[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
25 เมษายน 2567 19:12:31 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ผัดพระราม เมนูผัดเนื้อหรือหมูในพริกแกง เมื่อแปลงรูปแปลงนาม ไปตามกาล  (อ่าน 175 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2325


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 04 กุมภาพันธ์ 2566 20:00:02 »




ผัดพระราม เมนูผัดเนื้อหรือหมูในพริกแกง เมื่อแปลงรูปแปลงนาม ไปตามกาล

ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560
ผู้เขียน   - กฤช เหลือลมัย
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566


บ้านผมที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี มีผัดเผ็ดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสำรับเฉพาะบ้าน คือไม่เคยเห็นมีทำกินกันที่บ้านอื่น แต่ขณะเดียวกันก็มีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกับสำรับมาตรฐานที่มีอยู่แล้วในครัวไทยภาคกลาง เลยอยากเล่าสู่กันฟัง เผื่อใครจะช่วยขบคิดต่อไปได้บ้างครับ

“ผัดพระราม” เป็นชื่อที่ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็ก มันคือผัดเนื้อวัวหรือเนื้อหมูในพริกแกงสีเขียว ทั้งเผ็ดร้อน ทั้งหอม จะกินกับข้าวสวยหรือขนมจีนก็ได้

พริกแกงของผัดพระรามมีพริกขี้หนูสวนสีเขียว ถ้ารู้สึกไม่เขียวพอ จะเพิ่มพริกชี้ฟ้าเขียว หรือใบพริกด้วยก็ได้ มีกะปิ มีหอมแดง กระเทียม พริกไทย ส่วนของที่สำคัญมากๆ ชนิดขาดไม่ได้ คือรากผักชี ซึ่งต้องใส่มากจนเมื่อเราตำได้พริกแกงสีเขียวเนียนละเอียดแล้ว ยังได้กลิ่นหอมรากผักชีโดดเด่นออกมา





เครื่องเคราของผัดพระราม มีเพียงเนื้อวัว หัวกะทิ พริกแกงที่ต้องใส่ส่วนผสมให้ออกสีเป็น “พระราม”
คือเขียวเข้ม สุดท้ายคือใบกะเพราและผักชีอย่างละเท่าๆ กัน


ใบผักที่ใส่ในผัดพระรามมี 2 อย่าง คือ ใบกะเพราฉุนๆ และผักชี ใช้ค่อนข้างมากในสัดส่วนเท่าๆ กัน ส่วนเนื้อวัวหรือเนื้อหมูนั้น จะใช้วิธีหั่นชิ้นแล้วตุ๋นให้นุ่มก่อน หรือผัดสดๆ ให้พอสุก แต่ยังไม่ทันเหนียวก็ได้ครับ

ถ้าจะใช้น้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชผัด ก็เทน้ำมันลงกระทะได้เลย แต่หากจะใช้กะทิสด ก็เทกะทิลงเคี่ยวจนงวดและแตกมัน จึงใส่พริกแกงลงผัดให้หอมดี ปรุงด้วยน้ำปลา ถ้าชอบหวานเดาะน้ำตาลเล็กน้อย แล้วใส่เนื้อลงผัดเคล้าให้เข้ากัน ถ้าใช้เนื้อสด ก็ต้องรีบผัดเร็วๆ เมื่อเห็นเกือบสุก จวนจะได้ที่ ก็ใส่ใบกะเพราและผักชีหั่นลงไปผัดสักครู่เดียวก็เสร็จ ตักมากินได้แล้วครับ

เราสามารถใส่น้ำมากน้อยให้ผัดพระรามกระทะหนึ่งข้นแห้งหรือมีน้ำมากหน่อยไว้คลุกข้าวก็ได้ โดยหากใช้กะทิผัด น้ำผัดจะข้นมัน หอมกลิ่นกะทิ และมีรสอ่อนลงกว่าที่ใช้น้ำมันผัด

เวลากิน แม่ผมจะให้กินกับผักบุ้งจีนลวกจนสุกนุ่ม ตัดเป็นท่อนๆ นี่เป็นของคู่กันที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว

ทีนี้รู้สึกคลับคล้ายคลับคลาบ้างแล้วใช่ไหมครับ ?

 …………………….

ผัดเขละๆ ราดข้าวที่คนทั่วไปกินกับผักบุ้งลวก มีอยู่อย่างเดียว คือ “ข้าวพระรามลงสรง” หรือ “ซาแต๊ปึ่ง” เป็นข้าวแกงแบบจีนที่แต่ก่อนมีขายอยู่ทั่วไปแถบชุมชนคนจีนอย่างย่านเยาวราชในกรุงเทพฯ แต่ตัว “ซาแต๊” หรือ “สะเต๊ะ” ที่เป็นน้ำกะหรี่ปนถั่วบดเขละๆ ราดเนื้อลวกหมูลวกบนข้าวสวยนี้ ก็รสชาติไม่เหมือนผัดพระรามเอาเลย


ผัดพริกแกงในกะทิแตกมันหรือน้ำมันพอให้มีกลิ่นหอม แล้วรีบใส่เนื้อลงผัด จะทำให้ผัดกระทะนี้ยังคงมีกลิ่นที่สดแบบผัดพริกแกงไทย หากผัดนาน กลิ่นจะเปลี่ยนไปเป็นคล้ายผัดแบบมุสลิมหรือฮินดูแทน

ส่วนผัดเผ็ดตำรับโบราณที่คล้ายผัดพระรามแบบบ้านผมที่สุด เท่าที่ผมค้นได้ คือ “ผัดพระอินทร์” มีสูตรในตำราอาหารชุดประจำวัน ของ คุณจิตต์สมาน โกมลฐิติ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓ ซึ่งผมเดาว่าน่าจะถ่ายทอดมาจากตำราเก่าที่มีอยู่ก่อนหน้า) ซึ่งมีเครื่องน้ำพริกเหมือนกันเปี๊ยบกับผัดพระรามบ้านผม แต่เอาใบผักชีใส่ตำรวมไปด้วยจนเขียวอื๋อ แล้วตอนผัดเนื้อวัวนั้นไม่ต้องใส่ผักอะไรอีกเลย ก็จะได้ผัดเนื้อสีเขียวเขละๆ เผ็ดๆ และหอมกลิ่นใบผักชีมา ๑ กระทะ





แต่ผัดพระอินทร์นี้ คุณจิตต์สมานเธอก็ไม่ได้เจาะจงให้กินกับผักบุ้งลวกแต่อย่างใดเลยนะครับ

ผมเองเคยกินผัดพระอินทร์ที่ทำตามสูตรนี้เป๊ะ ที่ร้านอาหารบ้านโอ่ง ริมคลองทวีวัฒนา ย่านมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม พบว่ารสชาติใกล้เคียงผัดพระรามมาก เพียงแต่ไม่มีรสเผ็ดร้อนของกะเพราเท่านั้นเอง

……………………..

ผมเคยถามแม่ว่า สูตรผัดพระรามมาจากไหน แม่ก็บอกว่า จำไม่ได้แล้ว เหมือนจะทดลองทำกินกันกับป้า (พี่สาวของแม่) สมัยยังสาวๆ แต่จะมาจากไหนยังไงก็ไม่แน่ใจ

ความที่มันมีลักษณะพ้องกันกับทั้งพระรามลงสรงและผัดพระอินทร์ ผมเลยเดาว่า ไม่ป้าก็แม่ น่าจะลองปรับสูตรของผัดพระอินทร์ที่เคยเห็นหรือเคยกิน โดยชักเอาผักชีออกจากครก มาใส่เป็นผักในตอนท้ายแทน (เพราะผมจำได้ว่าแม่ไม่ค่อยชอบตำใบอะไรต่อมิอะไรเข้าไปในเครื่องแกง ว่ามันจะเขละขละนัก) และความที่เป็นคนชอบกินเผ็ด ก็คงลองใส่ใบกะเพราลงไป เมื่อรสเผ็ดร้อนกะเพราและหอมใบผักชีประสานกันในผัดเผ็ดพริกเขียวกระทะนี้อย่างเหมาะเจาะ มันก็กลายเป็นอาหารจานเฉพาะของแม่ไป แถมทั้งแม่และป้าชอบกินผัก ก็เลยมีผักบุ้งลวกของสำรับพระรามลงสรงสอดเข้ามากินแนมด้วยทุกครั้ง

ถ้านึกเร็วๆ อย่างคนที่ไม่คุ้นเคย การเอาผักบุ้งลวกมากินกับผัดเนื้อเผ็ดๆ หอมผักชีและฉุนร้อนกะเพราแบบนี้มันดูไม่เข้าสารบบอาหารไทยเอาเลย แต่ในเมื่อผมและน้องๆ โตมากับสิ่งนี้ มันก็เป็นความคุ้นชินที่เราแทบขาดไม่ได้ทีเดียว

อาหารของแต่ละบ้านคงประกอบสร้างขึ้นจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้เองกระมัง จากการทดลองของใครคนหนึ่งหรือหลายๆ คน ที่เติมเต็มความอิ่มท้องให้สมาชิกในบ้าน ทั้งยังแตกยอดวัฒนธรรมอาหารไทยออกไป ให้มันสามารถจะมีชีวิตชีวาและความเอร็ดอร่อยอยู่ได้ในโลกสมัยใหม่ทุกวันนี้

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กุมภาพันธ์ 2566 20:03:30 โดย ใบบุญ » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.28 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 26 กุมภาพันธ์ 2567 22:22:58