[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 19:08:52 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กบฏอั้งยี่เมืองภูเก็ต (พ.ศ.๒๔๑๙)  (อ่าน 266 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 19 เมษายน 2566 20:47:41 »




กบฏอั้งยี่เมืองภูเก็ต (พ.ศ.๒๔๑๙)

กบฏอั้งยี่เมืองภูเก็ต เป็นการกบฏของสมาคมนอกกฎหมายของพวกกรรมกรชาวจีนพวกกงสี “ปูนเถ้าก๋ง” ซึ่งเป็นพวกที่ไม่ชอบเจ้าเมืองภูเก็ต เพราะเห็นว่าลำเอียง เข้าข้างพวกกงสี “งี่หิน” ซึ่งเป็นคู่แข่งของพวกตน และกลั่นแกล้งพวกตนในเรื่องการเก็บภาษี จึงก่อการกบฏขึ้นเมื่อวันตรุษจีน ตรงกับวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๑๙ ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนราษฎรและวัดวาอารามถูกเผาทำลาย ทรัพย์สินเสียหายเป็นอันมาก

คำว่า “อั้งยี่” แปลว่า หนังสือแดง หมายถึง สมาคมลับของชาวจีน ซึ่งมีอยู่หลายสมาคม เช่น “เทียนตี้หุย” แปลว่า สมาคมฟ้าดิน  “ซานเหอหุย” หรือเรียกชื่อย่อว่า “ซาฮะ” แปลว่า องค์สามคือ ฟ้า ดิน มนุษย์ ซึ่งตั้งขึ้นในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิง (ไต้เช็ง) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดราชวงศ์ดังกล่าวนั้น    อั้งยี่เกิดขึ้นในประเทศไทยในครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งขึ้นเพื่อร่วมกันลักลอบนำฝิ่นจากประเทศจีนเข้ามาค้าขายในประเทศไทย ต่อมา ขยายสายงานเป็นอย่างอื่นด้วย

อั้งยี่ที่ภูเก็ต เป็นสมาคมลับของคนจีนที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นกรรมกรเหมืองแร่ดีบุก ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยทำหน้าที่สำคัญคือ เป็นนายหน้าหางานให้คนจีนที่มาใหม่ และคอยพิทักษ์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาวจีน ในสมัยที่เกิดกบฏขึ้นนี้ อั้งยี่เมืองภูเก็ตมีอยู่ ๒ พวกใหญ่ๆ คือ พวกกงสี “งี่หิน” และพวกกงสี “ปูนเถ้าก๋ง”

กงสี “งี่หิน” หรือที่รู้จักกันในนามว่า “พวกกะทู้” หรือ “พวกแดง” อยู่ในบังคับบัญชาของหัวหน้าตระกูล “แซ่ลิ่ม” มีสมาชิกประมาณ ๓,๕๐๐ คน มีเขตอิทธิพลในเขตอำเภอกระทู้ปัจจุบัน กงสีนี้เป็นพวกที่ชอบพอกับเจ้าเมืองภูเก็ต

กงสี “ปูนเถ้าก๋ง” หรือที่รู้จักกันในนามว่า “พวกตลาด” หรือ “พวกขาว” อยู่ในบังคับบัญชาของตระกูล “แซ่ตัน” มีสมาชิกประมาณ ๔,๐๐๐ มีเขตอิทธิพลในเขตตลาดภูเก็ต บางเหนียวปัจจุบัน เป็นพวกที่ก่อกบฏต่อเจ้าเมืองภูเก็ต

การทำงานของกรรมกรจีนในเหมืองดีบุกจะอยู่ในรูปของกงสี กรรมกรจีนส่วนใหญ่รับมาจากเมืองมลายูและสิงคโปร์ โดยอั้งยี่เป็นผู้จัดการ มาทำงานคราวละ ๑-๓ ปี ค่าจ้างแรงงานทั้งหมดจะฝากไว้กับนายเหมือง เมื่อจะกลับจึงคิดบัญชี และเบิกเงินที่เหลือกลับไปประเทศตน

มูลเหตุที่ผลักดันให้กรรมกรจีนก่อการกบฏครั้งนั้นมีอยู่หลายประการ เช่น ราคาดีบุกตกต่ำ นโยบายการคลังของรัฐบาลตึงเกินไป ราคาประมูลภาษีอากรสูงเกินไป และกรรมกรจีนไม่ได้รับความเป็นธรรม

ราคาดีบุกตกต่ำถือได้ว่าเป็นมูลเหตุสำคัญประการแรก กล่าวคือ เมืองภูเก็ตมีระบบเศรษฐกิจเปิด เศรษฐกิจเมืองภูเก็ตจึงขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ก่อนหน้าที่จะเกิดการกบฏ ปรากฏว่า ราคาดีบุกที่ตลาดลอนดอนลดลงเรื่อยๆ  ทำให้ตลาดปีนังซึ่งผูกพันอยู่กับตลาดลอนดอนต้องรับซื้อดีบุกในราคาที่ต่ำด้วย กล่าวคือ ราคาดีบุกที่ตลาดลอนดอนซึ่งเคยมีราคาสูงถึง ๑๔๐ ปอนด์สเตอร์ลิงต่อตัน แต่ใน พ.ศ.๒๔๑๙ ได้ลดลงเหลือเพียง ๗๖ ปอนด์สเตอร์ลิงต่อตัน เมื่อราคาดีบุกตกต่ำ รายได้หลักของเจ้าเมืองภูเก็ตก็พลอยตกต่ำไปด้วย เพราะรายได้หลักมาจากภาษีอากรที่รัฐบาลให้เจ้าเมืองรับไปทำในระบบการผูกขาด (มี ๕ อย่างคือ ภาษีดีบุก ภาษีร้อยชักสาม ภาษีฝิ่น ภาษีสุรา และอากรบ่อนเบี้ย) ซึ่งขณะนั้นยังคงเก็บได้เท่าเดิม แต่ภาระค่าใช้จ่ายกลับสูงขึ้น จึงจำต้องผลักภาระให้กรรมกรจีนรับไปด้วย วิกฤตการณ์ทางการเมืองจึงเกิดขึ้น

นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลที่จะดึงอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจจากกลุ่มขุนนางมาสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศใช้กฎหมายห้ามฟ้องขาด (ห้ามเจ้าภาษีนายอากรทำหนังสือร้องขอลดหย่อนภาษีโดยอ้างว่าขาดทุน) และถ้าประมูลภาษีได้ จะต้องส่งเงินล่วงหน้า ๓ เดือน และต่อไปเดือนละ ๒ ครั้ง และห้ามส่งเป็นสิ่งของ ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษรุนแรง ซึ่งได้ทรงลงโทษผู้ฝ่าผืนรายสำคัญคือ ถอดตำแหน่งพระยาอาหารบริรักษ์ (นุช  บุญ-หลง) ทั้งๆ ที่เป็นหลานและผู้ใกล้ชิดของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เพราะขัดขืนไม่ส่งรายได้ให้แก่หอรัษฎากรพิพัฒน์   นโยบายการคลังที่เข้มงวดเช่นนี้ทำให้เจ้าเมืองภูเก็ตจำเป็นต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล จึงเกิดความไม่สงบขึ้น เมื่อกรรมกรจีนจำเป็นต้องใช้เงิน

มูลเหตุอีกประการหนึ่งคือ ราคาประมูลภาษีอากรสูงเกินไป เห็นได้จากระดับราคาประมูลก่อน พ.ศ.๒๔๑๔ เพียงปีละ ๑๗,๓๖๐ บาท ต่อมาได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ ๓๓๖,๐๐๐ บาท ระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๕-๒๔๑๗ และระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๘-๒๔๑๙ ราคาประมูลภาษีอากรสูงขึ้นถึงปีละ ๔๘๐,๐๐๐ บาท จากราคาประมูลในระดับนี้ เจ้าเมืองภูเก็ตจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ๓ เดือน เป็นจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาท และเงินงวดต่อไปเดือนละ ๔๐,๐๐๐ บาท เมื่อรัฐบาลส่งเรือรบมารับเงินงวดภาษีอากร เจ้าเมืองจึงจำเป็นต้องนำเงินฝากของกรรมกรจีนมาทดรองจ่ายไปก่อน เมื่อความลับนี้รั่วไหล กรรมกรจีนจึงก่อจลาจลขึ้น

ในส่วนของกรรมกรจีน (อั้งยี่) เองก็คิดว่าพวกตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ด้วยข้อที่ว่าเจ้าเมืองภูเก็ตเก็บภาษีทำให้พวกตนเดือดร้อน และลำเอียงเข้าข้างกงสี “งี่หิน” และกลั่นแกล้งกงสี “ปูนเถ้าก๋ง”

เหตุการณ์หนึ่งที่เป็นชนวนในวันเกิดกบฏ คือ กะลาสีจากเรือรบขึ้นบกเมาสุรา แล้ววิวาทกับกรรมกรจีนในตลาด จนเป็นเหตุให้กรรมกรจีน ๒ คนที่ตีกะลาสีถูกจับตัวไปส่งข้าหลวง

หนึ่ง ก่อนหน้าวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๑๙ พวกอั้งยี่กงสี “ปูนเถ้าก๋ง” เมืองระนองได้ก่อกบฏขึ้น แต่ถูกทางการปราบจนพ่ายแพ้ พวกหนึ่งหนีมาเมืองภูเก็ตเที่ยวชักชวนให้พวกอั้งยี่เมืองภูเก็ตพวกเดียวกัน รวมกันก่อกบฏขึ้นบ้าง

กบฏเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๑๙ ซึ่งตรงกับวันตรุษจีนอันเป็นช่วงที่จะต้องส่งตัวกรรมกรจีนกลับประเทศ ปรากฏว่าได้มีอั้งยี่ประมาณ ๓๐๐ คนพร้อมด้วยอาวุธครบมือยกพวกเข้าปล้นนักโทษ ๒ คน ซึ่งสังกัดอั้งยี่ กงสี “ปูนเถ้าก๋ง” ของตนที่ถูกกะลาสีเรือรบจับส่งให้เจ้าเมืองภูเก็ต แล้วเหตุการณ์ได้ลุกลามถึงขั้นจลาจล เมื่ออั้งยี่หัวรุนแรงได้ก่อการเผาตลาด ไล่ฆ่าคนไทยในเขตตลาด (บริเวณโรงพักตลาดใหญ่ปัจจุบัน) และเมื่ออั้งยี่ได้ทำการปลุกระดมหาสมาชิกได้เพิ่มมากขึ้นเป็น ๒,๐๐๐ คน ก็ได้พากันไปทวงเงินค่าแรงงานที่ศาลากลางและบ้านพักพระยาภูเก็ต

พระยาภูเก็ต [ลำดวน บุตรของพระยาวิชิตสงคราม (ทัด) เจ้าเมืองภูเก็ตคนก่อน] ได้อพยพครอบครัวหนีไปที่อื่น ปล่อยให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น บุนนาค) ข้าหลวงประจำหัวเมืองซึ่งเป็นน้องเขยพระยาภูเก็ตอยู่ป้องกันเมืองภูเก็ต ด้วยกลวิธีที่ชาญฉลาดของเจ้าหมื่นเสมอใจราช คือเรียกคนไทยบรรดามีในบริเวณศาลากลางและถอดนักโทษในเรือนจำออกมาสมทบกับตำรวจที่มีอยู่ ๑๐๐ คน และได้ทหารเรือในเรือรบขึ้นมาช่วยอีก ๑๐๐ คน ร่วมกันรักษาบริเวณศาลากลางและบ้านพักพระยาภูเก็ต เอาปืนใหญ่ตั้งจุกช่องไว้ทุกทางที่พวกจีนจะเข้าได้ แล้วให้ไปเรียกจีนพวกหน้าแซ่ซึ่งอยู่ในเมืองเข้ามาประชุมกันที่ศาลากลางในค่ำวันนั้น  นอกจากนี้ยังรีบเขียนจดหมายถึงหัวเมืองอื่นๆ ที่ใกล้เคียงให้ส่งกำลังมาช่วยและส่งคนไปโทรเลขที่เมืองปีนัง บอกข่าวไปยังกรุงเทพฯ มีจดหมายบอกอังกฤษเจ้าเมืองปีนังให้กักเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ อย่าให้พวกจีนส่งมายังเมืองภูเก็ต โดยให้คนถือหนังสือลงเรือเมล์และเรือใบไปยังเมืองปีนังและเมืองอื่นๆ เท่าที่สามารถจะทำได้

ในตอนค่ำของวันนั้น จีนพวกหัวหน้าแซ่พากันเข้าไปยังศาลากลางตามคำสั่ง โดยมากรับช่วยรัฐบาลตามแต่เจ้าหมื่นเสมอใจราชจะสั่งให้ทำประการใด เจ้าหมื่นเสมอใจราชจึงให้พวกหัวหน้าสั่งพวกแซ่ของตนที่มากับพวกผู้ร้ายให้กลับไปที่อยู่ของตนตามเดิม มีทุกข์ร้อนอย่างไร พวกหัวหน้าแซ่จะช่วยแก้ไขให้โดยดี ซึ่งก็ได้ผล ทำให้พวกอั้งยี่พ่ายแพ้อย่างง่ายดาย พวกนี้เมื่อเห็นว่าจะตีศาลากลางไม่ได้ก็ยกพวกแยกกันปล้นทรัพย์เผาเรือนชาวเมืองต่อออกไปถึงบ้านนอก ราษฎรน้อยกว่าก็ได้แต่หนีเอาตัวรอด จึงเกิดการจลาจลไปทั้งเมือง มีแต่ที่บ้านฉลองแห่งเดียวที่ชาวบ้านได้อาศัยบารมีของหลวงพ่อแช่ม เจ้าอาวาสวัดฉลอง ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่า มีวิทยาคมกล้า รวมตัวกันตีโต้พวกกบฏแตกพ่ายไป

กบฏอั้งยี่ พ.ศ.๒๔๑๙ ทำให้คนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก สมาชิกอั้งยี่จำนวนหนึ่งต้องอพยพหนีไปต่างประเทศ และหัวหน้าแซ่บางคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเวลาต่อมา ฝ่ายรัฐบาล เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น บุนนาค) ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระยามนตรีสุริยวงศ์ ส่วนเจ้าหมื่นไวยวรนาถ (ชาย บุนนาค) ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้คุมเรือรบกับทหารและเครื่องศัตราวุธยุทธภัณฑ์จากกรุงเทพฯ ไปช่วยปราบกบฏ ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาประภากรวงศ์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็กและได้รับพระราชทานพานทองเสมอกันทั้ง ๒ คน  ส่วนหลวงพ่อแช่มได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ ตำแหน่งสังฆปาโมกข์.



ที่มา - กบฏอั้งยี่เมืองภูเก็ต (พ.ศ.๒๔๑๙) สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.343 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 09 เมษายน 2567 09:24:20