[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 00:29:47 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การเกิดดับของรูปนาม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลฯ  (อ่าน 815 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 95.0.4638.69 Chrome 95.0.4638.69


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2564 14:56:39 »




การเกิดดับของรูปนาม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
(เทศน์ที่วัดสายนาดง ๑๔ ม.ค. ๕๗)

         เรามาวัดตลอด ๙ คืน ๑๐ วันนี้เราได้บุญมากน้อยขนาดไหน บุญที่เป็นกามาวจรบุญเราได้ขนาดไหน บุญที่นำเราไปสู่ความเป็นมนุษย์สู่ความเป็นสวรรค์นั้นเราได้บุญขนาดไหน บุญคือ รูปฌาน อรูปฌานนั้นเราได้ขนาดไหน หรือว่าบุญคือมรรคผลนิพพานนั้นเราได้มากน้อยขนาดไหน ญาติโยมทุกท่านทุกคนก็คงจะรู้ได้ด้วยตนเอง

          วันนี้เป็นวันสุดท้ายก็ขอให้ญาติโยมนั้นได้นั่งสมาธิฟัง พยายามทำจิตทำใจของเราให้เป็นกลาง ทำจิตทำใจของเราให้ว่าง พยายามตั้งสติไว้ที่หูตรงที่ไดยินเสียงชัดเจน ข้างไหนที่ได้ยินเสียงชัดเจน เราก็กำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” หรือว่า “เสียงหนอๆ” อย่างใดอย่างหนึ่งจนกว่าจิตของเราจะสงบไป แต่ก็ขอให้จำให้ได้ว่าผู้เทศน์เทศน์ถึงเรื่องอะไร หรือสงบไปตอนเราบริกรรมท้องพองหรือท้องยุบมันจึงดับลงไปก็พยายามจำให้ได้ ถ้าเราจำได้ก็ถือว่าเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ ท่านกล่าวไว้ว่าผู้ใดจำการดับไปของรูปของนามได้ เห็นว่ามันดับลงไปตอนที่ท่านเทศน์ถึงเรื่องอะไร ดับลงไปตอนท้องมันกี่เส้นขนสองเส้นขนสามเส้นขนแล้วมันดับลงไป หรือท้องเรายุบลงไปประมาณเท่าไรกี่เส้นขนแล้วมันดับลงไป ในลักษณะอย่างนี้ท่านกล่าวว่าอเนกานิสังสา เรียกว่าหาอานิสงส์ประมาณมิได้ อานิสงส์นั้นเป็นอเนกประการ

          ท่านกล่าวว่าจะเอาทรัพย์สมบัติของมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง กองพะเนินเทินทึก แล้วจะเอาทรัพย์สมบัตินั้นมาเปรียบเทียบกับการที่จำการดับไปของรูปของนามนั้นไม่ได้ หรือจะเอาสมบัติของเทวดาทั้งหลายทั้งปวง สมบัติของพระอินทร์ สมบัติของท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ หรือว่าสมบัติของเทวราชทั้ง ๖ ชั้นนั้นมารวมกัน จะเปรียบเทียบกับอานิสงส์ของการดับไป เพียงครั้งหนึ่งนั้นไม่ได้ หรือจะกล่าวเอาสมบัติของพรหมโลก ที่มีอยู่ในพรหมทั้ง ๒๖ ชั้นนั้นมาเปรียบเทียบกับการดับไปของรูปของนามที่เราจำได้เพียงครั้งเดียวนั้นไม่ได้ หรือจะเอาสมบัติของมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดีทั้งหมดทั้งปวงนั้นมารวมกันแล้วอานิสงส์นั้นจะมาเปรียบเทียบกับการดับไปของรูปของนามเพียงครั้งเดียวนั้นไม่ได้ อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสยกย่องผู้ที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นความดับไปของรูปของนามนั้น หรือว่าเป็นผู้ที่มีคุณมีอานิสงส์มากกว่าสมบัติทั้งหลายทั้งปวง

          เพราะการจำการดับไปของรูปของนามได้ ถือว่าเป็นการตัดภพตัดชาติ ตัดกงกรรมแห่งสังสารวัฏ เป็นการทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาลง ทำภพชาติให้สั้นลง ทำภพชาติให้น้อยลง แล้วทำฝั่งแห่งพระนิพพานนั้นให้ปรากฏขึ้นมา เรียกว่ามองเห็นฝั่งแห่งพระนิพพานก้าวขึ้นสู่หนทางแห่งความพ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นการที่คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้มาเดินจงกรมนั่งภาวนา หนาวก็ต้องทน หิวก็ต้องสู้ เหนื่อยหน่ายก็ต้องอด อันนี้มันเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะญาติโยมตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายนั้นปรารถนาความสุข ต้องการที่จะทำความสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมให้เกิดความสุขได้อย่างไร เราจะเกิดความสุขหรือเกิดความทุกข์นั้นมันสุขมันทุกข์อยู่ตรงไหน โบราณท่านว่าความสุขก็อยู่ในอก ความทุกข์ก็อยู่ในใจ นี้โบราณท่านกล่าวอย่างนั้น โบราณจริงๆ นั้นท่านจึงกล่าวว่า มนุษย์ก็ดี สวรรค์ก็ดีก็อยู่ในอก นรกก็อยู่ในใจ พรหมโลกก็อยู่ในจิต นิพพานก็อยู่ในมโน เรียกว่ามันอยู่ในจิตในใจของเรานี้เอง ถ้าเราจะกล่าวจริงๆ แล้วการที่คณะครูบาอาจารย์มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ก็มาปฏิบัติเพื่อฝึกจิตของตนเอง จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ การฝึกจิตนั้นเป็นความดีแท้ เพราะฉะนั้นการฝึกจิตนั้นเป็นหนทางที่เรานั้นจะก้าวหนีออกไปจากความทุกข์ หนีออกไปจากสังสารวัฏ หนีไปจากห้วงมหรรณพภพสงสาร เพราะอะไร เพราะว่าจิตของเรานี้แหละเป็นตัวการให้เราเกิดความทุกข์บ้าง เกิดความสุขบ้าง

          เพราะฉะนั้นเราพิจารณาดูว่า บุคคลผู้ไปเกิดในนรก เป็นเพราะอะไรจึงไปเกิดในนรก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้ไปเกิดในนรกนั้นเพราะว่าเป็นผู้มีจิตประกอบไปด้วยความโกรธ หรือว่ามีความโกรธเป็นเจ้าเรือน พูดนิดพูดหน่อยก็เกิดโมโหโทโสขึ้นมา หรือว่าเพื่อนจะพูดเย้าพูดหยอกก็ไม่ได้ชอบหงุดหงิด ชอบรำคาญ ชอบโกรธ ชอบด่า ชอบว่า ชอบประทุษร้ายบุคคลอื่นในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าผู้มีความโกรธเป็นเจ้าเรือน ท่านกล่าวว่าถ้าผู้ใดมีความโกรธในลักษณะอย่างนี้ก็เหมือนกับว่าบุคคลเหล่านั้นได้เปิดแย้มประตูแห่งนรกนั้นให้ปรากฏขึ้นมา หรือว่าประตูแห่งนรกนั้นเปิดแย้มสำหรับบุคคลนั้นแล้ว บุคคลนั้นพร้อมที่จะก้าวไปสู่นรกอย่างง่ายดาย เพราะฉะนั้นความโกรธนั้นก็เหมือนกับการเปิดประตูนรก ผู้ใดโกรธบ่อยๆ โมโหบ่อยๆ ประทุษร้ายบุคคลโน้น บุคคลนี้บ่อยๆ มีความโกรธเกิดขึ้นเนืองๆ ก็เท่ากับว่าเราเปิดประตูนรกเนืองๆ ถ้าเราตายหรือจิตดับด้วยอำนาจของความโกรธเราก็ต้องไปสู่อบายภูมิคือนรกอย่างไม่มีความสงสัย

          อะไรพาเราไปสู่นรกก็คือจิตโกรธ จิตที่มันเกิดความโกรธ จิตที่มันเกิดความเคือง มันก็พาเราไปสู่นรก ส่วนกายของเราอันยาววาหนาคืบกว้างศอก มันก็ต้องแตกดับ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ไฟเป็นไฟ อากาศก็ไปสู่อากาศธาตุ มันไปตามธรรมชาติของมัน ส่วนจิตที่จะพาเราเวียนว่ายตายเกิดมันยังไม่ดับเพราะมีเชื้อคือความโกรธ มันก็นำเราไปสู่นรก เมื่อพ้นจากนรกขึ้นมาแล้วก็เป็นคนที่มีจิตใจโหดร้าย ไร้เหตุไร้ผลอะไรต่างๆ แล้วก็จะติดตามให้เรานั้นได้รับความทุกข์ทรมาน ในภพชาติต่อไปอีก นับภพนับชาตินับกัปนับกัลป์ไม่ถ้วน บุคคลผู้มีความโกรธจึงเป็นบุคคลผู้ที่น่าสงสาร พระอาจารย์ขวัญใจได้จัดประพฤติปฏิบัติธรรมก็เพื่อให้เรานั้นบรรเทาความโกรธ ละความโกรธ ถอนความโกรธ ปิดประตูแห่งความโกรธก็เท่ากับการปิดประตูแห่งการไปเกิดในนรก ในอบายภูมิ

          การมาประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าเรามองเผินๆ เราอาจจะไม่ได้ทรัพย์สมบัติเป็นรูปธรรม แต่ถ้าเรามองลึกซึ้งแล้วเราได้อริยทรัพย์ ได้ทรัพย์ที่เป็นนาม ได้ทรัพย์ที่เป็นบุญ ติดตามเราไปในสัมปรายภพข้างหน้าเหมือนเงาติดตามตัว เราที่มาขวนขวายหาวัตถุเป็นเงินเป็นทองเป็นข้าวของเรือกสวนไร่นาต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติกลางของโลก แต่สิ่งที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เป็นทรัพย์สมบัติที่เป็นนาม เป็นทรัพย์สมบัติที่สามารถติดตามเราไปในสัมปรายภพข้างหน้า เราจะตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายไปไหนๆ บุญกุศลนี้ก็จะติดตามหล่อเลี้ยงเกื้อกูลอุปถัมภ์ค้ำจุนเราอยู่ทุกภพทุกชาติตราบเท่าเราถึงพระนิพพาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้จึงเป็นสมบัติที่แท้จริง ไม่ใช่สมบัติที่จอมปลอมแต่เป็นสมบัติที่ติดตามเราไปในสัมปรายภพข้างหน้าได้ สามีถึงจะรักเรามาก ภรรยาถึงจะหวงเรามากขนาดไหนก็ตาม แต่ผลสุดท้ายก็ต้องแยกจากกันไป ต่างคนก็ต่างไปตามบุญตามกรรม ถึงเราจะสนิทสนมผูกพันธ์เกื้อกูลกันขนาดไหนผลสุดท้ายเราก็ต้องร้างจากกันไป อันนี้เราก็อุปถัมภ์ค้ำจุนดูแลกันได้แต่ในสมัยที่เรายังมีชีวิตอยู่ แต่บุญจะตามอุปถัมภ์ค้ำจุนดูแลเราทุกภพทุกชาติ ผู้ที่มีอุปการะคุณแก่เรามากที่สุดก็คือบุญ สิ่งที่เกื้อกูลเรามากที่สุดก็คือบุญ สิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จหรือว่ามีความสุขก็คือบุญกุศล

          เพราะฉะนั้นญาติโยมตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ก็ถือว่ามาสั่งสมบุญกุศลซึ่งเป็นอริยทรัพย์ติดตามเราไปในสัมปรายภพข้างหน้า เป็นการที่เรามาถอนสิ่งที่ไม่ดีออกจากจิตจากใจเช่นความโกรธ ความเกลียดต่างๆ ทำประตูอบายภูมิให้แคบลง ทำประตูอบายภูมิให้ปิดสนิทด้วยอำนาจของการบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ถ้าบุคคลใดเป็นประเภทที่มีความโลภเกิดขึ้นมาแล้วก็อยากได้อยู่ตลอดเวลา เห็นนาก็อยากได้นา เห็นที่ก็อยากได้ที่ เห็นเงินเห็นทองก็อยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่ามีความอยากได้เป็นจิตเป็นใจอยู่ตลอดเวลา มีความโลภไม่ใช่ธรรมดา มีความอยากอยู่เรียกว่าไม่รู้จักพอก็ขวนขวายเอาในทางที่ไม่ประกอบไปด้วยชอบ ไม่ประกอบไปด้วยธรรมในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า ความโลภ แต่ถ้าผู้ใดหาเงินหาทองหาอยู่หากินได้โดยความชอบธรรม จะได้มากขนาดไหนก็ไม่ถือว่าเป็นความโลภ แต่ถ้าบุคคลใดไม่รู้จักพอด้วยอำนาจของตัณหา ด้วยอำนาจของจิตที่ประกอบด้วยโลภะ อย่างคดโกงเขามาด้วยเงินห้าบาทสิบบาทก็ถือว่าเป็นความโลภ ถ้าบุคคลใดตายด้วยความโลภในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปสู่อบายภูมิ เกิดเป็นเปรตอสุรกายขึ้นมา ถ้าจิตโลภเกิดขึ้นแก่เราก็เท่ากับเราเปิดประตูที่จะไปสู่ความเป็นเปรตแล้ว เราเปิดประตูเพื่อที่จะไปสู่ความเป็นอสุรกายแล้ว เพราะฉะนั้นความโลภนี้แหละทำให้เราเกิดความทุกข์ความทรมานเวียนว่ายตายเกิด เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม คณะครูบาอาจารย์จึงให้กำหนด เวลามันจะดีใจก็กำหนด “ดีใจหนอๆ” เวลามันจะโกรธก็ “โกรธหนอๆ” กำหนดลงที่ใจของเราหรือขณะที่เราได้ยินเสียงเราก็กำหนดว่า “เสียงหนอๆ” ไม่ปรุงแต่งว่าเสียงดีเสียงร้าย เขาจะชมหรือเขาจะติ เขานินทา เราไม่เอาคำที่เขาติหรือชมนั้นมาพิจารณากำหนดแต่ “เสียงหนอๆ” ไม่ยินดียินร้ายในเสียง ความโกรธหรือว่าความโลภมันก็ไม่เกิดขึ้นเพราะการได้ยินเสียง เราปิดประตูแห่งนรกแล้วก็ปิดประตูแห่งความเกิดเป็นเปรตและอสุรกาย

          หรือว่าในขณะที่เราได้ประสบกับอารมณ์ต่างๆ เราไม่หลงมัวเมาจนเกินไป ไม่ขาดสติ ไม่หลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในอารมณ์ต่างๆ การตายด้วยอำนาจของความหลง จะเป็นหลงในลูกก็ดี หลงในเมียก็ดี หลงในบ้าน หลงในทรัพย์สินเงินทองก็ดี ถ้าบุคคลใดตายด้วยความหลง ด้วยความเสน่หาอย่างใดอย่างหนึ่งท่านกล่าวว่าตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างที่เราได้ศึกษาในพระไตรปิฎก สามีรักภรรยาเป็นอย่างมาก เวลาตายไปแล้วก็ต้องผูกพันกับภรรยา ตายไปแล้วก็ไปเกิดในท้องของสุนัข พอคลอดลูกออกมาแล้วภรรยาไปไหนๆ เป็นสุนัขก็วิ่งตามภรรยาไป เพราะอะไร เพราะเกิดความรักความผูกพัน เป็นคนแท้ๆ ตายแล้วไปเกิดเป็นหมา เพราะอะไร เพราะรักในภรรยา ภรรยารู้ว่าคงจะเป็นสามีมาเกิดก็ฆ่าหมา ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นวัว ภรรยาไปไหนก็เดินตามภรรยาไป ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นงูเหลือมก็อาศัยอยู่ใกล้ๆ ภรรยาในลักษณะอย่างนั้น การที่บุคคลมีความหลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งตายแล้วก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

          อย่างที่เราได้ศึกษาประวัติของจระเข้ เวลาทอดกฐินต่างๆ ก็มีการเอาธงจระเข้นำหน้านั้น ท่านกล่าวไว้ว่ามีเศรษฐีเกิดมีความตระหนี่ก็ฝังทรัพย์ไว้ใกล้ๆ กับแม่น้ำ แต่เวลาตายไปแล้วก็มีความผูกพันในทรัพย์นั้นก็ไปเกิดเป็นจระเข้ในหนองน้ำเฝ้าทรัพย์สมบัติของตนไว้ อันนี้เป็นลักษณะของความหลงที่มันเกิดขึ้นในจิตในใจของคนก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ประตูแห่งสัตว์เดรัจฉานนั้นก็อยู่ในจิตในใจของเรานี้แหละ ถ้าเราเกิดความหลงอยู่เนืองๆ ตายไปแล้วเราก็ต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เท่ากับแย้มประตูแห่งสัตว์เดรัจฉานให้เปิดกว้างขึ้นมา ตายด้วยความหลงเมื่อไรเราก็ไปสู่อบายภูมิคือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเมื่อนั้น

          เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าเรานั้นสูงกว่าสัตว์ ถ้าเราจิตใจหลงเมื่อไรตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้ทันทีเหมือนกับนายโกตุหลิกะ เดินทางไปจากบ้านที่เกิดทุพภิกขภัย โรคห่า ทำให้คนทั้งหลายทั้งปวงตายก็อพยพหนี แต่เมื่ออพยพไปถึงบ้านของนายโคบาล นายโคบาลกำลังทำขวัญโค ทำขวัญแม่โคแล้วก็เลี้ยงข้าวมธุปายาสให้คนทั้งหลายทั้งปวง นายโคบาลก็เอาข้าวมธุปายาสก้อนใหญ่นั้นแหละให้แก่นางสุนัข นายโกตุหลิกะในสมัยนั้นอดข้าวมาหลายวัน เห็นนางสุนัขได้กินก้อนข้าวมธุปายาสที่ประณีตก็คิดว่าเป็นสุนัขแท้ๆ ยังมีบุญถึงขนาดนั้น ได้กินข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อย เป็นผู้มีโชคดีส่วนเขานั้นอดอยากมาหลายวัน พอนายโคบาลเอาข้าวมธุปายาสให้ทานเท่านั้นแหละก็ทานเอาโดยขาดการพิจารณา ทานมากเกินไปตอนเย็นอาหารไม่ย่อยก็ตายไปด้วยค่าที่ยินดีที่ได้เห็นนางสุนัขนั้นได้กินข้าวมธุปายาสที่มีน้ำน้อยนั้นแหละ ก็ตายไปแล้วไปเกิดในท้องของนางสุนัข อันนี้ก็เรียกว่าการเป็นคนกับสัตว์เดรัจฉานนั้นไม่ได้ไกลกัน อยู่ที่จิตของเรานี้แหละ ถ้าจิตของเราขาดเหตุขาดผลเมื่อไรหลงเมื่อไรก็เป็นสัตว์เดรัจฉานเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นคนทั้งหลายทั้งปวงไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นก็ไม่ยาก ถ้าจิตของเรามีความหลงเมื่อไรก็เป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วเพียงแต่ว่าร่างกายของเรายังไม่เป็นเท่านั้นแต่จิตของเรามันเข้าสู่ภูมิของสัตว์เดรัจฉานแล้ว

          เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมก็เพื่อไม่ให้ใจของเรานั้นหลงไปสู่ความเป็นสัตว์เดรัจฉาน จึงต้องกำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจอะไรให้เรากำหนด เพราะอะไร เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง เพื่อป้องกันตัวเราเอง ไม่ใช่ครูบาอาจารย์บังคับแต่ครูบาอาจารย์ให้เราฝึก เพื่อที่เราจะปลอดภัยถึงแดนเกษม พ้นไปจากภัยทั้งหลายทั้งปวงเวลาเราใกล้จะตาย ตอนที่เราล้มหมอนนอนเสื่อเราจะได้มีสติ มีกัมมัฏฐานไว้เตือนจิตสะกิดใจของเราว่าเราเคยมาประพฤติปฏิบัติธรรมที่บ้านสายนาดง ครูบาอาจารย์ให้กำหนดเวลามันเจ็บก็ “เจ็บหนอๆ” มันปวดก็ “ปวดหนอๆ” มันคิดก็ “คิดหนอๆ” ตัดความกังวลทั้งหลายทั้งปวงจิตแจ่มใส จิตบริสุทธิ์ จิตเบิกบาน ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราดับด้วยอำนาจจิตที่มีความสะอาด มีความแจ่มใสเราก็ไปสู่สุคติมาเกิดเป็นมนุษย์บ้าง ไปเกิดบนสวรรค์บ้าง นี้มันเป็นด้วยอำนาจของกัมมัฏฐาน

          เพราะฉะนั้นเรามาฝึกกัมมัฏฐานในวันนี้จะเป็นประโยชน์แก่เราจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เรียกว่าประโยชน์มันคุ้มค่าขอให้เรานั้นตั้งใจจริง ประพฤติปฏิบัติจริงไม่ใช่ว่าประพฤติปฏิบัติพอสักแต่ว่าผ่านไปเป็นวัน เวลาเราจะล้มหมอนนอนเสื่อ ถึงเวลาเราจะลาโลกจริงๆ กัมมัฏฐานก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเราได้ แต่ถ้าเรามีสติตั้งใจจริงประพฤติปฏิบัติจริง กัมมัฏฐานของเราดี สติของเราดีก็จะเป็นประโยชน์ เป็นที่พึ่งของเราได้ เป็นประโยชน์ของกัมมัฏฐาน ท่านจึงกล่าวว่า นรกนั้นอยู่ในใจของเรา

          ส่วนความเป็นมนุษย์ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีศีล ๕ รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ พูดหลอกลวง ต้มตุ๋น พูดยุแหย่ให้คนแตกร้าวสามัคคีกัน หรือว่าไม่ดื่มสุราเมรัย อันนี้ก็เป็นมนุษยธรรมแล้วเป็นธรรมที่จะทำให้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ส่วนมากเราประพฤติบกพร่องในศีล ๕ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราตายไปแล้วไม่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ หรือรักษาศีล ๕ นั้นไม่สมบูรณ์ มาเกิดเป็นมนุษย์ก็พิกลพิการ พิการแข้ง พิการขา พิการหู พิการตา บางครั้งก็หูหนวก บางครั้งก็ตาบอด บางครั้งก็ขาเป๋ บางครั้งก็ดำเกินไป ขาวเกินไป บางครั้งก็เป็นโรคร้ายแรงอย่างโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไตที่ต้องเข้าโรงหมอโรงแพทย์ประจำ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเรารักษาศีลไม่สมบูรณ์ เราเบียดเบียนบุคคลอย่างไร เราก็ต้องได้รับอย่างนั้นให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว ให้สุขแก่ท่านสุขนั้นถึงตัว กงกรรมกงเกวียนเหมือนเงาติดตามตัว เราทำอย่างไรเราก็ได้อย่างนั้น

          ท่านกล่าวว่าสิ่งที่มันเกิดกับเราอยู่ทุกวันนี้เป็นกรรมเก่าที่เราทำมาทั้งนั้น จะเป็นความรวย เป็นเศรษฐี เป็นคฤหบดีก็เป็นสิ่งที่เราทำมาทั้งนั้น มาส่งเสริมให้เรามีสติ มีปัญญา มีความเพียร มีความขยัน มีความอดออมต่างๆ ทำให้เรานั้นเกิดเป็นเศรษฐีมีเงินมีทองขึ้นมา หรือว่ากรรมที่ทำให้เราเกียจคร้านหมกมุ่นมัวเมาอยู่กับยาเสพติด หมกมุ่นมัวเมาอยู่กับเมียน้อยผัวน้อยต่างๆ กินเหล้าเมาสุราหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่เราเคยประมาทมาก่อน เป็นกรรมที่ซัดเราให้ต้องได้เกิดความทุกข์ทรมานต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเคยกระทำมาเป็นของเก่า เราขาเป๋ เราหูหนวก เราเป็นโรคเป็นภัย ก็เคยเบียดเบียนสัตว์อื่นทำให้สัตว์อื่นต้องทรมาน การทำให้บุคคลทรมานทางกายท่านกล่าวว่าเป็นบาป แต่ถ้าเคยทำให้บุคคลทรมานทางจิต ทำให้จิตนั้นต้องเกิดความทุกข์เกิดความโทมนัส เกิดความตรอมใจต่างๆ ท่านว่าเป็นบาปมาก เพราะฉะนั้นเราควรเว้นจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อนทางกาย หรือเดือดร้อนทางจิต เราก็จะพบกับความเกษม มีความสุข ความเยือกเย็นแห่งจิตแห่งใจของเรา

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราอยากจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เราต้องรักษาศีล ๕ ให้สมบูรณ์ เราก็จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ แต่ถ้าเราอยากจะไปเกิดเป็นเทวดา เราก็ต้องเจริญกุศลธรรมหรือว่ากุศลจิต เราก็ต้องให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา แผ่เมตตา สร้างถนนหนทาง สร้างสะพาน ขุดบ่อน้ำ สร้างศาลา ใส่บาตร สวดมนต์ ไหว้พระอะไรทำนองนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรามาเกิด หรือว่าไปเกิดบนสวรรค์ เราทำหนทางให้ไปเกิดบนสวรรค์ไว้แล้ว ถ้าเราไม่ประมาทเราก็จะไปเกิดบนสวรรค์ อยากจะไปเกิดในอบายภูมิอย่างไรๆ ก็ไปเกิดไม่ได้ ท่านกล่าวว่าบุคคลบางจำพวกนั้นเกิดในครรภ์ บุคคลบางจำพวกผู้มีกรรมอันลามกนั้นย่อมไปเกิดในนรก บุคคลผู้มีกรรมดีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในสุคติ บุคคลผู้ไม่มีกิเลสย่อมปรินิพพาน พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสการเกิดการตาย การไปสู่สถานที่เป็นทุกข์ การไปสู่สถานที่เป็นสุข ให้พวกเราทั้งหลายนั้นพิจารณาดูว่า สัตว์บางจำพวกเกิดในครรภ์ เรียกว่าบุคคลผู้มีมนุษยธรรมก็มาเกิดในครรภ์ บุคคลบางจำพวกผู้มีกรรมอันลามกย่อมไปเกิดในนรกก็หมายถึงบุคคลผู้ชอบโกรธ มีความโลภ มีความหลง มีโมหะเป็นเรือนใจ ก็ไปเกิดในนรก บุคคลผู้มีกรรมอันเป็นเหตุให้ไปเกิดในสุคติ เกิดในสวรรค์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสจำแนกแยกออกให้เราเห็นชัดๆ อย่างนี้ ถ้าบุคคลใดไม่มีกิเลสย่อมปรินิพพาน พระองค์ทรงตรัสว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมีจริง คือไม่มีกิเลสแล้วก็ต้องถึงซึ่งพระนิพพาน เราทั้งหลายอยากไปเกิดบนสวรรค์ก็ต้องบำเพ็ญกุศลจิต เรียกว่ากุศลกรรม มีการให้ทาน รักษาศีล มีการสร้างถนนหนทางเป็นต้น ขุดบ่อน้ำ ก่อศาลา เหล่านี้ก็ทำให้ไปเกิดบนสวรรค์ แต่ถ้าบุคคลอยากจะไปเกิดในพรหมโลก เราจะให้ทานขนาดไหนๆ ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ให้ทานแล้วเกิด เกิดแล้วตาย เราอยากจะไปเกิดบนพรหมโลกก็ไม่ได้ เรารักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ข้อ บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างไรๆ ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายเราก็รักษาศีลให้บริสุทธิ์อย่างนั้นแหละนับภพนับชาติไม่ได้ เราอยากจะไปเกิดบนพรหมโลกเราก็ไปเกิดไม่ได้ เพราะอะไร เพราะไม่ใช่เป็นเหตุให้ไปเกิดในพรหมโลก

          ทาน ไม่ใช่เป็นเหตุไปเกิดในพรหมโลก ศีล ไม่ใช่เป็นเหตุให้ไปเกิดในพรหมโลก แต่การเจริญฌาน การเจริญสมาธิสมาบัติเป็นเหตุให้ไปเกิดในพรหมโลก เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์ เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงที่กำลังบำเพ็ญอยู่นี้ ถ้าผู้ใดมีจิตใจสงบเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตายไปแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลกตามกำลังตามอำนาจของฌาน นี้เรียกว่าเหตุให้ไปเกิดในพรหมโลก บุคคลไปเกิดบนพรหมโลกก็มีแต่ความสุข เพราะมีอารมณ์แห่งฌานนั้นเป็นเครื่องอยู่เป็นที่อาศัย แต่ถ้าบุคคลใดอยากจะไปเกิด อยากจะถึงพระนิพพานไม่เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไปก็ต้องเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์ญาติโยมกำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ เรียกว่าเป็นเอกายนมรรค เป็นหนทางเส้นเดียวที่จะไต่เต้าเข้าไปสู่พระนิพพานอันเป็นแดนบรมสุข นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น

          เพราะฉะนั้นการที่พวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” มีสติทันปัจจุบันธรรม เห็นอาการยก อาการย่าง อาการเหยียบ รู้ว่าต้นยกเป็นอย่างไร กลางยกเป็นอย่างไร สุดยกเป็นอย่างไร ต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบเป็นอย่างไร เรามีสติกำหนดดูดีๆ มีสัมปชัญญะดูดีในลักษณะอย่างนี้ ถ้าเรากำหนดได้ก็จะเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา เรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณก็จะปรากฏขึ้นมา หรือว่าเราบริกรรม “พองหนอยุบหนอ” ถ้าเราเห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ ถ้าเรามีสติมีสัมปชัญญะเห็นจิตของเราปรากฏเกิดดับๆๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ ในลักษณะอย่างนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา เรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณมันเกิดขึ้นมา รู้จักอะไรเป็นรูป รู้จักอะไรเป็นนาม เท้าของเราที่ก้าวไปเป็นรูป ใจของเราที่รู้ว่าเท้ามันก้าวไปเป็นนาม ท้องของเราพองขึ้นเป็นรูป ใจที่รู้ว่าอาการท้องของเรามันพองขึ้นโดยอาการอย่างไรนั้นเป็นนาม นี้ลักษณะเห็นรูปเห็นนาม สิ่งที่เราเห็นนั้นแหละมันเป็นอนิจจัง มันเป็นทุกขัง มันเป็นอนัตตา เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ดับไป ในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นในลักษณะนามรูปปริจเฉทญาณมันเกิดขึ้นมา เป็นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถ้าคณะครูบาอาจารย์รู้อยู่อย่างนี้ ญาติโยมรู้อยู่อย่างนี้ ไม่มีความย่อท้อ มีความเพียร เดินจงกรม นั่งภาวนา อดตาหลับ ขับตานอน สู้ทนต่อไปก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัจจยปริคหญาณ รู้ปัจจัยของรูปของนาม รู้ว่ารูปนามมันเกิดขึ้นมาด้วยปัจจัยอย่างไร นี้รู้เห็นปัจจัยของรูปของนาม ท่านกล่าวว่าปัจจยปริคคหญาณเกิดขึ้นแล้ว

          แต่ถ้าบุคคลใดมีความเพียร มีความมุมานะ มีความบากบั่นมากไปกว่านั้น ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัมมสนญาณปรากฏขึ้นมา เมื่อสัมมสนญาณปรากฏขึ้นมาแล้วบุคคลนั้นก็ถือว่าเป็นบุคคลผู้มีอุปนิสัยแห่งการที่จะรู้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะเป็นปัญญาที่จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างหยาบปรากฏขึ้นมา นี้ท่านกล่าวไว้ว่ามีอานิสงส์มาก อย่างเช่นญาติโยมตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์มาประพฤติปฏิบัติธรรม เห็นรูปนาม รู้จักแยกรูปแยกนามว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม นามรูปปริจเฉทญาณปรากฏขึ้นมา ญาณที่ ๑ เกิดขึ้นมา ท่านกล่าวว่าตายไปแล้วไม่ไปสู่อบายภูมิ ๑ ชาติถ้าไม่ประมาท แต่ถ้าผู้ใดอดทนต่อไปจนปัจจยปริคคหญาณปรากฏขึ้นมา รู้ปัจจัยของรูปของนาม ว่ารูปมันเกิดขึ้นมาจากอะไร รูปเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว เวทนามันเกิดขึ้นมาจากอะไร เวทนามันเกิดขึ้นมาจากอวิชชา เกิดขึ้นมาจากผัสสะ เกิดขึ้นมาจากตัณหา แล้วก็ความเกิดขึ้นมาของเวทนาอย่างเดียว เรารู้ว่าสัญญา สังขาร วิญญาณมันเกิดขึ้นมาจากอะไร นี้เรารู้ว่าเราเกิดขึ้นมาจากอวิชชา จากตัณหา จากกรรม จากผัสสะ และความเกิดขึ้นของสัญญา ของสังขาร ของวิญญาณอย่างเดียว ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเรารู้ปัจจัยของการเกิดของรูปของนาม เวลารูปนามมันจะดับไป มันดับไปด้วยอำนาจของอะไร มันต้องดับไปด้วยอำนาจของอวิชชา อวิชชามันต้องดับไป เมื่ออวิชชาดับตัณหามันก็ดับ เมื่อตัณหาดับกรรมมันก็ดับ เมื่อกรรมดับ ผัสสะมันก็ดับ เมื่อผัสสะดับความเกิดขึ้นของรูปมันก็ดับไป ความเกิดขึ้นของเวทนาของสัญญาของสังขารของวิญญาณมันก็ดับไปด้วย นี้เรียกว่าเรารู้การเกิดขึ้นการดับไปของรูปของนามในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเราถึงญาณที่ ๒ แล้ว ตายไปแล้วเราก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ ๒ ชาติ ถ้าไม่ประมาท

          แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมอดทนต่อไปสู้ต่อไป อดทนกำหนดต่อไป เหนื่อยยากลำบากเราก็กำหนดต่อไป ยืนเดินนั่งนอนกินดื่มมีสติ มีสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลาในลักษณะอย่างนี้ก็จะทำให้เกิดสัมมสนญาณขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติจนถึงสัมมสนญาณคือ ญาณที่ ๓ นั้น เราจะสังเกตตอนที่เราภาวนา “พองหนอยุบหนอ” นี้แหละ อาการพองอาการยุบของเราจะเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วก็จางหายไป อันนี้เรียกว่าอนิจจังปรากฏชัดในญาณที่ ๓ แล้ว แต่ถ้าเราเป็นประเภททุกขัง เวลาเราภาวนา “พองหนอยุบหนอ” อาการพองอาการยุบมันจะแน่นเข้าๆๆๆ แล้วก็จางหายไป ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าทุกขังปรากฏชัดในญาณที่ ๓ ถ้าเราเป็นประเภทของอนัตตา เราภาวนาไปๆ อาการพองยุบของเรามันแผ่วเบาเข้าๆๆๆ แล้วก็จางหายไป อันนี้เรียกว่าญาณที่ ๓ ปรากฏชัดแล้ว ถ้าบุคคลใดมีสภาวะอย่างนี้ปรากฏชัดแล้ว ถ้าบุคคลนั้นตายแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมมันเป็นของดี เป็นของเลิศ เป็นของประเสริฐป้องกันอบายภูมิได้ในลักษณะอย่างนี้

          แต่ถ้าผู้ใดมีความเพียรเลิศ ความเพียรสูง ความเพียรประเสริฐยิ่งไปกว่านั้น อุทยัพพยญาณ คือปัญญาที่เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของรูปของนามนั้นปรากฏชัด ก็จะปรากฏขึ้น อุทยัพพยญาณปรากฏขึ้นนั้นจะมีสภาวะหลักอยู่ ๓ ประการ คืออาการพอง อาการยุบมันเร็วขึ้นๆๆ แล้วมันดับฟึบลงไปหนึ่งขณะจิต ขณะที่ดับลงไปนั้นมันเร็วมากเหมือนกับเรากระพริบตามันก็ยังเร็วกว่า เหมือนกับเราเอาไม้ขีดลงไปในน้ำ น้ำมันกลับเข้าหากันเร็ว ความรู้สึกมันดับลงไปหนึ่งขณะจิตมันเร็วกว่านั้นอีก ฟ้าแลบถึงว่ามันเร็วขึ้นกว่านั้น ขณะจิตมีความรู้สึกที่มันดับลงไปนั้นแหละความรู้สึกของเรานั้นมันเร็วกว่าความรู้สึกฟ้าแลบอีก นี้ในลักษณะของจิตที่มันดับลงไปหนึ่งขณะจิต ขณะที่มันบริกรรมพองหนอยุบหนอ มันเร็วขึ้นๆๆ มันดับลงไปหนึ่งขณะจิตรู้สึกตัวขึ้นมาเราก็บริกรรม “พองหนอยุบหนอ” ต่อไป บริกรรมมันเร็วขึ้นๆๆ แล้วมันดับลงไปอีกในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า อนิจจังปรากฏชัดในอุทยัพพยญาณ

          ถ้าผู้ใดมีบารมีทางทุกขัง เวลาเรามาภาวนา “พองหนอยุบหนอ” อาการพองยุบมันจะแน่นเข้าๆๆ มันเป็นเองโดยอัตโนมัติของมัน มันแน่นเข้าๆๆ แล้วก็ดับฟึบลงไปหนึ่งขณะจิตเหมือนกับที่กระผมกล่าว เหมือนอนิจจังแต่มันดับเร็วมาก แล้วก็รู้สึกตัวขึ้นมาบริกรรมต่อไปอีกมันก็เริ่มแน่นเข้าๆๆ อีก มันก็ดับลงอีก อันนี้เรียกว่าทุกขังปรากฏในญาณที่ ๔

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 พฤศจิกายน 2564 14:59:09 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 95.0.4638.69 Chrome 95.0.4638.69


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2564 14:58:34 »


การเกิดดับของรูปนาม (ต่อ)

          แต่ถ้าผู้ใดมีบารมีทางอนัตตา เวลาบริกรรมไป “พองหนอยุบหนอ” ไป อาการพองอาการยุบมันแผ่วเบาเข้าๆๆ เวลาเราบริกรรมชัดเจนอยู่ดีๆ นี้แหละ เวลาอนัตตามันปรากฏขึ้นมาท้องพองท้องยุบของเรามันก็เบาเข้าๆๆๆ มันจะเบาเข้าโดยอัตโนมัติของมัน เหมือนท้องพองท้องยุบเหมือนกับนุ่นที่มันปลิวลมในอากาศมันจะเบาเข้าๆๆ อาการพองยุบมันก็เล็กลงๆๆ ลมหายใจของเราก็ละเอียดลงๆๆ เบาลงๆ เหมือนเราจะเข้าสมาธิ เหมือนเราจะเข้าฌาน ลมหายใจมันเบาเข้าๆๆ ความรู้สึกมันก็ละเอียดลงๆๆ อาการพองยุบมันก็เล็กลงๆๆ มันดับฟึบลงไปหนึ่งขณะจิต นี้ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าอนัตตามันปรากฏชัดในญาณที่ ๔ ถ้าในลักษณะอย่างนี้ อุทยัพพยญาณมันปรากฏชัดขึ้นมาแล้ว ถ้าญาณในลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วตายไปแล้วเราไม่ไปสู่อบายภูมิ ๔ ชาติ ถ้าไม่ประมาท ถ้าเรามาเกิดเป็นมนุษย์เราก็จะมาเกิดเป็นผู้มีฤทธิ์มีเดช มีคนเกรงขาม มีคนเกรงอกเกรงใจ มีอำนาจอยู่ในตัว เวลาเรามาเกิดในมนุษย์ก็จะไปเกิดในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ไปเกิดในตระกูลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เราจะไม่ไปเกิดในท้องของพ่อของแม่ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใส เราจะไม่ไปเกิดในตระกูลนอกพระพุทธศาสนา เรามาเกิดแล้วเราจะเป็นมนุษย์ที่มีอวัยวะสมบูรณ์ และเราไม่ไปเกิดในตระกูลที่พิการหู พิการตา ไม่ไปเกิดเป็นคนใบ้ บ้า หนวก บอด เป็นคนผู้มีฤทธิ์ มีอำนาจ มีบารมี เกิดมาแล้วก็มีสติ มีปัญญาเฉียบแหลม เปรื่องปราดชาติกวี มีไหวพริบปฏิภาณดี อันนี้มันเป็นอานุภาพของอุทยัพพยญาณ แต่ถ้าเราไปเกิดเป็นเทวดาก็จะมีรัศมีสว่างไสวข่มเทวดาทั้งหลายทั้งปวง เทวดาทั้งหลายทั้งปวงเกิดความเกรงอกเกรงใจ เป็นเทวดาที่มีอำนาจ แล้วก็เป็นเทวดาที่มีสติ มีปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นที่พึ่งของเทวดาทั้งหลายทั้งปวง แต่ถ้าอยู่ในเทวดานั้นมีพระเถระผู้มีฤทธิ์อย่างพระโมคคัลลานะ อย่างพระมาลัยไปโปรดเทวดาอย่างนี้ ถ้าได้ฟังธรรมก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุธรรมในเทวดานั้น หรือว่าในขณะที่เราอยู่ในเทวดานั้น มีพระพุทธเจ้าหรือพระศรีอารย์ พระศรีอาริยเมตไตรยมาปรากฏ มาตรัสรู้ในมนุษย์โลก เรายังอยู่ในเทวโลกเราก็ได้ฟังธรรมของท่านเราก็อาจจะบรรลุธรรมในเทวโลก ในความเป็นเทวดานั้นก็ได้

          เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาด้วยอานุภาพของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน สัมโพธิปรายโน บุคคลนั้นจะได้บรรลุถึงพระนิพพานในอนาคตกาลข้างหน้าแน่นอน ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนาถึงวิปัสสนาญาณที่ ๔ นี้ ก็จะมีอานิสงส์ที่กล่าวมา ถ้าเป็นพระก็ถือว่าไม่ได้ต้องอาบัติปราชิก เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์แล้ว ถ้าผู้ใดยังวิปัสสนาญาณที่ ๔ ให้เกิดขึ้นมาก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีบารมีที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้แน่นอนถ้าไม่ประมาท พยากรณ์ตนเองได้เลยว่าเรามีบารมีที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ถ้าเราไม่ประมาท อันนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเรามีบารมีหรือไม่มีบารมีเราดูกันตรงนี้ เราค้นคว้าพิสูจน์กันตรงนี้ ไม่ต้องมีใครมาพยากรณ์ ตัวของเรานี้เองเป็นผู้พยากรณ์ตัวเราเอง ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายจงมีความเพียร อดทน ในการประพฤติปฏิบัติ

          แต่ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติสูงยิ่งๆ ขึ้นไปก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดภังคญาณ เห็นเฉพาะความดับไปของรูปของนาม เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมมาถึงญาณนี้เราจะง่วงนอน เหมือนกับเราไม่เคยนอนมาเป็นหลายๆ วันหลายๆ เดือน หลายๆ ปี นั่งไปมีแต่หลับไป นั่งไปสัปหงกไป นั่งไปโงกง่วงไปในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าภังคญาณมันปรากฏขึ้นมาแล้ว เรามองไปตามที่โล่งๆ ต่างๆ ก็จะเห็นเป็นหมอกสลัวๆ อารมณ์ของเรามันจะซึมๆ เป็นฝ้า เป็นมัวๆ ไม่โปร่งในลักษณะอย่างนี้ อารมณ์ในลักษณะอย่างนี้เป็นอารมณ์ของภังคญาณ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมถึงขั้นนี้เรียกว่าภังคญาณปรากฏขึ้นมาแล้ว

          แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมไปเห็นรูปเห็นนามเป็นของน่ากลัว เห็นร่างกายของเราเป็นของน่ากลัว เห็นร่างกายของเราเป็นของปฏิกูลเป็นของน่ากลัว คล้ายๆ กับว่าเรานั่งไปแล้วก็เห็นโครงกระดูก บางครั้งก็เราเดินจงกรมนั่งภาวนาอยู่ดีๆ เราหลับตา “ยืนหนอๆ” เห็นเพื่อนที่เดินจงกรมด้วยกันนั้นเป็นโครงกระดูกไปหมดในลักษณะอย่างนี้ก็มี บางครั้งบางคราวเพื่อนที่มาพูดหัวเราะคุยกันยิ้มแย้มแจ่มใสแต่เราเห็นหน้าเขาเป็นโครงกระดูก เป็นฟันกำลังหัวเราะกัน เป็นโครงกระดูกกำลังอ้าปากอยู่อะไรทำนองนี้ เป็นเหตุให้เรากลัวขึ้นมา บางครั้งบางคราวเวลาเราเดินจงกรมอยู่ก็คล้ายๆ กับว่ามีเสียง มีอมนุษย์มาพูดมาคุย ทำให้เราขนหัวลุก ขนพองสยองเกล้าแล้วเกิดความกลัวขึ้นมา บางครั้งก็ไม่กล้าเดินจงกรมอยู่คนเดียว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็ประมวลลงมาว่าเป็นภยตูปัฏฐานญาณ เป็นสิ่งที่ให้เราเกิดความกลัวขึ้นมา

          ถ้าเรามีความเพียรประพฤติปฏิบัติอดตาหลับขับตานอนมีสติ มีสัมปชัญญะกำหนดเห็นรูปเห็นนามมันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ต่อไปก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อาทีนวญาณคือเห็นทุกข์เห็นโทษของร่างกายมันปรากฏขึ้นมา บางรูปบางท่านภาวนา “พองหนอยุบหนอ” ไปดีๆ อาการพองอาการยุบมันแผ่วเบาเข้าๆ อาการพองยุบมันแน่นเข้าๆ มือมันแน่นเข้าๆ จิตมันคล้ายๆ จะดับฟับลงไป แล้วมันปรากฏนิมิตขึ้นมาเห็นร่างกายเป็นของปฏิกูลโสโครก หนังมันก็หลุดออก เนื้อมันก็หลุดออก เส้นเอ็นมันก็หลุดออกเหลือแต่กระดูกห้อยต่องแต่ง บางคนบางท่านนั่งภาวนาไป “พองหนอยุบหนอ” ไป ปรากฏเป็นแม่น้ำสายลำธารไหลมา แม่น้ำนั้นก็มีแต่ซากศพไหลมากองกันทำให้ขึ้นอืดมีหนอนชอนไชต่างๆ ก็น้อมเข้ามาสู่ตัวเอง ก็เห็นร่างกายนั้นมันเป็นทุกข์เป็นโทษ ก็เห็นว่าร่างกายทั้งหลายนั้นมันหลงมัวเมาหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ จะยืน จะเดิน สิ่งเหล่านี้มันปรากฏเป็นภาพติดตา ทำให้เห็นร่างกายนั้นเป็นทุกข์เป็นโทษ เห็นร่างกายนั้นเป็นรังของโรค เริ่มไม่มีความยินดีในร่างกายแล้ว

          ถ้าบุคคลเพียรต่อไปเรื่อยมันก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เกิดนิพพิทาญาณขึ้นมา หลังจากเห็นทุกข์เห็นโทษเต็มที่แล้วก็จะเบื่อหน่าย มองอะไรก็ไม่เห็นดี มองอะไรก็ไม่เห็นคุณของร่างกาย มีแต่โทษๆ ก็เกิดความเบื่อ เกิดนิพพิทาญาณขึ้นมา ก็เกิดความเบื่อร่างกาย สะอิดสะเอียนร่างกาย ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เบื่ออาหาร เบื่อเพื่อน เบื่อฝูง เบื่อหมู่มนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง ร่างกายของเราเป็นอย่างไร ร่างกายของเขาก็เหมือนกัน มันเป็นหนังหุ้มของปฏิกูลโสโครก เหมือนกับเราเอาถุงพลาสติกมาใส่ของปฏิกูลโสโครก ถุงพลาสติกข้างนอกก็ดูดีข้างในมันเป็นของปฏิกูลโสโครก เหมือนหีบศพมองข้างนอกก็วิจิตรพิสดารไปด้วยลายไทย ไปด้วยลายฉลุอะไรต่างๆ แต่ข้างในนั้นเป็นของปฏิกูลมีศพอยู่ในนั้น ร่างกายของเราก็เหมือนกัน นี้มันจะเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา เกิดความสะอิดสะเอียนในร่างกายขึ้นมาบางครั้งก็อาเจียน เบื่ออาหาร เบื่อครูบาอาจารย์ เบื่อการปฏิบัติ เบื่อการมาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็เบื่อการไปเกิดทั้งหลายทั้งปวง มุ่งตรงต่อพระนิพพานนี้ในลักษณะวิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้น จึงเกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้

          ถ้าผู้ใดเพียรต่อไปเรื่อยไม่ยอมท้อไม่ยอมถอย อดทนกัดฟันต่อสู้กำหนดมีสติมีสัมปชัญญะกำหนดต่อไปก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มุญจิตุกัมยตาญาณปรากฏขึ้นมา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเป็นผู้มีความใจน้อย ครูบาอาจารย์จะตินิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่ได้ น้อยใจบางครั้งครูบาอาจารย์เคยถาม ครูบาอาจารย์เดินผ่านไม่ถามวันเดียวเท่านั้นแหละน้อยใจ ครูบาอาจารย์เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยเรามาอยู่ด้วยก็ท่าใหญ่ เรามาทำบุญเรามาทำอะไรก็ไม่เห็นสนใจเรา เพียงท่านไม่ถามเพียงครั้งเดียวก็น้อยใจขอลากลับเลยก็มี คิดว่าครูบาอาจารย์ไม่เอาใจใส่ บางครั้งมาสอบอารมณ์ ครูบาอาจารย์มาสอบอารมณ์คนอื่นนาน แต่พอดีเขามาสอบอารมณ์ครูบาอาจารย์นิดหน่อยพอล่ะเท่านี้กลับได้ เพียงเท่านี้ก็น้อยใจแล้ว เรียกว่ามุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณม้วนเสื่อม้วนหมอนอยากกลับ คนที่เป็นพระก็อยากจะสึก คนที่เป็นโยมก็อยากจะบวช คนนอกอยากออกคนในอยากเข้าจิตใจกลับตาลปัตรอย่างนั้น แต่ถ้าเรากำหนด “คิดหนอๆ” ถ้าเรากำหนดตามสภาวะที่มันเกิดขึ้นในจิตในใจของเราไม่ให้เป็นไปตามอารมณ์ สิ่งเหล่านี้มันค่อยๆ แผ่วเบาเข้าๆ มันก็หายไป นี้เรียกว่ามุญจิตุกัมยตาญาณมันปรากฏขึ้นมา

          ถ้าเราฝืนจิตฝืนใจได้จิตใจของเรามันก็จะเข้มแข็งขึ้นมาเรียกว่า ปฏิสังขาญาณปรากฏขึ้นมา แต่ก่อนโน้นครูบาอาจารย์พูดนิดพูดหน่อยจิตใจมันอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง หนาวก็สู้ไม่ไหว ร้อนก็ทนไม่ได้ หิวนิดหิวหน่อยก็อยากกลับบ้านอะไรทำนองนี้ลำบากนิดลำบากหน่อยก็สู้ไม่ไหว ไม่คิดว่าพระพุทธเจ้าของเรานั้นเป็นกษัตริย์แท้ๆ แต่พระองค์ก็ต้องออกไปสู่ป่าแล้วก็อดทนประพฤติปฏิบัติสลบถึงสองครั้งสามครั้งกว่าที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน พระองค์ทรงอดทนกว่าเรานั้นหลายร้อยเท่าพระองค์จึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมทนหนาวทนร้อนแค่นี้ไม่ได้แล้วเราจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างไร นี้ถ้าปฏิสังขาญาณปรากฏขึ้นมาแล้วจิตใจมันจะเข้มแข็ง ความคิดที่จะทำให้จิตใจของเราเข้มแข็งไม่รู้ว่ามาจากไหน มันจะรวมขึ้นมาเลยตายก็ยอมตาย ถ้าเราไม่บรรลุมรรคผลนิพพานเราจะไม่เลิกจากการประพฤติปฏิบัติ เราจะอดนอนสามคืนสามวัน เราจะอดนอนเจ็ดวันเจ็ดคืน เราจะอดอาหาร เราจะอดนอนเป็นหลายๆ อาทิตย์ หนึ่งเดือนสองเดือนอะไรทำนองนี้ ภายในสามเดือนนี้เราจะไม่นอนกลางวัน ภายในสามเดือนนี้เราจะไม่พิงผนัง ภายในสามเดือนนี้ไม่จำเป็นเราจะไม่พูด ภายในสามเดือนนี้ไม่ถึงสี่ทุ่มเราจะไม่นอน ตื่นรู้สึกตัวขึ้นมาเวลาไหนเราจะตื่นเวลานั้นถ้าเราไม่ตื่นขอให้ตายทันทีอะไรทำนองนี้ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมถึงญาณที่ ๑๐ ปฏิสังขาญาณแล้วความเพียรทั้งหลายทั้งปวงมันก็ปรากฏขึ้นมา พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านกล่าวว่า ความเพียรปรากฏขึ้นมาแล้ว ท่านอธิษฐานว่า “แผ่นดินที่แข็งเหมือนกันกับเพชร ถ้าแผ่นดินที่แข็งเหมือนกันกับเพชรนี้ไม่ละลายเป็นแม่น้ำตราบใดจะไม่เลิกละความเพียร ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จะไม่เลิกละความเพียรเด็ดขาด” ปฏิสังขาญาณเมื่อมันเกิดขึ้นมานั้นสามารถอธิษฐานได้ สิ่งที่ไม่เคยอธิษฐานได้ก็สามารถอธิษฐานได้ อันนี้จิตใจของบุคคลธรรมดาย่อมไม่สามารถที่จะอธิษฐานอย่างนี้ได้

          เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงอธิษฐานว่า “ตราบใดที่พระองค์ไม่ได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงเลือดและเนื้อของพระองค์จะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกอยู่ก็ตาม พระองค์ก็จะไม่ละความเพียร” เรียกว่ายอมตายดีกว่าคลายความเพียร พระองค์ทรงตรัสถึงอย่างนั้น เมื่อปฏิสังขาญาณมันเกิดขึ้นมาแล้วก็สามารถที่จะอธิษฐาน มีจิตใจเข้มแข็ง มีจิตใจเด็ดเดี่ยว พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านกล่าวว่า “เดินจงกรมขาขาดก็ยังเอาคางเกาะไป” เหมือนพระกุมารกัสสปะ มีความละเอียดอ่อนมีร่างกายละเอียดอ่อนมาก ท่านกล่าวว่าพระกุมารกัสสปะนั้นแม้แต่ฝ่ามือของกุมารกัสสปะนั้นยังมีขนอ่อนๆ คล้ายกับว่าขนของเด็ก เท้าของกุมารกัสสปะนั้นมีขนอ่อนๆ คล้ายกับขนของทารกแรกเกิด เวลาท่านเดินจงกรมด้วยความเพียรอันแรงกล้า ทำให้เท้าของท่านแตก เลือดออกไหลอาบทางเดินจงกรมถึงขนาดนั้น เมื่อท่านเดินจงกรมไม่ได้ท่านก็คลานเอา เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าวิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมาแล้วก็มีความเพียร มีความเข้มแข็ง มีความอดทน มีความบากบั่นอย่างนั้น แต่ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติถึงปฏิสังขาญาณแล้วความเพียรของบุคคลนั้นก็เข้มแข็ง

          ถ้าผู้ใดไม่ยอมท้อ ไม่ยอมละ ไม่ยอมถอย สังขารุเปกขาญาณก็ปรากฏขึ้นมาแล้วก็จะทำให้บุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นแหละมีจิตใจปลอดโปร่ง มีจิตใจโล่ง มีความสบาย มีความสุขอันเกิดขึ้นมาจากความปล่อยวาง คือสังขารุเปกขาญาณ แต่ก่อนโน้นเพื่อนพูดอะไรเราก็มีความโกรธ มีความไม่พอใจ จิตใจของเราก็ไม่ปลอดโปร่งแต่เมื่อสังขารุเปกขาญาณเกิดขึ้นมาแล้ว จิตใจของเราจะปลอดโปร่งเราจะนึกเราจะคิดอะไรมันทะลุปรุโปร่งกันไปหมด แต่ก่อนโน้นเราเคยสงสัยพระธรรมวินัยเรื่องโน้นเรื่องนี้ เราทำตรงนี้มันเป็นอาบัติปาจิตตีย์หรือเปล่าหนอ เราคิดไม่ออก แต่เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณเราก็รู้ว่าอันนี้เป็นปาจิตตีย์ อันนี้ไม่เป็น เวลาต้องอาบัติสังฆาทิเสสก็ดีจะต้องหรือไม่ต้อง สังฆาทิเสสนั้นมันเป็นอะไร มันเป็นสจิตตกะ ถ้าเราไม่มีเจตนามันเป็นไหม มันไม่เป็น หรือว่ามันเป็นอาบัติเนื่องด้วยกายกับจิต เรามีกายของเราเวลาเรานอนเราฝันไปมันเป็นไหม มันไม่เป็น อะไรทำนองนี้มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้วก็ทะลุปรุโปร่งไปหมด ครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมเกิดนิมิต มันเกิดนิมิตอย่างโน้นอย่างนี้ พอมาถามเราเกิดสังขารุเปกขาญาณสามารถอธิบายความฝันอะไรต่างๆ หรือว่าอธิบายนิมิตต่างๆ นั้นสามารถที่จะปรุโปร่งได้ ญาติโยมฝันอย่างโน้นอย่างนี้พอมาถามคณะครูบาอาจารย์ผู้ได้สังขารุเปกขาญาณสามารถตีความฝัน สามารถตีนิมิตอะไรต่างๆ ได้ทะลุปรุโปร่งขึ้นมา เรียกว่าเข้าใจเหตุแห่งความเป็นจริงนี้ในลักษณะของสังขารุเปกขาญาณมันปรากฏขึ้นมา แต่งกลอนแต่งฉันท์แต่งอะไรก็ได้เหมือนกับอำนาจของปัสสัทธินั้นแหละ มันปรากฏขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ บุคคลนั้นก็จะมีความภาคภูมิใจมีความสบายใจมีความปลอดโปร่ง จิตใจของบุคคลนั้นก็จะละความลังเลสงสัย จิตใจของคนนั้นก็จะเป็นกลาง

          เมื่อจิตใจเป็นกลางมีสติมีสัมปชัญญะสมบูรณ์เต็มที่แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อนุโลมญาณคือญาณที่ ๑๒ มันเกิดขึ้นมา ลักษณะของอนุโลมญาณมันเกิดขึ้นมาก็คือ อาการพองยุบมันเกิดเร็วขึ้นๆๆๆ นี้เป็นลักษณะของอนุโลมญาณ อาการพองยุบมันแน่นเข้าๆๆๆ เป็นอาการของทุกขังที่เกิดขึ้นในญาณที่ ๑๒ เรียกว่าอนุโลมญาณ แล้วก็อาการของอนุโลมญาณที่เป็นอนัตตาในญาณที่ ๑๒ นั้นมันก็จะแผ่วเบาเข้าๆๆๆ แต่อาการของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่เกิดในญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณนั้นจะปรากฏชัด ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์ ชัดเจนแจ่มแจ้งรอความพร้อมของอินทรีย์ ๕ ถ้าอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธากับปัญญาเท่ากันเมื่อไร ความเพียรกับสมาธิเท่ากันเมื่อไรสมบูรณ์เมื่อไรมันก็จะดับพรึบลงไป ขณะที่เราอยู่ในอนุโลมญาณนั้นแหละท่านกล่าวว่าเป็นกาหาฝั่ง ถ้าอินทรีย์ไม่สมบูรณ์มันก็จะไม่ดับ เหมือนกับชาวทะเลเวลาจะออกทะเลก็เอากาใส่กรงไปด้วย เวลาถูกคลื่นมหาสมุทร ถูกคลื่นลม ถูกคลื่นพายุพัดมา ขณะที่ถูกคลื่นพายุพัดมา เมฆหมอกพัดมา เราจะไม่สามารถที่จะมองเห็นเกาะ ไม่สามารถที่จะมองเห็นฝั่งก็ต้องอาศัยกานั้นแหละ ก็เอากามาหน้าเรือแล้วก็ปล่อยกาเมื่อปล่อยกาแล้วมันก็บินขึ้นไปสูงๆ บินขึ้นไปแล้วก็หันหน้าหันหลังหันซ้ายหันขวาว่าฝั่งมันอยู่ตรงไหน ถ้ายังไม่เห็นฝั่งก็บินมาจับที่เสากระโดงเรือ แต่ถ้ามันเห็นฝั่งมันก็บินไปนายกะลาสีนายเรือก็ต้องหันหางเสือนั้นไปตามทางของกาก็จะถึงฝั่งถึงเกาะได้ อันนี้ก็เหมือนกันเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมเมื่อจิตใจของเรายังไม่สมบูรณ์ อินทรีย์ ๕ ของเรายังไม่สมบูรณ์ สติของเรายังไม่สมบูรณ์มันก็ยังไม่ดับ ญาณที่ ๑๒ นั้นเรียกว่ากาหาฝั่ง พองยุบมันจะเร็วขึ้นๆ เรียกว่าเป็นอนิจจัง อาการพองยุบมันแน่นเข้าๆ เรียกว่าเป็นทุกขัง อาการพองยุบมันแผ่วเบาเข้าๆ มันก็เป็นอนัตตา ถ้าผู้ใดทำบุญทำทานมามากให้ทานมามากอนิจจังมันจะปรากฏชัด เวลาเราภาวนา “พองหนอยุบหนอ” อาการพองยุบมันจะเร็วขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เป็นเพราะอะไร เพราะเราทำทานมามากกว่าการเจริญสมถะ กว่าการเจริญวิปัสสนา แต่ถ้าผู้ใดเจริญสมถะมามากเวลามาภาวนาอาการพองยุบมันจะแน่นเข้าๆๆ เรียกว่าเจริญสมถะมามากกว่าการการเจริญวิปัสสนา แต่ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมามากเวลามาภาวนานั้นอาการอนัตตาก็จะปรากฏชัด ก็จะแผ่วเบาเข้าๆๆ นี้ในลักษณะของบุคคลผู้เคยเจริญวิปัสสนามาแต่ภพก่อนชาติก่อนมันจะเป็นอย่างนั้น

          แต่เมื่ออาการทั้ง ๓ นั้นสมบูรณ์ สติสมบูรณ์แล้วมันก็จะดับฟึบลงไป ขณะที่มันดับลงไปนั้นแหละ โคตรภูญาณมันปรากฏขึ้นมา โอนโคตรจากปุถุชนนั้นเข้าสู่อริยโคตร เรียกว่าโอนโคตรของคนธรรมดาเป็นอริยบุคคลแล้ว อาการที่มันดับไปในขณะจิตแรกนั้นแหละเรียกว่าโคตรภูญาณ มันปรากฏขึ้นมาแล้ว ในขณะที่มันดับลงไปในขณะจิตแรกนั้นแหละท่านกล่าวว่าเหมือนกับเราเดินเข้าประตูขาหน้าอยู่ข้างในขานอกอยู่ข้างนอก หรือว่าเราเดินขาหนึ่งอยู่ในห้องอีกขาหนึ่งอยู่นอกห้อง นี้มันอยู่ในระหว่างโอนโคตรปุถุชนไปสู่อริยโคตร หรือท่านกล่าวอุปมาอุปไมยว่าในขณะที่เราต้องการกระโดดข้ามหน้าผามันเป็นหน้าผากว้าง หรือว่าเราจะกระโดดข้ามคูน้ำ คูน้ำนั้นมันกว้างประมาณ ๑ วา ๒ วา เวลาเราจะกระโดดข้ามนั้น ขณะที่เราวิ่งไปแล้วจะกระโดด ขณะที่ตัวของเรามันลอยไปถึงกลางคูน้ำนั้นแหละเรียกว่าโคตรภูญาณมันปรากฏขึ้นมาแล้ว จะว่าฝั่งโน้นก็ไม่ใช่จะว่าฝั่งนี้ก็ไม่ใช่มันอยู่ในระหว่างกลางๆ เรียกว่าโคตรภูญาณกำลังโอนโคตรปุถุชน ขณะที่มันดับฟึบลงไปในขณะแรกนั้นแหละเป็นโคตรภูญาณ ขณะที่มันดับลงไปแล้วทรงอยู่ ๑ ขณะจิต รู้สึกตัวขึ้นมาเป็นมรรคญาณกิเลสตายอยู่ตรงนี้ ถ้ามันดับลงไปครั้งแรกมันก็เป็นพระโสดาบัน เราก็สามารถละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ แต่ถ้ามันดับลงไป ๒ ครั้งเราก็ทำลายราคะ โทสะ ให้น้อยลงให้เบาลง เรียกว่า สกทาคามีปรากฏขึ้นมาแล้ว ถ้ามันดับลงไปในรอบที่ ๓ ก็เป็นพระอนาคามี ราคะ โทสะนั้นหมดไป แต่ถ้ามันดับลงไปในรอบที่ ๔ ก็เรียกว่ากิเลสชั้นสูง รูปราคะ อรูปราคะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา มันก็หมดไป เรียกว่าสังโยชน์ทั้ง ๔ มันก็หมดไปก็เป็นพระอรหันต์ อันนี้ท่านกล่าวการดับมันดับถึง ๔ ครั้ง คือถ้ามันดับลงไปก็เป็นอำนาจของมรรคญาณ คือขณะที่ดับลงไปครั้งแรกนั้นแหละ ขณะจิตแรกนั้นเป็นโคตรภูญาณทรงอยู่ ๑ ขณะจิตก็เป็นมรรคญาณหลังจากนั้นก็เป็น ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้างเป็นผลญาณ คือถ้าผู้ใดทรงอยู่ ๒ ขณะจิตแล้วรู้สึกตัวขึ้นมาบุคคลนั้นก็เป็นมันทบุคคลหรือว่าเป็นบุคคลผู้มีปัญญาน้อย บุคคลประเภทนี้ก็จะเข้าสู่ผลสมาบัติไม่ได้ แต่ถ้าบุคคลใดทรงอยู่ ๓ ขณะจิตส่วนมากจะเข้าผลสมาบัติ ๒ นาทีบ้าง ๓ นาทีบ้าง ๑ นาทีบ้าง หรือว่า ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมงก็แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในผลสมาบัติได้นานขนาดไหน ถ้าบุคคลใดเป็นประเภทมันทบุคคลนั้น บุคคลนั้นบางครั้งก็รู้สึกตัวขึ้นมาก็อาจจะสงสัยเมื่อสักครู่เราเป็นอะไรไป ก็อาจจะเกิดความสงสัยในการประพฤติปฏิบัติธรรมของตนว่าเมื่อสักครู่เราเป็นอะไรไป เราประพฤติปฏิบัติธรรมไปเราได้บรรลุมรรคผลนิพพานหรือยังหนอ บางครั้งก็อาจเกิดความสงสัยอยู่บ้างในเมื่อเรายังประพฤติปฏิบัติธรรมในขั้นของปฐมมรรค แต่ถ้าผู้ใดเป็นติกขบุคคลเข้าสู่ผลสมาบัติ ผลสมาบัตินั้นมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ รูป เวทนา สังขาร วิญญาณไม่มีในพระนิพพาน ไม่มีในผลสมาบัติ สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ปรากฏในผลสมาบัติ เพราะฉะนั้นผลสมาบัตินั้นจึงเป็นจิตที่บริสุทธิ์ ปราศจากรูป เสียง กลิ่น รส ปราศจากรูป เวทนา สัญญา สังขารมันมีแต่ความว่าง เพราะฉะนั้นจิตที่เข้าผลสมาบัตินั้นจึงมีความสุข มีปีติ เวลาออกจากผลสมาบัติมาแล้วจิตใจจึงต่างจากเดิมเป็นอย่างมาก ความสงสัยในเรื่องการบรรลุมรรคผลนิพพานในบุคคลนั้นจึงไม่มี บุคคลอื่นจะว่าอย่างไร คนหมดโลกจะว่าอย่างไร แต่ความเข้าใจในเรื่องพระนิพพานปรากฏแก่บุคคลนั้นแล้ว

          เพราะฉะนั้นถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างนี้ ท่านกล่าวว่าบุคคลนั้นได้ธรรมาภิสมัยได้ดวงตาเห็นธรรมได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าผ่านไป ๒ ครั้งก็เป็นพระสกทาคามี ผ่านไป ๓ ครั้งก็เป็นพระอนาคามี ผ่านไป ๔ ครั้งก็เป็นพระอรหันต์ อันนี้เป็นผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมที่คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมที่อดตาหลับขับตานอนมาประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นพระโสดาบันก็เกิดอีกอย่างมาก ๗ ชาติก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน อันนี้เป็นพระโสดาบันประเภทที่เบาที่สุด ประเภทสัตตักขัตตุปรมะ ต้องเกิดอีก ๗ ชาติเป็นอย่างมาก แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันที่มีบารมีมากเกินกว่านั้นหน่อยก็เป็น โกลังโกละเกิดอีก ๒-๖ ชาติ นี้ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาติสุดท้าย ถ้าไม่บรรลุในชาติที่ ๒ ก็บรรลุในชาติที่ ๓ ถ้าไม่บรรลุในชาติที่ ๓ ก็บรรลุในชาติที่ ๔ ถ้าไม่บรรลุในชาติที่ ๔ ก็บรรลุในชาติที่ ๕ ถ้าไม่บรรลุในชาติที่ ๕ ก็บรรลุในชาติที่ ๖ อย่างช้าที่สุดไม่เกิน ๖ ชาติ ก็จะได้บรรลุสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันประเภทที่พิเศษมีบารมีมากก็เป็น เอกพิชีเกิดอีกชาติเดียว บางครั้งตายจากชาตินี้ก็มาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์เลย หรือตายจากชาตินี้ไปเกิดเป็นเทวดาก็บรรลุธรรมในเทวโลก อันนี้เรียกว่าเป็นประเภท เอกพิชี แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี สกะแปลว่าครั้งเดียว แปลว่าผู้ที่จะกลับมาสู่ภพนั้นอีกชาติเดียว ตายจากชาตินี้แล้วบางครั้งไปเกิดในเทวโลกก็บรรลุในเทวโลก หรือตายจากชาตินี้มาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในภพต่อมา เรียกว่าสกทาคามีเป็นผู้จะกลับมาสู่เรือนอีกครั้งเดียว

          ส่วนบุคคลผู้ใดที่ทำญาณ ๑๖ นั้นเกิดครบ ๓ รอบก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นไปเกิดในภูมิของพระอนาคามีในสุทธาวาสพรหม ไปเกิดในชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐพรหม มีอายุเป็นหลายพันมหากัป แต่ว่าบุคคลนั้นก็จะได้บรรลุตามบุญวาสนาบารมี ถ้าผู้ใดบรรลุเป็นพระอนาคามีด้วยศรัทธาก็จะไปเกิดในชั้นอวิหา แต่ถ้าผู้ใดบรรลุพระอนาคามีด้วยความเพียรก็จะไปเกิดในชั้นอตัปปา ถ้าผู้ใดบรรลุพระอนาคามีด้วยอำนาจของสติก็จะไปเกิดในชั้นสุทัสสา ถ้าผู้ใดบรรลุพระอนาคามีด้วยอำนาจของสมาธิก็ไปเกิดในชั้นสุทัสสี ถ้าผู้ใดบรรลุพระอนาคามีด้วยอำนาจของปัญญาก็จะไปเกิดในชั้นอกนิฏฐพรหมแล้วก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ในชั้นนั้นๆ หรือไม่บรรลุในชั้นนั้นๆ ก็จะไปบรรลุในชั้นอกนิฏฐพรหมมีอายุหลายหมื่นมหากัปแล้วก็จะสิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิดในอกนิฏฐพรหมนั้น อันนี้เรียกว่าเป็นคติของพระอนาคามี

          ส่วนพระอรหันต์นั้น ตายแล้วก็ไม่ได้ไปเกิดในที่ไหนก็นิพพาน นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ นิพพานสูญสิ้นอย่างยิ่ง เรียกว่าเบาอย่างยิ่ง ดับกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง พระนิพพานนั้นไม่เหมือนกับโลกนี้โลกหน้า ไม่เหมือนกับทะเลหลวงชลาลัยไม่เหมือนกับดิน ไม่เหมือนกับน้ำ ไม่เหมือนกับไฟ ไม่เหมือนกับลม พระนิพพานนั้นไม่มีการจุติ ไม่มีการเคลื่อน ไม่มีรูป ไม่มีนิมิต นิพพานนั้นเป็นอสังขตธรรม เป็นอชรา ไม่เข้าสู่ความแก่ เป็นอชาตํ ไม่เข้าสู่ความเกิดอีก เป็นอมรณํ ไม่ตายอีก เป็นการไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายอีก เรียกว่าพระนิพพาน เพราะฉะนั้นอันนี้ท่านกล่าวถึงภูมิของบุคคลผู้ถึงซึ่งพระนิพพาน

          วันนี้กระผมอาตมภาพได้กล่าวธรรมก็ถือว่าไม่มากหรือว่ายาวเกินไปก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาในท้ายที่สุดนี้ก็ขอน้อมเอาบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาจากการแสดงธรรม ที่เกิดขึ้นมาจากการพูดธรรมะในวันนี้ ก็ขอน้อมเอาบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนั้นจงถึงแก่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชปริยัตยากรซึ่งถึงแก่มรณกรรมไป และก็ขอบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ จงถึงแก่ภูมิเจ้าที่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง สัมภเวสีทั้งหลายทั้งปวงที่สถิตอยู่ที่วัดวาอารามแห่งนี้จงได้มาอนุโมทนาสาธุการ เมื่ออนุโมทนาสาธุการแล้วขอผลบุญทั้งกลายทั้งปวงจงสำเร็จแก่เทวดา แก่สัมภเวสี แก่ภูมิ แก่เจ้าที่เจ้าทางทั้งหลายทั้งปวงเหมือนกับตนทำเองจงทุกๆ ประการ ขอให้บุญทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจงถึงแก่คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทุกท่านทุกคน ขอคณะครูบาอาจารย์ทุกท่านทุกคนจงเป็นผู้เจริญด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ขอให้โชคลาภร่ำรวยมั่งมีศรีสุข ขอให้เงินไหลนอง ขอให้ทองไหลมา ขอให้การค้าการขาย การทำธุรกิจทุกอย่างจงเจริญก้าวหน้า ขอให้ท่านทั้งหลายจงเจริญด้วยฌานสมาบัติ เจริญด้วยวิปัสสนาญาณ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันไม่ช้าไม่นานนี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1064 กระทู้ล่าสุด 22 สิงหาคม 2564 13:35:37
โดย Maintenence
อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 757 กระทู้ล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2564 16:22:04
โดย Maintenence
ธรรมอันเป็นยาอายุวัฒนะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลฯ
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 662 กระทู้ล่าสุด 07 กรกฎาคม 2565 13:17:00
โดย Maintenence
ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ - พระภาวนาสุตาภิรัต(ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลฯ
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 544 กระทู้ล่าสุด 26 สิงหาคม 2565 16:00:21
โดย Maintenence
การเกิดดับของรูปนาม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 166 กระทู้ล่าสุด 22 มิถุนายน 2566 10:11:55
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.913 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 16 กันยายน 2566 15:13:45