การที่คนทำกรรมดีและหวังผลดีในทางด้านวัตถุ เช่น หวังลาภ ยศ และสรรเสริญ แต่ไม่ได้รับผลดีตามต้องการ อาจจะเพราะไม่เข้าตามหลัก ๔ ประการข้างต้น คือ ไปทำความดีกับบุคคลที่ไม่มีความดี เช่น เราทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่เจ้านายของเราเป็นคนคอรัปชั่น การทำความดีของเราย่อมไม่เป็นที่ชื่นชมของเจ้านายของเรา การทำดีกับบุคคลเหล่านี้ก็ไม่ผิดอะไรกับเอาเมล็ดพืชทิ้งลงไปบนหิน หรือพื้นดินแห้งแล้ง
ฉะนั้น การทำความดีเราควรจะหวังผลในทางจิตใจมากกว่าวัตถุ บางคนอาจจะ ทำความดีจริงแต่อาจจะทำไม่ถึงดี คือ ทำดีเพียงเล็กน้อยแล้วก็หวังผลแห่งความดีนั้น เมื่อไม่ได้รับผลตอบแทนก็หมดกำลังใจ แล้วก็บอกว่าทำดีไม่เห็นได้ดี คนพวกนี้เหมือนคนปลูกพืชรดน้ำพรวนดินนิดหน่อย ก็หวังที่จะให้พืชได้ผล
ความหมายของคำว่าได้ดีและได้ชั่ว ในทางโลกและทางธรรม มีความหมายแตกต่างกัน
ในทางโลก มักจะมองเห็น การได้ดีและได้ชั่วเป็นเรื่องทางวัตถุ เมื่อกล่าวว่าคนนั้นได้ดีก็มักจะหมายความว่า ผู้นั้นได้ลาภและยศ เช่นได้ทรัพย์สมบัติ ได้อำนาจวาสนา หรือได้ตำแหน่งหน้าที่การงานดีขึ้น เมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านี้ก็เข้าใจว่าไม่ได้ดี
ในทางธรรม การได้ดีหรือได้ชั่วเป็นเรื่องของจิตใจ การได้ดีหมายถึง การทำให้จิตใจดีขึ้น ทำให้ธาตุแห่งความดีในตัวเองเรามีมากขึ้น ทำให้จิตใจของเราสะอาด สว่าง สงบยิ่งขึ้น ส่วนการได้ชั่ว หมายถึงการทำให้จิตใจต่ำลง เลวลง ทำให้จิตใจมืดมัวยิ่งขึ้น คำว่าได้ดีจึงความถึงความดี และคำว่าได้ชั่ว จึงหมายถึงความชั่ว หากเราจะพูดว่า ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว ก็จะทำให้เข้าใจในเรื่องได้ดีและได้ชั่วดีขึ้น
บุคคลที่กระทำกรรมอะไรลงไป ย่อมจะได้รับผลในทางจิตใจทันที เมื่อทำกรรมดี เช่น ทำบุญตักบาตร ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ก็จะทำให้จิตใจดีขึ้น มีความปีติ และความสุขในกรรมดีที่ตนทำ ในเมื่อกรรมที่ทำเป็นกุศลกรรมจริงๆ คือทำด้วยจิตใจที่เป็นกุศล ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่ด้วยความโลภหรือด้วยอกุศลเจตนา หรือหวังผลตอบแทน คัดลอกมาจาก ::
ธรรมบรรยายโดย...หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
หนังสือกฎแห่งกรรม เล่ม 15 ภาคธรรมปฏิบัติ