[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 กันยายน 2567 11:24:20 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สนทนาธรรมภาคปฏิบัติ ปฏิปัตติวิภัชน์ โดย พระอาจารย์มั่น  (อ่าน 4298 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 19 กันยายน 2554 14:55:23 »





สนทนาธรรมภาคปฏิบัติ ปฏิปัตติวิภัชน์
โดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
จากหนังสือ จิตตภาวนา มรดกล้ำค่าทางพุทธศาสนา

หมายเหตุ บทสนทนาธรรมภาคปฏิบัติ ปฏิปัตติวิภัชน์ นี้เป็นหนึ่งในมรดกธรรมชิ้นสุดท้ายที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ได้มอบให้แก่คณะศิษยานุศิษย์ไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ฉบับเดิมพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ต่อมาได้จัดพิมพ์ครั้งแรก โดยคณะอุบาสกอุบาสิกา เพื่อแจกในงานถวายเพลิงศพของท่าน เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๓

ผ. เป็นผู้ปฏิบัติ ยินดีในที่สงัด ชอบอยู่คนเดียวเงียบ ๆ บนเขา วันหนึ่งเวลากลางคืนเดือนหงาย คิดถึง ฝ. ซึ่งเป็นเพื่อนปฏิบัติมาด้วยกัน อันสำนักอยู่ในถ้ำ และบริเวณนั้น เวลากลางคืน ไม่มีคนเดิน เพราะเงียบและเปลี่ยว แต่ถ้ำนั้นอยู่ใกล้ ไม่ไกลมากนัก ผ. ลงมาจากเขา อาศัยแสงเดือนแล้วเดินไป พอถึงถ้ำประมาณ ๒๐ นาฬิกา คือ ๒ ทุ่ม

ฝ. เห็น ผ. มา จึงพูดว่า ท่านอุตส่าห์มาหาข้าพเจ้ากลางคืน ไม่กลัวเสือหรือ
ผ. ว่า ข้าพเจ้าไม่กลัว เพราะอาศัยอำนาจพระรัตนตรัย ที่เรามีใจมั่นคงอยู่ในสรณะทั้งสาม

ฝ. ถูกแล้ว ข้าพเจ้าอยู่ในถ้ำ เวลานี้ก็เป็นที่ป่าทางเปลี่ยว ที่ไม่มีความหวาดเสียว ก็เพราะมั่นคงอยู่ในสรณะทั้งสาม ดั่งมีพระพุทธภาษิตในธชัคคสูตร ซึ่งตรัสสอนภิกษุผู้มีราคะ ยังไม่ปราศไปจากสันดานว่า ท่านทั้งหลายไปอยู่ในป่าหรือโคนต้นไม้หรือเรือนว่างเปล่า ถ้าความกลัวเกิดขึ้น ก็ให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าก็ให้ระลึกถึงคุณพระธรรม ถ้าไม่ระลึกถึงคุณพระธรรม ก็ให้ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ ความกลัวและความหวาดเสียวก็จะหายไป พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นก็ปฏิบัติตามพระบรมพุทโธวาทโดยเคารพ

ผ. พูดว่า น่าเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่น คราวเสด็จไปห้ามพระญาติไม่ให้เกิดทะเลาะวิวาทในการแย่งน้ำกัน พระญาติเหล่านั้นเกิดความเลื่อมใส จึงแบ่งเจ้านายศากยะและโกลิยะถวาย ฝ่ายละ ๒๕๐ องค์ รวมกันเป็น ๕๐๐ องค์ จะนำไปบวช แต่เจ้านายเหล่านั้นบางองค์มิได้มีศรัทธาออกบวช เช่นพระนนท์เริ่มจะแต่งงานก็ทรงนำไปบวชเสีย ภิกษุเหล่านั้นยังไม่เห็นภัยในโลกโดยแท้จริง จึงมีความอาลัยในมาตุคาม อาศัยพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ทรงอบรมฝึกหัดและทรมาน ภิกษุเหล่านั้นจึงถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะ คือ อนุปาทิเสสปรินิพพาน

ผ. รับว่า ถูกแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ฝึกหัดคนที่ควรทรมานไม่มีใครสู้ ดั่งนี้ จึงได้ทรงพระนามว่า ปริสทมฺมสารถิ
ผ. ถามว่า การอยู่ในที่สงัดกับอยู่ในหมู่นั้น ต่างกันอย่างไร เหตุไฉนพระศาสดาจึงทรงสั่งสอนให้ยินดีในที่สงัด
ฝ. ตอบว่า ต่างกันคือ ความไม่ระคนด้วยหมู่ ไม่เกี่ยวกับหมู่ เป็นกายวิเวก ชื่อว่าการอยู่ในที่สงัด ส่วนที่ตรงกันข้าม ชื่อว่าอยู่ในหมู่ กายวิเวก อยู่ในที่สงัด เป็นอุปการะแก่จิตตวิเวกและเป็นไปเพื่ออุปธิวิเวก เพราะเหตุนี้ พระศาสนาจึงทรงสั่งสอนให้ยินดีในที่สงัด

ผ. ถามว่า อะไรเป็นเหตุไม่ให้ยินดีในที่สงัด
ฝ. ตอบว่า ความหมกมุ่นกำหนัดยินดีติดอยู่ในกามทั้งหลายเป็นเหตุ เพราะการอยู่ในที่สงัด ปราศจากอารมณ์เกรียวกราวเซ็งแซ่เช่นนั้น ย่อมไม่มีประชุมชนหรือกามารมณ์ที่ดี ๆ ซึ่งจะยั่วยวนใจให้กำหนัดยินดีได้ จึงมีความเปลี่ยวเปล่าเหงาหงอยและหวาดกลัวต่อภัยอันตรายเพราะฉะนั้น จึงไม่ยินดีในที่สงัด

ผ. พูดว่า ผู้ไม่ยินดีในที่สงัดนั้น ยังไม่เห็นภัยโลก และยังไม่ได้ความอุ่นใจในธรรม
ฝ. รับว่า ถูกแล้ว เพราะยังไม่เห็นภัยในโลก และไม่มีความอุ่นใจในธรรม เคยมีแต่ความอุ่นใจในกาม เพราะเหตุนี้การห่างกามจึงไม่สบาย เหมือนปลาที่เขานำขึ้นมาไว้บนบก ฉะนั้น


ผ. ถามว่า จิตวิเวกนั้น หมายถึง ฌานชั้นไหน
ฝ. ตอบว่า ตั้งแต่อุปจารสมาธิ ตลอดกระทั่งรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ เหล่านี้เป็นจิตตวิเวก

ผ. ถามว่า อุปธิวิเวก สงัดจากกิเลส สงัดจากกรรม และสงัดจากขันธ์นั้น เป็นอย่างไร ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ
ฝ. ตอบว่า ได้แก่พระอรหันต์ ที่ท่านตัดไตรวัฏได้เพราะละอาสวะ ๓ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ชื่อว่า สงัดจากกิเลส ทำอะไรไม่เป็นกรรม แต่เป็นกริยา ชื่อว่า สงัดจากกรรม และหมดวิบาก ไม่มีปฏิสนธิในภพที่จะเกิดเบญจขันธ์ ต่อไป ชื่อว่า สงัดจากขันธ์

ผ. พูดว่า ข้าพเจ้านึกถึงความยินดีพัวพันยึดถือสิ่งใดไว้ ก็เป็นภพขึ้นในที่นั้น ถ้ายังมีความยินดีในกาม ก็ต้องเกิดในกามธาตุ เช่น พระอนาคามี ละความยินดีในกามได้ก็ไม่เกิดในกามธาตุ และพระอรหันต์ละความยินดียึดถือในเบญจขันธ์ได้ ก็ปรินิพพาน ท่านจึงไม่เกิดต่อไป เพราะฉะนั้น เพราะศาสดาจึงตรัสสอนให้ละความกำหนัดยินดีในกาม และละความยินดียึดถือในเบญจขันธ์

ฝ. รับว่า ถูกแล้ว ถ้าเราจะไม่ละความกำหนัดยินดีในกาม และไม่ละความกำหนัดยินดียึดถือในเบญจขันธ์ ก็ชื่อว่าไม่ได้ทำตามคำสอนของพระศาสดา


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 19 กันยายน 2554 14:58:26 »



                     

ผ. ถามว่า การปฏิบัติก็มุ่งต่อความพ้นจากกิเลส แต่ทำไมตั้งใจจะละอาสวะให้หมดไป จึงไม่หมดไปได้อย่างใจ

ฝ. ตอบว่า อาสวะเป็นกิเลสที่ไม่ประกอบด้วยเจตนา ต้องอาศัยอริยมรรคที่เป็นกุศลพ้นเจตนาจึงละไว้ได้ การตั้งใจละนั้นเป็นกุศลที่ประกอบด้วยเจตนา เพราะฉะนั้นจึงละอาสวะไม่ได้ คงละได้แต่กิเลสที่ประกอบด้วยเจตนา แต่ก็ละได้ชั่วคราว ภายหลังอาจเกิดขึ้นได้อีก เพราะเป็นโลกิยกุศล

ผ. พูดว่า อ้อ อย่างนี้นี่เล่า ข้าพเจ้าไม่รู้ว่ากิเลสที่ไม่ประกอบด้วยเจตนา ต้องละด้วยกุศลที่พ้นจากเจตนา คือ อริยมรรค ส่วนกิเลสที่ประกอบด้วยเจตนา เป็นกรรมวัฏฝ่ายบาป ต้องละด้วยกุศลที่ประกอบด้วยเจตนา ซึ่งเป็นกรรมวัฏฝ่ายบุญ

ฝ. พูดว่า ถ้าตั้งใจจะละอาสวะได้ง่าย ๆ เหมือนอย่างตั้งใจทำกรรมวัฏฝ่ายบุญแล้ว พระอรหันต์ก็คงหาได้ง่าย ๆ ในโลก พระอริยสงฆ์คงไม่น่าอัศจรรย์เท่าไหร่ แม้พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี เสขบุคคล ๓ จำพวกนี้ก็ต้องอาศัยอริยมรรค ซึ่งเป็นกุศลที่พ้นจากเจตนา จึงจะฆ่าสังโยชน์ได้

ผ. ถามว่า เมื่อกุศลที่พ้นจากเจตนายังไม่เกิดขึ้น เราจะทำอย่างไร เพราะท่านอธิบายว่า กุศลที่ประกอบด้วยเจตนานั้นฆ่าสังโยชน์ไม่ได้ ต้องอาศัยอริยมรรคที่เป็นกุศลพ้นจากเจตนาจึงจะฆ่าสังโยชน์ได้ขอท่านจงอธิบายในเรื่องกุศลที่พ้นจากเจตนา คือ อริยมรรคให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

ฝ. ตอบว่า ท่านถามปัญหาถึงเรื่องรู้เห็นในอริยมรรคอย่างนี้ ข้าพเจ้าไม่มีปัญญาจะตอบ เพราะผู้บรรลุอริยมรรคนั้น ต้องเป็นพระอริยะตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไปจึงจะตอบถูก เพราะท่านเคยบรรลุอริยมรรค แต่ถึงเช่นนั้นท่านก็ปิดคุณธรรมของท่าน

ผ. พูดว่า เมื่อตอบตัดปัญหาเช่นนี้ ก็ไม่มีเค้าเงื่อนว่าจะทำในใจอย่างไรถูก ขอท่านจงอธิบายไปตามแนวพระพุทธภาษิต จะได้เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งมรรคและผล เสียแรงอุตส่าห์เดินมาหาในเวลากลางคืน ขอท่านจงอธิบายในเรื่องอริยมรรคให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

ฝ. พูดว่า ท่านจะมาเค้นถามในเรื่องอริยมรรค เหมือนจะมาเอาหนวดเต่าเขากระต่ายในข้าพเจ้าให้ได้ จะต้องค่อย ๆ นึกถึงพระพุทธสุภาษิตที่ได้สดับมาเสียก่อน ท่านจงมีสติสงบใจให้พ้นนิวรณ์ ที่เรียกว่า สมาธิ และพิจารณาธาตุ ๖ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ตามความเป็นจริง คือ ธาตุดิน ๑๙ มีผม ขน เล็บ ผัน หนัง เป็นต้น แยกออกไปให้เป็นส่วน ๆ ธาตุน้ำ ๑๒ แยกออกไปให้เป็นส่วน ๆ ธาตุลม ๖ แยกออกไปให้เป็นส่วน ๆ ธาตุไฟ ๔ ก็แยกออกไปให้เป็นส่วน ๆ และอากาศธาตุ วิญญาณธาตุ เมื่อแยกกระจายออกไปเป็นส่วน ๆ แล้ว พึงพิจารณาดูตามความเป็นจริงให้เห็นเป็นสักแต่ว่า ดิน สักแต่ว่าน้ำ สักแต่ว่าไฟ สักแต่ว่าลม สักแต่ว่าอากาศ และสักแต่ว่าวิญญาณ ทั้ง ๖ อย่างนี้ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ คน เรา เขา ใคร ๆ ก็ไม่มี ให้เห็นชัดตามความเป็นจริงอย่างไร และ ธาตุ ๖ นี้เป็นแต่กองสังขาร อาศัยปัจจัย คือ อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และนามรูป จึงเกิดขึ้น เมื่อปัจจัยเหล่านี้ดับไป ธาตุ ๖ ก็ย่อมดับไป เมื่อพิจารณาไป ๆ ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในธาตุเหล่านั้น และเมื่อเบื่อหน่ายแล้ว ก็จะคลายจากความกำหนัดในธาตุทั้ง ๖ นี่แหละ คือ อริยมรรค พ้นจากอาสวะ คือ วิมุตติอริยผล ข้าพเจ้าอธิบายให้ท่านฟังตามแบบที่ได้สดับมา จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ตามพระพุทธสุภาษิตที่ข้าพเจ้าบรรยายให้ฟังนี้ จะได้ไม่เสียเวลาที่ท่านอุตส่าห์มาหากลางคืน

ผ. ถามว่า ท่านอธิบายเรื่องสงบใจให้พ้นนิวรณ์จนเป็นอารมณ์เดียวแล้ว จะพิจารณาอย่างไรได้ เพราะเวลาที่พิจารณานั้น ใจยังคงไม่สงบ จึงคิดถึงธาตุได้หลาย ๆ อย่าง เวลาที่อยู่บนเขา ข้าพเจ้าปรารภความเพียรมีสติรู้สึกตัวอยู่ ไม่ส่งใจไปคิดอย่างอื่น มีอารมณ์อันเดียวจนลืมกาย ไม่รู้สึกตัว เสวยสุขอันเกิดแต่วิเวก จะคิดอะไร ๆ ก็คิดไม่ออก คงมีแต่รู้กับเฉย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เข้าใจในเรื่องพิจารณาธาตุ ๖ ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

ฝ. ตอบว่า การพิจารณานั้น ไม่ใช่ให้นึกหรือคิด คือ มีสติสงบใจให้เป็นอารมณ์เดียวแล้ว จึงสังเกตดูว่า อย่างนี้ธาตุดิน อย่างนี้ธาตุน้ำ อย่างนี้ธาตุไฟ อย่างนี้ธาตุลม อย่างนี้ธาตุอากาศ อย่างนี้วิญญาณธาตุ แล้วสังเกตดูความเกิดขึ้นของธาตุ ๖ และความดับไปของธาตุ ๖ ให้เห็นชัดตามความเป็นจริงอย่างไร ไม่ใช่ให้นึกหรือคิด เพราะความคิดนั้น ปิดความเห็น เพราะฉะนั้นจึงต้องสงบใจ ไม่ให้มีนึกมีคิด วิธีพิจารณานั้น ท่านคงเข้าใจว่าใช้ความนึกคิด เพราะใจที่ยังไม่สงบนั้น การปฏิบัติจึงใช้นึก ใช้คิด ก็เป็นชั้นสัญญา ไม่ใช่ชั้นปัญญา เพราะปัญญานั้นไม่ใช่คิดหรือนึกเอา เป็นความเห็นที่เกิดขึ้นต่อจากจิตที่สงบแล้ว และพ้นจากเจตนาด้วย ข้าพเจ้าอธิบายให้ละเอียดเช่นนั้น ท่านเข้าใจได้ความหรือยัง ถ้าไม่เข้าใจ ถามต่อไปอีกได้


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 19 กันยายน 2554 15:01:31 »



ผ. ถามว่า ความคิดที่ปิดความเห็นนั้นเป็นอย่างไร ส่วนจินตามัยปัญญานั้นก็ต้องคิด ทำไมความคิดจึงไม่ปิดความเห็น ขอท่านจงอธิบายลักษณะจิตนามัยปัญญาให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

ฝ. ตอบว่า คือ ความปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ไม่มีสติ ครั้นรู้ตัวขึ้นจึงมีสติแล้ว เปลี่ยนใจมาให้คิดอยู่ในขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ หรือ ธาตุ ๖ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ระหว่างที่คิดถึงไตรลักษณ์อยู่นั้น ใจยังไม่สงบ ถ้าจะสงบลงบ้าง ก็เป็นเพียงสมถะ จึงเป็นชั้นสัญญา มิใช่ชั้นปัญญา นี่แหละความคิดที่ปิดความเห็น ส่วนจินตามยปัญญานั้น คือ ทำในใจโดยแยบคาย เป็นสัมมาสังกัปโป ส่วนความเห็นที่ชัดเจนขึ้นเป็นสัมมาทิฏฐิ นี่เป็นลักษณะของจิตนามัยปัญญา เพราะฉะนั้น สุตมัยปัญญา จินตามัยปัญญา ภาวนามัยปัญญา ทั้ง ๓ อย่างนี้ เวลาที่เกิดขึ้นนั้น พ้นเจตนา เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบทั้งนั้น

ผ. พูดว่า ข้าพเจ้าพึ่งเข้าใจในเรื่องความคิดที่ปิดความเห็น ลักษณะของใจยังไม่สงบ การปฏิบัติจึงต้องใช้คิด ใช้นึก และประกอบด้วยเจตนาทั้งนั้น แม้สงบลงได้ ก็เป็นชั้นสมถะ ไม่ใช่ปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติมุ่งต่อความพ้นจากกิเลส ไม่ควรส่งใจให้ออกไปนอกสติปัฏฐาน จะได้ไม่มีความคิดที่ปิดความเห็น เพราะมีวิริยะ สติ สมาธิ บริบูรณ์ขึ้นแล้ว จะได้พิจารณาธาตุ ๖ เป็น อนัตตา เมื่อความเห็นชัดเจนขึ้นเป็นอริยมรรค จะได้ถ่ายสังโยชน์ธรรมเบื้องต่ำและเบื้องบนให้หมดไปจากสันดาน

ฝ. กล่าวว่า สาธุ ข้าพเจ้าขออนุโมทนา การปฏิบัติเช่นนั้น เป็นสัมมาปฏิปทาอย่างดีทีเดียว สมด้วยพระพุทธสุภาษิต ที่ตรัสสอนภิกษุว่า กุมฺโมว องฺคานิ สเก กปาเล เต่าหดอวัยวะได้ในกระดองของตนฉันใด สธมทหํ ภิกฺขุ มโนวิตกฺเก ภิกษุสะกดวิตกในใจไว้ฉันนั้น อนิสฺสิโต อญฺญมเหฐยาโน ไม่อาศัยอะไรหมด มิได้เบียดเบียนผู้อื่น ปรินิพฺพุโต นูปวเทยฺย กญฺจิ เป็นผู้ดับกิเลสหมด ไม่พึงพูดกระทบซึ่งใคร ๆ


ผ. พูดว่า ถ้าจะไม่รีบปฏิบัติให้อริยมรรคเกิดขึ้น เมื่อความตายมาถึงเราจะเหลว เพราะยังไม่ได้ความอุ่นใจในธรรม คือยังไม่ปิดอบาย เพราะยังไม่ได้บรรลุโสดาปัตติผล

ฝ. รับว่า ถูกแล้ว ข้อนี้มีพระพุทธสุภาษิตในสุตตนิบาตสัลลสูตร หน้า ๓๘๙ ว่า นครํ ยถา ปจฺจนฺตํ คุตฺตํ เมืองที่ตั้งอยู่สุดแดน อันชนทั้งหลายรักษาแล้ว สนฺตรพาหิรํ ทั้งภายในและภายนอก ฉันใด เอวํ โคเปถ อตฺตานํ ท่านทั้งหลายจงรักษาตน ฉันนั้น ขโณ มา โว อุปจฺจจคา ขณะคราว อย่าได้ล่วงท่านทั้งหลายไปเสีย ขณาตีตา หิ โสจนฺติ เพราะว่าชนทั้งหลายอันคราวล่วงไปเสีย ย่อมโศกเศร้า นิรยมฺหิ สมปฺปิตา ไปเต็มแน่นอยู่ในนิรยาบาย ดั่งนี้

ผ. พูดว่า ข้าพเจ้าได้ฟังคาถาพระพุทธภาษิตตรัสสอน ดั่งที่ท่านบรรยายมานี้ รู้สึกทำใจให้คิดถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่มีอาจารย์ผู้ใดผู้หนึ่งในโลกนี้ ที่จะแนะนำพร่ำสอนให้เราทั้งหลายได้รู้ทางที่จะดำเนินใจให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ถ้าเราจะไม่ประพฤติปฏิบัติตามธรรมคำสอนของพระองค์ ก็จะเสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

ฝ. รับว่า ถูกแล้ว ความดำริเช่นนี้เป็นการสมควรทีเดียว
ผ. ถามว่า ปัญญา วิชชา ญาณ ๓ อย่างนี้เหมือนกันหรือต่างกัน ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ
ฝ. ตอบว่า ต่างกัน ถ้าจัดตามอริยสัจ ปัญญานั้นเป็นมรรค วิชชานั้นเป็นนิโรธ ส่วนญาณนั้นเป็นได้ทั้ง ๒ อย่างคื อวิปัสสนาญาณ นิพพิทาญาณ เช่นนี้เป็นมรรค ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ๓ อย่างนี้เป็น นิโรธ แม้ญาณ อื่น ๆ ที่เป็นมรรคก็เป็นปัญญา ส่วนที่เป็นผล ก็เป็นวิชชา หรือ นิโรธ

ผ. พูดว่า แต่เดิมข้าพเจ้าเข้าใจว่า ญาณนั้นเป็นปัญญาได้อย่างเดียว ไม่เข้าใจว่าเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง
ฝ. พูดว่า ที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้ อธิบายไปตามที่ท่านสงเคราะห์ไว้ในแบบ

ผ. พูดว่า ไม่ควรปรารถนากามารมณ์ที่ดี ๆ ทั้งหลายในโลก ซึ่งเป็นสามิสสุข เพราะใจที่เข้าไปยินดีในกามนั้น มิใช่ความสำราญอะไร มีแต่ความหมกมุ่นขุ่นหมองตลอดเวลาไปจนกว่าจะตาย แม้จะแสวงหามาได้ ก็ปกครองเอาไว้ไม่ได้ เพราะกามารมณ์เหล่านั้นเป็นสังขาร ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา และเป็นทุกข์เหลือทน ทนอยู่ไม่ได้ จะต้องแตกดับไปเป็นแน่แท้ เมื่อมาประพฤติปฏิบัติละเอียดเข้า จึงรู้สึกได้ว่าสามิสสุขทั้งหลายห่างไกลกับนิรามิสสุขนัก


ฝ. พูดว่า ผู้ที่หวังสามิสสุขนั้น มิใช่จะสำเร็จแก่ผู้หวังทั่วไปได้ เพราะสามิสสุขทั้งหลายเป็นส่วนของกุศลวิบาก เกิดสำหรับผู้มีบุญ ส่วนผู้ที่ไม่มีบุญแม้จะหวังก็ไม่สมประสงค์ ถ้าปรารถนากันได้ตามใจชอบแล้ว ก็คงจะไม่มีคนจนคนลำบาก อารมณ์ทั้งหลายในโลกทั้งที่ดีและไม่ดีเหล่านั้น ล้วนเป็นสังขาร ส่วนผู้ที่ชอบอารมณ์ดี ไม่ชอบอารมณ์ที่ไม่ดี บุคคลนั้นก็เป็นสังขาร สังขารกับสังขารจะพึ่งกันอย่างไรได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่วุ่นอยู่กับสังขารจึงเป็นผู้หลง เพราะไม่รู้ความจริง นิรามิสทุกข์ก็ยังดี เพราะเป็นความเย็น ส่วนสามิสสุขนั้นเป็นความร้อน ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นแล้ว จึงละอามิสในโลกเสีย


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 19 กันยายน 2554 15:04:58 »



ผ. ถามว่า อริยมรรคนั้น เป็นสังขาร หรือวิสังขาร

ฝ. ตอบว่า อริยมรรคนั้นเป็นสังขาร แต่เป็นยอดสังขาร สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ใน อัคคัปปสาทสูตรว่า ยาวตา ภิกฺขเว ธมฺมา สังฺขตา ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเหล่าใดอันเป็นปัจจัยปรุงแต่ง อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค เตสํ อคฺคมกฺขายติ อริยมรรคที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เราตถาคตกล่าวว่า เป็นยอดของสังขตธรรมทั้งหลายเหล่านั้นดังนี้

ผ. พูดว่า สิ่งอะไร ๆ ในโลกนี้ที่มีวิญญาณครอง และไม่มีวิญญาณครอง ตลอดจนกระทั่งตัวของเราเองก็เป็นสังขาร ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน และเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรเลือกเอายอดสังขาร หรือ อริยมรรค เพราะไปต่อกันได้กับอริยผล ถัดจากอริยผลก็นิพพาน ซึ่งเป็นวิสังขารทีเดียว

ฝ. รับว่า ถูกแล้ว เพราะฉะนั้น จึงต้องละความยินดีในสังขาร ทั้งหลายให้หมด ถ้าไปชอบสังขารอย่างใดไว้ ก็ต้องได้สังขารอีกนั่นแหละ


ผ. ถามว่า จะปฏิบัติอย่างไร จึงจะหายจากการที่เพ่งโทษผู้อื่นได้ขาด เช่น ในเวลาที่เห็นคนทั้งหลายประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต ก็ทำใจให้ประกอบด้วยเมตตากรุณา ใจที่เพ่งโทษ อาจะหายไปได้ชั่วคราว แต่พอเมตตากรุณาเสื่อมไป ใจชนิดนั้นอาจเกิดขึ้นได้อีก ข้าพเจ้าไม่มีอุบายที่จะละได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องหนีจากหมู่ขึ้นมาอยู่บนเขา ขอท่านจงช่วยบอกอุบายให้ด้วย

ฝ. ว่า การเพ่งโทษคนอื่นนั้นสำคัญนัก เพราะขาดเมตตากรุณา เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนและคนอื่น สมด้วยพระพุทธภาษิตว่า ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส เมื่อบุคคลมักตามมองดูซึ่งโทษของผู้อื่น นิจฺจํ อุชฺฌานสญฺญิโน เป็นผู้มีความหมายจะยกโทษอยู่เป็นนิจ อาสวา ตสฺส วฑฺตนฺติ อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญขึ้นแก่บุคคลนั้น อารา โส อาสวกฺขยา บุคคลนั้นเป็นผู้ห่างไกลจากธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะเพราะฉะนั้น ควรทำในใจให้แยกออกไป เป็นอริยสัจ ๔ ส่วนบุคคลนั้นต้องทำความเห็นว่าเป็นขันธ์ ๕ หรือายตนะ ๖ เป็นประเภททุกขสัจ ความประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ ของบุคคลนั้นเป็นสมุทัย เพราะเขาไม่ได้เจริญมรรค จึงไม่ถึงนิโรธ เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่ชอบ หรือเพ่งโทษว่าไม่ดี ก็ต้องเพ่งส่วนสมุทัย ส่วนคนนั้นเป็นขันธ์ ๕ หรือายตนะ ๖ กลับจะน่าสงสาร เพราะความทำผิดเช่นนั้นเป็นส่วนสมุทัย ทำเพราะผู้ที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมีอริยสัจ ๒ ขันธ์ ๕ และอายตนะ ๖ นั้นเป็นทุกขสัจ กิเลสความอยากนั้นเป็นสมุทัย จึงได้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เหมือนทารกที่ไม่รู้จักไฟจึงได้จับ เพราะไม่ทราบว่าร้อน ส่วนผู้ใหญ่เขาไม่จับ เพราะเขาทราบว่าร้อน ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติก็ฉันนั้น

ผ. ถามว่า ถ้าเช่นนั้น ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติมีอริยสัจ ๒ คือ ทุกข์กับสมุทัย เวลาที่เราเข้าไปเพ่งโทษขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ของเราเป็นทุกขสัจ การเพ่งโทษเขานั้นเป็นสมุทัย เวลานั้นเรากับเขาก็ไม่แปลกอะไรกัน เพราะมีแต่ทุกข์กับสมุทัย ๒ อย่างเท่านั้น

ฝ. รับว่า ถูกแล้ว ถ้าไม่ทำความเห็นให้เป็นอริยสัจ ๔ ก็ยากที่จะหายจากใจที่เพ่งโทษคนอื่น
ผ. ถามว่า ถ้าเช่นนั้น พระเสขบุคคลทั้งหลาย ผู้ทำกิจของอริยสัจ ๔ ท่านคงไม่มีความเพ่งโทษ ผู้อื่นกระมัง

ฝ. รับว่า แน่ทีเดียว ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระเสขบุคคลทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ย่อมไม่เพ่งโทษคนอื่น จึงพ้นจากความเบียดเบียน เพราะพ้นจากความเบียดเบียน จึงพ้นจากบาป เพราะพ้นจากบาป จึงพ้นจากทุคติ เพราะพ้นจากความทุคติ คือได้ทำกิจของอริยสัจ ๔ ท่านจึงไม่มีความเพ่งโทษใคร ๆ อาสวะทั้งหลายจึงไม่เจริญขึ้น ถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย จนเป็นพระอเสขบุคคล

ผ. ถามว่า ผู้ปฏิบัติ เช่น กัลยาณชน พระเสขบุคคล พระอเสขบุคคล ก็มีสติปัฏฐานด้วยกันทั้งนั้น สติปัฏฐานของท่านเหล่านั้น จะเหมือนกันหรือต่างกัน

ฝ. ตอบว่า ต่างกัน ถ้าคิดตามแบบกัลยาณชน เจริญสติปัฏฐานเพื่อจะรู้จริง เพราะยังไม่เห็นอริยสัจ ๔ ยังไม่ได้ทำหน้าที่กำหนดทุกข์ ละสมุทัย ทำนิโรธให้แจ้ง และยังไม่ได้เจริญมรรคให้บริบูรณ์ ส่วนพระเสขบุคคล กำหนดสติปัฏฐานตามความเป็นจริง คือ สติสัมปชัญญะ เพื่อจะละสังโยชน์ที่ยังไม่หมดให้หมดไป สติปัฏฐานของท่านนั้นเป็นมรรค พระอเสขบุคคลละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ สติปัฏฐานนั้นเป็นผล เพราะฉะนั้น จึงบริบูรณ์ด้วยสติของท่านนั้นเป็นเอง มิใช่ทำให้เป็นขึ้น คือ ฉฬังคุเบกขา

ผ. ถามว่า ทำไมธาตุทั้ง ๖ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตามความจริง เมื่อพิจารณาดูก็น่าจะเห็นได้ง่าย ส่วนการเห็นว่าธาตุทั้ง ๖ เป็นของเที่ยง สุข ตัวตนนั้น น่าจะเห็นได้ยากเพราะฝืนธรรมดา แต่ทำไมจึงได้เห็นผิดตรงกันข้ามกับความจริง ข้อนี้น่าอัศจรรย์นัก ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจ

ฝ. ตอบว่า ความเห็นผิดชนิดนี้ลึกซึ้งมาก มีหลายชั้น คือ ทิฏฐานุสัย และอัตตานุทิฏฐิ หรือ สักกายทิฏฐิ และทิฏฐิวิปลาส คือ เห็นผิดจากความจริง
ผ. ถามว่า ความทำในใจอย่างไร ทิฏฐิทั้งหลายเหล่านี้จึงมีขึ้นได้

ฝ. ตอบว่า เพราะอวิชชาความไม่รู้ ไม่ได้ส้องเสพสัตบุรุษ ไม่ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ และไม่ได้ฝึกในใจธรรมของสัตบุรุษ จึงไม่รู้จักไตรลักษณ์และอริยสัจ ๔ ทิฏฐิเหล่านี้จึงมีได้มาก เพราะธรรมดาของสังขาร ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่ยังยืน เป็นทุกข์เหลือทน ทนอยู่ไม่ได้ จะต้องดับไป เป็นธรรมดาและเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ส่วนผู้ที่ไม่รู้ความจริง ไม่เห็นไตรลักษณ์ จึงใส่ใจไว้ข้างเกิด ไม่ได้ใส่ใจไว้ข้างดับ เห็นเป็นของเที่ยง เป็นสุข และเห็นเป็นตัวตนแก่นสาร

ผ. ถามว่า การใส่ใจไว้ข้างเกิด ไม่ได้ใส่ใจไว้ข้างดับนั้น มีลักษณะอย่างไร

ฝ. ตอบว่า ธาตุ ๖ นั้น คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศ ธาตุ ๕ อย่างนี้เป็นรูป วิญญาณธาตุ เป็นนาม เมื่อย่นลงเป็นนามเป็นรูปอย่างนี้แล้ว ส่วนรูปนั้น มีความแปรปรวนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เช่น ของเก่าดับไปของใหม่เกิดขึ้นแทน แล้วก็ดับไปอีก ส่วนวิญญาณธาตุ คือ ความรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หกอย่างนี้ เช่น เห็น รูปทางตา เกิดความรู้ขึ้นแล้วก็ดับไป ได้ฟังเสียงทางหู เกิดความรู้ขึ้นแล้วก็ดับไป หรือได้รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น รู้โผฏฐัพพะทางกาย แล้วก็ดับไป รู้ธัมมารมณ์ทางใจ แล้วก็ดับไป เช่นนี้ ทุกอารมณ์ แต่เราไม่ได้ใส่ใจไว้ข้างดับ ใส่ใจไว้แต่ข้างเกิด จึงเห็น ธาตุ ๖ เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน สาระแก่นสาร เป็นสุภะสวยงาม ที่เรียกว่า ทิฏฐิวิปลาส อย่างนี้แหละชื่อว่า การใส่ใจไว้ข้างเกิด ไม่ได้ใส่ใจไว้ข้างดับ

ผ. ถามว่า จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร จึงจะใส่ใจไว้ข้างดับ ไม่ได้ใส่ใจไว้ข้างเกิด ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ
ฝ. ตอบว่า การใส่ใจไว้ข้างเกิดนั้น ชำนาญมาก เพราะคุ้นเคยกันมานานแล้ว ตั้งแต่เกิดมาพอรู้ภาษา คนก็ใส่ใจไว้ข้างเกิด ไม่เคยใส่ใจไว้ข้างดับ เพราะฉะนั้น การใส่ใจไว้ข้างดับ จึงต้องฝึกใหม่ให้ชำนาญ และยังต้องอาศัยความเห็นที่ชัดเจนขึ้นด้วย ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ


ผ. ถามว่า ความทำในใจอย่างไร ความเห็นที่ชัดเจนคือสัมมาทิฏฐิ จึงจะเกิดขึ้นได้ ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าฟัง จะได้ดำเนินใจไปตามคำแนะนำของท่าน
ฝ. ตอบว่า คือ มีสติสงบใจให้พ้นนิวรณ์แล้ว จึงสะกดรอยดูความจริงของธาตุทั้ง ๖ มีลักษณะเกิดขึ้น เสื่อมไปตามความเป็นจริงอย่างไร ที่เรียกว่า สติสัมปชัญญะ

ผ. พูดว่า น่าใจหาย ตั้งแต่เกิดมาเป็นคน ก็ใส่ใจไว้ข้างเกิด ไม่ได้ใส่ใจไว้ข้างดับ เพราะฉะนั้น อัธยาศัยใจคอจึงประกอบด้วยความประมาท และไม่รู้ตัวด้วยว่าเป็นผู้ประมาท สำคัญว่าไม่ประมาท ก็ตั้งนับปีอายุว่าเข้าวัดมาได้ตั้งหลาย ๆ สิบปี


ฝ. รับว่า ถูกแล้ว เข้าวัดมาได้มากปี แต่ใจยังไม่รู้ความจริง และประกอบด้วยความประมาท ปราศจากสติสัมปชัญญะ ไม่ได้ใส่ใจในการพิจารณาสังขารธรรมทั้งหลายว่า มีความเกิดขึ้นแล้ว และเสื่อมไปเป็นธรรมดา แม้จะมีเวลาสงบระงับบ้างบางคราว ก็มีส่วนน้อยเต็มที ใจที่ไม่มีสติมีส่วนมากกว่า เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความเจริญในสัมมาปฏิบัติ สมด้วยพระพุทธสุภาษิต ที่ตรัสไว้ในพระธรรมบทตอนทัณฑวัคค์ หน้า ๓๐ ว่า โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปปสฺสํ อุทยพฺพยํ ก็ผู้ใด เมื่อไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป พึงเป็นอยู่ตลอดร้อยปี เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโน อุทพฺพยํ ความเป็นอยู่ชั่ววันเดียวของผู้ที่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ประเสริฐกว่า

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 19 กันยายน 2554 15:08:00 »




ผ. ถามว่า จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร จึงจะเป็นผู้ไกลจากกิเลสตามเสด็จพระศาสดา

ฝ. ตอบว่า ต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นธรรม เป็นวินัย เช่น ของที่ภิกษุได้มาในทางที่ไม่ควร ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ก็ต้องเสียสละตามพระวินัย ฉันใด เราก็ต้องตั้งใจปฏิบัติแข็งแรงว่าจะเป็นผู้ไกลจากกิเลส กิเลสจะต้องไกลจากเรา ถ้าเผลอไป กิเลสก็เกิดขึ้นอีกเวลาใด ก็ต้องเสียสละคือ ละเสียเวลานั้น เหมือนอย่างภิกษุได้สิ่งของที่ไม่ควร เป็นนิสสัคคีย์ ท่านต้องเสียสละตามพระวินัย ทำตนให้บริสุทธิ์ฉันนั้น นี่แหละชื่อว่าปหานกิจ เป็นทางไกลจากกิเลส ตามเสด็จพระศาสดา

ผ. พูดว่า ข้าพเจ้าฟังท่านบรรยายถึงปฏิปทาที่จะให้ไกลจากกิเลส รู้สึกมีกำลังใจในการละกิเลส ดูไม่เหลือวิสัยที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน

ฝ. รับว่า ถูกแล้ว กิเลสที่ยังเกิดอยู่ได้ เพราะไม่ได้ตั้งใจละให้แข็งแรง จึงเกิดขึ้นครอบงำใจได้ฉะนั้น พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ จึงไม่ทอดธุระในการละกิเลส พากเพียรพยายามมีสติสัมปชัญญะอยู่ ท่านจึงถึงซึ่งความบริสุทธิ์ได้ และเป็นผู้ไกลจากกิเลสตามเสด็จพระบรมศาสดา


ผ. ถามว่า วิธีปฏิบัติทำให้ใจสงบจากนิวรณ์ ๕ ทำไมจึงได้ยากนัก ต้องฝึกหัดอบรม พากเพียร พยายามมีสติ ไม่ส่งใจไปคิดถึงอย่างอื่น และต้องอยู่ในที่สงัดด้วย กว่าจะสงบระงับได้ตั้งหลาย ๆ ปี ส่วนใจที่ประกอบด้วยนิวรณ์ ๕ นั้น ไม่ต้องฝึกหัดอบรมก็มีขึ้นได้ อาศัยเหตุปัจจัยอะไร จึงได้เป็นเช่นนั้น ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจในเรื่องนี้

ฝ. ตอบว่า อนุสัยและสังโยชน์ที่ยังละไม่ได้นั้นเป็นกิเลสวัฏ เป็นปัจจัยให้เกิดกรรมวัฏฝ่ายอกุศล คือ นิวรณ์ ๕ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติทำใจให้เป็นสมาธิ จึงต้องอาศัยสติและวิริยะ คือ ความระวังอย่างแข็งแรง ถ้าเผลอสติหรือขาดวิริยะไปเวลาใด ก็เป็นโอกาสที่จะให้นิวรณ์ ๕ เกิดขึ้น ครอบงำใจได้อีก เพราะฉะนั้น การปฏิบัติจึงไม่แล้วไม่เสร็จ เพราะไม่ได้ละอนุสัยและสังโยชน์ให้หมดไปจากสันดาน

ผ. พูดว่า ถ้าเช่นนั้น วิธีปฏิบัติทำใจให้เป็นสมาธิเหมือนพายเรือทวนน้ำ พอเผลอสติหรือขาดความเพียรเข้าเวลาใด ก็ไหลไปทางเก่า คือ นิวรณ์ ๕ เพราะใจที่อยู่ในสมาธินั้น เป็นแต่สงบนิวรณ์เอาไว้ ยังไม่ได้ละให้หมดไปด้วยอำนาจอริยมรรค บรรดากิเลสที่เป็นเหล่าอนุสัยและสังโยชน์ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดนิวรณ์ ๕ ขึ้นได้อีก

ฝ. รับว่า ถูกแล้ว พระอริยสาวกตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไป ได้ละสังโยชน์ให้หมดไปตามกำลังแห่งข้อปฏิบัติ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติทางพระนิพพานของท่านจึงง่ายเหมือนพายเรือตามน้ำฉะนั้น

ผ. พูดว่า ข้าพเจ้าเคยได้ยินเขาพูดกันถึงเรื่องพระนิพพานว่า อายตนะอันหนึ่งมีอยู่ แต่ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่อากาศ ไม่ใช่วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน เช่นนั้น พระนิพพานก็ศูนย์เปล่า เขาจึงไม่อยากไปพระนิพพาน

ฝ. พูดว่า กามทั้งหลายไม่มีในพระนิพพาน ผู้ที่กำหนัดในกาม ยังมีความพอใจในรูป เป็นต้น จึงไม่ยินดีในพระนิพพาน พระนิพพาน คือ ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ และดับตัณหาที่เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นเสียได้ ทุกข์เป็นผลมีชาติเป็นต้น ก็ดับไป เพราะฉะนั้น พระนิพพาน แม้จะชื่อว่าเป็นอนัตตา แต่คงศูนย์ เพราะกิเลสกับทุกข์เท่านั้น ส่วนนิพพานธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่เที่ยงที่สุขนั้นยังคงมีอยู่

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 19 กันยายน 2554 15:10:14 »



ผ. พูดว่า นึก ๆ ก็น่าอัศจรรย์ใจเรื่องพระนิพพาน สังขารทั้งหลายดับไปหมดแล้ว จะไม่มีอะไร ที่ไม่ใช่สังขาร คือ สิ่งที่เหลืออยู่ เพราะพระนิพพานนั้นเป็นวิสังขาร ข้าพเจ้าใส่ใจในเรื่องพระนิพพาน เพราะนึกถึงแล้วทำใจให้ฉงนสนเท่ห์ ตกลงประพฤติปฏิบัติเรื่อย ๆ ไป ถึงพระนิพพานเมื่อไรก็รู้ได้เอง

ฝ. พูดว่า พระนิพพานไม่ใช่ศูนย์ คือ ของเก่าดับไป ของใหม่เกิดแทน เช่น พระโสดาบันละสังโยชน์ ๓ ได้หมด ทุกข์มีชาติเป็นต้น ก็ดับไปได้มาก ที่เหลืออยู่ก็น้อย คือ ๑ ชาติ ๓ ชาติ หรืออย่างช้าเพียง ๗ ชาติ และมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้มีอริยมรรคกำหนดแน่แล้ว มีอันจะตรัสรู้ได้เองในเบื้องหน้า เพราะละสักกายทิฏฐิหมดไป จึงมีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแทน และละวิจิกิจฉาหรือสีลัพพัตหมดไป จึงมีอจลสัทธามาแทน เช่น พระสกิทาคามี ทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบาง จะมาเกิดในโลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น ก็จะถึงที่สุดแห่งทุกข์ นี่เรียกว่า ทำของเก่าให้หมดไป จึงมีของใหม่เกิดขึ้นแทน คือ คุณธรรมที่ยิ่งกว่าพระโสดาบันขึ้นไป

ส่วนพระอนาคามีละสังโยชน์ ๕ เบื้องต่ำได้แล้ว เกิดในสุทธาวาสพรหมโลก และจักปรินพพานในที่นั่น นี้เรียกว่า ทำกิเลสและชาติภพซึ่งเป็นของเก่าให้หมดไป ของใหม่เกิดขึ้นแทน คือ เพราะท่านสิ้นไปจากกามราคสังโยชน์ จึงถึงพร้อมด้วยองค์คุณ กล่าวคือ ใจที่สงัดจากกามมาแทน และท่านสิ้นไปจากปฏิฆสังโยชน์ จึงถึงพร้อมด้วยองค์คุณ คือ เมตตากรุณามาเกิดแทน พระอริยสาวกที่ได้บรรลุเสขคุณแล้ว ชื่อว่า สอุปกาทิสสนิพพาน

ส่วนพระอรหันต์ ละตัณหาความอยากสิ้นแล้ว สิ้นอาสวะอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว ปลงภาระแล้ว มีประโยชน์ตนถึงโดยลำดับแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ทั่วถึงด้วยอาการอันชอบ ส่วนกิเลสอาสวะที่พระอรหันต์ละได้ หมดสิ้นเชิงและสิ้นชาติ ไม่มีปฏิสนธิในภพ คือ อนุปาทิเสสปรินิพพาน นี้ชื่อว่าทำของเก่า คือ สมุทัยกับทุกข์ให้หมดไป ของใหม่เกิดขึ้นแทนนั้น คือ ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมที่เรียกว่า อริยวาสธรรม คือ ธรรมอันที่อยู่ของพระอริยเจ้า ๑๐ ประการ

๑. ปญฺจงฺควิปฺปหีโน มีองค์ ๕ คือ นิวรณ์อันละเสียแล้ว
๒. ฉฬงฺคสมนฺนาคโต ประกอบด้วยองค์ ๖ คือ ฉฬังคุเบกขา
๓. เอการกฺโข มีธรรมรักษาทั่วกันอันหนึ่ง คือ สติ
๔. จตุราปสฺเสโน มีธรรมดั่งพนัก เป็นที่อิง ๔ อย่าง คือ พิจารณาแล้ว จึงส้องเสพ อดทน หลบหลีก ถ่ายถอน
๕. ปนุณฺณปจฺเจกสจฺโจ มีของจริงเฉพาะอัน ๆ หนึ่ง บรรเทาเสียแล้ว คือ ละมิจฉา ทิฏฐิ ๑๐ อันเป็นอัพยากตวัตถุ มีเห็นรูปเที่ยง เป็นต้น

๖. สมวยสฏเฐสโน มีความแสวงหาอันให้สะเทือน ละเสียโดยชอบแล้ว คือ ละความแสวงหา ๓ อย่าง กาม ๑ ภพ ๑ พรหมจรรย์ ๑
๗. อนาวิลสงฺกปฺโป มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว คือ ละความดำริที่ประกอบด้วย กิเลสกาม วัตถุกาม และวิตกที่ประกอบด้วยพยาบาท และวิหิงสา
๘. ปสฺสทฺธกายสงฺขาโร มีกายสังขาร คือ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ระงับแล้ว คือ บรรลุจตุตถฌาน
๙. สุวิมุตฺตจิตฺโต มีจิตพ้นวิเศษดีแล้ว คือ มีจิตพ้นจากราคะ โทสะ โมหะ
๑๐. สุวิมุตฺตปญฺโญ มีปัญญาพ้นวิเศษแล้ว คือ รู้ชัดว่า ราคะ โทสะ โมหะ เราละ เสียหมดแล้ว ดั่งนี้

ผ. กล่าวว่า สาธุ ท่านอธิบายธรรมชั้นสูงให้ข้าพเจ้าเข้าใจได้แจ่มแจ้งดี ในเรื่องพระนิพพาน คือ ของเก่า ได้แก่ สมุทัยกับทุกข์ดับไป จึงมีคุณธรรมของใหม่เกิดขึ้นแทน ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่กำเริบ เพราะมิใช่สังขาร เพราะฉะนั้น พระนิพพานจึงไม่ศูนย์ ข้าพเจ้าขออนุโมทนา ความสามารถรอบรู้ในธรรมที่ละเอียดเหล่านั้นกะท่านด้วย.



นำมาแบ่งปันโดย :
หนวดเต่า
:http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=19374&p=272366#p272366
จิงกาเบล :http://agaligohome.com/index.php?topic=4842.msg13384;topicseen#msg13384
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
ใต้ร่มธรรมดอทเนต
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

บันทึกการเข้า
คำค้น: คัดจากหนังสือ จิตตภาวนา มรดกล้ำค่า แนวทาง ในการปฏิบัติ 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ความผูกพัน (พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต)
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 1 2606 กระทู้ล่าสุด 17 ธันวาคม 2553 23:20:36
โดย หมีงงในพงหญ้า
สันติธรรม (พระอาจารย์มั่น)
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 0 1917 กระทู้ล่าสุด 01 สิงหาคม 2554 09:10:31
โดย เงาฝัน
บทธรรมบรรยาย ๑-๘ พระอาจารย์มั่น :๑ วิเวกธรรม
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 4 2725 กระทู้ล่าสุด 14 ตุลาคม 2554 23:32:53
โดย เงาฝัน
บทธรรมบรรยายที่ ๙ - ๑๖ ของ พระอาจารย์มั่น :๖ อุปสันตบุคคล
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 0 1921 กระทู้ล่าสุด 15 ตุลาคม 2554 09:35:04
โดย เงาฝัน
บทธรรมบรรยายที่ ๑๗ - ๒๑ ของ พระอาจารย์มั่น :๑๗ อริยทรัพย์
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 1 1884 กระทู้ล่าสุด 23 ตุลาคม 2554 20:46:21
โดย เงาฝัน
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.355 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 20 กรกฎาคม 2567 01:50:26