10 ธันวาคม 2567 14:36:00
ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
1 ชั่วโมง
1 วัน
1 สัปดาห์
1 เดือน
ตลอดกาล
เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
หน้าแรก
เวบบอร์ด
ช่วยเหลือ
ห้องเกม
ปฏิทิน
Tags
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
ห้องสนทนา
[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
สุขใจในธรรม
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
.:::
การปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลเร็ว - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
:::.
หน้า: [
1
]
ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน
หัวข้อ: การปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลเร็ว - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม (อ่าน 1032 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 1110
[• บำรุงรักษา •]
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 99.0.4844.51
การปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลเร็ว - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
«
เมื่อ:
10 มีนาคม 2565 15:37:16 »
Tweet
การปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลเร็ว
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
(เทศน์ที่วัดนาสะอาด วันที่ ๒๑ ม.ค. ๕๗)
ก่อนที่จะกล่าวธรรมะ ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้นั่งสมาธิฟังธรรม เพราะว่าการฟังธรรมนั้นเราต้องอาศัยสมาธิด้วย เพราะว่าการฟังธรรมนั้นถ้าเราฟังด้วยดีมันก็จะได้เกิดปัญญา ทั้งที่เป็นโลกิยปัญญา และโลกุตตรปัญญาก็สามารถเกิดในขณะที่เราฟังธรรมได้ สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ฟังด้วยดีย่อมเกิดปัญญา
ก็ขออนุโมทนาสาธุการกับคณะครูบาอาจารย์ผู้เสียสละเวลาอันมีค่า มาประพฤติปฏิบัติธรรม ญาติโยมทุกท่านที่เสียสละเวลาอันมีค่าน้อมกายวาจามาประพฤติปฏิบัติธรรมถือว่าเป็นของหายาก แต่ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมเราต้องประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง เราต้องประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเด็ดเดี่ยว การประพฤติปฏิบัติธรรมจิตจะสามารถยังผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นให้เกิดขึ้นมาได้ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่มีความจริงจัง และไม่มีความเด็ดเดี่ยว การประพฤติปฏิบัติธรรมก็ยากที่จะเห็นผลได้
เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นสัจจะ เรียกว่าเป็นความจริงที่เราจะต้องค้นพบด้วยการลงมือประพฤติปฏิบัติ จะอาศัยการศึกษาเล่าเรียน อาศัยจากการบอกกล่าวบอกเล่าจากบุคคลอื่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะยังผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมให้เกิดขึ้นมาได้ การประพฤติปฏิบัติธรรมจึงต้องการพิสูจน์ด้วยการประพฤติปฏิบัติ แต่ว่าการประพฤติปฏิบัติอย่างไรเราจึงจะสามารถยังผลของการประพฤติปฏิบัติให้เกิดขึ้นมาเร็ว หรือเราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรเราจึงจะได้ผลของการประพฤติปฏิบัติ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมที่จะให้ได้ผลเร็วนั้นต้องประกอบไปด้วยคุณธรรม ๔ ประการ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้
ประการที่ ๑ ปรมตสฺสี มีความเพียรอย่างเยี่ยมยอด
ประการที่ ๒ ปรมเชคุจฺฉี ประพฤติปฏิบัติไม่ให้เกิดความลำบากแก่สัตว์เล็กสัตว์น้อยอย่างเยี่ยมยอด
ประการที่ ๓ ปรมลูโข การประพฤติอย่างปอนๆ อย่างเยี่ยมยอด
ประการที่ ๔ ปรมวิจิตฺโต เป็นผู้สงัดจิตอย่างเยี่ยมยอด
ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรม ด้วยองค์คุณ ๔ ประการนี้ การประพฤติปฏิบัติธรรมของบุคคลนั้นก็จะได้ผลเร็ว อาจจะได้ฌานสมาบัติ หรืออาจจะได้วิปัสสนาญาณ หรืออาจจะเกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานในการประพฤติปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ได้ ที่ท่านกล่าวไว้ว่า ปรมตสฺสี นั้นคือ เพียรอย่างเยี่ยมยอด ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจะเพียรอย่างไรจึงชื่อว่าเพียรอย่างเยี่ยมยอด
การเพียรอย่างเยี่ยมยอดนั้นเป็นการเพียรทางกายด้วย เป็นการเพียรทางจิตด้วย ความเพียรในที่นี้เราต้องมีสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา เราจะยืนก็ต้องมีสติรู้ว่าเรายืน เราจะเดินเราก็ต้องมีสติรู้ว่าเราเดิน เราจะนั่งเราก็มีสติรู้ว่าเรานั่ง เราจะคู้ เราจะเหยียด เราจะก้ม เราจะเงย เราจะนุ่งห่มสบงจีวร อาบน้ำชำระร่างกายเราก็ต้องมีสติกำหนดรู้ว่าเราทำอาการอย่างไรๆ รูปนามมันเกิดดับอย่างไร เราจะถ่ายหนักถ่ายเบา เราจะนิ่งเราก็ต้องมีสติกำหนดรู้อาการทั้งหมดทั้งปวงของรูปนามที่เกิดขึ้นมา อันนี้เรียกว่าเราเพียรอย่างเยี่ยมยอด เราประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อจะให้มีสติอยู่ตลอดเวลา
การที่เรามีสติอยู่ตลอดเวลานี้ท่านกล่าวว่าเป็นการแผดเผากิเลสให้ร้อนทั่ว คือไม่ให้กิเลสทั้งหลายทั้งปวงเข้ามาแทรกจิตใจของเราได้ จิตใจของเราก็จะป้องกันบาปใหม่ไม่ให้เกิดขึ้นมา เรียกว่าสังวรปธาน ความสังวรเราต้องสังวรด้วยสติ ตาเราเห็นรูปเราก็ต้องมีสติกำหนดรู้ “เห็นหนอๆ” หูของเราได้ยินเสียงเราก็ต้องมีสติสังวรกำหนดที่โสตประสาทแก้วหูของเรากำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” ขณะที่กายของเราถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง เราก็ต้องมีสติกำหนดรู้การสัมผัสในร่างกายของเรา มีการกำหนดรู้อยู่ตลอดเวลา เราลิ้มรส เราดมกลิ่น เราต้องมีสติกำหนดรู้รส “รสหนอๆ” “กลิ่นหนอๆ” มันจะเป็นกลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็น มันจะมีรสอร่อยหรือไม่อร่อยมันก็สักแต่ว่ารสเรากำหนดว่า “รสหนอๆ” นี้เรียกว่าเรามีสติเป็นเครื่องแผดเผากิเลส
ถ้าเราสังวรในลักษณะอย่างนี้บาปใหม่ คือความโลภ ความโกรธ ความหลง มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทานต่างๆ มันไม่บังเกิดขึ้นมา เมื่อบาปใหม่ไม่เกิดขึ้นมาความวิปฏิสาร ความเดือดร้อนใจเพราะบาปใหม่ที่จะให้ผลเรามันก็ไม่เกิดขึ้นมา ใจของเรามันก็จะเริ่มใสขึ้นๆ เหมือนกับเรามีน้ำสกปรกอยู่ขันหนึ่งแต่ว่าเราหยดน้ำที่สะอาดลงไปทุกวันๆ วันละหยดสองหยดสามหยดสี่หยดเราหยดลงไปทุกวันๆ จำนวนน้ำก็เพิ่มขึ้นความสกปรกของน้ำก็จางออกไปๆๆ ยิ่งเราเทน้ำลงไปมากเท่าไร ความสกปรกของน้ำก็ยิ่งถูกเจือจางด้วยสติของเรายิ่งจางออกไปในที่สุด ถ้าเราเทน้ำลงไปเป็นขันใหญ่ เป็นกระป๋องใหญ่ น้ำสกปรกขันเล็กๆ นั้นก็จางหายไปไม่เหลือร่องรอยแห่งความสกปรกไว้ บาปใหม่มันไม่เกิดขึ้นมาบาปเก่าที่เราทำอยู่มันก็เริ่มใสขึ้นๆ ท่านกล่าวว่าเป็นปหานปธาน เราจะละบาปเก่าในจิตในใจของเรา เราต้องมีสติสมบูรณ์เสียก่อน ความเพียรก็คือการตั้งสติป้องกันบาปใหม่ละบาปเก่า
ขณะที่คระครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทุกท่านมาประพฤติปฏิบัติ ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติเรามีสติเดินจงกรมขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พองหนอยุบหนอ ทำไมเราต้องกำหนดขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เพราะเห็นต้นยก กลางยก สุดยก ต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบ ทำไมเราต้องมีสติกำหนดดูอยู่อย่างนี้ ก็เพราะว่าเราไม่ต้องการที่จะให้สติของเรานั้นเผลอไปตามอำนาจของกิเลส คือความโกรธ ความโลภ ความหลง ราคะ ตัณหาต่างๆ ให้สติของเราอยู่กับรูปกับนาม เห็นความเกิดขึ้นของรูปของนาม เห็นความตั้งอยู่ของรูปของนาม เห็นความดับไปของรูปของนาม เมื่อเราเห็นอยู่อย่างนี้บาปเก่ามันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ บาปเก่าที่เราเคยทำไว้แต่ก่อนโน้นถ้ามันเกิดขึ้นมาในใจของเรา อย่างนึกถึงอารมณ์เก่าๆ ที่เราเคยผ่านมา เคยถูกเขาด่า เคยถูกเขาต่อยเขาตี ถูกเขาโกง บางครั้งมันคิดถึงอารมณ์เก่าๆ ขึ้นมามันก็โกรธขึ้นมาเราก็กำหนดที่ใจของเรา “โกรธหนอๆ” จี้ลงไป “โกรธหนอๆ” ขณะที่เรากำลังกำหนด “โกรธหนอๆ” จี้ลงไปที่ใจของเรา สติจี้ลงไปที่ใจของเรานั้นไปตัดอารมณ์ที่เรานึกถึงอดีต ตัดตัวอดีตนั้นให้หมดสิ้นไป เมื่อเราตัดตัวอดีตให้หมดสิ้นไป ความโกรธในใจนั้นมันก็จางหายไปด้วย สติที่เรากำหนดว่า “โกรธหนอๆ” มันก็ปวัตติลงไปในห้วงภวังคจิต บันทึกไว้ในจิตในใจของเรา เปรียบเสมือนกับน้ำที่เราหยดลงไปในขัน ใจของเราที่อยู่ในห้วงภวังคจิตมันก็เริ่มใสขึ้นๆ บาปธรรมทั้งหลายก็อ่อนลงไปตามลำดับๆ ถ้าเราเพียรกำหนดแล้วกำหนดอีก บาปเก่าของเรามันก็จะอ่อนไปๆ ในที่สุดเราก็ถึงบาปกรรมเหล่านั้น บาปกรรมเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะทำจิตใจของเราให้เศร้าหมองได้
แต่ก่อนโน้นเราเป็นญาติเป็นโยมเราอาจจะเถียงพ่อเถียงแม่ เราอาจจะทำให้ท่านต้องร้องไห้ น้ำตาไหล แต่เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เรามานั่งภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” ขณะที่เรามานั่งภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” นั้นแหละ เมื่อจิตใจของเรามันเริ่มดิ่งลงไปๆๆ จิตใจของเราเริ่มสงบ บาปกรรมที่เราเคยเถียงพ่อเถียงแม่ ทำให้ท่านต้องร้องไห้ ทำให้ท่านต้องเสียใจนั้นแหละมันก็มาปรากฏเป็นนิมิตขึ้นมาอีก เห็นแม่ท่านร้องไห้ขึ้นมา เห็นน้ำตาของท่านไหลออกมาจากดวงตาของท่าน มันก็ทำให้จิตใจของเราที่มันสงบดิ่งลงไปๆๆ จะสงบเป็นสมาธินั้นแหละจิตใจของเราก็ไปยึดกับภาพที่มาปรากฏ นิมิตที่มาปรากฏ มันก็ออกจากสมาธิของเราก็คลายออกมา มือของเราที่มันแน่นเข้าๆๆ ความรู้สึกละเอียดลงๆ เบาลงๆๆ มันก็คลายออกมา เรียกว่ากระแสของสมาธิมันก็ตัดออกมา เรียกว่าบาปกรรมนั้นมันห้ามสมาธิ
แต่ถ้าเรากำหนด “คิดหนอๆ” จี้ลงไปที่ใจของเรา ใหม่ๆ ที่เราคิดถึงบาปที่เราทำให้แม่เสียใจนั้นก็อาจทำให้ใจของเราเศร้าหมอง เราไม่น่าทำอย่างนั้นเลยถ้าเราสามารถกลับตัวได้ย้อนอดีตได้เราจะไม่ทำอย่างนั้นอีกเป็นอันขาด ตายก็ยอมตายอะไรทำนองนี้ แต่เมื่อเรากำหนด “คิดหนอๆ” กำหนดอยู่อย่างนี้ จิตมันก็จะสะอาดขึ้นๆ เมื่อเรากำหนดอยู่อย่างนี้ร่ำไป ถ้าเรามีสติสมบูรณ์บางครั้งก็สองวันบางครั้งก็สามวัน พอเรานึกถึงอารมณ์ที่เราทำให้แม่เสียใจนั้นใจของเราเฉยๆ ปีติที่มันเกิดขึ้นมันก็เกิดเหมือนเดิม สมาธิที่มันเคยเกิดมันก็เกิดเหมือนเดิม บาปกรรมที่เรากำหนดด้วยอำนาจของสตินั้นมันประหารแล้ว ประหารบาปเก่าหรือว่าปหานปธาน เรียกว่าละบาปเก่าที่เราเคยทำมาแต่อดีต เป็นการประหารบาปกรรมด้วยอำนาจของสติ เหมือนกับเราหยอดน้ำลงไปในขันน้ำ หยอดลงไปเรื่อยๆ น้ำมันก็สะอาดขึ้นมา เรียกว่าความเพียรในการละบาปเก่าป้องกันบาปใหม่
แล้วก็การที่คณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมทั้งหลายได้เพียรเดินจงกรม อดตาหลับขับตานอน หนาวก็ต้องอด ร้อนก็ต้องสู้ หิวก็ต้องทนในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นภาวนาปธาน เพียรให้จิตใจของตนเองนั้นเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป จิตใจของเราถ้าไม่มีความอดทนไม่มีความอดกลั้น แล้วก็ไม่มีความขยันขันแข็งแล้วเราจะเอาดีไม่ได้ เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ ทำซากๆ ทำเนืองๆ ทำติดต่อ ทำไม่ให้ขาดระยะ ทำให้เป็นดุจกระแสน้ำให้มันเป็นอันเดียวกัน กายกับจิต กับสัมปชัญญะนั้นให้มันเป็นอันเดียวกัน เราจะคู้เราก็รู้ เราจะเหยียดเราก็รู้ เราจะก้มเราก็รู้ เราจะเงยเราก็รู้ นี้เรียกว่ามันเป็นอันเดียวกัน กายกับจิตกับคำบริกรรมเป็นอันเดียวกันในลักษณะอย่างนี้กิเลสมันแทรกไม่ได้ การภาวนาก็คือการทำให้เจริญ การภาวนาก็คือการทำให้ดี การภาวนาก็คือการทำให้ใจของเรานั้นถูกฝึกถูกฝนถูกอบถูกรมด้วยอำนาจของสติด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยอำนาจของวิปัสสนา ด้วยอำนาจของปัญญา ด้วยอำนาจของมรรคของผล เรียกว่าเป็นการภาวนา
เพราะฉะนั้นเวลามาภาวนานั้นก็จะยกระดับจิตใจของเราให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปพยายามอดทน ใจของเราจะพบความสุข ใจของเราจะพบกับความสะอาด ใจของเราจะพบกับความว่างอันบริสุทธิ์บริบูรณ์จริงๆ แล้วใจของเรานั้นต้องมีสติเป็นตัวกำหนด ต้องมีสัมปชัญญะเป็นตัวกำหนดใจของเราต้องว่าง ถ้าใจของเราไม่ว่าง เราจะพบกับความสุขไม่ได้ ความสุขที่แท้จริงก็คือความว่างของใจ ใจที่ว่างจากความโกรธ ใจที่ว่างจากความโลภ ใจที่ว่างจากความหลง ใจที่ว่างจากรูป ใจที่ว่างจากเสียง ใจที่ว่างจากกลิ่น ใจที่ว่างจากรส ใจที่ว่างจากสัมผัส ใจที่ว่างจากอารมณ์ ใจที่ว่างจากรูป ใจที่ว่างจากเวทนา ใจที่ว่างจากสัญญา ใจที่ว่างจากสังขาร ใจที่ว่างจากวิญญาณ ใจที่ว่างจากสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเบาใจ เป็นเหตุให้เกิดความบริสุทธิ์ บริบรูณ์ ก็คือ ความว่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงทรงให้เรานั้นกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม เพื่อที่จะละรูปนิมิต เสียงนิมิต เรียกว่าละนิมิตทั้งหลายทั้งปวงให้หมดสิ้นไป เพราะฉะนั้นการที่คณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมทั้งหลายมาภาวนานั้นก็ถือว่าเป็นการยังศีลให้เจริญ ยังสมาธิให้เจริญ ยังปัญญาให้เจริญ แล้วก็ยังมรรคยังผลให้เจริญ การภาวนานั้นเราต้องทำให้ติดต่อกัน ถ้าเราทำติดต่อกันผลของการประพฤติปฏิบัติก็เกิดขึ้นได้ไว
ประการที่ ๔ ท่านกล่าวว่าอนุรักขนาปธาน คือเราต้องเพียรรักษาศีลของเราให้ดี เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ คือเพียรรักษาศีลของคณะครูบาอาจารย์ให้ดี ไม่ใช่ว่าคณะครูบาอาจารย์ต้องอาบัติอย่างโน้น ต้องอาบัติอย่างนี้ไม่ใช่ แต่การรักษากองแห่งศีลที่มาในพระปาฏิโมกข์นั้น ๒๒๗ ข้อ ศีลที่มาในอภิธรรมนั้นเป็นหลายแสนข้อ หลายล้านข้อ เพราะฉะนั้นเราจะทำศีลเหล่านั้นให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้ เราต้องมีกายบริสุทธิ์ มีวาจาบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ ศีลเป็น ๒๒๗ ข้อ ศีลเป็นแสนๆ ข้อ เป็นล้านๆ ข้อ เราจะทำศีลเหล่านั้นให้บริสุทธิ์บริบูรณ์มันเป็นของยาก แต่ถ้าเราประกอบไปด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะแล้ว การทำศีลเหล่านั้นให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั้นมันเป็นของง่าย เพียงแต่ว่าเรามีสติ รักษากายของเราให้บริสุทธิ์ รักษาวาจาของเราให้บริสุทธิ์ รักษาใจของเราให้บริสุทธิ์ ศีลทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็เป็นอันบริสุทธิ์ ท่านให้เราตามรักษาศีลของเราให้บริสุทธิ์ เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์มาเข้าปริวาสกรรม หรือว่าประพฤติวุฏฐานวิธี หรือมาประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรมนั่งภาวนาก็ถือว่าเป็นการรักษาศีลของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ จากปกติศีลให้เป็นมัชฌิมศีล มัชฌิมศีลให้เป็นปรมัตถศีลในองค์มรรค ศีลในวิปัสสนา เรียกว่าเป็นการรักษาศีล สมาธิ ปัญญาของเราให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าเราเพียร ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจอะไร เรามีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลาเรียกว่า ปรมตัสสี เพียรอย่างเยี่ยมยอด
วันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาเราเผลอในอิริยาบถไหน เราเผลอตอนเข้าห้องน้ำ เราเผลอตอนถ่ายหนักถ่ายเบา เราเผลอตอนฉันอาหารเราเผลอตอนทำวัตรเช้า ตอนทำวัตรเย็น เราเผลอตอนนุ่งสบงห่มจีวร เราเผลอตอนคู้ ตอนหันหน้า เราพูดอะไรทำนองนี้เราต้องมีสติกำหนดรู้ วันหนึ่งตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงหลับนอน เราเผลอไปตอนไหน ถ้าเรามีสติสมบูรณ์เราจะระลึกได้ เราก็พยายามที่จะแก้ไข สติมันสมบูรณ์ถึงขนาดนั้น อริยมรรค อริยผล การบรรลุเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เป็นพระอรหันต์จึงปรากฏขึ้นมา เพราะฉะนั้นการมีสติ การมีสัมปชัญญะ การกำหนดติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาท่านกล่าวว่าเป็น ปรมตสฺสี เพียรอย่างเยี่ยมยอด
ประการที่ ๒ ท่านกล่าวว่า ปรมเชคุจฺฉี เรียกว่าการประพฤติไม่ให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยนั้นเกิดความลำบากอย่างเยี่ยมยอด คือการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องระวัง ระวังกาย ระวังวาจา ระวังใจของเรา อย่าไปเบียดเบียนสัตว์อื่น สัตว์เล็กสัตว์น้อยนั้นให้เกิดความลำบาก ระมัดระวังอย่างยิ่งนัก ท่านกล่าวว่าบุคคลผู้เพียรในลักษณะอย่างนี้ ก็คือบุคคลผู้เข้าไปตั้งกายวาจาอันประกอบไปด้วยเมตตาในเพื่อนสพรหมจารี คือเราเข้าไปตั้งกายอันประกอบไปด้วยเมตตาในเพื่อสพรหมจารีแล้ว เราเข้าไปตั้งวาจาอันประกอบไปด้วยเมตตาในเพื่อนสพรหมจารี เราเข้าไปตั้งจิตอันประกอบไปด้วยเมตตาในเพื่อนสพรหมจารี นี้ในลักษณะของการวางใจของเราในขณะที่ประพฤติปฏิบัติธรรม อย่าโกรธ อย่าเคือง อย่าเผลอน้อยอกน้อยใจ อย่ากลุ้มอกกลุ้มใจในเพื่อนสหธรรมิก เพราะว่าบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันนั้นก็ถือว่าเป็นการประพฤติอย่างพระอริยะ ถ้าเราไปโกรธ ไปเกลียด ไปเคือง บุคคลผู้ประพฤติอย่างพระอริยะ มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราไม่ได้ผล เราจะเดินจงกรมตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ตั้งแต่ค่ำถึงเช้า การประพฤติปฏิบัติแทนที่จะได้สมาธิ สมาบัติ แทนที่จะเกิดวิปัสสนาญาณ แทนที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานสภาวธรรมกลับไม่ไปไหนมีแต่ทิฏฐิ เดินจงกรมก็เดินด้วยทิฏฐิ นั่งภาวนาก็นั่งด้วยทิฏฐิ การกำหนดขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนดคู้ เหยียด ก้ม เงย ก็กำหนดด้วยทิฏฐิ จิตก็ไม่เป็นกลาง ไม่สามารถที่จะยังอนุโลมญาณให้เกิดขึ้นมา ไม่สามารถยังมรรคญาณ ผลญาณให้เกิดขึ้นมาได้ เพราะอะไร ก็เพราะว่าใจของเรานั้นไปโกรธ ไปเคือง บุคคลผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เคืองพระอริยบุคคล เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ท่านกล่าวว่าเป็น เจโตขีล เป็นตอของจิต ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกนั้นมีอยู่ ๕ ประการ คือ
๑. สงสัยในพระพุทธเจ้า
๒. สงสัยในพระธรรม
๓. สงสัยในพระสงฆ์
๔. สงสัยในสิกขาบท ในข้อวัตรปฏิบัติ ว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรม ยุบหนอพองหนอนี้เราจะได้ฌานหรือเปล่าหนอ เราประพฤติปฏิบัติเราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เป็นพระอรหันต์หรือเปล่าหนอ เกิดความสงสัยในสิกขาแล้ว
๕. โกรธเคืองเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ โกรธเคืองผู้ประพฤติอย่างพระอริยบุคคล ในลักษณะอย่างนั้น เราโกรธเคืองเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ การประพฤติปฏิบัติธรรมมันก็ไม่ได้ผล เพราะฉะนั้นอยู่ร่วมกันเราต้องระวังกาย วาจา ใจ ของเรา
อยู่คนเดียวให้ระวังยั้งความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังยั้งคำขาน
อยู่ร่วมราษฎร์เคารพตั้งระวังการณ์ อยู่ร่วมพาลให้ระวังทุกอย่างเอย.
นี้โบราณท่านกล่าวอย่างนั้น อยู่คนเดียวก็ต้องระวังความคิด มันคิดก็ต้องกำหนด “คิดหนอๆ” มันโกรธก็ “โกรธหนอๆ” มันน้อยใจก็ “น้อยใจหนอๆ” อยู่คนเดียวท่านให้ระวังยั้งความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังยั้งคำขาน จะพูดจาพาทีเราก็ต้องรู้หลักในการพูด เพราะว่าการพูดนั้นก็ถือว่าเป็นการบ่งบอกคนว่ามีนิสัยมีใจคออย่างไร ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร
มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน ควรทราบ
หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ บอกร้าย แสลงดิน
นี้ท่านกล่าวการอยู่กับเพื่อนพ้องเราต้องระวังยั้งคำขาน ท่านกล่าวว่าอยู่ร่วมราษฎร์ เคารพตั้งระวังการณ์ เรียกว่าเราอยู่ร่วมกับคนจำนวนมากเราต้องรู้จักกาลเทศะ เราต้องรู้จักประเพณี รู้จักวัฒนธรรม รู้จักกฎหมาย รู้จักข้อบังคับ ไม่แหกกฎ ไม่ทำลายประเพณี ไม่ทำลายวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ร่วมราษฎร์เคารพตั้งระวังการณ์ อยู่ร่วมพาลให้ระวังทุกอย่างเอย อยู่ร่วมคนพาลนั้นต้องระวัง คนพาลจะแนะเราไปในทางที่ไม่ดี จะชวนเราไปในทางที่ไม่ดี อยู่ร่วมคนพาลนั้นอันตราย เพราะฉะนั้นต้องระวัง ระวังทั้งกาย ระวังทั้งวาจา ระวังทั้งใจ ระวังทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเราอยู่ร่วมคนพาล โบราณท่านว่า ห่างหมาให้ห่างศอก ห่างวอกให้ห่างวา ห่างพาลาให้ห่างหมื่นโยชน์แสนโยชน์ ห่างหมานี้เราห่างแค่ประมาณศอกหนึ่งสามารถหลบทัน ห่างวอกต้องห่างวา คือห่างลิงนั้นอย่างน้อยต้องหนึ่งวาเพราะลิงนั้นไวกว่าหมา ถ้าเราเผลอแป๊บเดียวมันเต้นขึ้นคอเราแล้ว กัดคอเราก็ได้ เพราะฉะนั้นห่างลิงต้องอย่างน้อยประมาณหนึ่งวา ห่างพาลา คือ ห่างคนพาลนั้นต้องห่างถึงแสนโยชน์ คือไม่คบเลยดีกว่า ไม่คุยเลยดีกว่า นี้เรียกว่าห่างตั้งแสนโยชน์
เพราฉะนั้นเวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมท่านจึงว่า ให้เรานั้นวางใจเป็นกลาง วางใจเป็นเมตตาไว้กับเพื่อนสพรหมจารี เราต้องแผ่เมตตาไปยังสัตว์เล็กสัตว์น้อย จะเป็นมด เป็นปลวก เป็นหนู เป็นสัตว์สาวาสิ่งต่างๆ เราอย่าให้ใจของเรานั้นไปเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นลูกน้ำก็ดี เป็นมดตัวน้อย เป็นแมงตัวเล็กก็ดีเราต้องมีใจเมตตาว่าสัตว์เหล่านี้ก็เป็นจิตดวงหนึ่ง มนุษย์เราก็จิตดวงหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาเกิดเป็นสัตว์เหล่านี้เขาก็เป็นจิตดวงหนึ่งเหมือนกัน เราก็จิตดวงหนึ่ง ชีวิตของเขาก็มีค่าเป็นวิญญาณวิญญาณหนึ่ง เป็นชีวิตชีวิตหนึ่งที่เขามาเสวยภพ ใช้ภพ ใช้กรรมของเขา เพราะฉะนั้นเราควรเมตตากับเขาเหมือนกัน บางครั้งอาจจะเป็นพระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้รับลัทธพยากรณ์ ก็เกิดเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายามยังเมตตาในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเราเมตตาให้ได้มากที่สุด ยืนก็เมตตา นั่งก็เมตตา เดินไปเดินมาก็เมตตา ฉันเราก็เมตตา พูดเราก็เมตตา เราจะเยื้องกรายไปเราก็มีเมตตาอยู่ตลอดเวลา ถ้าในลักษณะอย่างนี้การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจะทำให้จิตใจของเราสงบได้ไว ไม่มีความโกรธ ไม่มีราคะ ไม่มีตัณหา มีใจเป็นกลางมีเมตตา นี้การประพฤติปฏิบัติธรรมจะเกิดผลได้ไว เพราะอานิสงส์ของเมตตานั้นท่านกล่าวว่า นอนหลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข เวลานอนหลับก็ไม่ฝันร้าย มนุษย์ก็รัก อมนุษย์ก็รัก เทวดาก็รักษา ไฟศาสตราวุธทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่กล้ำกราย ผิวพรรณ ผิวหน้าก็ผ่องใส สมาธิก็เป็นสมาธิเร็ว ตุวตํ จิตฺตํ สมาธิยติ จิตตั้งมั่นได้เร็ว ใบหน้าผ่องใส เวลาตายก็ไม่หลงตาย ไม่หลงทำกาละ เรียกว่าไม่หลงตาย ตายด้วยสติ ตายด้วยความตั้งมั่นแห่งจิตใจ ตายไปแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลก มีพรหมโลกเป็นที่ไป นี้เรียกว่าบุคคลผู้มีสติ เป็นอย่างนั้น มีจิตเป็นเมตตาอยู่ตลอดเวลา อานิสงส์ของเมตตามันก็มากมายถึงขนาดนั้น ไฟก็ดี ศาสตราอาวุธต่างๆ ก็ไม่ทำร้าย
เหมือนกับนางสามาวดีแผ่เมตตาให้กับคนที่เขายิงลูกศรใส่ พระเจ้าอุเทนยิงลูกศรใส่ กระแสของเมตตานั้นแผ่ไปเป็นเกราะป้องกัน ลูกศรที่พระเจ้าอุเทนยิงมา ก็ย้อนกลับไปหาพระเจ้าอุเทน บารมีของเมตตามันมากอย่างนั้น ช้างนาฬาคีรีถูกพระเทวทัตมอมเหล้า วิ่งเพื่อที่จะไปประหัตประหารองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปฐากวิ่งมาป้องกันพระพุทธเจ้า เอาชีวิตนั้นถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “ดูก่อนอานนท์ เราตถาคตนั้นเป็นผู้บำเพ็ญบารมีมาดีแล้ว ไม่มีใครเลยในมนุษย์ เทวดา มาร พรหม สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายทั้งปวงจะทำอันตรายเราตถาคตได้ เพราะฉะนั้นเธอจงหลีกไปเถิด อานนท์” พระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น พอช้างวิ่งมาใกล้ๆ พระองค์ก็ทรงแผ่เมตตาไป อำนาจของเมตตานั้นไปกระทบกับจิตใจอันร้อนรุ่มของช้างผู้เมามัน กำลังเมตตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไปกระทบกับจิตใจที่ร้อนรุ่ม ทำให้จิตใจของช้างที่ร้อนรุ่มด้วยความเมาสุรานั้นแหละ เป็นจิตใจที่สร่างเมาแล้วเป็นจิตใจที่เกิดความศรัทธาในพระพุทธเจ้า ได้รับกระแสแห่งความเย็น แห่งพระเมตตาของพระพุทธเจ้า ก็วิ่งไปแล้วก็เอางวงไปคลอเคลียกับพระบาทองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมตตาเป็นอย่างนั้นทำให้เกิดความสงบ ทำให้จิตใจของเราเป็นสมาธิ ทำให้เราเกิดฌาน เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานได้ไว การประพฤติปฏิบัติธรรมเราต้องประกอบด้วยเมตตาทุกอิริยาบถ ถ้าผู้ใด ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด กิจอะไร เรามีเมตตาอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า ปรมเชคุจฺฉี เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติไม่ให้เกิดความลำบาก เป็นผู้ประกอบไปด้วยเมตตาอย่างเยี่ยมยอด
ประการที่ ๓ ท่านกล่าวว่า ปรมลูโข ประพฤติปอนๆ อย่างเยี่ยมยอด ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมหวังผลในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องประพฤติปอนๆ เพื่อละอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น ละโมหะ คือความลุ่มหลงในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ต่างๆ ถ้าเราประพฤติปอนๆ เพื่อที่จะละความยึดมั่นคืออุปาทาน เพื่อที่จะละความหลง เพื่อที่จะละความทะเยอทะยานอยากต่างๆ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส เราต้องประพฤติปอนๆ เรียกว่า ปรมลูโข
ทำไมเราต้องประพฤติปอนๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ เมื่ออุปาทานไม่มี ความยึดมั่นไม่มี ตัณหา ความทะเยอทะยานอยากไม่มี ความหลงในรูปในเสียงในกลิ่นในรสไม่มี การประพฤติปฏิบัติธรรมมันก็ง่าย เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงประพฤติเป็นตัวอย่าง พระองค์ทรงประพฤติปอนๆ อย่างเช่นพระองค์ทรงตรัสไว้ในกรณียกิจ ๔ ประการ คือ
๑. ห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
๒. บิณฑบาตเป็นวัตร
๓. อยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร
๔. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
นี้พระองค์ทรงตรัสเป็นกรณียกิจ จะเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์มาบวช จะเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่มาบวช พระองค์ก็ทรงตรัสกรณียกิจ ๔ ประการนั้นแก่ทุกคนที่เข้ามาบวชในพระธรรมวินัยของพระองค์ ว่าคนที่เข้ามาบวชนั้นต้องนุ่งผ้าห่มบังสุกุลเป็นวัตร สมควรที่จะบิณฑบาต สมควรที่จะอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร สมควรที่จะฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า เป็นกรณียกิจที่ควรทำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงให้เราพิจารณา
อย่างเช่นการนุ่งห่มจีวรต่างๆ เรียกว่านุ่งห่มผ้าบังสุกุล เวลาเรานุ่งผ้าเราก็ต้องพิจารณาว่าผ้าที่เรานุ่งนั้น ท่านแบ่งเป็นขันธ์ บางครั้งก็ ๕ ขันธ์ บางครั้งก็ ๗ ขันธ์ บางครั้งก็ ๙ ขันธ์ บางครั้งก็ ๑๑ ขันธ์ บางครั้งก็ ๑๓ ขันธ์ บางครั้งก็ ๑๕ ขันธ์ บางครั้งก็ ๑๗ ขันธ์ บางรูปบางท่านก็ ๑๙ ขันธ์ บางรูปบางท่านถึง ๒๑ ขันธ์ ท่านกล่าวไว้ในวินัยนั้นถึง ๒๑ ขันธ์ เป็นเศษผ้าเท่ากับฝ่ามือบ้าง ใหญ่กว่าฝ่ามือบ้างก็สามารถทำเป็นจีวรได้ ถ้าเรามีหลายๆ ผืนมาต่อกัน ผ้าที่เราห่มนั้นเป็นผ้าที่เราห่มด้วยศัสตรา เป็นผ้าที่เป็นผืนเล็กผืนน้อยมาห่มร่างกายของเราเพื่อที่จะไม่ให้เกิดของปฏิกูลโสโครก ห่มปกปิดร่างกายของเราเพื่อไม่ให้เกิดความอุจาด ตัวของเรานั้นไม่มีค่า ไม่มีราคาอะไร จีวรที่ห่มร่างกายของเราก็ไม่มีค่า ไม่มีราคาอะไร เราจะมายึดมั่นถือมั่นกับสิ่งเหล่านี้ไปทำไม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัส ทำให้เป็นตัวอย่าง นุ่งห่มผ้าบังสุกุลนั้นเป็นวัตร
ประการที่ ๒ ท่านฉันบิณฑบาตเป็นวัตร เวลาเราฉันอาหารบิณฑบาต บางครั้งเราก็ได้อาหารร้อน บางครั้งก็ได้อาหารเย็น บางครั้งเราก็ได้อาหารเผ็ด บางครั้งเราก็ได้อาหารเค็ม บางครั้งเราก็ได้อาหารจืด บางครั้งเราก็ได้อาหารหวาน ไม่ถูกใจของเรา เป็นไปตามบุญตามกรรมตามบารมีของเรา เพราะฉะนั้นอาหารที่ได้มา บุคคลจะเป็นยาจกใส่บาตรพระองค์ พระองค์ก็ฉันเหมือนเดิม จะเป็นนางทาสีใส่ขนม ใส่แป้งรำ ปิ้งรำ ใส่ข้าวจี่ พระองค์ก็ฉันเหมือนเดิม เรียกว่าพระองค์ทรงมีพระหฤทัย มีหัวใจไม่รังเกียจในอาหารของคนทั้งหลายทั้งปวง พระองค์ก็ทรงพิจารณาว่า จะเป็นอาหารอันประณีต อาหารท้าวสักกะมาใส่ก็ตาม อาหารคนขอทานมาใส่ก็ตาม พระองค์มีพระหฤทัยเป็นปกติ ฉันเพื่อความอยู่ได้ ฉันเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อการประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อยังพรหมจรรย์ เพื่อเผยแผ่พระศาสนาให้ตั้งมั่นถาวร นี้เรียกว่าพระองค์ทรงประพฤติปอนๆ ในเรื่องอาหาร
แล้วพระองค์ทรงประพฤติปอนๆ ในเรื่องของเสนาสนะพระองค์ทรงตรัสให้อยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร คือไม่ให้ยินดีในเสนาสนะที่ใหญ่ ไม่ให้ยินดีในเสนาสนะที่ประณีต ไม่ให้หลงมัวเมาในการที่โยมทั้งหลายมาสร้างเสนาสนะอันสัปปายะให้ ให้ยึดถือธรรมชาติเป็นหลัก ให้ถือโคนต้นไม้เป็นหลักว่าบุคคลควรอยู่โคนต้นไม้ ถ้าอยู่โคนต้นไม้แล้วจะทำให้การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเจริญรุ่งเรือง พระองค์จึงตรัสธุดงควัตร ในเรื่องรุกขมูล เพราะอะไร เพราะว่าการอยู่โคนต้นไม้นั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราละความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ เป็นการประพฤติปอนๆ ในเสนาสนะเพื่อที่จะยังพรหมจรรย์ของเราให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปจนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มีนาคม 2565 15:40:32 โดย Maintenence
»
บันทึกการเข้า
[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 1110
[• บำรุงรักษา •]
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 99.0.4844.51
Re: การปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลเร็ว - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
«
ตอบ #1 เมื่อ:
10 มีนาคม 2565 15:39:02 »
การปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลเร็ว
ถ้าเราบรรลุมรรคผลนิพพานแล้วความข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส มันก็ลดลง ก็น้อยลง ความหลงในรูป เสียง กลิ่น รส มันก็ลดลงตามอำนาจของผลของพระนิพพานที่เราเข้าถึง หากเป็นพระโสดาบัน ความข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ต่างๆ ก็ลดลงไปยี่สิบเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าบรรลุเป็นพระสกทาคามี ความข้อง ความหลง ความผูกพันธ์ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ ก็ลดลงไปสี่สิบเปอร์เซ็นต์ ถ้าบรรลุเป็นพระอนาคามี ความข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ต่างๆ ก็ลดลงไปหกสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าบรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน ก็ลดความยึดมั่นถือมั่น ตัดขาดจากความยึดมั่นถือมั่น ตัดขาดจากความทะเยอทะยานอยากในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ต่างๆ นั้นได้หมดสิ้นไป จิตใจของพระอรหันต์นั้นเป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ ขันธ์ของพระอรหันต์นั้นเป็นขันธ์ที่บริสุทธิ์ รูปของพระอรหันต์นั้นเป็นรูปที่บริสุทธิ์เรียกว่าเป็นขันธวิมุติ เป็นขันธ์ที่พ้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวงเป็นวิสุทธิขันธ์ เป็นขันธ์ที่บริสุทธิ์
เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงให้เราพิจารณาแบบปอนๆ การฉันก็ฉันแบบปอนๆ การนุ่งก็นุ่งแบบปอนๆ การห่มก็ห่มแบบปอนๆ แม้แต่ยารักษาโรคพระองค์ก็ทรงให้ฉันแต่น้ำมูตรเน่า ใช่ว่ายาขวดละสองพัน ยาขวดละห้าพัน หรือว่าขวดละหมื่นสองหมื่น ขวดละแสนสองแสนไม่ใช่ พระองค์ทรงให้ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า เอาผลสมอบ้าง เอาผลมะขามป้อมบ้างเป็นยามหากาฬเพื่อที่จะทำให้ร่างกายของเรานั้นหายปวดหลังปวดเอว ปวดตามร่างกายของเรา จะทำให้เราถ่ายท้องได้สบาย การนั่งภาวนาก็ทน การเดินจงกรมการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ทน สุขภาพจิตก็ดีปลอดโปร่งโล่งสบาย ไม่เป็นท้องอืดท้องเฟ้ออะไรต่างๆ พระองค์ทรงตรัสให้เราเป็นผู้มีความสันโดษ เป็นผู้ประพฤติปอนๆ หรือท่านกล่าวไว้ในเรื่องของยามหาวิกัฏฐ์ เอาดินมาเป็นยา สามารถที่จะเอาดินดำมาเป็นยาแก้โรคผอมเหลืองอะไรต่างๆ ก็มีอยู่ในบาลี อยู่ในพระไตรปิฎก พระองค์ทรงให้เราประพฤติปอนๆ เพราะฉะนั้นเวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ให้เรานั้นประพฤติปอนๆ เหมือนพระมหากัสสปะ เหมือนกับพระโมฆราชจะประพฤติปฏิบัติปอนๆ เพราะว่าเหตุให้คนเกิดความศรัทธา เหตุให้เกิดความเลื่อมใสนั้นพระองค์ทรงตรัสเหตุนั้นไว้ ๔ ประการ คือ
๑. รูปัปปมาณิกา ถือรูปเป็นประมาณ คนที่เกิดศรัทธานั้นบางคนก็ถือรูปเป็นประมาณ เห็นรูปร่างหน้าตาดีก็ศรัทธา เห็นท่าทางสง่าผ่าเผย ผิวพรรณผ่องใสก็เกิดศรัทธาขึ้นมา ยังไม่ได้พูด ยังไม่ได้คุย ยังไม่ได้ฟังเทศน์ ฟังธรรม เห็นพระรูปนั้นหน้าตาดี ผ่องใสดี ผิวพรรณดี สง่าผ่าเผยองอาจ เกิดความศรัทธา เรียกว่า รูปัปปมาณิกา
๒. โฆสัปปมาณิกา มีเสียงไพเราะ มีเสียงเทศน์ไพเราะเพราะพริ้งในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า เป็นผู้ถือเสียงเป็นประมาณ ศรัทธาเพราะได้ฟังเสียง เหมือนกับเราฟังเสียงดีเจที่เขากล่าวในวิทยุเทศน์ในวิทยุ หรือเป็นผู้จัดรายการต่างๆ เราไม่เคยเห็นหน้า แต่ว่าฟังเสียงแล้วมันสบายใจ เสียงฟังแล้วมันเกิดความสุข เกิดความสงบ ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์อยู่สถานีวิทยุฟังแล้วมันเกิดความสบายใจ บางครั้งฟังเสียงโดยไม่พิจารณาเนื้อหาสาระ ฟังแต่เสียงก็สงบแล้ว ท่านกล่าวว่าเป็น โฆสัปปมาณิกา ถือเสียงเป็นประมาณ ทำให้เกิดความเลื่อมใสเพราะเสียง
๓. ลูขัปปมาณิกา ถือความเศร้าหมองเหมือนกับที่กระผมกล่าวมานั้น พระมหากัสสปะเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนกัสสปะ เธอมีอายุพรรษาล่วงมามากแล้ว ผ้าสังฆาฏิของเธอนั้นมีน้ำหนักมากเกินไป เธอควรที่จะผ่อนการถือธุดงค์มาใช้คหปติจีวรก็ได้” แต่พระมหากัสสปะกราบทูลพระองค์ว่า “จะใช้ผ้าบังสุกุลเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของสาวกทั้งหลายทั้งปวงสืบต่อไป” ความหนักแน่นของพระมหากัสสปะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติแบบปอนๆ จึงถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะละความยึดมั่นถือมั่น ละตัณหา อุปาทาน ความทะเยอทะยานอยากต่างๆ เป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่เหมาะแก่การยังพรหมจรรย์ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
๔. ธัมมัปปมาณิกา ถือธรรมเป็นประมาณ คือเสียงไม่เพราะก็ไม่เป็นไรแต่การเทศน์มีเหตุมีผล มีธรรมะเพราะพริ้ง มีอรรถรสที่ยังสมาธิสู่ศีล สู่วิปัสสนาญาณ มีอรรถรสหยั่งลงสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน ว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานบรรลุอย่างไรหนอ อะไรจึงชื่อว่าการบรรลุต่างๆ สามารถกล่าวธรรมะในลักษณะอย่างนี้ได้เรียกว่า ธัมมัปปมาณิกา เลื่อมใสโดยธรรม ถือธรรมเป็นประมาณ
เพราะฉะนั้นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านให้ประพฤติปฏิบัติแบบปอนๆ เรียกว่า ปรมลูโข เราประพฤติปฏิบัติธรรมปอนๆ อย่างเยี่ยมยอด เหมือนกับพระโมฆราช เป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ เราอ่านดูประวัติของพระโมฆราชเป็นพระมหาเถระ เป็นอสีติมหาสาวก เป็นสาวกผู้เนื่องใน ๘๐ องค์ที่เป็นสาวกผู้ใหญ่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ประวัติของท่านนั้นท่านจะประพฤตินุ่งผ้าเก่าๆ เวลาไปประชุมสงฆ์นั้นท่านจะนั่งอยู่ห่างๆ นั่งอยู่ท้ายๆ นุ่งผ้าเก่าๆ ภิกษุทั้งหลายทั้งปวงผู้ไม่รู้จักท่าน ไม่พิจารณาให้ดี บางครั้งไม่ให้ท่านเข้าสู่ที่ประชุมก็มี เพราะอะไร เพราะไม่รู้จักท่าน แต่พอเอ่ยชื่อขึ้นว่า “ภิกษุรูปนี้ชื่อว่า โมฆราช” เพียงเท่านั้นภิกษุทั้งหลายทั้งปวงเกิดขนพองสยองเกล้า เกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใส เพราะพระองค์ทรงตรัสว่าเป็นผู้ประพฤติปอนๆ อย่างเยี่ยมยอด
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าเราไม่หลงใหลในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ไม่มัวเมาจนเกิดความทะเยอทะยานอยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมันก็ง่าย แต่ถ้าเราหลงใหลเมื่อไร หรือทะเยอทะยานอยากเมื่อไรการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็เป็นไปได้ยาก เหมือนกับภูเขา เป็นสิบลูก สามสิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูกนั้นมาขวางกั้นเรา การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นก็เป็นอันยาก บรรลุไม่ได้ เรียกว่าเป็นการบรรลุธรรมได้ยาก แต่ถ้าเราละสิ่งเหล่านี้ทั้งหลายทั้งปวงแล้วการบรรลุมรรคผลนิพพานก็เพียงแค่เราดีดนิ้วมือ เพียงแต่ว่าเราพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะว่าเมื่อเราไม่หลงแล้วปัญญามันก็ต้องเกิด เมื่อปัญญาเกิดความตั้งมั่นในจิตมันก็ต้องเกิด สมาธิมันก็ต้องเกิด เมื่อสมาธิเกิดวิปัสสนาญาณมันก็ต้องเกิด เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดมรรคผลมันก็ต้องเกิด ไม่อยากให้มันเกิดมันก็ต้องเกิด จึงถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้ผลไว
ประการที่ ๔ ท่านกล่าวว่า ปรมวิจิตฺโต เรียกว่าเป็นผู้มีความสงัดอย่างเยี่ยมยอด เราสงัดอย่างไรจึงจะชื่อว่าสงัดอย่างเยี่ยมยอด ท่านกล่าวว่าสงัดอย่างเยี่ยมยอดนั้นต้องสงัดกายด้วย เรียกว่ากายวิเวก สงัดในที่นี้ก็คือเว้นจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม กายของเราไม่ดื่มสุราเมรัยต่างๆ เหล่านี้ เรียกว่ากายของเราสงัดจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงเรียกว่ากายวิเวก แต่ถ้าผู้ใดหลีกเร้นไปอยู่ป่า แต่ว่ากายก็ยังทำบาปอยู่ กายก็ยังฆ่าสัตว์อยู่ กายก็ยังกระทำไม่ดีไม่ถูกไม่งามอยู่ อันนี้ไม่ชื่อว่ากายวิเวก แต่ถ้ากายของผู้ใดสงัดจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง กายของบุคคลนั้นชื่อว่ากายวิเวก เป็นกายที่สงัดจากบาปจากอกุศลทั้งหลายทั้งปวง ท่านกล่าวว่า สงัดก็คือ สงัดจิตว่ามีจิตวิเวก สงัดจิตในที่นี้ก็คือจิตของเรานั้นคือ ไม่เกิดกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ไม่เกิดความโกรธ ไม่เกิดความโลภ ไม่เกิดความหลง ไม่เกิดราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหาต่างๆ
เราจะทำอย่างไรให้จิตของเราเกิดความวิเวกเกิดความสงัดอย่างนั้น เราต้องกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ เราต้องกำหนดอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรากำหนดอยู่ตลอดเวลาจิตของเราก็จะเป็นจิตที่สงัด จิตวิเวก จิตของเราธรรมดาๆ ถ้าเราไม่บริกรรม “พองหนอยุบหนอ” ถ้าเราไม่บริกรรม “พุทโธ” มีสติกำหนดอยู่ จิตของเราก็เป็นจิตธรรมดา แต่ถ้าเรากำหนดจิตของเราให้นิ่ง กำหนดว่า “คิดหนอๆ” หรือ “พองหนอยุบหนอ” กำหนดให้เห็นรูปนามไม่ให้จิตของเรามันวิ่งไปที่อื่น ถ้าเรากำหนดอยู่อย่างนี้จิตใจของเราก็เป็นสมาธิ เรียกว่ามีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิก็เรียกว่าจิตสงัดแล้ว เรียกว่าจิตวิเวกแล้ว ความวิเวกแห่งจิตมันก็ปรากฏขึ้นมาแล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าความวิเวกมันเกิดขึ้นมาแล้ว ปัญญามันต้องเกิด วิปัสสนาญาณมันก็ต้องเกิด เมื่อวิปัสสนาญาณเกิด มรรคผลนิพพานมันก็ต้องเกิดนี้เรียกว่าจิตวิเวก ประการที่สามกล่าวว่าอุปธิวิเวก คือสงัดจากกิเลส เราจะสงัดจากกิเลสได้เราก็ต้องมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์ เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายกำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ เรียกว่าเรามาเพียรเพื่อที่จะยังอุปธิวิเวกให้เกิดขึ้นมา ถ้าเราบรรลุเป็นพระโสดาบันเพียงครั้งเดียวเท่านั้น อุปธิวิเวกแห่งพระโสดาบันก็เกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้เราละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสลงได้ ความวิเวกแห่งสักกายทิฏฐิ ความวิเวกแห่งวิจิกิจฉา ความวิเวกแห่งสีลัพพตปรามาสมันก็เกิดขึ้นมาแล้วในจิตใจของพระโสดาบัน เมื่อบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วตายไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่สักกายทิฏฐิมันก็ไม่เกิด วิจิกิจฉามันก็ไม่เกิด ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เกิด เรียกว่าสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสการถือศีลพรตต่างๆ มันก็ไม่เกิดขึ้นมา บุคคลนั้นก็จะชื่อว่าเป็นคนมีคุณธรรมอันเป็นที่พึ่งนั้นติดตามไปในสัมปรายภพข้างหน้า เกิดอีกอย่างมากก็ ๗ ชาติเท่านั้นเอง เรียกว่าสงัดจากกิเลสของพระโสดาบัน ถ้าผู้ใดเป็นประเภทสัตตุกขัตตปรมะ ก็เกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ แต่ถ้าผู้ใดเป็นโกลังโกละคือมีอัธยาศัยบารมีอ่อนลงก็เกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๖ ชาติ แต่ถ้าผู้ใดมีบารมีมากกว่านั้นก็เกิดเป็นเอกพีชี คือ เกิดเพียงชาติเดียว ก็จะได้เป็นสัมโพธิปรายโน ก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าเรามีความสงัดจิต มันก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้บรรลุคุณธรรมอย่างที่กล่าวมา ถ้าผู้ใดได้บรรลุคุณธรรมคือเป็นพระโสดาบันแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า จะเอาทรัพย์สมบัติของมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวงมากองกัน จะเป็นทรัพย์สมบัติของเศรษฐี มหาเศรษฐี คฤหบดี พระราชา หรือสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิมากองรวมกันสูงมากมายขนาดไหนก็ตาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าไม่เท่ากับเสี้ยวหนึ่งของการบรรลุเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นการบรรลุเป็นพระโสดาบันจึงมีอานิสงส์มากมาย เรียกว่าสามารถป้องกันอบายภูมิได้ สามารถป้องกันนรกได้ นี้เรียกว่าผลของการประพฤติปฏิบัติธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันเป็นอย่างนั้น
แต่ถ้าผู้ใดมีความสงัดกิเลสยิ่งไปกว่านั้นอีก คือสามารถทำลายราคะ โทสะ ให้น้อยลงไป บุคคลนั้นก็จะได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี เรียกว่าหมดยึดมั่น ถือมั่น ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสแทบจะหมดแล้ว ความกำหนัดในอารมณ์ต่างๆ ก็แทบจะหมดแล้วในพระสกทาคามี ถ้าผู้ใดมีความสงัดมากไปกว่านั้นก็บรรลุเป็นพระอนาคามี สมารถละราคะ โทสะได้ ไม่เกิดอีก เรียกว่าราคะ โทสะนั้นถึงบุคคลนั้นจะตายไปเกิดในภพใหม่ ชาติใหม่ มันก็ไม่สามารถที่จะพาไปเกิดในภพใหม่ ชาติใหม่ ที่นอกเหนือไปจากสุทธาวาสพรหมได้ ผู้ที่บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้วก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมเท่านั้น เพราะอะไร เพราะอำนาจของการละราคะ โทสะ โมหะได้
เพราะฉะนั้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านจึงให้มีความสงัด ถ้าเราไม่สงัดจากอุปธิคือกิเลสแล้ว เราก็ไม่สามารถจะหาความสุขเจอ เพราะว่าเหตุแห่งทุกข์ก็คือกิเลส เป็นตัวบงการชีวิตของเรา เมื่อเราคิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่ว เราไปเกิดในนรกนับภพนับชาตินับกัปนับกัลป์ไม่ได้ ก็เพราะจิตของเรานี้แหละยินดีในบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง แต่ถ้าเราไปเกิดในสวรรค์ก็ดี มาเกิดในเมืองมนุษย์ก็ดี เราไปเกิดในพรหมโลกก็ดี ก็เพราะอาศัยจิตของเราที่สงัดจากอำนาจของกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เราจึงได้มาเกิดในมนุษย์ มาเกิดในสวรรค์ มาเกิดในพรหมโลก การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านพยายามให้เรานั้นอุปธิวิเวก สงัดจากกิเลสให้ได้ เพราะว่ามันเป็นที่สุดของการเวียนว่ายตายเกิด เป็นที่สุดของสังสารวัฏ เป็นที่สุดของวัฏฏสงสาร เป็นฝั่งแห่งสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่จะแหวกว่ายสายธารแห่งโอฆะกันดาร พยาธิกันดาร มรณะกันดาร ข้ามพ้นกันดารทั้งหลายทั้งปวงนั้นไปสู่สถานที่อันประเสริฐคือพระนิพพานได้
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่จะให้ผลเร็วนั้น ท่านกล่าวว่าต้องประกอบด้วยปรมตัสสี คือ เพียรอย่างเยี่ยมยอด ปรมเชคุจฺฉี เพียรไม่ให้เกิดความลำบากแก่สัตว์เล็กสัตว์น้อยอย่างเยี่ยมยอด ปรมลูโข ประพฤติปฏิบัติปอนๆ อย่างเยี่ยมยอด แล้วก็ ปรมวิจิตฺโต สงัดยิ่งอย่างเยี่ยมยอด ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติประกอบด้วยองค์คุณ ๔ ประการนี้ บุคคลนั้นก็จะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้
วันนี้อาตมภาพกระผมได้กล่าวธรรมมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอน้อมเอาบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่พระสงฆ์ สามเณร ปะขาว แม่ชี คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้บำเพ็ญมาดีแล้ว ก็ขอให้บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจงได้มารวมกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัย ดลบันดาลส่งไปถึงพระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่พระราชปริยัตยากร จงส่งถึงพระราชปริยัตยากรจงทุกประการ แล้วก็ขอให้บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวง ที่พวกเราทั้งหลายได้บำเพ็ญมาดีแล้วนั้นจงมารวมกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้คณะครูบาอาจารย์ ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้เจริญด้วยศีล ด้วยสมาธิ เจริญด้วยปัญญาได้บรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
บันทึกการเข้า
[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [
1
]
ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
จากใจถึงใจ
-----------------------------
=> หน้าบ้าน สุขใจ
===> สุขใจ ป่าวประกาศ (ข้อความจากทีมงาน)
===> สุขใจ เสนอแนะ (ข้อความจากสมาชิก)
===> สุขใจ ให้ละเลง (มุมทดสอบบอร์ด)
-----------------------------
สุขใจในธรรม
-----------------------------
=> พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
===> พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
===> ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
===> ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
===> นิทาน - ชาดก
=====> ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
=> ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
===> ธรรมะจากพระอาจารย์
===> เกร็ดครูบาอาจารย์
=> ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
=> สมถภาวนา - อภิญญาจิต
=> จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
=> เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
===> เอกสารธรรม
===> เสียงธรรมเทศนา
=====> ธรรมะจาก สมเด็จโต
=====> ธรรมะจาก หลวงปู่มั่น
=====> เสียงบทสวดมนต์
=====> เพลงสวดมนต์
=====> เพลงเพื่อจิตสำนึก แด่บุพการี
=====> ธรรมะ มิวสิค (เพลงธรรมทั่วไป)
===> ห้อง วีดีโอ
=> เกร็ดศาสนา
=> กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
=> ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
=> บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
=> พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
===> พุทธวัจนะ ในธรรมบท
===> พุทธศาสนสุภาษิต
===> คำทำนายภัยพิบัติที่จะเกิด
===> รวมข่าวภัยพิบัติ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
===> รู้ เพื่อ รอด (การเตรียมการ)
=> ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม
===> ฐานข้อมูล มูลนิธิต่าง ๆ ในประเทศไทย (Donation Exchange Center)
-----------------------------
วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ
-----------------------------
=> วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ
===> เรื่องราว จากนอกโลก
=====> ประสบการณ์เกี่ยวกับ UFO
=====> หลักฐาน และ การพิสูจน์ยูเอฟโอ
=====> คลิปวีดีโอ ยูเอฟโอ
=> ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
=> เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ
===> ร้อยภูติ พันวิญญาณ
=====> ประสบการณ์ ผี ๆ
=======> เรื่องเล่าในรั้วมหาลัย
=====> ประวัติ ต้นกำเนิด ตำนานผี
===> ดูดวง ทำนายทายทัก
===> ไดอะล็อก คือ ดอกอะไร - พลังไดอะล็อก (Dialogue)
===> กระบวนการ NEW AGE
=> เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
-----------------------------
นั่งเล่นหลังสวน
-----------------------------
=> สุขใจ จิบกาแฟ
=> สุขใจ ร้านน้ำชา
=> สุขใจ ห้องสมุด
===> สุขใจ หนังสือแนะนำ
===> สุขใจ คลังความรู้ลวงโลก
===> สยาม ในอดีต
=> สุขใจ ใต้เงาไม้
=> สุขใจ ตลาดสด
=> สุขใจ อนามัย
=> สุขใจ ไปเที่ยว
=> สุขใจ ในครัว
===> เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว
=> สุขใจ ไปรษณีย์
=> สุขใจ สวนสนุก
===> ลานกว้าง (มุมดูคลิป)
===> เวที จำอวด (จำอวดหน้าม่าน)
===> หนังกลางแปลง (ดูหนัง รีวิวหนัง)
===> หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
=====> เพลงไทยเดิม
===> แผงลอยริมทาง (รวมคลิปโฆษณาโดน ๆ)
คุณ
ไม่สามารถ
ตั้งกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
ตอบกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความได้
BBCode
เปิดใช้งาน
Smilies
เปิดใช้งาน
[img]
เปิดใช้งาน
HTML
เปิดใช้งาน
กำลังโหลด...