[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 11:17:39 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: บัวรพันธะ คัมภีร์ล้านนา - อธิบายถึงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์  (อ่าน 821 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 29 ตุลาคม 2564 16:19:26 »


จิตรกรรมฝาผนัง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

บัวรพันธะ

ธัมม์หรือคัมภีร์ล้านนา ชื่อ บัวรพันธะ เป็นคัมภีร์ที่หนักไปทางด้านธรรมาธิษฐาน อธิบายถึงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ตลอดถึงทวัตติงสาการอันตั้งอยู่ในตัวตนก่อเกิดเป็นรูปร่างของสัตว์โลกอันประกอบด้วยธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ในธรรมเทศนาคัมภีร์เรื่องที่มีความแบบเดียวกันหลายเรื่อง เช่น อภิธัมมากัญแจ ธาตุกัมมัฏฐาน วินัยดอกเดื่อ และอื่นๆ อีกหลายคัมภีร์  บัวรพันธะฉบับที่ใช้ศึกษานี้จารด้วยอักษรธรรมล้านนา หนา ๓ ผูก ความยาว ๘๔ หน้าใบลาน เป็นของวัดป่าสักน้อย ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จารเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ ผู้จารชื่อ สามเณรอิ่นคำ อินไชย  มีใจความว่า

ครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับที่เวฬุวนารามในเมืองราชคฤห์ มีพระมหาเถรชื่อ “กาลเถร” เมื่อเรียนกัมมัฏฐานแล้วก็ไปทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อไปปฏิบัติธรรมที่เมืองสาวัตถี และได้เจริญกัมมัฏฐานภาวนาในป่าช้าแห่งหนึ่งด้วยทวัตติงสาการ ด้วยบทว่า “อตฺถิ อิมสมึ กาเย เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ มํสํ นหารู อฏฺฐิอฏฺฐีมิญฺชํ วกฺกํ หทยํ ยกนํ กิโลมกํ ปิหากํ ปปฺผาสํ อนฺตํ อนฺตคุณํ อุทริยํ กรีสํ ปิตฺตํ เสมฺหํ ปุพฺโพ โลหิตํ เสโท อสฺสุวสา เขโล สิงฺคาณิกา ลสิกา มุตฺตํ มตฺถเก มตฺถลุงคํ” ไม่นานนักท่านก็บรรลุธรรมวิเศษเป็นอริยบุคคลในป่าช้าแห่งนั้น

ครั้งนั้นมีผัวเมียคู่หนึ่งชื่อกาละและกาลีซึ่งมักไปคุ้ยเขี่ยหาสมบัติจากซากศพในป่าช้า ได้พบพระเถระนั้นก็เข้าไปถามว่า ทำไมไม่ไปอยู่ในเมือง พระเถระก็ว่าการที่อยู่ป่าช้าก็เพื่อเจริญอสุภกัมมัฏฐาน ทำให้เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร สองผัวเมียได้ถามข้อสงสัยต่างๆ ซึ่งพระเถระก็ตอบได้แจ่มแจ้งทุกประการ ทำให้ทั้งสองประทับใจมาก จนผู้ผัวมีดวงตาเห็นธรรมถึงขั้นโสดาปัตติมรรค ชายผู้สามีก็แนะนำว่าพระเถระควรบอกกล่าวแก่นายบ้านให้ทราบเสียก่อน เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ซึ่งพระเถระก็เห็นด้วย และให้ทั้งสองไปบอกแก่นายบ้านแทน เมื่อนายบ้านทราบแล้วก็พาลูกบ้านไปนมัสการ พระเถระก็เทศนาสอนให้ชาวบ้านเจริญกัมมัฏฐานภาวนาทำบุญรักษาศีล ซึ่งชาวบ้านก็ซาบซึ้งในพระธรรมจึงแสดงตนเป็นอุบาสก อุบาสิกา  ครั้งนั้น มีอำมาตย์ผู้หนึ่งปลอมตนเข้าไปแทรกอยู่ในหมู่ชาวบ้านเพื่อสืบความ ครั้นได้ฟังการเทศนาแล้วก็เกิดดวงตาเห็นธรรมเป็นอริยบุคคล จึงนำความขึ้นกราบทูลพระราชาคือพระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งพระราชาก็พาบริวารไปสู่ป่าช้าเพื่อสอบถามและฟังพระธรรมเทศนาด้วย

ขณะนั้น มีเศรษฐีชื่อ “ธัมมจิตตะ” และนาง “เขมา” มีธิดาชื่อ “เขมาวดี” ไปนั่งร่วมฟังธรรมเทศนาอยู่ด้วย นางเขมาวดีนั้นเป็นหญิงงามมากที่ทุกคนหมายปอง ต่อมาได้เสียชีวิตลงในขณะที่มีอายุเพียง ๑๗ ปี  เศรษฐีเก็บศพไว้หลายวันแล้วและคิดจะเผาศพ จึงไปเตรียมสถานที่ในป่าช้าเสียก่อน เมื่อได้เห็นพระราชาฟังธรรมเทศนาอยู่ก็เข้าไปร่วมฟังด้วย เมื่อจบธรรมเทศนาแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสถามถึงเหตุที่เศรษฐีไปยังป่าช้า ซึ่งเศรษฐีก็ทูลว่าไปเตรียมสถานที่จะเผาศพธิดาของตน พระเถระได้ทราบเช่นนั้นจึงขออนุญาตเอาศพของนางเขมาวดีเป็นปริศนาธรรมซึ่งเศรษฐีก็ยินยอม จากนั้นพระเถระก็ให้เศรษฐีกลับไปจัดการศพตามขั้นตอนต่อไปนี้

แรกสุด ให้ต้มน้ำจนเดือดแล้วทิ้งให้เย็นและอาบศพ แล้วห่อด้วยผ้าขาว ๓ ชั้น เอาด้ายผูกข้อมือและข้อเท้าติดกันไว้แล้วยกใส่โลง โดยในโลงศพนั้นให้หาไม้ระแนงสองอันยาวอันละสองศอกใส่ไว้ด้วย จัดหาหม้อน้ำขนาดเล็กใส่น้ำแล้วตั้งไว้ใกล้โลง นำผ้าขาวมาตัดเป็นธงปฏากขนาดเท่าคนผูกไม้เรียวไว้ข้างโลง ในวันจะเผาศพนั้น ให้คนทำบันไดเทียมสามขั้นพาดทับบันไดจริงแล้วหามศพลงโดยทางบันไดเทียม ยกหม้อน้ำที่เตรียมไว้นั้นตามหลังโลงศพแล้วหยุดอยู่ที่หัวบันได พอยกศพลงพ้นบันไดแล้วก็ให้โยนหม้อน้ำลงที่ตีนบันไดแล้วเก็บเศษหม้อและบันไดไปทิ้งเสีย แล้วขีดตัดหนทางระหว่างป่าช้าและบ้านด้วย  ศพที่จะนำไปฌาปนกิจนั้น ให้แต่งกายประดับอาภรณ์ให้งาม ขณะหามศพไปนั้นห้ามคนหามศพเหลียวดูข้างหลัง ให้ลูกเขยและสะใภ้สวมแหวนเดินคู่กันนำศพไปจนถึงป่าช้า โดยให้มองดูแต่หัวแหวนตลอดทาง เมื่อถึงป่าช้าแล้วให้หามศพเวียนรอบกองฟอนสามรอบ แล้วจึงยกขึ้นนอนบนกองฟอน จากนั้นจึงยกศพขึ้นนั่งค้ำให้ตรงแล้วเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ ใช้มีดตัดด้ายที่ผูกข้อมือข้อเท้าออก จากนั้นขอให้พระเจ้าปเสนทิโกศลประกาศให้คนมาประชุมกันดูนางเขมาวดีที่เชิงตะกอนให้เต็มตา ทั้งนี้เพื่อเป็นปริศนาให้คนทั้งหลายที่ติดค้างอยู่ในโลกียธรรมได้ประจักษ์ ซึ่งเศรษฐีก็ดำเนินการตามที่พระเถระกำหนดไว้ทุกอย่าง

เมื่อศพไปถึงป่าช้าและยกศพนางเขมาวดีขึ้นนอนบนกองฟืนแล้ว พระเถระก็ให้ตัดด้ายที่ผูกข้อมือข้อเท้าศพออกและมอบน้ำมันมะพร้าวให้ญาติล้างหน้าศพแล้วยกศพขึ้นในท่านั่ง แล้วถามผู้ชายที่มาชุมนุมนั้นว่า รูปร่างของนางเขมาวดีสวยไหม ทุกคนก็ตอบว่าสวย พระเถระพูดต่อว่าแต่ก่อนหน้านี้ทุกคนต่างอยากได้นางและมีข้าวของไปฝากไปสู่ขอ แต่ก็ไม่มีผู้ใดได้นางไป บัดนี้จะมอบนางให้ไปโดยไม่ต้องเสียสินทรัพย์แล้วผู้ใดจะรับไปบ้าง ทุกคนก็ก้มหน้าโดยไม่ตอบ

จากนั้นพระเถระก็ให้จุดไฟเผาศพและประกาศให้ทุกคนดูให้ดี เมื่อไฟลุกไหม้ซากศพของนางเขมาวดีอยู่นั้น ก็มีน้ำเลือดน้ำหนองไหลออกมาตามทวารทั้งเก้า สิ่งกลิ่นเหม็นที่น่ารังเกียจแผ่ไปทั่ว หนุ่มทั้งหลายเริ่มมีอาการที่ไม่อาจทนต่อไปได้ บางคนอาเจียน บางคนเอามือปิดหน้า และบางคนถึงกับว่าหากตนตายไปก็คงจะมีสภาพอย่างเดียวกับนาง ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ขอให้พระเถระแสดงปริศนา

พระกาลเถระเทศนาว่า มีแต่กุศลและอกุศลเท่านั้นที่จะติดตามสัตว์ทั้งหลายไปในภพชาติทั้งปวง เมื่อคนหรือสัตว์สิ้นชีวิตลง วิญญาณก็จะออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ตามทางของตน หากทำบุญมากก็จะไปเกิดในที่ดี ถ้าไปเกิดเป็นคนก็จะเป็นคนที่ดีที่ประเสริฐ แต่หากทำชั่วไว้มากก็จะไปเกิดในอบายภูมิซึ่งอาจเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน

การที่ต้มน้ำจนเดือดแล้วทิ้งให้เย็นเพื่ออาบน้ำศพนั้น นัยตั้งแต่ดุ้นฟืนไป ก็เปรียบเหมือนการหาเลี้ยงชีวิตที่เต็มไปด้วยความมัวเมาในการแสวงหา ก้อนเส้าทั้งสามก้อนที่รองรับหม้อน้ำก็เหมือนภพทั้งสามที่ทุกคนซึ่งมิได้บรรลุนิพพานต้องท่องเที่ยวไปมา ไฟที่ลุกทำให้หม้อร้อนก็เหมือนราคะ โทสะ โมหะ น้ำร้อนก็เหมือนกิเลสตัณหาที่ทำให้มนุษย์ติดข้องอยู่ในสังสารวัฏอันเป็นทุกข์ที่ต้องเวียนว่ายไปมา น้ำเดือดที่เย็นลงแล้วใช้อาบศพคือคุณงามความดีหรือกุศลกรรมที่ทำให้มนุษย์สะอาดบริสุทธิ์ ตลอดจนเป็นอุปนิสัยให้วิญญาณที่ดีไปเกิดในที่ดี หม้อน้ำหมางหรือหม้อน้ำที่โยนกระทบตีนบันไดขณะที่ศพลงจากบ้านนั้น เป็นเหมือนตัวตนของคนและสัตว์ที่มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ หุ้มห่ออยู่ เมื่อโยนลงดินแล้วก็จะแตกสลายและต้องทิ้งไป บันไดเทียมสามขั้นนั้นเหมือนกับภพทั้งสามคือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ที่สัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายไปมาอยู่เรื่อยไป จนกว่าจะถึงโลกุตตรธรรม ธงสามหางนั้น ได้แก่ ภพทั้งสาม ที่ทุคนต้องเข้าไปเวียนว่ายอยู่ภพใดภพหนึ่ง

ด้ายที่ผูกข้อมือและข้อเท้านั้นเหมือนห่วงที่ผูกมนุษย์ไว้ โดยเฉพาะบุคคลที่ยังไม่บรรลุมรรคผล บ่วงเชือกนั้นจะคอยผูกมนุษย์ให้ติดค้างอยู่ในสังสารวัฏต่อไป โดยที่บ่วงซึ่งมัดสัตว์ทั้งหลายมีสามบ่วง คือบ่วงมัดคอ มัดมือ และมัดเท้า บ่วงที่มัดเท้าหมายถึงการที่ยังผูกพันในทรัพย์สินอยู่ บ่วงที่มัดคอได้แก่ การผูกพันอยู่กับบุตรธิดา ส่วนบ่วงที่มัดมือ ได้แก่ ความผูกพันในสามีภรรยา หากบุคคลยังไม่สามารถตัดบ่วงเหล่านั้นออกได้ ก็จะต้องเวียนว่ายอยู่ในสงสารและภพอยู่ต่อไป มีดที่ตัดบ่วงนั้น ได้แก่ สิกขาสามอย่าง คือมีศีลอันยิ่ง มีจิตอันยิ่ง และมีปัญญาอันยิ่ง จึงจะตัดบ่วงเชือกให้ขาดได้ ไม้สองอันที่ใส่ในโลง ได้แก่ คำสอนและพระวินัยของพระพุทธเจ้า พระวินัยคือศีลทั้งศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ที่กำหนดไว้ การขีดตัดขวางหนทางหลังจากนำศพออกจากบ้านนั้นหมายถึงการสร้างคุณความดีทั้งหลายจะเป็นการตัดทางทุกข์หรืออบายภูมิ การที่มิให้คนเหลียวหลังหรือให้เขยสะใภ้มองแต่หัวแหวนจนถึงป่าช้านั้นหมายถึงว่า เมื่อคนตายแล้วก็ย่อมขาดจากการเป็นญาติ การมองแต่หัวแหวนคือให้ยึดมั่นแต่คุณความดีมีศีลธรรม

จากนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลก็นมัสการถามว่าที่กาลเถระไปอยู่ป่าช้าเพื่อเจริญกัมมัฏฐานทวัตติงสาการนั้นคืออย่างไร พระกาลเถระตอบว่าทวัตติงสาการ ได้แก่ อาการ ๓๒ ที่ก่อตนขึ้นเป็นรูปขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ กอง เรียกว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งหมดนี้รวมกันเรียกว่า “รูป” ส่วนความรู้สึกที่ว่าเป็นสุขเป็นทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์รวมกันเรียกว่า “เวทนา” การจำได้หมายรู้ตามอารมณ์ที่เกิดกับใจเรียกว่า “สัญญา” การคิดถึงสภาวธรรม เจตสิกธรรม อารมณ์ที่เกิดกับใจในกุศลและอกุศลที่คิดเป็นธรรมารมณ์ที่เป็นอัพยากฤตเรียกว่า “สังขาร” ความรู้อารมณ์ในเวลาที่มีรูปมากระทบนัยน์ตาเรียกว่า “วิญญาณ” ขันธ์ทั้งห้านี้มิได้เกิดแต่บิดามารดา เพราะบิดามารดาเป็นเพียงผู้ให้กำเนิดเท่านั้น ที่แท้แล้วพระไตรปิฎะได้รวมตัวกันแต่งให้เป็นเครื่องแต่งให้เป็นธาตุและเป็นขันธธาตุ ขันธะนั้นเป็นทวัตติงสาการคืออาการ ๓๒ ในตัวคนเรา อันได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้เล็ก อาหารใหม่ อาการเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น มันเหลว เปลวมัน น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร นอกนอกนั้นยังต้องอาศัยลมและไฟเป็นเครื่องประกอบคือ ลมพัดขึ้นข้างบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปมาตามตัว ลมหายใจเข้าหายใจออก ไฟที่ยังร่างกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังหายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย เหล่านี้เป็นทวัตติงสาการ เราเอาอาการทั้ง ๓๒ นี้มาเป็นอสุภกัมมัฏฐานภาวนาให้เห็นแจ้งว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อมิให้ลุ่มหลงมัวเมาติดข้องอยู่ในอาสวกิเลสกามคุณ อันจักเป็นเหตุให้ได้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป จึงเป็นธรรมเนียมของผู้ปรารถนาที่จะบรรลุโลกุตตรธรรมพึงนำเอาอาการ ๓๒ มาเป็นอารมณ์

อาการทั้ง ๓๒ นี้ มาจากพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม หากปรุงแต่งให้เป็นไป คือ พระวินัยแต่งให้เป็นนิสสวาต-ปัสสวาต คือลมอันหุ้มห่อไฟไว้ แล้วพระอภิธรรมรักษาน้ำลมไฟไว้ พระสุตันตะและพระวินัยรักษาลมอันเป็นนิสสวาต-ปัสสวาต พระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์มาแต่งให้เป็นรูปร่างแห่งสัตว์ทั้งหลาย ธรรมสังคินีหากเกิดมาเป็นตา วิภังคะแต่งให้เป็นหู ธาตุกถาเป็นจมูก ปุคคลบัญญัติเป็นปากและลิ้น กถาวัตถุเป็นตัว ยมกเป็นจิตใจ มหาปัฏฐานรักษาดินน้ำลมไฟ พระสุตตันตะเป็นลมหายใจเข้าออก ต่อจากนั้นพระมหาเถระก็ได้เทศนาถึงอภิธรรมและทวัตติงสาการอย่างพิสดาร

ผู้ที่ยึดเอาทวัตติงสาการเป็นอารมณ์ในการเจริญสมถกัมมัฏฐาน ก็เหมือนบุคคลที่แสวงหาดวงแก้ววิเศษ ซึ่งจะทำให้ผู้ถือเหาะข้ามกำแพง ๗-๘ ชั้น เข้าสู่เมืองนิพพานอันอมตะ แก้วมณีโชติมีด้วยกัน ๖ ลูก ซ่อนอยู่ในคัมภีร์ “วินัยดอกเดื่อ” ซึ่งผู้มีความเพียรไม่พอจะหาเอาได้ยาก

เดชแห่งแก้วคือศีลวินัย ๖ ลูกนั้นสามารถเปิดประตูทวารทั้งเก้าได้ คือเมื่อคนถือปฏิสนธิในครรภ์มารดานั้น น้ำคุณที่พ่อแม่ให้มานั้นเป็นน้ำที่สกปรก ที่เกิดเป็นก้อนเลือดแล้วแตกออกมาเป็น ๕ สาขา คือ หัว ตีน มือ เป็นต้น ...นะ...คือน้ำ ๑๒ ...โม...คือดิน ๒๑ ...พุท...คือไฟหรือดวงแก้วสามประการ ...ธา...คืออารมณ์เจ็ดประการ ...ยะ...คือประตูทวารทั้งเก้า คนเราเมื่ออยู่ในท้องแม่นั้น ย่อมหายใจร่วมกับแม่และรับอาหารทางสายสะดือ

บุคคลที่ไม่หายใจมี ๖ พวก คือ บุคคลที่อยู่ในท้องแม่ บุคคลที่ดำน้ำ บุคคลที่สลบ บุคคลที่เข้าจตุตถฌาน บุคคลในรูปพรหมและอรูปพรหม และพระอริยเจ้าผู้อยู่ในนิโรธสมาบัติ สัตว์ที่อยู่ในครรภ์จะโตขึ้นได้เหมือนน้ำเต้าที่โตขึ้นเพราะเครือเถา เมื่อถือปฏิสนธิเป็นก้อนเลือดก้อนเนื้อแล้ว หัวนมของแม่จะเต่งตึงและสีคล้ำเพื่อให้รู้ว่ามีการปฏิสนธิในครรภ์แล้ว หากแม่อยากกินของเปรี้ยวหวานหรือผลไม้แสดงว่าวิญญาณในครรภ์มาจากนรกและจะอยู่ในท้องประมาณ ๗ เดือน ถ้าแม่อยากกินดินแสดงว่าวิญญาณในครรภ์มาจากพรหมโลกและจะอยู่ในครรภ์ ๘ เดือน หากแม่อยากกินพืชผัก แสดงว่าวิญญาณในครรภ์เป็นสัตว์เดรัจฉานมาเกิดและจะอยู่ในครรภ์ ๙ เดือน หากแม่อยากกินเนื้อปลาอาหาร แสดงว่าวิญญาณในครรภ์เป็นอสรุกายมาเกิดและจะอยู่ในครรภ์ ๑๐ เดือน หากแม่อยากกินของหวานหอมแสดงว่าวิญญาณในครรภ์เป็นเทวดามาเกิดและจะอยู่ในครรภ์ ๑๐ เดือน

หากน้ำอสุกามของแม่บังเกิดให้เป็นก้อนเนื้อ ลูกจะเกิดมาเหมือนแม่ หากน้ำอสุกามของพ่อเป็นเหตุให้เกิดเป็นก้อนเนื้อ ลูกจะเกิดมาเหมือนพ่อ หากน้ำอสุกกามของพ่อและแม่ผสมกันให้เกิดเป็นก้อนเนื้อ ลูกที่เกิดมาจะเหมือนบรรพบุรุษ หากขวัญของลูกไม่อยู่กลางหัวแสดงว่าพ่อแม่จิตใจไม่ซื่อต่อกัน หากลูกมี ๒-๓ ขวัญแสดงว่าพ่อแม่ไม่ลงรอยกัน น้ำอสุกกามของแม่นั้นใสเหมือนน้ำมันงาทำให้เกิดเป็นน้ำ ๑๒ ประการ คือน้ำอันเกิดด้วยปีติ คือ ปิตํ เสมฺหํ ปุพฺโพ โลหิตํ เสโท เมโท อสฺสุ วสา เขโฬ สิงฺฆาณิกา สลิกา มุตฺตํ มตฺถเก มตฺถลุงฺคนฺติ ซึ่งแท้จริงแล้วนามธรรมปรุงแต่งให้เป็นน้ำ ๑๒ นั้น

น้ำอสุกกามของพ่อนั้นข้นใสเหมือนแก้วหมอกมุงเมือง ทำให้เกิดเป็นธาตุดิน ๑๒ ประการ เป็นรูปธรรมของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ พ่อจะแต่งให้เป็นแต่ผู้เดียวก็มิได้ อันอาการทั้ง ๒๑ มี เกสา โลมา นขา ทันตา เป็นต้น

บุคคลที่ไม่รู้จักพิจารณาถึงทวัตติงสาการจะไม่รู้จักดวงแก้วมณีโชติอันวิเศษทั้งหก และจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนี้ต่อไปอีกนานนัก

พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงถามพระเถระต่อไปว่าพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์มาแต่งให้เป็นทวัตติงสาการได้อย่างไร และแก้วมณีโชติที่ปรากฏในคัมภีร์วินัยดอกเดื่ออันจะนำคนเข้าสู่นิพพานเป็นอย่างไร

พระกาลเถระอธิบายว่า การที่อภิธรรม ๗ คัมภีร์จะจัดแต่งทวัตติงสาการให้เป็นธาตุขันธ์นั้น เดิมทีที่คนจะถือปฏิสนธินั้น หากวิญญาณเป็นเพศหญิงก็จะเข้าทางรูจมูกข้างซ้ายของแม่ หากวิญญาณเป็นเพศชายจะเข้ารูจมูกแม่ข้างขวา ซึ่งพ่อแม่จะนอนหลับอยู่ก็จะปลุกให้ตื่นแล้วขยิบตาแก่พ่อ จากนั้นจึงปลุกแม่ให้ตื่นแล้วยิ้มหัวแก่แม่ เมื่อพ่อแม่ถูกเนื้อต้องตัวกันแล้ว และกระทำโลกียกิจร่วมกันเหมือนดังแผ่นดินและฟ้าครื้นครั่น ทำให้ฝนตกลงมา ทีนั้นวิญญาณก็จะเล็ดลอดเข้าตั้งอยู่ในท้องแม่ มีความยินดีเหมือนกบเขียดเล่นน้ำฝนครั้งแรกของปี น้ำกามราคะของแม่ย่อมแต่งให้เกิดเป็นธาตุน้ำ ๑๒ ประการ น้ำราคะของพ่อนั้นขุ่นข้นเหมือนกะทิค้างคืนซึ่งทำให้เกิดเป็นธาตุดิน ๒๑ ประการ เมื่อตั้งปฏิสนธิแล้วก็เกิดลมมาพัดไฟธาตุเคี่ยวน้ำให้แห้งเป็นน้ำมันงา เมื่อครบเจ็ดวันก็เป็นอักษรว่า “สํ” แล้วลมก็มาพัดไฟเคี่ยวน้ำนั้นให้แห้งเป็นเหมือนน้ำล้างเนื้อ อีกเจ็ดวันก็บังเกิดเป็นอักษรว่า “ธา” ต่อมาลมก็พัดปั่นไฟให้เคี่ยวน้ำให้แห้งเป็นเหมือนต่อมเลือด ได้อีกเจ็ดวันก็เกิดเป็นอักษรว่า “ปุ” แล้วลมก็พัดปั่นไฟให้เคี่ยวต่อมเลือดนั้นให้แห้งเป็นเลือดข้นอีกเจ็ดวัน อีกเจ็ดวันก็บังเกิดเป็นอักษรว่า “ถะ” แล้วลมก็พัดไฟให้เคี่ยวน้ำเลือดขุ่นนั้นให้เป็นก้อนเลือดมีต่อมเม็ดใสอยู่ข้างใน อีกเจ็ดวันก็บังเกิดเป็นอักษรว่า “ยะ” แล้วลมก็พัดปั่นไฟให้เคี่ยวน้ำให้แห้งเป็นก้อนเนื้อได้อีกเจ็ดวันก็บังเกิดอักษรว่า “ปะ” ผู้เจริญกัมมัฏฐานภาวนาทวัตติงสาการก็พึงเจริญภาวนาหัวใจอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ไปด้วยคือ “สํวิธาปุกยป” ในเมื่อก้อนเนื้อนั้นได้เจ็ดวันแล้วก็มาแตกเป็นสองขาแล้วงอกอีกเป็นห้าสาขาคือศีรษะ โครง กระดูกสันหลัง มือ เท้าเป็นอายตนะภายนอก ๖ ประการ รวมกันเป็นรูปร่างอยู่ในครรภ์ของมารดา ต่อมาก็เกิดทวัตติงสาการคืออาการ ๓๒ มีเกศาคือผมงอกออกมาได้ ๙ ล้านเส้น โลมาคือขนงอกออกมา ๕ ล้านเส้น มีเล็บ ๒๐ เล็บ ต่อไปก็มีฟันงอกออกมา ๓๒ ซี่ เป็นเครื่องประดับกายของคนในโลกทุกคน

การแสวงหาแก้วมณีโชติในคัมภีร์วินัยดอกเดื่อทั้ง ๖ นั้น ได้แก่ การเจริญภาวนาเพื่อรักษาอินทรีย์ทั้งหกหรือที่เรียกว่าอายตนะภายนอกและภายใน ๖ อันมีในตัวเรานี้เพียงแต่เรามองไม่เห็น เปรียบเหมือนมองหาดอกมะเดื่อนั้น ดังนั้นผู้จะแสวงหาแก้วมณีโชตินั้นก็ต้องรักษาอินทรีย์ของตนให้บริสุทธิ์แล้วจึงจักได้เข้าอยู่มหานครคือพระนิพพานนั้น

จากนั้นพระมหาเถระก็ได้เทศนาธรรมอันเป็นไปในปรมัตถธัมม์และการเจริญภาวนา โดยพระเถระยกเอาโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการเป็นที่ตั้ง โดยมีใจความตามพระสูตรว่าสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ มาแสดงอย่างพิสดารแก่ฝูงชนทั้งหลาย อันมีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นประธาน เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ถวายสักการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนด้วยความเคารพและได้นิมนต์ขอให้พระเถระประจำอยู่ในป่าช้าต่อไป แล้วมีพระราชโองการสั่งนายบ้านให้ถวายความดูแลพระเถระมิให้เดือดร้อน ฝ่ายมหาชนจำนวนมากที่ได้ฟังการเทศนาก็ได้ดวงตาเห็นธรรมอันวิเศษตามอุปนิสัยของตน ต่างก็ขอยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งกันทุกคน จากนั้นจึงได้อำลาพระมหาเถระกลับคืนสู่นิวาสถานแห่งตน.


ที่มา บัวรพันธะ สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๗ จัดพิมพ์เผยแพร่โดยมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
คัมภีร์ ภควัทคีตา.. บทเพลงแห่งองค์ภควัน.. (บทเพลงของพระเจ้า) « 1 2 »
เอกสารธรรม
เงาฝัน 25 21739 กระทู้ล่าสุด 25 กุมภาพันธ์ 2556 09:20:26
โดย เงาฝัน
รวมเพลง ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ( ที่ผมชอบ )
หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
หมีงงในพงหญ้า 11 7937 กระทู้ล่าสุด 21 พฤษภาคม 2556 22:55:56
โดย หมีงงในพงหญ้า
คัมภีร์..อายุวัฒนะ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 0 1752 กระทู้ล่าสุด 22 สิงหาคม 2559 22:38:54
โดย มดเอ๊ก
คัมภีร์ เปตวัตถุ เรื่องราว ผลของการกระทำความชั่ว
กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
มดเอ๊ก 0 1821 กระทู้ล่าสุด 28 กันยายน 2559 15:41:47
โดย มดเอ๊ก
บทสวด อภิธรรม ๗ คัมภีร์
บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
Maintenence 0 1053 กระทู้ล่าสุด 14 ธันวาคม 2563 14:38:54
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.578 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 31 มีนาคม 2567 22:54:36