โรคหลงผิด (Delusional disorder) เป็นโรคจิตชนิดหนึ่งซึ่งมีอาการหลงผิดเป็นอาการเด่น เดิมเรียกว่า โรคหวาดระแวง (Paranoia หรือ Paranoid disorder) ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่เหมาะสม เพราะทำให้เข้าใจผิดว่าโรคนี้มีอาการหวาดระแวงแบบเดียวเท่านั้น แต่ความจริงแล้วอาจมีอาการหลงผิดได้หลายแบบ
อาการหลงผิด (delusion) คือความผิดปกติของความคิด ซึ่งผู้ป่วยมีความเชื่ออย่างสนิทใจ ในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ไม่สมกับเชาวน์ปัญญา และภูมิหลังทางวัฒนธรรม และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้เหตุผล
โรคหลงผิด เป็นโรคที่พบน้อย ประมาณ 0.025 ถึง 0.03 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเท่านั้น ผู้ป่วยมักเริ่มเป็นในวัยผู้ใหญ่ เพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย โรคนี้มีความสัมพันธ์กับการอพยพย้ายถิ่นฐาน และระดับเศรษฐฐานะต่ำ
สาเหตุของโรคหลงผิด
ยังไม่เป็นที่ทราบชัด ผู้ป่วยโรคนี้หลายรายใช้ชีวิตที่ค่อนข้างแยกตัวเองออกจากสังคมและประสบความ สำเร็จในชีวิตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ผู้ป่วยบางรายเป็นคนอ่อนไหวง่ายหรือเป็นคนขี้ระแวงสงสัยอยู่ก่อนแล้ว
โรคทางกายบางอย่าง เช่นโรคสมองเสื่อม เนื้องอกในสมองและการใช้สารเสพติดบางชนิด อาจทำให้เกิดอาการแบบเดียวกับโรคหลงผิด แต่จัดเป็นโรคจิตที่เกิดจากพยาธิสภาพทางกายหรือสารเสพติด
อาการของโรคหลงผิด
คืออาการหลงผิดซึ่งอาจเป็นเรื่องเดียวหรือหลายเรื่องที่ เกี่ยวข้องกัน อาการหลงผิดในโรคนี้ไม่มีลักษณะแปลกประหลาดอย่างที่พบในโรคจิตเภท เรื่องราวอาจไม่น่าจะเป็น แต่ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ อาการมักคงอยู่นานเป็นเดือนเป็นปีหรือบางรายเป็นอยู่ตลอดชีวิต โดยทั่วไปผู้ป่วยไม่มีประสาทหลอน ยังพูดคุยรู้เรื่อง และหลายรายยังทำงานทำการได้ อารมณ์ไม่ผิดปกติอย่างในโรคจิตเภทหรือโรคอารมณ์แปรปรวน พฤติกรรมทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาการหลงผิด
โรคหลงผิด
แบ่งออกเป็นหลายชนิด
ตามลักษณะของอาการหลงผิดดังนี้
1. Erotomanic type หลงผิดว่าบุคคลอื่นหลงรักตนหรือเป็นคู่รักของตน ส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และมีฐานะทางสังคมสูงกว่า เช่นเป็นผู้นำประเทศ ผู้บังคับบัญชาหรือดารา ผู้ป่วยอาจเก็บอาการหลงผิดนี้ไว้เป็นความลับหรืออาจแสดงออกต่อสาธารณชน ขึ้นกับบุคลิกภาพเดิมของผู้ป่วย บางรายก็ไปก่อกวนหรือทำให้คนอื่นหลงเชื่อก็มี
2. Grandiose type หลงผิดว่ามีความสามารถเกินความเป็นจริง มีคุณค่า มีอำนาจ มีความรู้สูง มีทรัพย์สินเงินทองมาก หรือมีความสัมพันธ์พิเศษกับบุคคลสำคัญหรือหลงผิดว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ บางรายหลงผิดว่าเป็นพระอรหันต์หรือบรรลุโสดาบันก็มี
3. Jealous type หลงผิดว่าคู่ของตนนอกใจ อาการนี้พบบ่อยและบางครั้งอาจแยกได้ยากว่าเป็นเรื่องจริงหรืออาการหลงผิด
4. Pdrsecutory type หลงผิดว่าถูกปองร้าย ผู้ป่วยอาจมีอาการหลงผิดว่าตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดถูกปองร้าย ถูกติดตาม ถูกหมายเอาชีวิตหรือถูกใส่ร้ายในทางใดทางหนึ่ง
5. Somatic type หลงผิดว่าร่างกายมีความผิดปกติหรือป่วยเป็นโรคบางอย่าง เช่น มะเร็ง ผู้ป่วยบางรายหลงผิดว่าอวัยวะของตนมีรูปร่างผิดปกติหรือพิกลพิการ บางทีเชื่อว่าลิ้นไก่ของตนเองยาวผิดปกติ และไปขอให้แพทย์ผ่าตัดให้ก็มี
ผู้ป่วยโรคหลงผิดมักไม่ค่อยไปพบแพทย์ ทำให้ได้รับการวินิจฉัยเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่มีอยู่จริง ผู้ที่ไปหาแพทย์เองมักเป็นกลุ่มที่หลงผิดว่ามีโรคทางร่างกาย นอกนั้นส่วนใหญ่มักถูกผู้อื่นพาไปพบจิตแพทย์
การวินิจฉัยโรคนี้อาจทำได้ยากในเบื้องต้น โดยเฉพาะถ้าอาการหลงผิดนั้นเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงได้บ่อย เช่น เรื่องสามีไปมีเมียน้อย บางครั้งก็ต้องแยกอาการหลงผิดจากการหลอกลวงให้คนอื่นเข้าใจผิดเพื่อหวังผล ประโยชน์ เช่น หลอกลวงว่าตนเป็นพระอรหันต์หรือเป็นผู้วิเศษ เป็นต้น
จิตแพทย์ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ ประกอบกับข้อมูลโดยละเอียดจนแน่ใจได้ว่าอาการของผู้ป่วยเป็นอาการหลงผิดจริง มิใช่กระทำไปโดยมีแผนการณ์เพื่อหวังผลประโยชน์ จึงสามารถวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลงผิด
ในระยะที่ผ่านมาอาจมีผู้ป่วยหลายรายที่แสดงอาการจนเป็นข่าวคราวทางสื่อมวลชนแต่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากจิตแพทย์ ซึ่งโดยจรรยาบรรณแล้วคงไม่สามารถไปเที่ยววินิจฉัยบุคคลตามข่าวหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ เพราะอาจไปล่วงละเมิดสิทธิของเขาได้
การรักษาผู้ป่วยโรคหลงผิด
ควรเริ่มต้นด้วยการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ป่วยกับ ผู้รักษา การใช้จิตบำบัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับว่ามีปัญหาในระดับหนึ่งเป็นจุด เริ่มต้นที่ดี ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยยอมกินยาและรับการรักษาต่อไป
ยารักษาโรคจิตช่วยลดอาการหลงผิดของผู้ป่วยได้ และเมื่อใช้ร่วมกับจิตบำบัดเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลที่สุดในปัจจุบัน
การให้ครอบครัวบำบัด (family therapy) ช่วยให้คนในครอบครัวเกิดความเข้าใจในตัวผู้ป่วยและยอมรับผู้ป่วยมากขึ้น ทำให้สภาพจิตใจของผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยด้วย
ดูข่าวในบ้านเราแล้วจะเห็นได้ว่าโรคหลงผิดมีปรากฏมาให้เห็นประปรายทุกยุคทุก สมัย แต่ถ้าดูผลการเลือกตั้งแต่ละครั้งแล้ว ก็น่าสงสัยว่าคนไทยที่หลงผิด มีมากกว่าที่คิดหลายเท่านัก
ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 24 ฉบับ 8 สิงหาคม 2543]
โดย : นพ.เกษม ตันติผลาชีวะ
-
http://www.tairomdham.net/index.php/topic,2492.0.html