[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 05:18:48 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท (ชราวรรค)  (อ่าน 4935 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 19 กันยายน 2554 16:06:44 »



                       

เรื่องย่อในพระธรรมบท (ชราวรรค)
เรื่องหญิงสหายของนางวิสาขา

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกหญิงสหายของนางวิสาขา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โก นุ หาโส กิมานนฺโท เป็นต้น

พวกผู้ชาย 500 คนในกรุงสาวัตถี ได้นำภรรยาของตนๆมามอบให้นางวิสาขามหาอุบาสิกา ช่วยขัดเกลานิสัยเพื่อให้เป็นแม่บ้านที่ดี และ “เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท” หญิงเหล่านี้จึงได้ไปไหนมาไหนกับนางวิสาขา ตามที่ต่างๆ มีที่สวนและที่วัด เป็นต้น อยู่มาวันหนึ่ง นางวิสาขาได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมด้วยหญิง 500 นางเหล่านี้ ซึ่งก่อนจะเข้าเฝ้าพวกนางได้แอบดื่มสุราจนเกิดอาการมึนเมาครองสติไม่อยู่ ประจวบพวกนางกับถูกมารเข้าสิงในร่างกาย ก็ถึงกับร้องรำทำเพลงต่อเบื้องพระพักตร์ของพระศาสดาเลยทีเดียว พระศาสดาทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ บันดาลให้เกิดความมืดมนอนธการ หญิงเหล่านั้นเกิดหวาดหวั่นกลัวตาย สุราในท้องจึงคลายฤทธิ์สร่างเมา พระศาสดาทรงหายไปจากบัลลังก์ที่ประทับนั่ง ประทับยืนอยู่บนยอดเขาสิเนรุ ทรงเปล่งพระรัศมีจากพระอุณณาโลม ทำให้เกิดแสงสว่างไสวเหมือนพระจันทร์ขึ้นพันดวง พระศาสดาได้ตรัสเรียกหญิงเหล่านั้นมาแล้ว ตรัสว่า “พวกเธอ เมื่อมาสำนักของเรา ประมาทแล้ว หาควรไม่ เพราะความประมาทของพวกเธอนั่นเอง เทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่มารจึงได้ช่อง ให้พวกเธอมีกิริยาอาการวิปริตต่างๆ มีส่งเสียงหัวเราะเป็นต้น ในที่ซึ่งไม่ควรหัวเราะเป็นต้น บัดนี้ พวกเธอทำความอุตสาหะ เพื่อมุ่งให้ไฟมีราคะเป็นต้นดับไป จึงควร”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
โก หิ หาโส กิมานนฺโท
นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ
อนฺธกาเลน โอนทฺธา
ปทีปํ น คเวสถ ฯ

(อ่านว่า)
โก หิ หาโส กิมานันโท
นิดจัง ปัดชะลิเต สะติ
อันทะกาเลนะ โอนัดทา
ปะทีปัง น คะเวสะถะ.

(แปลว่า)
เมื่อโลกสันนิวาสอันไฟลุกโพลงอยู่ เป็นนิตย์
พวกเธอยังจะร่าเริง บันเทิงอะไรกันหนอ
เธอทั้งหลายอันความมืดปกคลุมแล้วแล้ว

ทำไมจึงไม่แสวงหาประทีปเล่า.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง หญิง 500 บรรลุโสดาปัตติผล พระศาสดา ทรงทราบว่าหญิงเหล่านั้นเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในอจลศรัทธาแล้ว เสด็จลงจากยอดเขาสิเนรุ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 19 กันยายน 2554 16:18:12 »



เรื่องนางสิริมา

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางสิริมา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปสฺส จิตฺตกตํ พิมฺพํ เป็นต้น

ในสมัยหนึ่ง ที่กรุงราชคฤห์ มีนางนครโสเภณีนางหนึ่งนามว่าสิริมา เป็นผู้มีรูปโฉมงดงามมาก วันหนึ่ง นางสิริมาได้ฟังธรรมจากพระศาสดาแล้วสำเร็จเป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่นั้นมานางจะจัดอาหารถวายพระสงฆ์ 8 รูปที่บ้านของนางทุกวันมิได้ขาด พระภิกษุที่ไปรับอาหารบิณฑบาตกลับมาก็จะพากันสรรเสริญเยินยอในความสวยงามของ นางและในความอร่อยของรสอาหารและปริมาณของอาหารที่นางจัดมาถวายด้วยตนเอง มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งได้ข่าวนี้แล้วก็เกิดหลงรักนางทั้งๆที่ยังไม่เคย เห็นนางด้วยตาของตนเอง ในวันรุ่งขึ้นภิกษุหนุ่มรูปนี้ได้ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของนางพร้อมกับภิกษุอื่นๆ วันนั้น นางสิริมาไม่ค่อยสบายแต่นางต้องการไหว้พระภิกษุจึงได้ให้คนพยุงนางเดินมา ภิกษุหนุ่มเห็นนางก็คิดว่า นี่ขนาดนางป่วยอยู่นะ ยังสวยงามถึงขนาดนี้ หากเป็นปกติคงจะสวยงามมาก ก็เลยบังเกิดความรักอย่างแรงกล้าในนาง ถึงกับไม่ยอมฉันอาหาร ปล่อยให้ข้าวในบาตรบูดเน่า

และในคืนนั้นเอง นางสิริมาได้เสียชีวิต พระเจ้าพิมพิสารได้ไปเข้ากราบทูลพระศาสดาว่า นางสิริมาซึ่งเป็นน้องสาวของหมอชีวกโกมารภัจ ได้เสียชีวิต พระศาสดาตรัสกะพระเจ้าพิมพิสารว่า ให้ทรงดำเนินการนำศพของนางสิริมาไปเก็บไว้ในป่าช้า ยังไม่ต้องนำไปฝัง เป็นเวลา 3 วัน ในช่วง 3 วันนี้ให้คอยระแวดระวังมิให้แร้งกาหรือสุนัขกินศพนาง พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงปฏิบัติตามที่พระศาสดาทรงแนะนำ พอถึงวันที่ 4 ร่างของนางสิริมาผู้เลอโฉมก็มิได้สวยงามและเป็นที่ปรารถนาของใครๆ เพราะมีสภาพเน่าเฟะและมีตัวหนอนไหลออกมายั้วเยี้ยจากทวารทั้ง 9 ในวันที่ 4 นี้เอง พระศาสดาทรงพาพระภิกษุไปยังป่าช้าแห่งนั้น เพื่อดูซากศพของนาง พระเจ้าพิมพิสารก็ได้เสด็จไปพร้อมกับข้าราชบริพารทั้งหลายด้วย ภิกษุหนุ่มที่หลงรักนางสิริมายังไม่ทราบว่านางมาเสียชีวิต เมื่อได้ข่าวว่าพระศาสดาจะพาพระภิกษุทั้งหลายไปดูนาง ก็ได้ขอร่วมเดินทางไปด้วย ณ ที่ป่าช้าแห่งนั้น ซากศพของนางสิริมาจึงถูกแวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์อันมีพระศาสดาเป็นประมุข รวมทั้งพระเจ้าพิมพิสารและข้าราชบริพาร

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสกับพระเจ้าพิมพิสารให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเที่ยวป่าวประกาศ โฆษณาว่า จะขายนางสิริมาในราคา 1,000 กหาปณะ แต่ก็ไม่มีใครประสงค์จะซื้อนางสิริมาในราคา 1,000 กหาปณะตามที่ประกาศ แม้จะรับสั่งให้ป่าวประกาศลดราคาลงมาเป็น 500 กหาปณะ 250 กหาปณะ 200 กหาปณะ 100 กหาปณะ 50 กหาปณะ 25 กหาปณะ 10 กหาปณะ 5 กหาปณะ 1 กหาปณะ ครึ่งกหาปณะ 1 บาท 1 มาสก 1 กากนิก ตามลำดับ ก็ไม่มีใครประสงค์จะซื้อ ในที่สุดแม้จะรับสั่งให้ตีกลองโฆษณาว่า “จงเอาไปเปล่าๆก็ได้” ก็ไม่มีใครแสดงตัวต้องการจะซื้อ เมื่อพระเจ้าพิมพิมพิสารกราบทูลเรื่องนี้แก่พระศาสดาแล้ว พระศาสดาจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงดูมาตุคามซึ่งเป็นที่รักของมหาชน ในกาลก่อน ชนทั้งหลายในพระนครนี้แล ให้ทรัพย์พันหนึ่งแล้ว ได้อภิรมย์วันหนึ่ง บัดนี้ แม้ผู้จะรับเอาเปล่าๆก็ไม่มี รูปเห็นปานนี้ ถึงความสิ้นและความเลื่อมแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงดูอัตภาพอันอาดูร

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ปสฺส จิตฺตกตํ พิมฺพํ
อรุกายํ สมุสฺสิตํ
อาตุรํ พหุสงฺกปฺปํ
ยสฺส นตฺถิ ธุวํ ฐิติ ฯ

(อ่านว่า)
ปัดสะ จิดตะกะตัง พิมพัง
อะรุกายัง สะมุดถิตัง
อาตุรัง พะหุสังกับปัง
ยัดสะ นัดถิ ทุวัง ถิติ.

(แปลว่า)
เธอจงดูอัตภาพ ที่ไม่มีความยั่งยืน
และความมั่นคง อันกรรมทำให้วิจิตร
มีกายเป็นแผล อันกระดูก 300 ท่อนยกขึ้นแล้ว

อันอาดูร ที่มหาชนครุ่นคิดแล้วโดยมาก.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง การตรัสรู้ธรรมได้มีแล้วแก่สัตว์ 8 หมื่น 4 พัน แม้ภิกษุรูปนั้น ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล.

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 19 กันยายน 2554 17:20:44 »



เรื่องพระอุตตราเถรี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระอุตตราเถรี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปริชิณฺณมิทํ รูปํ เป็นต้น

พระอุตตราเถรี ซึ่งชราภาพมีอายุ 120 ปี ในวันหนึ่งขณะเดินกลับจากบิณฑบาต พบภิกษุรูปหนึ่ง จึงนิมนต์ให้รับภัตตาหารที่นางบิณฑบาตมาได้ ภิกษุรูปนั้นไม่พูดว่าอะไร พระเถรีจึงถวายภัตตาหารจนหมดบาตร วันนั้นพระเถรีจึงไม่ได้ฉันอาหาร และพระเถรีก็ได้ทำเช่นเดียวกันนั้นในวันที่ 2 และวันที่ 3 เมื่อพระเถรีอดอาหารติดต่อกันสามวันก็หมดเรี่ยวแรง พอถึงวันที่สี่ ขณะเดินบิณฑบาต พบพระศาสดาในที่แคบๆแห่งหนึ่ง พระเถรีจึงถอยหลังเพื่อหลีกทางให้พระศาสดา และได้เหยียบชายจีวรของตัวเองที่ห้อยลงมา เกิดการซวนเซหกล้ม พระศาสดาเสด็จไปใกล้พระเถรีแล้วตรัสว่า “น้องหญิง อัตภาพของเธอแก่หง่อมแล้ว ต่อกาลไม่ช้านัก ก็จะแตกสลายไป”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ปริชิณฺณมิทํ รูปํ
โรคนิทฺธํ ปภงฺคุณํ
ภิชฺชติ ปูติ สนฺเทโห
มรณนฺตํ หิ ชีวิตํ ฯ

(อ่านว่า)
ปะริชินนะมิทัง รูปัง
โรคะนิดทัง ปะพังคุนัง
พิดชะติ ปูติ สันเทโห
มะระนันตัง หิ ชีวิตัง.

(แปลว่า)
รูปนี้แก่หง่อมแล้ว เป็นรังของโรค เปื่อยพัง
กายของตนเป็นของเน่า จักแตก
เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พระเถรีบรรลุโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนามีประโยชน์ แม้แก่มหาชน.

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 19 กันยายน 2554 17:30:11 »



เรื่องพระอธิมานิกภิกษุ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกภิกษุผู้มีความสำคัญว่าตนได้บรรลุพระอรหัตตผลหลายรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยานีมานิ เป็นต้น

ภิกษุ 500 รูป หลังจากเรียนหัวข้อพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว ก็พากันเข้าไปอยู่ในป่า และได้พากเพียรพยายามปฏิบัติสมาธิภาวนางอย่างเข้มแข็ง จนได้บรรลุฌาน เกิดความสำคัญว่า “กิจบรรพชิตของเราสำเร็จแล้ว” กล่าวคือ เห็นว่าพ้นจากกิเลสอาสวะ เป็นพระอรหันต์เรียบร้อยแล้ว จึงได้เดินทางกลับจะไปกราบทูลพระศาสดาให้ทรงทราบ เมื่อภิกษุเหล่านั้นเดินทางถึงซุ้มประตูชั้นนอกของพระเชตวัน พระศาสดาตรัสกับพระอานนท์ว่า “ไม่มีประโยชน์ที่พระเหล่านั้นจะมาเฝ้าเราในขณะนี้ ขอให้พระเหล่านั้นไปอยู่ที่ป่าช้าก่อน แล้วค่อยมาเฝ้าเราในภายหลัง” พระเถระได้ไปแจ้งความข้อนั้นแก่ภิกษุเหล่านั้น และพระภิกษุเหล่านั้นก็มิได้โต้แย้งใดๆ เพราะคิดว่า พระพุทธเจ้าทรงเห็นกาลไกล ทรงทราบเหตุการณ์ทุกอย่าง พระองค์ต้องมีเหตุผลอะไรบางอย่าง จึงทรงแนะนำให้พวกเราไปพักอยู่ในป่าช้า เช่นนี้ ก็จึงพากันไปอยู่ในป่าช้า เมื่อไปพบเห็นศพในป่าช้าที่ถูกทิ้งไว้เป็นเวลา 1-2 วัน ก็เกิดการรังเกียจ แต่พอไปเห็นศพที่เสียชีวิตใหม่ๆ ก็เกิดความกำหนัด ถึงตอนนี้จึงรู้ตัวว่าพวกตนยังมีกิเลสอยู่ พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎี ทรงฉายพระรัศมีไปดุจตรัสอยู่เฉพาะหน้าของภิกษุเหล่านั้น ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายเห็นร่างกระดูกเช่นนั้น ยังความยินดีด้วยอำนาจราคะให้เกิดขึ้น ควรละหรือ?”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ยานีมานิ อปตฺถานิ
อลาพูเนว สารเท
กาโปตกานิ อฏฺฐีนิ
ตานิ ทิสฺวาน กา รติ ฯ

(อ่านว่า)
ยานิมานิ อะปัดถานิ
อะลาพูเนวะ สาระเท
กาโปตะกานิ อัดถีนิ
ตานิ ทิดสะหวานะ การะติ.

(แปลว่า)
กระดูกเหล่านี้ใด อันเขาทิ้งเกลื่อนกลาด
ดุจน้ำเต้าในสารทกาล มีสีเหมือนนกพิราบ
ความยินดีอะไรเล่าจักมี เพราะเห็นกระดูกเหล่านั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตตผล ตามที่ยืนอยู่ ชมเชยพระผู้มีพระภาค มาถวายบังคมแล้ว.

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 19 กันยายน 2554 17:52:03 »



เรื่องพระนางรูปนันทาเถรี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระนางรูปนันทาเถรี ซึ่งเป็นนางงามในชนบท ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อัฏฺฐีนํ นครํ กตํ เป็นต้น

พระนางรูปนันทา เป็นพระธิดาของพระนางประชาบดีโคตมี พระน้านางของพระโคดมพุทธเจ้า พระนางมีพระรูปโฉมงดงามมาก จึงได้พระนามว่า รูปนันทา พระนางเสกสมรสกับเจ้าชายนันทะ พระเจ้าหลานของพระโคดมพุทธเจ้า วันหนึ่ง พระนางทรงดำริว่า เจ้าพี่ใหญ่ของเราสละสิริราชสมบัติออกผนวช เป็นพระพุทธเจ้าผู้อัครบุคคลในโลก แม้โอรสของพระองค์ทรงนามว่าราหุลกุมาร ก็ผนวชแล้ว แม้เจ้าพี่ของเรา (คือพระนันทะ) ก็ผนวชแล้ว แม้มารดาของเรา ก็ทรงผนวชแล้ว เมื่อคณะพระญาติทั้งหลายล้วนทรงผนวชแล้วเช่นนี้ จะมีประโยชน์อะไรกับการอยู่ครองเรือนของเรา เราเองก็จักบวชบ้าง” เมื่อทรงคิดอย่างนี้แล้ว ก็ได้ไปผนวชเป็นภิกษุณีอยู่ในสำนักของนางภิกษุณี การที่พระนางผนวชเป็นภิกษุณีครั้งนี้ จึงมิใช่ผนวชเพราะศรัทธา แต่เป็นการผนวชตามพระญาติเท่านั้นเอง

พระนางได้ทรงสดับว่า พระศาสดาตรัสสอนอยู่เนืองๆว่า รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงไม่กล้าจะเสด็จเฝ้าพระศาสดา ด้วยทรงเกรงว่า พระศาสดาจะตรัสโทษของความงามของพระนาง แต่พวกภิกษุณีและอุบาสิกาที่ได้ไปเฝ้าพระศาสดาและกลับมาแล้วก็ต่างกล่าว สรรเสริญคุณของพระศาสดากันทั้งนั้น วันหนึ่ง พระนางจึงตกลงใจที่จะเดินทางไปที่วัดพระเชตวันกับเหล่าภิกษุณีทั้งหลาย

พระศาสดาทรงทราบล่วงหน้าว่าพระนางรูปนันทาจะเสด็จมา จึงได้ทรงเตรียมการที่จะใช้วิธีการที่เรียกว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” กับพระนาง กล่าวคือ เมื่อพระนางยึดติดในรูปกายของตนและมีความภาคภูมิใจกับความงามของตนเช่นนี้ ก็ควรที่พระองค์จะทรงถอนความภาคภูมิใจและความยึดติดของพระนางโดยการใช้ ความงามเป็นเครื่องแก้ ดังนั้น เมื่อพระนางเดินทางมาถึงวัดพระเชตวัน พระศาสดาจึงทรงเนรมิตหญิงงามมากผู้หนึ่ง อายุราว 16 ปี สวมใส่ชุดแดง ประดับด้วยอาภรณ์งดงามหลากชนิด ถือพัด ยืนถวายงานพัดอยู่ในที่ใกล้พระองค์ ซึ่งรูปเนรมิตนี้สามารถมองเห็นได้โดยพระองค์เองและพระนางเท่านั้น พอพระนางทอดพระเนตรเห็นหญิงงามคนนั้น ก็เกิดความรู้สึกว่าเมื่อเทียบความงามกันแล้ว พระนางทรงมีความงามน้อยกว่าหญิงคนนั้น ขณะที่พระนางจ้องพระเนตรไปที่นางงามนางนั้น รูปของนางงามนั้นก็เปลี่ยนแปลงจากอายุ 16 ปีเป็นหญิงในวัย 20 ปีด้วยอำนาจฤทธิ์ของพระศาสดา และเมื่อพระนางจ้องพระเนตรมองไปที่ร่างของหญิงนั้นอีก

ร่างของหญิงที่ถวายงานพัดอยู่นั้นนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากหญิงวัย 20 ปีเปลี่ยนเป็นหญิงวัยชรา มีฟันหัก ผมหงอก หลังโกง ถือไม้เท้ายักแย่ยักยัน จากหญิงวัยชราหง่อมนั้นเปลี่ยนเป็นหญิงชราที่ป่วยหนัก กลิ้งเกลือกไปมาที่อุจจาระและปัสสาวะของตนเอง และถึงแก่ความตายในที่สุด พอทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นเป็นฉากๆตามลำดับเช่นนี้แล้ว พระนางรูปนันทาก็เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงว่า หญิงนี้ถึงความแก่ ถึงความเจ็บ ถึงความตาย ในที่สุด แม้ร่างกายของพระนางก็จะเป็นเช่นเดียวกัน ย่อมมีอันจะต้องแก่ ต้อง เจ็บ และต้องตายไปเหมือนกัน พอมาถึงตอนนี้ พระศาสดาได้ตรัสสอนพระนางถึงความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความเป็นทุกข์(ทุกขัง) และความไม่มีตัวตน(อนัตตา)ของสังขารทั้งหลาย พอทรงแสดงธรรมเรื่องนี้จบลง พระนางก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ลำดับต่อมา พระศาสดาได้ทรงแสดงสุญญตกัมมัฏฐาน เพื่ออบรมวิปัสสนาเพื่อมรรคผลสูงกว่าให้บังเกิดขึ้นแก่พระนาง โดยตรัสว่า “นันทา เธออย่าทำความเข้าใจว่า สาระในสรีระนี้มีอยู่ เพราะสาระในสรีระนี้ แม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่มี สรีระนี้ อันกรรมยกกระดูก 300 ท่อนขึ้น สร้างให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย

จากนั้น พระศาสดาจึงตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อฏฺฐีนํ นครํ กตํ
มํสโลหิตเลปนํ
ยตฺถ ชรา จ มจฺจุ จ
มาโน มกฺโข จ โอหิโต ฯ

(อ่านว่า)
อัดถีนัง นะคะรัง กะตัง
มังสะโลหิตะเลปะนัง
ยัดถะ ชะรา จะ มัดจุ จะ
มาโน มักโข จะ โอหิโต.

(แปลว่า)
สรีระ อันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย
ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มรณะ
มานะ และมักขะ.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พระนางรูปนันทาเถรี ได้บรรลุพระอรหัตตผล พระธรรมเทศนา ได้มีประโยชน์แก่มหาชน.

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 19 กันยายน 2554 18:10:26 »



เรื่องพระนางมัลลิกาเทวี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระนางมัลลิกาเทวี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ชีรนฺติ เ ว ราชรถา สุจิตฺตา เป็นต้น

วันหนึ่ง พระนางมัลลิกาเทวี พระราชเทวีของพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปในห้องสรงสนาน ทรงชำระพระโอษฐ์แล้ว ทรงน้อมพระสรีระลงเพื่อจะชำระพระชงฆ์ มีสุนัขตัวโปรดตัวหนึ่ง เข้าไปพร้อมกับพระนาง พอมันเห็นพระนางน้อมพระสรีระลงเช่นนั้น จึงเข้าไปประกบเสพสมกับพระนางทางเบื้องหลัง พระนางทรงยินดีและพึงพอใจกับการกระทำของมัน จึงได้ประทับยืนนิ่งเพื่อรับการเสพสมนั้น พระราชาทรงทอดพระเนตรทางพระแกลในปราสาทชั้นบน ทรงเห็นการกระทำอันพิลึกพิลั่นนั้น และในเวลาที่พระนางเทวีเสด็จออกมาจากที่สรงสนานนั้น จึงตรัสว่า “หญิงถ่อย เจ้าไปทำอะไรกับสุนัขในห้องน้ำมาใช่หรือไม่ ?” “หม่อมฉันไปทำอะไรหรือ เพคะ” “ก็ไปเสพสมกับสุนัขมานะสิ” “เป็นไปไม่ได้ดอก เพคะ” “พี่เห็นมากับตา ไม่ต้องมาแก้ตัว อีหญิงถ่อย” “

หากพระองค์ไม่เชื่อหม่อมฉัน ก็ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปยังที่สรงสนานนั้นเถิด หม่อมฉันจะแลดูพระองค์ทางพระแกลนี้” พระราชาทรงหลงกลของพระเทวี เสด็จเข้าไปยังห้องสรงสนานนั้น ฝ่ายพระเทวีทรงยืนทอดพระเนตรอยู่ที่พระแกล ทูลว่า “พระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเสพสมกับแม่แพะ” แม้พระราชาจะทรงปฏิเสธว่าพระองค์มิได้ทรงกระทำเช่นนั้น พระนางก็ทรงยืนยันว่าพระนางเห็นด้วยดวงเนตรของพระนางอย่างนั้นจริงๆ พระราชาทรงสดับคำของพระเทวี ก็ทรงเชื่อว่า ผู้เข้าไปยังที่สรงสนานแห่งนั้น แม้จะเข้าไปผู้เดียว ก็จะปรากฏเป็นสองคน ตั้งแต่วันนั้นมาพระเทวีมีความเสียพระทัยที่ได้ทรงกล่าวเท็จกับพระราชา ว่าทรงมีเพศสัมพันธ์กับแม่แพะ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระเทวีในเวลาใกล้จะสิ้นพระชนม์ แทนที่พระนางจะทรงนึกถึง อสทิสทาน (ท่านล้ำเลิศหาทานใดเสมอเหมือนมิได้) ที่พระนางเคยทำร่วมกันกับพระราชา ก็กลับไประลึกถึงกรรมชั่วที่เคยกล่าวเท็จเมื้อครั้งเสพสมกับสุนัขนั้น พอสิ้นพระชนม์ ก็จึงไปบังเกิดในอเวจีนรก

หลังจากพระราชารับสั่งให้พระราชทานเพลิงพระศพของพระนางแล้ว ก็ทรงครุ่นคิดอยู่เสมอว่า จะทรงกราบทูลถามพระศาสดาถึงสถานที่บังเกิดใหม่ของพระเทวี แต่พระศาสดาได้ทรงบันดาลให้พระราชาทรงลืมถึงเรื่องที่จะทูลถามนั้นทุกครั้ง ที่ท้าวเธอเสด็จมา เป็นเวลา 7 วัน ที่พระศาสดาทรงกระทำเช่นนี้ ก็เพราะไม่ทรงต้องการทำลายความรู้สึกของพระราชา และไม่ทรงต้องการให้พระราชาสิ้นศรัทธาในพระศาสนา ด้วยเหตุทรงเข้าพระทัยผิดว่า คนที่บำเพ็ญกุศลไว้มากมายอย่างพระนางเทวีไปเกิดในอเวจี ซึ่งท้าวเธอก็จะทรงคิดต่อไปว่า แล้วอย่างนี้ท้าวเธอก็ควรเลิกนิตยภัตที่ทรงพระราชทานแก่ภิกษุสงฆ์ 500 รูปในพระราชวังเสียทั้งหมด แต่พอถึงวันที่ 8 พระเทวีทรงสิ้นกรรมในอเวจีนรกแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

ในวันนี้พระศาสดาทรงดำเนินไปเพื่อบิณฑบาต ได้เสด็จไปยังประตูพระราชวัง เพียงลำพังพระองค์เดียว และได้ทรงแสดงทีท่าว่าจะประทับนั่งในโรงรถ พระราชาจึงทูลอัญเชิญพระศาสดาให้ประทับนั่ง ณ ที่นั้น หลังจากที่ได้ถวายภัตตาหารแด่พระศาสดาแล้ว ได้กราบทูลถามถึงที่เกิดใหม่ของพระเทวี เมื่อพระศาสดาตรัสว่า “ในดุสิตภพ มหาบพิตร” พระราชาทรงสดับแล้วก็ดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง กราบทูลว่า หากคนดีมีศรัทธาในพระศาสนาอย่างพระนางมัลลิกาเทวีไม่ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้น ดุสิต คนอื่นใครเล่าจะไปบังเกิดได้ และได้กราบทูลด้วยว่า หลังจากที่พระนางเทวีสิ้นพระชนม์แล้ว ท้าวเธอรู้สึกว่าร่างกายจะไม่ค่อยกระปรี้กระเปร่า พระศาสดาจึงตรัสกับท้าวเธอว่า อย่าทรงคิดมากไปเลย นี้เป็นธรรมอันแน่นอนของสัตว์ทุกจำพวก แล้วตรัสต่อไปว่า “มหาบพิตร ขอพระองค์จงทอดพระเนตรดูรถของพระเจ้าปู่ของพระองค์ ว่าคร่ำคร่ากว่ารถของพระชนกของพระองค์ และรถของพระชนกของพระองค์ก็คร่ำคร่ากว่ารถของพระองค์เอง ความคร่ำคร่าบังเกิดแม้แก่ท่อนไม้ที่เขาเอามาทำเป็นรถได้ ก็ไม่ต้องพูดถึงว่าความคร่ำคร่าจะไม่มาถึงสรีระร่างกายของคนเรา มหาบพิตร ความจริง ธรรมของสัตบุรุษเท่านั้น ไม่มีความชรา ส่วนสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าไม่ชรา ย่อมไม่มี

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ชีรนฺติ เว ราชรถา สุจิตฺตา
อถ สรีรมฺปิ ชรํ อุเปติ
สตญฺจ ธมฺโม น ชรํ อุเปติ
สนฺโต หเว สพฺภิ ปเวทยนฺติ ฯ

(อ่านว่า)
ชีรันติ เว ราชะระถา สุจิดตา
อะถะ สะรีรัมปิ ชะรัง อุเปติ
สะตันเจ ทำโม นะ ชะรัง อุเปติ
สันโต หะเว สับพิ ปะเวทะยันติ.

(แปลว่า)
ราชรถ ที่วิจิตรดี ยังคร่ำคร่าได้แล
อนึ่ง ถึงสรีระ ก็ย่อมถึงความคร่ำคร่า
ธรรมของสัตบุรุษหาเข้าถึงความคร่ำคร่าไม่

สัตบุรุษทั้งหลายแล ย่อมปราศรัยกับด้วยสัตบุรุษ.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 19 กันยายน 2554 18:17:41 »



เรื่องพระโลฬุทายีเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระโลฬุทายีเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปสฺสุตายํ ปุริโส เป็นต้น

พระโลฬุทายี เมื่อรับนิมนต์ไปที่บ้านของประชาชนที่เขาจัดงานมงคล ก็จะสวดบทมนต์สำหรับใช้ในงานอวมงคล เช่น ติโรกุฑฑสูตร ที่ขึ้นต้นว่า ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺฐฺนติ เป็นต้น แต่เมื่อไปในงานอวมงคล เมื่อควรสวดด้วยติโรกุฑฑสูตร กลับสวดด้วยมงคลกถา ที่มีข้อความเป็นต้นว่า ทานญฺจ ธมฺมจริยา จ หรือ รัตนสูตร ที่มีข้อความเป็นต้นว่า ยงฺกิญจิ วิตฺตํ อิธ วา หุรํ วา เป็นต้น พวกภิกษุทั้งหลาย ฟังบทสวดของท่านแล้ว จึงกราบทูลพระศาสดา ให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสว่า พระโลฬุทายีควรกล่าวนี้ แต่ไพล่ไปกล่าวเสียอีกอย่าง เป็นการกระทำที่มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในชาตินี้ แม้แต่ในอดีตชาติพระโลฬุทายีก็เคยกระทำเช่นนี้มาเหมือนกัน เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าสนใจจะได้ฟังอดีตชาติของพระโลฬุทายี พระศาสดาจึงทรงนำมาเล่าให้ฟัง แล้วสรุปในช่วงท้ายว่า “ภิกษุทั้งหลาย โลฬุทายีนี้ เมื่อคำอื่นอันตนควรพูด ก็ไพล่พูดคำอื่นเสีย มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เธอก็พูดแล้ว เพราะความที่ตนเป็นคนมีธรรมได้สดับน้อย เพราะว่าคนมีสุตะน้อย ชื่อว่าเหมือนโคถึก

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อปฺปสฺสุตายํ ปุริโส
พลิพทฺโทว ชีรติ
มํสานิ ตสฺส วฑฺฒนฺติ
ปญฺญา ตสฺส น วฑฺฒนฺติ ฯ

(อ่านว่า)
อับปัดสุตายัง ปุริโส
พะลิพัดโท วะ ชีระติ
มังสานิ ตัดสะ วัดทันติ
ปันยา ตัดสะ นะ วัดทันติ.

(แปลว่า)
คนมีสุตะน้อย
ย่อมแก่เหมือนโคถึก
เนื้อของเขาย่อมเจริญ

แต่ปัญญาของเขาหาเจริญไม่.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: 19 กันยายน 2554 18:23:03 »



เรื่องปฐมโพธิกาล

พระศาสดา เมื่อประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ทรงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระหฤทัย ในกาลต่อมา พระอานนทเถระทูลถาม จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อเนกชาติสํสารํ เป็นต้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่อัสดงคต ทรงกำจัดมารและพลแห่งมารแล้ว ในปฐมยาม ทรงทำลายความมืดที่ปกปิดปุพเพนิวาสญาณ ในมัชฌิมยาม ทรงชำระทิพจักษุให้หมดจดแล้ว ในปัจฉิมยาม ทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ ทรงหยั่งพระญาณลงในปัจจยาการแล้ว ทรงพิจารณาปัจจยาการนั้น ทั้งในส่วนของอนุโลม และปฏิโลม ในเวลาอรุณขึ้น ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณพร้อมด้วยมหัศจรรย์หลายอย่าง เมื่อจะทรงเปล่งอุทาน ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะต้องตรัส

จึงได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
อเกชาติสํสารํ
สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ
คหการํ คเวสนฺโต
ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ
คหการก ทิฏฺโฐติ
ปุน เคหํ น กาหสิ
สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา
คหกูฏํ วิสงฺขตํ
วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ
ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ฯ

(อ่านว่า)
อะเนกะชาติสังสารัง
สันทาวิดสัง อะนิบพิสัง
คะหะการัง คะเวสันโต
ทุกขา ชาติ ปุนับปุนัง
คะหะการะกะ ทิดโถติ
ปุนะ เคหัง นะ กาหะสิ
สับพา เต ผาสุกา พักคา
คะหะกูตัง วิสังขะตัง
วิสังขาระคะตัง จิดตัง
ตันหานัง ขะยะมัดชะคา.

(แปลว่า)
เราแสวงหาช่างทำเรือน เมื่อไม่ประสบ
จึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สงสาร มีชาติเป็นอเนก
ความเกิดบ่อยๆเป็นทุกข์ แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน
เราพบท่านแล้ว ท่านจะทำเรือนอีกไม่ได้.

ซี่โครงทุกซี่ของท่าน เราหักเสียแล้ว
ยอดเรือน เราก็รื้อเสียแล้ว
เพราะเราบรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้ว.


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 19 กันยายน 2554 18:58:29 »



เรื่องบุตรเศรษฐีมีทรัพย์มาก

พระศาสดา เมื่อประทับนั่งที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงปรารภบุตรเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อจริตฺวา พฺรหฺมจริยํ เป็นต้น

บุตรชาย ของเมหาธนศรษฐีในกรุงพาราณสี ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนเมื่อตอนที่อยู่ในวัยเด็ก เมื่อตอนเติบโตเป็นหนุ่ม ได้แต่งงานกับบุตรสาวของเศรษฐี ซึ่งก็เป็นหญิงที่ไม่ได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับเขา เมื่อบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตแล้ว ทั้งสองคนได้เป็นทายาทรับมรดกตกทอดจากตระกูลเศรษฐีของตนๆเป็นจำนวนมาก ทำให้ทรัพย์สินที่นำมารวมกันมีจำนวนมากมาย แต่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต่างเป็นคนไม่มีความรู้ด้านหนังสือ รู้อย่างเดียวคือรู้แต่วิธีการใช้แต่เงิน ไม่รู้วิธีจะเก็บรักษาเงิน หรือวิธีทำเงินให้งอกเงย ทั้งสองคนจึงเอาแต่กิน ดื่ม และสนุกสนาน ล้างผลาญเงินทองที่มีอยู่ เมื่อเงินทองที่มีอยู่หมดสิ้นแล้ว ทั้งสองก็ได้ขายทรัพย์สินต่างๆ เช่น เรือกสวนไร่นา ตลอดจนบ้านเรือน และในที่สุดทั้งสองคนก็กลายเป็นคนยากจนอนาถา และเพราะเหตุที่ทั้งสองคนไม่รู้วิธีที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างหนึ่งอย่างใด จึงได้ยึดอาชีพเป็นขอทาน

อยู่มาวันหนึ่ง พระศาสดาได้ทอดพระเนตรเห็นบุตรชายของเศรษฐียืนอยู่ที่ประตูโรงฉัน คอยรับเศษอาหารที่ภิกษุหนุ่มและสามเณรน้อยให้ จึงทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ได้กราบทูลถามถึงสาเหตุของการที่ทรงแย้มพระโอษฐ์นั้น พระศาสดาตรัสว่า “ อานนท์ เธอจงดูบุตรเศรษฐีผู้มีทรัพย์มากผู้นี้ ผลาญทรัพย์เสีย 160 โกฏิ พาภรรยาเที่ยวขอทานอยู่ในพระนครนี้แล ก็ถ้าบุตรเศรษฐีนี้ ไม่ผลาญทรัพย์ให้หมดสิ้น จักประกอบการงานในปฐมวัย ก็จักได้เป็นเศรษฐีชั้นเลิศในนครนี้แล แลถ้าจักออกบวช ก็จักบรรลุอรหัต แม้ภรรยาของเขา ก็จักดำรงอยู่ในอนาคามิผล ถ้าไม่ผลาญทรัพย์ให้หมดไป จักประกอบการงานในมัชฌิมวัย จักได้เป็นเศรษฐีชั้นที่ 2 ออกบวช จักเป็นอนาคามี แม้ภรรยาของเขา ก็จักดำรงอยู่ในสกิทาคามิผล ถ้าไม่ผลาญทรัพย์ให้สิ้นไป ประกอบการงานในปัจฉิมวัย จักได้เป็นเศรษฐีชั้นที่ 3 แม้ออกบวช ก็จักได้เป็นสกิทาคามี แม้ภรรยาของเขา ก็จักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แต่เดี๋ยวนี้ บุตรเศรษฐีนั่น ทั้งเสื่อมจากโภคะของคฤหัสถ์ ทั้งเสื่อมแล้วจากสามัญผล ก็แลครั้นเสื่อมแล้ว จึงเป็นเหมือนนกกะเรียนในเปือกตมแห้งฉะนั้น”


จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
อจริตฺวา พฺรหฺมจริยํ
อลทฺธา โยพฺพเน ธนํ
ชิณฺณโกญจาวฌายนฺติ
ขีณมจฺเฉว ปลฺลเล ฯ

(อ่านว่า)
อะจะริดตะวา พรัมมะจะริยัง
อะลัดทา โยบพะเน ทะนัง
ชินนะโกนจาวะชายันติ
ขีนะมัดเฉ ปันละเล.

(แปลว่า)
พวกคนเขลา ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
ไม่ได้ทรัพย์ในคราวยังเป็นหนุ่มสาว
ย่อมซบเซาดังนกกะเรียนแก่

ซบเซาอยู่ในเปือกตมที่หมดปลา ฉะนั้น.


อจริตฺวา พฺรหฺมจริยํ
อลทฺธา โยพฺพเน ธนํ
เสนติ จาลาติขีณาว
ปุราณานิ อนุตฺถุนํ ฯ

(อ่านว่า)
อะจะริดตะวา พรัมมะจะริยัง
อะลัดทา โยบพะเน ทะนัง
เสนติ จาลาติขีณาวะ
ปุรานานิ อะนุดถุนัง.

(แปลว่า)
พวกคนเขลา ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
ไม่ได้ทรัพย์ในคราวยังเป็นหนุ่มสาว
ย่อมนอนทอดถอนถึงทรัพย์เก่า
เหมือนลูกศรที่ตกจากแล่ง ฉะนั้น.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.



นำมาแบ่งปันโดย :
baby@home : http://agaligohome.com/index.php?topic=4633.0
Pics by : Google
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * อกาลิโกโฮม
สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
เรื่องย่อในพระธรรมบท (ยมกวรรค)
ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
เงาฝัน 13 11479 กระทู้ล่าสุด 16 กรกฎาคม 2554 08:52:50
โดย เงาฝัน
เรื่องย่อในพระธรรมบท (อัปปมาทวรรค)
ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
เงาฝัน 8 8487 กระทู้ล่าสุด 25 กรกฎาคม 2554 14:51:05
โดย เงาฝัน
เรื่องย่อในพระธรรมบท (จิตตวรรค)
ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
เงาฝัน 8 6941 กระทู้ล่าสุด 28 กรกฎาคม 2554 12:14:15
โดย เงาฝัน
เรื่องย่อในพระธรรมบท (ปุปฺผวรรค)
ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
เงาฝัน 11 8963 กระทู้ล่าสุด 30 กรกฎาคม 2554 16:02:25
โดย เงาฝัน
เรื่องย่อในพระธรรมบท (พาลวรรค)
ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
เงาฝัน 14 12077 กระทู้ล่าสุด 04 สิงหาคม 2554 05:29:30
โดย เงาฝัน
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.348 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 28 กุมภาพันธ์ 2567 09:47:11