[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 02:06:52 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระประวัติ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  (อ่าน 275 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 08 สิงหาคม 2566 19:13:44 »



พระประวัติ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวาสุกรี เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ประสูติเมื่อ ณ วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีจอ จุลศักราช ๑๑๕๒  ตรงกับวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๓๓  ทรงผนวชเป็นสามเณรแต่ในรัชชกาลที่ ๑ ทรงศึกษาในสำนักสมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพน  องค์ที่แจ้งประวัติไว้ในคำนำหนังสือพระราชปุจฉาที่พิมพ์นั้น  เสด็จทรงผนวชอยู่วัดพระเชตุพนจนได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุในรัชชกาลที่ ๒  เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๑๑๗๓ พ.ศ.๒๓๕๔ และเสด็จประทับอยู่วัดพระเชตุพนต่อมาจนตลอดพระชนมายุ

มีเรื่องราวเล่าสืบกันมาว่า เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุได้สัก ๓ พรรษา สมเด็จพระวันรัตถึงมรณภาพ ยังไม่ทันจะได้โปรดให้ผู้ใดเป็นธิบดีสงฆ์ในวัดพระเชตุพน ประจวบเวลาพระราชทานพระกฐิน พระสงฆ์ในวัดพระเชตุพนจึงเตรียมจะอปโลกน์พระกฐินถวายพระราชาคณะที่รองลงมา ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จไปพระราชทานพระกฐินถึงวัดพระเชตุพน มีรับสั่งให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ แต่ยังไม่ได้รับกรม เป็นอธิบดีสงฆ์ครองวัดพระเชตุพน เข้าใจว่าเห็นจะทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะด้วยในเวลานั้น ประเพณีทรงตั้งเจ้านายที่ผนวชเป็นพระราชาคณะแต่ก่อนเป็นแต่พระราชทานพัดแฉกเท่านั้น ข้าพเจ้าเคยได้สดับมาจากสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์ฯ ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชยังประทับอยู่วัดราชาธิวาส วัน ๑ เสด็จเข้ามาถวายเทศน์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพัดแฉก รับว่าว่า “สี่ต้นบวชมานานแล้ว เป็นพระราชาคณะเสียเถิด” เท่านี้  เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตั้งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เป็นพระราชาคณะก็เห็นจะทำนองเดียวกัน  คงทรงตั้งเมื่อวันเสด็จไปพระราชทานพระกฐิน พร้อมกับเมื่อรับสั่งให้ครองวัด และรับสั่งให้ครองกฐินในปีนั้นด้วยทีเดียว  กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ถวายพระพรว่า ไม่ได้เตรียมท่องอปโลกน์ไว้  มีรับสั่งว่า ไม่เป็นไร เมื่อไม่ได้ท่องไว้ให้องค์อื่นแทนก็ได้ จึงเลยเป็นธรรมเนียมในวัดพระเชตุพนตั้งแต่นั้นมา  พระราชาคณะผู้จะครองกฐินไม่ต้องว่าอุปโลกน์จนตราบเท่าทุกวันนี้

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ได้รับกรมครั้งแรกเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ แต่จะสถาปนาเมื่อใดยังไม่ทราบ ปรากฏจดหมายเหตุตั้งกรมในรัชชกาลที่ ๒ สองคราว คราวแรกเมื่อปีระกา จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ.๒๓๕๖ ตั้งหลายพระองค์ มีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น อีกคราว ๑ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๑๗๘ พ.ศ.๒๓๕๙ ปรากฏพระนามแต่ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์พระองค์เดียว ข้าพเจ้าเข้าใจว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เห็นจะได้เป็นกรมหมื่นในคราวหลัง คือ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๑๗๘ พ.ศ.๒๓๕๙ นี้

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เมื่อยังเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเห็นจะได้เป็นอาจารย์เจ้านายหลายพระองค์ มีเนื้อความปรากฏในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ว่า เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น ได้ทรงศึกษาอักขรวิธีและพระพุทธวจนะและวิชาการคดีโลกอื่นๆ ในสำนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เจ้านายพระองค์อื่นที่ได้ทรงศึกษาก็คงจะมีอีก  ในรัชชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชอยู่ในเวลานั้น ทรงเคารพนับถือกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ มากทั้ง ๒ พระองค์  เห็นจะเมื่อคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ในรัชชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รวมวัดในกรุงเทพฯ จัดขึ้นเป็นคณะกลางอีกคณะ ๑ ให้ขึ้นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงบังคับบัญชาเสมอพระราชาคณะ และมีเรื่องซึ่งครั้ง ๑ เป็นความลับรู้กันแต่ในพระราชวงศ์ว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชอยู่ ได้เคยทรงปรึกษาปรารภกันว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ถ้าราชสมบัติได้แก่เจ้านายบางองค์ บางทีจะถูกเบียดเบียฬได้รับความเดือดร้อน ทรงพระดำริเห็นพร้อมกันว่า ควรจะสร้างวัดเล็กๆ ไว้ในเรือกในสวนสักแห่ง ๑ ถ้าถึงเวลาคับแค้นเมื่อใดจะเสด็จออกไปอยู่เสียที่วัดนั้นให้ห่างไกล อย่าให้เป็นที่กีดขวางแก่ราชการบ้านเมือง  ทรงพระดำริพร้อมกันเป็นความลับอย่างนี้  กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ จึงทรงไปสร้างวัดชิโนรสขึ้นในคลองมอญ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไปทรงสร้างวัดนอกซึ่งพระราชทานนามว่า วัดบรมนิวาศ เมื่อภายหลัง แต่ชตาเมืองไทยไม่ทรุดโทรมอย่างพระวิตก เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต  ราชสมบัติได้แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสถาปนาพระเกียรติยศกรมหมื่นนุชิตชิโนรสขึ้นเป็นสมเด็จ มีเนื้อความตามพระบรมราชโองการ ประกาศเลื่อนกรม เมื่อ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ พ.ศ.๒๓๙๔ ว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯลฯ  พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน  ได้ประดิษฐานดำรงมาเป็นมหานครอันใหญ่เป็นที่สุขเกษมสมบูรณ์ด้วยสรรพโภคัยมไหสุริยสมบัติ เพียบพูนด้วยชนคณานิกรบรรพสัตว์ คือบุรุษรัตนราชวงศานุวงศ์  เสนามาตย์ราชมนตรีกระวีชาติราชปุโรหิต เป็นที่ไปมาค้าขายแห่งนานาประเทศพานิชวิจิตรด้วยวิกัยภัณฑ์สรรพพัสดุล้วนวิเศษเป็นที่รื่นเริงบันเทิงจิตแห่งชาวนานาประเทศคามนิคมชนบทปรากฏด้วยมหาชนอันเจริญขึ้นด้วยความฉลาดในหัตถกรรมต่างๆ และชำนาญในการช่างสรรพกิจทุกประการ  เจริญขึ้นด้วยหมู่นิกรโยธาทวยหาญ เป็นประเทศที่ประดิษฐานพระบวรพุทธศาสนา ประดับด้วยเรือนพระปฏิมา อุโบสถาคาร เสนาสน์วิจิตรด้วยสุวรรรหิรัญมาศ เป็นที่เจริญความเลื่อมใสแห่งมหาชน ซึ่งเป็นมาได้ดังนี้ สำเร็จด้วยอำนาจบุญบารมีพระเดชานุภาพวิริยปรีชาวิจารณกิจ แห่งสมเด็จบรมนารถบพิตรซึ่งทรงสถิตเป็นประถม แห่งสมเด็จบรมนารถบพิตรซึ่งทรงสถิตย์เป็นประถม คือองค์สมเด็จพระบรมไอยกาธิราช ที่ได้ทรงนามตามประกาศด้วยพระนามแห่งพระมโหทิศปฏิมาว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นเดิมมา ส่วนกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเล่าก็เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น และได้ทรงผนวชรับธุระฝ่ายพระบวรพุทธศาสนามาช้านาน ทรงพระปรีชาญาณฉลาดรอบรู้ในพุทธศาสตร์ ราชศาสตร์ แบบอย่างโบราณราชประเพณีต่างๆ และในทางปฏิสันถารปราศรัยแล้วมีพระหฤทัยโอบอ้อมอารี เป็นที่สนิทเสน่หาแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วไป และได้เป็นครูอาจารย์ครุฐานิยบุทคลแห่งราชสกุลวงศ์และมหาชนเป็นอันมาก ควรที่จะเป็นประธานาธิบดี มีอิสสริยยศยิ่งกว่าบรรดาคณานิกรสงฆ์คามวาสี อรัญวาสีปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวง เมื่อบุรุษรัตนอันล้ำเลิศประเสริฐดังนี้มีอยู่ ก็มิได้ควรที่จะยกย่องพระราชาคณะองค์ใดองค์หนึ่ง แม้ถึงจะมีสติปัญญาวิทยาคุณ ที่มีตระกูลเป็นอย่างอื่น ให้มีอิสสริยยศฐานานุศักดิ์ยิ่งกว่า จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสีหนาทดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรสเป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงษ์ บรมพงศาธิบดี จักรีบรมนารถ ปฐมพันธุมหาราชวรางกูร ปรเมนทรนเรนทร์สูรสัมมานาภิสักกาโรดมสถาน อริยสมศีลาจารพิเศษมหาวิมล มงคลธรรมเจดีย์ยุตมุตวาทีสุวิรมนุญ อดุลยคุณคณาธาร มโหฬารเมตยาภิธยาศรัย ไตรปิฎกกลาโกศล เบญจปดลเศวตฉัตรสิริรัตโนปลักษณ มหาสมณุตมาภิเษกาภิษิต ปรมุกกฤษฐสมณศักดิธำรง มหาสงฆปรินายก พุทธศาสนดิลกโลกุตมหาบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัติญาณมหากระวีพุทธาทิศรีรัตนตรัยคุณารักษ์ เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาทิโลกยปดิพัทธพุทธบริสัษยเนตร สมณคณินทราธิเบศร์สกลพุทธจักโรปการกิจสฤษดิศุภการ มหาปาโมกษประธานวโรดม บรมนารถบพิตร เสด็จสถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพฯมหานคร อมรรัตนโกสินทร มหินทรายุธยา มหาดิลก ภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน ทฤฆายุศมศิริสวัสดิ”  ดังนี้   กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ประชวรสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู เบญจศก พ.ศ.๒๓๙๖ พระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา พระราชทานเพลิงพระศพที่พระเมรุท้องสนามหลวงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญพระอัฏฐิประดิษฐานไว้ที่พระตำหนัก ณ วัดพระเชตุพนฯ และให้มีตำแหน่งฐานานุกรมสำหรับประจำรักษาพระอัฏฐิแต่นั้นมา ถึงเวลาเข้าพระวัสสา เสด็จไปถวายพุ่มวัดพระเชตุพนฯ ย่อมเสด็จไปถวายพุ่มพระอัฏฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ด้วย   และเมื่อวันเสด็จพระราชทานพระกฐินวัดพระเชตุพนฯ ก็โปรดให้เชิญพระอัฏฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ มาในพระอุโบสถ ทรงทอดผ้าไตรปีสำหรับฐานานุกรมสดับปกรณ์พระอัฏฐิทุกปีมา  ประเพณีที่ทรงเคารพบูชาต่อพระอัฏฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ดังกล่าวมานี้ มีตลอดรัชชกาลที่ ๔ มาในรัชชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงปฏิบัติตามแบบอย่างสืบมา จนตราบเท่าทุกวันนี้

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นกวีหนังสือไทยอย่างวิเศษที่สุดพระองค์หนึ่ง หนังสือเรื่องต่างๆ ที่ทรงนิพนธ์ไว้ สอบได้บัญชีดังนี้ คือ
            ๑. สรรพสิทธิคำฉันท์
            ๒. สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย แต่งต่อพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงค้างไว้จนจบ
            ๓. กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
            ๔. ฉันท์ดุษฏีสังเวยกล่อมช้างพัง
            ๕. กาพย์ขับไม้กล่อมช้างพัง
            ๖. ฉันท์มาตราพฤติ
            ๗. ฉันท์วรรณพฤติ
            ๘. ลิลิตตะเลงพ่าย
            ๙. ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารคและชลมารค
            ๑๐. โคลงยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ดั้นบาทกุญชรและวิวิธมาลี
            ๑๑. ร่ายทำขวัญนาค
            ๑๒. มหาชาติ ๑๑ กัณฑ์

นอกจากนี้ยังมีโคลงฉันท์เบ็ดเตล็ด เช่น โคลงฤๅษีดัดตน โคลงกลบท เป็นต้น ซึ่งทรงรับแต่งพร้อมกับคนอื่นๆ

มีข้อควรสังเกตอย่าง ๑ ว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ไม่ได้ทรงนิพนธ์หนังสือเป็นกลอนแปดเลยสักเรื่องเดียว ไม่ใช่ทรงไม่ได้  ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่ไม่ทรงกลอนแปดนั้น เพราะกลอนแปดมักแต่งในทางสังวาสและบทละคร จึงทรงรังเกียจประการ ๑  อีกประการ ๑ จะเป็นเพราะเมื่อในรัชชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ในสมัยเมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่องต่างๆ นั้น กวีที่เชี่ยวชาญกระบวนแต่งกลอนแปดมีมาก คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และสุนทรภู่ เป็นต้น  กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ จะทรงพระดำริเห็นว่ากระบวนแต่งกลอนแปดจะสู้กวีที่มีอยู่ในเวลานั้นยาก จึงไม่ทรงเสียทีเดียวเหมือนอย่างหนังสือมหาชาติกัณฑ์มหาพนซึ่งไม่ทรงแต่งสู้พระเทพโมฬี (กลิ่น) ฉะนั้น



ที่มา : "พระประวัติ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส" พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
         บริษัท แพร่พิทยา บริษัท โอเดียนสโตร์ กรุงเทพฯ พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.๒๔๙๖
         (การสะกดคำ - คัดตามต้นฉบับ)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 สิงหาคม 2566 15:00:45 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พระประวัติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
เงาฝัน 5 6476 กระทู้ล่าสุด 06 ตุลาคม 2553 05:41:12
โดย เงาฝัน
พระประวัติ-บันทึกข้อคิด สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
Kimleng 6 52889 กระทู้ล่าสุด 01 สิงหาคม 2559 12:47:25
โดย Kimleng
พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราชไทย ๑๙ พระองค์
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
มดเอ๊ก 1 2506 กระทู้ล่าสุด 05 ธันวาคม 2562 10:49:01
โดย Leeo
พระประวัติ-พระจริยาวัตร สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1520 กระทู้ล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2560 19:12:54
โดย ใบบุญ
[ข่าวเด่น] - พระประวัติ หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล หรือ ท่านชายใหม่ นายทหารผู้ผ่านสมรภูมิเขาค้อ
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 138 กระทู้ล่าสุด 09 พฤศจิกายน 2566 01:53:00
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.379 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 21 มีนาคม 2567 01:15:26