ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ลี้ภัยคดี 112 มอง 3 มุม 'กองทุน-ทนาย-คนปลายทาง'
<span>ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ลี้ภัยคดี 112 มอง 3 มุม 'กองทุน-ทนาย-คนปลายทาง' </span>
<span><span>See Think</span></span>
<span><time datetime="2024-12-26T12:51:36+07:00" title="Thursday, December 26, 2024 - 12:51">Thu, 2024-12-26 - 12:51</time>
</span>
<div class="field field--name-field-byline field--type-text-long field--label-hidden field-item"><p>เรื่อง: ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล</p><p>ภาพปก: กิตติยา อรอินทร์</p></div>
<div class="field field--name-body field--type-text-with-summary field--label-hidden field-item"><p>ปี 2567 กำลังจะผ่านพ้นไป นักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนจำนวนมากยังคงเผชิญภาระทางคดีความที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-2565 โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 พวกเขาบางส่วนถูกคุมขังในเรือนจำ บางส่วนลี้ภัยออกนอกประเทศ</p><p>จากผู้ลี้ภัยระลอกล่าสุดที่มีอย่างน้อย 30 คน ประชาไทติดตามสัมภาษณ์ชีวิตและการตั้งตัวเริ่มต้นชีวิตใหม่ของ 6 คน ประกอบด้วย 3 แกนนำที่ได้สถานะพำนักถาวรแล้ว กับ 3 คนที่เป็นประชาชนทั่วไปซึ่งยังคงรอสถานะพำนักถาวร โดยมีหนึ่งคนในกลุ่มหลังเพิ่งจะได้สถานะพำนักจากรัฐบาลฝรั่งเศสไปหมาดๆ</p><div class="more-story"><p><strong>เรื่องที่เกี่ยวข้อง</strong></p><ul><li>
ชีวิตที่ยังไร้สถานะของ ‘เรเน่’ หญิงข้ามเพศที่ต้องลี้ภัยแค่จากโพสต์ไวรัลของตัวเอง</li><li>
ชีวิตของ ‘พลอย’ ผู้ลี้ภัยอายุน้อยที่สุด</li></ul></div><p>ผู้ลี้ภัยยุคนี้มีความแตกต่างจากผู้ลี้ภัยยุคก่อนมีอยู่ 3 ประการหลัก</p><p>หนึ่ง – แทบทั้งหมดเป็นการหนีให้พ้นจากการถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112</p><p>สอง – เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวอายุยังน้อย กรณีอายุน้อยที่สุดในขณะลี้ภัยคือ 18 ปี</p><p>สาม – เป็นคนในระดับประชาชนทั่วไปในสัดส่วนที่มากขึ้น</p><p>เมื่อมีคนหนีเพิ่มขึ้นก็นำมาซึ่งหลายคำถาม อาทิ </p><ul><li aria-level="1">ปรากฏการณ์ ‘ลี้ภัย’ นี้จะสร้างความลำบากให้กับจำเลยคนอื่นๆ ในประเทศหรือไม่</li><li aria-level="1">ในมุมของเงินประกันถูกศาลยึดไป กระทบต่อการทำงานของกองทุนราษฎรประสงค์หรือไม่</li><li aria-level="1">ภาวะสงครามที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้มีผู้ขอลี้ภัยในประเทศตะวันตกเป็นจำนวนมาก การขอลี้ภัยทางการเมืองของคนไทยจะเผชิญความยากลำบากมากขึ้นหรือไม่</li></ul><p>ประชาไทหาคำตอบเรื่องนี้จาก พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ไอดา อรุณวงศ์ กรรมการของกองทุนราษฎรประสงค์ และ จรัล ดิษฐาอภิชัย นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายและอดีตแกนนำคนเสื้อแดงผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศสมาราว 10 ปีแล้ว</p><h2>ต้องหนี เพราะไม่มีสิทธิประกันตัว ?</h2><p>ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ออก
แถลงการณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ เอาผิดต่อผู้ชุมนุม</p><p>หลังจากนั้นก็ปรากฏรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มกลับมาบังคับใช้ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกครั้ง แม้ว่าช่วงกว่า 2 ปี ก่อนหน้านั้นจะว่างเว้นจากการใช้กฎหมายดังกล่าว โดย พล.อ.ประยุทธ์
อ้างว่านั่นเป็นพระเมตตาของรัชกาลที่ 10 </p><p>จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 276 คน ใน 308 คดี</p><p>ทนายพูนสุขกล่าวว่าเหตุผลที่ทำให้คนเลือกลี้ภัยมีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งประกอบด้วย 2 ปัจจัย</p><p>หนึ่ง — ระดับความเข้มข้นของรัฐในการคุกคามและใช้คดีความ</p><p>สอง — การไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว</p><p>พูนสุขตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงปลายปี 2563 ที่รัฐบาลประกาศว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด แล้วต่อมาก็ปรากฏข่าวการแจ้งข้อกล่าวหากับแกนนำและคนเล็กคนน้อย เราจะเห็นว่าในช่วงการเคลื่อนไหวกระแสสูง มาตรการของรัฐก็เข้มข้นและตึงเครียด แต่ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหายังได้รับสิทธิประกันตัว</p><p>นอกเหนือจากบรรยากาศการคุกคามโดยรัฐและการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวในระยะหลัง ซึ่งพูนสุขอธิบายว่าส่งผลให้คนหนีออกไปเพิ่ม เราถามต่อว่ากระแสการสนับสนุนจากมวลชนในขบวน ก็อาจถือเป็นอีกปัจจัยด้วยหรือไม่ พูนสุขตอบว่าก็มีผล แต่คงไม่ทั้งหมด</p><p>หลังช่วงพีคของชุมนุม กระแสการสนับสนุนจากสาธารณะเริ่มซาลง แต่ม็อบก็ยังมีต่อเนื่อง ช่วงนั้นแม้แกนนำได้ประกันตัวก็มีบางส่วนยังเคลื่อนไหว จึงเป็นเหตุให้รัฐอ้างถอนประกัน</p><p>ระลอกของการถอนประกันเกิดขึ้นมาตั้งแต่การเคลื่อนไหวยังมีลักษณะเป็นขบวนใหญ่ จนมาถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเล็กอย่างใบปอและบุ้งกลุ่มทะลุวัง เมื่อปี 2565 เรื่อยมาจนถึงการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมอิสระ อย่างตะวันและแบมที่ตัดสินใจกลับเข้าเรือนจำด้วยการยื่นถอนประกันตัวเองเมื่อช่วงปี 2566 โดยมีการอดอาหารและน้ำในระหว่างถูกคุมขังเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้นักโทษการเมืองทุกคน</p><p>พูนสุขกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์การถอนประกันที่ทำให้แกนนำต้องกลับเข้าเรือนจำ และการไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างสู้คดีเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในขณะที่ม็อบก็ซาลง จากความตื่นตัวของสาธารณะเมื่อมีแกนนำถูกจับก็ได้กลายมาเป็นความเคยชิน</p><p>ในเดือนพฤษภาคม 2566 ไทยมีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลพลเรือน แต่
สถานการณ์นักโทษทางการเมืองดูเหมือนยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น คนที่ถูกขังมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วยังไม่ได้ประกันตัว ขณะที่มีผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีรายใหม่นั้นก็เริ่มเพิ่มขึ้น</p><p>จากการสัมภาษณ์ของประชาไทพบว่า มีประชาชนทั่วไป 2 คนที่ตัดสินใจยื่นขอลี้ภัยเมื่อเห็นสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนรัฐบาล คือ แบมบู-ภัคภิญญา อดีตบรรณารักษ์ และ โตโต้–ธนกร อดีตบัณฑิตเอกภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่</p><div class="more-story"><p><strong>เรื่องที่เกี่ยวข้อง</strong></p><ul><li>
ชีวิตที่ต้องลี้ภัยของ ‘โตโต้ ธนกร’ ผู้ร่วมคาร์ม็อบที่ติดผ้าพันคอจิตอาสาไว้หน้ารถ</li><li>
‘แบมบู ภัคภิญญา’ อดีตบรรณารักษ์ เหยื่อ ม.112 สู่ผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย</li></ul></div><p>พูนสุขกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา ศาลมีแนวโน้มไม่ให้ประกันตัว ต่อให้ไม่มีเหตุที่ทําให้ศาลจะตีความเข้าข้อกฎหมายได้ว่าจําเลยจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น เป็นอุปสรรคในการสอบสวน กระทั่งต่อให้มีเหตุผลทางกฎหมายจริงๆ ก็ต้องมาพิจารณาที่ข้อเท็จจริง ซึ่งตีความได้ว่าเขาจะหลบหนี</p><p>ตัวอย่าง 2 นักโทษการเมืองที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว คือ ขนุน–สิรภพ นักศึกษาที่กำลังเรียนปริญญาโท และ อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พูนสุขเห็นว่า สองคนนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายและไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนําไปสู่การตีความว่าเขาจะหลบหนีได้เลย ในทางตรงกันข้าม มีหลักฐานอื่นๆ ที่สามารถพิจารณาได้ว่าเขามีความเสี่ยงต่ำที่จะหลบหนีเสียด้วยซ้ำ</p><p>“เวลาเราจะสรุปเข้าเหตุผลในทางกฎหมาย มันต้องมีข้อเท็จจริงก่อนว่า ข้อเท็จจริงอันนี้นําไปสู่การตีความว่าเขาจะหลบหนี แต่ว่าหลายๆ กรณี ศาลให้เหตุผลว่าเป็นเพราะว่ามีคําพิพากษาแล้ว อัตราโทษสูง เกรงว่าจําเลยจะหลบหนี ซึ่งเหตุผลแบบนี้ไม่ได้เป็นเหตุผลที่สามารถนํามาเป็นเหตุผลจริงๆ</p><p>เพราะว่าถ้าบอกว่าอัตราโทษสูงเกรงว่าจําเลยจะหลบหนี แปลว่าร้อยเปอร์เซ็นต์คุณต้องไม่ให้ประกันตัวเลยนะคดีลักษณะนี้ แปลว่าคดีฆาตกรรมหรือคดีอะไรที่โทษสูงกว่านี้ คุณก็ต้องไม่ให้ประกันเลยนะ เพราะว่าอัตราโทษสูงเกรงว่าจําเลยจะหลบหนี ซึ่งเหตุผลอันนี้มันเอามาใช้พิจารณาประกอบได้ แต่ไม่ใช่เหตุผลหลัก”</p><p>หลังจากการเสียชีวิตในเรือนจำของ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ หรือ เนติพร เสน่ห์สังคม แม้ไม่ได้ส่งผลถึงขั้นมีการปล่อยตัวชั่วคราวล็อตใหญ่ แต่สถานการณ์นักโทษทางการเมืองดูเหมือนจะบรรเทาลง</p><p>ช่วงนั้นมีการปล่อยตัว 2 นักเคลื่อนไหว คือ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แฟรงค์ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ซึ่งเข้าเรือนจำช่วงเดียวกันกับบุ้ง แต่เป็นคดีมาตรา 116</p><h2>แนวโน้มพิพากษาจำคุก</h2><p>สำหรับนักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2566 เรื่อยมาจนถึงปีนี้ ก็ยังคงเป็นปีแห่งคำพิพากษา พูนสุขบอกว่าแนวโน้มของคำพิพากษาส่วนมากยังเป็นการลงโทษจำคุก การประกันตัวยังเป็นเรื่องยากอยู่ แม้ว่าทนายความจะมีการยื่นประกันตัวตามกระแสทางการเมือง</p><p>ตามข้อมูลจาก
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2567 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฏาคม มีการยื่นประกันตัวผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองถึง 109 ครั้ง </p><p>ในจำนวนนี้มีถึง 85 ครั้งที่เป็นการยื่นคำร้องในคดีหลักตามมาตรา 112 และ มาตรา 116 ส่วนที่เหลือเป็นคดีอื่นๆ ที่มีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง ในช่วงเดือนดังกล่าว พบว่าศาลให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองเพียง 5 คน</p><p>อย่างไรก็ตาม พูนสุขกล่าวด้วยว่าก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลนี้ เพราะว่าเป็นคดีที่เกิดขึ้นในรัฐบาลที่แล้ว แต่มีกำหนดพิพากษาคดีในช่วงนี้พอดี</p><p>โดยในปีนี้ มีการนัดฟังคำพิพากษาในหลายคดี และพบว่าจำเลยคดี ม.112 บางส่วนที่เคยได้รับสิทธิประกันตัว ไม่ได้มาปรากฏตัวตามที่ศาลนัด จึงเป็นเหตุให้ศาลออกหมายจับ</p><p>ภาณุพงศ์ จาดนอก (มะณีวงศ์) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ไมค์ ระยอง’ แกนนำซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112 รวมถึงคดีอื่นๆ ทั้งหมด 43 คดี โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อเดือนกันยายนว่าเขาได้ตัดสินใจลี้ภัย</p><p>เช่นเดียวกันกับ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ ‘เพนกวิน’ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เป็นแกนนำที่มีคดี ม.112 ติดตัวมากที่สุดคนหนึ่ง โพสต์เฟซบุ๊กในเดือนตุลาคมว่าตนเองเดินทางออกนอกประเทศไทยแล้ว เพราะได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในต่างประเทศ แต่ไม่ได้ร่ำลาใครเนื่องจากเขาต้องเผชิญสถานการณ์คดีความกว่า 30 คดี</p><p>ทั้งนี้ จากกรณีข้างต้น พวกเขาไม่ได้ระบุว่าลี้ภัยไปในช่วงใด</p><p>ก่อนหน้านี้พบว่ามีแกนนำคนรุ่นใหม่ที่ทยอยลี้ภัยออกไปในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ เช่น ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือ ฟอร์ด หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก, เมลิญณ์ (ชื่อเดิม เมนู)–สุพิชฌาย์ ชัยลอม และ พลอย–เบญจมาภรณ์ นิวาส อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง รวมถึง ญาณิศา วรารักษพงศ์ นักศึกษาและผู้ลี้ภัยคดี ม.112 ในสหรัฐอเมริกา</p><p>สำหรับคำถามที่ว่าการที่มีคนลี้ภัยเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ทิศทางคดีของคนอื่นๆ ยากลำบากขึ้นหรือไม่</p><p>พูนสุขตอบว่า ตามหลักแล้วในทางคดีความ ต่อให้เป็นคู่คดีเดียวกัน หากคนหนึ่งหนีไป ประเด็นการได้สิทธิประกันตัวหรือไม่ รวมทั้งการพิพากษาลงโทษหรือไม่ ตามหลักการแล้วจะไม่มีผลต่ออีกคน แต่ว่าการที่หนุ่มสาวหนีเพิ่มก็อาจส่งผลในเชิงสังคม ที่อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์กันไป</p><p>“การต่อสู้ก็ยังต้องยืนหยัดต่อสู้ เราคิดว่าทุกคนที่ออกมาสู้ ไม่ได้มีการจัดตั้งหรืออะไร ปัจจัยของแต่ละคนก็ต่างกัน ความสามารถในการแบกรับเรื่องต่างๆ ก็ต่าง เราคิดว่าตัวคนที่ถูกดําเนินคดีเอง เขาก็ต้องมีสิทธิเลือก มันไม่ใช่ว่าไปคาดหวังว่าขบวนการต่อสู้มันจะต้องแบบนั้นแบบนี้”</p><div class="more-story"><p><strong>เรื่องที่เกี่ยวข้อง</strong></p><ul><li>
นางรำผู้ไม่มีที่ยืนในเมืองไทย ชีวิตลี้ภัยของ ‘มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ’</li></ul></div><h2>กระทบกองทุนราษฎรประสงค์อย่างไร</h2><p>ไอดา กรรมการของกองทุนราษฎรประสงค์ให้สัมภาษณ์ประชาไทผ่านทางอีเมลว่า การมีผู้ลี้ภัยนั้นส่งผลกระทบต่อกองทุนโดยตรง เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียลำดับแรก เพราะกองทุนเป็นผู้ทำสัญญาประกันไว้กับศาล เมื่อมีการผิดสัญญาก็ต้องก้มหน้ายอมรับการถูกริบ</p><p>ไอดาระบุว่า ในกติกานี้นายประกันไม่มีหน้าที่หรือทางเลือกอื่นใดนอกจากรักษาคำสัญญา ส่วนเงินเมื่อถูกริบไปก็ย่อมทำให้มีเงินหมุนกลับมาในระบบเพื่อช่วยเหลือคนอื่นต่อไปน้อยลง และการผิดสัญญามากเข้าก็อาจเป็นเหตุให้ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือในการช่วยเหลือคนอื่นต่อไป นี่คือผลกระทบตรงๆ ตามเนื้อผ้า</p><p>“แต่เราก็ไม่มีอะไรต้องฟูมฟายไปกว่านั้น เราเป็นคนตัดสินใจก้าวเข้ามาอยู่ภายใต้กติกานี้เองในภาวะฉุกเฉินที่ผ่านมา ด้วยหวังว่าจะช่วยให้ทุกคนได้ใช้สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เมื่อผิดสัญญาเสียเองแบบนี้ก็คือผิดกติกา แต่เราไม่มีอะไรจะตัดสินจำเลยที่หนีไปเหล่านั้น เราเป็นแค่นายประกัน เราไม่ใช่ผู้พิพากษา”</p><p>“ไม่เคยมีจำเลยคนใดมาปรึกษาหรือบอกเราว่าทำไมจึงจะหนี เราเหมือนเป็นคนสุดท้ายที่มารู้พร้อมศาลทุกที โดยปริยายเราเข้าใจได้อยู่ว่าทุกคนมีเหตุผล ทุกคนมีปัจจัย และทั้งหมดเป็นความรู้อยู่แก่ใจตัวเองของแต่ละคนว่าตัดสินใจเพราะอะไร มันไม่ใช่เรื่องง่าย และเราไม่มีอะไรจะตัดสินในฐานะปัจเจกมนุษย์ด้วยกัน อย่างน้อยที่สุดไม่ใช่ในลักษณะที่เป็นการเหมารวม” ไอดากล่าว</p><p>ทั้งนี้ ไอดาตั้งข้อสังเกตด้วยว่าผู้ลี้ภัยรุ่นใหม่ตัดสินใจหนีหลังจากที่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไปแล้ว แตกต่างจากผู้ลี้ภัยในยุครัฐประหารทั้งสองครั้งก่อนหน้า ซึ่งเป็นการหนีเพื่อปฏิเสธอำนาจเผด็จการตั้งแต่ต้น รวมถึงหนีการกวาดจับเถื่อนของเผด็จการชนิดเสี่ยงถูกอุ้มฆ่าอุ้มหาย</p><p>ส่วนประเด็นเรื่องแนวทางการทำงานของกองทุนฯ ในตอนนี้ ไอดาบอกว่า เปลี่ยนไปพอสมควร มีคดีซึ่งต้องไปรอประกันในลักษณะฉุกเฉินกะทันหันทั้งคืนทั้งวันน้อยลง แต่ยังคงมีการยื่นประกันรายวันสำหรับคดีต่างๆ ที่ทยอยมีคำพิพากษาแล้วกองทุนต้องประกันในศาลชั้นต่อไป รวมทั้งมีคดีประเภทที่อัยการเพิ่งขุดมาฟ้องเมื่อใกล้หมดอายุความ คดีเหล่านี้พอทราบกำหนดล่วงหน้า ทำให้จัดสรรได้ทันทั้งเงินและนายประกัน</p><p>งานอีกส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคืองานช่วยเหลือผู้ต้องขังและครอบครัว กับการดูแลค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไปตามนัดคดีต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมากยิบย่อยทุกวัน เป็นงานหลังบ้านก้อนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาในน้ำหนักที่เท่าๆ กันกับงานประกันทั้งในแง่การลงแรงและเวลา</p><p>ส่วนการระดมทุน กองทุนไม่มีการระดมแล้ว เนื่องจากเงินในบัญชีมีเพียงพอ ทั้งยังมีเงินที่ค้างอยู่ในศาลอีก แค่ต้องบริหารให้ดี ให้รัดกุมและทั่วถึง โดยมีเป้าหมายคือจ่ายให้หมดไป มากกว่าจะหาเพิ่มเข้ามาใหม่ เพราะกองทุนนี้เกิดขึ้นมาในฐานะภารกิจจำเป็นเฉพาะหน้า และจะอยู่เท่าที่ภารกิจจบเท่านั้น</p><div class="more-story"><p><strong>เรื่องที่เกี่ยวข้อง</strong></p><ul><li>
‘ไอดา อรุณวงศ์’ เบื้องหลังยัง(ต้อง)ไปต่อ กองทุนราษฎรประสงค์ในวันกระแสต่ำ</li></ul></div><h2>อุปสรรคจากปลายทาง</h2><p>เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ที่ทำให้ จรัล ดิษฐาอภิชัย นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรก และอดีตแกนนำคนเสื้อแดง ต้องกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในแผ่นดินฝรั่งเศส ต่อมาเขาได้สัญชาติเป็นพลเมืองฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยรุ่นใหม่ผุดขึ้นมาอีกระลอก เขายังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ปฏิวัติอย่างเข้มข้น ยังทำงานรณรงค์ทางการเมืองและคอยช่วยเหลือผู้ลี้ภัยรุ่นลูกรุ่นหลานอยู่ปลายทาง</p><p>จรัลเล่าให้ประชาไทฟังว่า สถานการณ์ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในต่างแดนขณะนี้ยังไม่ถือว่ายากถึงขั้นน่าเป็นห่วง แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะยากขึ้นในอนาคต เพราะกระแสฝ่ายขวาขึ้นมามีอำนาจในหลายประเทศฝั่งยุโรป นั่นหมายความว่าผู้ลี้ภัยอาจต้องติดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านนานขึ้น และอาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น</p><p>ฝรั่งเศสกับเยอรมนีเป็นสองประเทศที่มีผู้ลี้ภัยการเมืองไทยมากกว่าชาติยุโรปอื่นใด ถึงกระนั้นสภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยก็ไม่ง่าย ในกรณีฝรั่งเศส มีจำนวนคนขอลี้ภัยทั้งหมดปีละประมาณ 40,000-50,000 คน แต่มีการรับเป็นผู้ลี้ภัยได้เพียง 20% เท่านั้น</p><p>จรัลยกตัวอย่างอุปสรรคของผู้ลี้ภัยไทยในฝรั่งเศส แบ่งได้เป็น 4 ข้อ</p><ol><li aria-level="1">ยังไม่ได้มีการจัดตั้งเป็นองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไทย</li><li aria-level="1">ปัญหาที่อยู่อาศัยในช่วงตั้งตัว ด้วยความที่ค่าเช่าบ้านแพงมาก และหากต้องการไปอาศัยที่ศูนย์พักพิงสำหรับผู้ขอลี้ภัยก็จะต้องต่อคิว</li><li aria-level="1">ขาดเงินทุนสำหรับตั้งตัวและค่าใช้จ่ายในระหว่างการเดินเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัย เช่น ค่าแปลเอกสาร หรือในกรณีที่ต้องขึ้นศาลเพื่อตัดสินว่าฝรั่งเศสควรช่วยเหลือบุคคลนี้หรือไม่ ก็จะมีค่าล่าม ค่าทนายความ เป็นต้น</li><li aria-level="1">เมื่อก่อนมีองค์กรไม่แสวงหากำไรในฝรั่งเศสประมาณ 2-3 แห่งที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากรัฐ แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเงินทุนช่วยเหลือก็ลดลง</li></ol><h2>บรรยากาศส้ม-แดง ตีกัน</h2><p>การแบ่งขั้วแบ่งข้างกันทางการเมืองของกองเชียร์ ‘ส้ม-แดง’ กลายมาเป็นบรรยากาศมวลรวมไปแล้ว โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ชาวเน็ตที่เป็นแฟนคลับของทั้งสองพรรคต่างก็ปะทะกันให้เห็นอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรงหรือไม่ก็ตาม แน่นอนว่าประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยและจำเลยในคดีทางการเมืองก็ถูกลากเข้ามาอยู่ในบทสนทนาที่ต่างฝ่ายโจมตีกัน</p><p>ในเรื่องนี้ จรัลแสดงความคิดเห็นว่าในยุคสมัยที่การเมืองสีเสื้อเข้มข้น เสื้อเหลืองกับเสื้อแดงในอดีตก็ฟาดฟันกันแบบนี้ ส่วนมวลอารมณ์ในต่างแดน การแบ่งขั้วก็มีให้เห็นอยู่บ้าง ม็อบที่ฝั่งแดงจัด ส้มก็ไม่มา กลับกันถ้าฝั่งส้มจัด แดงก็ไม่มา</p><p>อย่างไรก็ตาม จุดยืนของตัวเขาเองคือ “การผนึกกำลังของส้มกับแดง เพราะว่าศัตรูยังแข็งแรง” ด้วยเหตุผลนี้ เขาจึงมีแนวปฏิบัติส่วนตัวที่ว่า “พูดทุกคำ ทำทุกอย่าง เพื่อชัยชนะของการต่อสู้” เพื่อไม่ให้เกิดการแบ่งแยกกันในขบวนไปมากกว่าเดิม</p><p>“เวลาต่างฝ่ายต่างสู้กัน สิ่งที่ถูกทำลายเป็นอย่างแรกคือความจริง สองฝ่ายเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากเชื่อ แล้วก็ไปหาเหตุและผลมา สองฝ่ายจะเอาชนะกัน ใช้จุดยืนพวกกู-พวกมึง แยกไม่ออกระหว่างหลักการกับตัวบุคคล”</p><p>จรัลยังกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมทั้ง 4 ฉบับเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ด้วยว่า ถ้าไม่มีการนิรโทษกรรมรวมความผิดตามมาตรา 112 กลุ่มคนเสื้อเหลืองจะได้ประโยชน์มากที่สุด</p><p>ทางด้านทนายพูนสุขมองว่า การแบ่งขั้วกันเชียร์พรรคใดที่ชอบอย่างสุดใจก็ถือเป็นสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง แต่ว่าในอีกมุมหนึ่ง การแบ่งเขา-แบ่งเราก็อาจไม่เป็นผลดีกับขบวนประชาธิปไตยที่เรายังจําเป็นต้องอาศัยแนวร่วม เมื่อการเลือกตั้งครั้งหน้ามาถึง คนที่ไม่มีอํานาจก็ยังจะต้องจับมือกันในการที่จะสู้ผู้มีอํานาจอยู่ดี</p><p>เมื่อถามว่าคิดเห็นอย่างไร เมื่อนักเคลื่อนไหวหรือผู้ลี้ภัยซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองที่อาจไม่ตรงกับความคาดหวังของมวลชนอาจถูกซ้ำเติมจากคนในขบวนอยู่บ่อยครั้ง</p><p>พูนสุขกล่าวว่า สําหรับศูนย์ทนายความฯ แล้วยังจําเป็นที่จะต้องช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าผู้นั้นจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร</p><p>“แต่เราอยากจะชวนลองมองว่า การเปลี่ยนท่าทีในการแสดงออกทางการเมือง มันไม่ได้ไปลบล้างว่าเขาเป็นผู้ถูกกระทํา แล้วเอาเข้าจริง แม้ว่าหลายคนจะเปลี่ยนท่าทีในการแสดงออก แต่เขาก็ยังไม่ได้หลุดพ้นจากเรื่องนั้นเสียทีเดียว เขายังจะต้องเผชิญกับมันอยู่ กลายเป็นว่าเผชิญความยากลําบากในชีวิตมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ</p><p>เราคิดว่าการเปลี่ยนท่าทีในการแสดงออกมันก็เป็นทางเลือกเพื่อทางรอดของเขาเหมือนกัน ไม่ต่างกับการที่บางส่วนเลือกที่จะลี้ภัย นั่นก็คือทางเลือกเพื่อทางรอดเหมือนกัน”</p><p>ขณะที่ไอดาบอกว่า บรรยากาศของส้ม-แดงซัดกันนัวส่งผลกระทบอยู่บ้าง หากนับว่าดรามาต่างๆ มีส่วนก่อความเสียหายในทางชื่อเสียงแก่กองทุนฯ เช่น ทำให้เข้าใจผิดว่ากองทุนสนับสนุนพรรคใด หรือมีการนำชื่อกองทุนฯ ไปพ่วงหาประโยชน์ แต่เนื่องจากเธอยังคงตอบตัวเองได้ทุกวันว่ากำลังทำอะไร และก็ชี้แจงให้เห็นอยู่ทุกสัปดาห์ว่ากองทุนทำอะไร ไม่เคยมีท่าทีทั้งสิ้นว่าสนับสนุนพรรคไหน</p><p>“เราจึงตัดใจว่า สำหรับคนที่อยากรู้ความจริง เขาย่อมเห็นการทำงานเป็นข้อพิสูจน์ได้ เราจะไม่เสียเวลาไปร่วมวงดรามา เราไม่มีเวลา” ไอดากล่าว</p></div>
<div class="node-taxonomy-container">
<ul class="taxonomy-terms">
<li class="taxonomy-term"><a href="
http://prachatai.com/category/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9" hreflang="th">รายงานพิเศ
http://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87" hreflang="th">การเมือ
http://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1" hreflang="th">สังค
http://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99" hreflang="th">สิทธิมนุษยช
http://prachatai.com/category/%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87" hreflang="th">ผู้ลี้ภัยทางการเมือ
http://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2-112" hreflang="th">คดีมาตรา 112[/url]</li>
<li class="taxonomy-term"><a href="
http://prachatai.com/category/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2-112" hreflang="th">มาตรา 112[/url]</li>
<li class="taxonomy-term"><a href="
http://prachatai.com/category/%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99" hreflang="th">ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยช
http://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C" hreflang="th">กองทุนราษฎรประสงค
http://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B9%88" hreflang="th">เรเน
http://prachatai.com/category/%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C-%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4" hreflang="th">มิ้นท์ นาดสินปฏิวัต
http://prachatai.com/category/%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%99" hreflang="th">มิ้นท์ กัลยม
http://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9-%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%8C%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%8C" hreflang="th">เมนู สุพิชฌาย
http://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%93%E0%B9%8C-%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A1" hreflang="th">เมลิญณ์ ชัยลอ
http://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%8D%E0%B8%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C-%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%AA" hreflang="th">เบญจมาภรณ์ นิวา
http://prachatai.com/category/%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B9-%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2" hreflang="th">แบมบู ภัคภิญญ
http://prachatai.com/category/%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B9%89-%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3" hreflang="th">โตโต้ ธนก
http://prachatai.com/category/%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3-%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C" hreflang="th">ธนกร ชัยอาภรณ
http://prachatai.com/category/%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B2-%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C" hreflang="th">ไอดา อรุณวงศ
http://prachatai.com/category/%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82-%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%8D" hreflang="th">พูนสุข พูนสุขเจริ
http://prachatai.com/category/%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A5-%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2" hreflang="th">จรัล ดิษฐาอภิชั
http://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%B0" hreflang="th">ข่าวเจา
http://prachatai.com/category/depth" hreflang="th">depth[/url]</li>
</ul>
</div> <!--/.node-taxonomy-container -->
<div class="field field--name-field-promote-end field--type-string field--label-hidden field-item">ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า
https://prachataistore.net</div>
http://prachatai.com/journal/2024/12/111838 







