังจากพระประเสริฐวานิช (เสง) สามีค้าขายล้มละลายในที่สุดก็ไม่เหลืออะไร เพราะกฎหมายไทยระบุว่า หนี้ทั้งหมดที่สามีก่อขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ครอบครัวถือเป็นหนี้ร่วมของสามีภรรยา๒ ส่วนน้อยและนวม คุณหญิงของพระยาอาหารบริรักษ์ (นุช) นั้น ขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ สามีท่านก็กลายเป็นขุนนางตกยาก เหลือเพียงสายคุณหญิงนิ่มเท่านั้น ที่วาสนาดี ครอบครัวสามารถรักษาสมบัติไว้ได้จีรังยั่งยืน

ส่วนคำถามที่ค้างคาใจมานานว่า “ทำไมคนมีแซ่เช่นเจ๊สัวเนียมยกสมบัติให้กับลูกสาว”

ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นหลานของคุณหญิงนวม อาหารบริรักษ์ อธิบายให้ฟังว่า เจ๊สัวเนียมนั้นสำนึกเสมอว่าตัวเองมั่งคั่งขึ้นมาในแผ่นดินสยาม จึงยกที่ดินให้ลูกหลานฝ่ายหญิงเป็นผู้ปกปักรักษา เพราะแน่ใจว่าจะไม่ทิ้งแผ่นดินหนีไปไหน ส่วนเงินทองมอบให้ฝ่ายชายไปเป็นทุนทรัพย์ในการทำมาหากิน ฟังคล้ายกับว่าในสมัยนั้นเชื่อกันว่าลูกชายมีโอกาสเดินทางไปตั้งหลักแหล่งที่อื่นมากกว่าฝ่ายหญิง

การที่จีนสยามหลายครอบครัวเปลี่ยนคติธรรมเรื่องการสืบทรัพย์ให้เป็นไทยมากขึ้น อธิบายได้ด้วยทฤษฎีว่าด้วยความสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่ดิฉันอ่านพบในหนังสือของทวีศักดิ์ เผือกสม ชื่อคนแปลกหน้านานาชาติของกรุงสยาม ความว่า

การสร้างและการแสวงหาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชนในสังคม คือ การหาหรือนิยามกำหนดเอกลักษณ์บางอย่างที่ทำให้ทุกคนเป็นพวกเดียวกันกับตน แต่ในอีกด้านหนึ่ง คือการกำหนดความเป็นอื่นที่แตกต่างออกไปจากตัวเอง หรือหาลักษณะของความไม่เป็นพวกเดียวกับตนออกมา. การสร้างความรู้สึกถึงความมีเอกลักษณ์ร่วมกันจึงเป็นธรรมชาติประการหนึ่งของมนุษย์ เพื่อที่จะก่อให้เกิดความปรองดองเป็นพวกเดียวกันในกลุ่มในสังคม…

การแสวงหาเอกลักษณ์ของกลุ่มคน หรือกลุ่มสังคมการเมือง จึงเป็นลักษณะปรกติวิสัยของมนุษย์ และแต่ละสังคมต่างก็ผลิตวาทกรรมว่าด้วยความเป็นตัวตนของตนเองที่แตกต่างจากคนอื่นอยู่เสมอ เช่นด้วยการใช้ภาษา รอยสัก ความเชื่อ…ในด้านกลับกัน คนอื่นที่แปลกต่างจากตัวเองจึงถูกมอง ถูกพูดถึง และถูกนำมาเปรียบ…

ดังนั้นหากใช้ทฤษฎีนี้อ่านใจจีนสยาม เช่น เจ๊สัวเนียม อำแดงอยู่ ภรรยาหลวงอภัยวานิช (จาต) แห่งโซวเฮงไถ่ และเจ๊สัวอีกหลายครอบครัวในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เราก็จะเห็นแววว่าพวกเขาต้องการเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมสยาม ไม่อยากถูกมอง ถูกพูดถึง หรือถูกนำไปเปรียบว่าลำเอียง เอนไปข้างบุตรชายตามธรรมเนียมการสืบแซ่สกุลของจีน ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นธรรมเนียมอื่นไปแล้ว โดยเฉพาะในสายตาของนายแม่ภรรยาเจ๊สัว และเป็นประมุขฝ่ายหญิงของบ้าน

ด้วยวิธีการแบ่งสมบัติของผู้มีทรัพย์ในสยามนี่เอง ทำให้ดิฉันเชื่อว่านารีผู้มีทรัพย์ในสังคมกรุงเทพฯ มีอยู่เป็นจำนวนมาก น่าจะเกลื่อนพอๆ กับถังข้าวสาร ที่พวกเธอถูกนำไปเปรียบเทียบในคำพังเพยร่วมสมัยเรื่อง “หนูตกถังข้าวสาร” ส่วนบทบาทของพวกเธอที่มีต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจไทย ทิ้งให้ท่านผู้อ่านช่วยวิเคราะห์จะเหมาะกว่า




ศาลพระศรีทรงยศ เยาวราช

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
หลวงปู่หนู ญาณวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านแมด ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
Kimleng 0 2006 กระทู้ล่าสุด 24 มิถุนายน 2557 12:36:19
โดย Kimleng
หลวงพ่อบุญตา ปัญญผโล วัดบูรพาราม ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1073 กระทู้ล่าสุด 15 ตุลาคม 2560 11:30:58
โดย ใบบุญ
หลวงปู่พระสมุห์ดี วัดบ้านนางใย ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1213 กระทู้ล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2561 16:22:22
โดย ใบบุญ
หลวงปู่พิมพ์ (พระครูโยคีอุทัยทิศ) วัดอุทัยทิศ ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 928 กระทู้ล่าสุด 23 มีนาคม 2561 16:19:09
โดย ใบบุญ
พระครูวิชัยสารกิจ วัดนาควิชัย ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 582 กระทู้ล่าสุด 07 มิถุนายน 2562 15:45:06
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.383 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มกราคม 2567 05:20:08