[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 16:42:55 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม  (อ่าน 757 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 12 พฤศจิกายน 2564 16:20:50 »




อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
(เทศน์ที่สถานปฏิบัติธรรมจอมทอง ๒๔ พ.ย.๕๖))

         วันนี้ก็จะนำเอาธรรมะเบาๆ เพื่อที่จะมาประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมของคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายเพื่อที่จะดำเนินไปสู่ปฏิปทาแห่งวิปัสสนาญาณ ให้ดำเนินไปสู่ปฏิปทาแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน ได้กล่าวธรรมะเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติธรรมมาสองวันสามวัน วันนี้ก็ขอกล่าวในเรื่องอานิสงส์ของการประพฤติปฏิบัติธรรม ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมที่คณะครูบาอาจารย์กำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ เรียกว่าเป็นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

          คณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้อานิสงส์ของการประพฤติปฏิบัติธรรม รู้เรื่องของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายนั้นมีความเพียร มีความบากบั่น มีความมานะ มีความพยายามเพื่อที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะอานิสงส์ของการประพฤติปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเป็นอเนกานิสังสา หรือว่ามีอานิสงส์เป็นร้อยเป็นพันนับไม่ได้ หรือว่ามีอานิสงส์มากมาย มีคุณมากมาย แต่ถ้าเราจะกล่าวตามพระไตรปิฎกโดยย่อ

          ประการที่ ๑ ท่านกล่าวว่า สตฺตานํ วิสุทธิยา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นมีกาย มีวาจา มีจิตบริสุทธิ์หมดจด คือบุคคลใดน้อมใจ น้อมกาย น้อมวาจามาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นมีกายบริสุทธิ์ มีวาจาบริสุทธิ์ แล้วก็มีใจบริสุทธิ์ เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ญาติโยมทั้งหลายมาเดินจงกรมนั่งภาวนาประคองสติ ประคองสัมปชัญญะกำหนดอาการพองอาการยุบ กำหนดอาการขวาย่าง ซ้ายย่าง ไม่ให้ความโลภ ความโกรธ ความหลงครอบงำในขณะที่เดินจงกรมในขณะที่กำลังภาวนาอยู่ กายของเราก็บริสุทธิ์บริบูรณ์ไปด้วยศีล ไปด้วยสมาธิ ไปด้วยวิปัสสนาญาณแล้วก็บริสุทธิ์บริบูรณ์ไปด้วยมรรคผลนิพพานเพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา เพื่อความหมดจดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

          ประการที่ ๒ ท่านกล่าวว่า โสกปริเทวานํ ปริสุทฺธิยา ท่านกล่าวว่าก้าวล่วงความโศกและปริเทวะ ความคร่ำครวญ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงผู้ไม่เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วย่อมถูกความโศกครอบงำ ย่อมถูกความคร่ำครวญครอบงำในเมื่อเราต้องสูญเสียต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ปรารถนาสิ่งใดเราไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดความโศกาอาดูร เกิดความคร่ำครวญ แต่ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นข่มความโศก ข่มความคร่ำครวญนั้นได้ ละความโศก ละความคร่ำครวญนั้นได้ ในเมื่อมรรคผลนิพพานมันเกิดขึ้นมา คือในขณะที่คณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมทั้งหลายที่กำลังมาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ ความโศกมันจะเกิดขึ้นมาเราก็กำหนด “โศกหนอๆ” เวลามันคร่ำครวญถึงอารมณ์ที่มันผ่านมาแล้วก็ดีเราก็กำหนดว่า “คร่ำครวญหนอๆ” หรือเรากำหนดว่า “คิดหนอๆ” ลงไปที่จิตของเรา ความโศกก็ดี ความคร่ำครวญก็ดีก็เป็นอันบรรเทา เป็นอันหยุดระงับไปในขณะที่เรามีสติสัมปชัญญะกำหนดทันปัจจุบันธรรม แต่เมื่อวิปัสสนาญาณของเราเจริญรุ่งเรืองขึ้นไป เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานเพียงใดนั้นแหละ เราจึงจะละความโศกความคร่ำครวญนั้นได้อย่างเด็ดขาด

          ประการที่ ๓ ท่านกล่าวว่า ทุกฺขโทมนสฺสานํ อฏฺฐงฺคมาย สามารถที่จะดับความทุกข์ทางกาย ดับความทุกข์ทางใจได้ จะเป็นทุกขเวทนาเช่นว่าเรานั่งมันเจ็บมันปวด เราก็กำหนดว่า “ปวดหนอๆ” เราก็ไม่กระวนกระวาย ไม่ทุรนทุราย เพราะความทุกข์ที่ครอบงำเรา แต่ถ้าบุคคลไม่เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วก็เป็นอันต้องทนอยู่ไม่ได้ แต่พวกเราทั้งหลายเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมันเจ็บก็รู้ว่ามันเจ็บ มันเจ็บก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เรากำหนดว่า “เจ็บหนอๆ” “ปวดหนอๆ” บางครั้งความปวดมันก็รุนแรงขึ้น บางครั้งความปวดมันก็เบาลง บางครั้งความปวดมันก็หายไป ความปวดมันก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตาเหมือนกัน เรากำหนดพิจารณาเราไม่เป็นไปตามอำนาจของความทุกข์กายขึ้นมา หรือในขณะที่เรามาประพฤติปฏิบัติเราเกิดความโทมนัส เกิดความทุกข์ใจ ทุกข์เพราะพ่อต้องล้มหายตายจาก แม่ล้มหายตายจากเราก็เกิดความทุกข์ หรือว่าเราค้าขายไม่ประสบความสำเร็จ เราประกอบกิจการงานนั้นไม่สำเร็จผลที่เราปรารถนา มีลูกว่ายากสอนยากมีพี่น้องไม่สามัคคีกัน มีลูกมีหลานก็ไปคนละทิศละทางไม่สามัคคีกัน พี่น้องก็แย่งทรัพย์สมบัตินานาประการต่างๆ ในลักษณะอย่างนี้เกิดความโทมนัสเกิดความทุกข์ทางใจขึ้นมา ถ้าเราไม่เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานความทุกข์เหล่านี้ก็จะครอบงำจิตใจของเรา ทำให้จิตใจของเรานั้นวุ่นวายสับสน ทำให้เราเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ทำให้เราเกิดความโกรธ เกิดความพยาบาท บางครั้งก็คิดฆ่าตัวตายก็มี นี้ในลักษณะของโทมนัส เมื่อมันเกิดมากขึ้นๆๆ มันก็จะเป็นอุปายาส คับแค้นแน่นใจหาทางออกไม่ได้ก็ฆ่าตัวตายในลักษณะอย่างนั้น

          แต่ว่าเรามาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเราก็สามารถที่จะกำหนดได้กำหนดว่า “คิดหนอๆ” “ทุกข์หนอๆ” ที่ใจของเราขณะที่เรากำหนด “ทุกข์หนอๆ” ที่ใจของเรา เราก็ตัดอารมณ์ที่เราคิด เราเป็นทุกข์ก็เพราะเรานั้นคิดในอารมณ์ เราเป็นทุกข์เพราะเราปรุงในอารมณ์ แต่เมื่อเรากำหนดว่า “ทุกข์หนอๆ” เราตัดอารมณ์ที่ทำให้เรานั้นเป็นทุกข์ เราตัดอารมณ์ที่ทำให้เรานั้นปรุงแต่ง จิตของเรามันปรุงแต่งตัดอารมณ์เหตุแห่งความทุกข์นั้น อยู่กับปัจจุบันธรรมความทุกข์มันก็เบาลง ความทุกข์มันก็จางไป ความทุกข์มันก็หมดไปจากจิตจากใจของเรา เพราะฉะนั้นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานท่านจึงกล่าวว่า ทุกฺขโทมนสฺสานํ อฏฺฐงฺคมาย สามารถที่จะดับความทุกข์กายทุกข์ใจนั้นได้

          ประการที่ ๔ ท่านกล่าวว่า ญาณสฺส อธิคมาย  เพื่อเป็นการบรรลุมรรคผล การที่พวกเราทั้งหลายมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นก็ถือว่าเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพาน ทำไมจึงเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะว่าทางสายนี้เป็นทางเส้นเดียวที่เราหรือว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายจะข้ามซึ่งห้วงมหรรณพภพสงสาร ข้ามโอฆะแหล่งแก่งกันดารได้ มีเส้นทางนี้เส้นทางเดียว มีสายทางเดียวที่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจะใช้ข้ามห้วงมหรรณพภพสงสาร ข้ามชาติกันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดารไปถึงฝั่งแห่งพระนิพพานได้มีเส้นทางเดียวคือวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ญาณสฺส อธิคมาย เพื่อการบรรลุมรรคผล อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่สี่ของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

          ประการที่ ๕ ท่านกล่าวว่า นิพฺพานสฺส สจฺฉิกรณตฺถาย เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน คือหนทางนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน การที่คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้มาเดินจงกรมนั่งภาวนา ญาติโยมทั้งหลายได้มาเดินจงกรมนั่งภาวนาก็ถือว่าเรานั้นขึ้นสู่ทางแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้ญาติโยมคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้เกิดความบากบั่น เกิดคสได้มาเจริญความมุมานะ เกิดความภาคภูมิใจที่เราได้มาเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาเราก็มีโอกาสได้มาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นถือว่าเป็นการบูชาอันเป็นการบูชาอันสูงสุด เพราะว่าการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงยกย่องว่าธุระในพระพุทธศาสนานี้มีอยู่ ๒ ประการคือ คันถธุระ การศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก หนึ่งคัมภีร์บ้าง สองคัมภีร์บ้าง สามคัมภีร์บ้าง สูตรหนึ่งบ้าง สองสูตรหนึ่งบ้าง สามสูตรบ้าง แล้วแต่บุคคลผู้มีความเพียร การเรียนพระไตรปิฎกทั้งหมดนั้นเรียกว่า คันถธุระ ส่วนการพากเพียรเพื่อที่จะหมดกิเลสละราคะ โทสะ โมหะ ละมานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทานต่างๆ นั้นเรียกว่าการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นถือว่าเป็นการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราปฏิบัติบูชามีค่ายิ่งกว่าเราเอาดอกไม้ธูปเทียนบูชา

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรตอนที่พระองค์ทรงป่วยเป็นปักขันธิกาพาธ พระองค์ทรงอาเจียนเป็นโลหิตลงพระบงคนหนักถ่ายเป็นเลือด พระองค์ทรงได้รับความทุกข์จากพระวรกายนั้นพอสมควรด้วยความชรา ด้วยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของร่างกาย พระองค์ทรงเสด็จจากเมืองปาวาไปสู่เมืองกุสินารา พระองค์ต้องเดินทางไกลพอสมควร แต่เมื่อถึงเมืองกุสินาราแล้วพระองค์ทรงเข้าไปประทับอยู่ที่สาลวโนทยาน พระองค์ทรงประทับนอนไม่กระทำความดำริเพื่อที่จะลุกขึ้น นอนเป็นครั้งสุดท้ายไม่กระทำความดำริเพื่อจะลุกขึ้นอีก ในขณะนั้นมนุษย์เทวดาทั้งหลายทั้งปวงก็เอา สักการะดอกไม้ธูปเทียนของหอม สิ่งที่เป็นวัตถุนั้นมาบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มนุษย์ทั้งหลายก็เอาของมามากมาย เทวดาทั่วรอบขอบจักรวาล เทวดาข้างบนก็เอาของอันเป็นทิพย์อันที่ตนจะเนรมิตขึ้นมาได้มาบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยศรัทธายิ่งใหญ่ เสียงบันลือกึกก้องไปทั่วรอบขอบจักรวาล เพื่อที่จะมาบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทันก่อนที่พระองค์จะปรินิพพาน ดอกไม้อันเป็นทิพย์ก็ดี ดอกไม้ของมนุษย์ก็ดีตั้งอยู่ที่พื้นมนุษย์ไปจนถึงพรหมโลก จากพรหมโลกไปจนถึงขอบปากจักรวาล ไม่มีที่สิ้นสุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงมองด้วยทิพพจักขุของพระองค์ แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่าดูก่อนอานนท์ ตถาคตไม่ชื่อว่าเป็นอันพุทธบริษัทบูชาด้วยสักการะดอกไม้ธูปเทียนเหล่านี้ ผู้ใดเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติดี เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติสมควรแก่ธรรม เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน บุคคลนั้นชื่อว่าบูชาเราตถาคตด้วยการบูชาอย่างแท้จริง อันนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงสนับสนุนในเรื่องการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วก็การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น ก็ถือว่าเป็นอุบายเพื่อที่จะป้องกันอบายภูมิ ไม่ให้เกิดขึ้นแก่พุทธบริษัทญาติโยม คณะครูบาอาจารย์ผู้มาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำไมจึงกล่าวอย่างนั้น ท่านกล่าวว่าผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ยังวิปัสสนาญาณแม้ญาณที่ ๑ นับตั้งแต่นามรูปปริทเฉทญาณเกิดขึ้นมา รู้อะไรเป็นรูป รู้อะไรเป็นนาม มีวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นอารมณ์ แค่นี้ก็ไม่ไปสู่อบายภูมิแล้ว ๑ ชาติถ้าไม่ประมาท ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนปัจจยปริคคหญาณ ญาณที่ ๒ เกิดขึ้นมาบุคคลนั้นชื่อว่าเป็นจุลโสดาบัน เป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพานน้อยๆ จะไม่ไปสู่อบายภูมิ

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเหมือนกับคณะครูบาอาจารย์ คณะญาติโยมนั้น ถ้าเรามีอารมณ์ของกัมมัฏฐานอยู่เป็นเรือนจิตเรือนใจของเราแล้วเราจะไม่ไปสู่อบายภูมิ เราจะไม่ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน แล้วก็บุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เป็นการกระทำศรัทธาให้ตั้งมั่น ตามธรรมดาปกติศรัทธาคือศรัทธาของคนทั่วไป เวลามีข่าวคราวว่าพระกระทำไม่ดี พระเอาเงินของสงฆ์ ไปอยู่กับสีกา อยู่กับผู้หญิง หรือว่าพระนั้นไม่ทำวัตรสวดมนต์ พระนั้นกระทำเครื่องรางของขลังอะไรต่างๆ ก็ทำให้ญาติโยมนั้นเสื่อมศรัทธา ปกติจะเป็นอย่างนั้น หรือว่ามีศาสนาอื่น ศาสนาคริสต์ดี ศาสนาอิสลามดี ศาสนาอื่นๆ มีคนมาประชาสัมพันธ์ว่าศาสนาอื่นดี บางครั้งเค้าเอาเงินมาให้ร้อยบาทพันบาทหมื่นบาท แสนบาท ถ้านับถือโอนสำมะโนครัวถ้านับถือเป็นศาสนิกของเขา เขาก็จะให้เงินหมื่นบาท พันบาทก็มีการเปลี่ยนแปลงความคิดไปนับถือศาสนาอื่นก็เป็นได้ อันนี้เรียกว่าเป็นปกติศรัทธา เวลาได้ยินข่าวพระทางทีวี ทางหนังสือพิมพ์ เขาอาจจะเสื่อมศรัทธา เคยใส่บาตรก็อาจจะไม่ใส่บาตร เคยให้ทานอาจจะไม่ให้ทาน เคยรักษาศีลก็ไม่รักษาศีล เคยไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ก็เสื่อมก็มี เคยนั่งภาวนาก็ไม่อยากนั่ง แม้แต่ไหว้พระก็ไม่ดี เราจะไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ทำไม นี้ในลักษณะของปกติศรัทธาจะเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น

          แต่ถ้าผู้ใดเป็นผู้มีอจลศรัทธา คือบุคคลผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ถ้าผู้ใดผ่านญาณ ๑๖ ครั้งหนึ่งเรียกว่าเป็นพระโสดาบัน บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นอจลศรัทธา จะมีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยเอาชีวิตเป็นเดิมพันตายก็ยอมตาย ถ้าจะให้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าไม่มี พระธรรมไม่มี พระสงฆ์ไม่มีนั้นให้เอามีดมาตัดคอให้ขาดเสียดีกว่า เพราะอะไร เพราะเป็นการจาบจ้วงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เป็นการจาบจ้วงพระธรรมอันล้ำเลิศ เป็นการจาบจ้วงพระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ให้ตายเสียดีกว่า นี้บุคคลผู้เป็นอจลศรัทธา ไม่ต้องกล่าวไปถึงว่าให้นับถือศาสนานี้ ศาสนาโน้น แม้แต่ชีวิตก็ยังเดิมพันบูชาพระรัตนตรัยนั้นได้

          เพราะฉะนั้นอจลศรัทธาจึงเป็นศรัทธาที่รักษาพระศาสนาของเราให้ตั้งมั่นถาวร เหมือนพระอริยสาวกมีอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือนางวิสาขา หรือจิตตคหบดีผู้เป็นพระอนาคามี หรือว่าจุลอนาถะ ผู้เป็นอนาคามี นี้ก็ถือว่าเป็นอริยสาวก ที่สืบทอดพระศาสนา นางสุปปวาสา พวกนี้ก็เป็นอริยสาวก ดูแลค้ำจุนพระพุทธศาสนานั้นให้ตั้งมั่นถาวร เพราะฉะนั้นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นจึงชื่อว่าเป็นการยังอจลศรัทธาให้ตั้งมั่น ถือว่าเป็นการรักษามรดกซึ่งเป็นอมตะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มรดกต่างๆ จะเป็นเงินเป็นทองที่พ่อแม่ทั้งหลายให้นั้นถือว่าเป็นโลกียมรดก หรือว่ามรดกคือโบสถ์ก็ดี วิหารก็ดี ศาลาก็ดีก็ถือว่าเป็นโลกียมรดก เป็นวัตถุมรดก ต้องเสื่อม ต้องสิ้น ต้องสูญไปตามกาลเวลาจะเป็นเหล็กแข็งขนาดไหนก็ตามก็ต้องเสื่อมต้องสิ้นต้องพังไปตามกาลเวลา จะเป็นปูนที่ทำดีขนาดไหนก็ตาม เป็นหินที่ทำดีขนาดไหนก็ตาม ต้องผุต้องพังต้องเสื่อมต้องสิ้น

          แล้วก็การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น ท่านยังถือว่าเป็นการยังความสุข ๗ ประการให้เกิดขึ้นมา ความสุข ๗ ประการก็คือ ความสุขในมนุษย์ ความสุขในสวรรค์ ความสุขในฌาน ความสุขในมรรค ความสุขในผล ความสุขในพระนิพพาน อันนี้เรียกว่าความสุข ๗ ประการ ความสุขในมนุษย์ถ้าเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เราจะกล่าวว่าเรามีความสุขนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากเพราะว่ามนุษย์ของเรานั้นเต็มไปด้วยภัย เต็มไปด้วยความโกรธ เต็มไปด้วยความหลง เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เต็มไปด้วยกามราคะ เต็มไปด้วยความพยาบาท เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาต่างๆ เราจะมีความสุขที่เต็มบริบูรณ์นั้นเป็นไปได้ยาก ถึงเราจะมีเงินมีทองมีบ้านมากมาย แต่ใจของเรามีกิเลสอยู่ในจิตในใจ แต่ถ้าเรามาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเราก็จะถือเอาความสุขอันเป็นของมนุษย์ได้โดยบริบูรณ์ สมบูรณ์ขึ้นมาตามบุญวาสนาบารมีของเรา ด้วยการกำหนดทันอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง หรือว่าสุขในสวรรค์ก็ตาม สุขในสวรรค์นั้นถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเราก็ไปเกิดในสวรรค์ได้ แล้วก็อาศัยอานิสงส์ที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเกิดในสวรรค์ได้

          เหมือนกับภิกษุรูปหนึ่งประพฤติปฏิบัติธรรมเดินจงกรมนั่งภาวนาอย่างไรก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน พอตายลงไปแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์รู้สึกตัวขึ้นมามีนางเทพอัปสรทั้งหลายทั้งปวงนั้นแวดล้อม ทำให้ตกใจ นางเทพอัปสรทั้งหลายก็บอกว่า “ท่านไม่ได้เป็นพระแล้ว ท่านมรณภาพแล้วก็มาเกิดในสวรรค์ ท่านลองนึกดูซิ” พอนึกดูแล้วก็เห็นตัวเองมรณภาพแล้วก็เห็นตัวเองเจริญสมณธรรม เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้มาเกิดบนสวรรค์ หรือเรื่องของพาหิยะ ทารุจีริยะ สมัยก่อนโน้นในสมัยที่พระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ก็เป็นนักบวช เบื่อหน่ายต่อกิริยาอาการของภิกษุผู้อยู่ในพระศาสนาเดียวกัน คือในเวลาที่พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะเสื่อมสิ้นลง ภิกษุทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่อยู่ในอาการสำรวม ไม่มีหิริ ความละอาย ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีความเกรงกลัว กระทำสิ่งหยาบช้าต่างๆ ทำให้ภิกษุผู้ใคร่ต่อพระธรรมวินัยนั้นทนอยู่ดูพฤติกรรมของพระภิกษุสงฆ์ผู้ไม่มีวินัยนั้นเป็นที่ยึดเหนี่ยว ทนอยู่ไม่ได้ ก็ชวนกันไปประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นภูเขาแล้วก็ผลักบันไดลง แล้วประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ตายไปแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์จุติจากสวรรค์แล้วก็มาเกิดเป็นพาหิยะ เพื่อนของพาหิยะก็ไปเกิดบนพรหมโลก อานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำให้มาเกิดเป็นมนุษย์ ทำให้มาเกิดบนสวรรค์ได้ ได้รับความสุขในสวรรค์ก็เพราะเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

          ประการที่ ๓ เรียกว่าสุขในฌาน สุขในฌานนั้นหมายความว่าเมื่อเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถ้าผู้ใดมีบารมีในเรื่องฌานเราบริกรรม “พองหนอ ยุบหนอ” นี้แหละมันจะเป็นฌานของมันเอง จิตมันจะดิ่งเข้าสู่อารมณ์ปฐมฌานที่กล่าวมาเมื่อคืนนี้ มันจะเป็นเองของมันตามบุญวาสนาบารมี ถ้าบุญของเราถึงปฐมฌานจิตมันจะดิ่งลึกลงไปๆ ข้ามพ้นปฐมฌานเอง เราบริกรรมอยู่ที่ปัจจุบันธรรมเฉยๆ นั้นแหละแต่จิตมันดิ่งลงไปเองๆ แต่ถ้ามีบารมีไปถึงตติยฌานเราเพ่งอยู่ที่ปัจจุบันธรรมจิตมันก็จะผ่านพ้นไปเองของมัน เพราะอะไร เพราะมันเป็นไปด้วยอำนาจของบารมี เราก็จะรู้ว่าสุขที่เกิดขึ้นจากการเข้าฌานนั้นมันมีความสุขอย่างไร มีกายเย็นอย่างไร เอิบอิ่มในลักษณะอย่างไร นี้มันก็เป็นสุขในฌาน

          ประการที่ ๔ สุขในวิปัสสนา คือเมื่อเรามาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่ก่อนโน้นเราคิดเรื่องอดีต คิดถึงอนาคต เราจิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจรำคาญ จิตใจซัดส่ายไปมา แต่เมื่อเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วทำให้จิตใจของเราอยู่กับปัจจุบันธรรม จิตใจของเรามันสะอาดขึ้นๆ ผ่องใสขึ้นๆ เมื่อจิตใจสะอาดผ่องใสขึ้นมันก็เกิดสุขในอุปกิเลส สุขในอุปกิเลส ในวิปัสสนาญาณนั้นเป็นความสุขที่ละเอียดอ่อน เป็นสุขที่เกิดในญาณที่ ๓ ระหว่างญาณที่ ๓ ไปสู่ญาณที่ ๔ จะเป็นสุขละเอียดอ่อนทำให้จิตใจของเรานั้นคล้ายๆ กับว่าไม่มีความโกรธ คล้ายๆ กับว่าไม่มีความโลภ คล้ายๆ กับว่าไม่มีความหลง คล้ายๆ กับจิตใจของเราบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ยืน เดิน นั่ง นอน กินดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจอะไรมีความสุขไปหมด ถ่ายหนัก ถ่ายเบา กินเคี้ยวดื่มลิ้มรสอะไรต่างๆ มีความสุขอยู่เป็นประจำ คล้ายๆ กับว่าเราหมดกิเลสแล้ว ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็คงจะคิดว่าเราหมดกิเลสแล้ว ถ้าเราไม่หมดกิเลสเราจะมีความสุขขนาดนี้ได้อย่างไร เราคิดถึงคนที่เคยด่า เคยว่าเรา เคยโกรธ เคยไม่พอใจ เราคิดอย่างไรๆ มันก็ไม่โกรธสักที เราคิดถึงคนที่ทำให้เราเกิดความกำหนัดแต่ก่อนโน้น เราคิดแล้วมันก็ไม่เกิดความกำหนัด อารมณ์ใดที่ทำให้เราเกิดความกำหนัด เราคิดอย่างไรความกำหนัดมันก็ไม่เกิดขึ้นมา เราคงจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว แล้วก็มีความคิดว่า ถ้าเราบรรลุมรรคผลนิพพาน เราบรรลุมรรคผลนิพพานตอนไหน ตอนเราภาวนาอย่างไร ตอนเดินอย่างไร ตอนเดินจงกรมอย่างไร เราบรรลุตอนไหน มันจะเกิดความคิดขึ้นมา ขณะที่เราคิดขึ้นมาอย่างนี้ได้ความสุขมันก็หายไป ความสุขที่มันเคยสุขอยู่เหมือนกับที่มันดับกิเลสนั้นแหละ หายไปก็อยู่กับกิเลสปกติ เราก็เข้าใจว่าเมื่อสักครู่นี้เป็นสุขอุปกิเลสที่ผ่านมา บางคนก็เป็นหนึ่งวัน บางคนก็เป็นหนึ่งชั่วโมง บางคนก็เป็นสองสามชั่วโมง บางคนก็เป็นสองวันสามวัน เป็นห้าวัน เป็นเจ็ดวันก็มี หรือว่าเป็นนานกว่านั้นก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมีตามวิถีจิต วิถีญาณของแต่ละรูปแต่ละท่านว่าจะข้ามพ้นผ่านไปได้ไวหรือช้า อันนี้เรียกว่าเป็นสุขในวิปัสสนาซึ่งเป็นอุปกิเลส

          หรือว่าสุขอีกอย่างหนึ่งคือสุขในวิปัสสนา อันนี้กล่าวถึงสุขในวิปัสสนา คือสุขที่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็สุขในสังขารุเปกขาญาณ สุขในสังขารุเปกขาญาณนั้นเป็นสุขที่ประณีต เป็นสุขที่ละเอียดอ่อน ทำไมจึงกล่าวอย่างนั้น เพราะว่าสุขในสังขารุเปกขาญาณนั้น เป็นสุขที่เป็นอุเบกขา ไม่คิดลำเอียง ไม่คิดโกรธโทษใครจิตใจเฉยๆ มีจิตใจวางเฉยในรูปในนาม ในสัตว์ ในสังขารในบุคคล ในรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายทั้งปวง มีสังขารุเปกขาญาณที่ปรากฏชัด วางเฉยๆ ผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมถึงสังขารุเปกขาญาณ เคยเป็นโรคกระเพาะอาหาร เพราะคิดมาก เคยเป็นโน้นเป็นนี้ หาย โรคกระเพาะอาหาร โรคความดันหาย เพราะอะไร เพราะจิตมันเป็นปกติ จิตเมื่อมันเป็นปกติแล้วจิตมันสามารถรักษาโรคกระเพาะได้ สามารถรักษาโรคความดันได้ รักษาโรคหลายๆ อย่างได้ สามารถรักษาโรคกุมภันฑยักษ์ อะไรต่างๆ ได้ เพราะอะไร เพราะจิตมันวางเฉย ไม่อุปาทาน โรคกุมภัณฑยักษ์ก็เป็นโรคอุปาทาน แต่เมื่อเราถึงสังขารุเปกขาญาณแล้วก็สามารถที่จะรักษาโรคต่างๆ นั้นได้ แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นพิจารณาศีลของตนเอง ตั้งแต่วันบวช พิจารณาไปว่า เราต้องอาบัติทุกกฎหรือเปล่า เราต้องอาบัติปาจิตตีย์หรือเปล่า ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์หรือเปล่า เราต้องอาบัติอนิยตหรือเปล่า เราจะวินิจฉัยด้วยตนเองว่า ต้องหรือไม่ต้อง เราจะเข้าใจว่าจิตของเรามันมีพลัง คิดอะไรมันทะลุปรุโปร่งไป หรือว่าเราต้องอาบัติสังฆาทิเสสหรือเปล่า เรามีเจตนาไหม หรือไม่มีเจตนา มีความพยายามทางกายไหม หรือไม่มีความพยายามทางกาย เราจะตัดสินด้วยตนเอง ไม่มีครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ สังขารุเปกขาญาณเป็นเครื่องตัดความสงสัย วิจิกิจฉา สามารถเข้าใจแล้วก็รู้ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ด้วยตนเอง เมื่อเรารู้ในลักษณะอย่างนี้แล้วเราเกิดความภาคภูมิใจ เกิดความมุมานะ เกิดความเด็ดเดี่ยวขึ้นมา และหลังจากนั้นอนุโลมญาณค่อยเกิดขึ้นมา นี้ในลักษณะความสุขที่มันเกิดจากวิปัสสนาญาณกัมมัฏฐาน อันนี้เรียกว่า สุขในวิปัสสนา

          ประการที่ ๕ คือสุขในมรรคผล สุขในมรรคนั้นเกิดขึ้น ๑ ขณะจิตของบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ในขณะที่อนุโลมญาณเกิดขึ้น อนุโลมญาณดับไป โคตรภูญาณเกิดขึ้นหนึ่งขณะจิตแล้วดับลงไป ขณะที่โคตรภูญาณมันดับลงไปแล้วมรรคจิตมันเกิดขึ้นมาพร้อมหนึ่งขณะจิต กิเลสก็ตายไปตรงมรรคญาณนั้นเกิดขึ้นมา เป็นหนึ่งขณะจิต อันนี้เรียกว่าสุขในมรรค ส่วนสุขในผลนั้นหมายความว่าบุคคล มรรคเกิดขึ้นหนึ่งขณะจิตบ้าง สองขณะจิตบ้าง สามขณะจิตบ้าง สองขณะจิตหมายถึงมันทบุคคลผู้มีปัญญาน้อยจะเข้าผลได้สองขณะจิต แต่คนผู้มีปัญญามาก เป็นติกขบุคคลก็เข้าได้ ๓ ขณะจิต บุคคลเหล่านี้จะเข้าเวลาผ่านไปประพฤติปฏิบัติธรรมไป จะเข้าสมาธิเป็นผลยาว ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที หนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง สามชั่วโมง หกชั่วโมงแล้วแต่บุญวาสนาบารมี แต่เมื่อออกจากผลแล้วขณปัจจเวกเกิดขึ้นมา เมื่อขณปัญจเวกเกิดขึ้นมา จิตที่ออกจากผล ที่แช่อยู่ในผลนานๆ นั้นแหละ มันจะเกิดความสุขที่แตกต่างกัน ก่อนที่จิตมันจะดับลงไปนี้แหละราวฟ้ากับดินขณะที่เรายืนอยู่ตากแดด กับที่เราเข้าไปอยู่ในห้องแอร์ ความต่างกันมันเป็นอย่างไร จิตของบุคคลผู้เข้าสู่ผลกับปกติจิตก็ต่างกันอย่างนั้น เรายืนตากแดดมันร้อน มันมีความร้อนมันมีความแผดเผาอย่างไร นี้ปกติของคนทั่วไป แต่เมื่อออกจากผลแล้วรู้สึกอย่างไร เหมือนเข้าไปสู่ห้องแอร์ ความเย็นแห่งจิต ความประณีตแห่งใจ ความบันเทิง ความสุขุม ความเยือกเย็นแห่งจิตมันจะต่างกันในลักษณะอย่างนั้น บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะไม่มีความสงสัยในเรื่องประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะอะไร เพราะความต่างแห่งผลที่มันปรากฏขึ้นมา เพราะฉะนั้นสุขในผลนั้นจึงเป็นสุขที่ประณีต เกิดขึ้นเฉพาะบุคคลผู้ปฏิบัติผ่าน ผู้ที่ยังไม่ผ่านก็ไม่สามารถรับรู้อารมณ์เหล่านั้นได้ เรียกว่าสุขในมรรค สุขในผล

          ประการสุดท้ายก็คือสุขในพระนิพพาน พระนิพพานนั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ สอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ยังมีชีวิตอยู่ และอนุปาทิเสสนิพพาน คือนิพพานที่ดับทั้งร่างกาย ดับทั้งกิเลส สอุปาทิเสสนิพพานก็คือนิพพานของพระพุทธเจ้า นิพพานของอัครสาวกตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ นิพพานของพระอรหันต์นิพพานของพระโสดาบัน พระสกิคาทามี พระอนาคามีเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นนิพพานแต่เป็นนิพพานเฉพาะ พระโสดาบันก็เฉพาะถึงนิพพานเหมือนกัน เป็นนิพพานของพระโสดาบันหนึ่งขณะจิต พระสกทาคามีก็มีนิพพานเหมือนกันมีผลจิตเหมือนกัน ผลจิตนั้นก็มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ พระอนาคามีก็มีพระนิพพานเหมือนกันเพราะว่าเข้าผลจิตได้ เพราะว่าผลจิตนั้นก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ ร่างกายยังไม่ตายแต่เสพพระนิพพานได้แล้ว ไม่ใช่ว่าเราตายแล้วเราจะได้ถึงซึ่งพระนิพพานไม่ใช่ นิพพานนั้นเป็นคุณสมบัติของบุคคลผู้ผ่านการบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ใช่สมบัติของปุถุชนทั่วไป แต่เป็นสมบัติของอริยชนนับตั้งแต่พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ ผู้ใดสามารถบรรลุมรรคบรรลุอริยมรรคอริยผลได้บุคคลนั้นจะได้เสพ ได้ครอบครองซึ่งนิพพานเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ถ้าผู้ใดไม่สามารถผ่านการบรรลุมรรคผลนิพพานผู้นั้นก็ยังไม่ได้เสพ ยังไม่ได้ครอบครองสอุปาทิเสสนิพพาน

          ส่วนอนุปาทิเสสนิพพานนั้นก็คือนิพพานของท่านผู้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้วก็มรณภาพไปด้วย อย่างเข่นนิพพานของพระอรหันต์ทั้งหลายทั้งปวง ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวง นิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งปวง นี้ในลักษณะของความสุขในพระนิพพาน เกิดขึ้นมาจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานที่คณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมควรที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม อย่างน้อยๆ เรายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็ยังเป็นอุปนิสัยติดตามเราไปในสัมปรายภพข้างหน้า ท่านกล่าวว่าบุคคลผู้มาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถ้าเราตั้งจิตตั้งใจจริงๆ แล้วท่านว่า ๗ ปีเราก็ไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ยังเหลืออุปาทานอยู่ ยังเหลืออุปธิอยู่ เราก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีปฏิบัติธรรมตลอด ๗ ปี แต่ถ้าเราปฏิบัติไม่ถึง ๗ ปี ๗ปียกไว้ เราปฏิบัติ ๖ ปีก็พึงหวังผล ๒ ประการ ๖ ปี ยกไว้ ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น ก็หวังผล ๒ ประการ แล้วก็ ๑ ปี ยกไว้ ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน ก็หวังผล ๒ ประการ ๑ เดือนยกไว้ ๑๕ วันยกไว้ ๗ วันก็หวังผล ๒ ประการ ๗ วันยกไว้ ๖ วัน ๕ วัน ๔ วัน ๓ วัน ๒ วัน ๑ วัน ๑ วันยกไว้ ปฏิบัติเรียนเอากัมมัฏฐานตอนเช้า บรรลุตอนเย็น บางครั้งเรียนเอาตอนเย็นก็บรรลุตอนเช้า ท่านกล่าวในลักษณะอย่างนี้ ท่านกล่าวตามบุญวาสนาบารมีของผู้ปฏิบัติธรรม บางคนก็รู้ช้า บางคนก็รู้เร็ว บางคนก็เป็นขิปปาภิญญา บางคนก็เป็นทันธาภิญญา บางคนก็รู้ได้เร็ว บางคนก็รู้ได้ช้า เหมือนพาหิยะ ทารุจีริยะ ฟังธรรมในขณะนั้น ได้ผลในขณะนั้นเรียกว่าบรรลุได้เร็ว เป็นขิปปาภิญญา เป็นผู้รู้เร็ว

    

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 พฤศจิกายน 2564 16:22:48 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 12 พฤศจิกายน 2564 16:22:04 »


         เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงกล่าว ๗ ปี ยกไว้ จนถึงเรียนตอนเช้าบรรลุตอนเย็น เรียนตอนเย็นบรรลุตอนเช้า ท่านหมายเอาตามบุญวาสนาบารมี อุปนิสัยของคนทั่วไป ท่านกล่าวว่าบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น ถ้าเราเจริญในปฐมวัย การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นท่านหมายเอาเจริญตั้งแต่ ๗ ปี ปฐมวัยนั้นหมายเอา ๗ ปี ไปถึง ๒๕ ปี ถ้าเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานตั้งแต่ ๗ ปี ถึง ๒๕ ปีนี้เรายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เราก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในมัชฌิมวัย คือมันจะสั่งสมไปเรื่อยๆ เราจะได้บรรลุ เราไม่ได้บรรลุในปฐมวัย ตั้งแต่ ๗ ปีถึง ๒๕ ปีเราจะได้บรรลุในมัชฌิมวัย คืออายุตั้งแต่ ๒๕ ปี ถึง ๕๐ ปี เราประพฤติปฏิบัติตลอดตั้งแต่ ๒๕ ปีถึง ๕๐ ปี เรายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ในมัชฌิมวัยก็จะเป็นปัจจัยให้เราได้บรรลุในปัจฉิมวัย คืออายุตั้งแต่ ๕๐ ปี ถึง ๗๐ ปี เราประพฤติปฏิบัติธรรมไปตลอดในปัจฉิมวัย ถ้าเราไม่ได้บรรลุในปัจฉิมวัย ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้บรรลุในมรณสมัย คือในสมัยที่เราจะตายในสมัยที่เราจะเคลื่อนออกจากภพ เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเราจะได้บรรลุในสมัยนั้น แต่ถ้าเราไม่ได้ในมรณสมัยนั้น ทำให้จิตใจของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์ก็ทำให้เราไปเกิดในสวรรค์ในเทวโลก เราก็จะได้บรรลุมรรคผลอยู่ในเทวโลก แต่ถ้าเราอยู่ในเทวโลกแล้วยังไม่ได้บรรลุมรรคผลอยู่ในเทวโลก เรายังไม่มีโอกาสเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เรายังมัวเมาอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสอยู่ วิปัสสนาญาณยังไม่แก่กล้าอยู่ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้บรรลุในสมัยที่พุทธศาสนาล่วงไปแล้ว ๔๙๙๙ ปี กับเหลืออีก ๗ วันก็จะครบ ๕๐๐๐ ปี

          ในสมัยนั้นพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายทั้งปวงที่ไปประดิษฐานอยู่ตามสถานที่ต่างๆ พระบรมสารีริกธาตุที่อยู่ทุกภพก็ดี ที่อยู่พรหมโลกก็ดี ที่อยู่ในมนุษย์ก็ดี คนธรรพ์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี ก็จะมารวมกัน พระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดทั้งปวง ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงแผ่ไปด้วย พุทธฤทธิ์ก็จะมารวมกันเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนองค์สเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกประการ แล้วก็ได้แสดงธรรมต่อพุทธบริษัทตลอด ๗ วัน ๗ คืน บุคคลผู้ที่เป็นเทวดาในสมัยนั้นก็จะได้ฟังธรรมในขณะที่จะสิ้นพระพุทธศาสนาแล้วก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในขณะนั้น แต่เมื่อไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานในขณะที่อีก ๗ วันจะสูญสิ้นพระพุทธเจ้า วิปัสสนาญาณยังไม่แก่กล้าอยู่อีก ยังเป็นผู้ประมาทอยู่อีก ก็จะเกิดทันพระศรีอาริยเมตไตร และได้ฟังธรรมต่อพระพักตร์ขององค์พระศรีอาริยเมตไตร แล้วก็บรรลุมรรคผลนิพพาน

          แต่เมื่อถึงพระศรีอาริยเมตไตรแล้วบารมียังไม่แก่กล้ายังไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพาน ไปเกิดในสวรรค์ ไปเกิดในสมัยที่ว่างจากพระพุทธเจ้า เป็นสุญญกัป บารมีแก่กล้าก็จะสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ถึงนิพพานด้วยตนเอง การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานตามลำดับๆๆ ในลักษณะอย่างนี้ จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้

          วันนี้อาตมภาพก็ได้กล่าวธรรมะก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อไปคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ได้ขยับขยายคลายอิริยาบถเตรียมตัวแผ่เมตตา.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อุปาทาน โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 0 1138 กระทู้ล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2563 15:52:49
โดย Maintenence
การสำรวมอินทรีย โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1131 กระทู้ล่าสุด 15 กรกฎาคม 2564 16:07:16
โดย Maintenence
พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1064 กระทู้ล่าสุด 22 สิงหาคม 2564 13:35:37
โดย Maintenence
การเกิดดับของรูปนาม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลฯ
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 814 กระทู้ล่าสุด 17 พฤศจิกายน 2564 14:58:34
โดย Maintenence
อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 204 กระทู้ล่าสุด 04 มิถุนายน 2566 15:32:49
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.788 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 25 มกราคม 2567 19:17:42