[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 16:53:12 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กบฏแมนฮัตตัน (พ.ศ.๒๔๙๔) - กบฏครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยใหม่  (อ่าน 273 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 17 เมษายน 2566 17:20:08 »


ภาพเหตุการ์ขณะจี้ตัวจอมพล ป.  พิบูลสงคราม บนเรือแมนฮัตตัน


ภาพเหตุการ์ขณะจี้ตัวจอมพล ป.  พิบูลสงคราม บนเรือแมนฮัตตัน

กบฏแมนฮัตตัน (พ.ศ.๒๔๙๔)

กบฏแมนฮัตตัน หรือกบฏทหารเรือ หรือกบฏ ๒๙ มิถุนา เป็นปฏิกิริยาของฝ่ายทหารเรือที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลและผู้นำกลุ่มทหารบก รวมทั้งการที่รัฐบาลไม่สนับสนุนกิจการของกองทัพเรือเท่าที่ควร ฝ่ายทหารเรือได้เคยวางแผนการที่จะทำการต่อต้านรัฐบาลมาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง แต่ก็ล้มเหลวลงก่อนที่จะได้ปฏิบัติการ  จนในที่สุดถึงขั้นก่อการกบฏเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ ซึ่งยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายทหารเรือ ทำให้บทบาทและแสนยานุภาพของกองทัพเรือถูกบั่นทอนลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

การก่อกบฏแมนฮัตตัน สืบเนื่องมาจากสาเหตุ ๓ ประการ คือ ประการที่ ๑ ความไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่ ๒ ซึ่งคณะรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ สนับสนุน โดยทหารเรือเห็นว่า รัฐบาลของคณะรัฐประหารมิได้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง ใช้วิธีเผด็จการโดยปรับปรุงกรมตำรวจให้มีลักษณะเป็น “กองทัพ” เพื่อข่มขู่ประชาชน และกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างทารุณและไร้มนุษยธรรม  ประการที่ ๒ ความตึงเครียดระหว่างทหารบกและตำรวจกับทหารเรือ ซึ่งมีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้ง ๒ โดยที่ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างสนับสนุนผู้นำต่างกัน ทหารบกสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ทหารเรือสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์  ส่วนตำรวจนั้นมีปัญหาการกระทบกระทั่งกับทหารเรืออยู่เสมอและได้กล่าวหาทหารเรือในเรื่องที่มักให้ผู้กระทำความผิดประเภทใช้อาวุธปล้นจี้หลบซ่อนในเขตทหารเรืออีกด้วย  ส่วนประการที่ ๓ ความเสื่อมโทรมในกองทัพเรือ เพราะรัฐบาลไม่ไว้วางใจและไม่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่นับตั้งแต่ครั้งกบฏวังหลวง เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ มีการตัดกำลังนาวิกโยธินลง เพราะเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพเรือ และรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กองทัพเรือไม่เพียงพอที่จะนำมาปรับปรุงกองทัพได้

ผู้ก่อการกบฏที่เป็นผู้นำสำคัญคือ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน  นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบ  นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์  นาวาตรี ประกาย พุทธารี  สังกัดกรมนาวิกโยธิน  และนาวาตรี สุภัทร ตันตยาภรณ์ สังกัดกรมนาวิกโยธิน  นอกนั้นเป็นทหารชั้นผู้น้อย ส่วนผู้นำฝ่ายอื่นๆ นั้นก็ได้รับการชักชวนจากทหารเรือที่มียศระดับกลางๆ โดยไม่มีการให้คำมั่นเท่าที่ควร จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การกบฏประสบความล้มเหลว

กบฏแมนฮัตตันเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ เวลา ๑๕.๐๐ น. ซึ่งเป็นวันและเวลาที่ทางราชการได้กำหนดให้ประกอบพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนชื่อ แมนฮัตตัน ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้รัฐบาลไทย ตามโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ โดยมี จอมพล ป.  พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับมอบ พิธีนี้จัดขึ้นที่ท่าราชวรดิฐ เมื่อประกอบพิธีรับมอบเสร็จแล้ว จอมพล ป.  พิบูลสงครามก็ได้รับเชิญไปชมเรือ  ขณะนั้นเอง นายทหารเรือกลุ่มหนึ่งนำโดย นาวาตรี มนัส จารุภา ได้ใช้ปืนกลจี้บังคับให้จอมพล ป.  พิบูลสงคราม ไปลงเรือเปิดหัวที่เตรียมไว้ แล้วนำไปยังเรือหลวงศรีอยุธยา และคุมขังจอมพล ป.  พิบูลสงคราม ไว้ ณ ที่นั้น

ปฏิบัติการต่อมาคือ ฝ่ายกบฏซึ่งเรียกตนเองว่า คณะกู้ชาติ ได้ทำลายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เพื่อยุติการออกอากาศ และเข้ายึดโรงไฟฟ้าวัดเลียบและสถานีโทรศัพท์กลางบางรักไว้ เพื่อตัดการติดต่อและการกระจายเสียงของรัฐบาล มีการตัดกระแสไฟฟ้าด้วย พร้อมกันนี้ก็ได้ทำการกระจายเสียงทางสถานีวิทยุของฝ่ายทหารเรือภายในกองสัญญาณทหารเรือศาลาแดง ถนนวิทยุ โดยได้ประกาศยึดอำนาจรัฐบาลและคณะรัฐประหาร มีพระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) เป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศ
แต่งตั้งคณะผู้รักษาพระนครขึ้น ๖ คน ประกอบด้วย พลโท หลวงวีระโยธา (ถวิล ศิริสรรพ์)  พลเรือตรี ชิต กุลกำม์ธร  พลโท กาจ กาจสงคราม  พลอากาศโท หลวงเทวฤทธิ์พันลึก (กาพย์ ทัตตานนท์)  พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ  และนาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติงานในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปด้วยดี หลังคณะกู้ชาติยึดอำนาจการปกครอง

ฝ่ายรัฐบาลดำเนินการเพื่อปราบกบฏทันทีโดยมอบให้พันเอก นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีแทน  ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลซึ่งยังมีสถานีวิทยุที่ใช้ได้ถึง ๕ สถานี ได้แถลงการณ์ตอบโต้คณะกู้ชาติ รวมทั้งแถลงการณ์ให้ประชาชนรับทราบเหตุการณ์พร้อมกันทุกสถานี  ต่อมาเวลาประมาณ ๒๐.๓๘ น. ตำรวจได้เข้ายึดโรงไฟฟ้าและสถานีโทรศัพท์กลางกลับคืนมาได้ และได้จ่ายกระแสไฟฟ้า แต่จำกัดเฉพาะในเขตกลางกรุงเทพฯ เท่านั้น ส่วนในเขตของพวกกบฏทั้งทางฝั่งธนบุรีและศาลาแดง รัฐบาลไม่ได้เปิดกระแสไฟฟ้าให้ใช้ พร้อมกันนั้น ทางรัฐบาล กองทัพบก กองทัพอากาศ และกรมตำรวจต่างก็ได้อ่านแถลงการณ์ออกอากาศ รวมทั้งปฏิเสธแถลงการณ์ของฝ่ายคณะกู้ชาติทุกฉบับว่าไม่เป็นความจริง

ด้านคณะกู้ชาติ หลังจากแต่งตั้งบุคคลต่างๆ เข้าดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลใหม่ของตนแล้ว ได้มีการประกาศกฎอัยการศึกโดยมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ  พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกต  พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา)  พลตำรวจเอก อดุล อดุชเดชจรัส  เป็นผู้ลงนาม  เพื่อจะได้เคลื่อนย้ายกำลังทหารเรือออกจากที่ตั้งได้  มีคำสั่งให้ทหารเรือหน่วยต่างๆ เดินทางเข้าพระนครเพื่อที่จะต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล แต่ทหารเรือหน่วยต่างๆ ยังไม่มีการเคลื่อนไหว เพราะมีความเคลือบแคลงในคำสั่งและผู้สั่งการ ต่างรอคำสั่งของผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน ก่อน

ส่วนกำลังด้านต่างๆ ของทหารเรือในกรุงเทพนั้น มีการวางกำลังเป็น ๔ ด้าน และมีแผนปฏิบัติการในแต่ละด้าน ดังนี้

ด้านที่ ๑ กำลังนาวิกโยธินที่ ๔ และ ๕ รวมถึงหน่วยต่อสู้อากาศยาน ได้วางกำลังอยู่รอบกองทัพเรือตั้งแต่บริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้าจนถึงบริเวณสวนอนันต์  คณะกู้ชาติมีแผนการจะใช้กำลังเหล่านี้เป็นกำลังหลัก แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติการ คณะกู้ชาติก็ไม่สามารถใช้กำลังเหล่านี้ได้ แม้ในช่วงหลังของกบฏ เพราะเมื่อฝ่ายนาวิกโยธินจะเคลื่อนกำลังออกมา พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการกองทัพเรือ ได้มีคำสั่งมิให้หน่วยนาวิกโยธินเหล่านั้นยกพลขึ้นบกทางฝั่งพระนคร

ด้านที่ ๒ กำลังทางน้ำ ได้วางกำลังคนและอาวุธไว้อย่างเข้มแข็งที่ท่าราชวรดิฐ บรรดาเรือรบซึ่งอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยาได้ชักธงรบและหันปืนมาทางฝั่งพระนครทุกลำ เรือรบนี้เป็นฝ่ายคณะกู้ชาติจริง เพราะนาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบสามารถออกคำสั่งต่อหมู่รบนี้ได้ กำลังทางด้านนี้เดิมไม่ถือว่าเป็นกำลังหลัก แต่ต้องนำมาใช้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ เพราะแผนปฏิบัติการด้านที่ ๑ ล้มเหลว

ด้านที่ ๓ กำลังฝั่งธนบุรี ได้มีการวางไว้ตั้งแต่สะพานพระพุทธยอดฟ้าไปตามถนนประชาธิปกจนถึงสี่แยกบ้านแขก ถนนอิสรภาพ กำลังดังกล่าวนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจสั่งการของคณะกู้ชาติ แต่เป็นกำลังที่ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน ส่งออกมารักษาพื้นที่ไว้เท่านั้น

ด้านที่ ๔ ทหารเรือฝ่ายกองสัญญาณ ถนนวิทยุ เป็นกองกำลังแห่งใหญ่และได้มีการเคลื่อนไหวติดต่อสั่งการไปยังจุดต่างๆ ของฝ่ายกบฏ โดยส่งกำลังออกไปตามแนวถนนวิทยุตั้งแต่ปากถนนสาทรใต้จนถึงถนนเพลินจิต และกองกำลังอีกส่วนหนึ่งถูกส่งเข้ารักษาการณ์ที่ท่าเรือคลองเตย จากความล้มเหลวของการนำกำลังด้านอื่นออกมาช่วย กองสัญญาณจึงเป็นกำลังสำคัญของคณะกู้ชาติอย่างแท้จริง แต่กำลังด้านนี้ไม่สามารถปฏิบัติการสำเร็จได้ เนื่องจากขาดการประสานงานกับนาวิกโยธินที่ ๔ และ ๕ ทางฝั่งธนบุรี

ความล้มเหลวของแผนปฏิบัติการดังกล่าวทำให้คณะกู้ชาติเปลี่ยนแผนใหม่ด้วยการออกคำสั่งปราศรัยของจอมพล ป.  พิบูลสงคราม ซึ่งคณะกู้ชาติขอร้องให้จอมพล ป.  พิบูลสงคราม อ่านบันทึกแถบเสียงไว้ มีข้อความสำคัญคือ ขอร้องให้ทุกฝ่ายทั้งทหารบก ทหารอากาศ และตำรวจร่วมกันรักษาความสงบของบ้านเมือง และขอให้มีการเจรจาตกลงกันด้วยดีระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายคณะกู้ชาติ  ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลได้ขอให้คณะกู้ชาติส่งผู้แทนพร้อมด้วยจอมพล ป.  พิบูลสงครามไปเจรจากับรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล ภายในเวลา ๒๔.๐๐ น. ของวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔  แต่คณะกู้ชาติปฏิเสธ เพราะกลัวว่าจะเป็นกลลวงให้ได้ตัวจอมพล ป.  พิบูลสงครามกลับไป คณะกู้ชาติจึงยื่นข้อเสนอใหม่เมื่อเวลา ๒๓.๐๐ น. ให้นายวรการบัญชาเป็นตัวแทนไปพบคณะกู้ชาติที่กองเรือรบภายใน ๖ชั่วโมง ซึ่งฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามเพราะไม่ไว้ใจทหารเรือเช่นกัน  จากความไม่ไว้วางใจกันนี้เองทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ตึงเครียดขึ้นเพราะทุกฝ่ายไม่อาจปรับความเข้าใจกันได้ ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาลจึงประกาศกฎอัยการศึกและพร้อมกันนั้นได้นำความเข้ากราบทูลผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขอเคลื่อนกำลังทหารบก ทหารอากาศ มาช่วยตำรวจเพื่อปราบจลาจลครั้งนี้ เพราะรัฐบาลไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์ข้างหน้าตำรวจหน่วยเดียวจะสามารถ “รับมือ” กับคณะกู้ชาติได้

หลังจากมีประกาศพระบรมราชโองการให้เคลื่อนกำลังเข้าปฏิบัติการได้ พลเอก ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบก มีคำสั่งให้ พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และรักษาราชการแม่ทัพ กองทัพที่ ๑ กับผู้บัญชาการภาคทหารบกที่ ๑ เป็นผู้บัญชาการปราบปรามจลาจล ฝ่ายคณะกู้ชาติได้ประกาศว่าจะไม่ยอมแพ้แก่รัฐบาล หลังจากนั้นวิทยุกองทัพอากาศได้เรียกทหารอากาศเข้าประจำการและย้ำให้คณะกู้ชาตินำตัวจอมพล ป.  พิบูลสงคราม มายังทำเนียบรัฐบาลภายใน ๒๔.๐๐ น. ของวันที่ ๒๙ มิถุนายน แต่ไม่ได้ผลประการใด รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้คณะกู้ชาติอีกโดยขยายเวลาให้ถึง ๐๔.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น และตั้งผู้แทนขึ้นเพื่อเจรจากับฝ่ายคณะกู้ชาติ โดยมีเงื่อนไขให้ส่งตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม คืนทันที  ให้ฝ่ายคณะกู้ชาติทั้งหมดที่ออกปฏิบัติการรบนอกที่ตั้งวางอาวุธและกลับเข้าที่ตั้งตามปกติ และให้มอบตัวกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งถ้าหากไม่ปฏิบัติตาม รัฐบาลจะสั่งการโจมตีพร้อมกันทุกจุดด้วยกำลังของกองทัพบก กองทัพอากาศ และตำรวจ ในเวลา ๐๔.๐๐ น. ของวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔

เวลา ๐๒.๑๕ น. คณะกู้ชาติได้ประกาศยืนยันความจำเป็นที่ต้องทำการครั้งนี้ เพราะการบริหารงานที่เหลวแหลกของรัฐบาลซึ่งใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์และกดขี่ข่มเหงราษฎร แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่ปฏิบัติการใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากถูกโจมตีก่อน ต่อมาเมื่อถึงเวลา ๐๔.๐๐ น. การเจรจาตามมติคณะรัฐมนตรีไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเกิดการสู้รบขึ้นเมื่อเวลา ๐๔.๓๐ น. ของวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ เริ่มจากฝ่ายรัฐบาล โดยกองทัพบกภายใต้การนำของ พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์  กองทัพอากาศภายใต้การบัญชาการของพลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี และกำลังตำรวจโดย พลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์  การสู้รบแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ทหารบกเริ่มโจมตีจากด้านพระนคร กองทัพอากาศเริ่มทิ้งระเบิดที่กรมอู่ทหารเรือ และตำแหน่งคลังเชื้อเพลิง  ระหว่างการสู้รบกันนั้น การเจรจาต่อรองก็ยังคงดำเนินอยู่ จนกระทั่งเวลา ๑๕.๐๐ น. เครื่องบินของกองทัพอากาศได้ทิ้งระเบิดเรือหลวงศรีอยุธยา จนกระทั่งไฟไหม้และอับปางลง แต่จอมพล ป.  พิบูลสงครามได้รับการช่วยเหลือจากทหารเรือให้ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง ณ ที่ทำการกองทัพเรือ ฝั่งธนบุรี ได้อย่างปลอดภัย  ฝ่ายทหารอากาศยังคงโจมตีต่อไปจนกระทั่งเวลา ๑๗.๐๐ น. เรือรบหลวงคำรณสินธ์ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองคลังน้ำมันอยู่ที่บริเวณกรมอู่ทหารเรืออับปางลงอีกลำหนึ่ง

ด้านกองสัญญาณบริเวณถนนวิทยุได้มีการต่อสู้กันอย่างหนัก ทางทหารเรือได้ใช้ปืนต่อสู้อากาศยานยิงรถถังตำรวจใช้การไม่ได้หลายคัน ขณะเดียวกันโรงเรียนทหารเรือบางนาได้ส่งกำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดสถานีตำรวจพระโขนง และได้ลำเลียงกำลังมาทางน้ำขึ้นที่ท่าเรือคลองเตยเพิ่มกำลังที่กองสัญญาณด้วย จนกระทั่งเวลา ๒๐.๐๐ น. การสู้รบจึงเบาบางลง ฝ่ายทหารบกและตำรวจสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ฝ่ายรัฐบาลจึงได้ส่งพลตรี หม่อมหลวงขาบ กุญชร และคณะไปติดต่อกับฝ่ายคณะกูชาติ และในคืนวันที่ ๓๐ มิถุนายน เวลา ๒๓.๐๐ น. พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือได้นำตัวจอมพล ป.  พิบูลสงคราม มายังวังปารุสกวัน  หลังจากนั้นจึงมีการเจรจาหยุดยิงกัน แต่การต่อสู้ก็ยังมีอยู่ประปราย  ฝ่ายรัฐบาลเริ่มออกปฏิบัติงานอีกครั้ง เมื่อเวลา ๑๕.๓๐ น. ของวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔ โดยเข้ายึดกองสัญญาณทหารเรือบริเวณโรงเรียนเตรียมนายเรือ กรมอู่ทหารเรือ สวนอนันต์ อันเป็นที่ตั้งของกองกำลังนาวิกโยธินที่ ๔ และ ๕ กองต่อสู้อากาศยาน กองทหารเรือหน่วยยานยนต์ และกองเรือรบไว้ได้  ผู้นำของคณะกู้ชาติบางคนและทหารเรือบางส่วนหลบหนีไป บางส่วนมอบตัวและยอมจำนนต่อรัฐบาล และเพื่อมิให้ฝ่ายกบฏทำการแทรกแซงก่อการร้ายได้อีก รัฐบาลได้ส่งกำลังทหารบกไปยึดครองเขตสำคัญต่างๆ ของทหารเรือด้วย ในที่สุดเหตุการณ์ต่างๆ สงบเรียบร้อยลงในวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔

ภายหลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันยุติลง รัฐบาลได้ดำเนินการให้บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปกติ ทั้งทางด้านความสงบเรียบร้อยและประชาชน การทหาร และตำรวจ ซึ่งได้รับความเสียหายจากการสู้รบครั้งนี้ รวมทั้งมีการปรับปรุงกองทัพเรือเสียใหม่ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกองทัพเรือจำนวน ๑๒ คน ที่สำคัญคือ จอมพล ป.  พิบูลสงคราม  พลเอก ผิน ชุณหะวัณ  พลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี  พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์  และ พลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์  ปรากฏว่าคณะกรรมการได้พิจารณาและลดกำลังกองทัพเรือในลักษณะลดทอนแสนยานุภาพ มากกว่าจะเป็นการปรับปรุงเพื่อให้กองทัพเรือมีสมรรถภาพดีขึ้น โดยมีมติดังนี้

ประการที่ ๑ ให้ยุบกรมนาวิกโยธินที่กรุงเทพฯ และสัตหีบทั้งหมด คงเหลือไว้เพียง ๑ กองพัน และให้ปลดนายทหารที่เกินอัตราออกให้หมด และปลดนายทหารนาวิกโยธินออก เพื่อมิให้กองทัพเรือมีทหารนาวิกโยธินต่อไปอีก เนื่องจากเป็นกองกำลังที่เข้มแข็ง ไม่น่าไว้วางใจ  ประการที่ ๒ ให้ย้ายกองบัญชาการกองทัพเรือ จากพระราชวังเดิมไปอยู่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อไม่ให้ทหารเรืออยู่ในเขตพระนครและธนบุรี เมื่อกองทัพเรือย้ายออกไปแล้วได้ใช้เป็นสถานศึกษาหรือหน่วยงานฝ่ายพลเรือนต่อไป  ประการที่ ๓ ให้ย้ายกองเรือรบ ตลอดจนเรือรบในสังกัดทุกลำไปอยู่สัตหีบ และให้เปลี่ยนชื่อกองเรือรบเป็น ”กองเรือยุทธการ”  ประการที่ ๔ ให้กองสัญญาณทหารเรือย้ายออกจากศาลาแดงไปอยู่ที่อื่น  ประการที่ ๕ ให้โอนกองบินทหารเรือที่จุดเสม็ด สัตหีบ ไปเป็นของกองทัพอากาศ เพราะเห็นว่ากองบินไม่จำเป็นสำหรับกิจการของทหารเรือ หากมีความจำเป็น กองทัพอากาศก็สามารถปฏิบัติการแทนได้ หรือใช้ร่วมกันได้  ประการที่ ๖ ให้ยุบเลิกกองสารวัตรทหารเรือ กรุงเทพฯ  ประการที่ ๗ ที่ทำการกองเรือรบเดิมที่ท่าราชวรดิฐ ไม่ให้ทหารเรือหรือทหารเหล่าอื่นเข้าอยู่  ประการต่อมาคือ โอนสถานที่ทำการหมวดเรือพระราชพิธีแจวบางส่วนให้ทหารบก ให้คงเฉพาะพื้นที่ติดคลองสำหรับจอดเรือพระราชพิธีแจวพายเท่านั้น  และประการสุดท้าย สถานที่ของกองพันนาวิกโยธิน ๔-๕ สวนอนันต์ ถนนอิสรภาพ ไม่ให้ทหารเรือเข้าอยู่ และโอนให้เป็นของทหารบก  นอกจากนี้ยังให้ยุบมณฑลทหารเรือที่ ๑ ที่ครอบคลุมเขตจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม และมณฑลทหารเรือที่ ๒ ครอบคลุมเขตจังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด ซึ่งเป็นการย่อส่วนของกองทัพเรือให้เล็กลงทั้งการปฏิบัติการและกำลังพล พร้อมกันนั้นได้ยึดอาวุธยุทธภัณฑ์ส่วนใหญ่ของทหารเรือไป

ยิ่งกว่านั้น ยังมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่มีอำนาจสั่งการ กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔ คณะรัฐมนตรีและกระทรวงกลาโหมได้มีประกาศและคำสั่งให้นายทหารเรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการกบฏครั้งนี้พักราชการ และปลดออกจากราชการหลายคน เช่น พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือโท หลวงเจริญราชนาวา (เจริญ ทุมมานนท์) รองผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือโท ผัน นาวาวิจิต ผู้บัญชาการกองเรือรบ  พลเรือตรี ชลิต กุลกำม์ธร รองผู้บัญชาการกองเรือรบ  พลเรือตรี กนก นพคุณ  ผู้บังคับการมณฑลทหารเรือที่ ๑  พลเรือตรี ประวิศ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ  พลเรือตรี ดัด บุนนาค เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ  พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือฝ่ายยุทธการ  พลเรือตรี ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับการกองเรือสัญญาณทหารเรือ  และพลเรือตรี สงวน รุจิราภา นายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ และมีผู้ถูกปลดออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญที่สำคัญ เช่น นาวาเอก อานนท์ บุณฑริกาภา และนาวาตรี มนัส จารุภา  นอกจากนี้ ยังมีนายทหารเรืออีกประมาณ ๗๐ นายถูกปลดออก  การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้กองทัพเรือไม่มีความเข้มแข็งอีกต่อไป และทหารเรือแทบจะไม่มีบทบาททางการเมืองอีกเลย

กบฏแมนฮัตตัน เป็นกบฏครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ซึ่งบางคนเรียกว่าเป็น “สงครามกลางเมือง” ที่คนในชาติเดียวกันต้องมารบราฆ่าฟันกันเอง จากสถิติที่มีบันทึกไว้ มีผู้บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นประชาชนชาวบ้านที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย โดยประชาชนเสียชีวิต ๑๑๘ คน บาดเจ็ดสาหัสและไม่สาหัส ๑๙๑ คน พิการ ๙ คน ทหารเรือเสียชีวิต ๔๓ นาย บาดเจ็บ ๘๗ นาย ทหารบกเสียชีวิต ๑๗ นาย บาดเจ็บ ๑๑๕ นาย และตำรวจเสียชีวิต ๙ นาย บาดเจ็บ ๓๘ นาย

จากจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งทหารและพลเรือนดังกล่าวถือว่าเป็นความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งยังไม่รวมความเสียหายที่เป็นสิ่งของและอาวุธยุทโธปกรณ์  ในส่วนของประชาชน ทางราชการได้แถลงว่าทรัพย์สินของบประชาชนที่เสียหายมีจำนวนถึง ๖๗๐,๐๐๐ บาท ไม่นับทรัพย์สินที่ถูกลักขโมยไปในช่วงที่เกิดความวุ่นวาย และค่าทำศพของราษฎรอีกจำนวนมาก โดยรัฐบาลจ่ายให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตคนละ ๑,๕๐๐ บาท ผู้ทุพพลภาพคนละ ๑,๒๐๐ บาท และผู้บาดเจ็บสาหัสคนละ ๔๐๐ บาท ทางด้านความสูญเสียและความเสียหาย กองทัพบกเสียหายประมาณ ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท กองทัพเรือเสียหายมากที่สุด เป็นทรัพย์สินประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท  ทั้งนี้ ไม่นับรวมมูลค่าเสียหายของเรือหลวงศรีอยุธยาและเรือคำรณสินธ์ที่อับปางลง  เรือหลวงศรีอยุธยานั้นเป็นเรือรบที่เรียกว่าเรือปืนหนัก เป็นเรือที่สั่งต่อพิเศษจากประเทศญี่ปุ่น  เรือคำรนสินธ์เป็นเรือขนาดเล็ก  นอกจากนี้ กรมอู่ทหารเรือยังถูกไฟไหม้วอด มีเชื้อเพลิงและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สูญหายอีกจำนวนมาก เหล่าที่สูญเสียน้อยที่สุดคงเป็นกองทัพอากาศซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็น “อัศวินขี่ม้าขาว” ที่ทำให้กบฏครั้งนี้จบลงเร็วขึ้น  ส่วนกรมตำรวจเสียหายประมาณ ๓๘๐,๐๐๐ บาท งบประมาณที่ใช้ปราบกบฏมีมูลค่าเป็นเงินทั้งหมด ๑๕ ล้านบาท

เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ ส่งผลให้กองทัพเรือถูกลดแสนยานุภาพลง ถูกจำกัดกำลังคน ถูกลดสถานที่ตั้งและสถานที่ฝึกปฏิบัติการ ตลอดจนลดจำนวนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ลงอย่างมาก บทบาทของกองทัพเรือถูกลดลงอย่างสิ้นเชิง  ส่วนกองทัพบก กองทัพอากาศ และกรมตำรวจ สามารถขยายแสนยานุภาพได้อย่างเต็มที่และมีบทบาททางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดนับแต่นั้นมา   



ที่มา - กบฏแมนฮัตตัน (พ.ศ.๒๔๙๔) สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่



พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ
ผู้นำคนสำคัญในการก่อกบฏแมนฮัตตัน

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.537 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้