[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 15:10:27 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คติความเชื่อและที่มาของ “กษัตริย์” ในไตรภูมิกถา  (อ่าน 269 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 10 สิงหาคม 2566 18:58:18 »


พระมหากษัตริย์เสด็จเลียบพระนคร
ที่มา : หนังสือ จิตรกรรมฝีพระหัตถ์และจิตรกรรม
ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วัดอัมพวันเจติยาราม

คติความเชื่อและที่มาของ “กษัตริย์” ในไตรภูมิกถา


ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณกรรมพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลเป็นอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนชาวไทย เพราะเป็นรากฐานความเชื่อทางพุทธศาสนาและคติในการสร้างงานศิลปกรรมหลายสาขาทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม หรือแม้กระทั่งวรรณกรรม

พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิกถาขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๘๘ โดยทรงค้นคว้าและเรียบเรียงจากคัมภีร์พุทธศาสนาจำนวนกว่า ๓๐ เล่ม เนื้อหาในไตรภูมิกถาแบ่งเป็น ๑๑ กัณฑ์ กล่าวถึงสัตว์และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นและดับสูญไปในภูมิ ๓ ภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ   ไตรภูมิกถาเริ่มเรื่องโดยชี้ให้เห็นความน่าสะพรึงกลัวของโทษทัณฑ์ในนรกใหญ่ ๘ ขุม และนรกบ่าว ๑๖ ขุม เพื่อกระตุ้นให้คนกลัวการทำบาป จากนั้นจึงพรรณนาถึงวิถีของสัตว์ในภพภูมิอื่นๆ ได้แก่ สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย มนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหม พรรณนาถึงการเกิดดับของสรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาล เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว เขาสัตบริภัณฑ์ แผ่นดิน ฯลฯ และปิดท้ายด้วยการชี้ให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนแต่ต้องเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา ไม่เว้นแม้แต่เทวสมบัติอันงดงามและน่าปรารถนา ผู้มีปัญญาจึงควรพิจารณาถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง เร่งบำเพ็ญภาวนาเพื่อให้ไปถึงนิพพานและหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดด้านพุทธธรรมจะเป็นสาระสำคัญของไตรภูมิกถา แต่ไตรภูมิกถาก็ไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะเรื่องการทำดี ทำชั่ว นรก สวรรค์ หรือการเผยแผ่หลักธรรมเท่านั้น หากยังเป็นคัมภีร์โลกศาสตร์ที่อธิบายถึงกำเนิดของสิ่งต่างๆ รวมทั้งระบบสังคมและที่มาของการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ภายใต้แนวคิดพุทธศาสนาอีกด้วย

ไตรภูมิกถากล่าวถึงความเป็นมาและคติความเชื่อเกี่ยวกับพระญาจักรวรรดิราช หรือพระมหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่กว่ากษัตริย์อื่นๆ ไว้ในปัญจมกัณฑ์ (กัณฑ์ที่ ๕) ว่าด้วยเรื่องมนุษยภูมิ ดังนี้

                   “ท่านผู้เป็นพระญาจักรวรรดิราชนั้นไสร้ ท่านมีศักดิ์มียศดั่งนี้ แลจะกล่าวแลน้อยๆ แต่พอให้รู้ไสร้ คนผู้ใดที่ได้ทำบุญแต่ก่อน
คือว่าได้ปฏิบัติบูชาแก่พระศรีรัตนตรัย แลรู้จักคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า แลให้ทานรักษาศีลเมตตาภาวนา
ครั้นตายก็เอาตนไปเกิดในสวรรค์ ลางคาบเล่าได้เกิดเป็นท้าวเป็นพระญาผู้ใหญ่ แลมีศักดิ์มียศบริวารเป็นอเนกอนันต์ไสร้
ได้ปราบทั่วทั้งจักรวาลแล แม้ท่านว่ากล่าวถ้อยคำสิ่งใดก็ดี แลบังคับบัญชาสิ่งใดก็ดี เทียรย่อมชอบด้วยทรงธรรมทุกประการแล
ท่านนั้นเป็นพระญาทรงพระนามชื่อว่าพระญาจักรวรรดิราชแล”

จากเนื้อความข้างต้น ผู้ที่ได้เป็นพระญาจักรวรรดิราช คือ ผู้ที่หมั่นทำบุญ รักษาศีล และปฏิบัติบูชาพระรัตนตรัยอยู่เป็นนิจ เมื่อตายลงจึงได้เกิดเป็นท้าวพระญา มีอำนาจบารมีและมีสิทธิ์ในการปกครอง เพราะอานิสงส์ของบุญที่ได้สั่งสมไว้แต่อดีตชาติ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่ทำบุญรักษาศีลจะได้เกิดเป็นพระมหากษัตริย์  ไตรภูมิกถาชี้ให้เห็นว่าบุญญาธิการของพระมหากษัตริย์นั้นต่างจากบุญของคนทั่วไป เพราะยังมีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นพุทธวงศ์ หรือพระโพธิสัตว์ ดังปรากฏใน ทสมกัณฑ์ (กัณฑ์ที่ ๑๐) ว่าด้วยการวินาศดับสูญและการอุบัติขึ้นใหม่ของโลก กล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากเกิดไฟ น้ำ หรือลม ล้างโลก และเกิดแผ่นดินขึ้นมาใหม่ พรหมที่หมดบุญได้ลงมากินง้วนดินและค่อยๆ สูญเสียทิพยสภาวะ จนกลายเป็นคนธรรมดาสืบลูกหลานต่อมา คนเหล่านี้ทะเลาะถกเถียงกันเรื่องการแบ่งปันที่ดินเพาะปลูกทำกิน จึงคิดแต่งตั้งให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็น “พระญา” เพื่อตัดสินคดีความและจัดสรรปันส่วนที่ดินผู้ที่ฝูงชนเคารพยกย่อง และพร้อมใจกันยกขึ้นเป็นพระญาก็คือ พระโพธิสัตว์ ซึ่งได้สืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์มานับแต่นั้น  ด้วยเหตุนี้ คำเรียกพระญาผู้ปกครองแผ่นดินจึงมี ๓ ชื่อ คือ มหาสมมติราช หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ ขษัตติยะ (กษัตริย์) หมายถึง ผู้ครองที่ดิน และราชา หมายถึง ผู้เป็นที่ชอบใจ ชื่อทั้งหมดล้วนสอดคล้องกับสถานภาพและหน้าที่รับผิดชอบของ “พระญา” ซึ่งเป็นทั้งผู้มีบุญ ผู้เป็นเจ้าของแผ่นดิน และผู้เป็นที่รักของประชาชน

ความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์คือพระโพธิสัตว์ที่กล่าวถึงในไตรภูมิกถาก็คือ คติพุทธราชา อันมาพร้อมกับความเชื่อเรื่องบุญญาธิการและความทรงธรรมของพระมหากษัตริย์ โดย “บุญ” และ “ธรรม” ดังกล่าวนี้ ก็นำมาซึ่งพระราชอำนาจในลักษณะของสิทธิธรรมในการปกครองประชาชนและแผ่นดินนั่นเอง

ผู้เป็นพระญาจักรวรรดิราชยังมีของคู่บุญถึง ๗ สิ่ง ได้แก่ กงจักรแก้ว (จักรรัตนะ)  ช้างแก้ว (หัตถีรัตนะ)  ม้าแก้ว (อัศวรัตนะ)  มณีแก้ว (มณีรัตนะ)  นางแก้ว (อิตถีรัตนะ)  ขุนคลังแก้ว (คหปติรัตนะ)  โอรสแก้ว (ปริณายกรัตนะ)  ของวิเศษเหล่านี้เกิดขึ้นหรือมาสู่การครอบครองของพระญาจักรวรรดิราชด้วยอำนาจบุญของพระองค์เพียงผู้เดียว และช่วยให้การปกครองบ้านเมืองของพระญาจักรวรรดิราชราบรื่นมากยิ่งขึ้น

กงจักรแก้ว คือ กงจักรวิเศษที่จมอยู่ในมหาสมุทร เมื่อมีพระญาจักรวรรดิราชเกิดขึ้น กงจักรแก้วจะลอยขึ้นจากท้องทะเลมาสู่พระราชมณเฑียรของพระญาจักรวรรดิราชและพาพระองค์พร้อมกับประชาชนเหาะไปเลียบกำแพงจักรวาล ปราบทั่วทั้งสี่ทวีป (อุตรกุรุทวีป บูรพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป และชมพูทวีป) พระญาเมืองอื่นต่างพากันมานอบน้อมด้วยยอมรับในบุญสมภารโดยไม่เกิดสงคราม กงจักรแก้วยังมีอำนาจแหวกท้องสมุทรให้เห็นแก้วสัตตพิธรัตนะที่จมอยู่เบื้องล่างซึ่งจะกลายเป็นสมบัติของพระญาจักรวรรดิราชทั้งสิ้น

ช้างแก้ว (ช้างเผือกในตระกูลฉัททันต์และตระกูลอุโปสถ) และม้าแก้ว (ม้าในตระกูลสินธพ) เป็นสัตว์คู่บุญซึ่งจะเหาะมาสู่พระญาจักรวรรดิราชด้วยบุญของพระองค์ สามารถพาพระญาจักรวรรดิราชและไพร่พลเหาะไปเวียนเขาพระสุเมรุราช เลียบกำแพงจักรวาลและกลับมาได้ทันก่อนถึงเวลาอาหารเช้า

มณีแก้ว คือ แก้ววิเศษอยู่ในยอดเขาวิบุลบรรพต เมื่อเกิดพระญาจักรวรรดิราช มณีแก้วพร้อมด้วยแก้วบริวารอีก ๘๔,๐๐๐ ดวง จะเหาะมาสู่พระองค์ มณีแก้วมีรัศมีรุ่งเรืองบันดาลกลางคืนให้เป็นกลางวัน ช่วยให้ผู้คนทำงานในยามค่ำคืนได้อย่างสะดวกสบาย

นางแก้ว คือ หญิงสาวผู้เกิดในอุตรกุรุทวีป มีคุณสมบัติอันเป็นอุดมคติ เช่น รูปโฉมงดงามหมดจด ร่างกายมีรัศมีเปล่งได้ไกล ๑๐ ศอก ผิวกายเย็นและหอมดั่งแก่นจันทน์ แก่นกฤษณา กลิ่นปากหอมดั่งดอกบัว นางแก้วจะคอยปรนนิบัติพระญาจักรวรรดิราชและเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์ทุกประการ

ขุนคลังแก้ว คือ มหาเศรษฐีผู้มีตาทิพย์ หูทิพย์ ล่วงรู้ได้ว่ามีทรัพย์สมบัติอยู่ที่ใดในแผ่นดิน และสามารถอธิษฐานให้แก้วแหวนเงินทองต่างๆ มาสู่พระญาจักรวรรดิราชตามพระราชประสงค์

โอรสแก้ว คือ พระโอรสองค์โตสุดของพระญาจักรวรรดิราช มีอำนาจอ่านใจคนซึ่งอยู่ห่างออกไปได้ถึง ๑๒ โยชน์ จึงสามารถคอยกราบทูลพระญาจักรวรรดิราชให้ระวังภัยจากผู้คิดร้ายได้ทันเวลา โอรสแก้วยังคอยช่วยแบ่งเบาราชกิจ บริหารปกครองบ้านเมืองแทนพระญาจักรวรรดิราชอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ไตรภูมิกถาจะแสดงให้เห็นว่าพระญาจักรวรรดิราชมีพระราชอำนาจเป็นอันมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่าอำนาจเหล่านี้ย่อมมีวันหมดลงได้ หากพระญาจักรวรรดิราชไม่ตั้งอยู่ในคุณธรรม ไตรภูมิกถาเน้นย้ำเสมอว่า อำนาจของพระญาจักรวรรดิราชเกิดขึ้นด้วยธรรมเป็นสำคัญ ของคู่บุญต่างๆ ก็ล้วนได้มาด้วยอานิสงส์ของการรักษาธรรมของพระองค์ทั้งสิ้น ธรรมของพระญาจักรดิราชไม่เพียงเป็นหัวใจของการปกครองแว่นแคว้นให้สงบสุข แต่ยังเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองอีกด้วย ดังปรากฏในไตรภูมิกถา ความว่า  “ผิแลว่าท้าวพระญาองค์ใด แลเสวยราชสมบัติแล้วแลทำความชอบธรรมไสร้ ไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลายก็อยู่เย็นเป็นสุข ได้หลกขาดดีในศรีสมบัติเพราะด้วยบุญสมภารของท่านผู้เป็นเจ้าเป็นจอม แลข้าวน้ำซำปลาอาหารแก้วแหวนแสนสัด เนาวรัตนเงินทองผ้าผ่อนแพรพรรณนั้นก็บริบูรณ์ อีกฝูงเทวฟ้าฝนนั้นก็ตกชอบฤดูกาล บ่มิน้อยบ่มิมาก ทั้งข้าวในนาทั้งปลาในน้ำก็บ่ห่อนรู้ร่วงโรยเสียไปด้วยฝนด้วยแล้วเลย...แลท้าวพระญาองค์ใดกระทำความอันบ่มิชอบคลองธรรมไสร้ เทวาฟ้าฝนนั้นก็พิปริต แม้นทำไร่ไถนาก็บันดาลให้เสียหายตายด้วยแล้งแลฝนแลอนึ่งผลไม้ทั้งหลายแลพืชอันเกิดเหนือแผ่นดินอันมีโอชารสอันอร่อยนั้นก็กลับหายเสียไป เพื่อโอชารสนั้นจมลงไปใต้แผ่นดินสิ้น ทั้งต้นแลลำอันปลูกนั้น มันก็มิงามเลย ทั้งแดดแลลมทั้งฝนแลเดือนดาว ก็บ่ชอบอุตุกาลดั่งเก่าเลย เพราะว่าท้าวพระญากระทำบ่มิชอบธรรมนั้น...”

จากเนื้อความข้างต้น แสดงให้เห็นคติความเชื่อเรื่องคุณธรรมของกษัตริย์กับความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง หากกษัตริย์ยึดมั่นในศีลธรรม ฝนฟ้าก็จะตกต้องตามฤดูกาล เพาะปลูกพืชผลได้ผลดี แต่หากกษัตริย์ขาดศีลธรรม สภาพอากาศก็จะวิปริตแปรปรวนทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล ความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นพื้นฐานความมั่นคงของอาณาประชาราษฎร์อันเป็นกำลังของราชอาณาจักร  ดังนั้น ธรรมของกษัตริย์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมชะตากรรมบ้านเมืองทั้งด้านวิถีปฏิบัติและด้านความเชื่อ

ไตรภูมิกถาได้วางต้นแบบของกษัตริย์ผู้ทรงธรรมไว้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยใช้แนวคิดทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งเชื่อมโยงความมั่นคงทางศาสนจักรและอาณาจักรเข้าด้วยกัน ไตรภูมิกถาจึงมิได้เป็นเพียงวรรณกรรมพุทธศาสนาที่ชี้นำให้ผู้คนเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นวรรณกรรมที่สร้างดุลยภาพทางสังคมและการเมืองการปกครองได้เป็นอย่างดี


--------------------------------------
 ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย สมัยสุโขทัย ไตรภูมิกถา, (กรุงเทพฯ, ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๔), หน้า ๘๙
 ราชบัณฑิตยสถาน, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๖.


ที่มา : คติความเชื่อและที่มาของ “กษัตริย์” ในไตรภูมิกถา บทความโดย วกุล มิตรพระพันธ์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
         นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๖๔ ฉบับที่ ๓ พ.ค.-มิ.ย.๒๕๖๔

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.393 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้