[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 17:27:58 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติการทำวิสาขบูชาในประเทศไทย  (อ่าน 1910 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 23 พฤษภาคม 2555 18:53:45 »


 ประวัติการทำวิสาขบูชาในประเทศไทย
             ภาพจาก : oknation.net


การวิสาขบูชา
พระอรรถกถาจารย์เจ้ากำหนดไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้ประสูติและตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเสด็จปรินิพพานในวันเพ็ญพระจันทร์เสวยฤกษ์วิสาขะ  วันกำหนดนี้จึงเป็นนักขัตฤกษ์  ซึ่งชนทั้งปวงผู้นับถือพระพุทธศาสนาผู้ทำการบูชาพระรัตนตรัย  เป็นการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า  คล้ายกับทำเฉลิมพระชนมพรรษาหรือแซยิดปีละครั้งแต่โบราณมา  การกำหนดที่พระจันทร์ในวันเพ็ญเสวยวิสาขนักขัตฤกษ์นี้  แต่โบราณมาถือว่าตรงในวันเพ็ญเดือน ๖ เสมออยู่ไม่ยักเยื้อง   ตลอดมาจนถึงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางวิธีแบบปักขคณนาคิด   วันพระจันทร์เพ็ญให้ใกล้กับที่จริงเข้ากว่าแต่ก่อน    วันวิสาขนักขัตฤกษ์จึงได้เคลื่อนไปเป็นเพ็ญเดือนเจ็ดบ้างในบางปี.. ฯลฯ

เนื่องจากวันวิสาขะ  เป็นวันคล้ายกับกาลประสูติ  ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระสัมมาสัมพุทธะดังกล่าวแล้ว   พุทธศาสนิกชนจึงถือวันเช่นนี้ เป็นวันบูชาที่สำคัญยิ่ง

ในประเทศไทยมีประวัติการทำวิสาขะโดยย่อดังต่อไปนี้
ในชั้นต้นควรทราบก่อนว่า แผ่นดินอันเรียกว่าประเทศไทยในปัจจุบันนี้ แม้ในโบราณสมัย จะแยกเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย เป็นก๊กเป็นเหล่า มีพ่อเมืองปกครองตามลำพัง  ใครมีอำนาจก็รวบรวมอาณาจักรได้กว้าง ดังนี้เป็นต้น   แต่ในทางหนึ่งที่น่าอัศจรรย์ คือความยอมรับนับถือพุทธศาสนาด้วยความเคารพ  ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินก็ตั้งใจอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงตามกาลสมัย คือ
      ๑. สมัยสุวรรณภูมิ   ประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ – ๗๐๐
      ๒. สมัยพนม  ประมาณ พ.ศ. ๖๐๑ – ๑๑๐๐
      ๓. สมัยทวาราวดี  ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐ – ๐๕๐๐
      ๔. สมัยศรีวิชัย  หรือศรีโพธิ  ประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐ – ๑๕๐๐
      ๕. สมัยลพบุรี  ประมาณ พ.ศ. ๑๕๐๐ – ๑๖๐๐
      ๖. สมัยศรีธรรมราช  ประมาณ พ.ศ. ๑๕๐๐ – ๑๘๐๐
      ๗. สมัยสุโขทัย  พ.ศ. ๑๘๐๐ – ๑๙๒๑
      ๘. สมัยกรุงศรีอยุธยา
      ๙. สมัยกรุงธนบุรี
      ๑๐. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เฉพาะในสมัยสุโขทัย  พุทธศาสนารุ่งเรืองด้วยได้รับการยกย่อง และประชาชนก็รักษาศีลตั้งอยู่ในธรรมจริง ๆ ดังปรากฏในหลักศิลาจารึกว่า
"คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน  พ่อขุนรามคำแหง  เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย  ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา  ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน  เมื่อออกพรรษา  กรานกฐินเดือนหนึ่งแล้ว  เมื่อกรานกฐินมีพนมเบี้ย มีพนมหมาก  มีพนมดอกไม้  มีหมอนนั่ง  หมอนนอน  บริพารกฐินโอยทานแล่ปีแล้ญิบล้านไปสวดญัตติกฐินจึงอรัญญิกพู้น  เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกัน แต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวสาน ดํบงคํกลอย? ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักหักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน....

ว่าโดยเฉพาะพิธีวิสาขะ  ที่ควรทำการประกอบบูชาใหญ่ในพระรัตนตรัย ซึ่งถือกันอยู่ในเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนามาแต่โบราณนั้น  จะให้ได้ความชัดว่า ตั้งแต่พระพุทธศาสนาได้มาประดิษฐานในแผ่นดินสยามแล้ว  คนทั้งปวงได้ทำการบูชามาแต่เดิมหรือไม่ได้ทำ  ไม่มีปรากฏหลักฐานแน่ชัดในที่แห่งใด จนถึงกรุงสุโขทัยจึงได้ความตามหนังสือที่นางนพมาศแต่งนั้นว่า “ครั้นถึงวันวิสาขบูชา  สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชบุรีรักษ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน  ทั้งอาณาประชาราษฎร์ทั่วทุกนิคมคามชนบทก็ประดับพระนคร และพระราชวังข้างหน้าข้างใน  จวนตำแหน่งท้าวพระยา  พระหลวงเศรษฐีชีพราหมณ์  บ้านเรือน  โรงร้าน  พ่วงแพ  ชนประชาชายหญิง  ล้วนแต่แขวนโคมประทีปชวาลาสว่างไสวห้อยย้อย  พวงบุปผชาติประพรมเครื่องสุคนธรส อุทิศบูชาพระรัตนตรัยสิ้นสามทิวาราตรี  มหาชนชวนกันรักษาพระอุโบสถศีลสดับฟังพระสัทธรรมเทศนาบูชาธรรม  บ้างก็ถวายสลากภัตตาหารสังฆทานข้าวบิณฑ์  บ้างก็ยกขึ้นซึ่งธงผ้าบูชาพระสถูปเจดีย์  บ้างก็บริจาคทรัพย์จำแนกแจกทานแก่ยาจกทลิททก  คนกำพร้าอนาถาชราพิการ  บ้างก็ซื้อไถ่ชีวิตสัตว์จาตุบทวิบาท  ชาติมัจฉาต่าง ๆ  ปลดปล่อยให้ได้ความสุขสบาย  อันว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูล ก็ทรงศีลบำเพ็ญการพระราชกุศลต่าง ๆ ในวันวิสาขบูชาพุทธศาสนาเป็นอันมาก   เวลาตะวันชายแสงก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยราชสุริยวงศ์และนางใน  ออกวัดหน้าพระธาตุราชาอารามหลวงวันหนึ่ง  ออกวัดราษฎร์บุรณพระวิหารหลวงวันหนึ่ง  ออกวัดโลกสุทธราชวาสวันหนึ่ง  ต่างนมัสการพระรัตนัตตยาธิคุณโปรยปรายผลผกาเกสรสุคนธรสสักการบูชา  ถวายประทีปธูปเทียนเวียนแว่นรอบรัตนบัลลังก์  ประโคมดุริยางคดนตรีดีดสีตีเป่าสมโภชพระชินศรีพระชินราช  พระโลกนาถ  พระสัฏฐารสโดยมีกมลโสมนัสศรัทธาทุกตัวตน”   แล้วมีคำสรรเสริญว่า   “อันพระนครสุโขทัยราชธานี  ถึงวันวิสาขนักขัตฤกษ์ครั้งใด  ก็สว่างไสวไปด้วยแสงประทีปเทียนดอกไม้เพลิง  และสล้างสลอนไปด้วยธงชายและธงผ้า  ไสวไปด้วยพู่พวงดวงดอกไม้กรองร้อยห้อยแขวนหอมตลบไปด้วยกลิ่นคนธรสระรวยรื่น  เสนาะสำเนียงพิณพาทย์ฆ้องกลองทั้งทิวาราตรี  มหาชนชายหญิงพากันมากระทำกองการกุศลเหมือนจะเผยซึ่งทวารพิมานฟ้าทุกฉ้อชั้น”

แต่ในส่วนกรุงเก่า   มิได้ปรากฏมีในจดหมายแห่งหนึ่งแห่งใด ดูเป็นการลืมทีเดียว  ตลอดลงมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งเป็นลูกศิษย์กรุงเก่า ก็ไม่ได้มีการพระราชกุศลวิสาขบูชา  ตลอดมาจนปีฉลู  นพศก  จุลศักราช ๑๑๗๙  (พ.ศ. ๒๓๖๐)  รัตนโกสินทร์ศก  เป็นปีที่ ๓๖  ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราชมี  ซึ่งมาแต่วัดราษฎร์บุรณถวายพระพรให้ทรงทำวิสาขบูชาเป็นครั้งแรก   การที่ทำนั้นถึงว่าในหมายอ้างว่าเป็นมหายัญญบูชาใหญ่ก็จริง  แต่การที่จัดนั้นดูเหมือนหนึ่งจะต้องถามกันว่าจะให้ทำอย่างไรจะควร  ท่านพระสังฆราชนั้นจะต้องถวายพระพรอธิบายว่าที่ทำกันมาแต่ก่อนนั้น คือจุดโคมตามประทีปบูชาทั้งในพระอารามและตามบ้านเรือนทั้งปวง  จึงโปรดให้ทำโคมปิดกระดาษเสาไม้ยอดผูกฉัตรกระดาษ  เหมือนกับโคมบริวารการพระราชพิธีจองเปรียง  แปลกแต่เสาทาปูนขาวเสียเหมือนโคมชัยโคมประเทียบ  ให้ไปปักตามพระอารามหลวง พระอารามละสี่เสาเป็นส่วนตามประทีปในวัด  ส่วนที่ตามประทีปตามบ้านเรือนนั้น  ให้อำเภอกำนันป่าวร้องให้ราษฎรจุดโคม เป็นการคร่าว ๆ  แรก ๆ ก็เห็นจะมีบ้างแห่งละใบสองใบมีโคมข้าวแขกเป็นต้น  เป็นส่วนที่จุดประทีปตามบ้านเรือนต้องด้วยอย่างเก่า  อีกประการหนึ่งนั้นมีพวงดอกไม้แขวนบูชาตลอดทั้งสามวัน  ก็ให้เกณฑ์ข้าราชการร้อยดอกไม้มาแขวนไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  วันละร้อยพวงเศษ  อีกประการหนึ่งนั้น มีดอกไม้เพลิงเป็นเครื่องสักการะบูชา  ก็ให้พุ่มดอกไม้เพลิงมาปักจุดที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  อีกประการหนึ่งมีพระธรรมเทศนาและรักษาอุโบสถศีล  ให้มีเทศนาของหลวงตามวัดฝั่งตะวันออกสิบพระราม ฝั่งตกวันตกสิบพระอาราม  และให้อำเภอป่าวร้องให้ราษฎรรักษาศีล  อย่าให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  และให้ชักชวนกันไปฟังพระธรรมเทศนา   อีกประการหนึ่ง ว่ายกธงขึ้นบูชา  ก็ให้ทำธงจระเข้ไปปักตามวัดหลวงวันละคัน  อีกประการหนึ่ง ว่าเคยเลี้ยงพระสงฆ์ และถวายสลากภัตก็โปรดให้เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง และสดับปกรณ์พระบรมอัฐิด้วยข้าวสลากภัต  และประกาศให้ราษฎรชักชวนกันทำสลากภัตถวายพระสงฆ์  การที่จัดไปทั้งปวงนี้เห็นชัดว่าเป็นจัดตามแบบโบราณที่เคยทำมา...ฯลฯ  


  
ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น  ในตอนกลาง ๆ โปรดให้เกณฑ์เจ้านายข้าราชการตั้งโต๊ะเครื่องบูชาตามรอบเฉลียงพระอุโบสถ  เป็นการครึกครื้นสนุกสนานมาก  จนเกิดเล่นเครื่องโต๊ะลายครามกันขึ้น  ในเวลานั้นเที่ยวเก็บหาสิ่งของที่มีอยู่แล้วในกรุงนี้  มาประสมกันให้ได้ชุดได้ลายตั้งขึ้นโต๊ะใหญ่บ้างโต๊ะเล็กบ้าง...ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เต็มไปทั้งพระทั้งคฤหัสถ์  ผู้หญิงผู้ชายหาที่ว่างไม่ได้  ครั้นภายหลังพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก)  เห็นว่าเครื่องโต๊ะมีราคาหาไม่ใคร่ได้  จึงได้สั่งเครื่องโต๊ะที่ครบชุดลายต่าง ๆ เข้ามา ๖๐ สำรับ  ออกจำหน่ายขายผู้ที่ถูกเกณฑ์ตั้งโต๊ะราคาสำรับละ ๑๐ ชั่ง...ครั้นเมื่อการเล่นเครื่องโต๊ะจืดจางลงก็เป็นแต่ตั้งเป็นราชการ  คนก็ไม่ใคร่มีใคร ๆ มาดู  การที่ทรงตรวจตราเลือกเฟ้นนั้นซ้ำหลายปีเข้าก็เงียบ ๆ ไป  ภายหลังจึงได้โปรดให้เปลี่ยนใหม่  เกณฑ์ให้ข้าราชการทำโคมตราตำแหน่งมาตั้งแขวน  ส่วนของหลวงก็ใช้ตราหลวงแขวนที่ประตูพระอุโบสถทั้งหกประตู  ในปีแรกที่เกิดโคมตราขึ้นนั้นก็เป็นการกึกก้องกาหลยิ่งใหญ่ คนที่มาดูกลับมากขึ้นไปกว่าเมื่อตั้งเครื่องโต๊ะ  ด้วยโคมนั้นตั้งแขวนตามศาลารายและพระระเบียงโดยรอบ เป็นทำเลกว้าง คนจะเดินไปมาดูแลได้สะดวก  ตั้งแต่เวลาพลบไปจนดึกแปดทุ่มสามยามยังไม่ขาดคน  เป็นการสนุกครึกครื้นมาได้หลายปี จึงค่อย ๆ เรื่อยลงตามธรรมดา

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อโคมกร่อยนักแล้ว  กรมขุนภูวไนยนฤเบนทราธิบาล  กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ  พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ  พร้อมกันทำต้นไม้ทำนองต้นไม้หลังธรรมาสน์มหาชาติในท้องพระโรงแต่ก่อน    มีรูปภาพเรื่องต่าง ๆ ประดับที่กระถางตั้งหน้ามุขพระอุโบสถสามต้น  เลียนอย่างต้นไม้คริสต์มาสของฝรั่งด้วยกราย ๆ  ก็เป็นที่ครึกครื้นมีผู้คนมาดูบ้าง แต่ไม่แน่นหนามากเหมือนอย่างเมื่อครั้งตั้งโต๊ะหรือแรกมีโคมตรา   ครั้นเมื่อภายหลังจืด ๆ เข้าก็เลิกไป   การพระราชกุศลอันใดในการวิสาขบูชาซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนก็คงยืนที่อยู่จนถึงรัชกาลนี้  มีเพิ่มเติมขึ้นแต่ที่พระพุทธรัตนสถาน  เมื่อเชิญพระพุทธบุษยรัตน์ไปประดิษฐานในที่นั้นแล้ว จึงโปรดให้มีการบูชาขึ้นอีกแห่งหนึ่ง  โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในที่เป็นอุบาสิกาเดินเทียนและสวดมนต์  คล้ายกันกับที่ทำที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  และมีดอกไม้เพลิงสำรับเล็กบูชาด้วยเป็นการเพิ่มเติมขึ้นในรัชกาลนี้  

นับตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้  พิธีการวิสาขะนับว่าเป็นระเบียบแน่นอน  และเป็นการครึกครื้น  สนุกสนานในการบุญยิ่งขึ้น สรุปลงได้ว่า การวิสาขะปรากฏว่าทำมาจำเดิมแก่กรุงสุโขทัยจนบัดนี้


ในกาลปัจจุบัน
ในกาลปัจจุบันนี้ เมื่อถึงกำหนดวันวิสาขะ  ได้มีการประกอบพิธีรำลึกถึงวันประสูติ  ตรัสรู้  ปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมโหฬาร  ข้าพเจ้าจะแยกกล่าวเป็น ๒ คือ ทางราชการ ๑  ทางพุทธศาสนิกชนทั่วไป ๑

๑.  ทางราชการ
ในวันวิสาขบูชา  กรมโฆษณาการได้ประกาศชักชวนให้ชักธงตามอาคารบ้านเรือน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ  และทางราชการประกาศกำหนดเป็นวันหยุดราชการทั่วราชอาณาจักร ๑ วัน  เพื่อแสดงความเคารพต่อวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้ไปประกอบการกุศลตามวัดต่าง ๆ โดยสะดวก

พระราชกุศลวิสาขบูชามี ๓ วัน คือ วันแรกเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย  แล้วพระราชทานประกาศนียบัตร  พัดยศ  และสมณบริขารแก่ภิกษุสามเณรเปรียญที่สอบไล่ได้ใหม่

วันที่ ๒  เวลาค่ำ  เสด็จ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยแล้วประกอบพิธีวิสาขบูชา  ทรงเวียนเทียนทำประทักษิณรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท  ครั้นแล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์    ที่บริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามได้ตามประทีป  โคมไฟ  และไฟฟ้างดงาม  มีประชาชนไปร่วมประกอบพิธีโดยเสด็จพระราชกุศลอย่างคับคั่ง

วันที่ ๓  เป็นวันประกอบพิธีวิสาขบูชาของพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน


๒. ทางพุทธศาสนิกชนทั่วไป
เมื่อถึงวันวิสาขบูชา  พุทธศาสนิกชนต่างพากันทำบุญตักบาตร  ฟังพระธรรมเทศนาในตอนเช้า  และในตอนย่ำค่ำ ให้ถือดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะไปประชุมพร้อมที่วัด  ทำพิธีเหมือนวันมาฆบูชา  โดยยืนเบื้องหน้าพระพุทธปฏิมา  กล่าวคำบูชา  เดินเทียน  ทำวัตร  สวดมนต์และฟังธรรมเทศนา

หมายเหตุ
ในวันวิสาขบูชา  พึงบูชารำลึกถึงพระพุทธคุณด้วยความเคารพจริง ๆ ไม่ควรทำอย่างขอไปที  ควรทำให้เกิดปีติปราโมทย์  ต้อนรับวันเช่นนี้  โดยฐานะที่เป็นวันสว่าง คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เป็นผู้จุดประทีปขึ้นส่องทางให้แก่สัตว์โลก  เพื่อว่าผู้มีดวงตาจักได้เห็นทาง  ต้อนรับวันเช่นนี้  โดยฐานะที่เป็นวันเบิกบาน  วันเปิดเผย  วันหงายของที่คว่ำและวันเปิดของที่ปกปิด  คือ พระสัมมาสัมพุทธะได้เบิกบานด้วยพระคุณและยังสัตว์โลกให้เบิกบานเปิดเผยธรรมะ  ชำแรก  อวิชชาที่คว่ำครอบงำปกปิดสัตว์โลก

วันวิสาขบูชา  ปีหนึ่งก็มีหนเดียว  ควรตั้งใจอธิษฐานจิตฟังธรรมตลอดราตรี  ควรรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธะด้วยนัย เป็นต้นว่า

บุคคลเอกในโลกย่อมเกิดขึ้นเพื่อความเกื้อกูลและความสุขแก่ชนหมู่มาก  เพื่ออนุเคราะห์โลก  เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทพและมนุษย์ทั้งหลาย  บุคคลเอกนั้นคือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

     ความปรากฏขึ้นแห่งบุคคลเอก หาได้ยากในโลก
     บุคคลเอก เมื่อเกิดในโลกย่อมเป็นอัจฉริยมนุษย์
     ความตายของบุคคลเอก  ย่อมเป็นความเดือดร้อนแก่ชนหมู่มาก
     บุคคลเอก เมื่อเกิดในโลกย่อมเป็นหนึ่งไม่มีสอง ไม่มีคู่เคียง  ไม่มีผู้เปรียบ ไม่มีผู้เทียบ  ไม่มีผู้เทียม  ไม่มีผู้ทัน  ไม่มีผู้เสมอเหมือน  เป็นยอดแห่งเทพและมนุษย์ทั้งหลาย


ความปรากฏขึ้นแห่งบุคคลเอก  ย่อมเป็นความปรากฏแห่งปัญญาจักษุ  แห่งแสงสว่างและโอภาสอันใหญ่หลวง  ย่อมเป็นความปรากฏแห่งอนุตริยคุณทั้ง ๖ ประการ  เป็นการทำให้แจ้งซึ่งปฏิสัมภิทาทั้ง ๓  เป็นการเข้าใจตลอดธาตุต่าง ๆ เป็นอเนก  เป็นการทำให้แจ้งซึ่งปฏิสัมภิทาทั้ง ๓  เป็นการเข้าใจตลอดธาตุต่าง ๆ เป็นอเนก  เป็นการทำให้แจ้งซึ่งผลคือวิชชาและวิมุตติ  เป็นการทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล  สกทาคามิผล  อนาคามิผล  และอรหัตผล

ท่านผู้ใดรู้โลกทั้งปวง  ด้วยปัญญาอันยิ่ง  รู้อารมณ์ตามที่เป็นจริงอย่างไรในโลกทั้งปวง เป็นผู้ไม่ติด  ไม่เอาดีในโลกทั้งปวง  ท่านผู้นั้นแลเป็นปราชญ์ใหญ่ล้ำกว่าสรรพสัตว์  เปลื้องเครื่องผูกมัดพ้นไปได้  ได้บรรลุบรมสันติคือพระนิพพาน  อันไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ นั่น! คือพระขีณาสพพุทธเจ้าผู้ไม่มีทุกข์  ตัดความสงสัย  ถึงความสิ้นกรรมทั้งปวง  หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นอุปธิ  เพราะอย่างนี้พระองค์จึงเป็นพระพุทธะ  เป็นสีหะผู้ประเสริฐ  ทรงประกาศพรหมจักรแก่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวดา


อิติ  เทวา  มนุสฺสา จ       เย พุทฺธํ  สรณํ  คตา
สงฺคมฺม  นํ  นมสฺสนฺติ      มหนฺตํ  วีตสาทํ

ด้วยเหตุนี้  เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ที่ถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ  จึงพากันนมัสการพระองค์ผู้มหาบุรุษ  ปราศจากความย่นย่อ


อีกประการหนึ่ง  พระองค์ทรงฝึกพระองค์เองแล้ว  ประเสริฐกว่าผู้ฝึกทั้งหลาย  พระองค์ทรงเป็นฤาษีผู้สงบแล้ว  ประเสริฐกว่าผู้สงบทั้งหลาย  พระองค์ทรงพ้นแล้ว  เลิศกว่าผู้พ้นทั้งหลาย  พระองค์ทรงข้ามแล้ว  ประเสริฐกว่าผู้ข้ามทั้งหลาย
อิติ  เหตํ  นมสฺสนฺติ       มหนฺตํ  วีตสารทํ
สเทวกสฺมึ  โลกสฺมึ  นตฺถิ      เต ปฏิปุคฺคโล


คัดลอกโดยการสะกดตามรูปแบบดังเดิม
ที่มา :
๑. พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,  พระบาทสมเด็จพระ,  พระราชพิธีสิบสองเดือน,  กรุงเทพฯ  : เพชรกะรัต, ๒๕๕๓  
๒. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับงานพระพุทธศาสนา.  ที่ระลึกในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบรอบ ๒๐๐ ปี  พุทธศักราช ๒๕๔๗   :  จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติ โดย สำนักนายกรัฐมนตรี  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงวัฒนธรรม





* พระราชพิธีสิบสองเดือน   เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  หนังสือเล่มนี้จัดเป็นยอดของความเรียงอธิบายและเป็นเอกสารทางด้านประวัติศาสตร์เล่มสำคัญ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 พฤษภาคม 2555 19:03:44 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น: วันวิสาขบูชา 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.54 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 05 ธันวาคม 2566 15:59:36