[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 04:30:34 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พิธีสืบชะตา (ต่ออายุ) ของชาวไทใหญ่  (อ่าน 593 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5461


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 02 ตุลาคม 2564 21:01:24 »


พิธีสืบชะตา ณ สวนธรรมภูสมะ บ้านกุงไม้สัก ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๔


ความเชื่อ พิธีสืบชาตา

พิธีกรรมสืบชะตา เป็นประเพณีพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวไทยยวน (คนเมือง) หรือคนภาคเหนือ ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตอย่างแน่นแฟ้น สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล เพราะมีความเชื่อมั่นว่า พิธีสืบชะตานี้เป็นการต่ออายุทั้งของตนเองและญาติพี่น้อง บริวาร หรือชะตาบ้านเมืองให้มีอายุยืนยาวสืบไป ก่อให้เกิดความสุขความเจริญ ทั้งยังเป็นการขจัดภัยอันตรายต่างๆ ที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปราศจากบาปเคราะห์และสิ่งชั่วร้ายทั้งมวล ก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการดำรงชีวิตร่วมกันของคนในสังคม

สืบ หมายถึง  ต่อเนื่อง, ก้าวไปข้างหน้า ขยับออก ขยายออก ต่อเนื่องกันออกไป

คำว่า "ชาตา" ในความหมายนี้เป็นศัพท์เฉพาะ (Technical term) ที่ใช้ในเรื่องของโหราศาสตร์ ที่เราเรียกว่า “ดวงชาตา”

เมื่อนำเอาคำว่า “สืบ” รวมเข้ากับคำว่า “ชะตา” แล้ว คำว่า “สืบชะตา หรือ สืบชาตา” จึงมีความหมายว่า “สืบต่อจากการเกิด” โดยรวมแล้ว สืบชาตา หมายถึงการทำพิธีเพื่อให้ชาตาหรือชีวิตดำเนินต่อไป หรืออาจเรียกว่าเป็นพิธีต่ออายุก็ได้ และอายุที่สืบต่อออกไปนั้นเป็นมงคล มีความสุข ปราศจากโรคภัยและเสนียดจัญไรต่างๆ ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป  

ความเชื่อถือการสืบชะตานี้ เป็นตำนานปรากฏในคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์สืบชาตา กล่าวว่า "พระสารีบุตรเถระ ซึ่งเป็นอัครสาวกของพุทธเจ้า ได้รับสามเณรอายุ ๗ ปี ชื่อ ติสสะ มาบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนกับท่านเป็นระยะเวลา ๑ ปี วันหนึ่งพระสารีบุตรสังเกตเห็นลักษณะของสามเณร ว่าจะมีอายุได้อีก ๗ วัน เท่านั้น ก็จะถึงแก่มรณภาพ พระสารีบุตรจึงเรียกสามเณรมาบอกความจริงให้ทราบ ให้เธอกลับไปล่ำลาญาติพี่น้องเสีย สามเณรมีความเศร้าโศกเสียใจมากร้องไห้ร่ำไรน่าสงสาร นมัสการแล้วจึงเดินทางกลับบ้านเพื่อไปสั่งความแก่ญาติพี่น้อง

ระหว่างทางที่สามเณรเดินทางกลับไปนั้น สามเณร ได้พบปลาในสระน้ำซึ่งกำลังงวดแห้ง และปลานั้นกำลังกระเสือกกระสนรอความตาย   สามเณรจึงช้อนปลาใหญ่น้อยทั้งหมดไว้ในภาชนะ คือ บาตรของตน นำไปปล่อยที่แม่น้ำใหญ่ ระหว่างทางพบอีเก้งที่ติดแร้วของนายพราน สามเณรก็ปล่อยเก้งนั้นให้พ้นความตายไปอีก  เมื่อเดินทางไปถึงบ้าน สามเณรก็เล่าเรื่องตามที่พระสารีบุตรบอกนั้น พร้อมทั้งสั่งลาญาติมิตรเพื่อจะเตรียมตัวตาย ทุกคนที่ทราบเรื่องต่างก็ร่ำไห้สงสารเณรยิ่งนัก และรอเวลาที่เณรจะมรณภาพด้วยดวงใจที่แสนเศร้า

ครั้นครบกำหนดตามที่พระสารีบุตรพยากรณ์ไว้นั้น สามเณรก็ยังมีชีวิตอยู่เป็นปกติ สามเณรจึงเดินทางไปหาพระสารีบุตรเถระ พร้อมทั้งบอกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตนได้กระทำเกี่ยวกับเรื่องการนำปลาไปปล่อยน้ำ และปล่อยอีเก้งจากแร้วของนายพราน พระสารีบุตรจึงสรุปเรื่องจากเหตุทั้งหลายได้ว่า การที่ได้ประกอบกุศลกรรมนั้น สามารถต่ออายุให้ยืนยาวต่อไปได้

ด้วยตำนานนี้เอง ทำให้ชาวล้านนาเห็นถึงอานิสงส์ของการทำพิธีสืบชาตา จึงนิยมชอบการสืบชะตามาจนทุกวันนี้

พิธีสืบชาตานี้แบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ
        ๑. สืบชาตาคน (ทำได้ทุกโอกาส หรือฟื้นจากป่วยหนัก หรือมีผู้ทักทายว่าชะตาไม่ดีจำเป็นต้องสะเดาะเคราะห์และสืบชะตา )
        ๒. สืบชาตาบ้าน หรือสืบชะตาหมู่บ้าน (ทำได้เฉพาะในเทศกาลสงกรานต์หรือเมื่อเกิดเภทภัยในหมู่บ้าน)
        ๓. สืบชาตาเมือง (ในโอกาสครบรอบการสร้างเมือง หรือโอกาสที่กำหนด)

ในที่นี้ จะได้กล่าวถึงพิธีสืบชาตาคน ซึ่งเป็นประเพณีมงคลสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวล้านนานิยมทำกัน

ชาตา : ชะตา หมายถึง เวลาเกิดของคน ที่มีลักษณะบังเกิดสำแดงเหตุดีและชั่ว เช่น ชะตาดี ชะตาร้าย หรือรูปราศีที่มีดาวพระเคราะห์เดินถึงราศีนั้น ในเวลาเกิดของคน เรียกว่าชะตาคน

บุคคลที่มีเรื่องทำให้เกิดทุกข์ ไม่ว่าทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจ ทำให้มีเรื่องขบคิด เป็นกังวล จิตใจไม่เบิกบาน มีอาการเหงาหงอยเซื่องซึม หรือมีการเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ  มีเหตุทำให้เสียข้าวของเงินทอง หรือเกิดถ้อยความจนถึงขึ้นโรงขึ้นศาล หรือหมอดูทายทักว่าชะตาไม่ดีชะตาขาด เมื่อผู้ใดประสบอย่างนี้เรียกว่า “ชะตาร้ายหรือชะตาขาด”

คนโบราณจึงต้องมีการแก้ไขชะตาร้ายหรือชะตาขาด ซึ่งมีด้วยกันหลายวิธี เช่น การส่งกิ่ว การบูชานพเคราะห์ หรือการทำพิธีสืบชะตาคน เป็นต้น เพราะเชื่อว่าจะทำให้คลาดแคล้วต่อโรคภัยและเหตุร้ายทั้งปวง มีชีวิตอยู่ด้วยความสุขต่อไป

พิธีสืบชะตาที่ทำกันในสมัยโบราณ
เมื่อจะทำพิธีสืบชะตาให้แก่ผู้ใด ญาติของผู้ที่จะสืบชะตาจะขอแรงเพื่อนบ้านมาช่วยกันแต่งเครื่องสืบชะตาก่อนวันทำพิธี ๑ วัน โดยแบ่งงานกันทำระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ผู้ชายจะไปตัดเอากิ่ง ไม้ค้ำ คือชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นไม้โตเร็ว คนปัจจุบันคงจะไม่รู้จักกันแล้ว ตัดให้ปลายมีง่ามเรียกว่าไม้ค้ำ จำนวน ๒ อัน  ไม้ไผ่บง ๒ ท่อน เจาะใส่สลักให้ติดกันทำเป็นสะพานคู่ ไม้ไผ่เรี้ยหรือไม้ซางของภาคกลาง ๒ ท่อน  ท่อนแรกด้านหนึ่งใส่น้ำแล้วปิดรูด้วยใบตองแห้ง ด้านหนึ่งใส่ทรายแล้วปิดรู ด้านหนึ่งใส่ข้าวสารแล้วปิดรู เรียกว่า บอกน้ำ บอกซาย บอกข้าวเปลือก บอกเข้าสาน ทั้งนี้ ความยาวของไม้ค้ำ สะพาน และกระบอกต่างๆ นี้ให้ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าของชะตา เรียกว่า ยาวค่าฅิง ผู้ชายต้องเป็นฝ่ายจัดหาหน่ออ้อย หน่อกล้วย กล้าหมาก กล้ามะพร้าว มาเข้าพิธีด้วย

ฝ่ายหญิงเอาก้านกล้วยมา ๒ ก้าน สูงเท่ากับไม้ค้ำ ใช้ตอกแข็งเสียบก้านกล้วย ๒ อัน ทำคล้ายกับบันไดกว้างประมาณ ๔๐ เซนติเมตร แล้วผูกฝ้ายดึงจากบนลงล่าง จำนวน ๖ สาย แล้วผูกห้อยเบี้ยสายหนึ่ง ทองคำสายหนึ่ง กล้วยอ้อยสายหนึ่ง รวมเรียกว่า ลวดเงินลวดฅำ ต่อมาภายหลังจนถึงปัจจุบัน ใช้กระดาษเงินม้วนให้เป็นหลอดเอาฝ้ายร้อย สมมติว่าเป็นลวดเงิน เอากระดาษทองม้วนเป็นหลอดร้อยด้วยฝ้าย สมมติเป็นลวดฅำ ฟั่นเทียนที่เรียกว่า สีเทียน ด้วยขึ้ผึ้ง ๑ เล่ม โตเท่ากับหัวแม่มือ ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าชะตาเรียกว่า เทียนค่าฅิง เอากระดาษสากว้างประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าชะตา มาตัดเป็นทุงโดยทำเป็นดั่งหัวคน เป็นลำตัว เป็นหาง เรียกว่า ทุงค่าฅิง เอากระดาษสามาตัดเป็นธง ๓ เหลี่ยม กว้าง ๕ เซนติเมตร ยาว ๘ เซนติเมตร จำนวนเท่าอายุของเจ้าชะตา แล้วปักกับก้านกล้วย พวกผู้หญิงยังต้องแต่งดาเครื่องครัวขันตั้งขันครูให้กับอาจารย์ผู้ที่จะมาประกอบพิธีอีกด้วย คือแต่งเบี้ยจำนวน ๑,๓๐๐ เบี้ย หมากไหมจำนวน ๑๓ ไหม เรียกว่าหมาก ๑,๓๐๐ ผ้าแดง ๑ รำ (พับ) ผ้าขาว ๑ รำ (พับ) เทียนขี้ผึ้งมีขนาดโตประมาณนิ้วมือจำนวน ๒ เล่ม แต่ละเล่มใช้ขี้ผึ้งมีน้ำหนัก ๑ บาท เรียกว่า เทียนเหล้มบาท เทียนขี้ผึ้งขนาดเล็กจำนวน ๘ แท่ง กรวยใส่พลู ๔ กรวย ตัดหมากไหมให้เป็น ๔ ท่อน แล้วม้วนเอาตอกหรือฝ้ายผูกจำนวน ๔ อัน เรียกว่าหมาก ๔ ขด ตัดหมากไหมยาวประมาณ ๒ ข้อมือ จำนวน ๔ อัน เรียกว่า หมาก ๔ ก้อม เงินเป็นค่าคำนับครูประมาณ ๔๐ สตางค์ เรียกว่า เงิน ๕ บาทเฟื้อง เสื่อใหม่ หม้อใหม่ ข้าวเปลือกประมาณ ๑๕ กิโลกรัม ใส่กระบุง ข้าวสารประมาณ ๑.๕ กิโลกรัม เรียกว่าเข้าเปลือกหมื่นเข้าสารพัน  จัดหาเสื่อใหม่ ๑ ผืน หม้อใหม่ ๑ ใบ ใช้หม้อดินซึ่งอาจจะเป็นหม้อน้ำหรือหม้อแกงก็ได้

พอวันรุ่งขึ้นซึ่งกำหนดให้เป็นวันสืบชะตา อาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะกำหนดเวลาให้ แต่ต้องเป็นเวลายามที่ก่อนตะวันเที่ยง เมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลาดียามดี ผู้เฒ่าผู้แก่จะตั้งเครื่องสืบชะตา เอาไม้ค้ำ ๒ อันตั้งเป็นขาหนึ่ง เอาไม้ที่ทำเป็นสะพานตั้งเป็นขาหนึ่ง เอากระบอกน้ำกระบอกทรายตั้งเป็นขาหนึ่ง ตั้งให้เป็น ๓ ขา ระหว่างขาห่างกันประมาณ ๙๐ เซนติเมตร โน้มปลายให้ไขว้เข้าหากัน ใช้ตอกผูกให้ติดกันเป็นชั้นหนึ่งก่อนแล้วเอา เทียนค่าฅิง ปักที่ขาใดขาหนึ่ง ทุงค่าฅิง กับลวดเงินลวดฅำ ตั้งรวมกับขาใดขาหนึ่ง อีกขาหนึ่งตั้งก้านกล้วยที่ปักช่อ ส่วนกล้าอ้อย กล้าหมาก กล้ามะพร้าวและหน่อกล้วยก็แบ่งวางตามขาทั้งสามตามที่เห็นว่าสมควร แล้วนำเอาพระพุทธรูป ซึ่งนิยมเอาพระพุทธรูปไม้เพราะเห็นว่ามีน้ำหนักเบาประดิษฐานตั้งบนยอดที่ไม้ผูกติดกันนั้น การตั้งเครื่องอย่างนี้เรียกว่า ตั้งโขงชาตา เครื่องครัวขันตั้งของอาจารย์ทั้งหมดยกไปตั้งไว้ข้างหน้าโขงชาตา เมื่อตั้งเครื่องชะตาเรียบร้อยดีแล้ว จึงให้คนที่จะสืบชะตาเข้านั่งในโขงชาตา แล้วประเคนเครื่องขันตั้งและขันน้ำมนต์ให้กับอาจารย์ อาจารย์ก็จะยกภาชนะที่ใส่กรวยดอกไม้หมากพลูขึ้นเพื่อระลึกถึงและกล่าวคำอัญเชิญครูบาอาจารย์ เสร็จแล้วอาจารย์จุดเทียนน้ำมัน จุดเทียนค่าฅิง แล้วจึงกล่าวคำโอกาสสืบชะตาว่าดังนี้

        อัตถิ อุณหิสสะ วิชะโย ธัมโม โลเก อะนุตตะโร
        สัพพะสัตตะหิตัตถายะ ตังตวังคัณหาหิ เทวะเต
        ปะริวัชเช ระชะทัณเฑ อะมะนุสเสหิ ปาวะเก
        พะยัคเฆ นาเค วิเส ภูเต อะกาละมะระเณนะ วา
        สัพพัสมา มะระณา มุตโต ฐะเปตวา กะละมาริตัง
        ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา
        สุทธะ สีลัง สะมาทายะ ธัมมัง สุจะริตัง จะเร
        ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุข สะทา
        ลิกขิตัง จินติตัง ปูชัง ธาระนัง วาจะนัง คะรุง
        ปะเรสัง เทสะนังสุตวา ตัสสะ อายุ ปะวัฑฒะตีติ
   
พระคาถาบทนี้ มีพุทธานุภาพมากในเรื่องของการมีอายุยืนยาวและยังทำให้สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างง่ายๆ อีกด้วย ผู้ที่มีสุขภาพไม่ดี หรือขี้โรค หรือป่วยเป็นโรคที่รักษายากแล้ว ควรหมั่นท่องภาวนาเป็นประจำ จะหายได้โดยเร็ววัน

เมื่อจบแล้วอาจารย์จะท่องมนต์ที่มีชื่อว่า ธรณีสาร พร้อมกับประพรมน้ำมนต์ให้แก่เจ้าชะตา เป็นอันว่าเสร็จพิธี พวกญาติจะนำเอาไม้ค้ำไปค้ำต้นโพธิ์ต้นที่ได้ทำพิธีบวชแล้ว เอากระบอกน้ำกระบอกทราย ทุงค่าฅิง ช่อ ไปวางพิงไว้กับต้นโพธิ์ นำเอาสะพานไปพาดลำเหมืองที่มีคนข้ามไปมา เอากล้าไม้ต่างๆ ไปปลูกในวัดหรือที่สาธารณะ

ต่อมาอาจจะเป็นว่าอาจารย์วัดไม่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องพิธีกรรม การส่งการสืบต่างๆ หลายอย่างได้ขอพระภิกษุเป็นผู้กระทำให้ ประกอบกับเครื่องครัวขันตั้งก็เป็นของที่มีค่ามีประโยชน์ เมื่อศรัทธาชาวบ้านเห็นพระภิกษุเป็นผู้กระทำพิธีก็เกิดมีศรัทธาความเชื่อมากกว่า ต่อมาใครจะทำพิธีสืบชะตาก็นิมนต์พระภิกษุ ต่อมาก็เพิ่มจำนวนจากพระภิกษุ ๑ รูป เป็น ๕ รูป ๗ รูป ๙ รูป กลายเป็นพิธีสงฆ์ไป


ที่มา :-
- สืบชาตา, สืบชะตาคน : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
- คาถาสืบชะตา (ต่ออายุ) : myhora.com
- ธัมม์ คาถา ฯ ในพิธีสืบชะตาล้านนา : so06.tci-thaijo.org
- พิธีสืบชะตา : เว็บไซท์ กระทรวงวัฒนธรรม
- พิธีสืบชะตา : เว็บไซท์ ประเพณีไทยดอทคอม










ข้าวเปลือก ใส่กระบุง


ข้าวสาร ใส่กระบุง รวม ๒ สิ่ง (ข้าวเปลือก/ข้าวสาร) เรียกว่าเข้าเปลือกหมื่นเข้าสารพัน


ชุดเครื่องกรวดน้ำของชาวไทใหญ่ ณ สวนธรรมภูสมะ บ้านกุงไม้สัก ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

750/22

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 ตุลาคม 2564 21:08:49 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.424 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 01 เมษายน 2567 19:55:11