[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 12:30:44 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: โลกธรรมแปด โดย หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ  (อ่าน 2802 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7861


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 5.0.375.99 Chrome 5.0.375.99


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 12 กรกฎาคม 2553 19:23:30 »

[ โดย อ.กรึงไกร จากบอร์ดเก่า ]


โลกธรรมแปด

โดย หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

แห่งวัดอรัญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

แสดงธรรมเทศนาที่บ้านลานทอง

22 พฤษภาคม 2542

โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดสติปัฏฐาน ๔ กระทู้ 14576 โดย : รักษา 31 มี.ค. 48

นโมตส ภควโต อารหโต สัมมาสัมพุทธส

นโมตส ภควโต อารหโต สัมมาสัมพุทธส

นโมตส ภควโต อารหโต สัมมาสัมพุทธส

ผุฎฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ . อโลกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺ คลมุตฺตมํ ติ
(บุคคลผู้ใด ได้ประสบกับโลกธรรมแปดประการนี้แล้ว มีจิตใจตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ต่อโลกธรรมแปดอย่างนี้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มี จิตเกษม มีจิตปลอดโปร่ง จากความทุกข์ความเดือดร้อนโดยประการทั้งปวง เป็นมงคลอันสูงสุด)

ให้พากันนั่ง นั่งตามสบายนะ นั่งตามสบายนั่งยังไง ก็เป็นที่สบายใจก็นั่ง ไอ้อ้วนนี่นั่งขัดสมาธิก็ได้นะ นี่มันนั่งพับพับเพียบได้ดี นะ ไอ้ผอมนี่มันนั่งขัดสมาธิได้ดี อ้าวพากันตั้งใจเมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เราทุกคนก็ชื่อว่าเคยชิน  กับการปฏิบัติมาโดยลำดับ  แต่ก่อนนี้ก็มีเดือนละครั้งต่อมานี้ คุณสรศักดิ์ ก็มาเพิ่มขึ้นเดือนละสองครั้งหรือสาม ก็ไม่รู้นะ สองหรือสามล่ะ

มีเสียงตอบ “สองครับ”

เดือนละสองครั้ง เอาวันเสาร์กันวันอาทิตย์หรือไง มาเพิ่มขึ้นอีกก็ดี จะได้ไม่ลืมธรรมะที่เราได้ยินได้ฟังไป แล้วก็ไปประพฤติปฏิบัติตามอยู่บ้านอยู่เรือนของตน แล้วฝึกใจของตนให้เป็นไป ตามธรรมะที่ท่านแนะนำสั่งสอน อันบุคคลเกิดมาในโลกนี้ ซึ่งจะไม่ได้พบกับโลกธรรมแปดประการนั่น คง ไม่มี แต่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐในโลกก็ยังได้ประสบ โลกธรรม คือได้พบกับความสรรเสริญ ความนินทา ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ ได้ประสบความสุขกายสบายใจ แล้วก็ได้รับความทุกข์กายทุกข์ใจเนื่องจาก ว่าโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน อย่าว่าแต่คนธรรมดาสามัญเลย ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ยัง ได้พบได้ประสบกับ โลกธรรมแปดประการนี้ เหตุนั้นพระองค์เจ้าจึงได้ทรงแสดง ไว้ในมงคลสูตร ว่า

ผุฎฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ ยสฺส น กมฺปติ อโลกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺ คลมุตฺตมํ

แปลว่าบุคคลผู้ใด ได้ประสบกับโลกธรรมแปดประการนี้แล้ว มีจิตใจตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ต่อโลกธรรมแปดอย่างนี้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มี จิตเกษม มีจิตปลอดโปร่ง จากความทุกข์ความเดือดร้อนโดยประการทั้งปวง พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงไว้อย่างนี้

แต่สำหรับพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์นั้น ท่านได้รู้เท่าโลกธรรมแปดอย่างนี้แล้ว แม้ใครจะนินทา สรรเสริญ ท่านก็ไม่หวั่นไหว เพราะเหตุว่า คนในโลกนี้แหละ ถ้าเขาชอบใจเขาก็สรรเสริญให้  ถ้าเขาไม่ชอบใจเขาก็นินทาให้  อันนี้มันเป็นเรียกว่า โลกธรรม เป็นธรรมประจำโลก  บุคคลผู้ยังไม่สิ้นกิเลสก็เป็นอย่างนี้ละ ท่าผู้สิ้นกิเลสแล้วท่านไม่นินทาใคร ท่านไม่สรรเสริญใคร ถ้าสรรเสริญก็สรรเสริญในบุคคลผู้กระทำคุณงามความดี ไม่ใช่สรรเสริญด้วยความลำเอียง ถ้าบุคคลผู้มีกิเลสเหล่านี้มีอคติ เห็นเพื่อนที่รักต่างๆ มาร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา เมื่อเห็นเขาทำชั่วลงไป แล้วก็ปกปิดความชั่วของเพื่อนนั้นไม่เปิดเผย ไม่ตักเตือนกันอย่างนี้ ช่วยปกปิดความชั่วของเพื่อนไว้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้มี ฉันทาคติ เป็นผู้มีความถือความรักใคร่เป็นเกณฑ์  แม้ว่าผู้นั้นจะทำชั่วอย่างไร ก็สนับสนุนอยู่งั้นแหละ อือ แต่คนส่วนมากมักจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นเพื่อนรักเพื่อนใคร่กันละโอ๊ ทิ้งกันไม่ได้ ถ้าถึงทำผิดทำพลาด ยังไง ต้องอุ้มชูกันไว้ ก็เป็นการส่งเสริมให้คนผู้นั้นทำชั่วเรื่อยไป เป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ทั้งหลายท่านจึง ไม่ประพฤติเช่นนั้นต่อไป ใครจะทำดี ก็เป็นความดีของผู้นั้นใครกระทำชั่วก็เป็นความชั่วของผู้นั้น เราจะไปลบล้างความชั่วเขา ไม่ได้เขาเองต้องลบล้างความชั่วเขาเอง เมื่อเขารู้ตัวเมื่อใดว่าอ้อเรานี่ทำผิด ทำชั่วแล้วอย่างนี้เขากลับจิตเขาไม่ทำอีกต่อไปแล้ว อย่างนี้ความชั่วมันจึงจะหมดไป ไม่ใช่ว่าผู้อื่นไป ปิดบังไปอุ้มชูเข้าไว้ ความชั่วของผู้นั้นจะหมดไปเอง โดยที่ผู้นั้นไม่ได้เห็นโทษแห่งความชั่วนั้นเลย เช่นนี้นะไม่ควรแท้พวกเรา

จะเป็นมิตรเป็นเพื่อนกันยังไงก็ช่าง ทีแรกก็ทำดี แต่ต่อมามันทำไม่ดี ทำชั่วผิดศีลผิดธรรม ไปอย่างนี้ได้รับโทษทางกฎหมายบ้าง ทางศีลธรรมบ้าง เราก็ไม่สามารถจะไปช่วยเขาได้ จะไปช่วยปกปิดความชั่วเขางี้มันไม่ถูกต้อง เราก็วางอุเบกขาลง เท่านั้นแหละ

ก็สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ผู้ใดทำกรรมอันใดย่อมได้รับผลแห่งกรรมอันนั้น เรานึกถึงกรรมถึงเวรของตนเองบ้างของผู้อื่นบ้าง

เรื่องกรรมนี่แหละสำคัญมากนะ แต่คนเราไม่ค่อยจะเชื่อกรรม ไม่ค่อยจะเชื่อผลแห่งกรรม มักจะลุอำนาจแก่ตัณหา แล้วแต่ตัณหามันจะชักจูงไปยังไง ก็ไปตามตัณหานั้นยังงี้แหละ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ละ อคติสี่ประการ อย่าไปยึดมั่นอยู่ในอคติ ฉันทาคติ มีลำเอียงเพราะความรักกัน โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว อย่างว่าเห็นเขามีเงินมากกว่าเขามีอำนาจ อย่างนี้เมื่อ เขาทำผิดลงเราจะไปทักท้วงก็กลัว กลัวอำนาจเงินเขากลัวเขาจะทอดทิ้งอะไรต่ออะไรอย่างนี้และชื่อว่า ภยาคติ แปลว่า มีความลำเอียงเพราะความกลัว ถ้าไม่ลำเอียงเพราะความกลัว เขาทำผิดเราก็ต้องว่าตามความผิดของเขาไปอย่างงั้น เขาทำถูกเราก็ว่าไปตามการกระทำถูกของเขา

เรามีจิตเป็นกลาง ขอให้เข้าใจ พยายามทำจิตให้เป็นกลางให้ได้ เมื่อทำจิตให้เป็นกลางได้ จึงจะผ่านโลกธรรมแปดประการนี้ไปได้ ถ้าไม่ทำจิตให้เป็นกลางอย่างนี้เดี๋ยวก็จะเกิดวิกฤติทางจิตใจขึ้นมา เดี๋ยวก็คนนั้นนินทา เดี๋ยวก็คนนี้สรรเสริญ แล้วจิตหวั่นไหวไปกับสรรเสริญนินทา  อยู่อย่างนั้นแล้ว

เมื่อเวลามีลาภ มียศมาก็ดีอกดีใจ ถ้าเวลาเสื่อมลาภเสื่อมยศก็เสียใจเศร้าโศก นี่เรียกว่าคนผู้ถูกโลกธรรมครอบงำจิตใจ ย่อมมีแต่ความทุกข์ ความโศกเป็นยังงั้น ถ้าหากว่าเรามีอุบายรู้เท่าว่า ลาภยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ ทั้งหลายเหล่านี้ นินทาว่าร้ายต่างๆ มันเป็นธรรมประจำโลก ธรรมเหล่านี้ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป ก็ต้องพิจารณาให้เห็นอย่างนี้ เมื่อมีลาภมา ลาภนั้นมันก็ไม่ยั่งยืน ใช้ไปจ่ายไปก็หมดไป แต่ในเมื่อมียศถาบรรดาศักดิ์ เขาสมมุติแต่งตั้งให้เป็น เจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ หรือเจ้าหน้าที่ทำราชการงานเมืองต่างๆ นานา หมู่นี้นะก็อย่าไปไว้ใจว่า ไอ้ยศถาบรรดาศักดิ์เหล่านั้นมันจะยั่งยืน ไปตลอด

เราต้องวางจิตให้เป็นกลาง ถ้าหากว่าเขาผู้บังคับบัญชาเขาเห็นเขาไม่ชอบใจ เขาก็ถอดออกเมื่อไรก็ได้ เราก็ไม่ต้องเสียใจดีใจอะไร เพราะว่าลาภยศมันไม่เที่ยง มันมีเกิดขึ้นแล้วมันก็มีเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา ขอให้พากันทำความรู้เท่าโลกธรรมอย่างนี้ โลกธรรมที่ประสบความสุข ก็อย่าเพลิดเพลินในความสุขนั้น เพราะความสุขในโลกนี้มันไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน

แต่ว่าความสุขที่มีร่างกายสมบูรณ์ โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียนอย่างนี้ก็ มันก็เป็นสุขอีกส่วนหนึ่ง บัดนี้ความสุขที่มีทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของพอใช้ พอจ่ายอันนี้มันก็เป็นสุข ประการหนึ่ง เป็นยังงั้น ความสุขที่เกิดแต่ร่างกายไม่มีโรคภัยเบียดเบียน อย่างนี้มันก็เป็นความสุขอีกประเภทหนึ่ง ไอ้ความสุขทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง

เราภาวนาเราต้องรู้เท่าไว้ เมื่อเวลามันเกิดขึ้นมาเมื่อไร เราก็จะได้รู้เท่าทัน จะมีใจตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็นยังงั้น เพราะว่าถ้าเราจะไปมัวเสียใจเศร้าโศกกับความผิดหวังดังกล่าวมานั้น มันก็เป็นความเศร้าโศกเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่ความทุกข์ใจอย่างเดียว

เหตุนั้นถ้าเรารู้เท่าเราไม่เสียใจดีใจ กับความมีลาภมียศ ความเสื่อมลาภเสื่อมยศ ความสรรเสริญความนินทา สุขทุกข์ อะไรต่างๆ นานา เหล่านี้นะ เรารู้เท่าว่าโลกธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมประจำโลก เกิดขึ้นมาแล้วมันก็แปรปรวนแตกดับไป ไม่ยั่งยืน เราพยายามฝึกจิตใจให้รู้เท่า ให้เป็นกลางต่อโลกธรรมแปดประการนี้ เสมอๆ ไป แล้วความทุกข์ทางจิตใจก็เบาบางไป และสรุปใจความว่า บุคคลผู้ที่หวั่นไหวต่อโลกธรรมแปดประการนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับจิตใจที่มา ถือมั่นในธาตุสี่ขันธ์ห้า นี่ถือว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หวงแหนในธาตุสี่ขันธ์ห้า ใครจะมาด่าว่าติเตียนไม่ได้ มาด่าเราหรือมาว่าเราหรือ เราก็เป็นคนๆ หนึ่ง เราก็ด่าตอบได้เรามีปากเหมือนกัน

อันนี้ก็ให้พากันรู้ไว้ว่าเขาด่ามา เขาก็ไม่ได้ด่าเราดอก เราไม่มีอยู่ในขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่ได้มีอยู่ในเรา ขันธ์ห้านี้ มันก็มีรูปธรรมนามธรรมเท่านี้เอง รูปธรรมนี้ก็ประกอบไปด้วยธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม นามธรรมนี่ก็จิตกับกายสัมผัสกัน ก็เกิดเวทนาขึ้นมา เกิดสัญญา เกิดสังขาร เกิดวิญญาณขึ้นมา อันนี้เป็นนามธรรม เป็นธรรมที่ไม่มีรูปร่าง เป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนเราเขาอีกเช่นเดียวกันกับรูปธรรมนั้นเอง

ดังนั้นพวกเราที่ภาวนาอยู่เสมอ ให้พิจารณาโลกธรรมแปดนี่ ให้รู้เท่า ไอ้ความเป็นผู้มีลาภก็หมายความว่า เราได้เกิดเป็นคนมา บุญกุศลที่ทำมาแต่ชาติก่อนนำจิตวิญญาณมาเกิด ในท้องของมารดาซึ่งเป็นมนุษย์ อย่างนี้แล้วบุญกุศล นั้นแต่งตา แต่งหู จมูก ลิ้นกาย มือเท้าอวัยวะน้อยใหญ่ต่างๆ ให้ อยู่ถึงเก้าเดือน ก็จึงค่อยบริบูรณ์ จึงเป็นผู้เป็นคน บริบูรณ์ แล้วก็จึงคลอดออกมา อย่างนี้แหละ

เมื่อเราคลอดออกมา แล้วก็มีอายุสืบต่อเพราะบุญรักษา อันนี้ก็ได้ชื่อว่าเรามีลาภ คือเราได้อัตภาพร่างกายสมบูรณ์อย่างนี้แหละ นี่ก็ชื่อว่ามีลาภอันดี เพราะว่าลาภอันใด ที่จะสู้ได้ร่างกาย สังขารนี้ไม่มี เพราะว่าการได้ร่างกายสังขาร อันสมบูรณ์บริบูรณ์ไม่มีเวรมีภัย ติดตามมาสนอง  เราก็มีโอกาสได้สร้างบุญสร้างกุศล ได้ประพฤติบำเพ็ญกุศลธรรม ให้เกิดขึ้นในจิตใจ อย่างเช่นเราทำกันอยู่นี้แหละ

ถ้าหากว่าเราไม่ได้ร่างกายเป็นมนุษย์นี่มันไม่มีหนทางที่จะมาสร้างบุญกุศอย่างนี้ ไม่ใช่มาฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เข้าใจได้อย่างนี้ไม่มี สัตว์อื่นไม่มีเลยนี้

พระพุทธเจ้าจึงไม่บังเกิดในสถานที่อื่น ในภพอื่น เพราะว่า สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในภพนั้นๆ ในถิ่นนั้นๆ เป็นคนมีบาปหนาสาโหด เป็นคนมีบุญน้อย คือบางคน บางทวีป คนเกิดในทวีปนั้นๆ ก็เป็นผู้มีศีลห้า เกิดขึ้นมาแล้วก็ รับประทานของทิพย์ อย่างอุดรกุรุทวีป อย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว มันก็มีก้อนข้าวอันหนึ่งกับมีหม้อใบหนึ่ง เท่านั้นเอง พอเวลาหิวข้าวขึ้นมา ก็ยกหม้อขึ้นตั้งเตา ยกหม้อขึ้นตั้งเตานั้นแล้วก็เอาฝามาปิด ทันใดนั้นไฟก็ลุกขึ้นเลย พอไฟดับเปิดดูฝาหม้อนั้นมีอาหารเต็มอยู่ในนั้นเลย เย็นแล้วก็รับประทานกัน นี่ พวกมนุษย์ที่ไปเกิดในอุดรกุรุทวีป ย่อมมีความสุขอย่างนี้และมีศีลห้า ไม่เบียดเบียนกัน

พระโพธิสัตว์ทั้งหลายพิจารณาเห็นแล้วว่า มนุษย์ในทวีปนั้นๆ น่ะ มันติดความสุข ติดความสุขที่บุญกุศลที่เขาทำมาแต่ก่อน มาอำนวยให้ได้กินของทิพย์ มีผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นสาวเทวดา ไปนำมาแต่อุดรกุรุทวีป เพื่อนมาก็ได้เครื่องนุ่งเครื่องห่มติดตัวมา กับได้เตา เตาหนึ่งกับหม้อใบหนึ่ง ฝาปิดด้วย ติดตามมา เพื่อมาแต่งงานกับลูกเศรษฐีคนหนึ่งในครั้งพระพุทธเจ้านั้นแหละ ในกรุงราชคฤห์

ปราสาทที่อยู่ที่อาศัยนั้นก็พระยาอินทร์มาเนรมิตให้ สูงเจ็ดชั้น แล้วด้วยแก้วเจ็ดประการอย่างนี้ นะ แก้วเจ็ดประการนั้นส่องแสงสว่างอยู่ทั้งกลางคืนกลางวัน บ้านนั้นไม่มีไฟฟ้าไม่มีตะกงตะเกียงอะไรใช้สอยเลย อาศัยแสงสว่างของแก้วเจ็ดประการนั้นก็อยู่สบายๆ เมื่อหิวอาหารมา ก็ยกหม้อขึ้นตั้งเตา นั้นแล้วเอาฝาปิดไว้ โดยไม่ต้องได้ใส่น้ำใส่อะไรเลย พอตั้งขึ้นอย่างนี้นะไฟก็ลุกขึ้นที่เตา พอไฟดับเปิดฝาดู อาหารก็มีเต็มเพียบอยู่ในนั้น ก็รับประทานกัน

รับประทานเสร็จแล้วก็ล้างหม้อละ อะไรที่สะอาดแล้วก็เก็บไว้ตามเดิม นี่คนในอุดรกุรุทวีปนั้น มีความสุขมากกว่าคนที่เกิดอยู่ในชมพูทวีป

พระพุทธเจ้าไม่ไปเกิดในที่เช่นนั้นเพราะอะไรเพราะว่าคนเหล่านั้นติดความสุขในบุญกุศลที่เขาทำมาตบแต่งให้ ได้กินของทิพย์ได้อยู่สบาย ถ้าพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมแสดงเรื่องทุกข์ เรื่องโศกเรื่องอะไรหมู่นี้ เขาไม่เข้าใจ แล้วเพราะเขาไม่มีความทุกข์อะไร อย่างนี้แหละ แต่ว่ามันก็มีอายุจำกัดขอบเขต มีอายุอยู่ร้อยปีแล้วตายอย่างนี้นะ

ถึงจะมีความสุขอันเกิดจากบุญกุศลนั้นก็จริง แต่ว่าก็มีความสุขได้ชั่วคราว ชั่วระยะร้อยปีเท่านั้นเองเมื่อหมดอายุแล้วก็ต้อง แตกกายทำลายขันธ์ไป เกิดในที่อื่นๆ ต่อไป เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่ไปบังเกิด ในทวีปนั้นๆ เพราะเกิดมาแล้ว พระองค์จึงแสดงธรรมให้คนเหล่านั้นฟัง เขาไม่สนใจไม่เข้าใจ

พูดถึงเรื่องอริยะสัจจะธรรมทั้งสี่อย่างนี้ ทุกข์ อย่างนี้นะ ชาติ ความเกิดเป็นทุกข์อย่างนี้ ความแก่ ความเจ็บความตายเป็นทุกข์ เอ้าเขาเกิดมาเขาไม่ได้ประสบความทุกข์เลย เขามีแต่ความสุขสม่ำเสมอมาแล้วจะให้เข้าเชื่อได้ยังไงล่ะ ความแก่อย่างนี้มันก็ยังไม่ปรากฏเพราะคนมีอายุยืน นี่ไม่ค่อยชำรุดง่ายๆ ร่างกาย แล้วโรคภัยก็ไม่ค่อยเบียดเบียน

อย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นแล้วว่า คนเหล่านั้นไม่สามารถ ที่จะรับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ จึงมาบังเกิดในชมพูทวีปนี้ ในชมพูทวีปนี้มันมีทั้งคนบุญคนบาป มาเกิดอย่างนี้ คนบุญเมื่อรู้ว่าตนมีบุญแล้ว ก็ต้องอดต้องทนต่อคนบาป คนบาปนั้นมันจะมากระทบกระทั่ง อย่างไรก็ไม่หวั่นไหว เรียกว่าเป็นผู้ รู้เท่าโลกธรรมแปดอย่างที่ว่านั้นน่ะ

เมื่อไม่หวั่นไหวต่อความนินทาว่าร้าย ความอิจฉาริษยาจากผู้อื่น บุญบารมีก็แก่กล้าขึ้น ถ้าผู้ใดมีจิตหวั่นไหว กับคำสรรเสริญ หรือนินทา จากผู้อื่นแล้วบุญบารมี ก็ไม่แก่กล้าขึ้นได้ นี่ขอให้พากันเข้าใจ ก็คงเข้าใจกันได้ดีนะ อันนี้แหละเป็นหนทางออกจากทุกข์ ให้พากันเข้าใจไว้ เราอย่าไปนึกว่า โอ๊ยเรามันทำไม่ได้หรอก เราเป็นปุถุชนยังยินดียินร้าย อยู่ไม่ควรไปคิดปฏิเสธอย่างนั้น

ปุถุชนนี่แหละ ที่ได้เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ถึงพระอรหันต์ นี่ แต่ทีแรกเปิ้นก็เป็นคนธรรมดาสามัญนี้เองนะ เปิ้นก็ยังหวั่นไหวอยู่ในโลกธรรม มีความเสียใจดีใจอยู่ ต่อเมื่อได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็มาปฏิบัติตาม มาฝึกจิตใจไม่ให้หวั่นไหวต่อโลกธรรม เหล่านี้นะท่านมีจิตใจเป็นกลาง อย่างว่านั้นแล้วท่านเข้าสมาธิ ได้ง่าย ทำจิตให้เป็นสมาธิได้ง่าย

คนมีจิตเป็นกลางนี่นะ น้อมสติเข้าไปสำรวมจิต คือความรู้สึก ตั้งอยู่ในท่ามกลางอกภายใน ร่างกายนี้จิตดวงนี้แหละ ความจริงจิตดวงนี้อาศัยอยู่ หทัยวัตถุคือเนื้อหัวใจ เนื้อหัวใจนี้อยู่ในท่ามกลางอกนี่ แขวนอยู่ในกลางอกนี่แหละ ดวงจิตมันมาปฏิสนธิในท้องของมารดา ก็มาอาศัยธาตุของมารดาบิดา ธาตุบุญกุศลมาตกแต่ง หัวใจให้ ฉากแรกนะ ก็มีหัวใจจิตได้อาศัยแล้ว แล้วก็ตกแต่งอวัยวะส่วนอื่น ตาหู จมูก ลิ้น กาย มือเท้า อะไรต่างๆ ต่อไป ให้พากันเข้าใจ

เพราะฉะนั้น หัวใจนี้จึงชื่อว่าสำคัญมาก อย่าพากันละเลย

การที่เรามาปฏิบัติตามคำสอน พระพุทธเจ้าอย่างว่านี้นะ เราก็เพ่งให้เข้าถึง ความรู้สึก คือเพ่งเอาสติน้อมสติระลึกเข้าไป หาความรู้ ความรู้นั้นอยู่อาศัยอยู่ที่ขั้วหัวใจ ก็ให้เพ่งเล็งเข้าไปอย่างนั้น เมื่อเราน้อมสติเข้าไปถึง ความรู้สึกอันนั้นแล้วเรา พยายามมีสติประคองความรู้สึกนั้นไว้ ไม่ให้หวั่นไหว ไม่ให้วอกแวก ให้สติกำหนดรู้อยู่ที่รู้

ไอ้จิตนี้ถ้าหากขาดสติละ ไม่อยู่ ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย ฉะนั้นให้ใส่ใจเรื่องสติให้มาก สติแปลว่าความระลึกได้ เมื่อเราภาวนาระลึกเข้าไปหาดวงจิตนู่น อย่าระลึกไปทางอื่น นี่นะให้รู้จักวิธีการทำใจให้สงบแบบกระทัดรัด แบบรวบรัด อันนี้น่ะ เราเพ่งเข้าไป เมื่อเราเพ่งสติน้อมสติเข้าไปกับลมหายใจเข้าออกนี้นะ สตินี่มันก็เข้าไปถึงความรู้สึกนั้น เข้าไปประคองความรู้สึกนั้นไว้ ความรู้สึกคือจิตนั้นมันก็ไม่คิดไปทางอื่นน่ะ บัดนี้ สติมันไปประคองไว้แล้ว นี้แหละการที่เราฝึกจิตใจ ให้ตั้งมั่นต่อบุญต่อคุณด้วยดีเราก็ต้องฝึกอย่างนี้นะ ฝึกสตินี้ก่อนนะ สติให้มันแก่กล้า ระลึกเข้าไป เพ่งเข้าไปจนมันถึงจิตเดิมใจเดิมคือความรู้สึกอันนั้น เนี่ย การที่เราทำอย่างนี้ เราพยายามฝึกจิตดวงนี้ให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม อือบรรดาคนธรรมดาสามัญนี่ ย่อมหวั่นไหวเมื่อมีลาภมียศขึ้นมาก็ ดีใจเสียใจอย่างนี้นะ เมื่อเสื่อมลาภเสื่อมยศก็เสียใจ เศร้าโศก เป็นยังงั้น

เมื่อได้รับคำสรรเสริญนินทา เมื่อได้รับคำสรรเสริญก็ดีใจชื่นใจ เมื่อใครสรรเสริญให้ว่าคุณนี้มีบุญนะคุณนี้มีเกียรติ คุณนี้เป็นผู้มี หาเงินหาทองได้อย่างนี้นะ ถ้ามีใครมาสรรเสริญอย่างนี้เราก็ปลื้มใจขึ้นมา อย่างนี้ละเรียกว่าหวั่นไหวต่อสรรเสริญ

ถ้ามีคนนินทาว่าคุณนี้ ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้นะ อย่างนั้นเขาหาเรื่องมากระทบกระทั่งให้ ให้เรามีจิตหวั่นไหว อ้าวเราได้ฝึกจิตมาแล้วอย่างว่านี้ เราไม่หวั่นไหว มาพิจารณาโดยตัวเอง เรามีศีลมีธรรมอยู่ เราไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ไม่ไปทำความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่ใคร จะมีใครจะว่าเราไม่ดี อย่างนี้เราก็ไม่หวั่นไหว

ข้อสำคัญอย่างว่านี้มันก็อยู่ที่การมาพิจารณาตัวเองนี่แหละ อย่าไปฟังแต่เสียงผู้อื่น เสียงผู้อื่นนั้นไม่แน่นอน ของบุคคลผู้มีกิเลสนะ เมื่อเขามีความพอใจรักใคร่กะเรา เขาก็สรรเสริญให้ อย่างที่ว่ามาแล้วนั้นนะ เมื่อเขาไม่พอใจกับเราเขาก็หาเรื่องนินทาว่าร้ายต่างๆ ให้อย่างนี้นะ เป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้นก็ให้ทำความรู้เท่าเหล่านี้ หัดฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนาทำใจให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วก็ใช้ปัญญาอันเกิดจากสมาธินั้น มาพิจารณาการได้ลาภ คือได้ร่างกายอันนี้ มันก็เป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนเหมือนกัน เมื่อได้ร่างกายนี้มาแล้วก็ บุญกุศลก็มาดลบันดาลให้มีเงินมีทอง มีบ้านมีช่องอยู่อาศัย สมบัติภายนอกเหล่านี้ก็ไม่เที่ยง เมื่อร่างกายไม่เที่ยงแล้วสมบัติภายนอกมันจะเที่ยงมาแต่ไหน

เมื่อร่างกายนี้แตกทำลายลงแล้วก็ ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นก็ตกเป็นของผู้อื่นไป

ก็ใช้ปัญญาสอนตนอย่างนี้เข้าไป แล้วจิตมันก็เป็นกลางได้ จะได้ประสบความสุข ความทุกข์ดังกล่าวมาแล้วนั้นก็เหมือนกันน่ะ เราก็รู้เท่า ก็เมื่อเวลามันเป็นสุข สุขนั้นก็ไม่เที่ยง ซักเดี๋ยวก็แปรมาเป็นทุกข์  บางทีได้ประสบความทุกข์ ความเดือดร้อนต่างๆ นานา หน่อยหนึ่งความทุกข์มันก็หายไป เกิดความสุขขึ้นมาแทน นี่โลกธรรมน่ะ

ธรรมประจำโลกนะหมู่นั้นน่ะ จะเป็นสุขยืนตัวอยู่ข้างเดียวไม่ได้ มันจะเป็นทุกข์ตลอดไปก็ไม่ได้ ขอให้เข้าใจมัน สุขทุกข์มันย่อมเกิดสลับกันไป เมื่อสุขเกิดแล้วทุกข์ก็หายไป เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้วสุขก็หายไป อย่างนี้นะ คนเรานี้มันก็มาหวั่นไหว กับโลกธรรมแปดนี้แหละ ฉะนั้นพากันศึกษาให้รู้ให้เข้าใจเสีย

ความเป็นผู้มีลาภหนึ่ง เป็นผู้มียศหนึ่ง เป็นผู้ได้รับคำสรรเสริญเยินยอจากผู้อื่นหนึ่ง เป็นผู้มีความสุขหนึ่ง อันนี้นี่เป็นโลกธรรมฝ่ายดี ฝ่ายอำนวยความสุขให้ บัดนี้โลกธรรม อันฝ่ายดีนี้แหละมันก็ไม่ยั่งยืน มีลาภมาแล้วก็ลาภเสื่อมไป นี่ถ้าไม่รู้เท่าก็เป็นทุกข์ได้ มียศมาแล้วยศเสื่อมไป ก็เป็นทุกข์ได้ เป็นงั้น ได้รับนินทาว่าร้ายต่างๆ นานา แล้ว ก็เป็นทุกข์ใจอย่างนี้แหละ ได้รับความทุกข์กายทุกข์ใจ เพราะโรคภัยเบียดเบียน เพราะไม่รู้เท่าโลกธรรมตามเป็นจริง

นี่ก็มีความคับแค้นแน่นใจอยู่อย่างนี้ ได้ชื่อว่า ไม่รู้เท่าสุข ไม่รู้เท่าทุกข์ ก็เป็นโลกธรรมทู่ซี้ซี้ ขอให้พากันจำไว้ ที่มาย้อนกลับมาแสดงอีกก็เพื่อให้ผู้ฟังนั้น เข้าใจ จำได้ นำให้ได้ โลกธรรมแบ่งเป็นสองพวก พวกหนึ่งเป็นฝ่ายดี เพราะเป็นผู้มีลาภมียศ มีสรรเสริญ มีความสุขกายสบายใจอย่างนี้เป็นฝ่ายดี ความเป็นผู้เสื่อมลาภเสื่อมยศ ได้ประสบความนินทาว่าร้าย ได้ประสบกับความทุกข์ อันนี้ได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายชั่วฝ่ายไม่ดี

ทั้งฝ่ายดีฝ่ายไม่ดีนี้แหละ เราทำจิตให้เป็นกลาง ไม่ต้องไปยินดียินร้ายกับโลกธรรมสี่คู่นี้ ให้เข้าใจอย่างนั้น อย่าไปถือมั่นว่าร่างกายนี้เป็นตัวตนเรา เขา ถ้าไปถือมั่น ขันธ์ห้านี้ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขาแล้ว มันทนไม่ไหว เมื่อใครนินทาว่าร้ายมา ก็โกรธ ก็ตอบโต้กันไป อย่างนี้

ฉะนั้นข้อสำคัญที่ว่าให้ภาวนา พยายามปลงขันธ์ห้านี้ลง วางขันธ์ห้านี้ลง อย่าไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวตน ขันธ์ห้าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไอ้สิ่งอื่นนอกขันธ์ห้าออกไปนี้มันก็ไม่เที่ยง ทุกข์เป็นอนัตตาเหมือนกัน

เราภาวนาทำใจให้สงบแล้วก็เจริญปัญญา สอนจิตเนี่ย ให้จิตนี้รู้ว่าขันธ์ห้านี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทนได้ยากลำบาก เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน บังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจหวัง

สรุปสุดท้าย เมื่อมารู้เท่าขันธ์ห้า ตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว จิตใจก็ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมแปด ประการ ดังแสดงมานั้น เพราะฉะนั้นเมื่อพุทธบริษัท ได้สดับตรับฟังแล้ว ขอให้พากันจำเอาโลกธรรมแปดประการนี้ไว้ แล้วไปฝึกฝนจิตใจของตน สงบแล้ว น้อมเอาโลกธรรมแปดนี้มาพิจารณา ให้มันเห็น ฝ่ายดีฝ่ายไม่ดี ให้มันรู้เท่า ฝ่ายดีก็ไม่เที่ยง ฝ่ายไม่ดีก็ใช่ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับไป ควรรู้เท่าตามเป็นจริงเสมอ ดังนี้แหละความหมายของการแสดงธรรมวันนี้

ฉะนั้นพุทธบริษัทได้ฟังแล้วขอ ให้น้อมนำไป ประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะได้ประสบความสุขความเจริญ ยิ่งๆ ขึ้นไป ดังแสดงมา ขอจบลงเพียงเท่านี้


 
ขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_hrien/lp-hrien_10.htm
 



Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 2.0.0.20 Firefox 2.0.0.20


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 22 มกราคม 2554 15:18:20 »





อนุโมทนาสาธุธรรม หลวงปู่เหรียญค่ะ
ขอบคุณ..
คุณรักษา คุณไกรน้องแม๊คมากมายสำหรับการแบ่งปันนะคะ...


บันทึกการเข้า
คำค้น: โลกธรรมแปด หลวงปู่ เหรียญ วรลาโภ 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
กิเลส จิต มาร :หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 0 1826 กระทู้ล่าสุด 10 พฤษภาคม 2555 21:49:30
โดย เงาฝัน
กราบ อัฐิธาตุ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญบรรพต จ.หนองคาย
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 5537 กระทู้ล่าสุด 26 ตุลาคม 2557 13:57:03
โดย Kimleng
รู้วาระจิตของบุคคลอื่นได้ด้วยภาวนา - หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ 0 4150 กระทู้ล่าสุด 23 กรกฎาคม 2563 22:52:00
โดย 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪
ความเป็นไปของมนุษย์หลังตาย : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต หนองคาย
เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
Kimleng 0 869 กระทู้ล่าสุด 18 กันยายน 2563 17:04:24
โดย Kimleng
ทำไมใจถึงไม่สงบ - หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
เสียงธรรมเทศนา
korakod 0 746 กระทู้ล่าสุด 08 กรกฎาคม 2564 09:36:44
โดย korakod
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.614 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้