[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 04:20:03 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ ภควัทคีตา.. บทเพลงแห่งองค์ภควัน.. (บทเพลงของพระเจ้า)  (อ่าน 21752 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 06 ตุลาคม 2554 10:10:47 »





ภควัทคีตา
บทเพลงของพระเจ้า



ภควัทคีตา เป็นชื่อคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู
โดยเฉพาะสำหรับนิกายไวษณพ
หรือผู้ที่ยกย่องพระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นพระเจ้าสูงสุด
ชื่อคัมภีร์ ภควัทคีตา (ภควตฺ + คีตา)
แปลว่า "บทเพลง (หรือลำนำ) แห่งพระผู้เป็นเจ้า"
คัมภีร์นี้มิได้มีลักษณะเป็นเอกเทศ คือมิได้แต่งขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยวเป็นเล่มเฉพาะ
เหมือนดัง คัมภีร์พระเวท แต่ละเล่ม
แท้ที่จริงเป็นเพียงบทสนทนาโต้ตอบระหว่างบุคคล 2 คน
ซึ่งเป็นข้อความที่แทรกเข้ามาในบรรพที่ 6 (ภีษมบรรพ) แห่ง
มหากาพย์มหาภารตะ

ในบทสนทนาโต้ตอบดังกล่าวนี้ ฝ่ายที่ถามปัญหาคือพระอรชุน
เจ้าชายฝ่ายปาณฑพแห่งจันทรวงศ์ ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพใหญ่
มาทำสงครามแย่งชิงเมืองหัสตินาปุระจากฝ่ายเการพ แห่งจันทรวงศ์เช่นเดียวกัน
ซึ่งมีเจ้าชายทุรโยธน์และกองทัพพันธมิตรมากมาย
เป็นศัตรูคู่สงครามด้วย ฝ่ายที่ตอบปัญหาทั้งหมดและเป็นผู้อธิบาย
ตลอดทั้งเรื่องก็คือ พระกฤษณะ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายราชสกุลจันทรวงศ์
สาขายาทพ
ในขณะที่ตอบปัญหาอันล้ำลึกดังกล่าวนั้น พระกฤษณะกำลังทำหน้าที่
เป็นสารถีขับรถศึกให้พระอรชุน บทสนทนาโต้ตอบนี้ถ่ายทอดออกมาโดยสญชัย
ผู้เป็นเสวกามาตย์ของพระเจ้าธฤตราษฏร์ พระราชาพระเนตรบอด
แห่งเมืองหัสตินาปุระ
โดยมหาฤษีวยาสหรือพระฤษีกฤษณไทวปายนเป็นผู้ให้ตาทิพย์แก่สัญชัย
เพื่อแลเห็นเหตุการณ์รบพุ่งในมหาสงครามครั้งนั้นอย่างแจ่มแจ้ง
ทั้งๆ ที่นั่งอยู่ในพระราชวัง และคอยกราบทูล
พระเจ้าธฤตราษฎร์ให้ทราบการเคลื่อนไหวทุกขณะในสมรภูมิ



Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 กรกฎาคม 2555 02:08:21 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: jpg » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 06 ตุลาคม 2554 10:17:10 »





ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน



คัมภีร์ ภควัทคีตา.. บทเพลงแห่งองค์ภควัน..
(บทที่ ๑ - ๑๘)

(สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง)
    บทที่หนึ่ง
               ราชาฤตราษฎร์ตรัสถามว่า
               สัญชัย!  เมื่อกองทหารของเรากับกองทัพฝ่ายปาณฑพเผชิญหน้ากัน ณ ทุ่งราบกุรุเกษตร พวกเขาได้ทำอะไรกันบ้าง
               สัญชัยกราบทูลว่า
               เมื่อทุรโยธน์ทอดพระเนตรเห็นกองทัพปาณฑพเตรียมพร้อมอยู่กลางสนามรบก็เสด็จเข้าไปหาอาจารญ์โทรณะพลางรับสั่งว่า
               ดูนั่นเถิดท่านอาจารย์!  กอบทัพมหึมาของราชบุตรวงศ์ปาณฑุ พวกเขาจัดกระบวนทัพตามแบบบุตรแห่งทรุบท(หมายถึงธฤษฏทยุมัน โอรสของราชาทรุบทแห่งแคว้นปาญจาละ-ผู้แปล) ท่านอาจารย์!  นับว่าศิษย์ของท่านฉลาดมากทีเดียว
               ในกองทัพนั้นมีผู้กล้าในเชิงธนูเสมอด้วยภีมะและอรชุนอยู่หลายคน นั่นคือยุยุธาน, วิราฏและทรุบทนักรบผู้ยิ่งใหญ่

               และนั่น!  ธฤษฏเกตุกับเจกิตานและกษัตริย์นักรบผู้กล้าแห่งแคว้นกาศี ส่วนนั่น!  ปุรุชิต, กุนติโภชและไศพยะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นจอมแห่งคน
               และนั่น!  ยุธามันยุผู้เข้มแข็งกับอุตตเมาช์ผู้กล้าหาญ บุตรของนางสุภัทรา(หมายถึงอภิมันยุ โอรสของอรชุนที่เกิดจากนางสุภัทรา-ผู้แปล)  ล้วนแล้วแต่เป็นยอดแห่งนักรบ
               ท่านอาจารย์!  สำหรับแม่ทัพและนายทหารที่กร้าวแกร่งและมีฝีมือเป็นเลิศของฝ่ายเรานั้น  มีรายนามดังข้าพเจ้าจะเรียนให้ทราบดังนี้
               คนแรกก็คือท่านอาจารย์เอง คนต่อมาคือภีษมะ, กรณะ และกฤปะ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวนามมาต่างก็เคยผ่านสมรภูมิรบและได้รับชัยมาแล้วอย่าง โชกโชนทั้งสิ้น และนั่น!  อัศวัตถามา, วิกรณะกับบุตรของโสมทัตต์

               นอกแต่นั้นยังมีนักรบผู้กล้าหาญที่พร้อมจะสละชีพเพื่อข้าพเจ้าอีกนับอนันต์ พวกเขามีอาวุธครบครันบริบูรณ์ และทุกคนต่างก็ชำนาญเป็นเลิศในการยุทธทั้งสิ้น
               รี้พลของฝ่ายเราภายใต้การนำของภีษมะมีจำนวนมหาศาล ส่วนไพร่พลของฝ่ายโน้นที่ภีมะบัญชาทัพอยู่ดูจะเบาบางกว่าฝ่ายเรา
               มาเถิดท่านทั้งหลาย!  มาช่วยกันสนับสนุนภีษมะแม่ทัพกล้าของฝ่ายเรา!  ผู้ใดอยู่ในตำแหน่งใด ก็ขอให้ตั้งมั่นในตำแหน่งของตนเถิด!

               ฝ่ายภีษมะนักรบผู้เฒ่าแห่งวงศ์กุรุ เพื่อจะยังความฮึกเหิมให้เกิดทุรโยธน์ จึงบันลือสีหนาทกึกก้องแล้วเป่าสังข์เสียงหวีดกังวาน
               ทันใดนั้น บรรดาสังข์, กลอง, บัณเฑาะว์, กลองศึกและเขาสัตว์ก็กระหึ่งเสียงประสานรับอื้ออึง
               และทันทีที่ยุทธมโหรีกระหึ่งก้อง กฤษณะกับอรชุนซึ่งนั่งอยู่บนรถศึกเทียมด้วยม้าสีขาวก็ยกสังขอันไพเราะ ประหนึ่งสังขทิพยของตนขึ้นเป่า

                    

               กฤษณะเป่าสังข์ปาญจชันยะ อรชุนเป่าสังข์เทวทัตตะ ส่วนภีษมะเป่ามหาสังข์เปาณฑระ
               ยุธิษฐิระเป่าสังข์อนันตวิชัย นกุละเป่าสังข์สุโฆษ ส่วนสหเทพนั้นเป่าสังชื่อมณีบุษบก
               ราชาแห่งแคว้นกาศีผู้เชี่ยวชาญเป็นเลิศในศิลปะการยิงธนูก็ดี ศิขัณฑี ผู้เป็นจอมแห่งนักรบทั้งหลายก็ดี ธฤษฏทยุมันและวิราฏ พร้อมทั้งสาตยกิผู้ไม่เคยพ่ายใครทั้งสามนี้ก็ดี
               ทุรบทก็ดี บุตรของนางเทราปทีทั้งห้าก็ดี บุตรของนางสุภัทราก็ดี ทั้งหมดต่างเป่าสังข์ของตนเสียงดังอึงอลทั่วทั้งสนามรบ

               ยุทธมโหรีนั้นกึกก้องไปทั่วแผ่นดินและผืนฟ้า ยังหทัยของเหล่าราชบุตรแห่งธฤตราษฎรราชาระรัวสั่นด้วยเพลงสงครามนั้น
               ข้างฝ่ายอรชุนเมื่อมองเห็นทัพของฝ่ายเการพประชิตเข้ามาจวนเจียนจะปะทะกันด้วย อาวุธเช่นนั้น ก็ยกธนูขึ้นสายเตรียมท่าจะยิง
               แล้วอรชุนก็หันไปตรัสกับกฤษณะผู้ทำหน้าที่สารถีว่า
               นี่แน่ะสหาย! โปรดเคลื่อนรถของเราให้เข้าไปอยู่ระหว่างกองทหารทั้งสองฝ่ายทีเถิด

               เพื่อว่าเราจะได้เห็นพวกกระหายสงครามเหล่านั้นได้ชัดเจนและจะได้รู้ว่าใคร กันที่เราจะสัประยุทธ์ด้วยในมหาสงครามครั้งนี้
               เราอยากจะดูว่าใครบ้างมารวมกันอยู่ที่นั่นเพื่อสนับสนุนทุรโยธน์ผู้ใจบาป
               เมื่ออรชุนกล่าวเช่นนั้น กฤษณะก็เคลื่อนนรถศึกเข้าไปหยุดอยู่ระหว่างกองทัพทั้งสอง
               เบ้องหน้าของอรชุนยามนั้นคือภีษมะ, โทรณาจารย์ พร้อมเหล่าราชวงค์และขุนศึกฝ่ายเการพ

               แล้วกฤษณะก็ตรัสแก่อรชุนว่า
               ดูนั่นอรชุน!จงดูวงค์กุรุที่มาชุมนุมกันอยู่ข้างหน้านั่น!
               อรชุนเห็นภาพเช่นนั้นก็พลันบังเกิดความสะเทือนใจอย่างแรง ลั่นวาจาออกมาว่า
               กฤษณะ! เราได้เห็นญาติพี่น้องที่มาชุมนุมกันด้วยความกระหายอยากในการเข่นฆ่าแล้ว!
               แขนขาของเราอ่อนล้าเหลือเกิน ปากของเราแห้งผาก ตัวเราสั่น ขนตามตัวของเราลุกชันด้วยความสยดสยอง

  นั่น! คาณฑีวะธนูศึกของเราร่วงจากมือเราแล้ว ตัวเราร้อนผ่าวไปหมดแล้ว เราจวนเจียนจะทรงกายอยู่ไม่ไหวแล้ว หัวใจเรามันจะหยุดเต้นแล้วเพื่อนเอ๋ย
  กฤษณะ! เรามองเห็นลางร้ายเสียแล้วเวลานี้ มันจะม่เป็นนิมิตร้ายได้อย่างไรเล่าในเมื่อญาติพี่น้องพากันยกทัพมาเพื่อ เข่นฆ่ากันเองเช่นนี้
  กฤษณะเอ๋ย! เราไม่ต้องการชัยชนะ ไม่ต้องการความเป็นเจ้า หรือความสุขที่ต้องแลกมาด้วยเลือด จะมีประโยชน์ใดเล่ากับสิ่งทเหล่านี้หรือแม้แต่ชีวิต
  มิใช่เพราะความกระหายอยากในราชทรัพย์ ความมั่งคั่ง และความสุขดอกหรือที่พี่น้องร่วมสายเลอดต้องหันหน้าเข้าเข่นฆ่ากันอยู่เวลา นี้
  นั่นครูของเรา! นั่นบิดาเรา! นั่นบุตรของเรา!นั่นปู่เรา!นั่นลุงของเรา! นั่นพ่อตาเรา! นั่นหลานเรา! นั่นน้องเขาของเรา! และนั่นก็ล้วนแต่ญาติมิตรของเราทั้งสิ้น!

  เราถึงจะถูกเข่นฆ่าก็ไม่ปรารถนาจะทำร้ายพี่น้องร่วมสายเลือด ต่อให้เอาสมบัติในไตรโลกมาเป็นรางวัล ก็อย่างหมายว่าเราจะยอมเอาเลือดของพี่น้องเข้าละเลงแลกมา
  ฆ่าฟันพี่น้อง จะมีความสุขใดตามมาหรอ จะมีก็แต่ผลกรรม อันเป็นบาปเท่านั้นตามติดเราไป
  อย่างนี้แล้ว เรายังจะคิดประหัตประหารกันและกันอยู่หรือ บอกหน่อยซิสหาย! หากเราฆ่าพี่น้องของเราด้วยมือเราแล้ว เรายังจะมีสุขอยู่หรือ!

  เวลานี้พี่น้องเราถูกความละโมบเข้าบดบังดวงตา ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมองไม่เห็นโทษของการทำลายวงศ์ตระกุลและญาติมิตร
  แต่เราสิสหาย เรานั้นเห็นโทษภัยดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง ก็ไฉนเราจึงไม่เลี่ยงจากบาปนั้นเล่า
  การทำลายวงศ์สกุลก็เท่ากับการทำลายกุลธรรมอันมีมาแต่โบราณและเมื่อธรรมถูก ย่ำยี มีหรือที่อธรรมจะไม่ครอบงำวงค์ตระกุลนั้น
  เมื่ออธรรมเติบใหญ่ สตรีในตระกูลก็จะพากันเลวลง เมื่อสตรีเลวลง วรรณะก็ย่อมจะพลอยมัวหมอง
  ผู้ทำให้วรรณะมัวหมองย่อมไม่พ้นจากนรก แม้กระทั่งบรรพบุรุษของคนผู้นั้นที่ล่วงลับไปแล้วก็ต้องพลอยลำบากเพราะไม่มี ผู้คอยอุทิศข้าวและน้ำไปให้ในปรภพ

  อนึ่งเล่า การที่วรรณะมัวหมองก็เท่ากับเป็นการทำลายชาติธรรมและกุลธรรมให้พินาศ
  กฤษณะ! เราเคยฟังมาว่ามนุษย์ผู้มีกุลธรรมอันพินาศแล้วย่อมทนทุกขอยู่ในขุมนรกตราบชั่วนิรันดร์
  โอ! นี่มิใช่บาปมหันต์ดอกหรือที่เราจะมาฆ่าฟันญาติพี่น้องเพื่อแย่งชิงกันเสวยสุขในราชสมบัติ
  หากว่าราชบุตรเการพสามารถสังหารเราผู้ไม่คิดตอบโต้และปราศจากอาวุธในมือได้
  เราจะไม่เสียใจอันใดเลย!
   เมื่ออรชุนกล่าวจบก็ทรุดตัวนั่งลงบนรถศึก ทิ้งธนูและลูกศรออกไป หทัยท่วมท้นด้วยความโศกสะเทือน


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 ตุลาคม 2554 12:58:16 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: jpg » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 06 ตุลาคม 2554 10:28:34 »




ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน

สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง

บทที่สอง
             สัญชัยกราบทูลต่อว่า
             เมื่อราชากฤษณะทอดพระเนตรเห็นอรชุนบังเกิดความท้อถอยเช่นนั้นก็ตรัสขึ้นว่า
             อรชุน! เหตุใดท่านจึงทำใจให้หดหู่ในช่วงเวลาคับขันเช่นนี้เล่า ความท้อแท้เช่นนี้น่าจะเป็นวิสัยของอนารยชน หาใช่วิสัยของอารยชนเช่นท่านไม่ มันคือทางปิดกั้นมิให้เราเข้าสู่ประตูสวรรค์ อนึ่งเล่าความท้อถอยนี้แหละที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเกียรติ อย่าเพิ่งท้อแท้ซิอรชุน ความอ่อนแอเช่นนั้นไม่สมควรกับท่านผู้เป็นนักรบเลย จงขจัดความอ่อนแอในจิตใจ แล้วลุกขึ้นสู้เถิดสหาย
             อรชุนตอบว่า
             กฤษณะ!ท่านจะให้เราจับอาวุธขึ้นสังหารท่านภีษมะ และอาจารย์โทรณะที่เราเคารพบูชากระนั้นหรือ!  ฟังนะกฤษณะ! สำหรับเรานั้น การขอทานเขากินย่อมประเสริฐกว่าการฆ่าครูผู้มีคุณ!
การสังหารครูผู้มีพระคุณเพราะความละโมบในทรัพย์และความยิ่งใหญ่ จะต่างอะไรเล่ากับการบริโภคอาหารอันระคนด้วยเลือด แม้เราทั้งสองฝ่ายก็ทีเถิด ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครหรือพวกไหนดีเลวกว่ากัน ทั้งการรบก็ไม่อาจพยากรณ์ได้ว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายมีชัย จะให้เราฆ่าพี่น้องร่วมสายเลือด แล้วแสร้งฝืนทำหน้าชื่นมีชีวิตอยู่ต่อไป ข้อนี้เราทำไม่ได้ดอกเพื่อนเอ๋ย

             เวลานี้จิตใจของเราถูกความสงสารครอบงำจนกลายเป็นความอ่อนแอ เราไม่ทราบว่าอะไรคือหน้าที่ของนักรบแล้วยามนี้ เราขอถามท่าน จงตอบเราเถิดว่าเราจะทำอย่างไรดีกับสภาพจิตใจเช่นนี้ ขอท่านจงให้ความกระจ่างแก่เรา โดยถือเสียว่ายามนี้เราคือศิษย์คนหนึ่งของท่านเถิด  เรามืดมนเกินที่จะมองเห็นสิ่งอันจะมาขจัดความเศร้าสลดที่ครอบงำจิตใจได้ ความเป็นใหญ่ในผืนแผ่นดินและไอศูรย์สมบัติในแดนสวรรค์ก็ไม่อาจช่วยเหลือเราได้

             เมื่อกล่าวกับกฤษณะเช่นนั้นแล้ว อรชุนก็ลั่นวาจาสุดท้ายออกมาว่า “เราไม่รบ!”แล้วนิ่งเงียบ
             กฤษณะเห็นเช่นนั้นก็ยิ้มพลางกล่าวขึ้นกับอรชุนว่า
            ใยท่านจึงมัวเศร้าสลดกับสิ่งอันไม่ควรเศร้าสลดเช่นนั้น ถ้อยคำที่ท่านพูดมาทั้งหมดก็น่ารับฟังดีหรอก แต่สมควรหรือที่ผู้มีความคิดจะพึงไปพะว้าพะวงกับความตายหรือการมีชีวิตอยู่
             ไม่ว่าเรา, ท่าน, หรือราชบุตรเการพเหล่านั้น ทั้งหมดไม่มีใครเกิดและไม่มีใครตาย

        
             อาตมันที่สิงอยู่ในร่างของเราต่างหากที่ลอยล่องผ่านร่างเด็ก, ร่างหนุ่มสาว, และร่างชราของเราไป อาตมันนี้ย่อมจะเข้าสิงอาศัยร่างใหม่เรื่อยไป เมื่อร่างเก่าขำรุดจนใช้งานไม่ได้ ผู้มีปัญญาย่อมไม่คลางแคลงในเรื่องนี้* (โศลกนี้ท่านผู้อ่านพึงทำความเข้าใจให้ดี เพราะนี่คือหัวใจของแนวคิดแบบฮินดูที่ถือว่าขีวิตเป็นเพียงกระแสไหลเวียนของอาตมันอันเป็นอานุภาพที่แยกย่อยออกมาจากปรมาตมันซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในจักวาล ชีวิตจึงไม่มีการเกิดและการตาย ที่เราสมมติเรียกว่าตายหรือเกิดนั้นเป็นเพียงการเปลี่ยนที่สิงสถิตของอาตมันที่ละร่างเก่าไปหาร่างใหม่ ระหว่างการเวียนว่ายเพื่อเข้าปรมาตมันอันเป็นแดนสงบสูงสุดของชีวิตเท่านั้น-ผู้แปล)

             หนาว, ร้อน, สุข, ทุกข์ ฯลฯ เกิดจาการประจวบกันระหว่างอารมณ์ภายนอกกับการรับรู้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่แน่นอน นึกจะมามันก็มา นึกจะไปมันก็ไป เพราะฉะนั้น ท่านจงหัดอดทนในสิ่งเหล่านี้เสียบ้างเถิด
             ผู้ที่วางใจให้เป็นปกติเมื่อประสบกับสุขทุกข์ได้ ชื่อว่า ทำขีวิตตนเองให้เป็นอมตะ
             ในอสัตยภาวะ ย่อมไม่มีภาวะแห่งความจริง เช่นกันกับที่ในสัตยภาวะย่อมไม่ปราศจากภาวะแห่งความจริง ผู้ประจักษ์สัจจะย่อมมองเห็นความจริงสองประการนี้
             ขอท่านจงทราบเอาไว้ว่าในสกลจักรวาลนี้มีอานุภาพอย่างหนึ่งแผ่ซ่านอยู่ทั่ว อานุภาพนี้ไม่รู้จักพินาศแตกดับ ไม่มีใครทำลายมันได้ มันคืออาตมัน มันสิงอยู่ในร่างมนุษย์ มันคือภาวะนิรันดรเหนือการพิสูจน์หยั่งรู้
             ใครก็ตามที่คิดว่าอาตมันนี้เป็นผู้ฆ่า หรืออาตมันนี้เป็นผู้ถูกฆ่า คนผู้นั้นไม่รู้ความจริง เพราะอาตมันนี้ไม่เคยฆ่าใคร และใครฆ่าไม่ได้

             อาตมันนี้ไม่เกิด ไม่ตาย เป็นสภาวะนิรันดร เที่ยงแท้ไม่มีแปรเปลี่ยน
             เมื่อร่างกายของคนถูกฆ่า อาตมันหาได้ถูกฆ่าด้วยไม่
             อรชุน! ใครก็ตามที่รู้ซึ้งถึงอาตมันอันเป็นสภาวะนิรัดรไม่รู้จักพินาศแตกดับอย่างนี้แล้ว เขาผู้นั้นจะได้ชื่อว่าฆ่าใครหรือถูกใครฆ่าอยู่หรือ
             อุปมาเหมือนคนถอดเสื้อผ้าที่เก่าชำรุดทิ้งแล้วสวมเสื้อผ้าใหม่เข้าแทน อาตมันก็ฉันนั้น ละร่างเก่าแล้วก็ลอยล่องออกสิงสู่ร่างใหม่
             อาตมันนั้นไม่มีอาวุธหรือศาสตราชนิดใดตัดขาด ไฟก็เผาไหม้ให้พินาศ น้ำก็มิอาจพัดพาให้เปียกละลาย กระทั่งลมก็ไม่สามารถกระพือพัดให้แห้งระเหยไป

             เพราะตัดไม่ขาด เผาไม่ไหม้ ถูกน้ำถูกลมก็ไม่ละลายหรือแห้งเหือด อาตมันจึงชื่อว่าเป็นสภาวะอันนิรันดร แผ่ซ่านอยู่ทุกอณูของจักรวาล ยืนยงไม่รู้จักแปรเปลี่ยนตามกาลเวลา
             อาตมันนี้ไม่ปรากฏให้เห็นแจ่มแจ้ง คิดตามก็ไม่อาจหยั่งทราบทั้งยังเป็นสภาวะอันเที่ยงแท้ชั่วนิตย์นิรันดร์
             อรชุน! รู้อย่างนี้แล้ว ท่านยังจะเศร้าสลดอยู่ไย
             อนึ่งเล่า ท่านก็รู้อยู่ไม่ใช่หรือว่าตนเองต้องเกิดและตายเวียนว่ายอยู่อย่างนั้นไม่รู้จักจบสิ้น ฉะนี้แล้วท่านยังจะท้อแท้อยู่ทำไม
             เมื่อเกิดก็ต้องตาย ตายแล้วก็ต้องเกิด นี่คือสภาพอันแน่นอน ไม่มีใครหลีกเลี่ยงการเกิดและการตายได้ ก็เมื่อเลี่ยงไม่ได้
ไฉนท่านจึงมัวหดหู่กับมันอยู่เล่า
            ชีวิตคนเรานั้น ก่อนก่อเกิดเราก็ไม่ทราบว่ามันมาอย่างไร ครั้นหลังจากตายไปแล้วเราก็ไม่อาจคาดรู้ว่ามันจะไปอย่างไร มีเพียงปัจจุบันของชีวิตเท่านั้นที่เราพอจะรู้และเห็นตามมันได้

             เมื่อเป็นเช่นนี้
เราจะมัวไปกังวลกับชีวิตกันทำไม

             เรื่องราวของอาตมันนี้ใครได้เห็นก็ต้องออกปากว่าน่าอัศจรรย์ ใครได้พูดถึงมันก็พูดถึงด้วยความอัศจรรย์ใจ กระทั่งคนที่รับฟังเรื่องราวของมันก็รับฟังด้วยความอัศจรรย์ แม่เมื่อรับฟังแล้ว ก็ไม่มีใครสักคนรู้จักมัน
            อรชุน! เมื่อรู้ว่าชีวิตมีอาตมันอันเป็นนิรันดรเป็นแก่นแท้เช่นนี้แล้ว สมควรอยู่หรือที่ท่านจะมัวกังวลกับชีวิต
             จงคำนึงถึงหน้าที่ของตนให้มั่นเถิด อย่าได้หวั่นไหวกับสิ่งเหล่านี้เลย
เพราะในโลกนี้ไม่มีความดีอันใดของกษัตริย์เทียบเท่ากับการทำสงครามเพื่อปกป้องความถูกต้อง*นี้ได้เลย (คำว่า “การทำสงครามเพื่อปกป้องความถูกต้อง”นี้ ภาษาสันกฤตท่านใช้ว่า “ธรรมสงคราม”ในโศลกนี้ว่า “หน้าที่”ผู้แปลเห็นว่าทรรศนะของท่านก็น่ารับฟัง หากแต่ที่แปลต่างออกมาเช่นนั้นก็เพราะมีความเห็นว่า คำว่าธรรมสงครามน่าจะหมายเอาการรบที่ทำไป เพื่อพิทักษ์ความถูกต้องซึ่งย่อมจะตรงกันข้ามกับการทำสงครามเพื่อรุกรานอันเป็นสงครามอธรรม-ผู้แปล)

             อรชุน! กษัตริย์ที่ทำสงครามแล้วได้เสวยสุขอันเกิดจากสงสงครามที่ทำมาด้วยมือนั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้เผยประตูสวรรค์ให้แก่ตนเอง
             ถ้าท่านไม่ยอมทำสงครามเพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งความเป็นธรรมครั้งนี้ ก็เท่ากับว่าท่านนั้นได้ละทิ้งหน้าที่และเกียรติของตนเอง การละเลยหน้าที่นั้นจะพาให้ท่านประสบกับบาปกรรม
             คนทั้งหลายจะพากันประณามท่าน ท่านก็เคยฟังมาไม่ใช่หรืออรชุน ว่าสำหรับบุคคลผู้ถือกำเนิดมาในตระกูลที่สูงส่ง เขาย่อมเลือกเอาความตายแทนการมีชีวิตอยู่อย่างในไร้เกียรติและศักดิ์ศรี

             บรรดานายทหารทั้งหลายที่เคยยกย่องท่านว่าเป็นผู้กล้า ก็จะพากันหยามหมิ่นว่าท่านกลัวตายจนต้องลนลานหนีจากสนามรบ
             ทั้งศัตรูเล่าก็จะพากันปรามาสท่านว่าหมดสิ้นความสามารถ จะมีทุกข์อะไรอีกเล่ายิ่งไปกว่าการถูกหยามหยันทั้งจากศัตรูและพวกพ้องเดียวกันเช่นนี้        
            
           รบเถิดอรชุน! เพราะหากท่านตายในสนามรบ สวรรค์ก็ยังเปิดประตูรอท่านอยู่ แม้นหากว่าท่านมีชัย ความเป็นใหญ่ในแผ่นดินก็รอให้ท่านครอบครองอยู่แล้ว
             จงวางใจให้เสมอในสุขและทุกข์ ในลาภและความเสื่อมลาภ ตลอดจนในชัยชนะและความพ่ายแพ้ แล้วเตรียมพร้อมเพื่อการรบเถิด
             ทำได้อย่างนี้ท่านจึงจะปลอดพ้นจากบาป


             หลักคำสอนที่เรากล่าวแก่ท่านนี้เรียกว่าสางขยพุทธิ และต่อไปนี้ ขอท่านจงสดับพุทธิอันอยู่ในฝ่ายโยคปรัชญา
            อรชุน! พุทธิอันได้แก่ความรู้แจ้งในเรื่องโยคะนี้ หากท่านสามารถเข้าถึงย่อมจะพาให้ท่านปลดเปลื้องตัวเองออกจากพันธนาการแห่งกรรมได้หมดสิ้น
            ในปรัชญาโยคะนี้มีหลักปฏิบัติง่ายๆ อยู่คือ ไม่เสียใจกับสิ่งที่สูญเสียไปกับไม่ดีใจในสิ่งที่ได้มา หลักปฏิบัติเพียงเล็กน้อยนี้หากใครสามารถทำตามได้ เขาย่อมสามารถพาตนเองข้ามมหันตภัยแห่งชีวิตอันใหญ่หลวงได้


มีต่อค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 ตุลาคม 2554 19:18:07 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: pic » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 06 ตุลาคม 2554 10:35:07 »



บทที่สอง(ต่อค่ะ)

อรชุน! แท้ที่จริงโยคะคือการกระทำจิตให้บริสุทธิ์นี้ก็คือการรวบรวมความคิดนึกให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว เมื่อใดที่ความคิดของเราซัดส่ายเมื่อนั้นจิตย่อมไร้สมาธิ
               ใครก็ตามที่หยังหลงงมงายในอักขระแห่งคัมภีร์พระเวท ใครก็ตามที่ใจแคบกล่าวอ้างว่าสิ่งที่ตนเชื่อถือเท่านั้นถูกต้อง นอกนั้นผิดหมด คนผู้นั้นแม้ใจจะปรารถนาเข้าสู่สวรรค์ สู้บำเพ็ญบุญทานนานาประการก็ยังชื่อว่าเป็นคนโง่อยู่ดี
               จิตของบุคคลผู้ติดข้องในทรัพย์และอาจย่อมไม่อาจตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ฉันใด จิตที่ถูกความงมงายในคัมภีร์ครอบคลุมไว้ ก็ไม่อาจหยั่งลงสู่ความแน่วแน่ได้ฉันนั้น

               อรชุน! คัมภีร์พระเวทนั้นประกอบด้วยหลักคำสอนใหญ่ๆ อยู่สามประการคือ สัตตวะ, ระชะ, และ ตมะ* (หลักคำสอนสามประการนี้เรียกว่าองค์คุณทั้งสามของพระเวท เป็นหลักคำสอนที่กล่าวถึงธรรมชาติพื้นฐานของชีวิต โดยจำแนกเป็นสัตตวะ-ความดีงาน, รชะ-ความทะยานอยากในทางที่ผิด, และ ตมะ-ความลุ่มหลงมืดบอด ธรรมชาติสามอย่างนี้ศาสนาฮินดูถือว่าเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวคนมาแล้วแต่กำเนิด สัตตวะเป็นธรรมชาติฝ่ายดีงาม สร้างสรรค์, ส่วนรชะกับตมะเป็นธรรมชาติฝ่ายเลวและทำลาย คำอธิบายขององค์คุณทั้งสามนี้มีละเอียดในบทที่ ๑๔ ข้างหน้า หลักคำสอนสามประการนี้ถือเป็นหลักคำสอนในขั้นศีลธรรมเหมือนคำสอนเรื่องกุศลกับอกศลของพุทธศาสนา การจะเข้าถึงหลักธรรมขั้นปรมัตถ์ท่านจึงสอนให้ละเรื่องเหล่านี้เสีย เหมือนที่ชาวพุทธถือกันว่าละบุญละบาปได้จึงจะถึงนิพพาน-ผู้แปล)

               แม้หลักคำสอนสามประการนี้ เมื่อถึงที่สุดแล้วท่านก็จำต้องละเพื่อความบริสุทธิ์ของตนเอง
               จงทำใจให้ข้ามพ้นสภาวธรรมอันเป็นคู่ทั้งหลาย เช่น สุข-ทุกข์, นินทา-สรรเสริญ, หรือ ได้ลาภ-เสื่อมลาภ ฯลฯ เป็นต้นเสีย แล้วหันมายึดเหนี่ยวเอาความผ่องใสของดวงใจเป็นที่พึ่งเถิด
               อุปมาดังบ่อน้ำอันอำนวยประโยชน์แก่ผู้คนก็เนื่องเพราะเหตุที่บ่อนั้นเปี่ยมเต็มด้วยน้ำอันใสสะอาด ประโยชน์แห่งคัมภีร์พระเวทจะมีก็เฉพาะแก่ผู้รู้แจ้งในแก่นแท้แห่งคัมภีร์เท่านั้น
               การบรรลุถึงสัจจะที่ถูกต้องจะมีได้ก็ด้วยการปฏิบัติตามหลักคำสอนเท่านั้น การรอคอยผลโดยไม่ทำการใดๆ ย่อมไม่อาจพาบุคคลเข้าสู่ความจริงได้ เพราะฉะนั้น จงเริ่มลงมือปฏิบัติเถิดอรชุน อย่ามัวนั่งรอผลแห่งกรรมโดยไม่กระทำอะไรเลย
               ขอท่านจงยึดมั่นในโยคะอันได้แก่การทำใจให้บริสุทธิ์เถิด และสำหรับความยึดติดที่ผิดๆ ในตัวตนก็ขอให้ท่านละเสีย จงวางใจให้เป็นกลางทั้งในความสำเร็จและล้มเหลวของชีวิต ทำได้ดังที่ว่ามา ท่านย่อมจะได้ชื่อว่าปฏิบัติครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักแห่งโยคะ แท้ที่จริงนั้นโยคะนี้ก็คือการทำใจให้สม่ำเสมอไม่เอนเอียงในทุกสภาวธรรม ไม่ว่าสภาวธรรมนั้นๆ จะดีหรือเลวก็ตาม
           
               บาป กับ ปัญญา สองอย่างนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
               อรชุน! จงแสวงหาที่พึ่งคือปัญญาเถิด
               บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญาย่อมมองเห็นว่าทั้งความดีและเลวล้วนแต่เป็นสิ่งที่พึงสละทิ้งทั้งสิ้น เพราะเหตุนั้น จงมั่นใจในโยคะเถิดอรชุน เพราะโยคะนี้คือหลักยึดสำหรับช่วยให้เราทำกรรมได้โดยไม่ผิดพลาด
               อนึ่งเล่า ผู้ประกอบด้วยปัญญา สละผลกรรมแล้วย่อมพ้นจากพันธนาการอันได้แก่การเกิด มุ่งหน้าสู่ภูมิอันปราศจากความทุกข์โศกชั่วนิรันดร์

               เมื่อใดก็ตามที่ปัญญาของท่านข้ามพ้นคลื่นปั่นป่วนแห่งทะเลความลุ่มหลง เมื่อนั้นท่านจะหมดสิ้นความสงสัยในสิ่งที่เคยฟังมาก่อนและในสิ่งอันไม่เคยสดับฟัง
               ยามใดที่ปัญญาของท่านแปรปรวนไม่แนบแน่นอยู่ในสิ่งอันได้รับฟังมา, ยามนั้นขอท่านจงตั้งปัญญาให้มั่นด้วยอำนาจแห่งสมาธิ ทำได้อย่างนี้ ท่านจะบรรลุถึงโยคะ

               อรชุนถามว่า
               กฤษณะ! บุคคลผู้มีปัญญาและสมาธิตั้งมั่นนั้นมีลักษณะเช่นใด คนเช่นนั้นเขาพูด เขานั่ง หรือเขาเดินอย่างไร
               กฤษณะตอบว่า
               อรชุน! บุคคลผู้ละความทะยานอยากทั้งมวลในจิตใจได้หนึ่ง, บุคคลผู้ยินดีในอาตมันของตนหนึ่ง, บุคคลที่มีลักษณะดังว่ามานี้ท่านเรียกว่าผู้มีปัญญาตั้งมั่น
               อนึ่ง ผู้ไม่หวั่นไหวในคราวประสบทุกข์และไม่กระหายอยากในการแสวงหาสุขอันจอมปลอมใส่ตน คนเช่นนี้เป็นผู้ข้ามพ้นจากความดิ้นรนทะยานอยาก จิตใจเยือกเย็นมั่นคง ท่านเรียกคนเช่นนี้ว่าผู้มีปัญญาตั้งมั่นเช่นกัน

               อีกประการหนึ่ง ผู้มีใจเป็นกลางในสรรพสิ่ง ไม่ยินดีเมื่อประสบสิ่งถูกใจหรือขัดใจเมื่อประสบสิ่งอันไม่ถูกใจ ผู้มีลักษณะดังกล่าวนี้ท่านก็เรียกว่าผู้ปัญญาตั้งมั่นอีกเช่นกัน
               อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้สำรวมความรู้สึกให้มั่นคงเมื่อกระทบกับอารมณ์ต่างๆ ดุจเต่าเก็บซ่อนอวัยวะให้ปลอดภัยภายในกระดอง ผู้มีลักษณะเช่นนี้ก็เรียกว่าผู้มีปัญญาตั้งมั่นเหมือนกัน
               ผู้สำรวมความรู้สึกได้ดังกล่าวมาจนความรู้สึกนั้นวางเฉยเป็นนิจในทุกอารมณ์ เขาย่อมชื่อว่าเข้าถึงสิ่งสูงสุดในชีวิตแล้ว
               อรชุน! คนเราหากเพียรพยายามเข้าหาความบริสุทธิ์ ความพากเพียรนั้นย่อมช่วยให้เขาสามารถเอาชนะใจตนองได้
               ผู้ใดสำรวมความรู้สึกให้ตั้งมั่นสม่ำเสมอในทุกอารมณ์ ผู้นั้นย่อมปัญญาแจ่มจ้าและหนักแน่น

               สำหรับผู้มีใจผูกแน่นอยู่ในอารมณ์ต่างๆ อันผ่านเข้ามาทางตาและหูเป็นตน ความที่เขามีใจติดข้องในอารมณ์ย่อมทำให้เขาเกิดความกระหายอยาก ความกระหายอยากนั้นเมื่อไม่ได้สมหวังย่อมแปรเป็นความเคียดแค้น
               ความเคียดแค้นคือบ่อเกิดของความหลง เมื่อลุ่มหลงย่อมขาดสติ ครั้นสติขาดหาย ปัญญาก็เป็นอันถูกกระทำให้พินาศ ผู้มีปัญญาพินาศย่อมประสบกับความหายนะ

               ส่วนผู้มีจิตอันอบรมมาดีแล้วจนสามารถควบคุมความนึกคิดให้มั่นคงเสมอต้นเสมอปลายได้ คนเช่นนั้นย่อมบรรลุถึงความบริสุทธิ์แห่งจิต
               เมื่อจิตบริสุทธิ์ ทุกข์ทั้งปวงก็ย่อมเป็นอันหมดสิ้นไป
               ปัญญาและสมาธิย่อมไม่มีแก่ผู้ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ เมื่อไม่มีสมาธิ ความสงบก็ไม่มี ความสงบไม่มีแล้วสุขจะมีได้อย่างไร

               เมื่อใจปรวนแปรไปตามอารมณ์ต่างๆ ปัญญาก็ย่อมจะลอยล่องไปพร้อมกับความไม่แน่นอนของใจนั้น เสมือนเรือถูกคลื่นลมซัดหอบสู่ห้วงทะเลลึกฉะนั้น
               ดังนี้แลอรชุน ปัญญาจะตั้งมั่นก็เฉพาะแก่ผู้ควบคุมความนึกคิดได้เท่านั้น
               ขณะที่คนทั้งหลายพากันแสวงหาความสุขจากการนอนในยามราตรี ณ เวลานั้น มุนีผู้สำรวมตนย่อมตื่นอยู่ด้วยความมีสติในการบำเพ็ญเพียร
               แควน้อยใหญ่บรรจบไหลหลากล้นสู่ทะเล ทะเลไม่เคยหวาดหวั่นต่อสายน้ำที่ถั่งนองลงมาสู่ตนฉันใด ผู้ควบคุมความรู้สึกได้ย่อมไม่หวั่นไหวเมื่อกระแสอารมณ์ถั่งโถมเข้ามาฉันนั้น

               ข้อนี้เป็นเพราะบุคคลผู้สำรวมตนนั้นได้บรรลุถึงความสงบแห่งจิตอันมั่นคงแล้ว บุคคลผู้ยังลุ่มหลงอยู่ในสิ่งยั่วยวน ไม่มีทางจะบรรลุถึงความสงบแห่งใจเช่นนั้นเลย
               ผู้ใดละความกระหายอยากในสิ่งยั่วยวนเสียได้ ขณะเดียวกันก็ขจัดความรู้สึกว่านี่คือเรา-นี่ของเราได้หมดสิ้น ผู้นั้นย่อมเข้าถึงความสงบชั่วนิรันดร์
               อรชุน! ความสงบชั่วนิรันดร์นี้เป็นเสมอแดนสวรรค์ ใครได้บรรลุถึง ย่อมหลุดพ้นจากความงมงาย มีสุขสถิตมั่นอยู่อาณาจักรแห่งพรหมชั่วกัลปาวสาน


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 06 ตุลาคม 2554 10:43:43 »




ฤๅษีวยาส.. ผู้รจนามหาภารตะยุทธ
ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน

สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง)

บทที่สาม
                  อรชุนถามว่า
                     กฤษณะ!ก็หากท่านเห็นว่าปัญญาเป็นตัวนำสำคัญในการกระทำทุกอย่างแล้ว เหตุใดท่านจึงชักนำเราให้ทำสงครามอันเป็นบาปมหันต์เล่า   
                  ถ้อยคำอันวกวนของท่านทำให้เราสับสน ขอจงไขความให้กระจ่างหน่อยได้ไหม เอาให้แน่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น   
                  กฤษณะตอบว่า   
                  อรชุน! หนทางสำหรับเดินไปสู่นิรันดรของชีวิตนั้นประกอบด้วยส่วนหนุนส่งอยู่สองส่วน คือ ความรู้แจ้งด้วยปัญญาหนึ่ง, กับการลงมือปฏิบัติตามความรู้แจ้งนั้นอีกหนึ่ง
                     ผู้ละเว้นการปฏิบัติย่อมไม่อาจข้ามพ้นห้วงแห่งกรรมออกไปสู่ความเป็นอิสระและความสมบูรณ์ของชีวิตได้
                     ไม่มีใครในโลกนี้จะอยู่เฉยๆ โดยไม่กระทำสิ่งที่เรียกว่ากรรมได้แม้เพียงชั่วอึดใจเดียวก็ตาม ทุกขีวิตล้วนแต่ถูกสร้างมาเพื่อให้ทำสิ่งนี้   
                  ผู้ใดแสร้งเป็นคนสำรวมตนต่อหน้าคนอื่น แต่ภายในใจกลับว้าวุ่นด้วยอารมณ์อันปั่นป่วน ผู้นั้นชื่อว่าลวงทั้งตนเองและคนอื่น
                     ส่วนผู้ใดควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงได้ด้วยใจโดยที่การสำรวมนั้นมิได้เป็นไป เพราะการแสร้งเส ผู้นั้นนับว่าเป็นคนประเสริฐแท้
   
                  จงรีบขวนขวายทำความดีเถิด การทำความดีย่อมประเสริฐกว่าการหายใจทิ้งเปล่าๆ โดยไม่ได้ทำสิ่งอันเป็นคุณประโยชนแก่ตนและคนอื่น   
                  ร่างกายของคนเราเมื่อวันเวลาล่วงผ่านย่อมทรุดโทรมชำรุด ถึงเวลานั้นแล้ว แม้อยากจะกระทำความดีก็ยากที่จะทำได้ดังใจนึก   
                  ทุกชีวิตในโลกถูกลิขิตให้เดินไปตามแรงบันดาลของกรรม แต่การกระทำที่มุ่งความหลุดพ้นจากห้วงกรรมไม่จัดเป็นกรรม เพราะฉะนั้นเมื่อจะกระทำกรรมขอจงอุทิศการกระทำนั้นเพื่อความหลุดพ้นเถิด อรชุน
   
                  เมื่อแรกที่พระประชาบดีพรหมทรงเนรมิตโลก พระองค์ได้สร้างมนุษย์ขึ้นพร้อมกับทรงบัญญัติพิธีให้เป็นแบบแห่งการดำเนิน ชีวิตของมนุษย์ว่า
                     “ด้วยยัญกรรมนี้ สูเจ้าทั้งหลายจะรุ่งเรืองและสมบูรณ์พูนสุข ด้วยสิ่งอันตนปรารถนาทุกประการ”
                     เพราะเหตุนี้แล มนุษย์จึงควรเกื้อหนุนเหล่าเทพยดาด้วยยัญพิธี* (ยัญพิธีหรือการบูชายัญคือการเซ่นไหว้เทพเจ้าตามความเชื่อของชาวฮินดู จากความตอนนี้เราจะเห็นได้ชัดว่าเดิมทีเดียวการบูชายัญมีจุดประสงค์จะให้ มนุษย์ระลึกถึงคุณของธรรมชาติฟ้าดินอันเป็นการปลูกสำนึกที่ดีงามตามหลัก ศาสนา แต่ภายหลังคำสอนนี้ได้ถูกบิดเบือนจนการบูชายัญกลายเป็นพิธีกรรมที่โหดร้าย ป่าเถื่อนถึงขนาดมีการเซ่นสรวงยัญด้วยการสังเวยชีวิตมนุษย์ เมื่อพุทธศาสนาอุบัติขึ้น พระพุทธองค์ก็ทรงพยายามชี้ให้ผู้คนหันกลับไปหาความหมายที่แท้ของยัญกรรมอัน บริสุทธิ์แต่ดั้งเดิมอีกครั้ง แต่ความพยายามนั้นก็ประสบผลเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจขจัดความเข้าใจผิดของคนรุ่นต่อมาได้อย่างสิ้นเชิง-ผู้แปล)ด้วยว่าเทพ ทั้งหลายเมื่อได้รับการบำรุงอุปถัมภ์จากมนุษย์เช่นนั้นแล้วก็จักอำนวยผลตอบแทนแก่ผู้ที่เซ่นไหว้ตน เมื่อต่างฝ่ายต่างก็จุนเจือกันและกันเช่นนั้น ทั้งสองฝ่ายย่อมจะประสบสิ่งดีงามร่วมกัน
   
                  สิ่งใดที่มนุษย์ปรารถนา สิ่งนั้นหากเป็นความดีงาม มนุษย์ก็อาจได้มาสมประสงค์ เพราะการบันดาลของเหล่าเทพที่ตนอุทิศยัญพิธีถวาย
                     ผู้ใดได้รับการหนุนส่งจากเทพยดาแล้วลืมตนไม่ตอบแทนการเกื้อกูลจากสวรรค์นั้น ผู้นั้นนับว่าเป็นมหาโจรแท้
                     สาธุชนผู้มีใจเผื่อแผ่เมื่อบริโภคของเซ่นไหว้อันเหลือจากยัญกรรมแล้ว ย่อมพ้นจากบาปทั้งมวล แต่สำหรับทุรชนผู้เห็นแก่ตัว ไม่ปรารถนาจะเผื่อแผ่อานิสงส์แห่งยัญกรรมของตนแก่คนข้างเคียง การบริโภคของเซ่นไหว้นั้นก็คือการบริโภคบาปของตนเอง
                     ทุกชีวิตในโลกอยู่ได้ด้วยอาหาร อาหารเกิดมีเพราะน้ำฝน ฝนตกต้องตามฤดูกาลเพราะการประกอบยัญพิธี ส่วนยัญพิธีนั้นเล่าก็เกิดมีด้วยการกระทำของมนุษย์
   
                    การลงมือกระทำสิ่งดีงามเป็นคำสอนที่มีมาแต่คัมภีร์พระเวทและพระเวทนั้นแท้ก็ คือคำสั่งสอนอันกำเนิดมาแต่ปรมาตมันอันสูงสุด ด้วยเหตุนี้ พระเวทจึงไม่ใช่คัมภีร์ หากแต่เป็นสภาวะที่ดำรงอยู่ในทุกอณูของสรรพสิ่งตลอดจนดำรงอยู่ชั่วนิจนิรันดรในยัญกรรม
                     อรชุน! โลกเรานี้นับวันก็มีแต่จะหมุนไปข้างหน้า ผู้ใดจมชีวิตตนเองไว้กับกระแสโลกียสุขไม่ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับการเปลี่ยนแปรของวันคืน ชีวิตของคนผู้นั้นนับว่าสูญเปล่าปราศจากแก่นสารแท้
                     แต่สำหรับบุคคลผู้มีใจเอิบอิ่มในอาตมัน พอใจในอาตมัน และยินดีในอาตมันอันสูงสุดนั้น กรรมอันได้แก่หน้าที่ที่จะพึงปฏิบัติอย่างอื่นของบุคคลนั้นย่อมเป็นอันจบสิ้นไม่อีกแล้ว
                     บุคคลเช่นนั้นย่อมข้ามพ้นทั้งกรรมและอกรรม เขาไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งใดเพื่อให้ลุถึงประโยชน์ของตน
                     เพราะฉะนั้น จงปฏิบัติในสิ่งอันพึงปฏิบัติโดยไม่ยึดมั่นเถิด บุคคลผู้กระทำกรรมโดยไม่หวังผลตอบแทนจากการกระทำนั้นย่อมบรรลุถึงปรมัตถภาวะ อันสูงสุด
   
                  เพราะกระทำกรรมโดยไม่ยึดติดในผลแห่งกรรมนี่เอง บรรพชนของเราในอดีตเป็นต้นว่าชนกราชา*(ชนกราชาในโศลกนี้หมายถึงท้าวชนก เจ้ากรุงมิถิลาราชบิดาของนางสีดาในมหากาพย์รามายณะ-ผู้แปล)จึงได้บรรลุถึงความ บริสุทธิ์และสมบูรณ์ชีวิต   
                  เพื่อเห็นแก่เพื่อนมนุษย์ จงกระทำคุณความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเถิดอรชุน   
                  เมื่อผู้มีอำนาจในแผ่นดินปฏิบัติอย่างไร คนทั้งหลายที่อยู่ใต้ปกครองย่อมจะปฏิบัติตามกฎระเบียบนั้น   
                  อรชุน! สำหรับเราเองนั้นกรรมอันพึงกระทำไม่มีอีกแล้วในไตรโลกนี้ เราไม่มีสิ่งที่ยังไม่ได้บรรลุอันจะต้องพยายามบรรลุถึงอีกแล้ว กระนั้นก็ดี เราก็ยังเอาตัวเข้าคลุกคลีกับเพื่อนมนุษย์ แปดเปื้อนอยู่กับการกระทำกรรมเพราะเราเห็นแก่เพื่อนร่วมแผ่นดินเหล่านั้น   
                  แม้นว่าเรามีใจวางเฉย ไม่เอาตัวเข้าแปดเปื้อนกับการกระทำกรรม มุ่งเสวยสุขเพียงอย่างเดียว มนุษย์ทั้งหลายก็จะพากันหันไปหาการเสพสุขด้วยเข้าใจว่านั่นคือความถูกต้อง ของชีวิต
   
                  เมื่อเป็นเช่นนั้น โลกทั้งโลกจะพลันวุ่นวายจนถึงพินาศแตกดับ ตัวเราเล่าก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายความเป็นระเบียบของโลกและเป็น ผู้ล้างผลาญ ประชานิกรทั้งหมดให้ฉิบหายล่มจม
   
                  อรชุน! คนโง่เมื่อกระทำกรรมย่อมยึดมั่นในการกระทำนั้น ส่วนผู้รู้กระทำกรรมแล้วหาได้ยึดติดในการกระทำนั้นไม่ ปราชญ์ทำกรรมเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้กระทำเพื่อตนเอง              
                  ปราชญ์ย่อมไม่ตัดหนทางในการก้าวไปสู่ความดีงามของคนเขลาผู้ยังติดข้องอยู่ใน วังวนแห่งกรรม หากแต่หาโอกาสให้คนเขลานั้นได้กระทำกรรมดี อันจะส่งผลเป็นความสุขสงบแก่ชีวิตของเขาเอง
   
                  กรรมทั้งปวงมนุษย์ไม่ใช่ผู้กระทำ กรรมทั้งหลายเหล่านั้นถูกขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งธรรมชาติ*(คำ ว่า “พลังแห่งธรรมชาติ”นี้แปลมาจากศัพท์เดิมในภาษสันสกฤตว่า ปฺรกฺฤติ คำนี้ในภาษาไทยเรามักแปลทับศัพท์ว่า ประกฤติ ส่วนในภาษาอังกฤษท่านมักแปลเป็น Nature หรือ Forces of Nature ครูอาจารย์ที่สอนภาษาสันสกฤตให้ผู้แปล เคยอธิบายให้ฟังว่า ปฺรกฺฤติ นี้เป็นพลังลึกลับอย่างหนึ่งที่ชาวฮินดูเชื่อกันว่าเป็นสิ่งผลักดันให้ชีวิต ทุกชีวิตในจักรวาลหมุนเหวี่ยงไป ซึ่งนั่นก็หมายความว่าชีวิตของคนเราต่างก็ล้วนดำเนินไปตามการลิขิตของปฺรกฺฤติ ชีวิตหาได้เป็นอิสระในตัวมันเองไม่ ความเชื่อเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางความคิดอันแตกออกมาเป็นศาสนา หรือลัทธิที่ปฏิเสธคัมภีร์พระเวทในยุคต่อมา เพราะคนรุ่นนั้นเริ่มสงสัยกันแล้วว่าชีวิตไม่มีอิสระในตัวมันเองจริงหรือ พุทธศาสนาถึงกำเนิดมาก็ด้วยแรงหนุนส่งจากปฏิกิริยาดังกล่าวด้วยเช่นกัน-ผู้แปล)คนโง่เขลาไม่เข้าใจความเป็นจริงอันนี้ย่อมหลงผิดว่าตนคือผู้กระทำกรรม
   
                  ส่วนผู้ฉลาดย่อมรู้จักแยกแยะกรรมกับพลังแห่งธรรมชาติอันผลักดันกรรมนั้นว่า ปรากฏการณ์อันเรียกว่ากรรมแท้ก็คือการแสดงตนของพลังธรรมชาติ คนเช่นนั้นย่อมไม่ยึดติดในกรรม   
                  คนเขลาไม่เข้าใจถึงพลังธรรมชาติอันอยู่เบื้องหลังกรรม ย่อมเข้าใจสับสนว่ากรรมกับพลังแห่งธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ปราชญ์ควรชี้แนะให้บุคคลผู้หลงผิดเช่นนั้นเข้าใจความเป็นจริง   
                  เพราะเหตุนี้แลอรชุน จงสลัดกรรมทั้งปวงของท่านมาไว้ที่เราแล้วประสานใจอันบริสุทธิ์เข้ากับอาตมัน จงขจัดความกังวลแล้วจับอาวุธขึ้นรบเถิด   
                  ผู้ใดเชื่อมั่นในคำสอนของเรา รับเอาคำสอนนี้ไปปฏิบัติด้วยใจบริสุทธิ์ ผู้นั้นย่อมพ้นจากการเวียนว่ายในห้วงแห่งกรรม 
                  ส่วนบุคคลใดดูแคลนคำสอนของเรา ไม่รับเอาคำสอนนี้ไปปฏิบัติ เพราะมานะอันแข็งกร้าวในใจ บุคคลนั้นคือคนเขลา ปัญญามืดบอด คนเช่นนั้นจะต้องประสบกับความฉิบหายเพราะความโง่ของตนเอง
   
                  แม้แต่ปราชญ์ที่ฉลาดหลักแหลมก็ยังต้องปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติ อนึ่งเล่า ทุกชีวิตในโลกก็ล้วนแต่ต้องดำเนินชีวิตให้คล้อยตามธรรมชาติ อย่างนี้แล้วเรายังจะคิดดื้อรั้นฝืนกฎแห่งธรรมชาติอยู่หรือ   
                  ความดีใจกับความเสียใจเกิดจากการกระทบกันระหว่างอารมณ์ภายนอกกับความรู้สึก คนเราไม่พึงตกอยู่ในอำนาจของมัน เพราะไม่ว่าความดีใจหรือความเสียใจ
ทั้งสองอย่างล้วนแต่เป็นอุปสรรคในการก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งชีวิตเหมือน กัน   
                  จงปฏิบัติหน้าที่ของตนไปเท่าที่ความสามารถจะอำนวยให้ แม้จะกระทำได้เพียงเล็กน้อย การกระทำนั้นก็นับว่าประเสริฐกว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคนอื่นที่เขากระทำได้ อย่างสมบูรณ์ไม่มีขาดตก   
                  คนที่ตายเพราะทำหน้าที่ของตนย่อมชื่อว่ามีชีวิตยืนนานเป็นอมตะ ส่วนบุคคลผู้ตกเป็นทาสอาณัติของคนอื่น แม้จะมีชีวิตอยู่ก็เสมือนหนึ่งคนที่ตายแล้ว
   
                  อรชุนถามว่า   
                  กฤษณะ! อำนาจอะไรหนอที่ผลักดันให้คนเรากระทำบาปทั้งที่โดยความเป็นเหตุเป็นผลแล้วคง ไม่มีใครในโลกประสงค์จะกระทำความชั่ว การกระทำของเขาน่าจะมีอะำำำไรสักอย่างเป็นเครื่องชักนำใช่หรือไม่   
                  กฤษณะตอบว่า   
                  ถูกแล้วอรชุน สิ่งที่กระตุ้นให้คนกระทำความชั่วคือความกระหายอยากอันจะแปรเป็นความเคียดแค้นเมื่อไม่ได้สมอยากในทันที สิ่งนี้นี่เองที่เป็นศัตรูของความดี   

                  ควันบดบังความโชติช่วงของเปลวไฟ ฝุ่นธุลีบดบังความสดใสของกระจก รกหุ้มห่อทารกเอาไว้ด้วยอาการฉันใด ความกระหายอยากหุ้มห่อจิตใจให้เศร้าหมองมืดมัวด้วยอาการดังของสามอย่างที่ กล่าวฉันนั้น   
                  อรชุน! เหตุที่คนเราไม่อาจประจักษ์แจ้งซึ่งสัจจะก็เพราะอำนาจการครอบงำของกิเลสดัง กล่าวนี่เอง กิเลสทำให้คนไม่รู้จักอิ่มพอ เหมือนไฟไม่เคยอิ่มเชื้อฉันใดก็ฉันนั้น   
                  ความรู้สึก, จิตใจ และความรู้ ท่านกล่าวว่าเป็นทางเล็ดลอดเข้ามาของกิเลสหากว่าเราไม่รู้เท่าทันมัน เมื่อกิเลสอันได้แก่ความทะยานอยากอันไม่รู้จักจบสิ้นเข้าครอบงำการรู้แจ้ง คนเราย่อมจะหลงทางไม่อาจเข้าถึงอาตมันได้เป็นของธรรมดา
   
                  เพราะเหตุนี้แลอรชุน จงควบคุมความรู้สึกเอาไว้ให้มั่นเมื่อมีอารมณ์ภายนอกมากระทบ จากนั้นจึงพยายามขจัดบาปอันเป็นสิ่งปิดกั้นการรู้แจ้งออกไปจากจิตใจ   
                  ท่านกล่าวว่าอำนาจของความรู้สึกเป็นสิ่งมีพลัง แต่ที่มีพลังเหนือความรู้สึกนั้นได้แก่พลังแห่งจิตใจ   
                  จิตใจที่ว่ามีพลังก็ยังพ่ายแพ้อำนาจแห่งปัญญา กระนั้นก็ดีปัญญาก็ยังด้อยอำนาจกว่าอาตมัน   
                  อรชุน! เมื่อประจักษ์ชัดว่าความทะยานอยากเป็นศัตรูของการเข้าหาความดี ทำไมท่านไม่รีบขจัดมันเสียด้วยปัญญาเล่า


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 06 ตุลาคม 2554 14:35:30 »




ทุรโยธน์ และ โทรณาจารย์
ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
(สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง)

บทที่สี่
 
                 กฤษณะตรัสว่า  
                 โยคปรัชญาอันเป็นอมตะนี้เราเปิดเผยครั้งแรกแก่วิวัสวานสุริยเทพ ต่อมาสุริยเทพได้ถ่ายทอดโยคปรัชญานี้แก่มนูโอรสของตน เมื่อมนูได้โอรสชื่ออิกษวากุ มนูก็ถ่ายทอดโยคปรัชญานี้ให้แก่ราชาอิกษวากุนั้น  
                อรชุน! โยคปรัชญานี้สืบทอดกันมาในหมู่กษัตริย์ที่ยึดถือธรรมมานาน จนเมื่อกาลผ่านพ้น ความยาวนานของกาลเวลานั้นก็ทำให้คนรุ่นหลังค่อยๆ ลืมเลือนหลักธรรมอันนี้เสีย
  
                บัดนี้เราได้นำหลักคำสอนที่ลี้ลับซึ่งสูญหายไปจากโลกเป็นเวลานานนั้นมาให้ท่านได้รับรู้ ที่เรากล้านำเอารหัสยธรรมอันนี้มาแสดงแก่ท่านก็ด้วยเห็นว่าท่านนั้นเชื่อมั่นในเราทั้งยังเป็นสหายผู้ซื่อตรงของเราอีกด้วย  
                 อรชุนถามว่า  
                 ก็ตัวสหายเองเกิดทีหลังท่านวิวัสวานสุริยเทพไม่ใช่หรือ ไฉนจึงบอกเราว่าโยคะนี้สหายเป็นคนประกาศแก่สุริยเทพเล่า  
                 กฤษณะตอบว่า  
                 ฟังนะอรชุน! ทั้งเพื่อนและเราต่างก็เวียนว่ายตายเกิดกันมาไม่รู้คนละกี่ภพกี่ชาติแล้ว การเวียนว่ายตายเกิดนั้นทั้งหมดเราสามารถระลึกได้ แต่ท่านไม่อาจทำได้เช่นเรา ท่านจึงสงสัย  
                 แม้ว่าเราจะไม่มาเกิดยังโลกมนุษย์ ชีวิตของเราก็เป็นอมตะไม่มีวันพินาศเสื่อมสลาย ครั้นถึงเวลาที่เราต้องอวตารลงมาปราบยุคเข็ญในฐานะอิศวรมหาเทพผู้เป็นเจ้าชีวิตของสรรพชีวิตในจักรวาล เราก็บังคับอาตมันอธิษฐานให้ร่างปรากฏด้วยกำลังแห่งมหิทธิฤทธิ์อันทรงอานุภาพ

  
                อรชุน! เมื่อใดก็ตามที่ธรรมเสื่อมทรุดปล่อยให้อธรรมงอกงามขึ้นมาแทนที่ เมื่อนั้นเราจะปรากฏร่างยังมนุษย์โลก เพื่อพิทักษ์คนดีและปราบปรามคนเลวทันที!  
                 ที่เราเผยกายให้ชาวโลกเห็นในแต่ละยุคนั้น จุดประสงค์ก็เพื่อป้องกันเอาไว้ซึ่งความเที่ยงธรรมในโลกนี้

                 อรชุน! ใครก็ตามที่ประจักษ์เบื้องหลังการอุบัติของเรา ผู้นั้นเมื่อละร่างไปสู่ปรภพแล้วเขาไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายในห้วงสังสารวัฏฏอีก หากแต่ชีวาตมันของเขาจะลอยล่องไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมันของเราในทิพยโลก  
                บุคคลใดปราศจากความกระหายอยาก ความกลัวและความโกรธ มุ่งยึดเหนี่ยวเอาเราเป็นอารมณ์ในทุกขณะเวลา ปลงใจรับเอาเราเป็นสรณะของชีวิต บุคคลนั้นชื่อว่ามีชีวิตบริสุทธิ์ด้วยปัญญาและความพากเพียรของตนเอง บุคคลเช่นที่กล่าวมานี้นับอนันต์ทีเดียวที่ละร่างจากโลกนี้แล้วได้ร่วมเสวยทิพยสุขกับเรา ณ ทิพยสถานโพ้น  
                 นี่คือสิ่งที่แสดงว่าผู้ที่ดำเนินชีวิตเพื่อเข้าถึงเราย่อมได้รับการตอบสนองจากเรา ทางเดินแห่งชีวิตของมนุษย์นั้นมีอเนกอนันต์นานา แต่เมื่อสาวไปจนถึงที่สุดแล้ว ทางเหล่านั้นล้วนตรงดิ่งมาที่เรา  
                 มนุษย์นั้นเมื่อประสงค์จะให้กรรมของตนสำเร็จผลก็พากันเซ่นสรวงเทพเจ้าด้วยเข้าใจว่าการให้ผลของกรรมสามารถเกิดขึ้นได้โดยพลัน
  
                 วรรณะทั้งสี่* (วรรณะทั้งสี่ได้แก่ กษัตริย์ –นักรบหรือชนชั้นปกครอง, พราหมณ์ –นักบวช หรือ ศาสนาจารย์, แพศย์ –พ่อค้าหรือผู้ประกอบกิจการด้านพาณิชยกรรม และศูทร –ชนชั้นกรรมกรที่ไม่มีกิจการเป็นของตนเอง ต้องอาศัยแรงงานรับจ้างยังชีพ วรรณะทั้งสี่นี้เป็นการจำแนกชนชั้นของผู้คนในสังคมอินเดียโบราณที่ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน จากข้อความในโศลกนี้เราจะเห็นว่าแนวคิดในเรื่องวรรณะดั้งเดิมนั้นเป็นเพียงการจำแนกผู้คนออกเป็นกลุ่มตามความเหมาะสมทางด้านอาชีพ (ในภาษาสันสกฤตท่านใช้คำว่า กรฺม) และพื้นฐานทางธรรมชาติที่แตกต่างกันเช่นความสนใจ ความชอบ หรือความถนัด (ภาษาสันสกฤตใช้ว่า คุณ) ไม่ได้ประสงค์จะแบ่งแยกว่าใครดีใครเลวหรือใครสูงใครต่ำอย่างที่เป็นในยุคหลัง-ผู้แปล) เราเป็นผู้สร้างขึ้นโดยกำหนดเอาธรรมชาติและการกระทำของพวกเขาเป็นเกณฑ์จำแนก เราคือผู้สถาปนาวรรณะและท่านจงทราบด้วยว่าเวลานี้ผู้ก่อตั้งระบบวรรณะขึ้นนั้นยังดำรงอยู่ไม่ได้เสื่อมสูญไปไหน
  
                ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเรากระทำกรรม กรรมจึงไม่แปดเปื้อนเรา เรากระทำกรรมโดยไม่ต้องรับผลของการกระทำนั้น ผู้ใดทราบภาวะอันอยู่เหนือกรรมของเรา ผู้นั้นย่อมพ้นจากพันธนาการแห่งกรรม  
                 ท่านผู้แสวงหาความหลุดพ้นในอดีตทราบความเป็นจริงดังกล่าวนี้แล้วย่อมพากันกระทำกรรมโดยไม่หวาดหวั่น ตัวท่านเองก็จงกระทำกรรมโดยไม่กังวลเยี่ยงบรรพบุรุษเถิดอรชุน  
                  กรรมคืออะไร อกรรมหมายถึงสิ่งใด แม้ปราชญ์ก็จนปัญญาในเรื่องทั้งสองนี้  
                  ฟังนะ! เราจะเฉลยไขเรื่องราวอันลี้ลับแห่งกรรมแก่ท่าน เมื่อทราบความข้อนี้แล้ว ท่านจะพ้นจากบาปทั้งมวล

  
                  กรรมก็ดี วิกรรมก็ดี อกรรมก็ดี สามสิ่งนี้บุคคลพึงทำความเข้าใจให้ถ่องแท้* (กรรม, วิกรรม และอกรรม สามอย่างนี้เป็นการจำแนกลักษณะของกรรมคือ กรรม-หมายถึงการกระทำความดี, วิกรรม-หมายถึงการกระทำความชั่ว, ส่วน อกรรม-หมายถึงการกระทำที่อยู่เหนือกรรม หรือการกระทำที่ทำลงไปแล้วผู้กระทำไม่ต้องรับผลของกรรมนั้น เรื่องกรรม, วิกรรมและอกรรมนี้ หากจะเทียบกับเรื่องกรรมในพุทธศาสนาจะเทียบได้ดังนี้คือ กรรม (ของฮินดู) เทียบได้กับกุศลกรรม (ของพุทธ) วิกรรม (ของฮินดู) เทียบได้กับอกุศลกรรม (ของพุทธ) ส่วนอกรรม (ของฮินดู) เที่ยบได้กับวิมุตติกรรม (ของพุทธ) ฉบับแปลภาษาอังกฤษส่วนใหญ่แปลคำสามคำนี้ตรงกันว่า กรรม-Aciton วิกรรม-Wrong Action และอกรรม-Inactionผู้แปล)เรื่องราวอันเกี่ยวแก่กรรมนี้ช่างเป็นสิ่งลึกซึ้งและลึกลับ ยากแก่การเข้าใจยิ่งนัก
  
                  บุคคลใดมองเห็นอกรรมในกรรม ส่วนในอกรรมเล่าก็สามารถมองเห็นกรรม บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาเหนือสามัญมนุษย์ กรรมที่เขากระทำลงไปทุกอย่างถือเป็นอันสมบูรณ์ไม่มีบกพร่อง  
                 ผู้ใดกระทำกรรมด้วยความรู้สึกเป็นอิสระจากการยึดมั่นถือมั่น ผู้ใดสามารถเผากรรมของตนให้มอดไหม้ด้วยไฟ คือปัญญา ปราชญ์เรียกผู้นั้นว่าบัณฑิต  
                  ผู้สลัดความยึดมั่นในผลของกรรมทิ้งได้ มีใจแนบสนิทในปรมาตมันอยู่เสมอ และเป็นผู้ไม่ต้องพึ่งพาสิ่งใดอีกแล้วในโลกนี้ คนเช่นนั้นแม้คลุกคลีอยู่ในกรรม ก็ไม่ชื่อว่ากระทำกรรม
  
                  ใครก็ตามที่ข้ามพ้นแล้วซึ่งความทะยานอยาก สามารถควบคุมจิตใจให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม และสละได้ทุกสิ่งอย่างอันเป็นมายาชีวิต คนเช่นนั้นเมื่อกระทำกรรม การกระทำของเขาก็หาได้จัดเป็นกรรมไม่ ร่างกายอันเป็นเนื้อหนังของเขาเท่านั้นที่ทำ จิตใจหาได้กระทำไม่ เมื่อจิตอยู่เหนือกรรม เขาย่อมบริสุทธิ์จากบาปทั้งหลาย
 
                 บุคคลใดพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่หรือพึงมีพึงได้ ไม่ยึดติดในความลวงของมายาการทั้งที่เป็นความสุขและที่เป็นความทุกข์ ไม่ริษยาผู้ประสบผลสำเร็จกว่าตน และสามารถวางใจให้เป็นปกติเมื่อประสบความล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จในชีวิต บุคคลนั้นถึงกระทำกรรมก็ไม่ถูกกรรมผูกดึงเอาไว้  
                 สำหรับบุคคลผู้อยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่น ผู้ข้ามพ้นจากโลกียธรรม ผู้มีใจตั้งมั่นหนักแน่นเพราะประจักษ์แจ้งสัตยธรรม หรือผู้ประกอบยัญกรรมด้วยความไม่ยึดติด กรรมของเขาย่อมบริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทินมัวหมอง
                 บุคคลเช่นนั้นเมื่ออุทิศทานในยัญพิธี ทานของเขาย่อมชื่อว่าเป็นทานที่ถวายแด่พรหมอย่างแท้จริง ของที่เขาถวายในพิธีก็ย่อมชื่อว่าเป็นของเหมาะสมแก่พรหม ทานวัตถุที่เขาโปรยลงในกองไฟย่อมจะล่องลอยไปถึงพรหมอย่างไม่ต้องสงสัย
  
                  ผู้ยึดมั่นในพรหมด้วยดวงใจอันบริสุทธิ์ย่อมเข้าถึงพรหมด้วยประการฉะนี้แล  
                  ในบรรดาโยคีที่บำเพ็ญตละทั้งหลาย บางพวกพากันกราบไหว้เซ่นสรวงเทพเจ้าเหล่าอื่น บางพวกประกอบยัญกรรมอุทิศแด่พระพรหมองค์เดียวเท่านั้น  
                  บางพวกบูชาพรหมด้วยการสำรวมกาย วาจาและใจให้มั่นคง เมื่อประสบกับอารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามากระทบ  
                  บางพวกบูชาพรหมด้วยการสละทรัพย์ บางพวกบูชาด้วยการบำเพ็ญตบะ บางพวกบูชาด้วยการปฏิบัติตามโยคธรรมอันได้แก่การชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ บางพวกบูชาด้วยการบำเพ็ญสมาธิและเจริญภาวนาปัญญา  
                  บางพวกบูชาด้วยการควบคุมลมหายใจเข้าออกมิให้เป็นไปตามปกติ  
                  บางพวกอดอาหาร เป็นการบูชาพรหม
                 เหล่าโยคีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากเป็นผู้ประจักษ์แจ้งในความหมายของยัญกรรมอย่างแท้จริง เมื่อบูชายัญด้วยวิธีการดังกล่าวแล้วย่อมห่างไกลจากความชั่วร้าย
  
                  อรชุน! เมื่อโยคีผู้ประจักษ์แจ้งในความหมายที่แท้ของการบูชายัญ บริโภคอาหารภายหลังจากที่ได้อุทิศเป็นในยัญพิธีแล้วย่อมชื่อว่าได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมอันเป็นแดนเกษมสำราญชั่วนิรันดร์  
                 ก็หากว่าโลกนี้ไม่มีสุขมอบให้แก่ผู้ประกอบคุณความดีแล้ว โลกหน้าที่ยังไม่มาถึงยังจะมีสุขอะไรให้หวังอยู่หรือ!  
                   ยัญกรรมซึ่งมีอยู่มากมายหลายประเภทนี้ ท่านกล่าวไว้ชัดเจนในคัมภีร์พระเวท จงทราบว่ายััญกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งสูงส่ง และเป็นกรรมอันจะส่งผลให้ผู้เข้าใจและปฏิบัติตาม พ้นจากห้วงแห่งสังสารวัฏฏ์
  
                   อรชุน! การกระทำยัญกรรมด้วยความรู้เข้าใจย่อมประเสริฐกว่าการประกอบยัญกรรมนั้นเพียงด้วยทรัพย์สินเงินทอง  
                   ปัญญาหรือความรู้ความเข้าใจนี้เป็นสิ่งสูงสุดในบรรดาสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการกระทำกรรมทั้งหลาย  
                  ปัญญานี้สามารถอบรมให้เกิดมีได้ด้วยการรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าหาท่านผู้มีปัญญากว่าตน ผู้มีปัญญาประจักษ์แจ้งในสัจจะเท่านั้นจึงจะสามารถถ่ายทอดปัญญาให้แก่ผู้อื่นได้
  
                   อรชุน! หากท่านรู้ความเป็นจริงในสิ่งต่างๆ รอบกายด้วยปัญญาแล้ว ท่านจะไม่คลางแคลงในสิ่งนั้นๆ อีกต่อไป  
                   ปัญญาจะทำให้ท่านประจักษ์ชัดว่า อันสรรพชีวิตทั้งหลายทั้งปวงในจักรวาลนี้ต่างมีต้นกำเนิดมาจากเราทั้งสิ้น  
                  เมื่อจำเป็นที่จะต้องกระทำบาป ก็จงกระทำไปเถิด หากแต่เมื่อกระทำแล้วจงอาศัยนาวาคือปัญญานำตัวเองให้ข้ามพ้นห้วงทะเลแห่งบาปนั้น  
                   อุปมาดังไฟเผาฟืนให้เป็นเถ้าธุลี ไฟคือปัญญาย่อมเผาไหม้กรรมทั้งปวงให้พินาศสิ้นสลายได้ฉันใดก็ฉันนั้น  
                   ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดจะชำระล้างชีวิตให้บริสุทธิ์ได้ยกเว้นปัญญาและปัญญานั้นก็เป็นผลมาจากการปฏิบัติตามโยคกรรม
 
                   บุคคลใดเชื่อมั่นในการประกอบคุณความดี ใฝ่ใจแสวงหาปัญญาและรู้จักควบคุมตนเอง บุคคลนั้นย่อมสามารถสร้างเสริมความรอบรู้ให้เกิดแก่ตน เมื่อรอบรู้เขาย่อมอาจเข้าสู่สันติแห่งชีวิตโดยอาศัยความรอบรู้นั้นเป็นสิ่งชักนำตน
  
                   ผู้ใดไม่มั่นใจในการประกอบกรรมดี มีใจคลางแคลงในอาตมัน ผู้นั้นย่อมประสบความพินาศหายนะ ชีวิตทั้งชีวิตเขาจักหาความสุขอันใดไม่ได้เลย  
                   อรชุน!บุคคลใดสลัดกรรมทั้งปวงทิ้งได้ด้วยโยคะและตัดความเคลือบแคลงสงสัยในสิ่งต่างๆ ได้ด้วยปัญญา กรรมทั้งหลายที่บุคคลนั้นกระทำมาย่อมไม่อาจผูกมัดเขาไว้ภายในพันธนาการแห่งมัน  
                   เพราะฉะนั้น! จงตัดความลังเลในใจของท่านให้ขาดสะบั้นด้วยดาบคือปัญญา
แล้วลุกขึ้นจับอาวุธทำสงครามเถิดอรชุน!



http://img440.imageshack.us/img440/817/th432708r3jauu1wvzuv0.gif
คัมภีร์ ภควัทคีตา.. บทเพลงแห่งองค์ภควัน.. (บทเพลงของพระเจ้า)

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 ตุลาคม 2554 12:47:44 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: jpg » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 06 ตุลาคม 2554 15:02:27 »




ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
(สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง)

บทที่ห้า

               อรชุนกล่าวว่า            
               กฤษณะ! แรกทีเดียวท่านสรรเสริญการสลัดกรรมว่าเป็นสิ่งประเสริฐ แต่ภายหลังกลับยกย่องการประกอบกรรมว่าเป็นความดีงาม ช่วยบอกเราให้แน่ทีเถิดว่า ระหว่างการสลัดทิ้งซึ่งกรรม กับการประอบกรรม สองอย่างนี้ สิ่งไหนประเสริฐกว่ากัน

               กฤษณะตอบว่า
               ทั้งการสลัดกรรมและการประกอบกรรมต่างสามารถทำให้จิตหลุดพ้นได้เหมือนกัน หากแต่เมื่อเทียบกันแล้ว การกระทำกรรมด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นย่อมดีกว่าไม่ยอมกระทำกรรมอันใดเลย
              อรชุน! บุคคลใดวางใจให้เป็นปกติเมื่อประสบกับความพลาดหวังหรือสมหวังได้ ทั้งในใจของเขาเล่าก็บริสุทธิ์สะอาดจากความกระหายอยาก พึงทราบเถิดว่าบุคคลนั้นเป็นสันยาสีอันมีความหมายว่าผู้สลัดกรรมทิ้งได้
               ผู้ไม่ลุ่มหลงในมายาการของสิ่งคู่เช่น สุข-ทุกข์ หรือดีใจ-เสียใจ เป็นต้น ย่อมหลุดพ้นจากพันธนาการแห่งชีวิตได้ไม่ยาก
               คนโง่ย่อมกล่าวว่า สางขยะ และโยคะ นั้นแตกต่างกัน แต่ผู้รู้หาได้กล่าวเช่นนั้นไม่ ด้วยว่าหลักปฏิบัติทั้งสองประการนี้หากใครทำตามได้สมบูรณ์เพียงส่วนหนึ่ง ก็สามารถได้รับผลของการปฏิบัติในอีกส่วนหนึ่งพร้อมในคราวเดียวกันด้วย


               ทิพยสถานใดที่ผู้ปฏิบัติตามสางขยะปรัชญาได้บรรลุถึงทิพยสถานนั้น ผู้ปฏิบัติตามโยคปรัชญาก็บรรลุถึงได้เท่าเทียมกัน
              ผู้ใดมองเห็นสางขยะและโยคะว่าเป็นหลักปฏิบัติที่แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวจนไม่อาจแยกกันได้ ผู้นั้นนับว่าเห็นชอบแท้
              อรชุน!การสละกรรมจะกระทำได้ยากยิ่ง หากว่าผู้ปฏิบัตินั้นละเลยโยคะอันได้แก่การประกอบกรรม มุนีผู้บำเพ็ญโยคธรรมพร้อมกับการสละกรรมย่อมบรรลุถึงพรหมได้เร็วพลัน
               ผู้ใดบำเพ็ญโยคธรรมได้บริบูรณ์ มีอาตมันอันบริสุทธิ์ เอาชนะตนเองได้ และสามารถควบคุมประสาทสัมผัสมิให้แปรปรวนเมื่อมีอารมณ์กระทบ อาตมันของคนผู้นั้น ย่อมเข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมัน อันเป็นที่รวมแห่งอาตมันทั้งปวงในสากลจักรวาล


              บุคคลผู้มีอาตมันแนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมันเช่นนั้นกระทำกรรมอันใดลงไปก็ไม่แปดเปื้อนเพราะกรรมนั้น
               บุคคลผู้รู้เท่าทันมายา ย่อมทราบว่าตนเองไม่ได้กระทำอะไร การที่ตามองเห็น หูได้ยินเสียง กายได้สัมผัส จมูกได้สูดกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส หรือการที่คนต้องเดิน ต้องหลับนอน ต้องหายใจ ต้องพูด ต้องขับถ่าย ต้องหยิบโน่นฉวยนี่ ต้องลืมตาและหลับตา เป็นต้น ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมชาติของชีวิต เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เขาก็ปล่อยให้มันสักแต่ว่าเกิดขึ้น ไม่ยึดมั่นถือมั่น


               ผู้ใดกระทำกรรมโดยไม่หวังผลของกรรมนั้น หากแต่มุ่งอุทิศการกระทำความดีนั้นแด่พรหม ผู้นั้นย่อมไม่แปดเปื้อนบาปประหนึ่งใบบัวไม่แปดเปื้อนหยดน้ำฉะนั้น
               โยคีที่แท้ย่อมบำเพ็ญตบะธรรมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งอาตมัน เมื่อโยคีนั้นละทิ้งความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ร่างกาย จิตใจ ประสาทสัมผัส ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดส่วนอื่นของเขาย่อมสักแต่ว่าดำเนินไปตามหน้าที่ของมัน ไม่จัดเป็นกรรมอันจะกลับผูกมัดเขา
               ผู้บำเพ็ญโยคธรรมโดยไม่หวังผลของการบำเพ็ญธรรมนั้นย่อมบรรลุถึงความสงบสูงสุดของชีวิต ส่วนผู้หวังผลของการบำเพ็ญธรรม ถึงปฏิบัติโยคธรรมอยู่ทุกขณะ ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้บำเพ็ญโยคะ ชีวิตของเขามีแต่จะติดแน่นในโลกียมายา ไม่มีทางหลุดพ้น

               อาตมันที่ตัดกรรมทั้งปวงได้ ย่อมอาศัยอยู่ในร่างกายของคนอย่างเป็นสุข เจ้าของร่างนั้นไม่ต้องกระทำกรรมเพื่อเข้าถึงความสงบสูงสุดของชีวิตอันใดอีกแล้ว
              ปรมาตมันอันยิ่งใหญ่ไม่ได้ควบคุมการกระทำกรรมและการให้ผลของกรรมนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นกฎแห่งกรรมล้วนดำเนินไปตามธรรมชาติของมัน
               ปรมาตมันไม่อาจถ่ายถอนบาป หรือรับเอาบุญของใครได้ ปัญญาของคนคนนั้นต่างหากที่จะช่วยฉุดดึงเขาให้พ้นจากห้วงบาป
แต่เพราะเหตุที่ปัญญามักถูกความรู้เท่าไม่ทันจริงปกปิดไว้ คนทั้งหลายจึงต้องเวียนว่ายอยู่ในห้วงทุกข์ ไม่อาจพาตัวหลุดรอดออกมาจากห้วงกรรมนั้นได้

               บุคคลใดทำลายความไม่รู้ได้ด้วยปัญญา ปัญญาของบุคคลนั้นย่อมจะส่องสว่างให้เขามองเห็นปรมาตมันดุจอาทิตย์อุทัยสาดส่องผืนโลกให้คนมองเห็นสรรพสิ่งอย่างแจ่มชัด
               จิตของบุคคลใดยึดเหนี่ยวเอาปรมาตมันเป็นอารมณ์แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวในปรมาตมัน บุคคลนั้นชื่อว่าเดินไปสู่ทิพยสถานอันเป็นสุขชั่วนิรันดร์ เขาไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายในห้วงสังสารวัฏฏ์อีกแล้ว บาปทั้งปวงของเขาถูกชำระล้างให้หมดสิ้นไปด้วยปัญญาแล้ว


               บัณฑิตย่อมมองสรรพชีวิตในจักรวาลว่ามีค่าเสมอกัน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกยกย่องว่าเลอเลิศเช่นพราหมณ์ผู้คงแก่เรียน หรือถูกเหยียดหยามว่าต่ำทรามดังเช่นสัตว์เดรัจฉานและคนในวรรณะจัณฑาล เป็นต้น
               ผู้ใดมีจิตตั้งมั่น ผู้นั้นย่อมเอาชนะทุกสิ่งในชีวิตได้
                พรหมเป็นสภาวะที่เที่ยงตรง ไม่มีความเอนเอียงในสรรพสิ่ง ผู้ตั้งมั่นในความไม่เอนเอียงชื่อว่าตั้งมั่นในพรหม
                บุคคลใดมีปัญญาตั้งมั่น ไม่งมงายในสิ่งไร้เหตุผล รู้แจ้งถึงสภาวะที่แท้จริงของพรหม และมีใจยึดมั่นในพรหม บุคคลนั้นย่อมไม่ยินดีเมื่อประสบสิ่งอันน่าพอใจ และไม่ขุ่นเคืองเมื่อประสบสิ่งอันไม่น่าพึงใจ

                เมื่อจิตใจไม่แปรปรวนไปตามอารมณ์ภายนอก บุคคลย่อมประสบความสุข ยิ่งผู้มีใจแนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมผู้สูงสุด ยิ่งประสบความสุขอันไม่อาจพรรณนาได้

                อรชุน! ความยินดีอันเกิดจากความลุ่มหลงเมื่อได้สัมผัสอารมณ์อันน่าพอใจนี่เองคือต้นตอของทุกข์
               ผู้ใดสามารถต้านทานกระแสแห่งความทะยานอยากและความโกรธได้ กระทั่งร่างกายของตนก็อาจสละได้เพื่อสิ่งสูงสุด ผู้นั้นนับว่าเป็นโยคีแท้
                บุคคลใดพบความสุขในอาตมัน เกิดปีติเอิบอิ่มในอาตมันและมองเห็นความสว่างไสวแห่งชีวิตในอาตมันนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมแล้ว เขาได้บรรลุพรหมนิรวาณอันได้แก่การหมดสิ้นความเร่าร้อนในชีวิตสถิตมั่นเป็นส่วนหนึ่งของปรมาตมันแล้ว

                ผู้ใดทำลายบาปได้หมดสิ้น ตัดขาดความสงสัยในสภาวธรรมทั้งปวงได้สิ้นเชิง มีจิตอันฝึกฝนมาดีแล้ว และเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์สุขแก่สัตว์นิกรทั้งปวงในโลก ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐ ผลของความดีนั้นจักหนุนส่งให้เขาบรรลุถึงพรหมนิรวาณอย่างแน่แท้



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 ตุลาคม 2554 16:59:24 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้า ลงใหม่ค่ะ » บันทึกการเข้า
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7861


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 14.0.835.187 Chrome 14.0.835.187


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 06 ตุลาคม 2554 23:24:22 »

เรื่องเต็ม ๆ ผมว่าอ่านมันส์กว่ารามายณะอีกนะครับ ศึกมหาภารตยุทธนี่
บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 08 ตุลาคม 2554 16:44:36 »




ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง
  
บทที่หก

               กฤษณะตรัสต่อไปว่า
               ผู้ใดกระทำกรรมกรรมโดยไม่หวังผลตอบแทนจากการกระทำนั้น ผู้นั้นชื่อว่าเป็นสันยาสีและเป็นโยคีแท้
               อรชุน! สิ่งที่เรียกว่าการสละกรรม* (การสละกรรมนี้ภาษาสันสกฤตเรียกว่า กรรมสันยาส หมายถึงการทำตัวให้อยู่เหนือกรรมโดยวิธีทำใจให้ว่างเปล่า ไม่ยึดมั่นเมื่อกระทำความดี คำว่า สันยาสี ในโศลกที่หนึ่งของบทนี้คือบุคคลผู้สลัดความยึดมั่นในการกระทำกรรมได้หมดสิ้น เป็นอริยบุคคลที่ไม่ต้องเวียนว่ายในห้วงสังสารวัฏฏ์อีกตามทรรศนะของศาสนาฮินดู ผู้แปล)          
               ผู้ปรารถนาจะบรรลุโยคะพึงยึดเอากรรมเป็นวิถีทางเถิด เมื่ออาศัยกรรมเป็นทางจนลุถึงโยคะแล้ว ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าก้าวเข้าสู่ดินแดนแห่งศานติตราบนิรันดร์แล้ว

              การจะบรรลุโยคะได้นั้นบุคคลต้องไม่ติดข้องอยู่ในกรรมและสามารถสลัดความรู้สึกอยากให้ตนได้รับผลของกรรมทิ้งได้
               อรชุน! คนเรานั้นควรยกตนให้ดีขึ้น สูงขึ้นด้วยตัวของตัว ไม่ควรลดตัวเองให้ต่ำลง ชั่วลง ด้วยการกระทำของตน
               มิตรที่แท้ของคนก็คือตัวของเขานั่นเอง! และศัตรูที่แท้ของคนก็หาใช่ใคร! ตัวของเขาที่ทำให้ตัวเลวลงนี่เองคือศัตรูของตน!
               ตนนี้อาจเป็นได้ทั้งมิตรและศัตรูของตน!
               ตนที่บุคคลสามารถเอาชนะความดิ้นรนใฝ่ต่ำของมันได้ย่อมเป็นมิตรของตน ส่วนตนที่บุคคลไม่อาจควบคุมความกระหายอยากของมันได้ ตนเช่นนั้นย่อมเป็นศัตรูของตน


               บุคคลผู้เอาชนะตนได้ย่อมบรรลุถึงความสงบเย็นแห่งชีวิต เขาเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมันและเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในสุขทุกข์ของชีวิตอีกต่อไป
               คนเช่นนั้นย่อมเอิบอิ่มเป็นสุขในชีวิตเพราะปัญญาและความรอบรู้ของตน เขาย่อมไม่หวั่นไหวเมื่อมีอารมณ์ภายนอกมากระทบ ดุจพื้นดินไม่หวั่นไหวต่อการถูกเหยียบย่ำ เสาศิลาไม่หวั่นไหวต่อลมและแดด หรือทองคำไม่หวั่นไหวต่อการถูกตรวจสอบ
              ผู้ใดวางใจได้สม่ำเสมอไม่เอนเอียง ทั้งในมิตรและศัตรู ทั้งในญาติพี่น้องและคนที่โกรธแค้นกัน ทั้งในคนดีและคนชั่ว ผู้นั้นนับว่าประเสริฐแท้
               ผู้ที่รู้จัก
ปลีกตนในบางเวลาจากความวุ่นวายในชีวิตและใช้ช่วงเวลาอันสงบเงียบนั้นหมั่นเพียรฝึกฝนจิตอยู่เสมอ ย่อมจะสามารถเอาชนะตนได้ไม่วันใดก็วันหนึ่งอย่างแน่นอน

               อรชุน! สมาธิอันได้แก่ความแน่วแน่ในใจย่อมไม่มีแก่คนที่กินอิ่มเกินไปหรือหิวเกินไป อนึ่ง คนที่นอนมากจนสมองมึนงงหรือคนที่อดนอนจนอ่อนเพลีย สมาธิก็เกิดมีแก่เขาไม่ได้
               สมาธิหรือโยคธรรมนี้จะเกิดมีก็เฉพาะแก่ผู้รู้จักประมาณใน
การกิน การดื่ม หรือประมาในการพักผ่อนเท่านั้น เมื่อการปฏิบัติเป็นไปด้วยความพอเหมาะพอควร ผลอันได้แก่การบรรลุถึงความสิ้นทุกข์ย่อมจะเกิดมีได้ไม่ยาก
               เมื่อใดที่จิตได้รับการฝึกฝนจนตั้งมั่นเป็นสมาธิและหลอมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับอาตมัน เมื่อนั้นบุคคลย่อมสามารถสลัดความทะยานอยากในสิ่งอันเป็นมายาได้

               ดวงประทีปอันตั้งอยู่ในที่สงัดลมย่อมเปล่งแสงสว่างไสวฉันใด จิตที่ได้รับการฝึกฝนจนสงบมั่นแล้วย่อมเป็นคุณแก่ชีวิตฉันนั้น
              เมื่อจิตสงบมั่นเพราะโยคธรรมแล้ว บุคคลย่อมไม่ดิ้นรนเป็นทุกข์กับการไขว่คว้าหามายา
               ครั้นชีวิตประสบความสุขอันสูงสุดซึ่งเกิดมีเพราะปัญญาแล้ว บุคคลนั้นย่อมตั้งมั่นไม่มีวันเคลื่อนคลายออกจากสัตยธรรม

               เขาย่อมไม่ประสงค์สุขอื่นเพราะสุขที่เขาได้รับนั้นเป็นบรมสุขชั่วนิรันดร์แล้ว บรมสุขเช่นนั้นหากใครได้หยั่งถึง ต่อให้ทุกข์ขนาดไหนโถมซัดชีวิต ก็ไม่อาจทำให้เขาหวั่นไหวต่อมัน
               บรมสุขชั่วนิรันดร์นี้ได้แก่โยคะ
               ดังนั้นโยคะจึงเป็นคุณธรรมที่บุคคลพึงน้อมนำมาปฏิบัติด้วยความตั้งใจและด้วยจิตใจที่เข้มแข็งอดทน
               เมื่อละความทะยานอยากในใจได้หมดสิ้น อินทรีย์อันได้แก่ทางผ่านเข้ามาของอารมณ์ย่อมเป็นอันถูกควบคุมไว้ดีแล้ว
               เมื่อทางผ่านของอารมณ์ภายนอกได้รับการระมัดระวังด้วยดี ความกระวนกระวายภายในใจย่อมจะค่อยๆ ถูกระงับลงด้วยความรู้เท่าทันมัน

               เพื่อทำใจให้เป็นสมาธิ บุคคลพึงน้อมใจนั้นให้พุ่งดิ่งไปยังอาตมัน คราวใดที่ใจว้าวุ่น คราวนั้นบุคคลพึงรีบบังคับจิตให้มุ่งไปหาอาตมัน
               ความสุขอันสูงสุดจะเกิดมีก็เฉพาะแก่บุคคลผู้มีใจสงบเยือกเย็น ก็คือการได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพรหม ณ ทิพยโลกแดนสุขาวดี
               ผู้ปฏิบัติตามโยคธรรมจนบรรลุถึงความหลุดพ้นแล้ว ย่อมมองเห็นสรรพสิ่งว่าล้วนแต่เสมอกันหมดสิ้น เขาย่อมมองเห็นอาตมันในสรรพสิ่ง และมองเห็นสรรพสิ่งในอาตมัน

               โดยนัยเดียวกัน ผู้ใดสามารถมองเห็นเราในสรรพสิ่ง และมองเห็นสรรพสิ่งในเรา เราย่อมไม่ละทิ้งผู้นั้น ทั้งผู้นั้นก็ย่อมได้ชื่อว่าไม่ละทิ้งเราดุจกัน
               บุคคลใดมีใจผูกแน่นในเรา เชื่อมั่นว่าเราดำรงอยู่ในทุกอณูของสรรพสิ่ง บุคคลนั้นจะปฏิบัติตนอย่างไรก็ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อเข้าถึงเราเสมอ
               อรชุน! ผู้ใดมองเห็นสุขทุกข์ของเพื่อนร่วมแผ่นดินเสมอด้วยสุขทุกข์ของตน ผู้นั้นนับว่าเป็นคนประเสริฐหาได้ยากยิ่ง!              
            
               อรชุนถามว่า
               กฤษณะ! ท่านบอกเราว่าโยคธรรมนี้โดยนัยหนึ่งหมายเอาการทำใจให้สม่ำเสมอในสรรพสิ่งทั้งที่ดีและเลว ทั้งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ ฯลฯ เรายังปฏิบัติตามถ้อยคำของท่านได้ไม่ทัน เพราะจิตใจของคนเรานี้มันควบคุมได้ยากยิ่ง เสมือนหนึ่งควบคุมพายุร้ายที่กำลังโหมพัดเลยทีเดียว
               กฤษณะตอบว่า
               อรชุน! ที่ท่านพูดมานับว่าถูกต้องแล้ว จิตนี้เป็นสิ่งควบคุมฝึกฝนได้ยากนัก เพราะธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งล่องลอย นึกจะไปทางไหนมันก็ไป ไม่มีใครห้ามได้
               แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าเราจะฝึกฝนจิตให้สงบ หยุดดิ้นรนไม่ได้ จิตนี้สามารถอบรมให้เยือกเย็นและบริสุทธิ์ได้ด้วยความเพียรและปัญญา
               ผู้ควบคุมจิตใจให้มั่นคงไม่ได้ ยากนักจะบรรลุโยคธรรม ดังนั้น สิ่งแรกที่ผู้ประสงค์จะเจ้าถึงโยคะพึงกระทำก็คือการฝึกฝนจิต
               จิตนี้ฝึกฝนได้เสมอ
หากรู้วิธีการ!


               อรชุนถามว่า
               กฤษณะ! คนบางคนมีศรัทธาในโยคธรรม แต่มิอาจปฏิบัติให้ถึงที่สุดได้ คนเช่นนั้นเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว คติภพของเขาจะเป็นเช่นใด
               คนผู้นั้นจะต้องเวียนว่ายไปในห้วงสังสารวัฏฏ์อย่างไร้จุดหมายเหมือนหมู่เมฆที่แตกกระจายไร้ทิศทางเพราะแรงลมหรือไม่ เขาคนนั้นจะมีโอกาสได้เข้าสู่แดนสุขาวดีแห่งพรหมบ้างไหม
               ขอท่านจงขจัดข้อสงสัยอันนี้ให้แก่เราเถิด สำหรับปัญหานี้ไม่มีใครทราบคำตอบดีนอกจากท่าน

               กฤษณะตอบว่า
               อรชุน! คนผู้นั้นไม่ว่าจะสิ้นชีพไปสู่ปรภพหรือยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ คุณความดีที่เขาสร้างสมไว้ย่อมไม่มีวันพินาศเสื่อมสลายไปจากเขา คนทำกรรมดีย่อมไปสู่ภพที่ดีเสมอ
               ผู้ใดปฏิบัติโยคะด้วยความศรัทธาแต่ไม่ได้บรรลุถึงที่สุดเพราะสิ้นชีวิตก่อน ผู้นั้นเมื่อละโลกนี้ไปสู่ปรโลก เขาจะได้เสวยสุข ณ สุขาวดีแดนสวรรค์เป็นเวลาหลายชั่วกัลป์ จากนั้นจึงจะจุติลงมาเกิดยังโลกมนุษย์ในตระกูลที่สูงส่งด้วยชาติกำเนิดและคุณธรรม
               หากไม่เกิดในตระกูลอันมั่งคั่งดังกล่าวมา เขาย่อม
ไปเกิดในตระกูลแห่งโยคีผู้มีปัญญา การกำเนิดในตระกูลโยคีเช่นนั้นนับเป็นลาภชีวิตอันหาได้ยากยิ่งในโลกมนุษย์

               เพราะเหตุที่คุ้นเคยกับการปฏิบัติโยคะมาแล้วในชาติก่อน เมื่อชาตินี้ได้มาเติบโตท่ามกลางบุคคลผู้ปฏิบัติโยคธรรมอีกครั้ง ความทรงจำเก่าๆ ที่ติดตัวมาจักช่วยให้เขาเข้าใจแนวทางการปฏิบัติได้รวดเร็ว
              อดีตสัญญาจักช่วยให้เขาปฏิบัติโยคะได้ก้าวหน้าจนบรรลุถึงที่สุด
เมื่อบรรลุโยคะแล้ว ภารกิจของชีวิตทั้งปวงย่อมถือเป็นอันจบสิ้น


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 ตุลาคม 2554 06:10:16 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: gita1.jpg » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: 08 ตุลาคม 2554 19:21:44 »






ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง
  
บทที่เจ็ด

                กฤษณะตรัสว่า
                ฟังนะอรชุน! หากท่านปฏิบัติโยคะด้วยใจอันแนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวในเรา ท่านจะประจักษ์ชัดถึงภาวะแห่งเราและจะเลิกคลางแคลงในตัวเราโดยสิ้นเชิง
                เราจะบอกสิ่งลี้ลับอันสำคัญในชีวิตแก่ท่าน ซึ่งเมื่อท่านเข้าใจเรื่องนี้ได้ทะลุปรุโปร่งแล้ว ท่านไม่จำเป็นจะต้องรู้อะไรอีกก็สามารถเข้าถึงความสุขสูงสุดในชีวิตได้
                ในจำนวนผู้คนหลายหลากมหาศาลบนผืนแผ่นดินนี้ มีน้อยคนที่จะขวนขวายหาความหลุดพ้นให้แก่ตนเอง และในจำนวนคนที่รู้จักขวนขวายหาความหลุดรอดซึ่งน้อยนิดนั้นก็มีน้อยคนนักที่จะเข้าใจแจ่มแจ้งถึงภาวะแห่งเรา

                ฟังไว้นะอรชุน! ธรรมชาติอันเป็นภาวะแห่งเราประกอบด้วยสิ่งแปดประการต่อไปนี้ คือ ดิน, น้ำ, ลม, อากาศ, มโน, พุทธิ และอหังการ* (ธรรมชาติแปดประการนี้ในภาษาสันสกฤตรวมเรียกว่า ปฺรกฺฤติ ปฺรกฺฤติทั้งแปดนี้ตามความเชื่อของชาวฮินดูถือว่าเป็นองค์ประกอบของชีวิตที่สมมติว่าเป็นคนคนหนึ่ง ผู้แปล)
                ธรรมชาติแปดประการนี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของเรา ไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญในความเป็นเรา
                ยังมีธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญและถือเป็นเสมือนหัวใจของความเป็นเราเรียกว่า ปรมาตมัน
                ปรมาตมันนี้เป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงในจักรวาล จักรวาลจะรุ่งเรืองหรือพินาศแตกดับขึ้นอยู่กับสิ่งนี้เท่านั้น!
                เมื่อปรมาตมันคือต้นกำเนิดของชีวิตทุกชีวิตบนฝืนแผ่นดินนี้ เราจึงเป็นต้นกำเนิดของโลก เป็นผู้สร้างโลกและเป็นผู้สามารถทำลายโลกได้ดุจกัน!

                อรชุน! ตลอดสกลจักรวาลนี้ไม่มีใครหรือสิ่งใดยิ่งใหญ่กว่าเรา หากสรรพสิ่งในจักรวาลเปรียบได้ดังอัญมณีหลากชนิด เราก็คือสายสร้อยที่ผูกร้อยอัญมณีเหล่านั้นเอาไว้ทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดบังอาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา!
                เราเป็นรสในน้ำ! เป็นแสงสว่างในดวงเดือนและดวงตะวัน! เป็นเทพยนามที่สวดในคัมภีร์พระเวท! เป็นเสียงในอากาศ! เป็นบุรุษภาวะในบุรุษเพศ!
                เราเป็นกลิ่นอันบริสุทธิ์ในดิน! เป็นความโชติช่วงในไฟ! เป็นชีวิตในสิ่งมีชีวิตทั้งมวล! เป็นตบะในผู้บำเพ็ญตบธรรม!
                เราเป็นหน่อพันธุ์ในการสืบต่อชีวิตของสิ่งมีชีวิต! เป็นปัญญาของผู้มีปัญญา! เป็นเดชะของผู้มีเดชบารมี!

                เราเป็นกำลังของผู้ใช้กำลังในทางที่ชอบ! เป็นความมุมานะไปในทางที่ถูกของผู้ใฝ่หาความดีงาม!
                แม้แต่ความดีและความชั่วทุกอย่างก็เกิดจากเราเป็นผู้สร้างความดีและความเลวไว้ในโลก แต่เราไม่ติดในความดีและความชั่วนั้น

                เพราะโลกถูกความยึดติดในความดีและความเลวบดบังเอาไว้ คนจึงมองไม่ทะลุสองสิ่งนี้ไปถึงเราผู้อยู่เบื้องหลังมายานั้นได้
               มีมายาหลากหลายในโลกที่หุ้มห่อเราไว้ไม่ให้มนุษย์เห็น ผู้เชื่อมั่นในเราเท่านั้นจึงจะข้ามฝ่ามายาเหล่านี้มาถึงเราได้ ส่วนผู้หลงยึดในมายาย่อมไม่อาจก้าวข้ามมาหาเรา

                อรชุน! ในโลกนี้มีคนอยู่สี่จำพวกที่เคารพเรา
สี่จำพวกนี้ได้แก่
คนที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์หนึ่ง, ผู้แสวงหาความรู้หนึ่ง, ผู้แสวงหาสิ่งอันเป็นประโยชนแก่ชีวิตหนึ่ง, และผู้มีปัญญารู้แจ้งอีกหนึ่ง
                ในจำนวนคนทั้งสี่ประเภทนี้ คนประเภทสุดท้ายซึ่งได้แก่ผู้มีปัญญารู้แจ้งนับเป็นผู้ประเสริฐสุด บุคคลประเภทนี้เป็นผู้อุทิศตัวต่อเราเพียงหนึ่งเดียว และเพราะความภักดีต่อเรา เขาจึงปฏิบัติโยคธรรมสม่ำเสมอไม่ให้ขาดตก เราโปรดปรานคนประเภทนี้มากกว่าใครอื่นในโลก
                อันที่จริงคนทั้งสี่ประเภทดังกล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นคนดีเพราะต่างก็เคารพเราด้วยกันทั้งสิ้น หากแต่เราเห็นว่าผู้มีปัญญารู้แจ้งเป็นผู้มีภาวะแห่งเราอยู่ภายในตัวเขา เขาเชื่อมั่นในเรา อุทิศตนเพื่อเรา และยึดเอาเราเป็นเป้าหมายของชีวิตที่จะต้องไปให้ถึง เหตุนั้นเราจึงกล่าวว่าเขาเป็นผู้ประเสริฐสุดในบรรดาคนทั้งสี่ประเภทที่กล่าวมาตอนต้น

                บุคคลผู้มีปัญญารู้แจ้งนั้น หลังจากเวียนว่ายอยู่ในห้วงสังสารวัฏฏ์เป็นเวลาพอสมควรแล้ว ในชาติสุดท้ายของการเวียนว่ายเขาจะได้เข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับเรา เพราะอานิสงส์แห่งการบำเพ็ญเพียรด้วยความภักดีในเรา
                บุคคลที่ถูกความต้องการอันไม่มีที่สุดชักนำจิตใจย่อมพากันบูชาเซ่นไหว้เทพเจ้าเหล่าอื่นที่มิใช่เรา และพากันปฏิบัติตามแนวทางอันหลากหลายสับสน
                คนเหล่านี้เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว จะไม่ได้เข้าไปร่วมอยู่ในภพเดียวกับเรา
หากแต่จะได้ไปสู่เทพสถานของเหล่าเทพที่ตนบูชาซึ่งเป็นสถานที่อันยังไม่ปลอดพ้นจากการเวียนว่ายในห้วงสังสารวัฏฏ์ดังพรหมภพแห่งเรา
                กระนั้นก็ดี เมื่อเขาศรัทธาในเทพองค์ใด เราก็ไม่ปิดกั้นศรัทธานั้น มีแต่จะช่วยย้ำให้เขาศรัทธาต่อเทพนั้นๆ หนักแน่นขึ้นอีก

                เมื่อคนมีศรัทธาต่อเทพ เขาก็ย่อมจะกระทำกรรมดี เพื่อเป็นการบูชาเทพนั้น การกระทำความดีย่อมหนุนให้เขาได้รับผลกรรมที่ดี
                แต่ผลของกรรมดีอันเกิดจากการกระทำความดีเพื่อบูชาเทพเหล่านั้นยังไม่ถึงขั้นจะช่วยให้เขาหลุดพ้นจากการเวียนว่ายในห้วงกรรม ผู้กระทำความดีอุทิศเพื่อเราเท่านั้นจึงจะพบทางหลุดรอด
                คนเขลามองไม่เห็นเราเพราะถูกมายาปิดคลุมดวงตาไว้ จึงนึกคิดไปเองว่า เราไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง
                ภาวะแห่งเราถูกปิดซ่อนเอาไว้ด้วยโยคมายา* (โยคมายาคืออานุภาพที่หุ้มห่อความเป็นรูปของพรหมมิให้มองเห็นได้ เป็นอานุภาพที่ทำให้พรหมมีฐานะเป็นอรูปซึ่งจะสัมผัสได้ด้วยปัญญาเท่านั้น-ผู้แปล) จึงไม่ปรากฏให้ประจักษ์แก่สายตาของสามัญชน ผู้มีปัญญาสามารถแหวกมายานี้ได้เท่านั้นจึงจะมองเห็นภาวะที่มีอยู่จริง และเป็นนิรันดร์ไม่รู้จักเสื่อมสลายของเรา
                เรารู้แจ้งถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของโลก แต่โลกทั้งโลกไม่มีใครรู้จักเรา


                อรชุน! ความลุ่มหลงในมายาการของสิ่งคู่เช่นดี-เลว สมหวัง-พลาดหวัง หรือสุข-ทุกข์ เป็นต้น นั้นมีต้นกำเนิดมาจากความหลงพอใจในสิ่งที่ตนเห็นว่าน่าพอใจกับความหลงเกลียดชังในสิ่งที่ตนเห็นว่าไม่น่าพอใจ
                ความหลงในมายาสองส่วนนี้เองที่เป็นสิ่งสกัดกั้นไม่ให้คนทั้งหลายข้ามพ้นจากห้วงสังสารวัฏฏ์เข้าสู่ความหลุดพ้นได้
                ผู้ละบาปแล้วกระทำบุณยกรรมจนข้ามพ้นความยึดติดในมายาการของสิ่งคู่
ย่อมไม่ติดอยู่ในห้วงสังสารวัฏฏ์
                ผู้ใดเชื่อมั่นในเรา ยึดเหนี่ยวเอาเราเป็นที่ถึงเพื่อพาตนให้ข้ามพ้นจากชราและมรณะ ผู้นั้นจักเข้าถึงพรหมอันเป็นบรมศานติ


                เราเป็นใหญ่เหนือผืนปฐพีและสวรรค์ ใครประจักษ์ความจริงอันนี้ย่อมเกิดศรัทธาในเรา ด้วยศรัทธานั้นเขาย่อมยินดีจะบำเพ็ญเพียรเพื่อเข้าถึงเรา ผู้เข้าถึงเราย่อมมีชีวิตเป็นสุขชั่วนิรันดร์หลังจากละโลกนี้ไปแล้ว
        


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 ตุลาคม 2554 19:37:21 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: หัวข้อค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #10 เมื่อ: 10 ตุลาคม 2554 12:30:29 »




ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
(สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง)

บทที่แปด

                อรชุนถามว่า
                กฤษณะ! พรหมผู้สูงสุดนั้นเป็นอย่างไร อาตมันคืออะไร กรรมคือสิ่งใด ผู้เป็นใหญ่เหนือแผ่นดินและสวรรค์คือใคร โปรดตอบข้อสงสัยเหล่านี้ของเราที
                ในบรรดาสิ่งอันประกอบขึ้นเป็นร่างกายของคน ส่วนใดเป็นผู้รับผลของความดีที่คนผู้นั้นกระทำลงไปและได้รับโดยวิธีใด
                เราจะแน่ใจด้อย่างไรว่าหากควบคุมใจให้แน่วแน่ต่อท่านในชาตินี้แล้ว เมื่อตายไปจะได้พบท่านในทิพยโลกโปรดตอบ!
                กฤษณะตอบว่า
                ธรรมชาติอันหนึ่งไม่รู้จักเสื่อมสลายไปตามกาล เป็นใหญ่เหนือทุกสิ่งในจักรวาล นั่นล่ะพรหมอันสูงสุด
                สภาวะรู้รูปอย่างหนึ่งสถิตอยู่ในร่างกายของมนุษย์ เป็นตัวรับรู้อารมณ์และคิดนึก สภาวะนี้เรียกว่าอาตมัน
                มีพลังลึกลับชนิดหนึ่งเป็นตัวผลักดันให้เกิดชีวิตใหม่ สิ่งมีชีวิตทุกอย่างในจักรวาลต่างเวียนว่ายตายแล้วเกิดตามแรงผลักดันของพลังอันนี้ พลังที่ว่านี้เรียกว่ากรรม

                สสาร* เป็นใหญ่ในแผ่นดิน จิต* เป็นใหญ่ในสวรรค์
                *(สสาร Matter นี้ในภาษาสันสกฤตใช้ว่า กฺษรภาวะ หมายถึงสิ่งที่ถูกต้องสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า และเป็นสิ่งสูญสลายไปได้ตามกาลเวลา -ผู้แปล)
                * (จิต Spirit ในโศลกสันสกฤตท่านใช้ว่า บุรุษ ได้แก่ สภาวะนิรันดรอย่างหนึ่งที่เวียนว่ายอยู่ในห้วงจักรวาล จิตสามารถดำรงอยู่ได้ทั้งในร่างมนุษย์และในสภาพล่องลอยเป็นอิสระ และจะสถิตอยู่ในร่างคนสลับกับการล่องลอยไปจนกว่าจะเข้าถึงพรหม -ผู้แปล)
                เมื่อบุคคลกระทำกรรมดีลงไป ผู้รับผลของกรรมดีนั้นได้แก่อาตมัน
                ดังนั้น ความดีที่กระทำลงไปจึงไม่มีทางสูญเปล่า เพราะอาตมันเป็นสภาวะนิรันดร์ไม่รู้จักแตกทำลาย ถึงผู้กระทำความดีจะตายไป อาตมันที่จะคอบรับผลของกรรมดีก็ยังคงอยู่
                แน่ใจได้เลยว่าผู้ที่มีใจแนบแน่นในเรา เมื่อเขาละโลกนี้ไปแล้วเขาจักได้พบเรา ณ ทิพยสถานอันเป็นบรมสุข
                อรชุน! เมื่อจิตใจของคนยึดเหนี่ยวสิ่งใดเป็นพิเศษในเวลาก่อนตาย สิ่งที่ใจของเขาหน่วงดึงเอาไว้นั้นย่อมจะชักพาเขาไปสู่สภาวะของสิ่งนั้น
                เพราะฉะนั้นอย่าวิตกไปเลยอรชุน! จงรบ! แล้วพยายามระลึกถึงเราเอาไว้ตลอดเวลา! หาท่านตายเพราะการสู้รบในขณะที่ใจยึดเหนี่ยวเอาเราเป็นสรณะ ท่านก็จักได้ไปเสวยสุข ณ ทิพยสถานกับเรา!
                อรชุน! บุคคลผู้มีใจแนบแน่นใน “สิ่งสูงสุด” บำเพ็ญเพียรเพื่อ “สิ่งสูงสุด” นั้น ย่อมลุถึง “สิ่งสูงสุด” สมประสงค์เพราะความพากเพียร

                “สิ่งสูงสุด” นี้รอบรู้ทุกสิ่งอย่างในจักรวาล หยั่งทราบอดีตและอนาคต เป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองโลก เป็นสภาวะที่อยู่เหนือการคาดหวัง เป็นแสงสว่างแห่งจักรวาลประดุจดวงตะวันที่สาดส่องขจัดความมืดมน
                ใครก็ตามยึดเหนี่ยวเอา “สิ่งสูงสุด” นี้เป็นสรณะแห่งชิวิต บำเพ็ญเพียรด้วยใจที่ศรัทธามั่นคงต่อ “สิ่งสูงสุด” นั้น เขาเมื่อละร่างนี้ไปแล้วย่อมเข้าถึง “สิ่งสูงสุด” ณ ทิพยสถานแดนสงบชั่วนิรันดร์
                อรชุน! ท่านผู้รู้เรียก "สิ่งหนึ่ง" ว่าเป็นสภาวะอมตะ ไม่รู้จักเสื่อมสลาย สภาวะนั้นจะบรรลุถึงได้ก็เฉพาะบุคคลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ปฏิบัติด้วยใจอันบริสุทธิ์สะอาดเท่านั้น
                ณ บัดนี้เราจะหยิบยกเอาสภาวะนั้นมาแสดงให้ท่านฟังโดยสังเขป

                อรชุน! ผู้ใดสำรวมกาย วาจา ใจให้มั่นคง ปฏิบัติโยคธรรมด้วยใจที่ตั้งมั่นในเรา ผู้นั้นเมื่อละร่างนี้ไปสู่ปรโลก เขาจะได้บรรลุถึงบรมศานติ
                ผู้ใดมีใจยึดเหนี่ยวในเรา และหน่วงเหนี่ยวเอาเราเป็นอารมณ์ ในการบำเพ็ญสมาธิธรรม ผู้นั้นย่อมเข้าถึงเราได้เร็วพลัน
                เมื่อบรรลุถึงเราแล้วเขาจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับเรา ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายในห้วงสังสารวัฏฏ์อันเต็มไปด้วยความทุกข์เข็ญเจ็บปวดนั้นอีก
                อรชุน! การเวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นกฎของชีวิต ทุกคน ทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป้นมนุษย์หรือเทพล้วนแล้วแต่ต้องเวียนว่ายไปตามกฎของชีวิตอันนี้
                ยกเว้นแต่ผู้เข้าถึงเราเท่านั้นที่อยู่เหนือกฎการเวียนว่ายนี้
               
                แม้แต่เหล่าพรหมในพรหมโลกที่ว่าอายุยืนยาวนักก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเมื่อถึงกาลอันสมควร*
                (* หมายถึงพรหมชั้นต่ำลงมายกเว้นมหาพรหมที่ดำรงภาวะแห่งปรมาตมัน พรหมเหล่านี้ก็คือเทพประเภทหนึ่งแต่เป็นเทพชั้นสูง ที่มีอายุการเสวยสุขในทิพยโลกยาวนานกว่าเทพอื่นๆ -ผู้แปล)

                ในพรหมโลกนั้น วันหนึ่งของเหล่าพรหมเท่ากับพันกัปในโลกมนุษย์ และคืนหนึ่งในพรหมโลกก็เป็นเวลาพันกัปของมนุษย์เช่นกัน
                ในเวลากลางวันพรหมทั้งหลายจะแสดงร่างออกมาให้ปรากฏ ครั้นล่วงเข้าสู่ราตรีร่างเหล่านั้นก็จะกลับประลัยละลายหายไปสู่ความว่างเปล่าอีกครั้ง
                การปรากฏและการประลัยของเหล่าพรหมก็คือการที่ภาวะก่อเกิดจากอภาวะ แล้วภาวะนั้นก็กลับคืนสู่อภาวะอีกที
                อภาวะอันอยู่เบื้องหลังภาวะ และเป็นแดนกำเนิดของเหล่าพรหมตลอดจนสรรพสิ่งในจักรวาลนี้มีเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อักษรภาวะ*
                (* อักษรภาวะ The Imperishable
มาจากคำว่า อ+กฺษร+ภาว, อ-แปลว่าไม่, กฺษร-แปลว่าสิ้นไปได้, อักษรภาวะจึงแปลได้ความว่าสภาพหรืออานุภาพชีวิตหนึ่งที่เป็นอมตะ ไม่มีวันพินาศเสื่อมสลาย -ผู้แปล)

                อักษรภาวะนี้โดยเนื้อแท้ก็คือสิ่งสิ่งเดียวกับบรมศานติสถานที่เราพูดถึง เป็นอมตสถานที่เสวยสุขชั่วนิรันดร์ของผู้หลุดพ้น และเป็นสถานที่ที่เราดำรงอยู่               
                อรชุน! อักษรภาวะนี้เป็นชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด บุคคลจะเข้าอักษรภาวะนี้ได้ก็ด้วยความภักดีอันมั่นคงไม่คลอนแคลนในเราเท่านั้น
                ทางเดินของชีวิตมีอยู่สองสาย สายหนึ่งตรงไปสู่ความสว่างไสวรุ่งเรือง ส่วนอีกสายตรงไปหาความมืดมิดตกต่ำ
                อรชุน! ผู้ฉลาดย่อมรู้จักเลือกทางเดินชีวิตให้ตนเอง ผู้เลือกทางถูกย่อมจะเข้าถึงความสงบแห่งชีวิต ไม่ตกต่ำอับจนเพราะการเลือกที่ผิดพลาดของตนเอง



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 ตุลาคม 2554 14:04:22 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าลงใหม่ค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #11 เมื่อ: 10 ตุลาคม 2554 12:42:07 »




ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง

บทที่เก้า

                กฤษณะตรัสว่า
                อรชุน! เราจะบอกสิ่งลึกลับอย่างยิ่งสามประการแก่ท่าน เมื่อท่านทราบรหัสยภาวะสามประการนี้แล้ว ท่านจะพ้นจากบาปทั้งปวง
                สิ่งลึกลับอย่างยิ่งที่เราจะบอกแก่ท่านนี้ได้แก่ อธิปัญญา หนึ่ง, อธิรหัสยภาพ หนึ่ง, และอธิวิสุทธิ อีกหนึ่ง
                สามสิ่งนี้เป็นทางแห่งการเข้าสู่ความหลุดพ้นโดยตรง
                อรชุน! ผู้ใดไม่เชื่อมั่นในทางสามสายนี้ ผู้นั้นย่อมไม่อาจเข้าถึงเรา เขาจักต้องเวียนว่ายทุกข์ทนอยู่ในห้วงสังสารวัฏฏ์อีกต่อไป
                สรรพสิ่งอันปรากฏเป็นรูปเป็นร่างในจักรวาลล้วนแต่ต้องพึ่งพิงเรา! เราเป็นเจ้าและเป็นนายของสรรพสิ่งไม่มียกเว้น!
                อุปมาดังอากาศที่แทรกซึมอยู่ทั่วทุกอณูของที่ว่าง อากาศนั้นจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตทั้งปวงฉันใด เราก็จำเป็นต่อการพึ่งพาสำหรับสรรพสัตว์ฉันนั้น

                อรชุน! เมื่อถึงเวลาที่กัลป์ประลัย จักรวาลถูกไฟประลัยกัลป์แผดเผาเป็นผุยผงสิ้น ชีวะของสัตว์ทั้งปวงจะเข้าไปรวมอยู่กับเรา จนเมื่อถึงเวลาเริ่มต้นกัลป์ใหม่ เราถึงจะส่งสัตว์เหล่านั้นลงมาจุติอีครั้ง
                เราคือผู้สร้างสรรพสิ่งขึ้นใหม่ในจักรวาลเมื่อกัลป์ใหม่เริ่มต้น! เราเนรมิตทุกสิ่งอันอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าไม่มีที่จบสิ้น! สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนแต่เกิดขึ้น, ดำรงอยู่, และพินาศไปภายใต้การควบคุมของเราทั้งสิ้น!
                เราสร้างสรรพสัตว์ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกรรมของสัตว์ทั้งหลาย
                กรรมใดใครก่อ! ผู้นั้นต้องรับผลของกรรมนั้น!
                คนเขลาไม่หยั่งทราบอานุภาพของเราก็พากันลบหลู่เราผู้อยู่ในร่างมนุษย์สามัญ หารู้ไม่ว่านี่คือเจ้าชีวิตของมันเอง!
                คนผู้ด้อยความคิดเหล่านั้นเมื่อไม่เข้าใจภาวะของเราเสียแล้วจะคิดจะหวังหรือจะกระทำสิ่งใดก็มีแต่พลาดแต่ผิดวิบัติไปหมดสิ้น

                ผู้ฉลาดสามารถมองผ่านร่างมนุษย์ที่หุ้มห่อเราเข้าไปเห็นทิพยภาวะ ย่อมหยั่งทราบว่าเราคือแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่งรวมทั้งตัวเขาเองด้วย เมื่อหยั่งรู้เช่นนั้น เขาย่อมมีใจภักดีต่อเรา หมั่นเพียรบำเพ็ญคุณความดี เพื่อเข้าถึงเราด้วยจิตใจที่มั่นคงหนักแน่น

                อรชุน! ภาวะแห่งเรานี้เป็นได้ทั้งเอกภาวะและพหุภาวะ
                การที่เราเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งหรืออีกนัยหนึ่ง สรรพสิ่งทั้งหลายก่อกำเนิดมาจากเราผู้เดียว นี่เรียกว่าเอกภาวะของเรา
                ส่วนการที่เราเป็นธรรมชาติในสรรพสิ่ง นั่นคือพหุภาวะของเรา
                เราเป็นหัวใจของการประกอบยัญพิธี! เป็นมรรคาสู่ความหลุดพ้น! เป็นผู้ให้กำเนิดโลก! เป็นผู้ปกป้องโลก! และเป็นผู้ทำลายโลก!
                เราเป็นสักขีพยานในการทำความดี! เป็นที่พึ่งพิงของคนทุกข์!
เป็นเพื่อนของผู้ต้องการเพื่อน!


                เราเป็นความร้อนในแสงตะวัน! เป็นความฉ่ำเย็นในสายฝน!
                เราเป็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต! และเป็นความตายของสิ่งที่วงจรชีวิตเดินมาครบเงื่อนไขการดำรงอยู่แล้ว!
                เราเป็นทั้งสิ่งที่มีอยู่และที่ไม่มีอยู่! เป็นภาวะและอภาวะ!
                ผู้ใดหยั่งทราบภาวะแห่งเราทั้งที่เป็นเอกภาวะและพหุภาวะอย่างนี้แล้ว มีใจภักดีหมั่นเพียรประกอบกรรมดีเพื่อนบูชา ผู้นั้นย่อมจะได้รับความเกษมศานดิ์จากเราเป็นเครื่องตอบแทน

                แม้เหล่าชนที่บูชาเทพเจ้าเหล่าอื่นนอกเหนือจากเราก็เช่นกัน เพราะเหตุที่เขาไม่เข้าใจถึงภาวะของเรา ที่ครอบคลุมทุกสิ่งอย่างไม่เว้นกระทั่งเทพเหล่านั้น พวกเขาจึงพากันกราบไหว้เทพที่ตนเข้าใจว่าเป็นสิ่งสูงสุด แต่เพราะความที่พวกเขาเซ่นไหว้เทพด้วยใจบริสุทธิ์ แม้จะยังเดินไปไม่ตรงทางนัก พวกเขาก็จะได้รับผลแห่งความดีนั้นตามสมควรแก่การกระทำจากเรา
                นั่นคือผู้ใดเซ่นไหว้เทพองค์ใด เมื่อสิ้นชีวิตลง ผู้นั้นย่อมจะได้ไปร่วมเสวยสุขกับเทพองค์นั้น
                ผู้ใดกราบไหว้ผีบรรพบุรุษก็จะได้ปอยู่ร่วมภพเดียวกันกับบรรพบุรุษนั้น
                ผู้เซ่นสรวงภูตผีระดับใดก็จะได้ไปร่วมเป็นสมาชิกของภูตผีระดับนั้น

                บุคคลที่กล่าวมาทั้งหมดแม้จะได้รับผลของกรรมในทางที่ดี แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางหลุดพ้น!
                ผู้บูชาเราด้วยการปฏิบัติโยคธรรมจนจิตใจบริสุทธิ์สะอาจากมลทินทั้งปวงเท่านั้นจึงจะพบกับความหลุดพัน!
                การบูชาเรา เราถือเอาความบริสุทธิ์ใจและแรงศรัทธาเป็นประการสำคัญ ดังนั้นหากใครมีใจเชื่อมั่นในเราแม้ทานวัตถุของเขาจะด้อยราคาแค่เพียงเป็นใบไม้, ดอกไม้, ผลไม้ หรือน้ำเปล่าๆ ทานนั้นเราก็ถือว่าเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ จงทราบว่าเรารับเอาทานนั้นไว้ด้วยใจที่เบิกบานและชื่นชมยิ่งแล้ว


                ดังนี้แลอรชุน! เมื่อท่านจะทำ, จะกิน, จะประกอบยัญกรรม, จะให้ทาน, หรือจะบำเพ็ญเพียร ขอจงอุทิศการกระทำทั้งหมดนั้นมาที่เรา
                หากทำได้เช่นนั้น ท่านจะหลุดพ้นจากบุญและบาป อันจะให้ผลเป็นการเวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์ต่อไป
                จงสลัดกรรมทั้งปวงออกจากจิตใจให้หมดสิ้น
                เมื่อสลัดกรรมทิ้งได้ ท่านย่อมได้ชื่อว่าเข้าถึงเราแล้ว
                อรชุน! เราเป็นผู้วางตนเสมอในทุกสิ่งบนผืนแผ่นดินนี้ เราไม่เลือกชอบหรือชัง
                ผู้ใดศรัทธาในเรา ปฏิบัติตนให้ดีเพื่อเข้าถึงเรา ผู้นั้นย่อมจะได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับเรา
                แม้แต่ผู้เคยประกอบกรรมชั่วมาก่อน ต่อภายหลังจึงกลับใจเลิกละความชั่วนั้นเพื่ออุทิศแก่เรา คนเช่นนั้นก็ควรแก่การยกย่องสรรเสริญเสมอสาธุชนคนดีทั้งหลาย

                อรชุน! บุคคลผู้มีใจตั้งมั่นในธรรมและยึดมั่นในเราย่อมได้รับศานติ ไม่มีความเสื่อมตลอดนิรันดรกาล

                คนบาป, สตรี, แพศย์, และศูทร แม้คนสี่ประเภทนี้จะถือกันว่าเป็นคนชั้นต่ำ แต่เมื่อเขามีความเพียรพยายามประกอบคุณความดีอุทิศเพื่อเรา เขาก็สามารถบรรลุบรมศานติร่วมเสวยทิพยสุขกับเราเยี่ยงสาธุชนอื่นๆ ได้เช่นกัน

                ทั้งนี้ไม่ต้องจำเอ่ยถึงบรรดาพราหมณ์และกษัตริย์ชั้นสูงที่ภักดีในเรา เพราะขนาดชนชั้นต่ำที่ภักดีในเรายังอาจบรรลุถึงความสุขอันสูงสุดนั้นได้ ไฉนชนในวรรณะสูงจะไม่ได้รับสุขอันเป็นอมตะเล่า
                อรชุน! โลกนี้เป็นอนิจจังผันแปรไม่แน่นอนหลากรายด้วยทุกข์โศกนานาประการ ทราบเช่นนี้แล้วใยท่านไม่น้อมยึดเอาเราเป็นสรณะเสียเล่า



บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #12 เมื่อ: 10 ตุลาคม 2554 12:55:59 »




ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปล
และเรียบเรียง

(บทที่สิบ)
                   กฤษณะตรัสว่า  
                   อรชุน! จงฟังบรมวจนะของเราอีกครั้ง! เราปรารถนาสิ่งอันเป็นประโยชน์ต่อท่านดอกนะจึงได้พูดถึงสิ่งเหล่านี้ให้ท่านฟัง!  
                  ภาวะของเราเป็นสิ่งลึกลับ แม้กระทั่งพวกเทวดาหรือเหล่าฤาษีก็ไม่อาจหยั่งรู้ได้ ทั้งๆ ที่เรานี่เองคือผู้ให้กำเนิดเทวดาและฤาษีเหล่านั้น  
                   ดังนั้น ผู้ใดหยั่งรู้ภาวะของเราซึ่งเป็นอมตะ ไม่มีเกิด ไม่มีตาย และไม่มีการเริ่มต้นใหม่ ทั้งยังเป็นมหานุภาวะที่อยู่เหนือโลก ผู้นั้นชื่อว่ามีปัญญารู้แจ้งไม่หลงในภาวะแห่งมายา ย่อมพ้นจากบาปทั้งปวง

  
                   พุทธิอันได้แก่ปัญญาความรอบรู้ หนึ่ง, ชญาอันได้แก่ความประจักษ์แจ้งในสัตยภาวะ หนึ่ง, อสัมโมหะอันได้แก่ความไม่ลุ่มหลงในมายาอันปกปิดมิให้เห็นความจริงของโลกและชีวิต หนึ่ง, กษมาอันได้แก่ความอดกลั้นต่อความเย้ายวนของสิ่งเลวร้าย หนึ่ง, สัตยะอันได้แก่ความจริงของโลกและชีวิต หนึ่ง, ทมะอันได้แก่การควบคุมกายวาจาและใจให้มั่นคงเยือกเย็นเวลากระทบกับอารมณ์ต่างๆ หนึ่ง, ศมะอันได้แก่การฝึกฝนจิตให้มีดุลยภาพต่อสรรพสิ่ง หนึ่ง, อหิงสาอันได้แก่ การไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น หนึ่ง, สมตาอันได้แก่การปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอต่อทุกสิ่งอย่าง หนึ่ง, ดุษฎีอันได้แก่ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ไม่ทะเยอทะยานเกินวิสัย หนึ่ง, ตบะอันได้แก่การบำเพ็ญเพียรเพื่อขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใสจากบาป หนึ่ง, ทานอันได้แก่การเสียสละ เพื่อผู้อื่นอีก หนึ่ง
  
                   ภาวะทั้งหลายเหล่านี้มีอยู่ในสัตว์ทั้งหลายก็เพราะเราทั้งสิ้น!  
                   ผู้รู้ความจริงย่อมประจักษ์แจ้งในมหานุภาพของเรา และเมื่อประจักษ์แล้วย่อมยึดมั่นในเรา หมั่นประกอบความเพียรในโยคธรรมเพื่อบรรลุถึงเราโดยไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก
  
                  อรชุนกล่าวว่า  
                  กฤษณะ! ท่านเป็นพรหมผู้ประเสริฐ! เป็นที่พึ่งอันสูงสุดของเหล่าสัตว์! และเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง!  
                   ท่านเป็นนิรันดรภาวะ! เป็นทิพยภาวะ! เป็นปฐมเทพของโลก เป็นอมตภาพที่ไม่เกิดไม่ตาย! และเป็น
มหานุภาวะที่แทรกอยู่ทุกอณูของจักรวาล!

  
                   กฤษณะ! ทุกสิ่งอย่างที่ท่านกล่าวแก่เรา เราเชื่อว่าเป็นความจริง ไม่ว่าความจริงอันนี้จะมีใครยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม!  
                   ท่านได้แสดงทิพยภาวะของท่านแก่เราอย่างแจ่มชัดยิ่ง บัดนี้เรามั่นใจแล้วว่าท่านคือต้นกำเนิดของโลกและจักรวาล ตลอดทุกอณูของจักรวาลและผืนแผ่นดินนี้ไม่มีเลยสถานที่ที่ท่านไม่ได้สถิตอยู่  
                   แต่ทำอย่างไรเล่าเราจึงจะเข้าใจถึงภาวะของท่านได้แจ่มแจ้งยิ่งกว่านี้ การบำเพ็ญโยคธรรมจะช่วยให้เราเกิดความประจักษแจ้งในสิ่งนี้ไหม
  
                   กฤษณะ! ขอท่านจงแสดงนัยแห่งมหานุภาวะและทิพยภาวะของท่านโดยละเอียดแก่เราอีกสักครั้ง เรายังกระหายที่จะได้สดับสิ่งลี้ลับเหล่านี้อีก

  
                   กฤษณะตรัสตอบว่า  
   ได้ซิอรชุน! เราจักแสดงความละเอียดของมหานุภาวะและทิพยภาวะของเราแก่ท่านอีกครั้ง อันความลี้ลับของภาวะแห่งเรานี้มีนัยพิสดารกว้างไกลนัก แสดงอย่างไรก็ไม่รู้จบสิ้น  
                   อรชุน! จงจำเอาไว้ประการหนึ่งว่าเราเป็นอาตมันที่สถิตอยู่กลางหัวใจของมนุษย์และสัตว์ทั้งปวง!  
                   เราเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตแก่มนุษย์และสัตว์ตลอดจนสิ่งมีชีวิตอื่นและเป็นผู้เนรมิตวัตถุที่ไร้ใจครองทั้งปวงขึ้นไว้ในโลกและจักรวาล ดังนั้นเราจึงชื่อว่าเป็นปฐมกำเนิดของสรรพสิ่ง
  
                   เราเป็นผู้ควบคุมสรรพสิ่งให้หมุนเดินหรือหยุดนิ่ง ดังนั้นเราจึงชื่อว่าเป็นมัธยภาวะของสรรพสิ่ง  
                   และสุดท้ายเมื่อถึงคราวที่ต้องล้างกัลป์ให้พินาศย่อยยับ เราก็คือผู้ทำลายโลก จักรวาล และสรรพสิ่ง ดังนั้นเราจึงชื่อว่าเป็นอันตภาวะของสรรพสิ่ง  
                  อรชุน! เราเป็นปฐมกำเนิดอันหมายถึงเบื้องต้น, เป็นมัธยภาวะอันหมายถึงท่ามกลาง, และเป็นอันตภาวะอันหมายถึงที่สิ้นสุดของสรรพสิ่งด้วยประการฉะนี้!
  
                  ในจำนวนอาทิตยเทพสิบสององค์ เราคือวิษณุมหาเทพผู้เป็นจอมแห่งอาทิตยเทพเหล่านั้น  
                   ในบรรดาแสงสว่าง เราคือดวงตะวันที่แผดจ้ากลบแสงสว่างทั้งมวล  
                   ในหมู่มรุตเทพอันเป็นเทพแห่งสายลม เราคือมรีจิเทพที่ทรงอานุภาพควบคุมเทพแห่งสายลมเหล่านั้น  
                   ในหมู่ดาริกาที่ทอแสงยามราตรีเราคือดวงจันทิมาที่ส่องสกาวเหนือเหล่าดาราทั้งหลาย

  
                  ในจำนวนคัมภีร์พระเวททั้งหมด เราคือสามเวทอันประเสริฐลึกซึ้ง  
                   ในเหล่าเทพที่ผู้คนกราบไหว้ เราคือวาสวอินทรเทพผู้ยิ่งใหญ่  
                   ในจำนวนอินทรีย์อันได้แก่องค์ประกอบของชีวิตทั้งหมด เราคือใจที่มีอำนาจบงการอินทรีย์อื่น

  
                   ในบรรดาสิ่งมีชีวิตครอง เราคือชีวะอันครองครองร่างของสิ่งเหล่านั้น  
                   ในหมู่รุทรเทพทั้งหลาย เราคือศังกรเทพผู้เป็นใหญ่เหนือมวลรุทรเทพนั้น  
                   ในหมู่ยักษ์และรากษสทั้งปวง เราคือกุเวรเทพผู้เป็นจอมแห่งยักษ์และรากษสทั้งหลาย
  
                   ในเหล่าวสุเทพทั้งหมด เราคืออัคนีเทพผู้ยิ่งใหญ่เหนือหมู่วสุเทพนั้น  
                   และในบรรดาขุนเขาน้อยใหญ่ทั้งหลาย เราคือสุเมรุบรรพตอันยิ่งใหญ่เหนือเหล่าสิงขรทั้งมวล  
                   อรชุน! แม้ในหมู่ปุโรหิตสอนธรรมทั้งหลาย เราก็คือพฤหัสบดีปุโรหิตผู้ฉลาดหลักแหลมเหนือหมู่ปุโรหิตทั้งหลาย  

                   ในบรรดานักรบทั้งปวง เราคือสกันทมาณพผู้กร้าวแกร่งในเชิงยุทธ์  
                   ในบรรดาลำน้ำน้อยใหญ่ เราคือสาครห้วงสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล  
                   ในหมู่มหาฤาษี
เราคือภฤคุจอมฤาษี
  
                   ในบรรดาถ้อยคำที่คนเปล่งออกมา เราคือถ้อยวจนะว่า “โอม” อันศักดิ์สิทธิ์  
                   ในบรรดายัญกรรมทั้งหลาย เราคือชปยัญอันได้แก่การบริกรรมเงียบที่มีอำนาจการให้ผลลึกล้ำเหนือยัญกรรมทั้งปวง  
                   ในหมู่พฤกษาน้อยใหญ่ เราคืออัศวัตถพฤกษ์
  
                   ในบรรดาเทพฤาษีทั้งหลาย เราคือนารทเทพฤาษี  
                   ในหมู่คนธรรพ์ เราคือจิตรรถผู้เป็นจอมแห่งคนธรรพ์ทั้งหลาย  
                   และในเหล่าสิทธาจารย์ เราก็คือกปิลมุนีผู้บริสุทธิ์สมบูรณ์ยิ่งกว่าหมู่สิทธาทั้งปวง  



มีต่อค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 ตุลาคม 2554 06:13:18 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: vishnu.jpg » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #13 เมื่อ: 10 ตุลาคม 2554 13:07:12 »




ต่อค่ะ
                  อรชุน! ในบรรดาอัศวชาติ เราคืออุจไจศรวัส เทพอาชาที่เกิดจากน้ำอมฤต*
                  (อุจไจศรวัส เป้นม้าที่เกิดจากน้ำอมฤต
ในคราวที่เทวดาและอสูรร่วมกันกวนเกษียรสมุทรให้เป็นน้ำอมฤต ชาวฮินดูถือว่าม้าอุจไจศรวัสเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ -ผู้แปล)  
                   ในหมู่คชชาติ เราคือเอราวัณเทพพาหนะแห่งองค์อินทร์  
                   ในหมู่มนุษย์ เราคือนราธิปผู้เป็นจอมแห่งมนุษย์
  
                   ในบรรดาอาวุธ เราคือวัชราวุธอันได้แก่สายฟ้า  
                   ในบรรดาโคนม เราคือกามธุกโคนมมงคล  
                   ในบรรดาเทพผู้เป็นต้นกำเนิดแห่งโลกมนุษย์ เราคือเทพแห่งความรัก
  
                   ในบรรดางูทั้งหลาย เราคือพระยางูวาสุกี
                   ในบรรดานาคทั้งหลาย เราคืออนันตนาคราช    
                   ในหมู่สัตว์น้ำทั้งหลายเล่า เราก็คือวรุณเทพผู้เป็นเจ้าปกครองห้วงมหาสุมทร
  
                   ในหมู่เทพที่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ เราคืออรรยมเทพ  
                   ในหมู่ผู้เป็นเจ้าปกครองสรรพสิ่ง เราคือยมเทพผู้เป็นเจ้าแห่งความตาย
  
                   ในหมู่ไทตยะ* เราคือประหลาทะ
                   (ไทตยะ คืออสูรตระกูลหนึ่ง
ตามตำนานเล่าว่าอสูรตระกูลนี้เกิดจากนางทิติ (คำว่า ไทตยมีรากคำมาจากทิติ, แปลว่าบุตรของนางทิติ) พวกไทตยะเป็นศัตรูของพระกฤษณะยกเว้นประหลาทะ อสูรกุมารคนเดียวที่มีใจภักดีในพระกฤษณะผิดไปจากพี่น้อง ชาวฮินดูจึงถือกันว่าประหลาทะเป็นฝ่ายธรรมะแม้จะเกิดและเติบโตมาในสกุลอสูรที่ถือเป็นฝ่ายอธรรมก็ตาม -ผู้แปล)
                   ในบรรดาผู้กำหนดความเที่ยงตรง เราคือกาลเทพอันได้แก่เวลาที่กำหนดความเป็นไปของสรรพสิ่ง
  
   ในบรรดาสัตว์ป่าทั้งหลาย เราคือราชสีห์ผู้เป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่านั้น  
   ในบรรดาสกุณชาติทั้งหลาย เราคือพญาครุฑผู้เป็นจอมแห่งปักษีทั้งหลาย  
   ในบรรดาสิ่งชำระล้างสรรพสิ่งให้บริสุทธิ์ เราคือวายุเทพผู้มีมหิทธานุภาพในการชำระล้างทุกสิ่งอย่าง
  
   ในบรรดานักรบที่กล้าหาญทั้งหลาย เราคือรามะ* (หมายถึงพระรามในมหากาพย์รามายณะ -ผู้แปล) กษัตริย์นักรบผู้กร้าวแกร่งเกินนักรบทั้งหลาย  
   ในบรรดามัจฉชาติทั้งหลาย เราคือจระเข้  
   และในบรรดาน่านนทีทั้งมวล เราก็คือแม่คงคามหานทีอันศักดิ์สิทธิ์
  
   อรชุน! สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งในจักรวาลล้วนก่อกำเนิดมาจากเรา เราเป็นผู้รักษาสรรพสิ่งให้ดำรงอยู่ และเราก็คือผู้ทำลายสรรพสิ่งให้พินาศเมื่อเงื่อนไขแห่งการสิ้นสุดของสิ่งสิ่งนั้นดำเนินมาถึง  
   ในบรรดาความรู้ทั้งปวง เราคือความรู้แจ้งในปรมาตมันอันสูงสุด* (หมายถึงอัธยาตมวิทยา The Science of Self -ผู้แปล)  
   ในแวดวงผู้ถกเถียงกันด้วยเหตุผล เราคือคำสรุปอันถูกต้องของการโต้เถียงนั้น
  
   ในบรรดาอักขระทั้งหลาย เราคือ “อ” อักษร*
   (“อ” อักษรถือเป็นอักขระ
ตัวแรกในภาษาสันสกฤต ถือกันวา “อ” อักษรนี้เป็นต้นกำเนิดของอักขระอื่นๆ และเป็นอักขระประกอบให้อักขระตัวอื่นสามารถอ่านออกเสียงได้ “อ” อักษรจึงประเสริฐกว่าอักขระทั้งมวล-ผู้แปล)
  
   ในบรรดาสมาสทั้งหลาย เราคือทวันทวสมาส*
   (สมาสคือการเชื่อมคำ
ตั้งแต่สองคำขึ้นไปเข้าด้วยกันตามอักขรวิธีสันสกฤตในบรรดาสมาสทั้งหลายนั้น ทวันทวสมาสเป็นสมาสที่มีอำนาจเชื่อมคำได้มากและกว้างขวางกว่าสมาสอื่น ท่านจึงถือว่าทวันทวสมาสเป็นสมาสที่สำคัญที่สุดกว่าสมาสทั้งหมด -ผู้แปล)  
   เราเป็นกาลเวลาที่ไม่รู้จักดับสูญหรือหมดสิ้น เป็นธาดาคือสภาพอันทรงอยู่ในสรรพสิ่ง  
   เราเป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรี เป็นคำพูด เป็นสติปัญญา เป็นความตั้งมั่นแห่งอารมณ์ และเป็นความอดกลั้นของสตรีเพศ
  
   ในบรรดาบทสวดทั้งหลายอันบรรจุอยู่ในสามเวท เราเป็นบทสวดชื่อพฤหัตสามอันไพเราะล้ำลึก*
   (สามเวท เป็นคัมภีร
ที่บรรจุบทสวดเอาไว้มากมาย ในบรรดาบทสวดทั้งหมดนั้นมีอยู่บทหนึ่งชื่อพฤหัตสาม ใช้สวดตอนเที่ยงคน บทสวดนี้ถือกันว่าสำคัญและมีท่วงทำนองไพเราะมาก -ผู้แปล)
  
   ในบรรดาฉันท์ทั้งหลาย เราคือคายตรีฉันท์*
   (คายตรีฉันท์ ถือกันว่า
เป็นที่มีลีลาและท่วงทำนองไพเราะน่าอัศจรรย์และเป็นฉันท์ที่มีกฎเกณฑ์ในการอ่านออกเสียงเคร่งครัดซับซ้อน นักบวชฮินดูที่ด้รับการฝึกฝนให้มีความช่ำชองในการสวดบทสวดที่ร้อยกรองด้วยคายตรีฉันท์ ถือกันว่าเป็นบุคคลพิเศษ การสวดบทสวดที่ร้อยกรองด้วยฉันท์ชนิดนี้ ในพิธีสวดจะมีการคัดเลือกพราหมณ์ผู้สวดกันอย่างพิถีพิถัน นอกจากนั้นชาวฮินดูยังเชื่อกันว่าคายตรีฉันท์นี้หากใครสามารถทำความเข้าใจถึงท่วงทำนองอย่างลึกซึ้งแล้ว คนผู้นั้นจะสามารถเข้าถึงความลี้ลับแห่งพรหม คายตรีฉันทจึงเป็นเสมือนประตูเปิดไปสู่พรหมภาวะ -ผู้แปล)
  
   ในบรรดาเดือนทั้งสิบสองเดือน เราคือเดือนมารคศีรษะ*
   (เดือนมารคศีรษะคือช่วงเวลา
ระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนธันวาคม คนอินเดียโบราณถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนแห่งความเบิกบาน เพราะเป็นช่วงเวลาที่พืชผลในไร่นาได้รับการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นแล้วใหม่ๆ -ผู้แปล)
  
   ในบรรดาฤดูที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปร เราคือฤดูกุสุมากระ*
   (ฤดูกุสุมากระคือ
ฤดูดอกไม้บาน(กุสุมา-ดอกไม้, กร-กระทำ, กุสุมากร-ผู้กระทำดอกไม้ หมายถึงฤดูที่มีดอกไม้ผลิบาน) บางท่านแปลว่า ฤดูใบไม้ผลิหรือฤดู spring -ผู้แปล)
  
   ในบรรดาคนโกงทั้งหลาย เราคือนักเลงการพนัน*
   (การเล่นการพนันตาม
ความรู้สึกของคนอินเดียถือเป็นการต่อสู้กันด้วยเล่ห์เหลี่ยมและชั้นเชิงที่เป็นธรรมที่สุด เพราะคู่ต่อสู้ได้เผชิญหน้ากัน เป็นการใช้เล่ห์เหลี่ยมและกลโกงที่มีเกียรติเมื่อเทียบกับการใช้กลโกงประเภทอื่น -ผู้แปล)  
   เราเป็นเดชะ ของผู้มีเดชบารมี  
   เราเป็นชัยของผู้ชนะ
  
   เราเป็นความพยายามของผู้บากบั่น  
   เราเป็นความดีงามของคุณธรรม  
   ในวงศ์วฤษณี เราคือวาสุเทพ
  
   ในวงศ์ปาณฑุ เราคืออรชุน  
   ในบรรดามุนีทั้งหลาย เราคือวยาสมุนี  
   ในบรรดากวีทั้งหลาย เราคืออุศนามหากวี
  
   ในการพิพากษาความผิด เราคืออาญาที่ใช้ลงทัณฑ์ผู้กระทำความผิดนั้น
 
   ในการแสวงหาชัยชนะ เราคือกโลบายอันชาญฉลาดที่จะนำไปสู่ชัยชนะนั้น  
   ในบรรดาสิ่งลี้ลับปกปิด เราคือความเงียบอันเป็นความลับยิ่งกว่าความลับทั้งมวล
  
   เราคือความรอบรู้ของผู้มีปัญญา  
   เราคือพืชพันธุ์สำหรับสืบต่อชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง  
  อรชุน! หากปราศจากเราเสียแล้ว จะไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่ได้ภายในจักรวาลนี้
  
   ภาวะแห่งเราที่แสดงออกในรูปต่างๆ เหล่านี้ ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะเป็นภาวะที่เป็นทิพย์ และทั้งหมดที่เรากล่าวแก่ท่านนี้ก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทิพยภาวะอันยิ่งใหญ่ทั้งหมดของเรา
 
   อรชุน! สิ่งใดก็ตามที่เป็นความงาม ความดี และความเข้มแข็งในโลก จงทราบเถิดว่าสิ่งนั้นทั้งหมดคือตัวแทนของเรา!




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 ตุลาคม 2554 06:18:16 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: jpg » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #14 เมื่อ: 11 ตุลาคม 2554 10:09:16 »




ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปล
และเรียบเรียง

บทที่สิบเอ็ด
                    อรชุนกล่าวว่า      
                     ความลี้ลับแห่งอาตมันที่ท่านแสดงไขแก่เรานั้นช่วยให้เราเข้าใจชีวิตและจักรวาลมากทีเดียว      
                     กฤษณะ! ท่านได้ชี้ให้เราเข้าใจถึงเบื้องหลังการเกิดและการตายของมนุษย์และสัตว์ทั้ง มวล คำชี้บอกนั้นแจ่มแจ้งแก่เราโดยไม่มีข้อกังขา      
                     นอกแต่นั้น ท่านยังเปิดเผยภาวะลี้ลับแห่งตัวท่านแก่เรา      
                     ณ บัดนี้เราประสงค์จะได้ชมรูปทิพย์ของท่านเป็นบุญตาสักครั้ง      
                     ได้โปรดเถิดกฤษณะ! โปรดแสดงรูปทิพย์ของท่านแก่เรา!
                    
                     กฤษณะตอบว่า      
                     ได้ซิอรชุน! อันรูปกายของเรานั้นประกอบด้วยทิพยภาวะวิจิตรซับซ้อนหลากหลายด้วยชนิดและสีพรรณ!      
                     นี่คือสิ่งมหัศจรรย์อันท่านไม่อาจพบเห็นมาก่อนตลอดชีวิต!      
                     กายทิพย์ของเรานี้ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อธรรมดา เพราะเหตุนั้นจะเนรมิตตาทิพย์แก่ท่านด้วยอำนาจแห่งโยคะอันศักดิ์สิทธิ์ของเรา      
                     กล่าวจบกฤษณะก็พลันเนรมิตกายทิพย์ของตนให้ปรากฏแก่สายตาของอรชุน
      
                     กายนั้นประกอบด้วยร่างหลายหลากสุดคณนา ประดับประดาด้วยทิพยอาภรณ์ ในมือชูศัสตรากวัดแกว่งสลอนเรียง    
                     บางร่างคล้องมาลัย บางร่างสวมผ้าทิพย์ บางร่างลูบไล้ด้วยคันธชาติของหอมอันเป็นทิพย์ และทุกๆ ร่างต่างเปล่งประกายเป็นรัศมีรุ่งโรจนระยับตา                    
                    ดวงพักตร์อันมิอาจคาดนับจำนวนแห่งกายทิพย์นั้นต่างหันไปรอบสารทิศ      
                    มาตรว่าจู่ๆ บนท้องนภาพลันปรากฏดวงตะวันพันดวงอุทัยขึ้นพร้อมกัน แสงสว่างจ้าจัดแห่งดวงทิวากรพันดวงรวมกันนั้นคงพอเปรียบเทียบได้กับรังสี บรรเจิดที่พวยพุ่งออกมาจากร่างขององค์มหาตมันนั้น
      
                     จักรวาลทั้งสิ้นต่างประมวลมาเป็นภาพหนึ่งเดียวรวมปรากฏในร่างทิพย์นั้น
   
                     อรชุนเห็นภาพอันวิจิตรพิสดารนั้นแล้ว ก็พลันเกิดอาการสั่นสะท้าน ขนลุกชูชันไปทั้งร่าง รีบก้มเศียรประนมกรกราบทูลองค์ปรมาตมันว่า      
                     เทวะ! ข้าได้เห็นแล้ว! ในร่างของพระองค์นั้น ปรากฏทั้งรูปแห่งหมู่เทพและรูปแห่งเหล่าภูต!                    
                     แม้แต่รูปแห่งพรหมผู้สถิตอยู่บนบัลลังก์ดอกบัวก็ปรากฏอยู่ในนั้น พร้อมๆ กับการปรากฏของรูปแห่งเหล่ามหาฤาษีและหมู่ทิพยนาคา
      
                     ข้าได้เห็นรูปอันแสดงถึงอนันตภาวะของพระองค์แล้ว! รูปนั้นช่างมหัศจรรย์และซับซ้อนพิสดารเหลือเกิน!      
                     ข้าได้เห็นร่างมีจำนวนมากมายสุดคะเนนับ และเพราะความหลากลานแห่งรูปนั้น ข้าจึงมองไม่เห็นเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งอนันตภาวะของพระองค์!      
                     ข้าได้เห็นรูปพระองค์ทรงมงกุฎ พระหัตถ์ทรงคฑาและกงจักรเปล่งประกายรัศมีโชติช่วงออกจากพระวรกาย รังสีนั้นพวยพุ่งไปตลอดสกลจักรวาลแผ่ซ่านประหนึ่งลำแสงแห่งดวงทิพากรอันส่อง สว่างแรงโลด!      
                     นี่คือสิ่งแสดงว่าพระองค์คือองค์อักษรพรหมผู้เที่ยงแท้ไม่รู้จักแปรเปลี่ยนสิ้นสลายไปตามกระแสแห่งวันเวลา!

      
                     พระองค์คือองค์ปรมาตมันผู้สูงสุด! เป็นที่พึ่งของโลกและจักรวาล! และเป็นองค์ธรรมธาดาที่คอยปกป้องโลกและจักรวาลจากภัยพิบัติ!    
                    ข้าได้เห็นดวงเนตรของพระองค์อันได้แก่ดวงเดือนและดวงตะวันส่องสกาวเด่นอยู่ กลางห้วงเวลา ได้เห็นดวงพักตร์อันทอประกายวาวโรจน์ดุจแสงเพลิง ด้วยดวงเนตรและวงพักตร์นั้นพระองค์ได้ส่องโลกและจักรวาลให้รุ่งเรืองอยู่ ชั่วนิจนิรันดร์!
      
                     ระหว่างผืนปฐพีกับโลกสวรรค์ย่อมมีช่องว่างและอากาศแทรกคั่นอยู่ในระหว่าง
ช่องว่างนั้น อักษรภาวะแห่งพระรูปของพระองค์ได้ซึมซ่านอยู่ทั่วทุกอณูด้วยอานุภาพแห่งวิศวรูป*นั้นเมื่อฝูงสัตว์ตลอดไตรโลกได้ประจักษ์ พวกมันจึงพากันลนลานกลัวเกรงนัก

(*วิศวรูป Cosmic Form คือรูปทิพย์ของปรมาตมันที่ซึมซ่านอยู่ทุกอณูของจักรวาล เป็นรูปที่มองไม่เห็นด้วยตาธรรมดา สามัญชนตลอดจนเทพหรืออสูรจะมองเห็นรูปทิพย์นี้ได้ก็ต่อเมื่อมีตาทิพย์ที่ องค์ปรมาตมันเนรมิตให้สามารถมองทะลุผ่านโยคมายาเท่านั้น-ผู้แปล)
      
                    ในรูปทิพย์อันประมวลเอาจักรวาลทั้งหมดมาให้เห็นนั้น ข้าได้เห็นภาพของเทพบางพวกที่มีจิตหวั่นหวาดในอานุภาพของพระองค์ เทพเหล่านั้นต่างพากันประนมกรก้มเศียรลงกราบกรานพระองค์ด้วยความกลัวเกรงในพระบารมี ข้างฝ่ายเหล่าฤาษีชีไพรเล่าก็พากันแซ่ซ้องสดุดีพระองค์เสียงกระหึ่มกึกก้อง      
                     ปวงเทพทั้งหลาย อาทิ รุทรเทพ, อาทิตยเทพ, วสุเทพ, สาธยเทพ, วิศวเทพ, อัศวินเทพ, มรุตเทพ, และอุษมปเทพ ตลอดจนเหล่าคนธรรพ, ยักษ์, และอสูร ฯลฯ ต่างพากันผันหน้าจ้องตรงไปที่พระองค์ด้วยจิตพิศวงในมหานุภาพนั้น
      
                    ข้าเห็นรูปอันมหึมาของพระองค์แล้วอดหวาดหวั่นไม่ได้ รูปนั้นใหญ่โตมโหฬารมองเห็นรายเรียงซ้อนสลับกันไปจนสุดสายตาพระพักตร์, พระเนตร, พระกร, พระบาท, พระทนต์, และส่วนประกอบแห่งร่างส่วนอื่นๆ เล่าก็ล้วนแต่ใหญ่โตมหึมาน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก      
                     ข้าเห็นร่างของพระองค์สูงใหญ่เสียดฟ้า รุ่งเรืองด้วยสีสันหลากชนิดส่องสว่างวาววามช่วงโชติ      
                     พระโอษฐ์ของพระองค์เปิดกว้าง ฝ่ายดวงเนตรก็ลุกวาวประหนึ่งดวงเพลิง ข้าเห็นแล้วก็สุดจะหักห้ามความครั่นคร้ามในใจเอาไว้ได้!

                     พระโอษฐ์ของพระองค์ยามที่เผยอ้าออกช่างน่ากลัวเสียนี่กระไร พระทนต์ที่เรียงรายอยู่ในพระโอษฐ์นั้นมีขนาดอันมหึมา แต่ละซี่ต่างก็ฉายรัศมีเป็นแสงเพลิงปานไฟประลัยกัลป์!      
                     ได้โปรดเถิดท่านเทเวศ! ข้ากลัวเหลือเกิน! โปรดเป็นที่พึ่งของข้าด้วย!
     
                     อา! นั่น! บรรดาราชบุตรของธฤตราษฎรราชาทั้งหมดและเหล่ากษัตริย์นิกรทั้งหลายตลอดจนภีษมะ, อาจารย์โทรณะ, กรรณะ พร้อมแม่ทัพและไพร่พลของข้า พวกเขาทั้งหมดก็เข้าไปปรากฏรูปอยู่ในรูปทิพย์ของพระองค์ด้วย!      
                     พวกเขาเข้าไปอยู่ในระหว่างโอษฐ์ของพระองค์ บางพวกถูกทนต์อันมหึมานั้นขบศีรษะแตกละเอียดโลหิตไหลโทรมแดงฉาน!
      
                     ประหนึ่งสายนทีอันไหลเชี่ยวที่รวมไหลลงสู่มหาสมุทร บรรดาคนกล้าบนผืนดินนี้ก็ฉันนั้น ต่างมุ่งตรงเข้าสู่พระโอษฐ์อันลุกโพลงของพระองค์ด้วยอาการอันมิต่างจากสายน้ำที่เชี่ยวกรากนั้น      
                     แต่การรี่เข้าสู่พระโอษฐ์ของพระองค์ของพวกมันมิได้ต่างกันเลยกับอาการรี่ เข้าสู่กองเพลิงของฝูงแมลง! รี่เข้าเท่าใด ก็พินาศฉิบหายเท่านั้น!      
                    ด้วยพระโอษฐ์อันลุกโพลงประหนึ่งไฟล้างกัลป์นั้น พระองค์ย่อมอาจจะกลืนกินโลกทั้งโลกให้พินาศวอดวายได้ในชั่วพริบตา ข้าแต่องค์วิษณุ! รัศมีอันร้อนแรงของพระองค์จะแผดเผาโลกให้มอดไหม้เป็นเถ้าธุลีเมื่อใดก็ได้
      
                     โปรดประทานคำอธิบายแก่ข้าด้วยเถิดว่าอานุภาพอันน่าสะพรึงกลัวนี้เกิดมีได้ อย่างไร และพระองค์ประสงค์จะใช้อานุภาพอันยิ่งใหญ่นี้เพื่อสิ่งใด
      
                     กฤษณะตอบว่า      
                     อรชุน! เราเป็นกาลเวลา! เป็นผู้ทำลายโลก! เป็นผู้สร้างโลก! และเป็นผู้ปราบยุคเข็ญของโลก!



มีต่อค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 ตุลาคม 2554 10:14:03 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #15 เมื่อ: 11 ตุลาคม 2554 12:32:57 »




ต่อค่ะ
                    เราขอร้องท่าน จงจับอาวุธขึ้นปราบยุคเข็ญร่วมกับเราเถิด ประดาคนทั้งหลายที่เผชิญหน้ากันอยู่กลางสมรภูมิรบ ณ บัดนี้ล้วนแล้วแต่จะต้องตายด้วยกันทั้งสิ้น ท่านเองก็มิได้อยู่ในข่ายยกเว้น ก็เมื่อจะตายกันอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่ฉกฉวยโอกาสประกอบกรรมดีก่อนตายเล่า      
                     ลุกขึ้น! อรชุน! จงลุกขึ้นรับเกียรติอันยิ่งใหญ่นี้! ลุกขึ้นซิ! ลุกขึ้นจับอาวุธเข้าเข่นฆ่าศัตรู! เมื่อปราบพวกมันลงได้แล้ว ราชไอศูรย์ในแผ่นดินจักไปไหนเสียเล่าหากไม่ตกแก่ท่าน!
      
                     ฝ่ายข้าศึกไม่ว่าจะเป็นอาจารย์โทรณะ, ภีษมะ, ชยัทรถะ, กรณะ, ตลอดจนแม่ทัพและไพร่พลทั้งหมดถูกเราสะกดเอาไว้ด้วยฤทธิ์แล้ว!* (ความตอนนี้มีปัญหาในการตีความมาก ในฉบับภาษาอังกฤษก็แปลไม่ค่อยจะตรงกัน กระทั่งฉบับแปลภาษาไทยเท่าที่มีก็แปลกันไปคนละทิศละทาง รูปความในพากย์สันสกฤตินั้นแปลตรงตัวได้ว่า ข้าศึกทั้งหมดที่เป็นฝ่ายตรงข้ามถูกกฤษณะฆ่าตายหมดแล้ว ความข้อนี้อาจตีความได้ว่าเพราะกฤษณะคือองค์ปรมาตมันที่ทำลายทุกสิ่ง ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นแม้ว่าคนเหล่านั้นจะดูยังมีชีวิตอยู่

แต่โดยสัจจภาวะคนเหล่านั้นชื่อว่าตายแล้วในความหมายของสิ่งที่อยู่ภายใต้กฎ ของชีวิต
ดังที่กฤษณะยืนยันให้อรชุนฟังตอนต้น เหตุนั้นเมื่ออรชุนจับอาวุธเข้าเข่นฆ่าคนพวกนั้นอีก บาปจึงไม่มีแก่อรชุนเพราะเป็นการฆ่าคนที่ตายแล้ว ที่ผมแปลเอาความให้อ่อนลงมาว่าข้าศึกถูกกฤษณะสะกดเอาไว้ด้วยฤทธิ์ก็เพื่อ ให้สอดคล้องกับความท่อนต่อมาที่กฤษณะย้ำแก่อรชุนว่าอรชุนจะต้องชนะ* (ท่านราธกฤษณันก็แปลให้อ่อนลงมาว่าฝ่ายข้าศึกถูกกำหนดให้พ่ายแพ้) เพราะถ้าแปลตามนัยต้นว่าข้าศึกถูกฆ่าแล้ว ความจริงอันนี้ก็ไม่อาจนำำมายืนยันได้ว่าอรชุนจะต้องชนะ เพราะอรชุนก็ตกอยู่ในกฎอันเดียวกับฝ่ายข้าศึก
คือเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งเป็น “สิ่งที่ตายแล้ว”เหมือนกัน -ผู้แปล)
      
                     เพราะฉะนั้นจงเข้ารบเถิดอรชุน! ไม่ต้องกลัว! ท่านจะไม่มีวันแพ้มีแต่ทางชนะเท่านั้น!

                         เมื่อได้ฟังถ้อยคำของกฤษณะดังนั้น อรชุนก็ลนลานก้มเศียรประนมกรแสดงอัญชลีแก่กฤษณะด้วยกายอันสั่นสะท้าน พลางละล่ำละลักกล่าวแก่กฤษณะว่า          
                         ข้าแต่องค์หฤษีเกศ! ช่างมหัศจรรย์จริงหนอ! มหัศจรรย์เหลือเกินที่บรรดาฝูงชนบนผืนแผ่นดินต่างพากันชื่นชมในอิทธิบารมี ของพระองค์          
                         พระองค์คือที่รวมแห่งศรัทธาสำหนับคนดีเป็นต้นว่าเหล่านักพรต ส่วนคนชั่วดังเช่นเหล่ารากษสผีร้ายเป็นต้นนั้นเล่า พระองค์ก็คือที่ต้องแห่งความเกรงกลัวของพวกมัน
          
                         ข้าแต่องค์มหาตมัน! ก็ทำไมคนทั้งหลายจะไม่เคารพและกลัวเกรงพระองค์เล่า ในเมื่อพระองค์คือองค์ปรเมศวรมหาพรหมผู้สูงสุดที่ได้สร้างโลกนี้ขึ้นมา พระองค์คืออักษรภาวะอันได้แก่สภาพที่ไม่รู้จักสิ้นสลายไปตามกาลเวลา เป็นทั้งสัตภาวะและอสัตภาวะ อันหมายความถึงสภาพอันดำรงอยู่โดยความเป็นรูปและสภาพอันดำรงอยู่โดยความเป็น อรูป
          
                         พระองค์ คือเทพองค์แรกของโลก เป็นปุราณบุรุษอันได้แก่ปฐมบุคคลที่เกิดขึ้นในโลกและเป็นที่พึ่งพิงอันประเสริฐสุด ในบรรดาที่พึ่งของมนุษย์ทั้งหลายบนผืนแผ่นดินนี้          
                         พระองค์คือผู้รู้แจ้งทุกสิ่งอย่าง ทั้งยังเป็นผู้ที่มนุษย์ควรเข้าหาเพื่อให้รู้แจ้งถึงสภาวะอันสูงส่งของพระองค์          
                        พระองค์คือจุดหมายอันสูงสุดในชีวิตที่มนุษย์ดั้นด้นไปให้ถึง          
                         พระองค์คือวายุเทพผู้เป็นเจ้าแห่งลม เป็นยมเทพผู้เป็นเจ้าแห่งความตาย เป็นอัคนีเทพผู้เป็นเจ้าแห่งไฟ เป็นวรุณเทพผู้เป็นเจ้าแห่งทะเล เป็นศศางกเทพผู้เป็นเทพประจำดวงจันทร์และเป็นประชาบดีเทพผู้อยู่เหนือประชา นิกรของโลก          
                         ข้าขอนอบน้อมแด่พระองค์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

          
                         เมื่อก่อนนั้นข้าเคยเรียกพระองค์ว่าสหายบ้าง เรียกออกชื่อเฉยๆ บ้าง ก็ด้วยถือวิสาสะว่าเป็นเพื่อนโดยไม่ได้ล่วงรู้ถึงสภาวะที่แท้จริงของพระองค์ เลยสักนิด          
                         ความประพฤติล่วงเกินอันใดที่ข้าเคยปฏิบัติต่อพระองค์ ไม่ว่าจะในที่ลับตาคนอื่นหรืออยู่ต่อหน้าคนทั้งหลาย ข้าขอขมาผิด โปรดยกโทษให้แก่อาการล่วงเกินเพราะความเขลาของข้านั้นด้วย          
                         ข้าได้มีโอกาสเห็นสิ่งมหัศจรรย์อันไม่เคยประสบมาก่อนในชีวิต เมื่อได้เห็นแล้วความรู้สึกของข้าก็ทั้งตื่นเต้นและเกรงกลัว
          
                        เทวะ! ณ บัดนี้ข้าปรารถนาเหลือเกินที่จะได้เห็นรูปของพระองค์ในลักษณาการอื่นๆ อีก โปรดเนรมิตรูปทรงมงกุฎ ในหัตถ์ทรงคฑาและจักรประกอบด้วยพระกรทั้งสี่ให้ข้าได้ยลบ้างเถิด
          
                         กฤษณะตอบว่า          
                         อรชุน! เรายินดีจะแสดงรูปทิพย์ของเราแก่ท่านด้วยอำนาจแห่งเทวฤทธิ์ เราจะให้ท่านทัศนารูปอันโชติช่วงด้วยไฟอันเป็นวิศวรูปซึมซ่านอยู่ทั้งทุกอณูของจักรวาล เป็นรูปที่ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด อนึ่งเล่ารูปนี้นอกจากท่านแล้วไม่มีใครเลยในโลกนี้เคยได้พบเห็นมาก่อน          
                         อรชุน! วิศวรูปอันลี้ลับของเรานี้มิอาจมองเห็นได้ด้วยการศึกษาพระเวท การประกอบยัญกรรมก็ไม่อาจช่วยให้มองเห็น การให้ทานก็ช่วยไม่ได้ กระทั้งการบูชาเซ่นสรวงหรือการบำเพ็ญตบะก็ไม่อาจช่วยให้บุคคลผู้ปฏิบัติเช่นนั้น มองเห็นรหัสยรูปของเรานั้น

          
                         ผู้จะมองเห็นได้มีเพียงบุคคลพิเศษที่เราเจาะจงให้เห็นอย่างเช่นท่านนี้เท่านั้น          
                        และเมื่อเห็นรูปทิพย์ของเราแล้ว จงอย่ากลัว! อย่าหลงใหล! จงสลัดความกลัวและความหลงใหลออกจากจิตแล้วเพ่งมองวิศวรูปของเราด้วยใจอันเบิกบานแช่มชื่น          
                         กล่าวจบกฤษณะก็พลันแสดงรูปกายของตนให้ปรากฎแก่สายตาของอรชุน                          
                         รูปนั้นสง่างามและอ่อนโยน เป็นรูปที่กฤษณะเนรมิตขึ้นเพื่อขจัดความหวั่นกลัวของอรชุน ที่ได้พบเห็นรูปอันน่ากลัวมาก่อน
          
                         อรชุนเห็นรูปนั้นแล้วก็กล่าวขึ้นว่า          
                         ข้าแต่องค์กฤษณะ! ข้าเห็นแล้ว! รูปที่พระองค์เนรมิตเป็นมานุษยรูปนั้นช่างงดงามเปี่ยมด้วยแววแห่งเมตตาเหลือเกิน!          
                        ข้าสามารถทำใจให้เป็นปกติได้แล้ว! เวลานี้ใจข้าเยือกเย็นลงแล้ว!          
                         กฤษณะตอบว่า          
                         อรชุน! รูปที่ท่านกำลังชมอยู่นี้ยากนักที่ใครจะมีโอกาสได้เห็นแม้กระทั่งเหล่าเทวาก็ปรารถนาจะได้ชมเป็นบุญตา
         
                         ทิพยรูปแห่งเรานี้ไม่อาจเห็นได้โดยอาศัยการร่ำเรียนหรือสาธยายพระเวท ไม่อาจเห็นได้ด้วยการบำเพ็ญตบธรรมและให้ทานตลอดจนประกอบยัญพิธี
          
                         ผู้ภักดีในเรามั่นคงไม่คลอนแคนเท่านั้นจึงจะมีโอกาสได้เห็นรหัสยรูปของเรา          
                         อรชุน! ใครก็ตามทำกรรมเพื่อเข้าถึงเรา ยึดถือเอาเราเป็นเป้าหมายแห่งการกระทำกรรม ภักดีในเราโดยปราศจากข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น ผู้นั้นย่อมอาจที่จะเข้าถึงเราได้โดยไม่ยากเย็นเลย



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 ตุลาคม 2554 08:27:07 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: jpg » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #16 เมื่อ: 13 ตุลาคม 2554 08:32:58 »




ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปล
และเรียบเรียง

บทที่สิบสอง
                   อรชุนกล่าวว่า   
                   บุคคลสองประเภทต่อไปนี้คือ บุคคลผู้ปฏิบัติโยคธรรมเพื่อบูชาพระองค์อยู่เป็นนิจกาลหนึ่ง, บุคคลผู้โน้มเหนี่ยวเอาพระองค์เป็นที่ยึดพิงทางใจแต่มิได้ปฏิบัติโยคะเพื่อ บูชาพระองค์หนึ่ง, บุคคลสองจำพวกนี้ฝ่ายใดชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อหลักโยคธรรมมากกว่ากัน
   
                   กฤษณะตอบว่า   
                   ผู้มีใจภักดีในเราและปฏิบัติโยคะอันได้แก่การชำระจิตให้บริสุทธิ์เป็นนิจ เพื่อเข้าถึงเรานั่นแลชื่อว่าผู้ปฏิบัติตรงต่อหลักโยคธรรม   
                   กระนั้นก็ดี บุคคลผู้ยึดเหนี่ยวเอาเราเป็นที่พึ่งพิงทางใจรู้จักควบคุมอารมณ์ความรู้สึก เวลากระทบกับเหตุการณ์ต่างๆ มีใจเสมอในสรรพสิ่ง ยินดีในการบำเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น คนเช่นนี้ก็ชื่อว่าอาจเข้าถึงเราด้วยเช่นกัน
   
                   เหตุที่ผู้ยึดเหนี่ยวเอาเราเป็นที่พึ่งเพียงอย่างเดียว แต่มิได้ปฏิบัติโยคธรรมพร้อมกันไปด้วยชื่อว่าปฏิบัติไม่ค่อยตรงต่อหลักแห่งโยคะ ก็เพราะคนเช่นนั้นมักสำคัญผิดในภาวะแห่งเราซึ่งเป็นภาวะที่ปราศจากตัวตน ว่าเป็นตัวเป็นตน การจะเข้าถึงเราผู้เป็นอรูปสภาวะย่อมจะเป็นไปได้ยากสำหรับคนผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเราคือสิ่งที่เป็นตัวเป็นตน
   
                   แต่สำหรับบุคคลผู้วางใจในเรา กระทำกรรมอันใดก็อุทิศกรรมนั้นเพื่อบูชาเรา เพียรชำระจิตใจให้สะอาดอยู่เสมอ คนเช่นนั้นย่อมเข้าถึงเราได้ง่าย   
                   ผู้ใดภักดีในเรา เราย่อมช่วยฉุดผู้นั้นขึ้นจากห้วงทะเลแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้เสมอ   
                   เพราะเหตุนี้แลอรชุน ท่านจงมั่นใจในเราเถิด จงมอบความภักดีของท่านให้แก่เราแล้วท่านจะข้ามพ้นจากห้วงสังสารวัฏฏ์และชีวาตมันของท่านก็จักผสานเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับเรา
   
                   แต่ถ้าว่าการตั้งจิตให้มั่นในเราอยู่ทุกเวลาจะเป็นความลำบากแก่ท่านไซร้ ท่านจะใช้วิธีฝึกฝนจิตให้สะอาดจากสิ่งเศร้าหมองแทนการรำลึกถึงเราก็ได้ นั่นก็เป็นวิธีทางเข้าสู่เราเช่นกัน   
                   หรือหากว่าการเพียรชำระจิตอย่างนั้นเป็นสิ่งที่เกินเลยวิสัยที่ท่านจะกระทำได้ ก็ขอให้กระทำกรรมดีอุทิศเป็นสักการะแก่เราแทน กรรมดีที่ท่านกระทำนั้นจักส่งผลให้ท่านระลึกถึงเราให้มั่น แล้วแปรเอาพลังรำลึกนั้นเป็นเครื่องสกัดกรรมชั่วทั้งมวลออกไปจากจิตใจ
   
                   ปัญญา ย่อมประเสริฐกว่าสมาธิ ความรู้แจ้งประเสริฐกว่าปัญญา แต่ความรู้แจ้งนั้นก็ยังไม่ประเสริฐเท่าการสละผลของกรรม ผู้สละผลของกรรมเสียได้ย่อมประสบสุขชั่วนิรันดร์   
                   บุคคลใดปราศจากความมุ่งร้ายต่อผู้อื่น จิตใจประกอบด้วยไมตรีและความการุณย์ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนและสิ่งของของตน สามารถวางใจให้เป็นกลางได้ทั้งในคราวที่ประสบกับสุขและทุกข์ เป็นผู้พร้อมที่จะให้อภัยต่อผู้อื่น มีความสันโดษ ตั้งมั่นอยู่เสมอในสมาธิ อารมณ์เยือกเย็น ควบคุมความรู้สึกได้และมีใจภักดีในเรา บุคคลนั้นย่อมเป็นที่รักของเรา
   
                   บุคคลใดไม่ก่อความวุ่นวายให้แก่โลก ทั้งโลกเองก็ไม่อาจทำให้เขาวุ่นวายได้ เป็นผู้ไม่ยินดียินร้ายต่อความสมหวังและผิดหวังในชีวิต อยู่ในโลกอย่างปราศจากความหวั่นกลัว บุคคลเช่นนี้ก็เป็นที่รักของเราเช่นกัน   
                   บุคคลใดกระทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน มีกายวาจาและใจบริสุทธิ์สะอาด อดทนต่อความยากลำบากในชีวิต ผู้นั้นก็เป็นที่รักของเราเหมือนกัน   
                   บุคคลใดวางใจให้แสมอทั้งในมิตรและศัตรู ทั้งในเสียงสรรเสริญและคำด่าว่า ทั้งในร้อนและหนาว ทั้งในสุขและทุกข์ได้เท่าเทียมกัน ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งด้วยความพอใจหรือขัดใจ บุคคลนั้นก็เป็นที่โปรดปรานของเราเช่นกัน
   
                   และสำหรับบุคคลผู้บำเพ็ญอมฤตธรรมเป็นการบูชาเรา บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นยอดแห่งผู้ที่เราโปรดปราน!




บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #17 เมื่อ: 13 ตุลาคม 2554 08:37:20 »




ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปล
และเรียบเรียง

บทที่สิบสาม
                      อรชุนกล่าวว่า       
                      ข้าแต่องค์เกศวะ! ข้าประสงค์จะทราบความหมายของคำต่อไปนี้คือ ประกฤติหนึ่ง, ปุรุษะหนึ่ง, เกษตระหนึ่ง, เกษตรชญะหนึ่ง, ชญาหนึ่ง, และเชญยะอีกหนึ่ง, ขอพระองค์โปรดอธิบายความหมายแก่ข้าด้วย       
                      กฤษณะตอบว่า       
                      อรชุน! ร่างกายคือเกษตระ* ส่วนผู้รู้เกษตรภาวะแห่งร่างกายนี้ชื่อว่าเกษตรชญะ* (คำ ว่าเกษตระนี้แปลตามตัวว่า ที่นา field โดยความหมายได้แก่สภาวะอันเป็นเครื่องรองรับผลของกรรมเสมือนหนึ่งที่นาเป็น ที่รองรับเมล็ดพืชให้เจริญเติบโต ที่ว่าร่างกายคือเกษตระก็คือร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งรองรับผลของกรรม หากไม่มีร่างกายแล้วกรรมก็ไม่มี การให้ผลของกรรมก็ไม่มี จากความเชื่ออันนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าศาสนาฮินดูก็ยอมรับความสำคัญของวัตถุธรรม Matter ไม่ใช่ศาสนาที่ปฏิเสธความมีอยู่ของวัตถุธรรมแล้วยอมรับเพียงจิตธรรม Spirit อย่างที่เข้าใจกัน -ผู้แปล)
       
                      อรชุน! เราคือเกษตรชญะผู้หยั่งรู้ถึงความลี้ลับแห่งเกษตรภาวะอย่างทะลุปรุโปร่ง และการรู้แจ้งถึงเกษตรภาวะกับเกษตรชญะนี้แลคือ ชญาน       
                      จงฟังอรชุน! ณ บัดนี้เราจะอธิบายความหมายของสิ่งที่เรียกว่าเกษตระนี้ให้ท่านฟังว่ามันมีธรรมชาติเป็นเช่นไร มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและมีต้นกำเนิดมาจากไหน และพร้อมกันนี้เราจะสาธยายถึงเกษตรชญะว่าคือใครและมีอานุภาพยิ่งใหญ่เพียงใด
       
                      เรื่องราวของเกษตระและเกษตรชญะนี้บรรดาฤาษีทั้งหลายได้ร้อยกรองเป็นเพลงขับ เอาไว้เป็นมากมายและมีนัยอันแตกต่างกัน กระทั่งในบทสวดก็มีกล่าวเอาไว้เป็นอเนกปริยาย หรือในพรหมสูตรท่านก็วินิจฉัยเอาไว้อย่างมีเหตุมีผลเป็นที่พิสดารยิ่ง       
                      มหาภูตกล่าวคือส่วนประกอบของร่างกายที่เป็นวัตถุธรรมทั้งห้าอันได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศหนึ่ง       
                      อหังการอันได้แก่ความรู้สึกว่าเป็นตัวของตัวหรือความรู้สึกว่าตัวตนนั้นมีอยู่หนึ่ง       
                      พุทธิอันได้แก่ความรู้แจ้งหนึ่ง
                      อัพยักตะอันได้แก่นามธรรมที่ไม่ปรากฏรูปหนึ่ง
       
                      อินทรีย์ กล่าวคือส่วนประกอบของร่างกายที่เป็นตัวรับความรู้สึกและเป็นตัวความรู้สึก เองทั้งสิบซึ่งแบ่งเป็นญาเณนทรีย์ห้าและกรรเมนทรีย์อีกห้านี้หนึ่ง* (ญาเณนทรีย์คือส่วนของประสาทสัมผัสที่ทำหน้าที่รับรู้ความรู้สึกมีอยู่ห้าประการคือ ประสาทตา, ประสาทหู, ประสาทจมูก, ประสาทลิ้น, และประสาทกาย ส่วนกรรเมนทรีย์ได้แก่ส่วนของประสาทสัมผัสที่ทำหน้าที่ใช้งานหรือควบคุมการทำงานของอวัยวะในร่างกายมีอยู่ห้าประการเช่นกันคือ ประสาทควบคุมการทำงานของปาก ประสาทควบคุมการทำงานของมือ, ประสาทควบคุมการทำงานของเท้า, ประสาทควบคุมการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ และประสาทควบคุมการทำงานของท้อง -ผู้แปล)
       
                      อินทรีย์โคจร กล่าวคืออารมณ์อันเข้ามากระทบประสาทสัมผัสทั้งห้าได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ หนึ่ง       
                      อิจฉา กล่าวคือความปรารถนาในสิ่งอันพึงปรารถนาหนึ่ง       
                      เทวษะ อันได้แก่ความเคียดแค้นเมื่อไม่ได้สมปรารถนาหนึ่ง       
                      สุขและทุกข์หนึ่ง
       
                      สังฆาตะ กล่าวคือระบบความสัมพันธ์กันแห่งอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายหนึ่ง       
                      เจตนา กล่าวคือความจงใจเวลากระทำกรรมหนึ่ง       
                      ธฤติ อันได้แก่ความตั้งมั่นแห่จิตใจหนึ่ง
       
                      ทั้งหมดที่กล่าวมาโดยย่อนี้รวมแล้วเรียกว่า "เกษตระ” * (ความตอนนี้เป็นการแสดงรายละเอียดของร่างกายมนุษย์โดยท่านจำแนกให้เห็นย่อๆ ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง องค์ประกอบของชีวิตตามที่แสดงมานี้อาจจะเข้าใจได้ยากสักหน่อยสำหรับคนรุ่นปัจจุบันที่ไม่ชินกับการจัดระบบและองค์ประกอบของชีวิตตามคัมภีร์ศาสนา การจัดระบบชีวิตกันในลักษณะนี้ดูจะเป็นความเชื่อทั่วไปของคนอินเดียโบราณ ไม่เฉพาะแต่คนที่นับถือศาสนาฮินดูเท่านั้น แม้พุทธศาสนาก็เชื่อคล้ายๆ กันนี้ ดังที่ท่านจำแนกร่างกายส่วนที่เป็นวัตถุธรรมออกเป็นดิน(องค์ประกอบของร่างกายส่วนที่ดำรงสถานะของแข็งเช่นกล้ามเนื้อ กระดูกและเส้นเอ็นเป็นต้น), น้ำ(ส่วนที่ดำรงสถานะของเหลวเช่นเลือด เหงื่อ หนอง น้ำเหลือง ตลอดจนน้ำที่ประกอบอยู่ในเซลล์เป็นต้น), ไฟ(ส่วนที่เป็นพลังงานหรือความอบอุ่นในร่างกาย), ลม(ส่วนที่เป็นอากาศซึ่งเคลื่อนที่ไปมาระหว่างช่องว่างในร่างกายและอวัยวะ ต่างๆ), และอากาศ(ส่วนที่เป็นอากาศอันหยุดนิ่งอยู่กับที่โดยแทรกตัวอยู่ในช่องว่าง ระหว่างอวัยวะและในตัวอวัยวะนั้น) การจัดระบบอวัยวะและร่างกายแบบนี้จะเห็นได้ว่าใกล้เคียงกันกับ ที่จัดกันในความของ ภควัทคีตา ตอนนี้มาก -ผู้แปล)
       
                      เกษตระ กล่าวคือร่างกายนี้ย่อมแปรเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา       
                      อมานิตวะ กล่าวคือความไม่ถือตัวหนึ่ง       
                      อทัมภิตวะ กล่าวคือความไม่ดื้อรั้นเจ้าทิฐิหนึ่ง       
                      อหิงสา กล่าวคือความไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นหนึ่ง
       
                      กษานติ กล่าวคือความอดทนต่อความยากลำบากหนึ่ง
                      อารชวะ กล่าวคือความซื่อตรงหนึ่ง
     
                      อาจารโยปาสนะ กล่าวคือความเคารพยำเกรงในครูอาจารย์หนึ่ง       
                      เศาจะ กล่าวคือความบริสุทธิ์แห่งกายวาจาและใจหนึ่ง       
                      สไถรยะ กล่าวคือความมั่นคงเยือกเย็นหนึ่ง       
                      อาตมวินิครหะ กล่าวคือการควบคุมตนเองได้หนึ่ง       
                      ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “ชญาน
       
                      ความไม่หลงใหลอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกายหนึ่ง       
                      ความไม่ยึดมั่นตัวตนหนึ่ง       
                      การมองเห็นทุกข์และโทษของการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตายหนึ่ง       
                      ความไม่มัวเมาในอารมณ์อันน่าพอใจหนึ่ง
       
                      ความไม่ยึดมั่นในบุตรภรรยาและเคหสถานหนึ่ง       
                      ความเป็นผู้มีใจเป็นกลางทั้งในสิ่งที่ก่อให้เกิดความพอใจและในสิ่งอันก่อให้เกิดความเคืองใจหนึ่ง       
                      ความภักดีในเราอย่างมั่นคงด้วยอำนาจแห่งโยคะอันแน่วแน่หนึ่ง       
                      การหลีกเร้นจากความวุ่นวายไปสู่วิเวกสถานหนึ่ง
       
                      ความไม่ยินดีในการคลุกคลีกับฝูงชนที่สมาคมกันโดยเปล่าประโยชน์หนึ่ง       
                      การตั้งมั่นอยู่เป็นนิตย์ในอัธยาตมชญาณ กล่าวคือ ความรู้แจ้งจนถึงที่สุดของความจริงหนึ่ง       
                      การประจักแจ้งถึงตัตตวชญานารถะ กล่าวคือการมองทะลุไปจนถึงที่สุดของความจริงหนึ่ง
                      ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่เป็นคำอธิบายความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “ชญานอันหมายถึงความรู้แจ้งทั้งสิ้น       
                      สิ่งใดตรงข้ามจากที่เรากล่าวมาทั้งหมดนี้ สิ่งนั้นย่อมเป็น “อัชญาน”กล่าวคือ ความมืดบอดงมงายมองไม่เห็นสัตยธรรม





บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #18 เมื่อ: 13 ตุลาคม 2554 08:43:01 »





ต่อค่ะ
                 อรชุน! ต่อไปนี้เราจะกล่าวถึง “เชญยะ”อันได้แก่สิ่งที่บุคคลพึงรู้ เชญยะกล่าวคือสิ่งควรรู้นี้เมื่อใครได้รู้แล้ว เขาผู้นั้นย่อมประสบชีวิตอมตะ

                 อรชุน! สิ่งที่บุคคลพึงรู้สูงสุดในโลกนี้คือพรหม!
                 พรหมนี้เป็นสภาวะอันสูงสุด! ไม่มีเบื้องต้น! ไม่เป็นทั้งสิ่งที่มีอยู่และสิ่งที่ไม่มีอยู่* (คำ ว่า “ไม่มีเบื้องต้น”Beginingless หมายถึงเป็นสภาพที่ไม่มีใครสร้างขึ้นมา หากแต่เกิดมีเอง, คำว่า “สิ่งที่มีอยู่” Existent ภาษาสันสกฤต ท่านใช้ว่า “สัต”หมายถึงสิ่งที่มีตัวตน สามารถสัมผัสพิสูจน์ความมีอยู่ได้ด้วยประสาทสัมผัส. ส่วน "สิ่งที่ไม่มีอยู่" Non-Existent ภาษาสันสกฤตเรียกว่า "อสัต" หมายถึงสิ่งที่ไม่มีตัวตน สัมผัสและพิสูจน์ไม่ได้ บางครั้งคำว่า “สัต”กับ “อสัต” ท่านก็ใช้คำว่า “ภาวะ กับ “อภาวะ” แทน ทั้งสัตและอสัตเป็นคำนิยามเรียกสิ่งที่อยู่ในวิสัยการรับรู้ของสามัญมนุษย์ พรหมเป็นโลกุตตรภาวะที่อยู่เหนือการนิยามด้วยตรรกะอันนี้ พรหมจึงไม่เป็นทั้งสัตและอสัต -ผู้แปล)
 
                 พรหม เป็นประดุจพัสตราที่หุ้มห่อโลกทั้งโลกเอาไว้! ไม่มีสถานที่แห่งใดในโลกที่หัตถ์ บาท ดวงเนตร เศียร พักตร์ และกรรณของพรหมจะไม่แผ่ไปถึง!
                 พรหมหยั่งรู้ถึงสรรพารมณ์ เช่น ความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นต้น แต่พรหมปราศจากอารมณ์เหล่านั้น
                 พรหมไม่มีความยึดมั่นในสรรพสิ่ง
                 พรหมคือผู้ค้ำจุนสิ่งดีงามทั้งปวง

                 พรหมเป็นสภาวะที่อยู่เหนือความดีและความชั่ว แต่พรหมก็ยังต้องเกลือกกลั้วอยู่กับสิ่งเหล่านี้เพื่อปกป้องโลก
                 พรหมอยู่ทั้งภายนอกและภายในสรรพสิ่ง
                 พรหมเป็นทั้งสิ่งที่เคลื่อนไหวและและหยุดนิ่ง และเป็นสิ่งที่ใครๆ ไม่อาจหยั่งรู้ด้วยการขบคิดหรือใช้เหตุผล
                 พรหมเป็นทั้งสิ่งที่อยู่ไกลห่างและใกล้ชิดโลก
 
                 พรหมเป็นสภาวะที่ไม่อาจแยกแยะออกมาจากสรรพสิ่ง แต่บางครั้งพรหมก็ปรากฏเสมือนสิ่งที่อาจจำแนกออกมาได้
                 พรหมคือผู้ดูแลความเป็นไปของสรรพสิ่ง
                 พรหมคือผู้ทำลายสรรพสิ่ง
                 พรหมคือผู้สร้างสรรพสิ่งขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่เลี้ยงดูและทำลายมันแล้ว
 
                 พรหมคือแสงสว่างเหนือแสงสว่างทั้งมวล และเป็นสภาวะที่ไม่มีความมืดใดบังอาจเข้ามากร้ำกรายได้
                 พรหมดังที่เราแสดงมานี้คือ “เชญยะ อันได้แก่สิ่งที่บุคคลพึงรู้แจ้งในชีวิต
                 การรู้แจ้งสภาวะแห่งพรหมเรียกว่า “ชญาน”
                 อรชุน! คำว่าเกษตระ, ชญาน, และเชญยะ เราแสดงมาโดยย่อด้วยประการฉะนี้ ผู้ใดภักดีต่อเรา ผู้นั้นย่อมหยั่งทราบถึงความหมายของสิ่งเหล่านี้ และด้วยการประจักษ์แจ้งนั้น เขาย่อมบรรลุถึงพรหมภาวะแห่งเรา
 
                 ส่วนประกฤติกับปุรุษะนั้น จงทราบเอาไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า เป็นสภาวะที่เกิดมีขึ้นเอง ไม่มีใครสร้างขึ้นมา
                 ประกฤติคือต้นกำเนิดของวิการและคุณ* (“วิการ ”transfotmation ได้แก่การแปรเปลี่ยนไม่หยุดนิ่งของสรรพสิ่งในจักรวาล ส่วน “คุณ modes of matter ได้แก่สภาวะที่จำแนกให้เห็นความแตกต่างของสรรพสิ่งนั้น ตัวอย่างของวิการก็เช่นการที่สัตว์และพืชมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เริ่มจากเกิดขึ้นมาแล้วก็เติบโต จากนั้นก็ร่วงโรยจนสิ้นสลายไปในที่สุด ส่วนตัวอย่างของคุณก็เช่นการที่พืชและสัตว์นั้นมีชาติพันธุ์ที่ต่างกัน ต้นมะม่วงกับต้นขนุนย่อมมีลักษณะต่างกัน สภาพที่เป็นความต่างกันนั้นคือคุณ นอกจากนั้นวิการและคุณนี้ ยังครอบคลุมไปถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตด้วยการที่ก้อนหินเปื่อยละลายกลายเป็นดิน ก็คือตัวอย่างของวิการ หรือการที่ดินกับหินมีลักษณะเฉพาะ ตัวบ่งบอกความเป็นหินและดิน นั่นก็คือคุณ ทั้งคุณและวิการนี้มีประกฤติเป็นตัวหกระทำให้เกิดขึ้น ประกฤติ (ซึ่งก็คือภาคหนึ่งของปรมาตมันนั่นเอง) จึงเป็นสิ่งอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้ -ผู้แปล)
 
                 ประกฤติคือผู้สร้างร่างกาย ส่วนปุรุษะเป็นผู้สร้างความรู้สึก
                 ปุรุษะอาศัยประกฤติเป็นที่อิงอาศัยพร้อมกันนั้นก็รับรู้สิ่งปรุงแต่งต่างๆ เช่น ความงามหรือความน่าเกลียดที่ประกฤติแต่งสร้างขึ้นในโลก
                 การที่ปุรุษะยึดเหนี่ยวเอามายาของประกฤติเข้าไว้นี้ หากมายานั้นเป็นฝ่ายกุศลก็จะส่งผลให้ผู้ยึดเหนี่ยวมีชาติกำเนิดที่ดีเป็น เบื้องหน้า ในทางกลับกันหากว่ามายานั้นเป็นฝ่ายอกุศล ผลสนองของการยึดมั่นนั้นก็จะส่งให้เขาเข้าสู่ชาติกำเนิดที่ต่ำทรามต่อไป
                 ปุรุษะอันอิงอาศัยร่างกายนี้ก็คือสิ่งสิ่งเดียวกับสิ่งที่เรียกว่าปรมาตมัน
 
                 ผู้ใดรู้แจ้งประกฤติและปุรุษะอย่างทะลุปรุโปร่ง ผู้นั้นกระทำกรรมอันใดลงไป ผลกรรมก็ไม่อาจส่งสนองให้เขาต้องมาเวียนว่ายตายเกิดเพื่อรับผลกรรมอีก
 
                 ปุรุษะหรือปรมาตมันนี้บางคนอาจประจักษ์แจ้งได้ด้วยการบำเพ็ญสมาธิ บางคนอาจประจักษ์แจ้งด้วยการปฏิบัติสางขยโยคะ บางคนอาจประจักษ์แจ้งด้วยการปฏิบัติกรรมโยคะ
 
                 คนบางคนไม่เคยทราบถึงความลี้ลับแห่งปรมาตมันนี้มาก่อน หากแต่ได้ยินได้ฟังมาจากผู้อื่น อาศัยความศรัทธาในปรมาตมันเพียรขยันกระทำคุณความดีเป็นการบูชาปรมาตมันนั้น คนเช่นนี้ก็อาจข้ามพ้นห้วงสังสารวัฏฏ์ได้เช่นกัน
 
                 อรชุน! จงทราบไว้ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกไม่ว่าจะเคลื่อนไหวได้หรือเคลื่อน ไหวไม่ได้ก็ตาม สรรพสิ่งเหล่านั้นล้วนแต่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้เพราะความสัมพันธ์อันพอ เหมาะระหว่างเกษตระและเกษตรชญะ* (หมายความว่าประกฤติหรือธรรมชาติส่วนที่เป็นต้นกำเนิดของชีวิตด้านกายภาพ physical กับปุรุษะหรือธรรมชาติส่วนที่เป็นต้นกำเนิดของชีวิตด้านจิตภาพ spiritual ประสมประสานกันพอเหมาะ อีกนัยหนึ่งตามคติของศาสนาฮินดูนั้นถือว่าเมื่อมนุษย์และสัตว์ตายลง อาตมันของมนุษย์และสัตว์จะเข้าไปรวมกับปรมาตมันก่อนชั่วระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นอาตมันนั้นจึงจะถูกปรมาตมันส่งไปถือกำเนิดในร่างใหม่ การที่อาตมันเข้าไปรวมกับปรมาตมันชั่วคราวนี้เรียกว่า "สังโยคะ" ด้วยความเชื่อนี้ สรรพสิ่งที่ถือกำเนิดในโลกนี้จึงเกิดและดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจของสังโยคะนั้น อันอาจตีความได้ในอีกแง่หนึ่งว่า เป็นความสัมพันธ์กลมกลืนกันระหว่างอาตมัน (เกษตระ) กับปรมาตมัน (เกษตรชญะ) คำว่า "ความสัมพันธ์อันพอเหมาะ" ในโศลกนี้ผมแปลจากคำว่า "สังโยคะ" ที่กล่าวมานี้ -ผู้แปล)
 
                 ปรมาตมันนั้นแทรกอยู่ในทุกอณูของสรรพสิ่ง เมื่อสิ่งอาศัยสิงสถิตแตกสลายไป ปรมาตมันหาได้พินาศไปด้วยไม่
                 ผู้ใดหยั่งเห็นปรมาตมันดังกล่าวมานี้ ผู้นั้นนับว่าเห็นชอบ
                 เมื่อมองเห็นปรมาตมันซึ่งดำรงอยู่ในสรรพสิ่ง เขาย่อมอาจปฏิบัติตนเพื่อเข้าสู่บรมศานติได้
                 ประกฤติคือผู้รับผิดชอบในการกระทำกรรมทุกอย่าง! อาตมันหาใช่ผู้รับผิดชอบไม่ ผู้ใดหยั่งเห็นได้เช่นนี้ ผู้นั้นนับว่าเห็นถูกอย่างยิ่ง!
                 ผู้ใดมองเห็นว่าสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนก่อกำเนิดมาจากพรหม ผู้นั้นย่อมอาจเข้าถึงพรหมได้
 
                 ปรมาตมัน ไม่รู้จักสิ้นสูญ เป็นสภาวะอมตะ ไม่ได้เกิดมาจากอะไร ไม่มีใครทำให้ปรมาตมันเกิด แม้ว่าปรมาตมันนั้นจะตั้งอยู่ในร่างของคนที่กระทำกรรม ผลของกรรมก็มิได้แปดเปื้อนมาถึงปรมาตมัน!
                 อุปมา ดังอากาศที่ซึมแทรกอยู่ทั่วทุกอณูของสรรพสิ่ง อากาศนั้นก็หาได้แปดเปื้อนด้วยสิ่งที่ตนซึมซ่านอยู่ไม่ ข้อนี้ฉันใด อาตมันก็ฉันนั้น แม้สิงสถิตอยู่ในร่างของคน ก็หาได้แปดเปื้อนด้วยกรรมที่คนผู้นั้นกระทำไม่!
 
                 เปรียบเสมือนดวงตะวันเพียงดวงเดียวก็สามารถแผ่รัศมีส่องสว่างครอบคลุมโลก ตลอดโลกได้ อาตมันก็เช่นกัน อาศัยอยู่ในร่างย่อมแผ่อานุภาพให้ร่างทั้งร่างนั้นตกอยู่ในอำนาจดุจกัน!
                 อรชุน! ผู้ใดหยั่งเห็นความแตกต่างระหว่างเกษตระและเกษตรชญะ ดังกล่าวมานี้ด้วยจักษุคือความรู้แจ้งและสามารถแยกอิสรภาพทางจิตออกจากอำนาจ แห่งวัตถุได้ ผู้นั้นย่อมบรรลุโมกษะ!




บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #19 เมื่อ: 13 ตุลาคม 2554 08:46:31 »




ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปล
และเรียบเรียง

บทที่สิบสี่
                    กฤษณะตรัสว่า   
                    เราจักกล่าวซ้ำถึงความรู้แจ้งอันประเสริฐกว่าความรู้แจ้งทั้งปวงแก่ท่านอีกครั้ง ความรู้แจ้งอันนี้นี่เองที่ส่งผลให้บรรดาเหล่ามุนี ที่ลุถึงประจักษ์แจ้ง ข้ามพ้นจากห้วงสังสารวัฏฏ์เข้าสู่บรมศานติชั่วนิรันดร์   
                    ผู้ใดรู้แจ้งชญานอันประเสริฐที่เราจะกล่าวต่อไปนี้ ผู้นั้นย่อมกลายเป็นหนึ่งเดียวกับเรา เขาจะไม่เกิดอีกเมื่อมีการสร้างโลกและจักรวาลขึ้นใหม่ในต้นกัลป์ และจะไม่พินาศเมื่อมีการล้างโลกและจักรวาลให้ประลัยในคราวจะสิ้นกัลป์
   
                    อรชุน! มหาพรหมคือต้นกำเนิดของโลกและจักรวาล อนึ่งมหาพรหมนั้นที่แท้ก็คือครรภสถานที่เราได้หยอดเมล็ดพันธุ์ลงไว้สำหรับ ให้เป็นแดนกำเนิดของสรรพสิ่ง
   
                    สรรพสัตว์ที่ถือกำเนิดในครรภ์ทั้งปวงล้วนแล้วแต่มีมหาพรหมเป็นครรภ์รองรับ โดยมีเราเป็นบิดาผู้ประทานเชื้อพันธุ์เข้าผสม* (หมายถึงความว่าสัตว์ทุกชนิดแม้จะเกิดจากครรภ์มารดาตนเอง แต่ก็ต้องได้รับการปกป้องรักษาจากมหาพรหม(ประกฤติ) อันเป็นเสมือนครรภ์หุ้มเลี้ยงสรรรพชีวิต ความเชื่อนี้เป็นคติของชาวฮินดูซึ่งถือกันว่าทุกชีวิตจะก่อเกิดมาก็ต่อเมื่อ เชื้อพันธุ์ซึ่งเรียกกันในภาษาสันสกฤตว่า พีชะ ได้เข้าผสมกับไข่ในมดลูก(มดลูกนี้เรียกกันในภาษาสันสกฤตว่าโยนี) มหาพรหมหรือประกฤติ ชาวฮินดูถือว่าเป็นมดลูกหรือครรภ์ของโลกและจักรวาล เมื่อปรมาตมันหรือพรหมประทานเชื้อ(พีชะ) ลงผสมในครรภสถานนแห่งมหาพรหมนั้น สรรพชีวิตจึงก่อเกิด พรหมหรือปรมาตมันจึงเป็นเสมือนบิดาของสรรพสิ่ง -ผู้แปล)
   
                    อรชุน! ธรรมชาติสามประการต่อไปนี้คือ สัตตวะหนึ่ง, รชะหนึ่ง, และตมะอีกหนึ่ง เป็นธรรมชาติตัวคนเรามาตั้งแต่เกิด   
                    สัตตวะคือความดีและความบริสุทธิ์สะอาด   
                    รชะคือความกระหายอยากอันไม่รู้จักสิ้นสุด   
                    ส่วนตมะนั้นได้แก่ความลุ่มหลงมืดบอด   
                    สัตตวะย่อมส่งผลให้เกิดความสุข รชะย่อมส่งผลให้กระทำกรรมตามความกระหายอยากนั้น ส่วนตมะย่อมชักนำให้เกิดความมืดมนและประมาท
   
                    อรชุน! ในบรรดาธรรมชาติทั้งสามประการนี้ บางครั้งสัตตวะก็มีอำนาจเหนือรชะกับตมะ บางคราวรชะก็มีอำนาจเหนือสัตตวะกับตมะ บางขณะตมะก็อาจมีอำนาจเหนือสัตตวะกับรชะ สุดแท้แต่ว่าช่วงเวลาใดธรรมชาติส่วนไหนจะมีพลังมากกว่าส่วนอื่นๆ   
                    เมื่อใดปรากฏความรู้แจ้งขึ้นในทางเข้าแห่งประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย เมื่อนั้นพึงทราบเถิดว่าสัตตวะได้ปรากฏแล้ว   
                    อรชุน! เมื่อใดที่รชะปรากฏขึ้น เมื่อนั้นความโลภ ความกระวนกระวาย และความกระหายอยาก อันจะชักนำไปสู่การกระทำกรรมย่อมปรากฏตามมา
   
                    และเมื่อใดที่ตมะปรากฏขึ้น เมื่อนั้นความมืดมน ความท้อแท้ ความเลินเล่อ และความมัวเมาย่อมปรากฏตามมาเช่นกัน
   
                    ผู้ใดร่างแตกดับไปในขณะที่สัตตวะเจริญขึ้นในดวงจิต ผู้นั้นย่อมจะไปสู่วิสุทธิสถานอันเป็นบรมสุข   
                    ผู้ใดร่างแตกดับขณะจิตถูกรชะหุ้มห่ออยู่ ผู้นั้นย่อมไปสู่คติภพตามผลแห่งกรรมที่ตนเองกระทำลงไปด้วยอำนาจแห่งรชะนั้น
   
                    ส่วนบุคคลใดตายไปในขณะจิตจมดิ่งลงสู่ห้วงแห่งตมะ บุคคลนั้นย่อมไปสู่ภพภูมิที่มืดมน   
                    สัตตวะย่อมอำนวยผลเป็นความดี ความบริสุทธิ์และความสุข   
                    รชะย่อมอำนวยผลเป็นความทุกข์ร้อนเจ็บปวด   
                    ส่วนตมะย่อมอำนายผลเป็นความมืดมนลุ่มหลง

   
                    ผู้ดำรงอยู่ในสัตตวะ ย่อมมีชีวิตที่รุ่งโรจน์สูงส่ง ผู้ดำรงอยู่ในรชะย่อมมีชีวิตปานกลางไม่สูงไม่ต่ำ ส่วนผู้ดำรงอยู่ในตมะชีวิตของเขาย่อมตกต่ำมืดมน   
                    บุคคล ใดหยั่งเห็นว่าธรรมชาติแห่งชีวิตทั้งสามนี้คือสิ่งหน่วงเหนียวชีวิตเอาไว้ใน ห้วงแห่งมายาแล้วเพียรยกจิตใจให้ข้ามพ้นบ่วงชีวิตทั้งสามนี้เพื่อเข้าสู่ ปรมาตมันอันประเสริฐ บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงเรา* (สัต ตวะ รชะ และตมะ เป็นเพียงโลกียธรรมซึ่งส่งผลให้บุคคลเสวยสุขและทุกข์ในห้วงสังสารวัฏฏ์เหมือน กุศลกับอกุศลในพุทธศาสนา การจะเข้าถึงชีวิตนิรันดร์ต้องยกระดับจิตใจให้อยู่เหนือธรรมชาติแห่งชีวิตสามประการนี้ ข้อนี้เทียบได้กับการละกุศลและอกุศลเพื่อเข้าถึงนิพพานของชาวพุทธ -ผู้แปล)   
                    บุคคล ผู้ข้ามพ้นจากมายาของสัตตวะ รชะ และตมะ เสียได้ ย่อมพ้นจากการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย ชีวิตเขาย่อมประสบสุขอันเป็นอมตะชั่วนิรันดร์
   
                    อรชุนถามว่า   
                    ข้าแต่องค์กฤษณะ! โปรดแสดงแก่ข้าด้วยเถิดว่าบุคคลเช่นใดจึงสามารถข้ามพ้นธรรมชาติแห่งชีวิตสามประการนี้ได้ และในการพาตนข้ามพ้นจากสิ่งเหล่านี้ บุคคลจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง
   
                    กฤษณะตอบว่า   
                    อรชุน! ผู้ใดมีปัญญาประจักษ์ชัด หมั่นเพียรชำระจิตให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อประสบสิ่งมุ่งหวังก็ไม่ดีใจจนลืมตน เมื่อพลาดหวังในสิ่งที่มุ่งหมายก็ไม่เสียใจจนลืมตัว ดำรงตนอยู่อย่างมั่นคงท่ามกลางมายาแห่งชีวิต เมื่อประสบสุข-ทุกข์ก็รู้เท่ากันว่านั่นเป็นธรรมดาของชีวิต ต่อเสียงนินทาหรือสรรเสริญเขาวางใจให้เป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยอำนาจแห่งความชอบหรือความชัง ปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลายกับคนที่ดูแคลนหรือยกย่องตนและไม่ว่าจะเป็นมิตร หรือศัตรู เขาจะปฏิบัติต่อคนเหล่านี้อย่างเท่าเทียมกัน บุคคลเช่นนี้และอรชุนชื่อว่าผู้ข้ามพ้นจากสัตตวะ รชะ และตมะ อันรวมเรียกว่าคุณะหรือธรรมชาติพื้นฐานของชีวิตสามประการดังว่ามา





บันทึกการเข้า
คำค้น: บทสนทนา พระกฤษณะ อรชุน โศลก มหากาพย์มหาภารตะ บรรพที่ 6 
หน้า:  [1] 2   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ภควัทคีตา บทเพลงแห่งองค์ภควัน
เอกสารธรรม
เงาฝัน 4 7735 กระทู้ล่าสุด 22 พฤษภาคม 2554 13:58:34
โดย เงาฝัน
ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ - แค่นั้น : เพลงเพราะ ๆ ซึ้ง ๆ โดนใจอย่างแรง
หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
หมีงงในพงหญ้า 5 5664 กระทู้ล่าสุด 07 มีนาคม 2554 21:08:59
โดย หมีงงในพงหญ้า
อัลบัมนี้หาฟังยากมาก - คอนเสิร์ท พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ อันปลั๊ก
หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
หมีงงในพงหญ้า 0 5757 กระทู้ล่าสุด 29 สิงหาคม 2555 23:58:19
โดย หมีงงในพงหญ้า
รวมเพลง ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ( ที่ผมชอบ )
หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
หมีงงในพงหญ้า 11 7938 กระทู้ล่าสุด 21 พฤษภาคม 2556 22:55:56
โดย หมีงงในพงหญ้า
คัมภีร์ โพธิจรรยาวตาร ของ ศานติเทวะ ปริเฉทที่ ๑ อานิสงส์ของโพธิจิต
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1171 กระทู้ล่าสุด 30 กรกฎาคม 2559 01:50:05
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.92 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 17 เมษายน 2567 12:22:06