11 ความรู้พื้นฐาน เข้าใจปมพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชา
<span>11 ความรู้พื้นฐาน เข้าใจปมพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชา</span>
<div class="field field--name-field-byline field--type-text-long field--label-hidden field-item"><p>รายงาน: ณัฐพล เมฆโสภณ</p></div>
<span><span>XmasUser</span></span>
<span><time datetime="2025-06-26T20:30:00+07:00" title="Thursday, June 26, 2025 - 20:30">Thu, 2025-06-26 - 20:30</time>
</span>
<div class="field field--name-body field--type-text-with-summary field--label-hidden field-item"><p>รวม 11 ข้อความรู้พื้นฐานในการทำความเข้าใจข้อพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชา ระลอกล่าสุดนับตั้งแต่เกิดการปะทะกันช่วงสั้นๆ ที่ 'ช่องบก' เมื่อปลาย พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งแง่มุมที่มาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และกลไกระหว่างประเทศที่เรากำลังเผชิญแรงกดดันจากกัมพูชาอยู่ </p><p> </p><p>เรื่องราวข้อพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชายังไม่น่าจะจบง่ายๆ นักจากเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างไทย-กัมพูชา ในการปะทะที่ ‘ช่องบก’ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี จะผ่านมาสักระยะหนึ่งแล้ว นับตั้งแต่เมื่อ 28 พ.ค. 2568 เป็นต้นมา</p><p>แม้ว่าเมื่อ 14 มิ.ย. 2568 ทางรัฐบาลไทย-กัมพูชาจะมีความคืบหน้าในเรื่องการปักปันเขตแดนของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) จะได้กลับมาติดเครื่องเดินหน้าอีกครั้งในรอบ 12 ปี</p><p>เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชา ได้ทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ ในกรณีข้อพิพาทเขตแดน 3 ปราสาท บวก 1 พื้นที่ ประกอบด้วย 1. ปราสาทตาเมือนธม 2. ปราสาทตาเมือนโต๊ด 3. ปราสาทตาควาย โดยทั้ง 3 ปราสาทอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ และ 1 พื้นที่ คือ พื้นที่สามเหลี่ยมมรกต ซึ่งภาษาเขมรเรียกว่า ‘มุมไบ’ ชายแดนฝั่งจังหวัดอุบลราชธานี</p><p>ขณะที่ทางการไทยยังคงยืนยันหนักแน่นว่า ‘ไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเด็ดขาด’ และจะแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเขตแดนผ่านคณะกรรมาธิการ JBC ควบคู่ไปกับ 2 กลไก ประกอบด้วย คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) และคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และยึดมั่นการทำงานปักปันเขตแดนตามข้อตกลงร่วม MOU43</p><p>สำหรับการประชุมครั้งถัดไป ฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม JBC สมัยพิเศษ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วง ก.ย. 2568</p><p>ปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาก็ยังคงตึงเครียด กองทัพไทยพยายามกดดันกัมพูชาโดยการปิดด่าน และจำกัดเวลาเปิด-ปิดชายแดน เพื่อจัดการตามนโยบายปราบปรามแหล่งสแกมเมอร์ในกัมพูชา</p><p>เช่นเดียวกับที่
ฮุนมาเนต ผู้นำของกัมพูชา โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2568 ออกมาตอบโต้ โพสต์คำสั่งปิดด่านบ้านจุ๊บโกกี อ.บันเตียอัมปึล จ.อุดรมีชัย (ตรงข้ามด่านช่องสายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์) จนกว่าไทยจะเปิดช่องสายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ หลังได้รับแจ้งจากฝั่งกองทัพไทยมีการปิดด่านนี้อย่างไม่มีกำหนด และกัมพูชาได้ออกคำสั่งให้ปิดช่องจวม อ.อัลลงเวง จ.อุดรมีชัย (ตรงข้ามช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ)</p><p>ในวันเดียวกัน
กัมพูชา ได้ออกมาตรการระงับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซทุกชนิดจากไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยทางการกัมพูชา มั่นใจว่า การระงับการนำเข้าจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบจำหน่าย และสถานการณ์ความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงของประเทศตนเอง </p><p>ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชายังคงดำเนินอยู่ และดำเนินต่อ ประชาไทอยากชวนอ่านคั่นเวลา <strong>11 ข้อที่ต้องรู้</strong> เพื่อทำความเข้าใจเรื่องข้อพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชา ในหลายมิติทั้งประเด็นทางประวัติศาสตร์อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปักปันเขตแดน วิธีการระงับข้อพิพาทตามหลักสากล ไปจนถึงข้อสันนิษฐานหลักฐานที่กัมพูชาจะใช้พิชิตชัยในศาลโลกกรณีข้อพิพาท 3 ปราสาท และพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต</p><h2>1.อะไรคือการกำหนดเขตและปักปันเขตแดน ?</h2><p>เพื่อให้เข้าใจกระบวนการปักปันเขตแดน อาจารย์
อินทัช ศิริวัลลภ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในระหว่างเสวนา "งาน ฬ. จุฬาฯ นิติมิติ" ประเทศไทยกับการระงับข้อพิพาทที่ศาลโลก แต่ว่าก่อนที่จะพูดถึงเรื่องที่มาที่ไปของ JBC นั้นเราควรมาคุยกันก่อนว่า <strong>การกำหนดเขตแดน (Delimitation) และการปักปันเขตแดน (Demarcation)</strong> มีความแตกต่างกันอย่างไร</p><p><strong>"การกำหนดเขตแดน" หรือบางคนใช้คำว่า "ปักปันเขตแดน" (Delimitation)</strong> คือเวลาที่ 2 ประเทศเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เขาต้องการที่จะหารั้วกั้นหาเขตแดน เพื่อที่จะแบ่งดินแดนของ 2 ประเทศออกจากกัน วิธีการคือผู้แทนทั้ง 2 ประเทศมานั่งบนโต๊ะเจรจากัน และเมื่อคุยกันบนโต๊ะแล้ว เขาจะได้เอกสารฉบับหนึ่งที่ระบุว่าให้อ้างอิงจุดไหน ตรงไหนเป็นแนวเขตระหว่าง 2 ประเทศนี้ เช่น ‘สันปันน้ำ’ เทือกเขา สันเขา เป็นต้น</p><p>ผลที่ได้ออกมาคือเอกสารในรูปแบบแผนที่ภูมิประเทศ 2 ประเทศ และมีการลากเส้นคร่าวๆ แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้คือการหารือบนโต๊ะเจรจาเท่านั้น แต่ยังไม่มีการลงไปดูสถานที่จริงๆ ว่าเส้นเขตแดนเป็นอย่างไร เพื่อให้หลักเส้นเขตแดนมีความชัดเจน และถูกต้องมากที่สุด ก็ต้องมีการตั้งคณะทำงานเพื่อลงไปสำรวจภูมิประเทศ</p><p>เมื่อคุยบนโต๊ะเจรจาแล้ว จะมีการปักหลักเขตลงไปว่าเส้นเขตแดนจะอยู่บริเวณไหนบ้าง จากนั้น จะเป็นขั้นตอนที่ 2 คือ "<strong>การปักปันเขตแดน" หรือบางคนใช้คำว่า "ปักหมุดเขตแดน" (Demarcation)</strong> การปักปันก็จะมีคณะของ 2 ประเทศลงไปดูด้วยกัน และแลกเส้นเขตแดนของแต่ละหมุดต่อกัน เพื่อให้เส้นเขตแดนมีความละเอียดและชัดเจน</p><p>พอลากเส้นหลักเขตแดนต่อหลักเขตแดนครบทั้งหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะนำเอาแผนที่นี้ไปเสนอให้กับคณะกรรมการร่วมของ 2 ประเทศในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อเห็นชอบทั้งหมดแล้ว ก็จะกลายมาเป็นเส้นเขตแดนโดยสมบูรณ์ภายใต้การยอมรับของทั้ง 2 ประเทศนั่นเอง</p><div class="note-box"><p>หมายเหตุในการงานชิ้นนี้จะใช้คำว่า "การกำหนดเขตแดน" (Delimitation) และ "การปักปันเขตแดน" (Demarcation) เป็นหลัก</p></div><p> </p><h2>2. ย้อนประวัติศาสตร์ จุดเริ่มต้นของการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา</h2><p>การเริ่มกำหนดเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ต้องย้อนประวัติศาสตร์ไปประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว ในยุคสมัยอาณานิคม เมื่อปี พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 1904) ประเทศไทยได้ทำอนุสัญญาสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส ฉบับที่ 13 ก.พ. 2446 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีใจความสำคัญให้สยามสละดินแดนประเทศราช ไซยะบูลี จำปาศักดิ์ และเมืองมโนไพร และให้มีการจัดตั้ง<strong>คณะกรรมการผสมสยาม-อินโดจีน เพื่อกำหนดหรือปักปันเขตแดน </strong>โดยใช้<strong> 'สันปันน้ำ' </strong>ในการแบ่งเขตแดน</p><ul><li aria-level="1"><strong>สันปันน้ำ คืออะไร </strong>พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน นิยาม ‘สันปันน้ำ’ คือที่สูงหรือสันเขาที่แบ่งน้ำออกเป็น 2 ฝ่าย แต่ถ้า ‘สันปันน้ำในการแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ’ คือที่สูงหรือสันเขาที่แบ่งน้ำออกเป็น 2 ฝ่ายที่ต่อเนื่องกัน คำว่า “ต่อเนื่องกัน” คือขีดจากจุดที่ 1 ถึงจุดสุดท้ายต้องไม่ขาดสายกัน อย่างไรก็ดี กรณีที่มีสันปันน้ำหลายสัน ให้ดูจากสันปันน้ำที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งสันปันน้ำที่ต่อเนื่องอาจจะไม่ได้เป็นแนวเทือกเขาที่สูงที่สุด</li></ul><p>ในอนุสัญญาเมื่อปี 2446 ได้มีการตั้งคณะกรรมการฯ โดยมีประธานฝ่ายสยามคือ 'พลตรีหม่อมชาติเดชอุดม' (บิดาของหม่อมหลวงบัว กิติยากร พระราชชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ) และฝ่ายฝรั่งเศส คือ พันเอกแบร์นาร์ด</p><p>จากนั้นในปี 2450 (ค.ศ. 1907) เกิดสนธิสัญญาใหญ่ ซึ่งมีสาระสำคัญคือการที่สยามแลกเปลี่ยนดินแดนระหว่างเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ (อยู่ในเขตดินแดนเขมรตอนใน) กับฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงของฝรั่งเศส ปัจจุบันก็คือจังหวัดจันทบุรี และเมืองตราด ผลจากการแลกเปลี่ยนดินแดน นำมาสู่การจัดตั้งคณะปักปันเขตแดนผสมอินโดจีนและสยาม 1 ชุด โดยมี พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช เป็นประธานฝ่ายสยาม และมองกีแยร์ ประธานฝ่ายฝรั่งเศส</p><p>ผลจากอนุสัญญา ปี 2446 และสนธิสัญญา ปี 2450 นำมาสู่การจัดทำแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 เพื่อกำหนดแนวเขตเดินสันปันน้ำ และเสร็จสิ้นเมื่อปี 2451 โดยแผนที่มีทั้งหมด 11 ระวาง คือระวางเหนือ (North Region) จำนวน 5 ระวาง และระวางใต้ (South Region) จำนวน 6 ระวาง แต่ว่าหลังจากไทยแลกเปลี่ยนดินแดนกับฝรั่งเศสเมื่อปี 2450 ทำให้มีการยกเลิกแผนที่จำนวน 3 ระวางในภูมิภาคใต้ ได้แก่ Phnom Kulen, Lake และ Muang Trat</p><p>ทั้งนี้ ต้องบอกว่าการจัดทำแผนที่ 1:200,000 มีจุดมุ่งหมายในการบอกตำแหน่งแนว 'สันปันน้ำ' อยู่ตรงไหน อย่างไร เท่านั้น</p><p class="text-align-center picture-with-caption"><img src="
https://live.staticflickr.com/65535/54611821617_b6ca21ab9c_b.jpg" width="1024" height="818" loading="lazy">แผนที่ระวาง ดงรัก (Dangrek) มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งเป็นแผนที่ 1 ใน 11 ระวางที่สยามจัดทำร่วมกับฝรั่งเศส (ที่มา:
ICJ/National Library of Australia)</p><p class="picture-with-caption"><img src="
https://live.staticflickr.com/65535/54612464452_5a27c3f0d2_b.jpg" width="1024" height="576" loading="lazy">โดยเราจะเห็นสัญลักษณ์กากบาท เพื่อแสดงให้เห็นเส้นทางของสันปันน้ำ</p><p>ในระหว่างปี 2451-2452 คณะกรรมาธิการร่วมฯ ได้มีการเริ่มเดินสำรวจปักปันเขตแดน หรือการปักหมุดเขตแดน (Demarcation) ตรงสันปันน้ำ จำนวน 73 หลัก โดยการทำสัญลักษณ์บากไว้ที่ต้นไม้ โดยแบ่งเป็น หลักใหญ่ 73 หลัก และหลักย่อย 2 หลัก และมีการจัดทำเอกสาร 'บันทึกวาจาหลักเขต' (เขียนบรรยายว่าหลักเขตอยู่ไหน) และ 'แผนผังภูมิประเทศโดยสังเขป' แนบท้าย เพื่อแสดงตำแหน่งของเครื่องหมายแสดงหลักเขตแดน</p><p>ใน 10 ปีต่อมา หรือในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) ทางการไทย-กัมพูชาได้จัดทำหลักเขตแดนถาวรทำเป็นหมุดซิเมนต์ 73 หลัก และก็มีการทำวาจาหลักเขตและแผนผังของแต่ละหมุด เช่นเดียวกับปี 2452</p><p>ทั้งนี้
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิชาการอิสระ เขียนบทความลงเว็บไซต์ 101.world ระบุว่า ชายแดนไทย-กัมพูชาความยาว 798 กม. มีการปักปันเขตแดนเพียง 603 กม. จำนวน 73 หลัก <strong>โดยหลักเขตที่ 1 ช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ-หลักเขตที่ 73 บ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด</strong> ตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 หรือ พ.ศ. 2450) ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ได้ปักหลักเขตแดน<strong>จากช่องสะงำถึงช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี 195 กิโลเมตร</strong> (ตามอนุสัญญา ค.ศ. 1904 หรือ พ.ศ. 2447 และสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 หรือ พ.ศ. 2450) ซึ่งอนุสัญญาปี 2447 กำหนดให้เส้นเขตแดนบริเวณนี้เป็นไปตามสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรัก</p><p class="text-align-center picture-with-caption"><iframe style="border-style:none;overflow:hidden;" src="
https://www.facebook.com/plugins/post.php?href=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fphoto.php%3Ffbid%3D1412041105521010%26set%3Da.440635312661599%26type%3D3&show_text=true&width=500" width="500" height="836" scrolling="no" frameborder="0" allowfullscreen="true" allow="autoplay; clipboard-write; encrypted-media; picture-in-picture; web-share"></iframe></p><p class="picture-with-caption">ตัวอย่างภาพหลักหมุดที่ 73 เขตแดนไทย-กัมพูชา อยู่ในพื้นที่บ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ถ่ายเมื่อ 2560 ที่มา:
เฟซบุ๊ก วาสนา นาน่วม</p><p>เวลาผ่านไป อัครพงษ์ ระบุว่า เมื่อ
เข้าสู่ช่วงสมัยเขมรแดง หลักเขตแดนก็เกิดความคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะช่วงที่มีค่ายผู้อพยพ เพราะว่ามีการยกหลักเขตแดนไป-มา และบางหมุดก็เกิดความเสียหาย </p><p>"สด๊อกก๊อกทม จ.สระแก้ว มีผู้อพยพเข้ามา 200,000 คน …เขมรแดงมาอยู่ฝั่งไทยตรงนี้ ไม่อยากให้เวียดนามมาเห็น ก็ยกหลักเขตไทยเข้าไปในประเทศเขมร พอทหารเวียดนามมาสอดแนม เขาเห็นหลักเขตไทย ก็ไม่กล้าเข้าไป พอฝั่งเขมรแดงมาอยู่เยอะ คนไทยไม่อยากให้เข้ามาในเขตไทยจำนวนมาก ฝ่ายไทยก็ยกหลักเขตเข้ามาในประเทศไทย เพื่อให้ชาวเขมรเห็นว่านี่เป็นหลักเขตไทย อย่าเข้ามา มันก็ยกกันไปกันมา บางทีก็เอาไปเป็นเป้าเล็งปืน อีก 28 หลักเลยยังหาไม่เจอ หรือเห็นไม่ตรงกัน" อัครพงษ์ กล่าว </p><p>
อ้างอิงจากหนังสือข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร และการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชา จัดทำโดย กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย เมื่อปี 2554 ระบุว่า ปี 2540 รัฐบาลไทยนำโดยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มาคุยเรื่องเขตแดนกับรัฐบาลกัมพูชา หลังจากที่การเมืองภายในกัมพูชาเริ่มมีเสถียรภาพ และมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา โดยมีการให้เหตุผลว่า</p><ol><li aria-level="1">หลังจากปัญหาเรื่องกรณีปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อปี 2501-2506 ประเด็นปัญหาเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชาก็ถูกทิ้งไว้เป็นเวลากว่า 30 ปี</li><li aria-level="1">ปัญหาจากสงครามสมรภูมิบ้านร่มเกล้าระหว่างไทย-ลาว ทำให้รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาเรื่องเขตแดนว่าเป็นปัญหาที่สำคัญ และนำไปสู่ความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาด้านเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน</li><li aria-level="1">รัฐบาลมีความเห็นว่าไม่ต้องการให้ข้อพิพาทด้านเขตแดนเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะว่าปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาทางด้านกฎหมายและเทคนิค</li><li aria-level="1">รัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้กฎหมายระหว่างประเทศในการพิจารณาเรื่องเขตแดน</li></ol><p>ขณะที่นักวิชาการได้ตั้งข้อสังเกตถึงการกลับมาเจรจาเขตแดนกับกัมพูชารอบนี้อย่างหลากหลาย ยกตัวอย่าง อ.อัครพงษ์ ที่มองว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้หมุดซิเมนต์มีการขยับเขยื้อน และบางหมุดอาจมีการชำรุดทรุดโทรมเสียหาย ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม ทำให้นำมาสู่การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ เพื่อสำรวจและปักปันเขตแดน </p><p>ขณะที่ อ.อินทัช จากจุฬาฯ มีข้อสังเกตด้วยว่าการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งนี้ เพราะว่า ทางไทย-กัมพูชามีข้อกังวลด้วยว่าหลักเขตแดน 73 หลักแต่เดิม อาจไม่ละเอียดเพียงพอ เนื่องจากชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา มีความยาวติดต่อกันถึง 798 กม. จึงต้องการสำรวจให้เขตแดนมีความถูกต้อง และแม่นยำมากขึ้น</p><p>ดังนั้น จึงเป็นที่มาให้รัฐบาลชวลิตได้ลงนามในแถลงการณ์จัดตั้ง ‘คณะกรรมาธิการร่วมจัดทำหลักเขตแดนสำหรับเขตแดนทางบก’ ในปี 2540 (ค.ศ. 1997) และมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฯ ในการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฯ ครั้งที่ 1 เมื่อ 30 มิ.ย. จนถึง 1 ก.ค.2542</p><p><strong>คณะกรรมการ JBC คืออะไร ?</strong></p><p>ต่อมาเมื่อ 14 มิ.ย.2543 รัฐบาลไทยสมัยชวน หลีกภัย และกัมพูชาได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยการจัดทำเขตแดน (MOU43) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งและมอบอำนาจให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ปักปันหลักเขตแดน กำหนดหลักการในการดำเนินการปักปันหลักเขตแดนให้เป็นไปตามอนุสัญญา เมื่อปี 2446 และสนธิสัญญาสยามและอินโดนจีนฝรั่งเศส เมื่อปี 2450 และความเห็นตามคณะกรรมการร่วม เมื่อปี 2446 และ 2450 </p><p>ทั้งนี้ บันทึกความตกลง MOU43 ได้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมาธิการ JBC และคณะอนุกรรมการด้านเทคนิค (JTSC)</p><p>สำหรับคณะกรรมาธิการ JBC จะประกอบด้วย คณะกรรมาธิการ 2 ชุด คือฝั่งไทย และกัมพูชา อย่างละ 1 ชุด โดยบทบาทหน้าที่คือการปักปันเขตแดนร่วมกันของ 2 ประเทศ และเมื่อปักปันเสร็จแล้ว คณะกรรมาธิการ JBC เอามาอ้างอิงเพื่อผลิตเป็นแผนที่แสดงเส้นเขตแดน</p><p>คณะกรรมการชุดที่ 2 คือ คณะอนุกรรมการเทคนิคร่วม หรือ JTSC (Thailand-Cambodia Joint Technical Sub-Committee) ซึ่งอนุกรรมการนี้เป็นเหมือนผู้ช่วยของ JBC โดยสมาชิกจะประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญในการสำรวจประเทศและการจัดทำแผนที่ โดยสมาชิกจะเดินลงพื้นที่สำรวจภูมิประเทศดูว่าหลักหมุดทั้ง 73 หลักอยู่ตรงไหน หรือสภาพเป็นอย่างไรบ้าง และเมื่อสำรวจเสร็จแล้ว จะให้ JBC จะทำแผนที่ต่อไป</p><p>เพื่อกำหนดกรอบการปักปันเขตแดนให้ชัดเจน ในปี 2546 รัฐบาลไทย-กัมพูชา มีการจัดทำขอบเขตของงาน หรือ Terms of Reference (TOR) เสมือนเป็นแผนแม่บทในการจัดทำเขตแดน และเป็นกรอบการดำเนินการสำหรับ JBC และ JTSC โดยเป็นการกำหนดกรอบการทำงานให้ละเอียดมากยิ่งขึ้นว่าจะทำงานยังไง ซึ่งจะแบ่งวิธีการทำงานออกมาเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่</p><ol><li aria-level="1">หาตำแหน่งหลักเขตแดนในอดีตที่ทำเอาไว้ในปี 2452 และปี 2462-2463 พอทราบตำแหน่งของหลักเขตแดนทั้ง 73 หลักแล้ว</li><li aria-level="1">ทำภาพถ่ายทางอากาศ และจัดทำแผนที่เพื่อลงพื้นที่ทำการสำรวจ</li><li aria-level="1">วางแผนแนวเขตที่เดินสำรวจ</li><li aria-level="1">ส่งชุดลงพื้นที่ภูมิประเทศจริงๆ</li><li aria-level="1">สร้างหลักเขตแดนใหม่ให้ถี่หรือละเอียดมากขึ้น เพื่อให้หลักเขตแดนถูกต้องและชัดเจน</li></ol><p>เมื่อปักหมุดลงไปแล้ว คณะกรรมการ JTSC จะนำมาพล็อตเส้นลงบนแผนที่ และส่งต่อไปที่คณะกรรมาธิการ JBC ผลิตเป็นแผนที่ฉบับใหม่</p><p>จากการแถลงข่าวของคณะกรรมาธิการ JBC ฝั่งไทยเมื่อ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดย
ทูตประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เผยว่าตอนนี้มีหมุดปักเขตแดนทั้งหมด 73 หลัก บวกหลักย่อย 1 หลัก โดยเห็นชอบไปแล้วทั้งหมด 45 หลัก และส่วนที่เหลือ 28 หลักเขต และ 1 หลักเขตย่อย ยังหาไม่เจอ หรือยังไม่สามารถตกลงกันได้</p><p class="picture-with-caption"><img src="
https://live.staticflickr.com/65535/54611845872_090b438960_b.jpg" width="1024" height="683" loading="lazy">(ซ้าย) ประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย ประธาน JBC ไทย และ (ขวา) ฬำ เจีย ประธาน JBC กัมพูชา (ที่มา:
เฟซบุ๊ก กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย)</p><h2>3. แผนที่ 1:50,000 มายังไง มีผลในกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ?</h2><p>อย่างที่อธิบายไปข้างต้น แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ที่เราเห็นในคำวินิจฉัยตีความคำพิพากษาปราสาทเขาพระวิหารเมื่อปี 2506 เรียกได้ว่าเป็นมรดกจากสมัยยุคจักรวรรดินิยมของยุโรปเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว แต่ว่ายังมีแผนที่อื่นๆ ที่ใช้แบ่งเขตแดนของไทย-กัมพูชาที่ฝั่งประเทศไทยใช้ นั่นคือ แผนที่ L7018 มาตราส่วน 1:50,000</p><p>
อัครพงษ์ กล่าวในรายการ ‘ประชาธิปไตยสองสี : ใบตองแห้ง : EP 63’ ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้แผนที่ L7018 จัดทำโดยกรมแผนที่ทหารของไทย มาตราส่วน 1:50,000 ซึ่งเป็นการปรับมาจากแผนที่ของสหรัฐฯ ช่วงยุคสงครามเย็น</p><p>จุดเริ่มต้นของแผนที่นี้เกิดขึ้นช่วงตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา เมื่อสหรัฐฯ เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการจัดทำชุดแผนที่หลายฉบับ ทั้งหมดเป็นมาตราส่วน 1:50,000 ประกอบด้วย</p><ol><li aria-level="1">L7014 เป็นแผนที่เวียดนามทั้งประเทศ</li><li aria-level="1">L7015 เป็นแผนที่ลาวทั้งประเทศ</li><li aria-level="1">L7016 เป็นแผนที่กัมพูชาทั้งประเทศ</li><li aria-level="1">L7017 เป็นแผนที่ไทยทั้งประเทศ</li></ol><p>เมื่อเทคโนโลยีการทำแผนที่ดีขึ้น ประเทศไทยก็เอาแผนที่ L7017 ซึ่งสหรัฐฯ ทำไว้ในช่วงปี 2514-2517 มาปรับปรุงเป็น L7018 ซึ่งก็มีการขยับเขยื้อนเส้นเขตแดนบ้าง และไทยเราใช้แผนที่ L7018 เรื่อยมา แต่ด้านล่างของแผนที่ระบุว่า <strong>"แนวแบ่งเขตไม่ถือกำหนดอย่างเป็นทางการ"</strong></p><p>อัครพงษ์ ระบุว่า มีข้อสงสัยว่าแผนที่ L7018 ซึ่งไม่ได้เป็นทางการนี้จะเอาไปอ้างในการต่อสู้ใน ICJ ได้หรือไม่ คำตอบของเขาคือ "ไม่ทราบ" เพราะเป็นเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ</p><h2>4. กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีมีกี่แนวทาง ?</h2><p>คำถามที่น่าจะดีที่สุดในเวลานี้คือ การระงับข้อพิพาทอย่างสันติมีกี่วิธี? เราจำเป็นต้องเอาเรื่องข้อพิพาทขึ้นศาลโลกตลอดหรือไม่? อาจารย์อินทัช คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า กรอบกลไกการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี มีการระบุอยู่ในกฎบัตรข้อที่ 33 ของสหประชาชาติ ซึ่งมีการยกตัวอย่างการระงับข้อพิพาทอย่างสันติวิธีออกมาอย่างหลากหลาย เช่น</p><ul><li aria-level="1">การเจรจา (Negotiation) คือ รัฐข้อพิพาท 2 รัฐเจรจาหาทางออกร่วมกัน โดยไม่มีบุคคลที่ 3 เข้ามาร่วมการเจรจา</li><li aria-level="1">การไต่สวนข้อเท็จจริง (Enquiry) ข้อพิพาทบางครั้งไม่ได้เป็นในระดับข้อกฎหมาย แต่เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือความเข้าใจข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงกัน ดังนั้น การใช้วิธีการไต่สวนข้อเท็จจริงจึงต้องให้บุคคลที่ 3 เข้ามาร่วม เพื่อทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริง แต่จะไม่มีการตัดสินบนพื้นฐานของข้อกฎหมาย</li><li aria-level="1">การไกล่เกลี่ย (Meditation) เป็นการระงับข้อพิพาทโดยให้มี ‘ตัวกลาง’ (Mediator) หรือเป็นบุคคลที่ 3 เข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ช่วยสนับสนุนให้คู่กรณีนำไปสู่ข้อสรุป และระงับข้อพิพาท</li><li aria-level="1">การประนีประนอม (Conciliation)</li><li aria-level="1">ใช้อนุญาโตตุลาการ (Arbitration)</li><li aria-level="1">กลไกกระบวนการศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ)</li></ul><p>แล้วเราเลือกวิธีไหนในการระงับข้อพิพาทหรือวิธีไหนที่ควรใช้ ตัวกฎหมายระหว่างประเทศมีการกำกับหรือบังคับหรือไม่ว่าสถานการณ์แบบไหนต้องใช้วิธีการใด</p><p>คำตอบคือ ‘ไม่มี’ ตามหลักการที่เรียกว่า 'Free Choice of Means' คือเป็นอิสระเสรีที่รัฐคู่กรณีจะเลือกว่าจะใช้วิธีการใดในการระงับข้อพิพาท คำถามต่อมา ไม่ไปศาลได้หรือไม่ คำตอบคือ ‘ได้’ และจะเลือกการเจรจาแบบทวิภาคีได้หรือไม่ “ก็ได้หมดเช่นกัน”</p><p>"ศาลโลกหรือว่า ICJ ไม่ได้เป็นรูปแบบเดียวในการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีระหว่างรัฐ ในทางปฏิบัติ รูปแบบหรือวิธีการที่รัฐมักจะใช้ระงับข้อพิพาทในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็คือการเจรจา (Negotiation) ซึ่งรวมถึงการเจรจาเขตแดนระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน" อินทัช ระบุ</p><h2>5. ตัวอย่างประเทศอื่นๆ ใช้ทวิภาคี</h2><p>อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) เป็นเรื่องหนึ่งในกลไกสันติวิธีที่สามารถกระทำได้ โดยเป็นคณะกรรมาธิการที่ตั้งตาม MOU43 และเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ไทย-กัมพูชา ยินยอมเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท และปักปันเขตแดนร่วมกัน</p><p>การเจรจาระหว่างทวิภาคีไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาด และยังเป็นกลไกที่หลายๆ ประเทศก็ใช้เช่นกัน ยกตัวอย่างกรณีของอินเดีย-บังคลาเทศ ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาคือ India-Bangladesh Joint Boundary Working Group กรณีของอูกันดา-เคนยา-ซูดานใต้ ร่วมมือกันเป็นรูปแบบไตรภาคี เพื่อจัดการเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศ และสมัยที่เรายังเป็นประเทศสยามก็เคยตกลงเจรจาในเรื่องของเขตแดนกับฝรั่งเศส </p><p>อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการ JBC ภายใต้กรอบ MOU43 มีหน้าที่เพียงปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา แต่ JBC ไม่ได้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยชายแดน แม้มีหลายโอกาสที่การประชุมได้หยิบยกประเด็นปัญหาความไม่สงบหรือการปะทะด้วยกำลังทหารขึ้นมาพูดคุย และเหนี่ยวนำไปสู่การปรับความเข้าใจที่ไม่ตรงกันได้ แต่นั่นไม่ใช่หน้าที่หลักของ JBC</p><p>ปัญหาเรื่องความมั่นคงตามชายแดน ปกติมักหารือภายใต้กลไก GBC และ RBC จัดตั้งโดยความตกลงไทย-กัมพูชา ว่าด้วยความร่วมมือชายแดนปี 2538 (ค.ศ. 1995) โดยคณะกรรมการชายแดนทั่วไป หรือ General Border Committee (GBC) เป็นกลไกหารือระดับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมไทย-กัมพูชา ในขณะที่คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค หรือ Regional Border Committee (RBC) เป็นกลไกที่รองลงมาจากรัฐมนตรีกลาโหม คือในระดับแม่ทัพภาค </p><p class="picture-with-caption"><img src="
https://live.staticflickr.com/65535/54613003633_ff22c14996_b.jpg" width="1024" height="683" loading="lazy">(ซ้าย) เตีย เซ็ยฮา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา และ (ขวา) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทย ในการประชุม GBC ครั้งที่ 17 ที่โรงแรม รอยัล ออคิด เชอร์ราตัน ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ เมื่อ 9 พ.ค. 2567 (ที่มา:
เว็บไซต์สภาความมั่นคงแห่งชาติ)</p><h2>6. ไทยเป็นภาคีศาลโลก ไม่เท่ากับยอมรับอำนาจศาลโลก</h2><p>ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ที่ทางกัมพูชาต้องการให้วินิจฉัยกรณี 3 ปราสาท บวก 1 พื้นที่ คืออะไร ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice - ICJ ) หรือสังคมไทยเรียกชื่อเล่นว่า ‘ศาลโลก’ เป็นศาลขององค์กรสหประชาชาติ (UN) เป็นองค์กรตุลาการของ UN เพื่อระงับข้อพิพาทตามกฎบัตรของสหประชาชาติ ข้อ 92 ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์</p><p>แม้ว่าตามกฎบัตรของสหประชาชาติ รัฐสมาชิกสหประชาชาติทุกรัฐเป็นภาคีธรรมนูญศาลโลก ดังนั้น ทำให้ประเทศไทยเป็นภาคีธรรมนูญศาลโลกเช่นกัน แต่นั่นไม่เกี่ยวกับการยอมรับขอบเขตอำนาจศาลโลก เพราะเบื้องต้นต้องเข้าใจว่า ขอบเขตอำนาจศาลโลกจะพิจารณาคดีใดได้นั้น ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐต่างๆ ศาลโลกไม่สามารถวินิจฉัยได้โดยพลการ</p><p>ส่วนทำไมต้องได้รับการยินยอมจากรัฐต่างๆ เพราะรัฐทุกรัฐมีอำนาจอธิปไตย และไม่มีใครอยากให้คนนอกมามีอำนาจตัดสินใจหรือแทรกแซงกิจการภายใน ฉะนั้น หากรัฐใดก็ตามต้องการให้ตุลาการอื่นๆ มามีอำนาจเหนืออธิปไตยของตนเอง รัฐนั้นต้องมีความยินยอม ถ้ารัฐไม่ได้แสดงความยินยอม ศาลโลกก็ต้องเคารพอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่นๆ</p><h2>7. การยอมรับอำนาจศาลโลกมีกี่วิธี ?</h2><ol><li aria-level="1"><strong>ทำความตกลงพิเศษเพื่อยอมรับขอบเขตอำนาจศาลโลก</strong> เมื่อ 2 ฝ่ายทะเลาะกัน หาข้อสรุปไม่ได้ก็ตกลงกันเอาเรื่องขึ้นไปให้ศาลโลกพิจารณา ยกตัวอย่าง กรณีพิพาทเกาะลีกีตันและเกาะซีปาตันเป็นความขัดแย้งระหว่างมาเลเซีย-อินโดนีเซีย ที่อยากรู้ว่าใครมีอธิปไตยเหนือเกาะทั้งสอง แต่ 2 ประเทศนี้ไม่เคยยอมรับเขตอำนาจศาลโลกไว้ก่อน วิธีที่ทำก็คือทำข้อตกลงว่าจะเอาเรื่องนี้ให้ศาลโลกวินิจฉัย</li></ol><p>อย่างไรก็ดี จำนวนคดีที่ศาลโลกพิจารณามี 196 คดี และมีเพียงแค่ 10% หรือ 19 คดีเท่านั้นที่ใช้วิธีทำข้อตกลงพิเศษจูงมือกันขึ้นศาลโลก แต่อีก 90% ไม่ได้มีการจับมือกันไปแบบนั้น แต่เป็นการยอมรับอำนาจศาลโลกล่วงหน้า หรือเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาใดก็ตาม ซึ่งกำหนดว่าหากมีปัญหาการตีความ ให้ศาลเป็นผู้พิจารณาเป็นหลัก และมีอยู่บ้างที่ฟ้องฝ่ายเดียว</p><ol start="2"><li aria-level="1"><strong>กรณีรัฐประกาศยอมรับขอบเขตอำนาจศาลโลกล่วงหน้า ผ่านภาคีอนุสัญญาต่างๆ </strong>สมมติว่าประเทศใดอยากเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ ในอนุสัญญานั้นจะมีข้อที่ 22 ที่ระบุไว้ว่า หากมีข้อพิพาทใดระหว่าง 2 รัฐหรือมากกว่า และไม่สามารถตกลงได้ด้วยวิธีการอื่นแล้ว จะเสนอให้ศาลโลกวินิจฉัย</li></ol><p>อย่างไรก็ตาม ประเทศใดก็ตามที่ไม่อยากยอมรับข้อใดข้อหนึ่งในอนุสัญญา ก็สามารถทำข้อสงวนได้ ข้อสงวนเป็นกลไกหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ที่อนุญาตให้รัฐยกเว้นไม่ต้องผูกพันตามข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อของอนุสัญญานั้น </p><p>สำหรับ
กรณีของประเทศไทย เคยประกาศยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศล่วงหน้าฝ่ายเดียว ทั้งหมด 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรกเป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเก่าในยุคสันนิบาตชาติที่เรียกว่า “Permanent Court of International Justice” (PCIJ) และครั้งที่ 3 เป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลโลกยุคสหประชาชาชาติ หรือ ICJ</p><p>โดยการยอมรับขอบเขตอำนาจศาลโลก ICJ ล่วงหน้าฝ่ายเดียว เป็นไปตามข้อ 36 (2) ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศลงนามในหนังสือตั้งแต่ 20 พ.ค.2493 (แต่มีผลบังคับใช้ย้อนไปตั้งแต่ 9 พ.ค.2493) และขาดอายุในปี 2503 ซึ่งหลังจากกรณีของปราสาทพระวิหาร ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2501 ไทยก็ไม่เคยยอมรับอำนาจศาลโลกอีกเลย </p><p>ในกรณีที่สนธิสัญญาที่ระบุว่าต้องให้ศาลโลกระงับข้อพิพาทหากมีปัญหาพิพาทที่แก้ไม่ได้ ประเทศไทยมักจะทำ 'ข้อสงวน' ไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลโลกไว้เสมอ</p><ol start="3"><li aria-level="1"><strong>หลักการ ‘ฟอรุมโปรโรกาตุม’</strong> หรือการฟ้องฝ่ายเดียว โดยที่รัฐผู้ถูกฟ้องไม่ได้ให้ความยินยอม หรือยอมรับขอบเขตอำนาจศาล ศาลจะไม่ยอมรับไว้เป็นคดีความ จนกว่ารัฐที่ถูกฟ้องจะให้ความยินยอมต่ออำนาจศาล</li></ol><h2>8. สองประเทศในอาเซียนที่รับอำนาจศาลโลก (อย่างมีเงื่อนไข)</h2><p>สำหรับรายชื่อรัฐสมาชิกสหประชาชาติมี 196 ประเทศ มีเพียง 74 ประเทศที่ยอมรับอำนาจศาลโลก ICJ ซึ่งเดากันได้ว่าส่วนใหญ่มาจากยุโรป ทวีปเอเชียมีแค่ 10 ประเทศ และในอาเซียน มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ยอมรับ คือ กัมพูชา และฟิลิปปินส์</p><p>อย่างไรก็ตาม ประเทศฟิลิปปินส์และกัมพูชาก็ยอมรับอำนาจศาลโลกอย่างมีเงื่อนไข</p><ul><li aria-level="1"><strong>ฟิลิปปินส์</strong> - ยอมรับขอบเขตอำนาจศาลโกล ยกเว้นกรณีที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ พื้นทะเล หมู่เกาะ ไหล่ทวีป หรือที่เกี่ยวกับดินแดนฟิลิปปินส์ ทะเลอาณาเขต และน่านฟ้าภายในของฟิลิปปินส์ เพราะว่าประเด็นอ่อนไหวภายในประเทศ</li><li aria-level="1"><strong>กัมพูชา</strong> - ยอมรับเขตอำนาจศาลตั้งแต่ปี 1951 (พ.ศ. 2494) ก่อนยื่นฟ้องไทยกรณีปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อปี 2501 แต่ก็เปิดช่องว่า หากกรณีของข้อพิพาทเกิดข








