ตำนานโบราณบันทึก "เกาะเซนติเนล" คนไทยผ่าน พบคนเปลือย ใช้หน้าไม้ไล่ยิง!
จากข่าวใหญ่ระดับโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือเหตุการณ์ที่ นายจอห์น อัลเลน เชา ชายชาวอเมริกัน ลักลอบขึ้นเกาะเซนติเนลเหนือ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ของประเทศอินเดีย จนถูกชนเผ่า "เซนติเนล" ที่อาศัยอยู่บนเกาะนี้ใช้ธนูระดมยิงจนตาย
ในขณะที่ กฎหมายอินเดียได้กำหนดให้เกาะเซนติเนลเหนือเป็นพื้นที่หวงห้าม ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอก หรือแม้แต่กองทัพเรือของอินเดียเอง เข้าใกล้เกาะในรัศมี 5 กิโลเมตร เพื่อปกป้องที่อยู่อาศัยของชนเผ่าเซนติเนลที่ตัดขาดจากโลกภายนอก
ย้อนกลับไปเมื่อ 44 ปีก่อน (พ.ศ. 2517) เกาะแห่งนี้เคยเป็นข่าวโด่งดังขึ้น จากเหตุการณ์ที่ ทีมงาน National Geographic ผู้ผลิตรายการสารคดีชื่อดังระดับโลก เดินทางไปยังเกาะดังกล่าว เพื่อถ่ายทำสารคดี แต่เมื่อทีมงานทั้งหมดกำลังจะลงจากเรือ ก็ถูกเจ้าถิ่นระดมยิงธนูใส่ จนทีมงานคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ และทำให้โครงการดังกล่าวต้องล้มเลิกไปในที่สุด
(ภาพจาก Indian Coastguard/Survival International)
เรือของปานามาหลงเข้ามายังเกาะแห่งนี้ ลูกเรือทั้งหมดถูกชาวเซนติเนลยิงด้วยลูกธนู จึงต้องหลบซ่อนอยู่ในเรือกว่าสัปดาห์ จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือออกจากพื้นที่ได้อย่างทุลักทุเล ซึ่งซากเรือลำดังกล่าว ยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้
โดยบันทึกของ “มาร์โค โปโล” นักเดินทางชาวอิตาลีที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 13 – 14 เคยกล่าวถึงชาวเซนติเนลไว้ว่า "พวกเขาเป็นชนเผ่าที่โหดที่สุด และกินทุกอย่างที่จับได้"
ทีมข่าวเจาะประเด็น มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ในประเด็นเกี่ยวกับเกาะเซนติเนลเหนือ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือ “คนไทยโบราณเคยผ่านไปในละแวกเกาะเซนติเนลเหนือด้วย”
“อันที่จริงแล้ว เกาะเซนติเนลเหนือถูกบันทึกอยู่ในตำนาน, วรรณคดีไทย และสมุดภาพไตรภูมิอยู่เล็กน้อย แม้แต่สุนทรภู่ก็เคยเขียนถึงเกาะแห่งนี้ในเรื่องพระอภัยมณีด้วยซ้ำ โดยสุนทรภู่เรียกเกาะเซนติเนลเหนือว่า เกาะนาควารินทร์ ซึ่งแปลว่า ถิ่นของคนเปลือย
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม
ภูมิศาสตร์สุนทรภู่
“คำว่า นาค ของคนไทย มักจะนำมาแปลความว่า งู หรือพญานาค แต่คำว่า นาค ในที่นี้มาจาก นัคคะ ที่แปลว่า คนเปลือย แต่พอคนไทยฟังมาเรื่อยๆ จึงเพี้ยนเป็นคำว่า นาค โดยสุนทรภู่เอง ก็ได้นำคำว่า นาค มาแปลว่า คนที่มาจากงูเช่นกัน”
“ขณะเดียวกัน สุนทรภู่ยังนำคำว่า นาควารินทร์ มาแปลว่า ที่อยู่ของฝูงนาค ซึ่งอันที่จริงแล้ว นาคในที่นี้มาจากคำว่า นัคคะวารินทร์ ซึ่งแปลว่า ที่อยู่ของคนเปลือย โดยรากศัพท์ของไทยนั้นมาจากประเทศอินเดีย และอินเดียก็ตั้งชื่อเกาะแห่งนี้ว่า เกาะของคนเปลือยเช่นกัน”
โดย อ.ธรณ์ ได้อ่านกลอนของสุนทรภู่บางช่วงบางตอนที่พรรณาถึงเกาะดังกล่าวให้เราฟังว่า “ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืนเป็นคลื่นคลั่ง เรือที่นั่งซัดไปไกลนักหนา จนพ้นแดนแผ่นดินสิ้นสายตา ไม่รู้ว่าจะไปหนตำบลใด...ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์ ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก ชื่อว่านาควารินทร์ สินธุ์สมุทร...ถ้ายั้งหยุดอยู่ที่นี่จะมีภัย”
ทั้งนี้ สุนทรภู่ ได้ชื่อทะเล นาควารินทร์ สินธุ์สมุทร มาจากชื่อ นาควารี(นิโคบาร์) ในสมุดภาพไตรภูมิ และสมมติให้ทะเลนาควารินทร์มีความกว้างใหญ่ไพศาล และสร้างเรื่องให้ตัวละครเรือแตกที่นั่น
ดร.ธรณ์ ได้ให้ข้อมูลอีกว่า “สมุดภาพไตรภูมิที่ทำขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา, กรุงธนบุรี และยุคต้นรัตนโกสินทร์ ได้มีการเขียนแผนที่โบราณระบุถึงเมืองลังกาอยู่เสมอ และจะต้องมีชื่อและภาพนาควารีเกาะคนเปลือยอยู่ทุกฉบับ ซึ่งเกาะนี้เป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่นักเดินเรือสมัยนั้น”
ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี แสดงแผนที่โบราณแสดงเมืองต่างๆ ในประเทศลังกาและมหาสมุทรอินเดีย โดยมีเกาะนาควารีอยู่ด้วย
“สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา(ปี พ.ศ.2298) อาณาจักรสยามได้มีการส่งคณะสงฆ์ไปยังลังกา และมีบันทึกอยู่ในหนังสือเรื่อง “ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” ว่า ต้องผ่านเกาะอันดามันกับเกาะนาควารีหรือนิโคบาร์ แล้วเล่าเรื่องเกาะนาควารีไว้ด้วยว่า ครั้นถึงตรงปากถ้ำมะริดแล้วบ่ายหน้าสำเภาไปข้างตะวันออก แล่นหลีกเกาะอันทมันไป วัน 1 กับคืน 1 ถึงเกาะนาควารี...”
“ในเกาะนั้นมีคนอยู่เป็นอันมาก แต่ว่าหามีข้าวกิน หามีผ้านุ่งห่มไม่ ผู้หญิงนั้นนุ่งเปลือกไม้ แต่พอปิดที่อายหน่อยหนึ่ง ผู้ชายนั้นเอาเชือกคาดเอวแล้วเอาผ้าเตี่ยวเท่าฝ่ามือห่อที่ความอายไว้”
ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1 แสดงให้เห็นเกาะนาควารี
เมื่อเข้าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ได้มีการส่งพระสงฆ์ไปลังกาอีกครั้ง(ปี พ.ศ.2357) โดยมีบันทึกของพระสงฆ์จากการเดินทางครั้งนั้นไว้ว่า “แลเกาะเล็กน้อยมีอยู่ใกล้เคียงเกาะนาควารีย์ที่แลไปเห็นนั้น จะนับประมาณมิได้...คนในเกาะนั้นกินคน ถ้าแลเรือซัดเข้าไปเถิงที่นั้นแล้ว มันช่วยกันไล่ยิงด้วยหน้าไม้ จับตัวได้เชือดเนื้อกินเป็นอาหาร อันนี้เป็นคำบอกเล่าหลายปากแล้ว ก็เห็นจะมีจริง แต่มิได้เห็นด้วยจักษุ”
“หากย้อนกลับไปตอนสึนามิใหญ่ปี 2547 มีเฮลิคอปเตอร์บินเข้าไปใกล้เกาะเซนติเนลเหนือ เพื่อให้การช่วยเหลือมอบน้ำ มอบอาหารให้กับคนในเกาะ แต่กลับถูกชาวเซนติเนลยิงธนูใส่เฮลิคอปเตอร์”
“หากนำแผนที่มากางแล้ว เราจะเห็นเลยว่า เกาะเซนติเนลเหนือ ที่ตั้งอยู่ในเหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์นั้น ไม่ได้ไกลจากประเทศไทยเลย หรือจากเกาะภูเก็ตไปยังเซนติเนลเหนือ มีระยะทางอยู่ที่ราวๆ 400 กว่ากิโลเมตรเพียงเท่านั้น”
“เกาะนี้เป็นเกาะที่ไม่มีใครเข้าไปยุ่งตั้งนานแล้ว คนในเกาะไม่ต้อนรับบุคลภายนอกอย่าง 100% และเขาดำรงเผ่าพันธุ์กันมาช้านานนับหมื่นปี ขนาดอินเดียยังยกให้เกาะเซนติเนลเหนือ เป็นมณฑลพิเศษ” ดร.ธรณ์ ทิ้งท้ายความรู้ที่หลายคนไม่เคยได้รู้.
จาก
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1429621 https://www.youtube.com/v//vs2FeLgB2fE