[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
04 ธันวาคม 2567 09:29:53 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นิยายวิทยาศาสตร์ "สถาบันสถาปนา" กับไอแซค อาซิมอฟ  (อ่าน 8372 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 26 มิถุนายน 2553 20:34:10 »

เบื้องหลัง : นิยายวิทยาศาสตร์ "สถาบันสถาปนา" กับไอแซค อาซิมอฟ




เมื่อพูดถึง นิยายวิทยาศาสตร์ (Science Fiction) หรือที่เราเรียกกันย่อๆ ว่า Sci-Fi ("ไซ-ฟาย") ชื่อของนักเขียนอย่าง ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) เป็นหนึ่งในชื่อที่รู้จักกันดีที่สุด ด้วยผลงานจำนวนมากมายหลายร้อยเรื่อง และรางวัลต่างๆ ตลอดจนคำยกย่องชมเชยจากนักวิจารณ์ทั่วโลก ในจำนวนนี้มีหลายเรื่องที่จัดได้ว่าเข้าขั้น "คลาสสิค" ซึ่งก็รวมถึงนิยายเรื่องยาวหลายเล่มจบในชุด Foundation (ซึ่งแปลเป็นไทยในชื่อ สถาบันสถาปนา) ที่วาดภาพของจักรวาลในอนาคต เมื่อมนุษย์แผ่ขยายการตั้งถิ่นฐานไปทั่วกาแลกซีทางช้างเผือก (Milky way) กับเรื่องสั้นและเรื่องยาวอีกหลายเล่มในชุดหุ่นยนต์ ที่มีกฏสามข้อของหุ่นยนต์ (3 Laws of Robotics) ซึ่งถูกฝังไว้ในสมองกลทุกอัน เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะเชื่อฟังและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และได้กลายเป็นบรรทัดฐานที่ถูกอ้างถึงมากที่สุดอย่างหนึ่ง ในการคิดหรือทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ นอกจากนี้ยังมีนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องยาวอีกหลายเรื่อง ซึ่งอาจไม่จัดเข้าชุดกับเล่มอื่นๆ แต่ก็นับว่าเป็นผลงานชิ้นเอก เช่น The End of Eternity (แปลเป็นไทยในชื่อ "จุดดับแห่งนิรันดร์") และอื่นๆ อีกมาก บางเรื่องก็เคยนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เช่น Bicentennial Man (มนุษย์สองร้อยปี) ที่นำแสดงโดย โรบิน วิลเลียมส์ ซึ่งเล่นเป็นหุ่นยนต์ที่เกิดอยากเป็นมนุษย์จริงๆ ขึ้นมา ถึงแม้ว่าจะต้องแลกด้วยการสูญเสียความเป็นอมตะของเครื่องจักรกลไปก็ตาม
ไอแซค อาซิมอฟ (1920 - 1992) นับเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นและแตกต่างจากคนอื่นๆ ในยุคของเขาอยู่ไม่น้อย ด้วยความที่มีดีกรีเป็นถึงดอกเตอร์ทางด้านเคมี เรื่องที่เขียนจึงมักมีพื้นฐานแนวคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และมีหลักการทางวิทยาศาสตร์อยู่พอสมควร ผสมผสานกับจินตนาการที่พลิกแพลงลื่นไหล ทำให้เขาเป็นนักเขียนที่มีผลงานมากและเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคนหนึ่ง ครอบครัวของเขาอพยพจากรัสเซียมาอเมริกาในราวปี 1923 โดยอาศัยอยู่ในนิวยอร์ค เขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมื่ออายุเพียง 15 ปี และเมื่ออายุเพียง 18 ปีก็เริ่มมีงานเขียนลงตีพิมพ์ในวารสาร Amazing Stories อันเป็นแหล่งรวมผลงานของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นเป็นครั้งแรก งานด้านการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ทำให้เขามีโอกาสทำทั้งสองอย่างที่เขารักไปพร้อมๆ กัน คือการเขียนหนังสือและวิทยาศาสตร์

หลังการเข้าเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขากลับมาเรียนต่อและสำเร็จปริญญาเอกด้านเคมีในปี 1948 จากนั้นได้สอนวิชาชีวเคมีในโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยบอสตันอยู่สิบปี ระหว่างนั้นหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ที่เป็นผลงานของเขาเองทั้งเล่ม เล่มแรกคือ Pebbles in the Sky ได้ออกวางตลาดในปี 1950 ส่วนเรื่องชุดสถาบันสถาปนาซึ่งรวมเล่มจากที่เขียนเป็นตอนๆ ในวารสารนั้น เล่มแรกคือ Foundation ได้ออกวางตลาดในปีถัดมา คือปี 1951 เขาหันมายึดอาชีพนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อย่างเต็มเวลาในปี 1958 และเขียนเรื่อยมาจนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1992 เมื่อมีอายุได้ 72 ปี รวมผลงานทั้งหมดกว่า 400 เล่ม

สำหรับในเมืองไทย ผลงานของอาซิมอฟเป็นที่รู้จักกันของนักอ่านทั่วไปมาตั้งแต่ราว 30 ปีก่อนนี้ โดยสำนักพิมพ์ คอลเลจบุ๊คส์ ได้จัดพิมพ์นิยายวิทยา-ศาสตร์ชุด โลกอนาคต:สถาบันสถาปนา ที่แปลจากเรื่องชุด Foundation ของอาซิมอฟ ซึ่งแปลโดยคุณประจักษ์ พันธุ์บรรยงก์ (ใช้นามปากกาว่า "บรรยงก์") ออกวางตลาดในราวปี พ.ศ. 2517 ซึ่งในครั้งนั้นมีต้นฉบับที่อาซิมอฟเขียนไว้เพียง 3 เล่ม เรียกว่าเป็นไตรภาค (Trilogy) คือ สถาบันสถาปนา (Foundation), สถาบันสถาปนาและจักรวรรดิ (Foundation and Empire) และ สถาบันสถาปนาแห่งที่สอง (Second Foundation) ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 กลุ่มออบิท โดยบริษัท สยามซายน์แอนด์เทคโนโลยี ได้นำกลับมาจัดพิมพ์ใหม่

เรื่องราวในสามเล่มแรกนั้น อาซิมอฟได้เขียนขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1942 – 1950 โดยได้ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในวารสาร Amazing Stories เมื่อเขามีอายุเพียง 22 ปี และนำมารวมเล่มครั้งแรกในปี ค.ศ. 1951 สามเล่มนี้จะเล่าถึงเหตุการณ์ในอนาคตอีกนับหมื่นปีข้างหน้า เมื่อมนุษย์มีความเจริญจนถึงขั้นเดินทางด้วยความเร็วเหนือแสงได้ และขยายการตั้งถิ่นฐานออกไปจนทั่วทั้งกาแลกซีทางช้างเผือก (Milky way) ก่อกำเนิดเป็นจักรวรรดิสากลจักรวาล (Galactic Empire) ขึ้นมา โดยมีจักรพรรดิเป็นผู้ปกครอง

แต่จักรวรรดิที่ว่านี้ได้เริ่มเสื่อมโทรมลง จึงมีนักวิทยาศาสตร์นาม ฮาริ เซลด็อน ผู้คิดค้นวิชา อนาคตประวัติศาสตร์ (Psychohistory) ที่สามารถใช้คณิตศาสตร์ทำนายอนาคตของจักรวาลโดยรวมได้อย่างแม่นยำ (คือทำนายว่าสังคมที่มีคนนับล้านล้านจะมีวิวัฒนาการไปอย่างไร รุ่งเรืองหรือเสื่อมโทรมไปในทางใด แต่ไม่ใช่ทำนายเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เช่นพรุ่งนี้หวยจะออกเลขอะไร อันนั้นคงต้องใช้ไสยศาสตร์เข้าช่วยแทน) วางแผนที่จะแก้ไขความเสื่อมโทรมที่ว่านี้ โดยลดช่วงเวลาของความเสื่อมที่เกิดขึ้นจากปัจจุบันไปจนถึงช่วงที่ฟื้นตัวอีกครั้ง ก่อกำเนิดเป็นจักรวรรดิที่สองที่รุ่งเรืองกว่าเก่า จากที่คาดว่าจะยาวนานถึงสามหมื่นปีให้เหลือเพียง 1,000 ปีเท่านั้น โดยก่อตั้งหน่วยงานพิทักษ์จักรวาลที่เรียกว่า สถาบันสถาปนา (Foundation) ขึ้นเพื่อผลักดันให้มนุษย์ก้าวไปในทิศทางที่วางไว้นี้ ซึ่งเรียกว่า แผนการเซลด็อน และในระหว่างช่วงเวลานั้นก็จะต้องมีปัญหาและอุปสรรคมากมายมาขัดขวางจนแผนการแทบจะต้องล้มไป กลายเป็นเรื่องที่คนในรุ่นต่างๆ ที่สืบทอดงานของสถาบันสถาปนาต่อๆ กันมาจะต้องแก้ให้ลุล่วงไปจนได้ในที่สุด ซึ่งหนังสือชุด สถาบันสถาปนา ทั้ง 3 เล่มนี้จัดได้ว่าเป็นงานคลาสสิคที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงและแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย



ปกสถาบันสถาปนา 3 เล่มแรก จัดพิมพ์โดยคอลเลจบุ๊คส์

เรื่องในสามเล่มแรกนั้นกินเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปีของแผนการพันปีที่วางไว้ และอาซิมอฟก็ไม่เคยกลับมาเขียนภาคต่อใดๆ เลย จนกระทั่งในกลางทศวรรษ 1980 อาซิมอฟได้หันกลับมาจับหนังสือชุดนี้อีกครั้ง โดยเริ่มจากเล่มที่ 4 และ 5 คือ Foundation’s Edge และ Foundation and Earth ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจาก 3 เล่มแรก ทั้งนี้ Foundation’s Edge เป็นการเปิดประเด็นใหม่เกี่ยวกับ "สิ่งซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า" ที่อาจจะเป็นภัยต่อแผนการเซลด็อนได้ ซึ่งสำหรับเล่มที่ 4 นี้ทางกลุ่มออบิทก็ได้ดำเนินการแปลและจัดพิมพ์ขึ้นมาใหม่ในชื่อ สถาบันสถาปนาและปฐมภพ คราวนี้เนื่องจากผู้แปลคนเดิมคือ คุณประจักษ์ พันธุ์บรรยงก์ ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงมีการจัดทีมแปลขึ้นมาใหม่ โดยนักแปลสิบคน ใช้นามปากการ่วมว่า ทศพล มีอาจารย์ ดร. ปริทรรศน์ พันธุ์บรรยงก์ (ลูกชายคนสุดท้องของคุณประจักษ์) เป็นบรรณาธิการ คอยตรวจแก้ต้นฉบับให้เข้าแนวทางเดิมที่ผู้แปลคนก่อนได้วางไว้




ปกสถาบันสถาปนา 3 เล่มแรก ฉบับที่จัดพิมพ์โดยกลุ่มออบิท


หลังจากนั้นกลุ่มออบิทก็ได้เลิกราไปจากวงการนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังมีสำนักพิมพ์อื่นนำเรื่องชุดนี้มาแปลและจัดพิมพ์ต่อ โดยเล่มที่ 5 คือ Foundation and Earth หรือในภาษาไทยว่า สถาบันสถาปนาและโลก ซึ่งนับเป็นเล่มที่บอกเล่าเหตุการณ์หลังสุดของเรื่องชุดนี้ ซึ่งค้างอยู่ในราวปีสถาปนศักราชที่ 500 (ปีที่ 500 ของแผนการเซลด็อน) ยังไม่จบบริบูรณ์ตามแผนการเซลด็อนที่วางไว้ล่วงหน้าถึง 1,000 ปี และในเล่มที่ 5 นี้เองที่อาซิมอฟเริ่มนำเอาหุ่นยนต์ ดานีล โอลิวอว์ ที่เคยมีบทบาทสำคัญในหนังสืออีกชุดหนึ่ง คือชุดหุ่นยนต์ (ในเรื่อง The Caves of Steel หรือ "โลหะนคร" และ Naked Sun หรือ "สุริยนคร") เข้ามา โดยปรากฏเป็นผู้มีบทบาทอยู่เบื้องหลังพิภพ กาเอีย (Gaia) และเป็นจุดเชื่อมระหว่างผลงาน 2 ชุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอาซิมอฟ คือชุดสถาบันสถาปนา และชุดหุ่นยนต์ เข้าด้วยกัน ซึ่งผู้อ่านเคยตั้งข้อสังเกตกันว่าในเรื่องชุดสถาบันสถาปนานั้น แทบจะไม่พบเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์ปะปนอยู่ด้วยเลย (ความจริงน่าจะเป็นเพราะตอนที่อาซิมอฟเขียนเรื่องชุด Foundation นั้นยังไม่ได้เริ่มเขียนเรื่องชุดหุ่นยนต์ออกมาเลย แต่แล้วในเล่มใหม่นี้เองอาซิมอฟก็ผูกเรื่องให้หาเหตุผลมาอธิบายจนได้ ว่าทำไมถึงไม่มีหุ่นยนต์มาเกี่ยวข้องเลยใน 3 เล่มแรก)




Foundation’s Edge ฉบับภาษาอังกฤษ



Foundation and Earth ฉบับภาษาอังกฤษ

Foundation and Earth นับเป็นเล่มสุดท้ายของเหตุการณ์ทั้งหมด ซึ่งยังผูกปมค้างเติ่งอยู่พอสมควรว่าเหตุการณ์จะดำเนินไปอย่างไรต่อไป ส่วนเรื่องที่อาซิมอฟเขียนขึ้นอีกสองเล่มหลังจากนี้ในปลายทศวรรษ 1980 นับเป็นเรื่องที่ 6 และ 7 คือ Prelude to Foundation และ Forward the Foundation ซึ่งทั้งสองเล่มนี้ถึงแม้จะเขียนทีหลัง แต่จะเป็นเหตุการณ์ที่ย้อนยุค คือกลับไปเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ใน สถาบันสถาปนาเล่มแรก โดยจับช่วงที่ฮาริ เซลด็อนพยายามวางรากฐานของวิชาอนาคตประวัติศาสตร์ และก่อตั้งคณะทำงานตามแผนการเซลด็อนขึ้นที่พิภพทรานทอร์ นครหลวงของจักวรรดิในขณะนั้น และต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ โดยได้รับความช่วยเหลือจากหุ่นยนต์สาวคู่ใจ ดอร์ส วีนาบิลี่ จนสามารถเริ่มงานตามแผนการเซลด็อนได้สำเร็จในที่สุด



Prelude to Foundation ฉบับภาษาอังกฤษ



Forward the Foundation ฉบับภาษาอังกฤษ

สำหรับเรื่อง Prelude to Foundation นี้ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์ไปครั้งหนึ่งแล้วในชื่อ กำเนิดสถาบันสถาปนา ส่วน Forward the Foundation เท่าที่ทราบยังไม่ได้มีการแปลออกมา และเรื่องนี้ก็นับเป็นหนังสือที่อาซิมอฟเขียนไว้เป็นเรื่องสุดท้ายในชีวิต ก่อนจะถึงแก่กรรมในปี 1992 ต่อจากนั้นอีกหลายปี ผู้แทนกองมรดกของอาซิมอฟจึงได้แต่งตั้งให้นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คลื่นลูกใหม่อีก 3 ราย เข้ามาเขียนต่อจากผลงานที่ค้างอยู่ของอาซิมอฟอย่างเป็นทางการ เกิดเป็นเรื่องในชุดไตรภาค สถาบันสถาปนาแห่งที่สอง (Second Foundation Trilogy) ที่เพิ่งจะได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 1998-2000 นี้เอง เรื่องชุดนี้ประกอบด้วย Foundation’s Fear โดย Gregory Benford, Foundation and Chaos โดย Greg Bear และ Foundation’s Triumph โดย David Brin ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อจากเล่ม Foundation and Earth ในช่วง 500 ปีหลังของแผนการเซลด็อนจนครบ 1,000 ปีตามที่วางไว้


ปี 2002 นับเป็นโอกาสครบรอบ 60 ปีที่เรื่องชุด Foundation นี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก (1942-2002) ซึ่งบริษัทโปรวิชั่น (www.provision.co.th) ผู้ผลิตหนังสือวิชาการด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงได้ถือโอกาสนี้ปลุกกระแสนิยายวิทยาศาสตร์ขึ้นมาใหม่ โดยได้นำนิยายวิทยาศาสตร์ของอาซิมอฟมาจัดพิมพ์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งในการจัดพิมพ์ใหม่นี้มีการตรวจแก้ให้ถูกต้องสมบูรณ์ขึ้น เริ่มจากเรื่องสถาบันสถาปนา 3 เล่มแรก และเรื่องยาวเรื่องแรกในชุดหุ่นยนต์ คือ The Caves of Steel หรือโลหะนคร กับเรื่องยาวที่แยกต่างหากอีก 1 เรื่องคือ The End of Eternity หรือจุดดับแห่งนิรันดร์ ที่เกี่ยวกับการเดินทางในเวลา ซึ่งถูกพัฒนาจนถึงระดับที่กลายเป็นภารกิจประจำขององค์กรที่เรียกว่า "นิรันดร์กาล" ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของผู้คนในศตวรรษต่างๆ อย่างเสมอภาคกัน และนับได้ว่าเป็นนิยายที่ดีที่สุดอีกเรื่องหนึ่งของอาซิมอฟ โดยแต่ละเล่มจะทยอยวางตลาดตั้งแต่กลางปี 2545 เป็นต้นไป







ปกสถาบันสถาปนาเล่ม 1-7 ที่อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์โดยโปรวิชั่น


เบื้องหลังความเป็นมาในการที่โปรวิชั่นเข้ามาจับหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์นี้ เริ่มจากการที่ผู้บริหารของโปรวิชั่น คือวศิน เพิ่มทรัพย์ อนิรุทธ์ รัชตะวราห์ และวงศ์ประชา จันทร์สมวงศ์ เป็นนักอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ และเมื่อปี 2525 ก็ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรื้อฟื้นกลุ่มนิยายวิทยาศาสตร์ของชุมนุมวิชาการ วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่เคยบุกเบิกวงการด้วยรวมเรื่องสั้นชุดกาแลกซี และเงียบหายไปพักหนึ่ง ให้กลับมามีผลงานคือ รวมเรื่องสั้นชุด กาแลกซี 8 และ 9 นอกจากนี้ วศิน เพิ่มทรัพย์ ยังได้เคยร่วมงานกับกลุ่มออบิทมาเมื่อ 20 ปีก่อน โดยเป็นหนึ่งใน 10 คนของนามปากการ่วม ทศพล ที่แปลเรื่อง สถาบันสถาปนาและปฐมภพ เมื่อปี 2526 ดังนั้นงานนี้จึงเป็นการร่วมมือระหว่างกลุ่มออบิทกับโปรวิชั่น เพื่อจะนำหนังสือแนว Sci-Fi กลับมาสู่วงการหนังสือเมืองไทยอีกครั้ง ซึ่งหากได้รับการต้อนรับที่ดีก็อาจเป็นไปได้ที่จะมีการนำหนังสือ Sci-Fi เล่มอื่นๆ ที่เคยแปลกันไว้แล้วมาจัดพิมพ์ใหม่เพื่อให้นักอ่านรุ่นหลังได้อ่านและเก็บสะสมกันไว้ต่อๆ ไป
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 26 มิถุนายน 2553 20:34:28 »

อารัมภบท (จากหนังสือสถาบันสถาปนาและโลก)

ปีสถาปนศักราชที่ 498

กว่าสองหมื่นปีล่วงมาแล้ว นับตั้งแต่ที่มนุษย์เอาชนะระยะทางอันแสนไกลระหว่างดวงดาว เอาชนะขีดจำกัดของความเร็วแสง สร้างสิ่งประดิษฐ์รูปร่างคล้ายมนุษย์ที่มีภูมิปัญญา และเรียกกันว่า "หุ่นยนต์" และขยายอาณาเขตออกไปตั้งถิ่นฐานยังพิภพต่างๆ ในระบบสุริยะนับล้านทั่วทั้งกาแลกซี ในช่วงแรกอย่างระมัดระวัง และอาลัยอาวรณ์ต่อโลกอันเป็นพิภพต้นกำเนิด ส่วนช่วงหลังกลับเร่งรุดออกครอบครองดวงดาวใหม่ๆ โดยปล่อยให้อดีตกาลเป็นเพียงภาพอันรางเลือน จนบัดนี้กลับหาผู้ที่สามารถจดจำเรื่องเล่าขาน เกี่ยวกับพิภพอันเป็นที่มาของมนุษยชาตินั้นได้ยากเต็มที มันเลือนหายไปเช่นเดียวกับตำนานของหุ่นยนต์ ที่เคียงคู่กับมนุษย์ในการบุกเบิกอวกาศมาตั้งแต่ต้น
มนุษย์ก่อตั้งมหาอาณาจักรที่มีประชากรนับล้านล้านล้านคน เรียกว่า "จักรวรรดิสากลจักรวาล" อันกอปรด้วยทรัพยากรและแสนยานุภาพเหลือคณา แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อขีดจำกัดของธรรมชาติ ระบบการปกครองอันไม่จีรังนี้ได้ค่อยๆ ผุกร่อนลงอย่างเชื่องช้า เวลาผ่านไปนับพันปีกว่าจะมีคนระแคะระคายถึงความเสื่อม และความพินาศที่รออยู่เบื้องหน้า และถึงตอนนี้ก็สายเกินกว่าจะกำจัดความล่มสลายนี้ให้พ้นไปอย่างสิ้นเชิง มาตรการที่ดีที่สุดก็แค่เพียงย่นระยะเวลาอันทุกข์ทนของมนุษยชาติดังกล่าว จากที่คาดว่าจะยาวนานถึงสามหมื่นปี ให้เหลือเพียงหนึ่งพันปี โดยอาศัยวิทยาการที่เรียกว่า "อนาคตประวัติศาสตร์" ที่คิดค้นขึ้นโดย ฮาริ เซลด็อน อันเป็นวิชาคณิตศาสตร์ที่นำมาใช้พยากรณ์พฤติกรรมของมวลชนขนาดใหญ่ นับล้านล้านล้านคนได้อย่างแม่นยำ และด้วยการก่อตั้งสถาบันสถาปนา อันเป็นองค์กรที่รวบรวมสรรพวิทยาการทั้งมวลเอาไว้ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้มนุษยชาติฟื้นตัวได้อย่างเดิมและดีกว่า ในเวลาเพียงหนึ่งพันปีตาม "แผนการเซลด็อน" ที่วางเอาไว้




สถาบันสถาปนาแห่งแรกตั้งขึ้นเมื่อ 498 ปีก่อน ที่พิภพ เทอร์มินัส สุดขอบของกาแลกซี เริ่มจากวัตถุประสงค์แรกคือรวบรวมข้อมูลและจัดทำเอ็นไซโคลปิเดีย กาแล็กติก้า อันเป็นแหล่งอ้างอิงของศาสตร์ทุกแขนงเท่าที่มนุษย์จะพึงรู้ เอาไว้ในที่เดียวกัน เว้นไว้แต่เพียงวิทยาการด้านอนาคตประวัติศาสตร์เอง ที่กลับไม่ได้รับการถ่ายทอด หรือบันทึกเอาไว้แต่อย่างใด

สถาบันสถาปนาแห่งแรกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ในรอบเกือบห้าร้อยปีที่ผ่านมา จากพิภพของนักวิชาการที่เสมือนถูกเนรเทศออกมายังแดนทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญในตอนกลางของกาแลกซี ค่อยๆ พัฒนาตัวเองไปสู่เกาะแห่งวิทยาการ ที่เหนือกว่าอาณาจักรอิสระโดยรอบ และในไม่ช้าผู้บริหารของสถาบันสถาปนาก็ดำเนินการขยายอิทธิพล เข้าครอบงำอาณาจักรเหล่านั้นอย่างช้าๆ เริ่มจากพลังของศาสนา แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจการค้า จนถึงปัจจุบัน "สหพันธ์สถาปนา" มีอำนาจเหนืออาณาบริเวณถึงสองในสามของกาแลกซีทั้งหมด มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และพลังทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งยิ่งกว่าที่จักรวรรดิเคยเป็นมาในกาลก่อน

ในระหว่างนั้น สถาบันสถาปนาแห่งที่สอง ซึ่งเป็นองค์กรลับของนักจิตวิทยาและนักอนาคตประวัติศาสตร์ ผู้สืบทอดโดยตรงของเซลด็อน ได้ดำเนินการชักใยทางการเมืองและสังคม โดยอาศัยทั้งอำนาจจิตและคณิตศาสตร์ เพื่อให้ทั้งจักรวาลก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง และส่งเสริมให้สถาบันสถาปนาแห่งแรกครองอำนาจได้อย่างไร้ผู้ต่อต้าน ภารกิจอันเร้นลับนี้ ถูกเฝ้าจับตามองอย่างหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลาจากสถาบันสถาปนาแห่งแรก จนถึงขั้นที่อาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรม และกลไกทางสังคมของผู้คนในสถาบันสถาปนาแห่งแรก ให้คลาดเคลื่อนไปจากที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกอันไม่คาดล่วงหน้า เช่น คนครึ่งมนุษย์ นาม "มโนมัย" ที่ใช้อำนาจจิตเหนือมนุษย์เข้าครอบงำ และยึดอำนาจการปกครองของสถาบันสถาปนาแห่งแรกไปได้ด้วยเวลาไม่นาน

สถาบันสถาปนาแห่งที่สองต้องดิ้นรนอย่างสุดฤทธิ์เพื่อปราบมโนมัย และซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งนำแผนการเซลด็อนกลับสู่เส้นทางเดิม แต่ก็ไม่วายถูกระแวงจากชาวสถาบันสถาปนาแห่งแรก จนในที่สุด เพื่อขจัดความคลางแคลงใจ อันจะมีผลกระทบต่อแผนการในอนาคต สถาบันสถาปนาแห่งที่สองจึงต้องสร้างสถานการณ์ ให้สถาบันแห่งแรกหาพบ และจับกุมสมาชิกไปจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ตายใจว่าสถาบันสถาปนาแห่งที่สองได้ถูกกำจัด อย่างถอนรากถอนโคนแล้ว กว่าร้อยปีหลังการกวาดล้างครั้งใหญ่นั้น สถาบันสถาปนาแห่งแรกถึงพร้อมด้วยอำนาจทางวัตถุ และรุดหน้าอย่างมั่นคง สู่เส้นทางของการก่อตั้งจักรวรรดิใหม่ สถาบันสถาปนาแห่งที่สองก็ยังคงครอบงำอย่างเร้นลับเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายเดียวกัน เหตุการณ์ทั้งหลายสานตัวด้วยกันเข้าอย่างราบรื่นพอเหมาะเจาะ... เหมาะเจาะเกินไปสักหน่อยกระมัง?

ความลงตัวพอดีจนเกินสมควรอันนี้ถูกสงสัยโดย โกลาน เทรวิซ นักการเมืองและสมาชิกสภาหนุ่มของสถาบันสถาปนาที่หนึ่ง ผู้ดูเหมือนจะมีอำนาจหยั่งรู้อันลึกลับ การป่าวประกาศข้อสงสัยของเขาถูกขัดขวางโดย ฮาร์ลา บรันโน นายกเทศมนตรี (ชื่อเรียกขานตำแหน่งสูงสุดของผู้ปกครองสถาบันสถาปนา ตั้งแต่ครั้งที่มันเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ของนักวิชาการ) หญิงเหล็กผู้เจนสังเวียนการเมือง เทรวิซถูกจับและถูกเนรเทศออกมา ในภารกิจบังหน้าคือการค้นหาโลกที่สาบสูญ ร่วมกับนักประวัติศาสตร์สูงวัย จานอฟ เพโลแรท ทั้งคู่ถูกชักจูงเข้าสู่วังวนของการช่วงชิงอำนาจ อันเกือบจะนำไปสู่การปะทะขั้นแตกหัก ระหว่างแสนยานุภาพทางจิตและทางวัตถุของสองสถาบัน ก่อนที่ฝ่ายที่สามซึ่งเรียกตัวเองว่า "ปฐมภพ" จะแทรกแซง และดัดแปลงเหตุการณ์นั้นให้ผ่านพ้นไปด้วยดีแก่ทุกฝ่าย

แต่คำถามที่ยังไม่มีคำตอบก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับแนวทางของแผนการเซลด็อนที่วางเอาไว้อย่างดี หากแผนการนั้นถูกต้องจริง ทำไมจึงต้องอาศัยฝ่ายที่สามเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์? และในทางกลับกัน หากอนาคตประวัติศาสตร์ไม่สามารถทำนายเหตุการณ์ได้อย่างถูกต้องเช่นในครั้งนี้แล้ว ไฉนแผนการเซลด็อนจึงดำรงอยู่รอดปลอดภัยมาได้อย่างแม่นยำ ถึงห้าศตวรรษ? หรือเซลด็อนได้วางแผนไว้แล้วให้ปฐมภพเข้ามาแทรกแซง หรือในทางกลับกัน เป็นไปได้หรือไม่ว่าปฐมภพได้วางแผนให้ฮาริ เซลด็อน เป็นหุ่นเชิดที่ก่อตั้งสถาบันสถาปนาและแผนการอันเลื่องลือนี้ขึ้นอีกทีหนึ่ง ตั้งแต่เกือบห้าร้อยปีก่อน? หรืออีกทางหนึ่ง มีใครหรืออะไรที่อยู่เบื้องหลังความเป็นไปทั้งหมดนี้อีกทีหนึ่ง?

"สถาบันสถาปนา และโลก" นิยายวิทยาศาสตร์เล่มที่ 5 ในชุด "โลกอนาคต : สถาบันสถาปนา" คือเรื่องราวที่นำไปสู่การคลี่คลายปริศนาของโลกและหุ่นยนต์ ที่มีผลต่ออนาคตของมนุษยชาติทั่วทั้งกาแลกซี...

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ

อ่านเพิ่มเติม

http://www.orbit.in.th/foundation/foundation.htm
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 26 มิถุนายน 2553 20:35:06 »

สถาบันสถาปนา : นิยายวิทยาศาสตร์ โดยไอแสค อาสิมอฟ





ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือครับ และบล็อกนี้ก็ตั้งใจว่านอกจากจะพูดคุยเรื่องภาพยนตร์ ดนตรีแล้ว จะพูดคุยเรื่องหนังสือด้วย แต่ทว่าหนังสือตามท้องตลาดในบ้านเรานั้น ปัจจุบันนับว่าไม่มีความหลากหลายเท่าที่ควร และเนื้อหาหนังสือค่อนข้างย่ำแย่ ดังนั้นผมก็เลยไม่ค่อยได้มาแนะนำหนังสือหนังหากันสักเท่าไหร่



อาจมีคนแย้งผมว่า ปริมาณของหนังสือ และประเภทของหนังสือในเมืองไทยนั้น มีมากมายเยอะแยะ นิตยสารหรือก็มีหลายหัว หัวนอกหัวฝรั่ง แต่ว่าในจำนวนมากมายนั้น หากลองประเมินดูแล้ว จะพบว่ามีกลุ่มหนังสือเพียงไม่กี่ประเภทเท่านั้น นี่ไม่นับรวมตำราวิชาการหรือหนังสือประเภทคอมพิวเตอร์นะครับ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน แต่นับเอาเฉพาะหนังสือที่ไว้ ข้างหมอน ได้











เราจึงเห็นนิยายมากมาย แต่พินิจแล้วมีแต่ประเภท ฆาตกรรมสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน เสียเหลือเกิน ทำนองว่าอ่านแล้ว วางไม่ลง อย่างที่เขียนไว้บนหน้าปก หรือไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นนิยายรักหวานแหวว หน้าปกเป็นรูปการ์ตูนชายหญิง หรือภาพวาดสีสัน คิกขุ ส่วนที่ไม่ใช่นิยาย ก็จะเป็นประเภท จิตวิทยา ต่าง ๆ ตั้งแต่วัยเด็กจนวัยเกษียณ นัยว่าคนสมัยนี้คงใช้ชีวิตได้ย่ำแย่กว่าคนในสมัยก่อนอยู่มาก



อีกประเภทหนึ่ง มีน้อยลงไปมากแล้ว แต่ก็ยังพอเห็นอยู่ คือประเภทอัตชีวประวัติของ คนเพิ่งดัง นัยหนึ่งว่าชีวิตของตูข้าประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่โอฬารมาก ข้อคิดในชีวิตของเขาและเธอผู้นั้น ที่เพิ่งผ่านน้ำร้อนมาได้ ๑๐ ถึง ๒๐ กว่าปี เป็นปรัชญาการดำรงชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ทำนองเดียวกับอัตชีวประวัติของมหาตมะ คานธี ที่แปลโดย กรุณา กุศลาศัย เอาเลยทีเดียว และส่งท้ายก็คือหนังสือประเภท ดวงแก้กรรมกรรมตามดวงคนชี้กรรม อะไรทั้งหลายที่น่าจะหาได้เฉพาะในไทยแลนด์แดนคนบาป แดนคนทุกข์ ส่วนแม่ชีคนดังที่เคยออกหนังสือมาหลายเล่ม ใครอยากทราบว่าผมคิดอย่างไร คุยได้หลังไมค์











เกือบลืมอีกประเภทหนึ่ง ประเภทนี้นับว่าเป็นขยะอย่างแท้จริง นั่นก็คือหนังสือเฉพาะกิจทั้งหลาย ที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ ชเลียร์ และ โปรโมต นักการเมืองนายเงินทั้งหลาย เราจึงได้เห็นประเภท เขาเรียกนาย เราเรียกพ่อ หรือ แวร์ อาร์ ยู ? ซึ่งผมอยากตอบแทนจังเลยว่า อิน เฮ็ลล์!



ส่วนหนังสือที่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดีในปัจจุบันที่ขอชื่นชม นั่นก็คือ หนังสือธรรมะแนวอ่านง่าย ภาพสวย รูปประกอบสวย รูปเล่มน่าอ่าน ให้คนเราเข้าใจว่าธรรมนั้นอยู่คู่กับชีวิตประจำวันของเรา ทุกลมหายใจเข้าออกเลยทีเดียว เอาละครับ ฝอยมามากแล้ว ตามสไตล์คนขี้บ่นอย่างผม ซึ่งมีคนใกล้ตัวหลาย ๆ คน ชอบกระทุ้งเอาว่า ทำไมถึงเป็นคนขี้บ่นได้ขนาดนี้











หลายคนอาจจะเขม่นว่าผมชอบทำตัวหัวสูง ในเรื่องนี้ผมคิดว่าคนเราควรจะเสาะแสวงหาของดีใส่กบาลให้ชีวิตตนเองนะครับ จึงเป็นสิ่งที่ผมทำให้ตัวเองเสมอมา ตั้งแต่ดั้นด้นทดลองฟังเพลงคลาสสิกจนติดงอมแงมอย่างในปัจจุบัน หรือดูหนังที่เขาว่ากันว่าดีนักดีหนา ในเรื่องของหนังสือนั้น ผมเองก็อ่านเท่าที่เวลาและโอกาสอำนวย แต่ก็ยังอ่านได้ไม่มากนัก จะมีหนังสือหนัก ๆ อย่างของ ดอสโตเยฟสกี้ หรือตอลสตอย ก็ผ่านตาอยู่นิดหน่อย



แต่หนังสือที่ผมคิดว่า ดีที่สุดในโลก นอกจากเจ้าชายน้อยแล้ว ในความคิดเห็นของผม ก็คือนิยายวิทยาศาสตร์ชุด สถาบันสถาปนา(Foundation Series) ของนักประพันธ์ระบือนาม ไอแสค อาสิมอฟ (Isaac Asimov) นักประพันธ์อเมริกันเชื้อสายยิว-รัสเซีย สำหรับนิยายวิทยาศาสตร์นั้น ภาษาฝรั่งเรียกว่าไซไฟ (Sci-fi) หรือไซน์ ฟิกชั่น นั่นเอง มีนักเขียนแนวนี้หลายคนครับ แต่กูรูทางด้านนี้ ที่เขายกย่องกันมี ๒ คน คือ อาเธอร์ ซี. คล้าค(Arthur C. Clarke) ชาวอังกฤษ ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว เจ้าของผลงานระบือลือลั่น ๒๐๐๑ ท่องอวกาศ



(อาเธอร์ ซี. คล้าค)






อีกคนหนึ่งก็คือ อีตาอาสิมอฟคนนี้แหละครับ ขอปูพื้นให้ทราบกันสักนิดว่า แนวการเขียนของสองคนนี้ ไม่เหมือนกันเลย แน่นอนครับที่นักเขียนแต่ละคน ย่อมไม่เหมือนกัน แต่ความแตกต่างระหว่างคล้าคและอาสิมอฟ อยู่ตรงที่ นิยายของคล้าคนั้น ท่วงทีลีลาและเนื้อหา ออกไปในทางปรัชญา เช่น กำเนิดมนุษย์ ความลี้ลับอันไกลโพ้น หรือสิ่งมีชีวิตนอกโลก หนังสือของคล้าคจึงอ่านเข้าใจได้ยาก แม้คล้าคจะใช้ พรรณาโวหารในหลายช่วงหลายตอน เช่นเวลาที่เขาบรรยายภาพของวัตถุลึกลับในอวกาศ ก็ทำให้ผมสุดแสนจะปวดสมองในการพยายามที่จะเห็นภาพตามความคิดของคล้าค สรุปคือหนังสือของคล้าคเป็นหนังสือที่ย่อยยาก อ่านไม่สนุก แต่ล้ำลึกด้วยความคิด



(ไอแสค อาสิมอฟ หน้าตาแกอัจฉริยะแฮะ)







ส่วนอาสิมอฟนั้น แม้ไม่เหมือนคล้าค แต่อย่าเข้าใจผิดว่าขาดความล้ำลึกเป็นอันขาด จินตนาการของอาสิมอฟนั้น ล้ำลึกพิศดารสุดแสนมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง แต่ต่างจากคล้าคตรงที่ว่า นิยายของอาสิมอฟจะมีฉากหลังอยู่ที่สังคมมนุษย์ในช่วงเวลาอนาคตอันไกลโพ้น เกินกว่าปี ๒๐๐๑ หรือ ๒๐๑๐ ของคล้าคมากมายนัก เช่นพูดถึงสังคมมนุษย์อีกหลาย ๆ หมื่นปีข้างหน้า เทคโนโลยีทันสมัยต่าง ๆ ที่เป็นประดุจดังคำทำนายล่วงหน้าของเขา ว่าโลกอนาคตจะต้องเป็นเช่นนั้น นิยายของอาสิมอฟจึงไม่ได้พูดถึงมนุษย์ต่างดาว แต่พูดถึงเรา ๆ ท่าน ๆ รวมถึงความขัดแย้งในสังคมอนาคต ทั้งทางการเมืองและทรัพยากร รวมถึงวัฒนธรรม



แต่อย่าเข้าใจผิดว่า เนื้อเรื่องของนิยายของอาสิมอฟ จะไม่สนุกตื่นเต้น เพราะไม่มีเรื่องมนุษย์ต่างดาว แต่นิยายของอาสิมอฟกลับอ่านเพลิน ชนิดที่เรียกว่าสนุกฉิบ...เป๋ง จินตนาการของอาสิมอฟนั้น นำเอาเราผู้อ่านท่องไปกับความบรรเจิดของโลกอนาคต ยกตัวอย่างเรื่องย่อจากสถาบันสถาปนา



(ประวัติของแก ไว้เล่าทีหลัง ว่าทำไมถึงรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ดีนัก)







จักรวาลที่ประกอบด้วยดาวเคราะห์นับล้านดวงรวมเป็นอาณาจักรเดียว จักรวรรดิสากลจักรวาล มีอาณาเขตจากปลายหนึ่งจดอีกปลายหนึ่งของกาแลกซีทางช้างเผือก มีพลเมืองกว่าล้านกำลังสี่ มีพระมหาจักรพรรดิเป็นประมุข แต่ก็เฉกเช่นอาณาจักรต่าง ๆ ในอดีตที่มีรุ่งก็มีดับ จักรวรรดิสากลจักรวาลนี้กำลังเริ่มเสื่อมโทรมลง แต่ด้วยเหตุที่ว่าใหญ่ยิ่งกว่าใหญ่ อาการเสื่อมโทรมจึงค่อยเป็นค่อยไป กินเวลานานยิ่งกว่านาน ช่วงว่างระหว่างความรุ่งเรืองแรกกับความรุ่งเรืองที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็ต้องนานแสนนานด้วย โดยจะกินเวลาถึง ๓๐,๐๐๐ ปี โชคดีที่ ฮาริ เซลด็อน นักจิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ ผู้บุกเบิกวิชาการด้านอนาคตประวัติศาสตร์ (psychohistory) ได้สังเกตเห็นอาการเสื่อมโทรมดังว่านี้ จึงคิดแก้ไข ย่น ช่วงว่างนั้นให้สั้นลงเหลือเป็นอนารยะยุคเพียง ๑,๐๐๐ ปี โดยการก่อตั้งสถาบันสถาปนาขึ้น



เป็นอย่างไรครับ พิสดารพันลึกไหม นี่แค่เศษหนึ่งส่วนร้อยของเรื่องนะครับ ที่สำคัญคือนิยายของอาสิมอฟ ไม่ได้พร่ำเพ้อพรรณาแต่อะไรเทือกนี้ แต่ยังมีพล็อตที่หักมุมแบบนิยายสืบสวนชั้นดี บางภาคบางตอนหักมุมกันหลายชั้น ซึ่งก็ไม่เป็นการ เกร่อ หรือ เสร่อ แต่อย่างใด กลับยิ่งทำให้เราเห็นความเหนือชั้นในมันสมองของอาสิมอฟ



(ภาพศาสตราจารย์ฮาริ เซ็ลด้อน ในจินตนาการ)







นวนิยายชุดนี้มี ๗ เล่ม (ไม่นับภาคพิสดารที่มีผู้อื่นมาแต่งต่อ ซึ่งแต่งได้แย่มาก) ประวัติของนิยายผมจะไม่เล่าให้เสียเวลา เอาคร่าว ๆ เป็นว่า เดิมเขาแต่งเอาไว้ไม่ยาวนัก ต่อมาได้ขยายความออกมาเป็นนิยายขนาดยาว และเดิมก็มีไม่ถึง ๗ เล่ม แต่มาแต่งเพิ่มเสริมให้พิสดารพันลึกขึ้นไปอีกหลังจากที่คลอด สถาบันสถาปนา ชุดแรกแล้วนานพอสมควร ดูจากชื่อนิยายแล้ว อย่าเพิ่งร้องยี้เป็นเด็ดขาด กับชื่อเรื่องจืด ๆ ฟังดูแสนจะธรรมดาแบบนี้ นี่คือนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่ครองใจนักอ่านทั่วโลกมาแล้วอย่างมากมาย เรียกได้ว่า ลอร์ด ออฟ เดอะริง (ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์) หรือแฮรี่ พ็อตเตอร์ ในสมัยนี้ จินตนาการและความสนุก ไม่ติดฝุ่น” เลยแม้แต่น้อย




เชื่อว่าหลาย ๆ คนในที่นี้ คงเคยอ่านมาบ้างแล้ว ผมเองก็อ่านหลายรอบ แต่ด้วยความที่นวนิยายสนุกเหลือหลาย และตัวละครก็เยอะมาก พอ ๆ กับสามก๊กเลยทีเดียว ผมจึงจะกลับมาอ่านอีกรอบหนึ่ง และจะแยกย่อยแต่ละภาคหากมีเวลา แล้วเรามาคุยกันใหม่ครับ




หมายเหตุ : นิยายชุดนี้พิมพ์แล้วหลายครั้ง ครั้งล่าสุดก็นานหลายปีดีดัก ตอนนี้เข้าใจว่าไม่มีในท้องตลาดแล้ว แต่หากข้อมูลผิดพลาดก็ขออภัยด้วย แล้วถามว่าไม่มีขาย แล้วเอามาแนะนำทำไม ก็ขอตอบว่า อยากเขียนน่ะ จะทำไม คนมันชอบ...!

http://www.oknation.net/blog/wiglud/2009/07/13/entry-1#
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.113 วินาที กับ 29 คำสั่ง

Google visited last this page 19 พฤศจิกายน 2567 08:20:08