[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 มีนาคม 2567 17:50:08 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๘ : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี  (อ่าน 5227 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 25 เมษายน 2555 19:54:20 »



พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์



สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน  อุฏฺฐายี)
วัดมกุฏกษัตริยาราม  กรุงเทพมหานคร


พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๘
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน  อุฏฺฐายี)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  (จวน  อุฏฺฐายี)  วัดมกุฏกษัตริยาราม  พระนามเดิม  ลำจวน   ศิริสม  ภายหลังจึงทรงเปลี่ยนเป็น จวน     ประสูติเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐  ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา จ.ศ. ๑๒๕๙ (ร.ศ. ๑๖๖)  หรือวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นชาวตำบลบ้านโป่ง  อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี   ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นมณฑลราชบุรี   ท่านบิดาชื่อ “หงศ์  ศิริสม”   เป็นชาวโพธาราม  ท่านปู่สืบเชื้อสายมาจากจีนแซ่ตัน ท่านย่าสืบเชื้อสายมาจากชาวเวียงจันทน์   ส่วนท่านมารดา ชื่อ "จีน"    นามสกุลเดิมว่า "ประเสริฐศิลป์" ภูมิลำเนาเดิมอยู่ บ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี   ภายหลังท่านบิดาได้อุปสมบทเป็นภิกษุมาอยู่ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ถึงมรณภาพ เมื่ออายุ ๘๔ ปี   ส่วนท่านมารดาในบั้นปลายของชีวิตได้ปลงผมนุ่งขาวห่มขาวเป็นอุบาสิการักษาศีลแปดจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต  ทรงเป็นบุตรคนหัวปีในจำนวนบุตรธิดาทั้งหมด ๗ คน
 
พ.ศ. ๒๔๔๙  พระชนมายุ ๙ พรรษา  ได้เข้าศึกษาหนังสือไทยที่โรงเรียนวัดคฤหบดี ตำบลบ้านปูน  อำเภอบางพลัด (สมัยนั้น)  จังหวัดธนบุรี   จนจบชั้นประถมปีที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑  แล้วลาออกจากโรงเรียนกลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิม   ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓  พระชนมายุ ๑๔ พรรษา ท่านบิดามารดา ต้องการให้เรียนทางพระศาสนา จึงนำไปฝากให้อยู่กับพระมหาสมณวงศ์ ( แท่น โสมทัดโต ) เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม ( วัดเขาวัง ) จังหวัดเพชรบุรี  ผู้เป็นพี่ของตา. พระวัดเขาวังเล่ากันต่อมาว่า ท่านเจ้าคุณมหาสมณวงศ์ เคยออกปากทำนายสมเด็จ ฯ ไว้ว่า "ลักษณะอย่างนี้ ต่อไปจะได้ดี" นัยว่าท่านหมายถึงพระเศียรที่มีลักษณะคล้ายกระพองช้าง

ถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๕ พระชนมายุ ๑๖ ในราวเดือนเมษายน  ได้เข้ามาฝากตัวอยู่กับพระศาสนโศภณ (แจ่ม) ที่คณะนอกวัดมกุฏกษัตริยาราม  เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระอริยมุนี ( แจ่ม จตฺคสลฺโล )   เรียนบาลีไวยากรณ์ในโรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริยารามกับพระมหาแสงบ้าง กับท่านเจ้าคุณอาจารย์บ้าง กับพระมหาจิณ จิณฺณาจาโร ป. ๔ บ้าง และศึกษาต่อกับพระมหาสุข สุขทายี ป.๕ ใน พ.ศ. ๒๔๕๖


บรรพชาอุปสมบท

พระชนม์ ๑๖ พรรษา ทรงบรรพชาเป็นสามเณร  เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗  ณ พระอุโบสถวัดมกุฏกษัตริยาราม  มีพระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอริยมุนี (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป. ๗) เป็นพระสรณคมนาจารย์ (พระอาจารย์ให้สรณะและศีล)  แล้วทรงศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักพระอริยมุนี (แจ่ม)  ทรงสอบไล่องค์นักธรรมชั้นตรีภูมิของสามเณรได้
พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงเข้าศึกษาธรรมบทกับพระพินิตพินัย (ชั้น กมาธิโก) ครั้งยังเป็นพระมหาชั้นเปรียญ ๕ ประโยคในโรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์    ใน ปี พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๕๙  ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม มีสามเณรเรียนธรรมและบาลีอยู่มาก ได้ชักชวนกันออกวารสารรายปักษ์ขึ้นฉบับหนึ่ง ให้ชื่อว่า "สยามวัด" เพื่อเป็นสนามสำหรับฝึกหัดแต่ง โคลง กาพย์ กลอน กลบท และฉันท์ และจัดให้มีการประกวดแต่ง โคลง ฉันท์ เป็นต้น   

ในจำนวนสามเณรเหล่านี้ ทรงมีลายมือสวย จึงได้รับมอบให้เป็นบรรณาธิการรวบรวมและเขียนลงในสมุด ครั้งละ ๑-๒ เล่ม สำหรับนำออกอ่านในที่ประชุม ณ วันโกนแห่งปักษ์ทุกกึ่งเดือน วารสารนี้ดำเนินมาได้เกือบ ๒ ปีจึงหยุด เพราะทุกรูปมีภาระที่จะต้องเรียนมากขึ้น  การหัดแต่งกวีนิพนธ์ในครั้งนั้น ทำให้ทรงเป็นผู้สามารถในการประพันธ์โคลงฉันท์ เป็นต้น   สมเด็จฯ ทรงรู้ภาษาอังกฤษพอจะอ่านเขียนแปลได้ และรับสั่งได้บ้างแต่ไม่ชำนาญ ฉะนั้นเวลาติดต่อกับชาวต่างประเทศจึงใช้ล่ามเว้นแต่คราวจำเป็น จึงรับสั่งโดยประโยคสั้นๆ

พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดมกุฏกษัตริยาราม  เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ตรงกับปีมะเส็ง   มีพระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์  และศาสนโศภณ  (แจ่ม) แต่ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชกวี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๑  ทรงสอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒  ทรงสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓  ทรงเป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์โรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔  ทรงเป็นครูสอนพระธัมมปทัฏฐกถา และธันวาคม ศกเดียวกัน ทรงสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕  ทรงสอบไล่ได้เปรียญธรรมชั้นโท ๖ ประโยค
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖  ทรงสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๗  ทรงเป็นครูสอนมังคลัตถทีปนี โรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์  และธันวาคม ศกเดียวกัน ทรงสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐  ทรงสอบเปรียญธรรม ๘ ประโยคได้
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ชั้น ๕   ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๗ และเดือนมกราคมทรงเป็นกรรมการสนามหลวง ตรวจ น.ธ.เอก และบาลีประโยค ๔,๕,๖
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๒  พรรษาที่ ๑๓  ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค



พระกรณียกิจด้านการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๖๘ พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.๗) ครั้งยังเป็นพระธรรมปาโมกข์ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ได้รับมอบจาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ให้ตรวจชำระพระไตรปิฎกบางปกรณ์ คือ อปทานเถรคาถา เถรีคาถา  พุทฺธวํส จริยาปิฎก และคัมภีร์มิลินทปัญหา ในเบื้องต้นได้แบ่งการตรวจชำระออกเป็น ๒ กอง คือ กองที่ ๑ ให้พระมหาจวน อุฏฺฐายี ป.๗   เป็นหัวหน้าตรวจชำระอปทานเถรคาถา เถรีคาถา กองที่ ๒  ให้พระมหาทองสืบ จารุวณฺโณ ป.๗ เป็นหัวหน้าตรวจชำระ พุทฺธวํส จริยาปิฎก และ มิลินทปัญหา

สมเด็จ ฯ ได้สอบทานอักษรไทยกับต้นฉบับอักษรขอม เทียบกับฉบับอักษรพม่าและอักษรโรมันโดยตลอดเป็นเวลานาน จึงทำให้ชำนาญในอักษรทั้ง ๒ นี้ด้วย ฉะนั้น เมื่อเสด็จแทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราช (วัดเบญจมบพิตร) ไปร่วมประชุมสังคายนา ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงทรงอ่านพระไตรปิฎกอักษรพม่าได้โดยสะดวก   และโดยที่อักษรรามัญมีรูปร่างคล้ายกับอักษรพม่าโดยมาก จึงทรงสามารถอ่านคัมภีร์อักษรรามัญได้ด้วย



สมณศักดิ์และหน้าที่การงาน

- พ.ศ. ๒๔๗๖  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระกิตติสารมุนี
- พ.ศ. ๒๔๗๘  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที
- พ.ศ. ๒๔๗๘  ทรงเป็นประธานคณะกรรมการ การทำการในหน้าที่เจ้าคณะมณฑลราชบุรีร่วมกับพระญาณเวที วัดบุรณสิริ  พระวิสุทธิสมโพธิ์ วัดพระเชตุพน และพระอริยกวี วัดจักรวรรดิ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖
- พ.ศ. ๒๔๗๙  ทรงเป็นกรรมการควบคุมการแปลพระไตรปิฎก โดยอนุมัติของประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
- ทรงเป็นกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบของมหาเถรสมาคม ว่าด้วยพระภิกษุสามเณรในอาณาเขตชายแดนไปมาติดต่อกับต่างประเทศ
- ทรงเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๗๙  ร่วมกับพระธรรมโกศาจารย์ พระธรรมไตรโลกาจารย์ พระราชสุธี และพระศรีวิ    สุทธิวงศ์
- พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที
- พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ ทรงเป็นสมาชิกสังฆสภาตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
- พ.ศ. ๒๔๘๔ ทรงพระกรุณาโปรดให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔  แทนพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑  ตามพระราชบัญญัติใหม่คณะสงฆ์มีการปกครองแบบสังฆสภา มีคณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร แบ่งการปกครองส่วนกลางออกเป็น ๔ องค์การ คือ องค์การปกครอง องค์การเผยแผ่ องค์การศึกษา และองค์การสาธารณูปการ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕  ทรงเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
- พ.ศ. ๒๔๘๖ พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี โดย พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ให้มีเจ้าคณะตรวจการภาคแทนเจ้าคณะมณฑล
- เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส
   ครั้งที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๖ รวม ๕ เดือน ๑๓ วัน
   ครั้งที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ถึงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
-  พ.ศ. ๒๔๘๘  โดยคำสั่งของเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต  ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘  ทรงเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม และเป็นเจ้าอาวาสในปีเดียวกัน
-  พ.ศ. ๒๔๘๘ รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์
-  พ.ศ. ๒๔๘๙  ทรงเป็นผู้สั่งการแทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถร)  สังฆนายก
-  พ.ศ. ๒๔๙๐  ทรงได้รับพระราชทานสถาปนา เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระศาสนโศภน  ตำแหน่งเจ้าคณะรองคณะธรรมยุต มีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้



ประกาศสถานาสมณศักดิ์
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รังสิต  กรมขุนชัยนาทนเรนทร
พระยามานวราชเสวี

โดยที่ดำริเห็นว่า พระธรรมปาโมกข์  เป็นพระเถระเจริญด้วยคุณสมบัติ  สรรพวิทยาสามารถ  มีปรีชาฉลาดแตกฉานในพระปริยัติไตรปิฎกสุตาคม  ได้ศึกษาอบรมจบหลักสูตรสอบไล่ได้สำเร็จภูมิเปรียญธรรม ๙ ประโยค  ทรงพระกรุณาโปรดให้มีสมณฐานันดรที่พระราชาคณะตำแหน่ง พระกิตติสารมุนี  พระราชเวที  พระเทพเวที  และพระธรรมปาโมกข์  โดยลำดับ ก็สังวรในสมณคณุอภิสมาจารวัตร รักษาระเบียบปฏิบัติขนบธรรมเนียมประเพณีราชการได้เรียบร้อย  สมควรแก่ตำแหน่งเป็นอย่างดียิ่งตลอดมา ประกอบด้วยมีอุตสาหะวีรยภาพอย่างแรงกล้า ไม่ท้อถอยในการประกอบศาสนกิจให้เจริญรุ่งเรืองสมกับเป็นธรรมทายาท เปรี่องปรีชาสามารถบำเพ็ญกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักรและอาณาจักรอย่างไพศาล อาทิ ในด้านการศึกษา เริ่มแต่ได้เป็นอุทเทศาจารย์สอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ในสำนักวัดมกุฏกษัตริยาราม  ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้นจนถึงจบหลักสูตร  ได้ทำการแทนแม่กองสอบความรู้นักธรรมสนามสาขาแห่งสนามหลวง จังหวัดกาญจนบุรี  เป็นกรรมการตรวจความรู้นักธรรมสนามสาขาแห่งสนามหลวงมณฑลราชบุรี  และมณฑลอยุธยา  เป็นผู้ช่วยแม่กองสอบความรู้นักธรรมสนามหลวง และช่วยจัดสร้างระเบียบการศึกษาและสอบความรู้นักธรรมสนามหลวงให้ดำเนินไปโดยสะดวกและทั่วถึงทุกจังหวัด  เป็นกรรมการตรวจสอบความรู้นักธรรมและบาลีในสนามหลวงตลอดทุกประโยค เป็นกรรมการสอบวิชาจรรยาประโยคมัธยมบริบูณ์ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแก้ไขฟื้นฟูธรรมจริยาของนักเรียนภาษาไทยทั่วราชอาณาจักร เป็นกรรมการพิจารณาเทียบวิทยฐานะเปรียญกับประโยคมัธยม เพื่อให้เปรียญคฤหัสถ์ได้มีสิทธิสอบคัดเลือกเข้ารับราชการและเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยบางแห่ง  ในการบริหารได้เป็นอนุกรรมการมหาเถรสามาคม มีหน้าที่ช่วยภาระพระศาสนาแทนมหาเถรสมาคม เป็นประธานคณะกรรมการทำการในหน้าที่เจ้าคณะมณฑลราชบุรี  เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ใหม่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔  ก็ได้รับหน้าที่เป็นสมาชิกสังฆสภา และเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่  ในสมัยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ดำรงตำแหน่งสังฆนายก  และไม่ได้บัญชาการคณะสงฆ์เพราะเหตุอาพาธ  ได้เลือกสรรและแต่งตั้งให้พระธรรมปาโมกข์แต่ยังเป็นพระเทพเวที เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งสังฆนายก  มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบแทนองค์สังฆนายกในการบริหารคณะสงฆ์ทั่วไปอยู่จนตลอดสมัย  ครั้นในปัจจุบันนี้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ดำรงตำแหน่งสังฆนายกสืบต่อมา ก็ได้เลือกสรรให้พระธรรมปาโมกข์เป็นผู้สั่งการแทนสังฆนายกอีก  ได้บริหารกิจการในหน้าที่สนองพระเดชพระคุณมาด้วยความเรียบร้อยเป็นผลดีโดยตลอด  ทั้งนี้ย่อมประจักษ์ว่าพระธรรมปาโมกข์เป็นผู้เจริญด้วยอุตสาหวีรยาทิคุณ บริบูรณ์ด้วยคุณธรรมวิทยาสามารถอย่างแท้จริง ได้บริหารหน้าที่อันสำคัญยิ่งที่ได้รับภาระมาให้สำเร็จลุล่วงไปได้เป็นอย่างดี  มีปรีชาญาณรอบรู้ระเบียบพิธีปฏิบัติราชการและพิธีสงฆ์ได้เรียบร้อยสมกาลสมัย  ปรากฏเกียรติคุณเป็นที่นิยมสรรเสริญทั่วไปในสงฆมณฑล หมู่ข้าราชการและประชาราษฎร  อนึ่ง ย่อมปรากฏว่า พระธรรมปาโมกข์ประกอบด้วยปฏิภานปรีชาตรีปิฎกกลาโกศล  ฉลาดในโวหารนิพนธ์เทศนาปริวรรตน์  กอปรด้วยประพันธสมบัติสามารถรจนาฉันทพากย์โศลกคาถาได้อย่างไพเราะ  เพราะความเป็นผู้เชี่ยวชาญในอักษาวิธานมคธ  พากย์ฉันทลักษณะวรรณพฤตติวิธี  ได้แต่งคาถาสดุดีประเทศไทย ชื่อรตนัตตยปภาวสิทธิคาถาโดยภาษามคธ  ซึ่งทางราชการกำหนดให้แต่งและประกาศใช้อยู่ในปัจจุบันนี้  สำหรับพระสงฆ์สวดในราชพิธีรัฐพิธีตามกาลสมัย  มีอรรถรสปราฎซาบซึ้งตรึงใจในหมู่เมธีกระวีชาติราชบัณฑิต  อนึ่ง ทางเทศนาโวหารก็มีปฏิภาณพิจิตรเหมาะสมกาลสมัย  สามารถยังกุศลสวนธรรมสวนมัยให้สำเร็จบริบูรณ์ได้ในทุกโอกาส  ด้วยปรีชาฉลาดในวิธีเทศนาลีลา  จึงทรงพระกรุณาโปรดยกเป็นพระคณาจารย์เอกในทางเทศนา ดังปรากฏอยู่ในเวลานี้ ทั้งนี้ จึงเห็นว่าพระธรรมปาโมกข์เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติสรรพวิทยา  สามารถในการบริหารพระศาสนาสมบูรณ์ด้วยอัตตหิตปรหิตจรรยา  และเจริญด้วยพรรษายุกาลรัตตัญญูมหาเถรกรณธรรม ยินดีในพรหมจรรย์เนกขัมมปฏิปทา เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต มีวัตตจริยาเป็นที่น่าเลื่อมใส เป็นหลักอยู่ในคณะธรรมยุตติการูปหนึ่ง สมควรยกย่องให้ดำรงสมณฐานันดรศักดิ์สูงขึ้น

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงให้สถาปนาพระธรรมปาโมกข์เป็นที่รองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัณยบัฏว่า พระศาสนาโศภน วิมลญาณอดุลย์ ตรีปิฎกธรรมาลังการภูสิต ธรรมนิตยสาทร อุดมคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัดอรรถจริยานุกิจ พิพิธธรรมโกศล วิมลสุตาคม อุดมคณานุนายก ตรีปฎกญาณวิจิตร ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพิศิษฐสรเวท พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิเศษสรวุฒิ พระครูคู่สวด ๑ พระครูสังฆวุฒิกร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ขออาราธนาพระคุณทั้งปวงผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณฐานันดรเพิ่มอิสสริยยศในครั้งนี้ จงรับธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะและในพระอาราม ตามสมควรแก่กำลังและอิสสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ และจงเจริญอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาน คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติวิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๐   เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

                                                                                                           ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

                                                                                                                         พลเรือตรี ถ ธำรงนาวาสวัสดี
                                                                                                                                      นายกรัฐมนตรี


-  พ.ศ. ๒๔๙๓  ทรงเป็นผู้สั่งการแทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถร) สังฆนายกสมัยที่ ๒
-  พ.ศ. ๒๔๙๔ ทรงเป็นสังฆนายกสืบต่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งถึงมรณภาพเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน 
-  พ.ศ. ๒๔๙๔  และคงเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่อีกตำแหน่งหนึ่ง
-  พ.ศ. ๒๔๙๔  ลาออกจากตำแหน่งสังฆนายก
- พ.ศ.  ๒๔๙๔  เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ในคณะสังฆมนตรี ซึ่งมีสมเด็จพระวันรัต (กิตฺติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตร เป็นสังฆนายก
-  พ.ศ. ๒๔๙๙  ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติ
- พ.ศ. ๒๕๐๑  ทรงเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์  และทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติ
- พ.ศ. ๒๕๐๓  ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆนายก
- พ.ศ. ๒๕๐๕  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (กิตฺติโสภณมหาเถร)  สมเด็จพระสังฆราชวัดเบญจมบพิตร สิ้นพระชนม์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือแจ้งมอบหน้าที่และอำนาจให้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
- วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖   ทรงพ้นจากตำแหน่งสังฆนายก  เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ ขึ้น  โดยคณะสงฆ์มีการปกครองแบบมหาเถรสมาคม เป็นองค์กรสูงสุดทางการปกครอง  เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
- วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘   ทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติ ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ข้อ ๖



สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๘  ได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  พระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ

ในการสถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชใหม่ เพื่อให้เป็นแบบอย่างต่อไปดังคำปรารภของสำนักพระราชวังดังนี้

“ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ พระมหากษัตริย์จะทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่  ภายหลังถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนแล้ว  การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช  โดยปกติกระทำรวมกับการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา หรือพระราชพิธีฉัตรมงคล สุดแต่ระยะเวลาการสถาปนาจะใกล้กับการพระราชพิธีใด  ซึ่งเสมือนกับการสถาปนาสมเด็จพระเถรองค์อื่น ๆ

ในการทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงสมณศักดิ์สูงสุด  ทรงเป็นสกลมหาสังฆปริณายกประธานาธิบดีสงฆ์  และทรงเป็นที่เคารพสักการะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาล และพุทธมามกะโดยทั่วไป  ทรงเป็นจุดรวมของศรัทธาปสาทะแห่งพุทธบริษัททั้งในและนอกราชอาณาจักร  ประกอบด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับคำกราบบังคมทูลของรัฐบาล กับสังฆทัสนะในมหาเถรสมาคมโดยเอกฉันทมติ  และทรงพิจาณาโดยรอบคอบด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงอาศัยพระราชอำนาจ ทรงสถาปนาสมเด็จพระเถระขึ้นทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นการเพียบพร้อมและสมบูรณ์ทุกประการ

ด้วยความสำคัญในสมณศักดิ์ประการหนึ่ง และด้วยความเพียบพร้อมในพระราชดำริพิจารณาอีกประการหนึ่ง จึงสมควรที่จะถวายพระเกียรติยศโดยตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระราชพิธีต่างหากโดยเฉพาะไม่รวมอยู่ในการพระราชพิธีอื่นใด  และให้มีลักษณะการพระราชพิธีแตกต่างกว่าก่อน  เดิมมีเพียงเจ้าพนักงานอาลักษณ์อ่านกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช  และถวายพระสุพรรณบัฏ  พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์  การพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชคราวนี้  มีพระราชดำริให้ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ และถวายพระสุพรรณบัฏ  พัดยศและเครื่องสมณศักดิ์ ท่ามกลางมหาสมาคมทั้งฝ่ายพุทธจักรและราชอาณาจักร ทางฝ่ายพุทธจักรประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะ  พระกรรมการมหาเถรสมาคม  เจ้าคณะภาค  เจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร  และทางราชอาณาจักรก็ครบถุกสถาบันนับแต่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ ประธานฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนข้าราชการทั้งมวล เพื่อมหาสมาคมดังกล่าวแล้ว จะได้พร้อมกันอนุโมทนาสาธุการ สมกับที่จะทรงเป็นสกลมหาสังฆปรินายก ทรงปกครองคณะสงฆ์ เป็นที่เชิดชูพระพุทธศาสนาให้วัฒนาสถาพรสืบไป  เลขาธิการพระราชวังจึงรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ  ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สนองกระแสพระราชดำริ โดยกำหนดจารึกพระสุพรรณบัฏในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ เวลา ๑๕.๓๓ น.  และวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘  เวลา ๑๖.๐๐ น. เป็นการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช  รายละเอียดแห่งการพระราชพิธีมีปรากฏในหมายกำหนดการของสำนักพระราชวังแล้ว”



พระกรณียกิจพิเศษ

พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงผนวชพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์  เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศาสนโศภน ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระราชพิธีทรงผนวชครั้งนี้

พ.ศ. ๒๕๐๙  ทรงเป็นประธานสงฆ์ในพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ  ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์  สยามมกุฎราชกุมาร  ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จไปทรงศึกษา ณ ต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๙



พระอวสานกาล

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน  อุฏฺฐายีมหาเถร)  สิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุ เพราะถูกรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กส่วนบุคคลขับสวนทางมาพุ่งเข้าชนรถยนต์พระประเทียบ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔  เวลา ๑๐.๐๕ น.


สิริพระชนมายุได้ ๗๔ พรรษา ๑๑ เดือน ๒ วัน ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ๗ พรรษา












รวบรวมเรียบเรียง โดย กิมเล้ง : http://www.sookjai.com

ข้อมูล
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๕
http://th.wikipedia.org
http://www.jariyatam.com







.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
zabver
มือใหม่หัดโพสท์กระทู้
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 1


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2555 17:54:13 »

0.0
บันทึกการเข้า
คำค้น: พระธรรมปาโมกข์ 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๑๐ : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสนฯ)
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
Kimleng 1 4195 กระทู้ล่าสุด 26 เมษายน 2555 19:04:43
โดย Kimleng
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว)
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1207 กระทู้ล่าสุด 17 กันยายน 2560 19:25:24
โดย ใบบุญ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 9
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 820 กระทู้ล่าสุด 05 ตุลาคม 2561 13:07:21
โดย ใบบุญ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สา ปุสสเทโว)
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 877 กระทู้ล่าสุด 19 สิงหาคม 2563 13:53:10
โดย ใบบุญ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว)
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 394 กระทู้ล่าสุด 08 มิถุนายน 2565 19:00:50
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.849 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 06 มีนาคม 2567 18:29:03