[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 17:36:32 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กบฏสันติภาพ (พ.ศ.๒๔๙๕)  (อ่าน 269 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 19 เมษายน 2566 20:29:07 »



ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยานายปรีดี พนมยงค์
เดินทางมารับการพิจารณาคดีกบฏสันติภาพ


กบฏสันติภาพ (พ.ศ.๒๔๙๕)

กบฏสันติภาพ เป็นชื่อเรียกคณะบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่รัฐบาลสมัยจอมพล ป.  พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในระยะหลัง (พ.ศ.๒๔๙๑-๒๕๐๐) ตั้งข้อหากบฏภายในราชอาณาจักร และได้ลงมือกวาดล้างจับกุมเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ จนถึงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๕ มีผู้ถูกจับกุมนับร้อยคน ในข้อหาว่าจะล้มล้างรัฐบาลและเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

กบฏสันติภาพประกอบด้วย ๔ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มขบวนการสันติภาพ กลุ่มขบวนการกู้ชาติ กลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และกลุ่มชาวนาบ้านคูซอด จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งทางการตำรวจได้นำมาฟ้องร่วมกันและต้องข้อหาในชั้นแรกว่า เป็นการยุยงก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง ต่อมาในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ หลังการกวาดล้างได้ ๓ วัน รัฐบาลก็เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และได้มีการพิจารณา ๓ วาระรวด ออกมาเป็นกฎหมายในวันนั้นด้วยมติ ๑๑๑ ต่อ ๒ เสียง จากนั้น รัฐบาลก็ได้ตั้งข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร และเป็นคอมมิวนิสต์อันเป็นภัยร้ายแรงของชาติ

กลุ่มใหญ่ที่สุดที่ถูกจับกุม คือ ขบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของปัญญาชนที่ต่อต้านการที่รัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.  พิบูลสงคราม ลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๓ และแสดงเจตนาที่จะส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงครามเกาหลีตามมติของสหประชาชาติ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไทยมีความเห็นในทางเดียวกับสหรัฐอเมริกาว่าสงครามเกาหลีเกิดขึ้นเพราะการรุกรานของเกาหลีเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์ต่อเกาหลีใต้ที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย  ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงต้องเข้าแทรกแซงเพื่อป้องกันการรุกราน จอมพล ป.  พิบูลสงคราม ได้แถลงแผนการส่งทหารไปเกาหลีว่า “ต้องการให้เป็นไปเช่นเดียวกับสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่ส่งกองทัพไปช่วยพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และนำชื่อเสียงมาให้กับประเทศไทย”

กลุ่มปัญญาชนฝ่ายต่อต้านสงครามให้ความเห็นว่า สงครามเกาหลีเป็นเรื่องภายใน การที่สหรัฐอเมริกาส่งทหารเข้าไป เป็นสงครามรุกรานและเป็นการแผ่อำนาจ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่ไทยจะส่งทหารไปช่วยสหรัฐอเมริกาก่อการรุกราน

รัฐบาลจอมพล ป.  พิบูลสงคราม  ยังคงดำเนินนโยบายส่งทหารไปรบที่เกาหลี   เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๓ รัฐบาลไทยได้แถลงว่า จะส่งทหารจำนวน ๔,๐๐๐ คนไปร่วมรบในสงครามเกาหลี ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในเอเชียและเป็นประเทศที่ ๒ ต่อจากสหรัฐอเมริกา และต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ก็ได้ให้ข้าว ๔๐,๐๐๐ ตันแก่เกาหลีใต้ หนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ที่มีนายเจริญ สืบแสง (ขุนเจริญวรเวชช์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี เป็นเจ้าของ  และนายเพทาย โชตินุชิต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี เป็นบรรณาธิการ จึงเป็นแนวหน้าสุดที่เปิดการรณรงค์เพื่อสันติภาพและคัดค้านสงคราม

การเคลื่อนไหวสันติภาพก้าวรุดหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็น “คณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย” ขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๔ โดยมีนายเจริญ สืบแสง เป็นประธาน พระภิกษุธรรมทัต แห่งวัดสุทัศนเทพวราราม และนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นรองประธาน จากนั้นก็ได้ทำหนังสือ ๓ ฉบับ ลงวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๔ ถึงประชาชนชาวไทย เรียกร้องให้ร่วมการสนับสนุนสันติภาพที่จะทำให้มหาอำนาจทั้ง ๕ ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และสาธารณรัฐจีน ยุติความขัดแย้ง และทำ “กติกาสันติภาพ” ต่อกัน  นอกจานี้ ยังทำสารถึงสมาชิกรัฐสภาฉบับหนึ่งและถึงนายกรัฐมนตรีอีกฉบับหนึ่งด้วย

หลังจากนั้น การเคลื่อนไหวสันติภาพก็ได้แผ่ขยายออกไป โดยมีการประสานกับการเคลื่อนไหวสันติภาพนานาชาติ เช่น ให้นางสาวนิตย์ พงษ์ดาบเพ็ชร ไปประชุมสหภาพนักศึกษานานาชาติที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ระหว่างวันที่ ๓๑ สิงหาคม ถึงวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๔ และให้นายสงวน ตุลารักษ์ และนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เป็นตัวแทนไปประชุมกรรมการสันติภาพที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ ๓-๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๕  นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งสาขาขององค์การสันติภาพตามจังหวัดต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างประชามติ เรียกร้องสันติภาพ ด้วยการเคลื่อนไหวให้ประชาชนมาร่วมกันลงชื่อคัดค้านสงคราม และเสนอให้มีการแก้ปัญหาระหว่างประเทศโดยสันติวิธี

วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๕ ขบวนการสันติภาพได้จัดการประชุมผู้แทนสันติภาพทั่วประเทศขึ้นที่โรงแรมสุริยานนท์ พระนคร มีผู้แทนเข้าร่วม ๗๐ คน  โดยมีวาระที่สำคัญคือ การพิจารณาเตรียมงานประชุมสมัชชาใหญ่สันติภาพแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงปักกิ่ง  ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมการเตรียมงาน ๒๕ คน ที่สำคัญคือ นายเจริญ สืบแสง เป็นประธาน มีรองประธาน ๔ คน ได้แก่ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์  นายสมัคร บุราวาส  นางนิ่มนวล ชลภูมิ  พระมหาดิลก และมี ส.โชติพันธุ์ (สิบโท เริง เมฆไพบูลย์) เป็นเลขานุการ  ส่วนคณะกรรมการได้แก่ นายสุ่น กิจจำนงค์  และนายประคอง มินประพาฬ (ตัวแทนกรรมกร)  นายครอง จันดาวงษ์ (ตัวแทนชาวนา)  พระมหาเลิศ ธมฺมวโร (พระภิกษุ)  นายฟัก ณ สงขลา (ทนายความ)  และตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ เช่น นายปลอบ เศวตะดุล (ตรัง)  นายปั่น แก้วมาตย์ (นครพนม)  นายไสว มาลัยเวช (นครศรีธรรมราช)  นายเพทาย โชตินุชิต (ธนบุรี)  นายแคล้ว นรปติ (ขอนแก่น)  ตัวแทนนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ได้แก่ นายอุทธรณ์ พลกุล  นายสุวัฒน์ วรดิลก  นายฉัตร บุณยศิริชัย  นายระวี พรชัย  ตัวแทนนักศึกษาคือ นายประจวบ อัมพะเศวตร  นายอาทร พุทธิสมบูรณ์

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้นมา ได้เกิดภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงในภาคอีสานเพราะฝนไม่ตกตามฤดูกาล  ดังนั้น คณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย จึงได้ตั้ง “คณะกรรมการสงเคราะห์ประชาชนภาคอีสานผู้อดอยาก” ขึ้น โดยมีนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นประธาน ดำเนินการเผยแพร่ข่าวสารและเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือ โดยใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อ ปรากฏว่าคณะกรรมการสันติภาพได้รับสิ่งของจำนวนมาก รวมเป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท และเป็นเสื้อผ้า ๒๑ กระสอบ ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๕ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ พร้อมด้วยนายอุทธรณ์ พลกุล  นายฉัตร บุณยศิริชัย และคนอื่นๆ ก็ได้เดินทางไปแจกของบรรเทาทุกข์ในภาคอีสาน  ตลอดเวลาที่มีการเคลื่อนไหว  รัฐบาลได้โจมตีว่า การเคลื่อนไหวสันติภาพเป็นเรื่องของคอมมิวนิสต์ และเมื่อกรรมการสันติภาพเดินทางไปภาคอีสาน รัฐบาลก็ตัดสินใจที่จะทำการจับกุม การกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่จึงได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕

ขบวนการกู้ชาติซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเวลาเดียวกับขบวนการสันติภาพ เริ่มก่อตั้งโดยผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์รุ่นหนุ่ม ๒ คน คือ นายสุพจน์ ด่านตระกูล ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์สยามใหม่ และนายสมุทร สุรักขกะ ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์เกียรติศักด์ ทั้ง ๒ คนได้เริ่มคิดเตรียมการที่จะสร้างขบวนการต่อต้านรัฐบาลในราวปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔ การเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาลครั้งแรก คือ การออกใบปลิวต่อต้านรัฐบาลในนามของ “พลพรรคเสรีชนแห่งประเทศไทย” เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๔ โดยแสดงการคัดค้านการยึดอำนาจตนเองของคณะรัฐประหาร  ต่อมานายสุพจน์ ด่านตระกูล และนายสมุทร สุรักขกะ ได้ชักนำ นาวาตรี พร่างเพ็ชร บุณยรัตพันธุ์ ให้มาพบกับนายสุภัทร สุคนธาภิรมย์  บุคคลทั้ง ๔ ได้เริ่มก่อตั้งขบวนการกู้ชาติขึ้น โดยมี นาวาตรี พร่างเพ็ชร บุณยรัตพันธุ์ และนายสุภัทร สุคนธาภิรมย์ เป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ

สาเหตุที่กลุ่มขบวนการกู้ชาติไม่พอใจและต้องการล้มล้างรัฐบาล เพราะเห็นว่ารัฐบาลจอมพล ป.  พิบูลสงคราม เป็นรัฐบาลที่ทุจริต ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชน และมีนโยบายต่างประเทศไม่ถูกต้องที่พาประเทศไปผูกพันกับสหรัฐอเมริกา ขบวนการกู้ชาติมีลักษณะการจัดองค์การที่กระชับและเป็นระบบโดยมีการร่างรัฐธรรมนูญของขบวนการขึ้น และจัดตั้งเป็นองค์การลดหลั่นตามลำดับชั้น  ในการติดต่อกันกำหนดให้ใช้ชื่อ “อภิวัฒน์” แทนชื่อจริงเพื่อความปลอดภัยในด้านเป้าหมาย  รัฐธรรมนูญของขบวนการระบุไว้ว่า “มาตรา ๔ วัตถุประสงค์สำคัญของขบวนการกู้ชาติก็คืองานดำเนินการต่อสู้เพื่อ (ก) ปลดปล่อยประชาชนให้เป็นอิสระ รอดพ้นจากแอกของจักรวรรดินิยม และระบบฟาสซิสต์  (ข) ให้ได้มาซึ่งระบอบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเพื่อความสมบูรณ์พูนสุขร่วมกันของประชาชนชาวไทย”

ในส่วนเป้าหมายที่ระบุว่า “ต้องการให้ได้มาซึ่งระบอบสังคมนิยมนั้น” ต่อมาได้มีการขยายความด้วยการตีพิมพ์บทความเรื่อง “ประชาธิปไตยแผนใหม่” ของเหมา เจ๋อตง ขึ้นแจกจ่ายเพื่อให้สมาชิกได้เข้าใจ และในส่วนที่จะทำให้ขบวนการกู้ชาติได้มาซึ่งอำนาจรัฐนั้นก็คือวิธีการสร้าง “ทหารฝ่ายปฏิวัติ” ขึ้น แล้วยึดอำนาจ  ดังนั้น ขบวนการกู้ชาติจึงต้องมี “การจัดตั้งทางทหาร” นั่นคือความพยายามที่จะขยายอิทธิพลเข้าไปในกองทัพ เพื่อแสวงหาและชักชวนฝ่ายทหารที่มีเป้าหมายและอุดมการณ์ร่วมกันมาเป็นพวก ซึ่งประสบความสำเร็จในการชักชวนจ่าทหารเรือที่ประจำหน่วยทหารเรือสัตหีบเข้าร่วม ๑๔ คน  นอกจากนี้ ยังได้พยายามชักชวนนายทหารระดับสำคัญเข้าร่วม โดยบุคคลที่เป็นเป้าหมายของขบวนการกู้ชาติคือ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ  พลตรี เนตร เขมะโยธิน  และนาวาตรี มนัส จารุภา

ความพยายามในการชักชวนฝ่ายทหารเข้าร่วมทำให้ความลับเริ่มรั่วไหล เพราะเมื่อ จ่าโท ไสว วงษ์หุ่น สมาชิกของขบวนการกู้ชาติ ได้ชักชวนให้ ร้อยตรี สมนึก กาญจนหิรัญ เข้าร่วมขบวนการ และร้อยตรี สมนึก กาญจนหิรัญ ตอบตกลงแล้วได้รายงานเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ทางการตำรวจจึงเริ่มสืบความเคลื่อนไหวของขบวนการกู้ชาติ และได้ส่งนางสาวอุบล มัณฑนจิตร มาเป็นสายลับติดต่อขบวนการกู้ชาติ  ในที่สุดทางการตำรวจก็เข้าจับกุมพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๕ และเริ่มตามตัวผู้นำของขบวนการกู้ชาติ เช่น นายสุภัทร สุคนธาภิรมย์  นายสุพจน์ ด่านตระกูล จนทั้งสองคนต้องหลบหนีออกจากบ้าน  ส่วนนาวาตรี พร่างเพ็ชร บุณยรัตพันธ์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๕ ต่อมา เมื่อทางการตำรวจตัดสินใจกวาดล้างขบวนการสันติภาพ ก็เข้าจับกุมสมาชิกขบวนการกู้ชาติทั้งหมดโดยทันที แม้กระทั่งนาวาตรี พร่างเพ็ชร บุณยรัตพันธ์ ก็ถูกเรียกตัวกลับจากอังกฤษมาจำคุก

ส่วนกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้น ตำรวจได้จับกุมนายประสิทธิ์ เทียนศิริ ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ได้โดยบังเอิญในรถไฟ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ ขณะที่ลำเลียงเอกสารการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ ๒ จากกรุงเทพฯ ลงไปแจกจ่ายตามหน่วยต่างๆ ในภาคใต้  การจับกุมในครั้งนี้ทำให้ฝ่ายรัฐบาลได้รับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการดำเนินงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐบาลมีข้อมูลเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยน้อยมาก  การรณรงค์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลมักมุ่งไปที่คอมมิวนิสต์จีนเสมอ การนำเอาเรื่องคดีของนายประสิทธิ์ เทียนศิริ มาโยงเข้ากับคดีสันติภาพ ทำให้รัฐบาลตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์ได้อย่างมีหลักฐาน และในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายนนั้นเอง รัฐบาลก็ได้ถือโอกาสจับกุมชาวจีนที่ทำหนังสือพิมพ์ฉวนเหมินเป้าทั้งหมด ตั้งแต่บรรณาธิการถึงข่างเรียงพิมพ์และช่างแท่น เพราะมั่นใจว่า เป็นหนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่อมาก็ได้ยื่นฟ้องบุคคลในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในข้อหาคอมมิวนิสต์อีก ๔ คน

กลุ่มสุดท้ายที่ถูกจับกุมในข้อหากบฏ คือ ชาวบ้านตำบลคูซอด อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ทางการตำรวจได้อ้างหลักฐานว่า หมู่บ้านนี้เป็นเขตเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ และเมื่อกรรมการสันติภาพได้ไปแจกสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่ตำบลนี้ ทางตำรวจจึงตัดสินใจจับกุมชาวบ้านทันที หลังจากนั้นก็ได้ฟ้องชาวบ้านจำนวนหนึ่ง เช่น นายภู ชัยชาญ  นายณรงค์ ชัยชาญ  นายบุ ชัยชาญ พ่วงท้ายในคดีนี้ด้วย

กบฏสันติภาพ พ.ศ.๒๔๙๕ นี้ มีผู้ถูกจับกุมนับร้อยคน ทางการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหารวม ๕๔ คน ศาลตัดสินว่ามีความผิดต้องจำคุก ๒๐ ปี จำนวน ๔๙ คน แต่ให้ลดโทษ ๑ ใน ๓ เหลือ ๑๓ ปี ๔ เดือน มีเพียงผู้เดียวที่ศาลไม่ลดโทษ คือ นายณรงค์ ชัยชาญ เพราะไม่ยอมให้การที่เป็นประโยชน์ต่อศาล และศาลตัดสินปล่อยตัวจำนวน ๕ คน  ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๙๙ สภาผู้แทนราษฎรในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.  พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ.๒๔๙๙ แก่ผู้ที่ได้กระทำผิดฐานกบฏ จลาจล โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่กระทำดังกล่าวนี้ ถ้าทางราชการไม่ได้ตัวมาดำเนินคดีก่อนวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๙ ก็จะไม่ได้รับนิรโทษกรรม ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมจะได้ยศ บรรดาศักดิ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตลอดจนเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญกลับคืนมาเหมือนเช่นเดิม โดยอาศัยพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ ผู้ที่ได้กระทำผิดในกบฏนายพล กบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตัน และกบฏสันติภาพ จึงได้อิสรภาพและสถานภาพเดิมกลับคืน.



ที่มา - กบฏสันติภาพ (พ.ศ.๒๔๙๕)[/สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 เมษายน 2566 20:30:47 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.423 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 14 เมษายน 2567 12:54:44