[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 16:21:00 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ทุพภิกขภัยในเวียดนามปี 1945 ภาวะอดอยากครั้งรุนแรง ต้องกินรากไม้ประทังชีวิต  (อ่าน 674 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2319


ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 91.0.4472.124 Chrome 91.0.4472.124


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 29 กรกฎาคม 2564 16:27:40 »


https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2021/07/%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1-1945-696x364.jpg
ทุพภิกขภัยในเวียดนามปี 1945 ภาวะอดอยากครั้งรุนแรง ต้องกินรากไม้ประทังชีวิต

ชาวเวียดนามปล้นยุ้งฉางข้าวของกองทัพญี่ปุ่น เมื่อปี 1945 ไฟล์ภาพจาก Võ An Ninh ไฟล์ภาพ public domain

ทุพภิกขภัยในเวียดนามปี 1945
ภาวะอดอยากครั้งรุนแรง ต้องกินรากไม้ประทังชีวิต


ที่มา -   ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2554
ผู้เขียน - พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล
เผยแพร่ - วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2564

ผู้เขียนได้ซื้อหนังสือภาษาเวียดนามเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง ชื่อ Noi Dau Lich Su Nan Doi 1945 ซึ่งแปลความได้ประมาณชื่อเรื่องของบทความนี้ [ประวัติศาสตร์แห่งความทุกข์ระทม : ความอดอยากหิวโหยของเวียดนามเหนือในปี 1945 – กองบก.ออนไลน์]

…หนังสือจัดทำในปี 2005 (พิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี 2007) โดยสำนักพิมพ์เยาว์ (Nha Xuat Ban Tre) ของหนังสือพิมพ์เยาว์วัย (Bao Tuoi Tre) มีลักษณะเป็นหนังสือรวมข้อเขียนสั้น ๆ หลายชิ้นด้วยกัน

จุดประสงค์ที่เขียนไว้ในคำนำหนังสือ บอกไว้ชัดเจนว่าต้องการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดใจของประเทศเวียดนามเมื่อปี 1945 ซึ่งในทางจันทรคติเป็นปีที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาเวียดนามว่า เอิ๊ตโหซ่ว (At Dau) หรือปีระกา คนเวียดนามจึงมักเรียกชื่อเหตุการณ์นี้ว่า Nan Doi At Dau (หนั่นด๊อยเอิ๊ตโหซ่ว)…

ปีระกา 1945 ในช่วงเวลาตอนปลายที่เวียดนามถูกยึดครองโดยกองทัพของญี่ปุ่น และขณะเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้จะปิดฉากแล้ว ได้เกิดภาวะความอดอยากอย่างรุนแรงที่ภาคเหนือของเวียดนาม โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 1944 ต่อเนื่องเรื่อยมาถึงขั้นวิกฤตในช่วงต้นปี 1945 จนถึงเดือนพฤษภาคม ผู้คนกว่า 32 จังหวัดในภาคเหนือต้องอดอยากหิวโหยล้มตาย ตัวเลขของคนเวียดนามประมาณว่ามีคนตายในช่วงนั้น 2 ล้านกว่าคน จำนวนนี้มากกว่า 10 เท่าของคนญี่ปุ่นที่ตายเพราะถูกระเบิดปรมาณูลง 2 ลูกรวมกัน หรือมากกว่า 1 ใน 10 ของประชากรเวียดนามเหนือในขณะนั้น

เซืองจุงก๊วก ผู้เขียนบทนำเรื่อง เป็นนักวิชาการเวียดนามที่บังเอิญผู้เขียนเคยรู้จักตั้งแต่ปี 1989 ปัจจุบันยังเป็นนักวิจัยประวัติศาสตร์ นักวิจารณ์การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ที่มีความแหลมคมคนหนึ่ง เขาและเพื่อนนักวิชาการญี่ปุ่นได้ชวนกันลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความอดอยากหิวโหยในภาคเหนือของเวียดนามปี 1945 พวกเขาค้นพบว่า นอกจากความอดอยากเป็นสาเหตุแห่งการตายอันน่าเศร้าสลดใจแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นเข้ามาผสมโรงด้วย คือ การตายเพราะโดนระเบิดของสหรัฐอเมริกาที่เอามาทิ้ง โดยเฉพาะในเมืองฮานอยระหว่างปี 1944-45 และยังมีการตายเพราะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อีกด้วย

เขากล่าวว่า ศพคนตายในเมืองฮานอยส่วนใหญ่ได้ถูกนำไปไว้รวมกันเป็นจำนวนมากในเขตฮายบ่าจึง โดยเฉพาะที่สุสานเหิบเถี่ยน และตั้งแต่ปี 1960 เริ่มมีการล้างสุสานโดยเอาที่ไปทำอย่างอื่น แต่ก่อนที่สุสานจะถูกล้างจนหมดสิ้น เซืองจุงก๊วกได้ลุกขึ้นต่อต้านและรณรงค์ให้อนุรักษ์สุสานที่เหลือไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย

หลังจากนั้น รัฐบาลก็ได้รักษาสุสานดังกล่าว พร้อมกับจัดทำแผ่นป้ายหินบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่ และนำเอาบทกวีขนาดยาวชื่อ แด่มวลชนผู้ประสบทุพภิกขภัยมรณะ (Truy Dieu Nhung Luong Dan Chet Doi) ของหวูเคียว ซึ่งแต่งไว้เมื่อต้นปี 1945 บรรยายสภาพความอดอยากหิวโหยของประชาชนทั่วภาคเหนือ มาสลักลงบนป้ายหินจารึกด้วย

เซืองจุงก๊วกยังเรียกร้องรัฐบาลให้เข้าไปเก็บและรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในเมืองท้ายบิ่ญ (จังหวัดท้ายบิ่ญ) ซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่มีคนตายเพราะความอดอยากมากที่สุด โดยเฉพาะเขาให้รีบเก็บข้อมูลจากคนที่มีชีวิตเหลือรอดมา หรือผู้ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ เพราะว่าข้อเท็จจริง ความรู้สึกทุกข์ทรมาน รวมทั้งความคิดเห็นที่จะได้จากคนเหล่านี้นั้น คือประวัติศาสตร์บอกเล่าอันมีค่า หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งสำหรับการเรียนรู้ของเยาวชนเวียดนามรุ่นหลัง

เซืองจุงก๊วกย้ำว่า นี่คือประวัติศาสตร์ ที่คนเวียดนามไม่อาจลืมได้และต้องจดจำสำนึกไปชั่วกาลนาน…

ประวัติศาสตร์แห่งความทุกข์ระทมในปี 1945 มีสาเหตุรากฐานมาจากระบบการปกครองอาณานิคมของฝรั่งเศสในเวียดนาม ซึ่งยึดผลประโยชน์ของเมืองแม่เป็นหลัก และไม่ได้คำนึงถึงประชาชนคนพื้นเมืองทั้งยังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและแรงงานอย่างขูดรีดเต็มกำลัง ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะในเวียดนามเหนือ ซึ่งปกติสมัยศักดินาปกครองก็ยากจนข้นแค้นอยู่แล้วนั้น ต้องตกอยู่ในสภาพยากจนไม่รู้จบ กินไม่เคยอิ่ม และสุขภาพย่ำแย่ พวกชาวนาและกรรมกรถูกขูดรีดมากที่สุดในระบบอาณานิคม

สำหรับเวียดนามเหนือ ฝรั่งเศสปกครองโดยให้เป็นรัฐในอารักขา ไม่ได้ปกครองโดยตรงเช่นเดียวกับเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางการปกครองอินโดจีนของฝรั่งเศส และเป็นพื้นที่ที่ฝรั่งเศสใช้สำหรับการผลิตข้าวและยางพาราส่งออกเป็นสำคัญ

แม้จะเป็นรัฐในอารักขา ฝรั่งเศสก็ไม่ได้ละเว้นในการแสวงหาผลประโยชน์จากเวียดนามเหนืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการผลิตข้าวและการใช้ทรัพยากรแหล่งแร่ธาตุต่างๆ ที่มีในเวียดนามเหนือ

ในปี 1913 ฝรั่งเศสเริ่มเร่งรัดการส่งออกข้าวมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มีข้าวสำหรับการบริโภคภายในเหลือน้อยลง ยิ่งในเวียดนามเหนือด้วยแล้วยิ่งลำบาก เพราะไม่ได้อุดมสมบูรณ์เท่ากับเวียดนามใต้ และยังมีประชากรที่หนาแน่นกว่าด้วย การขาดแคลนข้าวสำหรับการบริโภคจึงส่งผลถึงคนเวียดนามเหนือโดยตรง

ทุพภิกขภัยในเวียดนามเหนือเริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930-40 ทั้งนี้เนื่องจากภายหลังเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (Great Depression) ฝรั่งเศสได้เปิดฉากการใช้นโยบายเศรษฐกิจที่ขูดรีดอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นในอินโดจีน โดยบังคับให้คนพื้นเมืองกันพื้นที่สำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ (cash crops) เพิ่มขึ้น ในราคาค่าตอบแทนพืชผลที่ต่ำมาก ทำให้ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์อะไร ซ้ำยังต้องเสียภาษีหนัก และขาดแคลนที่ดินสำหรับปลูกข้าวด้วย รวมทั้งทำให้เกิดตลาดมืดรับซื้อพืชผลในราคาสูงมากถึง 20 เท่า

ในระหว่างช่วงแรกที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-41) ฝรั่งเศสกักตุนอาหารโดยเฉพาะข้าวจากชาวนาเวียดนามทั้งเหนือและใต้ ทำให้ข้าวซึ่งมีเหลือสำหรับการบริโภคน้อยอยู่แล้วนั้น กลับน้อยลงไปอีก เพราะนอกจากจะไว้ส่งออกแล้ว ยังเอาข้าวไปกลั่นเป็นน้ำมันเอทานอลอีก


ภาวะที่ย่ำแย่ของคนเวียดนามเหนือต่อเนื่องซ้ำเติมด้วยช่วงเวลาการยึดครองของญี่ปุ่นในระหว่างปี 1941-45 ซึ่งบังคับเอาข้าวปลาอาหารจากพวกชาวนาไปเป็นเสบียงของตน ปรากฏว่าในระหว่างปี 1942-45 ญี่ปุ่นนำข้าวจากเวียดนามใต้ส่งออกไปประเทศของตนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังบังคับชาวนาให้ปลูกพืชเศรษฐกิจแทนข้าวเช่นเดียวกับพวกฝรั่งเศส การผลิตข้าวที่ลดลงกับผลผลิตที่เหลือน้อยจึงยาวนานสืบต่อกันถึง 15 ปี

และแล้ว สาเหตุปัจจุบันมาถึงเมื่อสวรรค์ไม่ปรานี จุดวิกฤตก็บังเกิด การผลิตข้าวที่ลดลงอยู่แล้ว ต้องถูกซ้ำเติมอย่างรุนแรงที่สุดจากภัยแห้งแล้งและน้ำท่วมต่อกันในช่วงปี 1944 ปรากฏว่าผลผลิตลดลงทันที 20% และยังลดลงต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนถึงต้นปี 1945 ผู้คนเริ่มขาดแคลนอาหาร จากมีกินน้อย กลายเป็นไม่มีจะกิน เริ่มอดอยาก หิวโหย และล้มตาย จากตายน้อยถึงตายมาก จากตายมากถึงตายเป็นเบือไม่ต้องนับ

ในภาวะสงคราม ทุพภิกขภัยมรณะของเวียดนามเหนือแทบจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือบรรเทาทุกข์ได้ทันเวลา เหตุเพราะอยู่ในระหว่างสงคราม และการคมนาคมไม่สะดวก เพราะการทิ้งระเบิดอย่างหนักปิดเส้นทางบกและน้ำของฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างปี 1944 พวกเวียดมินห์ (เหวียดมิญ) ยังอยู่ในป่า คอยหลบการปราบปรามของพวกญี่ปุ่น พวกฝรั่งเศสถูกญี่ปุ่นขับไล่ออกไปแล้ว และถึงยังอยู่ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยได้หรือจะทำให้แย่ลง พวกญี่ปุ่นซึ่งกำลังสาละวนรบอยู่ก็ถือว่าข้าวเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญในการทำสงคราม จึงไม่ได้เอาข้าวที่อยู่ในเสบียงคลังของตนออกมาแจกจ่ายช่วยเหลือคนเวียดนาม

ส่วนจักรพรรดิราชวงศ์เหงวียนที่เฮว้ก็ไม่สามารถสั่งการช่วยเหลือดูแลอะไรได้ เพราะหมดอำนาจและต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของต่างชาติ ได้แต่ยังอยู่อย่างเจว็ดตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสเข้าปกครองแล้ว

ทั้งญี่ปุ่นและฝรั่งเศสซึ่งรบกันอยู่ต่างก็ปล่อยให้ เวียดนามเหนืออดอยากไป และยังมีส่วนที่คิดเห็นว่า เป็นการดีที่จะทําให้ฐานขบวนการปฏิวัติของพวก เวียดมินห์ถูกขจัดไปหรืออ่อนกําลังลงด้วย

แต่เหตุการณ์อันแสนสาหัสนี้กลับเป็นประโยชน์ต่อพวกเวียดมินห์ กลายเป็นโอกาสสำคัญทำให้ได้ใช้ประโยชน์สำหรับการรณรงค์ต่อต้านลัทธิอาณานิคมฝรั่งเศสและฟาสซิสต์ญี่ปุ่น ทำให้สามารถระดมคนจำนวนมากเข้ามาเป็นกำลังของพวกเวียดมินห์ การใช้ประโยชน์นี้รวมไปถึงการปลุกปั้นให้ประชาชนเข้าปล้นสะดมคลังอาหารของญี่ปุ่นด้วย โดยมีคำขวัญว่า “ปล้นฉางข้าวเอามาช่วยคนอดอยาก” ในระหว่างนี้จึงเกิดการปล้นคลังข้าวปลาอาหารของญี่ปุ่นในหลายจังหวัด

ชาวเวียดนามปล้นยุ้งฉางข้าวของกองทัพญี่ปุ่นในคำประกาศอิสรภาพของโฮจิมินห์ (โหจี๊มิญ) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1945 ภายหลังการปฏิวัติเดือนสิงหาคม (ก๊ากหมั่งท้างต๊าม) ประสบความสำเร็จแล้ว ได้กล่าวว่า ประชากรของเวียดนามเหนือที่ล้มตายเพราะความอดอยากนั้นมีจำนวน 2 ล้าน กว่าคน ในขณะที่สถิติของฝรั่งเศส (Annuaire statistique de I” Indochine 1943-1946) บันทึกไว้จำนวน 13,156,300 คน นักประวัติศาสตร์เวียดนามจึงให้ตัวเลขเป็นกลางๆ โดยประมาณจำนวน 1-2 ล้านคน…


ในภาวะอดอยากทำให้เกิดความยากแค้นตามมา เริ่มขาดแคลนสิ่งจำเป็นของชีวิตแม้แต่เสื้อผ้า ผู้คนที่เดินตามท้องถนนแทบจะไม่มีเสื้อผ้าติดตัว บางคนแค่เอาใบไม้หรือวัสดุที่หาได้มาปิดกาย พวกเขาผอมโซ ผิวหนังดำกร้านและเที่ยวแห้ง ดูไม่ออกว่าหนุ่มสาวหรือแก่ ทุกคนอยู่ในสภาพที่น่าสังเวชเหมือนกันหมด

กวางเถี่ยน ผู้มีข้อเขียนหลายชิ้นในหนังสือนี้ ได้เล่าถึงประสบการณ์ลงพื้นที่สัมภาษณ์คนร่วมสมัยกับเหตุการณ์ในหมู่บ้านหลายแห่งของจังหวัดท้ายบิ่ญ และในพื้นที่สุสานเขตเมืองฮานอย ทำให้เราได้รับรู้ถึงความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ความตายอย่างน่าเวทนา และการต่อสู้ของประชาชนที่จะรักษาชีวิตของตนและครอบครัวให้อยู่รอด

ภาพเหตุการณ์ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาท่ามกลางน้ำตาที่หลั่งไหลของคนเล่า แต่ละเรื่องที่เล่าเต็มไปด้วยความน่าเศร้าสะเทือนใจยิ่ง ตั้งแต่การล้มตายของผู้คนในหมู่บ้าน ร่วงไปทีละคนสองคน จนถึงตายตกยกครัว ตายตกยกหมู่บ้าน ไม่มีใครเหลือ ศพของผู้คนเกลื่อนกลาดอยู่ตามบ้าน ตามท้องถนน และตามที่สาธารณะต่างๆ ต้องเผาบ้านเผาศพกันไม่หวาดไหว ส่วนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องดิ้นรนหาอาหารมาใส่ท้อง จากฆ่าหมูหมาไก่แมววัวควายในบ้านจนหมดแล้ว ขุดเผือกขุดมันจนหมดแล้ว กินทุกอย่างที่กินได้จนหมดแล้ว จึงต้องออกไปจับหนูจับแมลงกิน กินแม้แต่หญ้า ดิน และรากไม้

ที่น่าโศกสลดที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับ 2 ผัวเมียที่ออกไปหาอาหารในเมือง ทิ้งลูกเล็กแบเบาะไว้คนเดียวในบ้าน แต่ผัวหิวทนไม่ไหวได้ตายไปก่อนกลางทาง เหลือเมียซึ่งก็จวนตาย และรู้ตัวว่ากลับไม่ถึงบ้านแน่ จึงฝากฝังลูกไว้กับคนรู้จักในเมือง เมื่อคนรู้จักนั้นไปช่วยดูเด็กที่บ้านก็พบว่าเด็กถูกหมาที่หิวโซกัดกินจนตายแล้ว เหลือแต่เลือดและขาข้างหนึ่งเท่านั้น และหมาก็ยังยืนอยู่ข้างๆ เลือดเต็มปากเห็นๆ

และยังมีเรื่องเล่าของคนซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียง 5 ขวบ พ่อแม่และญาติพี่น้องของเขาตายหมด เหลือเขาคนเดียวในบ้านที่เงียบเชียบ ตกกลางคืนไม่มีไฟ ต้องอยู่ท่ามกลางความมืดมิดและความหวาดกลัว ตัวเขาเองก็จำไม่ได้โดยละเอียดแล้วว่ารอดมาได้อย่างไร แต่เท่าที่ยังจำได้คือ “ผมคงจะหาอะไรที่ขวางหน้าใส่ปากเข้าไปกินหมด กินแล้วร้องไห้จนลงไปคลาน คลานแล้วก็ล้มตัวลงนอน”…

เหตุการณ์ครั้งนี้มีผลกว้างไกล และไม่ได้กระทบแต่คนจนเท่านั้น แม้แต่คนรวยก็ได้รับผลสะเทือนเช่นเดียวกัน คนรวยมีเงินก็หาซื้อข้าวไม่ได้ หรือใช้เงินหมดแล้วเอาสมบัติไปขายเพื่อแลกเงิน ก็ไม่มีใครรับซื้อ สุดท้าย หิวมาก ๆ เข้าก็มีคนตายเหมือนกัน

นี่คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยในประวัติศาสตร์แห่งความทุกข์ระทมของประชาชนเวียดนามเหนือ





เด็กชาวเวียดนามในเหตุการณ์ ทุพภิกขภัย ค.ศ. 1945 ภาวะอดอยากครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติสาสตร์ในเวียดนาม

โฮจิมินห์และรัฐบาลเวียดมินห์ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาความอดอยากเป็นประการแรก และประสบความสำเร็จภายใน 4 เดือน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประชาชนภาคเหนือศรัทธาและร่วมแรงร่วมใจกับการปฏิวัติของเวียดมินห์ ความอดอยากหิวโหยจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญในนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมาโดยตลอด

หลังจากทุพภิกขภัยมรณะปีระกาสิ้นสุดลง พร้อมกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสกลับมา และเพื่อเรียกคะแนนนิยม จึงโยนบาปให้ญี่ปุ่นแต่ผู้เดียว ว่าเป็นผู้ทำให้เกิดภัยดังกล่าว เหตุเพราะคนญี่ปุ่นกินข้าว แต่คนฝรั่งเศสไม่ได้กิน และถ้าฝรั่งเศสยังอยู่ก็จะช่วยแก้ไขสถานการณ์นี้ได้ ซึ่งเป็นการโฆษณาที่น่าชวนหัวยิ่ง ฝรั่งเศสคงไม่รู้ว่าระหว่างที่ตนไม่อยู่นั้น พวกเวียดมินห์ที่ยึดเวียดนามเหนือได้แล้วนั้น เข้มแข็งและมีอำนาจมากขึ้นเพียงไร

นับจากปี 1946 เวียดนามเหนือยังต้องเผชิญกับภาวะสงครามอย่างต่อเนื่องไปอีก 30 ปี ผ่านสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส (1946-54) สงครามเวียดนามกับสหรัฐอเมริกา หรือบางทีก็เรียกกันว่า สงครามอินโดจีน ภาค 2 (1955-75) ทำให้ประชาชนเวียดนามทั้งเหนือใต้ต้องล้มตายสูญหายไปอีกมากกว่า 3 ล้านคน

แม้สงครามอันยาวนานจะสิ้นสุด และรวมชาติได้ในปี 1975 แต่จากปีนั้นมาจนถึงปี 1986 อีก 12 ปี เวียดนามทั้งประเทศก็ยังอยู่ในความยากจน ต่อสู้ขลุกขลักอยู่กับการสร้างสรรค์สังคมนิยมภายในประเทศที่ล้มเหลวและเต็มไปด้วยปัญหารุมล้อมมากมาย โดยเฉพาะยังมีความอดอยากหิวโหยในระหว่างทศวรรษ 1980 เนื่องจากนโยบายสหกรณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้ผล แม้จะไม่ถึงกับล้มตาย แต่ประชาชนยังต้องอดมื้อกินมื้อ

พอเปิดสมัยโหด่ยเหมยตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา ซึ่งช่วงทศวรรษแรกยังไม่เห็นผลชัดเจน แต่เมื่อเวลา 25 ปีผ่านไป เวียดนามเพิ่งจะลืมตาอ้าปาก เหมือนเพิ่งโผล่จากนรก ได้กินพออิ่ม มีเงินพอเก็บกับเขาบ้าง

ความอดอยากหิวโหย หรือทุพภิกขภัย กับความยากจนในเวียดนามเหนือ มีมาแต่โบราณกาลเป็นพื้นฐาน ถึงขนาดชาวนาละทิ้งหมู่บ้านกันเป็นประจำ และชื่อหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงเป็นว่าเล่น แต่เหตุการณ์ทุพภิกขภัยมรณะปีระกา 1945…เป็นฝันร้ายที่เขย่าขวัญมากที่สุด ซึ่งจะคอยเตือนคนเวียดนามทั้งชาติตลอดไปว่า การอยู่ดีมีกินนั้นราคาแพงลิบลิ่ว และจะต้องชดใช้ด้วยความเจ็บปวดทรมานเพียงใดในประวัติศาสตร์อันยาวนานของตนเอง…

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.526 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 28 มีนาคม 2567 07:34:18