เสวนาผู้ผลิตสุรารายย่อย ย้ำต้องแก้กฎหมายทลายการผูกขาด-ห้ามโฆษณา
<span class="submitted-by">Submitted on Sun, 2023-12-03 17:54</span><div class="field field-name-body field-type-text-with-summary field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even" property="content:encoded"><p>วงเสวนาผู้ผลิตสุรารายย่อย ย้ำต้องแก้กฎหมายทลายการผูกขาด-ห้ามโฆษณา เปิดช่องรายย่อยเกิดใหม่-แข่งขันสร้างนวัตกรรม งงรัฐบาลยกซอฟต์พาวเวอร์แต่ไม่เคยพูดถึงสุราคนไทย หวังเพื่อไทยคงจุดยืนเดิมโหวตให้ 'สุราก้าวหน้า' อีกรอบ</p>
<p><img alt="" src="
https://live.staticflickr.com/65535/53372246986_cfcfe68f70_o_d.jpg" /></p>
<p>ทีมสื่อคณะก้าวหน้า แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2566 ที่ตลาดนัดเดอะวัน รัชดา วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมวงเสวนาภายในงาน “ก้าวไปกับคนรักเหล้าเบียร์ ครั้งที่ 1” ที่จัดร่วมกันโดยสมาคมสุราท้องถิ่นไทย สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟต์เบียร์ และบริษัท ส้มจี๊ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด โดยมีการพูดคุยถึงอนาคตอุตสาหกรรมสุราของผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทย</p>
<p>วีระยุทธกล่าวถึงภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมสุราไทยที่กดทับและกีดกันผู้ผลิตรายย่อย โดยนอกจากจะต้องเผชิญกับกำแพงหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตที่ยากซับซ้อนและต้องลงทุนสูงแล้ว ยังมีอุปสรรคด้านการจำกัดการโฆษณา ซึ่งที่ผ่านมาเป็นคุณกับผู้ผลิตรายใหญ่มากกว่า กล่าวคือ บริษัทผู้ผลิตสุรารายใหญ่ยังสามารถโฆษณาตราสินค้าของตนผ่านผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของบริษัทที่ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ทั้งสองอุปสรรคข้างต้นทำให้ผู้ผลิตสุรารายใหม่เกิดขึ้นได้ยากในตลาด จนทำให้บริษัทใหญ่กลายเป็นเสือนอนกินที่ไม่ต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ</p>
<p>วีระยุทธยกตัวอย่างกรณีศึกษาในประเทศญี่ปุ่น โดยระบุว่า ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ในญี่ปุ่นแม้จะมีจำนวนไม่มากเช่นเดียวกับไทย แต่กลับมีการแข่งขันทางนวัตกรรมที่มากกว่า เช่นในกรณีของอาซาฮีที่แม้จะเกิดขึ้นหลังบริษัทอื่น แต่ก็สามารถทะยานขึ้นมาแข่งขันกับรายอื่นได้จากการทำเบียร์ซุปเปอร์ดราย โดยอาศัยเทคโนโลยีเชิงโพรเซส จนกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่ขึ้นมา</p>
<p>ดังนั้น โจทย์หลักของรัฐบาลคือจะทำอย่างไรให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น จะทำอย่างไรให้มีการพัฒนานวัตกรรมในวงการผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ จนเกิดการแข่งขันที่ยกระดับทั้งวงการได้ นี่จึงเป็นเป้าหมายหลักที่พรรคก้าวไกลเสนอกฎหมายสุราก้าหน้า เพื่อปลดล็อกอุปสรรคของผู้ผลิตสุรารายย่อย และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ในตลาดมากขึ้น</p>
<p>ขณะที่พรรณิการ์ระบุว่า ที่ผ่านมาสังคมมักพูดถึงปัญหาด้านข้อกฎหมายที่กีดกันผู้ผลิตสุรารายย่อย แต่เมื่อลองมาดูตัวเลขการผูกขาดที่เกิดจากข้อกฎหมายดังกล่าวก็ถือว่าเป็นเรื่องน่ากลัว กล่าวคือ ในอุตสาหกรรมเบียร์ รายหนึ่งคือบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ครองตลาดอยู่ที่ร้อยละ 57 ขณะที่บริษัทไทยเบฟเวอเรจ ครองตลาดอยู่ที่ร้อยละ 34 ซึ่งเมื่อรวมสองบริษัทนี้ก็ครองเกือบทั้งตลาดแล้ว</p>
<p>นี่คือตัวอย่างของการที่เศรษฐกิจประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ต้องมีโนฮาว แค่มีโนฮูก็พอ เป็นการติดกับดักประเทศที่กลุ่มทุนใหญ่มาจากคนที่แค่รู้จักเจ้าใหญ่นายโตแล้วได้สัมปทานมา ไม่ใช่ประเทศที่คนต้องแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมและคุณภาพ และนี่คือสาเหตุที่ทำไมประเทศไทยถึงเป็นได้เพียงประเทศรายได้ปานกลางและยังไม่ไปไหน</p>
<p>พรรณิการ์กล่าวต่อไปว่า จากการวิจัยระหว่างปี 2012-2021 ว่าบริษัทที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคมีแนวทางในการเพิ่มรายได้ให้บริษัทอย่างไร จะเห็นได้ว่าบริษัทใหญ่ 50 อันดับต้นของเอเชียส่วนใหญ่ใช้วิธีการคล้ายกัน คือการออกไปหาตลาดในต่างประเทศ เหมือนกับกรณีของอาซาฮี ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการเพิ่มรายได้ด้วยการเจาะตลาดต่างประเทศ โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอาซาฮีมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 551 จากการเจาะตลาดนอกประเทศ</p>
<p>หันกลับมาที่ประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไทยเบฟฯ ประกาศจะลงทุน 7 พันล้านบาทเพื่อขยายกิจการ ส่วนหนึ่งคือการเจาะตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน นั่นหมายความว่าบริษัทใหญ่ของประเทศไทยก็ตระหนักดีถึงโอกาสในการขยายตลาดต่างประเทศ แต่ปัญหาคือบริษัทใหญ่เหล่านี้กลับไม่ปล่อยตลาดภายในประเทศให้มีการแข่งขัน ดังนั้น โจทย์คือจะทำอย่างไรให้บริษัทใหญ่ของไทยออกไปเป็นผู้นำในระดับโลกได้ โดยยอมให้ตลาดในประเทศมีการแข่งขัน</p>
<p>พรรณิการ์ยังกล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวกับสุรา โดยระบุว่า ตนแปลกใจที่รัฐบาลยกนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นมาแต่กลับไม่มีแม้แต่คำเดียวที่พูดถึงสุรา กรรมการซอฟต์พาวเวอร์มีอนุกรรมการว่าด้วยอาหารอยู่แล้ว ตนอยากให้ผู้ที่รู้สึกว่าไม่อยากส่งเสริมกิจการสุรารายย่อย ลองถามตัวเองดูว่าที่ประเทศไม่เจริญเพราะคนกินเหล้าเบียร์ หรือเพราะการมีเศรษฐกิจผูกขาดและนโยบายที่เอาใจเจ้าสัวกันแน่ ถ้าจะทำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์จริงก็ขอให้มองเห็นศักยภาพของผู้ผลิตเหล้าเบียร์ไทยด้วย สิ่งนี้ต่างหากที่จะทำให้ไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตอาหารและเป็นจุดหมายปลายทางด้านอาหารการกินที่ดีที่สุดในโลกได้</p>
<p>ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปที่การผลักดันกฎหมายสุราก้าวหน้าในสภาสมัยที่แล้ว จะเห็นว่าวันนั้นขาดเพียงสองเสียงกฎหมายก็จะผ่านแล้ว แต่วันนี้จำนวนเสียงในสภาเปลี่ยนไป ลำพังเพียงแค่สองพรรคคือก้าวไกลและเพื่อไทยที่วันนั้นลงมติไปในทางเดียวกัน ได้โอกาสลงมติเรื่องนี้อีกครั้ง กฎหมายสุราก้าวหน้าย่อมผ่านในรอบนี้แน่นอน ซึ่งตนก็หวังว่าในครั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะไม่ทำให้ประชาชนต้องผิดหวัง</p>
<p>“สุราก้าวหน้าคราวก่อนขาดไปสองเสียง ตอนนี้ลำพังแค่สองพรรค ก้าวไกล เพื่อไทย ที่รณรงค์เรื่องเดียวกันมา หากยกมือให้ครบผ่านแน่ ถ้าเพื่อไทยภูมิใจกับการเป็นผู้ให้กำเนิดสุราชุมชน วันนี้ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่พรรคเพื่อไทยจะไม่โหวตให้สุราก้าวหน้า ไม่มีเหตุผลที่สุราก้าวหน้าจะไม่ผ่าน ขอสักครั้งอย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง” พรรณิการ์กล่าว
</p>
</div></div></div><div class="field field-name-field-variety field-type-taxonomy-term-reference field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><a href="/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7" typeof="skos:Concept" property="rdfs:label skos:prefLabel" datatype="">ข
https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์
https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai</div></div></div>
https://prachatai.com/journal/2023/12/107095 







