[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 05:05:59 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว “สังฆราช 18 ประโยค”  (อ่าน 874 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2303


ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 03 ธันวาคม 2564 15:39:00 »


สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว
“สังฆราช 18 ประโยค”
สามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรกในรัตนโกสินทร์

ผู้เขียน : นนทพร อยู่มั่งมี
เผยแพร่ : ศิลปวัฒนธรรม - วันพฤหัสที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2564

ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนับเป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร พระภิกษุที่จะดำรงในตำแหน่งนี้ต้องมีความเหมาะสมทั้งความรู้ทางธรรมอย่างแตกฉาน ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติมีที่งดงาม จนเป็นที่ยอมรับจากองค์พระมหากษัตริย์ให้ดูแลพุทธศาสนจักรต่างพระเนตรพระกรรณ ซึ่งหนึ่งในจำนวนสมเด็จพระสังฆราชจำนวนทั้งสิ้น 20 พระองค์ มี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปแรก

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) แม้จะทรงมีพระชาติกำเนิดมาจากสามัญชนแต่ด้วยความรู้ความสามารถทำให้ทรงเป็นที่ยอมรับจากพระมหากษัตริย์ถึง 2 รัชกาล ด้วยการเป็นศิษย์หลวงในรัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5 ความสำคัญเช่นนี้ทำให้พระประวัติของพระองค์น่าสนใจและสมควรเผยแพร่

[ในการลงเผยแพร่ครั้งนี้แอดมินได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ตอน และได้ตัดเอกสารเชิงอรรถอ้างอิงออกเพื่อความกระชับในการเผยแพร่

ตอนที่ 1 สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “สังฆราช 18 ประโยค”

ตอนที่ 2 สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5”

พระชาติกำเนิด สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม มีชาติกำเนิดตามที่ พระเทพกวี หรือ พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปที่สาม หนึ่งในศิษย์ผู้ใกล้ชิดของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) ได้รวบรวมไว้เมื่อปี พ.ศ.2458 ระบุว่า สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเดิมชื่อ สา ประสูติ ณ วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 9 ปีระกา เบญจศก จุลศักราช 1175 (ตรงกับ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2356) เวลาเพลประมาณ 5 โมงครึ่ง

บิดาของท่านชื่อ จัน บ้านเดิมอยู่ที่ตำบลบางเชิงกราน แขวงเมืองราชบุรี เมื่อครั้งเป็นภิกษุมีความเชี่ยวชาญในการเทศน์มิลินท์และมาไลย จนมีฉายาที่เรียกขานกันหลังจากครั้นลาสิกขาแล้วว่า จันมิลินท์มาไลย

มารดาชื่อ ศุข ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากบุตรีเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ สมุหกลาโหมปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่อพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานบริเวณบางไผ่ แขวงเมืองนนทบุรี ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งท่านศุขได้มีถิ่นพำนักบริเวณตำบลคลองบางไผ่ใหญ่ ก่อนที่ท่านจันจะวิวาหมงคลอยู่กับท่านศุข ณ ตำบลเดียวกันนี้ พร้อมกับมีบุตรชายหญิงรวมกัน 5 คน คือ

•หญิงชื่อ บวบ
•ชายชื่อ ช้าง เป็นพระสุภรัตกาสายานุรักษ์
•ชายชื่อ สา คือสมเด็จพระสังฆราช
•ชายชื่อ สัง อุปสมบทอยู่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่พระสุนทรมุนี ภายหลังลาสิกขา
•หญิงชื่อ อิ่ม

นอกจากนี้ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ยังมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับ เทียนวรรณ นักคิดผู้เรียกร้องการปฏิรูปบ้านเมืองคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากท่านศุขมีพี่น้องอีก 2 คนคือ แจ่มและจันทร์ ซึ่งย้ายไปตั้งถิ่นฐานบริเวณคลองบางขุนเทียน แขวงเมืองนนทบุรี โดยเทียนวรรณเป็นหลานของยายแจ่ม ส่วนสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) นั้นมีฐานะเป็นลุงของเทียนวรรณ และเคยอบรมสั่งสอนเทียนวรรณซึ่งบวชเป็นสามเณร ขณะจำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระสาสนโสภณ  ซึ่งเทียนวรรณได้บันทึกถึงช่วงเวลาดังกล่าวอันสะท้อนความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยของพระสาสนโสภณ ที่อบรมเทียนวรรณเป็นอย่างดี ดังนี้

พยายามเรียนวินัยเข้าใจจริง   
แล้วเรียนธรรมกรรมฐานแลญาณเก้า
ไม่นิ่งเปล่าเรื่องวิชาหาทุกสิ่ง     
จนออกชื่อลือชาว่ากล้าจริง
ไม่มีสิ่งมัวหมองครองวินัย


สามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรก  สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ได้ศึกษาเบื้องต้นกับบิดาของท่านซึ่งมีความถนัดในทางศาสนามาแต่เดิม ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่วัยเยาว์ โดยได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดใหม่ ในคลองบางขุนเทียนบ้านหม้อบางตนาวสี แขวงเมืองนนทบุรี(ปัจจุบันคือ วัดนครอินทร์ จังหวัดนนทบุรี) ภายหลังย้ายมาอยู่วัดสังเวชวิศยาราม เพื่อเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักนายอ่อนอาจารย์เนื่องมาจากสาเหตุตามที่พระเทพกวี หนึ่งในศิษย์บันทึกว่า “บิดาของท่านพอแปลได้บ้างเล็กน้อย จะเรียนต่อไปบิดาของท่านบอกได้แต่ไม่ชำนาญจึงมาเรียนในสำนักนายอ่อนอาจารย์”

ครั้นปี พ.ศ.2369 พระชนมายุได้ 14 พรรษา เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงเล่าถึงการสอบดังกล่าวให้กับพระเทพกวี ความว่า “เมื่อเป็นสามเณรอายุได้ 14 เข้าแปลประปริยัติธรรมได้ 2 ประโยค ตกประโยค 3 ต้องเป็นเปรียญวังหน้า ครั้งในรัชกาลที่ 3”

“เปรียญวังหน้า” ตามที่สมเด็จพระสังฆราชทรงกล่าวถึงนั้น เป็นด้วยเหตุที่ว่า ประเพณีการแปลพระปริยัติธรรมสมัยนั้น ผู้เข้าแปลทีแรกต้องแปลพระธรรมบทให้ได้ครบ 3 ประโยคในคราวเดียวจึงนับว่าเป็นเปรียญ ถ้าไม่ได้ครบทั้ง 3 ประโยค เข้ามาแปลคราวหน้าก็ต้องแปลประโยค 1 ไปใหม่ ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ มีพระประสงค์อุปการะแก่พระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนมิให้ท้อถอยจากความเพียรไปเสีย ถ้ารูปใดแปลได้ 2 ประโยค ก็ทรงรับอุปการะไปจนกว่าจะเข้าแปลใหม่ได้เป็นเปรียญ พระภิกษุสามเณรที่ได้รับพระราชทานอุปการะเหล่านั้น จึงพากันเรียกว่า เปรียญวังหน้า

ต่อมา สมเด็จพระสังฆราชแต่ครั้งยังเป็นสามเณรได้ไปถวายตัวและเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จประทับผนวชอยู่ ณ วัดสมอราย หรือ วัดราชาธิวาส เมื่อถึงคราวสอบไล่พระปริยัติธรรม ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุ มีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นประธานในการสอบ ครั้งนั้นสามเณรสา สามารถแปลได้ 9 ประโยค เป็นสามเณรเปรียญเอกในรัชกาลที่ 3 เมื่ออายุได้ 18 ปี นับเป็นสามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

อุปสมบทครั้งแรก  สามเณรสาอุปสมบทครั้งแรกเมื่ออายุ 21 ปี ณ วัดราชาธิวาส มีฉายาครั้งแรกว่า ปุสฺโส โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์คือใคร แต่สันนิษฐานว่าขณะนั้นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิยมพระอุปัชฌาย์รามัญ ซึ่งมีพระสุเมธาจารย์ (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยรูปหนึ่ง และเวลาเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์อยู่ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า พระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จพระสังฆราช คือ พระสุเมธาจารย์ (เกิด) และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้นถึงปี พ.ศ.2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชอยู่ ให้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร ขณะที่สมเด็จพระสังฆราชอุปสมบทได้ 4 พรรษา ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชขณะอุปสมบทได้ 6 พรรษา เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี อยู่วัดบวรนิเวศวิหาร

หลังจากนั้น พระอมรโมลี (สา) อยู่ในสมณเพศมาระยะเวลาหนึ่งก่อนจะลาสิกขาด้วยสาเหตุที่เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จัดงานฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงโปรดให้อาราธนาพระภิกษุที่มีความสามารถมาถวายพระธรรมเทศนา พร้อมกับตั้งพระทัยถวายเครื่องไทยธรรมและเงินติดกัณฑ์เทศน์เป็นจำนวนมากถึง 10 ชั่ง ครั้งแรกทรงอาราธนาพระเทพโมลี (ผึ้ง) วัดราชบุรณะ ผู้มีความสามารถในการเทศนาและแต่งหนังสือไทยอย่างแตกฉานในสมัยนั้น แต่พระเทพโมลี (ผึ้ง) ไม่ปรารถนาปัจจัยจำนวนมากมายเช่นนั้นจึงลาสิกขาไปก่อน ทำให้ทรงต้องอาราธนาพระอมรโมลี (สา) ซึ่งมีความสามารถทัดเทียมกัน แต่ก็เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกัน

ศิษย์หลวงในรัชกาลที่ 4  เมื่อพระอมรโมลี (สา) ลาสิกขาไปใช้ชีวิตในเพศฆราวาสนั้น เป็นช่วงที่เรื่องราวของท่านมิได้ถูกกล่าวถึงอย่างเป็นทางการ มีเพียงเรื่องเล่าในหมู่ศิษยานุศิษย์ใกล้ชิด หรือพระภิกษุสงฆ์ในวัดราชประดิษฐฯ บางรูปเท่านั้น ดังที่ ทองอินทร์ แสนรู้ ซึ่งศึกษาวิชาโหราศาสตร์กับเจ้าคุณพระเทพเมธากร หรือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปที่สี่ และได้ทราบเรื่องช่วงชีวิตฆราวาสของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) จากคำบอกเล่าของท่านเจ้าคุณอดีตเจ้าอาวาสว่า

“ข้าพเจ้ายกครูเรียนโหรจากท่านเจ้าคุณพระเทพเมธากร (ทิม อุฑาฒิโม) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯองค์ปัจจุบัน ศิษย์เอกผู้สืบต่อตำราของท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (อุปวิกาโส แย้ม) ท่านได้พร่ำสอนข้าพเจ้าเสมอว่า วัดราชประดิษฐ์นี้มีอาถรรพ์ สึกออกไปแล้วไม่เสือผู้หญิงก็นักเลงชั้นยอด ท่านไม่เคยให้เหตุผล แต่ท่านชอบเล่าอดีตเหมือนผู้ใหญ่ทั้งหลาย เคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงความเป็นนักเลงของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสสะเทวะ) ว่า เคยสำเร็จเป็นเปรียญ 9 ประโยค แล้วสึกออกไปเป็นนักเลงแถวหน้าโรงหวย จนในหลวงรัชกาลที่ 4 จับบวช และแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชในกาลต่อมา”

และยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ในเพศฆราวาสนั้น มหาสาได้ออกไปครองเรือนมีครอบครัว ท่านมีภรรยา 2 คน จึงเป็นที่มาของสองนามสกุล คือ “ปุสสเทโว” และ “ปุสสเด็จ” ซึ่งทั้งสองนามสกุลนี้ยังมีผู้สืบสกุลในท้องที่จังหวัดนนทบุรีที่ล้วนเป็นเครือญาติกัน ถ้าเป็นดังข้อมูลนี้ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) จะเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดียวที่ทรงครองเรือนมีครอบครัว ซึ่งนับเป็นความพิเศษอีกประการหนึ่งในพระประวัติ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) กลับมาอุปสมบทใหม่ในปี พ.ศ.2394 ซึ่งตรงกับปีแรกในรัชกาล เมื่ออายุ 39 ปี มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งดำรงพระอิศริยยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ซึ่งต่อมาลาสิกขาได้รับราชการดำรงตำแหน่งพระยาศรีสุนทรโวหาร การอุปสมบทครั้งที่ 2 นี้ได้รับฉายาว่า ปุสฺสเทโว

ส่วนฉายา ปุสฺสเทว อันเป็นอีกนามหนึ่งนั้น สันนิษฐานว่ามีการเรียกกันตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เห็นได้จากสร้อยพระนามคือ “ปุสสเทวาภิธานสังฆวิสุต” เมื่อครั้งทรงสถาปนาให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณในปี พ.ศ.2434 ฉายา ปุสฺสเทว มีความหมายว่า เทวดาผิวขาว อันอาจบ่งชี้ถึงความฉลาดปราดเปรื่องประดุจเทวดาและมีผิวพรรณสัณฐานที่ขาวผุดผ่องเป็นราศีของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้

การอุปสมบทครั้งที่ 2 มีเรื่องเล่ากันว่าภายหลังจากพระอมรโมลี (สา) ลาสิกขาอยู่ในเพศฆราวาสเป็น มหาสา นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงกริ้วมากเพราะพระอมรโมลีมิได้กราบบังคมทูลลาตามธรรมเนียมของพระราชาคณะที่ต้องปฏิบัติ พระองค์ทรงให้กรมการติดตามจับตัวมหาสาซึ่งพำนักที่บ้านมารดาที่บางไผ่ใหญ่ แขวงเมืองนนทบุรี แต่มหาสาก็หลบหนีไปอยู่บ้านญาติฝ่ายบิดาที่บ้านกร่าง แขวงเมืองราชบุรี และถูกจับกุม ณ ที่แห่งนั้น แล้วนำมาเข้าเฝ้า ด้วยเหตุที่มหาสาเมื่อครั้งอยู่ในสมณเพศเป็นที่โปรดปรานมาก จึงทรงเสียพระทัยต่อการกระทำโดยพลการของมหาสาคราวนี้ ดังนั้นจึงทรงลงโทษ ก่อนจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อุปสมบทใหม่เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงถึงความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) ในฐานะอาจารย์ที่อบรมสั่งสอนศิษย์ให้ประพฤติดี

การอุปสมบทคราวนี้พระเกียรติคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ปรากฏโดดเด่นไม่น้อยกว่าการอุปสมบทคราวก่อนโดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งรู้จักกันในนามของ “พระมหาสา 18 ประโยค” เนื่องจากการอุปสมบทครั้งที่ 2 นั้น ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม (คือสอบใหม่) ด้วยเพราะครั้งนั้นผู้ที่เป็นเปรียญเมื่อลาสิกขาแล้วถือว่าหมดสิทธิในการเป็นเปรียญ เพราะเปรียญเป็นตำแหน่งที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้ง และทรงสอบได้เป็นเปรียญเอก 9 ประโยคอีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้สมเด็จพระสังฆราชได้รับการกล่าวขานต่อมาว่า “สังฆราช 18 ประโยค” ซึ่งมีพระองค์เดียวในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

ต่อมาในปี พ.ศ.2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ โดยได้รับพระราชทานนิตยภัตรเป็นเงิน “ 4 ตำลึง 2 บาท” ทุกเดือน สาเหตุที่แต่งตั้งตำแหน่งพระราชาคณะในครั้งนั้นเนื่องจาก พระสาสนโสภณ หรือ ขรัวสา ได้เข้าไปถวายเทศน์แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนเป็นที่พอพระทัย แต่เพราะพระที่เข้าไปถวายเทศน์นั้นจะต้องเป็นพระราชาคณะซึ่งขณะนั้นไม่มีพระภิกษุรูปใดที่สามารถถวายเทศน์ได้ต้องพระทัย แม้แต่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ยังเคยลงจากธรรมาสน์โดยไม่เทศน์ถวายเพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาพระธรรมอย่างถ่องแท้ขณะทรงผนวชมาแล้ว อีกทั้ง ขรัวสา ก็บวชมาแล้วถึง 7 พรรษา เลยกำหนด 6 ปีที่จะเป็นพระราชาคณะได้

สำหรับนาม พระสาสนโสภณ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์พระราชทานตามนามเดิมของสมเด็จพระสังฆราช คือ สา ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า

“พระสรสาตรพลขันธ์ (สมบุญ) เคยเล่าให้หม่อมฉันฟังว่า เมื่อทูลกระหม่อมจะทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์ เมื่อยังเรียกกันว่า อาจารย์สา ให้เป็นพระราชาคณะ ทรงประดิษฐ์ราชทินนามเอานามเดิมของท่านขึ้นต้น แล้วต่อสร้อยว่า พระสาสนดิลก นาม 1 พระสาสนโสภณ นาม 1 โปรดให้พระสรสาตรไปถามว่าท่านจะชอบนามไหน ท่านว่า นามสาสนดิลก นั้นสูงนัก ขอรับพระราชทานเพียงนามสาสนโสภณ ก็ได้นามนั้น คนทั้งหลายเรียกกันโดยย่อว่า เจ้าคุณสา ได้ความเข้าที”

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) นับเป็นพระสาสนโสภณรูปแรก และทรงโปรดนามนี้มากแม้จะทรงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมวโรดม เจ้าคณะรองฝ่ายใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2415 ก็คงใช้นามว่า “พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม” เท่ากับทรงพระกรุณาโปรดให้ยกตำแหน่งที่พระสาสนโสภณขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองในครั้งนี้

จนถึงปี พ.ศ.2422 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระสาสนโสภณ (สา) ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และไม่ได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในราชทินนามพระสาสนโสภณเป็นเวลาถึง 21 ปี กระทั่งปี พ.ศ.2443 จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อ่อน อหึสโก) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตยมหาสีมารามรูปที่สอง เป็นที่พระสาสนโสภณ เจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย นับแต่นั้นมาสมณศักดิ์ตำแหน่งที่พระสาสนโสภณ ได้เป็นตำแหน่งของเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สืบมาจนปัจจุบัน

ความไว้พระทัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพระสาสนโสภณ (สา) ยังเห็นได้จากภายหลังการสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เมื่อปี พ.ศ.2407 เพื่อให้เป็นวัดสำหรับพระภิกษุในธรรมยุติกนิกายใช้ศึกษาเล่าเรียน และให้ผู้ที่ศรัทธาในพระธรรมยุติกานิกายใช้ทำบุญ อีกทั้งเป็นการใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็นสวนกาแฟมีโรงทานสำหรับทำบุญของชาวบ้านมาก่อน รวมทั้งให้สอดคล้องกับธรรมเนียมการสร้างวัดประจำเมืองสมัยโบราณที่ต้องมีวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐาน

เมื่อการสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเสร็จสิ้นจึงโปรดเกล้าฯให้พระสาสนโสภณ (สา) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2408 โดยในวันนั้นโปรดเกล้าฯให้มีขบวนแห่ประกอบด้วยธงทิว พิณพาทย์ และรถอีกหลายคันรับพระสาสนโสภณจากวัดบวรนิเวศวิหารมายังพระอารามแห่งใหม่ พร้อมทั้งพระราชทานเปลี่ยนตาลปัตรเป็นตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรมแด่พระสาสนโสภณ (สา) อีกด้วย
 
พระสาสนโสภณ (สา) นอกจากจะช่วยดูแลพระอารามแห่งใหม่แล้วยังช่วยพระราชกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างดีเช่นที่พระเทพกวี (แย้ม อุปวิกาโส) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามได้บันทึกไว้ว่า

“สมเด็จพระสังฆราชนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดว่าเป็นผู้แต่งเทศน์ดี แต่ครั้งเสด็จดำรงอยู่ในพระผนวช ภายหลังเมื่อเป็นพระสาสนโสภณแล้ว ถ้าพระราชาคณะหรือเปรียญจะถวายเทศน์ ต้องมาให้ตรวจเสียก่อน ถ้าใครไม่ชำนาญในการแต่งเทศน์ก็ทรงแต่งให้ แลได้ทรงรจนาหนังสือที่เป็นพระสูตรแลกถามรรคต่างๆมาก แลได้ทราบได้เห็นมีอยู่ในที่วัดอื่นๆที่ใช้เทศน์กันอยู่ก่อนๆหรือปัจจุบันนี้ เป็นหนังสือที่ทรงรจนามาก”

นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมอบหมายให้พระสาสนโสภณ (สา) ดำรงตำแหน่งสำคัญแล้ว สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความสัมพันธ์ในฐานะพระอาจารย์และศิษย์หลวง คือพระจริยวัตรที่แสดงถึงความสนิทสนมกันดังที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบันทึกดังนี้

“เมื่อเรายังเยาว์ แต่จำความได้แล้ว ได้ตามเสด็จทูกระหม่อมไปวัดราชประดิษฐ์อยู่เนืองๆ คราวหนึ่งได้ยินตรัสถามสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) ครั้งยังเป็นพระศาสนโสภณว่า คนชื่อคนมีหรือไม่ สมเด็จพระสังฆราชนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง แล้วถวายพระพรทูลว่า ไม่มี ทรงชี้เอาเราซึ่งนั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า นี่แนะชื่อคน แต่นั้นเราสังเกตว่าทรงพระสรวล และสมเด็จพระสังฆราชก็เหมือนกัน”

อีกส่วนหนึ่งมาจากระยะทางระหว่างพระบรมมหาราชวังและวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามตั้งอยู่ไม่ไกลกันนักทำให้เดินทางสะดวกโดยไม่จำกัดเวลา เช่นที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ว่า ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงว่างจากพระราชกรณียกิจโดยมากจะเสด็จฯทรงพระแคร่คนหาม ออกทางประตูเทวาพิทักษ์มายังวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม แล้วประทับสนทนากับสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อยู่ที่กุฏิของท่านนานๆ จนบางคราวถึงกับลงบรรทมคว่ำสนทนากัน หรือในบันทึกของนัดดา อิศรเสนา ณ อยุธยา บุตรของพระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ล.ศิริ อิศรเสนา) กล่าวในลักษณะเดียวกันว่า

“สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงว่างพระราชกิจในเวลาราตรี มักจะเสด็จไปทรงคุยธรรมะกับพระสาสนโสภณ (สา) ในโบสถ์วัดราชประดิษฐ์เป็นเวลาจนกระทั่งดึกดื่นค่อนคืน พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ทรงเล่าว่า เจ้านาย พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอเล็กๆที่ตามเสด็จไปพร้อมกับเจ้าจอมมารดา ต้องนอนหลับตากยุงอยู่บนแท่นสี่มุมโบสถ์วัดราชประดิษฐ์ จนกระทั่งเสด็จฯกลับ”

สายสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ยังปรากฏอยู่เสมอจวบจนวาระแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ปีมะโรงอันเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษาของพระสงฆ์ ทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องนมัสการ พร้อมทั้งมีพระราชดำรัสให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เข้าในพระที่บรรทม มีพระราชดำรัสพระราชนิพนธ์เป็นมคธภาษา ทรงลาและขมาพระสงฆ์จากนั้นทรงโปรดฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร เชิญไปอ่านในที่ประชุมสงฆ์ภายในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พอถึงเวลา 9 นาฬิกา (21.00 น.) ก็เสด็จสวรรคต เล่ากันว่าครั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ท่านนั่งฟังด้วยน้ำตาไหล




วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2303


ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 03 ธันวาคม 2564 15:45:49 »




พระรูปสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
(ภาพจากเพจวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม )


สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
“พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5”
ผู้เขียน : นนทพร อยู่มั่งมี
เผยแพร่ : ศิลปวัฒนธรรม - วันพฤหัสที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2564

ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนับเป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร พระภิกษุที่จะดำรงในตำแหน่งนี้ต้องมีความเหมาะสมทั้งความรู้ทางธรรมอย่างแตกฉาน ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติมีที่งดงาม จนเป็นที่ยอมรับจากองค์พระมหากษัตริย์ให้ดูแลพุทธศาสนจักรต่างพระเนตรพระกรรณ ซึ่งหนึ่งในจำนวนสมเด็จพระสังฆราชจำนวนทั้งสิ้น 20 พระองค์ มี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปแรก

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) แม้จะทรงมีพระชาติกำเนิดมาจากสามัญชนแต่ด้วยความรู้ความสามารถทำให้ทรงเป็นที่ยอมรับจากพระมหากษัตริย์ถึง 2 รัชกาล ด้วยการเป็นศิษย์หลวงในรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5 ความสำคัญเช่นนี้ทำให้พระประวัติของพระองค์น่าสนใจและสมควรเผยแพร่

[ในการลงเผยแพร่ครั้งนี้ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ตอน และได้ตัดเอกสารเชิงอรรถอ้างอิงออก

ตอนที่ 1 สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “สังฆราช 18 ประโยค”

ตอนที่ 2 สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5”

ซึ่งผู้อ่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ “200 ปี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชคู่พระทัยของพระมหากษัตริย์ 2 รัชกาล” เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 34 ฉบับที่ 10 (ส.ค. 2556), หน้า 108-128 อนึ่งทางวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามก็ได้จัดพิมพ์หนังสือพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สามารถสอบถามไปได้ที่เพจวัดราชประดิษฐฯ

พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5  ภายหลังการขึ้นครองราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เพียง 4 ปี คือในปี พ.ศ.2415 ทรงโปรดเกล้าเลื่อนสมณศักดิ์แก่พระสาสนโสภณ (สา) ให้เป็นพระธรรมวโรดม ทำหน้าที่เจ้าคณะรองฝ่ายใต้ ทำหน้าที่สนองงานพระพุทธศาสนา คือ “สั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์ แลอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณรในพระอารามทั้งปวงซึ่งขึ้นในคณะ” โดยยังคงราชทินนามพระราชทานแต่ครั้งรัชกาลก่อนทำให้มีการเรียกเป็น “พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม”

ภายหลังได้รับตำแหน่งพระธรรมวโรดมเพียงปีเดียว พระสาสนโสภณ (สา)ได้รับมอบหน้าที่สำคัญคือการเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในการผนวชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2416 พิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่พุทธรัตนสถานมนทิรารามในพระบรมมหาราชวังชั้นใน โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมกับนิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่จนครบคณะสงฆ์ ครั้งนั้นทรงผนวชอยู่ 15 วัน ก่อนจะลาผนวชแล้วประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่งเพื่อขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

การปฏิบัติหน้าที่เป็นพระกรรมวาจารย์ในคราวผนวชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ต้องทำทัฬหีกรรม หรือ อุปสมบทซ้ำ อีกครั้งหนึ่ง เพราะพระเถระผู้ร่วมคณะสงฆ์ประกอบพระราชพิธีส่วนมากทำทัฬหีกรรมแล้วทั้งสิ้น (เว้นแต่เพียงหม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา อีกองค์หนึ่งเท่านั้น)

สมเด็จพระสังฆราชทรงทำทัฬหีกรรมหลังจากอุปสมบทครั้งหลังได้ 22 พรรษาแล้ว โดยไม่พบหลักฐานว่าทำที่ไหน ใครเป็นอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์คือ พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม สำหรับสถานที่ประกอบพิธีสันนิษฐานว่ากระทำที่แพโบสถ์ตรงวัดราชาธิวาส และมีขั้นตอนเช่นที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบันทึกว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“แต่ครั้งทูลกระหม่อม [พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว] ยังทรงผนวช พวกพระธรรมยุตนับถือสีมาน้ำว่า บริสุทธิ์ เป็นที่สิ้นสงสัยไม่วางใจในวิสุงคามสีมาอันไม่ได้มาในบาลี เป็นแต่อรรถกถาจารย์ แนะไว้ในอรรถกถาอนุโลมตามสีมา ครั้งยังไม่มีวัดอยู่ตามลำพัง จึงใช้สีมาน้ำเป็นที่อุปสมบท ต่อมาพระรูปใดจะอยู่เป็นหลักฐานในพระศาสนา ท่านผู้ใหญ่จึงพาพระรูปนั้น ไปอุปสมบทซ้ำในสีมาน้ำ เรียกว่าทำ ทัฬหิกรรม สำนักวัดบวรนิเวศหยุดมานาน พระเถระในสำนักนี้ ไม่ได้ทำทัฬหิกรรมโดยมาก

สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) อุปสมบทครั้งหลังกว่า 20 พรรษาแล้ว พึ่งได้ทำทัฬหิกรรม ครั้งจะสวดกรรมวาจาเมื่อล้นเกล้าฯทรงผนวชพระ [พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว] เสด็จพระอุปัชฌายะ [สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์] ตรัสเล่าว่า พระเถระทั้งหลายผู้เข้าในการทรงผนวชล้วนเป็นผู้ได้ทำทัฬหิกรรมแล้ว ยังแต่ท่านองค์เดียว ทั้งจักเป็นผู้สำคัญในการนั้น จึงต้องทำ คงจะไม่ทรงนึกถึงหม่อมเจ้าธรรมุณหิศธาดาผู้ไม่ได้ทำอีกองค์หนึ่ง…

ครั้งเราบวช ความนับถือในพระบวชสีมาน้ำยังไม่วาย เราเห็นว่าเราเป็นผู้ยั่งยืนในพระศาสนาต่อไป พระเช่นเราจักต้องเป็นหลักในพระศาสนาด้วยเหมือนกัน เมื่อพระในนิกายเดียวกัน มีวิธีปฏิบัติแผกกันตามสำนัก เราควรเป็นผู้เข้าได้กับทุกฝ่าย อันจะให้เข้าได้ ต้องไม่เป็นที่รังเกียจในการอุปสมบทเป็นมูล ทั้งเราก็อุปสมบทเร็วไปกว่าปกติ เมื่อทำทัฬหิกรรมอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ จักสามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ดี

เราจึงเรียนความปรารภนี้แก่เจ้าคุณอาจารย์ (พระจันทรโคจรคุณ - ยิ้ม จันทรํสี) ขอท่านเป็นธุระจัดการให้…เราจักถือเจ้าคุณอาจารย์เป็นอุปัชฌายะใหม่ ในเวลาทำทัฬหิกรรม เจ้าคุณพระพรหมมุนีฟันหักสวดจะเป็นเหตุรังเกียจ เจ้าคุณอาจารย์ท่านเลือกเอาเจ้าคุณธรรมไตรโลก (ฐานจาระ) วัดเทพสิรินทร์ ครั้งยังเป็นบาเรียนอยู่วัดโสมนัสวิหารเป็นผู้สวดกรรมวาจา ท่านรับจัดการให้เสร็จ พาตัวไปทำทัฬหิกรรมที่แพโบสถ์ อันจอดอยู่ที่แม่น้ำ ตรงฝั่งวัดราชาธิวาสออกไป เมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๔๑ ตรงกับวันที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๒ แรกขอนิสสัยถืออุปัชฌายะใหม่ แล้วทำวิธีอุปสมบททุกประการ สวดทั้งกรรมวาจามคธและกรรมวาจารามัญ”

ความผูกพันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ในฐานะพระกรรมวาจาจารย์แต่ครั้งยังทรงผนวชยังปรากฏอยู่เสมอมาแม้ว่าจะทรงลาผนวชแล้ว พระองค์ทรงฉลองพระราชศรัทธาด้วยการเสด็จพระราชดำเนินมาสรงน้ำสงกรานต์ รวมทั้งทรงประทับตรัสด้วยคราวละนานๆ อาทิ การเสด็จพระราชดำเนินมาวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เมื่อปี พ.ศ.2419 ดังนี้

“เสด็จพระราชดำเนิรมาประทับตรัสกับพระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดมอยู่ประมาณ 40 นาที แล้วจึงทรงสรงน้ำแลถวายผ้าไตร แก่พระสาสนโสภณในการสรงน้ำสงกรานต์ โดยท่านเปนพระกรรมวาจาจารย์”

หรือ เหตุการณ์เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ของปีเดียวกัน ความว่า “เสด็จมาถวายพุ่มขี้ผึ้งแลเครื่องสการบูชา เครื่องจำพรรษาแก่พระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดมกับพรงสงฆ์วัดราชประดิษฐเสร็จแล้ว ประทับตรัสอยู่กับพระสาสนโสภณประมาณชั่วโมงหนึ่ง แล้วเสด็จพระราชดำเนิรออกจากพระอุโบสถ”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาต่อสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อยู่เสมอมา นอกเหนือจากพระราชจริยวัตรที่แสดงออกถึงความใกล้ชิดดังกล่าวแล้ว ยังทรงสถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ให้สูงขึ้นตามลำดับ โดยในปี พ.ศ.2422 ทรงโปรดเกล้าเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงรักษาเกียรติยศของพระกรรมวาจาจารย์ในพระองค์ ด้วยการเร่งไต่สวนหาผู้กระทำผิดในกรณี “ลักโคมหลวง” เมื่อคราวสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) มาร่วมพิธีมหาสมณุตตมาภิเศกสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งปรากฏข้อความจากจดหมายพระราชกิจรายวัน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2434 ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“อนึ่ง ในการสมณุตมาภิเศกครั้งนี้ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน เวลาเช้าสมเดจพระพุทธโฆษาจาริย์วัดราชประดิษฐ มารับพระราชทานฉันท์ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร แล้วได้รับเครื่องไทยทานฃองหลวงที่โปรดให้สมเดจถวายแก่พระสงฆ์ คือวันนั้นสมเดจพระพุทธโฆษาจาริย์ได้โคมกับเครื่องบริขานอื่นๆให้สิทธิถือตามหลังไปถึงน่าวัดมหรรณพาราม โปลิศเข้าจับเอาสิทธิสมเดจว่าลักเอาโคมของหลวงไป นำตัวเอาไปส่งให้พระประสิทธิสัลการที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระประสิทธิสัลการถามได้ความแล้วจึ่งว่าถ้าโคมของหลวงหายไปไม่พ้นตัวนายคนนี้ที่เปนสิทธิสมเดจแล้วสั่งให้ปล่อยตัวไป

สิทธิสมเดจจึงได้ไปเรียนความกับสมเดจพระพุทธโฆษาจาริย์ ครั้นเวลาค่ำสมเดจพระพุทธมาสวดมนต์จบแล้ว จึ่งถวายพระพรกล่าวโทษพระประสิทธิว่าเปนการปมาท จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิอธิบดีกรมพระนครบาล ว่ายศสมเดจพระพุทธโฆษาจาริย์ก็เสมอกบยศสมเดจเจ้าพระยา ซึ่งพระประสิทธิกล่าวเหลือเกินดังนี้ ให้พระประสิทธิไปสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ในวัดราชประดิษฐทั้งวัด แล้วให้มีลครสมโภชด้วยวันหนึ่ง ครั้นต่อมาพระประสิทธิก็ทำตามพระบรมราชโองการแล้ว”

หลังจากเหตุการณ์ร้ายแรงผ่านพ้นไปแล้ว ในปีเดียวกันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าเพิ่มอิศริยศสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) ให้เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเพราะทรงระลึกถึงในฐานะสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์และเป็นอาจารย์ถวายข้อธรรมะให้ทรงศึกษาระหว่างผนวช ซึ่งยากที่จะมีพระภิกษุรูปใดเสมอเหมือนได้ ดังข้อความจากประกาศสถาปนาเพิ่มอิศริยยศ ดังนี้

“ได้เปน พระกรรมวาจาจารย์ให้สมเร็จอุปสมบทกิจการพระราชกุศลส่วนผนวชในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งได้เรียบเรียงหนังสือธรรมวินัยถวายให้ทรงศึกษาในข้อปฏิบัติต่างๆ เปนอันมาก…พระสงฆ์ที่จะได้เปนกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเช่นนี้มิได้มีมากเหมือนพระสงฆ์สามัญ นานๆ จะได้มีสักครั้งหนึ่ง”

การสถาปนาในคราวนี้ทรงมีพระราชประสงค์ “สมควรที่จะมีอิศริยยศให้พิเศษกว่าสมเด็จพระราชาคณะแต่ก่อนๆมา” ดังนั้น จึงทรงเลื่อนสมณศักดิ์ให้เป็นที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีนิตยภัตรเดือนละ 11 ตำลึง มีถานานุกรมได้ 12 รูป มากกว่า สมเด็จพระราชาคณะตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งมีนิตยภัตรเดือนละ 6 ตำลึง 7 ตำลึง และ 10 ตำลึง มีถานานุกรมได้ 8 รูป และ 10 รูป สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)  เป็นพระมหาเถระรูปที่ 2 ได้รับพระราชทานราชทินนามที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ อันเป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช นับได้ว่าเป็นการพระราชทานเกียรติยศอย่างสูงเป็นกรณีพิเศษ

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ทรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณประมาณ 1 ปี ครั้นปี พ.ศ.2435 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชรา ขณะมีพระชนมายุ 83 พรรษา ประกอบกับใกล้ช่วงเวลาที่จะมีงานพระราชพิธีรัชฎาภิเษก สมควรที่จะมีพระสังฆราชประกอบพิธีอันสำคัญนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาสมเด็จอริยวงศาคตญาณ (สา) เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2436 อันเป็นปีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระชนมายุครบ 80 ปี การสถาปนาคราวนี้เรียกว่า “สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ พระราชทานมุทธาภิเศก” ในการที่ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่สมเด็จพระสังฆราชทรงโปรดให้มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัตรเดิม โดยโปรดเกล้าฯให้ตั้งพระสุพรรณบัตรสมโภชที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชทานเฉพาะใบกำกับพระสุพรรณบัตรใหม่เท่านั้น ในคราวเดียวกันนี้ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะดำรงพระยศกรมหมื่น เป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร เป็นเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุตติกนิกายด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่าการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งฐานานุกรมได้ 16 รูป นับเป็นเรื่องพิเศษ เนื่องจากการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชก่อนหน้านี้ต่างได้รับพระราชทานสิทธิให้ตั้งฐานานุกรมได้ 15 รูป เป็นประเพณีตลอดมา จนแม้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราชที่สืบลำดับต่อมาก็มีสิทธิตั้งฐานานุกรมได้ 15 รูป อีกทั้งสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ยังนับเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระองค์แรกที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แม้ว่าก่อนหน้านี้พระพิมลธรรม (อู่) จะได้เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระองค์แรกจากการพระราชทานของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 4 แต่ก็มิได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช อันแสดงถึงพระราชศรัทธาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ได้ปฏิบัติศาสนกิจและปกครองคณะสงฆ์อย่างเต็มกำลังความสามารถจนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2442 ขณะพระชนมายุ 87 ปี ทรงดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระสังฆราช 6 ปีเศษ และครองวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 34 ปี หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเลยจนตลอดรัชกาล ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชจึงว่างอยู่ถึง 11 ปี (พ.ศ.2442-2453)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 ธันวาคม 2564 15:48:36 โดย ใบบุญ » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.558 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 20 ชั่วโมงที่แล้ว