การปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลเร็วโดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี(เทศน์ที่วัดนาสะอาด วันที่ ๒๑ ม.ค. ๕๗)
ถ้าเราบรรลุมรรคผลนิพพานแล้วความข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส มันก็ลดลง ก็น้อยลง ความหลงในรูป เสียง กลิ่น รส มันก็ลดลงตามอำนาจของผลของพระนิพพานที่เราเข้าถึง หากเป็นพระโสดาบัน ความข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ต่างๆ ก็ลดลงไปยี่สิบเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าบรรลุเป็นพระสกทาคามี ความข้อง ความหลง ความผูกพันธ์ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ ก็ลดลงไปสี่สิบเปอร์เซ็นต์ ถ้าบรรลุเป็นพระอนาคามี ความข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ต่างๆ ก็ลดลงไปหกสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าบรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน ก็ลดความยึดมั่นถือมั่น ตัดขาดจากความยึดมั่นถือมั่น ตัดขาดจากความทะเยอทะยานอยากในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ต่างๆ นั้นได้หมดสิ้นไป จิตใจของพระอรหันต์นั้นเป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ ขันธ์ของพระอรหันต์นั้นเป็นขันธ์ที่บริสุทธิ์ รูปของพระอรหันต์นั้นเป็นรูปที่บริสุทธิ์เรียกว่าเป็นขันธวิมุติ เป็นขันธ์ที่พ้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวงเป็นวิสุทธิขันธ์ เป็นขันธ์ที่บริสุทธิ์
เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงให้เราพิจารณาแบบปอนๆ การฉันก็ฉันแบบปอนๆ การนุ่งก็นุ่งแบบปอนๆ การห่มก็ห่มแบบปอนๆ แม้แต่ยารักษาโรคพระองค์ก็ทรงให้ฉันแต่น้ำมูตรเน่า ใช่ว่ายาขวดละสองพัน ยาขวดละห้าพัน หรือว่าขวดละหมื่นสองหมื่น ขวดละแสนสองแสนไม่ใช่ พระองค์ทรงให้ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า เอาผลสมอบ้าง เอาผลมะขามป้อมบ้างเป็นยามหากาฬเพื่อที่จะทำให้ร่างกายของเรานั้นหายปวดหลังปวดเอว ปวดตามร่างกายของเรา จะทำให้เราถ่ายท้องได้สบาย การนั่งภาวนาก็ทน การเดินจงกรมการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ทน สุขภาพจิตก็ดีปลอดโปร่งโล่งสบาย ไม่เป็นท้องอืดท้องเฟ้ออะไรต่างๆ พระองค์ทรงตรัสให้เราเป็นผู้มีความสันโดษ เป็นผู้ประพฤติปอนๆ หรือท่านกล่าวไว้ในเรื่องของยามหาวิกัฏฐ์ เอาดินมาเป็นยา สามารถที่จะเอาดินดำมาเป็นยาแก้โรคผอมเหลืองอะไรต่างๆ ก็มีอยู่ในบาลี อยู่ในพระไตรปิฎก พระองค์ทรงให้เราประพฤติปอนๆ เพราะฉะนั้นเวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ให้เรานั้นประพฤติปอนๆ เหมือนพระมหากัสสปะ เหมือนกับพระโมฆราชจะประพฤติปฏิบัติปอนๆ เพราะว่าเหตุให้คนเกิดความศรัทธา เหตุให้เกิดความเลื่อมใสนั้นพระองค์ทรงตรัสเหตุนั้นไว้ ๔ ประการ คือ
๑. รูปัปปมาณิกา ถือรูปเป็นประมาณ คนที่เกิดศรัทธานั้นบางคนก็ถือรูปเป็นประมาณ เห็นรูปร่างหน้าตาดีก็ศรัทธา เห็นท่าทางสง่าผ่าเผย ผิวพรรณผ่องใสก็เกิดศรัทธาขึ้นมา ยังไม่ได้พูด ยังไม่ได้คุย ยังไม่ได้ฟังเทศน์ ฟังธรรม เห็นพระรูปนั้นหน้าตาดี ผ่องใสดี ผิวพรรณดี สง่าผ่าเผยองอาจ เกิดความศรัทธา เรียกว่า รูปัปปมาณิกา
๒. โฆสัปปมาณิกา มีเสียงไพเราะ มีเสียงเทศน์ไพเราะเพราะพริ้งในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า เป็นผู้ถือเสียงเป็นประมาณ ศรัทธาเพราะได้ฟังเสียง เหมือนกับเราฟังเสียงดีเจที่เขากล่าวในวิทยุเทศน์ในวิทยุ หรือเป็นผู้จัดรายการต่างๆ เราไม่เคยเห็นหน้า แต่ว่าฟังเสียงแล้วมันสบายใจ เสียงฟังแล้วมันเกิดความสุข เกิดความสงบ ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์อยู่สถานีวิทยุฟังแล้วมันเกิดความสบายใจ บางครั้งฟังเสียงโดยไม่พิจารณาเนื้อหาสาระ ฟังแต่เสียงก็สงบแล้ว ท่านกล่าวว่าเป็น โฆสัปปมาณิกา ถือเสียงเป็นประมาณ ทำให้เกิดความเลื่อมใสเพราะเสียง
๓. ลูขัปปมาณิกา ถือความเศร้าหมองเหมือนกับที่กระผมกล่าวมานั้น พระมหากัสสปะเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนกัสสปะ เธอมีอายุพรรษาล่วงมามากแล้ว ผ้าสังฆาฏิของเธอนั้นมีน้ำหนักมากเกินไป เธอควรที่จะผ่อนการถือธุดงค์มาใช้คหปติจีวรก็ได้” แต่พระมหากัสสปะกราบทูลพระองค์ว่า “จะใช้ผ้าบังสุกุลเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของสาวกทั้งหลายทั้งปวงสืบต่อไป” ความหนักแน่นของพระมหากัสสปะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติแบบปอนๆ จึงถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะละความยึดมั่นถือมั่น ละตัณหา อุปาทาน ความทะเยอทะยานอยากต่างๆ เป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่เหมาะแก่การยังพรหมจรรย์ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
๔. ธัมมัปปมาณิกา ถือธรรมเป็นประมาณ คือเสียงไม่เพราะก็ไม่เป็นไรแต่การเทศน์มีเหตุมีผล มีธรรมะเพราะพริ้ง มีอรรถรสที่ยังสมาธิสู่ศีล สู่วิปัสสนาญาณ มีอรรถรสหยั่งลงสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน ว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานบรรลุอย่างไรหนอ อะไรจึงชื่อว่าการบรรลุต่างๆ สามารถกล่าวธรรมะในลักษณะอย่างนี้ได้เรียกว่า ธัมมัปปมาณิกา เลื่อมใสโดยธรรม ถือธรรมเป็นประมาณ
เพราะฉะนั้นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านให้ประพฤติปฏิบัติแบบปอนๆ เรียกว่า ปรมลูโข เราประพฤติปฏิบัติธรรมปอนๆ อย่างเยี่ยมยอด เหมือนกับพระโมฆราช เป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ เราอ่านดูประวัติของพระโมฆราชเป็นพระมหาเถระ เป็นอสีติมหาสาวก เป็นสาวกผู้เนื่องใน ๘๐ องค์ที่เป็นสาวกผู้ใหญ่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ประวัติของท่านนั้นท่านจะประพฤตินุ่งผ้าเก่าๆ เวลาไปประชุมสงฆ์นั้นท่านจะนั่งอยู่ห่างๆ นั่งอยู่ท้ายๆ นุ่งผ้าเก่าๆ ภิกษุทั้งหลายทั้งปวงผู้ไม่รู้จักท่าน ไม่พิจารณาให้ดี บางครั้งไม่ให้ท่านเข้าสู่ที่ประชุมก็มี เพราะอะไร เพราะไม่รู้จักท่าน แต่พอเอ่ยชื่อขึ้นว่า “ภิกษุรูปนี้ชื่อว่า โมฆราช” เพียงเท่านั้นภิกษุทั้งหลายทั้งปวงเกิดขนพองสยองเกล้า เกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใส เพราะพระองค์ทรงตรัสว่าเป็นผู้ประพฤติปอนๆ อย่างเยี่ยมยอด
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าเราไม่หลงใหลในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ไม่มัวเมาจนเกิดความทะเยอทะยานอยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมันก็ง่าย แต่ถ้าเราหลงใหลเมื่อไร หรือทะเยอทะยานอยากเมื่อไรการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็เป็นไปได้ยาก เหมือนกับภูเขา เป็นสิบลูก สามสิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูกนั้นมาขวางกั้นเรา การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นก็เป็นอันยาก บรรลุไม่ได้ เรียกว่าเป็นการบรรลุธรรมได้ยาก แต่ถ้าเราละสิ่งเหล่านี้ทั้งหลายทั้งปวงแล้วการบรรลุมรรคผลนิพพานก็เพียงแค่เราดีดนิ้วมือ เพียงแต่ว่าเราพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะว่าเมื่อเราไม่หลงแล้วปัญญามันก็ต้องเกิด เมื่อปัญญาเกิดความตั้งมั่นในจิตมันก็ต้องเกิด สมาธิมันก็ต้องเกิด เมื่อสมาธิเกิดวิปัสสนาญาณมันก็ต้องเกิด เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดมรรคผลมันก็ต้องเกิด ไม่อยากให้มันเกิดมันก็ต้องเกิด จึงถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้ผลไว
ประการที่ ๔ ท่านกล่าวว่า ปรมวิจิตฺโต เรียกว่าเป็นผู้มีความสงัดอย่างเยี่ยมยอด เราสงัดอย่างไรจึงจะชื่อว่าสงัดอย่างเยี่ยมยอด ท่านกล่าวว่าสงัดอย่างเยี่ยมยอดนั้นต้องสงัดกายด้วย เรียกว่ากายวิเวก สงัดในที่นี้ก็คือเว้นจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม กายของเราไม่ดื่มสุราเมรัยต่างๆ เหล่านี้ เรียกว่ากายของเราสงัดจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงเรียกว่ากายวิเวก แต่ถ้าผู้ใดหลีกเร้นไปอยู่ป่า แต่ว่ากายก็ยังทำบาปอยู่ กายก็ยังฆ่าสัตว์อยู่ กายก็ยังกระทำไม่ดีไม่ถูกไม่งามอยู่ อันนี้ไม่ชื่อว่ากายวิเวก แต่ถ้ากายของผู้ใดสงัดจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง กายของบุคคลนั้นชื่อว่ากายวิเวก เป็นกายที่สงัดจากบาปจากอกุศลทั้งหลายทั้งปวง ท่านกล่าวว่า สงัดก็คือ สงัดจิตว่ามีจิตวิเวก สงัดจิตในที่นี้ก็คือจิตของเรานั้นคือ ไม่เกิดกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ไม่เกิดความโกรธ ไม่เกิดความโลภ ไม่เกิดความหลง ไม่เกิดราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหาต่างๆ
เราจะทำอย่างไรให้จิตของเราเกิดความวิเวกเกิดความสงัดอย่างนั้น เราต้องกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ เราต้องกำหนดอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรากำหนดอยู่ตลอดเวลาจิตของเราก็จะเป็นจิตที่สงัด จิตวิเวก จิตของเราธรรมดาๆ ถ้าเราไม่บริกรรม “พองหนอยุบหนอ” ถ้าเราไม่บริกรรม “พุทโธ” มีสติกำหนดอยู่ จิตของเราก็เป็นจิตธรรมดา แต่ถ้าเรากำหนดจิตของเราให้นิ่ง กำหนดว่า “คิดหนอๆ” หรือ “พองหนอยุบหนอ” กำหนดให้เห็นรูปนามไม่ให้จิตของเรามันวิ่งไปที่อื่น ถ้าเรากำหนดอยู่อย่างนี้จิตใจของเราก็เป็นสมาธิ เรียกว่ามีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิก็เรียกว่าจิตสงัดแล้ว เรียกว่าจิตวิเวกแล้ว ความวิเวกแห่งจิตมันก็ปรากฏขึ้นมาแล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าความวิเวกมันเกิดขึ้นมาแล้ว ปัญญามันต้องเกิด วิปัสสนาญาณมันก็ต้องเกิด เมื่อวิปัสสนาญาณเกิด มรรคผลนิพพานมันก็ต้องเกิดนี้เรียกว่าจิตวิเวก ประการที่สามกล่าวว่าอุปธิวิเวก คือสงัดจากกิเลส เราจะสงัดจากกิเลสได้เราก็ต้องมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์ เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายกำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ เรียกว่าเรามาเพียรเพื่อที่จะยังอุปธิวิเวกให้เกิดขึ้นมา ถ้าเราบรรลุเป็นพระโสดาบันเพียงครั้งเดียวเท่านั้น อุปธิวิเวกแห่งพระโสดาบันก็เกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้เราละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสลงได้ ความวิเวกแห่งสักกายทิฏฐิ ความวิเวกแห่งวิจิกิจฉา ความวิเวกแห่งสีลัพพตปรามาสมันก็เกิดขึ้นมาแล้วในจิตใจของพระโสดาบัน เมื่อบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วตายไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่สักกายทิฏฐิมันก็ไม่เกิด วิจิกิจฉามันก็ไม่เกิด ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เกิด เรียกว่าสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสการถือศีลพรตต่างๆ มันก็ไม่เกิดขึ้นมา บุคคลนั้นก็จะชื่อว่าเป็นคนมีคุณธรรมอันเป็นที่พึ่งนั้นติดตามไปในสัมปรายภพข้างหน้า เกิดอีกอย่างมากก็ ๗ ชาติเท่านั้นเอง เรียกว่าสงัดจากกิเลสของพระโสดาบัน ถ้าผู้ใดเป็นประเภทสัตตุกขัตตปรมะ ก็เกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ แต่ถ้าผู้ใดเป็นโกลังโกละคือมีอัธยาศัยบารมีอ่อนลงก็เกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๖ ชาติ แต่ถ้าผู้ใดมีบารมีมากกว่านั้นก็เกิดเป็นเอกพีชี คือ เกิดเพียงชาติเดียว ก็จะได้เป็นสัมโพธิปรายโน ก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าเรามีความสงัดจิต มันก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้บรรลุคุณธรรมอย่างที่กล่าวมา ถ้าผู้ใดได้บรรลุคุณธรรมคือเป็นพระโสดาบันแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า จะเอาทรัพย์สมบัติของมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวงมากองกัน จะเป็นทรัพย์สมบัติของเศรษฐี มหาเศรษฐี คฤหบดี พระราชา หรือสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิมากองรวมกันสูงมากมายขนาดไหนก็ตาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าไม่เท่ากับเสี้ยวหนึ่งของการบรรลุเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นการบรรลุเป็นพระโสดาบันจึงมีอานิสงส์มากมาย เรียกว่าสามารถป้องกันอบายภูมิได้ สามารถป้องกันนรกได้ นี้เรียกว่าผลของการประพฤติปฏิบัติธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันเป็นอย่างนั้น
แต่ถ้าผู้ใดมีความสงัดกิเลสยิ่งไปกว่านั้นอีก คือสามารถทำลายราคะ โทสะ ให้น้อยลงไป บุคคลนั้นก็จะได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี เรียกว่าหมดยึดมั่น ถือมั่น ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสแทบจะหมดแล้ว ความกำหนัดในอารมณ์ต่างๆ ก็แทบจะหมดแล้วในพระสกทาคามี ถ้าผู้ใดมีความสงัดมากไปกว่านั้นก็บรรลุเป็นพระอนาคามี สมารถละราคะ โทสะได้ ไม่เกิดอีก เรียกว่าราคะ โทสะนั้นถึงบุคคลนั้นจะตายไปเกิดในภพใหม่ ชาติใหม่ มันก็ไม่สามารถที่จะพาไปเกิดในภพใหม่ ชาติใหม่ ที่นอกเหนือไปจากสุทธาวาสพรหมได้ ผู้ที่บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้วก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมเท่านั้น เพราะอะไร เพราะอำนาจของการละราคะ โทสะ โมหะได้
เพราะฉะนั้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านจึงให้มีความสงัด ถ้าเราไม่สงัดจากอุปธิคือกิเลสแล้ว เราก็ไม่สามารถจะหาความสุขเจอ เพราะว่าเหตุแห่งทุกข์ก็คือกิเลส เป็นตัวบงการชีวิตของเรา เมื่อเราคิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่ว เราไปเกิดในนรกนับภพนับชาตินับกัปนับกัลป์ไม่ได้ ก็เพราะจิตของเรานี้แหละยินดีในบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง แต่ถ้าเราไปเกิดในสวรรค์ก็ดี มาเกิดในเมืองมนุษย์ก็ดี เราไปเกิดในพรหมโลกก็ดี ก็เพราะอาศัยจิตของเราที่สงัดจากอำนาจของกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เราจึงได้มาเกิดในมนุษย์ มาเกิดในสวรรค์ มาเกิดในพรหมโลก การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านพยายามให้เรานั้นอุปธิวิเวก สงัดจากกิเลสให้ได้ เพราะว่ามันเป็นที่สุดของการเวียนว่ายตายเกิด เป็นที่สุดของสังสารวัฏ เป็นที่สุดของวัฏฏสงสาร เป็นฝั่งแห่งสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่จะแหวกว่ายสายธารแห่งโอฆะกันดาร พยาธิกันดาร มรณะกันดาร ข้ามพ้นกันดารทั้งหลายทั้งปวงนั้นไปสู่สถานที่อันประเสริฐคือพระนิพพานได้
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่จะให้ผลเร็วนั้น ท่านกล่าวว่าต้องประกอบด้วยปรมตัสสี คือ เพียรอย่างเยี่ยมยอด ปรมเชคุจฺฉี เพียรไม่ให้เกิดความลำบากแก่สัตว์เล็กสัตว์น้อยอย่างเยี่ยมยอด ปรมลูโข ประพฤติปฏิบัติปอนๆ อย่างเยี่ยมยอด แล้วก็ ปรมวิจิตฺโต สงัดยิ่งอย่างเยี่ยมยอด ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติประกอบด้วยองค์คุณ ๔ ประการนี้ บุคคลนั้นก็จะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้
วันนี้อาตมภาพกระผมได้กล่าวธรรมมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอน้อมเอาบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่พระสงฆ์ สามเณร ปะขาว แม่ชี คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้บำเพ็ญมาดีแล้ว ก็ขอให้บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจงได้มารวมกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัย ดลบันดาลส่งไปถึงพระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่พระราชปริยัตยากร จงส่งถึงพระราชปริยัตยากรจงทุกประการ แล้วก็ขอให้บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวง ที่พวกเราทั้งหลายได้บำเพ็ญมาดีแล้วนั้นจงมารวมกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้คณะครูบาอาจารย์ ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้เจริญด้วยศีล ด้วยสมาธิ เจริญด้วยปัญญาได้บรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.