[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 21:45:25 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กบฏวังหลวง (พ.ศ.๒๔๙๒)  (อ่าน 191 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 19 เมษายน 2566 20:22:41 »




กบฏวังหลวง (พ.ศ.๒๔๙๒)

กบฏวังหลวง หรือที่นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะผู้ก่อการครั้งนี้เรียกว่า “ขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒” เป็นความพยายามของนายปรีดี พนมยงค์ กับคณะที่จะฟื้นอำนาจการปกครองของฝ่ายพลเรือน ในระบอบประชาธิปไตยจากรัฐบาลฝ่ายทหารซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีคณะรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นฝ่ายสนับสนุน หลังจากมีการสู้รบกัน ๒ วันคือ วันที่ ๒๖-๒๗ กุมภาพันธ์ รัฐบาลก็สามารถปราบปรามฝ่ายผู้ก่อการลงได้  นายปรีดี พนมยงค์ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และไม่มีโอกาสกลับประเทศไทยอีกเลยจนสิ้นชีวิต   เนื่องจากคณะผู้ก่อการยึดพระบรมมหาราชวังเป็นกองบัญชาการ จึงมักเรียกเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้ว่า “กบฏวังหลวง”

ความขัดแย้งระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับคณะรัฐบาลเกิดขึ้นนับตั้งแต่บุคคลคณะหนึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารบกใช้ชื่อว่า “คณะรัฐประหาร” ได้ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลในสมัยที่พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ แล้วบุกเข้าทำเนียบท่าช้าง ถนนพระอาทิตย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นบ้านพักรับรองของทางราชมาตั้งแต่สมัยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจับตัวนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ผู้สนับสนุนรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่นายปรีดี พนมยงค์หลบหนีได้ แล้วไปพักอยู่ที่กองพันนาวิกโยธิน สัตหีบ ก่อนจะเดินทางไปสิงคโปร์

ระหว่างที่นายปรีดี พนมยงค์พำนักอยู่นอกประเทศ ในเมืองไทยได้มีการเคลื่อนไหวของนักการเมืองบางกลุ่ม ทหารเรือส่วนใหญ่ และทหารบกส่วนหนึ่ง ที่ไม่พอใจคณะรัฐประหารว่า ใช้อิทธิพลแทรกแซงทางการเมืองการปกครอง กลุ่มแรกที่ก่อการแข็งข้อต่อรัฐบาลจอมพล ป.  พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหาร ซึ่งต่อมาเรียกว่า “กบฏนายพลหรือกบฏเสนาธิการ” คือ นายทหารฝ่ายเสนาธิการในกองทัพบกที่มีแนวคิดแบบทหารอาชีพ ไม่ต้องการให้ทหารประจำการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง คณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการวางแผนที่เข้ายึดอำนาจในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๑ แต่รัฐบาลล่วงรู้ จึงเข้าจับกุมบุคคลสำคัญได้ก่อนลงมือดำเนินงานเพียง ๑ วัน

ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๑ นายปรีดี พนมยงค์ เดินทางออกจากสิงคโปร์ และย้ายไปพักอยู่ที่เมืองกว่างโจว (กวางตุ้ง) มณฑลกว่างตง ประเทศจีน  ณ ทีนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการเตรียมการเดินทางกลับเมืองไทยของนายปรีดี พนมยงค์  เมื่อเรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช พี่ชายของเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ผู้สนิทสนมกับนายปรีดี พนมยงค์ บันทึกไว้ว่า มีวัตถุประสงค์ที่จะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.๒๔๘๙ โดยวางแผนดำเนินงานร่วมกับทหารเรือบางคนที่เป็นฝ่ายคณะราษฎร อดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทยที่คุ้ยเคยสนิทสนมกับนายปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งนักการเมือง อดีตเสรีไทยบางคนตามภาคต่างๆ ด้วย

เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๒ นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วยเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ได้เดินทางทางเรือออกจากเมืองกว่างโจวเข้าเขตประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ แล้วทอดสมออยู่นอกเขตเกาะเสม็ด  หลังจากนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งเรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช ไปรับพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ นายทหารนอกประจำการ อดีตเสรีไทย มาพบนายปรีดี พนมยงค์ บนเรือเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ เพื่อร่วมกันวางแผนการดำเนินงาน เพราะเป็นบุคคลที่พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ผู้บังคับการมณฑลทหารเรือที่ ๒ และรักษาการผู้บังคับกองพันนาวิกโยธิน สัตหีบ ให้ความเคารพนับถือ ซึ่งคณะผู้ก่อการหวังที่จะได้กำลังพลและอาวุธจากหน่วยงานนี้เป็นหลักในการดำเนินงาน ส่วนที่กรุงเทพฯ ได้ติดต่อกับนาวาเอก ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับกองกองสัญญาณทหารเรือ ที่ตำบลศาลาแดง เพื่อเป็นฐานกำลังสนับสนุน ทั้งพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ  พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ  และนาวาเอก ชลี สินธุโสภณ ล้วนเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือที่เคยร่วมงานกับนายปรีดี พนมยงค์ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕

นอกจากขอความช่วยเหลือจากทหารเรือแล้ว ทางด้านพลเรือน นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายให้นายทวี ตะเวทิกุล ไปรวบรวมกำลังจากพวกอดีตเสรีไทยอีกทางหนึ่ง  นายทวี ตะเวทิกุล ได้นัดพบกับพรรคพวกที่โรงแรมสิริวัฒนา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ โดยติดต่อให้นายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ เป็นฝ่ายจัดหาอาวุธและกำลังคน ซึ่งสามารถรวบรวมกำลังจากอดีตเสรีไทยได้ ๑๔ คน พร้อมทั้งอาวุธปืนพกสั้นและปืนยาว ๑๕-๑๖ กระบอก ลูกกระสุนราว ๒๐๐ นัด  อย่างไรก็ตาม นายทวี ตะเวทิกุล ก็ได้แสดงความไม่มั่นใจในกำลังด้านนี้นัก  นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตัดสินใจขนอาวุธและวิทยุต่างๆ ที่นำมาด้วยขึ้นบก และได้มอบอาวุธส่วนใหญ่ให้แก่พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ทหารเรือที่จะร่วมทำการ โดยตัดสินใจที่จะเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.  พิบูลสงคราม ในวันเสาร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒

คณะผู้ก่อการได้นัดหมายกับบรรดาอดีตสมาชิกเสรีไทยที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ให้ไปพร้อมกันในวันเสาร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๙.๐๐ น. ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยกำหนดรูปแบบการปฏิบัติการ คือ ใช้แผนการยึดอำนาจแบบใต้ดิน ปฏิบัติการแบบ “สายฟ้าแลบ” ยึดสถานที่สำคัญ และจับกุมตัวบุคคลสำคัญของทางราชการ ปิดล้อมกองพันต่างๆ และทำการปลดอาวุธ ล้มรัฐบาลจอมพล ป.  พิบูลสงคราม และประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๔๙๒ แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๔๗๕ กลับมาใช้ ซึ่งมิได้ห้ามข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมือง แทนที่จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๔๘๙ ตามที่อ้างไว้  นอกจากนี้ ได้กำหนดสถานที่สำคัญที่จะต้องเข้ายึด คือ วังสวนกุหลาบ วังปารุสกวัน และพระที่นั่งอนันตสมาคม  ส่วนที่มั่นและที่ตั้งของกองพันทหารราบทุกกองพัน ก็ให้เข้ายึดและปลดอาวุธ พร้อมกันนั้นให้เข้ายึดที่ตั้งของสถานีตำรวจ ที่สำคัญคือ กองตำรวจสันติบาล กองโรงเรียนตำรวจ และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ท้ายที่สุด ให้เข้ายึดและควบคุมสถานที่สำคัญคือ กรมโฆษณาการ กรมไปรษณีย์โทรเลข ที่ทำการประปา ที่ทำการไฟฟ้าวัดเลียบ ที่ทำการโทรศัพท์กลาง กระทรวงการคลัง (ในพระบรมมหาราชวัง) สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีปากน้ำ สถานีมักกะสัน สถานีคลองสาน และสะพานพระพุทธยอดฟ้า

ตอนค่ำของวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ นายปรีดี พนมยงค์ และเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปอยู่ที่บ้านถนนสีลมก่อน วันต่อมา สิบตำรวจตรี สิงห์โต ไทรย้อย คนสนิทของนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับคำสั่งจากพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ให้ขนอาวุธขึ้นรถยนต์เพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมด้วยพลทหารเรือจำนวน ๘ นาย อาวุธครบมือ ไปที่บ้านพักใกล้วัดชิโนรสาราม ฝั่งธนบุรี เพื่อเตรียมตัวลงเรือตามแผนต่อไป

ทางฝ่ายรัฐบาลก็คงจะล่วงรู้ความเคลื่อนไหวของฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มผู้สนับสนุน ดังที่มีการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ของจอมพล ป.  พิบูลสงคราม ในวันเดียวกับที่นายปรีดี พนมยงค์ เดินทางกลับเข้ามาถึงประเทศไทย การส่งบทความของจอมพล ป.  พิบูลสงคราม ไปออกอากาศทางสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการในหัวข้อเรื่องที่เกี่ยวกับการก่อจลาจล ตลอดจนการฝึกซ้อมรบของกองทัพบก ที่เหมือนว่าจะเป็นการตอบโต้ปฏิกิริยาของฝ่ายทหารเรือ และเป็นการปรามอยู่ในที  เมื่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองและทางการทหารเริ่มตึงเครียดขึ้น จอมพล ป.  พิบูลสงคราม จึงเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อควบคุมความเคลื่อนไหวของนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์

ขณะที่คณะรัฐมนตรีกำลังประชุมกันอย่างเคร่งเครียดที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ยังไม่ทันได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน พันเอก ศิลป์ รัตนพิบูลชัย เจ้ากรมการรักษาดินแดนได้เข้ามาในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี รายงานให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทราบว่าได้มีกลุ่มนายทหารชั้นผู้น้อยนำรถถังออกมา ๖ คัน พร้อมด้วยอาวุธครบมือ เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล แต่พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ ทราบความเคลื่อนไหวนี้เสียก่อน จึงได้ออกสกัดยับยั้งให้ทหารเหล่านั้นกลับเข้ากรมกอง แล้วแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนพลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ ได้ออกสืบสวนพร้อมกับทำการกวาดล้าง โดยเข้าจับกุม พันเอก ทวน วิชัยขัทคะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ที่บ้านพัก ร.พัน ๙ พร้อมด้วยร้อยเอก สุนทร ทรัพย์ทวี  เรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช และนายทหารอีกหลายคน เมื่อสอบสวนก็ยิ่งทราบข่าวลึกลงไปอีกว่า ไม่นานจะมีการก่อการปฏิวัติใหญ่เกิดขึ้น และคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้อาวุธห้ำหั่นกัน ทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดหนัก ทหาร ตำรวจ ตั้งด่านสกัดทันที มีการปิดถนนสำคัญหลายสายในกรุงเทพฯ เช่น ถนนสายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าถึงทำเนียบรัฐบาล  จากสะพานควายถึงบางซื่อ และบริเวณกระทรวงกลาโหม มีการโยกย้ายเคลื่อนกำลังรถถัง สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก

จนกระทั่งเวลา ๒๐.๑๕ น. ของวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ รัฐบาลจอมพล ป.  พิบูลสงคราม จึงประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการ  หลังจากนั้น รัฐบาลก็สั่งให้มีการเตรียมพร้อมทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ เพื่อทำการปราบปรามจลาจล โดยเรียกแผนการนี้ว่า “แผนเตรียมการและการใช้กำลังเพื่อรักษาความสงบภายใน” หรือเรียกกันเป็นรหัสลับว่า “แผนช้างดำ-ช้างน้ำ” โดยมีข้อตกลงระหว่างกองทัพบกกับกองทัพเรือว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้น ให้แต่ละกองทัพแบ่งเขตกันทำการปราบปราม และปฏิบัติงานร่วมกันในเขตพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละกองทัพ

เมื่อเวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. ของวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ สิบตำรวจตรี สิงห์โต ไทรย้อย และพวกได้ขนอาวุธจากบ้านพักใกล้วัดชิโนรสาราม ลงเรือจ้างจำนวน ๒ ลำ ไปจอดที่บริเวณหน้าพระราชวังเดิม ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ เพื่อรอเวลาปฏิบัติการตามแผน ต่อมาในเย็นวันเดียวกันนั้น ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วยพวกเสรีไทยประมาณ ๖๐ คน ได้รวบรวมอาวุธที่สะสมไว้เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยมีแผนบุกยึดกระทรวงการคลังซึ่งตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ไว้เป็นกองบัญชาการชั่วคราว และยังได้เตรียมกำลังที่กองสัญญาณทหารเรือ ตำบลศาลาแดง เข้าร่วมสนับสนุนด้านอาวุธและกำลังพล รวมทั้งระดมกำลังไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ ร.พัน ๑ เพื่อตรึงกำลัง ร.พัน ๑ มิให้เคลื่อนกำลังออกมาขัดขวางการปฏิบัติงานของฝ่ายผู้ก่อการ

กลุ่มอดีตเสรีไทยในชุดเครื่องแบบทหารสื่อสารตรงเข้าไปยึดสถานีวิทยุพญาไท บังคับเจ้าหน้าที่กระจายข่าวออกแถลงการณ์ว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ปลดจอมพล ป.  พิบูลสงคราม ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและปลดคณะรัฐมนตรีทุกคน และประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีนายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี คณะผู้ก่อการได้ตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย คือ พลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นแม่ทัพใหญ่  พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต เป็นรองแม่ทัพใหญ่  พลตรี เนตร เขมะโยธิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก  พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ เป็นผู้รักษาความสงบทั่วประเทศและอธิบดีกรมตำรวจ  พันตำรวจเอก บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข เป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล  นาวาโท ประดิษฐ พูลเกศ ผู้บังคับการกองนาวิกโยธิน สัตหีบ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดชลบุรี    คณะผู้ก่อการได้สั่งปลดบุคคลออกจากตำแหน่ง ได้แก่ พลโท ผิน ชุณหะวัน ผู้บัญชาการทหารบก  พลโท กาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบก  พลตำรวจโท หลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ) อธิบดีกรมตำรวจ  พลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล  รวมทั้งสั่งย้ายหลวงอุตรดิตถาภิบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดชลบุรี เข้ามาประจำอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย

หลังจากออกแถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว คณะผู้ก่อการหน่วยต่างๆ ก็ลงมือปฏิบัติการทันที ดังนี้

ด้านกรมการรักษาดินแดน คณะผู้ก่อการได้ส่งเรือเอก ล้วน ศรีสุขนันท์ พร้อมกำลัง ๒๐ คน ไปขอพบพันเอก จำรัส จำรัสโรมรัน รองเจ้ากรมการรักษาดินแดน (ซึ่งขณะนั้นอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) แจ้งว่า ได้รับมอบหมายจากพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ อดีตเจ้ากรมสารวัตรทหารเรือให้มาขอความร่วมมือจากทหารในกรมการรักษาดินแดน แต่ขณะที่เจรจากัน ทหารในกรมการรักษาดินแดนได้รับคำสั่งให้พร้อมรบได้ทันที จึงไม่ยอมร่วมมือด้วย ทั้ง ๒ ฝ่ายจึงตั้งกองกำลังประจันหน้ากันอยู่

ด้านพระบรมมหาราชวัง เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ได้นำทหารเรือและอดีตเสรีไทยส่วนหนึ่งพร้อมด้วยอาวุธออกจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เข้าไปตั้งมั่นในเขตพระบรมมหาราชวังเมื่อเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น.

ด้านถนนวิทยุจนถึงสี่แยกราชประสงค์ กำลังจากกองสัญญาณทหารเรือเข้ายึดไว้ได้ตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐ น. ได้มีการสู้รบกันระหว่างทหารบกกับทหารเรือ ในระยะแรกทหารเรือเป็นฝ่ายได้เปรียบ สามารถยึดประตูน้ำ มักกะสัน และสะพานราชเทวีได้ ส่วนทหารบกถอยไปตั้งมั่นแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สนามเป้า และพญาไท

ส่วนบริเวณอื่นๆ ฝ่ายผู้ก่อการได้นำทหารเข้ายึดที่ทำการโทรศัพท์กลางที่วัดเลียบ ยุติการใช้โทรศัพท์ทั่วกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายรัฐบาลติดต่อสื่อสารกันได้ นอกจากนี้ยังเข้ายึดสถานีตำรวจปากน้ำ มิให้ฝ่ายตำรวจเข้าขัดขวางการเคลื่อนย้ายกำลังของฝ่ายทหารเรือจากสัตหีบที่จะเข้ามายังกรุงเทพฯ

ทางฝ่ายทหารเรือที่กองสัญญาณทหารเรือ นาวาเอก ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับกองกองสัญญาณทหารเรือ ได้อ่านประกาศทางวิทยุ ให้ทหารเรือจากสัตหีบและหัวหินเคลื่อนกำลังเข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงานที่กรุงเทพฯ แต่ทหารเรือที่สัตหีบเดินทางเข้ามาช้ามากเพราะติดที่ท่าข้ามบางปะกง นอกจากนี้ ทหารเรือส่วนใหญ่ที่กำลังเดินทางเข้ามายังเกิดความลังเลใจ เพราะไม่ได้รับคำสั่งโดยตรงจากพลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ จึงไม่แน่ใจว่านายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่จะสนับสนุนการปฏิบัติงานครั้งนี้หรือไม่ ทางฝ่ายผู้ก่อการเองก็ไม่สามารถเชิญผู้บัญชาการทหารเรือให้เข้าไปอยู่ร่วมในกองบัญชาการ และกล่าวคำสนับสนุนคณะผู้ก่อการโดยตรงได้

ทางฝ่ายรัฐบาล เมื่อเวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. เศษ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งพลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ เป็นผู้อำนวยการปราบปรามจลาจล โดยเตรียมการกวาดล้างไว้อย่างรัดกุม ดังนี้

          ๑. กองบัญชาการตำรวจนครบาลทุกแห่งให้จัดกำลังตำรวจพร้อมกับอาวุธเต็มในภาวะฉุกเฉิน ตรวจค้นยานพาหนะและประชาชนตามถนนทั่วไป
          ๒. ห้ามไม่ให้ยวดยานทุกชนิดและประชาชนผ่านสถานีตำรวจทุกสถานีในพระนคร สารวัตรสถานีตำรวจทุกแห่งได้รับคำสั่งให้ไปรับคำสั่งปฏิบัติการปราบปรามจลาจลโดยตรงที่กองบัญชาการ
          ๓. จัดกำลังตรวจล้อมรอบกำแพงคุกลหุโทษเพื่อป้องกันการทำลายคุก
          ๔. รถยนต์สองแถวและรถเมล์ประจำทางทั่วพระนครถูกระดมมาเป็นกำลังในการปราบปราม เฉพาะในคืนนั้นมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๗๐๐ คัน
          ๕. พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้อำนวยการปราบปรามคณะผู้ก่อการ มีคำสั่งให้ “ต้านทาน ไม่มีการสงบศึก”
          ๖. ฝ่ายรัฐบาลได้ทูลเชิญประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ไปประทับ ณ ที่แห่งหนึ่ง

หลังจากนั้นก็ได้ลงมือปราบปรามคณะผู้ก่อการซึ่งขณะนั้นถูกเรียกว่า ฝ่ายกบฏ อย่างเฉียบขาด เวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. ทหารฝ่ายรัฐบาลออกกวาดล้างผู้ก่อการกบฏ กองทหาร ร.พัน ๑ มหาดเล็ก เข้าสนับสนุนกองทหาร ร.พัน ๑ ตรงข้ามวัดพระเชตุพนฯ  กองทหาร ร.พัน ๒ เข้ายึดพื้นที่กรุงเทพฯ และตามแนวรถไฟสายอรัญประเทศ ต่อมามีคำสั่งให้ย้ายหน่วยนี้กลับเพราะไม่มีทหารเรือตั้งแนวต้านทาน จากนั้นให้กรมทหารราบที่ ๑ ประมาณ ๓ กองพัน เข้ายึดสะพานเฉลิมโลกและถนนเพชรบุรี เพื่อสกัดกั้นทหารเรือไม่ให้เข้าพระนครได้

นอกจากนี้ ฝ่ายรัฐบาลยังวางกำลังทหารที่สะพานยมราช สะพานขาว ตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงสะพานเทเวศร์ ในเขตบางซื่อหน่วยทหารบกได้วางกำลังตามจุดต่างๆ ส่วนบริเวณรอบพระบรมมหาราชวัง ขณะที่เกิดเรื่องใหม่ๆ ทางรัฐบาลยังมิได้ส่งทหารเข้าไป พวกกบฏมุ่งหน้าจะเข้ายึดกรมการรักษาดินแดน แต่ได้รับการต้านทานจากพันเอก จำรัส จำรัสโรมรัน รองเจ้ากรมการรักษาดินแดน มีการยิงกันประปราย ขณะที่ทหารฝ่ายรัฐบาลเสริมกำลังเข้ามา ฝ่ายกบฏกลับมิได้รับกำลังสนับสนุนดังที่คาดไว้ และยังต้องรักษาที่มั่นในพระบรมมหาราชวังไว้ให้ได้อีกด้วย ฝ่ายกบฏจึงเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ ใช้วิธีการเจรจาเพื่อให้พันเอก จำรัส จำรัสโรมรัน ร่วมมือด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธ ทั้งยื่นคำขาดให้พวกกบฏยอมแพ้ถอยออกจากพะบรมมหาราชวัง มิฉะนั้นทหารฝ่ายรัฐบาลจะทำการกวาดล้างอย่างรุนแรง พวกกบฏจึงถอนกำลังกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง ทหารฝ่ายรัฐบาลได้วางกำลังไว้ที่กรมการรักษาดินแดน กระทรวงกลาโหม ศาลหลักเมือง และแนวต้นมะขามริมสนามหลวง แต่ยังไม่ตัดสินใจที่จะเข้าบุก เพราะเกรงว่าพระบรมมหาราชวังส่วนอื่นๆ จะได้รับความเสียหาย

ทางด้านพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นกองบัญชาการของฝ่ายกบฏ นายปรีดี พนมยงค์  นายทวี ตะเวทิกุล  พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต และคณะผู้ติดตามอีกประมาณ ๔๐ คน ได้เข้าไปในพระบรมมหาราชวังเมื่อเวลาประมาณ ๒๔.๐๐ น. ของวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ รัฐบาลได้เปิดการเจรจา เพื่อให้ฝ่ายกบฏวางอาวุธและถอนกำลังออกไปจากพระบรมมหาราชวัง แต่การเจรจาล้มเหลว  พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงตัดสินใจใช้กำลังเข้าบุก เพราะเกรงว่าหากปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไป ฝ่ายทหารเรือที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ อาจจะส่งกำลังเข้าช่วยจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้ จึงมีคำสั่งให้พันโท ถนอม กิตติขจร ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๑ นำรถถังบุกเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี  ส่วนทหารสังกัด ร.พัน ๑ สวนเจ้าเชต ให้เคลื่อนเข้ายึดวังสราญรมย์ และล้อมพระบรมมหาราชวังไว้อีกทางหนึ่ง เตรียมบุกเข้าทางประตูสวัสดิโสภา รุ่งเช้าของวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ทางทหารฝ่ายรัฐบาลบุกเข้าทุกทางตามที่วางแผนกันไว้ จุดที่หนักที่สุดเป็นด้านประตูวิเศษไชยศรี จนเคลื่อนกำลังเข้าไปในพระบรมมหาราชวังได้ เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช จึงตัดสินใจนำนายปรีดี พนมยงค์ ออกจากพระบรมมหาราชวังไปทางท่าราชวรดิฐ เมื่อเวลาประมาณ ๐๘.๐๐ น. โดยมีนายทหารเรือพาไปยังกองบังคับการเรือรบ ทางฝั่งธนบุรี ก่อนที่จะหลบภัยไปสถานที่อื่นในตอนดึกของวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์  เมื่อปรากฏแน่ชัดว่า ความพยายามในการก่อการครั้งนี้ไม่เป็นผลสำเร็จ พลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือจึงติดต่อขอเจรจากับรัฐบาลให้ระงับการต่อสู้ระหว่างทหารเรือกับทหารบกเพื่อมิให้เกิดการนองเลือด และให้ทั้ง ๒ ฝ่ายถอนกำลังกลับเข้าที่ตั้งในทันที รัฐบาลยอมรับข้อเสนอดังกล่าว การกบฏจึงสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ เมื่อเวลา ๑๐.๑๕ น. มีทหารเสียชีวิต ๗ นาย บาดเจ็บ ๒๒ นาย และประชาชนเสียชีวิต ๓ คน บาดเจ็บ ๑๔ คน

เหตุการณ์ครั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้หลบอยู่ในประเทศไทยประมาณ ๕ เดือนเศษ จากนั้นก็ได้ลอบเดินทางออกนอกประเทศไปลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลา ๒๑ ปี แล้วไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศสอีก ๑๓ จนถึงแก่อสัญกรรมที่บ้านพักชานกรุงปารีสเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๖

ทางฝ่ายรัฐบาล เมื่อสามารถปราบปรามความไม่สงบลงได้แล้ว ก็เร่งดำเนินการจับกุมผู้ต้องสงสัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตเสรีไทยที่เคยร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับนายปรีดี พนมยงค์ เช่น นายวิจิตร ลุลิตานนท์  นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์  นายถวิล อุดล  นายจำลอง ดาวเรือง  นายทองเปลว ชลภูมิ  นายชิต เวชประสิทธิ์  ต่อมาได้ออกหมายจับกลุ่มบุคคลผู้วางแผนก่อการอีก ๑๘ คนซึ่งหลบหนีไปได้ ที่สำคัญเช่น นายปรีดี พนมยงค์  พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ  พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต  นายทวี ตะเวทิกุล  นายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์  เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช

ในการจับกุมบุคคลที่พัวพันกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ นั้น มีหลายคนที่ต้องจบชีวิตลงโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม คือ พันตรี โผน อินทรทัต ถูกตำรวจสังหารเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์  พันตำรวจเอก บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ถูกสังหารเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์  และอดีตรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายเสรีไทย ๔ คน ได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์  นายถวิล อุดล  นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ถูกยิงตายระหว่างกิโลเมตรที่ ๑๔-๑๕ ถนนพหลโยธิน เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ขณะที่ตำรวจนำตัวขึ้นรถยนต์ไปฝากขังที่สถานีตำรวจบางเขน โดยตำรวจออกข่าวว่ามีโจรมลายูมาชิงตัวผู้ต้องหาระหว่างทาง ส่วนนายทวี ตะเวทิกุล ก็ถูกตำรวจสังหารเมื่อถูกจับตัวได้ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ในวันที่ ๓๑ มีนาคม  หลังจากนั้น ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๒ ได้มีผู้ถูกฟ้องขึ้นศาลรวม ๒๕ คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตเสรีไทยที่เข้าปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๖-๒๗ กุมภาพันธ์

ส่วนกลุ่มซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อความไม่สงบที่เป็นฝ่ายทหารเรือนั้น รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการประนีประนอม ไม่ลงโทษรุนแรงดังเช่นที่ทำกับฝ่ายพลเรือน  สภากลาโหมได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงของสาเหตุที่ปะทะกันด้วยอาวุธระหว่างกองทัพเรือกับกองทัพบกและตำรวจ แม้ว่าคำแก้ตัวและข้ออ้างของฝ่ายทหารเรือจะไม่สามารถให้ความกระจ่างเพียงพอในกรณีที่มีการใช้กำลังปะทะกับทหารบกและตำรวจ แต่เนื่องจากทางฝ่ายรัฐบาลต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับกองทัพเรือ ผลการสอบสวนจึงไม่อาจชี้ขาดว่า ทหารเรือมีความผิด เพียงแต่มีมติให้กองทัพแห่งชาติร่วมมืออย่างใกล้ชิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีคำสั่งย้ายพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ผู้บังคับการมณฑลทหารเรือที่ ๒ สัตหีบ ไปสำรองราชการกรมเสนาธิการทหารเรือ

ความไม่ลงรอยกันระหว่างกองทัพบกกับกองทัพเรือ และความไม่พึงพอใจของทหารเรือส่วนหนึ่งที่มีต่อรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหารก็มิได้จบลง กลับมีความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจกันในเรื่องต่างๆ มากขึ้น จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรงยิ่งกว่าคือ “กบฏแมนฮัตตัน” เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔.



ที่มา - กบฏวังหลวง (พ.ศ.๒๔๙๒) สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.617 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 05 เมษายน 2567 13:26:04