[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 04:07:29 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตำนาน “วัดพระยาไกร” กับ “พระพุทธรูปทองคํา” หนักกว่า 5 ตัน ก่อนถูกย้ายสู่วัดไตรมิ  (อ่าน 231 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2327


ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 108.0.0.0 Chrome 108.0.0.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 12 ธันวาคม 2565 19:41:51 »



หลวงพ่อทองคำ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก : วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เยาวราช ตลาดน้อย สัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
ประกอบกับพื้นหลังสำหรับตกแต่งภาพ


ตำนาน “วัดพระยาไกร” กับ “พระพุทธรูปทองคํา” หนักกว่า 5 ตัน ก่อนถูกย้ายสู่วัดไตรมิตร

ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2542
ผู้เขียน - ไพฑูรย์ บรรลือทรัพย์
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2565



วัดจัดเป็นศาสนสถานด้านสถาปัตยกรรมที่สําคัญยิ่งในพุทธศาสนา ไม่ว่าจะสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ แต่ส่วนมากจะสร้างเพื่อเป็นบุญกิริยา เพราะว่าวัดเป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวไทยตลอดมา

ดังนั้น วัดจึงมีบทบาทเพียงพอที่จะกําหนดประวัติศาสตร์ของสังคมนั้น ๆ ในบางช่วงบางสมัยได้ และเป็นศูนย์รวมที่ทําให้เกิดความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้บ้านเมือง รวมถึงงานศิลปกรรมด้านต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งอาจแบ่งประเภทออกได้ดังนี้คือ พระอารามหลวง อารามราษฎร์ และสํานักสงฆ์

วัดพระยาไกร สร้างขึ้นเมื่อใด
วัดพระยาไกรมีชื่อเต็มว่า “วัดพระยาไกรโชตนาราม” ตั้งอยู่ในเขตยานนาวา กรุงเทพฯ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด และเมื่อไร?

ก่อนอื่นต้องทําความเข้าใจก่อนว่า ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์กันมาเป็นเวลาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา ทั้งนี้เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีทางการทูตและการค้าขาย หรือที่เรียกว่า “จิ้มก้อง” โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับชาวจีน อีกประเด็นหนึ่งคือ ทรงมีเจ้าจอมเป็นชาวจีนทรงพระนามว่า “เจ้าจอมมารดาอําภา” ซึ่งต้นสกุลของเจ้าจอมองค์นี้เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน “แซ่หลิม” ได้เดินทางเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยมีบุตรชายจากเมืองจีนติดตามมาด้วย 2 คนคือ นายอินกับนายเชิก

นายอินทําการค้าขายจนร่ำรวยเป็นเศรษฐี ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นถึงพระยาอินทรอากรในสมัยรัชกาลที่ 3 มีภรรยาเป็นชาวจีนอยู่ที่เมืองจีน และเป็นบิดาของเจ้าจอมมารดาอําภาที่เกิดที่เมืองจีน ได้เดินทางเข้ามาเมืองไทยเมื่อเจ้าจอมฯ อายุได้ 8 ขวบ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1)

เจ้าจอมมารดาอําภามีพระโอรสและพระธิดา 6 พระองค์ องค์ที่สําคัญคือ พระองค์เจ้าชายปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ที่ทรงเป็นต้นราชสกุล “ปราโมช” นั่นเอง

ส่วนนายเริกได้เข้ารับราชการดํารงตําแหน่งเป็น “พระยาไกรโกษา” หนึ่งในตําแหน่งเสนาบดีจัตุสดมภ์ในกรมพระราชวังบวรฯ เป็นต้นสกุล “ไกรฤกษ์” และเป็นผู้สร้างวัดพระยาไกร

ดังนั้น น่าจะสันนิษฐานได้ว่า วัดพระยาไกรสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยเหตุผลที่ว่า ในสมัยนั้นพระยาไกรโกษารับราชการในตําแหน่งเสมียนกรมท่าซ้าย ซึ่งมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ครั้งดํารงตําแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชากรมท่า จึงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันในฐานะผู้บังคับบัญชากับลูกน้อง ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ ทรงร่ำรวยมาจากการค้าทางทะเลกับจีนและประเทศอื่น ๆ ทั้งในเอเชียและ ยุโรป ทําให้มีพระราชทรัพย์ที่จะทรงใช้ในการสร้างวัดตามที่พระองค์ทรงสนพระทัย ด้วยทรงเล็งเห็นว่าการสร้างวัดเป็นถาวรวัตถุ เป็นสถานที่ที่จะอบรมสั่งสอนศีลธรรมจรรยาของพสกนิกร และพระราชอํานาจในการปกครอง

การสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้นเป็นการ ประยุกต์ดัดแปลงศิลปะจีนให้เข้ามาผสมผสานกับศิลปะไทย เกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับการขนานนามว่า “ศิลปะแบบพระราชนิยม” (วัดที่เป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมแบบนี้คือวัดราชโอรส)

เหตุที่ศิลปะแบบพระราชนิยมเป็นที่แพร่หลายมากในสมัยรัชกาลที่ 3 อาจเนื่องมาจากว่า ทรงมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับจีนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อีกประการหนึ่งใน สมัยรัชกาลที่ 3 นี้ ทรงนิยมสร้างวัด ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าบรรดาขุนนาง พ่อค้า คหบดีในสมัยนั้นจึงสร้างวัดตามบ้าง เพื่อเป็นการเอาใจในพระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงน่าที่จะมีการสร้างวัดพระยาไกรขึ้นด้วยเหตุผลดังกล่าว และมีรูปทรงสถาปัตย กรรมเป็นแบบพระราชนิยมด้วย ดังที่เสมียนมีได้พรรณนาไว้ในกลอนเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ ว่า

“ทูลเรื่องอื่นมิได้ชื่นเหมือนเรื่องวัด เวียนแต่ตรัสถามไถ่ให้ใฝ่ฝัน ถึงวัดนั้นวัดนี้เป็นนิรันดร์ ถึงเรื่องปั้นเขียนถากสลักกลึง วัดโน้นแล้ววันนี้ยังรับสั่งเร่ง เตือนตําเบ็งทําไปให้ขําขึง พวกนายด้านนายงานเร่งการตะบึง ให้ทั่วถึงถ้วนวัดจังหวัดราย”

ข้อสันนิษฐานประการต่อมาคือ การสร้างวัดในสมัยก่อนนั้น หรือก่อนรัชกาลที่ 4 ขึ้นไป เป็นการสร้างในสถานที่ที่เป็นของส่วนตัวเหมือนกับการสร้างบ้านเรือน ดังเช่นในสมัยอยุธยาผู้ใดมีกําลังคนและทรัพย์สินก็สร้างวัดไว้ให้ลูกหลานได้วิ่งเล่น ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีวัดในครอบครองคือผู้ที่มีอํานาจบารมี (ในสมัยนั้นวัดจึงเป็นตัวแปรที่สําคัญในสังคมนั้น ๆ ที่จะทําให้เจ้าของวัดมีอํานาจบารมีสูงขึ้นหรือตกต่ำลงได้) ดังนั้น การบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะในวัดทุกอย่าง เจ้าของวัดต้องสร้างเอง เป็นต้นว่า พระพุทธรูป พระวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิ ฯลฯ เหมือนกับที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายไว้ในแถลงการณ์ของคณะสงฆ์ก่อนหน้าที่จะมีพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ว่าด้วยเรื่องการสร้างวัดมีความว่า

“…แต่เดิมมาผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาปรารถนาจะสร้างวัด ด้วยมีที่ดินเป็นสมบัติของตน อันจะยกเป็นวัดได้แล้วก็สามารถทําได้ การนิมนต์พระสงฆ์ไปอยู่ในวัดที่ตนสร้างขึ้นก็ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ที่ปกครองตําบลนั้น เป็นแต่นิมนต์พระภิกษุที่ตนรู้จัก หรือขอจากพระภิกษุที่ตนรู้จักจากวัดใดวัดหนึ่ง พระผู้รับนิมนต์ไปอยู่ครอง หรือพระผู้รับจัดให้หาพระไปด้วยให้ครบจํานวนสงฆ์ แล้วเพียงแต่ตั้งสํานักสงฆ์ขึ้นเท่านั้น ผู้สร้างวัดก็อาจจะทําได้โดยลําพัง…”

จากข้อความข้างต้นแสดงให้เราเห็นว่า การสร้างวัดในสมัยก่อนนั้น ใครก็สามารถที่จะสร้างได้ ถ้ามีกําลังคนและกําลังทรัพย์ เช่นเดียวกัน วัดพระยาไกรก็น่าจะสร้างในสมัยนั้นคือสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยเหตุที่ว่าในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นระยะที่เริ่มก่อร่างสร้างตัวเป็นราชธานีใหม่และรวบรวมผู้คน การสร้างวัดจึงเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปจะทําได้ยาก ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ไม่เอื้ออํานวย แม้พระยาไกรโกษาจะถวายตัวเข้ารับราชการมา ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีแล้วก็ตาม (ขุนท่องสื่ออักษรเป็นบรรดาศักดิ์ของพระยาไกรโกษาในสมัยกรุงธนบุรี)

ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 2 นั้นมีการสร้างวัดขึ้นเพียง 4 วัดเท่านั้น อาจจะเป็นว่าไม่มีความจําเป็นมากนัก เพราะสมเด็จพระราชบิดาได้ทรงสร้างวัดไว้มากแล้ว ก็ได้คือ พระอารามหลวง 26 วัด ไม่รวมวัดพระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพราะถือว่าเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น ทรงสร้างขึ้นใหม่และปฏิสังขรณ์วัดวาอารามมากที่สุดถึง 60-70 วัด

ฉะนั้นวัดพระยาไกรจึงน่าจะสร้างขึ้นในสมัยนี้ด้วย ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว




(ซ้าย) องค์พระขณะหุ้มด้วยปูน, (ขวา) องค์พระหลังจากลอกปูนออกแล้ว

วัดพระยาไกร กับพระพุทธรูปทองคํา
วัดพระยาไกรน่าจะสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลของการสร้างวัดเช่นในสมัยอยุธยา ดังนั้นเจ้าของวัดคือ พระยาไกรโกษาจึงต้องบูรณะและปฏิสังขรณ์เอง รวมทั้งพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ พระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมมานั้นสร้างขึ้นด้วยทองคํา แต่ไม่มีผู้ใดทราบ เนื่องจากภายนอกนั้นห่อหุ้มด้วยปูนซีเมนต์ปกปิดไว้ตลอดทั้งองค์อย่างมิดชิด จนกระทั่งปูนบางส่วนกะเทาะหลุดออกจึงเห็นเป็นทองคําอยู่ภายใน เมื่อปี พ.ศ.2498

พระพุทธรูปทองคําองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปสุโขทัย ปางมารวิชัย มีขนาดใหญ่โตมากคือ มีหน้าตัก กว้าง 6 ศอก 1 คืบ น้ำหนักประมาณ 5 ตันเศษ มีรูปลักษณะพระพักตร์ยาว คางหยัก สังฆาฏิเป็นเขี้ยว ตะขาบทั้งข้างหน้าและข้างหลัง นิ้วเป็นนิ้วมนุษย์ผิดกับนิ้วพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดพระชินราช ซึ่งมีนิ้ว พระหัตถ์เสมอกันทั้ง 5 นิ้ว และส่วนต่าง ๆ สามารถ ถอดได้ถึง 9 ส่วนคือ พระพาหาทั้งสอง พระหัตถ์ทั้ง สอง พระชงฆ์ทั้งสอง พระเพลาทั้งสอง และตรงพระศอ โดยมีกุญแจสําหรับถอดและประกอบกันเข้าแล้วก็สนิทเหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน ลักษณะของพระพุทธรูปทองคําองค์นี้คล้ายกับหลวงพ่อพระร่วงฯ ที่วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ

เหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระยาไกรนั้น มีผู้สันนิษฐานกันไปต่าง ๆ นานา หากแต่เป็นเรื่องเล่าขานกันที่เชื่อถือมิได้ บ้างก็ว่าสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ให้กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท อัญเชิญพระพุทธรูปจากเมืองสุโขทัยและเมืองอื่น ๆ เป็นจํานวน 100 กว่าองค์ นํามาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ รวมทั้งพระพุทธรูปทองคําองค์นี้ด้วย แต่ก็ไม่น่าที่จะเป็นไปได้ เพราะว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปทองคําขนาดใหญ่มาก ดังนั้น น่าจะนําไปประดิษฐานไว้ในพระอารามหลวงมากกว่าที่จะนําไปประดิษฐานที่วัดราษฎร์

อีกประการหนึ่ง ถึงจะหุ้มด้วยปูนมาก็น่าจะเกิดการกะเทาะแตกบ้างขณะที่เคลื่อนย้ายเข้ามายังกรุงเทพฯ หรือถ้าเป็นพระพุทธรูปทองคําจริงในสมัยก่อนหน้านั้น ทําไมจึงไม่ชะลอมาไว้ที่อยุธยาสมัยที่ยังรุ่งเรืองและเป็นราชธานี เพราะว่าเป็นพระพุทธรูปทองคําที่มีขนาดใหญ่มาก และนอกจากนั้นยังเป็นการเสริมบารมีอีกด้วย

อีกประเด็นหนึ่ง เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า มีขุนนางบางคนเห็นประโยชน์ส่วนตัว จึงยักยอกเอาพระพุทธรูปทองคําองค์นี้ไว้เป็นสมบัติส่วนตัว แล้วสั่งให้ช่างเอาปูนไล้เสียให้ทั่วองค์พระ เพียงเพื่อให้คนอื่นเห็นเป็นแต่เพียงว่าเป็นพระพุทธรูปปูนเท่านั้น ในประเด็นนี้ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ใหญ่ เพราะข้าราชการและเหล่าทหารที่ได้เดินทางไปอัญเชิญพระพุทธรูปในครั้งนั้นจะต้องมีเป็นจํานวนมาก ดังนั้น การเก็บความลับเรื่องพระพุทธรูปทองคําที่มีขนาดใหญ่จึงเป็นเรื่องที่ทําได้ยากมาก และที่สําคัญในศิลาจารึกได้กล่าวถึงการหล่อพระพุทธรูปในสมัยพ่อขุนรามคําแหงนั้นตามหลักฐานที่ว่าหล่อด้วยทอง

ในสมัยนั้นเรียกทองสัมฤทธิ์ว่าทอง ส่วนทองคํานั้นเรียกเพียงว่า “คํา” เฉย ๆ

จากข้อสันนิษฐานจากศิลาจารึกจะเห็นได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้ไม่ได้หล่อในสมัยสุโขทัย

พระพุทธรูปทองคํา หล่อในสมัยไหน?
ตามข้อสันนิษฐานแล้ว พระพุทธรูปทองคําองค์นี้น่าจะหล่อขึ้นในสมัยเดียวกันกับการสร้างวัดพระยาไกร ด้วยเหตุผลที่ว่า “…ผู้ใดมีกําลังคนและทรัพย์สินก็สามารถสร้างวัดไว้ให้ลูกหลานวิ่งเล่น…”

เพราะฉะนั้น เมื่อพระยาไกรโกษาได้สร้างวัดพระยาไกรขึ้นมา จึงจําเป็นจะต้องสร้างพระประธานขึ้นมาด้วย และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่พระยาไกรโกษาได้สร้างพระพุทธรูปทองคําขึ้นมา เพราะว่าพระยาไกรโกษาได้เข้ารับราชการตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีแล้ว และเป็นถึงเสนาบดีจัตุสดมภ์ นอกจากนั้นพระยาไกรโกษายังได้ทําการค้าขายร่วมกับพี่น้อง คือ พระยาอินทรอากรที่เคยร่วมเดินทางมาจากเมืองจีนด้วยกัน เมื่อพระยาไกรโกษาทั้งรับราชการและทําการค้าจึงร่ำรวยมีเงินทองมากมาย

ดังนั้น การสร้างพระพุทธรูปทองคําขึ้นมาจึงเป็นเสมือนการเก็บออมทรัพย์สมบัติอีกทางหนึ่งของพระยาไกรโกษาก็เป็นได้ ในส่วนการที่พระพุทธรูปทองคําองค์นี้ถอดได้ 9 ชิ้นนั้นเป็นหลักของการหล่อพระพุทธรูปโดยทั่วไปอยู่แล้วที่จะต้องหล่อที่ละชิ้น แล้วนํามาประสานกันภายหลัง และเป็นความหมายแทนความก้าวหน้าอีกด้วย สําหรับพระพุทธรูปทองคําองค์นี้มิได้ประสานต่อเป็นเนื้อเดียวกัน แต่จะทําเป็นสลักกลมีกุญแจสําหรับถอดออกและประกอบใหม่ได้ มาถึงตรงนี้ทําให้สันนิษฐานได้ว่า พระยาไกรโกษาเป็นผู้ที่ มองการณ์ไกล เนื่องจากถ้าเกิดศึกสงครามขึ้นมาก็สามารถถอดออกและขนย้ายได้สะดวกกว่าการขนย้ายพระทั้งองค์

ส่วนการไล้ปูนทั่วองค์พระพุทธรูปนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ประการแรก เพื่อเป็นการป้องกันการครหานินทา เนื่องจากว่าไม่เคยมีผู้ใดเคยสร้างพระพุทธรูปทองคําขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อน

ประการต่อมา น่าจะสืบเนื่องมาจากการเสียกรุงแก่พม่าในครั้งนั้น พม่าได้ขนเอาของมีค่ากลับไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธรูปทองคําด้วย ดังนั้น การที่พระพุทธรูปทองคําต้องไล้ไว้ด้วยปูนนั้นก็น่าจะเป็นกลอุบาย ถ้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีกก็จะได้รอดพ้นจากอริราชศัตรู

จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ปัจจุบันนี้พระพุทธรูปทองคําองค์นี้ก็ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม (วัดสามจีน) ณ วิหารสุโขทัยไตรมิตรมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ส่วนตัววัดพระยาไกรก็ได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นวัดร้าง

พระพุทธรูปองค์อื่น ๆ ในวัดก็ได้เคลื่อนย้ายไปประดิษฐานตามวัดต่าง ๆ ที่เจ้าอาวาสอัญเชิญไป เช่น ชิ้นส่วนของศิลาจําหลักก็ได้ขนย้ายไปไว้ที่วัดไผ่เงินโชตนาราม เป็นต้น

ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านผู้สูงอายุได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากวัดพระยาไกรร้างลงแล้ว ก็ได้มีบริษัท อีสต์เอเชียติ๊ก จํากัด ได้มาเช่าทําโรงเลื่อยไม้ ต่อมาเมื่อบริษัท อีสต์เอเชียติก จํากัด หมดสัญญาลง ก็ได้มีเอกชนมาขอเช่าทําโรงแรม และยังมีคําบอกเล่าเกี่ยวกับอาถรรพ์ของวัดร้างนี้อีกด้วยว่า ในตอนที่ตอกเสาเข็มเพื่อวางฐานล่าง ก็ปรากฏว่าเสาเข็มตอกไม่ลงและแตกหักหมด ผู้เช่ารายนั้นจึงได้ใช้รถไถ ไถดูก็พบ ซากของช่อฟ้าและโครงกระดูก จึงทําให้มีการยกเลิกโครงการนี้ไป

ปัจจุบัน บริเวณที่ดินดังกล่าวเป็นของกรมการศาสนา และให้บริษัท เอเชียธนะวัฒน์ คลังสินค้า จํากัด เช่าทําเป็นคลังสินค้า

วัดนี้คงเหลือไว้แต่เพียงชื่อ “วัดพระยาไกร” เป็นปริศนาเงื่อนงําให้ค้นคว้ากันต่อไปได้อีกถึงประวัติ ความเป็นมา และความเกี่ยวพันกับพระพุทธรูปทองคํา เพราะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานส่วนหนึ่งของผู้เขียนเท่านั้น

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ตำนาน ผีโป่งค่าง
ประวัติ ต้นกำเนิด ตำนานผี
【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ 4 5950 กระทู้ล่าสุด 23 ธันวาคม 2553 19:41:09
โดย wondermay
งาน “สืบ” ตำนาน “คนรักษ์ป่า”
หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
มดเอ๊ก 1 2188 กระทู้ล่าสุด 31 สิงหาคม 2554 19:14:17
โดย หมีงงในพงหญ้า
ตำนาน ผ้าไหม
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 0 2696 กระทู้ล่าสุด 29 พฤศจิกายน 2556 10:25:55
โดย Kimleng
ตำนาน วัดเขาบันไดอิฐ
สยาม ในอดีต
หมีงงในพงหญ้า 0 4107 กระทู้ล่าสุด 20 กันยายน 2557 10:21:53
โดย หมีงงในพงหญ้า
ตำนาน...ศาลต่องย่องสู
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 0 3276 กระทู้ล่าสุด 14 ธันวาคม 2557 18:03:43
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.408 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 16 กุมภาพันธ์ 2567 19:23:14