ไม่ใช่ 'ประยุทธ์' แล้ว ชาวอุบลฯ สงสัย เหตุใด ‘เศรษฐา’ ลงพื้นที่ ตร.ยังตามความเคลื่อนไหวนักกิจกรรม
<span class="submitted-by">Submitted on Tue, 2023-10-10 02:24</span><div class="field field-name-field-byline field-type-text-long field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><p>ภาพปก เศรษฐา ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและพบปะประชาชนอำเภอพิบูลมังสาหาร ที่แก่งสะพือ ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี 6 ต.ค. 2566 (ที่มา
เว็บไซต์ทำเนียบฯ)</p>
</div></div></div><div class="field field-name-body field-type-text-with-summary field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even" property="content:encoded"><p>ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานพบ ก่อน 'เศรษฐา' ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์อุทกภัย ที่ จ.อุบลฯ และจังหวัดใกล้เคียง 6-7 ต.ค. ที่ผ่านมา พบตำรวจและบุคคลไม่ทราบสังกัดโทรศัพท์สอบถามความเคลื่อนไหว และขอติดตามนักกิจกรรม ตลอดจนประชาชน จนกลายเป็นคำถามของผู้ถูกติดตามว่า ในเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ทำไมเหตุการณ์คุกคามลักษณะที่เกิดตั้งแต่ยุคประยุทธ์ ยังคงมีอยู่ </p>
<p>10 ต.ค.2566 จากกรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามสถานการณ์อุทกภัย ที่ จ.อุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง ระหว่างวันที่ 6-7 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น</p>
<p>
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ก่อนหน้านั้นกลับมีรายงานสถานการณ์ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลไม่ทราบสังกัดโทรศัพท์สอบถามความเคลื่อนไหว และขอติดตามนักกิจกรรม ตลอดจนประชาชนใน จ.อุบลราชธานี จนกลายเป็นคำถามของผู้ถูกติดตามว่า ในเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ทำไมเหตุการณ์คุกคามลักษณะที่เกิดตั้งแต่ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงมีอยู่ </p>
<p>วิศรุต สวัสดิ์วร อดีตผู้สมัคร สส. พรรคก้าวไกล เขต 1 จ.อุบลฯ ให้ข้อมูลว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีตำรวจ ทั้งจาก สภ.เมืองอุบลฯ และตำรวจภูธรจังหวัดอุบลฯ โทรมาถามตลอดว่า จะไปไหน หรือทำอะไร โดยโทรมาทุกวันตั้งแต่วันที่ 4-6 ต.ค. 2566 พร้อมทั้งบอกว่า ขอเลี้ยงข้าว เลี้ยงกาแฟ และถ่ายภาพด้วย </p>
<p>วิศรุตเล่าอีกว่า ในวันที่ 5 ต.ค. ซึ่งตนมีนัดสืบพยานที่ศาลจังหวัดอุบลฯ ในคดีมาตรา 116 จากการชุมนุมเมื่อปี 2563 ตำรวจก็ยังมาติดตามอยู่ ทั้งพยายามย้ำสอบถามว่า จะทำกิจกรรมหรือไม่ ส่วนชุดสืบสวน สภ.เมืองอุบลฯ ก็โทรบอกกับออฟตรง ๆ เลยว่า ขอมาติดตาม เท่าที่สังเกตออฟคาดว่ามีตำรวจมาเฝ้าที่บ้านเขาตลอดช่วง 2-3 วันนั้น “รู้สึกว่า ไม่ใช่รัฐบาลประยุทธ์แล้วนะที่ตำรวจจะมาคุกคามแบบนี้ หรือว่าคุณก็ไม่ต่างจากประยุทธ์เลย” ออฟกล่าวสะท้อนความรู้สึก </p>
<p>ส่วน “ฟลุค” กิตติพล (สงวนนามสกุล) กราฟิคดีไซเนอร์ ที่ถูกดำเนินคดี 112 จากการชูรูป ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10 เล่าว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 ตำรวจ สภ.เมืองอุบลฯ ที่เคยติดตามตัวเขาก่อนหน้านี้ โทรมาถามว่า วันที่ 6 ต.ค. 2566 ที่เศรษฐา ทวีสิน จะมาอุบลฯ เขาจะทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ ฟลุคกล่าวว่าเขาเพิ่งมาจากกรุงเทพฯ อย่างกะทันหัน เพราะยายป่วยเข้าโรงพยาบาล ไม่มีเวลาคิดเรื่องใครทั้งนั้น จึงบอกตำรวจไปว่า ตอนนี้ไม่ใช่รัฐบาลประยุทธ์แล้ว เขาเปลี่ยนรัฐบาลกันแล้ว ทำไมถึงยังปฏิบัติกับตนแบบนี้อยู่ “เศรษฐาจะเป็นยังไงไม่รู้ แต่ตอนนี้ยายผมป่วย ผมกลับมาจากกรุงเทพฯ เพราะว่ายายป่วย” ตำรวจจึงตัดสายไป </p>
<p>ฟลุคให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่จำเป็นต้องมาติดตามตนอีก เพราะคดีของตนอยู่ในชั้นศาล อยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีเป็นปกติอยู่แล้ว แล้วมีปัญหาส่วนตัวเรื่องสุขภาพของคนในครอบครัว กลับมาอุบลฯ เพราะมีธุระส่วนตัว ส่วนที่นายกฯ จะมาอุบลฯ นั้น ตนก็เพิ่งรู้ข้อมูล และคงไม่ออกไปทำอะไร “ผมไม่คาดหวังให้รัฐบาลปัจจุบันช่วยเหลืออะไรอยู่แล้ว เพียงแต่อย่ามาซ้ำเติมกัน ทั้งมองประชาชนเป็นภัยคุกคามนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น” ฟลุคกล่าวอีกว่า “ถ้าอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งหรือมาจากระบอบประชาธิปไตยต้องไม่มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว คุณไปรวมตัวกับพรรคอำนาจเดิม ก็ไม่ต้องไปทำตามแบบสิ่งที่กลุ่มอำนาจเดิมทำไว้ก็ได้” </p>
<p>ณัฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) อาชีพไรเดอร์ เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2566 ว่า เวลาประมาณ 09.00 น. เขาจอดรถซื้อกาแฟที่ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งใน อ.วารินชำราบ ระหว่างเดินออกจากร้าน เห็นรถกระบะคันหนึ่งมาจอดเทียบ แต่ไม่ได้เอะใจว่าเป็นเรื่องผิดปกติ กระทั่งมีชายหัวเกรียนคนหนึ่งเดินลงจากรถเข้ามาถามเขาในลักษณะว่า “จะไปไหนลูกพี่” ณัฐจึงเงยหน้าขึ้นมามอง และสงสัยว่าเป็นใครทำไมมาทักแบบนี้ เพราะไม่รู้จักกันมาก่อน </p>
<p>ก่อนจะออกรถไปส่งอาหารให้ลูกค้า ณัฐมองเข้าไปในร้านสะดวกซื้อจึงเห็นว่าชายคนดังกล่าวก็ยังจ้องมาที่เขาอยู่ และเมื่อณัฐขับมอเตอร์ไซค์ออกจากหน้าร้านไปได้ราว 500 เมตร เขาก็หยุดรถหันกลับไปดูอีกครั้งจึงพบว่า รถกระบะคันดังกล่าวขับตามมา และหยุดรถตาม ผ่านไปราวสองนาทีจึงขับผ่านหน้าณัฐไป </p>
<p>เช่นเดียวกับนักกิจกรรมในอุบลฯ คนอื่น ๆ ณัฐเข้าใจว่า ชายคนดังกล่าวคงมาตรวจสอบว่าเขาทำอะไร อยู่ที่ไหน แต่ครั้งนี้ไม่ได้มีการแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ หรือไม่ได้โทรมาสอบถามอะไร และณัฐก็ไม่แน่ใจด้วยว่าชายคนนั้นมาเจอเขาโดยบังเอิญหรือไม่ </p>
<p>ทั้งนี้ ณัฐทราบว่านายกฯ จะเดินทางมาที่อุบลฯ แต่ไม่รู้ว่าจะมีใครทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ เพราะระยะหลังเขาห่างจากการร่วมกิจกรรมทางการเมืองแล้ว โดยปกติขับไรเดอร์วันละ 12-15 ชั่วโมง “ผมคิดว่าน่าจะเลิกติดตามแบบนี้ได้แล้ว เพราะไม่มีใครออกมาม็อบหรือเคลื่อนไหวต่อต้านแล้ว ตอนนี้น่าจะเป็นการจัดวงพูดคุยหารือกันมากกว่า ไม่มีความจำเป็นต้องมาติดตามอะไรถึงขนาดนี้อีก” ณัฐกล่าวย้ำ</p>
<p>ขณะที่ “สหายเขียว” ภานุภพ ยุตกิจ สื่อมวลชนท้องถิ่นที่ทำประเด็นเครือข่ายต่อสู้ในชุมชน ให้ภาพว่า ตั้งแต่ยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมามีอำนาจ ถ้าบุคคลสำคัญมาที่อุบลฯ หรือมีขบวนเสด็จครั้งใด ก็จะมีตำรวจไปหาเขาที่บ้านอยู่ตลอด </p>
<p>ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 ตำรวจ สภ.ช่องเม็ก โทรติดต่อเขามาหลายครั้ง เพราะไปที่บ้านแล้วไม่เจอตัว สหายเขียวจึงให้ข้อมูลว่า ช่วงนี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ เพราะติดภารกิจที่กรุงเทพฯ แต่ตำรวจก็ให้ถ่ายภาพยืนยันว่า ตนไม่ได้อยู่ในพื้นที่จริง ๆ และไม่ได้ไปเคลื่อนไหวที่ไหน ก่อนที่ตำรวจจะถามว่า นายกฯ จะเดินทางไปที่อุบลฯ จะพาประชาชนไปพบนายกฯ หรือไม่ หรือมีการเคลื่อนไหวไหม เขาจึงบอกตำรวจไปว่า ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ </p>
<p>“มันเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า การควบคุมของรัฐยังใช้วิธีการเก่า ๆ ถ้าย้อนไปก่อนรัฐประหาร 2557 ไม่เคยเป็นแบบนี้ มาสู่ยุคประยุทธ์จึงเริ่มเป็นมาตลอด น่าตกใจที่พอถึงรัฐบาลเพื่อไทยกระบวนการเหล่านี้ยังคงอยู่” </p>
<p>อย่างไรก็ตาม สหายเขียวที่ทำงานกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยยอดมน และผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรเห็นว่า เป็นปกติที่เวลานายกฯ ลงพื้นที่ในจังหวัดนั้น ๆ จะมีกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุต่าง ๆ ไปยื่นหนังสือขอให้นายกฯ ช่วยเหลือหรือตรวจสอบเรื่องดังกล่าว</p>
<p>แม้แต่ ปรีดี พันทิวา เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งใน อ.สิรินธร และเคยถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมคาร์ม็อบอุบลฯ ก็ให้ข้อมูลว่า ระหว่างวันที่ 5-6 ต.ค. 2566 มีตำรวจจากตำรวจภูธรจังหวัดอุบลฯ โทรติดตามเขาถึง 4 ครั้ง สอบถามในลักษณะว่า จะทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ในระหว่างที่นายกฯ เดินทางมาที่อุบลฯ ซึ่งปรีดีก็ยืนยันว่า ไม่ได้จะทำอะไร ทั้งนี้ ทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญมาที่อุบลฯ ปรีดีก็ถูกติดตามสอบถามเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เสมอ</p>
</div></div></div><div class="field field-name-field-variety field-type-taxonomy-term-reference field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><a href="/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7" typeof="skos:Concept" property="rdfs:label skos:prefLabel" datatype="">ข
https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์
https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai</div></div></div>
https://prachatai.com/journal/2023/10/106298 







