อัยการสั่งฟ้อง 2 อ. 1 นศ. มีเดียอาร์ท มช. คดีตัดโซ่เข้าหอศิลป์ฯ แสดงงานศิลปะ หลัง ตร.ภาค 5 เห็นแย้ง
<span class="submitted-by">Submitted on Tue, 2024-01-23 19:49</span><div class="field field-name-body field-type-text-with-summary field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even" property="content:encoded"><p>อัยการสั่งฟ้องคดี ‘ทัศนัย-ศรยุทธ-ยศสุนทร’ มีเดียอาร์ท มช. คดีตัดโซ่หอศิลป์เข้าไปแสดงงานศิลปะ ข้อหาทำลายทรัพย์และบุกรุก หลัง ผบ.ตำรวจภาค 5 เห็นแย้งให้สั่งฟ้องแม้อัยการเจ้าของสำนวนเคยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องแล้ว</p>
<p>23 ม.ค. 2567
สำนักข่าวลานเนอร์และ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ทัศนัย เศรษฐเสรี, ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ สองอาจารย์ภาควิชา Media Art and Design มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ บัณฑิตจากสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยเดียวกันมาตามหมายนัดฟังฝ่ายโจทก์ฟ้องคดีต่อศาล ในคดีที่ทั้ง 3 คนร่วมกันตัดโซ่และเข้าไปใช้พื้นที่ของหอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดแสดงงานศิลปะประจำปีตามรายวิชาเรียน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564</p>
<p>คดีนี้ผู้แจ้งความดำเนินคดีคือ อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ในเป็นผู้ไปแจ้งความที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ โดยได้รับมอบอำนาจจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ดำเนินคดีกับทั้ง 3 คน และทางตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวทั้งสามคนในชั้นสอบสวน 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ และร่วมกันบุกรุก โดยกระทําความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป</p>
<p>อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีนี้ถึงชั้นพิจารณาของอัยการ อัยการเจ้าของสำนวนเคยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว แต่ทางผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 มีความเห็นแย้งให้สั่งฟ้องคดีนี้</p>
<p>อัยการระบุในคำฟ้องถึงพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาว่าระหว่างวันที่ 16 -24 ต.ค. 2564 ทัศนัย, ศรยุทธ และยศสุนทรจำเลยในคดีนี้ร่วมกับพวกตัดโซ่ที่คล้องประตูรั้วทางเข้า-ออกหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณหอศิลป์ฯ และอาคารสํานักงานฯ เป็นเหตุให้ทรัพย์สินภายในได้รับความเสียหาย ได้แก่ โซ่และแม่กุญแจ, กุญแจประตูหอศิลป์ ประตูห้องควบคุมไฟฟ้า ผนังห้องภายในห้องนิทรรศการ กล้องวงจรปิด พื้นอิฐบล็อกที่จอดรถ โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและให้การต่อสู้คดีแล้ว</p>
<p>ในรายงานของลานเนอร์ระบุว่า นักศึกษาพยายามขออนุญาตใช้สถานที่จากผู้ดูแลและผู้บริหารของหอศิลป์มช. ตามระเบียบ เพื่อแสดงผลงานศิลปะตามวิชาที่ลงเรียน แต่ทางผู้บริหารไม่มีคำสั่งว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าว จนอาจส่งผลต่อการเรียนการสอน นักศึกษาจึงได้ประกาศร่วมกันทวงคืนหอศิลป์ แต่พบว่าในวันที่นัดหมายทางเจ้าหน้าที่หอศิลป์ฯ ได้คล้องโซ่และล็อกประตูไว้ด้วยทั้งที่ปกตินักศึกษาและอาจารย์สามารถเข้าออกได้ อีกทั้งวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ยังตัดน้ำตัดไฟด้วย กลุ่มนักศึกษาและอาจารย์จึงได้ร่วมกันตัดโซ่เพื่อเข้าไปใช้งานพื้นที่ และมีการจัดแสดงงานศิลปะจนเสร็จสิ้น</p>
<div class="more-story">
<p>
ศาลปกครองให้เหตุผลยันสิทธิ นศ.วิจิตรศิลป์ มช. จัดแสดงศิลปนิพนธ์ที่หอศิลป์ แม้จำหน่ายคดี</p>
</div>
<p>ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาระบุว่า การกระทำของผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรม และคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ เรื่องที่ไม่มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งที่ได้รับคำขอของนักศึกษาผู้ฟ้องคดีแล้วในระยะเวลาตามสมควร</p>
<h2><span style="color:#2980b9;">อ.และนศ.ถูกฟ้องเพราะพยายามใช้ทรัพยากรของมหาลัยเป็นเรื่องน่าละอาย</span></h2>
<p>ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ กล่าวกับสื่อมวลชนก่อนเข้าฟังการพิจารณาคดีว่า การมารวมตัวกันครั้งนี้เพื่อต้องการมาแสดงเจตจำนงและข้อเท็จจริงว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือสถานศึกษาเป็นผู้ปิดกั้นการเข้าถึงสิทธิในการศึกษาและการเรียนการสอน จากไม่ให้นักศึกษาใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมในการแสดงผลงาน แม้ว่าก่อนหน้านี้ศาลปกครองจะเคยมีคำสั่งให้คุ้มครองสิทธินักศึกษาและการกระทำในครั้งนั้นแล้ว รวมไปถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย (กสม.) ยังเคยส่งข้อวินิจฉัยเบื้องต้นไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกทั้งอัยการจังหวัดเชียงใหม่ก็ส่งเรื่องไปแล้วว่าไม่ฟ้อง</p>
<p>“หน่วยงานที่ทำงานด้านความยุติธรรมที่น่าเชื่อถือของสังคมไทยทั้ง 3 หน่วยงานได้วินิจฉัยกรณีเรียบร้อยแล้ว คำถามก็คือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงยังดำเนินการฟ้องอยู่ หรือว่าในสายตาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สถานะของ 3 หน่วยงานนี้มันไม่มีน้ำหนัก” ศรยุทธ กล่าว</p>
<p>ด้าน ทัศนัย เศรษฐเสรี กล่าวว่าการที่มหาวิทยาลัยฟ้องดำเนินคดีกับพวกเขาทั้ง 3 คนในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการใช้กฎหมายเพื่อความยุติธรรม เป็นการแจ้งความเท็จหรือเป็นการฟ้องปิดปากหรือไม่</p>
<p>ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ กล่าวว่า ตึกของภาควิชาที่เขาเรียนนั้นอยู่ในรั้วเดียวกันกับหอศิลปฯ โดยจะมีการทำงานศิลปะในบริเวณตึกของภาควิชาเป็นเรื่องปกติ และยังเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานของนักศึกษาด้วย</p>
<p>“ถ้าผมไม่ตัดโซ่เข้าไปในวันนั้นก็มีคนอื่นอยู่ดีอะครับ สิ่งที่มาจำกัดการศึกษาก็ไม่ควรมีอยู่แล้วในรั้วอุดมศึกษา เพราะความรู้ใหม่ๆ มันต้องการรั้วที่กว้างที่สุด ไม่ใช่มาล็อครั้วและทำให้มันแคบ และปิดไม่ให้พูดได้ การแสดงงานไม่ได้ก็เหมือนการปิดปากคนทำงานศิลปะ มันไม่ถูกต้อง พวกผมก็เลยตัดสินใจไปทำงานของพวกเราต่อก็แค่ตัดโซ่ เพราะตึกเราก็อยู่ในนั้นอยู่แล้ว”</p>
<p>ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณาจารณ์จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เดินทางมาให้กำลังใจ อาจารย์และนักศึกษาทั้ง 3 คน ได้กล่าวว่า ตั้งแต่เธอเป็นอาจารย์ที่ มช.ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฟ้องอาจารย์มหาวิทยาลัยเพราะจะเข้าไปใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยเพื่อทำให้นักศึกษาสามารถเรียนจบได้</p>
<p>“เป็นเรื่องที่น่าอายมากและไม่เคยเกิดในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาก่อน ของประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะอาจารย์ร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน จึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถอนฟ้องไปเสีย เราไม่ควรจะใช้อำนาจทางกฎหมายในการทำเรื่องแบบนี้” ปิ่นแก้ว กล่าว</p>
<p>ด้าน ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย ก็ได้มาให้กำลังแก่ทั้ง 3 คน กล่าวว่า ตนในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น พื้นที่มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่สาธารณะและควรจะเป็นพื้นที่ที่ต้องให้เด็กมีสิทธิในการแสดงออก เพราะถ้าหากมีการปิดกั้นสิทธิในการแสดงออกก็เหมือนไม่ได้พัฒนาการศึกษา</p>
<p>“คนที่สั่งการกลับเป็นคณบดีที่ควรจะต้องดูแลลูกศิษย์ของตน ผู้ปกครองให้ความไว้วางใจในการดูแลลูกหลาน แต่กลับทำแบบนี้กับเขาดิฉันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”</p>
</div></div></div><div class="field field-name-field-variety field-type-taxonomy-term-reference field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><a href="/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7" typeof="skos:Concept" property="rdfs:label skos:prefLabel" datatype="">
https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์
https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai</div></div></div>
https://prachatai.com/journal/2024/01/107754 







