[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
02 กรกฎาคม 2568 02:37:18 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สังคีตศิลป์ในสวนสุนันทา  (อ่าน 627 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 6104


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 13 พฤศจิกายน 2567 14:54:57 »


พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
ที่มา: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร


สังคีตศิลป์ในสวนสุนันทา


รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ส่งผลให้เจ้านายฝ่ายในที่ประทับในพื้นที่พระราชวังบวรสถานมงคล ต้องย้ายมาประทับในพื้นที่เขตพระราชฐานชั้นในของพระบรมมหาราชวัง ทำให้จำนวนประชากรในเขตพระราชฐานชั้นในเพิ่มมากขึ้นและอยู่อย่างแออัด ด้วยเหตุนี้ หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับประพาสจากยุโรปครั้งที่ ๑ ราวพุทธศักราช ๒๔๔๒ จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างที่ประทับใหม่ในพื้นที่สวนและทุ่งนาบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง และโปรดให้เรียกที่ประทับใหม่แห่งนี้ว่า “วังสวนดุสิต” ต่อมา เมื่อมีการสร้างที่พระที่นั่งองค์ต่างๆ ขึ้น เพื่อใช้ประกอบการพระราชพิธีเช่นเดียวกับในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อวังสวนดุสิตใหม่เป็น “พระราชวังสวนดุสิต”

พุทธศักราช ๒๔๕๑ หลังเสด็จกลับประพาสจากยุโรปครั้งที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ต่อเติมขยายพื้นที่พระราชวังสวนดุสิต โดยมีการตกแต่งอาณาบริเวณพื้นที่ที่ขยายขึ้นใหม่นี้ให้เป็นสวนป่า เรียกว่า “สวนสุนันทา” อีกทั้งมีการจัดสรรพื้นที่ไว้เป็นแปลงย่อยๆ สำหรับสร้างตำหนักและเรือนต่างๆ ถึง ๓๒ ตำหนัก เพื่อพระราชทานเป็นที่ประทับของพระภรรยาเจ้า พระราชธิดาและเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมของพระองค์หลังเสด็จสวรรคต เหตุเพราะว่าพระราชวังสวนดุสิตนั้น ต้องตกเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป แต่ยังไม่ทันสร้างสวนสุนันทาแล้วเสร็จ พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างต่อตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๕๔ - ๒๔๖๒ จึงแล้วเสร็จ ต่อมาราวพุทธศักราช ๒๔๖๓ หลังจากพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา เสด็จย้ายมาประทับที่สวนสุนันทาเป็นการถาวรแล้ว บรรดาเจ้านายฝ่ายในที่ประทับในพระราชวังดุสิต จึงเสด็จย้ายตามมาประทับที่สวนสุนันทาจนครบราวพุทธศักราช ๒๔๖๕

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้านายฝ่ายในและชาววังในสวนสุนันทา นอกเหนือจากการเสด็จไปในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ตามตำแหน่งที่ทรงมี หรือที่ชาววังเรียกกันว่า “นั่งงาน” แล้ว พระองค์มักเสด็จไปมาหาสู่กันระหว่างตำหนักต่างๆ และเมื่อถึงเวลาเย็นมักจะเสด็จไปรวมพระองค์กันที่ตำหนักพระวิมาดาเธอ ฯ เพื่อเสวยค่ำและทรงมีพระปฏิสันถารร่วมกัน นอกจากนี้ช่วงเวลาระหว่างวันยังทรงใช้เวลาไปกับงานอดิเรกที่โปรดร่วมกับบรรดาข้าหลวง อาทิ วาดภาพ ทำอาหาร ทำงานฝีมือเย็บปัก ถักร้อย งานดอกไม้ ฯลฯ 




ภาพจาก YouTube - สังคีตศิลป์ล้านนา ปราสาทไหว

งานอดิเรกอีกประการที่เจ้านายและชาววังในสวนสุนันทาให้ความนิยม คือ การฝึกหัดบรรเลงและขับร้องดนตรี นอกจากนี้บางตำหนักยังโปรดให้ข้าหลวงฝึกหัดรำละครอีกด้วย สำหรับตำหนักของพระวิมาดาเธอ ฯ นั้น พระองค์โปรดที่จะทรงจะเข้ในยามว่าง ดังที่หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ได้กล่าวว่า เมื่อวันก่อนเจ้านายพระองค์หนึ่งนำจะเข้แกะด้วยงาล้วนๆ ทั้งตัวฝังทับทิมตามขอบริมรอบสวยงามมาก มาถวายพระวิมาดาเธอ ๑ ตัว สำหรับทรงดีดเล่นยามว่าง ด้วยเมื่อท่านยังเป็นสาวมีกิตติศัพท์เล่าลือกันในหมู่นางในว่าท่านทรงจะเข้เก่งมาก (เนื่อง นิลรัตน์, ๒๕๕๗: ๖๑ - ๖๒)

ครูที่เข้ามาทำหน้าที่สอนบรรเลงดนตรีและขับร้องให้กับข้าหลวงในตำหนักพระวิมาดาเธอ ฯ ล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีความสามารถทั้งสิ้น อาทิ พระประดิษฐไพเราะ (ตาด) พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) คุณเฒ่าแก่จีบ ฯลฯ โดยพระวิมาดาเธอ ฯ จะทรงควบคุมการออกอักขระ การขับร้องด้วยพระองค์เองและจะทรงเน้นเรื่องการร้องเพลงไทยไม่ให้คำเพี้ยน ซึ่งการบรรเลงและขับร้องดนตรีไทยของตำหนักพระวิมาดาเธอ ฯ นี้ สันนิษฐานว่ามีชื่อเสียงอย่างยิ่งในยุคนั้น ดังปรากฏว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชประสงค์จะฟัง เพลงตับเงาะป่า พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) เสนาบดีผู้ดูแลกระทรวงวังขณะนั้น จึงให้วงมโหรีหลวงส่วนพระองค์เข้าไปฝึกหัดกันที่ตำหนักพระวิมาดาเธอ ฯ ในสวนสุนันทา ดังที่ นางเจริญใจ  สุนทรวาทิน ศิลปินแห่งชาติ  กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าพระองค์มีพระราชประสงค์จะฟัง ตับเงาะป่า ท่านเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ก็ได้ให้วงมโหรีหลวงทั้งหมดไปฝึกซ้อมที่ตำหนักพระวิมาดาเธอ กรมหลวงสุทธาสินีนาฏ (พระยศขณะนั้น) ที่วังสวนสุนันทา โดยมีพ่อข้าพเจ้าเป็นผู้ควบคุมวงและสอนขับร้อง (เจริญใจ  สุนทรวาทิน, ๒๕๕๕: ๑๓๑)

การฝึกหัดบรรเลงดนตรีในสวนสุนันทา นอกจากที่ตำหนักพระวิมาดาเธอ ฯ แล้วบรรดาพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์ ยังทรงฝึกหัด และทรงบรรเลงดนตรีร่วมกันในยามว่างอีกด้วย อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ทรงซอและทรงขิม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี ทรงขิม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ทรงจะเข้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา ทรงซออู้ เป็นต้น

ตำหนักเจ้านายในสวนสุนันทาที่มีความเด่นชัดเรื่องการบรรเลงและขับร้องดนตรี นอกเหนือจากตำหนักพระวิมาดาเธอ ฯ แล้ว ยังมีตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี ที่มีชื่อเสียงเช่นกัน ด้วยพระองค์โปรดการดนตรีและการรำละคร อีกทั้งเจ้าจอมมารดามรกฎ มารดาของพระองค์ ยังเป็นบุตรีของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เจ้าของคณะละครที่มีชื่อเสียง ด้วยเหตุนี้บรรดาข้าหลวงในตำหนักพระองค์หลายท่าน จึงเป็นบุคคลที่มาจากสกุลเพ็ญกุลที่มีความสามารถในการบรรเลงดนตรีและการรำละคร นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดให้ตั้งวงอังกะลุงหญิงวงแรกขึ้นในสวนสุนันทา และได้ออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชาธิวาสวิหาร อีกด้วย

ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา เป็นอีกตำหนักในสวนสุนันทา ที่มีการฝึกหัดบรรเลงดนตรีและแสดงนาฏศิลป์อย่างจริงจังทั้งไทยและตะวันตก ดังจะเห็นได้จากการที่ โปรดให้บุคคลที่มีความสามารถหลายท่านเข้ามาสอนให้กับข้าหลวง ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าจอมมารดาชุ่ม มารดาของพระองค์ บุตรีของพระมงคลรัตนราชมนตรี (ชุ่ม ไกรฤกษ์) มีความสนิทสนมกับเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ด้วยเหตุนี้เจ้าดารารัศมี พระราชชายา จึงโปรดให้เจ้าเทพกัญญา (ณ เชียงใหม่) บูรณพิมพ์ หัวหน้าวงเครื่องสายในตำหนักของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ลูกศิษย์ของหม่อมผิว หม่อมสุดและพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ซึ่งมีชื่อเสียงและความสามารถในการสีซอสามสายเข้ามาสอนช่วยสอนและฝึกหัดดนตรีไทยให้กับคนในสกุลไกรฤกษ์ที่มาถวายตัว และข้าหลวงในตำหนักนี้ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๖๐ - ๒๔๖๕ จนสามารถตั้งวงมโหรีและวงเครื่องสายผสมไวโอลินออกบรรเลงในงานสำคัญตามวัง และบ้านขุนนางในวาระต่างๆ ได้ นอกจากการฝึกหัดดนตรีไทยแล้วยังโปรดให้เชิญเจ้าจอมมารดาเขียนในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เข้ามาฝึกหัดละครพูด ละครร้อง ละครรำ ฯลฯ โดยเรื่องที่นิยมนำมาจัดแสดง อาทิ เงาะป่า อิเหนา พระลอ สังข์ศิลป์ชัย ไกรทอง พระยาแกรก ฯลฯ ซึ่งข้าหลวงทุกคนต้องผ่านการฝึกหัดรำตั้งแต่เพลงช้าเพลงเร็วอันเป็นเพลงรำขั้นพื้นฐานของการเรียนนาฏศิลป์ไทยและต่อมาเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ยังส่งครูหลง บุญจูหลง จากคุ้มของพระองค์ เข้ามาสอนการแสดงพื้นเมืองภาคเหนืออีกด้วย อาทิ ฟ้อนม่านมุยเซียงตา น้อยไจยา ฯลฯ สำหรับวงดนตรีที่ใช้บรรเลงและขับร้องประกอบการแสดงในตำหนัก พระองค์โปรดให้เชิญพระพาทย์ บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน) และนายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ มาเป็นผู้ควบคุม โดยการฝึกหัดละครและนาฏศิลป์ของข้าหลวงในตำหนักพระองค์ จะทรงเข้มงวดอย่างมาก ต้องแสดงให้ทอดพระเนตรอยู่เสมอ และบางโอกาสยังต้องไปแสดงถวายที่ตำหนักพระวิมาดาเธอ ฯ เพื่อให้พระวิมาดาเธอ ฯ และบรรดาเจ้านายพระองค์ต่างๆ ทอดพระเนตร ส่งผลให้ต่อมาบรรดาเจ้านายพระองค์ต่างๆ  ในสวนสุนันทาต่างโปรดให้ข้าหลวงของพระองค์ฝึกหัดเล่นละครตามข้าหลวงในตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา

บุคคลที่เคยสนองพระเดชพระคุณเจ้านายในสวนสุนันทาด้านสังคีตศิลป์หลายท่าน ต่อมาได้เข้ามารับราชการและมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับข้าราชการที่กองการสังคีต (สำนักการสังคีต ในปัจจุบัน) กรมศิลปากร หลายท่าน อาทิ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ นางเจริญใจ สุนทรวาทิน ศิลปินแห่งชาติ เป็นต้น การที่เจ้านายฝ่ายในในสวนสุนันทา โปรดให้ข้าหลวงฝึกหัดการบรรเลงและขับร้องดนตรีไทย ฝึกหัดการแสดงละครและนาฏศิลป์นี้ ย่อมทำให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้นในหมู่ข้าหลวงและทำให้มีความสามารถติดตัว อีกทั้งยังเป็นพระกุศโลบายที่ดีประการหนึ่งที่ส่งผลข้าหลวงสามารถใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ไม่นำเวลาว่างไปเล่นซุกซนตามวิสัยของเด็กๆ จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้การฝึกหัดละคร ยังส่งผลให้ข้าหลวงสามารถฝึกบุคลิกภาพและการพูดภาษาไทยอย่างชัดถ้อยชัดคำ เสียงดังฟังชัด กล่าวได้ว่าเจ้านายฝ่ายในที่ประทับในสวนสุนันทานั้น ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ดุริยางคศิลปิน คีตศิลปิน นาฏศิลปินของวงการสังคีตศิลป์ไทย ที่ควรค่าแก่การรำลึกพระกรุณาคุณและเทิดพระเกียรติคุณอย่างยิ่ง

ขอขอบคุณที่มา : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร - เรียบเรียง ดร.ธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.33 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มิถุนายน 2568 01:48:17