สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธไทยเป็น Soft Power ได้จริงหรือ?
<span class="submitted-by">Submitted on Sat, 2023-12-02 22:28</span><div class="field field-name-field-byline field-type-text-long field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><p>สุรพศ ทวีศักดิ์
</p>
<p> </p>
</div></div></div><div class="field field-name-body field-type-text-with-summary field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even" property="content:encoded"><p>ความพยายามนำเสนอพุทธไทยสู่การเป็นพุทธโลก หรือเป็นพุทธศาสนาไทยที่นานาชาติยอมรับมีมานานแล้ว เช่น คณะสงฆ์มีโครงการส่งพระธรรมทูตไปเผยแพร่พุทธศาสนาในประเทศตะวันตก มีการสร้างวัดต่างๆ ในยุโรป อเมริกา และนำเสนอตัวเองว่าประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” มีการจัดงาน “วันวิสาขบูชาโลก” ที่พุทธมณฑล และนำเสนอความคิดท่ามกลางที่ประชุมของสมาชิกชาวพุทธนานาชาติว่า “พุทธศาสนามีแก่นคำสอนที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก” เป็นต้น </p>
<p><strong>เมื่อเร็วๆ นี้มิตรสหายท่านหนึ่งเสนอว่าพุทธแบบไทยมีศักยภาพที่จะเป็น soft power ที่ดึงดูดความสนใจของนานาชาติ หรือทำให้นาชาชาติเห็นคุณค่าและยอมรับ และทำรายได้เข้าประเทศได้</strong></p>
<p>หากพิจารณาความหมายของ soft power ซึ่งตรงข้ามกับ hard power ที่เป็นการใช้อำนาจบังคับ เช่น ใช้กองทัพ การบอยคอตทางเศรษบกิจเป็นต้น เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ทำตาม soft power ก็คือการใช้อำนาจอีกแบบในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อำนาจที่เป็น soft power ได้ คืออำนาจที่มีพลังโน้มน้าวให้นานาชาติยอมรับ ให้ความร่วมมือ หรือทำตาม soft power มาจากสามแหล่งหลักๆ คือ</p>
<p>1. วัฒนธรรมของชาติ (national culture) ที่สามารถใช้ให้เกิด soft power ได้ เช่น ศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ แฟชั่น เสื้อผ้า อาหาร และอื่นๆ ที่ถูกทำให้มีคุณค่าเป็นพลังดึงดูดความสนใจ การยอมรับ ความนิยมของนานาชาติได้</p>
<p>2. คุณค่าทางการเมือง (political values) เช่น ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน นิติรัฐ หรือคุณค่าด้านอื่นๆ เช่น ประสิทธิภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ และอื่นๆ ที่นานาชาติยอมรับและสามารถแบ่งปันคุณค่าดังกล่าวร่วมกันได้ ให้ความร่วมือในความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศบนฐานของการสนับสนุนคุณค่าดังกล่าวร่วมกันได้ และเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย</p>
<p>3. ในโยบายต่างประเทศ (foreign policies) ที่มีความชอบธรรมทางกฎหมาย และมีอำนาจทางศีลธรรม (moral authority) เช่น ถ้ามีนโยบายใช้กองกำลังรุกรานประเทศอื่น ย่อมไม่ชอบธรรมทางกฎหมาย แต่กรณีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอิสราเอลในการถล่มปาเลสไตน์ แม้สหรัฐฯ จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่มี moral authority ให้นานาชาติ “ควร” ยอมรับได้ เพราะเป็นการสนับสนุนการกระทำที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรมอย่างรุนแรง เป็นต้น</p>
<p><strong>ถามว่าพุทธศาสนาไทยจะเป็น soft power ที่มีพลังโน้มน้าวให้นานาชาติยอมรับ และให้ความร่วมมือในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางวัฒนธรรม คุณค่าทางการเมือง และนโยบายระหว่างประเทศได้อย่างไร </strong></p>
<p>เช่น การนำเสนอตนเองว่า “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” และนำเสนอความคิดต่อที่ประชุมชาวพุทธนานาชาติว่า “แก่นคำสอนพุทธศาสนาสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก” แต่หลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งแยกเป็นสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง สิทธิทางสังคม สิทธิทางเศรษฐกิจ และสิทธิทางวัฒนธรรม ทว่าหลักการพื้นฐานดังกล่าวกลับไม่มีจริงแม้แต่ในพุทธไทยเอง เช่น ไม่มีความเสมอภาคทางศาสนาระหว่างภิกษุกับภิกษุณี เพราะรัฐ “เลือกปฏิบัติ” โดยการให้ความอุปถัมภ์คณะสงฆ์ แต่ไม่รับรองสถานะนักบวชของภิกษุณี และไม่รับรองเสรีภาพในการบวชภิกษุณีในไทย จะบวชภิกษุณีต้องไปบวชจากศรีลังกาหรือไต้หวันเป็นต้น ดังนั้น แม้ภิกษุณีจะมีตัวตนอยู่จริงในสังคมไทย แต่ก็ไม่มีสถานะทางศาสนา และสิทธิต่างๆ เท่าเทียมกับนักบวชเพศชาย</p>
<p>ยิ่งกว่านั้น เมื่อคุณขายความคิดที่ว่า “แก่นคำสอนพุทธศาสนาสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก” แก่นานาชาติ ขณะที่พุทธแบบไทยเองสนับสนุน hard power ของอำนาจรัฐในการกดปราบประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่น ศาสนจักรของรัฐออกคำสั่งให้พระทั่วราชอาณาจักรสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ห้ามอภิปราย บรรยาย ตีความพุทธศาสนานับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของประชาชน แล้วคุณจะเอา moral authority อะไรมาให้นานาชาติยอมรับ เพราะความคิดที่พุทธไทยพยายามจะขายแก่ชาวโลกกับการทำหน้าที่อยู่จริงของพุทธไทยสวนทางกัน </p>
<p>ต่างอย่างสิ้นเชิงกับการที่ทะไลลามะตีความพุทธภาวะ ปัญญา กรุณา คุณค่าทางจิตวิญญาณแบบพุทธสนับสนุนสิทธิมนุษยชน และสันติภาพโลก เพราะทะไลลามะไม่ใช่แค่มุ่ง “ขายของ” แต่เขายอมรับคุณค่าของ “จริยธรรมโลกวิสัย” (secular ethics) ว่าเป็นจริยธรรมสากลที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน เขาเห็นด้วยกับการแยกศาสนาจากรัฐ และชื่มชมรัฐโลกวิสัยที่ให้เสรีภาพทางศาสนาชัดเจน อีกทั้งเขายังเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของชาวธิเบต มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก ดังนั้น เขาจึงมี moral authority ให้นานาชาติยอมรับได้ ทำให้เขาสามารถเริ่มบทสนทนาทางพุทธศาสนา/พุทธปรัชญากับนักคิดชั้นนำต่างๆ ของโลก ทั้งนี้เพราะคำสอนเรื่องพุทธภาวะ ปัญญา กรุณา คุณค่าทางจิตวิญญาณหรือความหลุดพ้นไม่ใช่แค่ “คำสอนในคัมภีร์” ที่ถูกนำเสนอขาย แต่มันเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการปฏิบัติภาวนาและพิธีกรรมของพุทธแบบวัชรญาณที่นานาชาติมองเห็นและจับต้องได้ว่าสอดคล้องกับคุณค่าสมัยใหม่ผ่านการอ่านงานเขียน การบรรยายของทะไลลามะ และนักบวชทิเบตอื่นๆ และสัมผัสได้จากการไปทดลองฝึกปฏิบัติภาวนาในสำนักของทะไลลามะโดยตรง</p>
<p>นั่นคือการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนคุณค่าสมัยใหม่แบบทะไลลามะที่ “อาจจะ” มองได้ว่าเป็น soft power ที่มีพลังอำนาจโน้มน้าวให้นานาชาติยอมรับ และมีส่วนร่วมหรือร่วมมือกันเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลกได้ เพราะมันมี moral authority ในตัวมันเองที่เกิดจากพุทธศาสนาแบบนี้ฟังค์ชั่นอยู่จริงในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบวัชรญาณ แต่ที่พุทธไทยเสนอต่อนานาชาติว่า “แก่นคำสอนพุทธศาสนาสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก” ถามว่า “แก่นคำสอน” ดังกล่าวฟังค์ชั่นอย่างไรในวัฒนธรรมพุทธไทย </p>
<p>แน่นอนพุทธไทยแม้จะอ้างว่ายึด “คำสอนดั้งเดิม” ในไตรปิฎกเถรวาทมากกว่าวัชรญาณ หรือพุทธนิกายอื่นๆ แต่ที่จริงพุทธไทยก็เป็นพุทธแบบตีความคำสอนรับใช้บริบทของตนเองไม่ต่างจากพุทธนิกายอื่นๆ เลย เช่น ตีความยกกษัตริย์ให้เป็นธรรมราชา สมมติเทพ โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ตีความพุทธสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ตีความคติ “เอตทัคคะ” สนับสนุนระบบศักดินาพระ ที่เห็นชัดเจนในปัจจุบัน คือตีความปรัชญาการเมืองพุทธบวกพราหมณ์ฮินดูออกแบบสถาปัตยกรรม “สัปปายะสภาสถาน” หรืออาคารรัฐสภาหลังใหม่ที่มีหน้าตาเหมือนศาสนสถาน</p>
<p><strong>ล่าสุดมีนักวิชาการพุทธตีความว่า “วรรณะกษัตริย์คือรากฐานของพุทธศาสนา” โดยอ้างหลักฐานจากไตรปิฎกว่า พุทธะมาจากวรรณะกษัตริย์ ซึ่งวรรณะกษัตริย์ก็คือนักรบหรือทหาร พุทธะเผยแพร่ศาสนาก็ใช้วิธีการแบบทหาร คือไปสอนกษัตริย์ให้หันมาถือพุทธก่อน เพราะถ้าเปลี่ยนความคิดระดับบนได้ ก็เปลี่ยนความคิดคนระดับล่างได้ไม่ยาก เป็นต้น </strong></p>
<p>การตีความดังกล่าวก็คือ “การเลือก” ข้อมูลบางส่วนในคัมภีร์พุทธมาให้เหตุผลสนับสนุน แต่ละเลยข้อมูลบางส่วน (เช่น เรื่องที่พุทธะสละวรรณะ และเรื่องที่พุทธะยืนยันว่าสังฆะตามธรรมวินัยไม่มีวรรณะ เป็นต้น) การเลือกตีความแบบนี้ย่อมมีนัยสำคัญสนับสนุนพุทธไทยกระแสหลักที่สนับสนุน hard power ของอำนาจรัฐดังกล่าวแล้ว </p>
<p>ต่างอย่างสิ้นเชิงกับการตีความพุทธศาสนาของ ดร.อัมเบดการ์ยุคหลังอาณานิคมที่ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ สิทธิสตรี และบทบาทของเขาที่แสดงถึงการมี moral authority ก็คือการทำหน้าที่ประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดียที่สถาปนาระบอบประชาธิปไตยและรัฐโลกวิสัย และการนำชาวจัณฑาลประกาศตนเป็นพุทธมามกะร่วมรณรงค์ยกเลิกระบบวรรณะ เป็นต้น</p>
<p>ขณะที่พุทธไทยทั้งในเชิงสถาบัน และปัญญาชนพุทธทั้งพระและฆราวาสพยายามขายความคิดว่า “แก่นคำสอนพุทธศาสนาสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก” แต่ในความขัดแย้งทางการเมืองร่วม 20 ปีมานี้ ไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวของพุทธเชิงสถาบัน และการเสนอความคิดเห็นของปัญญาชนพุทธทั้งพระและฆราวาสที่เด่นชัดว่า เป็นการนำแก่นพุทธศาสนาที่ว่านั้นมานำเสนอ หรือเคลื่อนไหวทางสาธารณะเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่ถูกอำนาจรัฐสังหารกลางเมืองหลวง ถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า ถูกขังคุก และลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศจำนวนมาก </p>
<p><strong>วันนี้อานนท์ นำภา และเพื่อนๆ ที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยถูกขังคุก ด้วยการใช้ ม.112, 116 กดปราบมากขึ้นๆ ก็ไม่เห็นมีปัญญาชนพุทธทั้งพระและฆราวาสอ้าง “แก่นคำสอนพุทธศาสนาที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก” มาเรียกร้องให้อำนาจรัฐคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพวกเขาแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เรากลับได้เห็นการอ้างการเมืองเชิงศีลธรรม คนดี เผด็จการโดยธรรมตามการตีความของปราชญ์พุทธมาสนับสนุนรัฐประหาร และอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาตลอด</strong></p>
<p>หากเทียบกับประวัติศาสตร์ตะวันตก แนวคิดมนุษยนิยม (humanism) เสรีนิยม (liberalism) และโลกวิสัย (secularism) ที่พัฒนาขึ้นช่วงศตวรรษที่ 16-18 สะท้อนการต่อสู้เพื่อให้ปัจเจกบุคคล สังคม และการเมืองมีอิสรภาพจากอำนาจครอบงำของศาสนาแบบยุคกลาง ที่ศูนย์กลางอำนาจคือ “อำนาจเทวสิทธิ์” ของศาสนจักร และอำนาจเทวสิทธิ์ของระบบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ้งมีทั้งการตีความคริสต์ศาสนาสนับสนุนเสรีภาพแห่งมโนธรรมของปัจเจกบุคคล ความเสมอภาค และสิทธิตามธรรมชาติ โดยปฏิเสธอำนาจปกครองในนามพระเจ้าหรือศาสนา เสนอหลักการปกครองแบบโลกวิสัย และคุณค่าทางศีลธรรมแบบโลกวิสัยที่ปัจเจกบุคคลมีอิสรภาพทางศีลธรรม (moral autonomy) เป็นของตนเอง </p>
<p>เช่นที่วอลแตร์ (Voltaire) กล่าวว่า “ถ้าพระเจ้าไม่มีจริงก็จำเป็นต้องสร้างพระองค์ขึ้นมา” (If God did not exist, it would be necessary to invent Him.) เพราะเขาคิด (ในบริบทยุคนั้น) ว่าศรัทธาในพระเจ้าคือรากฐานของการมีศีลธรรม แต่เขาปฏิเสธการปกครองแบบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการบังคับศรัทธาของศาสนจักรที่อ้าง “อำนาจเทวสิทธิ์” ของพระเจ้า และยืนยันเสรีภาพ และความอดกลั้น (tolerance) ทางศาสนา </p>
<p>แต่พุทธไทยในศตวรรษที่ 21 ยังต่อต้านแนวคิดโลกวิสัย และปัญญาชนพุทธก็ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการที่ยังมีระบบศาสนจักรสนับสนุน hard power ของอำนาจรัฐที่ขัดหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน และเพิกเฉยต่อการใช้อำนาจรัฐเช่นนั้นกดปราบประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน</p>
<p><strong>ผมจึงมองไม่เห็นว่าพุทธแบบไทยจะสามารถเป็น soft power ที่มี moral authority เป็นพลังโน้มน้าวให้นานาชาติยอมรับ และให้ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และสันติภาพโลกได้อย่างไร </strong></p>
<p> </p>
<p><strong>ที่มาภาพ:</strong>
https://protectdhamma.blogspot.com/2016/02/blog-post_15.html</p>
<p> </p>
</div></div></div><div class="field field-name-field-variety field-type-taxonomy-term-reference field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><a href="/category/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1" typeof="skos:Concept" property="rdfs:label skos:prefLabel" datatype="">บทค
https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์
https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai</div></div></div>
https://prachatai.com/journal/2023/12/107081 







