[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
06 ธันวาคม 2567 05:42:07 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ความเป็นมาของนิเวศนวิทยาแนวลึก ( Deep Ecology )  (อ่าน 15457 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7866


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 12 มิถุนายน 2553 15:09:00 »




ความเป็นมาของนิเวศนวิทยาแนวลึก ปรัชญาและความเคลื่อนไหวของขบวนการนิเวศวิทยา (Deep Ecology, Ecosophy and Ecological Movement)
 
ในปีพ.ศ.2516 อาร์เน เนส ซึ่งเป็นนักปรัชญาชาวนอร์เวผู้รักในการปีนเขาเป็นผู้ริเริ่มนำเอาคำว่า “นิเวศวิทยาแนวลึก” มาใช้ในแวดวงงานเขียนด้านสิ่งแวดล้อม โดยในช่วงนั้นเอง(พ.ศ. 2503-2513) ขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เริ่มก่อตัว และมีพัฒนาการและความเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับรากหญ้าอย่างเป็นที่ยอบรับในสังคมตะวันตก งานเขียนที่มีพลังในการปลุกกระแสสำนึกทางสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัดคือ ฤดูใบไม้ผลิที่เงียบงัน (Silent Spring) เขียนโดย เรเชล คาร์สัน ที่ได้อธิบายให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ทางนิเวศวิทยาอันเป็นผลพวงจากการพัฒนาอย่างไร้สำนึกทางธรรมชาติและการให้มุ่นเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างอหังการ์ของสังคมสมัยใหม่ ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นก็มีนักเขียนและนักกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมรุ่นก่อนๆ ที่มีอิทธิพลต่อสังคมที่ทำให้สำนึกสิ่งแวดล้อมได้ปะทุขึ้น ได้แก่ เฮนรี่ เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau), จอห์น มิวร์ (John Muir), อัลโด ลีโอโพลด์ (Aldo Leopold) ส่วนนักคิดที่นำเสนอปรัชญาและสำนึกของการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด ได้แก่ กิ๊ฟฟอร์ด พินชอท (Gifford Pinchot)
 
อย่างไรก็ตาม ในปีพ.ศ. 2515 ก่อนหน้าที่เนสจะเริ่มใช้คำนี้ เขาได้ไปบรรยายถึงความเป็นมาของขบวนการสิ่งแวดล้อมต่างๆที่สนใจในประเด็นความอยู่รอดระยะยาวของระบบนิเวศและหลักจริยศาสตร์ที่เห็นว่าสรรพสิ่งในธรรมชาตินั้นมีคุณค่าในตัวเอง และในการประชุมการวิจัยว่าด้วยอนาคตโลก (World Future Research Conference) ที่เมืองบูชาเรส ในฐานะที่เขาเป็นผู้ที่รักการปีนเขาเพื่อใคร่ครวญและเรียนรู้กับธรรมชาติในที่ต่างๆทั่วโลก ทำให้ได้มีโอกาสสัมผัสสภาพสังคมและการเมือง รวมถึงขบวนการทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นขณะนั้น และตั้งข้อสังเกตุว่าในแวดวงของขบวนการทางสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถแบ่งได้เป็นสองขบวนการโดยมีความแตกต่างในด้านวิธีคิดและโลกทัศน์ อย่างที่หนึ่งเรียกว่า ขบวนการนิเวศวิทยาแนวลึก และนิเวศวิทยาแนวตื้น
 
คำว่า”ลึก”นั้นหมายถึงการตั้งคำถามในประเด็นที่ลึกถึงเป้าหมายและระบบคุณค่าที่ดำรงอยู่ในปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังตั้งคำถามและพยายามสืบค้นถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดของวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในระดับรากฐานอีกด้วย ส่วนขบวนการสิ่งแวดล้อมแนวตื้นนั้นเป็นขบวนการที่ต้องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยไม่ต้องการท้าทายหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจกระแสหลัก และเน้นการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการแก้ไขปัญหา (เช่น การนำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิล, หรือการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์หรือแม้แต่การขยายเกตรกรรมอินทรีย์เชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออก) เหล่านี้ล้วนตั้งอยู่บนวิธีคิดและระบบคุณค่าพื้นฐานของสังคมบริโภคนิยมและระบบเศรษฐกิจแนวอุตสาหกรรมนิยมทั้งสิ้น ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบคุณค่าและวิธีการของนิเวศวิทยาแนวลึก ที่ต้องการดำรงรักษาความสมดุลของระบบธรรมชาติที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศควบคู่กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมมนุษย์อย่างพึ่งพาอาศัยกัน
 
คุณลักษณะที่โดดเด่นของวิธีคิดของนิเวศวิทยาแนวลึกคือ การเห็นว่าในธรรมชาตินั้น สรรพสิ่งล้วนมีคุณค่าในตัวมันเอง โดยไม่ขึ้นกับเงื่อนไขว่าจะมีประโยชน์ต่อการใช้งานของมนุษย์หรือไม่ และพยายามนำเอาวิธีคิดนี้ไปสู่การขับเคลื่อนและปรับเปลียนในระดับนโยบายเพื่อมีผลต่อการกำกับทิศทางของสังคม โดยเห็นว่าโลกไม่สามารถดำเนินการพัฒนาแนวอุตสาหกรรมนิยมในวิถีทางเดิมๆที่เป็นอยู่อีกต่อไป และหากสังคมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป้าหมายและคุณค่าพื้นฐาน รวมถึงแนวทางปฏิบัติแล้ว ความงามและความหลายหลายทางนิเวศวิทยาก็จะถูกทำลายลงในที่สุด จนไม่สามารถเกื้อหนุนสังคมมนุษย์ที่มีความงามและความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ต่อไปได้
 
ในตอนนั้น เนื่องจากวิธีการจำแนกขบวนการทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าวของเนส มากจากการตั้งข้อสังเกต แทนที่จะนำเสนอหลักปรัชญาส่วนตัวที่เขาพัฒนาขึ้นเอง หลายคนจึงยอมรับได้มากกว่า และในการที่จะก่อให้เกิดวัตถุประสงค์เชิงหลังการร่วมกัน เนสจึงเสนอหลักการที่สอดคล้องกับขบวนการนิเวศวิทยาแนวลึก 8 ประการ โดยหลักการพื้นฐานนี้ได้รับการพิจารณาในกลุ่มคนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นมิติความแตกต่างทางศาสนา ความเชื่อ สมาชิกกลุ่มการเมืองและสำนักคิดต่างๆ ผู้ที่ให้การสนับสนุนขบวนการนิเวศวิทยาแนวลึก (แทนที่จะเรียกว่า “นักนิเวศวิทยาแนวลึก”) ทั้งหลายล้วนได้รับการหล่อรวมด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลชุดเดียวกัน คือเห็นความจะเป็นในการปกป้องความสมดุลของระบบนิเวศและมองเห็นคุณค่าที่ธรรมชาติมีอยู่ในตัวเอง
 
น่าเสียดาย นักสิ่งแวดล้อมบางคนที่อ้างว่าตัวเองให้การสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ได้พูดและผลิตงานเขียนออกมาในความรู้สึกชิงชังและต่อต้านสังคมมนุษย์ จนเกิดเป็นภาพของขบวนการที่บิดเบือนและนำไปสู่ความเข้าใจผิด ทั้งๆที่ขบวนการนิเวศวิทยาแนวลึกเองไม่เคยปฏิเสธหรือต่อต้านมนุษย์

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7866


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 12 มิถุนายน 2553 15:09:14 »




ปรัชญานิเวศวิทยาแนวลึก

 
กระแสความคิดเรื่องนิเวศวิทยาแนวลึกก่อตัวขึ้นในหลายๆมิติ จากหลายๆสำนักคิด โดยอาร์ นาเนสเป็นผู้ทำหน้าที่ประมวลและสังเคราะห์หลักการร่วมกันในเวลาต่อมา ตัวอย่างนักคิดสายศาสนาได้แก่ ทอมัส เบรี่ (Thomas Berry) นักเทววิทยาแนวนิเวศวิทยาชาวแคธอลิก เสนอว่าการเปลี่ยนแปลงของกระบวนทัศน์ทางศาสนาและปรัชญาครั้งใหญ่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการแก้ไขวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน มนุษย์ต้องเปลี่ยนความคิดจากการตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลางไปเป็นให้โลกหรือแผ่นดินเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นประธานสำหรับเป็นกรอบความคิดใหม่ของระบบคุณค่า
 
เดิมทีหลังจากการเกิดโลก เมื่อ 4.5 พันล้านปีก่อน สภาวะที่เหมาะสมทางกายภาพและอุบัติการของปฏิกิริยาเคมีที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์และมนุษย์ มนุษย์ยังคงรับรู้ฐานะว่าตัวเองเป็นเพียงผลพวงหนึ่งของขบวนวิวัฒนาการการเกิดสิ่งมีชีวิตทั้งหมด หากจะมองย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ของกระบวนวิวัฒนาการของชีวิตแล้วจะเห็นว่า มนุษย์ตั้งตัวเป็นประธานของสรรพสิ่งเมื่อไม่กี่พันปีมานี้เอง จากช่วงเวลาทั้งหมด 4.5 พันล้านปี คือเมื่อประมาณ 5 พันปีที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของอารยธรรมกรีกและโรมันเป็นจุดปะทุของการขยายอำนาจ เกิดการกดขี่และทำลายล้างของธรรมชาติ และอัตราการทำลายล้างนี้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงในยุคปัจจุบัน เป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ของมนุษย์ถูกตัดขาดออกจากธรรมชาติดั้งเดิม จนถือได้ว่าเป็นความป่วยไข้หรือความผิดปกติของวัฒนธรรม การทำลายชีวิตสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆเป็นไปอย่างไม่มีจิตสำนึก ไร้ความเคารพ หรือความตระหนักรู้ โลกได้สูญเสียระบบนิเวศที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและพักพิงของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายไปกับ”การพัฒนาและความก้าวหน้า”ของสังคมมนุษย์ และในนามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรที่สำคัญได้แก่ อากาศ น้ำ ดิน และทรัพยากรอื่นๆที่เป็นพื้นฐานของระบบชีวิตถูกทำลายและถูกคุกคามอย่างหน้ก เมื่อไม่นานมานี้เองที่มนุษย์เริ่มเรียนรู้ว่ามนุษย์กำลังทำลายตัวเองอย่างรวดเร็ว
 
การพิจารณาธรรมชาติในฐานะ“ทรัพยากร” รองรับการนำไปใช้ประโยชน์และการบริโภคในบริบทอุตสาหกรรมนิยม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเสื่อมสลายทางจิตสำนึกแห่งธรรมชาติของสังคมมนุษย์ การได้ครอบครองวัตถุสิ่งของและเงินตรา กลายเป็นเป้าหมายหลักของการดำรงชีวิต และมีอำนาจในการกำหนดความรู้สึกนึกคิดและจิตใจผู้คนในสังคม อุตสาหกรรมไม่เพียงผลิตวัตถุสินค้ากิจกรรมการบริโภคของมนุษย์เท่านั้น หากยังผลิตขยะจำนวนมหาศาลอย่างล้นโลก และผลิตความกระหายอยากการบริโภค การเปลี่ยนจากความต้องการเป็นความจำเป็นเพื่อการบริโภคอย่างไม่มีที่สิ้นสุดดังนั้นการเยียวยาโลกจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงหากปราศจากการปรับเปลี่ยนกรอบความคิด ระบบคุณค่าในจิตใจของผู้คน นอกจากนั้นยังต้องมีการปรับเปลี่ยนสังคมในระดับโครงสร้าง คือโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างแท้จริง[1]
 
สำนักทางฝ่ายจิตวิทยา ได้ขยายกรอบวิธีคิดทางจิตวิทยาและมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างความบกพร่องหรือสภาวะผิดปกติในจิตใจผู้คนกับ วิถีชีวิตที่ถูกตัดขาดออกจากบริบทของธรรมชาติดั้งเดิม โดยเห็นว่าจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์มีวิวัฒนาการมาควบคู่ธรรมชาติแวดล้อมทั้งในระดับจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก แต่วิถีชีวิตของสังคมสมัยใหม่เป็นการหลักหนีและตัดขาดความสัมพันธ์เดิมระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างรุนแรง ธรรมชาติกลายเป็นเพียงความงามหรือสุนทรียวัตถุ นักคิดในด้านจิตวิทยาเชิงนิเวศที่สำคัญได้แก่ เชลลิส เกลนดินนิ่ง Chellis Glendinning, แกรี่ ชไนเดอร์Gary Snyder, เลชาเปล LaChapelle รวมทั้งอาร์เน เนสด้วย
 
เกลนดินนิ่ง เห็นว่าผู้คนในสังคมอุตสาหกรรมนิยม โดยเฉพาะในสังคมตะวันตก กำลังประสบกับความป่วยไข้ทางจิตที่เรียกว่า Original Trauma แม้ว่าจะมีเหตุปัจจัยหลากหลาย แต่สาเหตุหลักประการหนึ่งนั้นเห็นได้ชัด คือการที่ชีวิตผู้คนถูกตัดขาดออกจากธรรมชาติ ตัวบ่งชี้ความป่วยไข้นี้ได้แก่ พฤติกรรมเบี่ยงเบน ความรุนแรงทางอารมณ์ ความเครียด และความเหงาสิ้นหวังในชีวิต และพฤติกรรมการเสพติดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การติดยาเสพติด การเสพติดเทคโนโลยี การเสพติดความกระตุ้นเร้า การติดการบริโภค การติดการจับจ่ายซื้อของ เป็นหนทางแสวงหาความสุขเฉพาะหน้า ความสุขวันต่อวันของคนยุคนี้ เป็นพฤติกรรมชนิดที่เป็นแรงปฏิกิริยาต่อความไม่สามารถแสวงความสุขในหนทางอื่นๆ และเป็นแรงปฏิกิริยาต่อสภาวะของจิตที่พร่องความพอใจ ที่น่ากลัวคือการที่ผู้คนในสังคมต่างยอมรับกันว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เกลนดินนิ่งเสนอทางออกของการเยียวยาคือการฟื้นฟู”สัมผัสธรรมชาติ”ในชีวิตและสังคม โดยต้องเริ่มจากการเผชิญหน้ากับปัญหาหรือสภาวะที่ไม่พึงประสงค์อย่างตรงไปตรงมา ไม่หลักหนี สอง ต้องเริ่มรับรู้ความรู้สึกอันละเอียดอ่อนของการดำรงชีวิตอยู่ เพื่อที่จะรู้สึกถึงพลังชีวิตอีกครั้ง เพื่อสลัดออกจากโลกทัศน์และวิถีชีวิตอย่างเครื่องจักรยนต์กลไกเสียได้ ในขั้นตอนนี้ คนโดยมากมักผ่านความรู้สึกหงุดหงิดหรือเจ็บปวดที่ถูกกระทำโดยกรอบสังคม ความรู้สึกอีกชั้นหนึ่งคือการรับรู้การที่ชีวิตถูกถอดถอนออกจากธรรมชาติ สู่ความเป็นเมือง จนตัวตนที่เคยได้รับการหล่อหลอมโดยธรรมชาติเสื่อมสลายลง
 
ทั้งนี้ ในบรรดาหนังสือขายดีทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีหนังสือนวนิยายสมัยใหม่ชื่อ Women Who Run With the Wolves (ผู้หญิงวิ่งกับหมาป่า) เขียนโดย Clarissa Pinkola Este โดยนำเสนอว่า ภายในตัวมนุษย์ทุกคนนี้ มีความเป็นสัตว์โลกดั้งเดิมที่ยังคงคุณลักษณะของธรรมชาติดั้งเดิมดำรงอยู่ หน้าที่ของเราคือต้องปกป้องไม่ให้สัตว์โลกภายในนี้ถูกทำลาย หรือถูกทำให้เชื่องจนกลายเป็นสัตว์บ้านสัตว์เมืองไป[2]
ในเรื่องเดียวกันนี้ นักคิดอย่างแกรี่ ชไนเดอร์และพอล โชพาร์ด ได้พัฒนาความคิดต่อจากนักคิดคนก่อนๆ อย่างรุซโซ ธอร์โร มิวร์ ฮักเล่ ออร์เวลและเจเรมี่ แมนเดอร์ และวิเคราะห์ว่าในตัวมนุษย์มีคุณลักษณะของความเป็นสัตว์โลกดั้งเดิมที่แสวงหาสัมผัสที่เป็นเอกภาพกับธรรมชาติอยู่ เนื่องเพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งและเป็นผลพวงของวิวัฒนาการของระบบชีวิตทั้งหมด วิวัฒนาการของชีวิตเซลเดียวอย่างบักเตรีเป็นวิวัฒนาการคู่ขนานมากับวิวัฒนาการของมนุษย์ หรืออาจถือได้ว่าเป็นวิวัฒนาการเดียวกันเลยทีเดียว
 
วิถีการดำเนินชีวิตอย่างเมือง อย่างทันสมัยทำให้คุณลักษณะบางอย่างนี้ผุกร่อนสูญสลายไป ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปีคศ. 1832 หลังจากผู้ครองดินแดนชาวผิวขาวได้กวาดล้างชนเผ่าพื้นราบดั้งเดิมของอเมริกาเหนือไปเกือบหมด จอร์จ แคทลิน (George Catlin) ศิลปินผู้มีสุนทรีย์ในความงามของป่าดงพงไพรได้เรียกร้องให้มีการสงวนและปกป้องพื้นที่ป่าดั้งเดิม ที่ที่มนุษย์และสัตว์ป่าอาศัย ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มครั้งแรกในการประกาศพื้นที่ป่าสงวนทั่วประเทศในเวลาต่อมา มีผลให้ชาวอินเดียนแดงสูญเสียบ้าน ความสมดุล ความรู้สึกมั่นคงและความรู้สึกถูกต้องในชีวิต ภาพที่แคทลินเองปรารถนาจึงมลายหายไป นี่เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการจัดการกีดกันธรรมชาติออกจากศูนย์กลางการดำเนินชีวิตของสังคมมนุษย์ สร้างเขตแดนที่ชัดเจนระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรมการอยู่เมืองที่ถูกสร้างขึ้นและขยายพื้นที่ขอบเขตอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อเราและแผ่นดิน เพราะเราไม่ได้ดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติดั้งเดิมอีกต่อไป แต่กำหนดมันให้เป็นเหมือน”เกาะ” หรือสถานพักผ่อนหย่อนใจในช่วงลาพักร้อน
 
แกรี่ ชไนเดอร์คิดว่าอารยธรรมมนุษย์ที่โลกต้องการคืออารยธรรมที่สามารถดำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไม่ทำลาย อย่างสอดคล้องและสมดุล และเราต้องสร้างมันขึ้นมาให้กับโลกใบใหม่นี้[3] เราได้หลงลืมไปแล้วว่าผืนแผ่นดินนี้เคยเป็นบ้านของชีวิตอื่นๆด้วย นอกจากมนุษย์ และไม่เคยแน่นหนาไปด้วยสัตว์เชิงเดี่ยวคือมนุษย์ เราลืมบทเพลง บทกวี นิทาน ตำนานและเรื่องเล่าพื้นบ้านทั้งหลายของบรรพบุรุษที่เอ่ยนามถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆอย่างให้คุณค่า ในทางตรงข้าม ภาพของสังคมเมืองสมัยใหม่คือภาพที่ผู้คนในเมืองไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตนั้นพึ่งพิงและขึ้นต่อผืนดิน แต่กลับคิดว่าพึ่งพิงอย่างอื่นเสียทั้งหมด เช่น เงิน เทคโนโลยีต่างๆ ความสำเร็จก้าวหน้า และอำนาจวาสนา วิถีชีวิตการอยู่เมืองเป็นวิถีชีวิตที่แยกส่วนระหว่างการผลิตและการบริโภค คนอยู่เมืองไม่ต้องปลูกข้าว ปลูกผัก หรือเลี้ยงสัตว์เอง ไม่ต้องปลุกฝ้าย ทอผ้า ตัดผ้าเอง ไม่ต้องระเบิดหิน ขุดทราย ผลิตซีเมนท์ สร้างบ้านเอง ไม่ต้องตักน้ำ หรือหาฟืน ไม่ต้องขุดเจาะท้องทะเลและดูดเลือดธรณี คือแก๊ซธรรมชาติและน้ำมันเอง จึงไม่สามารถรับรู้เงื่อนไขปัจจัยการผลิตที่ขึ้นกับระบบนิเวศที่กำลังถูกกระทำ ผู้คนดำรงชีวิตในฐานะผู้ใช้ ผู้ซื้อ ผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็มีฐานะเป็นผู้ปลดปล่อยขยะปฏิกูลแห่งชีวิตทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นขยะที่เกิดจากการกินการอยู่ การเดินทาง เราไม่รู้ว่าขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิตที่ต้นทาง และขยะที่เกิดจากการบริโภคที่ปลายทางนั้นจะเดินทางไปที่ไหน จะได้รับการจัดการอย่างไร หรือธรรมชาติจะต้องเป็นฝ่ายรับผลกรรมนี้อย่างไร
เมื่อชีวิตแปลกแยกกับธรรมชาติทำให้เกิดความสับสนว่าอะไรคือ”ธรรมชาติ”ที่มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้สร้างนั้นเป็นเรื่องที่ไม่แปลกนักในยุคอุตสาหกรรมทุนนิยมเฟื่องฟูนี้ เจเรมี่ เฮเวิร์ด นักวิทยาศาสตร์และนักนิเวศแนวลึกต้องประหลาดใจกับคำถามของลูกชายตัวเอง ที่ถามพ่ออย่างซื่อๆตามประสาเด็กอยากรู้ ขณะนั่งรถไปเที่ยวนอกเมืองด้วยกันว่า “พ่อครับ ภูเขาลูกนั้น บริษัทอะไรเป็นคนสร้างครับ?”
 
ปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งเคยเป็นเรื่องธรรมดา เช่น ไฟป่า แผ่นดินไหว ภัยแล้ว พายุฝน น้ำท่วม โรคภัยไข้เจ็บและความตาย กลายเป็นส่วนเกินของชีวิต ธรรมชาติกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมและไม่เป็นที่ต้องการในวิถีเมือง มนุษย์ต้องการธรรมชาติชนิดที่สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อยและควบคุมได้ เพื่อความสะดวกสบายของมนุษย์เอง เรื่องราวของธรรมชาติไม่ปรากฎเป็นเรื่องราวหลักในสื่อทั้งหลายในฐานะที่เป็นประธานของสรรพชีวิต หากแต่เป็นเพียงวัตถุที่ให้ประโยชน์ทางความบันเทิงและสุนทรีย์ทางผัสสะ บทกวีและบทเพลงสะท้อนภาพของสังคมมนุษย์ที่ตัดภาพธรรมชาติออก ลงเหลือไว้แต่เรื่องราวของมนุษย์ล้วนๆ เป็นอารยธรรมที่เร่งวิกฤตินิเวศวิทยาให้เกิดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น และจะนำโลกไปสู่หายนะในที่สุด
 
ชไนเดอร์ถือว่ามนุษย์สมัยใหม่ต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและธรรมชาติ สัมผัสและเรียนรู้จากธรรมชาติโดยผ่านประสบการณ์ตรง เขาถือว่าการเดินทางจาริกบุญไปสู่ดินแดนของธรรมชาติ ในแต่ละย่างก้าว ในแต่ละลมหายใจนั้น เป็นวิถีปฏิบัติและการเรียนรู้อันเก่าแก่ ที่บรรพบุรุษของมนุษย์ได้ทำมาเนิ่นนาน และเป็นกิจกรรมที่ศาสนาดั้งเดิมทั้งหลายให้คุณค่า เพราะเป็นการช่วยให้มนุษย์ได้มีโอกาสเรียนรู้จักที่ทางชีวิต คือรู้ว่าเราเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่า ประสบการณ์ของการเรียนรู้ที่ทางชีวิตอย่างมีจิตวิญญาณนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในกิจกรรมชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นการพายเรือในทะเลหรือแม่น้ำ การดูแลสวน หรือการปอกกระเทียม หรือแม้กระทั่งการนั่งทำสมาธิภาวนาที่บ้าน ประเด็นสำคัญคือการเปิดรับและสัมผัสการดำรงอยู่ของโลกและตัวเราอย่างเป็นจริงและตรงไปตรงมา รับรู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของโลกและธรรมชาติ ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่ช่วยดึงความคิดหรือภาพความจริงที่สร้างขึ้นมาโดยตัวตนอันคับแคบ และรับรู้การดำรงอยู่ของจักรวาล ธรณี ภูเขาและแม่น้ำ ในฐานะที่เป็นวิหารอันศักดิ์สิทธิ์
 
ในการยอมรับคุณลักษณ์ของธรรมชาติในตัวเรานั้น สามารถทำได้โดยรับเอาความเป็นธรรมชาติแรกเข้ามาในตัว และดำเนินชีวิตอยู่ในขอบข่ายของภูมินิเวศ (bioregion) การทำให้ชีวิตเกิดสมดุลและเป็นองค์รวมนั้นคือการที่ต้องมีชีวิตอยู่อย่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศใหญ่ออกไป ที่มีสมาชิกคือพืชสัตว์อื่นๆ อย่างอิงอาศัยกันและกัน ยอมรับว่าตัวเราเองเป็นอาหารจานหนึ่งบนโต๊ะของธรรมชาติ ดำรงอยู่ร่วมกับอาหารจานอื่นๆ ที่จะถูกกินและย่อยสลายไปในที่สุด อันนี้ถือว่าเป็นมากกว่าการมองตามความเป็นจริง หากแต่ยังน้อมนำให้ความศักดิ์สิทธิ์มาสู่ชีวิตชั่วคราวที่ไม่มั่นคงนี้ และยังเป็นสัตยธิฐานในการลดอัตตาตัวตนลงด้วย
 
ความหมายของการดำรงชีวิตอย่างมีสำนึกในภูมินิเวศ (bioregion) หมายถึง การที่เรารับรู้ว่าชีวิตเราขึ้นต่อระบบนิเวศและผืนแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ เข้าใจในลักษณะจำเพาะทางนิเวศวิทยาของท้องถิ่นที่ต่างดำรงอาศัยอยู่อย่างเป็นเหตุเป็นปัจจัยของกันและกัน ดำรงอยู่อย่างเป็นข่ายใยชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติและความหลากหลายของพืชพันธุ์ สัตว์ป่า ลักษณะอากาศ ดิน น้ำ ป่า เป็นต้น แล้วจากความเข้าใจในภูมินิเวศวิทยาท้องถิ่นแล้ว ก็นำไปสู่การปฏิบัติ คือการมีวิถีที่สอดคล้องและเกื้อกูล สำนึกของการ”รักธรรมชาติ” หรือความต้องการที่จะดำเนินชีวิตอย่างบรรสานสอดคล้องกับกายา (Gaia)ไม่เพียงพอ หากไม่สามารถนำไปสู่การรับรู้ ผ่านประสบการณ์ตรงและปฏิบัติการในระดับท้องถิ่นที่ ผู้เฒ่าของชนเผ่าโครวคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันคิดว่าถ้าคนเราได้ดำรงชีวิตอาศัยอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งนานพอ ถึงจุดหนึ่งแม่ธรณีและขวัญหรือจิตวิญญาณทั้งหลายในระบบนิเวศจะเริ่มพูดกับเขา เป็นเสียงที่มาจากผืนแผ่นดิน จริงๆแล้ว ขวัญเจ้าที่และพลังชีวิตอันเก่าแก่เหล่านี้ไม่เคยสูญหายไปไหน ตราบเมื่อผู้คนอาศัยอยู่ที่นั่นนานพอแล้วพลังเหล่านี้จึงจะเริ่มมีอิทธิพลกับชีวิต”[4]
 
 
[1] Sessions, หน้า 12
[2] Sessions, p.37
[3] Sessions, p.42
[4] Sessions, p.45


 หัวเราะลั่น

http://board.agalico.com/showthread.php?t=1675



โดย อ.มดเอ็กซ์
บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
คำค้น: นิเวศนวิทยาแนวลึก Deep Ecology modx Mckaforce sookjai สุขใจ 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.653 วินาที กับ 29 คำสั่ง

Google visited last this page 16 พฤศจิกายน 2567 16:26:33