[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 22:02:09 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: โสฬสญาณ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี  (อ่าน 951 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 28 ธันวาคม 2564 13:13:20 »




โสฬสญาณ
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
(เทศน์ที่วัดปัจฉิมวัน วันที่ ๒๕ ม.ค. ๕๗)

         ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมเทศนา ก็ขอให้คณะญาติโยมตลอดถึงครูบาอาจารย์ ตลอดถึงสามเณร ปะขาว แม่ชีทั้งหลายทั้งปวงที่มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้เข้าใจว่า วันนี้เป็นค่ำคืนสุดท้ายที่เราจะได้บำเพ็ญบารมี สร้างคุณงามความดีใส่ตนเอง หรือว่าเราบำเพ็ญบารมีเพื่อที่จะเป็นศักดิ์ศรีในความที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เป็นค่ำคืนสุดท้ายที่เราจะได้อดได้ทน ได้สร้างความเพียร ได้สร้างบารมีเพื่อที่จะเป็นความดีติดตามเราไปในสัมปรายภพข้างหน้า ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาก็เป็นการสร้างบารมี แต่ถ้าเรากลัวหนาว กลัวร้อน กลัวเหน็ดกลัวเหนื่อย กลัวเมื่อยล้าต่างๆ บารมีมันก็ไม่เกิดขึ้นมา

          เราเป็นชาวนาไปกลัวแดด กลัวฝน กลัวลม เราก็ทำนาไม่ได้ เราเป็นพ่อค้ากลัวขาดทุนกลัวตื่นดึกกลัวนอนดึกเราก็เป็นพ่อค้าไม่ได้ เราเป็นนักปฏิบัติธรรม เราจะกลัวแดดกลัวลมกลัวหนาวกลัวร้อนกลัวยุงกลัวอะไรนั้นกลัวไม่ได้ เราต้องกำหนดเพื่อที่จะยังบารมีของเราให้เต็มบริบูรณ์

          วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันที่พวกเราทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดปัจฉิมวัน ซึ่งมีพระอาจารย์มหาสำลี กิตฺติปญฺโญ ซึ่งท่านเป็นประธานสงฆ์เป็นเจ้าคณะอำเภอปกครองคณะสงฆ์ทั่วทั้งอำเภอพนา ได้จัดประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อสงเคราะห์ญาติโยม พระสงฆ์ สามเณร ผู้อยู่ในบารมีของท่าน เพราะฉะนั้น วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันสุดท้าย พวกเราทั้งหลายอดตาหลับขับตานอนมาตลอด ๙ คืน คืนนี้เป็นคืนที่ ๙ พรุ่งนี้ก็เป็นวันที่ ๑๐ จะต้องจากกันไปสู่เคหสถานบ้านช่องวัดวาอารามของแต่ละรูปแต่ละท่าน

          ฉะนั้น วันนี้กระผมอาตมภาพก็จะน้อมนำเอาธรรมะเกี่ยวกับญาณ ๑๖ มาบรรยายตามสติปัญญา หรือว่าบรรยายโดยสังเขป เพราะว่าวันนี้ก็มีงานมากไปหลายที่หลายแห่งก็ขออธิบายโดยสังเขป การที่เราคณะครูบาอาจารย์ญาติโยมจะได้ฟังญาณ ๑๖ นั้นเป็นของหายาก เพราะว่าญาณ ๑๖ นั้นบุคคลผู้ฟังจะต้องลงมือประพฤติปฏิบัติ ต้องลงมือเดินจงกรมนั่งภาวนาจนญาณเกิด ถ้าผู้ใดมาประพฤติปฏิบัติธรรมญาณไม่เกิดบุคคลนั้นก็ฟังแล้วไม่เข้าใจ ฟังแล้วไม่ดูดดื่ม ฟังแล้วไม่เกิดความลึกซึ้งในจิตในใจ แต่ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติเดินจงกรม นั่งภาวนาจนญาณเกิดถึงญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เป็นต้น ก็จะฟังญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ นั้นเกิดความดูดดื่ม เกิดความลึกซึ้ง เกิดความเข้าใจ แต่ถ้าการแสดงธรรมโดยญาณที่ตนเองรู้ โดยญาณที่ตนเองถึงแล้วฟังแล้วก็ไม่ซาบซึ้งตรึงใจเท่าที่ควร ฟังเป็นสัญญา ฟังแล้วไม่ปรุโปร่ง ฟังแล้วไม่โล่ง ฟังแล้วไม่เป็นการแทงตลอด เพราะฉะนั้นการฟังแว่นธรรม การฟังญาณ ๑๖ ญาติโยมผู้ใดที่ประพฤติปฏิบัติถึงแล้วก็จะฟังด้วยปีติ เกิดความอิ่มเอิบในการฟัง ส่วนญาติโยมท่านใด คณะครูบาอาจารย์ท่านใดที่วิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ขั้นยังไม่สมบูรณ์ ก็ถือว่าเราฟังเอาบุญ ถือว่าเราฟังเอาอุปนิสัย

          การฟังธรรมนั้นมีหลายประเภท บางครั้งเราก็ฟังธรรมเรื่องทาน บางครั้งเราก็ฟังธรรมเรื่องรักษาศีล บริจาค รักษาศีลต่างๆ นี้เราฟังมาเป็นประจำ แต่การฟังเพื่อที่จะให้เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความคลายกำหนัด เกิดความเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเราหาฟังได้ยาก การฟังธรรมในลักษณะอย่างนี้เราเรียกว่ายอดแห่งธรรมะ ถ้าผู้ใดฟังธรรมในลักษณะอย่างนี้จะมีอุปนิสัยแห่งวิปัสสนาญาณ เกิดภพหน้าชาติหน้าจะเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด รู้จักทางแห่งความพ้นทุกข์ได้ดีกว่าบุคคลอื่น เพราะอะไร เพราะอุปนิสัยสั่งสมไว้มาก เพราะฉะนั้น การฟังธรรมคือวิปัสสนาญาณจึงเป็นของฟังได้ยาก แต่อานิสงส์นั้นก็มาก ทำให้บุคคลนั้นพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงก็เพราะการสั่งสมการฟังวิปัสสนาญาณไว้มาก ฉะนั้น ญาติโยมผู้ที่ฟังไม่เข้าใจก็ขอให้เคารพ ได้ตั้งใจฟังตามสมควรแก่เหตุและปัจจัย

          ญาณ ๑๖ นั้นเกิดขึ้นมาเพราะอะไร ญาณ ๑๖ ทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นมาเพราะญาติโยมทั้งหลายผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมเดินจงกรม นั่งภาวนา กำหนดให้เห็นความเกิดขึ้นของรูปของนาม ให้มีสติทันปัจจุบันธรรม ขณะที่เราเดินจงกรมขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอเราก็มีสติเห็นต้นยก กลางยก สุดยก ต้นย่าง กลางย่าง สุดย่าง เวลาเราภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” เราก็มีสติเห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เวลาเรายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด เราก็มีสติกำหนดดูอิริยาบถต่างๆ ของกายของเรา เห็นความเคลื่อนไหวในจิตในใจของเรา เห็นความปวดที่มันเกิดขึ้นในจิตในใจของเรา ความโกรธ ความโลภ ความหลง ที่มันเกิดขึ้นในจิตในใจของเรา เราจะก้ม เราจะเงย เราจะเหยียดแข้ง เหยียดขา คู้ ในลักษณะอย่างนี้เราก็ต้องมีสติกำหนดรู้

          ถ้าเรากำหนดรู้อยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ ก็จะมีปัญญาทราบชัดรู้ว่าอะไรเป็นรูป รู้ว่าอะไรเป็นนาม รู้ว่าเท้าของเราที่ยกขึ้นเป็นรูป ใจของเราที่รู้ว่าเท้ายกขึ้นนั้นเป็นนาม รู้ว่าท้องที่พองขึ้นเป็นรูป ใจที่รู้ท้องพองนั้นเป็นนาม เรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นแล้ว บุคคลรู้รูปรู้นามในลักษณะอย่างนี้เรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณมันเกิดขึ้นมา เวลาตาของเราเห็นรูป ตาของเราเป็นรูป แล้วก็รูปที่เราเห็นนั้นก็เป็นรูป ใจที่เรารู้นั้นเป็นนาม ขณะที่หูของเราได้ยินเสียง เสียงดี เสียงไม่ดี ขณะที่หูของเราได้ยินเสียงนั้น หูของเราก็เป็นรูป เสียงที่มากระทบโสตประสาทของเราก็เป็นรูป ใจที่เรารู้เสียงนั้นเป็นนาม ขณะลิ้นของเราลิ้มรส ลิ้นของเราก็เป็นรูป รสเผ็ด รสเค็ม รสเปรี้ยวต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสทางลิ้นของเรา สิ่งเหล่านี้ก็เป็นรูป ใจที่รู้รสเผ็ด รสเปรี้ยว รสเค็มต่างๆ นั้นเป็นนาม

          ขณะที่จมูกของเราดมกลิ่น จะเป็นกลิ่นเหม็นกลิ่นหอมต่างๆ ขณะที่จมูกเรารับสัมผัสกลิ่นนั้น จมูกของเราก็เป็นรูป กลิ่นก็เป็นรูป ใจที่รู้ว่ากลิ่นหอม กลิ่นเหม็นนั้นเป็นนาม ขณะที่กายของเราสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง กายของเราก็เป็นรูป สัมผัสที่เราสัมผัส จะเป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็งอะไรต่างๆ ก็เป็นรูป ใจที่เรารู้การสัมผัสนั้นเป็นนาม เรียกว่ารูปนามมันปรากฏขึ้นมา ถ้าเรารู้ในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติแล้ว

          หรือว่าใจของเราในขณะที่ประพฤติปฏิบัติธรรมบางครั้งก็เกิดความโกรธ บางครั้งก็เกิดความโลภ ความหลง ความโกรธความโลภความหลงที่เกิดขึ้นในจิตในใจของเรานั้นเป็นนาม สรุปแล้วตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้าเป็นรูป ใจของเรานั้นเป็นนาม สิ่งใดที่สัมผัสได้ด้วยตา สิ่งใดที่สัมผัสได้ด้วยหู สิ่งใดที่สัมผัสได้ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย สิ่งนั้นเป็นรูป สิ่งใดที่สัมผัสได้ด้วยใจ อย่างเช่นบุญ อย่างเช่นบาป อย่างเช่นความโกรธ ความโลภ ความหลง ดีใจ เสียใจนั้นเป็นนาม ถ้าผู้ใดรู้อย่างนี้เรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นแล้ว ถ้าผู้ใดรู้อย่างนี้แล้วท่านกล่าวว่า ตายไปแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๑ ชาติถ้าไม่ประมาท อันนี้เป็นลักษณะของนามรูปปริจเฉทญาณ คือญาณที่ ๑

          ญาณที่ ๒ ท่านกล่าวว่า ปัจจยปริคคหญาณ คือปัญญารู้จักเหตุเกิดของรูปของนาม เมื่อผู้ประพฤติปฏิบัติมาถึงญาณนี้แล้ว อาการพองอาการยุบนั้นจะเป็น ๒ ระยะ เรารู้อยู่ในจิตในใจของเรา เวลาพอง อาการพองเราจะเป็น ๒ ระยะ เวลายุบ อาการยุบจะเป็น ๒ ระยะ เวลาเราภาวนาจะมีทุกขเวทนามาก เวลานั่งไปจะเจ็บจะปวดมากกำหนดก็ไม่หาย บางคนมาประพฤติปฏิบัติแล้วท้อก็มี คิดว่ามันจะปวดอยู่อย่างนั้น อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๒ ปัจจยปริคคหญาณมันเกิดขึ้นมา เกิดความปวดขึ้นมา เกิดนิมิตขึ้นมา บางครั้งก็เห็นภูเขา เห็นแม่น้ำลำธารต่างๆ นิมิตเกิดขึ้นมากำหนดก็ไม่หาย ผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติถึงญาณที่ ๒ นี้ส่วนมากมาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วก็จะเกิดความทุกขเวทนาครอบงำ นั่งไปก็ปวด ปวดแล้วก็กำหนดไม่หายนี้เป็นลักษณะของปัจจยปริคคหญาณ อันนี้เรียกว่าปัญญารู้จักเหตุเกิดของรูปของนาม เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติถึงญาณนี้แล้วให้เรารู้เหตุเกิดของรูปของนาม

          บางครั้งอาการพองอาการยุบของเรา เราว่าจะกำหนดอาการพอง อาการยุบ บางครั้งใจของเราวิ่งไปก่อน บางครั้งอาการท้องพองท้องยุบมันยังไม่พองขึ้นมา ใจของเรามันก็กำหนดพองขึ้นมาก่อน ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าใจเป็นเหตุ รูปที่มันตามมานั้นเป็นผล เราคิดว่าเราจะกำหนดยุบแต่ท้องของเรายังไม่ยุบ ใจมันไปก่อนแล้ว เรียกว่าใจเป็นเหตุ นามเป็นเหตุ รูปเป็นผล บางครั้งเราว่าเราจะยืน เรายังไม่ยืน ใจของเรามันไปก่อนแล้วรูปยืนค่อยเกิดขึ้นทีหลัง ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าใจมันเป็นเหตุ รูปมันเป็นผล บางครั้งเรานั่งลงไปก่อน ใจของเรายังไม่นั่งเรียกว่ารูปเป็นเหตุ นามเป็นผล ถ้าผู้ใดมีลักษณะอาการอย่างนี้เรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณปรากฏขึ้นมาแล้ว บุคคลนั้นถึงญาณที่ ๒ แล้ว รู้จักเหตุเกิดของรูปของนาม รู้ว่ารูปมันเกิดขึ้นมาจากอะไร

          รูปมันเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม อาหารและความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว เวทนามันเกิดขึ้นมาจากอะไร เวทนามันเกิดขึ้นมาจากรูป จากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างเดียว สัญญามันเกิดขึ้นมาจากอะไร สัญญามันเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างเดียว สังขารมันเกิดขึ้นมาจากอะไร สังขารมันเกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสังขารอย่างเดียว วิญญาณเกิดขึ้นมาจากอะไร วิญญาณเกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างเดียว

          เวลารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันจะดับ มันจะดับไปด้วยเหตุอะไร สิ่งเหล่านี้มันจะดับลงไป รูป เวทนา สังขาร วิญญาณจะดับลงไปได้ก็เพราะว่าอวิชชาดับ เมื่ออวิชชาดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตัณหาดับ เมื่อตัณหาดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กรรมดับ เมื่อกรรมดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อาหารดับ เมื่ออาหารดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความดับของรูปมันดับไป ไม่มีรูปเกิดขึ้นมา เวทนาดับก็เพราะอวิชชานั้นดับไปก่อน ตัณหาก็ดับ เมื่อตัณหาดับกรรมก็ดับ เมื่อกรรมดับผัสสะในการกระทบสัมผัสต่างๆ ไม่เกิดความเป็นเวทนานั้นก็ดับไป สัญญา สังขาร วิญญาณก็เหมือนกันจะดับได้ก็เพราะอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความดับไปของสัญญา สังขาร วิญญาณมันดับไป เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมมาถึงนี้เรียกว่าปัจจยปริคคหญาณเกิดขึ้นแล้ว บุคคลที่ประพฤติปฏิบัติถึงญาณนี้ก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๒ ชาติถ้าไม่ประมาท

          ต่อไปเป็นญาณที่ ๓ เรียกว่า สัมมสนญาณ ญาณที่ ๓ นั้นจะเกิดขึ้นก็เพราะว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีศรัทธา มีความเพียร มีความอดทน ลักษณะของสัมมสนญาณคือปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นลักษณะที่เป็นลักษณะเฉพาะของญาณที่ ๓ นั้นก็คือเวลาเราภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” อาการพองจะเป็น ๓ ระยะ จะเห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง เวลาเรายุบก็เห็นต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เห็นอาการพองอาการยุบนั้นเป็น ๓ ระยะ เวลาเราเดินจงกรมก็เหมือนกัน เท้าที่ยกขึ้นของเราจะเป็น ๓ ระยะ เวลาเราย่างไปเป็น ๓ ระยะ เท้าที่เราเหยียบลงไปจะเป็น ๓ ระยะ จะเป็นในลักษณะเป็นหยักๆ เป็น ๓ ระยะ อันนี้เป็นลักษณะประจำของญาณที่ ๓ หรือสัมมสนญาณ

          ลักษณะประจำของญาณที่ ๓ อีกอย่างหนึ่ง เวลาเราภาวนาแล้วก็จะเห็นอาการพอง อาการยุบมันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วก็จางหายไป ขณะที่มันเร็วขึ้นๆๆ แล้วก็จางหายไปเป็นลักษณะอนิจจัง ในญาณที่ ๓ บางคนบางท่านก็อาการพองยุบมันแน่นเข้าๆๆ แล้วก็จางหายไป อันนี้ก็เป็นลักษณะของทุกขังในญาณที่ ๓ บางคนบางท่านอาการพองอาการยุบมันแผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็จางหายไป อันนี้ก็เป็นลักษณะของญาณที่ ๓

          อนัตตาในญาณที่ ๓ เป็นลักษณะหลักของญาณที่ ๓ ถ้าใครมีอาการพองอาการยุบเป็น ๓ ระยะก็ดี การเดินจงกรมเป็น ๓ ระยะก็ดีก็ถือว่าใช้ได้ ผู้ใดมีอาการพองอาการยุบแผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็หายไป แน่นเข้าๆๆ แล้วก็หายไป เร็วเข้าๆๆ แล้วก็หายไปอันนี้ก็ถือว่าใช้ได้ เรียกว่าถึงญาณที่ ๓ ร้อยเปอร์เซ็นต์ นี้ในลักษณะของบุคคลผู้ประพฤติวิปัสสนาญาณ เราจะรู้ว่าเราประพฤติปฏิบัติถึงไหนก็ดูสภาวะธรรมของเรา

          แล้วก็สภาวะอีกอย่างหนึ่งเวลาเราภาวนาถึงญาณที่ ๓ แล้วจะเกิดอุปกิเลส ๑๐ ประการ อุปกิเลสจะเกิดขึ้นมามีโอภาสแสงสว่างปรากฏขึ้นมาในขณะที่เราประพฤติปฏิบัติธรรม โอภาสแสงสว่างมันปรากฏขึ้นมาได้อย่างไร โอภาสแสงสว่างปรากฏขึ้นมานั้นด้วยอำนาจของสมาธิ เมื่อจิตของเราเป็นสมาธิตั้งมั่นแล้วก็เกิดแสงสว่างขึ้นมา เมื่อเกิดแสงสว่างขึ้นมาเราจึงจะเห็นโอภาสเห็นดวงเหมือนกับดวงไฟ เหมือนกับเปลวไฟที่มันปรากฏขึ้นมา คล้ายๆ กับว่าดวงไฟบางครั้งก็สว่างมาก สว่างน้อย อันนี้ก็แล้วแต่อำนาจของสมาธิ ว่าบุคคลนั้นมีสมาธิมากมีสมาธิน้อย บางคนก็เห็นดวงจางๆ เลือนๆ ลางๆ บางครั้งก็เห็นชัดเจน แล้วแต่อำนาจของสมาธิแต่ละรูปแต่ละท่านนั้นมันต่างกันอย่างไร

          โอภาสแสงสว่างนั้นบางครั้งบางคราวก็เห็นแสงสว่างพุ่งออกจากร่างกายก็มี บางคนบางท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ๆ มีศรัทธากล้า มีความเพียรกล้า เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมตั้งใจกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน เวลาภาวนาดีๆ บางคนบางท่านนั่งอยู่ที่ศาลาวัดพิชโสภารามบริกรรม “พองหนอ ยุบหนอ” ไปดีๆ มันเกิดแสงสว่างขึ้นมา บางครั้งแสงนั้นมันพุ่งออกจากร่างกายขึ้นไปบนขื่อที่วัดพิชโสภาราม ตกใจไปหาอาจารย์ผู้สอบอารมณ์แต่เช้าก็มี เป็นลักษณะของบุญวาสนาบารมีของแต่ละท่านแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนบางท่านเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” เมื่อจิตมันมีสมาธิอยู่กับอาการเดิน อยู่กับอาการยืน เมื่อมีสติตั้งมั่นแล้วมันก็เกิดแสงสว่างปรากฏขึ้นมา ขณะที่แสงสว่างปรากฏขึ้นมาก็กำหนด “เห็นหนอๆ” แสงสว่างก็แตกออกไปเป็นหลายๆ ดวง แสงนั้นก็สะท้อนเข้ามาสู่ตา ไม่สามารถที่จะเดินจงกรมได้ บางครั้งก็ต้องไปเดินจงกรมในห้องเปิดไฟให้สว่าง ให้มันกลบรัศมีของแสงสว่างที่มันย้อนเข้ามาสู่ตาอย่างนี้ก็มี นี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีบารมีในลักษณะของแสงสว่างโอภาส ถ้าผู้ใดปรากฏขึ้นมาก็ถือว่าเป็นโอภาสมันมีหลากหลายไม่เหมือนกันแล้วแต่บุญวาสนาบารมี

          อุปกิเลสประการที่ ๒ ก็คือ ปีติ ปีตินั้นก็มีอยู่ ๕ ประการคือ ขุททกาปีติ ขณิกาปีติ โอกกันติกาปีติ อุพเพงคาปีติ ผรณาปีติ มีอยู่ ๕ ประการ ปีติที่เกิดขึ้นมาอย่างเช่น ขนพองสยองเกล้า ขนลุกน้ำตาไหล ก็เป็นขุททกาปีติ ปีตินิดๆ หน่อยๆ ที่มันเกิดขึ้นมา ขนลุกซู่ซ่าขึ้นมา อะไรที่มันเป็นนิดหน่อยนั้นเป็นขุททกาปีติ ปีติที่ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ตั้งอยู่ไม่นานก็หายไป อย่างเช่นเวลาเรานั่งไปแล้วมันเกิดขนพองสยองเกล้า ซู่ขึ้นมาตั้งอยู่ประมาณ ๑ นาที ๒ นาที จางหายไปในลักษณะอย่างนี้ จัดว่าเป็นขณิกาปีติได้ ปีติชั่วขณะ บางครั้งเรานั่งไปมันเกิดปีติแผ่ออกจากหัวใจของเรา แผ่ไปทุกรูขุมขนซู่ออกไปตั้งอยู่เป็นขณะ ๑ นาทีบ้าง ๒ นาทีบ้าง ในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นขณิกาปีติได้ ปีติที่มันเกิดขึ้นอยู่ครู่หนึ่งก็จัดเข้าไปในขณิกาปีติ ส่วนโอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ บางครั้งเรานั่งไปตัวของเรามันโยกไป โอนไป เวลาเรานั่งไปตัวของเรามันจะโอนเอนไปเหมือนกับว่าเป็นสปริงในลักษณะอย่างนี้จัดเป็นโอกกันติกาปีติ

          บางครั้งเรานั่งไปตัวของเรามันโยกไปวนไปหัวเข่าของเราก็หมุนไป บางครั้งเรานั่งหันหน้าทางทิศตะวันตกลืมตามาหันหน้าทางทิศตะวันออกก็มี บางครั้งตัวของเรามันหมุนๆๆ เหมือนกับลูกข่าง นี้ในลักษณะโอกกันติกาปีติหมุนโยกไปโยกมา บางครั้งโยกเป็น ๓๐ นาที บางครั้งโยกเป็น ๑ ชั่วโมง แต่มันก็ไม่เหน็ดไม่เหนื่อย โยกมาแล้วก็เหมือนมีหมอนวดชั้นดีมานวดให้ เรียกว่าโอกกันติกาปีติ ถ้าเกิดขึ้นแก่ผู้ใดผู้นั้นก็แสดงว่ามีศรัทธา มีความเพียร เวลาสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วก็จะทำให้เรามีกำลังใจ ส่วนอุพเพงคาปีติเวลาเรานั่งไปบางครั้งก็เกิดตัวเบาเป็นลักษณะของอุพเพงคาปีติ

          บางครั้งบางคราวเรากำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” มันแน่นเข้าๆ พองยุบก็แน่นอึดอัดอาการพองอาการยุบมันก็ไม่ชัด ร่างกายของเรามันก็หนัก ใจของเรามันก็ไม่ปลอดโปร่ง แต่เราทนกำหนดแน่นหนอๆ มีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บางครั้งเรานั่งไปมันปวดแข้งปวดขาเหมือนขาจะขาด เหมือนภูเขาสองลูกสามลูกมันมาทับ แต่เราก็ไม่ยอมท้อถอยกำหนด “ปวดหนอๆ” ขณะที่เรากำหนดอยู่ดีๆ นั้น กำหนด “แน่นหนอๆ” อาการพองอาการยุบมันไม่ปรากฏชัด เรากำหนด “แน่นหนอๆ” อยู่ “รู้หนอๆ” อยู่ดีๆ นั้นจากอาการแน่น จากอาการท้องพองท้องยุบไม่ปรากฏชัดมันก็เกิดร่างกายของเรานั้นมันเบา ขณะที่ร่างกายของเรามันเบา อาการพอง อาการยุบที่มันแน่นๆ เลือนๆ ลางๆ นั้นมันก็ปรากฏชัดเจน เห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ ปรากฏชัดเจนดี ร่างกายของเราเคยหนักเหมือนกับภูเขามาทับสองลูกสามลูก มันก็เบาเหมือนกับนุ่น คล้ายๆ กับเรานั้นไม่ได้นั่งอยู่กับพื้น คล้ายๆ ตัวของเราลอยขึ้นจากพื้น เราต้องค่อยๆ ลืมตาดูว่าเรานั่งอยู่กับพื้นหรือเปล่าหรือว่าเราลอยไปแล้วนี้ในลักษณะของอุพเพงคาปีติ นั่งไปก็เพลินชั่วโมงหนึ่งเหมือนกับนั่ง ๑๐ นาที นั่งไป ๕ นาที เรานั่งภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” ครู่เดียวทำไมมันเป็น ๑ ชั่วโมงแล้ว ทำไมมันเป็นอย่างนั้น เพราะว่าปีติที่เกิดขึ้นมานั้นมันนิดเดียว เหมือนกับเรานั่งอยู่บนเมฆ เหมือนกับเรานั่งอยู่บนลม จะเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น เรียกว่าลักษณะของอุพเพงคาปีติ

          ส่วนผรณาปีตินั้น เวลามันเกิดขึ้นมามันจะทำให้เราซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย บางคนยืนกำหนดอยู่ดีๆ มันสงบพรึบลงไป เกิดปีติขึ้นในหัวใจแล้วก็แผ่ไปทั่วสรรพางค์กาย คล้ายๆกับว่าแผ่ไปทุกเส้นเอ็น คล้ายกับว่าแผ่ไปทุกรูขุมขน เกิดความสุขซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าผรณาปีติ บางครั้งบางท่านนั่งภาวนาอยู่ดีๆ มันก็คล้ายๆ กับว่าตัวอะไรมันเข้ามาทางหลังแล้วก็วิ่งออกไปทางศีรษะบ้าง วิ่งออกไปทางสีข้างบ้าง คล้ายๆ กับว่ามันซู่ซ่าออกไปในลักษณะอย่างนี้ก็จัดเป็นผรณาปีติได้ บางรูปบางท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภาราม “ยืนหนอๆ” กำหนดยืนมันมุดเข้าไปทางเท้าแล้วก็ทะลุออกไปทางศีรษะ แต่ก่อนที่มันจะทะลุมันจะซู่ซ่าเข้าไปแล้วมันทะลุขึ้นไป บางครั้งก็คิดว่าผีมันเข้าหรือเปล่าอะไรทำนองนี้ก็มี อันนี้เป็นบารมีของคณะครูบาอาจารย์บางรูปบางท่านที่มาประพฤติปฏิบัติ จัดเข้าเป็นผรณาปีติ ปีติซู่ซ่าไปทั่วสรรพางค์กาย อันนี้เป็นประการที่ ๒

          อุปกิเลสประการที่ ๓ ก็คือปัสสัทธิ เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าผู้ใดเกิดปัสสัทธินั้นจะเกิดความสงบ คล้ายๆ ว่าเมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมถึงญาณที่ ๓ ความสงบของเรานั้นจะมีน้อยมาก จะมีปีติแต่ว่าอาการสงบนิ่งเย็นนั้นจะมีน้อย เพราะว่ามันเป็นวิปัสสนาญาณแค่ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าขณะที่ปัสสัทธิมันเกิดขึ้นมาก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กายของเรามันเบา คล้ายๆ กับว่ามันสมดุล เราจะเดิน เราจะคู้ เราจะเหยียด เราจะก้ม จะเงย เหมือนกับเราไม่มีเส้นเอ็น มันจะเบามันจะคล่องแคล่วว่องไว คล้ายๆ กับว่ามันจะสะดวกสบาย มันจะคล่องแคล่วว่องไว ไม่หนัก ไม่อืดอาด สมองของเราจะปลอดโปร่ง คิดอะไรมันก็เป็นชิ้นเป็นอัน คิดอะไรมันก็ทะลุปรุโปร่ง ความสงสัยต่างๆ นั้นก็ไม่ค่อยมี เรียกว่าความสงบมันปรากฏขึ้นมา คำพูดเราเคยพูดมันก็ไม่อยากพูด เพราะอะไร มันสงบอยากนิ่งอยู่ คนเคยคุยกับเพื่อนคนโน้นคนนี้ก็ไม่อยากไปคุยอยากนั่งอยู่คนเดียว คนมันเกิดความสงบ คล้ายๆ กับว่าเข้าผลสมาบัติแต่มันเป็นอยู่ไม่นาน บางครั้งบางคราวเป็นอยู่ ๕ นาที ๑๐ นาที ๓๐ นาที เป็น ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง เป็น ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน คล้ายๆ กับว่าเราได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว

          บางคนบางท่านเวลาครูบาอาจารย์ถามว่าประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอย่างไร ความโกรธมันเกิดขึ้นไหม ความโกรธมันเกิดขึ้น หรือความโกรธมันไม่มี ขณะนี้มีราคะไหม ราคะไม่มี ขณะนี้มีโทสะไหม โทสะไม่มี ก็เพราะว่าในขณะที่ปัสสัทธิมันเกิด ราคะไม่เกิด เคยเกิดราคะคิดถึงคนโน้นแล้วเกิดความกำหนัด เกิดราคะมาครอบงำ แต่เมื่อปัสสัทธิเกิดขึ้นมาแล้วคิดถึงมันก็ไม่เกิด ราคะมันก็สงบไป เวลาเราคิดถึงบุคคลที่เคยทำให้เราโกรธ มันก็ไม่โกรธ เพราะอะไร เพราะปัสสัทธิมันครอบงำไว้ คล้ายๆ กับว่าจิตใจของเรามันเย็นอยู่ในปัสสัทธิสงบอยู่นั้น คล้ายๆ กับว่าหมดราคะ หมดโทสะ หมดไปแล้ว ในลักษณะของปัสสัทธิมันเกิดขึ้นมาบางครั้งก็สำคัญผิดคิดว่าตนเองได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่อยู่ไปอยู่มากิเลสมันก็เกิดขึ้นมา นี้ลักษณะของปัสสัทธิในญาณที่ ๓

          ประการที่ ๔ ก็คือความสุข ความสุขในวิปัสสนาญาณที่ ๓ นั้นเวลาเราภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” ไปอาการพองอาการยุบเราก็ปกติ จะว่าชัดก็ไม่ชัดจะว่าแจ่มแจ้งก็ไม่แจ่มแจ้ง เดี๋ยวกำหนดได้เดี๋ยวเผลอในลักษณะอย่างนี้ เราก็กำหนดไปๆ เวลาเดินจงกรมเราก็ไม่ใช่ว่ากำหนดได้ตลอด เพราะในญาณที่ ๓ นั้นจะกำหนดไม่ได้ตลอด เห็นบ้างเผลอบ้าง แต่ในขณะที่เราเดินจงกรมนั่งภาวนาไปนั้นความสุขมันเกิดขึ้นมาเอง เราภาวนาพองหนอยุบหนอเผลอบ้างเห็นบ้างนั้นมันก็เกิดความสุขขึ้นมา เวลาเดินจงกรมเผลอบ้างเห็นบ้างมันก็เกิดความสุขขึ้นมา แต่เป็นความสุขที่ดูดดื่มความสุขที่ลุ่มลึก ตั้งแต่เราเกิดมาไม่เคยเห็นความสุขประเภทนี้มาก่อน เป็นความสุขที่ละเอียดอ่อนประณีต เป็นความสุขที่ดื่มด่ำที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเพราะว่าความสุขนั้นมันตั้งอยู่บางครั้งก็ ๕ นาที ๑๐ นาที ๓๐ นาที บางครั้งก็ตั้งอยู่เป็นหลายชั่วโมง บางครั้งก็ตั้งอยู่เป็นวัน ๒ วัน ๓ วัน อันนี้แล้วแต่ชวนจิต วิถีจิต บุญวาสนาบารมีของแต่ละท่านแต่ละคนไม่เหมือนกัน อันนี้ก็เป็นลักษณะของสุขในญาณที่ ๓ แต่เมื่อมันหมดกำลังของมันแล้วมันก็จางหายไปแล้วเราก็คืนสู่ปกติเหมือนเดิม นี้ในลักษณะของสุขที่มันจรมาคือมันเกิดขึ้นมาเองแล้วก็หายไปเอง เกิดขึ้นมาจากจิตของเราที่บริสุทธิ์แล้วถึงเวลามันก็หายไป เราจะรู้ว่าเมื่อสักครู่นี้มันเป็นอุปกิเลส แต่ก่อนเราสำคัญว่าเราได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว แต่มันหายไปความโกรธก็เกิดขึ้นมา ความโลภ ความหลง ราคะ ตัณหา มันก็เกิดขึ้นมาเหมือนเดิม ผู้ปฏิบัติก็จะเข้าใจว่าที่ผ่านมาเป็นอุปกิเลส อันนี้เป็นประการที่ ๔

          อุปกิเลสประการที่ ๕ ก็คือศรัทธา เวลามาประพฤติปฏิบัติถึงญาณที่ ๓ แล้วจะเกิดศรัทธา จิตใจของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมอยากจะเอาของมาถวายครูบาอาจารย์ อยากจะถวายภัตตาหาร อุปถัมภ์อุปฐากครูบาอาจารย์ อยากจะแนะนำพ่อ แนะนำแม่มาประพฤติปฏิบัติธรรม อยากจะประกาศให้คนทั้งโลกนั้นมาประพฤติปฏิบัติธรรม อยากจะไปเป็นครูสอนกัมมัฏฐาน อยากจะตั้งสำนัก อยากจะสอนให้ดี อยากจะเทศน์ให้ดีอะไรทำนองนี้เป็นลักษณะของศรัทธาที่มันเกิดขึ้นมา บางครั้งอยากจะไปขายที่ขายนามาถวายความอุปถัมภ์อุปฐากคณะครูบาอาจารย์ อันนี้ก็เป็นศรัทธา เป็นศรัทธาที่มากเป็นศรัทธาอธิโมกข์ เป็นศรัทธามาก เมื่อประพฤติปฏิบัติธรรมมาถึงขนาดนี้แล้วส่วนมากบางครั้งก็อดอาหาร บางครั้งก็ยืนตากแดด บางครั้งก็นั่งนานๆ พอมาถึงนี้แล้วก็ตั้งสัจจะอธิษฐานเลยว่าจะนั่ง ๓ ชั่วโมง บางครั้งก็ตั้งสัจจะเลยว่าจะไม่นอนเป็น ๓ วัน ๗ วัน ๙ วัน ๑ เดือน บางครั้งก็อดอาหารหลายๆ วัน เพราะอะไร เพราะว่าศรัทธามันเกิดขึ้นมามาก ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะหลงอำนาจของจิต ไม่กำหนดตามสภาวะจิต “คิดหนอๆ” ไม่กำหนด เมื่อไม่กำหนดแล้วก็หลงสภาวะจิตตั้งสัจจะว่าจะไม่หลับไม่นอนเป็น ๑ เดือนเป็นต้น พอศรัทธามันผ่านไปแล้วใจมันไม่สู้บางครั้งสัจจะก็พังไปก็มี อันนี้เป็นลักษณะของศรัทธา บางครั้งบางคนเกิดศรัทธามาแล้วปฏิญาณตนอยู่ในพระศาสนาตลอดชีวิต ข้าพเจ้าจะมีผ้ากาสาวพัสตร์ห่มกายตลอดชีวิต จากนี้ไปข้าพเจ้าจะไม่สึก สาสเน อุรํ ทตฺวา ถวายแล้วซึ่งอกในพระศาสนา แต่เมื่อศรัทธามันหายไปแล้วบางครั้งบางคราวสึกขาลาเพศไปก็มี นี้ในลักษณะของศรัทธามันเกิดขึ้นมาในญาณที่ ๓

          ประการที่ ๖ ท่านกล่าวว่า ปัคคาหะ ความเพียร เมื่อความเพียรในอุปกิเลสเกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นก็จะมีความเพียรมาก ความเพียรในอุปกิเลสญาณที่ ๓ นั้นท่านไม่ได้หมายความว่าการเดินจงกรมตลอดทั้งวัน การนั่งภาวนาตลอดทั้งวัน ท่านไม่ได้หมายถึงอย่างนั้น ท่านหมายถึงว่าจิตของเรานั้นมันคิดมาก เราเดินจงกรม เรานั่งภาวนาเป็น ๕ นาที ๑๐ นาที เราคิดเป็นร้อยๆ เรื่อง พันๆ เรื่อง อันนี้เรียกว่าจิตมันเป็นพระไตรลักษณ์ จิตมันแสดงอาการอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราต้องกำหนด “คิดหนอๆ” จี้ลงไปที่จิตของเรา ถ้าเรากำหนด “คิดหนอๆ” มันไม่หยุดเราก็กำหนด “คิดหนอๆ” มันไม่หยุดเราก็กำหนด “คิดหนอ คิดหนอ หยุด!” ถ้าเรากำหนด “คิดหนอ คิดหนอ หยุด!” มันยังไม่หยุดเราก็กำหนดว่า “หยุดหนอ หยุดหนอ หยุด! หยุดหนอ หยุดหนอ หยุด!” เราเน้นเสียงลงไปแล้วก็จี้ลงไปที่จิตของเรา ความคิดทั้งหลายทั้งปวงมันก็หยุดไปเองของมัน นี้ถ้าสติของเรา สมาธิของเรา สัมปชัญญะของเรามันสมบูรณ์มันจะหยุดของมันไปเอง เรียกว่าอาการของจิตที่เป็นพระไตรลักษณ์ก็เกิด หรืออาการของความเพียรเกิดขึ้นในจิตในใจของเรามาก อันนี้ก็เป็นอุปกิเลสประการหนึ่ง

          อุปกิเลสในข้อต่อไปท่านกล่าวว่า อุปัฏฐาน สติมันปรากฏชัด เมื่อสติมันปรากฏชัดขึ้นมามันก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นทิ้งปัจจุบันธรรม คิดถึงอดีตที่เคยผ่านมาแต่ก่อนโน้น ถ้าผู้ใดมีสติมาก มีสติปรากฏมากทิ้งปัจจุบันไปแล้วก็จะทำให้เราคิดถึงโน้นตั้งแต่เราเป็นเด็ก บางครั้งเรายังไม่นุ่งผ้าก็คิดได้เราไปคิดได้อย่างไร ลืมไปหมดแล้ว แต่เมื่อสติมันปรากฏชัดขุดลึกลงไปๆ ในห้วงภวังคจิตคิดไปเห็นตนเองเป็นเด็ก ตัวน้อยๆ คล้ายๆ กับว่าเราวิ่งลอดขาของพ่อของแม่อะไรทำนองนี้ยังจำได้ นี้ในลักษณะของสติมันปรากฏชัด บางรูปบางท่านไปกราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า มันไม่เป็นวิปลาสหรือพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เพราะว่าทำไมมันคิดไปถึงอย่างนั้น หรือว่ามันปรุงแต่งไปเองเป็นเด็กยังไม่นุ่งผ้านุ่งแพนึกถึงได้ หรือว่ามันเป็นวิปลาสไปแล้ว พระเดชพระคุณหลวงพ่อบางครั้งท่านก็กล่าวว่า ผู้มีสติมากไปกว่านั้นบางครั้งท่านก็นึกถึงว่าตนเองนั้นอยู่ในท้องของมารดาก็มี บางคนที่มีสติมากไปกว่านั้นก็ระลึกได้เป็นข้ามภพข้ามชาติไปเลย ว่าแต่ก่อนชาติก่อนโน้นเกิดเป็นลูกของใครบ้านไหน มีตระกูลอย่างไรคนที่มีบารมีมันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น อุปัฏฐานปรากฏชัดเราต้องกำหนด “คิดหนอๆ” กำหนด มันจะทิ้งปัจจุบันธรรมแล้วก็ไปนึกถึงอดีตที่ผ่านมาแล้วอันนี้ก็เป็นอุปกิเลสประการหนึ่ง

          อุปกิเลสประการต่อมาท่านกล่าวว่า ญาณ ญาณคือความรู้นี้ก็เป็นอุปกิเลสอย่างหนึ่ง เวลามันเกิดแล้วมันจะทำให้สมองปลอดโปร่ง แล้วก็จะเอาความรู้ที่ตนเองเคยประสบมาจากการศึกษาเล่าเรียน จากตาจากหู จากที่เราเคยมีประสบการณ์มาก็มาเทียบเคียงกับคำสอนครูบาอาจารย์ว่าคำสอนของครูบาอาจารย์ถูกไหม เทียบเคียงไปมาเหมือนกับจิตมันมี ๒ ดวง ปรุงแต่งกันไปมา เทศน์ไปไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น อันนี้เป็นลักษณะของญาณส่วนมากเป็นวิปัสสนึก เป็นจินตามยปัญญา ไม่ใช่วิปัสสนา เป็นวิปัสสนึก นึกเอาแล้วก็จินตนาการเอา เป็นวิปัสสนาญาณแค่ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ อันนี้ลักษณะของบุคคลผู้ญาณเกิดจะเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีปัญญากล้า เป็นอุปกิเลสประการหนึ่ง

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 ธันวาคม 2564 13:15:34 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 28 ธันวาคม 2564 13:15:00 »


โสฬสญาณ


         อุปกิเลสประการต่อมาท่านกล่าวว่า อุเบกขา อุเบกขาคือความวางเฉยในอุปกิเลส เวลาเราภาวนาไปเมื่อเราถึงญาณที่ ๓ จิตใจของเรานั้นจะไม่เป็นกลาง จิตใจของเราจะคิดเรื่องโน้นบ้าง คิดเรื่องนี้บ้าง เดี๋ยวก็ปรุงแต่งไปด้วยปีติ เดี๋ยวก็ปรุงแต่งไปด้วยโอภาสแสงสว่าง จิตใจของเราจะตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา จิตใจของเราจะกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา ในญาณที่ ๓ จิตใจของเราจะไม่เป็นกลางแต่เมื่ออุเบกขาซึ่งเป็นอุปกิเลสมันปรากฏขึ้นมา เรายืนอยู่ดีๆ เราเดินอยู่ดีๆ เรานั่งอยู่ดีๆ มันก็เกิดความวางเฉยขึ้นมาเองของมัน อุปกิเลสนี้มันจะเกิดขึ้นของมันเองเรากำหนดไปๆ เราเดินจงกรมไป บางครั้งเราคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่านเหมือนกับว่ามันจะไม่หายสักที แต่อยู่ดีๆ มันก็เกิดความวางเฉยขึ้นมาเอง ความวางเฉยในอุปกิเลสมันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าความวางเฉยนั้นเราจะรู้สึกสบายปลอดโปร่ง แต่บางครั้งมันก็เป็นครู่เดียวคล้ายๆ กับว่าเราอยู่ในความมืด จุดแสงสว่างขึ้นมาความมืดมันหายไปแล้วดับไฟเสีย ความมืดมันก็ปรากฏครอบคลุมอีก บางครั้งบางคราวสิ่งที่เป็นอุเบกขามันก็ปรากฏขึ้นในใจของเราอย่างนั้น เวลาปรากฏขึ้นมาเราก็วางเฉย เวลาความวางเฉยมันหายไปจิตใจของเราก็ปรุงแต่งฟุ้งซ่านอยู่อีกเหมือนเดิมนี้ในลักษณะของอุเบกขาเกิดขึ้นมาเราต้องกำหนด “วางเฉยหนอๆ” หรือว่า “รู้หนอๆ” จี้ลงไปที่ใจของเรานี้เราก็จะไม่เป็นไปตามอำนาจองความวางเฉย

          อุปกิเลสประการสุดท้ายคือ นิกันติ ความยินดีในสิ่งที่ผ่านมา ทั้งโอภาสแสงสว่าง ทั้งปีติ ทั้งปัสสัทธิ ทั้งความสุข ทั้งศรัทธา ทั้งปัคคาหะ ความเพียร ทั้งอุปัฏฐาน สติปรากฏชัด ทั้งญาณ ทั้งอุเบกขา เรายินดีในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่า นิกันติ ความใคร่ หรือความใคร่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ต่างๆ อันนี้ก็จัดเป็นนิกันติ เราต้องกำหนดให้ทันกำหนดตามอารมณ์นั้นให้ได้ อันนี้เป็นอุปกิเลส แล้วก็ลักษณะของญาณที่ ๓ ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติมาถึงญาณที่ ๓ แล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท

          ต่อไปเป็นญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ ปัญญาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของรูปของนาม ถ้าผู้ใดเห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไปของรูปของนาม เรียกว่า อุทยัพพยญาณ อุทยะ ก็คือความเกิดขึ้น พยะ ก็คือความเสื่อมไป อุทยัพพยญาณก็คือ เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของรูปของนาม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของรูปของนาม เราจะรู้ด้วยอาการของสภาวะธรรม คือเมื่อผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมมาถึงญาณนี้แล้วอาการพองอาการยุบของบุคคลนั้นจะเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วก็ขาดไป คือดับไป ๑ ขณะจิตรู้สึกตัวขึ้นมาเราก็บริกรรมพองหนอ ยุบหนอ ต่อไป อาการพองยุบมันก็เร็วขึ้นๆๆๆ มันก็ดับลงไปอีก ๑ ขณะจิต รู้สึกตัวขึ้นมาเราบริกรรมอีกมันก็พองหนอยุบหนอไปมันก็เริ่มเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วก็ดับลงไปอีกในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า อนิจจัง ในญาณที่ ๔

          ส่วนบุคคลใดเป็นประเภทของทุกขัง เวลาเรามาถึงญาณที่ ๔ แล้วอาการพองอาการยุบมันก็แน่นเข้าๆๆๆ เมื่อแน่นเข้าเต็มที่แล้วมันก็ดับลงไป ๑ ขณะจิตรู้สึกตัวขึ้นมาเราก็บริกรรม “พองหนอ ยุบหนอ” ก็แน่นเข้าไปอีกๆๆ มันก็ดับลงไปอีก ๑ ขณะจิตรู้สึกตัวขึ้นมาเราก็บริกรรม “พองหนอ ยุบหนอ” แน่นเข้าไปอีกๆๆ แล้วก็ดับลงไปอีก บางครั้งชั่วโมงหนึ่งก็อาจจะดับ ๒ ครั้งบ้าง ๓ ครั้งบ้าง ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง ถึง ๑๒ ครั้งก็มี อันนี้แล้วแต่ชวนจิต แล้วแต่สมาธิของใครจะมีสมาธิมาก สมาธิน้อยกว่ากัน

          ส่วนบุคคลผู้ที่เป็นประเภทอนัตตา เวลาเราภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” ไป อาการพองยุบมันแผ่วเบาเข้าๆๆ เมื่อแผ่วเบาเข้าเต็มที่ๆๆ เข้าไปมันก็ขาดความรู้สึกไป ๑ ขณะจิต รู้สึกตัวขึ้นมาอาการพองยุบของเราก็เป็นปกติ พอเราเอาสติเริ่มจับอาการพองอาการยุบเท่านั้น อาการพองยุบของเราก็เริ่มละเอียดลงๆๆ เบาลงๆๆ มันขาดลงไปอีกดับลงไปอีก ๑ ขณะจิตพอเรารู้สึกตัวขึ้นมา อาการพองอาการยุบมันก็เป็นปกติ พอเราเอาสติไปจับอาการพองอาการยุบเท่านั้น อาการพองยุบมันก็เบาลงๆๆๆ ก็ขาดความรู้สึกดับลงไปอีก นี้ในลักษณะของอนัตตาที่เกิดขึ้น ในญาณที่ ๔ มันเกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้

          ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมถึงลักษณะอย่างนี้ก็แสดงว่า ญาณที่ ๔ มันเกิดขึ้นมาแล้ว อันนี้เป็นลักษณะเด่นของญาณที่ ๔ ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าถึงญาณที่ ๔ แล้วใช้ได้ แต่ว่าบางคนบางครั้งนั่งภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” ไปมันสัปหงกฟึบลงไป เหมือนกับว่าหัวของเรามันจะโขกพื้น พองหนอยุบหนอไปร่างกายของเรากำหนดเพลินไปๆๆ มันขาดฟึบลงไป สัปหงกฟึบลงไปคล้ายๆ กับว่ามันจะโขกที่พื้น บางครั้งก็สัปหงกไปข้างหน้า บางครั้งก็สัปหงกไปข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา อันนี้ก็จัดเป็นอุทยัพพยญาณเหมือนกัน

          บางครั้งเรานั่งอยู่ดีๆ พองหนอ ยุบหนออยู่ดีๆ มันไม่สัปหงกไปข้างซ้าย ข้างขวา ไม่ไปข้างหน้า ข้างหลัง แต่มันทรุดฟึบลงไป เหมือนกับว่ามันจะทะลุลงไปใต้ดิน เหมือนกับว่ากระดูกของเรามันไปกองอยู่กับพื้น มันจะทรุดลงไป ในลักษณะอย่างนี้ก็จัดเป็นอุทยัพพยญาณเหมือนกัน บางครั้งเรานั่งไปพองหนอยุบหนอไปดีๆ เหมือนกับว่าเราตกหลุมอากาศ เหมือนกับว่าเรานั่งแคร่ แคร่มันพังลงไปในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นอุทยัพพยญาณเหมือนกัน เวลาเราเดินจงกรมก็เหมือนกันเวลาเราเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” คล้ายๆ กับว่ามันตกหลุมอากาศ เวลาเราจะเหวี่ยงเท้ามันฟึบลงไปในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นลักษณะของอุทยัพพยญาณเหมือนกัน ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของอุทยัพพยญาณก็คืออาการพองอาการยุบนั้นเป็น ๔ ระยะ อาการเดินจงกรมก็เป็น ๔ ระยะ อาการพองอาการยุบก็เป็น ๔ ระยะ อาการยก อาการย่าง อาการเหยียบเป็น ๔ ระยะในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นลักษณะของอุทยัพพยญาณเหมือนกัน ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่าถึงอุทยัพพยญาณแล้ว

          ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติถึงอุทยัพพยญาณแล้ว ท่านกล่าวว่าบุคคลนั้นตายไปแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๔ ชาติถ้าไม่ประมาท บุคคลนั้นเมื่อตายแล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเป็นผู้มีฤทธิ์ มีเดช มีอำนาจ เป็นผู้มีสติมีปัญญาสามารถ ไม่ไปเกิดในตระกูลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ จะเกิดในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฏฐิเลื่อมใสในพระรัตนตรัย อยากเข้าใกล้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยากฟังธรรม อยากประพฤติปฏิบัติธรรม นี้ในลักษณะของญาณที่ ๔ อานิสงส์นั้นเป็นในลักษณะอย่างนี้

          แต่ถ้าผู้ใดไม่มาเกิดเป็นมนุษย์ไปเกิดเป็นเทวดาก็จะเป็นเทวดาผู้มีรัศมี มีแสงสว่างมากกว่าเทวดาที่ไม่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นที่เกรงขามของเทวดา เป็นเทวดามเหศักดิ์ เป็นเทวดาที่มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพมากนี้เป็นลักษณะของอุทยัพพยญาณ ถ้าผู้ใดเป็นพระถ้าอุทยัพพยญาณเกิดขึ้นมาก็แสดงว่าบุคคลนั้นไม่ต้องอาบัติปาราชิก เป็นบุคคลผู้มีศีลบริสุทธิ์แล้วก็มีวาสนาบารมีที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในปัจจุบันชาติ ถ้าญาณที่ ๔ เกิดขึ้นมาแล้วไม่ต้องไปฟังคำของครูบาอาจารย์ ไม่ต้องไปฟังคำของโหรหรือหมอดูต่างๆ ให้เราพยากรณ์ตัวเองว่าเรามีบุญวาสนาบารมีที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าเราไม่หยุดการเดินจงกรม ไม่หยุดการนั่งภาวนาเรามีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในปัจจุบันนี้ไม่ชั้นใดก็ชั้นหนึ่ง ไม่สำเร็จเป็นพระโสดาบันก็เป็นพระสกทาคามี ไม่เป็นพระสกทาคามีก็เป็นพระอนาคามี ไม่เป็นพระอนาคามีก็เป็นพระอรหันต์ในชาติปัจจุบันนี้ อันนี้เรียกว่าเราภาคภูมิใจในตัวของเรา เราก็จะเกิดความเพียร เกิดความขยัน เกิดความบากบั่นขึ้น อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๔ โดยย่อ

          ญาณที่ ๕ ท่านกล่าวว่าภังคญาณ ภังคญาณคือการพิจารณาเห็นความดับไปของรูปของนาม อาการของท้องพองปรากฏขึ้นมาอยู่ แต่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมไม่สนใจ อาการของการพองปรากฏขึ้นมาอยู่แต่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมไม่สนใจ ไปสนใจเฉพาะอาการที่มันสุดพองด้วยอาการดับไปของอาการพอง อาการต้นยุบมันปรากฏขึ้นมาผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็ไม่สนใจ อาการกลางยุบปรากฏขึ้นมาผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็ไม่สนใจ แต่ไปสนใจตอนที่มันดับลงไป ตอนสุดยุบ เป็นลักษณะอาการของภังคญาณ เวลาผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมมาส่งอารมณ์ ก็จะบอกว่า อาจารย์เวลาภาวนาช่วงนี้ทำไมมันไม่เห็นต้นพองกลางพองเห็นแต่สุดพอง เวลานั่งภาวนาไปทำไมไม่เห็นต้นยุบกลางยุบทำไมมันเห็นแต่สุดยุบ อันนี้เราก็เข้าใจว่าอารมณ์ที่ประพฤติปฏิบัติถึงภังคญาณแล้ว

          บางครั้งบางคราวผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมประพฤติปฏิบัติถึงญาณนี้แล้วก็นั่งไปมีแต่หลับ อาจารย์เมื่อวานอาการพองยุบมันชัดดี อาการพองยุบมันเร็วขึ้นๆ แต่ทำไมวันนี้มันมีแต่หลับกับหลับ ผมก็นอนปกติ ฉันก็ฉันปกติไม่ได้ฉันของหวาน ฉันของที่มันหนัก นอนก็นอนปกติ ประพฤติปฏิบัติธรรมก็สำรวมอยู่แต่ทำไมมันมีแต่หลับกับหลับ เราก็เข้าใจว่าเมื่อวานนี้เราอยู่ในญาณที่ ๔ วันนี้กลับเลื่อนไปสู่ภังคญาณ ญาณที่ ๕ แล้ว เราก็รู้ว่าคนนี้เกิดญาณที่ ๕ แล้ว บางครั้งบางคราวผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมถึงญาณที่ ๕ แล้วจะมี เวลาเรามองอาการพองอาการยุบมันจะสลึมสลือหรือสลัวๆ ไม่ชัดเจน อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๕ เรามองไปสนามหญ้าก็ดี มองไปตามวัดวาอารามก็ดี คล้ายๆ ว่ามันเป็นหมอกมาบังตาของเรา มองไปแล้วมันก็สลัวๆ ลักษณะอย่างนี้ก็เป็นลักษณะของญาณที่ ๕ เราภาวนา “พองหนอ” อาการพองอาการยุบมันสลึมสลือ เวลาเดินจงกรมอาการขวาย่างซ้ายย่างมันสลึมสลือ ลักษณะอย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๕ เวลาเรานั่งภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” นั่งไปหลับไป นั่งไปฝันไปอย่างนี้ก็เป็นลักษณะของญาณที่ ๕ อันนี้ลักษณะของญาณที่ ๕ โดยย่อ

          ต่อไปญาณที่ ๖ เรียกว่าภยตูปัฏฐานญาณ พิจารณาเห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว คือผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมมาถึงญาณนี้แล้วมันจะมีความรู้สึกเห็นรูปนามนั้นเป็นของน่ากลัว เพราะความปรากฏชัดของรูปของนามนั้นมันดับไปเพราะเห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว แต่ขณะที่เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัวก็ยังเดินจงกรมนั่งภาวนาอยู่ เวลานั่งภาวนาไปบางคนบางท่านก็เกิดความปวดมาก บางครั้งเห็นตุ่มน้ำก็กลัว เห็นต้นเสาก็กลัว บางครั้งเคยเดินจงกรมข้างนอกได้ก็ไม่กล้าเดิน บางครั้งก็เข้ากลดไม่กล้าเดินจงกรมในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า ความกลัวมันปรากฏชัดขึ้นมาเป็นลักษณะของภยตูปัฏฐานญาณ

          บางคนบางท่านเมื่อถึงญาณนี้แล้วก็เกิดนิมิตเห็นผีคอขาด เวลาเดินจงกรมขวาย่างหนอซ้ายย่างหนอผีคอขาดมายืนอยู่ข้างๆ หันหน้ากลับมา กลับหนอๆ ก็มายืนอยู่คล้ายๆ กับมาขวางหน้าอย่างนี้ก็มี บางคนก็เกิดความกลัวก็เข้าห้องเปิดไฟเดินจงกรม จุดเทียนเดินจงกรมก็มีมันเกิดขึ้นมาในแต่ละอย่างแต่ละท่าน เวลาเราอธิษฐานทวนญาณมันจะเกิดขึ้นมาให้รับรู้ เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมเมื่อมาถึงญาณที่ ๖ แล้วเราจะเห็นรูปเห็นนามเป็นของน่ากลัว ให้เราพิจารณาว่าทำไมวันนี้มันกลัวผิดปกติ อย่างนี้ก็เป็นลักษณะของภยตูปัฏฐานญาณ เราต้องกำหนดที่จิตใจของเรา “กลัวหนอๆ” จี้ลงไปที่ใจของเราถ้าเรากำหนดอย่างนี้สติสัมปชัญญะมันมาตัดความกลัวมันก็หายไปวิปัสสนาญาณก็จะผ่านไป อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๖ โดยย่อ

          ญาณที่ ๗ ท่านกล่าวว่าอาทีนวญาณ พิจารณาเห็นรูปนามเป็นทุกข์เป็นโทษ เมื่อมาถึงญาณนี้จะพิจารณาร่างกายเป็นทุกข์เป็นโทษ เวลาเรานั่งภาวนาไปมันจะเกิดความเจ็บความปวด กำหนดมันก็ไม่หาย ร่างกายของเราบางครั้งก็หนัก บางครั้งก็ร้อน บางครั้งก็เกิดความไม่สบาย บางครั้งเราเดินจงกรมอยู่ดีๆ กำหนดนั่งภาวนาอยู่ดีๆ พอถึงญาณนี้แล้วมันคล้ายๆ ว่าเราสะบัดร้อนสะบัดหนาวเป็นไข้ขึ้นมา บางครั้งมันก็หนาวขึ้นมาจริงๆ พอหนาวขึ้นมาเราก็ห่มผ้า เอาผ้ากลดมาห่มเอาผ้าสังฆาฏิมาห่ม เอาผ้าอาบน้ำมาห่มมันก็ไม่หาย มันสั่นคล้ายๆ กับว่าเป็นไข้จับสั่น แต่ถ้าเรามีจิตใจเข้มแข็งตั้งใจจริงประพฤติปฏิบัติจริงเราตั้งใจกำหนด มันจะหนาวขนาดไหนก็ตามผ้ามีเท่าไรเราเอามาห่มหมด เราตั้งใจกำหนดทันปัจจุบันธรรม ทันอาการขวาย่างซ้ายย่าง อาการพองอาการยุบเราพยายามกำหนด บางครั้งตั้งสัจจะไว้ว่าถ้ามันไม่หายหนาวเราจะเดินจงกรม ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง จนกว่ามันจะหายหนาวตั้งใจกำหนด บางครั้งความหนาวหายไปเดินจงกรมไปได้ ๓ ชั่วโมง ๔๕ นาทีความหนาวมันหายไป ความร้อนมันเกิดขึ้นมาเหงื่อก็ไหลทะลักออกมา ร่างกายมันแสดงทุกข์แสดงโทษขึ้นมา

          บางคนบางท่านเมื่อถึงญาณนี้แล้วเกิดอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาวขึ้นมาไปนอนเลยก็มี เรียกว่าไม่รู้เท่าทันอาการของวิปัสสนาญาณ อันนี้ก็เป็นญาณที่ ๗ เรียกว่าอาทีนวญาณ ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมถึงญาณนี้ก็ถือว่าถึงญาณที่ ๗ ได้เหมือนกัน สรุปญาณที่ ๗ ก็คือจิตใจของเราจะพิจารณาร่างกายของเรา รูปนามของเรานั้นเป็นทุกข์เป็นโทษ มองไม่เห็นว่าร่างกายของเรานั้นเป็นสาระ คิดว่าร่างกายของเราเป็นรังของโรค เป็นทุกข์เป็นโทษ เกิดขึ้นมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายต้องผุต้องพัง ตาของเราก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หูจมูกลิ้นกายใจอวัยวะทุกส่วน ๓๒ ประการเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีอะไรเลย เราเป็นอย่างไรคนหมดโลกก็เป็นอย่างนั้น คือจะพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษ แต่จะไม่ยินดีในโลกในขณะที่อาทีนวญาณปรากฏขึ้นมา ถ้าผู้ใดเกิดความพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามในลักษณะนี้ก็ชื่อว่าเป็นอาทีนวญาณ อันนี้เป็นญาณที่ ๗

          ต่อไปญาณที่ ๘ คือ นิพพิทาญาณ คือปัญญาพิจารณาเห็นความเบื่อหน่ายในรูปในนาม คือเราพิจารณาเห็นภังคญาณเห็นเฉพาะความดับไป เห็นภยตูปัฏฐานญาณ เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว แล้วเรามาพิจารณาอาทีนวญาณ เห็นรูปนามเป็นทุกข์เป็นโทษปัญญาเหล่านี้มันก็สะสมมาทำให้เราเบื่อหน่ายทำให้เกิดนิพพิทาญาณขึ้นมา ทำให้เราเบื่อหน่ายเห็นรูปนามเป็นของน่ากลัวเป็นทุกข์เป็นโทษมันไม่น่ายินดีก็เบื่อหน่าย ผู้ใดมาประพฤติปฏิบัติธรรมถึงญาณนี้แล้วจะเกิดความเบื่อหน่าย เรารู้ได้อย่างไร?

          แต่ก่อนโน้นเราไม่เคยเบื่ออาหารเวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมถึงญาณนี้มันเบื่ออาหาร เห็นกบ เห็นปลา เหม็นกลิ่นคาวอย่างนี้ก็อาเจียน บางครั้งก็ไม่อยากไปฉันอาหารเพราะเหม็นกลิ่นปลา กลิ่นกบ กลิ่นเขียด บางครั้งผู้อยู่ด้วยกันไม่ซักผ้า กัมมัฏฐานไม่ซักผ้าอย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอาเจียนขึ้นมาก็มี เรียกว่ามันเกิดความเบื่อหน่ายในอาหาร บางครั้งก็ไม่ได้ฉันอาหาร ไปฉันข้าวเปล่าคำสองคำแล้วก็นั่งนี้มันเบื่อ บางครั้งมันก็เบื่อ ๑ วัน ๒ วัน ๓ วันก็มี เมื่อมันเบื่ออาหารแล้วเราก็รู้ว่าเรามาถึงญาณที่ ๘ นิพพิทาญาณแล้ว ขณะที่มันเบื่ออาหารมันก็จะคิดคนเราเกิดมาแล้วก็ไม่มีดีอะไร เกิดขึ้นมาแล้วก็เรียนหนังสือจบมาแล้วก็ทำการทำงาน ทำการทำงานแล้วก็แต่งการแต่งงาน แล้วก็มีลูก มีลูกแล้วก็เลี้ยงลูก เมื่อเลี้ยงลูกแล้วเราก็แก่ก็เฒ่าแล้วลูกก็ไปแต่งการแต่งงานมีลูกมีผัว เราก็แก่ก็เฒ่าสามีตายไปภรรยาตายไป มันไม่มีอะไรเลยนี้มันจะเกิดปัญญาพิจารณาตั้งแต่เกิดมา แล้วก็พิจารณาคนหมดโลกแล้วก็น่าเบื่อไม่รู้ว่าเราจะอยู่ไปทำไม เบื่อทั้งร่างกายของเราแล้วก็เบื่อคนทั้งหลายทั้งปวง เบื่อการประพฤติปฏิบัติธรรม เบื่อครูบาอาจารย์ เบื่อผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ใครทำอะไรก็ไม่ถูกใจเบื่อไปหมดอะไรทำนองนี้ ลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเป็นนิพพิทาญาณเราต้องกำหนด กำหนดใจของเรา “เบื่อหนอๆ” จี้ลงไปตามอาการของมัน ขณะที่เรากำหนด “เบื่อหนอๆ” เราเห็นความเบื่อที่ปรากฏในใจของเราชัดเจนก็แสดงว่าสติของเรามันดี สัมปชัญญะของเรามันดี อาการเบื่อนั้นก็จะหายไปเร็วอันนี้เป็นลักษณะของนิพพิทาญาณ

          ต่อไปญาณที่ ๙ เรียกว่ามุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญาพิจารณาอยากออกอยากหนีอยากหลุดอยากพ้นไปจากรูปจากนาม เมื่อเราเบื่อเต็มที่ก็เหมือนกับว่าเขียดที่มันอยู่ในปากของงู อยากออกอยากหนีอยากหลุดอยากพ้นจากปากของงูฉันใด บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมมาถึงมุญจิตุกัมยตาญาณก็อยากออกอยากหนีอยากหลุดอยากพ้นไปจากวัฏฏสงสารฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้ถูกโจรจับ โจรนั้นเขาจะเอาไปฆ่าเอาไปประหาร เราอยากออกอยากหนีอยากหลุดอยากพ้นไปจากโจรฉันใด ใจของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเมื่อถึงญาณที่ ๙ มุญจิตุกัมยตาญาณนั้นก็อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น จากการเวียนว่ายตายเกิดในห้วงมหรรณพภพสงสารเหมือนกัน เรียกว่าเป็นผู้ที่อยากออกอยากหนีอยากหลุดอยากพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง คือญาณที่ ๙ มันเกิดขึ้นมาแต่เราอยากออกอยากหนีอยากหลุดยากพ้นก็จริงอยู่ แต่ว่าจะเป็นคนที่ใจน้อย เมื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรมถึงญาณนี้แล้วเราจะมีปัญญาแจ่มชัด พิจารณาเห็นรูปนามชัดเจน อยากออกอยากหนีอยากหลุดอยากพ้นจริงแต่ว่าใจน้อย ถ้าเราไปคุยกับคนอื่นบ้าง คนอื่นมาคุยบ้างเขาขัดใจนิดเดียวเท่านั้นเราก็ไม่พอใจแล้ว คล้ายๆ กับว่า เอ..พระรูปนี้ทำไมมาพูดอย่างนี้ทั้งๆ ที่สติของเราก็ดี อะไรก็ดีหมด ในลักษณะอย่างนี้มันเป็นลักษณะของมุญจิตุกัมยตาญาณ

          บางรูปบางท่านขณะที่ฟังธรรมครูบาอาจารย์ก็ฟังธรรมดีๆ พอใจทุกวันแต่พอถึงวันนี้ครูบาอาจารย์ที่เทศน์ บางครั้งเทศน์เกินเวลาไปห้านาทีก็ไม่พอใจแล้ว บางครั้งก็ถึงเวลาครูบาอาจารย์ทำวัตรเกินไปห้านาทีก็ไม่พอใจแล้ว ถึงเวลาทำวัตรหกโมงเราทำวัตรก่อนห้านาทีก็ไม่พอใจแล้วอะไรทำนองนี้ ครูบาอาจารย์พูดนิดพูดหน่อยไม่พอใจ เพื่อนผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมพูดนิดพูดหน่อยก็ไม่พอใจ บางครั้งบางคราวก็ขอลากลับบ้านเลยก็มี บางครั้งครูบาอาจารย์พูดขัดใจไม่มาส่งอารมณ์ บางครั้งครูบาอาจารย์พูดขัดใจไม่ไปฉันเช้าฉันเพลอย่างนี้ก็มีในลักษณะของมุญจิตุกัมยตาญาณ เรียกว่าญาณใจน้อย ญาณม้วนเสื่อ นี้โบราณกล่าวอย่านั้น

          ต่อไปเป็นญาณที่ ๑๐ คือ ปฏิสังขาญาณ คือปัญญาพิจารณาหาทางหลุดพ้น เมื่อมาถึงญาณนี้แล้วผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมจะมีจิตใจเข้มแข็งแต่เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมบางรูปบางท่านเมื่อมาถึงญาณนี้แล้ว คล้ายๆ กับว่ามีเข็มเหล็กแหลมอะไรมาแทงตามตัว คือเราภาวนาพองหนอยุบหนอ ไปดีๆ นี้แหละ ก็เหมือนกับคนเอาเข็มมาแทงสะดุ้งขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ บางคนบางท่านพองหนอยุบหนออยู่ดีๆ แผ่นหลังทั้งแผ่นของเรานี้ร้อนเหมือนกับเอาพริกมาราดอะไรทำนองนี้ นี้ในลักษณะของปฏิสังขาญาณมันเกิดขึ้นมา บางคนบางท่านนั่งภาวนาพองหนอยุบหนออยู่ดีๆ จิตมันร้อนขึ้นมากำหนด “ร้อนหนอๆๆ” กำหนดไม่ทันก็ลุกขึ้นมาเปลื้องจีวรแล้วก็ถอดผ้าอังสะเข้าห้องน้ำอาบน้ำเลยก็มี มันเกิดความร้อนขึ้นมาเป็นลักษณะของปฏิสังขาญาณ แต่ว่าเมื่อมาถึงญาณนี้แล้วจิตใจมันจะเข้มแข็ง ถึงจะถูกเหล็กแหลมแทงก็ดี ใจมันก็จะสู้อยู่อย่างนั้น อาบน้ำแล้วก็มาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่เดินจงกรมนั่งภาวนาใหม่ เรียกว่ามีจิตใจเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว ประพฤติปฏิบัติจริง

          เมื่อผู้ปฏิบัติถึงญาณนี้แล้วจะเข้าใจ เวลาเดินจงกรมยุงจะมากขนาดไหนก็ตาม เดินจงกรมยุงเต็มตัวก็ไม่สะทกสะท้านไม่หวั่นไหว เวลาเราเดินจงกรมแดดมันส่องมาก็ไม่หลบเดินสู้แดด เวลานั่งภาวนาแดดมันส่องมาก็ไม่หลบ หนาวขนาดไหนก็ไม่ห่มผ้า มีจิตใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวสามารถนั่งภาวนาได้ ตากหมอกตากฝนเวลาฝนตกมาก็เดินจงกรมมีร่มก็กางร่ม บางครั้งก็เดินจงกรมตากฝน เวลานั่งภาวนาฝนมันตกลงมาก็ไม่หลบไม่หลีกนั่งอยู่อย่างนั้น ไม่สะทกสะท้านปฏิสังขาญาณมันเกิดขึ้นมาก็เป็นอย่างนั้น ผีต่างๆ ที่เคยกลัวเวลาเดินจงกรมเมื่อมาถึงปฏิสังขาญาณก็ไม่กลัว สามารถที่จะไปนั่งอยู่กองฟอนได้ เขาเผาผีเราก็สามารถที่จะไปนั่งอยู่ข้างๆ ผีได้ เวลาเราไปธุดงค์เราไปอยู่ป่าช้าเราเข้าไปลึกๆ เราก็สามารถที่จะไปกางกลดอยู่กับหลักอะไรที่เขาฝังผีไว้ได้ เพราะอะไร เพราะว่าใจมันเข้มแข็ง เสียงมันดังคล้ายๆ กับว่ากิ่งไม้มันหักสามารถเดินไปดูได้

          บางครั้งเราไปเดินธุดงค์ตามถ้ำตามป่าเรานั่งภาวนาพองหนอยุบหนออยู่ดีๆ ถ้าจิตใจของเรามันเข้มแข็งบางครั้งเรานั่งภาวนาอยู่เหมือนกับกุฏิมันพลิกไปพลิกมา ลืมตาแล้วมันก็เหมือนเดิม พอเราหลับตาแล้วกุฏิมันพลิกไปพลิกมามันเป็นอะไร เราเดินไปดูก็มี เวลาเรานั่งภาวนาพองหนอยุบหนออยู่เหมือนกับท่อนไม้ใหญ่ๆ มันหักลงมาจากภูเขา เหมือนกับท่อนไม้ที่เราโอบไม่รอบมันหักลงมาเสียงสนั่นหวั่นไหวแต่พอเราลืมตามันไม่มีอะไร เราหลับลงไปอีกมันหักลงมาอีกมันกลิ้งลงมาเหมือนกับจะมาทับกระท่อมที่เราอยู่แต่เราลืมตามันก็เหมือนเดิม ถ้าเรามาถึงปฏิสังขาญาณ เราเดินขึ้นไปดูโดยที่ไม่มีไฟฉาย ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าจิตใจมันเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวขึ้นมา เรียกว่าปฏิสังขาญาณขาขาดเอาคางเกาะไปจิตใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว

          ต่อไปญาณที่ ๑๑ สังขารุเปกขาญาณ ผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมถึงสังขารุเปกขาญาณแล้วจะมีการวางเฉยในรูปในนาม เราประพฤติปฏิบัติธรรมพองหนอยุบหนอไป เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าความวางเฉยมันเกิดขึ้น สังขารุเปกขาญาณมันเกิดขึ้นแก่เราแล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ให้เราสังเกตดูว่าขณะที่เราประพฤติปฏิบัติธรรม เราผ่านญาณมาโดยลำดับๆ เมื่อมาถึงสังขารุเปกขาญาณแล้วเราจะวางเฉยคือสติของเรามันจะใส สัมปชัญญะของเราก็จะทัน ร่างกายของเรามันจะเบาเป็นปุยนุ่น ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด คล่องแคล่วว่องไว จะคู้ จะเหยียด จะก้ม จะเงย มีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรม จะถ่ายหนักถ่ายเบามีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรม จะเคี้ยวข้าวกลืนข้าว เราจะทำวัตรอ้าปากเราสวดพุทธมนต์ เราสวดริมฝีปากเคลื่อนไหวอย่างไรเรามีสติกำหนดรู้คล่องแคล่วว่องไว เรามีสติทันปัจจุบันธรรมถ้าในลักษณะอย่างนี้ใจของเราจะเป็นกลาง เราจะมีสติมีสัมปชัญญะดี เราจะพิจารณาเห็นศีลของเรามันบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์หนอ เราประพฤติปฏิบัติธรรมมาถูกต้องหรือไม่ถูกต้องหนอ เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณมันจะเกิดความคิด เกิดความรู้เข้าใจของมันเองแล้วจะเกิดความภาคภูมิใจ เกิดความองอาจกล้าหาญในธรรม เกิดความมอบกายถวายชีวิตในธรรมขึ้นมามีใจวางเฉยเป็นกลางในรูปในนาม นี้ลักษณะของสังขารุเปกขาญาณมันเกิดขึ้นมา ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจะไม่ยินดียินร้ายในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในสัมผัส

          แต่ก่อนโน้นเรานั่งภาวนาไปปีติมันเกิดขึ้นมา คล้ายๆ กับว่าจิตของเรามันลิงโลด จิตใจของเรามันดีใจเหลือเกิน เวลาเรานั่งไปแล้วมันไม่เคยเห็นนิมิต ไม่เคยเห็นเทวดา ไม่เคยเห็นวิมาน มันเกิดความดีใจอิ่มใจ บางครั้งเรานั่งไปเห็นนิมิตแล้ววันนั้นเราอิ่มใจทั้งวัน เดินไปไหนก็อมยิ้มทั้งวันคล้ายๆ กับว่ามันเห็นนิมิตครั้งแรกมันปรากฏขึ้นมา ปีติมันเกิดขึ้นมาจิตใจมันลิงโลดจิตใจมันดีใจขึ้นมา แต่เมื่อเราถึงสังขารุเปกขาญาณแล้วมันเฉย เห็นอะไรก็เฉยๆ เขาจะเอาเงินเอาทองมาถวาย เขาจะมาชมจะมายกย่องก็เฉยๆ ในลักษณะอย่างนี้ เป็นลักษณะของสังขารุเปกขาญาณ สรุปแล้วสังขารุเปกขาญาณก็จิตใจวางเฉยในรูปในนาม ในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในสัมผัสในอารมณ์ในธรรมทั้งหลายทั้งปวง จิตใจมันวางเฉย เมื่อผู้ใดปฏิบัติธรรมถึงสังขารุเปกขาญาณแล้วก็ถือว่าถึงสุดยอดของญาณโลกีย์ ถึงที่สุดของญาณโลกีย์แล้ว ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติถึงนี้แล้วก็จะเกิดความสุข ความสบายใจ เป็นสุดยอดของญาณโลกีย์ มีความสุข มีความสบาย มีความปลอดโปร่งตามลำดับของวิปัสสนาญาณ แต่ถ้าผู้ใดมีความเพียรมากขึ้นไปกว่านั้นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อนุโลมญาณมันเกิดขึ้นมา

          ญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ ลักษณะของอนุโลมญาณนั้นมี ๓ ประการ คืออาการพองอาการยุบของเรามันจะเร็วขึ้นๆๆ นี้ในลักษณะของอนุโลมญาณ ถ้าผู้ใดเคยให้ทาน เคยรักษาศีลมามากเวลาเรามาภาวนาอาการพองยุบมันจะเร็วขึ้นๆๆๆ อันนี้ก็สรุปได้ว่าเราเคยให้ทานรักษาศีลมามาก แต่ถ้าผู้ใดเวลาภาวนาแล้วอาการพองยุบมันแน่นเข้าๆๆๆ ก็จงรู้เถิดว่าบุคคลนั้นเคยเจริญสมถะมามาก แต่เมื่อเราภาวนามาถึงญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ อาการพองอาการยุบมันแผ่วเบาเข้าๆๆๆ จงรู้เถิดว่าเรานั้นเคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมามาก อันนี้เป็นลักษณะของอนุโลมญาณ อาการพองยุบมันจะเร็วขึ้นๆๆ อาการพองยุบมันจะแน่นเข้าๆๆ อาการพองยุบมันจะเร็วแผ่วเบาเข้าๆๆ คืออาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆ มันจะขาดความรู้สึกไปนี้เป็นลักษณะของอนุโลมญาณ มันจะแน่นเข้าๆๆ แล้วก็ขาดความรู้สึกไป นี้เป็นลักษณะของอนุโลมญาณ แล้วมันจะแผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็ขาดความรู้สึกไปเป็นอนุโลมญาณ ขณะที่มันขาดความรู้สึกไปอริยสัจทั้ง ๔ ก็เกิดขึ้นมา คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็เกิดขึ้นมา

          เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอริยสัจ ๔ มันเกิดขึ้นมา อริยสัจ ๔ ในภาคของปฏิบัติธรรมไม่เหมือนกับอริยสัจ ๔ ในภาคของปริยัติ อย่างเช่นเราภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” อะไรเป็นสมุทัยสัจ อะไรเป็นทุกขสัจ อะไรเป็นนิโรธสัจ อะไรเป็นมรรคสัจ ขณะที่เราภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” ขณะที่ท้องของเรามันเริ่มพองขึ้นมาอันนี้เป็นสมุทัยสัจแล้ว ขณะที่ท้องพองของเรามันเริ่มยุบลงไปเป็นสมุทัยสัจแล้ว ขณะที่จิตของเรามันเริ่มคิดเริ่มกำหนดเป็นสมุทัย แล้วรูปนามเริ่มเกิดขึ้นมาเริ่มเป็นสมุทัยสัจแล้ว ขณะที่ท้องพองท้องยุบของเรามันพองขึ้นไปๆๆ จนสุดยุบมันทนอยู่ไม่ได้เป็นทุกขสัจแล้ว ขณะที่ท้องของเรามันยุบลงไปๆๆ จนสุดยุบมันทนไม่ได้เป็นทุกขสัจแล้ว ขณะที่เราเดินจงกรม “ยกหนอ” “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ขณะที่อาการยกมันยกขึ้นสุดยกมันทนอยู่ไม่ได้มันดับไปเป็นทุกขสัจแล้ว ขณะที่เราย่างไป “ขวาย่างหนอ” อาการย่างไปสุดย่างแล้วมันทนอยู่ไม่ได้มันดับไป อาการเหยียบมันเกิดขึ้นมานี้ในลักษณะอาการของทุกขสัจ คืออาการของพองของยุบของรูปของนามเกิดขึ้นมาแล้วมันถึงที่สุดเรียกว่าทุกขสัจ ส่วนที่เป็นนิโรธสัจคืออาการพองอาการยุบมันดับไป จิตที่บริกรรมมันก็ดับไปด้วย อาการดับไปของรูปของนามพร้อมกันทั้งสองประการ ท่านกล่าวว่าเป็นนิโรธสัจ ส่วนมรรคสัจคือปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่ต้นพองกลางพองสุดพองจนกว่ามันดับไป นี้ปัญญาที่ทราบชัดว่ารูปนามมันดับไปอย่างไร แล้วก็เป็นมรรคสัจรู้ว่ามันดับไปอย่างไร รู้ปัญญาที่มันเกิดขึ้นตั้งอยู่จนกว่ามันดับไปว่ามันดับลงไปอย่างไร ดับลงไปตอนท้องพองท้องยุบ ดับลงไปตอนนั่งหรือตอนถูกจำได้ ปัญญาทราบชัดนี้เป็นมรรคสัจ นี้ท่านกล่าวว่ามรรคสัจมันก็เกิดขึ้นที่อนุโลมญาณคือ ขณะที่ถึงอนุโลมญาณนั้นอาการพองยุบมันเร็วขึ้นๆๆ แล้วดับลงไป อาการพองยุบมันแน่นเข้าๆๆ แล้วดับลงไป อาการพองยุบมันแผ่วเบาเข้าๆๆ มันดับลงไป หลังจากที่มันดับลงไปแล้วอาการที่มันดับลงไปครั้งแรก อาการที่มันเริ่มดับลงไปนั้นท่านกล่าวว่าเป็นโคตรภูญาณ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 ธันวาคม 2564 13:16:50 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 28 ธันวาคม 2564 13:16:20 »



โสฬสญาณ


          โคตรภูญาณคือโอนโคตรจากปุถุชนคือตัดจากโคตรปุถุชนไปสู่อริยโคตร ญาณนี้มีพระนิพพานเป็นอารมณ์เรียกว่าถึงพระนิพพานตรงญาณนี้ ญาณนี้เป็นโลกุตตระ คือ โคตรภูญาณ ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมถึงญาณนี้ก็แสดงว่าถึงพระนิพพานแล้ว โคตรภูญาณนั้นอยู่ในระหว่าง คล้ายๆ กับว่าโอนจากโคตรปุถุชน ตัดขาดจากโคตรปุถุชนเข้าสู่อริยโคตรก็คือการดับครั้งแรกเป็นโคตรภูญาณ หลังจากดับลงไปแล้วทรงอยู่หนึ่งขณะจิตนั้นเป็นมรรคญาณ กิเลสขาดจากขันธสันดานตรงญาณนี้ ประหารกิเลสตรงญาณนี้ญาณนี้มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ หลังจากที่ทรงอยู่หนึ่งขณะจิตแล้วก็ทรงอยู่สองขณะจิตบ้าง สามขณะจิตบ้าง ท่านกล่าวว่าเป็นผลญาณ ญาณที่ ๑๕ ถ้าผู้ที่มีปัญญาน้อยก็เกิดสองขณะจิต หรือว่ามันทบุคคล คนที่มีปัญญามากก็เกิดสามขณะจิต เรียกว่าติกขบุคล จะเข้าผลสมาบัติได้ บางครั้งก็เข้าผลสมาบัติ ๕ นาที ๑๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง หรือว่า ๓๐ ชั่วโมงก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมี หรือว่ารู้สึกตัวขึ้นมาเมื่อกี๊เราเป็นอะไร ก็เป็นญาณที่ ๑๖ เรียกว่าปัจจเวกขณญาณ ก็พิจารณามรรคที่ตนเองได้แทงตลอด พิจารณาผลที่ตนเองได้เสพได้เข้าถึงที่ผ่านมาเมื่อสักครู่นี้ พิจารณากิเลสที่ตนเองละได้ว่าสักกายทิฏฐิได้ตายไปจากจิตจากใจ วิจิกิจฉาได้ตายไปจากจิตจากใจ สีลัพพตปรามาสได้ตายไปจากจิตจากใจ เรียกว่าพิจารณากิเลสที่ละได้ แล้วก็พิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ว่าเราเพิ่งประหารสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสไป แต่กิเลสเบื้องบนคือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน อวิชชายังอยู่ในจิตในใจของเราเรายังละไม่ได้นี้การผ่านวิปัสสนาญาณขั้นต้น

          ปฐมมรรคเราก็พิจารณาพระนิพพานว่าขณะที่เข้าผลสมาบัติ ขณะที่มันผ่านไปมันมีความเย็น ใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยิน รูปก็ไม่มี เสียงก็ไม่มี กลิ่นก็ไม่มี รสก็ไม่มี สัมผัสก็ไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่างมันดับหมด พระนิพพานมันดับมันเย็นในลักษณะอย่างนี้ รู้สึกตัวขึ้นมาก็มีความสุขมีความเย็นมีความสบายมีความปลอดโปร่งมีความโล่ง คล้ายๆ กับว่าความรู้สึกมันหายไป ความรู้สึกมันแตกต่างไป อารมณ์ต่างๆ ก็แตกต่างไป นี้ในลักษณะของปัจจเวกขณญาณปรากฏขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่าบุคคลผ่านญาณที่ ๑๖ ไป ๑ รอบจะเป็นในลักษณะอย่างนี้

          สรุปแล้วขณะที่อาการพองอาการยุบ ขณะที่เราปฏิบัติถึงอนุโลมญาณก็จะเกิดอาการ ๓ อย่างขึ้นมา คืออาการเร็วขึ้นๆๆ นั้นเป็นอนิจจัง อาการที่แน่นเข้าๆๆ เป็นทุกขัง อาการที่แผ่วเบาเข้าๆๆ เป็นอนัตตา ขณะที่มันดับลงไปขาดความรู้สึกครั้งแรกนั้นเป็นอนุโลมญาณ หลังจากที่มันดับลงไปแล้ว ต้นที่มันดับลงไปครั้งแรกเป็นโคตรภูญาณ ต่อจากที่มันดับลงไปแล้วเป็นโคตรภูญาณ โคตรภูญาณนี้เป็นญาณที่โอนจากโคตรปุถุชน คือตัดจากโคตรปุถุชนเรียกว่าถึงพระนิพพานตรงญาณนี้เป็นโลกุตตระ หลังจากนั้นก็ทรงอยู่ ๑ ขณะจิตหลังจากที่ทรงอยู่ ๑ ขณะจิตกิเลสก็ตายตรงมรรคญาณ หลังจากนั้นก็เป็น ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้างเป็นผลญาณ หลังจากนั้นจึงพิจารณาว่าเราเป็นอะไรไป เราก็จะรู้เฉพาะถึงอนุโลมญาณ

          ส่วนญาณที่ ๑๓ คือ โคตรภูญาณ มรรคญาณ ผลญาณนี้เราจะไม่รู้สึกตัว มารู้สึกตัวตรงปัจจเวกขณญาณว่าเราเป็นอะไร นี้ลักษณะของญาณ พระอาจารย์ท่านจึงกล่าวว่า ญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ นั้นเป็นวิถีเดียวกันถ้าถึงญาณใดญาณหนึ่งก็ได้ ญาณที่ ๔ ที่ ๕ เป็นวิถีเดียวกัน ญาณที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ เป็นวิถีเดียวกัน ญาณที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เป็นวิถีเดียวกัน ญาณที่ ๑๒ ถึงญาณที่ ๑๖ เป็นวิถีเดียวกันถึงญาณใดญาณหนึ่งก็ถึง ถ้าเราถึงญาณที่ ๑ ก็ถึงญาณที่ ๓ ถ้าเราถึงญาณที่ ๔ ก็ถึงญาณที่ ๕ เราถึงญาณที่ ๖ ก็ถึงญาณที่ ๘ ถ้าเราถึงญาณที่ ๙ ก็ถึงญาณที่ ๑๑ เราถึงญาณที่ ๑๒ ก็ถึงญาณที่ ๑๖ นี้มันเป็นวิถีเดียวกัน นี้เป็นการกล่าววิปัสสนาญาณโดยย่อก็เห็นว่าใช้เวลามานานพอสมควร การกล่าวก็ยังไม่สมบูรณ์แต่ก็พอที่จะเป็นทิฏฐานุคติ แนวทางในการประพฤติปฏิบัติธรรมให้แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมพอสมควร ที่กล่าวมา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา

          ในท้ายที่สุดนี้ด้วยการแสดงธรรมในครั้งนี้ก็ขอน้อมเอาบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนั้นมอบให้แก่บุรพชน บุรพาจารย์ผู้สร้างวัดปัจฉิมวันมาก็ขอน้อมบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงให้แก่พระภูมิเจ้าที่ เทวดาทั้งหลายทั้งปวงที่สิงสถิตย์อยู่ที่วัดปัจฉิมวัน ก็ขอมอบบุญกุศลทั้งหลายให้แก่บุรพชน บุรพาจารย์ ให้แก่สัมภเวสี เทวดาทั้งหลายที่อาศัยอยู่ที่วัดปัจฉิมวันขอให้อนุโมทนาเมื่ออนุโมทนาแล้วขอให้วัดปัจฉิมวันจงเจริญรุ่งเรืองด้วยพระสงฆ์สามเณร เจริญรุ่งเรืองด้วยญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงเงินไหลนองทองไหลมา พระสงฆ์สามเณรทรงศีลทรงธรรมทรงมรรคทรงผล แล้วก็ขอน้อมบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนั้นถึงบิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลาย ตลอดถึงญาติถึงโยมทั้งหลายผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ขอให้โชคลาภร่ำรวย มั่งมีศรีสุข ขอให้เงินไหลนอง ขอให้ทองไหลมา ขอให้มีกุศลจิตสถิตมั่นนำตนให้พ้นไปจากความทุกข์ถึงสันติสุขกล่าวคือมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อุปาทาน โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 0 1152 กระทู้ล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2563 15:52:49
โดย Maintenence
ปกิณณกธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 936 กระทู้ล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2563 13:55:19
โดย Maintenence
ความหมายของธรรมะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1007 กระทู้ล่าสุด 02 ธันวาคม 2563 14:20:54
โดย Maintenence
โสฬสญาณ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 2 802 กระทู้ล่าสุด 25 มีนาคม 2565 14:35:52
โดย Maintenence
โสฬสญาณ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 2 152 กระทู้ล่าสุด 31 กรกฎาคม 2566 18:31:37
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.882 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 30 มกราคม 2567 19:12:02