[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 04:44:29 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กบฏ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔) - ผู้บุกเบิกเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณายาสิทธิราช  (อ่าน 176 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 18 เมษายน 2566 19:38:22 »



คณะนายทหารที่ก่อการกบฏขณะถูกจำคุกในเรือนจำ

กบฏ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔)

กบฏ ร.ศ.๑๓๐ เป็นความพยายามของคณะนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยให้เป็นแบบรัฐธรรมนูญในปลาย พ.ศ.๒๔๕๔ แต่แผนการรั่วไหลเสียก่อน จึงถูกจับกุม และถูกตัดสินให้จำคุก

ความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นแบบรัฐธรรมนูญในเมืองไทยไม่ได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกโดยคณะนายทหารหนุ่มใน ร.ศ.๑๓๐ แต่ได้มีมาแล้วตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓) ดังใน ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๒๗) เจ้านายและขุนนางกลุ่มหนึ่ง รวม ๑๑ นาย เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวร์วรฤทธิ์  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์  ได้ร่วมกันทำหนังสือกราบบังคมทูลขอให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจาก “แอฟโสลุดโมนากี” ให้เป็นประเพณีซึ่งเรียกว่า “คอนสติตูชาแนลโมนากี” คือ จากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นแบบพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ยังไม่สมควรที่จะให้มีการปกครองในระบอบดังกล่าว ขณะเดียวกัน เทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส. วัณโณโภ นักหนังสือพิมพ์ ก็ได้เสอนความคิดทำนองนี้ในหนังสือพิมพ์ของเขาใน พ.ศ.๒๔๔๙ เพราะเห็นว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นล้าสมัยเสียแล้ว

ความตื่นตัวของคณะนายทหารหนุ่มในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนวางแผนเพื่อจะก่อการปฏิวัติใน พ.ศ.๒๔๕๔ นั้น ได้รับอิทธิพลมาจากกระแสประชาธิปไตยที่แพร่หลายอยู่ในเวลานั้น ได้แก่ ใน พ.ศ.๒๔๓๒ ญี่ปุ่นในสมัยเมจิ (Meiji พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๕) ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๔๘ เมื่อญี่ปุ่นมีชัยชนะต่อรัสเซียซึ่งถือกันว่าเป็นชัยชนะของระบอบรัฐธรรมนูญต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใน พ.ศ.๒๔๕๑ มีการปฏิวัติของพวกยังเติร์กในตุรกี นอกจากนี้การเผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตยของ ดร.ซุน  ยัตเซ็น (Dr.Sun Yatsen พ.ศ.๒๔๐๙-๒๔๖๘) และการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงลงได้สำเร็จใน พ.ศ.๒๔๕๔ ทำให้นายทหารที่มีความคิดก้าวหน้าอยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยด้วย

นอกจากอิทธิพลจากภายนอกซึ่งรับรู้โดยผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น จีโนสยามวารศัพท์  ปัจจัยภายในก็มีส่วนกระตุ้นให้ความคิดประชาธิปไตยแพร่หลายด้วย นั่นคือ การศึกษาสมัยใหม่ที่เริ่มปฏิรูปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกมากขึ้น แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสภาพของเมืองไทยในเวลานั้น และเห็นว่าบ้านเมืองมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอยู่มากเกือบทุกด้านระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชน

มีสาเหตุเกี่ยวกับทหารโดยเฉพาะที่ทำให้กลุ่มทหารหนุ่มเป็นผู้นำในการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้คือ ใน พ.ศ.๒๔๕๒ ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจทหารมาก คือการเฆี่ยนหลังนายทหารสัญญาบัตร จากเหตุขัดแย้งส่วนตัวระหว่างมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับทหารของกรมทหารราบที่ ๒ ที่ไปติดพันแม่ค้าขายหมากสมัต (หมากที่ทำเป็นคำๆ แล้ว) จนทำมหาดเล็กทำร้ายทหารและไปท้าทายพวกทหารที่หน้ากรมทหารราบที่ ๒  นายร้อยเอก สม เจริญผล ผู้บังคับกองร้อยได้นำทหารยศร้อยตรีและนายดาบบาง ผู้ถูกตีออกไปสู้  ต่อมา มีทหารมาร่วมอีก ๒ คน รวมเป็น ๕ คน  ปรากฏว่า มหาดเล็กสู้ไม่ได้จึงหลบหนีไป และนำความไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จึงให้สอบสวนนายร้อยเอก สม กับพวก โดยที่นายร้อยเอก สม ให้การรับสารภาพ  จากนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอให้ลงพระอาญาเฆี่ยนหลัง ในชั้นแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วย รวมทั้งเจ้านายบางองค์ เช่น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงยืนยัน มิฉะนั้นจะทรงลาออกจากตำแหน่งรัชทายาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงยินยอมให้เฆี่ยนนายร้อยเอก สม ๓๐  ต่อหน้าที่นั่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดความเศร้าสลดใจในหมู่ทหารและนักเรียนนายร้อยทหารบก (คือนักเรียนนายร้อย จปร. ในปัจจุบัน) เป็นอย่างยิ่ง ถึงกับจะหยุดเรียนหยุดฝึก แม้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ จะทรงเรียกประชุมพวกนักเรียนนายร้อยทหารบก ก็ช่วยผ่อนคลายด้านจิตใจได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

สาเหตุอีกประการหนึ่งในส่วนของทหารคือ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ไม่นานนักคือในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๔ ก็ทรงตั้ง “กองทหารเสือป่า” ขึ้นมา พระองค์ทรงสนพระทัยต่อกองทหารเสือป่าอย่างยิ่ง โดยทรงฝึกสอนด้วยพระองค์เอง และทรงเป็นนายกองใหญ่ผู้บังคับกองทหารเสือป่า จุดมุ่งหมายของกองทหารเสือป่าคือ การอบรมข้าราชการพลเรือน พ่อค้า และประชาชนให้รู้วิชาทหาร เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมทั้งเสริมสร้างความสามัคคีในชาติ ทั้งในเวลาปกติและในเวลาเกิดสงคราม การตั้งกองทหารเสือป่าทำให้พวกทหารไม่พอใจมาก เพราะเป็นงานที่ซ้ำซ้อนกับทหาร แข่งกับทหาร เหมือนกับไม่ไว้วางใจทหาร และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมากด้วย

ด้วยสาเหตุประการต่างๆ ดังที่กล่าวมา จึงทำให้นายทหารหนุ่มมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองและบุคคลที่เป็นต้นคิดคือ นายร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์ และ นายร้อยตรี จรูญ ษตะเมษ  ทั้งคู่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยในปลาย พ.ศ.๒๔๕๑  นายร้อยตรี เหรียญ มีอายุเพียง ๑๘ ปี  แต่นายร้อยตรี จรูญ มีอายุ ๒๔ ปี ทั้งคู่เริ่มสนิทสนมกันเมื่อไปประจำการที่กรมทหารราบที่ ๑๒ นครไชยศรี ใน พ.ศ.๒๔๕๒ และที่นั่นเอง บุคคลทั้งสองซึ่งได้เห็นความทุกข์ยากของราษฎร ความอยุติธรรมที่ชาวบ้านได้รับ การขาดโอกาสทางการศึกษา และการปกครองที่ไม่ส่งเสริมให้ราษฎรมีชีวิตที่ดีขึ้น จึงทำให้เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นแบบมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แผนการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายแบ่งเป็น ๒ ระยะ ระยะแรก ๑๐ ปี เป็นการเตรียมพร้อมโดยเผยแพร่อุดมการณ์ให้กับทหารเกณฑ์ ๑๐ รุ่น และหวังว่าทหารเกณฑ์เหล่านั้นจะไปเผยแพร่แนวความคิดให้แก่เพื่อนฝูง ญาติมิตร บุตรหลานต่อไป  ระยะที่ ๒ ใน ๑๐ ปีต่อมา เป็นการลงมือปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อทำได้สำเร็จก็จะมีผู้สนับสนุนและเข้าใจระบอบการปกครองใหม่ทั่วประเทศ

ในต้น พ.ศ.๒๔๕๓ นายร้อยตรี เหรียญ กับ นายร้อยตรี จรูญ ได้รับคำสั่งย้ายให้ไปประจำกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง จึงทำให้ทั้งคู่ได้โอกาสพูดคุยกับเพื่อนนายทหารรุ่นเดียวกันมากขึ้น และในไม่ช้าก็มีผู้ร่วมอุดมการณ์เพิ่มขึ้น ๑ คนคือ นายร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ อย่างไรก็ดี ทั้งสามยังขาดหัวหน้าขบวนการ นายร้อยตรี เหรียญ จึงเสนอพี่ชายคือ นายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) นายแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถและครอบครัว ให้เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งนายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ยินยอมรับอย่างเต็มใจ

การประชุมขบวนการ ร.ศ.๑๓๐ มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔ – นับตามแบบเก่า) ที่บ้านนายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ มีผู้เข้าร่วมประชุม ๗ คน คือนายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์  นายร้อยตรี เหรียญ  นายร้อยตรี จรูญ  นายร้อยตรี เนตร  นายร้อยตรี ปลั่ง  นายร้อยตรี ม.ร.ว. แช่ รัชนิกร  และนายร้อยตรี เขียน อุทัยกุล  โดยมีสาระสำคัญคือ การเลือกหัวหน้าชั่วคราว ซึ่งได้แก่ นายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์  นายร้อยตรี เนตร เป็นเลขานุการและนายทะเบียน กำหนดวัตถุประสงค์ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบใดแบบหนึ่ง และให้สมาชิกไปอบรมสั่งสอนทหารให้รู้จักการปกครองระบอบใหม่นี้

ขบวนการ ร.ศ.๑๓๐ มีการประชุมรวมทั้งหมด ๑๒ ครั้งก่อนถูกจับกุม มติที่สำคัญ คือ ร่นเวลาเตรียมการจาก ๑๐ปีลงมา และให้มีการปฏิวัติเร็วที่สุด โดยกำหนดในต้นเดือนเมษายน ร.ศ.๑๓๑ (พ.ศ.๒๔๕๕) ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับจากการซ้อมรบเสือป่าที่นครปฐม  ให้สมาชิกหาสมาชิกใหม่ให้เร็วที่สุด การทำพิธีสาบานตนว่า “เราทุกคนจะต้องซื่อสัตย์สุจริตต่อกันทุกเมื่อ โดยยอมพลีชีวิตเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติไทย มิหวังผลอันมิชอบเพื่อส่วนตัวด้วยประการทั้งปวง” ส่วนรูปแบบการปกครองแบบใหม่มีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ้างว่าจะเป็นลักษณะใดระหว่าง (๑) แบบพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (“ลิมิเต็ดมอนากี”) และจะทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป  (๒) แบบสาธารณรัฐ (“รีปับลิค”) แล้วทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี แม้ว่าที่ประชุมจะนิยมแบบที่ ๒ มากกว่า แต่ความเห็นก็ยังไม่ยุติ

ขบวนการ ร.ศ.๑๓๐ หาสมาชิกได้ประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ คน ทั้งหมดเป็นชนชั้นกลางอยู่ในวัยหนุ่ม ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกชั้นนำประมาณ ๑๐๐ คน และ ๑ ใน ๑๐๐ คนนี้คือ นายร้อยเอก หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ) ผู้เข้ามาเป็นสมาชิกและร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๔ ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของขบวนการ ร.ศ.๑๓๐ เพราะในวันดังกล่าวนั้น หลังเลิกประชุมแล้ว นายร้อยเอก หลวงสินาดโยธารักษ์ ก็ได้นำเรื่องแผนการการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปทูลหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ เกษมสันต์ ผู้บังคับบัญชากรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ ที่บางซื่อ และนำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ทรงทราบต่อไปในวันเดียวกันนั้น

ในวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ เสด็จขึ้นรถไฟไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่นครปฐม กราบบังคมทูลเรื่องราวของขบวนการ ร.ศ.๑๓๐ ซึ่งพระองค์มีรับสั่งให้ดำเนินการจับกุมในทันที

ขบวนการ ร.ศ.๑๓๐ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๔ รวม ๑๐๖ คน พร้อมเอกสารเกี่ยวกับการปกครองแบบต่างๆ  ผู้ต้องหาถูกแยกขังเป็น ๓ ประเภท  ประเภทที่ ๑ ขังเดียวไว้ที่กองมหันตโทษ หรือคุกต่างประเทศ มี ๑๐ คน ซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดของขบวนการ  ประเภทที่ ๒ ขังไว้ที่กระทรวงกลาโหม มีจำนวน ๒๐ คนเศษ  ประเภทที่ ๓ ขังหรือกักบริเวณในกรมทหาร  ทั้งทหารบก เรือ และกระทรวงยุติธรรม มี ๖๐ คนเศษ

การสอบสวนมีขึ้นทันทีหลังการจับกุมและใช้เวลา ๑๒ วันก็แล้วเสร็จ  พอถึงวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งคณะกรรมการทหารพิเศษขึ้น ๗ นาย มีนายพลเอก พระยาสีหราชเดโชไชย ผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นประธานพิจารณาพิพากษาโทษพวกก่อการ การพิจารณาใช้เวลาราว ๓ สัปดาห์ จึงแล้วเสร็จในกลางเดือนเมษายน ซึ่งในเวลานั้นได้เริ่มศักราชใหม่เป็น พ.ศ.๒๔๕๕ แล้ว โดยลงความเห็นว่า พวกก่อการกบฏมีความผิดฐานคิดประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และฐานคิดกบฏในพระราชอาณาจักร จึงได้กำหนดโทษไว้เป็น ๕ ชั้น คือ ชั้นที่ ๑ ให้ลงโทษประหารชีวิต ๓ นาย  ชั้นที่ ๒ จำคุกตลอดชีวิต ๒๐ นาย  ชั้นที่ ๓ จำคุก ๒๐ ปี ๓๒ นาย  ชั้นที่ ๔ จำคุก ๑๕ ปี ๖ นาย  ชั้นที่ ๕ จำคุก ๑๒ ปี ๓๐ นาย  รวมแล้วมีผู้ถูกลงโทษ ๙๑ นาย (ภายหลังมีผู้ถูกลงโทษเพิ่มอีก ๑ นาย รวมเป็น ๙๒ นาย)

อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยว่า “ความผิดของพวกเหล่านี้มีข้อสำคัญที่จะกระทำร้ายต่อตัวเรา เราไม่ได้มีจิตพยาบาทอาฆาตมาดร้ายต่อพวกนี้” จึงโปรดเกล้าฯ ให้ลดโทษลงบางส่วน เป็น (๑) จำคุกตลอดชีวิต ๓ นาย คือ นายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์  นายร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง  นายร้อยตรี เจือ ศิลาอาสน์  (๒) คำคุก ๒๐ ปี ๒๐ นาย  (๓) ที่เหลือให้รอลงอาญาไว้ และ “อย่าเพ่อให้ออกจากตำแหน่งยศ”  ดังนั้น ผู้ที่ถูกลงโทษจริงๆ จึงมีจำนวน ๒๓ คน ซึ่งต้องถูกถอดยศบรรดาศักดิ์ตามระเบียบด้วย และต่อมาอีก ๔ เดือน ได้มีการฟ้องบุคคลที่เคยได้รับพระราชอภัยโทษและรอการลงอาญาจำนวน ๒ คน ขึ้นมาใหม่ที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์ ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยถูกตัดสินจำคุกคนละ ๒๐ ปี คือ นายร้อยตรี หรี่ บุญสำราญ และนายร้อยตรี เปลี่ยน ไชยมังคละ  ผู้ก่อการกบฏ ร.ศ.๑๓๐ ถูกจำคุกตั้งแต่ต้น พ.ศ.๒๔๕๕ จนถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๗ รวมเวลา ๑๒ ปีเศษ ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชสมบัติครบ ๑๕ ปี  โดยมีผู้เสียชีวิตระหว่างคุมขังไปก่อน ๒ นาย จึงมีผู้ถูกปลดปล่อยเพียง ๒๑ นาย

เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จใน พ.ศ.๒๔๗๕ ผู้นำของคณะราษฎรได้กล่าวกับคณะผู้ก่อการ ร.ศ.๑๓๐ ว่า “ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม” ซึ่งเท่ากับเป็นการให้เกียรติคณะผู้ก่อการ ร.ศ.๑๓๐ ว่าเป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้นำในการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมา ใน พ.ศ.๒๔๗๖ รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยได้ออกพระราชบัญญัติลบล้างมลทินคณะผู้ก่อการ ร.ศ.๑๓๐ พร้อมกับคืนบรรดาศักดิ์ให้ด้วย



ที่มา - กบฏ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔)สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.562 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 27 มีนาคม 2567 13:06:35