[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 มีนาคม 2567 14:16:22 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๑๐ : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสนฯ)  (อ่าน 4195 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 26 เมษายน 2555 18:40:36 »

พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์


สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสนมหาเถร)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๑๐
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(วาสน์ วาสนมหาเถร)


พระชาติภูมิ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  (วาสนมหาเถร) เป็นชาวตำบลบ่อโพลง  อำเภอนครหลวง  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ประสูติในตระกูล นิลประภา เมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๐  เวลา ๑๙.๓๓ น. ท่านบิดาชื่อ นายบาง  ท่านมารดาชื่อ นางผาด  ครอบครัวมีอาชีพทำนา  เมื่อแรกประสูติท่านบิดามารดาให้ชื่อว่า “มัทรี”   เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรจึงเปลี่ยนเป็น “วาสน์”


พระประวัติเบื้องต้น
สมัยเยาว์วัย  ทรงเล่าเรียนหนังสือไทยที่วัดโพธิ์ทอง ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้าน ต่อมาได้เข้ามาเป็นศิษย์ของ พระญาณดิลก แต่เมื่อยังเป็น พระมหารอด วราสโย วัดเสนาสนารามในตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งครั้งนั้นยังเรียกว่า กรุงเก่า และได้ทรงเล่าเรียนหนังสือไทยต่อในโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า (คือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ในปัจจุบัน) จนสอบไล่ได้เทียบชั้นมัธยมปีที่ ๒ จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่วัดราชบพิธ โดยเป็นศิษย์ของ พระอมรโมลี  แต่เมื่อยังเป็น พระมหาทวี ธรมธัช ป.ธ. ๙ เหตุที่ทรงย้ายเข้ามาเข้าอยู่วัดราชบพิธนั้น ได้ทรงบันทึกเล่าไว้อย่างน่าฟังว่า  

“สมัยเป็นนักเรียนอายุประมาณ ๑๔-๑๕ ปี  เป็นศิษย์อยู่ในปกครองของพระมหารอด วราสโย  (ภายหลังเป็นพระราชาคณะที่พระญาณดิลก)   เจ้าอาวาสวัดเสนาสนาราม  พระนครศรีอยุธยา สมัยยังมีชื่อว่า กรุงเก่า   ได้มีญาติผู้ใหญ่ชั้นลูกพี่ลูกน้องของยายซึ่งได้นำลูกชายมาฝากให้อยู่ในปกครองของพระผู้เป็นญาติ (พระมหาทวี ป.ธ. ๙) วัดราชบพิธอยู่ก่อนแล้ว  ได้รับการแนะนำจากพระผู้เป็นญาตินั้นว่า ให้พิจารณาเลือกดูนิสัยใจคอของลูกหลานแถวย่านบ้านบ่อโพง  ถ้าเห็นคนไหนที่มีนิสัยดี ฉลาดเฉลียวพอควร ก็ให้นำมาอยู่ด้วย  เพื่อจะได้เป็นเชื้อสายอยู่ในวัดราชบพิธนี้สืบไป  เราเป็นลูกหลานคนหนึ่ง ที่ญาติผู้ใหญ่นั้นเห็นว่า มีนิสัยควรส่งให้มาอยู่ในสำนักพระผู้เป็นญาติได้  ท่านจึงแนะนำกะพ่อแม่ให้ทราบถึงความหวังเจริญสุขของลูกต่อไปภายหน้า   แม่เต็มใจยินดีอนุญาต เพราะมีความตั้งใจอยู่แล้วว่า มีลูกชายคนเดียวจะพยายามส่งเสียไม่ต้องให้มาทำนากินเหมือนพ่อแม่  เมื่อพ่อก็เห็นชอบที่จะส่งลูกให้มาอยู่กรุงเทพฯ แล้ว จึงเป็นอันเตรียมตัวได้  ขณะนั้น เรากำลังเรียนหนังสือไทยอยู่ที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า (ปัจจุบันคือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย)   เมื่อได้แจ้งการขอลาออกจากโรงเรียน เพื่อไปอยู่บางกอก (เรียกตามสมัยนั้น) แล้วญาติผู้ใหญ่จึงได้กำหนดวันนำมาบางกอก โดยพ่อแม่กำลังติดการเกี่ยวข้าวอยู่ (ประมาณเดือนธันวาคม) จึงไม่ได้นำมาด้วยตนเอง

ขอบรรยายถึงความรู้สึกในสมัยนั้น  คราวโดยสารรถไฟเข้าบางกอก เนื่องด้วยได้อ่านหนังสือแบบเรียนธรรมจริยา  เล่าถึงรถเจ็ก รถไอ  และผู้คนบ้านเรือนชาวบางกอก ทำให้นึกอยากเห็น อยากดูของจริงมาแต่สมัยนั้นแล้ว  พอขึ้นรถไฟ ก็ไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ ชอบดูภูมิประเทศโดยเฉพาะทิวไม้ที่ห่างไกล  เมื่อรถไฟแล่นไป ชวนให้เห็นว่าต้นไม้เหล่านั้นวิ่งตามไปด้วย  คล้ายกับที่ครูสอนว่า โลกเราเดิน พระอาทิตย์ไม่ได้เดิน เพราะเราอยู่ในรถไฟที่วิ่งไปตามรางทำให้เราเห็นทิวต้นไม้วิ่งตาม ไม่รู้ว่ารถวิ่ง พอรถไฟผ่านสถานีสามเสน ก็ยืนเกาะหน้าต่างรถไฟจ้องดูรถเจ๊กที่วิ่งอยู่ตามถนน  ด้วยความตื่นเต้นที่ได้เห็นของจริงๆ ดีกว่าเห็นรูปในหนังสือ  (สมัยนั้นสถานีกรุงเทพฯ อยู่ที่นพวงศ์) ญาติพาออกจากสถานี มาขึ้นรถไอ  ยิ่งตื่นตาตื่นใจยิ่งนักที่ได้โดยสาร  จนรถวิ่งมาถึงสี่กั๊กเสาชิงช้า กำลังรอหลีก  จึงลงเดินมาวัดราชบพิธ ด้วยความระมัดระวังตัวแจเพราะเคยได้ฟังมาว่า คนบ้านนอกเข้ากรุงมักเหม่อมองชมผู้คนบ้านเรือน  จนกระทั่งเหยียบอ่างกะปิที่เจ้าของนำมาตากที่หน้าร้านริมทางเดินโดยไม่ทันรู้ตัว  เมื่อได้พบพระผู้เป็นญาติแล้ว ตกลงจะให้บวชเป็นสามเณร  ตอนนี้รู้สึกผิดหวัง เพราะนึกว่าจะต้องมาเรียนหนังสือไทยต่อ แต่เมื่อผู้ใหญ่เห็นดีงามเช่นนั้นก็จำอนุโลมตาม  การที่ได้รับการพิจารณาเลือกเฟ้นนิสัยใจคอ ความประพฤติว่าเป็นผู้มีแววสมควรให้จากบ้านมาอยู่วัดราชบพิธครั้งนี้ได้  จึงถือว่าเป็นรางวัลในชีวิต ครั้งที่ ๑

เมื่อได้อยู่เป็นศิษย์ ติดตามไปในงานต่างๆ เป็นการเปิดหูเปิดตา  ในฐานะเป็นลูกศิษย์ต้องนุ่งผ้าพื้น สวมเสื้อ ๕ ตะเข็บ  ประมาณ ๒ เดือนเศษ ก็เตรียมการท่องบ่นวิธีบรรพชาไปพลาง มีเรื่องขำที่ควรจำ เรื่องของเด็กบ้านนอกอยู่ตอนหนึ่ง คือเป็นระเบียบของวัด ใครจะบรรพชาอุปสมบทผู้ปกครองจะต้องนำขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อเจ้าอาวาส (กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์) ถึงฤกษ์งามยามดี ผู้ปกครองนำขึ้นเฝ้าในตำหนักที่ประทับพร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนแพ มีตะลุ่มรองตามระเบียบเฝ้าเจ้านาย  ฆราวาสจะต้องใช้กิริยาหมอบ  แต่เราไม่ได้รับการแนะนำฝึกหัดไว้ก่อน  เมื่อถวายดอกไม้ธูปเทียนแล้ว คงถอยออกมานั่งพับเพียบตัวตรงอยู่  แม้ผู้ปกครองจะถลึงตาเป็นเชิงให้หมอบก็หารู้ความประสงค์ไม่ จนถึงเวลาทูลลากลับ ถูกผู้ปกครองดุเมื่อตอนกลับจากตำหนักเอาว่า  “อ้ายเซ่อ ไม่รู้จักระเบียบ”  


ทรงบรรพชา
เมื่อพระชนมายุได้ ๑๕  หลังจากมาอยู่วัดราชบพิธได้ประมาณ ๔-๕ เดือน ก็ทรงบรรพชาเป็นสามเณร โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชุมพูนุท สิริวฑฺฒโน) วัดราชบพิธ ครั้งยังดำรงพระยศกรมหมื่น  เป็นพระอุปัชฌาย์   พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาโณ) วัดราชบพิธ เป็นพระศีลาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๕  ได้ทรงบันทึกเล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งทรงบรรพชา และทรงศึกษาเล่าเรียนที่วัดราชบพิธไว้ว่า

“ถึงคราวบรรพชา ได้บรรพชาเป็นหางนาคของสามเณรโชติ เปรียญ ๓ ประโยค ซึ่งเป็นญาติของผู้ปกครอง  มีข้าหลวงเจ้านายในวังหลวง (ม.ร.ว.แป้น มาลากุล) เป็นผู้อุปการะจัดเครื่องอัฐบริขาร  ส่วนเรา หม่อมเจ้าหญิงไขศรี ปราโมช  ผู้อุปการะท่านผู้ปกครอง รับจัดบริขารให้ (จำได้ว่า มีพรมขนาดปูหน้าเตียง ๑ ที่นอน ๑ หมอน ๑  มุ้งประทุน ๑  ผ้าห่ม ๑)

เมื่อบรรพชาแล้ว ไม่มีใครเป็นพี่เลี้ยงแนะนำ  ในการปฏิบัติหน้าที่ของสามเณรจนถึงเวลาเกือบจะออกพรรษา (พ.ศ. ๒๔๕๕)  มหาดเล็กได้มาเตือนว่า ไม่เห็นขึ้นไปขอศีลขอทัณฑกรรมเหมือนสามเณรอื่นเลย จึงเริ่มรู้สึกว่าจะต้องศึกษาระเบียบหน้าที่ของวัดอีกมาก

การเรียนธรรมวินัยสมัยนั้น ก็เรียนสามเณรสิกขาธรรมวิภาค เที่ยวขอเรียนตามกุฏิของท่านผู้มีกะใจสอนด้วยตนเอง เพื่อเข้าสอบพร้อมกับนวกะตอนใกล้ออกพรรษา เพราะเรายังเป็นเด็กบ้านนอกยังไม่สิ้นกลิ่นโคลนสาบควาย จึงพยายามท่องจำแบบอย่างเป็นหลักให้มากกว่าการเข้าใจ สันนิษฐานปัญหาที่ออกสอบมีถึง ๒๑ ข้อ ถามแบบเป็นส่วนมาก เมื่อเช่นนี้สามเณรบ้านนอก  จึงตอบได้คะแนนเป็นที่ ๑ ชนะพวกนวกะ เพราะท่านไม่ได้ท่องจำแบบ  ถึงคราวประทานประกาศนียบัตร มีประทานรางวัลแก่ผู้สอบได้คะแนนที่ ๑ ด้วย จึงมีโอกาสได้รับรางวัล เป็นนาฬิกาพก ๑ เรือน หน้าบานอยู่หลายวัน

ในสมัยนั้นทางการคณะสงฆ์เพิ่งจัดให้สามเณรศึกษาความรู้  มีการสอบไล่ความรู้ในวิชาเรียงความ ธรรมวิภาค  ผู้สอบได้เรียกว่าสามเณรรู้ธรรม ฟังได้ในราชการ (คือยกเว้นการเกณฑ์ทหาร) เราเข้าสอบได้ ต่อมาเพิ่มวิชาพุทธประวัติอีกวิชา ๑ ต้องมีการเรียนอีก  ขณะนั้นไม่มีครูสอนโดยเฉพาะแต่ได้อาศัยพระครูวินัยธรรม (มหาเอี่ยม) รับอาสาช่วยสอนให้ มีนักเรียนราว ๔-๕ รูป ใช้ที่อยู่ของท่านที่ศาลาการเปรียญ (ศาลาร้อยปี) เป็นที่เรียน  เมื่อสอนจนนับว่าจบเรื่องจึงมีการสอบเป็นการทบทวนความรู้ เราสอบได้คะแนนดี จึงรับรางวัลเป็นกรอบรูปไม้ ๑ กรอบ (ได้นำมาใส่ประกาศนียบัตรที่สอบธรรมได้ในระหว่างพรรษา)  แม้จะดูเป็นของเล็กน้อยในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๕) แต่เมื่อนึกถึงสมัย (พ.ศ. ๒๔๕๕) นับว่ามีค่าสูงพอควรที่จะยิ้มแย้มดีใจทีเดียว”


ทรงอุปสมบท
พุทธศักราช ๒๔๖๑ พระชนมายุครบอุปสมบท  ทรงอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธ โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์  พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาโณ) วัดราชบพิธ และพระญาณดิลก (รอด วราสโย) วัดเสนาสนาราม  พระนครศรีอยุธยา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ ตามลำดับ เมื่อปีมะเมีย วันที่ ๒ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๔๖๑  ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

เมื่อทรงอุปสมบทแล้ว ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อไป  พ.ศ. ๒๔๖๑ สอบได้นักธรรมชั้นโท  พ.ศ. ๒๔๗๐  สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค   ดูเหมือนว่าจะไม่ทรงมีพระอัธยาศัยในการศึกษาภาษาบาลี  แต่ทรงเพลินไปในการทำหน้าที่การงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายมากกว่า  ประกอบเมื่อทรงอุปสมบทแล้วเสด็จพระอุปัชาฌาย์ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)  ทรงโปรดให้รับใช้ถวายงานในด้านต่างๆ มากขึ้น  จึงพาให้เพลินไปในการงานและภาระรับผิดชอบ


พระเกียรติและภาระหน้าที่
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นที่ทรงโปรดปรานของเสด็จพระอุปัชฌาย์เป็นพิเศษกว่าภิกษุสามเณรที่ถวายงานรับใช้อื่นๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโดยพื้นพระอัธยาศัยทรงเป็นผู้เรียบร้อยละเมียดละไม ฉะนั้น เมื่อทรงมีโอกาสถวายการรับใช้และถวายอุปัฏฐาก เสด็จพระอุปัชฌาย์จึงทรงพระเมตตาโดยง่าย และทรงไว้วางพระทัยในเรื่องต่างๆ เป็นอันมาก ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อทรงอุปสมบทได้เพียง ๕ พรรษา เสด็จพระอุปัชฌาย์ก็โปรดประทานแต่งตั้งให้เป็นฐานานุกรมผู้ใหญ่ที่ พระครูโฆสิตสุทธสร พระครูคู่สวด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕  ปีรุ่งขึ้น (พ.ศ. ๒๔๖๖) โปรดให้เลื่อนขึ้นเป็น พระครูธรรมธร แล้วเลื่อนขึ้นเป็น พระครูวิจิตรธรรมคุณ ในปีเดียวกัน

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงไว้วางพระทัยในเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เพียงไร คงจะเห็นได้จากการที่ทรงปลงสมณบริขารแก่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ   ตั้งแต่ก่อนจะสิ้นพระชนม์ถึง ๘ ปีเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงบันทึกเล่าถึงการถวายงานในเสด็จพระอุปัชฌาย์ตลอดถึงการทรงปลงสมณบริขารไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ดังนี้

“ส่วนการรับสนองงานถวายสมเด็จพระอุปัชฌาย์นั้น ได้เริ่มตามโอกาสเช่นการพิมพ์หนังสือ คือในตอนแรกๆ ได้ช่วยพระครูวิจารณ์ธุรกิจ (ม.ร.ว.เฉลิม ลดาวัลย์)  ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติสนองเป็นประจำอยู่แล้ว ฝ่ายเราเพียงแต่มาสนทนาปราศรัยกับท่าน เห็นงานพิมพ์ยังค้างพอมีความรู้การพิมพ์ได้บ้างจึงช่วยพิมพ์แทนอยู่บ่อยๆ ข่าวนี้คงทราบถึงเจ้าพระคุณ ต่อมาได้ทรงรับถวายกัณฑ์เทศน์เป็นเครื่องพิมพ์ดีดแบบใหม่  รับสั่งให้มอบไว้ที่เรา วันหนึ่งเมื่อมีงานพิมพ์จึงรับสั่งหา เมื่อขึ้นเฝ้าทรงมอบเรื่องให้พิมพ์โดยรับสั่งว่าไม่ต้องรีบนักก็ได้ เมื่อทูลลากลับมาแล้วเกิดวางใจ เพราะรับสั่งไม่ต้องรีบจึงปล่อยงานพิมพ์ให้ว่างอยู่ ๒ วัน พอถึงวันที่ ๓ ก็มีพระมหาดเล็กมาถามว่าเรื่องที่สมเด็จให้พิมพ์เสร็จหรือยัง ทำให้ตกใจ ที่ประมาทตามรับสั่งหารู้ไม่ว่ามีพระประสงค์รวดเร็วเช่นนี้ จึงรีบพิมพ์เสร็จเรียบร้อยนำขึ้นถวายได้ในวันนั้น จากนี้ก็ถือเรื่องนี้เป็นครู  ประทานงานตอนเช้าต้องให้เสร็จถวายได้ตอนกลางวัน ถ้างานกลางวันต้องให้เสร็จตอนเย็นไม่ยอมให้คั่งค้างล่าช้าต่อไป นับว่าได้งานทันพระทัยเสมอ

ตราบถึงงานศพหม่อมปุ่น ชมพูนุท หม่อมมารดาในพระองค์  ซึ่งตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่ศาลาการเปรียญ (ศรป. ในปัจจุบัน)  จึงขอเล่าการศพหม่อมปุ่น ชมพูนุท ฝากไว้ในที่นี้ด้วย เสด็จฯ เจ้าพระคุณพระอุปัชฌาย์  ทรงห่วงใยในชีวิตหม่อมมารดาเป็นอย่างมาก ทรงเกรงว่าถ้าพระองค์สิ้นพระชนม์ก่อนหม่อมโยมจะลำบาก  จึงโปรดให้พระคลังข้างที่สะสมเบี้ยหวัดส่วนพระองค์ในฐานะหม่อมเจ้าไว้จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อการศพของหม่อมโยม  ด้วยพระประสงค์จะตั้งศพหม่อมโยมที่วัดมะขามใต้ซึ่งได้โปรดให้สร้างมณฑปเพื่อเป็นฌาปนสถานเตรียมไว้แล้ว เหตุที่ทรงเกี่ยวข้องกับวัดมะขามใต้ (วัดชินวราราม ปัจจุบัน) นั้น ทราบว่าประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงตรวจการคณะในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง มาพบวัดมะขามใต้นี้ สร้างอุโบสถค้างอยู่เพียงผนัง ๔ ด้าน ก็หมดทุน  จึงทรงตกลงกับเจ้าอาวาสว่า ถ้าอนุญาตให้บรรจุอัฐิหม่อมโยมที่ฐานพระประธานได้ ก็จะรับช่วยสร้างจนสำเร็จ เจ้าอาวาสยินดีถวาย  จึงนำให้ได้ปฏิสังขรณ์ทั้งอารามแต่นั้นมา  ครั้นถึงคราวหม่อมปุ่น ชมพูนุท ถึงอนิจจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒  ทางราชการจึงถือว่าตำแหน่งพระสังฆราช เทียบเท่าตำแหน่งเสนาบดี  บิดามารดาเสนาบดีถึงมรณะต้องได้รับพระราชทานโกศทรงศพ  เมื่อเหตุการณ์ไม่สมพระประสงค์เช่นนี้  จึงต้องตั้งศพที่ศาลาการเปรียญด้านตะวันออกวัดราชบพิธ (ศรป. ในปัจจุบัน)  เราได้ฉลองพระเดชพระคุณอย่างเต็มสติกำลังด้วยการควบคุมทำความเรียบร้อยสถานที่ ติดต่ออาราธนาพระ และฝึกหัดพระภิกษุสามเณรในวัดทุกรูป ให้สวดสรภัญญะเตรียมไว้ทั้งพระใหม่พระเก่า เพื่ออาราธนาสวดประจำสัตตมวารเวียนกันไปจนหมดวัด

เมื่อได้รับพระราชทานเพลิงศพใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่วัดเทพศิรินทราวาส  และนำอัฐิอังคาร ไปบำเพ็ญกุศลบรรจุที่ชั้นล่างของมณฑปวัดมะขามใต้เรียบร้อยแล้ว  จากงานนี้ ๕-๖ วัน ถึงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. เศษ สามเณรที่อยู่เวรมาแจ้งว่า รับสั่งหา จึงเตรียมตัวขึ้นเฝ้า กำลังประทับพระเก้าอี้ที่เฉลียงหน้าตำหนักอรุณ ริมด้านตะวันออกอย่างเคย เพียงพระองค์เดียว เมื่อถวายบังคมนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้รับสั่งถามว่า “คิดจะสึกหรือยัง”   นึกในใจขณะนั้นว่าต้องทูลแบบศรีธนญชัยว่า  “เวลานี้ (คือขณะที่เฝ้าอยู่) ยังไม่ได้คิด (ตามความจริง)”   จึงรับสั่งให้ตามเสด็จเข้าภายในตำหนักที่ประทับ (พระที่นั่งสีตลาภิรมย์)  ทรงมอบซองหนังสือ ๑ ซอง รับสั่งให้อ่านดูใจความที่ทรงเป็นลายพระหัตถ์ด้วยดินสอดำ แสดงถึงครุภัณฑ์สิ่งไรเป็นของสงฆ์ สิ่งไรเป็นของส่วนพระองค์  ได้ประทานบริขารส่วนพระองค์ได้เราทั้งหมดพร้อมทั้งจตุปัจจัยบางส่วน เมื่อจบแล้ว รับสั่งถามว่า  “เป็นการปลงบริขารไหม”  ทูลตอบว่า เป็นการปลงบริขารตามหลักพระวินัยแล้ว  ได้รับสั่งอีกว่า ให้นำไปรักษาไว้ถึงคราวเจ็บหนักต่อไป ถ้ามีเวลาก็ให้นำมาอ่านทบทวนอีกครั้ง  ถ้าไม่มีเวลา ก็ให้ถือปฏิบัติตามพระหัตถ์นี้  และอย่าเปิดเผยให้แพร่งพรายจะทำให้ร่ำลือไปต่างๆ  ขณะนั้นรู้สึกน้ำตาซึมเบ้าตา  ด้วยนึกว่าจะสิ้นพระชนม์เสียเร็วกระมัง   จึงถือว่า เป็นรางวัลชีวิตอย่างสูงสุด ที่ลูกชาวบ้านจะพึงได้รับ

ได้ปกปิดเรื่องการปลงพระบริขาร จาก พ.ศ. ๒๔๗๒ จนถึงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ พระมหาดเล็กได้มาแจ้งตอนเวลาเช้ามืดประมาณ ๐๕.๓๐ น. ว่าเสด็จรับสั่งหา ทั้งนี้ เนื่องด้วยประชวร แต่พระอาการยังไม่เป็นที่น่าวิตกอย่างใด ครั้นรับสั่งหาในเวลาวิกาลเช่นนี้ จึงตกใจมากไม่ทันล้างหน้า รีบขึ้นเฝ้าเห็นบรรทมตะแคงเบื้องซ้าย หลับพระเนตร  จึงแสดงอาการกราบให้หนัก เพื่อรู้สึกพระองค์  เมื่อลืมพระเนตรพบแล้วรับสั่งว่านำหนังสือ (หมายถึงเรื่องปลงบริขาร) มาด้วยหรือเปล่า รีบทูลว่า ยังไม่ได้นำมา แล้วทูลลารีบมานำหนังสือ  ในระหว่างทางได้แจ้งแก่พระเณรที่ตื่นแล้ว  ว่าให้รีบแจ้งแก่พระเณรในวัดให้ทราบว่าเสด็จประชวรหนักให้รีบมาเฝ้า เมื่อนำหนังสือปลงพระบริขารนั้นมาทูลให้ทรงทราบแล้ว รับสั่งให้แก้จำนวนเงินที่ประทานแก่มหาดเล็กบางคนเสียใหม่ต่อหน้าพระภิกษุสามเณรที่กำลังรุมเฝ้าอยู่มากรูป

ในการปฏิบัติพระศพ จึงต้องรับภาระเป็นกำลังจัดการจนประดิษฐานพระโกศทองน้อยภายในตำหนักอรุณชั้นบนเรียบร้อย  ท่านผู้รักษาการหน้าที่เจ้าอาวาส พระสาสนโสภณ (ภา ภาณโก) ได้ชี้แจงว่า การปฏิบัติพระศพทุกอย่างเป็นหน้าที่ของคุณผู้รับปลงพระบริขาร  ส่วนหน้าที่การงานอันเกี่ยวกับตำแหน่งเจ้าอาวาส จงแจ้งให้ทราบ  รู้สึกหนักใจมาก เมื่อได้ร่วมมือกับภิกษุสามเณรรุ่นเดียวกัน  โดยปันหน้าที่กันคนละแผนก ร่วมใจกันสนองพระเดชพระคุณ เพราะไม่ได้เหน็ดเหนื่อยในการพยาบาล  ก็ควรร่วมแรงร่วมใจในการปฏิบัติพระศพให้เต็มสติกำลัง จนตลอด  ส่วนพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ก็เรียนรายงานให้ทราบทุกครั้งบำเพ็ญกุศล เพื่อท่านได้มาร่วมฐานะรับแขก ปฏิบัติอยู่ประมาณปีเศษ จึงได้รับพระราชทานเพลิงและบรรจุพระอัฐิที่อนุสาวรีย์ที่ทรงสร้างเป็นรูปร่างเตรียมไว้ที่ซอกมุมกำแพง ด้านพุทธาวาส ทิศตะวันตก  การเป็นผู้จัดการพระศพ สำเร็จลงด้วยความเรียบร้อยสมพระเกียรติทุกอย่าง ถึงกับได้รับการยกย่องจาก พระสาสนโสภณ (ภา ภาณโก) ว่า “เรายอมแพ้คุณในการจัดการพระศพครั้งนี้  ล้วนเหมาะสมพระเกียรติทุกอย่าง  ตลอดจนเครื่องไทยทาน จำนวนพระที่ร่วมในพิธีงาน”  ผลที่ได้รับตอบแทนครั้งนี้ ซึ่งเหมือนทำปริญญาบริหารศาสตร์  จึงมิช้านานตำแหน่งหน้าที่ของการคณะก็มาถึงอย่างไม่คาดหมาย  คิดว่าล้วนเป็นผลสนองน้ำใจกตัญญูกตเวทีอย่างเต็มใจแท้จริงนั่นเอง”



ทรงเป็นกวีและนักประพันธ์
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระอัธยาศัยทางการประพันธ์ ทั้งในเชิงร้อยแก้วและร้อยกรอง  ได้ทรงเริ่มสนพระทัยในทางการประพันธ์มาแต่เมื่อเป็นสามเณร แต่มาสนพระทัยอย่างจริงจังหลังจากทรงอุปสมบทแล้ว ทรงสนพระทัยในการประพันธ์ชนิดใดบ้าง  ทรงฝึกฝนพระองค์ในเรื่องนี้อย่างไร และทรงประสบความสำเร็จในด้านการประพันธ์อย่างไรบ้าง ได้ทรงบันทึกเล่าไว้อย่างละเอียด ดังนี้

“ได้ถือโอกาสสอบตกนี้ลองฝึกฝนหัดแต่งการประพันธ์ไปตามความปรารถนาที่เคยคิดไว้แต่เมื่อยังเป็นสามเณรเล็กนั้น เมื่อเพื่อนเด็กฆราวาสไปทราบเรื่องมีการแต่งประกวดให้รางวัลกันที่ไหน ก็มักนำมาเล่าให้ฟัง ได้ลองแต่งแทนเด็กไปส่งประกวดกับเขา เป็นการฝึกฝนตนเองในการแต่งร้อยกรอง มักได้รับชมเชยบ้างและถึงกับได้รางวัลที่ ๑ ก็มีบ่อยครั้ง ถึงคราวรับรางวัลเด็กผู้ส่งเขาก็รับรางวัลเอง เราเพียงแต่ขอดูรางวัลและดีใจด้วย ชวนให้นึกถึงคราวหนึ่ง โรงละครปราโมทัย  ตั้งแสดงที่ตำบลสามยอด  ออกบทให้แต่งดอกสร้อยประกวดชิงรางวัลในหัวข้อว่า  ระบำเอย...ให้แต่งต่อจนจบ  บทนี้ได้รางวัลที่ ๑ เพราะแต่งด้วยกลอนกลบททำให้ติดใจจำได้ว่า

      ระบำเอย ระบำสยาม
      เพลินจิตหวิว พริ้วใจหวาม งามเฉิดฉาย
      เล่ห์กระบวน ล้วนแกล้งเยือน เยื้อนแย้มพราย
      โปร่งท่าเยื้อง เปรื่องที่ย้าย ปลุกใจเพลิน
      แม้ต่างชาติ มาตรตนชม นิยมเยี่ยม
      วธูไทย ไวเท่าเทียม เลี่ยมไม่เขิน
      สาวระบำ ส่ำระบอบ กอบไทยเจริญ
      เอิกก้องชื่อ อื้อเกียรติเชิญ เพลินจิตเอย.


ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๖๙  มีบุคคลคณะหนึ่งปรากฏชื่อว่า นายแช เศรษฐบุตร เป็นบรรณาธิการผู้จัดการออกหนังสือรายปักษ์ชื่อตู้ทอง  จุดหมายเพื่อจะรวบรวมความรู้ต่างๆ ที่ลูกเสือควรจะเรียนรู้จดจำ  ในฉบับปฐมฤกษ์มีประกวดให้แต่งโคลง ๔ สุภาพ มีกระทู้ว่า ตู้ ทอง ของ ไทย  เห็นสมควรปรารถนาที่จะได้แอบฝึกปรือมานานแล้วควรจะได้แสดงฝีปากออกแข่งขันกับเขาบ้างในครั้งนี้ จึงได้แต่งส่งประกวดมีใจความว่า

           ตู้ เพียบตำหรับพื้น พิทยา กรเอย
           ทอง ค่าพึงรักษา สิทธิ์ไว้
           ของ ควรกอบวิชชา การรอบ ตัวนอ
           ไทย จักคงไทยได้ เด่นด้วยวิทยา


ปรากฏว่าคณะกรรมการตัดสินให้ได้รับรางวัลที่ ๑  ตั้งแต่นี้ก็ได้ใจ คอยติดต่อแต่งส่งประกวดเป็นโคลงบ้าง  สักวาบ้าง ดอกสร้อยบ้าง เสมอมา ได้รับรางวัลตั้งแต่ที่ ๑ บ้างที่ ๒ ที่ ๓ บ้าง ชมเชยบ้าง นับว่าสำนวนการแต่งโคลงอยู่ในชั้นดี ถึงกับคณะกรรมการกระซิบถามเด็กศิษย์ที่ไปรับรางวัลแทนบ่อยๆ ว่า ใครเป็นคนแต่ง เพราะไม่ได้กำชับเด็กศิษย์ให้ปิดชื่อ เด็กจึงบอกตามความจริงว่า มหาวาสน์ กรรมการต่างก็ร้องอ๋อเป็นเชิงรู้จักฝีปากแต่นั้นมา

รางวัลเหล่านี้แม้จะเป็นรางวัลก็จริงแต่ได้รับในนามแฝงยังไม่ควรยกเป็นหลักฐาน ยังมีรางวัลในชีวิตที่นับเป็นเกียรติของชีวิตอยู่อีกอย่างที่ควรนำแถลงคือ เป็นประเพณีของวัด ถึงวันวิสาขบูชาก็มีการแสดงธรรมฟังเทศน์ตลอดคืนถึง ๒ วัน  วันกลางเดือนและวันแรม ๑ ค่ำ จึงต้องอาราธนาภิกษุสามเณรที่สามารถอ่านอักษรขอมได้  (สมัยนั้นหนังสือที่ใช้อ่านเทศน์ล้วนจารลงในใบลาน  สำนวนเทศน์ก็เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เป็นส่วนมาก)   เมื่อเราอุปสมบทได้พรรษา ๒  ท่านผู้วางเทศน์ก็ได้กำหนดให้เราเทศน์กัณฑ์ที่ ๓-๔ เสมอ เรียกว่าเป็นกัณฑ์ถวายตัว เพราะเจ้าพระคุณเสด็จพระอุปัชฌาย์  มักจะเสด็จขึ้นเมื่อจบเทศน์กัณฑ์ที่ ๓-๔  ทั้งนี้เพราะเราเป็นสามเณรเปรียญมาก่อนการแสดงธรรมในครั้งนั้นได้สำเร็จลงด้วยความเรียบร้อยพอประมาณ และการแสดงธรรมในสมัยนั้นล้วนแต่มีคาถาให้ต้องว่าสรภัญญะ เรียกว่าขัดสรภัญญะหน้าธรรมาสน์ ทุกกัณฑ์  เลยเป็นการชวนให้แข่งขันกันในเชิงสรภัญญะ ต่างซุ่มซ้อมไว้อวดในวันเทศน์ นำให้สนใจในการแสดงดีขึ้น  ปกติเจ้าพระคุณทรงแสดงปกิณกะ ๑ กัณฑ์ แล้วควบกับเรื่องคัพโภกันติกะสิ้นเวลาราว ๑ ชั่วโมง เมื่อถึงยุคเราได้เทศน์ถวายตัวแล้ว ก็โปรดให้เราเทศน์กัณฑ์คัพโภกันติกะแทน  พระองค์คงทรงแสดงแต่ปกิณกะเท่านั้น ประมาณวิสาขบูชา ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เมื่อได้ถวายเทศน์ตามเคยแล้ว รุ่งขึ้นอีกประมาณ ๒ วัน  พระมหาดเล็กได้นำจีวรแพรเซี่ยงไฮ้มาถวาย พร้อมกับลายพระหัตถ์ในชิ้นกระดาษมีข้อความ “บูชากัณฑ์เทศน์เมื่อวันกลางเดือน ไพเราะดี เสียแต่ทำนองช้าเป็นคนแก่”  จึงนับรางวัลในชีวิตครั้งที่ ๕ อย่างภาคภูมิใจยิ่ง

กาลเวลาที่ผ่านมานั้นก็มีการแต่งร้อยกรองบ้าง เรียงความบ้าง  (เช่นเรียงเทศน์สำหรับแสดงในวันธรรมสวนะ) จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ มีประกาศพระราชปรารภให้มีหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กขนาด ๑๐ ขวบ อ่านเข้าใจ ครั้งแรก ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงแต่ง สาสนคุณ ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ต่อมาคณะกรรมการได้เปลี่ยนเป็นตั้งหัวข้อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในหนังสือนวโกวาทให้แต่งประกวดปีที่ ๒ มีหัวข้อว่า อริยทรัพย์ อำมาตย์โท พระพินิจวรรณการ ศาสตราจารย์ภาษาบาลีในราชบัณฑิตยสถาน ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๓ ประกาศให้แต่งประกวดในหัวข้อธรรมว่า ทิศ ๖ ประจำปี พ.ศ. ๒๔๗๔

เมื่อข่าวประกาศออกทั่วไปแล้ว ม.ล.สิทธิ์ นรินทรางกูร ผู้เคยอุปสมบทอยู่วัดราชบพิธ ๑ พรรษา ได้มาเยี่ยมสนทนาชวนให้ลองแต่งประกวดกับเขาบ้าง เพราะเคยทราบอัธยาศัยชอบแต่งประพันธ์มาแล้ว จึงเป็นเหตุจูงใจให้ลองดู  และเรื่องทิศ ๖ นี้ ได้เขียนเป็นโคลง ๔ สุภาพ บรรยายตามเค้าพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ ๖   ที่พระราชทานแก่เสือป่า ได้นำลงในหนังสือประจำเดือนไทยเขษมมาแล้ว จึงได้เริ่มลงมือปลายเดือนพฤษภาคม รวมเวลาประมาณ ๑ เดือนจบ เพื่อความรอบคอบได้ขอให้ขุนกิตติเวท อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดราชบพิธเกลาสำนวนอีกครั้งก่อนจึงนำส่งในนาม พระครูวิจิตรธรรมคุณ (วาสน์ นิลประภา เปรียญตรี) วัดราชบพิธ ด้วยมีหมายเหตุว่า ถ้ามีคุณค่าควรได้รับรางวัลก็ไม่ขอรับ ขอถวายพระราชกุศล

ปรากฏตามคำกราบถวายบังคมทูลรายงานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา ใจความว่าเมื่อคณะกรรมการลงมติแล้วเลขานุการได้ขยายนามผู้แต่ง ได้ความว่าพระครูวิจิตรธรรมคุณ (วาสน์ นิลประภา เปรียญตรี) วัดราชบพิธ เป็นผู้แต่งสำนวนที่ ๑๑ ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ (เงิน ๒๐๐ บาท)

ได้มีพระราชปรารภในคำนำหนังสือที่พิมพ์พระราชทานในพระราชพิธีวิสาขบูชาวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ วรรคที่ ๒ ว่า “ในคราวนี้ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ได้รับรางวัลที่ ๑ข้าพเจ้าได้อ่านสำนวนที่ได้รางวัลนี้แล้วรู้สึกว่าแต่งดีมากทั้งทางใจความ และสำนวน อ่านเข้าแล้วรู้สึกจับใจ  และน่าจะนำให้ผู้อ่านเชื่อฟังประพฤติตามในทางที่ชอบจริงๆ  ทั้งถอยคำที่ใช้เลือกเหมาะเข้าใจง่ายชัดเจนมาก  ข้าพเจ้าได้อ่านสำนวนอื่นบ้างแต่เห็นว่าสำนวนที่ได้รางวัลนี้ดีกว่าสำนวนอื่นอย่างเปรียบกันไม่ได้ทีเดียว และเมื่อได้ทราบว่าผู้แต่งเป็นพระภิกษุสงฆ์ก็ยิ่งเพิ่มพูนความปิติของข้าพเจ้าขึ้นอีกมาก ข้าพเจ้าเคยได้ยินมีผู้กล่าวอยู่เนืองๆ ว่า ในสมัยนี้พระภิกษุสงฆ์ไม่ค่อยจะเอาธุระในการสั่งสอนเด็กเหมือนแต่ก่อน และถ้านิมนต์ไปเทศน์ตามโรงเรียนเป็นต้น  ก็มักใช้ถ้อยคำสำนวนที่ยากเกินไปเด็กๆ ไม่ค่อยเข้าใจ และด้วยเหตุเหล่านี้เด็กของเราจึงไม่ค่อยเอาธุระกับการศาสนาในสมัยนี้  ที่จริงอย่าว่าเด็กๆ เลย แม้ผู้ใหญ่ก็ร้องกันว่า ฟังเทศน์ไม่เข้าใจอยู่บ่อยๆ”

รางวัลในครั้งนี้คงไม่ปฏิบัติตามหมายเหตุที่ว่าจะไม่ขอรับพระราชทานรางวัล  เพราะคณะกรรมการตกลงว่า ที่ไม่ขอรับพระราชทานรางวัลเป็นเงินจำนวน ๒๐๐ บาท เพราะเกรงจะผิดวินัย จึงตกลงจัดเป็นทำนองเครื่องกัณฑ์เทศน์เป็นสิ่งของในราคา ๑๐๐ บาท ใบปวารณา ๑๐๐ บาท ได้เข้ารับพระราชทานรางวัลใน พระอุโบสถพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อจากพระราชทานพัดยศแก่พระเปรียญ ๙ ประโยค และ ๖ ประโยค

นับจากได้รับพระราชทานรางวัลครั้งนี้แล้วก็เป็นที่เลื่องชื่อฤานามทั่วไป  ไปไหนมาไหนมักจะถูกชี้ให้ดูกันว่า องค์นี้แหละแต่งหนังสือเก่ง ในหลวงโปรด แทนที่หน้าจะแดงเพราะดีใจกลับจะหน้าซีดเพราะกระดากอายเสียด้วยซ้ำ คิดว่าคงมิใช่การได้รับพระราชทานรางวัลที่นับเป็นครั้งที่ ๖ เพราะการแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กนี้เท่านั้น ยังมีรางวัลได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระคณาจารย์เอกทางรจนาคัมภีร์ ในครั้งนั้นอีกด้วย จึงพลอยให้เป็นคุณสมบัติเข้าเป็นสมาชิกสังฆสภาด้วยรูป ๑ ซึ่งรู้สึกว่าออกจะเกินอำนาจวาสนาอยู่แล้ว แต่คุณสมบัติของสมาชิกสังฆสภาระบุว่าต้องเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม หรือเปรียญ ๙ ประโยค หรือพระคณาจารย์เอก และให้พิจารณาแต่งตั้งตามลำดับพรรษา เมื่อจำนวนสมาชิกขาดลงในสมัยที่รับแต่งตั้งเป็นพระคณาจารย์จึงได้รับให้เข้าเป็นสมาชิกสังฆสภาในเวลามิช้า ดูเป็นลัดคิวในตำแหน่งอันมีเกียรติ ที่น่าริษยาอยู่บ้างก็ได้

การได้รับพระราชทานรางวัลในการแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กครั้งนั้น ทำให้ภิกษุสามเณรตื่นตัวกันมาก ฝ่ายเราก็คงสนใจในการแต่งร้อยแก้วเกี่ยวกับเทศนาบ้าง ร้อยกรองเกี่ยวด้วยบทความคติธรรมบ้าง  และคอยส่งประกวดต่อมาอีก ๔-๕ ครั้ง  คงได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๒ เรื่อง สัมปรายิกัตถประโยชน์ ๔  รางวัลที่ ๑ เรื่องสังคหวัตถุ ๔  ต่อมาเลยหยุดเพราะภาระอื่นมากขึ้น เพียงแต่บันทึกปกิณกะจากประสบการณ์ตามเวลาเท่านั้น”


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 เมษายน 2555 18:58:32 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 26 เมษายน 2555 19:04:43 »



เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้มาก ทั้งในด้านร้อยแก้วและร้อยกรอง พระนิพนธ์ร้อยแก้ว
มีรายการเท่าที่รวบรวมได้ขณะนี้ ดังนี้
๑. คำสวดมนต์แบบมคธ  เป็นคำบรรยายประวัติความเป็นมาพร้อมทั้งเนื้อหาธรรมที่ปรากฏในพระสูตรนั้น ทรงบรรยายไว้กว่า ๕๐ เรื่อง
๒. บันทึกของศุภาสินี  เป็นพระนิพนธ์แสดงคำสอนทางพระพุทธศาสนาอย่างง่ายๆ สำหรับให้คนทั่วไปอ่านเพลิดเพลิน พร้อมทั้งได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ ตลอดถึงได้รู้เรื่องขนบประเพณีไทยที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาและกิริยามารยาทในสังคมไทยที่น่ารู้  ทรงนิพนธ์ไว้เป็นตอนๆ รวม ๖๕ เรื่อง
๓. รวมพระนิพนธ์ร้อยแก้ว  ซึ่งเป็นศาสนคดีที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและธรรมในด้านต่างๆ ทั้งสำหรับภิกษุสามเณรและสำหรับชาวบ้านทั่วไป รวม ๔๑ เรื่อง เช่น เรื่อง ความดีของพระวินัย  การเข้าวัตร   เทศกาลเข้าพรรษา   การทำหน้าที่พระอุปัชฌายะ   การสาธารณูปการ   การเข้าถึงพระรัตนตรัย   การฝึกตน   ความสามัคคี   พระคุณของแม่ เป็นต้น

ส่วน พระนิพนธ์ร้อยกรอง ซึ่งเป็นรูปแบบการประพันธ์ที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ  ทรงโปรดมากเช่นกัน ได้ทรงนิพนธ์ร้อยกรองแบบต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก  เท่าที่รวบรวมได้และจัดเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
๑. โคลงกระทู้ ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ จำนวน ๑๑๒ บท
๒. โคลงกระทู้ปฏิทิน ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ จำนวน ๕๘ บท
๓. โคลงกระทู้ ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ จำนวน ๑๓๗ บท
๔. บทสักวา “วันทำบุญ” ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ รวม ๙๒ บท
๕. สักวาปฏิทิน ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ รวม ๙๓ บท
๖. มงคลดอกสร้อย ไม่ปรากฏปีที่ทรงนิพนธ์ รวม ๑๑ บท
๗. ดอกสร้อยปฏิทิน ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ รวม ๖๑ บท
๘. สวนดอกสร้อย ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ รวม ๓๙ บท
๙. สวนดอกสร้อย ไม่ปรากฏปีที่ทรงนิพนธ์ รวม ๕๔ บท
๑๐. ภาษิตคำกลอน ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ รวม ๓๒ บท
๑๑. คำกลอนคาถาแห่งปราภวสูตร คาถาที่ ๘ ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖
๑๒. คำโคลงเรื่องทิศ ๖ ไม่ปรากฏปีที่ทรงนิพนธ์ รวม ๑๐๔ บท
๑๓. กวีนิพนธ์เบ็ดเตล็ด ซึ่งเป็นบทกวีธรรมและบทสอนใจในลักษณะต่างๆ อีกมาก

พระนิพนธ์เหล่านี้ นอกจากจะเป็นสิ่งแสดงพระอัธยาศัยทางการประพันธ์ให้เป็นที่ปรากฏแล้ว ยังเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัธยาศัยและพระจริยาวัตรในด้านต่างๆ ของพระองค์อีกด้วย ในทำนองรู้จักคนจากผลงาน  ฉะนั้น พระนิพนธ์ต่างๆ เหล่านี้จึงมีคุณค่าน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

สมณศักดิ์และหน้าที่การงาน
การที่ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ถวายงาน และถวายการอุปัฏฐากใกล้ชิดแด่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ มาแต่พรรษายุกาลยังน้อยนั้น นับว่าเป็นคุณประโยชน์แก่พระองค์เองอย่างมหาศาล  เพราะเท่ากับได้เข้าโรงเรียนการปกครองมาตั้งแต่พระชนมายุยังน้อย  เป็นการเตรียมพระองค์เพื่ออนาคตโดยมิได้ทรงคาดคิด  การถวายปฏิบัติรับใช้สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ พระองค์นั้น เป็นโอกาสให้พระองค์ได้ทรงเรียนรู้การคณะ การพระศาสนา และการปกครอง มาเป็นเวลายาวนานเกือบ ๒๐ ปี กอปรกับพระองค์เองก็ทรงมีพระอัธยาศัยช่างคิดช่างสังเกต จึงได้ทรงเรียนรู้และซึมซับเอาแนวพระดำริและแบบแผนต่างๆจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ พระองค์นั้นไว้ได้เป็นอันมากนับเป็นทุนและเป็นฐานที่สำคัญแห่งความเจริญก้าวหน้าในพระสมณศักดิ์ และพระภาระหน้าที่ของพระองค์ในเวลาต่อมา  แม้โดยพระอัธยาศัยจะทรงถ่อมพระองค์ว่ามีความรู้น้อย เพราะทรงเป็นเปรียญเพียง ๔ ประโยค แต่เพราะพระองค์เป็นผู้ที่เรียกว่า “เจริญในสำนักของอาจารย์”  คือได้รับการฝึกอบรมมาดี มีความรู้ความสามารถในหน้าที่การงานและพร้อมด้วยพระจริยามรรยาทอันงาม  จึงเป็นเหตุให้ทรงเป็นที่ยอมรับและเจริญก้าวหน้าในพระเกียรติยศและหน้าที่การงานมาโดยลำดับ

- พ.ศ. ๒๔๖๕   ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูโฆสิตสุทธสร
- พ. ศ. ๒๔๖๖  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูธรรมธร  และในศกเดียวกันนี้ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูวิจิตรธรรมคุณ ตำแหน่งฐานานุกรมของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
 - พ.ศ. ๒๔๗๗  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ปลัดซ้ายของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ที่ พระจุลคณิศร เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗
- พ.ศ. ๒๔๘๑  เป็นกรรมการคณะธรรมยุต
- พ.ศ. ๒๔๘๕  เป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และในศกเดียวกันนี้ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคณาจารย์เอกทางรจนาพระคัมภีร์ และจากตำแหน่งนี้เป็นเหตุให้ทรงมีคุณสมบัติได้เป็นสมาชิกสังฆสภา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔  (ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ดังกล่าว ผู้จะดำรงตำแหน่งสมาชิกสังฆสภา ต้องเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมขึ้นไป หรือเปรียญธรรม ๙ ประโยคหรือพระคณาจารย์เอก)
- พ.ศ. ๒๔๘๖ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตรวจการภาคกลาง เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตรวจการภาค ๒ รูปที่ ๑ เป็นเจ้าคณะอำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร และเป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย (ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งในที่สุดก็ล้มเลิกไป)
- พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชกวี เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ และในศกเดียวกัน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ สืบต่อจาก พระสาสนโสภณ (ภา ภาณโก)  ซึ่งมรณภาพในศกนั้น
- พ.ศ. ๒๔๙๐  ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรี ในสมัยที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
วัดเทพศิรินทราวาส เป็นสังฆนายก และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์  ครั้นถึงเดือนมิถุนายน ศกนั้น
ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐
-  พ.ศ. ๒๔๙๑  ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ ในสมัย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายก  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตรวจการภาค ๑
- พ.ศ. ๒๔๙๒ มีการเปลี่ยนแปลงเขตภาคทางการปกครองคณะสงฆ์ใหม่ คงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตรวจการภาค ๑ เช่นเดิม  ครั้นถึงเดือนธันวาคม ศกนั้น ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปาโมกข์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒
- พ.ศ. ๒๔๙๓  ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ สมัย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายก
- พ.ศ. ๒๔๙๔  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ดำรงตำแหน่งสังฆนายก  ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการเช่นเดิม  ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วยภาค ๑-๒-๖ และเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต)  ภายหลังเพิ่มจังหวัดนครสวรรค์อีก ๑ จังหวัด
-  พ.ศ. ๒๔๙๘  ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ  สมัย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)  ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต เป็นสังฆนายก
-  พ.ศ. ๒๕๐๐  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐
-  พ.ศ. ๒๕๐๓  ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การสาธารณูปการ  สมัยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี)  ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระมหาวีรวงค์ เป็นสังฆนายก
-  พ.ศ. ๒๕๐๔   ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการตำแหน่งเจ้าคณะธรรมยุตภาค ๑-๒-๖  และได้รับแต่งตั้งเป็นอุปนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
-  พ.ศ. ๒๕๐๖  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

ในช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์  คือได้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ และประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แทน  ซึ่งมีรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์คล้ายสมัยใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑  คือ บริหารการคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน  เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรก  ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕  ซึ่งขณะนั้นว่างเว้นจากสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ ซึ่งมีอายุพรรษาสูงสุด เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามพระราชบัญญัติฯ กรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรกนี้ ประกอบด้วยพระมหาเถระ ๘ รูป คือ
๑.  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ  เป็นประธาน (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  พระองค์ที่ ๑๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖   สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘)
๒.  สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม  (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  พระองค์ที่ ๑๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ (สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔)
๓.  สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม   (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช   พระองค์ที่ ๑๗  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕   สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖)
๔.  พระธรรมปัญญาบดี (วน ฐิติญาโณ) วัดอรุณราชวราราม  (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่  สมเด็จพระพุฒาจารย์   มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐)
๕.  พระอุบาลีคุณูปมาจารย์  (วาสน์ วาสโน)  วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม คือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร)  พระองค์ที่ ๑๘
๖.  พระสาสนโสภณ (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร   (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปรินายก พระองค์ที่ ๑๙  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒)
๗.  พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สาลี อินฺทปชฺโชโต) วัดอนงคาราม  (มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐)
๘.  พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) วัดสัมพันธวงศ์  (มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐)

ครั้นถึงเดือนพฤษาคม ศกเดียวกัน (พ.ศ. ๒๕๐๖)  ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

อนึ่ง กรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรกนี้ ได้ประชุมกันครั้งแรก ณ พระอุโบสถวัดสระเกศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖

- พ.ศ. ๒๕๑๕  ได้รับเลือกเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สืบต่อจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี) สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ในศกเดียวกัน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต สืบต่อจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) เช่นเดียวกัน



สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พ.ศ. ๒๕๑๖ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุณฺณสิริมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สิ้นพระชนม์   ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๗  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สถาปนาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วาสน์ วาสโน) ขึ้นเป็น  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์   ขณะมีพระชนมายุได้ ๗๗ พรรษา ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้



ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  มหิตลาธิเบศรามาธิบดี  จักรีนฤบดินทร  สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า  โดยที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกได้ว่างลงเป็นการสมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช  เพื่อจักได้บริหารการพระศาสนาให้สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ และตามระเบียบราชประเพณีสืบไป   และโดยที่ได้ทรงสดับคำกราบบังคมทูลของรัฐบาลและสังฆทัศนะในมหาเถรสมาคมโดยเอกฉันท์มติ  จึงทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  เป็นพระมหาเถระเจริญในสมณคุณเนกขัมมปฏิบัติ สมบูรณ์ด้วยศีลสมาจารวัตร รัตตัญญู  มหาเถรกรณธรรม   ดำรงสภาพรอยู่ในสมณพรหมจรรย์ตลอดมาเป็นเวลาช้านาน   ได้ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักรและอาณาจักรอย่างไพศาล ดังมีอรรถจริยาปรากฏเกียรติสมภาร  ตามความพิสดารในประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะมหาสังฆนายก  เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ นั้นแล้ว

ครั้นต่อมา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ยิ่งเจริญด้วยอุตสาหวิริยาธิคุณ   สามารถรับภาระธุระพระพุทธศาสนา เป็นพาหุลกิจนิตยสมาทานมิได้ท้อถอย  ยังการพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเป็นลำดับตลอดมา  ในการปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ก็ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมมาแต่เริ่มแรกเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ในการปริยัติศึกษาเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย  เป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน  ส่วนในการพระอารามก็ได้เอาใจใส่ควบคุมดูแลระวังรักษา จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุสิ่งก่อสร้างในพระอาราม ซึ่งชำรุดทรุดโทรมเสียหาย ให้กลับคืนดีมีสภาพงดงามมั่นคงถาวรดีขึ้นตลอดมา ดั่งเป็นที่ปรากฏแล้ว  ได้จัดตั้งมูลนิธิขึ้นไว้เป็นทุนถาวรสำหรับบูรณะปฏิสังขรณ์พระอาราม ชื่อว่าทุนพระจุลจอมเกล้าฯ เริ่มแต่พุทธศักราช ๒๕๑๓ เป็นต้นมา อนึ่ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา พระมงคลวิเสสกถาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราชอุฏฐายีมหาเถระเป็นประจำตลอดมา

บัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นผู้เจริญยิ่งด้วยพรรษายุกาล รัตตัญญู มหาสถาวีรธรรม มั่นคงในพระพุทธศาสนา  เป็นอจลพรหมจริยาภิรัตสงเคราะห์พุทธบริษัท  ปกครองคณะสงฆ์ ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน  ได้เป็นครูและอุปัธยาจารย์ของมหาชนเป็นอันมาก มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพศาลเป็นที่เคารพสักการแห่งมวลพุทธศาสนิกบริษัททั่วสังฆมณฑล ตลอดจนอาณาประชาราษฏร์ทั่วไป  สมควรจะสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑล  เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแด่พระบวรพุทธศาสนาสืบไป  จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกคัมภีรญาณวาสนภิธารสังฆวิสุตปาวจนุตตมโสภณ ภัทรผลสาธารณูปกร ชินวรวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลศีลสมาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราชเสด็จสถิต ณ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง เป็นประธานในสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร

ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ จงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์  จิรัฆฐิติรุฬห์ไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ  ให้ทรงมีพระราชาคณะและพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสริยยศ ๑๕ รูป  คือ พระมหาคณิศร พุทธศาสนิกนิกรปสาทาภิบาล  สกลสังฆประธานมหาสถาวีรกิจการี นายกบดีศรีรัตนคมกาจารย์  พระราชาคณะปลัดขวา ๑  พระจุลคณิศร สัทธรรมนิติธรมหาเถราธิการ คณกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑  พระครูวินยาภิวุฒิ ๑  พระครูสุตตาภิรม ๑  พระครูธรรมาธิการ พระครูพระปริต ๑  พระครูวิจารณ์ภารกิจ พระครูพระปริต ๑  พระครูวินัยธร ๑  พระครูธรรมธร ๑  พระครูโฆสิตสุทธสร พระครูคู่สวด ๑  พระครูอมรสารนาท พระครูคู่สวด ๑  พระครูพิสาลบรรณวัตร ๑   พระครูพิพัฒบรรณกร ๑  พระครูสังฆวิธาน ๑  พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑  ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้ มีความสุขสิริสวัสดิ์สถาพร ในพระบวรพุทธศาสนา เทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๗  เป็นปีที่ ๒๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

                                           ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
                                                   สัญญา ธรรมศักดิ์
                                                       นายกรัฐมนตรี


พระอวสานกาล
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงเจริญพระชนมายุยืนยาวมากพระองค์หนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ คือ ๙๑ พรรษา โดยปี  และทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงมาโดยตลอด   ถึง พ.ศ. ๒๕๓๑ ทรงพระประชวรด้วยพระปัปผาสะอักเสบเมื่อเดือนมิถุนายน  จึงได้เข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช   ต่อมาทรงมีพระอาการพระหทัยวายเนื่องจากเส้นโลหิตตีบและกล้ามเนื้อพระทัยบางส่วนไม่ทำงาน   เป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์  เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๒ เวลา ๑๖.๕๐ น.

สิริพระชนมายุได้ ๙๐ พรรษา ๕ เดือน ๒๕ วัน  ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๑๔ ปี ๒ เดือน ๕ วัน







กิมเล้ง : http://www.sookjai.com

ข้อมูล
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๕
- http://www.dhammajak.net



.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 เมษายน 2555 19:09:33 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น: พระธรรมปาโมกข์ 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๘ : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
Kimleng 1 5225 กระทู้ล่าสุด 15 พฤษภาคม 2555 17:54:13
โดย zabver
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว)
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1207 กระทู้ล่าสุด 17 กันยายน 2560 19:25:24
โดย ใบบุญ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 9
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 820 กระทู้ล่าสุด 05 ตุลาคม 2561 13:07:21
โดย ใบบุญ
สมเด็จพระสังฆราช(วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 817 กระทู้ล่าสุด 05 ตุลาคม 2561 13:09:58
โดย ใบบุญ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สา ปุสสเทโว)
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 877 กระทู้ล่าสุด 19 สิงหาคม 2563 13:53:10
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.172 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 24 กุมภาพันธ์ 2567 22:41:42