[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
23 เมษายน 2567 23:33:37 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: “ดำน้ำลุยเพลิง” วิธีพิจารณาคดีความสมัยโบราณของไทย สิ่งศักดิ์สิทธิ์คือผู้พิพากษา  (อ่าน 374 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2322


ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 97.0.4692.99 Chrome 97.0.4692.99


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 07 กุมภาพันธ์ 2565 10:08:52 »


นางสีดาลุยเพลิงถวายสัตย์ต่อพระราม
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระระเบียงคดห้องที่ 111 ที่อยู่รอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม


“ดำน้ำลุยเพลิง” วิธีพิจารณาคดีความสมัยโบราณของไทย สิ่งศักดิ์สิทธิ์คือผู้พิพากษา
ที่มา -   ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2553
ผู้เขียน - อาทิตย์ ศรีจันทร์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ - วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

บทนำ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันโลกได้พัฒนาก้าวไกลมาก เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างดาษดื่นทำให้มนุษย์ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น นอกเหนือไปจากความสะดวกสบายที่มนุษย์พึงได้รับจากวิทยาการอันก้าวหน้า ความแม่นยำที่เกิดจากเทคโนโลยีเหล่านั้นช่วยให้มนุษย์สามารถกำหนดกิจกรรมของตนที่จะดำเนินในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

ถึงแม้วิทยาการจะก้าวหน้าไปมาก แต่จิตใจของมนุษย์เองก็มิได้พัฒนาตามวิทยาการเหล่านั้นด้วย มิหนำซ้ำ ความปลอดภัยในชีวิตของมนุษย์เองยังถูกคุกคามจากวิทยาการที่ตนได้คิดค้นขึ้น! กล่าวได้ว่าระหว่างวิทยาการหรือเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งกับสภาพจิตใจของมนุษย์ในปัจจุบันไม่มีความสมดุลซึ่งกันและกัน

ในยุคสมัยที่วิทยาการยังไม่ก้าวหน้าและอาชญากรรมก็เกิดขึ้นอยู่ทั่วไป การติดตามหาตัวผู้ร้ายหรือผู้กระทำผิดมาลงโทษจึงทำได้ยากกว่าในปัจจุบันซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ภายใต้วิชาที่ชื่อว่า “นิติวิทยาศาสตร์” แต่ถึงกระนั้น คนในสมัยโบราณก็มีวิธีที่จะติดตามผู้ร้ายมาลงโทษได้ โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า “ความเชื่อ”

เมื่อสมัยโบราณหากเกิดเหตุร้ายหรือเกิดคดีความวิวาทกันระหว่างบุคคล คู่ความทั้งสองก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และถ้าผ่านกระบวนการสอบสวน สืบพยานต่าง ๆ แล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็ไม่สามารถหาหลักฐานมาหักล้างหรือไม่สามารถยอมความกันได้ ผู้พิพากษาตระลาการจึงได้ให้มีการ “พิสูจน์” กันเกิดขึ้นโดยใช้ตัวบทกฎหมายที่มีชื่อว่า “พระไอยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง”

ทำไมต้องพิสูจน์?
ก่อนที่กฎหมายจะลงโทษหรือตัดสินใครคนใดคนหนึ่งว่ามีความผิดหรือไม่ และถ้ามีความผิดจะได้รับโทษอย่างไรนั้นต้องมีขั้นตอน กระบวนการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลนั้นมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนของการพิพากษาต่อไป และในขั้นตอนของการสืบสวนสอบสวนนี้แหละ ที่ศาลอนุญาตให้คู่กรณีได้นำพยานและหลักฐานของแต่ละฝ่ายมาหักล้างกัน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์

แต่ในบางครั้งการสืบพยานและหลักฐานของคู่กรณีไม่สามารถหักล้างกันได้ จึงไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษในกระบวนการยุติธรรมได้ ถ้าเป็นในปัจจุบันคดีนั้น ๆ อาจต้องอาศัยเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ ๆ ซึ่งมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ถ้าเป็นสมัยโบราณล่ะจะทำอย่างไร?

กฎหมายลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิงเป็นกฎหมายที่เป็นเกณฑ์ตัดสินข้อแพ้ชนะคดีระหว่างคู่ความโดยยึดถือปรากฏการณ์เหนือเกณฑ์มาตรฐานตามธรรมชาติเป็นตัวชี้วัด ก่อนที่จะมาถึงวิธีการนี้ คดีดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการพิจารณาที่ควรจะทำมาทั้งหมดแล้วแต่ไม่อาจค้นหาความจริงได้จึงต้องใช้วิธีพิสูจน์ซึ่งมี 7 ประการ  ได้แก่ “ให้ล้วงตะกั่ว 1 ษาบาล 1 ลุยเพลิงด้วยกัน 1 ดำน้ำด้วยกัน 1 ว่ายน้ำขึ้นน้ำค่ามฟากแข่งกัน 1 ตามเทียนคลเล่มเท่ากัน 1” (กฎหมายตราสามดวง, 2521 : 229)

การใช้เกณฑ์เหนือธรรมชาติเป็นตัวชี้วัดในกระบวนการยุติธรรมสมัยโบราณนั้นคือการนำระบบจารีตทางสังคมซึ่งผูกติดอยู่กับความเชื่อ และตัวความเชื่อนั้นก็คือความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง ความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นความเชื่อดั้งเดิมของมนุษย์ที่เชื่อว่าธรรมชาติมีพลังลึกลับสามารถ ให้คุณและโทษแก่มนุษย์ได้ มนุษย์จึงจำเป็นต้องกราบไหว้บวงสรวงบูชาเพื่อให้ธรรมชาติอำนวยประโยชน์ตามที่ตนต้องการได้

นอกจากนี้มนุษย์ยังเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเป็นผู้ทรงคุณธรรม และเป็นผู้ทรงความดีทั้งปวงไว้ เมื่อมีปัญหาใดเกิดขึ้นก็สวดมนต์อ้อนวอนขอให้อุปสรรคที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นหมดไป

ด้วยเหตุนี้เมื่อคู่กรณี (ในคดีความ) ไม่สามารถหาพยานและหลักฐานมาแสดงความผิดแก่กันได้ มนุษย์จึงมอบหมายให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือร่วมกัน และมีความเชื่อร่วมกันว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมมาชี้วัดตัดสินหาตัวผู้กระทำผิดจริงเพื่อนำไปลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

การพิสูจน์ในอดีต
การพิสูจน์ความจริงในกระบวนการยุติธรรมปรากฏหลักฐานมาช้านานทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในอาณาจักรเจินละ หรือเขมรโบราณ ปรากฏหลักฐานการพิจารณาคดีความด้วยการพิสูจน์อยู่ในบันทึกของโจวต้ากวานซึ่งเดินทางไปยังเขมรกับราชทูตของพระเจ้าเฉวิงจงแห่งราชวงศ์หงวนใน พ.ศ. 1838 บันทึกนี้กล่าวถึงการพิจารณาคดีความว่า

ผู้ใดจับขโมยได้ก็มีสิทธิลงโทษกักขังและโบยตี ยังมีอีกอย่างหนึ่งซึ่งนำเอามาใช้ได้ กล่าวคือ ถ้าสิ่งของผู้ใดหาย สงสัยว่าคนนั้นคนนี้จะเป็นผู้ลักเอาไปและผู้นั้นไม่ยอมรับสารภาพ เขาก็จะเคี่ยวน้ำมันในหม้อให้ร้อน แล้วบังคับให้ผู้นั้นเอามือจุ่มลงไป ถ้าหากลักขโมยสิ่งของไปมือก็จะไหม้พอง มิฉะนั้นแล้วทั้งมือทั้งเนื้อทั้งหนังก็จะอยู่ดังเดิม กล่าวได้ว่า ชาวป่าเถื่อนก็มีกฎระเบียบอย่างนี้แหละ

อนึ่ง ในกรณีที่คนสองคนมีคดีพิพาทกัน ไม่ทราบว่าฝ่ายใดฝ่ายตรงฝ่ายใดคด ทางฟากตรงข้ามกับพระราชวังมีปราสาทหินย่อม ๆ อยู่ 12 หลัง ให้คู่พิพาทเข้าไปนั่งในปราสาทคนละหลัง ข้างนอกให้ญาติของทั้งสองฝ่ายคอยเฝ้าระวังซึ่งกันและกัน ทั้งคู่จะนั่งอยู่ในปราสาทวันสองวัน หรือสามสี่วัน ผู้ที่เป็นฝ่ายผิดเมื่อออกจากปราสาท บ้างก็เนื้อตัวเป็นฝีพุพอง บ้างก็มีอาการทำนองไข้ตัวร้อน ผู้ที่เป็นฝ่ายถูกก็จะไม่เป็นอะไรเลยแม้แต่น้อย การที่เอาวิธีการนี้มาใช้ตัดสินชี้ขาดความคดและความซื่อตรงนั้นเรียกว่า “คดีพิพาทแห่งสรวงสวรรค์” ทั้งนี้เนื่องจากผืนแผ่นดินของเขานั้นศักดิ์สิทธิ์จึงได้เป็นเช่นนั้น (เฉลิม ยงบุญเกิด, 2543 : 28)


พระไวยและขุนช้างดำน้ำพิสูจน์ต่อหน้าพระพันวษา ภาพวาดโดย อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์
ประกอบหนังสือเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน สำนวน กาญจนาคพันธุ์ และ นายตำรา ณ เมืองใต้
พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2504 สำนักพิมพ์อมรินทร์นำมาพิมพ์ใหม่ครั้งที่สอง พ.ศ.2545

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มีหลักฐานปรากฏว่ามีการใช้วิธีพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน ในจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ (2548 : 262-264) ได้บันทึกถึงเรื่อง “ว่าด้วยแบบแผนตุลาการ” ไว้ โดยกล่าวถึงในกรณีที่คู่กรณีในคดีความต่างก็ใช้หลักฐานและพยานต่าง ๆ มายืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองแล้ว

แต่พยานหรือหลักฐานธรรมดายังไม่เพียงพอที่จะรับได้ไซร้ก็จำต้องหาวิธีผูกซักผู้ต้องหาตามจารีตนครบาลซึ่งค่อนข้างจะสาหัสอยู่และใช้กระทำกันอย่างรุนแรง มีวิธีนานาประการ หรือมิฉะนั้นก็ใช้พิสูจน์กันด้วยน้ำและไฟ หรือใช้วิธีทางไสยศาสตร์อื่น ๆ อีก แต่ไม่มีขบวนวิธีให้โจทก์จำเลยเข้าต่อสู้กัน (แบบดวลกันของฝรั่ง)

ใน “หลักไชย
หลวงสาครคชเขต (ประทวน สาคริกานนท์)

หลวงสาครฯ ยังได้บันทึกไว้อีกว่า หลังจากสอบถามถึงวิธีการพิจารณาคดีความในครั้งนี้ว่าใช้หลักเกณฑ์อะไรเป็นบทพิพากษา ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า “เขาบอกกับพวกเราว่ายึดตามหลักกฎหมายไทยสมัยโบราณนั้นเอง พวกเราจึงนึกขึ้นได้ว่ากฎหมายเก่าของไทยเรามีการดำน้ำลุยเพลิงจริง” (หลวงสาครคชเขต, 2552 : 318)

จากหลักฐานการพิสูจน์ความจริงในกระบวนการยุติธรรมที่เสนอมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอดีตมีการนำเอา “ความเชื่อ” ในสังคมเป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่งในการตัดสินข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งในคดีความเพื่อให้ความจริงในคดีความนั้น ๆ ปรากฏขึ้น


พระไอยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง : การพิสูจน์ความจริงด้วยความเชื่อ
ในสมัยอยุธยามีการตรากฎหมายลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิงขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี มีรายละเอียดอยู่ในตอนต้นของกฎหมายดังนี้

ศุภมัศดุศักราช 1899 ศกอัชะสังวัชฉะระผคุณมาศ ศุกปักษย์ตะติยะดิดถียคุรุวาร บริเฉทกาลกำหนดพระบาทสมเด็จ์พระเจ้ารามาธิบดี ศรีสินธรบรมจักรพรรดิศร บวรธรรมมิกมหาราชาธิราชเจ้า ผู้ผ่านพิภพถวัลราชศริสมบัติ ในกรุงเทพมหานครบวรทวาราวะดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมราชมหาสถาน… มีพระราชโองการมาณะพระบันทูลสูระสีหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ถ้าอนาประชาราษฎรข้าขอบเขดขันทเสมามนทลจะพิพาษหาคดีแก่กัน ถึงพิสูทแก่กัน ให้กระทำตามพระราชบัญญัตินี้ (กฎหมายตราสามดวง, 2521 : 229)

ปีที่ตรากฎหมายนี้ขึ้นครั้งแรกนั้นคือ พ.ศ.1899 แต่หลังจากนั้นมีการตรากฎหมายตราสามดวงขึ้นอีกครั้งในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในบานแพนกของกฎหมายลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิงที่อาลักษณ์ได้จดบันทึกไว้เป็นวัน “วันอาทิตย์ เดือน 1 ขึ้น 3 ค่ำ จุลศักราช 1167” (ราชบัณฑิตยสถาน, 2550 : 35) ซึ่งเป็นวันเดือนปีตามทางจันทรคติเมื่อเทียบเป็นวันทางสุริยคติจะตรงกับวันที่ “24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2348” (ราชบัณฑิตยสถาน, 2550 : 35)

กฎหมายฉบับนี้มีหลักฐานว่าใช้มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนต้นดังที่ปรากฏในตอนต้นของพระไอยการ อีกทั้งยังอยู่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น กฎหมายฉบับนี้เข้าใจว่าถูกยกเลิกไปในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 เพราะใน “จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี” (หลวงสาครคชเขต, 2552 : 318) ตอนเดียวกับที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วบันทึกว่า “การชำระคดีความทำนองนี้ในสมัยโบราณต้นรัชกาลที่ 5 ก็ยังปรากฏว่ายังใช้กันอยู่เหมือนกัน”

กฎหมายพระไอยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิงนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ว่าด้วยวิธีการประกอบพิธีและส่วนที่เป็นตัวบทสำหรับอ่านในการประกอบพิธีกระบวนการพิสูจน์ (โองการดำน้ำ, โองการลุยเพลิง) รายละเอียดทั้งหมดของส่วนที่ว่าด้วยวิธีการประกอบพิธีนั้น สามารถหาอ่านได้ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนในภาษาที่สละสลวยและอ่านง่ายกว่าในกฎหมายตราสามดวง เพราะถ้าหากเทียบกันบทต่อบทในกฎหมายลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิงจะพบว่าตรงกัน เช่น

เครื่องตั้งสังเวยกรุงพาลี
มีมะกรูดส้มป่อยกระแจะจันทน์
ผ้าขาวนุ่งขาวห่มพรมลาด
เสื่อสาดสายสิญจน์ให้จัดสรร
หม้อข้าวหม้อแกงใหม่และหม้อกรัน
กระโถนขันน้ำตั้งทั้งกระแซง
กระติกเหล้าขาวข้าวสารเชิงกรานใหม่
ข่าตะไคร้หอมกระเทียมพริกแห้ง
ครกสากคนใช้ไก่พะแนง
ทั้งสองแห่งจัดหาให้เหมือนกัน
ขุนช้างกับพระไวยได้บัญชา
ก็รีบสั่งบ่าวข้าขมีขมัน
บัดเดี๋ยวใจได้มาสารพัน
ถ้วนจนครบครันดังบัญชา

(เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เล่ม 2, 2544 : 203)

ในกฎหมายลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิงกล่าวว่า

เมื่อแรกจะพิสูทนั้นให้กระลาการคุมลูกความทั้งสองไปซื้อไก่เปนแห่งเดียวกัน ซื้อสีผึ้ง 1 ด้ายดิบ 1 ผักซ่มป่อย 1 ผลมะกรูด 1 ม่อข้าวม่อแกง 1 ผ้านุ่ง 1 ผ้าห่ม 1 แห่งเดียวกัน จ่ายเครื่องบายศรีแห่งเดียวกันแล้วให้กระลาการเกาะลูกความทังสองไว้ในกระลาการ ให้ลูกความนุ่งขาวห่มขาวอยู่กรรมในกระลาการ 3 วัน อย่าให้คู่ความเดิรไปมานอกกรรมแลให้กระลาการหุงเข้าให้ลูกความกิน ให้คอยดูลูกความจะร้ายดีกระการใด ถ้าลูกความผู้ใดด่าตีลูกความข้างหนึ่ง ท่านว่ามีพิรุทให้เอามันผู้ตีด่านั้นเปนแพ้ (กฎหมายตราสามดวง, 2521 : 229)

ในส่วนของตัวบทที่ใช้ในการประกอบพิธีหรือที่เรียกว่า “โองการดำน้ำ, โองการลุยเพลิง” นั้น แต่งด้วยกาพย์ฉบัง 16 มีร่ายนำใช้ร่วมกันเรียกว่า “คำสัจจาธิษฐาน”

ร่ายนำหรือ “คำสัจจาธิษฐาน” นั้น เป็นร่ายที่ใช้ร่วมกันในการอ่านเพื่อประกอบพิธีพิสูจน์ กล่าวคือ เมื่อจะใช้การพิสูจน์ด้วยการดำน้ำ ก็ให้อ่าน “คำสัจจาธิษฐาน” แล้วก็ตามด้วย “โองการดำน้ำ” หรือถ้าจะใช้วิธีการพิสูจน์ด้วยการลุยเพลิงก็ให้อ่าน “คำสัจจาธิษฐาน” แล้วก็ตามด้วย “โองการลุยเพลิง”

“คำสัจจาธิษฐาน” แต่งด้วยร่ายโบราณในทุกวรรคมีจำนวนคำประมาณ 5-8 คำ ส่งสัมผัสคำสุดท้ายของวรรคไปยังคำที่ 1-3 ของวรรคต่อไป ดังตัวอย่าง

ศรีสวัสดิบังคมคัล อภิวันทรัตนไตรยางค์ โดยปัญจางคสโมสร ยอกรอภิวาท ในบางบาทยุคล วิมลเรณู มฤธูสุนธราลักษณ บวรอัคสาศดา อันกอปด้วยทวัดดึงษมหาบุรุษลักขณา แลอะศรีติยานุเพียญชนะแปดสิบทัศ ขอถวายนมัสพระธรรม คำภีรแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ… (กฎหมายตราสามดวง, 2521 : 234)

ร่ายนำบทนี้เป็นลักษณะประณามพจน์ซึ่งปรากฏอยู่ในวรรณคดีตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนใหญ่เป็นการชมบุญญาบารมีของพระมหากษัตริย์และความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ช่วยคุ้มครองเมืองหรือช่วยเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งวรรณคดีเรื่องนี้ได้สำเร็จ ร่ายนำหรือบทประณามพจน์นั้นแต่งขึ้นเพื่อเป็นบทสำหรับไหว้ครู คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กวีนับถือ ดังนั้นร่ายนำคำสัจจาธิษฐานในโองการดำน้ำ โองการลุยเพลิงนี้จึงมีลักษณะเดียวกัน คือ เป็นบทประณามพจน์ที่ประชุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมาในพิธีกรรมพิสูจน์สาบาน เพื่อเป็นองค์พยานในพิธีกรรมดังกล่าว ทั้งนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ลงมาเป็นองค์พยานนั้นเป็นได้ทั้งผู้ลงโทษ “ผู้ให้พร” และผู้สังเกตการณ์ในพิธีพิสูจน์สาบาน

กาพย์ในโองการดำน้ำและโองการลุยเพลิงเป็นกาพย์ฉบัง 16 ในโองการดำน้ำมีกาพย์ฉบัง 16 จำนวน 66 บท ส่วนโองการลุยเพลิงมี 42 บท ตัวอย่างกาพย์ในโองการดำน้ำมีดังนี้

เทวันบรรพตทั้งมวน         ห้วยหนองคลองควร
คำนึงรำพึงเลงญาณ
เสื้อเมืองเรืองยศวิสาร         ทรงเมืองฤทธิชาญ
หลักเมืองบันเทืองรักษา
สระน้ำถ้ำเถื่อนราวป่า         สิงขรพฤกษา
คูหาแลบ่อธาร
เมฆขลาท่านเจ้าสิงสถาน         ในสมุทกันดาล
นัดทีวารีคงคา

(กฎหมายตราสามดวง, 2521 : 234)

ตัวอย่างกาพย์ในโองการลุยเพลิงมีดังนี้

ข้าพระเจ้าเปนสุภากระลาการ         ฃอถวายสัจาทิศถาน
อันมีพุททงงธรรมมังสังฆัง
เปนที่พำนักสระณัง         มัวโมหกำบัง
ฃอพระเจ้าจงปราฏิหาร
ไตรยโลกยมืดมลบันดาล         หลุ้มหลงเปนพาล
เอาเทจ์มากล่าวมารสา
อันขยมบังคมเทวา         อารักษมหา
มหิทธิฤทธิเกรียงไกร

(กฎหมายตราสามดวง, 2521 : 236)

ร่ายและกาพย์ฉบังนิยมแต่งในการดำเนินความ ร่ายเป็นภาษาที่มีความละเอียดลอขึ้นจากความเรียงด้วยการใส่สัมผัสหรือคำคล้องจองลงไปซึ่งทำให้ต่างจากภาษาพูดตามปกติ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2538 : 45) กล่าวว่า

“ภาษาร่ายจึงเป็นภาษาที่เหมาะจะใช้ในสถานการณ์ที่พิเศษกว่าสถานการณ์ที่จะใช้ภาษาความเรียงและภาษาพูด หนึ่งในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ คงจะเป็นกรณีที่ต้องการจะพูดกับเทพ ผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นไปได้อย่างมากว่าภาษาร่ายที่ถูกใช้ในกรณีเช่นนี้มาแต่เก่าก่อนมาก การเลือกสรรคำและการส่งสัมผัส ทำให้ร่ายเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์”

ทั้งร่ายและกาพย์ฉบังเป็นร้อยกรอง เป็นการใช้ภาษาที่มีพลังในการสื่อสารมากกว่าภาษาพูดปกติ เพราะเป็นภาษาที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกตามระดับเสียงสูง ต่ำ สั้น ยาว หนัก เบา ดังที่ เสฐียรโกเศศ (2546 : 14) กล่าวว่า

“…หนังสือที่แต่งเป็นร้อยกรอง…แสดงออกในเรื่องความคิด ความรู้สึกอันเกิดจากอารมณ์ ได้ดีกว่าแต่งเป็นร้อยแก้ว คนที่เกิดอารมณ์เป็นสุขเป็นทุกข์ถึงขนาด ย่อมสำแดงความรู้สึกออกเป็นกลอน คือมีเสียง สูง ต่ำ สั้น ยาว หนัก เบา ได้ดีกว่าพูดออกมาตามปรกติ ซึ่งเป็นลักษณะถ้อยคำที่เป็นร้อยแก้ว…”


โองการดำน้ำ, โองการลุยเพลิง : ความเชื่อที่พิสูจน์ความจริง
โองการดำน้ำและโองการลุยเพลิงเป็นส่วนที่สำคัญของกฎหมายลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง เพราะใช้เป็นตัวบทที่ใช้อ่านหรือสวดในการพิสูจน์ความจริงในกระบวนการยุติธรรม ดังที่กล่าวว่าโองการทั้งสองเป็นตัวบทในพิธีกรรมนี้ ฉะนั้นทั้งโองการดำน้ำและโองการลุยเพลิงจึงต้องเป็นสิ่งที่รวบรวมเงื่อนไขและโลกทรรศน์ของคนที่เข้าร่วมในกระบวนการพิสูจน์ความจริงนั้นด้วย

เงื่อนไขในโองการทั้งสองก็คือ คู่กรณีในคดีความมีข้อพิพาทซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้จึงต้องให้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้ชี้ขาด โดยที่คู่กรณีทั้งสองจะต้องยอมรับในเงื่อนไขนี้ก่อนจึงจะสามารถทำการพิสูจน์ได้ อีกทั้งยังต้องยอมรับใน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นผู้ชี้ขาดในคดีความนั้น ๆ ร่วมกันอีกด้วย

การยอมรับว่าอะไรคือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” และไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นก็เกิดขึ้นมาจากความเชื่อร่วมกันของสังคม และในความเชื่อนั้น ๆ ซึ่งเกิดจาก “บุคลาธิษฐาน” ของธรรมชาติ กล่าวคือ ความเชื่อ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ นั้นมาจากจินตนาการของมนุษย์ว่าในธรรมชาตินั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถดลบันดาลให้เกิดเหตุอะไรต่าง ๆ ก็ได้ในธรรมชาติ มนุษย์จึงต้องเซ่นไหว้บูชาเพื่อให้เกิดประสิทธิผลแก่ตนเอง ต่อมา “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” เหล่านั้นไม่เป็นเพียง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ธรรมดาที่ดลบันดาลให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ แต่ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” เหล่านั้นยังต้องคอยอำนวยประโยชน์หรืออำนวยผลต่าง ๆ ตามที่มนุษย์ร้องขออีกด้วย มิเช่นนั้นแล้วก็จะไม่ได้รับการเซ่นไหว้บูชาอย่างที่เคยเป็นมา

หรือในบางครั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คือตัวแทนสัญลักษณ์ที่อยู่ในศาสนา “ใช้เป็นสื่อแทนแนวความคิด” (conception) (อคิน รพีพัฒน์, 2551 : 77) และเป็นระบบสัญลักษณ์ที่ยอมรับร่วมกันในสังคม การใช้ระบบสัญลักษณ์เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันของสังคมในการสร้างบรรทัดฐาน ค่านิยมหรืออุดมการณ์ใดๆ ก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำทางวัฒนธรรม อคิน รพีพัฒน์ (2551 : 79) สรุปแนวคิดของ คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ ในเรื่องนี้ไว้ว่า

“ความหมายของสัญลักษณ์จึงมีความหมายเป็นสาธารณะ ซึ่งแปลง่าย ๆ ว่าเป็นที่รู้กัน ทั่วไปเป็นของส่วนรวม การที่คนในกลุ่มใช้สัญลักษณ์ใดในการสื่อสารระหว่างกันได้ ความหมายของสัญลักษณ์เหล่านั้นก็ต้องเป็นที่รู้กันในกลุ่มเหล่านั้น”

ด้วยเหตุนี้ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่เป็นผู้ชี้ขาดนี้ก็คือ “ความเชื่อ” ของผู้คนที่สังคมนั้น ๆ ให้ความยอมรับนับถือร่วมกัน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้แหละแสดงให้เห็นถึงโลกทรรศน์ของทั้งคู่กรณีและสังคมเรียกว่า “องค์พยาน”

“องค์พยาน” ในโองการดำน้ำและโองการลุยเพลิงจึงเป็นการรวบรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากทุกสารทิศที่มีในสากลโลกมาเป็นทั้งพยาน “ผู้ลงโทษ” (ผู้กระทำผิดจริง) และ “ผู้ให้พร” (แก่ผู้ที่ไม่ได้กระทำผิด) เช่น

ศรีสวัสดิบังคมคัล อภิวันทรัตนไตรยางค์ โดยปัญจางคสโมสร ยอกรอภิวาท ในบางบาทยุคล วิมลเรณู มฤธูสุนธราลักษณ บวรอัคสาศดา อันกอปด้วยทวัดดึงษมหาบุรุษลักขณา แลอะศรีติยานุเพียญชนะแปดสิบทัศ ขอถวายนมัสพระธรรม คำภีรแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ… แล้วขอประกาศไหว้เทเวศ ท้าวตรีเนตรพรหมโสฬศ อิศรนารถอุมา มีฤทธาวรนารายณ์ ทังพระพายฤทธิเดช วิศนุเวศท้าวนาคา ยมราชาท้าวเวสุวัณ ระวิจันทรอังคาร พุทชิวารสุกระนั้น เสารันพระเกษาราหู นพเคราะห์ผู้ทรงสิทธิศักดิ (กฎหมายตราสามดวง, 2521 : 234)

องค์พยานหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาอยู่ในโองการทั้งสองนี้แสดงให้เห็นแนวคิดในเรื่องจักรวาล ซึ่งรวบรวมคติจักรวาลทั้งแบบพุทธ พราหมณ์ และผี เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่ง ศรีศักร วัลลิโภดม (2545 : 44-45) กล่าวไว้ว่า

“เรื่องของจักรวาลในกฎหมายพิสูจน์ดำน้ำและลุยเพลิง…มีการนำเอาพวกเทพและผีจากระบบความเชื่ออื่นที่ไม่ใช่พุทธศาสนาเข้ามาผสมด้วย โดยเฉพาะของศาสนาฮินดู และความเชื่อในเรื่องผีที่เป็นผีพื้นเมืองหรือท้องถิ่นทำให้โลกนี้จักรวาลนี้เต็มไปด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกทิศทุกมุมทั้งในอากาศ บนแผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ โลกใต้บาดาลและอื่น ๆ อาจกล่าวได้ว่าอะไรก็ได้ที่ได้ยินได้ฟังรู้มาว่าศักดิ์สิทธิ์ก็นำมารวมไว้ทั้งสิ้น”

มีองค์พยานในโองการดำน้ำและโองการลุยเพลิงที่น่าสนใจอีกก็คือ “จตุคามรามเทพ” ดังที่ปรากฏในโองการลุยเพลิง

อีกทังพระกาลพระกุลี         พระขัตุคามี
พระรามเทพชาญไชย

(กฎหมายตราสามดวง, 2521 : 236)




ทางขึ้นสู่ลานประทักษิณรอบองค์พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช
เทพเทวดาที่อยู่ที่ยอดบันไดองค์ซ้ายคือ พระขัตตุคาม และองค์ขวาคือ พระรามเทพ

ทั้ง “พระขัตุคามี” และ “พระรามเทพ” ในบทนี้ก็คือ “จตุคามรามเทพ” เทวดาผู้รักษาพุทธสถานในวัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช นั่นเอง

นอกจากนี้ยังปรากฏการออกชื่อพระลักษมี ชายาพระนารายณ์ซ้ำกันถึง 2 แห่งในโองการเดียวกัน คือ โองการลุยเพลิง ดังนี้

นางอุมาวดีโฉมฉาย         พระลักษมีเพริดพราย
อันเปนภิริยาแห่งพระองค์
ทั้งนางพระศรีโฉมยง         อาภรณธำมรงค
อลงกฏิฝ่ายซ้ายขวา

(กฎหมายตราสามดวง, 2521 : 236)

การกล่าวซ้ำถึงพระลักษมีใน 2 บทติดกันเช่นนี้มิใช่เกิดจากอาการ “กลอนพาไป” ของผู้แต่ง เป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นเทพคนละองค์กัน พระลักษมีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นชายาของพระนารายณ์ คอยปรนนิบัติพัดวีพระนารายณ์อยู่ที่เกษียรสมุทร ส่วนพระศรีนั้น เสฐียรโกเศศ (2531 : 157) อธิบายไว้ว่า

“…พระศรีซึ่งถือว่าเป็นชื่อหนึ่งของพระลักษมีชายาพระวิษณุ ในเกาะบาหลีแยกพระศรีเป็นองค์หนึ่งจากพระลักษมี… และว่าเป็นชายาพระศิวะอีกองค์หนึ่งประจำการไร่ไถนา (นี่ตรงกับแม่โพสพของเรา) ที่จริงพระศรีและพระลักษมีของเดิมในพระเวทย์ก็แยกออกเป็นสององค์ และว่าเป็นชายาพระอาทิตย์ทั้งคู่ ในวรรณคดีของเราก็แยกกันเป็นสององค์เหมือนกัน”

บทสรุป
ในโลกที่มนุษย์ยังต้องอาศัยธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต มนุษย์จำต้องเคารพและเชื่อในอำนาจของธรรมชาติ ซึ่งอาจแสดงออกได้ด้วยการกราบไหว้บูชา เมื่อมนุษย์มีปัญหา ขาดที่พึ่ง การแก้ปัญหาของมนุษย์จึงต้องอาศัย “ความเชื่อ” เป็นสำคัญในขณะนั้น

พระไอยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิงเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเพื่อใช้ยุติข้อขัดแย้งในกระบวนการยุติธรรมหลังจากที่ใช้วิธีการสืบพยานหรือหาหลักฐานมาแล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะหาคนผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้ จึงยอมให้คู่กรณีได้ใช้วิธีการพิสูจน์แก่กัน

กฎหมายฉบับนี้คือการนำความเชื่อที่ยอมรับร่วมกันในสังคมมาเป็นผู้ชี้ขาดความยุติธรรมให้แก่มนุษย์โดยที่มนุษย์มีความเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นนอกจากจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรเคารพบูชา ในฐานะที่คอยดลบันดาลให้เกิดเหตุต่าง ๆ ในธรรมชาติแล้ว ยังเป็นผู้ทรงความยุติธรรมอีกด้วย และยังสะท้อนให้เห็นถึงโลกทรรศน์ของคนในสมัยโบราณในการมองธรรมชาติด้วยความซับซ้อน โดยใช้จินตนาการว่าธรรมชาติเหล่านั้นมีตัวตนอยู่จริงและยังเป็นผู้ทรงอำนาจด้วย


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.697 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 21 สิงหาคม 2566 10:39:06