[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 03:16:57 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อสนีบาตตกพระที่นั่ง ไฟไหม้พระมหาปราสาท ในสมัยรัชกาลที่ ๑  (อ่าน 188 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 19 กันยายน 2566 16:02:30 »



ไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ในพุทธศักราช ๒๓๓๒
จิตรกรรมจากโคลงพระราชพงศาวดาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมกวีและจิตรกร
แต่งโคลงและวาดภาพพระราชพงศาวดาร จากเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน


อสนีบาตตกที่พระที่นั่งอินทราภิเษก

     ๏ กรุงเทพมหานครนี้    นามระบิล
อมรรัตนโกสินทร์   ต่อสร้อย
ย้ายจากฟากแผ่นดิน       ตวันตก
ผาดผุดดุจดังย้อย จากฟ้ามาดิน
     ๏ เวียงวังดังสุรแสร้ง    เสกสฤษฏิ์
ส่อศุภศักดิ์จักริศ   เกรื่องกล้า
ปราสาทราชสถิต       ฐิรอาศน์
แสงส่องก่องกนกจ้า แจ่มห้องเวหน ฯ


โคลง “พระบรมมหาราชวัง” พระนิพนธ์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงนิพนธ์ไว้เป็นความนำในหนังสือ พระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถานในพระบรมมหาราชวัง ได้พรรณนาให้เห็นถึงภูมิสถานของพระนครและความงดงามของพระบรมมหาราชวังเมื่อแรกสร้าง  เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และเสด็จขึ้นครองราชย์  โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามาสู่ฝั่งตะวันออก มีการสร้างพระราชวังขึ้น ๓ แห่งพร้อมกับการสร้างกรุงเทพมหานคร ได้แก่ พระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวรสถานมงคล และพระราชวังบวรสถานพิมุข ซึ่งเรียกกันโดยลำลองว่า วังหลวง วังหน้า และวังหลัง  และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต  ทั้งนี้ พระบรมมหาราชวังและพระราชมณเฑียรเมื่อแรกสร้างนั้น สร้างด้วยเครื่องไม้และสร้างเสาระเนียดรายรอบพระราชวังต่างกำแพงวังเพื่อประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป  ต่อมา พ.ศ.๒๓๒๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียร พระมหาปราสาทให้งดงามสถาวร ก่อกำแพงอิฐแทนเครื่องไม้และเสาระเนียด  สร้างประตูรายรอบพระบรมมหาราชวัง มีพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท เป็นพระมหาปราสาทองค์แรกในพระบรมมหาราชวัง สร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งองค์ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถ่ายแบบพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทที่กรุงศรีอยุธยา เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๖ สร้างสำเร็จและทำพิธียกยอดพระมหาปราสาท วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๒๗ เมื่อสร้างพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทแล้วเสร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณี เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ โดยใช้พระที่นั่งนั้นเป็นพระราชพิธีมณฑล

พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทงามสง่าเป็นศรีแก่พระนครอยู่ได้ ๗ ปี เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ เวลาบ่าย ๓ โมง ๓๖ นาที ปีระกา จ.ศ.๑๑๕๑ ตรงกับวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๓๒ ได้เกิดเหตุฟ้าผ่าลงหน้าบันมุขเด็จพระที่นั่งแล้วเกิดเพลิงลุกลามไหม้องค์พระที่นั่ง แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยังทรงเข้าร่วมดับอัคคีภัยด้วยพระองค์เอง ทั้งยังระดมพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนพระสงฆ์ตั้งแต่ชั้นราชาคณะลงไปจากพระอารามหลวงมาช่วยดับไฟ แต่ไฟยังคงเผาผลาญทำลายพระมหาปราสาท เครื่องบน หลังคา และพระปรัศว์ซ้ายลงจนหมดสิ้น  พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้ข้าราชการช่วยกันสาดน้ำบ้าง ช่วยกันขนถุงเงินพระราชทรัพย์ลงทิ้งในสระในพระอุทยานบ้างจนเพลิงสงบ  ดังความปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้อุตสาหะเรียบเรียงขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๒ หลังจากเหตุการณ์ล่วงแล้ว ๒ แผ่นดิน โดยรวบรวมข้อมูลจากเอกสารบ้านเมืองที่เก็บรักษาไว้ตามที่ต่างๆ หลายแห่ง และจากข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งสูงในแผ่นดิน ความว่า

๕๕. ไฟไหม้พระมหาปราสาท
เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง ๖ บาท ฝนตกอสนีบาตลงต้องหน้าบันมุขเก็จ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทติดเป็นเพลิงโพลงขึ้น ไหม้เครื่องบนพระมหาปราสาทกับทั้งหลังคามุขทั้ง ๔ ทำลายลงสิ้น แล้วเพลิงลามไปติดไหม้พระปรัศว์ซ้ายด้วยอีกหลังหนึ่ง และขณะเมื่อเพลิงฟ้าแรก ติดพระมหาปราสาทนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง กับข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย และพระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมทุกๆ พระอารามหลวงก็เข้ามาช่วยดับเพลิงพร้อมกันสิ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ข้าราชการช่วยกันยกพระที่นั่งราชบัลลังก์ประดับมุกซึ่งกั้นเศวตฉัตรอยู่บนพระมหาปราสาทนั้นลงมาพ้น เพลิงหาทันไหม้ไม่ ฝ่ายพระสงฆ์คฤหัสถ์ข้าราชการทั้งปวงที่เข้าสาดน้ำดับเพลิงบ้าง ที่เข้าขนถุงเงินพระราชทรัพย์ในพระคลังลงทิ้งในสระในพระอุทยานภายในพระราชวังบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระแสงง้าว เร่งให้ข้าราชการดับเพลิงจนเพลิงดับสงบ”

การที่อสนีบาตตกจนเกิดเพลิงไหม้พระมหาปราสาทนั้นเป็นเหตุใหญ่กระทบขวัญและกำลังใจชาวพระนคร เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมกวีและจิตรกรแต่งโคลงและวาดภาพพระราชพงศาวดารจากเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน เหตุการณ์นี้จึงได้รับเลือกแต่งขึ้นเป็นโคลงลำดับที่ ๘๒ ประกอบภาพพระราชพงศาวดารโคลงซึ่งพระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ (พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค เป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๓๐ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงพระนิพนธ์ไว้ ดังนี้


     ๏ ปีพันร้อยเศษห้า สิบเอ็ด รกาแล
เกิดพิรุณลงเม็ด พร่างพร้อย
อสนีตกมุขเด็จ    ปราสาท
นามอมรินทรภิเศกสร้อย    ศัพท์ก้องเกิดเพลิง ฯ
     ๏ คุไหม้มุขสี่ด้าน โซมลง   
ลามติดพระปรัศองค์    ฝ่ายซ้าย
สนมนาฏราชสุริวงศ์   ต่างวุ่น วายแฮ
พาพวกระเห็จผ้าย       ออกพ้นวังสถานฯ
     ๏ ขณะนั้นบรมราชเจ้า จักรกรี กระษัตริย์แฮ
ดำรัสสั่งเสนี พรั่งพร้อม
ให้ยกราชวรอาสน์มี เสวตรฉัตร กั้นเฮย
ออกจากที่เพลิงล้อม    รอดพ้นเพลิงกาล ฯ
     ๏ ทั่วพระวงศ์ใหญ่น้อย    บรรดา มีเอย
หลวงพระขุนคณา   มาตย์ไท้
อีกสงฆ์ทุกวัดมา       ทั่วหมด
ช่วยดับอัคคีไหม้ เหือดสิ้นเพลิงสูญ ๚ะ”
พระนิพนธ์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค
                                   (กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ)


ในพงศาวดารยังกล่าวต่อไปว่า แม้เพลิงสงบลงแล้ว แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังทรงปริวิตกว่าการนี้จะเป็นลางบอกเหตุอัปมงคลแก่แผ่นดิน สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะและสงฆ์ทั้งหลายต่างพากันกราบทูลให้สิ้นพระวิตก และข้าราชการต่างพากันเข้าชื่อกราบบังคมทูลในเนื้อความเดียวกันว่า ตามคติที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณ เชื่อกันว่าอสนีบาตหรือฟ้าผ่าลงยังที่ใดถือเป็นมงคลนิมิต แม้จะมีเหตุต้องเสียทรัพย์ ก็จะเสียแต่ที่ฟ้าผ่าเท่านั้น ในคัมภีร์พิมพาภิกขุนีนิพพาน ซึ่งมีมาแต่สมัยอยุธยา ก็กล่าวไว้ว่าหากอสนีตกต้องกำแพงเมืองใด เมืองนั้นแม้มีข้าศึกยกทัพมาตีก็จะต้องพ่ายแพ้กลับไป  ในคัมภีร์โลกศาสตร์ กล่าวถึงผู้มีศักดิ์นั่งคานหามต้องอสนีบาตแล้วจะได้ดีภายหน้า ช้างศึกต้องฟ้าผ่า เมื่อออกรบจะได้ชัยชนะ ความในพระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มีดังนี้

“และที่มีเหตุเพลิงอสนีบาตตกลงไหม้พระมหาปราสาทครั้งนั้น ทรงพระปริวิตกว่าจะเป็นอวมงคลนิมิตแก่บ้านเมืองจึงพระสงฆ์ทั้งหลายมีสมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะเป็นประธาน พร้อมกันถวายพระพรว่า ได้ตรวจค้นดูในพระบาลีและคัมภีร์พุทธศาสตร์และโลกศาสตร์ ได้ความตามโบราณคติถือสืบต่อกันมาว่า อสนีบาตตกลงที่ใดย่อมถือว่าเป็นมงคลนิมิตแม้จะเสื่อมเสียทรัพย์สมบัติ ก็เสียแต่เท่าที่ต้องอสนีภัย จะเสียยิ่งไปกว่านั้นหาไม่ ความตามคัมภีร์พิมพานิพพานมีปรากฏว่า ถ้าอสนีบาตตกต้องกำแพงเมืองใด แม้ข้าศึกมาย่ำยีเมืองนั้นก็มีแต่จะปราชัยพ่ายแพ้ไปถ่ายเดียว ว่าโดยโลกศาสตร์ตามนิทานและเรื่องราวที่ปรากฏมาแต่ปางก่อน บางทีอสนีตกต้องศีรษะคนซึ่งผู้หามอยู่เหนือบ่า ผู้นั้นต่อไปได้ดีก็มีบ้าง บางทียกทัพไปอสนีตกต้องช้าง ไปทำศึกได้บ้านเมืองก็มีบ้าง ที่ว่าเป็นนิมิตอวมงคลมิได้พบในแห่งใด พระสงฆ์ทั้งหลายจึงมิได้เห็นว่าเหตุที่อสนีบาตตกต้องพระมหาปราสาทจะเป็นอวมงคลนิมิต ส่วนข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง ก็เข้าชื่อกันกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายไชยมงคล โดยใจความอย่างเดียวกัน

แล้วดำรัสสั่งสมุหนายกให้จัดการรื้อปราสาทเก่าเสีย ให้ฐาปนาปราสาทขึ้นใหม่ย่อมกว่าองค์ก่อน และปราสาทองค์ก่อนนั้นสูงใหญ่เท่าพระที่นั่งสรรเพ็ชญปราสาทกรุงเก่า มุขหน้า มุขหลังนั้นยาวกว่ามุขข้าง และมุขเบื้องหลังนั้นอยู่ที่ข้างในยาวไปจดถึงพระปรัศว์ซ้ายปรัศว์ขวา พระมหาปราสาทองค์ใหม่นี้ยกออกมาตั้ง ณ ที่ข้างหน้าทั้งสิ้น มุขทั้ง ๔ นั้นก็เสมอกันทั้ง ๔ ทิศ ใหญ่สูงเท่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์กรุงเก่า ยกปะราลีเสียมิได้มีเหมือนองค์ก่อน แต่มุขเด็จยอดทั้ง ๔ มุมนั้น ยกทวยเสียใช้รูปครุฑเข้าแทนแล้ว ให้ฐาปนาพระที่นั่งขึ้นใหม่ที่ข้างในต่อมุขหลังเข้าไปอีกหลัง ๑ พอเสมอท้ายมุขปราสาทองค์เก่าพระราชทานนามว่าพระที่นั่งพิมานรัถยา แล้วทำพระปรัศว์ซ้ายขึ้นใหม่คงตามเดิมและหลังคาปราสาทและมุขกับทั้งพระที่นั่งพิมานรัถยาพระปรัศว์ดาดด้วยดีบุกเหมือนอย่างเก่าทั้งสิ้น ครั้นการพระมหาปราสาทลงรักปิดทองเสร็จแล้ว จึงพระราชทานนามปราสาทองค์ใหม่ว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท”

จะเห็นได้ว่าความวิตกกังวลเกี่ยวกับเหตุครั้งนั้น เมื่อเป็นพระราชปริวิตกของพระเจ้าแผ่นดิน เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และอาณาประชาราษฎร์ต่างทุกข์ร้อนใจร่วมถวายการบรรเทาพระปริวิตกนั้น  ในกาลนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาว “ถวายทำนายอสุนีบาต” เรื่อง คำทำนายอสุนีบาต  อสนีบาตตกที่พระที่นั่งอินทราภิเษก ความยาว ๑๖ บท เนื้อหากล่าวถึงอสนีบาตตกครั้งนั้น มีความละเอียดว่าในเอกสารอื่นๆ คือระบุว่า ในวันเดียวกันนั้นมีฟ้าผ่าถึงสองครั้ง ที่พระที่นั่งอินทราภิเษกครั้งหนึ่ง และที่ซุ้มประตูวังครั้งหนึ่ง จากนั้นได้ขอพระราชทานถวายคำทำนายว่า การทั้งนี้เป็นศุภนิมิตว่าจะเกิดสวัสดิมงคล มีชัยชนะแก่ข้าศึก พระบรมราชานุภาพปรากฏไปทั้งสิบทิศ มีนานาประเทศมาสามิภักดิ์ อาณาประชาราษฎร์จะร่มเย็นเป็นสุข นับแต่นี้จะปราศจากอุปสรรคขัดข้องทั้งปวง ประเทศชาติจะมั่นคงด้วยพระบารมี และพระองค์จะได้พบบรรลุพระโพธิญาณ ได้เสวยสมบัติอมรินทร์ ความว่า]


     ๏ เดือนเจ็ดปีระกาเอกศก 
วันอาทิตย์ขึ้นค่ำหนึ่งฝนตก ยกศักราชขึ้นพันร้อยห้าสิบเอ็ดปี
เวลาบ่ายสามโมงกับหกบาด    ลงปราสาทเพลิงฟ้าอสุนีศรี
ไหม้สิ้นทั้งพระที่นั่งปรัศว์ตรี    ฝ่ายซ้ายทั้งที่ชลธาร
แล้วผ่าซุ้มประตูวัง  วันเดียวสองครั้งในราชฐาน   
เหตุเห็นเป็นอัศจรรย์กาล    ขอประทานทูลถวายทำนายไว้
อันฟ้าลงในวังครั้งนี้   จะเกิดสวัสดียิ่งใหญ่
จะมีพระอานุภาพปราบไป       ในทศทิศสิบประการ
แล้วจะแผ่อาณาจักรขอบเขต  ทั่วประเทศทศทิศาสาร
จะเพิ่มพึ่งพระบรมสมภาร ยังสถานนครอยุธยา
จะเป็นปิ่นปกปักประชาชน ทั่วสกลประเทสทุกภาษา
จะบริบูรณ์สมบัติวัฒนา    จะปรากฏพระเกียรติขขายจร
นานาประเทศทั้งหลาย      จะถวายสุวรรณสโมสร
จะยงยิ่ง.....ในพระนครจะถาวรเป็นปรมจักรา
อันหมู่ประจาข้าศึก          แต่หมายนึกก็จะสิ้นกังขา
ครั้งนี้กรุงศรีอยุธยา จะบรมสุขาพรภูล
สิ่งซึ่งขัดสนวิกลเหตุ จะพ้นเภทสิ้นภัยเสื่อมสูญ
สารพันสรรพสิ่งจะอาดูร พูนเพิ่มมาด้วยพระบารมี
จะได้ผ่านพิภพลบโลกย์ ระงับโศกให้สุขเขษมศรี
ซึ่งพระที่นั่งอันตรายด้วยอัคคี    จะให้มีสังเวชพิจารณา
ในพระไตรลักษณญาน    ประทานโลกย์ให้ล่วงสงสา
คือทุกขังอนิจจังอนัตตา  จะให้ปัญญาเพิ่มพูนภิญโญไป   
จะให้สำเร็จโพธิญาณภายหน้า    โดยพระทัยปรารถนาให้แจ้งใส
อันเหตุอื่นวิปริตจะติดไป   ไม่มีมั่นคงอย่าสงกา
ขอให้พระชนมายุยืนยาว       ตราบท้าวร้อยพันพรรษา
สิ่งซึ่งเป็นมงคลนานา  จงประกอบมาให้สุขพระองค์
แต่ในปัจจุบันทันปรากฏ จะยิ่งยศยอดโลกสูงส่ง
ถ้าพระชนม์ควรกำหนดปลดปลง      จะได้ทรงทิพสุขพิมานอินทร์
ในดาวดึงสพิภพ    ละล่วงลบเทวาทั้งปวงสิ้น
เสวยสมบัติเป็นอมรินทร์      อนาคตก็จะภิญโญไป
ถวายพระปัจจุบันอนาคตปรากฏให้สำเร็จเป็นสุไข
จะพ้นจตุราฝ่าภัย       เสร็จในสุคติพิภพเอย ๚ะ๛


ที่มา :
        - คำทำนายอสุนีบาต อสนีบาตตกพระที่นั่งอินทราภิเษก นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๖๖ ฉบับที่ ๓ พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๖๖
        - พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ราชทูตสยามไปฝรั่งเศส ในสมัยรัชกาลที่ ๔
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 0 1858 กระทู้ล่าสุด 15 มิถุนายน 2560 17:09:23
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.72 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 21 มีนาคม 2567 17:47:14