‘พิธา’ ยังรอดคดีหุ้น ITV ศาล รธน.เห็นว่า ITV ไม่ได้ทำสื่อแล้ว แม้ไม่รับฟังว่าพิธาโอนหุ้นให้น้องแล้ว
<span class="submitted-by">Submitted on Wed, 2024-01-24 16:43</span><div class="field field-name-field-byline field-type-text-long field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><p>ภาพจาก แมวส้ม</p>
</div></div></div><div class="field field-name-body field-type-text-with-summary field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even" property="content:encoded"><p>"พิธา" ยังไม่สิ้นสภาพ สส. เหตุศาล รธน.เห็นว่าไอทีวีไม่ได้ทำสื่อแล้วนับตั้งแต่ถูกเลิกสัญญาใช้คลื่นโทรทัศน์เมื่อปี 50 ส่วนรายได้ที่มีก็มาจากการลงทุนของบริษัท แต่ศาลเห็นว่าข้อต่อสู้ของพิธาเรื่องโอนหุ้นให้น้องชายแล้วฟังไม่ขึ้น และย้ำว่าการห้ามมีหุ้นสื่อแม้แต่หุ้นเดียวตามรัฐธรรมนูญถือเป็นการป้องกันผู้สมัคร สส. ใช้สื่อเพื่อแสวงประโยชน์</p>
<p>24 ม.ค. 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา และสั่งให้ พิธา ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย</p>
<p>ศาลเริ่มอ่านคำวินิจฉัยโดยเริ่มจากการอ่านคำร้องของ กกต. และกระบวนการการยื่นและการรับคำร้องของศาล และได้ระบุว่าศาลมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีสมาชิกภาพของพิธานั้นสุดลงหรือไม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ที่ระบุถึงคุณสมบัติต้องห้ามรับเลือกตั้งเป็น สส. ที่ห้ามเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ โดยในรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ระบุว่าสมาชิกภาพ สส.จะสิ้นสุดลงบุคคลนั้นมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98</p>
<h2><span style="color:#2980b9;">ถือหุ้นสื่อแม้แต่หุ้นเดียวก็ไม่ได้</span></h2>
<p>ศาลระบุว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ได้บัญญัติไว้เพื่อกำหนดลักษณะต้องห้ามคนสมัคร สส. ไว้เพราะ สส. จะต้องใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนปวงชนชาวไทย จึงต้องได้รับการกลั่นกรองเบื้องต้นว่าคนนั้นจะทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน จากบทบัญญัติทั้ง 98(3) และ 101(6) นี้จึงมีเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัครอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษต่อบุคคลใดทางการเมือง</p>
<p>ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การพิจารณาว่ากิจการใดเป็นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ตามมาตรา 98(3) จึงต้องดูว่ากิจการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนและยังประกอบกิจการดังกล่าวหรือไม่ โดยยังมีรายได้จากการทำธุรกิจหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนในวันที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่</p>
<p>ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อมีการยุบสภาและ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 แล้วให้วันที่ 4 -7 เม.ย.2566 เป็นวันรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. โดยพรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อทั้ง สส.บัญชีรายชื่อในวันที่ 4 เม.ย. โดยมีชื่อของพิธาในลำดับแรก อย่างไรก็ตามปรากฏว่าพิธามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวี ณ วันที่ 26 เม.ย. 2566 ลำดับที่ 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น และพิธาถือหุ้นดังกล่าวเรื่อยมาถึงวันที่ 25 พ.ค.2566 พิธาจึงโอนหุ้นดังกล่าวให้ภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นน้องชาย</p>
<p>ตามแบบส่งงบการเงินของบริษัทไอทีวีที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธันวาคม 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่าสื่อโทรทัศน์ ดังนั้นจึงมีมูลที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าสมาชิกภาพของพิธาสิ้นสุดลงด้วยเหตุเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่</p>
<p>ตามข้อโต้แย้งของพิธาระบุว่า ตนไม่มีอำนาจครอบงำธุรกิจไอทีวี เนื่องจาก พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 มาตรา 247 กำหนดให้การกระทำตนหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์โดยกิจการถึงร้อยละ 25 ขึ้นไปของผู้มีสิทธิออกเสียงในกิจการนั้นให้ถือว่าเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ เว้นแต่เป็นการถือหลักทรัพย์นั้นได้มาจากการเป็นมรดกตกทอด</p>
<p>พิธาระบุในคำโต้แย้งอีกว่า ตนถือหุ้น 42000 โดยหุ้นสามัญของไอทีวี 1206,697,400 หุ้น หุ้นที่พิธามีอยู่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.00348 ของหุ้นสามัญทั้งหมด ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ตนจึงไม่เป็นบุคคลตามลักษณะต้องห้าม</p>
<p>ศาลเห็นว่ามาตรา 98 นี้มีพัฒนาการมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 265 วรรค 1 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 12-14 /2563 และ 7/2562 วางหลักว่ารัฐธรรมนูญ ห้ามการเข้าถือหุ้นในบริษัทต้องห้ามโดยไม่ได้ระบุว่าถือเท่าใดและไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีอำนาจบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่ฉะนั้นการถือเพียงหุ้นเดียวก็เป็นการถือหุ้นตามรัฐธรรมนูญ แม้ว่าผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำก็ตาม แต่การระบุในรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ สส. มีช่องทางใช้หรือถูกใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบทางใดทางหนึ่งเพราะฉะนั้น มาตรา 98(3) จึงห้าม สส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมหรือสือมวลชนโดยไม่ได้ ระบุว่าต้องถือเท่าใดหรือมีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการหรือไม่ ฉะนั้นการถือเพียงหุ้นเดียวย่อมเป็นการถือหุ้นตาม มาตรา 98(3) แล้ว</p>
<h3><span style="color:#2980b9;">ยังถือว่ามีหุ้นอยู่จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง</span></h3>
<p>เมื่อพิจารณาเบื้องต้นแล้วต้องพิจารณาต่อไปว่าวันสมัครรับเลือกตั้ง สส. พิธาเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในไอทีวีหรือไม่ กกต.กล่าวอ้างว่าบัญชีผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 26 เม.ย.2566 ปรากฏชื่อพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7061 จำนวน 42,000 หุ้น โดยถือในนามตนเองโดยไม่ได้มีหมายเหตุว่าถือแทนบุคคลอื่นหรือนิติบุคคลหรือในฐานะผู้จัดการมรดกอย่างไร และยังถือมาจนถึงวันที่ 25 พ.ค. 2566 พิธาจึงโอนให้น้องชาย</p>
<p>พิธาโต้แย้งว่าหุ้นดังกล่าวไม่ได้ถือไว้เพื่อตน โดยเมื่อ 5 ก.ย.2550 ตนในฐานะผู้จัดการมรดกได้รับโอนหลักทรัพย์มาจากบัญชีหลักทรัพย์ของพ่อที่เคยเปิดไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ฟิลิปโดยมีหุ้นของไอทีวี 42000 หุ้นด้วย พิธายังได้รับมอบหมายจากทายาทให้ถือหลักทรัพย์ทุกรายการอันเป็นมรดกแทนทายาทอื่น และได้ทราบจากบริษัทหลักทรัพย์ฟิลิปว่าไม่สามารถระบุฐานะผู้จัดการมรดกต่อท้ายชื่อสกุลของผู้ถือหลักทัรพย์ที่เป็นผู้ถือมรดกได้ ตามหนังสือรับรองของบริษัทหลักทรัพย์ฟิลิป ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2562 ตนได้ทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยโอนหุ้นไอทีวี 42,000 ให้ภาษิณแล้วตามสัญญาโอนหุ้นของบริษัทไอทีวี ดังนั้นกรณีที่ปรากฎชื่อของพิธาจนถึงวันที่ 25 พ.ค. 2566ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนจึงเป็นการถือหุ้นแทนภาษิณที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงในหุ้นดังกล่าวมาตั้งแต่ 24 มิ.ย. 2562 แล้ว</p>
<p>สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566 ปรากฎชื่อพิธาเป็นผู้ถือหุ้น ลำดับที่ 7061 จำนวน 42,000 รายงานการโอนและรับโอนหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ฟิลิปปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับพิธาเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีว่า วันที่ 5 ก.ย.2550 พิธารับโอนจากนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ซึ่งเป็นพ่อของพิธา บริษัทหลักทรัพย์ฟิลิปโอนตามคำสั่งของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่ตั้งพิธาเป็นผู้จัดการมรดกของพ่อ การโอน 5 ก.ย.2550 เป็นการโอนในฐานะผู้จัดการมรดก พิธายังมีฐานะเป็นทายาทอีกฐานะหนึ่งจึงเป็นสิทธิในมรดกทุกชนิดของผู้ตาย รวมถึงหุ้นไอทีวีวีตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599-1600 มีผลให้พิธาเป็นทั้งผู้จัดการมรดกและทายาทที่มีสิทธิในหุ้นดังกล่าว พิธาจึงเป็นผู้ถือหุ้นมาตั้งแต่ 5 ก.ย.2550</p>
<p>นอกจากนั้น หนังสือสัญญาโอนหุ้นระหว่างพิธาและภาษิณ ฉบับลงวันที่ 9 ก.ย.2561 นั้นพิธาเบิกความว่าตนจะดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงทำสัญญาด้วยวาจาว่าจะโอนหุ้นให้ภาษิณน้องชายของตนในวันที่ 9 กันยายน 2561 และทำหนังสือสัญญาในวันที่ 24 มิ.ย.2562 ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่พิธาเบิกความว่าตนเชื่อว่าบริษัทไอทีวียุติการดำเนินกิจการและไม่ใช่กิจการสื่อมวลชนตามมาตรา 98 (3) เนื่องจากตามความเข้าใจของพิธาแล้วไม่จำเป็นต้องโอนหุ้นดังกล่าว ก่อนที่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมต่อ ปปช. ในคราวที่พิธาเข้ารับตำแหน่งในปี 2562 พิธาไม่ได้ระบุถึงการโอนหุ้นดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารสำคัญ</p>
<p>นอกจากนี้ การที่พิธาเบิกความว่าหุ้นของไอทีวีเป็นหุ้นที่ไม่สามรถโอนกันได้ผ่านตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากเป็นหุ้นที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายแล้ว พิธาจึงได้โอนหุ้นให้ทายาทอื่นหรือจัดการอย่างใด ต่อมา 2566 พิธาได้รับคำแนะนำจากบริษัทหลักทรัพย์ว่าสามารถดำเนินการโอนหุ้นทางทะเบียนได้ ผ่านทางบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แสดงให้เห็นว่า พิธาไม่ดำเนินการโอนหุ้นให้เสร็จตั้งแต่2562 เป็นการดำเนินการที่คลาดเคลื่อน ไม่ได้ตรวจสอบหลักเกณฑ์การโอนให้ครบถ้วน และเป็นความเข้าใจของผู้ถูกร้องเองทั้งที่การดำเนินการของพิธาเมื่อ 25 พ.ค.2566 ทำให้เสร็จได้ในวันเดียว โดยดูตามคำขอโอนหลักทรัพย์ในวันดังกล่าวที่พิธายื่นให้บริษัทหลักทรัพย์ฟิลิปและตามรายงานการถือหลักทรัพย์ของบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ที่ระบุในวันเดียวกัน</p>
<p>ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธหลายประการจึงยังฟังไมได้ว่าพิธาทำสัญญาโอนหุ้นดังกล่าวจริง ข้อโต้แย้งของพิธาจึงฟังไม่ขึ้น ศาลจึงรับฟังได้ว่าพิธาเป็นผุ้ถือหุ้นไอทีวีอยู่ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อ สส.บัญชีรายชื่อต่อ กกต.เมื่อ 4 เม.ย.2566</p>
<h2><span style="color:#2980b9;">ITV ไม่ได้ทำสื่อแล้ว</span></h2>
<p>เมื่อศาลวินิจฉัยได้แล้วว่าพิธามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีอยู่ดังกล่าว จึงต้องพิจารณาต่อไปว่าไอทีวียังประกอบกิจการอยู่หรือไม่ตามมาตรา 98(3) ตามที่ กกต.กล่าวอ้างว่าพิธาเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีที่มีวัตถุประสงค์เป็นการประกอบกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์บอกรับเป็นสมาชิกและโทรภาพ รับจ้างโฆษณาทางหนังสือพิมพ์หรือสื่อใดๆ ตลอดจนรับจ้างออกแบบรับจ้างโฆษณาทุกชนิด รับจ้างผลิตรายการ และปัจจุบันยังประกอบกิจการไม่ได้เลิกกิจการหรือเสร็จการชำระบัญชี และยังระบุในเอกสารที่อื่นต่อกรมธุรกิจการค้าเมื่อ 10 พ.ค. 2566 นำส่งงบการเงินในวันสิ้นสุดบัญชี 31 ธ.ค. 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่าประกอบกิจการโทรทัศน์</p>
<p>พิธาโต้แย้งว่าไอทีวีถูกยกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีโทรทัศน์ตั้งแต่ 7 มี.ค. 2550 มีคดีพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายกันระหว่างไอทีวีกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และอยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด และตอนนี้บริษัทไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน อีกทั้งในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 คิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัทไอทีวี ในฐานะประธานที่ประชุมยังยืนยันว่าบริษัทไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ จนกว่าผลคดีจะสิ้นสุด ประกอบกับบริษัทไม่ได้มีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน เอกสารที่อื่นต่อกรมธุรกิจการค้าเมื่อ 10 พ.ค. 2566 นำส่งงบการเงินในวันสิ้นสุดบัญชี 31 ธ.ค. 2565 ซึ่งในเอกสารดังกล่าวมีการระบุด้วยว่าไมได้ดำเนินกิจการเนื่องจากรอผลคดี แต่มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ ในงบกระแสเงินระบุว่ามีรายได้จากการขายตราสารทุนและตราสารหนี้ของกิจการอื่นและมีรายได้จากดอกเบี้ยรับและกำไรเบ็ดเสร็จระบุรายได้มาจากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ</p>
<p>นอกจากนี้ กสทช.ยังแจ้งว่าไอทีวีไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตหรือได้รับจัดสรรให้ใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์หรือโทรคมนาคมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง</p>
<p>การพิจารณาว่านิติบุคคลใดทำกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาแค่วัตถุประสงค์การจัดตั้งนิติบุคคลที่จดทะเบียนหรือแจ้งไว้เป็นทางการได้ แต่พิจารณาควบคู่ไปกับการทำกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วยว่ามีการประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ด้วยหรือไม่อย่างไร</p>
<p>ข้อเท็จจริงปรากฏว่า 3 ก.คง 2538 บริษัทไอทีวีทำการขอใช้คลื่นสัญญากับ สปน.เป็นเวลา 30 ปี แต่ 7 มี.ค.2550 สปน.ได้ทำหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทไอทีวีบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานกับ สปน. และการดำเนินการสถานีโทรทัศน์โดยระบุว่าการแจ้งบอกเลิกนี้เป็นผลทำให้สัญญาเข้าร่วมงานสิ้นสุดลง สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ 15 มี.ค.2550 บริษัทไอทีวียื่นเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อแจ้งว่าบริษัทหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ 8 มี.ค. 2550 เนื่องจากไม่มีพนักงาน และสำนักงานประกันสังคมตรวจสอบแล้วอนุมัติหยุดกิจการชั่วคราวดังกล่าว และจนถึงปัจจุบันตามข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมระบุว่าบริษัทไอทีวีหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ 8 มี.ค.2550 ถึงปัจจุบัน และเมื่อพิจารณาตามเอกสารรรอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2560 ถึงปี 2562 ระบุประเภทธุรกิจของบริษัทว่าลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก เอกสารรรอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2563 และ 2564 ระบุเป็นสื่อโทรทัศน์ ระบุสินค้าบริการว่าไม่ได้ดำเนินกิจการเนื่องจากติดคดีความ รอผลคดี มีรายได้จากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ</p>
<p>นอกจากนั้นหมายเหตุในเอกสารงบการเงินปี 31 ธ.ค. 2560 ถึงของปี 2565 บริษัทไอทีวีดำเนินกิจการเกี่ยวกับการดำเนินการธุรกิจโทรทัศน์และสื่อโฆษณา ผลิตรายการแต่ สปน.เพิกถอนสัญญาเป็นผลให้บริษัทหยุดดำเนินกิจการและระบุว่าบริษัทยังมีรายได้จากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ และทำให้บริษัทย่อยคือ บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย (จำกัด) ต้องหยุดดำเนินกิจการไปด้วย</p>
<p>แต่เมื่อพิจารณา ภ.ง.ด. 50 ตั้งแต่ปี 2560-2565 ระบุว่าประกอบกิจการผลิตภาพยนตร์และวิดีทัศน์และรายการโทรทัศน์แต่ระบุรายได้โดยตรงจากการประกอบกิจการเป็น 0 บาท และระบุรายได้อื่นว่าได้จากดอกเบี้ยรับ</p>
<p>ส่วนประเด็นที่แบบ สปช. 3 ไม่ตรงกันนั้น คิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัทไอทีวี ระบุว่าเอกสารทั้งสองฉบับนั้นเป็นของจริงแต่มีการยื่นเอกสารฉบับหลังแก้ไข ยกเลิกเอกสารฉบับแรกเพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่ให้เกิดข้อถกเถียงจากเอกสารฉบับแรก และที่เอกสารฉบับแรกระบุประเภทสินค้าว่าสื่อโฆษณาเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้กรณีบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินกิจการต้องระบุจุดประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งของบริษัท ข้อเท็จจริงสอดคล้องกับคู่มือในแบบเอกสารงบการเงินของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่กำหนดให้การกรอกข้อมูลบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินกิจการให้ระบุวัตถุประสงค์ตรงกับที่จดทะเบียนไว้กับกรมฯ</p>
<p>ส่วนรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อ 26 เม.ย. 2566 ที่ระบุในหน้าสุดท้ายว่ามีผู้ถือหุ้นถามว่าบริษัทยังประกอบกิจการเป็นสื่อมวลชนอยู่หรือไม่ ประธานกรรมการบริษัทไอทีวีระบุว่ายังประกอบกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทนั้นไม่ใช่การยืนยันว่าบริษัทดำเนินกิจการสื่อมวลชน นอกจานี้หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้บริษัทชนะคดีจะมีการพจารณากันอีกครั้งว่าบริษัทจะดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่</p>
<p>ศาลเห็นว่าตามแบบ สปช. 3 ในปี 2563-2565 ระบุประเภทธุรกิจสื่อโทรทัศน์ต้องพิจารณาประกอบกับเอกสารอื่นๆ โดยเฉพาะงบการเงินและหมายเหตุในงบการเงินที่จัดทำโดยผู้สอบบัญชีเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงถึงการประกอบกิจการของบริษัทที่ถูกต้อง</p>
<p>แม้ในการไต่สวนจะฟังได้ว่าบริษัทไอทีวีจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์และผลิตสื่อโฆษณาและผลิตรายการ แต่เมื่อแบบ สปช.3 และหมายเหตุประกอบงบการเงิน และภ.ง.ด. 50 ตั้งแต่ 2560-2565 มีข้อมูลสอดคล้องกันว่าบริษัทไอทีวีหยุดดำเนินกิจการดังกล่าวนับตั้งแต่ สปน.เลิกสัญญาเมื่อ 7 มี.ค.2550 ผลของการบอกเลิกสัญญาทำให้สิทธิ์ในการใช้คลื่นสัญญาณของบริษัทไอทีวีกลับมาเป็นของ สปน. และทำให้บริษัทไม่มีคลื่นสัญญาณมาดำเนินการโทรทัศน์ได้อีกต่อไปจนเกิดคดีพิพาทกันระหว่างคู่สัญญาโดยมีการเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน แต่ไอทีวีไม่ได้มีการเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิ์ในคลื่นสัญญาณแก่ตนเอง และระหว่างนี้คดีพิพาทดังกล่าวยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หากคดีถึงที่สุดแล้วต่อให้บริษัทชนะคดีก็ไม่ได้มีผลที่จะได้รับมอบสิทธิ์ในการใช้คลื่นสัญญาณมาดำเนินการธุรกิจโทรทัศน์ได้อีก</p>
<p>ศาลสรุปประเด็นเรื่องบริษัทไอทีวียังประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์ตามกฎหมายว่า บริษัทไอทีวีไม่มีสิทธิประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์ตามกฎหมายตั้งแต่ 7 มี.ค.2550 และการที่บริษัทยังคงสถานะนิติบุคคลเดิมไว้ก็เพื่อดำเนินคดีที่ค้างอยู่ในศาลเท่านั้นและไม่ปรากฏว่าบริษัทมีรายได้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการสื่อมวลชนแต่มีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับ</p>
<p>อีกทั้งที่ประธานกรรมการบริษัทไอทีวีเบิกความว่าหากชนะคดีแล้วจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าบริษัทจะยังดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ซึ่งอาจจะประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือกิจการอื่นตามวัตถุประสงค์ของบริษัทข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ ก็เป็นเรื่องในอนาคต</p>
<p>ดังนั้นนับตั้งแต่ สปน.บอกเลิกสัญญาเมื่อ 7 มี.ค. 2550 บริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน อีกทั้งไม่ปรากฏข้อมูลหลักฐานว่าบริษัทได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการจดแจ้งการพิมพ์ และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ตาม พ.ร.บ. กสทช. 2553 และไม่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตภาพยนตร์ ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ด้วย</p>
<p>ศาลจึงเห็นว่า วันที่พิธาสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. บริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ การถือหุ้นบริษัทไอทีวีของพิธาจึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) สมาชิกภาพ สส.ของ พิธาจึงไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6)</p>
<p>พิธาให้สัมภาษณ์หลังฟังคำวินิจฉัยว่าหลังจากนี้คือการแถลงแผนงานประจำปีของพรรคก้าวไกลตามที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรค แต่เรื่องกลับเข้าสภาได้เมื่อไหร่ก็จะให้คนที่อยู่ในสภาหรือวิปได้หารือกับทางประธานสภาพอีกทีว่าจะได้กลับเข้าไปทำงานได้เมื่อไหร่</p>
<p>พิธายังได้กล่าวถึงความรู้สึกการฟังคำวินิจฉัยวันนี้ว่าเขารู้สึกเฉยๆ เหมือนกับทุกวันโดยนึกถึงเรื่องทำงานทั้งในอาทิตย์นี้และอาทิตย์ต่อๆ ไปแล้วก็รอว่าจะได้กลับเข้าสภาเมื่อไหร่ ส่วนเรื่องที่จะกลับเข้าไปบริหารพรรคหรือไม่นั้นจะมีการเปลี่ยนทุก 4 ปี เรื่องนี้จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องในวันนี้</p>
<p> </p>
</div></div></div><div class="field field-name-field-variety field-type-taxonomy-term-reference field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><a href="/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7" typeof="skos:Concept" property="rdfs:label skos:prefLabel" datatype="">ข
https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์
https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai</div></div></div>
https://prachatai.com/journal/2024/01/107763