03 ธันวาคม 2567 18:10:27
ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
1 ชั่วโมง
1 วัน
1 สัปดาห์
1 เดือน
ตลอดกาล
เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
หน้าแรก
เวบบอร์ด
ช่วยเหลือ
ห้องเกม
ปฏิทิน
Tags
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
ห้องสนทนา
[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
สุขใจในธรรม
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
.:::
ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
:::.
หน้า:
1
2
3
1
2
[
3
]
ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน
หัวข้อ: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก (อ่าน 202165 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #40 เมื่อ:
03 เมษายน 2558 12:29:15 »
.
๙๘. วิสาขามิคารมาตา
มหาอุบาสิกา
เล่าเรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้วเห็นจะลืมบุคคลอีกท่านหนึ่งไม่ได้เป็นอันขาด เพราะท่านผู้นี้มีอุปการคุณมากต่อพระสงฆ์และพระพุทธศาสนาเป็นส่วนรวม
ท่านผู้นี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไรไว้บอกภายหลัง ตอนนี้ขอนำพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้แก่ท่านผู้นี้ฟัง
ดังต่อไปนี้
คราวหนึ่ง หลานสาวที่รักยิ่งได้ถึงแก่กรรมลง นางเศร้าโศกเสียใจมาก ร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสสอนเธอว่า
“
วิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๙๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีความโศก ไม่มีความคับแค้นใจ
”
นางวิสาขาได้หายเศร้าโศกเพราะธรรมเทศนานั้น
พระพุทธเจ้าได้เปล่งอุทานว่า “
โศก ปริเวทนาและทุกข์มากหลาย ย่อมมีในโลกนี้ เพราะอาศัยสิ่งที่รัก เมื่อไม่มีรัก โศกเป็นต้นนั้นก็ไม่มี ผู้ไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ต้องการโศกเศร้าก็ไม่ควรรักสิ่งใด
”
ข้อความข้างต้นมาจากพระสูตรชื่อ วิสาขาสูตร ฟังชื่อพระสูตรก็รู้แล้วใช่ไหมว่าทรงแสดงแก่วิสาขามหาอุบาสิกาฟัง คราวหนึ่งนางมีความทุกข์ ร้องห่มร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะหลานสาวตาย มีหลายคนสงสัยว่า นางวิสาขาเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบันมิใช่หรือ แล้วทำไมจึงเศร้าโศก
ก็ขอเรียนว่า พระอริยบุคคลระดับต้นๆ ยังละกิเลสอะไรได้ไม่มาก ความเศร้าโศกจึงมีเหมือนๆ ปุถุชนอื่นๆ มีบางท่านเปรียบการละกิเลสของพระอริยะระดับต่างๆ เป็นเปอร์เซ็นต์เชียวครับ บอกว่าพระโสดาบัน ละได้ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ พระสกทาคามี ละได้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ พระอนาคามี ละได้ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ พระอรหันต์ละได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
เห็นเป็นรูปธรรมดีแท้
• เป็นโสดาบันอายุ ๗ ขวบ
นางวิสาขา เป็นบุตรสาวของอภิอมตะเศรษฐีคนหนึ่งเชียวครับ บิดาของนางชื่อว่า ธนัญชัยเศรษฐี ซึ่งเป็นบุตรของ เมณฑกเศรษฐี และมารดาของนางชื่อว่า นางสุมนา ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกว่า คุณหญิงสุมนา เป็นอย่างต่ำ เมณฑกเศรษฐีนี้ว่ากันว่าร่ำรวยมหาศาล ไว้เล่าให้ฟังวันหลังแล้วกัน
นางวิสาขาเกิดที่เมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ ติดกับแคว้นมคธ แห่งพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาสำคัญพระองค์หนึ่ง
ในเวลาที่กล่าวถึงนี้ พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร (วัดแห่งแรกที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย) เป็นส่วนใหญ่ เสด็จไปโปรดสัตว์ยังต่างเมืองเป็นครั้งคราว
คราวหนึ่งเสด็จไปยังเมืองภัททิยะ นางวิสาขา (เรียกเด็กหญิงวิสาขาจึงจะถูก) มีอายุ ๗ ขวบเท่านั้น พร้อมกับบริวารจำนวนมาก ได้ไปฟังธรรม ด้วยบุญญาบารมีที่ได้บำเพ็ญมาแต่ปางก่อน เป็นอุปนิสัยปัจจัย นางจึงได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน
หลังฟังพระธรรมเทศนาจบ ได้เป็นสาวิกาผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย มีศรัทธาไม่คลอนแคลนในพระพุทธศาสนามาแต่บัดนั้น
ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล มีพระประสงค์อยากได้เศรษฐีระดับอภิอมตะเช่นธนัญชัยไปประดับเมืองของพระองค์บ้าง เพราะเมืองราชคฤห์นั้นมีเศรษฐีอยู่หลายท่าน เช่น โชติกเศรษฐี ปุณณกเศรษฐี เมณฑกเศรษฐี (ปู่ของนาวิสาขา) ธนัญชัยเศรษฐี ขอมาสักหนึ่งเศรษฐี ก็คงไม่กระทบกระเทือนเมืองราชคฤห์เท่าไร
ถามว่าขอกันง่ายๆ อย่างนี้หรือ ตอบว่าไม่ใช่ง่ายดอกครับ บังเอิญว่ามหาราชทั้งสองพระองค์นี้ “ดอง” อยู่แล้ว ด้วยต่างก็เป็นสวามีของภคนีของกันและกันอยู่แล้ว มีความรักใคร่ชอบพอกันดี จึงขอกันได้ หาไม่คงไม่มีทางสำเร็จดอก นั่นคือเหตุผล
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เศรษฐีที่กล่าวถึงนี้ ท่านเต็มใจที่จะย้ายไปอยู่เมืองใหม่อยู่แล้วด้วย (บางทีอาจเห็นว่ามีทำเลสำหรับประกอบธุรกิจได้ดีกว่าเดิมก็ได้) การโยกย้ายจึงเกิดขึ้น
เข้าใจว่า ในสมัยนั้นแคว้นอังคะคงอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าพิมพิสาร ไม่เช่นนั้น ธนัญชัยเศรษฐีคงไม่ถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลขอจากพระเจ้าพิมพิสาร
การที่ครอบครัวมหึมาเช่นครอบครัวของธนัญชัยเศรษฐีจะเคลื่อนย้ายที่อยู่นั้น คงทำไม่ได้ง่ายๆ ต้องมีการเตรียมการกันนานโข เมื่อ “คาราวาน” ใหญ่ปานนั้นเคลื่อนย้ายออกจากเมืองราชคฤห์ ก็ปรากฏประดุจว่าว่างไปถนัดตา
เมื่อมาถึงกึ่งกลางระหว่างเมืองสาวัตถี กับเมืองราชคฤห์ต่อกัน ธนัญชัยเศรษฐีจึงทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าปเสนทิโกศลขอสร้างเมืองขึ้น ณ สถานที่นั้น ซึ่งก็ได้รับพระราชทานอนุญาตตามปรารถนา
ตำรามิได้บอกว่าเมืองใหม่นี้สร้างนานสักเท่าไร แต่คงไม่ใช่ ๗ วันเสร็จ ดังพระเจ้าสร้างโลกดอกครับ เมืองที่สร้างขึ้นใหม่นี้มีนามว่า “สาเกต”
ตกลงเด็กหญิงวิสาขาเลยกลายเป็นพลเมืองของเมืองสาเกตไป ด้วยประการฉะนี้
• เบญจกัลยาณี
เด็กหญิงวิสาขาเจริญเติบโตตามลำดับ ยิ่งโตก็ยิ่งสดสวยงดงาม เป็นที่เจริญตาเจริญใจของผู้พบเห็น ว่ากันว่านางงามพร้อมทั้งห้าส่วน อันเรียกว่า “เบญจกัลยาณี” คือ
๑. ผมงาม (เกศกัลยาณะ)
๒. เนื้องาม (มังสกัลยาณะ)
๓. กระดูกงาม (อัฏฐิกัลยาณะ)
๔. ผิวงาม (ฉวิกัลยาณะ)
๕ วัยงาม (วยกัลยาณะ)
ความงามประการที่หนึ่ง
(ผมงาม) คงไม่ได้หมายถึงทรงผมแน่นอน เพราะทรงผมเปลี่ยนแปลงได้ตามแฟชั่น คงจะหมายถึงผมที่ดำเงางามสลวย (ในกรณีผมดำ) ถ้าผมสีทองหรือสีอื่นก็สลวยงามเป็นเงาเช่นเดียวกัน) คัมภีร์อธิบายว่า ผมนั้นสลวยยาว ปล่อยลงมาถึงชายผ้านุ่ง และปลายงอนขึ้นดุจกำหางนกยูง ว่าอย่างนั้น (สงสัยสมัยนั้นนิยมหญิงผมยาว)
ความงามประการที่สอง
(เนื้องาม) ท่านหมายเอาริมฝีปากแดงงาม ดังสีผลตำลึกสุกโดยไม่ต้องเอาสีอื่นใดมาทา แดงงามโดยธรรมชาติ (สาวสมัยนี้ถึงเกิดมาเนื้อริมฝีปากไม่แดง ก็หาลิปสติกมาทาให้แดงได้ จะเอา แดงแก่ แดงอ่อน หรือแม้กระทั่งสีม่วง สีคราม สีดำ ก็ย่อมทาได้)
ความงามประการที่สาม
(กระดูกงาม) คงไม่มีใครไปเอ็กซเรย์ดูว่า กระดูกข้างในนั้นงามทุกท่อนหรือไม่ ในที่นี้ท่านหมายถึงฟันสวยงาม เบญจกัลยาณี ฟันจะต้องขาวเป็นระเบียบ ไม่ห่าง ไม่เก เหมือนกับสังข์ที่เขาขัดอย่างดี แล้วเรียงกันเป็นระเบียบเรียบร้อย (สมัยนี้คนมีเขี้ยวออกมา กลับเห็นว่างามดี ถ้าสมัยก่อนคงไม่นับเป็นเบญจกัลยาณีเป็นแน่)
ความงามประการที่สี่
(ผิวงาม) หมายถึงผิวพรรณเปล่งปลั่ง คนดำผิวก็ดำเนียนงาม คนผิวขาวก็ขาวงาม เคยเห็นนิโกรงาม ถึงจะดำก็ดำงามจริงๆ ครับ
ความงามประการที่ห้า
(วัยงาม) หมายถึงอายุจะมากเท่าไรก็ดูเหมือนไม่แก่ไปตามวัย เป็นประเภทสาวพันปี ว่าอย่างนั้นเถอะ
มีบางคน (หลายคน) อยากวัยงาม อุตส่าห์ไปดึงนั่นดึงนี่ ดูเผินๆ ก็เต่งตึงดีดอกครับ อย่าแอบไปดูที่ซอกหู หรือใต้ท้องแขนเป็นอันขาด จะเห็นรอยเย็บน่าเกลียด หรือเห็นเนื้อท้องแขนหย่อนยานไม่น่าดูชม เขาเหล่านี้ดึงแล้วดึงอีก ก็ยังสู้ความชราไม่ไหว อย่างนี้ไม่เรียกว่าวัยงามดอกครับ
นางวิสาขานั้น ว่ากันว่าไม่แก่ตามวัย เมื่อมีบุตรหลานจำนวนมากแล้ว เดินไปไหนมาไหนด้วยกันกับลูกๆ หลานๆ ไม่มีใครจำได้เลยว่านางวิสาขาคนไหน เพราะทุกคนวัยไล่เลี่ยกันหมด
งามปานนั้นนะขอรับ
...
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
วิสาขามิคารมาตา มหาอุบาสิกา
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๙ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๐๗ ประจำวันที่ ๓-๙ เมษายน ๒๕๕๘
๙๙. ปุณณะวัฒนะกุมาร
เนื้อคู่ของนางวิสาขา
ในช่วงระยะเวลานั้นมีบุตรชายหนุ่มรูปหล่อพ่อรวยของมิคารเศรษฐี แห่งเมืองสาวัตถีชื่อ
ปุณณะวัฒนะกุมาร
หรือจะเรียกให้สั้นๆ ว่า “
ปุณณวัฒน์
”
ปุณณวัฒน์
ถึงวัยจะต้องมีครอบครัวแล้ว เศรษฐีผู้บิดาจึงสั่งให้คนไปดูสตรีที่มีคุณสมบัติคู่เคียงกับลูกชายของตน เรียกว่าส่ง “แมวมอง” ไปด้อมๆ มองๆ หาสาวงามมาเป็นลูกสะใภ้ ว่าอย่างนั้นเถอะ
เขียนมาถึงตรงนี้ชักสงสัยว่า วัฒนธรรมแขกอินเดีย ฝ่ายหญิงสาวมิใช่หรือเป็นผู้ที่จะต้องไปสู่ขอชาย แล้วทำไมในเรื่องนี้ท่านจึงเขียนกลับตาลปัตรไปอย่างนี้ล่ะครับ
สงสัยตำราพระพุทธศาสนาเล่มนี้คงไม่ได้แต่งที่อินเดีย คนแต่งคงมิใช่ชาวภารตะ (ดังที่อ้างว่าพระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียแต่ง) คงจะเป็นเถระชาวลังกากระมังหว่า ประเพณีลังกาผู้ชายขอผู้หญิงกระมังครับ ท่านจึงเผลอเขียนไว้อย่างนี้
แต่ช่างเถอะ เรามาฟังกันต่อดีกว่า
คนที่เศรษฐีส่งไปคือพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในการดูโหงวเฮ้ง และทรงความรู้ด้านอื่นด้วยจำนวน ๘ ท่าน ก่อนส่งไปก็เชิญมารับเลี้ยงอย่างอิ่มหมีพีมันก่อนด้วย พราหมณ์ทั้ง ๘ ไปเสาะหาหญิงเบญจกัลยาณียังเมืองต่างๆ ก็ยังไม่พบ ต่อเมื่อหวนกลับมายังเมืองสาเกตซึ่งเพิ่งจะตั้งใหม่หมาดๆ ก็ได้พบกุลสตรีผู้งามสรรพเข้าจนได้
ช่วงนั้นเมืองสาเกตมีงานนักขัตฤกษ์ประจำปี เทศกาลอะไรไม่แจ้ง รู้แต่ว่า วันเช่นนี้ผู้คนต่างก็ออกจากบ้านเรือนไปสนุกสนานในงาน นางวิสาขา (ความจริง “นางสาว” หรือต่อไปไม่ช้าก็จะเป็น “คุณวิสาขา” แล้ว) พร้อมด้วยสตรีบริวารจำนวนหลายร้อย (ว่ากันว่าตั้งห้าร้อย) ก็ออกไปสนุกสนานในงานด้วย
บรรดาหนุ่มๆ ลูกเศรษฐี ลูกคุณหญิงคุณนาย “ไฮโซ” ทั้งหลาย ก็ได้มีโอกาสมาด้อมๆ มองๆ แอบยลโฉมของเยาวนารีแรกรุ่นทั้งหลาย เพราะสตรีสาวทั้งหลายมีโอกาสได้เผยร่างโดยไม่ต้องเอาผ้าคลุมหน้า เพราะได้รับอนุญาตพิเศษ ในวันนักขัตฤกษ์เช่นนี้ ไม่ถือว่าผิดประเพณี
การคล้องพวงมาลัยให้แก่หญิงสาวของชายหนุ่มก็ไม่ถือว่าผิดอันใด เป็นเครื่องแสดงว่า เขาได้พึงพอใจ หมายมั่นประสงค์อยากได้กุลสตรีนางนั้นเป็นคู่ครอง ว่ากันอย่างนั้น
พราหมณาจารย์ได้เข้าไปอาศัยอยู่บนศาลาแห่งหนึ่งริมแม่น้ำ สอดส่ายสายตาดูหญิงสาวเหล่านั้น
ขณะนั้นนางวิสาขามีอายุ ๑๕ ปี กำลังจะย่างเข้า ๑๖ ปี
นางได้แต่งกายเป็นพิเศษ ประดับประดาเครื่องอาภรณ์ครบทุกอย่าง พร้อมทั้งเหล่ากุมารีอีก ๕๐๐ คน แวดล้อมอยู่ ได้ชักชวนกันเดินทางไปยังแม่น้ำ เพื่อประสงค์จะอาบน้ำกันให้สนุก เมื่อเดินไปถึงริมฝั่งน้ำ เมฆตั้งเค้าทะมึนขึ้นทันที ฝนตกลงมาอย่างหนัก กุมารีทั้งหลาย ๕๐๐ คน ต่างรีบวิ่งไปสู่ศาลาฝั่งน้ำเพื่อหลบฝน พวกพราหมณ์ก็พยายามจับตาดูกุมารีทั้ง ๕๐๐ คน เหล่านั้น ก็ไม่เห็นเลยสักคนเดียวที่ต้องด้วยเบญจกัลยาณี
ส่วนนางวิสาขานั้นมิได้วิ่งหนีฝนดังเช่นเพื่อนหญิงอีก ๕๐๐ คน นางเดินไปตามปกติ ผ้าและอาภรณ์ก็เปียกโชกด้วยน้ำฝน
พวกพราหมณ์ที่จับตาดูอยู่ก็เห็นความงามของนางถึง ๔ อย่าง แต่กล่าวบอกซึ่งกันและกันว่า หญิงผู้นี้เป็นคนเฉื่อยชา สามีของหญิงคนนี้ เห็นทีจักไม่ได้กินแม้เพียงข้าวปลายเกวียน
นางวิสาขาได้ยินเช่นนั้นจึงถามพราหมณ์นั้นว่า พวกท่านว่าใครกัน พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า ว่าเธอนั่นแหละ พราหมณ์จึงได้ยินสำเนียงไพเราะของเธอที่เปล่งออกมา ประหนึ่งเสียงของกังสดาล เธอจึงถามพราหมณ์เหล่านั้นต่อไปด้วยเสียงอันไพเราะอีกว่า เพราะเหตุไรท่านจึงมาว่าฉัน
พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า เพราะบรรดาหญิงทั้งหลายซึ่งเป็นบริวารของเธอ เขาพยายามไม่ให้ผ้าและเครื่องประดับของเขาเปียก จึงรีบวิ่งมาสู่ศาลา ส่วนเธอนั้นมิได้ปฏิบัติเช่นนั้น เธอเดินด้วยความเฉื่อยชา ปล่อยให้ผ้าและเครื่องอาภรณ์เปียกโชก พวกเราจึงพากันว่าเธอ
นางวิสาขาจึงตอบแก้พราหมณ์นั้นว่า พราหมณ์ พวกท่านอย่าพูดอย่างนั้น ฉันแข็งแรงกว่าเด็กหญิงเหล่านั้นมาก แต่เพราะฉันกำหนดเหตุการณ์แล้ว จึงไม่วิ่งมาโดยเร็ว
พราหมณ์จึงถามด้วยความสงสัยว่า ด้วยเหตุอะไร
นางวิสาขาจึงให้เหตุผลว่า ท่านทั้งหลาย ชนทั้ง ๔ จำพวกนี้ เมื่อวิ่งแล้วย่อมไม่งาม นี่เป็นเหตุผลอันหนึ่ง และยังไม่ใช่เพียงเท่านี้ อย่างอื่นยังมีอยู่อีก
พราหมณ์ถามว่า ชน ๔ จำพวกที่เธอกล่าวนั้น ได้แก่ชนเหล่าใดบ้าง
นางวิสาขาตอบว่า ท่านทั้งหลาย ชนประเภทที่ ๑ คือ พระราชาผู้อภิเษกแล้ว ทรงประดับประดาเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง ถ้าถกเขมรวิ่งไปในพระลานหลวง ย่อมจะไม่งาม ทั้งยังจะได้รับคำครหานินทาอย่างแน่นอนว่า เพราะเหตุใดพระราชาองค์นั้นจึงวิ่งเหมือนคหบดี พระราชาที่ค่อยๆ เสด็จไปนั่นแหละ จึงจะงาม
อีกประการหนึ่ง
ช้างมงคลของพระราชา เมื่อประดับแล้ววิ่งไปก็ไม่งาม ต้องเดินไปด้วยลีลาแห่งช้างจึงจะงาม
อีกประการหนึ่ง
บรรพชิตเมื่อวิ่งก็ไม่งาม จะได้รับคำครหานินทาว่า ทำไมสมณะรูปนี้จึงวิ่งเหมือนกับคฤหัสถ์ แต่ถ้าเดินอย่างอาการสำรวม อย่างผู้สงบเสงี่ยมจึงจะดูงดงาม
อีกประการหนึ่ง
สตรีเมื่อวิ่งก็ไม่งาม เพราะจะถูกติเตียนอย่างเดียวว่า ทำไมผู้หญิงคนนี้จึงวิ่งเหมือนผู้ชาย แต่ถ้าเดินอย่างธรรมดาจึงจะงาม
นี่แหละท่านทั้งหลาย ชนทั้ง ๔ จำพวกนี้ เมื่อวิ่งแล้วดูไม่งดงาม •
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
เนื้อคู่ของนางวิสาขา
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๙ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๐๘ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ เมษายน ๒๕๕๘
๙๙. ปุณณะวัฒนะกุมาร
(ต่อ)
เนื้อคู่ของนางวิสาขา
ทดสอบความงามและความฉลาด
พราหมณ์จึงซักถามต่อไปอีกว่า แล้วเหตุอย่างอื่นที่ยังมีอยู่อีกเล่า ได้แก่อะไรบ้าง
นางวิสาขาตอบด้วยความฉลาดว่า ท่านทั้งหลาย ธรรมดามารดาบิดาท่านย่อมถนอมอวัยวะน้อยใหญ่ของธิดาท่านในระหว่างเลี้ยงดู พวกดิฉันนี้เหมือนสิ่งของอันบิดามารดาจะพึงขายได้
มารดาบิดาเลี้ยงฉันมาจนกระทั่งโตเป็นสาว ก็เพื่อต้องการจะส่งไปสู่ตระกูลสามี ถ้าหากว่าในเวลาที่พวกดิฉันวิ่งไปเหยียบผ้านุ่งหรือลื่นหกล้มลง มือหรือเท้าดิฉันอาจจะหัก พวกดิฉันก็จะเป็นภาระของตระกูลอีกต่อไป ส่วนเครื่องแต่งตัวที่เปียกนี้ก็ยังแห้งได้ ไม่เสียหายอะไร เมื่อดิฉันกำหนดเหตุการณ์เช่นนี้แล้วจึงไม่วิ่ง
พราหมณ์คล้องพวงมาลัยให้
ในระหว่างที่สนทนากันอยู่นั้น พราหมณ์ทั้งหลายได้เห็นความงามของฟันทั้งหมด ครบเบญจกัลยาณี พราหมณ์จึงเปล่งขึ้นมาว่า สมบัติเช่นนี้พวกเรายังไม่เคยเห็นเลย เมื่อกล่าวจบลงแล้ว จึงสวมพวงมาลัยทองนี้ให้ แล้วกล่าวว่าพวงมาลัยพวงนี้สมควรแก่เธอเพียงคนเดียวเท่านั้น
นางวิสาขาจึงถามว่า “พวกท่านทั้งหลายมาจากเมืองไหน?”
พราหมณ์ตอบว่า “มาจากเมืองสาวัตถี โดยเศรษฐีใช้ให้มา”
วิสาขาจึงถามว่า “ตระกูลเศรษฐีนั้นชื่ออะไร?”
พราหมณ์ตอบว่า “ชื่อปุณณวัฒนกุมาร จ้ะ”
นางวิสาขาจึงกล่าวรับรองว่า ถ้าเช่นนั้น ตระกูลของเราทั้งสองก็เสมอกัน นางจึงส่งข่าวให้แก่บิดาของนางว่า ขอให้คุณพ่อคุณแม่ส่งรถมารับพวกดิฉันด้วย ตอนนี้เป็นที่น่าสงสัยว่า ในระหว่างที่นางเดินทางมาหาความสำราญที่ริมแม่น้ำ นางก็เดินมาเอง ไม่ได้ขึ้นรถมา แต่ทำไมขากลับ จึงส่งข่าวให้คุณพ่อคุณแม่เอารถมารับ
ข้อนี้มีประเพณีอยู่ว่า เมื่อสตรีใดได้ประดับด้วยพวงมาลัยทองคำแล้ว ย่อมจะเดินไปเช่นนั้นไม่ได้ ส่วนเด็กหญิงทั้งหลายที่เป็นบริวารก็ต้องขึ้นรถไปด้วย ต่างกันแต่ว่ารถที่นั่งไปนั้น สตรีพวงมาลัยทองจะต้องนั่งรถกั้นฉัตรหรือใบตาลข้างบน ถ้าฉัตรและใบตาลไม่มี ก็ให้ยกชายผ้านุ่งขึ้นมาพาดบนบ่า
ปรากฏว่าบิดาของนางวิสาขาส่งรถมาถึง ๕๐๐ คัน แล้วก็รับพราหมณ์เหล่านั้นไปด้วย ครั้นไปถึงบ้านของนางวิสาขาเรียบร้อยแล้ว เศรษฐีจึงถามพราหมณ์เหล่านั้นว่า “ท่านเดินทางมาจากไหน?”
พราหมณ์ตอบว่า “ข้าพเจ้ามาจากเมืองสาวัตถี”
เศรษฐีถามว่า “เศรษฐีตระกูลนี้ชื่ออะไร?”
พราหมณ์ตอบว่า “ชื่อมิคารเศรษฐี”
เศรษฐีถามต่อไปว่า “บุตรชายของเศรษฐีเล่าชื่ออะไร?”
พราหมณ์ตอบว่า “ชื่อปุณณวัฒนกุมาร”
เศรษฐีถามอีกว่า “ตระกูลนี้มีทรัพย์เท่าไร?”
พราหมณ์ตอบว่า “มีอยู่ ๕๐ โกฏิ ท่านมหาเศรษฐี”
ท่านเศรษฐีได้ฟังเช่นนั้นก็คิดว่า ทรัพย์เพียงแค่นั้นเทียบกับทรัพย์ของเราก็เท่ากับกากณึกเดียวเท่านั้น แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็ถือว่าไม่สำคัญ เศรษฐีจึงให้พราหมณ์พักอยู่เพียง ๒ วัน แล้วให้เดินทางกลับไป เพื่อส่งข่าวให้แก่มิคารเศรษฐีถึงเรื่องการยอมยกธิดาให้เป็นบุตรสะใภ้
เมื่อพราหมณ์เดินทางถึงเมืองสาวัตถีแล้ว จึงเรียนกับท่านเศรษฐีว่า ข้าพเจ้าได้นางทาริกาแล้ว
มิคารเศรษฐีจึงถามพราหมณ์ว่า “เป็นลูกสาวของใคร พราหมณ์?”
พราหมณ์ตอบว่า “เป็นลูกสาวของท่านธนัญชัยเศรษฐี”
เมื่อมิคารเศรษฐีได้ทราบเช่นนั้น ก็ดีใจว่าตนได้นางทาริกามาจากตระกูลใหญ่มั่งคั่ง จึงนำความเรื่องนี้กราบทูลแด่พระเจ้าปเสนทิโกศล
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงดำริว่า ตระกูลใหญ่นี้พระองค์นำมาจากสำนักของพระเจ้าพิมพิสาร แล้วให้อาศัยที่เมืองสาเกต จึงควรที่พระองค์จะได้ยกย่องตระกูลนี้ ด้วยการเสด็จไปในงานแต่งงานครั้งนี้ด้วย พระองค์จึงได้แจ้งความประสงค์ว่าจะเสด็จไปในพิธีแต่งงานครั้งนี้
มิคารเศรษฐีจึงได้ส่งข่าวมายังท่านธนัญชัยเศรษฐีว่า พระราชาจะเสด็จมาในงานของข้าพเจ้าด้วย ซึ่งรี้พลข้าทาสบริวารของพระราชาก็มีมาก ท่านสามารถที่จะต้อนรับคนทั้งหลายเหล่านี้ได้หรือไม่
ท่านธนัญชัยเศรษฐีได้ตอบไปว่า อย่าว่าแต่พระองค์จะเสด็จมาเพียงพระองค์เดียว ถึงแม้พระราชาจะเสด็จมาสักสิบพระองค์ ก็ขอเชิญเสด็จมาได้ และให้ขนคนในเมืองมาให้หมด เหลือไว้แต่คนเฝ้าเรือน เราก็สามารถที่จะต้อนรับได้
ธนัญชัยเศรษฐีกับนางวิสาขาเตรียมงานต้อนรับ
ท่านธนัญชัยเศรษฐีจึงได้ปรึกษากับนางวิสาขาว่า ลูกพ่อทราบว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสด็จมากับพ่อสามีของลูกด้วย เราควรจะจัดเรือนหลังไหนสำหรับเป็นที่พักของพ่อสามีลูก หลังไหนสำหรับเป็นที่ประทับของพระราชา และหลังไหนเป็นที่พักของพวกอำมาตย์ข้าราชบริพาร
เมื่อนางวิสาขาได้ทราบเช่นนั้น เธอก็ใช้ความฉลาดเฉียบแหลมที่ได้อบรมมาตลอดแสนกัป บงการจัดสถานที่ทันที โดยจัดเรือนพักสำหรับพ่อสามีหลังหนึ่ง สำหรับพระราชาปเสนทิโกศลหลังหนึ่ง สำหรับอุปราชหลังหนึ่ง
พร้อมกันนั้น ก็เรียกข้าทาสกรรมกรมาประชุม มอบภาระหน้าที่การงานให้หมดทุกคน โดยแบ่งให้ทาสกรรมการเหล่านั้นดูแลสัตว์พาหนะ อันมี ช้าง ม้า เป็นต้น
การจัดสายงานต้อนรับแขกต่างเมืองที่มาในงานครั้งนี้ นางวิสาขาจัดต้อนรับถึงคนเลี้ยงสัตว์ของพระราชาเหล่านั้นด้วย นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของนางวิสาขา เพราะตามธรรมดาแล้วงานใหญ่ๆ ส่วนมากผู้ต้อนรับมิได้คำนึงถึงผู้น้อยเท่าไรนัก เช่น เป็นต้นว่า คนรถ คนใช้ ส่วนมากมักจะถูกลืมในงานทั่วๆ ไป เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าภาพจึงไม่พ้นไปจากการนินทาของชนชั้นนี้ได้
นางวิสาขาทราบเช่นนี้เป็นอย่างดี นางจึงจัดการต้อนรับให้ความสะดวกสบายแก่คนทั้งหมดโดยทั่วถึงกัน เพื่อป้องกันมิให้คนเหล่านี้นินทานั่นเอง เพราะคนเหล่านั้นจะได้เที่ยวชมมหรสพในงานอย่างเต็มที่ ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการดูแลช้างม้า
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
เนื้อคู่ของนางวิสาขา
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑-๗๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๐๙ ประจำวันที่ ๑๗-๒๓ เมษายน ๒๕๕๘
๙๙. ปุณณะวัฒนะกุมาร
(ต่อ)
เนื้อคู่ของนางวิสาขา
โอวาท ๑๐ ข้อ
ธนัญชัยเศรษฐี ผู้บิดานางวิสาขา ได้เรียกช่างทอง ช่างออกแบบ หรือดีโซเนอร์ชั้นดี จำนวน ๕๐๐ คน สั่งให้ทำเครื่องประดับอันงามวิจิตรพิสดารพันลึก มีนามว่า “มหาลดาปสาธน์” เพื่อเป็นชุดวิวาห์ของบุตรสาวสุดที่รัก โดยใช้ทองคำสุกปลั่งพันลิ่ม แก้วมณี แก้วประพาฬ และเพชร พอสมส่วนกัน ว่ากันว่า มหาลดาปสาธน์ นี้ ใช้เพชรถึง ๒๐ ทะนาน (กี่กะรัต นับเอาแล้วกัน ผมไม่มีความรู้ในเรื่องนี้) แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนาน ไม่ใช้ด้ายเลย เอาเงินแทนด้าย
ชุดที่ว่านี้สวมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ลูกดุมทำเป็นวงแหวนทองคำ ห่วงสำหรับลูกดุมทำด้วยเงิน วงหนึ่งสวมที่กลางกระหม่อม ที่หลังหู ๒ วง ที่ข้างสะเอวสองข้างอีก ๒ วง ที่เครื่องประดับนั้นทำเป็นนกยูงรำแพน ๑ ตัว ขนปีกนกทำด้วยทองถึง ๕๐๐ ขน จะงอยปากนกยูงทำด้วยแก้วประพาฬ ตาสองข้างทำด้วยแก้วมณีที่คอและแววหางทำด้วยแก้วมณี ก้านขนนกยูงทำด้วยเงิน ขาทำด้วยเงิน รูปนกยูงนี้ประดิษฐ์อยู่กลางกระหม่อมผู้สวม ประหนึ่งว่ากำลังรำแพนอยู่บนยอดเขา เสียงก้านปีกสองข้างกระทบกัน ไพเราะกังวานดุจเสียงดนตรี
ชุดวิวาห์นี้มีค่าถึง ๙ โกฏิ เศรษฐีจ่ายค่าหัตถกรรมกระทำเครื่องประดับครั้งนี้ จำนวน ๑ แสนบาท เอ๊ย ไม่ใช่บาท แสนกหาปณะครับ เทียบเงินไทยประมาณสี่ถึงห้าแสนบาท ถูกมากสำหรับเครื่องประดับอันสวยงามปานนั้น และผู้ว่าจ้างก็เป็นอภิอมตะมหาเศรษฐี แค่นี้ขนหน้าแข้งไม่ร่วง
เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้ ใช้เวลาประดิดประดอยเป็นเวลาถึงสี่เดือนจึงเสร็จ นอกจากนี้ ท่านเศรษฐีได้มอบของขวัญแต่งงานให้แก่บุตรสาวมากมาย ประกอบด้วย กหาปณะ ภาชนะทองคำ ทองแดง ภาชนะสำเริด (สัมฤทธิ์ก็ว่า) ผ้าด้วยไหม เนยใน น้ำมัน น้ำอ้อย ข้าวสารและข้าวสาลี อย่างละ ๕๐๐ เล่มเกวียน รวมถึงอุปกรณ์เกษตรกรรม ๕๐๐ เล่มเกวียน นอกจากนี้ ก็มีรถ ๕๐๐ คัน (ยี่ห้ออะไรบ้างไม่บอก) แต่ละคันมีสตรีรูปงามประจำรถ ๓ คน และให้นางปริจาริกา (ก็สาวใช้นั่นแหละครับ) อีก ๑,๕๐๐ คน อ้อ มีโคนมอีก ๖๐,๐๐๐ ตัว
ลูกสาวออกเรือนทั้งที ก็ให้สมบัติมากๆ สมกับเป็นลูกสาวเศรษฐีใหญ่
ก่อนจะส่งตัวลูกสาวไปอยู่ในตระกูลสามี ธนัญชัยเศรษฐีได้เรียกลูกสาวมาให้โอวาท ๑๐ ข้อ ให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โอวาท ๑๐ ข้อนั้น คือ
๑. ไฟในอย่านำออก
๒. ไฟนอกอย่านำเข้า
๓. พึงให้แก่คนที่ให้
๔. อย่าให้แก่คนที่ไม่ให้
๕. เขาให้หรือไม่ให้ก็พึงให้
๖. นั่งให้เป็นสุข
๗. นอนให้เป็นสุข
๘. พึงบริโภคให้เป็นสุข
๙. พึงบำเรอไฟ
๑๐. พึงนอบน้อมต่อเทวดา
ฟังอย่างนี้อาจไม่เข้าใจ ต้องมีคำอธิบายประกอบจึงจะกระจ่าง ท่านให้อรรถาธิบายไว้ดังนี้ครับ
๑. ไฟในอย่านำออก
หมายถึง อย่าเอาเรื่องภายในครอบครัวไปเล่าให้คนข้างนอกฟัง เช่น ทะเลาะกันตามประสาผัวเมียแล้วนำไปโพทะนาข้างนอก ไส้กี่ขดๆ คนอื่นเขารู้หมด มันก็ไม่ดี เป็นความเสื่อมเสียแก่ครอบครัว
๒. ไฟนอกอย่านำเข้า
หมายถึง เรื่องราวข้างนอกก็ไม่ควรมาเล่าให้กวนใจคนในบ้าน เช่น มีใครนินทาว่าร้ายสามี พ่อหรือแม่สามี (เช่น ญาติตัวเอง) ก็ไม่ควรนำมาเล่าให้คนในบ้านฟัง จะเกิดความไม่สงบขึ้นได้
๓. พึงให้แก่คนที่ให้
หมายความว่า ใครยืมของใช้ของสอยไปแล้วนำมาคืน ทีหลังมายืมอีกก็จงให้ไป เพราะคนเช่นนี้เป็นคนที่รักษาคำมั่นสัญญาดี
๔. ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้
หมายความว่า คนที่ยืมแล้วไม่คืน ทำเป็นลืม เจอหน้าก็ตีหน้าเฉย ไม่รู้ไม่ชี้ คนเช่นนี้มายืมอะไรอีก อย่าให้เป็นอันขาด
๕. เขาให้หรือไม่ให้ก็พึงให้
หมายความว่า ถ้าใครมายืมของแล้ว ไม่ว่าเขาจะคืนหรือไม่คืนก็จงให้ เป็นการสงเคราะห์ญาติ ว่าอย่างนั้นเถอะ
๖. พึงนั่งให้เป็นสุข
หมายความว่า เวลาอยู่ในตระกูลสามี ต้องรู้จักระมัดระวัง เวลานั่งก็อย่าขวางประตู หรือที่ที่จะต้องลุกให้คนผ่าน
๗. พึงนอนให้เป็นสุข
หมายความว่า เวลาจะพิงจะเอน ณ ที่ใดก็ตาม พึงดูด้วยว่าที่นั้นเหมาะสมหรือไม่ ขวางทางใครหรือไม่ แม้เวลาเข้านอนก็พึงรู้ตำแหน่งแห่งที่ที่พึงนอน ยิ่งประเพณีโบราณถือว่าภรรยาต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง เมื่อพ่อเจ้าประคุณนอนยึดพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ตัวเองจะนอนที่ไหน ก็เป็นเรื่องของการรู้จักกาลเทศะ เกิดเป็นสตรี โดยเฉพาะสตรีอินเดีย ก็กลุ้มอย่างนี้แหละครับ ดังคำพังเพยว่า “
วัวลังกา ม้าอินเดีย เมียฮินดู
” ถูกใช้อานเลย ขอรับ
๘. พึงบริโภคให้เป็นสุข
หมายความว่า กินทีหลังสามี เวลาจะกินก็ต้องรู้ว่าจะนั่งกินตรงไหน เวลาใด นี่เป็นเรื่องกาลเทศะอีกเช่นกัน การกินให้เป็นสุข รวมถึงการรู้จักมารยาทในการกิน ตามที่กุลสตรีพึงปฏิบัติอีกด้วย
๙. พึงบำเรอไฟ
หมายถึง พ่อสามี แม่สามี และสามี ถือว่าเป็น “ไฟ” ในครอบครัว พึงบำเรอ คือดูแลอย่างดี ธรรมดาไฟนั้นมีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ เช่นเดียวกัน ถ้าดูแลไฟไม่ดี ไฟอาจไหม้บ้านวอดก็ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น บุคคลทั้งสามในตระกูลของสามี สตรีที่มาอยู่ด้วยต้องปรนนิบัติดูแลเป็นอย่างดี ถ้าทำให้เขาเหล่านั้นโกรธ ไม่พอใจ ก็นับว่าเป็นสะใภ้ที่ใช้ไม่ได้ อาจถึงกับถูกตราหน้าว่าเป็น “กาลกิณี” ต่อตระกูลวงศ์สามีก็ได้
๑๐. พึงบูชาเทวดา
หมายความว่า ให้นับถือพ่อสามี แม่สามี และสามี ดุจเทวดา ไม่ต้องสงสัย เมื่อเห็นพวกเขาเป็นเทวดา ก็พึงนอบน้อมแต่เทวดา ทำตามคำบัญชาของเทวดาโดยไม่ขัดขืน และเทวดาเดินได้นี่ เอาใจยากเสียด้วยสิครับ
เศรษฐีผู้เป็นพ่อกำชับลูกสาวว่า อยู่ในตระกูลสามีให้ปฏิบัติตามโอวาท ๑๐ ข้อนี้อย่างเคร่งครัด ลูกสาวก็ตกปากรับคำพ่อเป็นอย่างดี
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
เนื้อคู่ของนางวิสาขา
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑-๗๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๐ ประจำวันที่ ๒๔-๓๐ เมษายน ๒๕๕๘
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กรกฎาคม 2558 15:14:46 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #41 เมื่อ:
01 พฤษภาคม 2558 15:02:28 »
.
๙๙. ปุณณะวัฒนะกุมาร
(ต่อ)
เนื้อคู่ของนางวิสาขา
ขัดแย้งกับพ่อสามี
นางวิสาขา เมื่อมาอยู่ในตระกูลของมิคารเศรษฐี ก็วางตัวได้อย่างเหมาะสมกับที่เป็นลูกผู้ดีมีสกุล
นางมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนทั่วไป
ให้ความเคารพนับถือผู้อาวุโส ผู้อยู่ในวัยควรเรียกว่า พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา นางก็เรียกเหมาะสมแก่วัยของผู้นั้นๆ นางจึงเป็นที่รักของคนทั้งปวง
อยู่ในตระกูลสามีก็ปรนนิบัติพ่อสามี แม่สามี และสามีด้วยดีไม่บกพร่อง เป็นที่รักของสามีและพ่อแม่ของสามีทั่วหน้ากัน
วันหนึ่งก็เกิดเรื่องขุ่นข้องหมองใจกันจนได้ แต่ก็ยังไม่ถึงกับใหญ่โตนัก คือสกุลมิคารเศรษฐีนั้นนับถือพวก “อเจลลกะ” (ชีเปลือย) มาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่วิสาขาเป็นอริยสาวกของพระพุทธศาสนา นี่แหละครับคือที่มาแห่งความขุ่นเคืองและลุกลามไปเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงในที่สุด
ก่อนอื่นก็ขอ “แวะข้างทาง” ตรงนี้ซักหน่อย
นักบวชสมัยพุทธกาลมีมากมายหลายลัทธิ ลัทธิที่ขึ้นหน้าขึ้นตามากก่อนที่พระพุทธศาสนาแพร่หลาย ก็คือลัทธิเชนของศาสดามหาวีระ (ตำราพุทธเรียกว่า นิครนธ์นาฏบุตร) มหาวีระหรือนิครนธ์นาฏบุตร บางตำราว่าเป็นขัตติยราชกุมารออกบวช ถือความเคร่งครัดมาก ขนาดไม่ยอมนุ่งห่มผ้า เพราะถือว่าเสื้อผ้าเป็นเครื่องแสดงถึงความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะหมดกิเลสจริงต้องไม่ยึดแม้กระทั่งเสื้อผ้า
พูดง่ายๆ ว่าต้องเปลือยกายล่อนจ้อน
พวกที่เปลือยกายเดินโทงๆ ทั่วไปจึงเรียกกันว่า “
อเจลกะ
” แปลว่าไม่นุ่งผ้า หรือชีเปลือย
แต่ก็มีชีเปลือยอีกพวกหนึ่งไม่สังกัดลัทธิเชนก็มี เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงอเจลกะ (ชีเปลือย) จึงอาจหมายถึงพระในลัทธิเชนหรือชีเปลือยทั่วไปก็ได้ ชีเปลือยที่ตระกูลสามีของนางวิสาขานับถือกันมาหลายชั่วอายุคนนี้ คงเป็นพวกพระในลัทธิเชนดังกล่าวข้างต้น
ท่านเศรษฐีนิมนต์พระเชนมาฉันที่คฤหาสน์ เมื่อพระมาถึงท่านก็สั่งให้คนไปเชิญลูกสะใภ้มา “ไหว้พระอรหันต์”
นางวิสาขาได้ยินคำว่า “พระอรหันต์” ก็ดีใจ เพราะนางเป็นอริยสาวิการะดับพระโสดาบัน มีความเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย จึงรีบมาเพื่อนมัสการพระอรหันต์
แต่พอมาถึงก็เห็นประดา
“นู้ดภิกขุ” (พระนู้ด)
เต็มไปหมด นางเกิดความขยะแขยงจึงกล่าว (ค่อนข้างแรง) ว่า นึกว่าคุณพ่อให้มาไหว้พระ กลับเรียกมาไหว้พวกไม่มียางอายผ้าผ่อนก็ไม่ยอมนุ่ง
ว่าแล้วก็เดินหนีไป
พระคุณเจ้า “นู้ดภิกขุ) โกรธจนหน้าดำหน้าแดง ว่าท่านเศรษฐีทำไมเอาคนนอกศาสนาไม่เคารพพระสงฆ์เข้ามาเป็นสะใภ้ภายในบ้าน เท่ากับนำ “กาลกิณี” เข้าบ้าน ไม่เป็นสิริมงคลเสียเลย มีอย่างที่ไหนปล่อยให้มาด่าพระสงฆ์องค์เจ้าอย่างนี้ ท่านเศรษฐีต้องจัดการไล่อีตัวกาลกิณีนี้ออกจากตระกูล หาไม่พวกอาตมาจะไม่มารับอาหารบิณฑบาตจากบ้านท่านเป็นอันขาด
ถูกยื่นโนติสอย่างนี้ ท่านเศรษฐีจึงว่า กราบขออภัยเถอะขอรับ นางยังเด็ก ยังไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ขอพระคุณเจ้าโปรดยกโทษให้นางด้วยเถอะ
“ไม่ได้ เศรษฐีต้องไล่นางไป เรื่องนี้มิใช่เรื่องเล็ก จะมาอ้างว่ายังเด็กยังเล็กไม่ได้ โตจนมีผัวเป็นตัวเป็นตนแล้ว พ่อแม่ไม่สั่งสอนหรืออย่างไร”
“แต่ว่านางเป็นธิดาของตระกูลใหญ่ การจะไล่นางออกง่ายๆ นั้นไม่ได้ขอรับ เพราะก่อนจะส่งตัวนางมา พ่อแม่ของนางก็มอบนางไว้ในความดูแลของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญทั้งแปด ทุกอย่างต้องผ่านความเห็นชอบจากพราหมณ์เหล่านั้นก่อน” เศรษฐีอธิบาย
“ไม่รู้ล่ะ ท่านเศรษฐีต้องจัดการก็แล้วกัน” ว่าแล้วท่านพร้อมทั้งบริวารก็ลงจากเรือนไปด้วยจิตใจที่ขุ่นเคือง (ฮั่นแน่ ไหนว่าไม่นุ่งผ้าแล้วกิเลสจะไม่มี ที่แท้แค่นี้ยังแสดงอาการโกรธ งอนตุ๊บป่องเลยเชียว)
เศรษฐีถึงจะไม่พอใจลูกสะใภ้ที่พูดเช่นนี้ แต่ก็คิดว่า เรื่องไม่ใหญ่โตถึงขั้นต้องส่งนางกลับตระกูลเดิม
แต่อยู่มาวันหนึ่ง เรื่องที่เศรษฐีเห็นว่าร้ายแรงก็เกิดขึ้น
วันนั้น นางวิสาขาปรนนิบัติพ่อสามี ขณะที่นั่งรับประทานอาหารข้าวมธุปายาสอย่างดีอยู่ที่ระเบียงบ้าน พระเถระในพระพุทธศาสนารูปหนึ่ง เดินบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านเศรษฐีพอดี ท่านได้มายืนต่อหน้าเศรษฐี
ต้องเข้าใจด้วยนะครับว่า สมัยก่อนโน้นพระมายืนหน้าบ้านได้ ถ้าชาวบ้านปรารถนาจะใส่บาตร ก็นำอาหารไปใส่ ถ้าไม่มีอะไรจะใส่ หรือยังไม่พร้อมที่จะใส่ ก็บอกท่านว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด เจ้าข้า” ท่านก็จะไปยืนที่อื่น
แต่พระสงฆ์ในเมืองไทย ถ้ารูปใดไปยืนรอให้คนใส่บาตร จะถูกตำหนิติเตียน เรื่องนี้มีข้อแตกต่างกันอยู่
เศรษฐีมองเห็นพระแล้ว แต่ทำเป็นไม่เห็น ก้มหน้าก้มตากินข้าวมธุปายาสเฉย ซึ่งนางวิสาขาก็รู้จึงค่อยๆ ถอยออกไปกระซิบกับพระคุณเจ้า ดังพอที่พ่อสามีจะพึงได้ยินว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิดเจ้าข้า คุณพ่อของดิฉันกำลังกินของเก่า”
เท่านั้นแหละครับ เศรษฐีพันล้านลุกขึ้นเตะจานข้าวกระจายเลย พูดด้วยความโกรธจัดว่า พวกเอ็งไล่นางกาลกิณีคนนี้ออกไปจากตระกูลข้าเดี๋ยวนี้ หนอยแน่ะ มันกำแหงถึงขนาดหาว่าข้ากินขี้เชียวเรอะ
ครับ คราวนี้เกิดเรื่องใหญ่ ครอบครัวที่เคยสงบสุขมานาน ก็ปั่นป่วน ณ บัดดล พ่อสามีโกรธ แม่สามีก็โกรธ เจ้าประคุณสามีก็โกรธด้วย ที่ถูกหญิงสาวจากตระกูลอื่นมาด่าเสียๆ หายๆ แบบนี้
นางวิสาขาต้องเข้าไปเคลียร์กับคนเหล่านั้นว่าไม่ได้หมายความตามที่พวกเขาเข้าใจ แต่ใครมันจะฟังเล่าครับ
นางวิสาขาพูดว่า นางเองมิได้ถูกนำมาสู่ตระกูลนี้ ดุจนางกุมภทาสีที่เขานำมาจากท่าน้ำ นางเป็นบุตรของตระกูลใหญ่เช่นเดียวกัน ก่อนจะมาอยู่ในตระกูลนี้ บิดามารดาก็ได้มอบความรับผิดชอบไว้กับพราหมณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งแปด เมื่อเกิดเรื่องราวอะไรขึ้น ต้องให้ท่านทั้งแปดรับทราบด้วย
เศรษฐีจึงพูดว่า ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว จึงเรียกพราหมณ์ทั้งแปดมาตัดสินคดี และแล้วท่านทั้งแปดก็ถูกตามตัวมา เศรษฐีได้ฟ้องว่า นางวิสาขาลูกสะใภ้ของตน ด่าด้วยคำพูดหยาบคายว่า ตนกินขี้ ขอให้พวกท่านตัดสินเอาผิดนางด้วย
และแล้วการพิจารณาคดีก็เริ่มขึ้น โดยนางวิสาขาตกเป็นจำเลย คราวหน้าค่อยมาฟังคำให้การของจำเลยนะครับ วันนี้ขอยุติเพียงเท่านี้ก่อน
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
เนื้อคู่ของนางวิสาขา
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๙ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๑ ประจำวันที่ ๑-๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘
๙๙. ปุณณะวัฒนะกุมาร
(ต่อ)
เนื้อคู่ของนางวิสาขา
วิสาขาถูกสอบสวน
พราหมณ์ทั้งแปดถูกเชิญมาสอบสวนกรณีพิพาทระหว่างนางวิสาขา กับมิคารเศรษฐี พ่อสามี เศรษฐีได้กล่าวหานางวิสาขา ว่า ดูถูกดูหมิ่นตน หาว่าตนกินของเก่า ซึ่งหมายถึงกินอุจจาระ เป็นคำพูดสบประมาทที่ร้ายแรงมาก ยอมไม่ได้
สะใจที่ด่าว่าพ่อสามีเสียหายเช่นนี้ต้องถูกขับไล่โดยถ่ายเดียว ไม่มีข้อยกเว้น
พราหมณ์ทั้งแปดหันมาถามนางวิสาขา ว่า เป็นเช่นนั้นหรือ ถ้าเป็นจริงเช่นนั้น นางก็ต้องรับโทษทัณฑ์อย่างหนักตามที่เศรษฐีกล่าวแล้ว
นางตอบว่า “หาเป็นเช่นนั้นไม่ นางมิได้ดูหมิ่นว่าคุณพ่อสามีของนางกินอุจจาระแต่ประการใด คุณพ่อเข้าใจไปเอง”
“เข้าใจไปเองอย่างไร นางพูดกับพระใช่ไหม ว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อดิฉันกำลังรับประทานของเก่า ถึงฉันจะแก่แล้วแต่หูฉันยังดี ได้ยินคำพูดเธอชัดถ้อยชัดคำ” เศรษฐีเถียง
“ดิฉันพูดเช่นนั้นจริง” นางกล่าว
“เห็นไหม ท่านทั้งหลาย นางยอมรับแล้วว่านางพูดจริง” เศรษฐีหันไปกล่าวต่อพราหมณ์ทั้งแปด
“หามิได้ ดิฉันกล่าวเช่นนั้นจริง แต่มิได้หมายความอย่างที่คุณพ่อเข้าใจ ดิฉันหมายถึงว่า คุณพ่อดิฉันเกิดมาในตระกูลมั่งคั่ง เสวยโภคทรัพย์มากมายในปัจจุบันนี้ เพราะอานิสงส์แห่งบุญเก่าที่ทำไว้แต่ปางก่อน แต่คุณพ่อของดิฉันมิได้สร้างบุญใหม่ในชาตินี้เลย ดิฉันหมายเอาสิ่งนี้ จึงกล่าวว่า คุณพ่อดิฉันกินของเก่า”
เมื่อนางวิสาขาแก้ดังนี้ พวกพราหมณ์จึงหันมาหาเศรษฐี กล่าวว่า “ที่นางพูดนั้นก็ถูกต้องแล้ว นางไม่มีความผิดเพราะเรื่องนี้”
เมื่อเศรษฐีแพ้ในกระทงแรก
แกก็ยังไม่ยอมแพ้ ยังหาเรื่องต่อไปอีกว่า “เรื่องนี้ก็ช่างเถิด ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง นางวิสาขากับคนใช้หนีจากเรือนไปยังหลังเรือนกลางดึกวันหนึ่ง สงสัยว่านางแอบไปทำความไม่ดีอะไรบางอย่าง ไม่สมควรที่จะเป็นสะใภ้ของตระกูลใหญ่เช่นตระกูลของข้าพเจ้า”
“จริงหรือ วิสาขา” พราหมณ์ผู้ไต่สวนซัก
“จริงเจ้าค่ะ แต่มิใช่อย่างที่คุณพ่อเข้าใจ คืนนั้นมีคนรายงานว่าแม่ลา ซึ่งเป็นแม่ม้าอาชาไนยกำลังตกลูกใกล้กับเรือนนี้ ดิฉันคิดว่าไม่ควรนิ่งดูดาย เพราะม้าอาชาไนยหายาก กลัวว่ามันจะเป็นอันตราย ดิฉันกับคนใช้ชายหญิงจำนวนหนึ่งจึงลงไปดูแลช่วยเหลือแม่ลาที่ตกลูกนั้นให้ปลอดภัย”
กรรมการผู้ตัดสินกล่าวแก่เศรษฐีว่า “ถ้าเช่นนั้น วิสาขาก็ไม่มีความผิดตามที่กล่าวหาแต่ประการใด”
เศรษฐีแพ้กระทงนี้ก็หาเรื่องต่อไปว่า “ช่างเถิด แต่มีข้อแคลงใจข้าพเจ้ามานานแล้ว วันแต่งงานลูกชายข้าพเจ้า พ่อของนางได้กระซิบความลับสิบประการแก่นาง ซึ่งคงมีความมุ่งหมายไม่ดีแน่นอน บังเอิญข้าพเจ้าได้รับรู้มาว่าความลับสิบประการนั้น ข้อที่หนึ่ง ห้ามนำไฟในออกข้างนอก มันเป็นไปได้หรือที่จะไม่ให้นำไฟจากข้างในเรือนไปข้างนอก แสดงว่าต้องมีความลับลมคมในอะไรสักอย่าง”
“เรื่องนี้จะว่าอย่างไร วิสาขา” พราหมณ์ทั้งแปดซึ่งเป็นกรรมการตัดสินถาม
นางตอบว่า “คุณพ่อของดิฉัน (ธนัญชัยเศรษฐี) ไม่ได้หมายความเช่นนั้น ท่านหมายความว่า ไม่ควรนำความไม่ดีของครอบครัวออกไปนินทาให้คนข้างนอกฟัง เพราะไม่มีอะไรจะร้ายแรงเท่าไฟ คือการนำเอาเรื่องที่เกิดขึ้นภายในเรือนไปโพนทะนาให้คนข้างนอกฟัง”
ประเด็นนี้ นางวิสาขาไม่ผิดอีก
เศรษฐีจีงกล่าวหาต่อไปว่า
“ยังมีอีก ไฟนอกไม่ควรนำเข้า; พึงให้แก่คนที่ให้, ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้, พึงให้แก่คนที่ให้หรือไม่ให้, พึงนั่งให้เป็นสุข, พึงบริโภคให้เป็นสุข, พึงนอนให้เป็นสุข, พึงบำเรอไฟ, พึงนอบน้อมต่อเทวดา สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความลับลมคมในทั้งสิ้น”
เมื่อถูกถามให้อธิบาย นางวิสาขาจึงอธิบายให้ฟังว่า “ที่คุณพ่อดิฉันสอนว่า ไฟนอกไม่ควรนำเข้า หมายถึง ไม่ควรเอาเรื่องราวข้างนอก เช่น มีคนอื่นกล่าวร้ายคนในครอบครัวมาเล่าให้ครอบครัวฟัง เพราะจะเป็นสาเหตุให้ทะเลาะวิวาทโดยใช่เหตุ
ที่ว่า
พึงให้แก่คนที่ให้
หมายถึง ใครยืมขอใงช้ของสอยไปแล้วนำมาคืน ทีหลังมายืมอีกก็พึงให้
คำว่า
ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้
หมายความว่า ใครยืมแล้วไม่เอามาคืน ภายหลังมายืมอีกก็ไม่พึงให้
คำว่า
พึงให้แก่คนที่ให้หรือไม่ให้
หมายความว่า ญาติของทั้งสองฝ่ายมายืมของไป ถึงเขาจะเอามาคืนหรือไม่ก็ตาม พึงให้เขายืม เพราะถือเป็นการสงเคราะห์ญาติ
คำว่า
พึงนั่งให้เป็นสุข
หมายความว่า พึงนั่งในที่ที่จะไม่ต้องลุกหลีกทางให้คนอื่น
คำว่า
พึงบริโภคให้เป็นสุข
หมายความว่า พึงบริโภคอาหารภายหลังพ่อสามี แม่สามี และสามี
คำว่า
พึงนอนให้เป็นสุข
หมายถึง พึงนอนภายหลังพ่อสามี แม่สามี และสามี
คำว่า
พึงบำเรอไฟ
หมายความว่า พึงเคารพนบนอบ ปรนนิบัติพ่อสามี แม่สามี และสามีให้ดี
คำว่า
พึงนอบน้อมต่อเทวดา
หมายความว่า พ่อสามี แม่สามี และสามี ให้ถือเสมือนเป็นเทวดา พึงนอบน้อมเคารพเชื่อฟังท่านทั้งสามอย่างดี”
ได้ฟังอรรถาธิบายจากนางวิสาขาแล้ว พราหมณ์ทั้งแปดจึงตัดสินใจว่า นางไม่มีความผิด หรือท่านเศรษฐีติดใจอะไรไหม เศรษฐีกล่าวว่า ไม่ติดใจแล้วครับ ข้าพเจ้าเข้าในแจ่มแจ้งแล้ว ลูกสะใภ้ของข้าพเจ้าบริสุทธิ์ ไม่มีความผิดแต่อย่างใด ข้าพเจ้าต้องขออภัยที่เข้าใจนางผิดไป
นางวิสาขากล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ดิฉันตั้งใจจะกลับตระกูลตามคำขับไล่ของคุณพ่อสามีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากคุณพ่อได้มอบให้ดิฉันอยู่ในความดูแลของท่านทั้งหลาย ดิฉันจึงยังไปไม่ได้ จนกว่าท่านทั้งหลายจะตัดสินคดี บัดนี้ท่านทั้งหลายตัดสินว่าดิฉันไม่มีความผิดแล้ว ดิฉันพร้อมที่จะกลับตระกูลได้แล้ว ดิฉันให้คนจัดข้าวของไว้เรียบร้อยแล้ว จึงขอลา ณ บัดนี้”
มิคารเศรษฐีได้ยินดังนั้น จึงขอพราหมณ์ทั้งแปดให้เกลี้ยกล่อมนางไม่ให้ไป พร้อมกับกล่าวขอโทษนางและให้นางอยู่ต่อไป นางวิสาขากล่าวขึ้นว่า จะให้อยู่ได้อย่างไร นางเป็นอริยสาวิกาของพระพุทธศาสนา มาอยู่ในตระกูลสามีไม่เคยมีโอกาสได้ทำบุญในพระพุทธศาสนาเลย ถ้าจะให้นางอยู่ ขอให้นางได้ทำบุญตักบาตร นิมนต์ให้พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่บ้านได้
เศรษฐีกล่าวว่า “เอาเถอะลูกเอ๋ย พ่อยินดีอนุญาตให้ลูกทำอย่างที่ลูกประสงค์”
เป็นอันว่าพ่อสามียอมทุกอย่าง นางวิสาขาจึงยอมอยู่ในตระกูลสามีต่อไป จนต่อมานางได้รับสมญาว่า “มิคารมาตา” (มารดาของมิคารเศรษฐี) ลูกสะใภ้คนนี้ได้กลายเป็นแม่ของพ่อสามี เรื่องราวเป็นมาอย่างไรโปรดติดตาม
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
เนื้อคู่ของนางวิสาขา
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๙ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๒ ประจำวันที่ ๘-๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘
๙๙. ปุณณะวัฒนะกุมาร
เนื้อคู่ของนางวิสาขา
(ต่อ)
เมื่อสะใภ้กลายเป็นมารดาพ่อสามี
ฟังแล้วก็พิลึกดีเหมือนกัน แต่ถ้ารู้ความเป็นมาเป็นไปแล้วก็จะไม่แปลกใจแต่อย่างใด ดังที่กล่าวไว้ครั้งก่อนว่า พ่อสามีของลูกสะใภ้หาว่าลูกสะใภ้กิน “อุจจาระ” เนื่องจากนางวิสาขากล่าวกับพระที่มายืนรอรับบิณฑบาตที่หน้าบ้าน ขณะพ่อสามีกินข้าวอยู่ว่า “ขอนิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อดิฉันกำลังรับประทานของเก่า” คำว่า “ของเก่า” ในที่นี้เศรษฐีเขาว่าของเก่าที่ออกจากกระเพาะ (ก็อึนั่นไงเล่าครับ)
แต่เมื่อกรรมการสอบสวนซักถามจำเลยแล้ว จำเลยนามว่าวิสาขาชี้แจงว่า “ของเก่า” หมายถึงบุญเก่า มิใช่ดังที่พ่อสามีเข้าใจ พร้อมให้อรรถาธิบายอย่างแจ่มชัดว่า บุญที่ทำไว้แต่ปางก่อน เรียกว่า “ของเก่า” พ่อสามีนางเกิดมาในตระกูลร่ำรวย มีโภคทรัพย์มากมาย ก็เพราะอานิสงส์แห่งบุญแต่ปางก่อน แต่มาชาตินี้เศรษฐีไม่สนใจทำบุญกุศลเลยจึงเท่ากับกินบุญเก่านั่นเอง
เมื่อพ่อสามีแพ้แก่เหตุผลของลูกสะใภ้ หันมาพิจารณาตนด้วยจิตใจเป็นกลาง ก็รู้ว่าตนนั้น “กินของเก่า” จริงๆ จึงยอมขอขมาลูกสะใภ้ ลูกสะใภ้ได้ทีก็พูดจาขึงขังว่า เมื่อนางพ้นผิดแล้วก็ขอกลับไปตระกูลของนางตามความประสงค์ของคุณพ่อสามีต่อไป ว่าแล้วก็สั่งให้คนขนของเตรียมเดินทาง เศรษฐียิ่งร้อนใจจึงอ้อนวอนว่าอย่าไปเลย พ่อก็ขอโทษแล้ว พ่อผิดจริง นาง (คราวนี้ “ขี่แพะ” เลย) จึงต่อรองว่า “ถ้าจะให้ลูกอยู่ต่อไป ต้องอนุญาตให้ลูกนิมนต์พระสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข มาฉันอาหารที่บ้านทุกวัน” เศรษฐีก็ยินยอม
นางจึงอยู่ต่อไป
วันต่อมา นางวิสาขาทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์มาเสวยภัตตาหารที่บ้าน เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง นางจึงให้คนไปแจ้งแก่พ่อสามีว่าให้มา “อังคาส” พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์
“อังคาส” หมายถึงเลี้ยงพระ คือลูกสะใภ้เชิญให้พ่อสามีมาเลี้ยงพระด้วยกัน เศรษฐีก็ทำท่าจะมา แต่พวก “อเจลกะ” (นักบวชเปลือยกาย) ห้ามไว้ว่า ท่านเศรษฐีไม่ควรไปเสวนากับพระสมณโคดม
เศรษฐีจึงให้คนไปบอกลูกสะใภ้ว่า เชิญลูกอังคาสพระองค์เองเถอะ เมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมพระภิกษุสงฆ์เสวยเสร็จแล้วจะทรงแสดงพระธรรมเทศนา นางวิสาขาให้คนไปแจ้งพ่อสามีอีกว่า ให้มาฟังธรรม คราวนี้พวกอเจลกะจะห้ามอย่างไรเศรษฐีก็ไม่ฟัง คิดว่าเป็นการไม่สมควรที่จะขัดใจลูกสะใภ้ (เดี๋ยวนางจะโกรธจะกลับตระกูลของนางเสีย) พวกอเจลกะบอกว่าท่านเศรษฐีจะไปฟังก็ได้ แต่ให้ฟังอยู่นอกม่าน อย่าเห็นพระสมณโคดม ว่าแล้วก็สั่งคนไปกั้นม่าน จัดที่ให้เศรษฐีนั่งฟังธรรม
พระพุทธองค์ทรงดำริว่า ถึงเศรษฐีจะนั่งอยู่นอกจักรวาล ถึงจะถูกภูเขาหลายแสนลูกบังอยู่ ก็สามารถได้ยินเสียงของพระองค์ ว่าแล้วพระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา มุ่งสอนเศรษฐีโดยตรง เริ่มด้วยทรงแสดง “อนุปุพพีกถา” (พรรณนาเรื่องทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม อานิสงส์การออกจากกาม แล้วจบลงด้วยอริยสัจสี่ประการ)
เศรษฐีรู้สึกประหนึ่งว่า พระธรรมเทศนานี้ทรงมุ่งเทศน์ให้ตนฟังคนเดียว จึงตั้งอกตั้งใจส่งกระแสจิตพิจารณาไปตามความที่ทรงแสดง เมื่อจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลระดับต้น มีศรัทธามั่นคง ปราศจากความสงสัยในพระรัตนตรัย และเลิกให้การสนับสนุนพวกอเจลกะ
กลายเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าในที่สุด
เศรษฐีได้ยกย่องนางวิสาขาบุตรสะใภ้ของตนเป็น “มิคารมาตา” (แปลว่า แม่ของมิคารเศรษฐี) เพราะนางเป็นประดุจแม่ผู้ให้กำเนิดในทางธรรมแก่ตน
ว่ากันว่าเศรษฐีได้จุมพิตที่ถันของนางด้วย ทำนองเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นลูกผู้ดื่มนมจากแม่จริงๆ อันนี้น่าจะเป็นวัฒนธรรมแขกมากกว่าไทย คงเลียนแบบไม่ได้ เดี๋ยวลูกชายจะหาว่าพ่อมาทำมิดีมิร้ายกับเมียตน นี่แหละครับ คือความเป็นมาของสมญานามว่า “มิคารมาตา” (มารดาของมิคารเศรษฐี)
นางวิสาขาก็คงรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับนามนี้พอสมควร กลัวใครๆ จะหาว่า “ข่ม” พ่อสามี ซึ่งเป็นอันตรายมิใช่น้อยในสังคมยุคที่นิยมยกย่องเพศชาย กดขี่เพศหญิง ดังอินเดียสมัยนั้น นางจึงหาทางออกในเวลาต่อมา คือ เมื่อนางมีบุตรชาย นางจึงตั้งชื่อบุตรชายว่า “มิคาระ” เหมือนชื่อพ่อสามี เพราะเหตุฉะนี้แล เมื่อใครเรียกนางว่า มิคารมาตา (มารดาของมิคาระ) จึงสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เพราะลูกของนางชื่อมิคาระจริงๆ
ต่อมาท่านเศรษฐีเห็นว่าเครื่องประดับที่ชื่อ “
ลดาปสาธน์
” นั้น หนักเกินไป นางวิสาขาจะสวมใส่ทุกโอกาสได้ยาก จึงทำเครื่องประดับให้ใหม่ เบากว่าเดิม ชื่อ “ฆนะมัฏฐกะ” ให้ช่างฝีมือดีสร้างไป สิ้นเงินไปหนึ่งแสนกหาปณะ
นางวิสาขาผู้ทรงพลังเท่าช้างห้าเชือก
ก็เล่าขานประหนึ่งนิยายว่า นางวิสาขามีพลังมาก มากเท่าช้างห้าเชือกเลยทีเดียว
คัมภีร์กล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลบุญที่นางทำไว้แต่ปางก่อน
เรื่องนี้ปัจจุบันนี้เรามีคำพูดฮิตติดปากกว่า “ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” ฟังๆ ไว้ก็แล้วกันครับ เพราะเรื่องบาปบุญนี้มันเหนือวิสัยสามัญมนุษย์จะหยั่งรู้ได้
เสียงร่ำลือนี้ได้ยินไปถึงพระกรรณของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ก็คงไม่เชื่อเหมือนคนทั่วๆ ไป จึงทรงประสงค์จะทดสอบโดยสั่งให้ปล่อยช้างเชือกหนึ่ง ดุเสียด้วย วิ่งไปหาทางที่นางวิสาขาพร้อมบริวารจำนวนร้อยเดินผ่านมา ช้างก็แปร๋นๆ มาเชียว ฝ่ายสตรีสาวสวยบริวารของนางวิสาขาก็แตกฮือหนีเอาตัวรอดไป เหลือนางวิสาขายืนอยู่คนเดียว เมื่อช้างเข้ามาใกล้ นางก็เอานิ้วสองนิ้วจับงวงมัน แค่นั้นแหละครับ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ช้างเชือกนั้นก็ทรุดตัวลง ทรงกายไม่อยู่เลยทีเดียว อะไรจะปานนั้น
คราวนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเชื่อสนิทว่า ที่ว่านางมีพลังเท่าช้างห้าเชือกนั้นของจริง
มิใช่ราคาคุย
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
เนื้อคู่ของนางวิสาขา
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๓ ประจำวันที่ ๘๑๕-๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘
นางวิสาขาขายเครื่องประดับสร้างวัด
หลังจากนางวิสาขาเดินตรวจตราดูรอบๆ พระอาราม เพื่อดูว่าพระคุณเจ้ารูปใดขาดสิ่งใด จะได้จัดถวาย นางเรียกหาเครื่องประดับ “
ลดาปสาธน์
” สาวใช้ผู้ดูแลเครื่องประดับตกใจ เรียนนายหญิงว่า ตนลืมไว้ที่วัด จึงรีบกลับไปเอา
พระอานนท์เห็นสาวใช้นางวิสาขา จึงถามว่า “เธอมาด้วยประสงค์ใด”
สาวใช้ตอบว่า “มาเอาเครื่องประดับของนายหญิงที่ตนลืมไว้”
พระอานนท์ตอบว่า “อาตมาเก็บไว้ที่ราวบันได เธอจงไปเอาเถิด”
สาวใช้จึงรีบเอาเครื่องประดับนั้นกลับไปส่งให้นายหญิง นางวิสาขาฉุกคิดอะไรขึ้นมา จึงถามว่า
“มีใครเห็นเครื่องประดับนี้หรือเปล่า”
“พระอานนท์เห็นเจ้าค่ะ ท่านเอาไปพาดไว้ที่ราวบันไดกุฏิ”
“ถ้าเช่นนั้น ฉันจะไม่ใช้เครื่องประดับที่พระคุณเจ้าอานนท์ถูกต้องแล้ว ขอถวายให้แก่ท่านเสียเลย แต่เมื่อพระท่านไม่ใช้เครื่องประดับ ฉันจะขายเอาเงินไปบำรุงวัด”
นางวิสาขาจึงเรียกช่างมาตีราคาเครื่องประดับ ช่างได้ตีราคาว่าเครื่องประดับมีค่า ๙ โกฏิ และค่ากำเหน็จอีก ๑ แสน นางจึงประกาศขายในราคาเท่านั้น
ว่ากันว่าในชมพูทวีปสมัยนั้น คนที่มีเครื่องประดับล้ำค่าอย่างนี้มีอยู่ ๓ คนเท่านั้นเอง นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางมัลลิกาภริยาพันธุละเสนาบดี แห่งแคว้นโกศล และลูกสาวเศรษฐีกรุงพาราณสีคนหนึ่ง (ชื่ออะไรไม่เห็นบอก) จึงหาคนซื้อไม่ได้
นางจึงซื้อเสียเอง แล้วให้ขนทรัพย์ ๙ โกฏิ กับอีก ๑ แสน ใส่เกวียนไปพระเชตวันมหาวิหาร เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถามว่า จะให้ทำอย่างไรกับเงินจำนวนนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้สร้างที่อยู่สำหรับภิกษุสงฆ์ทางด้านทิศปราจีน นางวิสาขาจึงเอาเงิน ๙ โกฏินั้นซื้อที่ดิน และบริจาคเพิ่มอีก ๙ โกฏิ สร้างวัดถวายพระสงฆ์ด้วยทรัพย์จำนวนนั้น เป็นอาคารสองชั้น มีห้องถึง ๑,๐๐๐ ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง ชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง สร้างยอดปราสาท บรรจุน้ำได้ถึง ๖๐ หม้อ
นางได้ตั้งชื่อวัดว่า “บุพพาราม”
ใช้เวลาสร้างนาน ๙ เดือน จึงสำเร็จ
ในช่วงเวลาที่นางวิสาขาสร้างวัดนั้น พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปโปรดสัตว์ยังแว่นแคว้นอื่น ก่อนเสด็จไป พระองค์มีพุทธบัญชาให้พระมหาโมคคัลลานะกับภิกษุจำนวนหนึ่ง อยู่คอยให้คำแนะนำแก่นางวิสาขาจนสร้างวัดเสร็จดังกล่าว
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จนิวัติยังพระนครสาวัตถี นางวิสาขาจึงกำหนดจัดงานเฉลิมฉลองวัดบุพพารามถึง ๔ เดือน แล้วถวายภัตตาหารทุกวันเป็นประจำ (ธรรมดาของการทำบุญฉลอง ไม่ว่าสมัยไหน ก็คงมีมหรสพต่างๆ ประกอบด้วย)
ครั้งนั้นมีหญิงเป็นสหายเก่าของนางวิสาขาคนหนึ่ง อยากมีส่วนร่วมในการทำบุญครั้งนี้ด้วย จึงนำผ้าอย่างดีราคาพันหนึ่ง มาเพื่อปูลาดพื้นที่ (สงสัยจะเป็นพรมปูพื้น) ขอโอกาสนางวิสาขาเพื่อจะปูลาดผ้านั้น นางวิสาขาบอกว่า ตามสบายเถิด เห็นสมควรที่จะปูลาดตรงไหน เพื่อนจงจัดการเถิด นางเดินหาที่ที่จะปูลาดผ้าของตนไม่พบ เพราะผ้าที่ปูอยู่ก่อนแล้วล้วนราคามากกว่าผ้าของนาง เมื่อไม่มีโอกาสปูลาดผ้า นางจึงยืนร้องไห้อยู่
พระอานนท์มาพบเข้า ถามไถ่ได้ความว่า หาที่ปูลาดผ้าไม่พบ เพราะตลอดทั้ง ๑,๐๐๐ ห้องมีผ้าปูลาดไว้หมดแล้ว และมีราคามากกว่าผ้าของนางด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้นางก็หมดโอกาสได้ทำบุญกุศลแล้ว
พระเถระบอกว่า ถ้าอย่างนั้นตามอาตมามา ว่าแล้วก็พานางไปชี้ให้ดูที่ขั้นบันได “จงลาดผ้าไว้ที่เชิงบันไดนี้ให้เป็นผ้าเช็ดเท้าพระ หลังจากท่านล้างเท้าแล้ว จะได้เช็ดเท้า ณ จุดนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุญกุศลเป็นอันมากย่อมเกิดขึ้นแก่ท่าน” นาง
จึงได้ทำตามพระเถระแนะนำ มีความปลาบปลื้มปีติมากที่ได้มาส่วนร่วมในการฉลองวัดบุพพารามของนางวิสาขา
การฉลองวัดหมดเงินไป ๙ โกฏิ (ดูเหมือนเลย ๙ จะเป็นมงคลนะครับ) เป็นอันว่าวัดบุพพารามสร้างและฉลองเป็นเงินทั้งหมด ๒๗ โกฏิ (ซื้อที่ ๙ โกฏิ ค่าก่อสร้าง ๙ โกฏิ ค่าจัดงานฉลอง ๙ โกฏิ)
ในงานฉลองวัดครั้งนี้ นางวิสาขาเต็มไปด้วยปีติโสมนัส เดินชมรอบพระวิหารแล้วเปล่งอุทานจากความรู้สึกภายในใจ ด้วยสำเนียงอันไพเราะว่า
- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอเราจะได้สร้างปราสาทใหม่ ฉาบด้วยปูนขาวและดิน ถวายเป็น “วิหารทาน” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว
- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะมีโอกาสถวายเตียงตั่ง ฟูกและหมอน เป็น “เสนาสนภัณฑ์” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว
- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะได้ถวายสลากภัตผสมด้วยเนื้อบริสุทธิ์เป็น “โภชนทาน” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว
- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะได้ถวายผ้ากาสิกพัสตร์ (ผ้าทอที่แคว้นกาสีอย่างดี) ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้าย เป็น “จีวรทาน” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว
-
เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะได้ถวายเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย เป็น “เภสัชทาน” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว
พระภิกษุจำนวนหนึ่งเห็น และได้ยินนางวิสาขาเดินครวญเพลงเบาๆ รอบปราสาท (ตึก) ไปกราบทูลพระพุทธองค์ว่า นางวิสาขาไม่เคยร้องเพลงในวัดอย่างนี้เลย วันนี้นึกครึ้มใจอะไรขึ้นมา หรือ “ดีของนางกำเริบ” (เป็นสำนวนโบราณ คงหมายความว่า เกิดผิดปกติอะไรขึ้นมา อะไรทำนองนั้น)”
พระพุทธองค์ตรัสว่า
“ไม่มีอะไรดอก วันนี้ธิดาของเราได้ทำทุกสิ่งสมความปรารถนาที่ตั้งไว้ จึงเปล่งอุทานออกมาด้วยความดีใจเท่านั้นเอง”
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
เนื้อคู่ของนางวิสาขา
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๕ ประจำวันที่ ๒๙ พฤษภาคม - ๔ มิถุนายน ๒๕๕๘
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กรกฎาคม 2558 15:20:58 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #42 เมื่อ:
12 พฤษภาคม 2558 13:12:50 »
.
๑๐๐. นางสุปปิยา
คนสนิทผู้ใจบุญ
นางสุปปิยา
เป็นคนสนิทของนางวิสาขา มักจะติดตามนางวิสาขาเดินดูความเรียบร้อยของพระอาราม หลังจากเสร็จธุระเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ในพุทธประวัติมีชื่อนางสุปปิยาอีกคน คนนี้เป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติว่า ภิกษุห้ามฉันเนื้อมนุษย์ และเนื้อสัตว์ที่ไม่ควรอื่นๆ อีก ๙ ชนิด
ผมจึงตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นสุปปิยาคนเดียวหรือคนละคน ว่าจะค้นมาเล่าสู่กันฟัง จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ค้น
ตามข้อมูลที่อยู่ในมือ (ข้อมูลมีน้อย เพราะไม่ได้ค้นดังได้บอกแล้ว) สุปปิยาที่เป็นต้นเหตุให้ทรงบัญญัติห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ มีเล่าในพระวินัยปิฎกเล่ม ๕
(ข้อความแวดล้อมน่าสงสัยมาก สงสัยอย่างไรจะบอกภายหลัง ตอนนี้ฟังข้อมูลไปก่อน)
เมื่อครั้งพระพุทธองค์
ประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี สามีภรรยาคู่หนึ่งชื่อ สุปปปิยะ และสุปปิยา ตามลำดับ เป็นทายกและกัปปิยการกบำรุงพระสงฆ์มาโดยตลอด
บ่ายวันหนึ่ง นางสุปปปิยา ได้เดินเรียนถามความต้องการของพระภิกษุ ตามที่อยู่ของท่าน พบพระภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ เป็นโรคท้องเดิน ฉันน้ำเนื้อดิบเป็นยารักษา
บังเอิญวันนั้นเป็นวันห้ามฆ่าสัตว์ ไม่มีเนื้อขายในตลาด นางสั่งให้คนไปหาที่ไหนๆ ก็ไม่ได้ จึงตัดสินใจเอามีดคมกริบเฉือนเนื้อขาของตนเอง สั่งให้หญิงรับใช้นำไปต้ม เอาน้ำไปถวายพระภิกษุรูปนั้น ส่วนตนก็เอาผ้าพันขา แล้วเข้าห้องนอน
สุปปิยะอุบาสก ผู้สามีกลับมาบ้าน ทราบเรื่องราวเข้า แทนที่จะตำหนิภรรยา กลับปีติยินดีที่ภรรยาของตนมีศรัทธาในพระศาสนาอย่างแรงกล้า ถึงขั้นเฉือนเนื้อขาตัวเองถวายเป็นอาหารภิกษุสงฆ์ จึงไปกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตนในเช้าวันรุ่งขึ้น “เพื่อเจริญกุศลยิ่งใหญ่และปีติปราโมทย์” ยิ่งๆ ขึ้นไป ว่าอย่างนั้น
รุ่งเช้าขึ้นมา พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งเสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของคนทั้งสอง พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องราวของสุปปิยา จากคำกราบบังคมทูลของสามีนาง ทรงรับสั่งให้นางเข้าเฝ้า
ตอนแรกนางคิดว่าคงไม่สามารถลุกขึ้นไปเข้าเฝ้าได้ เพราะบาดแผลระบมตลอดทั้งคืน แต่พอขยับกายเท่านั้น ไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย ปรากฏว่าแผลได้มีเนื้อขึ้นเต็ม สมานสนิทเหมือนปกติ ด้วยพุทธานุภาพ
ครั้นเสวยเสร็จแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดสองสามีภรรยา
เสด็จนิวัติยังพระอาราม รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ทรงไต่ถามเอาความจริงจากภิกษุรูปที่ฉันน้ำต้มเนื้อมนุษย์นั้นว่า
“เขาว่าเขาเอาน้ำต้มเนื้อมนุษย์มาถวายหรือ”
“พระเจ้าข้า” ภิกษุรูปนั้นรับ
“เธอฉันแล้วหรือ”
“ฉันแล้ว พระเจ้าข้า”
“เธอพิจารณาหรือเปล่า” (ดูหรือเปล่าว่าเป็นเนื้อคน)
“ไม่ได้พิจารณา พระเจ้าข้า”
ตรัสถามอะไรก็รับเป็นสัตย์หมดทุกกระทงความ พระพุทธองค์จึงตรัสตำหนิว่า-
“โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อนแล้วค่อยฉัน เธอเป็นคนมักมาก เห็นแก่ตัว ประมาท ฉันเนื้อมนุษย์ไปแล้ว การกระทำของเธอไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ไม่ทำให้คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว เลื่อมใสมากยิ่งขึ้น” เสร็จแล้วทรงบัญญัติห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ ใครฝ่าฝืนต้องอาบัติถุลลัจจัย
ต่อมามีผู้เอาเนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือเหลือง เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อหมี เนื้อสุนัข เนื้องู ไปถวายพระภิกุบางเหล่า พวกท่านก็ได้ฉันเนื้อเหล่านั้น
พระพุทธองค์ทรงทราบจึงทรงบัญญัติห้ามพระภิกษุฉันเนื้อดังกล่าว ใครฝ่าฝืนปรับอาบัติทุกกฎ
พจนานุกรม “
วิสามานยนาม
” รวบรวมโดย ดร.มาลาลา เสเกรา พูดเช่นเดียวกันว่า สุปปิยาเป็นชาวเมืองพาราณสี
ถ้าเป็นเช่นนั้น สุปปิยา ผู้ติดตามนางวิสาขา กับสุปปิยาผู้ถวาย “ซุปน่องคน” แก่พระอาพาธรูปหนึ่ง เป็นคนละคน
ที่ผมว่า “ข้อความแวดล้อม” มันน่าสงสัยก็คือ เรื่องเหล่านี้บอกว่าเกิดขึ้นในสมัยพระพุทธองค์ประทับอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี สมัยที่เกิดเรื่องนี้ มีพระสงฆ์อยู่ร่วมกันเป็นอันมาก นางสุปปิยามักจะเดินตรวจตราดูความเป็นอยู่ของพระสงฆ์เป็นประจำ จนพบพระรูปดังกล่าวป่วย หาเนื้อไม่ได้ จึงเฉือนเนื้อขาของตนต้มถวาย จนเป็นเหตุให้มีพุทธบัญญัติห้ามพระฉันเนื้อ
ความน่าจะเป็นก็คือ พระองค์คงเสด็จกลับมาพำนักที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันหลายครั้งหลายคราวแน่นอน (คงไม่ใช่พักครั้งเดียวเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์แน่) เพียงแต่ไม่มีหลักฐานบ่งชัดไว้เท่านั้น เหตุการณ์ทรงบัญญัติห้ามพระฉันเนื้อมนุษย์ จะต้องเกิดขึ้นหลังจากพรรษาที่ ๑๑ และก่อนเสด็จไปประจำที่เมืองสาวัตถี
ทำไมจึงว่าอย่างนั้น เหตุผลง่ายๆ ก็คือ มีหลักฐานว่าระยะแรก พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามพระภิกษุเสพเมถุน ใครเสพต้องอาบัติปาราชิก หลังจากนั้นก็มีการกระทำที่ไม่เหมาะสมแก่สมณสารูปอื่นๆ อีก พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทข้ออื่นๆ ต่อมา
ปาราชิกข้อที่หนึ่งเกิดก่อนข้ออื่นๆ และปาราชิกข้อหนึ่งนี้ทรงบัญญัติเมื่อคราวพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชรา ในพรรษาที่ ๑๑
การบัญญัติห้ามพระฉันเนื้อมนุษย์ก็ต้องมีขึ้นที่หลังปฐมปาราชิกแน่เหมือนแช่แป้งอยู่แล้วใช่ไหมขอรับ
การศึกษาพระพุทธศาสนาลำบากอยู่นิดหนึ่ง คือ ชื่อคนมักจะซ้ำกัน แล้วท่านก็ไม่ค่อยให้รายละเอียดไว้ด้วย ทำให้ผู้ศึกษาสับสนและนำมาปะปนกัน
อีกทั้งในคัมภีร์ก็ไม่ค่อยจะคำนึงถึงเรื่องช่วงเวลาด้วย มักจะกล่าวกว้างๆ เช่น ในสมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่...เกิดเรื่องอย่างนั้นอย่างนี้ เลยไม่รู้ว่า “สมัยหนึ่ง” น่ะ สมัยไหน ปีไหน เดือนไหน
อยากให้นักวิจัยมาวิจัยเรื่องวันเวลา สถานที่ที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก จะได้เป็นข้อมูลที่สำคัญ และได้คำตอบในหลายเรื่องที่ยังคลุมเครืออยู่
ใครมีฝีมือกรุณาทำด้วยเถิดครับ จะเป็นประโยชน์แก่การศาสนศึกษาอย่างมหาศาลเลยทีเดียว
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
นางสุปปิยา คนสนิทผู้ใจบุญ
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๙ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๔ ประจำวันที่ ๒๒-๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘
ต้นเหตุเกิดผ้าอาบน้ำฝน
สมัยก่อน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระใช้ผ้าเพียงสามผืนเท่านั้น คือมีจีวร (ผ้าห่ม) สบง (ผ้านุ่ง) สังฆาฏิ (ผ้าห่มซ้อน) เท่านั้น
ผ้าสามผืนนี้ ศัพท์ทางวิชาการจริงๆ เขาเรียกดังนี้ครับ
ผ้าห่ม เรียกว่า อุตราสงค์
ผ้านุ่ง เรียกว่า อัตราวาสก
ผ้าห่มซ้อน เรียกว่า สังฆาฏิ
เฉพาะผ้าสังฆาฏินั้น ปัจจุบันนี้ พระสงฆ์ไทยเอามาพาดบ่า เป็นสายสะพายไปเสียแล้ว สมัยพุทธกาลใช้ห่มซ้อนเวลาอากาศหนาวมาก ในพุทธประวัติปรากฏว่า พระพุทธองค์ทรงใช้ปูลาดสำหรับบรรทมด้วย ดังพระอานนท์ได้ลาดผ้าสังฆาฏิ ถวายให้พระองค์บรรทม ขณะเสด็จถึงแม่น้ำกกุธา ก่อนที่จะเสด็จไปปรินิพพานที่กรุงกุสินารา
ปัจจุบันนี้ ถ้าภิกษุรูปใดเอาผ้าสังฆาฏิมาปูนั่งปูนอน เดี๋ยวก็โดนพระอุปัชฌาย์หาว่าอุตริ พิเรนทร์ แน่นอน
พระสงฆ์สมัยนั้น เวลาอาบน้ำ ก็เปลือยกายอาบน้ำกันเพราะไม่มีผ้านุ่งอาบน้ำ จนนางวิสาขาเห็นความลำบากของพระสงฆ์ จึงขอพรจากพระพุทธเจ้า ขอถวายผ้าสำหรับอาบน้ำแก่พระสงฆ์
เรื่องมีว่า วันหนึ่ง นางวิสาขาทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น พระพุทธองค์ทรงรับด้วยดุษณีภาพ (คือรับด้วยอาการนิ่ง) นางกลับถึงบ้าน ก็สั่งเตรียมอาหารไว้สำหรับถวายพระในวันรุ่งขึ้น บังเอิญว่าตอนเช้ามืดฝนตกหนัก ภิกษุทั้งหลายก็พากันอาบน้ำก่อนที่จะไปฉันข้าว นางวิสาขาสั่งให้สาวใช้ไปนิมนต์พระ หลังจากตระเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว สาวใช้ไปที่วัดพระเชตวัน บังเอิญพระคุณเจ้าบางรูปยังอาบน้ำไม่เสร็จ สาวใช้แลไปเห็นพระคุณเจ้าเปลือยกายล่อนจ้อนอาบน้ำอยู่ ก็รีบกลับไปรายงานนายหญิงว่า
“ไม่มีพระสงฆ์อยู่เลยเจ้าค่ะ”
“ไม่มีได้อย่างไร ฉันนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไว้แล้ว เมื่อวานนี้” นางวิสาขาสงสัย
“ไม่มีจริงๆ เจ้าค่ะ เห็นแต่พวกชีเปลือยเต็มวัดไปหมดเลย” สาวใช้ยืนยัน
สาวใช้เข้าใจอย่างนั้นจริงๆ เพราะในอินเดียสมัยนั้น (สมัยนี้ก็ยังมีอยู่) นักบวชประเภทไม่นุ่งผ้ามีเป็นจำนวนมาก อย่างพระเชน (ศิษย์ของศาสดามหาวีระ หรือนิครนถนาฏบุตร) และพวกอเจลกะก็ไม่นุ่งผ้า ท่านเหล่านี้ได้รับความนับถือบูชาจากชาวชมพูทวีปไม่น้อยไปกว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
นางวิสาขาเป็นคนฉลาด พอได้ยินสาวใช้รายงานเช่นนั้นก็รู้ทันทีว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์เสวยภัตตาหารเสร็จ นางวิสาขาจึงกราบทูลขอพรจากพระพุทธองค์
“เราตถาคตเลิกให้พรแล้ว วิสาขา” พระพุทธองค์ตรัส
“ได้โปรดเถิด หม่อมฉันทูลขอพรที่เหมาะสม ไม่มีโทษพระพุทธเจ้าข้า”
“จงบอกมาเถิด วิสาขา”
“หม่อมฉันปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำฝน) ถวายภัตเพื่อพระอาคันตุกะ ถวายภัตเพื่อพระที่เตรียมจะเดินทาง ถวายภัตเพื่อพระอาพาธ ถวายภัตเพื่อพระที่พยาบาลพระอาพาธ ถวายเภสัชแก่ภิกษุอาพาธ ถวายข้าวยาคูประจำสำหรับภิกษุณี หม่อมฉันจะถวายผ้าอุทกสาฏิกา (ผ้าผลัดอาบน้ำของนางภิกษุณี) ตลอดชีวิตพระเจ้าข้า”
“เธอเห็นประโยชน์อะไร จึงปรารถนาจะถวายสิ่งเหล่านี้” พระพุทธองค์ตรัสถาม
นางวิสาขากราบทูลว่า วันนี้หม่อมฉันสั่งให้สาวใช้ไปนิมนต์พระ นางไปเห็นพระสงฆ์กำลังอาบน้ำอยู่ นึกว่าเป็นพวกชีเปลือย หม่อมฉันจึงคิดว่า พระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำไม่เป็นที่เลื่อมใสของคนทั้งหลาย และคนเขาจะไม่เห็นความแตกต่างระหว่างชีเปลือยนอกศาสนากับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และเห็นว่ามีสิ่งจำเป็นอื่นๆ อีกที่พระสงฆ์ต้องการ จึงอยากถวายทั้ง ๘ ประการ ดังกราบทูลให้ทรงทราบด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๑ การเปลือยกายอาบน้ำไม่งามสำหรับภิกษุสงฆ์ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้จึงปรารถนาจะถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุสงฆ์
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๒ พระอาคันตุกะที่ไม่ชำนาญทาง ไม่รู้จักโคจร (ที่สำหรับเที่ยวไปบิณฑบาต) ย่อมลำบากในการเที่ยวบิณฑบาต เมื่อท่านได้ฉันอาคันตุกภัตแล้ว ก็จะไม่ลำบาก เบื้องต้น หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้ จึงปรารถนาอยากถวายอาคันตุกภัต
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๓ ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทางไกล ถ้ามัวแต่แสวงหาภัตอยู่ก็จะไม่ทันการณ์ อาจพลาดจากหมู่เกวียนที่ตนจะอาศัยเดินทางไปด้วย กว่าจะถึงที่หมายอาจพลบค่ำหรือมืดก่อน เดินทางลำบาก เมื่อท่านได้ฉันภัตตาหารก่อนแล้วก็จะไปทันเวลา และการเดินทางก็จะไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นประโยชน์จึงปรารถนาอยากถวายภัตเพื่อพระผู้จะเดินทาง
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๔ เมื่อพระอาพาธ ไม่ได้อาหารที่สบาย โรคภัยไข้เจ็บก็อาจจะกำเริบ อาจถึงมรณภาพได้ เมื่อท่านได้ฉันอาหารที่เป็นสัปปายะ อาพาธก็จะทุเลาลง จนกระทั่งหายในที่สุด หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้ จึงปรารถนาอยากถวายภัตเพื่อภิกษุอาพาธ
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๕ ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุอาพาธ มัวแต่แสวงหาอาหารให้พระที่อาพาธ ตนเองก็จะไม่ได้ฉันภัตตาหาร หม่อมฉันมีความปรารถนาอยากถวายแก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุอาพาธด้วย ท่านจะได้ไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นประโยชน์จึงปรารถนาอยากถวายภัตเพื่อภิกษุผู้พยาบาลภิกษุ
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๖ ภิกษุไข้เมื่อไม่ได้เภสัชที่ถูกกับโรค ก็จะไม่หายป่วยไข้ บางทีอาจถึงแก่มรณภาพ หม่อมฉันเห็นประโยชน์ จึงปรารถนาอยากถวายเภสัชเพื่อภิกษุไข้
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๗ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญอานิสงส์ของการบริโภคข้าวยาคูไว้ ๑๐ ประการ (คือ อายุยืน, ผิวพรรณผ่อง, มีความสุขสบาย, มีกำลัง, มีปฏิภาณ, ขจัดความหิว, บรรเทาความกระหาย, ลมเดินคล่อง, ล้างลำไส้, ระบบย่อยอาหารดี) หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้ จึงอยากถวายข้าวยาคูประจำ
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๘ ภิกษุณีเปลือยกายอาบน้ำร่วมกับนางแพศยา ถูกนางพวกนั้นค่อนแคะว่า ไม่แตกต่างไปจากพวกเขา ทำให้ภิกษุณีเก้อเขิน อีกอย่างหนึ่ง สตรีเปลือยกายไม่งาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสตรีทีประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย
หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้ จึงปรารถนาอยากถวายผ้าผลัดอาบน้ำแก่ภิกษุณีสงฆ์
เมื่อนางวิสาขากราบทูลเหตุผลจบสิ้นลง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์ ๘ ประการนี้ จึงขอพรจากเราตถาคต เราตถาคตอนุญาตพรทั้ง ๘ ประการนี้ แล้วตรัสอนุโมทนาว่า :-
สตรีใดให้ข้าวให้น้ำ มีใจเบิกบานแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นสาวิกาของพระสุคต ครอบงำความตระหนี่ได้แล้ว บริจาคทาน อันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ เป็นเครื่องบรรเทาความโศก นำมาซึ่งความสุข สตรีนั้นอาศัยมรรคปฏิบัติ ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องยั่วใจปราศจากธุลี ย่อมได้กำลังและอายุเป็นทิพย์
สตรีผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมีความสุขสมบูรณ์ด้วยพลานามัย ย่อมปลื้มใจในสวรรค์สิ้นกาลนาน
•
จาก
:
บทความพิเศษ "ต้นเหตุเกิดผ้าอาบน้ำฝน" โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรษปก หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๖ ประจำวันที่ ๕-๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๘
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กรกฎาคม 2558 15:25:04 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #43 เมื่อ:
14 กรกฎาคม 2558 15:38:34 »
.
วิสาขา
ที่พึ่งแก่เหล่าเพื่อนหญิง
นางวิสาขามีเพื่อนหลายคน คบหากันตลอด เวลาเพื่อนคนใดมีความทุกข์ หรือมีปัญหาชีวิต นางวิสาขาก็ช่วยปัดเป่าทุกข์ให้ด้วยความยินดี
ครั้งหนึ่งไปพบเพื่อนหญิงของนางหลายคนพากันดื่มสุรา เมาแอ่น เสียงเอะอะโวยวาย ก็สลดใจ นึกไม่ถึงว่าไม่ได้พบเพื่อนหญิงหลายเดือน พวกเธอเปลี่ยนแปลงไปถึงขั้นนี้ได้อย่างไร
สอบถามได้ความว่า พวกนางได้สามีที่เป็น
นักเลงสุรา
ทั้งนั้น เมื่อมีงานมหรสพ สามีเหล่านั้นก็ “ตั้งวง” ดื่มสุรากันสนุกสนาน
คราวหนึ่งหลังงานเลิกแล้ว มีสุราเหลืออยู่ พวกนางจึงพากันลองชิมดูบ้าง อยากรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร สามีของพวกนางจึงชอบดื่มกันนัก
ลองแล้วก็เลยติดในรสสุรา จึงแอบนัดกันไปตั้งวงดื่มกัน ในที่สุดพวกสามีก็จับได้ จึงทุบตีพวกนาง ทำนองว่าเป็นผู้หญิงริดื่มสุรา เสียชื่อหมด (ในขณะที่ตัวเองดื่มได้ไม่เสีย ว่าอย่างนั้นเถอะ)
แต่พวกนางก็ไม่เข็ด มีโอกาสเมื่อไรก็นัดกันไป “ก๊ง” จนกระทั่งนางวิสาขามาพบเข้า จึงว่ากล่าวตักเตือน พวกนางก็ทำท่าว่าเห็นด้วยกับที่นางวิสาขาตักเตือน แต่ก็อดที่จะแอบดื่มสุราไม่ได้
ของมันเคยแล้วนี่ครับ เลิกยากเสียแล้ว
วันหนึ่งพวกนางขอติดตามนางวิสาขาไปชมสวน แล้วเลยไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์ที่วัดพระเชตวัน
นางวิสาขาบอกว่า ก็ได้ แต่พวกเธออย่าดื่มสุราเป็นอันขาด หาไม่จะเป็นที่ตำหนิติเตียนของพวกเดียรถีย์ เขาจะหาว่าสาวิกาของพระพุทธเจ้าเป็นนักเลงสุรา กระทำการไม่เหมาะไม่ควร
พวกนางก็รับปากแข็งขัน แต่ก็แอบเอาสุราใส่ขวดซ่อนไว้ เดินชมสวนไปก็ดื่มน้ำอมฤตไปด้วย หลายอึกเข้าก็มันเมาเป็นธรรมดา กว่าจะมาถึงวัดก็หมดไปหลายอึก
ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ พวกเธอก็ลืมตัว บ้างก็ถลำขึ้นรำ บ้างก็ร้องเพลงฟังไม่ได้ศัพท์ บ้างก็หัวเราะขบขัน ไม่มีปี่ไม่ขลุ่ย แสดงอาการอันน่าทุเรศต่อสายตาวิญญูชน
พระพุทธองค์จึงทรงบันดาลให้เกิดความมืดมนทันที สตรีเหล่านั้นตกอยู่ในความหวาดกลัว หายเมาไปครึ่งต่อครึ่ง นั่งตัวสั่นอยู่
ทันใดนั้น พระพุทธองค์ทรงฉายรัศมีออกจากพระอุณาโลม เกิดแสงสว่างขึ้น ดุจแสงพระจันทร์พันดวง
พระองค์ตรัสกับสตรีเหล่านั้นว่า จะมัวสนุกสนานกันอยู่ไย เมื่อโลกลุกเป็นไฟเป็นนิตย์ พวกเธอถูกความมืดมิดปิดบังอยู่ฉะนี้ ไยไม่แสวงหาแสงสว่างกันเล่า พวกนางได้สติ หายเมาหมดสิ้น และได้บรรลุโสดาปัตติผล เพราะฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์
นางวิสาขากราบทูลว่า
สุรานั้นมีพิษสงร้ายกาจเหลือเกิน สหายของข้าพระพุทธเจ้าตามปกติก็เป็นคนสงบเสงี่ยม พอสุราเข้าปากกลับทำอะไรต่างๆ ที่น่าละอายมากมาย แม้ต่อพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่เว้น
พระพุทธองค์ตรัสว่า “เป็นเช่นนั้น วิสาขา” แล้วทรงเล่าความเป็นมาของสุราให้นางวิสาขาฟัง
เรื่องราวเป็นฉันใด คราวหน้าค่อยว่าต่อครับ
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
วิสาขา ที่พึ่งแก่เหล่าเพื่อนหญิง
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๘ ประจำวันที่ ๑๙-๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๘
ประวัติของสุรา
(๑)
ประวัติของสุรา
ผมเคยเขียนไว้ที่อื่นบ้างแล้ว แต่เป็นฉบับ “แปลงสาร” คือไม่เอาตามต้นฉบับเดิมทั้งหมด ดัดแปลงเพื่อจุดประสงค์เฉพาะกิจ
คราวนี้เห็นทีจะต้องดำเนินตามต้อนฉบับเดิมเสียหน่อย
ต้นฉบับเดิมมีอยู่ในชาดก นามว่า กุมภชาดก
เนื้อความมีดังนี้ครับ
ในอดีตกาลนานมาแล้ว เมื่อสมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี (นิทานชาดกทุกเรื่องเกิดที่เมืองนี้ และพระเจ้าแผ่นดินก็พระนามนี้ เป็น “สูตรสำเร็จ” ขอรับ) มีนายพรานป่าคนหนึ่ง นามว่า สุรา คนละคนกับ สุระ แสนคำ (เขาทราย)
นายสุระไปเห็นบรรดานกทั้งหลายพากันมากินน้ำที่โพรงต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง แล้วก็เมามายตกลงมายังพื้นดิน สักพักนกเหล่านั้นก็สร่างเมา บินต่อไปได้
จึงมีความฉงนใจอยากรู้ว่า นกมันกินน้ำอะไร จึงเกิดอาการอย่างนั้น
แกปีนต้นไม้ขึ้นไปดู เห็นโพรงใหญ่มาก เต็มไปด้วยน้ำ มีกลิ่นและสีแปลกๆ จึงเอานิ้วจิ้มและดูดดู ปรากฏว่ารสมันซาบซ่านถึงหัวใจเลย คิดว่าน้ำนี้คงไม่มีพิษ เพราะถ้ามีพิษจริง พวกนกเหล่านี้ก็คงตายกันหมดแล้ว
ว่าแล้วก็ตักใส่กระติก เอ๊ย กระบอกไม้ไผ่ไปกิน เมื่อหมดแล้วก็ขึ้นไปตักมากินใหม่ ทำอยู่อย่างนี้หลายเดือน
วันหนึ่ง หลังจากดื่มน้ำพรรค์อย่างว่าเข้าไปหลายอึก เห็นบรรดานกมันเมา สลบเหมือดอยู่บนพื้นดิน ก็เกิดความคิดขึ้นว่า เอานกมาย่างกินกับน้ำนี้ก็คงดี จึงจับนกมาฆ่า ย่างได้ที่แล้วก็จับกินกับน้ำนั้น บ๊ะ รสชาติมันช่างเอร็ดอร่อยแท้
ตั้งแต่นั้น นายสุระแกก็กินน้ำนั้นกับนกย่างบ้าง ไก่ป่าย่างบ้าง สำเริงสำราญอยู่คนเดียว ธรรมเนียมกับแกล้มก็เกิดมาตั้งแต่บัดนั้นแหละขอรับ กินน้ำพรรค์นี้แล้วต้องมีกับแกล้มด้วย จึงจะอร่อยถึงที่ ว่าอย่างนั้นเถอะ
น้ำนี้ต่อมาได้ชื่อว่า “สุรา” ตามนามของผู้ค้นพบ ตั้งเป็นเกียรติแก่คนที่พบคนแรก ดุจดังสมัยนี้ ใครค้นพบอะไร หรือประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ขึ้นมา กระทั่งค้นพบเชื้อโรค หรือยารักษาโรค ที่ยังไม่มีใครรักษาหาย เขาก็จะตั้งชื่อตามชื่อของผู้ที่ค้นพบนั้น เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่คนค้นพบ
อาทิ ในเมืองไทยนี่เอง ในด้านโลหิตวิทยา มีโรคธาลัสซีเมียชนิดหนึ่งชื่อว่า “วะสี” ตั้งตามนามของนายแพทย์ประเวศ วะสี ผู้ค้นพบนั่นเอง
ต่อมานายพรานป่าสุระ ดื่มสุราคนเดียวรู้สึกไม่ค่อยมัน จึงพยายามหาเพื่อนมาร่วมวง
พอดีไปเจอฤๅษีนามว่า วรุณ นั่งบำเพ็ญญาณอยู่ที่อาศรมในป่าหิมพานต์ ก็เข้าไปสนทนาด้วย
แรกๆ ก็สนทนาธรรมดีอยู่ ไปๆ มาๆ แกก็เสนอให้ท่านฤๅษีลองดื่มน้ำสุราดูบ้าง บอกว่าเป็นน้ำวิเศษ ดื่มแล้วจะคึกคัก แก้กระษัยได้อย่างดี เคยปวดเคยเมื่อยเวลานั่งสมาธินานๆ ไม่ต้องให้สีกานวด ดื่มน้ำวิเศษนี้ก็จะหาย
หลวงพ่อแกลองดื่มดูสักแก้วหนึ่ง รู้สึกรสมันซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์ ลองแก้วที่สอง ที่สาม ที่สี่ บ๊ะ มันช่างอร่อยเหาะอะไรปานนั้น
ตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองก็ “ตั้งวง” กันร่ำสุราเป็นอาจิณ ฤๅษีวรุณก็ลืมจำศีลภาวนา กลายเป็นนักดื่มคอทองแดงไปเลย
ตั้งแต่นั้นมา น้ำสุราก็มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วารุณี” หลวงพ่อฤๅษีแกขอมีเอี่ยวด้วยในการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่นี้ ว่าอย่างนั้นเถอะ
ต่อมาทั้งสองคิดว่า การที่เทียวไปเทียวมาเพื่อนำน้ำสุรามาดื่มนั้น มันเสียเวลามาก จึงคิดผลิตขึ้นมาเองดีกว่า ทั้งสองก็ศึกษาวิธีการผลิตน้ำเมานี้ เริ่มจากดูส่วนประกอบของมันว่ามีอะไรบ้าง เช่น มีเมล็ดข้าวสาลี ผลไม้อื่นๆ ฯลฯ อะไรบ้าง สัดส่วนแค่ไหนอย่างไร ศึกษาอย่างละเอียดแล้วก็ลองผลิตขึ้นมา ลองชิมดูว่ารสชาติได้ที่หรือยัง ทดลองอยู่นานพอสมควร จนกระทั่งได้น้ำเมาที่รสชาติทัดเทียมของเดิม
ว่ากันว่า นี่เป็นโรงงานกลั่นสุราแห่งแรกในโลกเชียวครับ
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
ประวัติของสุรา (๑)
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๙ ประจำวันที่ ๒๖ มิ.ย.-๒ ก.ค.๕๘
ประวัติของสุรา
(๒)
นายสุระกับฤๅษีวรุณ เมื่อผลิตสุราได้จำนวนมาก ก็คิดหาตลาดจำหน่ายสินค้า จึงตักน้ำใส่กระบอกมากมายไปขายให้ชาวเมือง
ชาวเมืองต่างก็ซื้อไปดื่มกันกันแพร่หลาย ในไม่ช้าไม่นาน บ้านเมืองก็เต็มไปด้วยพวกคอทองแดง
เสียงเล่าลือก็ขจรขจายไปทั่วว่า มีน้ำวิเศษชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแล้วในโลก ใครไม่ได้ลองลิ้มรสจะ “เชยระเบิด”
ยิ่งเล่าลือไปไกล สองคนต้นคิดก็ยิ่งมั่งคั่งร่ำรวยเป็น “หลวงเสี่ย” และ “อาเสี่ย” เพราะสินค้าของพวกเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
เสี่ยทั้งสองจึงเดินทางไปยังอีกเมืองหนึ่งเพื่อขยายตลาดให้กว้างขวางขึ้น เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเมืองนั้น เสนอโปรเจ็กต์ผลิตสุราให้พระเจ้าแผ่นดินฟัง จนกระทั่งพระองค์ทรงเลื่อมใสมองเห็นทางมาของรายได้เข้ารัฐมากมาย
จึงรับสั่งให้ตั้งโรงงานผลิตสุราเป็นทางการเลยทีเดียว โดยแต่งตั้งให้ทั้งสองคนเป็นผู้ควบคุมการผลิต
ทั้งสองให้หาตุ่มใหญ่มา ๕๐๐ ใบ ใส่น้ำเต็มทุกตุ่ม ใส่ส่วนผสมลงไปจนครบสูตร แล้วปิดฝาอย่างมิดชิด หมักน้ำนั้นให้แปรสภาพเป็นน้ำเมา
เมื่อตุ่มหมักน้ำเมาตั้งเรียงรายมากมายเช่นนั้น ก็มีปัญหาหนูชุกชุม จึงแก้ปัญหาโดยเอาแมวมาผูกติดไว้กับตุ่มใบละสองตัวเพื่อไล่หนูไม่ให้มารบกวน
เมื่อน้ำหมักเกิดแปรสภาพกลายเป็นฟองขึ้นมา มันก็ไหลล้นออกมาจากตุ่ม แมวที่ผูกติดอยู่กับตุ่มหิวน้ำ จึงเลียน้ำนั่นเข้าไป เมามายจนสลบไสลไปทุกตัว
เมื่อข้าราชบริพารเดินผ่านมาเห็นเข้า ก็นำความไปกราบบังคมทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระเจ้าสัพพมิตต์ (ลืมบอกไปว่า พระราชาเมืองนี้พระนามว่า พระเจ้าสัพพมิตต์) ทรงเข้าพระทัยผิดว่า สองคนนี้คงวางแผนผลิตยาพิษเพื่อฆ่าพระองค์และประชาชนเป็นแน่แท้ จึงรับสั่งให้จับมาประหาร
ทั้งสองคนกราบทูลว่า น้ำนี้มิใช่ยาพิษ เป็นน้ำดื่มวิเศษ มีรสชาติอร่อยมาก ดื่มแล้วไม่เป็นพิษเป็นภัยใดๆ ทั้งสิ้น พระราชาไม่ทรงเชื่อ เพราะมีประจักษ์พยานชัดเจน คือพวกแมวที่ดื่มน้ำนั้นแล้วตายเป็นจำนวนมาก
เป็นอันว่าสองนักคิดค้นผู้ยิ่งใหญ่ ได้จบชีวิตลงด้วยประการฉะนี้แล
หลังจากประหารชีวิตสองคนแล้ว มหาอำมาตย์ก็เข้าเฝ้ากราบทูลว่า แมวที่คิดว่าตายเพราะดื่มน้ำนั้นฟื้นและหนีกันไปหมดแล้ว พระราชาจึงรับสั่งให้นำน้ำมาลองเสวยดู ก็ทรงทราบว่ามิใช่ยาพิษ จึงทรงปีติโสมนัสอย่างยิ่งที่ได้น้ำดื่มพิเศษขึ้นมา
จึงรับสั่งให้จัดพระราชพิธีเสวยน้ำสุราขึ้นอย่างใหญ่โตมโหฬาร โดยให้ประดับประดาพระนครด้วยธงชัยและธงแผ่นผ้าให้สวยงาม สร้างมณฑปที่หน้าพระลานหลวง ถึงเวลาพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินไปประทับบนพระราชบัลลังก์ ที่ยกเศวตฉัตรขึ้นไว้ในมณฑปที่ตกแต่งสวยงามนั้น แวดล้อมไปด้วยเหล่าอำมาตย์มุขมนตรีทั้งหลาย
พระราชพิธีอันมโหฬารกำลังจะเริ่มพอดี ก็มีผู้มาขัดจังหวะ พราหมณ์เฒ่าคนหนึ่ง แต่งกายขาวสะอาด ลอยอยู่บนนภากาศตรงข้ามมณฑปที่ประทับ มือประคองหม้อน้ำขนาดย่อมใบหนึ่ง กล่าวกับพระเจ้าสัพพมิตต์ว่า
“ขอเดชะฯ หม้อนี้บรรจุน้ำวิเศษยิ่งกว่าน้ำดื่มใดๆ ในโลก ขอพระองค์โปรดซื้อหม้อน้ำนี้ไปเถิด”
พระเจ้าสัพพมิตต์ทรงทอดพระเนตรเห็นอัศจรรย์เช่นนั้น คิดว่าท่านผู้นี้มิได้ยืนอยู่บนพื้นดินเหมือนคนทั่วไป คงจักเป็นผู้มีคุณวิเศษที่มีชื่อคนใดคนหนึ่งแน่ จึงตรัสถามว่า “ท่านเป็นใคร และน้ำวิเศษที่ท่านว่านี้ มีสรรพคุณอย่างไร”
“ขอเดชะฯ ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นใคร ยกไว้ก่อนเถิด แต่ว่าน้ำวิเศษนี้มีสรรพคุณมากมาย ดังข้าพระพุทธเจ้าจะบรรยายถวาย ณ บัดนี้”
ว่าแล้วพราหมณ์เฒ่าก็ได้บรรยายสรรพคุณของน้ำวิเศษนั้นให้พระเจ้าสัพพมิตต์ฟัง
มีอย่างไรบ้าง อดใจฟังวันหน้าครับ
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
ประวัติของสุรา (๒)
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๐ ประจำวันที่ ๓-๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘
อริยสาวิการ้องไห้
(๑)
เล่าเรื่องราวของนางวิสาขา มหาอุบาสิกา มาหลายตอน เห็นจะต้องจบลงในสองตอนต่อไปนี้แล้วครับ จะได้เอาเวลาไปเขียนเรื่องอื่นบ้าง
พระพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตให้คฤหัสถ์มีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีของพระภิกษุและภิกษุณีได้ ดังเรื่องราวต่อไปนี้
ภิกษุณีรูปหนึ่งออกบวชด้วยศรัทธา แต่อยู่ๆ เธอก็ท้องโตขึ้นๆ จนล่วงรู้กันทั่วไป พระเทวทัต ผู้ดูแลภิกษุกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีนางภิกษุณีรูปดังกล่าวรวมอยู่ด้วยตัดสินใจโดยไม่ฟังคำแย้งของนางว่า นางต้องปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุณีแล้ว
ภิกษุณีนางนั้นยืนยันในความบริสุทธิ์ของตน จึงอุทธรณ์ต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงรู้อยู่แล้วว่า นางภิกษุณีรูปนั้นบริสุทธิ์ แต่เพื่อให้ปรากฏชัดเจนต่อประชาชนทั่วไป จึงทรงแต่งตั้งพระอุบาลีเถระ ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย ช่วยตัดสินอธิกรณ์
พระอุบาลีเห็นว่าเรื่องนี้พระจะรู้เท่าคฤหัสถ์นั้นยาก จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากคฤหัสถ์ ผู้มีประสบการณ์ช่วยเหลือ จึงกราบทูลขอพุทธานุญาตให้เชิญคฤหัสถ์มาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งก็ได้รับประทานอนุญาต
พระอุบาลีจึงตั้งนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีมาช่วย เรื่องของผู้หญิง ผู้หญิงรู้ดีกว่า นางวิสาขาจึงมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้
นางนิมนต์นางภิกษุณีผู้ถูกกล่าวหามาสอบสวน ถามวันที่ออกบวช ถามวันที่ประจำเดือนหมด ตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ฯลฯ ครบหมดทุกด้านได้ข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปว่า “นางภิกษุณีตั้งครรภ์ก่อนบวช” จึงเสนอพระอุบาลีเถระ
พระเถระก็ได้ข้อมูลนั้นมาประกอบการพิจารณาอธิกรณ์ ในที่สุดก็ตัดสินว่าผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์ พระพุทธองค์ก็ทรงประทานอนุโมทนาว่า นางภิกษุณีรูปนั้นบริสุทธิ์
พระเทวทัตก็หน้าแตกไปตามระเบียบ
เห็นหรือยังครับ สมัยพุทธกาลก็ปรากฏว่าคฤหัสถ์อย่างนางวิสาขา อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีบทบาทในการช่วยพิจารณาอธิกรณ์ของสงฆ์
แล้วสมัยนี้ถ้าคฤหัสถ์อย่างคุณ อย่างผม จะมีส่วนในการชำระพระสงฆ์ให้บริสุทธิ์ เอาไว้กราบไหว้อย่างสนิทใจ จะไม่ได้หรือ
นางวิสาขามหาอุบาสิกา มีส่วนคล้ายท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีอยู่เรื่องหนึ่ง คือตลอดเวลาที่ปรนนิบัติดูแลพระพุทธองค์และพระสงฆ์ทั้งปวง ท่านไม่ค่อยมีเวลาได้ปฏิบัติธรรมเท่าที่ควร เพราะภารกิจในการถวายความสะดวกแก่พระสงฆ์นั้นมีมาก จนเกินเวลาของท่านทั้งสองแทบหมดสิ้น
ไหนยังจะต้องไปให้คำปรึกษาหารือแก่ประชาชนเวลาเขาทำบุญทำทาน ทำนอง “มรรคนายก” และ “มรรคนายิกา” อีกด้วย
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น ไม่กล้าทูลถามปัญหาธรรมกับพระพุทธองค์ด้วยเข้าใจว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนก็ทรงเหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว ตนจึงไม่ควรไปรบกวนให้พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายเพิ่มขึ้นอีก ให้พระองค์ทรงมีเวลาพักผ่อนมากๆ ดีกว่า
จนพระพุทธองค์ตรัสถึงท่านลับหลังว่า “สุทัตตะรักษาเราในสถานะที่ไม่ควรรักษา” ตีความง่ายๆ ว่า ท่านเศรษฐีรักพระพุทธองค์ไม่ถูกทาง หรือทะนุถนอมพระพุทธองค์ในทางที่ไม่ถูก ว่ากันให้ชัดๆ อย่างนี้ดีกว่าเนาะ
คุณวิเศษที่ทั้งสองท่านได้บรรลุก็เท่ากัน คือได้เป็นพระอริยบุคคลระดับต้น (ระดับโสดาบัน) และทั้งสองท่านก็ได้บรรลุธรรมขั้นนี้ เมื่อครั้งแรกที่ได้พบและฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ไม่ได้บรรลุธรรมขั้นสูงอีกเลย
ภูมิพระโสดาบันนี้ก็สูงกว่าปุถุชนเล็กน้อย ท่านว่าละกิเลสได้ ๓ อย่าง คือ สักกายทิฐิ (ความเห็นว่ามีตัวตน, ความยึดมั่นในตัวกูของกู ขอใช้สำนวนของท่านพุทธทาสก็แล้วกัน) ๑ วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย เช่น สงสัยในกฎแห่งกรรม สงสัยในพระคุณของพระรัตนตรัยว่าดีจริงหรือเปล่า อะไรทำนองนั้น) ๑ สีลัพพตปรามาส (แปลกันมาว่า “ลูบคลำศีลาและพรต” ฟังยังไงก็ไม่เข้าใจ ความหมายที่แท้จริง คือ ถือศีล ถือพรต ผิดจุดประสงค์ของศีลพระพรต เช่น รักษาศีลแทนที่จะเพื่อขัดเกลาจิต กลับรักษาศีลเพื่ออวดว่าตนเคร่ง) ๑
ส่วนกิเลสอื่น และกิเลสที่สำคัญ คือ โลภ โกรธ หลง ก็ยังมีอยู่เหมือนปุถุชน เพียงแต่เบาบางลงกว่าปุถุชนเท่านั้น
•
อริยสาวิการ้องไห้
(จบ)
พระโสดาบันนั้นร้องห่มร้องไห้ได้เวลาเศร้าโศก.
อนาถบิณฑิกะที่บรรลุระดับโสดาบันก็เคยสะอึกสะอื้นไปเฝ้าพระพุทธองค์ ตอนลูกสาวคนเล็กตาย เสียใจที่ลูกสาวตายก็มากอยู่แล้ว แถมก่อนตายลูกสาวยังเพ้อ ตายอย่างไม่มีสติอีก คือเพ้อ เรียกพ่อว่า “น้องชาย”
ท่านเข้าใจว่าลูกสาวของท่าน “หลงทำกาละ” (ตายอย่างไม่มีสติ) คงจะต้องไปสู่ทุคติแน่นอน
เมื่อคิดดังนี้จึงร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธองค์
พระพุทธองค์ตรัสว่า ถูกแล้วที่ลูกสาวท่านเรียกท่านว่า “น้องชาย” เพราะลูกสาวคหบดีได้บรรลุสกทาคามิลผลสูงกว่าโสดาปัตติผล เท่ากับเป็นพี่ของท่าน
ใช่ว่านางเพ้อหรือหลงทำกาละแต่อย่างใดไม่
นางวิสาขาก็เช่นกัน วันหนึ่งก็ร้องไห้ขี้มูกโป่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ดูก่อน วิสาขา ทำไมเธอร้องไห้น้ำตานองหน้าเช่นนี้”
นางกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมาริกาหลานรักของหม่อมฉัน ได้ทำกาละเสียแล้ว หม่อมฉันไม่มีโอกาสเห็นหน้าเธออีกแล้ว “ว่าแล้วก็สะอึกสะอื้น
“วิสาขา ในกรุงสาวัตถีนี้มีคนประมาณเท่าไร” พระพุทธองค์ตรัสถาม
“ประมาณ ๗ โกฏิ พระเจ้าข้า”
“ถ้าคนเหล่านั้นน่ารักเหมือนหลานสาวของเธอ เธอจะรักเขาเหมือนหลานสาวเธอหรือไม่”
“รัก พระเจ้าข้า”
“วิสาขา ในเมืองสาวัตถีนี้ คนตายวันละเท่าไร”
“มาก พระเจ้าข้า มากจนกำหนดไม่ได้”
“ถ้าเช่นนั้น เธอมิต้องเศร้าโศกทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ เธอมิต้องร้องห่มร้องไห้ทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ”
ตรัสสอนต่อไปว่า
“วิสาขา อย่าโศกเศร้าเสียใจเลย เพราะความโศกก็ดี ความกลัวก็ดี ย่อมเกิดแต่ความรัก
วิสาขาเอย ผู้ใดมีสิ่งที่รักร้อยสิ่ง ผู้นั้นก็ทุกข์ร้อย
ผู้ใดมีสิ่งที่รักเก้าสิบ ผู้นั้นก็ทุกข์เก้าสิบ
ผู้ใดมีสิ่งที่รักแปดสิบ ผู้นั้นก็ทุกข์แปดสิบ
ผู้ใดมีสิ่งที่รักหนึ่ง ผู้นั้นก็ทุกข์หนึ่ง
ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก ไม่มีความคับแค้นใจ”
นางคิดตามกระแสพระธรรมเทศนาที่ตรัสสอน ก็บรรเทาความเศร้าโศกได้ในที่สุด
จากนั้นพระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า
“โศก ปริเทวนา (ความคร่ำครวญ) และทุกข์มากมายย่อมมีในโลกนี้ เพราะอาศัยสิ่งที่รัก เมื่อไม่มีสิ่งที่รัก โศกเป็นต้นนั้นก็ไม่มี ผู้ไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ต้องการโศกเศร้า ก็ไม่ควรรักสิ่งใด”
นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นผู้มีใจบุญสุนทานเป็นอย่างยิ่ง นางมีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นนิจศีล และชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามนั้นด้วย ดังชักจูงสามีและบิดาสามีให้มานับถือพระพุทธศาสนาจนกระทั่งมิคาระเศรษฐีผู้บิดาสามี ยกย่องเธอเป็น “แม่ในทางธรรม” ตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาจึงมีชื่อเรียกขานอีกอย่างหนึ่งว่า “มิคารมาตา” (มารดาของมิคาระเศรษฐี)
นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้รับยกย่องจากพุทธองค์ใน “เอตทัคคะ” (เป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางถวายทาน
นับเป็นอุบาสิกาตัวอย่างที่ชาวพุทธทั้งหลายพึงดำเนินรอยตามเป็นอย่างยิ่ง
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
อริยสาวิการ้องไห้ (๑),(จบ)
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๑-๑๘๒๒ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ และ ๑๗-๒๓ ก.ค.๕๘
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 กรกฎาคม 2558 15:33:30 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #44 เมื่อ:
24 กรกฎาคม 2558 15:38:20 »
.
หมอชีวกโกมารภัจจ์
หมอชีวกโกมารภัจจ์
นั้น เป็นนายแพทย์ผู้มีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล
สำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์จากสำนักตักศิลา ได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าพิมพิสาร เจ้าแห่งมคธรัฐ ให้ดำรงตำแหน่งแพทย์หลวงประจำพระราชสำนัก ต่อมาเขาได้ถวายการรักษาพระโรคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยความใกล้ชิดกับพระพุทธองค์นี่เอง เขาจึงเกิดศรัทธาในพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ปรุงพระโอสถถวายทุกคราวที่ทรงพระประชวร นอกจากนี้ เขายังได้ถวายสวนมะม่วงอันเป็นสมบัติของเขาให้เป็นอารามที่ประทับประจำของพระพุทธเจ้าอีกด้วย ตลอดชีวิตเขาได้บำเพ็ญแต่คุณงามความดี ช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ ไม่เลือกยากดีมีจน จนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นที่รักของปวงชน
เรื่องราวชีวิตของเขามีกล่าวไว้ในพระวินัยปิฎก และคัมภีร์อรรถกถาเพียงกระท่อนกระแท่น ผู้เขียนจึงขอเก็บรวบรวมมาแต่งเติมเสริมต่อให้เป็นเรื่องเป็นราวเพื่อประกาศเกียรติคุณของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งตลอดชีวิตมุ่งทำแต่ประโยชน์เพื่อคนอื่นในด้านที่ตนถนัด จนแทบไม่มีเวลาสำหรับตนเอง
คนชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นคนที่น่าสรรเสริญและเจริญรอยตามเป็นอย่างยิ่ง
•
แรงอธิษฐาน
ย้อนหลังจากภัทรกัปนี้เป็นแสนกัป สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า
ปทุมุตระ
เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ประสูติที่เมืองจัมปา เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอสมะ กับพระนางอสมา
ก่อนเสด็จออกผนวช ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางอุตตรา มีพระโอรสพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า รัมมะ
ภายหลังทรงรู้สึกเบื่อหน่ายในเพศผู้ครองเรือน จึงเสด็จออกทรงผนวช บำเพ็ญพรต จนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเสด็จไปประกาศพระศาสนา โดยได้แสดงธรรมเทศนา กัณฑ์แรก ชื่อ ธนัญชุยยานสูตร ไม่นาน มีผู้เลื่อมใสมอบตนเป็นสาวกมากขึ้นตามลำดับ ในจำนวนนี้มีพระภราดาทั้งสองของพระองค์ คือ เจ้าชายสาละกับเจ้าชายอุปสาละรวมอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ตามลำดับ
สมัยนั้นชีวกโกมารภัจจ์เกิดทันเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาเห็นชายคนหนึ่งท่าทางภูมิฐาน เดินเข้าเดินออกพระอารามที่ประทับของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ อยากรู้ว่าชายคนนี้ไปวัดทำไมบ่อยๆ วันหนึ่งจึงไปดักรออยู่นอกประตูวัด พอชายคนนั้นเดินออกมาจากประตู เขาจึงกรากเข้าไปถามว่า “นี่คุณ ผมเห็นคุณเดินเข้าเดินออกวัดทุกวัน ผมอยากทราบว่าคุณไปทำไม”
สุภาพบุรุษคนนั้นมองเขาแวบหนึ่ง แล้วตอบอย่างสุภาพว่า “ผมเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ผมไปเฝ้าพระองค์ทุกวันเพื่อรับพระโอวาท และถวายการรักษาในคราวที่ทรงพระประชวร”
“แหม คุณช่างมีตำแหน่งน่าสรรเสริญจริงๆ ทำอย่างไรผมจะได้เป็นอย่างคุณบ้างนะ”
“หน้าที่อย่างนี้ ชั่วพุทธกาลหนึ่งก็มีเพียงคนเดียว ถ้าคุณอยากเป็นอย่างผม ก็ตั้งอธิษฐานไว้ชาติหน้าสิ ผมไปล่ะ จะรีบไปดูคนไข้ในเมือง”
แล้วหมอก็รีบผละไป ปล่อยให้เขายืนคิดอยู่คนเดียว “ถ้าคุณอยากเป็นอย่างผม ก็ตั้งอธิษฐานไว้ชาติหน้าสิ” คำพูดของหมอยังก้องอยู่ในใจ
ชาติหน้ามีจริงหรือ? อธิษฐานจิตมีผลถึงชาติหน้าจริงหรือ?
ฯลฯ คำถามเหล่านี้เรียงคิวเข้ามาสู่สมองของเขาเป็นทิวแถว
แต่ก็ให้คำตอบแก่ตัวเองไม่ได้
พลันนึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้ จึงไปเข้าเฝ้าพระองค์ยังพระอาราม กราบทูลถามข้อข้องใจต่างๆ พระองค์ก็ทรงประทานวิสัชนาให้เป็นที่หายสงสัยหมดสิ้น เป็นครั้งแรกที่เขามีโอกาสได้เข้าเฝ้าและสนทนาอย่างใกล้ชิดกับพระผู้เป็นศาสดาเอกในโลก ให้รู้สึกปีติดีใจเหลือพรรณนา หลังจากได้รับรสพระธรรมจากพระองค์เป็นที่ชุ่มชื่นใจแล้ว เขาได้กราบทูลอาราธนาพระองค์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของเขาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ พระองค์ทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
หลังจากถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกแล้ว เขาเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท กล่าวคำอธิษฐานต่อพระพักตร์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายภัตตาหารครั้งนี้ ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าจงเป็นแพทย์ประจำพระพุทธเจ้าในอนาคตเช่นเดียวกับนายแพทย์ผู้อุปัฏฐากพระองค์ด้วยเถิด”
“เอวัง โหตุ ขอให้สัมฤทธิ์ดังปรารถนาเถิด”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำรัสตอบ ทรงประทานอนุโมทนาเสร็จแล้วเสด็จกลับไปยังพระอาราม
ดับขันธ์จากชาตินั้นแล้ว เขาได้เวียนว่ายตายเกิดในภพต่างๆ ดีบ้าง ชั่วบ้าง ตามแรงกรรมที่ก่อสร้างไว้ กาลผ่านไปเป็นระยะเวลานานนับได้แสนกัป
ในที่สุด “แรงอธิษฐาน” ของเขาสัมฤทธิ์ผล เมื่อเขาได้มาถือกำเนิดเป็นชีวกโกมารภัจจ์โอรสบุญธรรมของเจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารเจ้าแห่งมคธรัฐ
โปรดติดตามเรื่องราวของเขาต่อไปเถิด
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
หมอชีวกโกมารภัจจ์
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๓ ประจำวันที่ ๒๔-๓๐ ก.ค.๕๘
•
กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์
ขอกล่าวถึง
เมืองไพศาลีก่อน ในครั้งพุทธกาล เมืองไพศาลีเป็นเมืองมั่งคั่ง มีประชาชนพลเมืองมากมาย อุดมสมบูรณ์ด้วยภักษาธัญญาหารนานาชนิด ในพระวินัยปิฎก ท่านพรรณนาถึงความยิ่งใหญ่แห่งเมืองนี้ว่า
“มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ”
ยิ่งกว่านั้นยังมีสิ่งที่แปลกและใหม่ที่เมืองอื่นไม่มี คือ นครโสเภณี หรือหญิงงามเมือง
ตำแหน่งนี้โบราณถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติมาก เพราะเป็นตำแหน่งที่พระราชาทรงตั้ง โดยคัดเอาสตรีที่มีเรือนร่างสะคราญตาที่สุด และชำนาญฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีอย่างดีเยี่ยม
สตรีผู้มีเกียรติได้ดำรงตำแหน่งนครโสเภณีเป็นคนแรกชื่อ อัมพปาลี นัยว่า เป็นผู้ที่มีรูปร่างผิวพรรณเฉิดฉาน น่าเสน่หายิ่งนัก ราคาค่าตัวคราวละ ๕๐ กหาปณะ (ประมาณ ๒๐๐ บาท)
เกียรติศัพท์เมืองไพศาลี มีหญิงนครโสเภณีผู้เลอโฉมสำหรับบำเรอชาย ได้ยินไปยังแว่นแคว้นแดนไกล เป็นเหตุให้พ่อค้าคฤหบดีจากเมืองต่างๆ ขนเงินขนทองมาทิ้งให้เมืองไพศาลีเป็นจำนวนมาก
คราวหนึ่ง นายพาณิชจากเมืองราชคฤห์จำนวนหนึ่งเดินทางไปค้าขายที่เมืองไพศาลี ได้ทราบเรื่องนี้เข้า จึงคิดกันว่าตำแหน่งนครโสเภณี เป็นอุบายดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศได้อย่างหนึ่ง สมควรที่จะกราบบังคมทูลพระราชาให้ทรงแต่งตั้งหญิงนครโสเภณีเหมือนอย่างเมืองไพศาลีบ้าง
กลับไปแล้ว พวกเขาได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลความดำริของตนให้พระองค์ทราบ
พระองค์ทรงเห็นชอบด้วย จึงรับสั่งให้คัดเลือกสตรีงามเพื่อดำรงตำแหน่งนี้
ในที่สุดได้สตรีวัยรุ่นนางหนึ่ง ชื่อ สาลวดี โดยได้ตั้งอัตราค่าตัวสำหรับผู้ร่วมอภิรมย์ ๑๐๐ กหปณะ
นางสาลวดีครองตำแหน่งนี้ไม่นานก็ตั้งครรภ์โดยบังเอิญ มาสำนึกได้ว่า อันธรรมดาหญิงโสเภณี เมื่อตั้งครรภ์ย่อมเป็นที่เบื่อหน่ายของชาย รายได้ที่เคยได้ประจำก็ย่อมจะหมด จะทำแห้งหรือ ก็มีมโนธรรมพอที่จะไม่ทำบาปหยาบช้าถึงขั้นฆ่าลูกในไส้ จะทำอย่างไรดีล่ะ
ในที่สุดก็คิดอุบายได้ แสร้งทำเป็นป่วย บอกงดรับแขกชั่วคราว จนคลอดลูกออกมาเป็นชาย ตกดึกสงัดยามปลอดคน นางได้สั่งให้หญิงรับใช้คนสนิท เอาทารกน้อยผู้น่าสงสาร ใส่กระด้งไปทิ้งไว้ที่กองขยะนอกเมือง
อกุศลกรรมใดที่บันดาลให้ทารกน้อยผู้ไร้เดียงสาต้องถูกนำไปทิ้งอย่างน่าอนาถเช่นนี้ ก็สุดที่จะทราบได้ แต่เดชะบุญกุศลที่ทารกน้อยผู้นี้ได้ก่อสร้างไว้ในอดีตชาติ มีมากมายมหาศาล จึงบันดาลให้เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร มีอันต้องเสด็จออกนอกเมืองแต่เช้า มุ่งพระพักตร์มายังกองขยะที่ทารกน้อยนอนอยู่
ฝูงแร้งกาที่มารุมกันอยู่ที่ขยะมูลฝอยกองนั้น เห็นคนเดินมาใกล้มากหน้าหลายตา พากันแตกฮือบินหนีไป เจ้าฟ้าอภัยทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงรับสั่งถามมหาดเล็กที่ตามเสด็จว่า “นั่นแร้งกามันรุมกินอะไรที่กองขยะนั่น ไปดูซิ”
พวกมหาดเล็กวิ่งไปดู เห็นทารกน้อยนอนแบบอยู่ที่กระด้งบนกองขยะ จึงรีบมาทูลว่า
“แร้งกามันรุมกันเพื่อจะจิกกินทารกคนหนึ่ง ไม่ทราบว่าใครเอามาทิ้งไว้พ่ะย่ะค่ะ”
“ผู้หญิงหรือผู้ชาย”
“ผู้ชาย พ่ะย่ะค่ะ”
“ยังมีชีวิตอยู่ หรือตายแล้ว”
“ยังมีชีวิตอยู่ พะยะค่ะ”
ได้ฟังคำกราบทูลของมหาดเล็ก ทรงเกิดความสงสารขึ้นจับพระทัย “ใครหนอ ช่างใจร้าย เอาลูกในไส้มาทิ้งได้” ทรงรำพึงในพระทัย พลางรีบสาวพระบาทไปยังกองขยะ ทอดพระเนตรเห็นทารกน้อยดิ้นกระแด่วๆ ยื่นมือไขว่คว้ามายังพระองค์ จึงรับสั่งให้นำเด็กน้อยเข้าวัง สั่งให้พี่เลี้ยงนางนมเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอม ทรงรับไว้เป็นโอรสบุญธรรมต่อมา
เพราะคำกราบทูลของมหาดเล็กว่า “ยังอยู่” (ชีวโก) เจ้าชายจึงทรงขนานนามทารกน้อยว่า “ชีวกโกมารภัจจ์”
หรือเรียกตามภาษาไทยว่า “บุญยัง” (หมายความว่า ผู้ยังมีชีวิตรอดมาได้ เพราะบุญที่เจ้าฟ้าอภัยทรงนำมาเลี้ยงดู)
เจ้าบุญยังมีแววว่าเป็นเด็กฉลาดมาแต่น้อย หน่วยก้านจะได้ดีต่อไปภายหน้า ไม่ว่าจะเล่นอะไรกับลูกหลวงอื่นๆ เจ้าบุญยังสามารถเอาชนะเขาได้หมด จนพวกเขาขัดใจที่เอาชนะเจ้าบุญยังไม่ได้ ด่าเอาเจ็บๆ ว่า
“เจ้าลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่นี่เก่งจริงโว้ย”
“เจ็บใจนัก เล่นสู้เจ้าเด็กข้างถนนไม่ได้” ฯลฯ
ทำเอาเจ้าหนูน้อยบุญยังสงสัยเป็นกำลัง จึงไปทูลถามเจ้าฟ้าอภัย ว่าใครเป็นพ่อแม่ของตน เจ้าฟ้าอภัยทรงอึดอัดที่ถูกถามอย่างจังเช่นนั้น จึงทรงชี้ไปที่พี่เลี้ยงนางนมทั้งหลายว่า “พวกโน้นแหละแม่เจ้า”
ครั้นเด็กน้อยย้อนถามอีกว่า “คนอื่นเขามีแม่คนเดียว ทำไมหนูมีแม่หลายคนนัก”
เจ้าชายตอบให้เธอหายสงสัยไม่ได้ ก็ได้แต่บ่ายเบี่ยงไปต่างๆ นานา ครั้นถูกรุกถามหนักเข้า จึงตัดบทว่า
“ก็ข้าเลี้ยงเอ็งมาตั้งแต่เล็กๆ ข้านี่แหละเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ของเจ้า”
“พวกเพื่อนๆ เขาว่าหนูเป็นเด็กข้างถนน เป็นความจริงเพียงไร” หนูน้อยบุญยังซัก
“เฮ้ย อย่าไปเอาใจใส่กับคำพูดเหลวไหลอย่างนั้น” เจ้าชายดุ
ยิ่งถามก็ยิ่งงง เสด็จพ่อไม่เคยให้ความกระจ่างอะไรเลย ชักจะแน่ใจแล้วว่า ตนเองไม่มีพ่อแม่ที่แท้จริง หาไม่เสด็จพ่อคงไม่บ่ายเบี่ยงเช่นนั้น และพวกเพื่อนๆ ลูกหลวงอื่นๆ คงไม่ด่าว่าเป็นเด็กข้างถนนหรอก เจ้าหนูน้อยนั่งคิด “เจ้าเด็กข้างถนน...อา มันช่างเสียวแปลบขั้วหัวใจทุกครั้งที่นึกถึงคำดูถูกเหยียดหยามเช่นนี้” น้ำตาเจ้ากรรมมันจะไหลซึมออกมาให้ได้
ฉับพลันแรงแห่งมานะก็ฉายวาบขึ้นในใจ
“สักวันหนึ่งเถอะ ไอ้ลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่คนนี้จะหาวิชาความรู้ใส่ตัว เอาชนะลูกผู้ดีเหล่านี้ให้ได้”
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
หมอชีวกโกมารภัจจ์
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๔ ประจำวันที่ ๓๑ ก.ค.- ๖ ส.ค.๕๘
•
ศึกษาวิชาแพทย์ที่กรุงตักสิลา
สมัยนั้น
สำนักตักสิลาเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นมหาวิทยาลัยแหล่งผลิตสรรพวิชาทั่วโลก
เจ้าบุญยังหรือชีวกโกมารภัจจ์ คอยสืบเสาะหาทางไปศึกษาวิชาที่เมืองนี้อยู่เสมอ
วันหนึ่งพบปะพวกพาณิชมาจากเมืองตักสิลา จึงพยายามตีสนิท ขออาศัยเดินทางไปกับพวกเขาด้วย โดยมิได้ทูลลาแม้กระทั่งเสด็จพ่อ ด้วยเกรงว่า ถ้าทรงทราบความประสงค์ของเขาคงจักไม่ทรงอนุญาตให้เขาไปเป็นแน่
เมื่อไปถึงเมืองตักสิลา เขาได้เข้าไปหาอาจารย์ทิศาปาโมกข์ มอบตัวถวายเป็นศิษย์ ขอเรียนวิชาแพทยศาสตร์
การศึกษาเล่าเรียนในสมัยนั้นมีอยู่สองประเภท คือประเภทหนึ่ง ถ้าเป็นคนยากจนไม่เสียเงินค่าเล่าเรียน ต้องอยู่รับใช้อาจารย์ ช่วยทำกิจสารพัด ตั้งแต่ตักน้ำ ผ่าฟืน หุงอาหาร บีบนวด ฯลฯ
อีกประเภทหนึ่ง ถ้ามีเงินเสียค่าเล่าเรียน ถึงแม้จะอยู่ในสำนักก็ไม่ต้องทำงานให้อาจารย์ นอกจากเรียนหนังสืออย่างเดียว
ชีวกโกมารภัจจ์ไม่มีเงินให้อาจารย์ จึงมอบตนเป็นศิษย์ประเภทแรก ช่วยทำงานทำการ รับใช้อาจารย์สารพัดอย่าง อาศัยว่าเป็นเด็กที่อ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพเชื่อฟังโอวาทอาจารย์เป็นอย่างดี และมีความตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ไม่เกียจคร้าน จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ วิชาความรู้เท่าไรอาจารย์ก็ถ่ายทอดให้จนหมด ไม่ปิดบังอำพราง
ชีวกเรียนวิชาแพทย์อยู่กับอาจารย์ ๗ ปี มีความรอบรู้ในสาขาวิชานี้เต็มตามที่อาจารย์ถ่ายทอดให้ แต่ไม่มีทีท่าว่าจะเรียนจบสักที ชักคิดถึงบ้าน คิดถึงเสด็จพ่อเต็มที วันหนึ่งจึงเข้าไปหาอาจารย์เรียนถามท่านว่า
“อาจารย์ครับ เมื่อไร่ผมจะเรียนจบเสียที”
“ทำไมหรือ” อาจารย์ถาม
“ผมคิดถึงบ้านเต็มทีแล้วครับ ผมตั้งใจเรียนตามที่อาจารย์เมตตาสั่งสอนเป็นเวลา ๗ ปีแล้ว ผมอยากทราบว่าเท่านี้ผมพอจะทำมาหากินได้หรือยัง”
“พ่อน่ะพอหรอก แต่วิชาแพทย์เป็นวิชาที่กว้างขวาง เรียนไม่รู้จบ อาจารย์ตั้งใจจะให้เธอเรียนอีก ๒” ปี แล้วจึงจะให้กลับ แต่ถ้าเธออยากกลับบ้านจริงๆ ก็ตามใจ”
อาจารย์มองหน้าศิษย์รักด้วยปรานี แล้วเอ่ยต่อไปว่า
“ก่อนอื่นอาจารย์ขอสอบความรู้เธอก่อน ถ้าเธอสอบผ่านจึงจะอนุญาตให้กลับ เธอจงไปสำรวจดูต้นไม้ต้นหญ้าทุกชนิด ทั่วทั้งสี่ทิศ ภายในรัศมี ๔๐๐ เส้น ให้ดูว่าหญ้าชนิดไหน ใบไม้เปลือกไม้ชนิดไหน ใช้เป็นยาอะไรได้บ้าง อย่างไหนใช้ทำยาไม่ได้เลย”
ชีวกเดินออกจากมหาวิทยาลัยตักสิลา ขึ้นเขาเข้าป่าไปสำรวจสมุนไพรทั่วทั้งสี่ทิศประมาณเจ็ดวัน จึงกลับมาหาอาจารย์ เมื่อถูกถาม เขาได้สาธยายต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ที่ไปสำรวจมาว่าชนิดนั้นๆ ใช้ผสมทำยาแก้โรคนั้นๆ ตามตำราที่ได้เล่าเรียนมา สุดท้ายเขาบอกแก่อาจารย์ว่า
“ต้นไม้ใบหญ้าและสมุนไพรใดๆ ในชมพูทวีปนี้ที่ใช้ทำยาไม่ได้ ไม่มี ทุกอย่างเป็นยาทั้งนั้น
อาจารย์เอื้อมมือมาลูบศีรษะเขาด้วยปรานี พร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า “เป็นอันว่า เธอเรียนจบหลักสูตรวิชาแพทย์แล้ว กลับบ้านได้”
แล้วอาจารย์ได้มอบเงินจำนวนเล็กน้อย พร้อมทั้งกล่าวอวยพรแก่ศิษย์รักด้วยอาลัย เขากราบลาอาจารย์และเพื่อนๆ ออกเดินทางจากเมืองตักสิลา มุ่งหน้ามายังเมืองราชคฤห์ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน
ตรงนี้คัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า เหตุที่อาจารย์ให้เงินและเสบียงเดินทางแก่ชีวกโกมารภัจจ์เพียงเล็กน้อย เพราะอาจารย์คิดว่าชีวกเป็นโอรสเจ้าฟ้า เจริญเติบโตในราชสกุลอันโอ่อ่า พอเรียนศิลปวิทยาจบ กลับไปก็ยังได้รับการยกย่องในฐานันดรอันสมเกียรติจากพระบิดา และพระอัยกา เมื่อเป็นเช่นนี้เขาคงจักไม่รู้จักบุญคุณของครูบาอาจารย์ และไม่รู้คุณค่าแห่งวิชาการที่ได้เรียนมา
แต่ถ้าเสบียงเดินทางของเขาหมดในระหว่างทาง เขาจักดิ้นรนใช้วิชาความรู้หาเงินหาทองและเสบียงเดินทาง อันจักทำให้เขารู้จักซาบซึ้งในบุญคุณของอาจารย์และวิชาความรู้ยิ่งขึ้น
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
หมอชีวกโกมารภัจจ์
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๕ ประจำวันที่ ๗-๑๓ ส.ค.๕๘
•
รักษาภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกต
พอมาถึงเมืองสาเกต
ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองตักสิลาและเมืองราชคฤห์ เสบียงเดินทางที่มีติดตัวมาก็หมดเกลี้ยง เจ้าบุญยังชักรู้สึกหิวขึ้นมาตงิดแล้ว จะได้ข้าวที่ไหนกิน?
กำลังคิดหนักใจอยู่พอดี ได้ยินเสียงคนพูดกันถึงเมียเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาเกต เป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี รักษาจนหมดเงินทองมากมาย ไม่มีหมอคนไหนรักษาให้หายได้ จนหมดอาลัยตายอยากในชีวิต นอนรอความตายไปวันๆ
หมอหนุ่มจึงแสดงตัวเป็นหมอที่สำเร็จมาจากเมืองตักสิลา โรคของเมียเศรษฐีเขาสามารถรักษาให้หายได้ ขอให้ช่วยพาเขาไปยังบ้านเศรษฐีเถิด
คนฟังเห็นหมอหนุ่มพูดจาเอาจริงเอาจัง จึงพาเขาไปยังบ้านเศรษฐี แจ้งว่ามีหมอคนหนึ่งรับอาสาจะรักษาโรคให้เมียเศรษฐี “หมอแก่ๆ ยังไม่มีปัญญารักษาให้หายได้ เสียเงินเสียทองไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไร่ หมอหนุ่มจะเก่งอาจมาจากไหน บอกเขาเถิด ไม่ต้องมายุ่งกับฉัน” เมียเศรษฐีกล่าวด้วยความเบื่อหน่าย
“เขาบอกว่าถ้ารักษาไม่หายไม่เอาตังค์” เสียงคนใช้รายงานหลังจากนำความไปแจ้งแก่ชายหนุ่ม และได้รับคำมั่นสัญญาจากเขา
“ถ้างั้นบอกให้เขาเข้ามา” เมียเศรษฐีตัดบท
หมอหนุ่มเข้าไปตรวจอาการไข้ประเดี๋ยวเดียวก็รู้ทางแก้
จึงสั่งให้หาเนยในมาประมาณหนึ่งถ้วยตะไล กับเครื่องยาอีกสองสามชนิดมาผสมกัน ให้เมียเศรษฐีนอนหงาย แล้วให้นัตถุ์
พอนัตถุ์ยาเข้าไป เนยใสไหลเยิ้มออกมาทางปาก นางจึงถ่มลงกระโถน แล้วตะโกนสั่งให้สาวใช้เอาสำลีมาซับเนยใสไว้ กิริยาอาการเช่นนั้นทำให้หมอหนุ่มตะลึง คิดในใจว่า “เรามาเจอแม่ยอดตังเมเข้าแล้วสิ เนยใสที่ถ่มทิ้งแล้วยังอุตส่าห์เอาสำลีซับเก็บไว้อีก อย่างนี้แกจะให้ค่ารักษาเรากี่ตังค์”
เมียเศรษฐีดูเหมือนจะเข้าใจความคิดของหมอหนุ่ม จึงพูดขึ้นว่า “หมอคิดว่าฉันขี้เหนียว แต่หมออย่าลืมว่าฉันป่วยมาตั้ง ๗ ปี เสียค่ารักษาไปแล้วเท่าไหร่ สิ่งใดที่พอจะกระเหม็ดกระแหม่ได้ ก็ไม่ควรให้เสียเปล่า เนยใสที่ซับไว้นี้ ใช้ทามือ ทาเท้า แก้เมื่อยขบหรือใช้เป็นน้ำมันตามไฟก็ได้ หมอไม่ต้องกลัวว่าฉันจะไม่ให้ค่ารักษาแก่หมอหรอก ขอให้หายจริงเถอะ เท่าไหร่เท่ากัน”
“เปล่าหรอกครับคุณนาย ผมมิได้คิดในทำนองนั้น ผมเพียงสงสัยว่าคุณนายให้ซับเนยใสไว้ทำไมเท่านั้นแหละครับ” หมอหนุ่มแก้ตัว
ปรากฏว่าพอนัตถุ์ยาที่หมอชีวกประกอบให้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น โรคปวดศีรษะของเมียเศรษฐีได้หายไปดังปลิดทิ้ง นางรู้สึกปลาบปลื้มที่หมอหนุ่มได้บันดาลชีวิตใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากทอดอาลัยตายอยากในชีวิตมานานแล้ว จึงให้รางวัลเขาถึง ๔,๐๐๐ กหาปณะ (ประมาณหนึ่งหมื่นหกพันบาท)
ฝ่ายลูกเขย ลูกสะใภ้ ลูกชาย ต่างรู้สึกดีใจที่นางหายจากโรค ให้รางวัลหมออีกคนละหลายพัน ชื่อเสียงของหมอหนุ่มได้แพร่สะพัดไปทั่งเมืองสาเกตอย่างรวดเร็ว บ้างก็มาตามตัวไปรักษาโรคของญาติพี่น้องของตน
หมอหนุ่มรวบรวมเงินทองจากการใช้วิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาจากอาจารย์ได้มากเพียงพอแก่ความต้องการ ก็อำลาครอบครัวเศรษฐีและชาวเมืองสาเกต ออกเดินทางไปยังเมืองมาตุภูมิทันที
ไปถึงเมืองราชคฤห์ เขาได้รีบไปเฝ้าเสด็จพ่อ เจ้าฟ้าอภัยตกพระทัยที่จู่ๆ “เจ้าบุญยัง” ก็โผล่พรวดเข้ามา หลังจากหายหน้าไปตั้ง ๗ ปี ครั้งแรกทรงมีพระพักตร์บึ้งตึง ที่โอรสบุญธรรมไปไหนมาไหนไม่บอกกล่าว
เขาได้กราบทูลสาเหตุที่ต้องหลบหนีออกจากพระราชวังไปศึกษาวิชาแพทย์ที่เมืองตักสิลา จนมีความชำนาญรักษาโรคได้สารพัดโรค แล้วกราบทูลขอขมาโทษที่ทำการครั้งนี้ไปโดยพลการ เสมือนมิรู้บุญคุณข้าวแดงแกงร้อนที่ทรงเมตตาอุปถัมภ์ชุบเลี้ยงมา แล้วนำเงินทองที่เหลือจากที่ใช้จ่ายทั้งหมดมาถวายแด่เสด็จพ่อ
“เงินจำนวนนี้ หม่อมฉันได้จากการรักษาภรรยาเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาเกต ขอทูลถวายเพื่อเป็นเครื่องบูชาพระเดชพระคุณที่ทรงเมตตาชุบเลี้ยงหม่อมฉัน”
ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงแน่พระทัยว่าที่ “เจ้าบุญยัง” กล่าวมาทั้งหมดน่าจะเป็นความจริง
ทรงชื่นชมในความกตัญญูรู้คุณของโอรสบุญธรรม ไม่ทรงรับเงินจำนวนนั้น หากแต่รับสั่งให้เขาเก็บไว้เป็นสมบัติของตน
ตั้งแต่นั้นมาเขากลายเป็นนายแพทย์คนโปรดประจำพระองค์เสด็จพ่ออีกตำแหน่งด้วย
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
หมอชีวกโกมารภัจจ์
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๖ ประจำวันที่ ๑๔-๒๐ ส.ค.๕๘
•
รักษาพระโรคพระเจ้าพิมพิสาร
เวลานั้น
พระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรเป็นโรค “ภคันธลาพาธ” (“ภคันธลา” ภาษาไทยแปลว่า โรคริดสีดวงทวาร แต่ฉบับภาษาฝรั่งแปลว่า fistula ได้แก่โรคที่เกิดเป็นโพรงระหว่างช่องอุจจาระกับผิวหนังที่ก้น คนละชนิดกับโรคริดสีดวงทวารและรักษายากกว่า) มีพระโลหิตไหลออกมาเปื้อนพระภูษา ทรงเป็นที่รำคาญพระทัยอยู่เสมอ
แพทย์หลวงถวายโอสถขนานใดๆ ก็มิได้หายขาด บางคราวต้องระงับพระราชกิจเป็นเวลานาน
เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสได้กราบทูลแนะให้พระราชทานพระราชวโรกาสให้หมอชีวกถวายการรักษาสักครั้ง จึงทรงรับสั่งให้หมอชีวกเข้าเฝ้าตรวจพระอาการ
หมอหนุ่มวินิจฉัยโรคอย่างถี่ถ้วนแล้ว ประกอบพระโอรถถวายให้เสวยเพียงสองสามครั้ง อาการประชวรก็หายขาดเป็นปลิดทิ้ง จึงทรงโปรดปรานหมอชีวกมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เขาดำรงตำแหน่งนายแพทย์ประจำพระราชสำนัก
รับพระราชทานเบี้ยหวัดเป็นจำนวนมาก
ผ่าตัดใหญ่สองรายซ้อน
ในเมืองพาราณสี มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งป่วยเป็นโรคเนื้องอกในลำไส้ รับประทานอาหารลงไปมีอาการจุกเสียด ได้รับทุกขเวทนามาก ผอมแห้งแรงน้อยลงทุกวัน
เศรษฐีได้ทราบข่าวว่า มีหมอผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร เมืองราชคฤห์ จึงไปกราบทูลขออนุญาตให้เขาไปรักษาบุตรชายของตน พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ตามประสงค์
หมอหนุ่มไปถึงบ้านเศรษฐีตรวจดูคนไข้ก็รู้ทันทีว่า ลำไส้เป็นเนื้องอก ต้องผ่าตัด แต่การที่จะลงมือผ่าตัดใดๆ ในสมัยที่ผู้คนยังไม่รู้จักศัลยกรรม และยังไม่ยอมรับกัน เป็นเรื่องยากลำบาก ดีไม่ดีเขาจะเข้าใจว่าฆ่าลูกเขาก็จะลำบาก
หมอชีวกจึงหันมาพูดกับพ่อของคนไข้ว่า
“ใต้เท้าอยากให้ลูกหายไหม”
“แล้วกัน ไม่อยากให้หายจะตามหมอมาทำไม ถามพิลึก” เศรษฐีเลิกคิ้วด้วยความสงสัย
“คือผมอยากจะขอคำมั่นสัญญาจากใต้เท้าก่อน โรคนี้ร้ายแรงมาก ถ้าใต้เท้าไม่ตกลงให้รักษาตามวิธีของผม ลูกชายใต้เท้าต้องตายแน่” หมอหนุ่มไซโค
“เอาเถอะ จะรักษาด้วยวิธีไหนยอมทั้งนั้น ขอชีวิตลูกฉันก็แล้วกัน” เศรษฐีให้คำมั่น
“เห็นจะต้องผ่าตัดเอาไส้ออก” หมอหนุ่มกล่าวเบาๆ
“หา หมอว่าอะไรนะ?” เศรษฐีตาค้าง
“อย่าลืมว่าใต้เท้าสัญญาไว้แล้ว ผมต้องผ่าตัดลูกชายใต้เท้า ไม่งั้นลูกชายใต้เท้าไม่รอดชีวิตแน่” หมอหนุ่มกล่าวเคร่งขรึม
พูดคำว่าตายบ่อยนัก เศรษฐีชักใจไม่ดี จึงหันหน้าไปมองเมีย แม่เด็กก็กลัวลูกชายตายไม่แพ้พ่อ จึงพยักหน้าอนุญาตให้หมอรักษาตามกรรมวิธีของหมอ เพราะไม่มีทางเลือกอย่างอื่น
หมอชีวกลงมือใช้วิชาผ่าตัดที่เรียนมาจากอาจารย์ วางยาสลบเสร็จ แล้วผ่าพุงคนไข้ล้วงลำไส้ออกมาชะล้างอย่างดี ตัดส่วนที่เสียออก เย็บลำไส้ เย็บพุงให้สนิท ทายาสมาน ชั่วเวลาไม่ถึงชั่วโมงก็เสร็จ จากนั้นมาไม่กี่วันคนไข้ก็หาย ได้รับรางวัลจากพ่อแม่ของคนไข้มากมาย
จากนั้นมา เกียรติคุณของหมอหนุ่มก็แพร่สะพัดไปทั่วเมือง ต่างก็โจษจันกันว่า
“หมอหนุ่มจากเมืองราชคฤห์ ผ่าท้องคน เอาไส้ออกมา แล้วนำกลับเข้าไปใหม่ได้ คนที่ถูกผ่าท้องกลับหายป่วยได้ น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เขาเห็นจะเป็นหมอเทวดาเป็นแน่แท้”
เกียรติคุณเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะนำความภูมิใจมาให้แก่เขาเท่านั้น แม้เจ้าฟ้าอภัยและพระเจ้าพิมพิสาร ก็ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้มีหมอวิเศษเช่นเขาประดับพระราชสำนัก
การผ่าตัดใหญ่รายที่สองกระทำที่เมืองราชคฤห์ อันเป็นเมืองมาตุภูมิของเขานั่นเอง คราวนี้เขาผ่าตัดสมองเศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์คนหนึ่ง เศรษฐีคนนี้เป็นโรคปวดศีรษะมานาน หมอไหนๆ มารักษาก็ไม่หาย จนใจที่สุด อาการทรุดหนักเหลือกำลังที่หมอจะรักษาได้ บางคนคาดว่าเขาจะต้องตายภายใน ๗ วัน บางคนก็ว่าเขาจะต้องตายภายใน ๕ วัน ครั้งสุดท้ายพวกญาติพี่น้องเศรษฐีได้มาตามหมอชีวกไปรักษา
หมอชีวกตรวจดูอาการของเศรษฐีอย่างละเอียดแล้วพูดขึ้นว่า
“โรคของใต้เท้าหนักนัก ถ้าอยากหายก็ต้องให้สัญญากันก่อนจะรักษา”
“เอาเถอะครับหมอ จะเรียกร้องเท่าไหร่ ผมยินดีจ่ายให้ทั้งนั้น ไม่ต้องเซ็นสัญญงสัญญาอะไรก็ได้ ผมไม่โกงหรอก” เศรษฐีกล่าวขึ้น
หมอหนุ่มโบกมือ ยิ้มละไม
“ใต้เท้าเข้าใจผิด ผมมิได้หมายถึงสัญญาอย่างนั้น”
“ถ้างั้นสัญญาอะไร”
“สัญญาว่า ใต้เท้าจะนอนตะแคงข้างขวา ๗ เดือน ข้างซ้าย ๗ เดือน นอนหงาย ๗ เดือน หลังจากผ่าตัด”
“ตกลง” เศรษฐียอมรับคำ เพราะอยากหาย
หมอชีวกสั่งให้จัดห้องพิเศษไว้ห้องหนึ่ง ห้ามใครเข้าไปนอกจากเมียเศรษฐีคนเดียว ผสมยาและเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการผ่าตัดเรียบร้อยดีแล้ว ให้เศรษฐีนอนบนเตียง วางยาสลบ ถลกหนังศีรษะออก ผ่ารอยประสานกะโหลกศีรษะออกพบพยาธิสองตัว เล็กตัวหนึ่ง ใหญ่ตัวหนึ่ง เอาคีมคีบออกมา แล้วปิดแนวประสานศีรษะ เย็บหนังศีรษะแล้วทายาสมานแผล
หลังจากผ่าตัด เขาได้นำพยาธิสองตัวมาแสดงให้บรรดาญาติพี่น้องเศรษฐีดู ที่เขาคาดว่าจะตายภายใน ๕ วันนั้น เพราะเขาตรวจพบพยาธิตัวใหญ่นี้ ส่วนอีกคนที่คาดว่าเศรษฐีจักตายภายใน ๗ วัน เพราะเขาตรวจพบพยาธิตัวเล็กนี้
เศรษฐีนอนตะแคงขวาบนเตียงไปได้ประมาณ ๗ วัน ก็รู้สึกปวดเมื่อยไปทั้งตัว จึงกล่าวแก่หมอชีวกว่า จะขอเปลี่ยนท่านอนได้หรือยัง จึงอนุญาตให้เปลี่ยนมานอนตะแคงซ้าย เศรษฐีทนนอนไปได้ ๗ วัน ก็ขอเปลี่ยนอีก คราวนี้หมอให้เศรษฐีนอนหงายไปได้ ๗ วัน ก็ร้องว่า ทนต่อไปไม่ไหว
“ถ้าเช่นนั้น เชิญใต้เท้าลุกได้ ใต้เท้าหายแล้ว” หมอหนุ่มกล่าวยิ้มๆ เศรษฐีรีบผุดลุกขึ้นพลางเอามือลูบศีรษะตัวเองด้วยความเคยชิน ปรากฏว่าแผลหายสนิทและความเจ็บปวดปลาสนาการไปหมดสิ้น
“เป็นอันว่าหมอรักษาผมหายภายในสามสัปดาห์เท่านั้น แล้วทำไมหมอให้ผมสัญญาว่าจะต้องนอนถึง ๒๑ เดือน?” เศรษฐีถามขึ้น
“ถ้าผมไม่บอกจำนวนเกินไว้อย่างนี้ ใต้เท้าคงนอนได้ไม่ถึงข้างละสัปดาห์นะซีครับ” หมอหนุ่มอธิบาย
เศรษฐีรู้สึกดีใจเป็นล้นพ้นที่ตนได้พ้นจากโรคอันทรมานนี้ เขาจึงตกรางวัลแก่หมอชีวกโกมารภัจจ์อย่างมหาศาล
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
หมอชีวกโกมารภัจจ์
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๗ ประจำวันที่ ๒๑-๒๗ ส.ค.๕๘
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 กันยายน 2558 14:24:04 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #45 เมื่อ:
07 กันยายน 2558 14:42:09 »
หมอชีวกโกมารภัจจ์
พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงพระประชวร
(๑)
คราวนี้
ขอเชิญท่านผู้อ่านนึกไปถึงเมืองอีกเมืองหนึ่ง อยู่ห่างจากเมืองราชคฤห์ไปทางด้านทิศตะวันออกอีกไกลมาก เมืองนี้มีชื่อว่าอุชเชนี มีพระราชาทรงพระนามว่าปัชโชตครองราชสมบัติ ปัชโชตขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นกษัตริย์ที่ดุร้ายมาก ใครทำอะไรขัดพระทัยนิดหน่อยก็จับตัดคอทันที
จนได้สมญานามว่า "จัณฑปัชโชต" แปลว่า "ปัชโชตผู้โหดร้าย"
ปัชโชตมีโรคร้ายประจำอยู่อย่างหนึ่งคือ "ปัณฑุโรค" (โรคดีซ่าน) ได้ทราบว่าที่เมืองราชคฤห์นี้มีหมอวิเศษอยู่คนหนึ่ง จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปยังพระเจ้าพิมพิสาร ขอนายแพทย์มารักษาพระโรค
พระเจ้าพิมพิสารจึงส่งหมอชีวกไปถวายการรักษา พร้อมทั้งรับสั่งให้หมอระมัดระวังตัวให้ดีด้วย เพราะทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ดุนัก
พลาดท่าพลาดทางอาจโดนตัดหัวก็ได้
หมอชีวกเดินทางไปเมืองอุชเชนี เข้าเฝ้าพระเจ้าจัณฑปัชโชต ก็แจ้งประจักษ์แก่ใจว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มีพระนิสัยหงุดหงิดดุร้ายจริงตามคำเล่าลือ
เขาลงมือตรวจพระอาการเสร็จแล้วกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินว่า ก่อนจะรักษาโรคร้ายให้หายได้ต้องขอให้ทรงสัญญาก่อน
"สัญญาอะไรวะ ข้าเอาแกมารักษาโรค มิใช้ให้มาสัญญา" ปัชโชตตวาดพระเนตรเขียวปัด
"ขอเดชะฯ พระอาการค่อนข้างน่าวิตก ข้าพระพุทธเจ้าจึงอยากจะกราบทูลพระกรุณาขอพระราชทานสัญญาว่าจะทรงเสวยพระโอสถที่ข้าพระพุทธเจ้าประกอบถวายพ่ะย่ะค่ะ" หมอหนุ่มกราบทูลพยายามทำเสียงให้เป็นปกติ
"ยาอะไรแกให้ข้ากินได้ทั้งนั้นแหละ ขออย่างเดียวอย่าให้มีเนยใส ข้ากินเนยใสไม่ได้ เข้าใจไหม"
หมอหนุ่มสะดุ้ง เพราะยาที่จะผสมให้เสวยจะต้องใส่เนยใสเสียด้วย ถ้าขาดเนยใสมาผสมเป็นกระสาย โรคอย่างนี้จะไม่หาย จึงสู้สะกดใจไว้ กราบทูลอีกว่า
"ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลพระกรุณาพระราชทานของสามสิ่ง คือ
๑.ห้องพิศษสำหรับปรุงยา
๒.ให้เปิดประตูวังไว้ตลอดคืน
๓.ขอช้างทรง หรือม้าทรงที่มีฝีเท้าเร็วที่สุดหนึ่งตัว"
"รักษาโรคสวรรค์วิมานอะไรของแกวะ ขอให้เปิดประตูวังตลอดคืน ขอช้างขอม้าฝีเท้าเร็ว ไอ้ข้อแรกก็พอมีเหตุผลอยู่หรอก แต่สองข้อหลังนี่ จะเอาไปทำไม" ปัชโชตทรงซักถามด้วยความขุ่นพระทัย
"ขอเดชะฯ หากเวลาต้องการเครื่องยาสมุนไพรที่จำเป็นบางอย่างกะทันหัน ข้าพระพุทธเจ้าจะได้ขึ้นช้างหรือม้าไปเอาพ่ะย่ะค่ะ"
"เออ ตกลง รักษามาไม่รู้กี่หมอแล้ว มีแก่นี่แหละยุ่งที่สุด" ทรงบ่นอุบอิบ
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
หมอชีวกโกมารภัจจ์
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๙ ประจำวันที่ ๔-๑๐ กันยายน ๒๕๕๘
หมอชีวกโกมารภัจจ์
•
พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงพระประชวร
(จบ)
เมื่อได้ของตามต้องการแล้ว หมอชีวกจึงเข้าห้องพิเศษ ปรุงยาตามที่เล่าเรียนมา ใส่เนยใสผสมเป็นกระสาย ก่อไฟตั้งเตา ปิดประตูหน้าต่างห้องอย่างมิดชิด ป้องกันกลิ่นเนยระเหยออกไปข้างนอก ใส่สมุนไพรดับกลิ่นเนยอย่างดี เคี่ยวยาอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ได้ยาสกัดออกมาเป็นถ้วยขนาดใหญ่ ลองดมดู ไม่มีกลิ่นเนยหลงเหลืออยู่แม้แต่นิดเดียว
เสร็จแล้วนำเข้าถวายพระเจ้าแผ่นดิน กราบทูลวิธีเสวยและอาการหลังจากเสวยว่า “หลังจากที่เสวยยาแล้ว วันแรกจะมีอาการแน่น ถ้ามีพระอาการอย่างไรขอให้ทรงอดทน พอตกถึงวันที่สองจะทรงเรอออกมา แล้วอาการของโรคจะค่อยๆ หายไป”
เสร็จแล้วหมอหนุ่มรีบเข้าไปโรงช้าง ขึ้นช้างพังชื่อภัททวดีซึ่งมีฝีเท้าเร็ว วิ่งได้วันละ ๕๐ โยชน์ออกไปจากพระนคร สั่งมหาดเล็กให้กราบทูลพระเจ้าแผ่นดินว่า จะรีบเก็บสมุนไพรมาเพิ่มเติม
ออกจากวังได้ก็รีบไสช้างวิ่งหนีไปทางเมืองราชคฤห์ ไปได้หลายสิบโยชน์เห็นว่ามาไกลพ้นเขตอันตรายแล้ว จึงหยุดช้างลงไปนั่งพักเหนื่อยใต้ต้นมะขามป้อมต้นหนึ่ง
กล่าวถึงพระเจ้าจัณฑปัชโชต พอเสวยยาเข้าไปวันแรกเกิดอาการแน่นอึดอัดตามที่หมอบอก แต่ไม่มีอาการเจ็บปวดอะไรรุนแรงนัก
พอรุ่งเช้าขึ้นวันที่สอง ทรงเรอออกมาเนยใสที่ผสมเป็นกระสายยาระเหยออกมาแตะพระนาสิก รู้สึกว่าโดนหมอหลอกให้เสวยเนยใสเข้าแล้วเท่านั้น ก็ทรงอาเจียนโอ้กอ้ากทันที ได้พระสติจึงแหวออกมา ทั้งๆ ที่เกือบจะไม่มีพละกำลังอยู่แล้ว รับสั่งให้ตามมหาดเล็กชื่อกากะมาทันที
“มึงรีบไปตามไอ้หมอชีวกมาให้กูให้ได้ ไอ้หมอเจ้าเล่ห์ กูจะตัดหัวมันให้สมกับที่มันโกหกกู” ทรงตะโกนก้องด้วยความพิโรธ
กากะ มหาดเล็กผู้ซื่อสัตย์ ซึ่งวิ่งได้เร็ววันละ ๑๐ โยชน์ รีบวิ่งออกจากพระราชวังทันที
“เฮ๊ย เดี๋ยวก่อน” ทรงรับสั่งไล่หลังมหาดเล็ก
“ไอ้หมอคนนี้มันเล่ห์เหลี่ยมมาก มึงอย่าเสือกกินอะไรที่มันให้เป็นอันขาดนะ”
กากะวิ่งบ้างเดินบ้าง ตามรอยชีวกไปจนทันที่ป่ามะขามป้อม เห็นหมอชีวกผูกช้างไว้ข้างต้นไม้ นั่งกินอาหารอยู่ จึงจู่โจมเข้าไปจับแขนจะลากกลับเมืองอุชเชนีทันที
“ตายละสิ นึกว่ามาพ้นแล้ว เจ้าบ้านี่ตามมาจนได้”
หมอชีวกคิด ฉับพลันนั้นไวเท่าความคิด เขาจึงพูดขึ้นว่า
“เดี๋ยว ขออนุญาตผมกินข้าวอิ่มก่อนได้ไหม ข้าวยังมีอยู่แยะ เชิญกินข้าวด้วยกันก่อน ค่อยกลับไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน”
“ไม่” เขาสั่นศีรษะ “พระราชารับสั่งว่าคุณมารยามาก ห้ามกินอะไรที่คุณเอาให้เด็ดขาด”
“พระราชาคงทรงกลัวว่าผมจะวางยาพิษกระมัง ก็เราไม่ได้เป็นศัตรูอะไรกัน ผมจะวางยาคุณทำไม” หมอรบเร้าให้เขาร่วมวงให้ได้
“เชิญตามสบายเถิด คำสั่งต้องเป็นคำสั่ง ไม่งั้นหัวผมขาด” กากะกล่าวยืนยันความตั้งใจเดิม
เมื่อเห็นว่ากำลังจะเข้าตาจน เพราะเจ้าหมอนั่นรักษาคำสั่งของเจ้าเหนือหัวอย่างเคร่งครัด จึงคว้าผลมะขามป้อมที่หล่นอยู่มาผลหนึ่ง กัดกินแล้วดื่มน้ำพลางหยิบมะขามป้อมที่เพิ่งหล่นจากต้นไม้ส่งให้กากะ ชวนให้กินแก้กระหายน้ำบ้าง
กากะเห็นว่ามะขามป้อมเพิ่งหล่นจากต้นหยกๆ คงไม่เป็นไรจึงรับมากัดกินบ้าง หารู้ไม่ว่าก่อนส่งให้ หมอหนุ่มได้เอาเล็บจิกผิวมะขามป้อมนิดหนึ่ง ปล่อยยาซึ่งซ่อนอยู่ที่ปลายเล็บ ซึมเข้าไปในผลมะขามป้อม
พักเดียวได้เรื่อง เจ้าหมอนั่นรู้สึกปวดท้องกะทันหัน ไม่ทันกล่าวอะไรออกมา อุจจาระก็ไหลออกมาดั่งสายน้ำพุ่งออกจากท่อ
“โอย ได้โปรดช่วยชีวิตผมด้วยเถิด คุณหมอ” มหาดเล็กผู้น่าสงสารอ้อนวอน
“ไม่เป็นไรหรอกเพื่อนยาก ถ่ายออกหมดแล้วก็จะหายเองแหละ ไม่ใช่ยาพิษอะไรหรอก” หมอหนุ่มกล่าวพร้อมกับหัวเราะร่าเริง
“ฝากนำช้างไปถวายคืนเจ้านายด้วย ลาก่อนนะ”
เวลาผ่านไปประมาณ ๓๐ นาที มหาดเล็กชื่อกากะก็ค่อยมีกำลังขึ้นบ้าง เดินโผเผไปแก้ช้างออกจากโคนต้นมะขามป้อม ขี่ช้างกลับมายังพระราชวัง เข้าไปกราบทูลแด่พระเจ้าแผ่นดินด้วยอาการตัวสั่นงันงก พระเจ้าจัณฑปัชโชตทอดพระเนตรเห็นมหาดเล็กรูปร่างอิดโรยผิดปกติ ก็ทรงรู้ทันทีว่าคงเสียทีหมอหนุ่มเสียแล้ว จึงรับสั่งด้วยอารมณ์ดีว่า
“กูบอกแล้ว อย่ากินอะไรที่มันให้ มึงก็เสียทีมันจนได้ ปล่อยมันเถอะวะ กูหายดีแล้ว ยามันวิเศษจริงๆ”
พอหายประชวรแล้ว พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงนึกถึงบุญคุณของหมอชีวก คิดจะพระราชทานรางวัลให้สมใจ จึงทรงได้เลือกผ้าเนื้อสีทองอย่างดีสองผืนที่ทอที่ประเทศสีพี เป็นผ้าเนื้อละเอียดมาก คนธรรมดาไม่มีโอกาสได้ใช้ผ้าเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น
พร้อมกับมีพระราชสาส์นไปขอบพระทัยพระเจ้าพิมพิสาร ที่ทรงประทานหมอวิเศษไปรักษาโรคให้จนหายสนิท.
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
หมอชีวกโกมารภัจจ์
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๐ ประจำวันที่ ๑๑-๑๗ กันยายน ๒๕๕๘
หมอชีวกโกมารภัจจ์
•
หมอชีวกถวายผ้าแด่พระพุทธเจ้า
(๑)
หมอชีวก
ได้ผ้าเนื้อสีทองอย่างดีสองผืน แล้วนึกถึงสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าขึ้นมาทันที เห็นว่าผ้านี้เป็นผ้าเนื้อดี หาได้ยากควรจักนำไปถวายพระพุทธเจ้า จึงนำไปยังเวฬุวนาราม ตั้งใจจะถวายแด่พระพุทธองค์
แต่สมัยนั้นภิกษุสงฆ์ถือผ้าบังสุกุลอย่างเดียว คือท่านแสวงหาเศษผ้าที่ชาวบ้านเขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าห่อศพ (คนส่วนมากคิดว่า ผ้าห่อศพสกปรก เปื้อนเลือดและหนอง ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระเอามาทำจีวร ความจริงแล้วชาวอินเดียวเขาเอาผ้าอย่างดี ยาวเป็นหูกๆ พันศพหลายๆ ชั้น นำไปทิ้งป่าช้า ผ้าเหล่านี้ชั้นนอกไม่เปื้อนอะไรเลย จึงตัดเอามาทำจีวรได้) มาเย็บทำจีวรเอง และใช้สอยเพียงสามผืนเท่านั้น พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้รับผ้าจีวรที่คฤหัสถ์ทำถวาย
หมอชีวกจึงขอพรพระพุทธเจ้า ให้ทรงรับผ้าเนื้อสีทองที่เขาน้อมถวาย และให้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้า หรือจีวรของหมอชีวก และอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์รับคฤหบดีจีวรได้ตามคำขอของหมอชีวกแต่บัดนั้นมา
ชาวบ้านได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าหรือจีวรที่ชาวบ้านถวายได้ ต่างดีใจ พากันนำจีวรมาถวายพระเป็นจำนวนมาก เนื้อดีบ้าง เนื้อหยาบบ้าง ทอด้วยวัตถุดิบต่างๆ กัน
พระสงฆ์เลยเกิดความสงสัยว่า จีวรชนิดไหนควรจักรับ ชนิดไหนไม่ควรจักรับจึงนำความเข้าทูลถามพระพุทธองค์
พระพุทธองค์ตรัสอนุญาตไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวร ๖ ชนิด คือ จีวรทำด้วยเปลือกไม้ ๑ ทำด้วยฝ้าย ๑ ทำด้วยไหม ๑ ทำด้วยขนสัตว์ ๑ ทำด้วยป่าน ๑ ทำด้วยทอง (ทั้งห้าอย่างนั้น) เจือกัน ๑
ปัญหาของหมอชีวก
หมอชีวกเป็นผู้เลื่อมใสพระพุทธศาสนามาก มีเวลาว่างจากการดูแลคนไข้เมื่อไร เป็นถือโอกาสไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที เขาจึงมักจะเทียวไปเทียวมาระหว่างตัวเมืองกับสวนมะม่วงของเขาเสมอ
สวนมะม่วงที่ว่านี้ เป็นสมบัติส่วนตัวของเขา เป็นสถานที่สงบสงัด เหมาะแก่ผู้ที่ใคร่วิเวกเป็นอย่างยิ่ง ภายหลังหมอชีวกได้มอบถวายให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้า เมื่อว่างจากภารกิจเมื่อใด เขาก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลถามข้อข้องใจในธรรมอยู่เสมอ
ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรบันทึกบทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับหมอชีวกอยู่หลายแห่ง เป็นเรื่องมีสาระน่ารู้ทั้งสิ้น จึงขอถือโอกาสถ่ายทอดให้ทราบเพียงสองแห่ง ดังต่อไปนี้
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนปฏิบัติ ได้แค่ไหน ถึงจะเรียกว่าเป็นอุบาสก”
“ผู้ที่นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ จึงจะเรียกว่าเป็นอุบาสก”
“อุบาสกชนิดไหน เรียกว่าอุบาสกมีศีล”
“อุบาสกที่งดเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มสุราเมรัย เรียกว่าอุบาสกมีศีล”
“อุบาสกชนิดไหน เรียกว่าเอาตัวรอดคนเดียว”
“อุบาสกที่มีศรัทธา มีศีล มีทัศนะ (ความเห็นถูกต้อง) ใคร่เห็นพระสงฆ์ ใคร่สดับธรรม ฟังธรรมแล้วจดจำได้ จดจำได้แล้ว พิจารณาไตร่ตรอง รู้ข้อธรรมแล้วประพฤติปฏิบัติธรรมถูกต้อง อุบาสกชนิดนี้เรียกว่า เอาตัวรอดคนเดียว”
“แล้วอย่างไหนเรียกว่า เอาตัวรอดด้วย ช่วยคนอื่นด้วย”
“คนที่ประกอบด้วยคุณธรรมดังกล่าวข้างต้น แล้วชักชวนให้คนอื่นทำตาม ชื่อว่าช่วยตัวด้วย ช่วยคนอื่นด้วย”
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
หมอชีวกโกมารภัจจ์
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๑ ประจำวันที่ ๑๘-๒๔ กันยายน ๒๕๕๘
หมอชีวกโกมารภัจจ์
•
หมอชีวกถวายผ้าแด่พระพุทธเจ้า
(จบ)
คราวหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่สวนมะม่วง เช่นเดียวกัน หมอชีวกเข้าเฝ้าแล้วกราบทูลถามปัญหา ดังนี้
“ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินคนเขาตำหนิพระองค์ว่า พระองค์ได้สอนให้คนอื่นงดฆ่าสัตว์ แต่เสวยอาหารที่เขาฆ่าถวาย เป็นความจริงเพียงไร”
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ถ้าได้เห็น ได้ยิน และสงสัยว่าเขาฆ่าเจาะจงถวาย พระองค์ไม่เสวยเนื้อนั้น แต่ถ้าไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเจาะจงถวาย พระองค์เสวยเนื้อนั้น
พระองค์ตรัสอธิบายต่อไปว่า ภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนามีจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และแผ่คุณธรรมเหล่านี้ไปยังสรรพสัตว์ทั่วโลก อยู่ด้วยจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทต่อใคร เลี้ยงชีพด้วยอาหารบิณฑบาตที่ชาวบ้านเขาถวาย เมื่อมีคนเขานิมนต์ไปฉันอาหาร ท่านก็ไป เขาถวายอาหารชนิดใด จะเลวหรือประณีต ท่านก็ฉันพอดำรงอัตภาพ ไม่ติดหรือยึดมั่นในอาหารที่ฉันนั้น
เสร็จแล้วพระองค์ย้อนถามหมอชีวกว่า
“พระภิกษุที่ปฏิบัติเช่นนี้ จะเรียกว่าเบียดเบียนคนอื่นหรือไม่”
“ไม่ พระเจ้าข้า” หมอชีวกกราบทูล
“อาหารอย่างนี้ไม่มีโทษ (คือกินได้ ไม่เรียกว่าเป็นการสนับสนุนให้เขาฆ่าสัตว์) มิใช่หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”
พระองค์ตรัสต่อไปว่า ใครก็ตาม ถ้าฆ่าสัตว์เจาะจงถวายพระตถาคตหรือพระภิกษุสงฆ์สาวก ย่อมก่อบาปกรรมทั้งแก่ตนเองและคนอื่น ด้วยสถานะ ๕ ประการ คือ
๑) สั่งให้คนอื่นนำสัตว์ตัวโน้นตัวนี้มา (เท่ากับชักนำเอาคนอื่นมาร่วมทำบาปด้วย)
๒) สัตว์ที่ถูกนำมาฆ่า ถูกลากถูลู่ถูกังมาได้รับความเจ็บปวดเป็นอันมาก
๓) ออกคำสั่งให้เขาฆ่าสัตว์นั้น (ตัวเองก็บาป คนฆ่าก็บาป)
๔) สัตว์ที่ถูกฆ่าได้รับทุกขเวทนาจนสิ้นชีพ
๕) ทำให้คนอื่นเขาหาช่องว่าพระตถาคตและพระสงฆ์สาวกด้วยเรื่องเนื้ออันไม่ควร
(จริงอยู่ ถ้าพระไม่รู้ ไม่เห็น ไม่สงสัย ว่าเขาเจาะจงฆ่าถวาย ไม่ต้องอาบัติ แต่คนภายนอกอาจหาว่าพระรู้ แต่แกล้งทำไม่รู้ หรือปากว่าตาขยิบก็ได้)
หมอชีวกได้สดับวิสัชนาจากพระพุทธองค์จนแจ่มแจ้งหายสงสัยแล้ว ในที่สุดได้กล่าวขึ้นว่า ตนเคยแต่ได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่าว่า “พระพรหม” นั้นมีจิตประกอบด้วยพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่ไม่เคยเห็น “พระพรหม” ตัวจริงสักที ที่แท้ “พระพรหม” ก็คือพระพุทธองค์นั่นเอง เพราะพระองค์ทรงมีคุณธรรมเหล่านี้ในพระทัย เป็นพยานที่เห็นได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“พรหมที่ว่านี้ ถ้าชีวกหมายถึงผู้ที่ไม่มีความพยาบาท ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ตถาคตเห็นด้วย เพราะตถาคตละกิเลสเหล่านี้ได้เด็ดขาดแล้ว”
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
หมอชีวกโกมารภัจจ์
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๒ ประจำวันที่ ๒๕ ก.ย.-๑ ต.ค.๕๘
หมอชีวกโกมารภัจจ์
เหตุการณ์ระทึกใจในสวนมะม่วง
(๑)
คราวหนึ่ง
เหตุการณ์ที่ใครๆ ไม่คาดฝันก็อุบัติขึ้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกลอบทำร้ายโดยคนใจบาป
เจ้าวายร้ายนั้นปีนขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏ กลิ้งก้อนหินลงมา หมายใจจักให้หินทับพระพุทธองค์ ขณะที่กำลังนั่งเข้าฌานสมาบัติอยู่ในถ้ำมัททกุจฉิ เชิงเขาคิชฌกูฏ แต่เดชะ พระบารมีของพระพุทธองค์ ก้อนหินก้อนนั้นกลิ้งลงมาปะทะชะง่อนผาเบื้องบนพระเศียรกระเด็นไปทางอื่น
แต่กระนั้นสะเก็ดหินก็กระเด็นไปต้องพระบาททำให้ห้อพระโลหิต ได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมาก พระสงฆ์สาวกช่วยกันหามพระพุทธองค์ออกมายังสวนมะม่วงของหมอชีวก
หมอชีวกกำลังตรวจคนไข้อยู่ในเมือง พอได้ทราบข่าวว่าพระพุทธองค์ถูกทำร้ายอาการสาหัส วิ่งแจ้นไปสวนมะม่วงทันที ได้ถวายการรักษา โดยชะล้างและพันแผลให้พระพุทธองค์ แล้วทูลลาไปดูคนไข้ในเมืองต่อ
ขอย้อนกล่าวถึงสาเหตุที่พระพุทธองค์ถูกลอบทำร้าย ตัวการผู้ก่อมหันตกรรมครั้งนี้คือ พระเทวทัต
พระเทวทัตคือใคร?
พระเทวทัต โดยเชื้อสายดั้งเดิมเป็นชายในโกลิยวงศ์ ลูกพี่ลูกน้อง (บางแห่งว่าเป็นพี่) ของพระนางยโสธราหรือพิมพา เมื่อสิทธัตถะกุมารออกผนวช สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เสด็จไปโปรดพระราชบิดา และพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์
พวกเจ้าชายในตระกูลศากยะเป็นจำนวนมากได้ออกผนวชเป็นพุทธสาวก เทวทัตกุมารได้ถือโอกาสออกผนวช ปรากฏว่าได้บำเพ็ญสมณธรรมจนได้ฌานขั้นโลกีย์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ครั้นต่อมาเกิดขัดพระทัยเรื่องลาภสักการะเป็นเหตุ
เรื่องก็มีอยู่ว่า ชาวบ้านนำภัตตาหารบ้าง ของถวายอย่างอื่นบ้าง ไปถวายพระ ต่างก็หามหาพระองค์อื่นๆ ไม่มีใครถามหาพระเทวทัตเลย จึงเกิดมานะขึ้นในใจว่า พระเหล่านั้นก็เป็นกษัตริย์ออกบวช เราก็เป็นกษัตริย์เหมือนกัน ทำไมจึงไม่เห็นความสำคัญของเรา พวกนี้มันรู้จักเทวทัตน้อยไปเสียแล้ว
คิดดังนี้จึงวางแผนเข้าไปสนิทชิดเชื้อกับพระเจ้าอชาตศัตรู สมัยยังเป็นพระราชกุมาร แสดงฤทธิ์เดชให้ดู จนเจ้าชายเกิดความเลื่อมใส มอบตนเป็นศิษย์ก้นกุฏิ ตั้งแต่นั้นมาลาภสักการะก็ไหลมาเทมาสมเจตนานึก เพราะบารมีของศิษย์ก้นกุฏิ
เมื่อคนขนาดมกุฎราชกุมารยกย่องนับถือเป็นพระอาจารย์ เทวทัตก็ชักมองเห็นลู่ทางไปสู่ความยิ่งใหญ่ กำเริบเสิบสานถึงขึ้นคิดจะกุมอำนาจการปกครองคณะสงฆ์แทนพระบรมศาสดา ทูลขอให้พระองค์ทรงมอบอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ให้ตน โดยอ้างว่าตนเองมีความปรารถนาดีต่อพระธรรมวินัย ใคร่จะจัดการให้พระศาสนาเจริญก้าวหน้า พระพุทธองค์ทรงพระชราภาพมากแล้ว ทั้งยังมีพระภารกิจอย่างอื่นที่ต้องทรงกระทำเป็นอันมาก ขอให้ประทานอำนาจการปกครองให้ตนเถิด จะได้ช่วยแบ่งเขาพระภาระ
พระพุทธเจ้าทรงมองเห็นเจตนาอันลามกของพระเทวทัต จึงไม่ประทานอำนาจการปกครองคระสงฆ์ให้ ทั้งยังทรงตักเตือนสั่งสอนด้วยถ้อยคำแรงๆ เพื่อให้สำนึก
แต่แทนที่พระเทวทัตจะสำนึก กลับผูกใจเจ็บ พระพุทธองค์หนักขึ้น หาว่าพระพุทธองค์ทำให้อับอายต่อหน้าธารกำนัล
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
หมอชีวกโกมารภัจจ์
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๓ ประจำวันที่ ๒-๘ ต.ค.๕๘
หมอชีวกโกมารภัจจ์
•
เหตุการณ์ระทึกใจในสวนมะม่วง
(จบ)
ด้วยเจตนาหยาบช้าอยากใหญ่ของพระเทวทัต ฤทธิ์โลกีย์ที่เคยมีเคยได้ก็เสื่อมหมด เมื่อแผนการขั้นแรกล้มเหลว จึงหันไปเดินวิธีใหม่ โดยยุให้อชาตศัตรูกุมารหาอุบายกำจัดพระราชบิดาเสีย แล้วตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง ส่วนตนเองก็จะฆ่าพระพุทธเจ้า ตั้งตนเป็นพระพุทธเจ้าแทน
อชาตศัตรูกุมารตกหลุมพรางพระเทวทัต เห็นผิดเป็นชอบ จับพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดาขังคุกทรมานให้อดพระกระยาหารจนสิ้นพระชนม์ ตั้งตนเป็นพระราชาสำเร็จ
ฝ่ายพระเทวทัตก็พยายามหาทางกำจัดพระพุทธองค์ให้ได้ ไปขอแรงพระเจ้าอชาตศัตรู ให้ส่งนายขมังธนูไปยิงพระศาสดา
แต่แผนการล้มเหลวอีก
“เมื่อแผนการที่วางไว้อย่างรัดกุมเช่นนี้ยังล้มเหลว คราวนี้เห็นทีจะต้องแสดงเอง” เจ้าคุณใจบาปคิด จึงค่อยๆ ด้อมๆ มองๆ หาโอกาสเหมาะ
พอดีวันหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่ถ้ำมัททกุจฉิ เชิงเขาคิชกูฏ พระเทวทัตจึงแอบปีนเขาขึ้นไปผลักก้อนหินลงมา เพื่อให้ทับพระศาสดาให้สิ้นพระชนม์
แต่บังเอิญก้อนหินลงมาปะทะชะง่อนผาเหนือพระเศียรกระเด็นห่างออกไป สะเก็ดหินกระเด็นไปกระทบพระบาท ยังผลให้ห้อพระโลหิต ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
หมอชีวกมัววุ่นวายกับการดูแลคนไข้ในเมืองจนถึงเย็น พลันนึกขึ้นมาได้ว่า ถึงเวลาแก้ผ้าพันแผลพระพุทธองค์แล้ว จึงรีบมุ่งหน้าไปยังสวนมะม่วง พอดีได้เวลาประตูเมืองปิด เขาจึงไม่สามารถออกไปเฝ้าพระพุทธองค์ได้
“ตายล่ะสิ ถึงเวลาแก้ผ้าพันแผลที่พระบาทแล้วด้วย ถ้าไม่แก้ คืนนี้ทั้งคืนพระองค์จักมีอาการร้อนใน”
เขาคิดเสียใจ ที่ได้ปฏิบัติต่อองค์พระศาสดาเอกของโลก เหมือนกับคนไข้ธรรมดาคนหนึ่ง
ขณะที่หมอชีวกคิดกลุ้มใจอยู่นั้น พระบรมศาสดาทรงทราบกระแสความคิดของเขา จึงตรัสเรียกพระอานนท์มาแก้ผ้าพันแผลออก
ตื่นเช้าขึ้นหมอชีวกได้รีบเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ทูลถามลำล่ำละลักว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคืนนี้ พระองค์ทรงมีพระอาการร้อนในหรือเปล่า”
ทรงทราบดีว่าเขาหมายถึงอะไร แต่พระพุทธองค์ตรัสยิ้มๆ ว่า “ตถาคตดับความร้อนทุกชนิดได้สนิทแล้ว ตั้งแต่วันตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ณ โคนต้นโพธิ์ ผู้ที่เดินมาจนสุดทางแห่งสังสารวัฏ หมดความโศก หลุดพ้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ แล้ว ไม่มีความร้อนหรอกชีวก ไม่ว่าร้อนนอกหรือร้อนใน”
ตรัสจบก็ทรงยื่นพระบาทข้างที่บาดเจ็บให้หมอชีวกดู พร้อมทั้งตรัสบอกเขาว่าพระองค์ได้รับสั่งให้พระอานนท์แก้ผ้าพันแผลให้ตั้งแต่เย็นวานนี้ ตรงกับเวลาที่เขานั่งคิดกลุ้มใจอยู่หน้าประตูเมืองนั่นแหละ
หมอชีวกมองดูพระบาท เห็นแผลหายสนิทดีแล้วรู้สึกปลาบปลื้มที่ได้ถวายการรักษาพระบรมศาสดาจนหายประชวร
เรื่องราวหมอชีวกโกมารภัจจ์ เท่าที่เก็บปะติดปะต่อจากพระไตรปิฎกและอรรถกถามีเท่านี้
สังเกตดูตามประวัติจะเห็นได้ว่า ตลอดชีวิตเขายุ่งแต่กับการรักษาโรคคนทั้งเมืองจนแทบหาเวลาปฏิบัติธรรมไม่ได้
อาจเป็นเพราะเหตุนี้ก็ได้ที่เขาไม่ได้ออกบวชหรือบรรลุคุณธรรมแม้เพียงขั้นของโสดาปัตติผล แต่เขาได้ใช้วิชาความรู้ที่เล่าเรียนมาบำเพ็ญประโยชน์แก่คนหมู่มาก นับว่าเป็น “อุบาสกผู้ช่วยตัวเองด้วย และช่วยผู้อื่นด้วย” ตรงตามพุทธพจน์ทุกประการ
คนเช่นนี้ถือว่า ไม่เสียชาติเกิดโดยแท้ และคนเช่นนี้ เราควรเอาเยี่ยงอย่างเป็นอย่างยิ่ง มิใช่หรือ?
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
หมอชีวกโกมารภัจจ์
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๐ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๔ ประจำวันที่ ๙-๑๕ ต.ค.๕๘
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 ตุลาคม 2558 15:11:17 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #46 เมื่อ:
23 ตุลาคม 2558 15:21:17 »
สามเณรราหุล (๑)
สมัยเรียนบาลี อาจารย์ท่านให้วิเคราะห์ศัพท์ “สามเณร” (คือกระจายคำตามรูปไวยกรณ์บาลี) ว่า สมณสฺส อปจฺจํ สามเณโร-เหล่ากอแห่งสมณะชื่อว่าสามเณร สามเณรตัวเล็กๆ อย่างผม จบประถมสี่ ภาษาไทยไม่แตก เรียนถามอาจารย์ว่า หมายความว่าอย่างไร
อาจารย์แทนที่จะตอบดีๆ ท่านกลับพูดเป็นนัยเปรียบเทียบว่า หน่อไม้ไผ่มันย่อมงอกออกมาเป็นลำไผ่
ไม่เห็นจะเกี่ยวกันเลย หน่อไผ่ก็หน่อไผ่ เณรก็เณร ผมไม่หายสงสัย แต่ก็มิได้ซักต่อ กลัวโดนดุ ต่อเมื่อเรียนมากขึ้นจึงรู้ความหมายว่า พระ (สมณะ) มาจากเณร เมื่อไม่มีเณร ก็ไม่มีพระ ดุจไม่มีหน่อไผ่ก็ไม่มีกอไผ่ ฉันใดฉันนั้น
ความจริงการบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา เริ่มแรกจริงๆ ก็บวชเป็นพระเลยโดยพระพุทธเจ้าทรงประทานการบวชให้ ดังปัญจวัคคีย์ภิกษุรุ่นแรก พระองค์ตรัสว่า “เอหิ ภิกฺขุ = จงมาเป็นภิกษุด้วยกันเถิด” เท่านั้นเธอก็กลายเป็นภิกษุในทันที
ต่อมาเมื่อผู้ขอบวช มีมากขึ้น พระพุทธเจ้าทรงประทานอำนาจการบวชแก่พระสงฆ์ การบวชมีพิธีรีตองขึ้น เช่น มีการกำหนดคุณสมบัติผู้มาขอบวช มีอุปัชฌาย์ผู้เป็นประธานในการบวช มีผู้ทำหน้าที่สอบถามคุณสมบัติ (อีกครั้ง) และสวดประกาศท่ามกลางสงฆ์ทำพิธีบวช เรียกว่า กรรมวาจาจารย์ เป็นต้น
ไม่ทราบว่าการบวชในสมัยพุทธกาลต้องผ่านการบวชเณรก่อนหรือไม่ (ไม่เห็นมีที่ไหนพูดไว้)
การบวชเณร ปรากฏครั้งแรกเมื่อครั้งราหุลกุมาร ติดตามทูลขอทรัพย์สมบัติตามคำสั่งของผู้เป็นพระมารดา พระพุทธเจ้าทรงดำริว่า การให้ “อริยทรัพย์” ดีกว่าให้ทรัพย์ธรรมดา จึงรับสั่งให้พระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมาร
พระสารีบุตรจึงกราบทูลถามวิธีปฏิบัติว่าจะให้บวชแบบไหน เพราะไม่เคยมีเด็กบวชมาก่อน
พระองค์รับสั่งว่าให้รับไตรสรณคมณ์ก็พอ พระราหุล (ความจริงคือ เณรราหุล) จึงได้รับการบวชด้วย ไตรสรณคมณ์เรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา (การอุปสมบทด้วยการถึงสรณะสาม)
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ คำว่าบรรพชา กับอุปสมบทใช้หมายถึงสิ่งเดียวกัน บวชเป็นพระจะเรียกว่า บรรพชาก็ได้ อุปสมบทก็ได้ บวชเป็นเณร (อย่างกรณีราหุลสามเณรนี้) จะเรียกว่า บรรพชาก็ได้ อุปสมบทก็ได้
ต่อมาภายหลังเท่านั้นที่แบ่งแยกว่า บวชเณรเรียกบรรพชา บวชพระเรียกอุปสมบท
สามเณรราหุลบวชมาแล้วก็อยู่ในความดูแลของอุปัชฌาย์คือ พระสารีบุตรตามหน้าที่ในพระวินัย แต่บางครั้งอุปัชฌาย์ดูแลไม่ทั่วถึง เกิดเรื่องราวขึ้น จนพระพุทธเจ้าต้องตรัสเชิงตำหนิในความบกพร่องหน้าที่ก็มี
เช่นคราวหนึ่ง พระภิกษุจำนวนมากจากต่างเมืองมาพักอยู่ที่วัด เสนาสนะไม่เพียงพอ จึงไล่สามเณรราหุลไปนอนที่อื่น สามเณรจึงออกไปข้างนอก ด้วยความเคารพในพระเถระทั้งหลาย เมื่อไม่มีที่อยู่จึงเข้าไปอาศัยที่วัจกุฎี (ส้วม) ของพระพุทธเจ้า
คิดดูแล้วกัน เด็กตัวเล็กๆ นั่งตัวลีบอยู่ในส้วมท่ามกลางความมืดและน่ากลัว มันทรมานขนาดไหน ตกดึกพระพุทธองค์เสด็จเข้าไปในวัจกุฎี พบราหุลน้อยนั่งสั่นงั่กๆ ด้วยความกลัวอยู่ในนั้น ทรงนำกลับไปยังพระคันธกุฎี รุ่งเช้าขึ้นมาตรัสถามพระสารีบุตรว่า รู้ไหมเมื่อคืนนี้ สัทธิวิหาริกของเธออยู่ที่ไหน เมื่อพระสารีบุตรกราบทูลว่า ไม่ทราบพระเจ้าข้า พระองค์จึงตรัสบอกว่า เมื่อคืนนี้ราหุลอยู่ในวัจกุฎีของตถาคต
ราหุลสามเณรมีคุณสมบัติที่น่าสรรเสริญอย่างน้อย ๓ ประการคือ
๑.เป็นผู้ว่าง่าย ไม่ถือตัวว่าเป็นโอรสพระพุทธเจ้า
ดังกรณีภิกษุจากชนบทไล่ให้ไปนอนข้างนอกที่กล่าวมานั้น ถ้าราหุลเธออ้างว่าเป็น “ลูก” ของพระพุทธเจ้าก็ย่อมทำได้ อย่างน้อยภิกษุเหล่านั้นก็อาจเกรงใจพระพุทธชิโนรสบ้าง แต่เธอไม่ได้นำเอาเรื่องนั้นมาอ้าง กลับออกไปเสียโดยดี เพราะความเป็นคนว่านอนสอนง่าย
กรณีนี้ต่างจากพระฉันนะ อดีตเป็นเพียงนายสารถีของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อมาบวช ความรู้สึกเดิมยังคงอยู่ คือยังคิดว่าตนเป็นคนใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า ใครว่ากล่าวตักเตือนมักไม่ฟัง “ท่านเป็นใครมาว่ากล่าวผม รู้ไหมผมคืออดีตสารถีผู้ใกล้ชิดพระพุทธองค์” อะไรทำนองนี้
๒. เป็นผู้ใฝ่การศึกษาอย่างยิ่ง
เล่ากันว่าความกระหายใคร่เรียนรู้ของราหุลน้อย มีมากถึงขนาดว่า ทุกเช้าราหุลน้อยจะเดินลงมาที่ลานวิหาร เอามือกอบทรายขึ้นมาเต็มมือ แล้วอธิษฐานดังๆ ว่า วันนี้ขอให้เราได้ฟังพระโอวาทและโอวาทจากพระพุทธเจ้าและจากพระอุปัชฌาย์มากมายดุจดังเมล็ดทรายในกำมือเรานี้เถิด ทำให้พระพุทธเจ้าทรงยกย่องราหุลว่าเป็นเลิศกว่าผู้อื่นใดในด้านใฝ่การศึกษา
๓. เป็นผู้มีความเคารพและกตัญญูกตเวทีต่ออุปัชฌาย์อย่างยิ่ง
โบราณว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” น่าจะใช้ได้กับพุทธชิโนรสนี้เป็นอย่างดี ที่ราหุลท่านเป็นเช่นนี้คงเพราะดำเนินตามรอยพระอุปัชฌาย์นั่นเอง
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรราหุล
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๕ ประจำวันที่ ๑๖-๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๘
สามเณรราหุล(จบ)
พระสารีบุตรเป็นนักศึกษาวิชาปรัชญาในสำนักสัญชัย เวลัฏฐบุตร เจ้าของทฤษฎีที่ภาษาพระไตรปิฏกเรียกว่า “อมราวิกเขปิกา” (มีทรรศนะไม่ตายตัว ลื่นไหลไปมาดุจปลาไหล) ซึ่งฝรั่งเรียกว่าเป็นพวก skeptic นั่นเอง
ท่านได้มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เพราะพระอัสสชิเถระแนะนำ ท่านจึงมีความเคารพต่ออาจารย์ของท่านมาก
เวลานอนเมื่อรู้ว่าอาจารย์ของท่านอยู่ทิศใดก็จะหันศีรษะไปทางทิศนั้น เดี๋ยวก็นอนหันศีรษะไปทางทิศเหนือบ้าง ทิศตะวันออกบ้าง ทิศใต้บ้าง ฯลฯ จนภิกษุช่างสังเกตทั้งหลายเอามานินทาว่า บวชจนเป็นพระอัครสาวกแล้ว ท่านสารีบุตรยังไหว้ทิศตามแบบพราหมณ์อยู่
พระพุทธเจ้าตรัสให้ภิกษุช่างสงสัยเหล่านั้นเข้าใจว่า พระสารีบุตรท่านไหว้อาจารย์ของท่าน มิใช่ไหว้ทิศดังที่เข้าใจ
ราหุลมีสมญานามที่เพื่อนพรหมจรรย์ด้วยกันเรียกอีกนามหนึ่งคือ “ราหุลภัททะ” แปลว่าราหุลผู้ดีงาม หรือราหุลผู้โชคดี พระราหุลท่านยอมรับว่าคำพูดนี้เป็นความจริงเพราะท่านนับว่ามีโชคดีถึงสองชั้น
โชคชั้นที่หนึ่งคือได้เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ โชคชั้นที่สอง ได้เป็นโอรสในทางธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เปิดดูพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระโอรสของท่าน พบว่ามีถึง ๗ สูตร เนื้อหาที่ทางแสดงมีแตกต่างกันออกไป ดังนี้
๑.จูฬราหุโลวาสูตร (ฉบับโรมันเรียกว่า อัมพลัฏฐิการาหุโลวาทสูตร) ข้อความบ่งบอกว่า ทรงแสดงเมื่อราหุลอายุได้ ๗ ขวบ เนื้อหาพระสูตรกล่าวถึงโทษของการพูดเท็จทั้งที่รู้ วิธีการแสดง ทรงใช้อุปกรณ์การสอน หรือ “สื่อ” คือขันน้ำ ทรงแสดงเป็นขั้นเป็นตอน เนื้อหาน่าสนใจยิ่ง
-ทรงเทน้ำแล้วเหลือไว้หน่อยหนึ่ง
-ทรงเทน้ำจนหมดขัน
-ทรงคว่ำขันลง
-ทรงหงายขันเปล่าขึ้น
ทรงเน้นว่า คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ค่อยๆ เทคุณความดีออกทีละน้อยๆ จนไม่มีเหลือในตัวเองเลยดุจขันเปล่านั้น
ทรงสอนเด็กนี่ครับ ต้องใช้สื่อการสอนและสอนเป็นขั้นเป็นตอนจึงจะแจ้งจางปาง
๒.มหาราหุโลวาทสูตร ทรงแสดงเมื่อราหุลอายุ ๑๘ ปี เป็นสามเณรหนุ่มแล้ว เนื้อหาว่าด้วยธาตุ ๖ ตบท้ายด้วยอานาปานสติ (คำนี้พจนานุกรมให้เขียนอานาปานัสสติ)
๓.อีก ๔ สูตรมีชื่อว่าราหุลสูตรเหมือนกันหมด มีเนื้อหาแยกได้ ๒ ประเด็นคือ (๑)สอนให้มองธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และ (๒) สอนให้คบกัลยาณมิตร อยู่ที่สงัด รู้ประมาณในโภชนะ ไม่โลภในปัจจัยสี่ สำรวมอินทรีย์ มีสติในการเจริญอสุภภาวนา และให้ละมานะ
๔. จูฬราหุโลวาทสูตรที่ ๒ ไม่บอกว่าทรงแสดงเมื่อราหุลอายุเท่าใด เนื้อหาพูดถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของขันธ์ ๕
ท้ายพระสูตรบันทึกไว้ว่า หลังจากฟังเทศน์กัณฑ์นี้จบ ราหุลก็บรรลุพระอรหัตผล ท่านผู้ใฝ่การศึกษาก็สำเร็จการศึกษาเป็น “อเสขบุคคล” ผู้ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไปแล้วด้วยประการฉะนี้
สามเณรราหุลนับเป็นบิดาของสามเณรทั้งหลายในปัจจุบัน สมัยพระเจ้าอโศกทรงประยุกต์หลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ปกครองประเทศ ประกาศนโยบายปกครองอันเรียกว่า ธรรมวิชัย (หรือธรรมราชา) ที่กษัตริย์ในยุคต่อๆ มาถือเป็นแบบอย่างนั้น พระองค์ถึงกับทรงคัดเลือกพระสูตร และเนื้อหาธรรมะด้วยพระองค์เอง แล้วทรงแนะนำว่า สูตรไหนพระเถระและพระเถรีทั้งหลายควรอ่านควรศึกษา
ทรงสร้างสถูปอุทิศให้สามเณรราหุลไว้สำหรับให้สามเณรทั้งหลายได้กราบไหว้ด้วย
ข้อความนี้อ่านพบในพจนานุกรมวิสามานยนามของ ดร.มาลาลา เสเกรา ท่านเสเกราอ้างข้อเขียนของ แซมมวล บีล อีกทีหนึ่ง เมื่อผมไม่ได้อ่านมาเองก็จำต้องอ้างคนที่เขาว่าเขาได้อ่านมาอย่างนี้แหละขอรับ
ปัจจุบันนี้ในเมืองไทยมีวันสามเณร โดยที่สามเณรแต่ละวัดกำหนดกันขึ้นเองแล้วก็มีกิจกรรมจัดโดยบรรดาสามเณรล้วน เช่น จัดให้มีปาฐกถา อภิปรายโต้วาทีธรรมะ ฯลฯ เพื่อรำลึกถึง “บิดา” แห่งสามเณรรูปนั้น และเพื่อเสริมกำลังแก่ “เหล่ากอแห่งสมณะ” ทั้งหลายซึ่งเหลืออยู่น้อยเต็มทีในปัจจุบันนี้ นับเป็นกิจกรรมที่น่าส่งเสริมและสนับสนุน
ขอเสนอความคิดเห็นนิดเดียวในฐานะเป็นอดีตเณรน้อย วันสามเณรน่าจะกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งตายตัว แล้วจัดกิจกรรมร่วมกันทั้งประเทศ น่าจะดีนะครับ
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรราหุล
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๖ ประจำวันที่ ๒๓-๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๘
สามเณรสังกิจ (๑)
ในครั้งพุทธกาล
ไม่ทราบว่ามีสามเณรมากน้อยเพียงใด แต่คัมภีร์ระดับอรรถกถา เช่น ธัมมปทัฏกถา (อรรถกถาธรรมบท) เล่าเรื่องสามเณรเก่งๆ ไว้หลายรูป ทำนองจะให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เกิดเมื่อครั้งพุทธกาล แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ หลายท่านสันนิษฐานว่า นิทานธรรมบทแต่งขึ้นที่ศรีลังกานี้เอง แต่โยงกลับไปไกลถึงสมัยพุทธกาล ว่ากันอย่างนั้น เรื่องนี้ผมมิบังอาจวินิจฉัย ฝากท่านผู้รู้พิจารณาเอาก็แล้วกัน
พระสารีบุตรดูจะถูกเกณฑ์ให้เป็นอุปัชฌาย์สามเณรอยู่องค์เดียว ไม่ว่าจะเล่าเรื่องสามเณรใด ก็ล้วนแต่บอกว่าเป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรทั้งนั้น
ดังสามเณรสังกิจ (ที่จะเล่าต่อไปนี้) เป็นตัวอย่าง
สามเณรสังกิจ เป็นบุตรลูกสาวเศรษฐี มารดาสิ้นชีวิตลงขณะท้องแก่ ญาติพี่น้องนำไปเผาที่ป่าช้า มอบภาระให้สัปเหร่อจัดการ ตกดึกสัปเหร่อเอาขอแทงศพและพลิกไปมาเพื่อให้ไฟไหม้ทั่วถึง หารู้ไม่ว่าในท้องศพนั้น เด็กน้อยยังมีชีวิตอยู่
รุ่งเช้ามาสัปเหร่อไปดูว่าศพไหม้เรียบร้อยหรือยัง ก็ปรากฏว่ามีเด็กน้อยคนหนึ่งนอนอยู่บนกองฟอน สัปเหร่ออัศจรรย์ใจที่เด็กในท้องศพไม่ตายและไม่ถูกเผาไปด้วย จึงอุ้มเด็กไปบ้าน พินิจดูอย่างละเอียดแล้ว มีเพียงหาตาเท่านั้นที่เป็นแผลและถูกขอเกี่ยว
แกจึงเลี้ยงดูเด็กน้อยเป็นลูก ตั้งชื่อว่า
สังกิจ
(แปลว่าเด็กชาย “เกี่ยว” เพราะหางตาถูกขอเกี่ยวเป็นแผลเป็น)
หมอดูหมอเดาทายว่า เด็กคนนี้ถ้าอยู่ครองเรือน จะทำให้ครอบครัวพ่อแม่ (เลี้ยง) เจริญก้าวหน้า ถ้าบวชก็จะเป็นใหญ่ในพระศาสนา มีบริวารจำนวนมาก
เมื่ออายุ ๗ ขวบ เด็กน้อยรู้ประวัติความเป็นมาของตน แล้วก็เกิดความสลดใจ คิดอยากบวช จึงขออนุญาตพ่อเลี้ยงและแม่เลี้ยงบวชเป็นศิษย์พระสารีบุตรซึ่งคุ้นเคยอยู่กับครอบครัวนี้
ว่ากันว่า เด็กน้อยคนนี้มีบุญญาธิการอันสั่งสมมาแล้วแต่ชาติปางก่อน ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่จะได้บรรลุถึง “ที่สุดแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล” พูดจาภาษาชาวบ้านก็คือจะได้เป็นพระอรหันต์
ผู้ที่เกิดมาในชาติสุดท้ายและจะได้เป็นพระอรหันต์นี้ ศัพท์เทคนิคท่านเรียกว่า “
ปัจฉิมภวิกสัตว์
” ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหัตผล ชัวร์ป้าดเลยว่าไม่ตายก่อนบรรลุแน่นอน ต่อให้เอาเขาพระสุเมรุทับก็ไม่ตาย ว่ากันถึงขนาดนั้นนะครับ เพราะเหตุนี้เอง ขณะที่เขาเผาศพมารดา เด็กน้อยจึงมิได้เป็นอันตรายแม้แต่น้อย เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เรื่องผลของบุญของบาปนี้มันลึกซึ้งมหัศจรรย์ เกินวิสัยปุถุชนจะนึกถึงหรือเข้าใจครับ
พระพุทธองค์ตรัสว่า ในโลกนี้มีเรื่อง ๔ เรื่องที่ปุถุชนไม่ควรคิด เรื่องกรรมและผลของกรรมเป็น ๑ ใน ๔ เรื่องนี้ ถึงคิดจนหัวแตกก็ไม่มีทางเข้าใจ คิดมากอาจเป็นบ้าก็ได้ (อุมฺมาทสฺส ภาคี อสฺส) ต้องผู้ที่บรรลุอภิญญาระดับปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ญาณระลึกชาติหนหลังได้) นั่นแหละจึงจะรู้จะเห็น
เด็กชายเกี่ยวรับกรรมฐานจากอุปัชฌาย์แล้ว บรรลุอรหัตผลทันทีที่คมมีดโกนจรดศีรษะ หมายความว่าพอมีดโกนจ่อจะโกนผมเท่านั้น เธอก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที รวดเร็วยิ่งกว่ากามนิตหนุ่มเสียอีก
นี้ก็เพราะผลแห่งบุญกุศลที่ได้สั่งสมมาครับ
•
สามเณรสังกิจ (จบ)
ในระหว่างนั้น มีพระภิกษุจำนวน ๓๐ รูป มาทูลลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญธรรมในป่า พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่าจะเกิดอันตรายแก่พวกเธอ และสามเณรสังกิจซึ่งบรรลุอรหัตผลทันทีที่คมมีดโกนจรดศีรษะนั้นจะช่วยได้ จึงรับสั่งให้พวกเธอไปลาพระสารีบุตรก่อน
พระเหล่านั้นไปลาพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ทราบเช่นกันว่า พระพุทธองค์ทรงมีพุทธประสงค์อย่างไร จึงบอกให้พระเหล่านั้นพาสามเณรสังกิจไปด้วย
พระสารีบุตรกล่าวว่า “พาสามเณรไปเถิด เมื่อคราวมีอันตรายสามเณรจะช่วยพวกท่านได้”
พวกเธอจึงพาสามเณรไปด้วยทั้งๆ ที่ยังงงๆ อยู่ว่าสามเณรตัวเล็กแค่นี้จะช่วยอะไรพวกเธอได้
พระเหล่านั้นไปพำนักอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีญาติโยมดูแลเรื่องอาหารบิณฑบาตอย่างดี กระทาชายเข็ญใจคนหนึ่งผ่านมา ได้กินอาหารของเหลือจากพระฉัน เห็นว่าวัดแห่งนี้มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ จึงขออาศัยอยู่เป็นเด็กวัดคอยรับใช้พระ พระคุณเจ้าก็ไม่ขัดข้อง
อยู่ได้สองเดือนก็คิดถึงลูกสาว จึงลาพระคุณเจ้าไปเยี่ยมลูกสาว บังเอิญต้องเดินผ่านดงแห่งหนึ่งซึ่งมีโจรชุกชุม
พวกโจรได้บวงสรวงเทพเจ้าไว้ว่า ไม่ว่าใครเดินผ่านมาทางนี้ พวกเขาจะจับฆ่าบูชายัญ
พอกระทาชายนายนี้ผ่านมา ก็ถูกพวกโจรจับเตรียมเข้าสู่พิธีบูชายัญ นายนี้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็กลัวตาย จึงต่อรองว่า ตัวเขาเป็นคนยากจน กินอาหารไม่ดี เนื้อและเลือดในกายของเขาคงไม่อร่อยเป็นที่ถูกใจเทพเจ้าแน่นอน
ห่างจากนี้ไปพอสมควร มีพระอยู่ ๓๐ รูป ล้วนเกิดจากสกุลสูง ฉันอาหารประณีต อ้วนท้วนสมบูรณ์ เนื้อและเลือดของภิกษุเหล่านั้นคงอร่อยหวานมันถูกใจเทพเจ้าแน่นอน
“ไอ้เบื๊อกนี่พูดเข้าที” หัวหน้าโจรบอกลูกน้อง จึงให้แกพาไปยังวัดดังกล่าว ไปถึงเขาก็ตีระฆังให้สัญญาณ พระภิกษุทั้งหลายที่กระจายนั่งสมาธิอยู่ตามที่ต่างๆ ได้ยินเสียงระฆังนึกว่าเกิดอันตรายขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่ง จึงพากันมานั่งประชุมกัน เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ต่างก็เสนอตัวไปกับพวกโจร
สามเณรเกี่ยวบอกว่า ตนเท่านั้นต้องรับภาระนี้ เมื่อพระสงฆ์ไม่ยอม จึงบอกให้พวกท่านย้อนรำลึกถึงความหลัง
“หลวงพี่ทั้งหลายจำได้ไหม วันที่เรามานั้น อุปัชฌาย์ของผมพูดกับท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านบอกว่า สังกิจจะช่วยพวกท่านได้เมื่อมีอันตรายใช่ไหม”
พระคุณเจ้าทั้งหลายจึงจนด้วยเหตุผล และยอมให้สามเณรไปกับพวกโจร สามเณรเธอก็มิได้มีความสะทกสะท้านแต่ประการใด พวกโจรนำสามเณรไปขังไว้รอเวลาทำพิธี ทำให้สามเณรมีเวลาเข้าสมาธิอย่างแน่วแน่ เมื่อได้เวลา หัวหน้าโจรก็ชักดาบฟันคอสามเณร หมายเอาเลือดบวงสรวงเทพเจ้าตามที่บนบานไว้
ดาบที่ฟันลงเกิดบิดงออย่างน่าอัศจรรย์ เขาดัดดาบให้ตรงแล้วแทงหมายให้ทะลุหัวใจเลย ปรากฏว่าดาบงอจนถึงโคนดุจใบตาลก็ไม่ปาน พวกโจรเห็นปาฏิหาริย์เช่นนั้นก็ “ถอดใจ” ทิ้งดาบก้มกราบขอขมาสามเณร
หัวหน้าโจรมองตาบริวารถามว่า “ต่อไปนี้จะเอายังไงดี”
“แล้วแต่เจ้านาย เจ้านายเอายังไง พรรคพวกเอาอย่างนั้น” ลูกน้องตอบ
“กูตัดสินใจบวชอยู่กับท่านสามเณร” หัวหน้าโจรบอก
“พวกผมก็ขอบวชเหมือนกัน” ลูกน้องตอบพร้อมกัน
เป็นอันว่า สามเณรเกี่ยวได้เป็นอุปัชฌาย์บวชเณรให้โจรเหล่านั้น อ่านมาถึงตรงนี้ก็ให้สงสัยความครันว่า เณรเป็นอุปัชฌาย์บวชเณรได้ด้วยหรือ คิดอีกที การบวชเณรสำเร็จด้วยการเปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์ (พระรัตนตรัย) ไม่ว่าผู้ทำพิธีให้จะเป็นพระหรือเณรก็คงจะได้
ถึงตอนนี้ สามเณรเกี่ยวเธอมีศิษย์ถึง ๕๐๐ รูป (จำนวนจริงอาจไม่ถึง คำว่า “๕๐๐” คงเป็นสำนวนภาษา แปลว่า “จำนวนมาก” เท่านั้น) จึงพาพวกเธอไปเยี่ยมพระภิกษุ ๓๐ รูป เพื่อให้พวกท่านเบาใจว่า ตนไม่เป็นอันตรายแต่ประการใด อำลาพระคุณเจ้าทั้งหลายพาพวกศิษย์โค่งไปหาพระสารีบุตรผู้เป็นอุปัชฌาย์ แล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ตรัสปฏิสันถารกับสังกิจสามเณรและสามเณรอดีตโจรเหล่านั้นว่า การกลับใจมาถือศีลแค่เพียงวันเดียว ก็ประเสริฐกว่ามีชีวิตอยู่อย่างคนทุศีลตั้งร้อยปี
พระพุทธวจนะมีดังนี้ครับ
โย จ วสฺสสตํ ชีเว ทุสฺสีโล อสมาหิโต
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย สีลวนฺตสฺส ฌายิโน
คนทุศีล ไม่มีสมาธิ ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็สู้คนมีศีล มีฌาน ที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวไม่ได้
ข้อที่สังเกตคือ ไม่ว่าประวัติสามเณรรูปใด มักจะบวชเมื่ออายุ ๗ ขวบทุกราย เริ่มมาตั้งแต่สามเณรราหุลแล้ว จนกระทั่งกลายเป็นธรรมเนียมว่า อายุ ๗ ขวบบวชเณรได้ ความจริงถ้ารับแค่ไตรสรณคมน์ สมาทานศีล ๑๐ จะอายุมากกว่า ๒๐ ปี ก็ยังเป็นสามเณรอยู่นั่นเอง เพียงแต่ไม่นิยมทำกันเท่านั้น
ในอรรถกถาบอกว่า เด็กอายุต่ำว่า ๗ ขวบ ก็บวชได้ ขอเพียงแต่ให้รู้เดียงสา และ “สามารถไล่กาที่จะมาแย่งข้าวจากจานข้าวข้างหน้าได้” ก็สามารถบวชเณรได้ ว่าอย่างนั้น
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรสังกิจ
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๖-๑๘๓๗ ประจำวันที่ ๒๓-๒๙ ต.ค. และ ๓๐ ต.ค.-๕ พ.ย.๒๕๕๘
สามเณรสานุ (๑)
สามเณรรูปที่จะเขียนถึงนี้เป็นสามเณรหนุ่มนามว่า
สานุ
เรื่องราวของเธอบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ ข้อ ๘๑๔-๘๑๘ และเรื่องราวละเอียดมีอยู่ในธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๘
หนุ่มน้อยสานุบวชเณรอยู่ในพระเชตวัน ไม่บอกว่าใครเป็นพระอุปัชฌาย์ บอกแต่ว่าเมื่อบวชแล้วก็ปรนนิบัติอุปัชฌาย์อย่างดี พร้อมทั้งมีมนุษย์สัมพันธ์เป็นเลิศ รู้จักต้อนรับอาคันตุกะด้วยอัธยาศัยไมตรี สานุสามเณรมีเสียงดี สวดพระธรรมด้วยทำนองสรภัญญะได้ไพเราะ ภิกษุทั้งหลายมักจะเชื้อเชิญให้เณรสวดบทธรรมให้ฟังเสมอ
เณรสานุคงรักแม่มาก ทุกครั้งที่สวดธรรมจะกล่าวว่า ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลจากการสวดธรรมนี้แก่มารดาข้าพเจ้า
ว่ากันว่าเวลามีคนอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ ถ้าผู้ที่เขาอุทิศให้ไม่รู้ตัวและไม่อนุโมทนา เขาก็ไม่ได้รับส่วนบุญนั้น ว่ากันอย่างนั้น มารดาสามเณรจึงไม่ได้อนุโมทนาบุญเพราะไม่รู้
แต่นางยักษิณีตนหนึ่ง อ้างว่าเคยเป็นมารดาของเณรในชาติก่อนรู้ว่าเณรอุทิศส่วนบุญให้ก็เปล่งวาจาอนุโมทนา พวกยักษิณีรวมทั้งเทวดา (คงเทพซีไม่สูงนัก) ต่างก็เกรงใจนางยักษิณีตนนั้น เวลาเธอไปไหนพวกยักษ์ ยักษิณีและเทวดาทั้งหลายต้องหลีกทางให้เพราะเธอเป็นแม่ “คนสำคัญ”
ความสำคัญของสามเณรอยู่ที่การมีศีลาจารวัตรอันงดงาม ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ไม่ขาดตกบกพร่อง เมื่อเป็นหนุ่มเต็มที่ก็คิดอยากสึกไปครองเพศคฤหัสถ์ จึงถือบาตรและจีวรเดินออกจากวัดรูปเดียวมุ่งหน้าไปยังเรือนของมารดา มารดาก็แปลกใจที่เห็นบุตรมารูปเดียว เพราะตามปกติจะมาพร้อมกับอุปัชฌาย์บ้าง ภิกษุหนุ่มและเณรน้อยอื่นๆ บ้าง จึงเอ่ยปากถาม
“อาตมาจะลาสึก โยม” เณรหนุ่มบอกมารดา
“สึกทำไมล่ะ ลูกบวชก็ดีอยู่แล้ว แม่ก็สบายใจที่เห็นลูกเจริญในพระศาสนา” แม่ตกใจไม่นึกว่าจะได้ยินคำพูดนี้จากปากลูกชาย
แม่อ้อนวอนให้ลูกชายบวชอยู่ต่ออย่างไร ลูกชายก็ไม่ฟัง คงตัดสินใจแน่วแน่แล้ว อย่างว่าล่ะครับ “ฝนจะตก ขี้จะแตก ลูกจะออก พระจะสึก ห้ามไม่ได้หรอก” โบราณว่าอย่างนั้น
จริงๆ แล้ว ได้เหมือนกัน หากผู้ห้ามคืออุปัชฌาย์อาจารย์ต้องเก่งในการโน้มน้าวจูงใจให้ศิษย์อยากอยู่ต่อ บางทีมิใช่พระเล็กเณรน้อยที่ “กระสัน” (ศัพท์ศาสนาแปลว่าอยากสึก) พระเถระผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ในเมืองไทยนี้เอง พระเถระเปรียญสูงสุดรูปหนึ่ง ส่งใบลาไปยังกรมการศาสนา ส่งแล้วไปนอนมือก่ายหน้าผากคิดที่วัด รุ่งเช้ารีบมาขอคืน ทำอย่างนี้ตั้ง ๓ ครั้ง รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ จนกระทั่งได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชื่ออะไรไม่ต้องรู้ดอกครับ ไม่ใช่เรื่องลับ แต่เป็นเรื่อง “ปกปิด” เหมือนที่นักการเมืองชอบอ้าง ฮิฮิ
เมื่อลูกชายยืนยันว่าสึกแน่ มารดาก็บอกว่า ไม่เป็นไร ลูกฉันข้าวยาคูเสร็จแล้วค่อยว่ากัน จึงรีบเข้าครัวตักข้าวสารใส่หม้อล้างน้ำ ในขณะที่เณรหนุ่มนั่งรออยู่ที่ระเบียง
นางยักษิณีแม่ในอดีตของเณรพอรู้ว่าลูกชายจะมาสึก จึงรีบมาเข้าสิงร่างของเณร โดยบิดคอเณรจนตาถลน น้ำลายไหลฟูมปาก ดิ้นตูมๆ แม่เณรและชาวบ้านร้องเอะอะโวยวาย พากันมาห้อมล้อม จุดธูปเทียนเซ่นสรวงผีสางไปตามเรื่อง
มารดาเณรร้องไห้คร่ำครวญว่า
“ผู้ที่รักษาศีลในวันพระ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ รักษาศีล ๘ ศีลอุโบสถ ประพฤติพรหมจรรย์ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่ตอแยกับคนเหล่านี้ ฉันได้ยินอรหันต์ทั้งหลายพูดอย่างนี้ ไม่จริงเสียแล้ว ผีเข้าสิงสานุสามเณรบุตรของฉัน ต่อหน้าต่อตาฉัน”
นางยักษิณีพูดผ่านสามเณรว่า “ที่ท่านได้ยินนั้นถูกต้องแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายกล่าวไว้ไม่ผิดดอก แต่สามเณรบุตรอุบาสิกาไม่คิดประพฤติพรหมจรรย์ต่อแล้ว กำลังจะทำชั่ว ถ้าสานุฟื้นจงบอกเธอว่า อย่าคิดทำอย่างนี้ทั้งที่ลับและที่แจ้ง ขืนทำไม่ว่าจะหนีไปไหนก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ไปได้”
ว่าแล้วก็ออกจากร่างสามเณร
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรสานุ (๑)
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๘ ประจำวันที่๖-๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
สามเณรสานุ (จบ)
สามเณรฟื้นขึ้นมาหลังนางยักษิณีเข้าสิงเพื่อขัดขวางไม่ให้สึก ลืมตาดูคนรอบๆ ข้างร้องไห้ฟูมฟาย ตัวเองก็นอนแอ้งแม้งบนพื้น จึงเอ่ยปากถามแม่ว่า “แม่ร้องไห้ถึงคนตายแล้ว หรือคนยังมีชีวิตอยู่ที่จากไป อาตมาเองก็ยังมีชีวิตอยู่ แม่ร้องไห้ถึงทำไม
มารดาตอบทั้งน้ำตาว่า “โยมแม่มิได้ร้องไห้ถึงคนตายแล้วหรือจากไป ที่ร้องไห้เพราะสงสารคนที่ละกามแล้วเวียนกลับมาหากามอีก คนเช่นนี้ถึงมีชีวิตอยู่ก็เรียกว่าตายแล้ว ลูกถูกคนเขายกจากหลุมเถ้ารึงแล้วยังอยากตกลงไปอีก ถูกเขายกขึ้นจากเหวแล้วยังอยากตกลงไปอีก ลูกเป็นดุจของที่เขาขนออกจากไฟไหม้แล้ว ยังปรารถนาจะเข้าไปยังกองไฟอีกหรือ
มารดาสามเณรพูดกับลูกชายโดยนัยอุปมาอุปไมย สามเณรฉลาดปราดเปรื่องอยู่แล้ว จึงตอบมารดาหลังจากนิ่งสงบไปพักหนึ่งว่า “อาตมาไม่ต้องการสึกแล้วล่ะ”
มารดาดีใจ หุงข้าวยาคูถวายสามเณรลูกชายฉัน ถามอายุลูก ทราบว่าอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงจัดแจงให้เธออุปสมบทเป็นพระภิกษุ
พระสานุมีประสบการณ์เกี่ยวกับจิตของตัวแล้ว รู้ว่าจิตของคนเรานี้มันแวบไปโน่นไปนี่ ชอบครุ่นคิดแต่เรื่องรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิดคำนึงที่น่าพึงพอใจ จึงพยายามบังคับจิตของตน
พระพุทธองค์ทรงทราบปัญหาของพระหนุ่ม จึงตรัสสอนเธอในวันหนึ่งว่า
จิตนี้ เมื่อก่อนนี้ ชอบท่องเที่ยวไปในอารมณ์ตามความใคร่ ตามความพอใจ ตามสบาย วันนี้เราจะไม่ปล่อยมันเป็นเช่นนั้นอีก เราจะข่มมันโดยอุบายที่แยบคาย ดุจดังควาญช้างถือขอบังคับช้างตกมันฉะนั้น
“ขอ” ในที่นี้พระองค์ทรงใช้ศัพท์ว่า “โยนิโส” อันหมายถึง “โยนิโสมนสิการ” นั่นเอง
แปลกันว่า อุบายอันแยบคาย อุบาย คือเทคนิควิธีแยบคายหรือรอบคอบ ถูกต้อง เหมาะสม พูดกันด้วยภาษาสามัญก็คือ ให้ใช้ปัญญาควบคุมจิต ปัญญาจะเป็นตัวบอกเองว่า จะทำอย่างไร แค่ไหน
พระเซนรูปหนึ่งคิดว่าการจะบรรลุต้องปฏิบัติเคร่งครัด ไม่เหมือนใคร จึงขึ้นไปนั่งสมาธิบนยอดไม้ ไม่กินไม่นอนเป็นเวลา ๓ วัน อาจารย์เซนเดินมาพบเข้าจึงถามว่าไปทำอะไรอยู่บนนั้น
พระหนุ่มตอบว่า “ผมกำลังนั่งสมาธิเพื่อเป็นพุทธะ”
อาจารย์เซนได้ยินดังนั้นจึงคว้าก้อนอิฐข้างทาง มาถูกับมือจนเลือดไหล พระหนุ่มถามว่า ท่านทำอะไร อาจารย์บอกว่า ผมจะถูให้มันเป็นกระจกใส
พระหนุ่มบอกว่า ท่านจะบ้าเรอะ ท่านถูกจนมือขาดมันก็เป็นกระจกไม่ได้ อาจารย์สวนทันทีว่า “คุณจะบ้าเรอะ คุณนั่งจนกลายเป็นลิงก็เป็นพุทธะไม่ได้”
ในเรื่องเล่าว่า พระหนุ่มได้เข้าถึง “ซาโตริ” (การรู้แจ้ง) นี้คือตัวอย่างเทคนิควิธีที่ไม่ใช้ปัญญา ดีว่าได้อาจารย์เป็นกัลยาณมิตร จึงไม่เดินหลงทาง
สานุสามเณรได้รับการชี้แนะจากพระพุทธองค์ พิจารณาตามกระแสดำรัสก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
กล่าวกันว่า ท่านเป็นธรรมกถึกเอก สอนชาวชมพูทวีปให้ซาบซึ้งในรสพระธรรม ดำรงชีพอยู่นาน ๑๒๐ ปีจึงดับขันธ์
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรสานุ (จบ)
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๙ ประจำวันที่ ๑๓-๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 ธันวาคม 2558 12:54:52 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #47 เมื่อ:
04 ธันวาคม 2558 13:06:17 »
สามเณรสุมน (๑)
มีสามเณรอีกรูปหนึ่ง ประวัติความเป็นมาค่อนข้างน่าอัศจรรย์ : อัศจรรย์อย่างไรลองอ่านดูก่อนนะครับ
สามเณรน้อยรูปนี้นามว่า
สามเณรสุมน
เรื่องราวบันทึกอยู่ในธัมมปทัฏกถาภาค ๘
ในอดีตกาลนานโพ้น เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระมาตรัส คนใช้ทำหน้าที่ขนหญ้าให้เศรษฐีคนหนึ่ง ได้ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าในเช้าวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าออกนิโรธสมาบัติพอดี ซึ่งตำราบอกว่าเป็นทานที่อำนวยผลทันตาเลยทีเดียว
เศรษฐีทราบเรื่องเข้าก็ขอ “ซื้อ” บุญทั้งหมดที่คนขนหญ้าทำ (พูดยังกับบุญมันซื้อขายกันได้เนาะ)
นายคนนี้แกก็ไม่ยอม เศรษฐีจึงขอว่า ถ้าอย่างนั้นขอให้แบ่งส่วนบุญให้ได้ไหม ฉันขออนุโมทนาด้วย
นายคนใช้แกไม่ทราบว่า จะแบ่งส่วนบุญให้กันได้ไหม จึงขอไปปรึกษาพระท่านก่อน แกจึงไปเรียนถามท่าน ท่านยกอุปมาให้ฟังว่า เหมือนกับหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีหลายหลังคาเรือน หลังแรกจุดตะเกียงไว้ เพื่อนบ้านมาขอต่อไฟจากตะเกียงนั้นไป แสงไฟจากตะเกียงแรกก็ยังสว่างไสวอยู่เหมือนเดิม ไม่ลดน้อยลงไปเลย แถมยังเพิ่มแสงสว่างให้มากกว่าเดิมอีก
การทำบุญแล้วแบ่งส่วนบุญให้คนอื่นก็เป็นเช่นเดียวกัน
กระทาชายนายขนหญ้าดีใจ รีบมาแบ่งส่วนบุญให้เศรษฐี พระราชาแห่งเมืองนั้นทรงทราบเรื่อง อยากได้ส่วนบุญบ้าง จึงรับสั่งให้เขาเข้าเฝ้าขอส่วนบุญด้วย แล้วพระราชทานทรัพย์สินจำนวนมากแก่เขา เพิ่มจากที่เศรษฐีเคยให้แล้ว
ตกลงด้วยผลทานที่ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งเดียว บันดาลผลทันตาเห็น ทำให้กระยาจกกลายเป็น “เสี่ย” ภายในสองสามวัน
เขาได้รับสถาปนาจากพระราชาให้เป็นเศรษฐีใหม่อีกคนหนึ่งของเมืองและได้เป็นเพื่อนซี้กับเศรษฐีเจ้านายเก่าของตนต่อมาจนสิ้นอายุขัย
หลังจากเวียนว่ายอยู่ในภพต่างๆ ตามแรงกรรมดี-ชั่วที่ทำไว้ในชาติสุดท้าย เขาก็มาเกิดในราชสกุลศากยะ เป็นโอรสองค์ที่สองของเจ้าอมิโตทนะ (เชษฐาคือเจ้าชายมหานาม)
ด้วยอานิสงส์แห่งทานที่ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าคราวนั้น และด้วยแรงอธิษฐานที่คนขนหญ้าตั้งไว้ว่า เกิดชาติใดฉันใดอย่าได้พบคำว่า “ไม่มี” อีกเลย
เจ้าชายน้อยองค์นี้ซึ่งมีพระนามว่า “อนุรุทธะ” จึงไม่เคยได้ยินคำว่าไม่มีเลย อยากได้อะไร อยากกินอะไร สั่งเดี๋ยวเดียวก็ได้มารวดเร็วทันใจ
เจ้าชายน้อยมีพระสหายวัยเดียวกันหลายองค์ วันหนึ่งกำลังเล่นตีคลีกัน (ถ้าสมัยนี้ก็คงเล่นเกมคอมพิวเตอร์ สมัยนั้นยังไม่มี) โดยเอาขนมพนันกัน เจ้าชายอนุรุธะเล่นแพ้จนขนมหมด ส่งคนไปขอขนมจากเสด็จแม่
เสด็จแม่ส่งมาให้หลายเที่ยว เพราะเล่นแพ้อยู่เรื่อย จนขนมหมด บอกว่า ตอนนี้ขนมไม่มี เมื่อคนรับใช้มารายงานว่า เสด็จแม่บอกว่าขนม “ไม่มี” เจ้าชายน้อยจึงบอกว่า “ขนมไม่มีนั่นแหละเอามาเร็ว”
เสด็จแม่ได้ยินดังนั้น จึงคิดว่า ลูกเราไม่เคยรู้จักคำว่า ไม่มี และมีพระประสงค์จะสอนให้โอรสรู้จักคำว่าไม่มีเสียบ้าง จึงเอาถาดทองคำเปล่าใบหนึ่งมา เอาอีกใบครอบไว้ แล้วให้คนนำไปให้เจ้าชาย
ว่ากันว่า ร้อนถึงเทพยดาต้องนำขนมทิพย์มาใส่ไว้เต็มถาด พอเจ้าชายรับถาดมา เปิดฝาครอบออกเท่านั้น ขนมทิพย์ส่งกลิ่นหอมหวนน่ารับประทานอย่างยิ่ง เจ้าชายน้อยเกิดน้อยพระทัย ว่าเสด็จแม่ไม่รักตน ขนม “ไม่มี” อร่อยปานนี้ เสด็จแม่ไม่เคยให้เสวยเลย จึงไปต่อว่าพระมารดา
พระมารดาก็แปลกพระทัยว่าเกิดอะไรขึ้น จึงตรัสถามมหาดเล็กที่นำถาดเปล่าไปให้ มหาดเล็กกราบทูลเรื่องราวแปลกประหลาดที่ตนเห็นมาให้ทรงทราบ
พระมารดาทรงเข้าใจว่า คงเป็นเพราะบุญแต่ปางก่อน โอรสน้อยของตนเองจึงไม่เคยรู้รสชาติของ “ความไม่มี”
เมื่อเจ้าชายโตขึ้น ได้ออกผนวชพร้อมกับเจ้าชายจากศากยวงศ์ ๖ องค์พร้อมกับอุบาลี นายภูษามาลาอีก ๑ คน รวมเป็น ๗ หลังจากอุปสมบทแล้ว ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็น “เอตทัคคะ” (เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางมีทิพยจักษุ (ตาทิพย์
)
•
สามเณรสุมน (๒)
พระอนุรุทธะผู้ตาทิพย์ วันดีคืนดีก็นั่งเข้าฌานดูว่า เศรษฐีสหายเก่าของตนเมื่อครั้งกระโน้น บัดนี้เกิดเป็นใครอยู่ที่ไหน
ก็ทราบว่า นิคมชื่อมุณฑนิคม อยู่เชิงเขาแห่งหนึ่ง หัวหน้านิคมชื่อมหามุณฑะ มีบุตรชายอยู่ ๒ คน ชื่อ มหาสุมน กับ จูฬสุมน
สหายเก่าของท่านเกิดเป็นจูฬสุมน หวังจะสงเคราะห์สหายเก่า จึงเดินทางมุ่งหน้าไปยังนิคมนั้น
หัวหน้านิคมเห็นพระเถระก็นิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่นิคมของตน เพื่อสงเคราะห์ชาวบ้าน ท่านก็รับนิมนต์เพราะมีความประสงค์เช่นนั้นอยู่แล้ว
ถึงวันออกพรรษา มหามุณฑะก็นำไทยธรรม (ของถวายพระ) จำนวนมากมายมาถวาย พระเถระบอกว่า จะให้อาตมารับได้อย่างไร อาตมาไม่มีสามเณรผู้เป็น “
กัปปิยการก
”
นายนิคมจึงว่า ถ้าอย่างนั้นผมจะให้บุตรชายคนโตบวชรับใช้ท่าน พระเถระบอกว่า ขอให้คนเล็กบวชดีกว่า ผู้เป็นพ่อก็ยินยอมให้จูฬสุมนบวช ในขณะนั้นเธอมีอายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้น
อ้อ คำว่า “กัปปิยการก” แปลว่าผู้ทำให้ควร ทำให้ถูกตามพระวินัย เช่น เวลาเอาส้มถวายพระฉัน จะต้องปอกเปลือกหรือไม่ก็เฉาะตรงขั้วก่อน เพื่อป้องกันมิให้พระท่านผิดวินัยข้อห้ามทำลายพีชคาม (พืชพรรณ) ผู้มีหน้าที่อย่างนี้แหละ เรียกว่า “กัปปิยการก”
แปลกันง่ายๆ ว่า เด็กรับใช้ หรือเด็กวัด
สามเณรสุมนได้บรรลุพระอรหัตผลคือ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทันทีที่บวชเสร็จ ไม่ใช่แค่หมดกิเลสอย่างเดียว ยังบรรลุอภิญญา (ความสามารถพิเศษ) เช่น อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์) อีกด้วย ท่านพระอนุรุทธะพาสามเณรสุมนไปอยู่ในป่าหิมพานต์ (เขาหิมาลัย) บังเอิญโรคลมจุกเสียด ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของพระเถระกำเริบ ทำให้ได้รับทุกขเวทนา
พระเถระบอกสามเณรสุมนให้ไปเอาน้ำจากสระอโนดาตมาให้ดื่ม เพื่อระงับโรคลม สั่งว่าพญานาคชื่อ ปันนกะ รู้จักกับท่าน ให้ไปขอน้ำจากพญานาค
สามเณรเหาะไปด้วยอิทธิฤทธิ์มุ่งตรงไปยังสระอโนดาต ขณะนั้นปันนกะกำลังจะพาประดาอีหนูทั้งหลายลงเล่นน้ำในสระอโนดาตพอดี เห็นสมณะน้อยเหาะข้ามศีรษะมาก็โกรธ หาว่าสมณะโล้นน้อยนี้มาโปรยฝุ่นที่เท้าลงบนศีรษะตน
แกคงโกรธที่มาขัดจังหวะกำลังจะเล่นโปโลน้ำกับอีหนูทั้งหลายมากกว่า จึงหาว่าสามเณรโปรยขี้ตีนใส่หัว ทั้งๆ ที่ไม่มีแม้แต่นิดเดียว
สามเณรอ้างนามพระอุปัชฌาย์ซึ่งพญานาครู้จัก ขอน้ำไปทำยาเพราะท่านกำลังป่วย พญานาคไม่สนใจ ไล่กลับท่าเดียว แถมยังแผ่พังพานใหญ่ปิดสระน้ำทั้งหมด ดุจเอาฝาปิดหม้อข้าว ฉันใดฉันนั้น ร้องท้าว่า ถ้าสามเณรเก่งจริงก็มาเอาได้เลย
สามเณรถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว จึงแปลงกายเป็นพรหมสูงใหญ่ เหยียบลงตรงพังพานของพญานาค พังพานยุบลง เปิดช่องให้สายน้ำพุ่งขึ้นมาเป็นลำ สามเณรเอาบาตรรองน้ำจนเต็มแล้วก็เหาะกลับไป
พญานาคทั้งเจ็บทั้งอายที่ถูกสามเณรน้อยเหยียบหัวแบน จึงตามไปทันที่สถานที่อยู่ของพระเถระ ฟ้องว่าสามเณรเอาน้ำมาโดยไม่ชอบธรรม
พระเถระหันมามองสามเณร สามเณรกราบเรียนท่านว่า น้ำนี้กระผมนำมาโดยชอบธรรมแล้ว พญานาคร้องบอกอนุญาตแล้ว
พระเถระเชื่อว่าพระอรหันต์ย่อมไม่พูดเท็จ จึงฉันน้ำนั้น และโรคในกายท่านก็สงบระงับ
พระเถระขอให้พญานาคขอโทษสามเณรเสีย พญานาคก็ยอมขอขมา
และปวารณาว่าถ้าสามเณรต้องการน้ำเมื่อใด เพียงแต่สั่งเท่านั้น ตนจะนำมาให้เอง
•
สามเณรสุมน (จบ)
เมื่อพระอนุรุทธะพาสามเณรไปพระวิหารเชตวัน พระภิกษุอื่นๆ เห็นสามเณรน้อยน่าเอ็นดู ก็จับหูบ้าง ลูบศีรษะบ้าง ด้วยความเอ็นดู หยอกล้อว่าเจ้าเด็กน้อย บวชแต่อายุยังน้อย เจ้าไม่คิดถึงแม่ดอกหรือ หย่านมหรือยังจ๊ะ อะไรทำนองนี้
พระพุทธองค์ทรงเกรงว่า พระปุถุชนจะละลาบละล้วงล่วงเกินพระอรหันต์มากกว่านี้ เป็นบาปเป็นกรรมเปล่าๆ
ทรงต้องการให้พระสงฆ์ทราบว่าสามเณรเป็นใคร จึงรับสั่งให้ประชุมสามเณร นัยว่ามีถึง ๕๐๐ รูป ตรัสว่าพระองค์ต้องการน้ำจากสระอโนดาตในเร็วพลัน สามเณรรูปใดจะอาสาเหาะไปเอามาถวายได้
สามเณรอื่นที่เป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญามีอิทธิปาฏิหาริย์ก็มี แต่ทราบว่า “พวงดอกไม้” นี้ พระพุทธองค์ทรงร้อยไว้เพื่อสามเณรสุมานเท่านั้น (เป็นสำนวน หมายความว่า เรื่องนี้ต้องการให้เป็นหน้าที่ของสามเณรสุมน) จึงไม่เสนอตัว
เมื่อไม่มีใครอาสา สามเณรสุมนก็รับอาสาถวายบังคมพระพุทธองค์ แล้วถือบาตรเหาะลิ่วๆ ไปในอากาศบ่ายหน้าไปยังป่าหิมพานต์ทันที
ว่ากันว่าแสดงตัวให้พระสงฆ์เห็นกับตาเลยทีเดียว ต่างก็ร้อง โอ้โฮๆ น่าชื่นชมแท้ๆ ว่ากันอย่างนั้น
ขากลับก็ปรากฏตัวให้เห็นกลางนภากาศลิ่วๆ ลงมายังลานพระวิหารแล้วก็นำน้ำไปถวายพระพุทธองค์
พระพุทธองค์ตรัสถามเธอว่าอายุเท่าไหร่
สามเณรกราบทูลว่า อายุ ๗ ขวบพระเจ้าข้า
พระพุทธองค์ตรัสว่าตั้งแต่วันนี้ไปเธอเป็นพระภิกษุได้
คัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า การอุปสมบทที่ทรงประทานให้สามเณรครั้งนี้เรียกว่า “ทายัชชอุปสมบท” เป็นกรณีพิเศษที่บวชเณรอายุ ๗ ขวบเป็นพระ
นัยว่ามีสามเณร ๒ รูปเท่านั้นที่ได้รับพระมหากรุณานี้คือ สามเณรสุมนกับสามเณรโสปากะ
เรื่องราวของสามเณรสุมนค่อนข้างพิลึกกว่าสามเณรรูปอื่น คือ เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ ความจริงเรื่องนี้มิใช่เรื่องประหลาดหรือลึกลับอะไร
ผู้สำเร็จอรหัตผลพร้อมอภิญญาสามารถสำแดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้ นับว่าเป็น “ธรรมดาของพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา” ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร
ถ้าท่านเข้าในคำว่า “ธรรมดา” ก็จะหมดสงสัย ธรรมดาของนกมันย่อมบินได้ ธรรมดาของปลาย่อมแหวกว่ายในน้ำได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามพิเศษอะไร
เวลาเราเห็นนกบิน เห็นปลาแหวกว่ายอยู่ในน้ำทั้งวันเราอัศจรรย์ไหม
เปล่าเลย เห็นเป็นของธรรมดาฉันใด พระอรหันต์ที่ท่านได้อภิญญา (อรหันต์บางประเภทก็ไม่ได้อภิญญา) ท่านสามารถแสดงฤทธิ์ เช่น เหาะได้ดุจนก เพราะนั่นเป็น “ธรรมดา” ของท่าน
พญานาคที่พูดถึงนี้จะเชื่อตามนิยายว่า เป็นสัตว์พิเศษชนิดหนึ่ง อยู่ในนาคพิภพจำแลงกายเป็นคนได้ ดังนาคที่แปลงกายเป็นคนมาบวช (ในพระวินัยปิฎก) ก็ตามใจครับ ไม่ว่ากัน
แต่ถ้ามองในแง่มานุษยวิทยา นาคในที่นี้ก็คือมนุษย์เผ่าหนึ่งที่ยังไม่ศิวิไลซ์นัก ชื่อเผ่านาคา มีอยู่ทั่วไปตามป่าเขาในชมพูทวีป
ตามรูปศัพท์ นาค แปลว่า “ผู้อยู่ในภูเขา” หรือชาวเขา (นค=ภูเขา, นาค=บุคคลผู้อยู่ในภูเขา) มนุษย์เผ่านี้คงบูชางูใหญ่ด้วย คำว่า นาค จึงแปลกันว่า งู ได้ด้วย
ส่วนนาคที่ไปเกี่ยวกับน้ำ ไปเกี่ยวกับใต้บาดาลนั้นน่าจะเป็นความเชื่อของทางฮินดูที่ว่า นาคเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ
และเป็นความเชื่อประจำถิ่นของบางภูมิภาคครับ
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรสุมน (๑), (๒) และ (จบ)
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๐-๑๘๔๒ ประจำวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน - ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๘
สามเณรบัณฑิต
มีสามเณร ๒ รูป ประวัติคล้ายกันมาก ยังกับเรื่องของคนคนเดียวกันคือ เรื่องสามเณรบัณฑิตกับสามเณรสุข
รูปแรกมีเรื่องเล่าอยู่ในธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔ รูปหลังมีประวัติอยู่ในธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕ คล้ายกันอย่างไร
ขอเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้ครับ
บัณฑิตสามเณร เป็นบุตรชายของตระกูลอุปฐากพระสารีบุตรเถระ พอเกิดมาเด็กในบ้านที่โง่เซอะกลายเป็นคนฉลาด มีปฏิภาณโต้ตอบฉับไวน่าอัศจรรย์
พ่อแม่จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดี ตั้งชื่อลูกชายว่า บัณฑิต
พ่อแม่ตั้งใจว่า จะไม่ขัดใจลูก ถ้าลูกต้องการอะไรอย่างไร จะพยายามทำตามทุกอย่างตามประสาคนรักลูกมาก
บังเอิญว่าเด็กชายบัณฑิตเป็นบัณฑิตสมชื่อ โตมาได้ ๗ ขวบ ก็คิดอยากบวชเป็นลูกศิษย์พระสารีบุตร พ่อแม่จึงพาไปมอบให้พระเถระบวชเณร บวชลูกชายแล้ว ก็อยู่ในวัดนั้นเอง เลี้ยงพระสงฆ์ ๗ วัน วันที่ ๘ จึงกลับมาบ้าน
รอสามเณรน้อยไปบิณฑบาตที่บ้าน
วันนั้น พระสารีบุตรพาบัณฑิตสามเณรไปยังเรือนของพ่อแม่สามเณรสายกว่าปกติ
ระหว่างทางจากวัดไปยังหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนา สามเณรน้อยเห็นชาวนาไขน้ำเข้านา ผ่านไปอีกหน่อยเห็นช่างศรกำลังดัดลูกศร ผ่านไปอีกหน่อยเห็นช่างไม้ถากไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ จึงถามไถ่ตามประสาเด็กอยากรู้อยากเห็น
พระเถระก็อธิบายให้ฟัง ขณะฟังคำอธิบายของพระเถระ สามเณรน้อยก็ “ฉุกคิด” ขึ้นในใจว่า
น้ำไม่มีจิตใจ คนยังบังคับให้มันไหลไปโน่นไปนี่สนองความต้องการของคนได้
ลูกศรก็ไม่มีจิตใจ คนก็ดัดให้ตรงได้ตามต้องการ
ไม้ไม่มีจิตใจ ช่างไม้ก็ถากไม้ให้มันเกลี้ยง และให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามชอบใจ
ไฉนเราซึ่งมีจิตใจจะฝึกฝนตนให้ได้สิ่งที่ต้องการไม่ได้เล่า คิดดังนั้นจึงกล่าวกับอุปัชฌาย์ว่า ท่านขอรับ ถ้าท่านจะกรุณาให้ผมกลับวัดไปบำเพ็ญภาวนาก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
พระเถระบอกกับสามเณรว่าตามใจ แล้วก็รับบาตรจากสามเณรเดินไปหมู่บ้านรูปเดียว
ศิษย์น้อยสั่งว่า กรุณานำอาหารมาเผื่อด้วย ได้ปลาตะเพียนก็ดี (แน่ะ สั่งเอาตามใจชอบด้วย) พระเถระถามว่า จะได้มาจากไหน (ไม่ได้ไปจ่ายตลาดนะจ๊ะ)
สามเณรน้อยบอกว่า ถ้าไม่ได้ด้วยบุญของท่าน ก็ด้วยบุญของผม แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
สามเณรกลับไปวัด เข้ากุฏิปิดประตูนั่งกรรมฐานท่ามกลางความเงียบสงัด เพราะพระเณรออกไปภิกษาจารกันหมด จิตของเธอจึงเป็นสมาธิแน่วแน่ ฝ่ายพระสารีบุตรเป็นห่วงจะเลยเวลาเพลเพราะจวนจะเที่ยงแล้ว ได้อาหาร (มีปลาตะเพียนด้วยแน่ะครับ ว่ากันว่าเพราะบุญสามเณร) จึงรีบกลับวัด
พระพุทธเจ้าเสด็จไปดักหน้าพระสารีบุตรที่ประตูพระเชตวันมหาวิหารเพราะทรงทราบว่าสามเณรกำลังจะบรรลุอรหัตผล ถ้าพระสารีบุตรเข้าไปในเวลาดังกล่าวจะ “ขัดจังหวะ”
พระพุทธองค์จึงตรัสถามปริศนา ๔ ข้อให้พระสารีบุตรตอบ พระเถระก็ตอบได้ถูกต้อง ความประสงค์ของพระพุทธองค์ก็เพียงหน่วงเหนี่ยวพระเถระมิให้ไปรบกวนสมาธิสามเณรเท่านั้น มิใช่เพื่อทดสอบปัญญาพระอัครสาวก หรือเล่น “เกมทายปัญหา” แต่ประการใด
เมื่อพระสารีบุตรวิสัชนาปัญหา ๔ ข้อจบลง ก็พอดีสามเณรได้บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทา พระพุทธองค์ตรัสตอบพระสารีบุตรว่า ไปเถิดสารีบุตร สามเณรคงหิวแล้ว
ว่ากันว่า วันนั้นพระเถระเข้าบ้านสายกว่าปกติ กว่าจะฉันเสร็จ กว่าจะนำอาหารกลับมาให้สามเณรน้อยก็ผ่านไปหลายชั่วโมง คือตกบ่ายแล้ว
แต่คัมภีร์ได้เขียนไว้ว่าเดือดร้อนถึงท้าวสักกเทวราช ต้องสั่งให้สุริยเทพบุตรฉุดรั้ง “สุริยมณฑล” ให้นิ่งอยู่กับที่อย่าให้เลยเที่ยงไป จนกว่าสามเณรจะฉันเสร็จ ว่าอย่างนั้น
พอสามเณรฉันเสร็จ ล้างบาตร เช็ดบาตรเท่านั้น พระอาทิตย์ซึ่งนิ่งอยู่กับที่ก็ติด “เทอร์โบ” โคจรปรู๊ดปร๊าดตกบ่ายทันที คงประมาณบ่ายสองบ่ายสามกระมัง ไม่อย่างนั้นเหล่าภิกษุคงไม่เกิดฉงนฉงาย ถึงกับพูดว่า วันนี้แปลก ทำไมบ่ายเร็วนัก สามเณรเพิ่งจะฉันเสร็จเมื่อกี้นี้เอง
ดีนะที่ไม่กล่าวหาว่า สามเณรศิษย์พระสารีบุตรฉันเย็น
พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระทั้งหลายเกิดฉงนฉงายใจ จึงตรัสว่า เวลาผู้มีบุญทำสมณธรรม จันทเทพบุตรฉุดมณฑลพระจันทร์รั้งไว้ สุริยเทพบุตรฉุดมณฑลพระอาทิตย์รั้งไว้ อย่างนี้แหละ แล้วทรงยกสามเณรบัณฑิตเป็นตัวอย่างของคนที่มองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้วเกิดแง่คิดในการปฏิบัติจนได้บรรลุพระอรหัตผล โดยตรัสพระคาถาว่า
ชาวนาไขน้ำเข้านา
ช่างศรดัดลูกศร
ช่างไม้ถากไม้
บัณฑิตย่อมฝึกตน
เรื่องราวของสามเณรบัณฑิตมหัศจรรย์กว่านี้มาก แต่ผมตัดส่วนที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ออกบ้าง ถ้าเราไม่มองแค่ชาตินี้ชาติเดียว เราจะเห็นว่าความสำเร็จอะไรอย่างง่ายดายและความมหัศจรรย์บางอย่างเกี่ยวกับสามเณรบัณฑิต เป็นผลเนื่องมาจาก “บุญเก่า” ที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อนทั้งนั้น
เรื่องนี้มองเห็นได้ในปัจจุบัน บางคนตั้งแต่เกิด ไม่ได้ทำบุญกุศลอะไรเห็นๆ กันอยู่ แต่ชีวิตสะดวกสบาย เกิดมาในกองเงินกองทองต้องการอะไรก็ได้ ถามว่า เขาทำเอาในชาตินี้หรือ เปล่าทั้งนั้น คนนิสัยอย่างนี้ พื้นเพจิตใจอย่างนี้ถ้าให้เริ่มจาก “ศูนย์” เหมือนคนอื่น รับรองไม่พ้นกระยาจกธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง
ที่เขามีอยู่เป็นอยู่ เชิดหน้าเหยียดหยามคนอื่นอยู่นั้น เพราะผลบุญเก่าทั้งนั้น
คัมภีร์กล่าวว่า สามเณรบัณฑิตนั้น ในอดีตชาติอันยาวนานโพ้น เกิดเป็นชายทุคตะ (คนยากจน) คนหนึ่ง เห็นเขาพากันนิมนต์พระคนละสิบรูป ยี่สิบรูปไปฉันที่บ้าน ก็อยากทำบุญกะเขาบ้าง จึงชวนภรรยาไปรับจ้างเขาเพื่อเอาข้าวน้ำมาถวายพระ ไป “จองพระ” ไว้รูปหนึ่ง
หลังจากได้ค่าจ้างแล้วก็พากันตระเตรียมอาหารถวายพระ นายทุคตะไปถามผู้จัดการในการทำบุญว่าจองพระรูปไหนให้ตน ตนจะไปนิมนต์ไปฉันที่บ้าน ผู้จัดการบอกว่าลืมจดบัญชีไว้ ขอโทษขอโพยนายทุคตะเป็นการใหญ่ นายทุคตะแทบล้มทั้งยืนครวญกับผู้จัดการว่า นายเป็นคนชวนผมทำบุญ ผมก็ไปรับจ้างหาเงินมาตระเตรียมอาหารถวายพระตามคำชวนของนายแล้ว นายไม่มีพระให้ผม จะให้ผมทำอย่างไร
ผู้จัดการหาทางออกให้เขาว่า พระพุทธเจ้ายังไม่มีใครนิมนต์ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาต่อคนยากไร้อยู่แล้ว แกรีบไปนิมนต์พระองค์เถอะ
นายทุคตะได้ยินดังนั้นก็รีบไปกราบแทบพระบาทกราบทูลอาราธนาพระองค์เสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านตน พระองค์ทรงรับ ประทานบาตรให้นายทุคตะอุ้มนำหน้า อัญเชิญเสด็จไปยังเรือนของตน
เรื่องเล่าถึงพระอินทร์ปลอมเป็นพ่อครัวหัวป่า ฝีมือเยี่ยมมาช่วยนายทุคตะทำกับข้าวจานเด็ดให้โดยไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด ถ้าไม่พูดถึงอิทธิฤทธิ์ใดๆ ก็คงจะเป็นเพื่อนบ้านสักคนมาช่วยทำอาหารให้นั่นเอง
หลังจากพระพุทธองค์เสวยเสร็จ เสด็จกลับพระอาราม ก็เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์คือ เรือนน้อยๆ ของนายทุคตะเต็มเปี่ยมไปด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการ (ทำไมแค่ ๗ ไม่ใช่ ๙ ก็ไม่รู้สิครับ) เป็นที่ฮือฮามาก คนเข้าใจกันว่าเป็นเพราะผลแห่งทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้า
พระราชาแห่งเมืองนั้นทรงทราบเรื่อง เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง รับสั่งให้ขนรัตนะเหล่านั้นออกมากองยังลานบ้าน ตรัสถามว่าทรัพย์สมบัติมากมายปานนี้ มีใครบ้านในเมืองนี้ เมื่อไม่มีใครมีมากเท่านายทุคตะ จึงทรงสถาปนาเขาในตำแหน่งเศรษฐี มีศักดิ์เป็นศรีของเมืองต่อไป
เขาจึงได้นามว่า ทุคตเศรษฐี แต่บัดนั้น เขาสำนึกเสมอว่าสมบัติเหล่านี้ได้มาเพราะการทำบุญทำทาน เขาจึงไม่ประมาทในการทำบุญทำทานจนสิ้นชีวิต ตายจากชาตินั้นแล้วมาเกิดเป็นบุตรของตระกูลอุปฐากพระสารีบุตรในบัดนี้
ได้รับขนานนามว่า บัณฑิต เพราะพอเกิดมา คนโง่ๆ ที่พูดไม่รู้เรื่องในบ้าน กลายเป็นคนฉลาดมีไอคิวสูงโดยอัตโนมัติ
คนใช้ประเภทนายบอกว่า “อย่าลืมเอาแอปเปิ้ลแช่ตู้เย็นนะ” แล้วก็เอาลูกเจ้านายที่ชื่อ “แอปเปิ้ล” ยัดตู้เย็นจนตาย ถ้าไปอยู่บ้านพ่อแม่เด็กชายบัณฑิต ก็จะฉลาดหมดเลยครับ
สามเณรบัณฑิตมี “บุญเก่า” ที่สั่งสมไว้มาก จึงอำนวยให้เธอประสบความสำเร็จในชีวิตแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะสำเร็จเป็นสามเณรอรหันต์แต่อายุเพียง ๗ ขวบ เรื่องผลบุญผลบาปเป็นอจินไตยครับ คนธรรมดาสามัญอย่าคิดสงสัย คิดจนหัวแทบแตกก็ไม่เข้าใจดอก ขืนคิดมากเดี๋ยวจะเป็นอย่างที่พระบาลีว่า อุมฺมาทสฺส ภาคีอสฺส =เขาพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
แค่คิดเรื่องว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมันเป็นมรดกตกทอดที่ใครจะยกให้ใครได้ตั้งแต่เมื่อใด คนอายุ ๖๔ เป็นนายกฯ ยังถูก “อัด” แทบกระอักแล้ว คนอายุ ๘๔ เดินยังไม่ค่อยไหว จะทนทานได้หรือ หรือคิดว่าปากว่าไม่อยากเป็นนายกฯ แต่ทำไมวิ่งล็อบบี้กันพล่าน แม้ที่เป็นแล้วยังไม่อยากเลิกเป็น
คิดแค่นี้ยังจะเป็นบ้าเลยครับ
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรบัณฑิต
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๓ ประจำวันที่๑๑-๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘
สามเณรสุข (๑)
เรื่องราวของสามเณรสุข คล้ายกับสามเณรบัณฑิต แม้กระทั่งแรงบันดาลใจให้บรรลุธรรมก็อย่างเดียวกัน พุทธวจนะที่ตรัสสอนพระภิกษุเนื่องมาแต่สามเณรเป็นเหตุก็คล้ายกับที่ตรัสในเรื่องสามเณรบัณฑิต ความคล้ายกันอาจเกิดจากการเอาอย่างกันก็ได้
สามเณรบัณฑิตอาจเป็นแรงบันดาลใจให้สามเณรสุขก็เป็นได้
ที่พูดถึงนี้นึกถึงสามเณรประยุทธ์ สอบเปรียญ ๙ ประโยคได้ตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณร และจบพุทธศาสตรบัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยด้วย
โยมพ่อของสามเณรอีกรูปหนึ่งมีลูกชายก็ตั้งชื่อเลียนแบบสามเณรประยุทธ์ว่า “ประยูร” ตั้งใจว่าจะให้ลูกจบเปรียญ ๙ ประโยคเช่นเดียวกัน จึงให้ลูกชายบวชหลังจากจบประถมศึกษา สามเณรประยูรก็สามารถสอบได้เปรียญ ๙ ประโยคตั้งแต่เป็นสามเณรเช่นกัน จบพุทธศาสตรบัณฑิตเช่นกัน
ที่น่ามหัศจรรย์ก็คือต่างก็เป็นปราชญ์ในทางพระพุทธศาสนา ดำรงสมณเพศยืนยาวมาจนเป็นพระราชาคณะ เจริญวัฒนาในพระบวรพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน
สามเณรประยูรบอกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลแห่งการ “เลียนแบบ” อันเกิดจากแรงจูงใจเป็นสำคัญ (ตอนแรกโยมพ่ออยากให้ทำ แต่ตอนหลังเห็นคุณค่าด้วยตนเอง จึงทำตามด้วยความเต็มใจ)
สามเณรสุขที่กล่าวถึงนี้ อาจเกิดแรงบันดาลใจอยากเอาอย่างสามเณรบัณฑิตก็เป็นได้ จึงมีอะไรคล้ายกับสามเณรบัณฑิต
สามเณรสุข เกิดในตระกูลอุปัฏฐากพระสารีบุตรเถระในเมืองสาวัตถี ตอนแม่ตั้งครรภ์เกิดแพ้ท้องอยากกินอาหารที่เป็นเดนของภิกษุสงฆ์ นางจึงนิมนต์พระสารีบุตรพร้อมภิกษุจำนวนมากไปฉันภัตตาหารที่บ้านตนเอง นุ่งผ้าย้อมฝาด นั่งท้ายอาสนะ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วก็กินอาหารที่เป็นเดนของพระสงฆ์
ว่ากันว่าตลอดระยะเวลาที่เด็กน้อยอยู่ในครรภ์ ไม่มีใครมีความทุกข์เลย มีแต่ความสุขความสบายกันถ้วนหน้า
เมื่อคลอดออกมา บุตรน้อยคนนี้จึงมีชื่อว่าเด็กชายสุข เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ เด็กชายสุขก็พูดกับแม่ว่าอยากบวชอยู่กับพระเถระ
แม่ก็ไม่ขัดใจ จัดแจงให้บวชเป็นสามเณรรับใช้พระสารีบุตร
โยมบิดามารดาบวชให้ลูกชายแล้วก็อยู่ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ที่วัดเป็นเวลา ๗ วัน วันที่ ๘ จึงกลับบ้าน
พระสารีบุตรได้พาสามเณรไปบิณฑบาตที่บ้านโยมในวันที่ ๘ ขณะเดินผ่านท้องนา สามเณรน้อยเห็นคนไขน้ำเข้านา เห็นช่างศรดัดลูกศร เห็นช่างไม้ถากไม้ จึงเรียนถามอุปัชฌาย์เช่นเดียวกับสามเณรบัณฑิตและก็ได้คำตอบเช่นเดียวกัน
สามเณรสุขคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่เอ่ยมาข้างต้นนั้น ไม่มีจิตใจ แต่คนสามารถบังคับให้มันเป็นไปตามความต้องการได้ เราเองมีจิตใจ มีความคิด ไฉนจะบังคับตัวเองไม่ได้เล่า
คิดดังนี้แล้ว จึงกราบเรียนอุปัชฌาย์ว่า ถ้าท่านจะรับบาตรและอนุญาตให้กระผมกลับไปบำเพ็ญกรรมฐานที่วัดก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
พระเถระรับบาตรจากมือสามเณรและอนุญาตให้กลับวัดตามประสงค์ สามเณรสั่งอุปัชฌาย์ว่า ถ้าจะกรุณานำอาหารที่มีรส ๑๐๐ (สงสัยว่าอาหารอร่อยมาก) มาฝากก็จะเป็นพระคุณมาก พระเถระว่าจะไปเอาที่ไหน
สามเณรบอกว่าถ้าไม่ได้ด้วยบุญท่านก็ด้วยบุญของกระผมขอรับ ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
บังเอิญว่าพอฉันเสร็จญาติโยมก็ฝากอาหารมีรส ๑๐๐ มากับพระเถระ พระเถระรีบนำอาหารนั้นกลับวัด เพื่อให้ทันก่อนเที่ยง
พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยพระญาณ ทรงทราบต่อไปว่าขณะที่สามเณรกำลังเข้าฌานแน่วดิ่งอยู่นั้น สารีบุตรอาจมา “ขัดจังหวะ” ทำให้เป็นอันตรายแก่การบรรลุมรรคผล พระองค์จึงเสด็จไปดักพระสารีบุตรที่หน้าซุ้มประตูพระเชตวัน
ตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ พระสารีบุตรก็ถวายวิสัชนาได้อย่างถูกต้องทั้ง ๔ข้อ (ปัญหาก็เช่นเดียวกับที่ถามในเรื่องสามเณรบัณฑิต) เมื่อทรงเห็นว่าสามเณรได้บรรลุพระอรหัตแล้ว พระองค์จึงตรัสให้พระสารีบุตรรีบนำอาหารไปให้สามเณร
ว่ากันว่าขณะที่สามเณรฉันข้าว พระอาทิตย์ก็ยังไม่เที่ยงวัน หลังจากสามเณรฉันเสร็จล้างบาตรแล้ว เงาพระอาทิตย์ก็เอียงวูบบ่ายคล้อยไปอย่างรวดเร็ว พระภิกษุทั้งหลายจึงโจษขานกันเซ็งแซ่ว่า เมื่อกี้นี้ยังเช้าอยู่เลย พอสามเณรฉันเสร็จก็บ่ายคล้อยทันที ทำไมเวลาเช้ามีมาก เวลาเย็นมีน้อย แปลกแท้ๆ
พระพุทธองค์เสด็จมาตรัสบอกภิกษุเหล่านั้นว่า เวลาผู้มีบุญบำเพ็ญสมณธรรมมักจะเป็นเช่นนี้แหละ แล้วก็ตรัสพระคาถาว่า
ชาวนา ไขน้ำเข้านา
ช่างศร ดัดลูกศร
ช่างไม้ ถากไม้
คนดี ย่อมฝึกตน
พระคาถาที่ตรัสก็คล้ายที่ตรัสเกี่ยวกับสามเณรบัณฑิต เปลี่ยนเพียง “บัณฑิตย่อมฝึกตน” มาเป็น “คนดีย่อมฝึกตน” เท่านั้น
•
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มกราคม 2559 15:26:04 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #48 เมื่อ:
13 มกราคม 2559 14:18:02 »
สามเณรสุข (จบ)
คัมภีร์ได้เล่าเรื่องราวในอดีตชาติของสามเณรสุขว่า ที่สามเณรสุขเกิดมาสบายอยากได้อะไรก็ได้โดยง่าย เพราะเธอได้ทำบุญมาแต่ปางก่อน
ว่ากันว่า บุตรเศรษฐีคนหนึ่งได้รับมรดกจากบิดาจำนวนมาก จึงใช้ทรัพย์นั้นอย่างฟุ่มเฟือย
วันหนึ่งแกสั่งให้ตระเตรียมอาหารมีรสเลิศราคาแสนแพง ตกแต่งสถานที่อย่างโอ่อ่า แล้วประกาศทั่วเมืองว่า เศรษฐีหนุ่มจะนั่งรับประทานอาหารที่รสเลิศและหรูที่สุดในวันนี้ เชิญประชาชนทั้งหลายมาดู
ประชาชนต่างก็พากันมามุงดูเศรษฐีรับประทานอาหารโคตรแพง โคตรอร่อย ขณะนั้นกระทาชายชาวบ้านนอกคนหนึ่งมาเที่ยวกรุงกับเพื่อนทราบเรื่องก็อยากไปดูกับเขาบ้าง พอได้กลิ่นอาหารเท่านั้นก็เกิดน้ำลายไหล อยากกินขึ้นมาทันที จึงร้องขอแบ่งจากเศรษฐีบ้าง
เมื่อถูกปฏิเสธ เขาจึงร้องขึ้นมา ถ้าผมไม่ได้กินอาหารนี้ ผมคงต้องตายแน่นอน ได้โปรดเมตตาผมเถิด ว่าแล้วก็ลงนอนดิ้นอย่างน่าสงสาร
เศรษฐีเห็นท่าว่าเจ้าหมอนั้นจะตายจริงๆ ก็สงสาร จึงบอกว่าฉันให้เปล่าไม่ได้ดอก ถ้าแกอย่างได้จริงๆ แกต้องทำงานรับใช้ฉัน ๓ ปี แล้วฉันจะให้อาหารแกถาดหนึ่ง
เงื่อนไขตั้ง ๓ ปีแน่ะครับ ปรากฏว่าชายบ้านนอกแกยอมแฮะ
เมื่อแกทำงานรับใช้เศรษฐีด้วยความขยันหมั่นเพียรครบ ๓ ปี เศรษฐีเห็นในความตั้งใจจริงของกระทาชายนายคนนี้ จึงให้ตระเตรียมสถานที่อย่างโอ่โถง จัดที่นั่งสำหรับรับประทานอาหารอย่างสมเกียรติ ให้คนในบ้านทุกคนยกเว้นภรรยาของตนคอยปรนนิบัติรับใช้เขา
ได้เวลาก็เชิญเขามานั่งในที่ที่จัดไว้ ให้คนนำถาดอาหารพิเศษมาเสิร์ฟ ท่ามกลางประชาชนที่ทราบข่าวพากันมามุงดูจำนวนมาก
จะไม่ให้มุงดูอย่างไรได้ เพราะไม่เคยมีใคร “บ้า” ขนาดยอมรับใช้เขาถึง ๓ ปี เพียงเพื่อจะได้กินอาหารเพียงถาดเดียว คนพิลึกอย่างนี้ก็มีด้วย อยากดูว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ว่าอย่างนั้นเถอะ
ขณะที่ชายบ้านนอกแกนั่งหน้าบานจะกินอาหารที่รอมาถึง ๓ ปี พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเดินอุ้มบาตรผ่านมา เขาเหลือบเห็นพระก็นึกขึ้นมาว่า เราเกิดมายากจนข้นแค้น แค่อยากจะกินอาหารอร่อยถาดเดียวต้องลงแรงรับจ้างเขาทำงานถึง ๓ ปี ถ้าเราจะกินอาหารนี้เราก็อิ่มชั่ววันเดียว อย่ากระนั้นเลย เราถวายทานแก่พระคุณเจ้าดีกว่า ด้วยผลบุญนี้ เราพึงมีอยู่มีกินอย่างสบายในชาติหน้า
คิดได้ดังนี้จึงยกอาหารถาดนั้นไปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า นัยว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเพิ่งออกจากฌานสมาบัติ และทานที่ถวายแก่พระที่เพิ่งออกจากฌานสมาบัตินั้นมีอานิสงส์มาก ส่วนมากมักจะให้ผลทันตาเห็น
กรณีกระทาชายนายนี้ก็เช่นกัน แกได้รับผลทันตาเห็นเลยทีเดียว เศรษฐีนายจ้างแกอยากรู้ว่ากระทาชายนายลุงเชยได้อาหารรสเลิศประเภท “เชลล์ชวนชิม” แล้ว แกจะกินเอร็ดอร่อยปานใด หรือว่าจะมูมมามจนท้องแตกตายเหมือนชูชก จึงส่งคนมาดูแล้วให้ไปรายงาน
คนของเศรษฐีมาเห็นกระทาชายนายนี้แกยกอาหารถวายพระ จึงกลับไปรายงานให้เศรษฐีทราบ เศรษฐีให้เรียกเขาไปหา ชมเชยการกระทำของเขาและให้ทรัพย์จำนวนหนึ่ง ขออนุโมทนาในผลบุญที่เขากระทำ
กระทั่งพระราชา เมื่อทรงทราบก็ทรงเลื่อมใสในการกระทำของเขา จึงทรงขอแบ่งส่วนบุญจากเขา และพระราชทานทรัพย์ให้เขาจำนวนมาก สถาปนาให้เขาในตำแหน่งเศรษฐีนามว่า “ภัตตภติกะเศรษฐี” แปลว่า เศรษฐีผู้รับจ้าง (๓ ปี) เพื่ออาหาร (ถาดเดียว)
คัมภีร์ยังกล่าวด้วยว่า คนเราทำบุญแล้วได้อานิสงส์มาก เพราะประกอบด้วย “สัมปทา” (ความถึงพร้อมสมบูรณ์) ๔ ประการ คือ
๑.ผู้รับทานมีศีลบริสุทธิ์ เช่น เป็นพระอริยบุคคล (วัตถุสัมปทา)
๒.สิ่งของที่จะให้ทานได้มาด้วยความสุจริต (ปัจจยสัมปทา)
๓.จิตเลื่อมใสใน ๓ กาล คือ ก่อนให้ กำลังให้ และหลังจากให้แล้ว (เจตนาสัมปทา)
๔.ผู้รับทานเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ (คุณาติเรกสัมปทา)
กระทาชายนายนี้แกมีครบทั้ง ๔ ประการ ข้าวถาดเดียวของแกจึงบันดาลให้ได้เป็นเศรษฐีทันตาเห็น เศรษฐีอดีตกระยาจกคนนี้แหละมาเกิดเป็นสามเณรสุขรูปที่กล่าวถึงนี้
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรสุข
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๔-๑๘๔๕ ประจำวันที่ ๑๘-๒๔ และ ๒๕-๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘
สามเณรโสปากะ (๑)
คราวก่อนกล่าวไว้ในตอนท้ายว่า สามเณรอายุ ๗ ขวบที่ได้รับพุทธานุญาตให้อุปสมบทด้วยวิธีพิเศษมีอยู่ ๒ รูปคือ สามเณรสุมนกับสามเณรโสปากะ
สามเณรโสปากะไม่มีประวัติในคัมภีร์ ธัมมปทัฏฐกถาหรืออรรถกถาธรรมบทที่พระเณรท่านเรียนกัน แต่มีอยู่ในอรรถกถาแห่งเถรคาถา (ปรมัตถทีปนีภาค ๒) จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในแวดวงยุทธจักรดงขมิ้น
ประวัติโสปากะพูดขัดแย้งกัน ตอนแรกกล่าวว่าเป็นบุตรสัปเหร่อ จึงได้นามว่าโสปากะ คำว่า “โสปากะ” คงแปลว่าเผา เช่น เผาศพ (แปลว่าหุง แปลว่าต้มก็ได้ ดังเรามีคำเรียกพ่อครัวว่า พ่อครัวหัวป่าก์ ต่อมาเขียนหดเข้าเป็นหัวป่า)
คนเขียนคนเดียวกันนั้นแหละกล่าวต่อว่า อาจารย์บางพวกกล่าวว่า โสปากะเกิดในตระกูลพ่อค้านามว่า “โสปากะ” สักแต่ว่าตั้งขึ้นเพื่อสิริมงคลเท่านั้น มิได้เกี่ยวกับสัปเหร่อหรือการเผาผีเผาศพแต่อย่างใด
แล้วท่านก็บรรยายรายละเอียดว่า
เด็กน้อยโสปากะเกิดได้ ๔ เดือน บิดาก็สิ้นชีวิต จึงตกอยู่ในการดูแลของจุฬบิดา (น้องชายพ่อ หรืออา) ไม่บอกว่าอากลายเป็นพ่อเลี้ยงหรือผู้ดูแลแทนพ่อ พิเคราะห์ดูอาจเป็นพ่อเลี้ยงจริงๆ ก็ได้ เวลาโสปากะทะเลาะกับลูกๆ ของเขา พ่อเลี้ยงจะดุด่าและลงโทษเสมอ
ไม่ว่าหญิงหรือชายมี “เรือพ่วง” ไปแต่งงานใหม่มักจะมีปัญหา มีเรื่องระหองระแหงกันในครอบครัว เช่น ลูกคุณมารังแกลูกฉัน หรือลูกคุณมารังแกลูกเรา หรือลูกเรารังแกลูกคุณและลูกฉัน ว่ากันให้วุ่น
วันหนึ่งพ่อเลี้ยงโกรธจัด จึงนำเด็กชายโสปากะไปป่าช้า เอาเชือกผูกแขนไพล่หลังมัดไว้กับศพทิ้งไว้ด้วย หมายใจจะให้เป็นเหยื่อสุนัขจิ้งจอก เด็กน้อยเห็นสุนัขจิ้งจอกกำลังมาจึงร้องไห้ด้วยความกลัว ว่ากันว่า เสียงร้องไห้ของเด็กน้อยผู้น่าสงสารได้ยินไปถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรวจดูด้วยพระญาณก็ทรงทราบเหตุการณ์โดยตลอด จึงทรงแผ่พระรัศมีไปยังเด็กน้อยตรัสว่า โสปากะไม่ต้องกลัว เธอจงมองดูตถาคต ตถาคตจะช่วยเธอให้รอด ดุจปล่อยพระจันทร์จากปากราหูฉะนั้น
ด้วยพุทธานุภาพ เชือกที่มัดอยู่ขาดออก โสปากะเป็นอิสระและได้บรรลุโสดาปัตติผล รู้ตัวอีกทีก็มานั่งเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ในพระคันธกุฎีแล้ว
ข้างฝ่ายมารดาเมื่อบุตรชายหายไป ก็เที่ยวตามหาไปจนทั่ว เมื่อไม่พบจึงเข้าไปพระอาราม คิดได้อย่างเดียวว่า พระพุทธเจ้าทรงมีญาณหยั่งรู้อดีต ปัจจุบัน อนาคต พระองค์ย่อมทรงทราบว่าลูกเราอยู่ที่ไหน เราไปกราบทูลขอพึ่งพระมหากรุณาของพระองค์ดีกว่า ไปถึงก็ถวายบังคมแล้วกราบทูลถามถึงบุตรชายของตนเอง
พระพุทธองค์ทรงทราบว่า นางมีอุปนิสัยแห่งมรรคผล จึงตรัสสอนธรรมว่า บุตรทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้ บิดาและพี่น้องก็ช่วยไม่ได้ คนเราเมื่อถึงคราวจะตาย ญาติพี่น้องทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้
เท่ากับเตือนว่า บุตรที่สุดแสนรักนั้น เขาก็มีคติหรือทางไปเป็นของเขาเอง เอาเข้าจริงเขาก็ช่วยเหลืออะไรเราไม่ได้ คติหรือทางไปของเราจะเป็นอย่างไร จะไปดีไปร้ายก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง
นางได้ฟังก็ได้คิด คิดตามไปก็ยิ่งเห็นจริงตาม จึงได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หารู้ไม่ว่าในขณะนั้นบุตรน้อยของตนก็นั่งฟังพระธรรมเทศนานั้นอยู่ใกล้ๆ นั่นเอง แต่ด้วยอิทธาภิสังขาร (การบันดาลด้วยฤทธิ์) สองแม่ลูกจึงมองไม่เห็นกัน ลูกชายได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
จากนั้นพระพุทธองค์ทรงคลายฤทธิ์ สองแม่ลูกจึงเห็นกัน
•
สามเณรโสปากะ (จบ)
ถามว่าทำไมเด็กน้อยอายุเพียง ๗ ขวบจึงได้บรรลุพระอรหัตผล คำตอบก็มีว่า เพราะเด็กน้อยคนนี้ ในอดีตกาลอันนานโพ้นได้สร้างบุญบารมีไว้
ในชาติที่กล่าวถึงนั้น โสปากะเกิดในตระกูลพราหมณ์ ออกบวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญพรตอยู่บนยอดเขาสูงแห่งหนึ่ง เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าสิทธัตถะ ขณะเขาใกล้จะตาย พระพุทธเจ้าสิทธัตถะเสด็จไปโปรดเขา
เขาแต่งอาสนะดอกไม้ถวายให้พระพุทธองค์ประทับ พระพุทธองค์ประทับเหนืออาสนะดอกไม้นั้น ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอนิจจตา (ความไม่เที่ยง) ปลดเปลื้องเขาจากความยึดถือผิดๆ ว่าสรรพสิ่งเที่ยงแท้นิรันดร
เขาเจริญอนิจจสัญญา (ความระลึกว่าไม่เที่ยงแท้) ในใจ จวบจนสิ้นลม ละจากอัตภาพนั้นแล้วไปเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวในสังสารวัฏตลอดกาลยาวนาน
ในที่สุดก็บังเกิดเป็นเด็กน้อยโสปากะในกรุงราชคฤห์ดังที่กล่าวมาแล้ว
พระพุทธเจ้าตรัสถามปัญหา “อะไรเอ่ย” ทำนองปริศนาธรรม เช่น “อะไรเอ่ยชื่อว่าหนึ่ง” โสปากะกราบทูลว่า “สัตว์ทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร (อาหารชื่อว่าหนึ่ง)
“อะไรชื่อว่าสอง” ตรัสถามอีก
“นามกับรูป ชื่อว่าสอง” โสปากะกราบทูล
จนกระทั่งถึง “อะไรชื่อว่าสิบ” เด็กน้อยก็กราบทูลได้ทุกข้อ ไม่ได้อย่างไรเล่าครับ ไม่ใช่เด็กน้อยธรรมดา หากแต่เป็นเด็กน้อยอรหันต์นี่ครับ
“การมอบปัญหาให้คิดหาคำตอบนี้คงคล้ายกับที่พุทธนิกายเซนเรียกว่า “โกอาน” (ญี่ปุ่น) หรือ “กงอั้น” (จีน) นั่นเอง เมื่ออรหันต์น้อยโสปากะตอบได้หมดทุกข้อ พระพุทธองค์ก็ประทานสาธุการ แล้วประทานการอุปสมบทให้เธอ
เรียกการอุปสมบทนี้ว่า “ปัญหาพยากรณูปสัมปทา” (การอุปสมบทด้วยการตอบปัญหา)
น่าสังเกตว่า โสปากะเธอมิได้ผ่านการบวชเณรก่อน พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทในทันทีทันใด ต่างจากกรณีเด็กน้อยสุมน (ที่พูดถึงมาแล้ว) เด็กน้อยสุมนได้บรรพชาเป็นสามเณรก่อน พระพุทธเจ้าประทานการอุปสมบทอันเรียกว่า “ทายัชชอุปสัมปทา) ให้ แต่โสปากะไม่ต้องบวชเณรก่อนข้ามขั้นเป็นพระภิกษุเลย
โสปากะเถระอดีตเด็กน้อยเกือบจะตกเป็นเหยื่อสุนัขจิ้งจอกเมื่อหวนรำลึกถึงเรื่องราวในอดีตของตน ได้กล่าวคาถามประพันธ์ทำนองอัตชีวประวัติไว้อย่างไพเราะ ขอนำมาลงไว้ตอนท้ายดังนี้ครับ
เราเห็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่านรชน เป็นอุดมบุรุษเสด็จจงกรม อยู่ในร่มเงาแห่งพระคันธกุฎี จึงเข้าไปกราบถวายบังคม เราห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่งประนมมือไหว้พระองค์ผู้ปราศจากกิเลส พระองค์ตรัสถามปัญหา เรารู้ความของปัญหานั้น ไม่สะทกสะท้าน วิสัชนาปัญหานั้น พระองค์ตรัสอนุโมทนาแล้วหันไปตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า โสปากะนี้ใช้สอยจีวรบิณฑบาต เสนาสนะและคิลานเภสัชของชาวอังคะและชาวมคธเหล่านั้น นับเป็นลาภของชาวอังคะและชาวมคธ และเป็นลาภของพวกเขาที่ได้ทำสามีจิกรรม (ความเคารพในรูปแบบอื่นๆ) แก่โสปากะ พระองค์ตรัสกับเราว่า โสปากะ การวิสัชนาปัญหานี้เป็นการอุปสมบทของเธอ เราอายุเพียง ๗ ขวบ ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุ มีชีวิตและร่างกายนี้เป็นชาติสุดท้าย
พระธรรมอันดีงามของพระพุทธองค์ช่างน่าอัศจรรย์แท้หนอ
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรโสปากะ
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๖-๑๘๔๗ ประจำวันที่ ๑-๗ และ ๘-๑๔ มกราคม ๒๕๕๙
.
สามเณรนิโครธ
สามเณรที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้มีชีวิตอยู่หลังพุทธกาลสามศตวรรษ ชื่อสามเณรนิโครธ ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป
พระเจ้าอโศกเป็นใคร ชาวพุทธรู้จักกันดีพอๆ กับรู้จักพระเจ้าปเสนทิโกศลและพระเจ้าพิมพิสารในยุคพุทธกาลนั้นแล
ขอเท้าความสั้นๆ เพื่อผู้ที่ยังไม่เคยทราบได้รู้จักไว้
หลังพุทธปรินิพพานประมาณสองร้อยกว่าปี (พ.ศ.ไม่แน่นอนจึงไม่อยากใส่) พระเจ้าพินทุสารผู้ครองเมืองปาตลีบุตรก็สิ้นพระชนม์
เมื่อสิ้นพระราชบิดา พระราชโอรสทั้งหลาย (ว่ากันว่ามีถึง ๑๐๑ องค์) ก็แย่งชิงราชสมบัติกัน
อโศกกุมารขณะนั้นเป็นอุปราชครองเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี ทรงถือว่าเป็นรัชทายาทโดยตรงจึงยกพลมาจากเมืองอุชเชนีมายึดราชบัลลังก์ โดยจับพระราชโอรสเหล่านั้นปลงพระชนม์เรียบ ยกเว้นติสสกุมาร พระอนุชาร่วมพระอุทร
สุมนกุมาร พระเชษฐาองค์ใหญ่ ก่อนจะสิ้นพระชนม์รับสั่งให้พระชายาผู้ทรงครรภ์แก่หนีไป นางได้หนีไปอยู่กับพวกคนจัณฑาลนอกเมือง ให้กำเนิดบุตรน้อย ณ กระท่อมใต้ต้นไทร จึงขนานนามว่า “นิโครธ”
หัวหน้าคนจัณฑาลได้ปรนนิบัติดูแลนางและบุตรอย่างดีดังหนึ่งเจ้านายของตน
เมื่อกุมารน้อยอายุได้ ๗ ขวบก็บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา (แม่คงต้องการให้ลูกปลอดภัยในชีวิตด้วย จึงสนับสนุนให้บวช หาไม่อาจต้องราชภัยในภายหลัง) สามเณรน้อยนิโครธออกบิณฑบาตโปรดสัตว์เป็นนิตย์
วันหนึ่งผ่านไปทางพระราชวัง บังเอิญเช้าวันนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชทรงยืนใกล้สีหบัญชร (หน้าต่าง) ผินพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา ทอดพระเนตรผ่านช่องพระแกล (หน้าต่างอีกนั่นแหละ) เห็นสามเณรน้อยเดินไปอย่างสงบสำรวมก็เกิดความเลื่อมใส
ตำราว่าเกิดความรักดุจดังบุตร ทรงรำพึงเบาๆ ว่า คนส่วนมากมีจิตฟุ้งซ่าน หวาดกลัวดุจเนื้อสมันระวังภัย แต่เด็กน้อยนี้มีจิตสงบเยือกเย็นสำรวมยิ่งนัก จะแลหน้าเหลียวหลัง ยกเท้าแกว่างมือ ก็สำรวมงดงามยิ่งนัก
“สามเณรน้อยนี้มิใช่ธรรมดาแน่ คงบรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่ง” พระราชาทรงรำพึงกับพระองค์เอง
จึงรับสั่งให้อำมาตย์ไปนิมนต์สามเณรน้อยเข้าไปในวัง ถวายภัตตาหารแก่สามเณรแล้วรับสั่งถามว่า “สามเณรทราบพุทโธวาทบ้างไหม แสดงให้โยมฟังหน่อย”
สามเณรนิโครธกล่าวอย่างถ่อมตนว่า “ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพทราบโดยเอกเทศ” ความหมายก็คือทราบบางส่วน ไม่มากนัก
“แสดงให้โยมฟังบ้างเถิด” พระราชาทรงอาราธนา
สามเณรจึงกล่าวคาถาพุทธวจนะว่า
อปฺปมาโท อมตํปทํ ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
อปฺปมตฺตา น มียนฺติเย ปมตฺตา ยถา มตา
“ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ที่ประมาทแล้ว ถึงมีชิวิตอยู่ก็เสมือนคนตายแล้ว”
พระราชาทรงเกิดปีติปราโมทย์อย่างยิ่ง จึงตรัสว่า
“สามเณร โยมจะถวายภัตตาหารแด่สามเณรประจำ ๘ ที่”
“ขอถวายพระพร อาตมภาพขอถวายแก่อุปัชฌาย์ของอาตมา” สามเณรตอบอย่างสำรวม
“อุปัชฌาย์คือใคร” พระราชาตรัสถาม ต้องการทราบนามของอุปัชฌาย์ของสามเณรน้อย แทนที่สามเณรน้อยจะบอกนาม กลับอธิบายความหมายของคำว่า “อุปัชฌาย์” ให้พระราชาฟังว่า
“อุปัชฌาย์คือผู้ที่เห็นโทษ (ความผิด) น้อยใหญ่ แล้วตักเตือนให้ระลึกได้” (ความหมายก็คือผู้ที่คอยดูแลว่า ศิษย์มีความบกพร่องอะไร ตรงไหน แล้วคอยตักเตือนพร่ำสอน)
“ถ้าเช่นนั้น โยมจะถวายอีก ๘ ที่”
“อาตมภาพขอถวายแก่อาจารย์ของอาตมา”
“อาจารย์คือใคร”
“อาจารย์คือผู้ที่ให้ศิษย์ดำรงอยู่ในธรรมอันพึงศึกษาในพระศาสนานี้” (ความหมายก็คือ ผู้ที่คอยให้การศึกษาอบรมแก่ศิษย์)
“ถ้าเช่นนั้น โยมจะถวายอีก ๘ ที่”
“อาตมภาพขอถวายแก่พระสงฆ์”
“พระสงฆ์คือใคร” พระราชาเห็นปฏิภาณอันเฉียบคมของสามเณรน้อยจึงทรง “เล่น” ด้วย คราวนี้ไม่คิดเอาคำตอบสามัญแล้ว หากแต่ต้องการคำอธิบายในทางธรรมจากสามเณร สามเณรก็อธิบายความหมายของพระสงฆ์ว่า
“พระสงฆ์คือหมู่แห่งภิกษุซึ่งเป็นที่อาศัยบรรพชาและอุปสมบทของอาจารย์และอุปัชฌาย์ของอาตมภาพ” (ความหมายก็คือ อาจารย์และอุปัชฌาย์ของสามเณรนิโครธบวชเป็นเณรและบวชเป็นพระอาศัยหมู่ภิกษุใด หมู่ภิกษุนั้นแหละคือพระสงฆ์ พูดให้ชัดก็คือ หมู่แห่งภิกษุที่ทำการบรรพชาอุปสมบทแก่ผู้มาขอบวชนั่นเอง
“ถ้าเช่นนั้น โยมถวายอีก ๘ ที่” พระราชาตรัสย้ำ
สามเณรจึงรับว่า “สาธุ” วันรุ่งขึ้นจึงนิมนต์ภิกษุ ๓๒ รูปเข้าไปรับภัตตาหารในพระบรมมหาราชวัง
พระเจ้าอโศกเมื่อได้ทราบว่าสามเณรน้อยรูปนี้เป็นพระภาคิไนย (หลาน) ของพระองค์ก็ยิ่งเลื่อมใส ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ถวายความอุปถัมภ์แก่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจังต่อไป
คัมภีร์อรรถกถาของฝ่ายเถรวาท (สมันตปาสาทิกา) แต่งไว้อย่างนั้น แต่จากหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งคือ ศิลาจารึกที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำไว้เองกลับระบุว่า พระองค์ทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนาเพราะเหตุผลอื่น
คือทรงสลดพระราชหฤทัยที่ทอดพระเนตรเห็นคนตายในสงครามมากมาย จึงทรงเห็นมาหาความสงบในทางธรรม
หลักฐานที่ว่านี้บันทึกไว้ดังนี้ครับ
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่อได้อภิเษกแล้ว ๘ พรรษา ทรงมีชัยปราบแคว้นกลิงคะลงได้ จากแคว้นกลิงคะนั้นประชาชนจำนวนหนึ่งแสนห้าหมื่นคนถูกจับเป็นเชลย จำนวนประมาณหนึ่งแสนคนถูกฆ่าและอีกหลายเท่าของจำนวนนั้นได้ล้มตายไป นับแต่กาลนั้นมาจนบัดนี้ อันเป็นเวลาที่แคว้นกลิงคะได้ถูกยึดครองแล้ว การทรงปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรมและการอบรมสั่งสอนธรรม ก็ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระผู้ทรงเป็นที่รักแห่งทวยเทพ (จารึกศิลาฉบับที่ ๑๓)
ไม่พูดตรงๆ ว่า “นับถือพระพุทธศาสนา” แต่คำว่า “การทรงปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรม และการอบรมสั่งสอนธรรม” ในที่นี้คือธรรมในพระพุทธศาสนานั่นเอง
และกล่าวกันว่า พระเจ้าอโศกทรงอุปสมบทเป็นภิกษุในขณะที่ยังครองราชสมบัติด้วยสิ้นระยะเวลาหนึ่ง (ว่ากันว่าหนึ่งพรรษา) การสละราชสมบัติออกผนวชนี้พระมหากษัตริย์ที่มีพระบุญญาบารมีมากๆ เท่านั้นจะพึงทำ เพราะไม่แน่ว่าขณะยังทรงผนวชอยู่นั้นจะถูกปฏิวัติรัฐประหารแย่งชิงราชบัลลังก์หรือไม่ กษัตริย์พระองค์ใดทรงทำได้อย่างนี้ ถือกันว่าเป็นพระมหาราชอย่างแท้จริง
หลังจากพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว ก็มีพระมหากษัตริย์ในยุคหลังพยายามเป็น “อโศกที่สอง” หลายพระองค์ คือทรงสละราชสมบัติผนวชชั่วคราว และอุปถัมภ์สังคายนาพระพุทธศาสนา ตลอดจนอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์อย่างจริงจัง
พระเจ้าอโศกมหาราชหลังจากเป็นพุทธมามกะแล้วทรงสร้างเจดีย์และวิหาร (แปลว่าวัด) อย่างละ ๘๔,๐๐๐ แห่งนี้ ถือตามจำนวนพระธรรมขันธ์หรือหัวข้อธรรมในพระไตรปิฎกและถวายความอุปถัมภ์แก่พระภิกษุสามเณรเป็นการใหญ่ พระภิกษุสงฆ์สามเณรไม่มีความลำบากเกี่ยวกับปัจจัยสี่ มีความสะดวกในการบำเพ็ญกิจพระศาสนา
ถือว่ายุคนี้เป็นยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาก็ว่าได้ แต่ในความเจริญนั้นถ้าประมาท ความเสื่อมก็เข้ามาแทรกได้ พวกอัญเดียรถีย์ (ผู้ที่นับถือศาสนาอื่น) เห็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้รับเกียรติ มีลาภสักการะมากมายอยากได้เป็นอย่างนั้นบ้าง จึงปลอมบวชเป็นจำนวนมาก (ระบบคัดคนเข้าหละหลวมแล้วครับ)
บวชมาแล้วก็มาแสดงคำสอนนอกธรรมนอกวินัย สร้างความวิปริตบิดเบือนขึ้นแก่พระพุทธศาสนา จนเป็นเหตุให้กระทำสังคายนาครั้งที่สาม ชำระสะสางสังฆมณฑล (คัดคนไม่ดีออก) ทำให้พระศาสนาคืนคงความบริสุทธิ์ดังเดิม
ท่านทำกันอย่างไร ผมไม่มีหน้าที่บรรยายตรงนี้เพราะเท่าที่เล่ามานี้ก็นอกเรื่องพอสมควรแล้ว
สรุปตรงนี้คือสามเณรนิโครธมีบทบาทสำคัญยิ่งคือเป็นผู้ชักจูงให้พระเจ้าอโศกซึ่งเดิมเขาเรียกว่า “จัณฑาโศก” (อโศกดุร้าย) หันมานับถือพระพุทธศาสนากลายเป็น “ธรรมาโศก” (อโศกผู้ทรงธรรม) เป็นต้นแบบการปกครองบนพื้นฐานแห่งพุทธธรรมอันเรียกว่า “ธรรมราชา” หรือ “ธรรมวินัย” นั้นแล
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรนิโครธ (๑)
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๘ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ มกราคม ๒๕๕๙
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 กุมภาพันธ์ 2559 15:56:01 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #49 เมื่อ:
29 มกราคม 2559 15:33:26 »
.
สามเณรจุนทะ
วันนี้ขอนำเรื่องราวสามเณรน้องชายพระสารีบุตรอัครสาวกมาเล่าให้ฟัง ว่ากันว่าท่านพระสารีบุตรมีน้อง ๓ คน คือ จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ ทั้งสามคนถูกพี่ชายใหญ่จับบวชเณรหมด สร้างความเสียอกเสียใจแก่มารดาของท่านมาก ที่ไม่มีใครสืบสกุล ว่ากันว่าอีกนั่นแหละ มารดาของท่านเคยโกรธลูกชายคนโตขนาดหนักมาระยะหนึ่ง ตอนพระลูกชายจะนิพพานนั่นแหละค่อยเข้าใจลูกชาย ฟังพระลูกชายเทศนาธรรมแล้วถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต
วันนี้ขอพูดถึง สามเณรจุนทะก่อน ผู้บันทึกประวัติดูจะสับสนพอสมควรคือ พูดถึงจุนทะ ๒ คน มหาจุนทะ คนหนึ่ง จูฬจุนทะ อีกคนหนึ่ง และพูดถึงจุนทะสมณุทเทศ (สามเณรโค่ง) อีกคนหนึ่ง แล้วบอกว่า จุนทะสมณุทเทศนี้เป็นคนเดียวกับมหาจุนทะ
ในคัมภีร์อปทาน มีคาถาหรือโศลกเล่าเรื่องราวของพระจุนทะ และบอกด้วยว่า ท่านเป็นบุตรของพราหมณ์วังคันตะและนางสารีพราหมณี
และในอรรถกถาอปทานเรียกจุนทะท่านนี้ว่า “จูฬจุนทะ”
ในหลักฐานอีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า มหาจุนทะ (หรือจุนทะสมณุทเทศ) ตามพระพี่ชายไปในช่วงท้ายแห่งชีวิตท่าน พอพระพี่ชายท่านนิพพานแล้วหอบบาตรจีวรและพระธาตุของท่าน ร่ำไห้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จนพระพุทธองค์ตรัสถามว่า สารีบุตรตายไป สารีบุตรนำเอาศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุติไปด้วยหรือ จุนทะกราบทูลว่า เปล่า “อ้าว เปล่า แล้วเธอจะเสียใจทำไม”
มหาจุนทะ (จุนทะสมณุทเทศ) นี้ ร่ำไห้เพราะพี่ชายตาย ทั้งๆ ที่หลักฐานบอกว่าได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ทำไมในที่นี้จึงร่ำไห้ พระอรหันต์ขีณาสพ ร่ำไห้ดูกระไรอยู่ เห็นมีแต่พระโสดาบันเท่านั้นที่ร้องไห้เหมือนคนทั่วไป (ดังกรณีนางวิสาขา)
สรุปแล้ว แม้ว่าอรรถกถาจะพยายามพูดถึงจุนทะ ๒ ท่าน แต่ไปๆ มาๆ ก็ปนเปกัน จนเป็นจุนทะเดียวกัน ผมจึงขอรวบรัดตัดประเด็น เอาว่าเรื่องราวต่างๆ ที่ระบุที่นั่นบ้างในนาม “จุนทะ” เป็นเรื่องของสามเณรจุนทะน้องชายพระสารีบุตรทั้งหมดก็แล้วกัน
คัมภีร์หนึ่งเล่าอดีตชาติของท่านจุนทะว่า ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ท่านได้เกิดเป็นช่างหม้อ ได้ถวายบาตรดินแด่พระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เมื่อท่านมาเกิดในชาตินี้ ได้บรรพชาและอุปสมบทเป็นภิกษุแล้วจึงมีผู้เรียกท่านว่า เอกปัตตทายกะ (ผู้ถวายบาตรใบหนึ่ง) ทำไมรู้ก็ไม่ทราบ หรือว่าพระพุทธเจ้าตรัสบอกหรือว่าท่านจุนทะเองรำลึกชาติได้แล้วเล่าให้คนอื่นฟัง
อีกคัมภร์หนึ่ง บอกว่า ในชาติก่อนอันยาวนานโพ้น สมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า สิทธัตถะ ท่านได้ถวายกำดอกมะลิอันหอมหวน ด้วยอานิสงส์แห่งบุปผาทานนั้น ท่านไปเกิดเป็นท้าวสักกะจอมเทพ ๗๗ ครั้ง และได้เกิดเป็นพระราชามหากษัตริย์หนึ่งครั้ง ในปัจจุบันชาตินี้ ท่านจึงได้ออกบวชและได้บรรลุพระอรหัตตั้งแต่ ๗ ขวบ ต่อมาได้เป็นอุปัฏฐากรับใช้พระพุทธเจ้าอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่พระอานนท์จะมารับหน้าที่ถาวร
เรื่องราวสมัยเป็นสามเณรของท่านจุนทะ ไม่มีเล่าไว้พอจะนำมาขยายต่อได้ แต่เดาเอาว่า เมื่อบวชแล้วก็คงอยู่ในความดูแลของพระพี่ชายอยู่พักหนึ่ง แต่เมื่อท่านได้พระอรหันต์แล้ว ถึงจะอายุยังน้อยก็ยังถือว่าเป็น “พระเถระ” ดูแลตนเองได้แล้ว พระพี่ชายคงจะไม่จำเป็นต้องให้ติดสอยห้อยตามท่านตลอดไป
การที่ท่านจุนทะชอบติดตามพระสารีบุตรผู้พี่ไปไหนต่อไหนในเหตุการณ์สำคัญๆ หลายครั้ง คงเป็นด้วยท่านจุนทะมีความรักและสนิทกับพี่ชายมาก
หลักฐานอีกแห่งหนึ่งเล่าว่า อาจารย์ของท่านจุนทะคือ พระอานนท์ เป็นไปได้ว่า นอกจากพระพี่ชายแล้วก็คงพระอานนท์นี่แหละองค์หนึ่งทำหน้าที่เป็นอาจารย์ของท่านจุนทะ แต่ก็ตะขิดตะขวงใจนิดหนึ่งว่า พระอานนท์ยังเป็น “เสขบุคคล” (คือเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์) ในขณะที่ท่านจุนทะเป็นพระอรหันต์มาตั้งแต่อายุ ๗ ขวบแล้ว จะเป็นศิษย์อาจารย์กันได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ท่านจุนทะสนิทสนมกับพระอานนท์มาก เรื่องหนึ่งที่ถือว่าท่านจุนทะมีบทบาทสำคัญ และชักชวนให้พระอานนท์พลอยมีบทบาทด้วยก็คือ ความเป็น “จุดเริ่ม” แห่งการทำสังคายนา
เมื่อคราวมหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) ศาสดาแห่งศาสนาเชน (ศาสนาพระแก้ผ้าและต่อมามีนิกายนุ่งขาวห่มขาว) ปรินิพพาน สาวกทั้งหลายต่างก็ทะเลาะทุ่มเถียงกันเป็นการใหญ่ กล่าวว่า นี้ธรรม นี้มิใช่ธรรม นี้วินัย นี้ไม่ใช่วินัย เรื่องอย่างนี้พระศาสดาไม่เคยสอน ท่านสอนอย่างนี้ต่างหาก อะไรทำนองนั้น
ปรากฏว่าเหล่าสาวกของมหาวีระแตกสามัคคี แยกกันออกเป็นก๊กเป็นเหล่า ไม่ผิดอะไรกับสมาชิกผู้ทรงเกียรติแห่งประเทศสนธยาหลังยุบสภา บ้างก็เร่ร่อนไปเข้าพรรคนั้นพรรคนี้ บ้างก็หาพรรคแทบไม่ได้ บ้างก็ถูกรับเข้าพรรคแล้วถูกเขาเขี่ยทิ้งภายหลัง ต้องเก็บความแค้นไว้ลึกๆ รอชำระในวันข้างหน้า “วันพระมิได้มีหนเดียวดอกเว้ย” อะไรทำนองนั้น
ท่านจุนทะสมณุทเทศ (แสดงว่าตอนนั้นยังอายุไม่ครบบวชพระ เป็นสามเณรโค่งวัยจ๊าบอยู่) ทราบข่าวเข้า จึงไปหาพระอานนท์ผู้เป็นอาจารย์ เล่าเรื่องราวให้ฟังแล้วทั้งสองก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบ
พระพุทธองค์ตรัสถึงศาสดาหลายประเภท ศาสดาประเภทไหนดี ประเภทไหนไม่ดี ตรัสถึงวิธีสอบสวนพระธรรมวินัย และตรัสทำนองแนะให้สังคายนาพระธรรมวินัยว่า “ธรรมที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง พึงสังคายนา พึงวิจารณ์อรรถะกับอรรถะ พยัญชนะกับพยัญชนะ เพื่อให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นาน เพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เท่ากับบอกเป็นนัยว่า ถ้าอยากให้พระศาสนาดำรงอยู่ได้นาน หลังจากศาสดาล่วงลับไปแล้ว ก็ให้ “สังคายนา” พระธรรมวินัยให้เป็นระเบียบวินัย หาไม่พอสิ้นพระศาสดาอันเป็นหลักชัยแล้ว สาวกจะทะเลาะแตกแยกกันเปล่าๆ ดังกรณีศาสดามหาวีระ
ตามเนื้อเรื่องของท่านจุนทะ มิได้ทำอะไรเป็นรูปธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ ผู้ทำกลับเป็นพระพี่ชายของท่าน เข้าใจว่าท่านจุนทะก็คงเล่าให้พระสารีบุตรฟังด้วยนั่นแหละครับ เมื่อพระสารีบุตรทราบเรื่องแล้วจึง “ลงมือ” สังคายนาพระธรรมวินัย
สังคายนาในความหมายนี้คือ รวบรวมพระธรรมวินัยเป็นหมวดหมู่ ท่านได้จัดสรรหมวดหมู่ธรรมะ คำสอนของพระพุทธองค์ตั้งแต่หมวดหนึ่ง หมดสอง หมวดสาม เรื่อยไปจนถึงหมวดสิบ
ใช้เวลานานเท่าไร ไม่ระบุชัด แต่หลังจากทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านตั้งชื่อว่า “สังคีติสูตร” (สูตรว่าด้วยการร้อยกรอง หรือรวบรวมธรรม) และอีกสูตรหนึ่งชื่อ “ทสุตตรสูตร” (สูตรว่าด้วยหมวดธรรมจากน้อยไปมากจนถึงสิบ)
เมื่อทำเสร็จ ท่านก็แสดงต่อที่ประชุมพระภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ทำนองเสนอบทความทางวิชาการ อะไรอย่างนั้นแหละครับ พระสงฆ์ท่านฟังแล้วก็ยอมรับ คราวนั้นเป็นโอกาสเหมาะสมที่สุดที่พระสารีบุตรได้แสดงผลงานของท่านต่อที่ประชุม เพราะมีพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากมาประชุมกันที่ห้องโถง (สัณฐาคาร) สร้างใหม่ของพวกศากยะ และที่สำคัญก็คือพระพุทธองค์ทรงบัญชาให้ท่านแสดงด้วย
หลังจากท่านแสดงธรรมจบลง พระพุทธองค์ก็ประทานสาธุการเป็นการยอมรับผลงานของท่านว่าใช้ได้
น่าเสียดายอยู่นิดเดียวว่า ท่านพระสารีบุตรอายุสั้น ท่านด่วนนิพพานก่อนพระพุทธเจ้า ถ้าท่านอยู่นานกว่านี้ งานการสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยคงจะสำเร็จสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นท่านพระสารีบุตรแล้ว ก็ยังมีผู้สืบทอดเจตนารมณ์นี้ก็คือ พระมหากัสสปะ ได้ประชุมพระอรหันต์ล้วน ๕๐๐ รูป กระทำสังคายนา ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ๓ เดือน
การทำสังคายนาครั้งนี้ส่วนหนึ่งก็สานต่องานที่พระสารีบุตรอัครสาวกกระทำไว้ อีกหลายส่วนก็เป็นการวางหลักการสำรับสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป
เราซึ่งเป็นคนรุ่นหลัง ก็ได้ทราบเพียงว่าในการสังคายนาครั้งนี้ พระมหากัสสปะเป็นประธาน และทำหน้าที่ซักถามข้อธรรม ข้อวินัย ที่เป็นประเด็นสำคัญๆ พระอุบาลีผู้เป็นเอตทัคคะในด้านพระวินัย ก็วิสัชนาปัญหาทางพระวินัยให้ที่ประชุมทราบ พระอานนท์ผู้เป็นเอตทัคคะในด้านเป็นพหูสูต หรือผู้สดับตรับฟังมากก็วิสัชนาปัญหาด้านพระธรรม
พระสงฆ์ที่ประชุมกันก็รับรองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การรับรองของพระสงฆ์ ณ คราวนี้เองเรียกว่า “เถรวาท” (วาทะ หรือข้อตกลงของพระเถระทั้งหลาย)
คำนี้เดิมมีความหมายเพียงแค่นี้ แต่ต่อมาเมื่อเกิดการแยกนิกายออกไป และตั้งชื่อนิกายของตนว่า มหาสังฆิกะ ในศตวรรษที่ ๒ หลังพุทธปรินิพพาน พระสงฆ์ที่ถือตามแบบฉบับเดิมมาตั้งแต่สมัยสังคายนาครั้งที่หนึ่งจึงได้นามที่เป็นนิกาย “เถรวาท” ตั้งแต่บัดนั้นมา
ที่ว่ามาทั้งหลายนี้ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับท่านจุนทะสักเท่าไร แต่ที่จริงแล้ว การทำสังคายนาของพระสารีบุตรและของพระสงฆ์อรหันต์ ๕๐๐ รูป อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ก็สืบเนื่องมาแต่อดีตสามเณรน้อยจุนทะรูปนี้เอง
เพราะอดีตสามเณรจุนทะเห็นความแตกแยกของสาวกของศาสดาที่ไม่จัดระบบคำสอนให้ดี จึงคิดว่าน่าจะกระทบถึงพระพุทธศาสนาด้วย จึงเข้าหาพระอานนท์ชวนพระอานนท์ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า
เพราะความเคลื่อนไหวของท่านครั้งนี้ ทำให้พระพุทธองค์ประทาน “นัย” ให้เหล่าสาวกไปคิดทำอะไรสักอย่างเพื่อความมั่นคงแห่งพระศาสนา
และพระสารีบุตรท่านก็
sense
ได้ จึงเริ่มสังคายนาพระธรรมวินัยจนได้รับการสานต่อจากพระมหากัสสปะในกาลต่อมา
เครดิตทั้งหมดนี้ต้องยกให้อดีตสามเณรจุนทะ หรือพระจุนทะรูปนี้เองครับ
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรจุนทะ
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๙ ประจำวันที่ ๒๒-๒๘ มกราคม ๒๕๕๙
สามเณรเรวตะ
เล่าเรื่องสามเณรน้องชายพระสารีบุตรมาแล้วหนึ่งรูปคือสามเณรจุนทะ คราวนี้มาถึงเรื่องราวของสามเณรเปี๊ยก นามว่า
เรวตะ
หรือ
เรวัต
บ้าง ดังได้กล่าวแล้วว่า พระสารีบุตรท่านได้พบชีวิตใหม่ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้า เพราะพระอัสสชิเป็นผู้แนะนำ เมื่อท่านบวชเข้ามาแล้วจึงเคารพพระอัสสชิ อาจารย์ของท่านมาก ถึงกับนอนหันศีรษะไปยังทิศต่างๆ ที่ทราบว่าท่านอัสสชิอยู่
เมื่อท่านเข้ามาในพระพุทธศาสนาก็อยากเห็นลูกหลานได้เข้ามาลิ้มรสแห่งสันติสุขอย่างท่านบ้าง จึงเกลี้ยกล่อมน้องชายมาบวชกันทุกคน
น้องคนเล็กที่ชื่อเรวตะนี้ ตอนนั้นยังเล็กมาก แต่ท่านก็บอกพระสงฆ์ที่อยู่หมู่บ้านท่านไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าน้องชายท่านอยากบวช ก็จงให้บวชเลย โยมทั้งสองก็คอยระวังแจกลัวลูกชายคนโตจะมาเอาน้องคนเล็กไปบวชอีก จึงชิง “ตัดหน้า” ด้วยการจัดการให้ลูกชายแต่งงานตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ
งานแต่งงานได้จัดขึ้นอย่างหรูหรา เจ้าบ่าวเจ้าสาวยังเล็กเกินกว่าจะรู้เรื่องของโลก เขาพาทำพิธีต่างๆ ก็ตื่นเต้นสนุกสนานตามประสาเด็ก ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็ผลัดกันเข้ามายังห้องพิธี เพื่ออวยพรเจ้าบ่าวเจ้าสาว
“ขอให้อายุมั่นขวัญยืนครองชีวิตคู่ยาวนาน”
“ขอให้ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร”
“ขอให้อายุยืนเหมือนคุณยาย”
เสียงอวยพรดังขึ้นไม่ขาดระยะ จนกระทั่งพิธีแต่งงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เป็นที่ชื่นชมของญาติวงศ์ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว
เจ้าบ่าวน้อยเรวตะได้ยินคำอวยพรก็สะดุดใจทันที ภาพคุณยายอายุเกินร้อยร่างกายทรุดโทรม หนังเหี่ยวฟันหลุด ผมขาวโพลน เดินแทบไม่ได้ มือไม้สั่นเทิ้ม ต้องให้คนคอยพยุงลุกพยุงนั่ง จึงถามผู้ใหญ่ว่า เจ้าสาวของผมก็จะเป็นเช่นคุณยายใช่ไหม
“ใช่แล้ว จะอายุยืนปานนั่นแหละ” ญาติๆ ตอบ
“แล้วผมก็จะเป็นเช่นนั้นไหม”
“เป็นคือกัน คักแท้ๆ เด้ ลูกเอ๋ย” เสียงตอบยืนยัน ผู้ตอบนึกว่าเป็นการให้กำลังใจ
ตรงข้ามกับสร้างความสลดหดหู่ให้เกิดขึ้นแก่เจ้าบ่าวน้อย พลันภาพพระพี่ชายก็ผุดขึ้นในใจ สงสัยอุปติสสะพี่ชายเราคงคิดเห็นเช่นเดียวกันนี้ จึงเบื่อหน่ายออกไปบวช อย่ากระนั้นเลย เราไปบวชดีกว่า
คิดว่าถ้าจะลาบวชตรงๆ คงไม่ได้รับอนุญาตเพราะเพิ่งแต่งงาน จึงคิดจะหนีไปบวชขณะที่เขาแห่เพื่อส่งตัวเจ้าบ่าวไปยังห้องหอที่เตรียมไว้อย่างสวยหรูนั่น เรวตะได้ช่องทางหลบหนีไปยังสำนักวัดป่าซึ่งอยู่ใกล้ทางผ่าน เข้าไปขอบวช
ภิกษุทั้งหลายรู้ว่าเด็กน้อยเป็นน้องชายพระสารีบุตร จึงจัดการบวชเณรให้ เพราะถือว่าได้รับอนุญาตจากพระพี่ชายแล้ว
พระสารีบุตรรู้ว่าน้องชายคนเล็กได้บวชเป็นสามเณรแล้ว คิดจะไปนำตัวมาอยู่ด้วยที่พระเชตวันมหาวิหาร แต่พระพุทธองค์ตรัสว่าให้รอสักพรรษาหนึ่งก่อน ออกพรรษาแล้วค่อยไป พระองค์ก็จะเสด็จไปด้วย
ต้องเข้าใจนะครับ น้องชายท่านอยู่เมืองราชคฤห์ พระเชตวันมหาวิหารอยู่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ห่างกันคนละรัฐทีเดียว ระยะทางมิใช่ใกล้
ฝ่ายสามเณรน้อยเรวตะคิดว่า ถ้าอยู่ที่วัดป่านั้น พวกญาติอาจตามมาพบและนำตัวกลับบ้าน จึงเรียนกรรมฐานจากพระเถระทั้งหลายแล้วเข้าไปอยู่ในป่าสะแก ซึ่งอยู่ห่างจากวัดประมาณ ๓๐ โยชน์ (๔๐๐ เส้นเป็นหนึ่งโยชน์ เอา ๓๐ คูณก็แล้วกัน)
ภายในพรรษานั้นเอง สามเณรน้อยบำเพ็ญจิตภาวนาจนได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นสามเณรน้อยอรหันต์
เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระสารีบุตรไปทูลลาพระพุทธเจ้า เพื่อไปเยี่ยมสามเณรน้องชายอีก ท่านคงเป็นห่วงว่าอยู่อย่างไร เพราะตัวยังเล็กนัก คราวนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ก็จะไปด้วย จึงพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมากเสด็จดำเนินไปยังเมืองราชคฤห์
ว่ากันว่ามีทางไปยังสองเส้นทาง เส้นทางหนึ่งเป็นทางตรงระยะทางประมาณ ๓๐ โยชน์ แต่เต็มไปด้วยพวก “อมนุษย์”
อีกเส้นทางหนึ่งเป็นทางอ้อมระยะทางประมาณ ๖๐ โยชน์ สะดวกสบายไม่มีอันตราย พระพุทธองค์ทรงเลือกเส้นทางตรง แม้จะไม่ค่อยปลอดภัยนักก็ไม่สู้กระไร เพราะคงไม่เกิดอะไรขึ้นกับขบวนพระสงฆ์ซึ่งมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข
แต่เส้นทางนี้ค่อนข้างกันดาร ไม่ค่อยมีผู้คน อาหารบิณฑบาตย่อมหายาก สงสัยกันว่าทำไมพระพุทธองค์ทรงเลือกเส้นทางนี้ ไม่กลัวพระสงฆ์อดตายหรืออย่างไร
ไม่อดและไม่ตายแน่นอนครับ เพราะทรงทราบว่าในขบวนตามเสด็จมีพระสีวลีเถระอยู่ด้วย พระสีวลีเป็นพระเถระมีบุญ มีลาภมาก ไปไหนๆ ก็จะมีลาภเสมอ คราวนี้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าเข้าป่ากันดาร ถึงไม่มีผู้คนจะนำข้าวปลาอาหารมาถวายพระสงฆ์ เหล่าเทพยดาทั้งหลายก็พากันตระเตรียมอาหารมาถวายตลอดทาง
ฝ่ายสามเณรน้อยอรหันต์เรวตะก็นิรมิตพระคันธกุฎีถวายพระพุทธองค์ประทับ สร้างเรือนยอด ลานจงกรม สถานที่พักกลางวันและกลางคืนถวายพระภิกษุสงฆ์ด้วยอิทธิฤทธิ์ ทำให้พระสงฆ์ทั้งปวงคิดว่ากำลังอยู่ในวัดสวยงามท่ามกลางป่า
แท้ที่จริงแล้วก็คือป่าสะแกดีๆ นี้เอง ที่กลายเป็นสถานที่มีสิ่งปลูกสร้างโอ่โถง สวยงามได้เพราะอำนาจอิทธิฤทธิ์บันดาล
พระแก่สองรูป เห็นกุฏิตึก เห็นอาคารต่างๆ สร้างอย่างสวยงาม ก็นึกตำหนิว่าภิกษุนี้ (หมายถึงสามเณรเรวตะ) คงมัวแต่ก่อสร้าง จะเอาเวลาที่ไหนบำเพ็ญเพียรทางจิต พระศาสดาเสด็จมาเยี่ยมผู้สนใจแต่กับการก่อสร้างอย่างเรวตะ คงเห็นว่าเป็นน้องชายพระอัครสาวก พูดง่ายๆ ว่า เห็นแก่หน้าว่าอย่างนั้นเถอะ
พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระขรัวตาสองรูปนี้คิดอกุศลต่อพระอรหันต์ขีณาสพ (ผู้หมดสิ้นกิเลส) จะเป็นบาปเป็นกรรมโดยใช่เหตุ จึงทรงบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ให้ขรัวตาสองรูปนี้ลืมบริขาร เมื่อทั้งสองกลับมาเอาบริขารที่วัดไม่เห็นตึกรามสวยงามที่เคยพักเลยแม้หลังเดียว มีแต่ป่าสะแกเต็มไปหมด ต้องบุกป่าฝ่าหนามสะแกค้นหาบริขารของตน พบห่อของๆ ตนห้อยอยู่ที่กิ่งสะแกต้นหนึ่ง แล้วกลับไปด้วยอาการงงๆ เหมือนนักมวยถูกหมัดฮุกของฝ่ายตรงข้าม
เหตุการณ์ผ่านไปเดือนกว่าๆ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากการเยี่ยมสามเณรน้อยอรหันต์แล้วก็เสด็จกลับไปยังเมืองสาวัตถีประทับบุพพาราม นางวิสาขามหาอุบาสิการู้ว่าพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมากประทับอยู่ที่วัดบุพพารามของตนจึงตระเตรียมภัตตาหารไว้ถวายในวันรุ่งขึ้น
ขรัวตาสองรูปอยู่ในจำนวนนั้นด้วยรีบไปบ้านนางวิสาขาแต่เช้าตรู่ทีเดียว (แสดงว่าต่างคนต่างไป ไม่พร้อมกัน ฉันเสร็จก็กลับวัด) นางวิสาขานำข้าวยาคูมาถวายขรัวตาทั้งสองรูป จึงเรียนถามว่าที่อยู่ของเรวตะอรหันต์น้อยเป็นอย่างไร น่าอยู่ไหม
ทั้งสองรูปลืมว่าเมื่อเดือนกว่าที่ผ่านมาพวกตนได้อยู่ในตึกสวยงามอย่างไร นึกได้แต่ตอนกลับไปเอาของที่ลืมไว้ ต้องบุกดงสะแกถูกหนามตำเท้าจนเลือดไหล จึงตอบว่า “น่าอยู่อะไรกัน โยม มีแต่ป่าสะแกไม่เหมาะที่คนจะอยู่ น่าจะเป็นที่อยู่ของพวกเปรตมากกว่า”
พระแก่คล้อยหลัง พระหนุ่มอีกสองรูปมาถึง นางถวายข้าวยาคูแล้วถามถึงที่อยู่ของเรวตะอรหันต์น้อย ทั้งสองพูดด้วยความอัศจรรย์ใจว่า “โอ มหาอุบาสิกา ในป่าในดงอย่างนั้นทำไมมีกุฏิสวยงามมากมายหลายหลัง ยังกับวิมาน น่ารื่นรมย์ดุจเทวสภาชื่อสุธรรมาบนดาวดึงส์สวรรค์ก็มิปาน โยมเอ๋ย”
ฟังภิกษุสองกลุ่มพูดไม่เหมือนกันเลย นางวิสาขาคิดว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างแน่หลังจากถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์แล้ว จึงกราบทูลถามว่าที่อยู่ของเรวตะอรหันต์น้อยเป็นอย่างไรกันแน่
พระพุทธองค์ตรัสว่า “อุบาสิกา ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือป่าก็ตาม พระอรหันต์อยู่ ณ สถานที่ใด สถานที่นั้นน่ารื่นรมย์ทั้งนั้น” แล้วตรัสโศลกบทหนึ่งว่า ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม หรือที่ดอน พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ที่ใด ที่นั้นไซร้ น่ารื่นรมย์
สามเณรเรวตะหลังจากได้อุสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ในเอตทัคคะ (ในความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ด้านอยู่ป่าเป็นวัตร (คืออยู่ป่าเสมอ) ตลอดชีวิตท่าน ท่านอยู่สงบแต่ในป่า โดยเฉพาะป่าสะแกท่านชอบมาก จนได้นามว่า “ขทิรวนิยเรวตะ” (เรวตะ ผู้ชอบอยู่ป่าสะแก) บางท่านแปลว่า “อยู่ป่าตะเคียน” ก็แล้วแต่จะแปลเถอะครับ
เพราะชอบอยู่ป่านี่เอง จึงเกิดเรื่องครั้งหนึ่ง เมื่อท่านชราภาพแล้ว ท่านถูกจับพร้อมของกลาง ที่พวกโจรมาทำหล่นไว้ เขาหาว่าท่านขโมยของเขามา เมื่อเรื่องถึงพระราชาท่านได้แสดงความบริสุทธิ์ของท่าน ว่าอย่าว่าแต่ขโมยเลย แม้เจตนาสักนิดเดียวที่จะเอาของที่เขาไม่ให้ก็ไม่มีในใจท่าน พระราชาทรงเชื่อจึงให้ปล่อยท่านไป
แล้วท่านก็เข้าเตโชธาตุสมาบัติเหาะขึ้นในอากาศ
บัดดลนั้น ก็เกิดเปลวเพลิงลุกไหม้เผาร่างท่านเป็นเถ้าธุลี ดับขันธ์ปรินิพพาน ในห้วงนภากาศนั้นแล
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรเรวตะ
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๐ ประจำวันที่ ๒๙ มกราคม - ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
.
สามเณรนาคเสน
วันนี้ขอเล่าประวัติสามเณร “นิรนาม” รูปหนึ่ง มีชีวิตอยู่ก่อนพุทธกาลนี้ คือในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ว่าอย่างนั้น ความว่า ในอาวาสแห่งหนึ่ง มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่อาศัยอยู่ ภิกษุทั้งหลายถือ ”วัตร” อย่างเคร่งครัด คือตื่นเช้าขึ้นมาก็จะจับไม้กวาดกวาดลานวัด ลานเจดีย์ เก็บขยะไปทิ้ง อย่างพร้อมเพรียงกัน วัดวาอารามสะอาดสะอ้านน่ารื่นรมย์ สมนาม “อาราม”
อาราม แปลตามศัพท์ว่า สถานที่ที่คนมาแล้วรื่นรมย์ (อาคนฺตวา รมนฺติ เอตฺถาติ อารามโม=สถานที่ใดที่คนทั้งหลายมาถึงแล้ว มีความรื่นรมย์ สถานที่นั้นเรียกว่า อาราม)
ส่วนสถานที่ใดแม้ว่าจะมีพระสงฆ์อยู่ คนเข้าไปถึงแล้ว มีแต่ความหงุดหงิดรำคาญใจ เหลียวไปไหนก็มีแต่ขยะ และรอยขีดเขียนคำไม่สุภาพตามกำแพง และมีกลิ่นปัสสาวะเหม็นคลุ้ง
อ้อ ตามลานวัดก็มีตลาดสด หรือไม่ก็เป็นลานจอดมากกว่าจะทำเป็นสวนหย่อม มีต้นไม้ใหญ่ใบหนา ให้คนที่มาถึงได้นั่งพักให้ร่มรื่นชื่นอารมณ์ สถานที่ดังว่านี้ไม่สมนามว่า อารามดอกครับท่าน
วันหนึ่งภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งกวาดลานวัดอยู่อย่างขะมักเขม้น เรียกสามเณรน้อยรูปหนึ่งมาสั่งว่า สามเณรเอาขยะไปทิ้งที สามเณรน้อยทำเป็นไม่ได้ยิน ภิกษุหนุ่มนึกว่าสามเณรไม่ได้ยินจริงๆ จึงเรียกตั้งสามครั้ง เจ้าสามเณรน้อยรูปนี้ก็แกล้งเอาหูทวนลมเสีย
ภิกษุหนุ่มจึงเอาด้ามไม้กวาดตีสามเณร พร้อมคำรามว่า “มันดื้อจริงวะ เณรน้อยรูปนี้” บังคับให้เธอเอาขยะไปทิ้งจนได้
สามเณรน้อยร้องไห้พลางขนขยะไปทิ้งพลาง แล้วตั้งความปรารถนา (อธิษฐาน) ดังๆ ว่า “ด้วยบุญคือการนำขยะไปทิ้งนี้ ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังไม่บรรลุพระนิพพาน ไม่ว่าจะเกิดในชาติภพใด ก็ขอให้เป็นเป็นผู้มีศักดิ์ (อำนาจ) มากดุจแสงพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน”
เมื่อทิ้งขยะเสร็จแล้ว จึงไปอาบน้ำยังแม่น้ำ เห็นคลื่นมันก่อตัวแล้วซัดเข้าหาฝั่งครั้งแล้วครั้งเล่า จึงตั้งความปรารถนาว่า “ตราบใดที่เรายังไม่บรรลุพระนิพพาน ไม่ว่าจะเกิดในชาติภพใด ขอให้มีปฏิภาณเฉียบคมไม่รู้หมดสิ้นดุจเกลียวคลื่นเหล่านี้”
ฝ่ายภิกษุหนุ่ม ไปอาบน้ำเหมือนกัน ได้ยินสามเณรน้อยอธิษฐาน ว่าเณรเปี๊ยกนี้ ทิ้งขยะก็เพราะเราใช้ให้ทำ ถ้ามีอานิสงส์จากการทิ้งขยะเราควรจะได้ก่อน ว่าแล้วก็อธิษฐานดังๆ ว่า ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังไม่บรรลุพระนิพพาน ไม่ว่าจะเกิดในชาติภพใดขอให้มีปฏิภาณไม่รู้หมดรู้สิ้น ดุจคลื่นเหล่านี้ และขอให้สามารถแก้ปัญหาทุกข้อที่สามเณรนี้จะพึงถาม
เรียกว่าเกทับบลั๊ฟฟ์แหลกกัน ว่าอย่างนั้นเถอะ
ทั้งสอง คือ ทั้งภิกษุหนึ่งและสามเณรหนึ่งท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏตลอดพุทธันดรหนึ่ง ตกมาถึงพุทธกาลนี้ สามเณรนิรนามนั้นมาเกิดเป็นพระยามิลินท์ (เป็นชาวกรีก นามเดิมว่า เมนานเดอร์)
ภิกษุหนุ่มมาเกิดเป็นบุตรโสณุตตรพราหมณ์ แห่งหมู่บ้านกชังคละ เชิงเขาหิมาลัย เด็กน้อยมีนามว่า นาคเสน พราหมณ์ผู้เป็นพ่อเป็นพราหมณ์นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู มิได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไม่เคยทำบุญในพระพุทธศาสนา แม้จะมีพระภิกษุรูปหนึ่งยืนที่หน้าบ้านของตน แกก็มิได้สนใจ รำคาญเข้าก็ไล่ตะเพิด พระท่านก็ไม่ว่าอะไร เช้าวันรุ่งขึ้นก็มายืนสงบหน้าบ้านแกอีก แกก็ไล่ไปเหมือนเดิม
ถามว่า พระไปบิณฑบาต ไปยืนรอหน้าบ้านเขาได้หรือ ตอบว่า ธรรมเนียมโบราณสมัยพุทธกาลนั้น พระไปยืนหน้าบ้าน ถ้าเขามีอาหารและมีจิตศรัทธา ก็จะออกมาใส่บาตร ถ้าเขาไม่มีใส่ หรือไม่มีศรัทธาเขาก็จะบอกว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด” แล้วพระท่านก็จะไปที่อื่น
ธรรมเนียมไทยไม่เช่นนั้น ถ้าเห็นพระมายืนรอรับบิณฑบาต ก็นินทาแล้ว “อะไรกัน ทำไมไม่เดินบิณฑบาต มายืนรอทำไม อย่างนี้ไม่ถูกต้อง”
ครับ ไม่ถูกต้องตามวัฒนธรรมไทย แต่มิได้ผิดวัฒนธรรมพุทธนะขอรับ
ถามอีกว่า ทำไมพระเถระรูปนี้จึงทนทู่ซี้มายืนหน้าบ้านพราหมณ์คนนี้ตั้งนาน (ว่ากันว่าเป็นเวลา ๗ ปี) ตอบว่า เพราะท่านถูกทำ “พรหมทัณฑ์” คือในช่วงที่พระอรหันต์ทั้งหลายประชุม “วางแผน” เกี่ยวกับอนาคตพระพุทธศาสนานั้น ท่านรูปนี้มัวแต่เข้าฌานสมาบัติอยู่ ไม่ได้มาประชุมด้วยจึงถูกสงฆ์ลงโทษ ให้หาวิธีเอาเด็กน้อยนาคเสนมาบวชให้ได้ เพื่อจะได้เป็นกำลังพระพุทธศาสนา ปราบคนมิจฉาทิฐิที่เห็นผิดอย่างพระยามิลินท์ที่พูดถึงนี้
วันหนึ่ง ท่านเดินกลับวัด สวนทางกับพราหมณ์โสณุตตระ พราหมณ์ถามท่านว่า สมณะ วันนี้ท่านไปบ้านข้าพเจ้าหรือไม่ เมื่อรับคำตอบว่าไป จึงถามว่า “ได้อะไรบ้างไหม”
ถามไปอย่างนั้นเอง เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่มีใครใส่บาตรดอก แต่ผิดคาด พระเถระตอบเบาๆ ว่า “วันนี้อาตมาได้ โยม”
ได้ยินดังนั้นก็หูร้อนทันทีรีบไปบ้านถามคนในบ้านด้วยความโกรธว่า “ใครให้ข้าวสมณะ” เมื่อทุกคนปฏิเสธ “มิได้ให้เลย” ก็ยิ่งโกรธกำลังสอง คือโกรธสมณะ หาว่าพูดเท็จ พรุ่งนี้เถอะ ข้าจะจับผิดสมณะรูปนี้ให้ได้
รุ่งเช้าขึ้นมา แกก็นั่งรอพระเถระแต่เช้า พอเห็นหน้าก็ต่อว่าหาว่าท่านโกหก เมื่อวานนี้ไม่มีใครให้อะไรท่านเลย ท่านกลับบอกว่าได้
“อาตมาได้จริงๆ โยม” พระตอบสงบ
“ได้อะไร”
“ได้คำพูดไพเราะ เมื่อวานนี้ภรรยาของท่านกล่าวกับอาตมาว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด ตลอด ๗ ปี อาตมาไม่ได้รับการต้อนรับด้วยไมตรีเลย มาเมื่อวานนี้ได้คำพูดอ่อนหวานว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด อาตมาหมายเอาคำพูดนี้ อาตมาจึงบอกโยมว่าอาตมาได้”
ฟังพระเถระอธิบาย พราหมณ์ก็อึ้งไป นึกไม่ถึงว่าสมณศากยบุตรนั้นเป็นผู้มีจิตใจละเอียดอ่อนปานนั้น มีจิตใจกตัญญูรู้คุณอะไรปานนั้น เพียงแค่ได้คำพูดอ่อนหวานฉันไมตรีจิต ก็ยังซาบซึ้งว่าเป็นบุญคุณ จึงเกิดความเลื่อมใสนิมนต์ขึ้นไปฉันภัตตาหารที่บ้านเป็นประจำ แต่วันนั้นมาพระเถระก็กล่าวธรรมกถาวันละเล็กละน้อย โปรดโยมอุปัฏฐากของท่าน
เด็กน้อยนาคเสน เห็นพระเถระนุ่งห่มแปลกๆ ก็เข้ามาซักถาม ทำไมนุ่งห่มอย่างนี้ ทำไมไม่ไว้ผมเหมือนคนอื่น พระเถระก็อธิบายให้ฟังว่าพระในพระพุทธศาสนาต้องครองเพศอย่างนี้ ถามว่าท่านรู้ไตรเพทไหม ท่านบอกว่าท่านรู้ เมื่อถามไถ่เรื่องราวของไตรเพท พระเถระก็ตอบได้หมด พอพระเถระถามบ้างก็ตอบไม่ได้ จึงอยากจะขอเรียนจากพระเถระ
พระเถระว่า จะไม่สอนให้แก่คนที่ไม่ถือเพศอย่างเดียวกับตน เด็กน้อยนาคเสน อยากเรียนจากพระเถระ จึงตัดสินใจบวช ไปขออนุญาตพ่อแม่แต่ไม่ได้รับอนุญาตในเบื้องต้น
จึงประท้วงด้วยการอดอาหาร ยื่นคำขาดว่าถ้าไม่ได้บวชก็ขออดอาหารตายดีกว่า
พ่อแม่กลัวลูกตาย และคิดอีกทีว่า ลูกชายของตนเป็นคนใฝ่รู้มาก เมื่ออยากได้ความรู้แล้ว ไม่มีใครห้ามได้ เธอบวชเรียนได้ความรู้จากพระเถระแล้วก็คงสึกออกมา จึงอนุญาตให้ลูกชายบวช
ลืมบอกไปว่า พระเถระที่เทียวไล้เทียวขื่อตลอดเวลา ๗ ปี กว่าจะได้ตัวเด็กน้อยนาคเสนมาเป็นศิษย์รูปนี้ นามว่าพระโรหนเถระ ท่านโรหนะได้ให้เด็กน้อยนาคเสนบวชเป็นสามเณร ขณะนั้นอายุเพียง ๗ ขวบ บวชแล้วก็ให้การศึกษาอบรมอย่างดี โดยให้เรียนอภิธรรมก่อน
ว่ากันว่า อภิธรรม ๗ คัมภีร์ สามเณรน้อยนาคเสนใช้เวลา ๗ เดือน ก็เรียนจบและมีความแตกฉานอย่างดีเยี่ยม เธอได้สาธยายให้พระอรหันต์ทั้งหลายฟังอย่างแม่นยำ ไม่ผิดพลาด เมื่ออายุครบบวชพระก็ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีพระโรหนะเป็นพระอุปัชฌาย์
ตามประวัติดูเหมือนว่า นาคเสนขณะยังเป็นสามเณรอยู่ได้ศึกษาเฉพาะอภิธรรม ต่อเมื่อบวชแล้วจึงถูกส่งไปศึกษาปิฎกอื่น (พระสูตร และพระวินัย) จาก
พระอัสสคุต
และ
พระธัมมรักขิต
จนเป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกอย่างหาผู้เปรียบปานได้ยาก
ภายหลังถูกพระธัมมรักขิตเตือนว่า “อย่าเป็นเพียงเด็กเลี้ยงโค รับค่าจ้างเลี้ยงโคให้เขา แต่มิได้ดื่มรสน้ำนมโค” ความหมายก็คือ อย่าบำเพ็ญตนเป็นเพียงพหูสูต รู้หลักทฤษฎีเท่านั้น จงนำเอามาปฏิบัติจนได้รู้เห็นด้วยตนเองด้วย
ท่านจึงคร่ำเคร่งบำเพ็ญสมาธิวิปัสสนาจนในที่สุดได้บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา (ความแตกฉาน ๔ ด้าน คือ แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในภาษา และในปฏิภาณ)
ในช่วงที่กล่าวถึงนี้ คู่ปรับเก่าในอดีตชาติ (พระยามิลินท์) ได้โต้วาทะหักล้างนักปราชญ์ต่างๆ จนไม่มีใครสู้ได้ ต่างหลบหน้าไปหมด พระหนุ่มนาคเสน จึงได้เดินทางไปยังเมืองสาคละ เพื่อโต้วาทะกับพระยามิลินท์
การโต้วาทะอันลือลั่นครั้งนั้น ได้บันทึกไว้ในหนังสือชื่อว่า มิลินทปัญหา อยากทราบไหวพริบปฏิภาณของพระหนุ่มอดีตสามเณรน้อยนามว่า นาคเสน ว่าเฉียบคมอย่างไร หาอ่านจากหนังสือเล่มนี้
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรนาคเสน
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๑ ประจำวันที่ ๕-๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 มีนาคม 2559 13:14:35 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #50 เมื่อ:
02 มีนาคม 2559 13:27:29 »
.
สามเณรกุมารกัสสปะ
(๑)
สามเณรรูปต่อไปที่จะกล่าวถึงคือ
สามเณรกุมารกัสสปะ
ในคัมภีร์เรียกว่า
กุมารกัสสปเถระ
ทันทีที่ออกบวช
แต่ดูตามประวัติแล้ว กุมารกัสสปะบวชตั้งแต่อายุยังน้อย จะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากสามเณร ประวัติของท่านค่อนข้างพิสดาร ดังนี้ครับ
มีธิดาเศรษฐีเมืองราชคฤห์นางหนึ่ง มีอุปนิสัยในการบรรพชา อยากบวชมาตั้งแต่รู้ความ ขออนุญาตพ่อแม่ไปบวชในสำนักนางภิกษุณี ก็ไม่ได้รับอนุญาต เมื่อเติบโตเป็นสาวแล้ว พ่อแม่ก็ตกแต่งให้มีครอบครัวกับชายที่มีฐานะทัดเทียมกัน แต่งงานไม่นานก็ตั้งครรภ์โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว
ความคิดอยากจะบวชยังไม่เลือนหายไปจากส่วนลึกของจิตใจ นางจึงขออนุญาตสามีไปบวช สามีคงเห็นความตั้งใจแน่วแน่ของนางกระมัง ในที่สุดได้อนุญาตตามที่ขอ นางจึงไปบวชอยู่ในสำนักของนางภิกษุณี บวชไม่นานครรภ์ก็โตขึ้นๆ จนปิดบังไม่อยู่ เมื่อความลับเปิดเผยว่านางภิกษุณีตั้งท้อง ใครรู้เข้าก็ตำหนิติเตียน ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงเป็นข่าวใหญ่ทางสื่อมวลชน แต่นางภิกษุณีรูปนี้มิได้ทำผิด
ว่ากันว่าสำนักภิกษุณีที่นางสังกัดอยู่ในความดูแลของพระเทวทัต ข่าวภิกษุณีมีท้องรู้ถึงพระเทวทัต ท่านก็ “ฟันธง” ทันทีว่า นางภิกษุณีต้อง “อันติมวัตถุ” คือต้องปาราชิก ขาดความเป็นภิกษุณีแล้ว จึงสั่งให้สึกโดยไม่ต้องสอบสวนให้เปลืองสมอง
นางภิกษุณีผู้น่าสงสาร ก็อุทธรณ์ว่านางไม่มีความผิดตามกล่าวหา ขอความเป็นธรรมด้วย
พระเทวทัตก็ไม่ยอม พูดว่า ก็ท้องเห็นๆ อยู่จะว่าไม่ผิดได้อย่างไร อยู่ๆ มันป่องขึ้นมาเองหรือ อย่างนี้แสดงว่านางมี “เพศสัมพันธ์” กับบุรุษทั้งผ้าเหลืองแน่นอน
นางบอกเหล่าภิกษุณีว่า นางมิได้บวชอุทิศพระเทวทัต นางบวชอุทิศพระศาสดา (หมายความว่าไม่ได้บวชเป็นศิษย์พระเทวทัต บวชเป็นสาวกของพระศาสดาต่างหาก) ขอให้พานางไปกราบทูลขอพระมหากรุณาจากพระบรมศาสดาเถิด ภิกษุทั้งหลายจึงพานางไปเฝ้าพระพุทธองค์ ที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี
พระองค์รับสั่งให้พระอุบาลี ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย สอบสวนอธิกรณ์นี้ พระอุบาลีเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะของสตรี บุรุษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภิกษุอย่างท่านจะจัดการเรื่องนี้คงไม่ถนัด จึงไปขอร้องนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้ช่วยสอบสวน นางวิสาขาให้กั้นม่าน นำนางภิกษุณีเข้าไปตรวจสอบภายใน (ภายในม่านครับ และอาจจะ “ภายใน” จริงๆ ด้วยเพื่อความแน่นอน) ตรวจดูมือ เท้า ท้อง และสะดือว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ซักถามวันเวลาที่บวช วันเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย วันเวลาที่รู้สึกว่าประจำเดือนไม่มา คำนวณอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็ได้ข้อสรุปว่า นางตั้งครรภ์ก่อนบวชเป็นภิกษุณี
นางและคณะผู้สอบสวนจึงรายงานผลการสอบสวนให้พระอุบาลีทราบ พระเถระได้นำความกราบทูลพระพุทธองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์รับสั่งประชุมสงฆ์ ตรัสรับรองความบริสุทธิ์ของนางภิกษุณี
เกือบโดนไล่สึกฟรี โดยพระเทวทัตผู้ไม่รอบคอบแล้วละครับ
นางอุ้มท้องอยู่สำนักนางภิกษุณีจนครบกำหนด ก็คลอดลูกชายน่าเกลียดน่าชังคนหนึ่ง เลี้ยงดูตามมีตามเกิด ด้วยความช่วยเหลือของเหล่าภิกษุณีในสำนัก
เย็นวันหนึ่ง
พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จพระราชดำเนินตรวจบริเวณวัด หลังจากเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ตามปกติ ได้ยินเสียงทารกร้อง จึงเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปยังกุฏิที่มีเสียงเด็กร้องลอดออกมา ด้วยความสงสัยในพระราชหฤทัย เมื่อเสด็จเข้าไปก็ทอดพระเนตรเห็นนางภิกษุณีรูปหนึ่งกำลังให้นมทารกน้อยอยู่ จึงตรัสถาม ได้รับการถวายพระพรถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นภิกษุณีมีความลำบากในการเลี้ยงลูกจึงตรัสขอไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรมในพระราชวัง นางก็ตัดใจมอบให้ไปเพื่อเห็นแก่อนาคตของลูกน้อย
เด็กน้อยได้รับขนานนามว่า “กุมารกัสสปะ”
แปลว่า กัสสปะผู้ได้รับการเลี้ยงดูดุจพระราชกุมารอื่นๆ
กุมารกัสสปะเจริญเติบโตพอรู้เดียงสาได้ทราบว่าตนเป็นลูกไม่มีพ่อ เกิดสลดใจ อยากบวช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกบวชในสำนักของภิกษุสงฆ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
ไม่ได้บอกว่าอายุเท่าไหร่ แต่ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท บอกว่าเป็นเวลา ๑๒ ปี นับแต่ลูกน้อยจากไป ภิกษุณีผู้เป็นแม่ไม่เป็นอันบำเพ็ญสมณธรรม มัวคิดถึงแต่ลูกน้อยผู้จากไป แสดงว่า กุมารกัสสปะคงบวชสามเณรเมื่ออายุประมาณสิบกว่าขวบ
วันหนึ่งขณะสามเณรกุมารกัสสปะ ไปบิณฑบาตในเมือง นางภิกษุณีผู้เป็นมารดาก็ไปบิณฑบาตเช่นเดียวกัน นางเห็นสามเณรน้อย จำได้ว่าเป็นลูกชายของตน (จำได้อย่างไรไม่ทราบ เพราะจากไปตั้งแต่ยังเล็กๆ) จึงวิ่งเข้าไปหา ปากก็ร้องเรียกว่า “โอ ลูกแม่ๆ” ล้มลงต่อหน้าบุตรชาย ถันหลั่งขีรธาราออกมาเปียกจีวรหมด (นี่ก็ “เวอร์” อีก ตั้งสิบสองปีแล้วน้ำนมยังไหลอยู่หรือ)
สามเณรน้อยอรหันต์ คิดว่า ถ้าแม่เราได้ยินมธุรสวาจาจากเรา นางก็ยิ่งจะตัดความรักบุตรไม่ขาด เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรมแน่นอน คิดแล้วก็กล่าวกับมารดาด้วยเสียงห้าวๆ ว่า “มัวทำอะไรอยู่ จนป่านนี้แล้ว ยังตัดไม่ขาดกระทั่งความรักลูก”
คำพูดของสามเณรลูกชาย เป็นดุจสายฟ้าฟาดเปรี้ยงลงกลางกระหม่อม นางร้องไห้ด้วยความเสียใจล้มสลบลง ฟื้นขึ้นมา ไม่รู้สามเณรน้อยบุตรชายไปที่ไหนเสียแล้ว
นางคร่ำครวญอย่างน่าสงสารว่า ดูหรือลูกเรา เราร้องไห้คร่ำครวญหาด้วยความรักความห่วงใยมาเป็นเวลาสิบสองปี พอพบหน้า จะพูดดีกับเราสักคำก็ไม่มี ช่างใจไม้ไส้ระกำอะไรปานนั้น
นางพยายามข่มใจ ตัดความรักในบุตรได้ เรียกว่าเมื่อลูกไม่ง้อแม่ก็ไม่ง้อเหมือนกัน ว่าอย่างนั้นเถิด ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญเพียรทางจิต ไม่นานก็สามารถบรรลุมรรคผลชั้นสูงคือเป็นพระอรหันต์
สามเณรกุมารกัสสปะเมื่ออายุครบบวชพระ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในเวลาต่อมา ว่ากันว่าท่านได้บรรลุธรรม เพราะได้ฟังปัญหาพยากรณ์ (การตีปริศนาธรรม) ๑๕ ข้อ จากพระพุทธองค์ แล้วนำไปเพ่งพิจารณาในป่าอันธวัน
จนกระทั่งกระจ่าง “สว่างวาบในใจ” บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทา (ความแตกฉานในเรื่องต่างๆ ๔ ประการ)
ในคัมภีร์มิได้ระบุชัดว่า ท่านบรรลุก่อนบวชพระ หรือขณะยังเป็นสามเณรอยู่
ปริศนาธรรม ๑๕ ข้อ คืออะไรบ้าง รวมถึงการอธิบายเรื่องนรก สวรรค์ ให้เข้าใจง่ายและเป็นรูปธรรมที่สุดของท่านด้วย จะเล่าภายหลัง
•
สามเณรกุมารกัสสปะ
(๒)
เรื่องราวของสามเณรกุมารกัสสปะยังไม่จบ ขอต่ออีกสักตอนสองตอน
หลังจากอุปสมบทแล้ว ปรากฏว่าพระกุมารกัสสปะมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการแสดงธรรมอย่างวิจิตร มีปฏิภาณฉับไวโต้ตอบปัญหายากๆ ได้อย่างดี จนพระพุทธเจ้าทรงยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านการแสดงธรรมอันวิจิตร
ในคาถารัตนบัญชร ต่อมาเรียก ชินบัญชร นั้น บทหนึ่งได้กล่าวนมัสการท่านกุมารกัสสปะว่า
กุมารกสฺสโป เถโร มเหสิ จิตฺตวาทโก โส มยฺหํ วทเน นิจฺจํ ปติฏฐาสิ คุณากโร
= พระกุมารกัสสปะ ผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้มีวาทะอันวิจิตร ผู้เป็นแหล่งแห่งคุณความดีได้มาสถิตอยู่ที่ปากของข้าพเจ้าเป็นนิตย์
ว่ากันว่าเป็น “
คาถานักเทศน์
” คือ นักเทศน์ นักโต้วาที นักอภิปราย รวมถึงพวกที่อาศัยปากหากินทั้งหลาย จะเสกคาถานี้ประจำ หรือขณะจะขึ้นเวทีประคารมกับคนอื่น
นี้แสดงว่า ความเป็นเลิศของท่านกุมารกัสสปะอดีตสามเณรน้อยกำพร้ารูปนี้ เป็นที่รู้กันในหมู่ชาวพุทธทั้งหลาย อ้อ ใครจะจำคาถานี้ไปใช้ก็ได้นะครับ ใช้แล้วได้ผลอย่างไร บอกด้วยก็แล้วกัน
สมัยหนึ่ง
ขณะท่านกุมารกัสสปะอยู่ที่ป่าอันธวันเมืองสาวัตถี เทวดาตนหนึ่งปรากฏตัวต่อหน้าท่านกล่าวปริศนาธรรม ๑๕ ข้อแล้วก็หายวับไป
ท่านกุมารกัสสปะ นึกอย่างไรก็ไม่ทราบคำตอบ จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลถามปริศนาธรรม ๑๕ ข้อนั้น และกราบทูลขอคำอธิบายจากพระพุทธองค์
ปริศนาธรรม ๑๕ ข้อนั้นคือ
มีจอมปลวกหนึ่ง กลางคืนพ่นควัน กลางวันลุกเป็นไฟ พราหมณ์คนหนึ่งสั่งศิษย์ชื่อสุเมธ ให้เอาจอบมาขุดจอมปลวกนั้น สุเมธจึงขุดลงไปพบลิ่มสลัก พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบทางสองแพร่ง พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบหม้อน้ำด่าง พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงอีกพบเต่า พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบเขียงหั่นเนื้อ พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบพญานาค พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกว่า อย่าไปทำอันตรายมัน จงเคารพนอบน้อมมันอย่างดีที่สุด
พระพุทธเจ้าตรัสไขปริศนาให้ท่านกุมารกัสสปะฟัง ดังนี้
๑.จอมปลวก
นั้น หมายถึงร่างกายของคนเรา อันประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) และขันธ์๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) นี้เอง
๒.กลางคืนพ่นควัน
หมายถึงคนเราเมื่อเวลากลางคืน มันจะคิดวางแผนว่าจะทำนั่นทำนี่ จนสมองเต็มไปด้วยโครงการต่างๆ เต็มไปหมด นี่แหละเรียกว่า กลางคืนพ่นควันละ
๓.กลางวันลุกเป็นไฟ
หมายถึงพอเช้าขึ้นมาก็จะไปทำตามแผนการที่วางไว้ให้เป็นรูปร่าง เหนื่อยแทบสายใจจะขาด ดังคำพังเพยว่า “อาบเหงื่อต่างน้ำ” จบแทบว่าร่างกายจะลุกเป็นไฟ
๔.พราหมณ์
หมายถึงผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ ในกรณีนี้เพ่งเอาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๕.สุเมธ
ผู้เป็นศิษย์พราหมณ์ หมายถึง ผู้ยังต้องศึกษาปฏิบัติเพื่อมรรคผล คำว่า “สุเมธ” (แปลว่าผู้มีปัญญา) บอกเป็นนัยว่าผู้ศึกษาต้องใช้ปัญญา
๖.จอบ
เครื่องสำคัญขุดดิน หมายถึงปัญญา
๗.การขุด
หมายถึง วิริยารัมภะ (ความเพียรที่ต่อเนื่อง) ทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ละทิ้งกลางคัน
๘.ลิ่มสลัก
หมายถึง อวิชชา (ความโง่เขลา ความไม่รู้ตามเป็นจริง) ขุดไปพบอวิชชาแล้ว ต้องรีบเอาทิ้ง คือเอาความโง่ทิ้งไป หาไม่จะไม่ได้ผลจากการปฏิบัติ
๙.อึ่งอ่าง
หมายถึง ความคับแค้น เพราะความโกรธ ในการปฏิบัติฝึกฝนตนต้องพยายามอย่าให้กิเลสฝ่ายโทสะเข้ามาครอบงำ
ขอแทรกตรงนี้นิดหน่อย คราวหนึ่งผมถวายความรู้แก่พระนิสิตมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์) ผมยกพระสูตรนี้ขึ้นมาแล้วเปรยว่า ผมไม่เข้าใจเหมือนกัน ทำไมท่านเปรียบความคับแค้นด้วยความโกรธเหมือนอึ่งอ่าง พระนิสิตจากภาคอีสานท่านหนึ่งกล่าวว่า “อาตมารู้แล้ว อาจารย์ อึ่งอ่างนั้นมันจะโผล่ออกมาจากพื้นดินเฉพาะหน้าฝนเวลาฝนตกเท่านั้น เวลานอกนั้นไม่รู้มันอยู่ที่ไหน คงอยู่ใต้ดินนั่นแหละ นานๆ ฝนจะตกสักที ยิ่งทางภาคอีสานฝนยิ่งไม่ค่อยตก อึ่งอ่างมันคงคับแค้นใจมาก พอมีฝนตกมาที มันจึงได้โอกาสโผล่ขึ้นมาร้อง แถมยังถูกคนจับเอาไปทำ ‘ปลาแดก’ (ปลาร้า) อีกด้วย อย่างนี้ไม่คับแค้นไหวหรือ ท่านว่าอย่างนั้น”
ฟังดูก็เข้าทีนะครับ
๑๐.ทางสองแพร่ง
หมายถึงวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ความสงสัยไม่ตัดสินใจอะไรเด็ดขาด เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติเพื่อมรรคผลอย่างยิ่งเป็นหนึ่งในนิวรณ์ (เครื่องปิดกั้นมิให้บรรลุธรรม) ๕ ประการ ข้อเปรียบเทียบนี้ชัดเจนแทบไม่ต้องขยายความ
๑๑.หม้อน้ำด่าง
หมายถึง นิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ อันมี ความพอใจในกาม เป็นต้น นิวรณ์ ๕ เป็นเครื่องย้อมใจให้เป็นไปต่างๆ ตามอำนาจของมัน ไม่ต่างกับหม้อน้ำด่างที่ย้อมผ้าให้เป็นสีต่างๆ พูดให้ชัดก็คือนักปฏิบัติธรรมไม่พึงให้กิเลสทั้งหลายมันย้อมใจจนสูญเสียปกติภาพ
๑๒.เต่า
หมายถึงความยึดมั่นในขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ยึดมั่นว่าตัวกู ของกู (ตัวมึง ของมึงด้วยแหละ) ไม่ว่าทำอะไรถ้าเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นเกินเหตุก็ยากจะได้ผล ยิ่งการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุผลขั้นสูง ยิ่งต้องปล่อยวางความยึดติดในตัวเราของเราให้ได้
ทำไมเปรียบการยึดมั่นในขันธ์ ๕ ดุจเต่าก็ไม่ทราบสิครับ อาจเป็นด้วยว่าเต่ามันเป็นสัตว์เชื่องช้า ความยึดติดในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้บรรลุช้าก็เป็นได้ หรือเต่านั้นกระดองหนามาก ความยึดมั่นถือมั่นมัน “หนา” ไม่แพ้กระดองเต่า ยากที่จะทำลายได้
หรือเต่านั้นมีนิสัยชอบหดหัวเข้ากระดอง เดี๋ยวผลุบเดี๋ยวโผล่ การปฏิบัติธรรมถ้ามัวแต่ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ก็คงไม่ได้ผลเท่าที่ควร
โอ๊ย แปลความได้สารพัดแหละครับ ผิดถูกอย่างไรเป็นเรื่องของท่านผู้อื่นวินิจฉัยเอา ผมก็ลืมอ่าน “อรรถกถา” ว่าท่านอธิบายความไว้อย่างไร
๑๓.เขียงหั่นเนื้อ
หมายถึงกามคุณ (ชนิดของกาม) ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ข้อนี้อธิบายง่าย ปุถุชนอย่างเราร้อยทั้งร้อยก็ตกอยู่ในอำนาจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี้แหละ ท่านเปรียบเหมือนสัตว์ถูกจูงจมูก แล้วแต่มันจะจูงไปไหนเอาง่ายๆ บางคนเป็นทาสลิ้น ติดใจในรสอร่อย เสือกสนไปหามาปรนเปรอลิ้น ไกลแค่ไหนก็ไป บางทีขับรถไปเป็นระยะทางร้อยๆ กิโลเมตร เพียงเพื่อไปกินก๋วยเตี๋ยวชามสองชามที่เขาว่ามันอร่อยนัก เวลาคนเราถูกครอบงำด้วย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันไม่ต่างกับกำลังถูกเขา “ยกขึ้นเขียงเชือด” ยังไงยังงั้น…ถูกเชือดบ่อยๆ แล้วมันจะเหลืออะไร
๑๔.ชิ้นเนื้อ
หมายถึง นันทิราคะ (ความกำหนัดยินดี) ตัวความกำหนัดนี่แหละเป็นประดุจชิ้นเนื้อที่เอร็ดอร่อยนักสำหรับปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ใครมัวแต่เพลินกินชิ้นเนื้อก็ถูกเนื้อเป็นพิษเล่นงานเอา เสียผู้เสียคนไปนักต่อนักแล้ว
๑๕.พญานาค หมายถึง พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง เมื่อขุดมาพบพญานาค นับว่าได้มาพบ “สิ่งประเสริฐที่สุด” แล้ว ไม่ควรเอาทิ้ง ตรงข้าม ควรให้ความเคารพบูชา
ข้อนี้อธิบายได้ว่า
ผู้ปฏิบัติฝึกฝนตนต้องพยายามละสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นอุปสรรคแห่งการปฏิบัติให้หมดตามลำดับ ตั้งแต่ความเขลาไม่รู้จริง ความลังเลสงสัย ความโกรธ ความคับแค้น ความยึดมั่นถือมั่น ความติดในรูป รส กลิ่น เสียง เอาออกให้หมด
เมื่อละสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะบรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องละอะไรอีก เพราะได้บรรลุถึงจุดหมายสูงสุดแห่งการปฏิบัติแล้ว
พระกุมารกัสสปะได้ฟังพระพุทธองค์ทรงไขปริศนาธรรม ๑๕ ข้อ ก็หมดความสงสัย
อ้อ!! เทวดาที่มาถามปริศนาธรรม จะตีความตามตัวอักษรก็ไม่มีใครว่า
ผมว่าคงหมายถึงความนึกคิดของท่านเองมากกว่า
ว่างๆ ก็นึกปริศนาขึ้นมาแล้วเมื่อแก้ไม่ได้หรือไม่กระจ่างจึงต้องไปกราบทูลพระพุทธองค์
คงเพราะนิสัยชอบขบคิดด้วยปัญญาเช่นนี้แหละ ท่านกุมารกัสสปะจึงกลายเป็นผู้ปฏิภาณเฉียบแหลมในเวลาต่อมา
นึกแล้วเชียวว่าเรื่องนี้จะต้องมีตอนสาม ขอยกยอดไปสัปดาห์หน้าครับ
•
สามเณรกุมารกัสสปะ
(๓)
เล่าประวัติสามเณรกัสสปะยังไม่จบ ขอต่ออีกสักตอนเถอะครับ เพราะท่านรูปนี้หลังจากอุปสมบทแล้ว มีชื่อเสียงในด้านการแสดงธรรม เผยแผ่พระพุทธศาสนามาก
ปายาสิราชัญญสูตร ในทีฆนิกาย เป็นบันทึกการโต้วาทะครั้งยิ่งใหญ่ ระหว่างราชันย์ปายาสิผู้ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ กับพระกุมารกัสสปะ ในที่สุดแห่งการถกเถียงอภิปราย ราชันย์ปายาสิยอมเชื่อและละทิฐิ (ทฤษฏี, ความเห็น) ของตน
ปายาสิท่านนี้ พระบาลีเรียกว่า “ราชญญะ” (ราชันย์) เจ้าผู้ครองนครเล็กๆ นามว่า เสตัพยะ ในแคว้นโกศล ปายาสิเป็นนักคิดนักวิจัยก็ว่าได้ เพราะทฤษฎีของเธอที่ว่านรกไม่มีสวรรค์ไม่มีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่เกิดจากความสงสัยในเบื้องต้นแล้ว “ทดลอง” เพื่อพิสูจน์
เมื่อพิสูจน์ตามแนวทางของตนแล้ว จึงประกาศออกมาสู่สาธารณะ ไม่ประกาศเปล่า ท้าทายด้วยว่าใครแน่จริงให้มาโต้กับตน
ประดาพระอรหันต์ที่ไม่มีอภิญญา (ความสามารถพิเศษ) ไม่มีปฏิสัมภิทา (ความแตกฉาน) ก็หลบๆ ไป ไม่อยากตอแยกับท้าวเธอ
ยิ่งทำให้ท้าวเธอได้ใจว่า ในโลกนี้ไม่มีใครเก่งเท่าข้าฯ (นักวิชาการแสนรู้ทั้งหลายมักจะคิดเช่นนี้แหละครับ)
ร้อนถึงท่านกุมารกัสสปะ อดีตสามเณรน้อยลูกกำพร้าได้เดินทางไปสนทนากับราชันย์ปายาสิ
ปายาสิประกาศว่า โลกหน้าไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี
พระมหากัสสปะ ถามว่า ทำไมคิดเช่นนั้น
ปายาสิตอบว่า ข้าพเจ้าเคยทดลองโดยสั่งคนทำชั่ว (ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพูดว่าจะต้องไปตกนรกแน่ๆ) ให้กลับมาบอกหลังจากไปตกนรกแล้ว สั่งไปหลายคนแล้ว แต่ละคนก็รับปาก แต่จนบัดนี้ไม่มีใครกลับมาบอกเลย
พระมหากัสสปะอธิบายว่า นักโทษประหารที่เขานำไปสู่ตะแลงแกงแกจะขออนุญาตให้ปล่อยตัวแกเพื่อไปสั่งเสียลูกเมียสักระยะหนึ่ง ย่อมไม่ได้รับอนุญาต เช่นเดียวกับสัตว์นรก ย่อมไม่มีอิสระที่จะไปไหนมาไหนได้ ถึงเขาไม่ลืมสัญญาของท่าน เขาก็มาบอกท่านไม่ได้
ปายาสิแย้งว่า ไม่ใช่เพียงแค่นั้น พระคุณเจ้า ข้าพเจ้ายังได้สั่งให้คนดีมีศีลธรรม (ที่สมณพราหมณ์ยืนยันว่าตายไปจะต้องไปเกิดบนสวรรค์แน่) ให้กลับมาบอกเช่นเดียวกัน พวกนี้ไปแล้วก็เงียบหาย
พวกเทวดาไม่ได้ถูกทำโทษทรมาน แล้วทำไมเขาไม่มาบอกเล่า อย่างนี้ชี้ให้เห็นชัดๆ แล้วว่าสวรรค์ไม่มีจริง
พระกุมารกัสสปะอธิบายว่า มีเหตุผลสองประการที่เทวดาไม่มาบอกท่าน
ประการแรก คือ ระยะเวลาห่างกันมาก ร้อยปีในเมืองมนุษย์เท่ากับวันคืนหนึ่งของสวรรค์ ถึงแม้ผู้ที่รับปากท่านไม่ลืม กะว่าพรุ่งนี้จะกลับมาบอกท่าน ถึงเวลานั้นท่านก็ตายไปนานแล้ว
อีกประการหนึ่ง โลกมนุษย์นั้นมันสกปรก เหม็นร้ายกาจ ไม่เป็นที่ปรารถนาของเทวดา เมื่อคนตายจากโลกมนุษย์ไปเกิดเป็นเทวดาแล้ว ก็ไม่อยากกลับมาอีก ดุจคนตกหลุมคูถเน่าเหม็น มีคนช่วยยกขึ้นจากหลุม อาบน้ำชำระให้สะอาดแล้วลูบไล้ด้วยของหอม เขาจะยินดีกระโจนลงไปหลุมคูถอีกหรือ ไม่แน่นอน ท่านปายาสิ ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ
ปายาสิกล่าวว่า คำตอบของท่านพอฟังได้โดยอุปมา แต่ข้าพเจ้ายังไม่เชื่ออยู่ดี เพราะถ้านรกสวรรค์มีจริง ข้าพเจ้าก็น่าจะสัมผัสได้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเลย
พระกุมารกัสสปะตอบว่า คนตาบอดตั้งแต่กำเนิดไม่เคยเห็นสีแสงเลย ไม่เคยเห็นพระจันทร์ พระอาทิตย์ เขากล่าวว่า ข้าฯ ไม่เชื่อว่ามีสีต่างๆ ไม่เชื่อว่ามีพระจันทร์ พระอาทิตย์ เพราะข้าฯ ไม่เห็น คำพูดนี้ฟังขึ้นไหม ไม่ขึ้นแน่นอน เพราะคนตาดีเขามองเห็นและรู้ว่าสีต่างๆ มีจริง พระจันทร์ พระอาทิตย์มีจริง
ปายาสิอ้างผลวิจัยว่า ข้าพเจ้าเคยทดลองโดยนำนักโทษประหารมาใส่หม้อใหญ่ทั้งเป็น เอาดินเหนียวพอก ปิดให้มิดชิด แล้วยกขึ้นตั้งบนไฟ คอยเฝ้าดูว่าคนตายแล้ว ชีวะ (วิญญาณ) เขาจะออกจากร่างไปไหน ก็ไม่เห็น ครั้งกะเทาะดินออกดู ก็ไม่เห็นชีวะเขาแต่อย่างใด แสดงว่าตายแล้วสูญ
พระกุมารกัสสปะกล่าวว่า คนนอนหลับฝันว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ คนที่อยู่ใกล้ๆ เห็นชีวะเขาหรือไม่ ขนาดชีวะของคนเป็นๆ ยังไม่มีใครเห็นเลย ชีวะของคนตายแล้วจะเห็นได้อย่างไร
ปายาสิกล่าวว่า คำอุปมาของท่านก็เข้าที แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่ออยู่ดี ข้าพเจ้าเคยวิจัยอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้จับนักโทษประหารมาชั่งน้ำหนักแล้ว เอาเชือกรัดคอเขาจนตาย แล้วยกขึ้นชั่งน้ำหนักดูอีกที ศพกลับหนักกว่าตอนยังมีชีวิตอยู่อีก
ที่ว่าตายแล้วชีวะออกจากร่างก็ไม่จริง เมื่อมันออกจากร่าง ร่างกายต้องเบากว่าสิ แต่นี่กลับหนักกว่าเสียอีก
พระกุมารกัสสปะยกอุปมาอุปไมยให้ฟังว่า เหล็กที่เผาไฟจนร้อนนั้นย่อมเบากว่าเหล็กที่เย็น ฉันใด มนุษย์ก็ฉันนั้น เมื่อยังมีไออุ่น ยังมีจิตวิญญาณอยู่ ร่างกายย่อมเบากว่าเมื่อตายแล้ว ไม่เกี่ยวกับความเชื่อว่าวิญญาณออกจากร่างหรือไม่ออกจากร่างแต่อย่างใด (ความเชื่อแบบนั้นมิใช่คำสอนของพระพุทธศาสนา)
ปายาสิกล่าวอีกว่า ข้าพเจ้ามิได้ทดลองเพียงนั้น ยังทดลองวิธีอื่นอีก คือจับนักโทษประหารมาฆ่าโดยมิให้ผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูกของเขาช้ำ เมื่อเขาจวนจะตายก็ให้นอนหงาย นอนตะแคง คว่ำหน้า ฯลฯ เพื่อเฝ้าดูว่าชีวะของเขาจะออกมาทางไหน ก็ไม่เห็นเลย
พระกุมารกัสสปะตอบว่า ชาวบ้านมุงดูชายคนหนึ่งเป่าสังข์เสียงไพเราะ ชาวบ้านถามว่าเสียงอันไพเราะนี้มาจากไหน คนเป่าสังข์บอกว่าออกมาจากสังข์นี้ ชาวบ้านจึงจับสังข์มาหงายบอกให้เปล่งเสียง สังข์เงียบจับมันคว่ำแล้วบอกให้มันเปล่งเสียง สังข์ก็เงียบอีก จับตะแคง เอาไม้เคาะเอามือทุบ สั่งให้มันเปล่งเสียง มันก็เงียบเหมือนเดิม
คนเป่าสังข์จึงยกสังข์ขึ้นเป่าให้ดู เสียงอันไพเราะก็เปล่งออกมาก ชาวบ้านก็จ้องดูว่าเสียงมันออกมาทางไหน ก็ไม่เห็น
ชาวบ้านโง่ๆ ไม่รู้ว่าวิธีจะให้เสียงเปล่งออกมาจากสังข์ทำอย่างไรและโง่จนไม่รู้ว่าเสียงสังข์นั้นมันมิใช่สิ่งที่มองเห็นได้ ไม่ต่างอะไรกับบางคนที่ต้องการพิสูจน์วิญญาณออกจากร่างกายอย่างไร ทำไมจึงมองไม่เห็น
ตรงนี้พระเถระกำลังจะบอกว่า การพิสูจน์ทดลองเรื่องการตายโดยวิธีนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ถูกตั้งแต่สมมติฐานแล้วว่า คนตายไปชีวะ (วิญญาณ) จะต้องออกจากร่าง เมื่อไม่สามารถพิสูจน์ว่าวิญญาณมันออกจากร่างได้อย่างไรก็เลยไม่เชื่อเรื่องการตาย การเกิด
ปายาสิก็ยังไม่ลดละ เสนอผลงานวิจัยของตนต่อไปว่า ข้าพเจ้าเคยสั่งให้เชือดผิวหนัง เชือดเนื้อ ตัดเอ็น กระดูก ของนักโทษประหารเพื่อจะหาว่าชีวะมันอยู่ที่ไหน ก็ไม่พบ เอามาสับละเอียดก็ไม่พบ ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าชีวะหรือวิญญาณไม่มีจริง
พระกุมารกัสสปะเตือนสติอีกครั้งโดยยกอุปมาอุปไมยว่า ชฏิลผู้บูชาไฟคนหนึ่ง สั่งศิษย์อายุประมาณ ๑๐-๑๑ ขวบ ให้ดูแลกองไฟให้ดี ถ้ามันดับให้ก่อไฟใหม่ ศิษย์มัวเล่นเพลินไฟดับ กลัวอาจารย์ดุ จึงเอาไม้สีไฟมาสีกัน (เพราะเคยเห็นอาจารย์ทำประจำ) ก็ไม่เกิดไฟจึงเอามีดมาถากไม้สีไฟ ก็ไม่มีไฟออกมา จึงสับเป็นชิ้นๆ ก็ไม่เห็นไฟออกมา เสร็จแล้วเอาโขลกในครกจนละเอียด โปรยละอองให้ลมพัด ก็ไม่เห็นไฟออกมา จึงไม่สามารถก่อไฟได้
“เด็กโง่คนนี้ ไม่รู้จักวิธีหาไฟ จึงไม่สามารถก่อกองไฟได้ เช่นเดียวกับท่านไม่รู้จักวิธีแสวงหาปรโลก (โลกหน้า) ก็ย่อมไม่พบความจริง ฉันนั้น” พระกุมารกัสสปะเตือนสติปายาสิว่า เรื่องการตายเกิด เรื่องจิตวิญญาณ ไม่สามารถค้นหาโดยวิธีนั้นได้ เมื่อใช้ “เครื่องมือไม่ถูกกับเรื่อง” ก็ย่อมไม่ได้ความรู้ หรือความจริงที่ถูกต้อง
ปายาสิเมื่อไม่สามารถจะหาเหตุผลมาโต้แย้งได้ จึงกล่าวขึ้นว่า “พระคุณเจ้าก็พูดน่าฟัง แต่ข้าพเจ้ายังไม่สละความคิดเห็นเดิมที่ตัวท่านเองก็เห็นว่ามันไม่ถูกต้องแล้ว”
ปายาสิตอบว่า “จะให้สละได้อย่างไร ในเมื่อใครๆ ก็รับรู้แล้วว่าข้าพเจ้ามีทรรศนะอย่างนี้มาแต่ต้น พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งโกศลรัฐก็ดี กษัตริย์แว่นแคว้นอื่นๆ ก็ดี ต่างก็รับรู้ว่าข้าพเจ้ามีทรรศนะอย่างนี้”
พูดให้ชัดก็ว่า อายเขา ว่าอย่างนั้นเถอะ นักวิชาการผู้มากความรู้ก็อย่างนี้แหละครับ ทั้งๆ ที่รู้ภายหลังว่าตนเห็นผิด ก็ไม่ยอมรับว่าผิด ดึงดันไปทั้งที่ผิดๆ อย่างนั้นแหละ
พระกุมารกัสสปะกล่าวว่า เมื่อรู้ว่าทรรศนะเดิมไม่ถูกต้อง ก็จงสละเสียเถิด อย่าดึงดันเลย เพราะไม่เป็นผลดีแก่ตัวท่าน ว่าแล้วท่านก็ยกอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบ ๔ เรื่อง ขอยกมาเพียงสองเรื่องคือ
๑.คนเลี้ยงหมูไปหมู่บ้านอื่นเห็นขี้หมู นึกว่านี่แหละอาหารหมูจึงเอาผ้าห่มเทินศีรษะเดินกลับบ้าน บังเอิญฝนตกน้ำขี้หมูไหลลงมาเปรอะตามตัว คนเห็นเขาก็หัวเราะเยาะชี้ให้กันดูชายโง่ที่ไหนแบกขี้หมูตากฝน เขาเถียงว่าไม่ใช่ขี้หมูเว้ย นี่คืออาหารหมู พวกท่านสิโง่ไม่รู้จักอาหารหมู
๒.ชายสองคนเดินทางไปด้วยกัน พบสิ่งต่างๆ ระหว่างทางมากมาย เช่น เชือกป่าน ด้าย ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เหล็ก โลหะ ดีบุก ตะกั่ว เงิน ทอง ชายคนแรกถือเอาเชือกป่านแล้วก็ไม่ยอมทิ้ง เมื่อพบสิ่งอื่นดีกว่าก็ไม่ยอมเอา เพราะคิดว่าเชือกป่านนี้ถือติดตัวมาไกล จะทิ้งก็เสียดาย แต่ชายอีกคนเมื่อพบของดีกว่าก็ทิ้งของเก่า เอาของใหม่ จนในที่สุดเขานำทองติดตัวกลับบ้านมากมาย
เมื่อชายทั้งสองกลับถึงบ้าน บุตรและภรรยาของชายคนแรกต่างก็ว่าเขาโง่ ส่วนชายที่ได้ทองไปมากเป็นที่ชื่นชมยินดีของบุตรและภรรยา
“เมื่อรู้ว่าอะไรดีกว่า ถูกต้องกว่า ก็น่าจะยึดถือปฏิบัติสละทิ้งสิ่งที่ผิดๆ เสีย” พระเถระกล่าวสรุป
ปายาสิยอมจำนนด้วยเหตุผล จึงประกาศสละความเห็นผิดของตนนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เริ่มให้ทานรักษาศีลแต่บัดนั้นจนสิ้นชีวิต
เรื่องราวของสามเณรกุมารกัสสปะก็จบลงเพียงเท่านี้
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรกุมารกัสสปะ (๑)-(๓)
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๒-๑๘๕๔ ประจำวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ - ๒ มีนาคม ๒๕๕๙
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #51 เมื่อ:
18 มีนาคม 2559 15:17:12 »
.
สามเณรติสสะ
ชักจะหาสามเณรมาเล่ายากทุกทีแล้ว
น่าแปลกมากครับในคัมภีร์พระพุทธศาสนา มีพูดถึงสามเณรน้อยมาก แสดงถึงการไม่เห็นความสำคัญของเหล่ากอสมณะมาตั้งแต่ต้น
วันนี้ขอนำเอาประวัติ สามเณรติสสะ มาเล่าให้ฟัง
สามเณรน้อยรูปนี้ตอนเป็นสามเณรไม่โด่งดังเท่าไหร่ พอบวชเป็นพระแล้วก็มาดังเอาตอนแก่ เพราะมีบทบาทสำคัญในการจรรโลงพระพุทธศาสนา
ประวัติความเป็นมาของท่านติสสะคล้ายกับประวัติของ พระนาคเสน และพระพุทธโฆสาจารย์ คือท่านเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ และถูกพระเถระรูปหนึ่งชักจูงให้มาบวช และพระเถระรูปที่ว่านี้ก็รับคำสั่งจากคณะสงฆ์ที่ลง “ทัณฑกรรม” ท่าน (พูดง่ายๆ ว่าลงโทษ) ฐานไม่ไปประชุมปรึกษาหารือเรื่องสำคัญเกี่ยวกับพระศาสนา
ท่านจึงต้องพยายามชักจูงเด็กน้อยให้มาบวชให้ได้ เพื่อจะได้พ้นจากทัณฑกรรม
หรือพูดให้ถูก ประวัติพระนาคเสนและพระพุทธโฆสาจารย์ คล้ายกับประวัติสามเณรติสสะ เพราะติสสะท่านเกิดก่อนสองรูปนั้น
เรื่องมีอยู่ว่า หลังเสร็จสังคายนาครั้งที่สอง (พ.ศ.๑๐๐) แล้ว พระเถระทั้งหลายก็ปรึกษากันว่า อีกประมาณร้อยปีข้างหน้า พระศาสนาจักเกิดความมัวหมองเพราะน้ำมืออลัชชี จะมีใครสามารถทำหน้าที่ชำระสะสางพระศาสนาให้บริสุทธิ์ได้บ้าง
พระเถระผู้ทรงอภิญญาก็หยั่งเห็นด้วยทิพยจักษุว่า
ติสสมหาพรหม
จักมาเกิดเป็นมนุษย์และถ้านำเธอออกบวชให้การศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างดีแล้ว ก็จักเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนา แต่เมื่อพิจารณาแล้วแต่ละท่านก็ชราภาพแล้ว คงอยู่ไม่ถึงวันนั้น
บังเอิญว่ามีพระหนุ่มสองรูปไม่ได้มาประชุมปรึกษาหารือด้วย คือ พระสิคควะ กับ พระจัณฑวัชชี
พระเถระทั้งหลายจึงลง “ทัณฑกรรม” ภิกษุหนุ่มทั้งสองว่า ท่านทั้งสอง รูปหนึ่งจงนำเด็กมาบวชให้ได้
อีกรูปหนึ่งรับภาระให้ศึกษาพระพุทธวจนะ หาไม่แล้วจักไม่พ้นโทษ
ท่านสิคควะรับหน้าที่ชักจูงเด็กน้อยมาบวชก็คอยดูว่าจะมีเด็กน้อยบุตรพราหมณ์คนไหนอยู่ในข่ายบ้าง ก็เล็งเห็นว่า บุตรชายโมคคลีพราหมณ์น่าจะใช่บุคคลที่พระเถระผู้เฒ่าทั้งหลายพูดถึง จึงพยายามไปบิณฑบาตที่บ้านพราหมณ์ทุกวัน
บังเอิญว่าพราหมณ์แกเป็น “มิจฉาทิฐิ” (ไม่นับถือพระพุทธศาสนา) จึงไม่สนใจไยดีจะใส่บาตร หรือทำบุญทำกุศลแต่อย่างใด เห็นพระเถระมายืนหน้าบ้านก็ตะเพิดด้วยความไม่พอใจ
พระเถระก็ยังไม่ย่อท้อ ยังคงบิณฑบาตที่หน้าบ้านพราหมณ์อย่างต่อเนื่อง ว่ากันว่าเป็นเวลา ๗ ปีทีเดียว ไม่ได้แม้กระทั่งข้าวทัพพีเดียว
วันหนึ่งพราหมณ์ออกไปธุระนอกบ้าน ขากลับเดินสวนทางกับพระเถระ จึงเอ่ยปากถามว่า สมณะ วันนี้ได้อะไรบ้างไหม ถามไปอย่างนั้นเอง รู้อยู่แล้วว่าคงไม่มีใครในเรือนที่ให้ข้าวแก่สมณะ
แต่ผิดคาด พระเถระกล่าวว่า “วันนี้ อาตมาได้ โยม” ได้ยินดังนั้นแกก็หูร้อนขึ้นมาทันที หน็อยแน่ กูไม่อยู่วันเดียว เมียกูบังอาจให้ข้าวสมณะเชียวเรอะ กลับมาต่อว่าเมีย เมียบอกว่าไม่ได้ให้อะไรแก่สมณะเลย
พราหมณ์เข้าใจว่าสมณะพูดเท็จ ต้องการจะจับเท็จท่าน วันรุ่งขึ้นจึงดักพบท่านแต่เช้า ต่อว่าท่านว่าพูดเท็จ เมื่อวานนี้ไม่มีใครให้อาหารท่านเลย ท่านกลับบอกว่าได้
พระเถระตอบว่า “อาตมามาบิณฑบาตที่บ้านโยมเป็นเวลา ๗ ปีแล้วไม่เคยได้อะไรเลย มาเมื่อวานนี้อาตมาได้คำพูดอันไพเราะว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด อาตมาหมายเอาคำพูดนี้ เมื่อโยมถามว่าได้อะไรไหม อาตมาจึงตอบว่าได้”
ได้ยินดังนั้น พราหมณ์ก็เลื่อมใสขึ้นมาทันที
“โอ สมณะศากยบุตรนี้จิตใจละเอียดอ่อนเหลือเกิน เพียงแค่ได้คำพูดไพเราะประโยคเดียวก็ ‘อภิเชต’ (
appreciate
) จึงนิมนต์ให้ท่านไปฉันบนบ้าน และปวารณาตนเป็นโยมอุปัฏฐากตั้งแต่วันนั้น
ฝ่ายบุตรชายนามว่าติสสะ ตอนนี้เป็นหนุ่มน้อยวัย ๑๖ ปีแล้ว เรียนไตรเพทจนแตกฉาน ถือตนเป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องคนหนึ่ง เห็นพระผู้เฒ่ามาฉันที่บ้านประจำ แต่ก็ไม่เคยสนใจจะสนทนาปราศรัยด้วย
วันหนึ่งพระเถระเห็นว่า ถึงเวลาอันควรแล้วจึง “หาเหตุ” สนทนากับเด็กหนุ่มจนได้
คือเมื่อท่านเดินขึ้นเรือนมา พราหมณ์หาอาสนะไม่ได้ จึงไปเอาอาสนะของบุตรชายมาปูให้ท่านนั่ง (นัยว่า พระเถระบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ให้อาสนะอื่นอันตรธาน) เด็กหนุ่มกลับมาเห็นพระเถระนั่งอาสนะของตน ก็ไม่พอใจ จึงพูดเปรยๆ ว่า คนที่สมควรนั่งอาสนะของข้าพเจ้าจะต้องมีความรู้เรื่องไตรเพทเท่านั้น สมณะท่านรู้อะไรไหม
พูดทำนองดูถูกว่า น้ำหน้าอย่างท่านคงไม่มี “กึ๋น” อะไรดอก แล้วยังสะเออะมานั่งอาสนะของปราชญ์ใหญ่เช่นเรา ว่าอย่างนั้นเถอะ
พระเถระตอบเย็นๆ ว่า ก็พอรู้บ้าง พ่อหนุ่ม ถามสิ บางทีอาตมาอาจจะตอบได้
เด็กหนุ่มก็ถามเรื่องที่ยากๆ ในไตรเพท ที่ตนเรียนมา พระเถระตอบได้หมด สร้างความประหลาดใจแก่เด็กหนุ่มเป็นอย่างมาก
ในที่สุดพระเถระกล่าวว่า เธอถามอาตมามากแล้ว ขออาตมาถามบ้าง
ว่าแล้วท่านก็ถามปัญหาพระอภิธรรม เด็กหนุ่มมืดแปดด้าน จึงเรียนถามท่านว่า อันนี้เรียกว่าอะไร พระเถระตอบว่า นี้เรียกว่าพุทธมนต์
เมื่อเด็กหนุ่มขอเรียนบ้าง พระเถระตอบว่า จะถ่ายทอดให้เฉพาะคนที่ถือเพศเช่นเดียวกับท่านเท่านั้น
ด้วยความอยากเรียนพุทธมนต์ จึงขออนุญาตบิดาบวช เมื่อบวชแล้วพระเถระก็บอกกรรมฐานให้ปฏิบัติ ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระเถระเห็นว่าถ้าให้สามเณรปฏิบัติกรรมฐานต่อไป ก็จะบรรลุพระอรหัต บางทีอาจ “ขวนขวายน้อย” คือไม่ใส่ใจศึกษาพุทธวจนะก็เป็นได้
จึงส่งสามเณรไปเรียนพุทธวจนะจากพระจัณฑวัชชีเถระ
สามเณรไปกราบท่านพระจัณฑวัชชี ตามคำสั่งของพระอุปัชฌาย์ ถามว่า สามเณรมาจากไหน
“พระอุปัชฌาย์ของกระผมส่งกระผมมาขอรับ”
อุปัชฌาย์ของเธอชื่ออะไร
“ชื่อ สิคควะ ขอรับ”
“ฉันชื่ออะไร” ท่านชี้ที่ตัวท่าน
“พระอุปัชฌายะของกระผม รู้จักชื่อใต้เท้าดีขอรับ” สามเณรตอบ (ตอบแบบนี้ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ว่า “ยวน” แต่คิดอีกทีเป็นการสอบปฏิภาณก็ได้นะครับ)
พระจัณฑวัชชีรับสามเณรเป็นศิษย์ศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉานในเวลาอันสั้น ต่อมาก็เจริญกรรมฐานต่อ จนได้บรรลุพระอรหัต
ในช่วงเวลาดังกล่าว มีพวก อัญเดียรถีย์ (คนนอกพุทธศาสนา) ปลอมตัวมาบวชเป็นจำนวนมาก แสดงคำสอนนอกธรรมนอกวินัย สร้างความปั่นป่วนขึ้นในสังฆมณฑล พระผู้ทรงศีลไม่ลงโบสถ์ร่วมกับพวกอลัชชี พระเจ้าอโศกทรงทราบ ทรงส่งอำมาตย์ไปจัดการให้สงฆ์สามัคคีกัน
อำมาตย์เข้าใจผิดนึกว่าพระราชามอบอำนาจเด็ดขาดให้ตนเอง ได้ตัดคอพระที่ไม่ยอมลงโบสถ์ไปหลายรูป จนกระทั่ง พระติสสะ อนุชาของพระเจ้าอโศกมาขวางไว้ เรื่องทราบถึงพระเจ้าอโศก พระองค์ทรงร้อนพระทัยที่เป็นสาเหตุให้พระถึงแก่มรณภาพไปหลายรูปจึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี
มีผู้กราบทูลให้ไปปรึกษากับพระติสสะ (อดีตสามเณรหนุ่ม) พระเจ้าอโศกจึงนิมนต์ท่านเข้ามายังเมืองปาตลีบุตร ถามข้อข้องใจจนสิ้นกังขาทุกกระทงแล้ว ตกลงพระทัยช่วยพระเถระทำสังคายนาชำระสังฆมณฑลเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว นับเป็นการสังคายนาครั้งที่สาม
ว่ากันว่า หลังสังคายนาครั้งนี้เสร็จสิ้น พระองค์ได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังนานาประเทศ ถึง ๙ สายด้วยกัน
หนึ่งในเก้าสายนั้น มายังดินแดนอันเรียกขานสมัยนั้นว่า “สุวรรณภูมิ” พระโสณเถระ กับ พระอุตตรเถระ เป็นผู้เดินทางมาเผยแผ่ ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในภูมิภาคแถบนี้
สุวรรณภูมิก็คือดินแดน “ลุ่มเจ้าพระยาเห็นสายธาราละล่อง” นี้เอง มีเมืองนครปฐมในปัจจุบันนี้เป็นศูนย์กลาง ว่ากันอย่างนั้นนะครับ
อดีตสามเณรหนุ่มนามติสสะ เป็นผู้มีบทบาทในการทำสังคายนาครั้งนี้โดยเป็นประธานและเป็นกรรมการจัดสอบความรู้พระสงฆ์ด้วย พระภิกษุที่สอบไม่ผ่านถูกจับสึกเป็นจำนวนมาก เหลือแต่พระที่บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง
ท่านได้แต่งหนังสือชื่อ “กถาวัตถุ” แสดงทรรศนะอย่างไรถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ทรรศนะอย่างไรเป็นมิจฉาทิฐิ บิดเบี้ยวไปจากคำสอนของพระพุทธองค์
หนังสือเล่มนี้ ได้ถูกผนวกเข้าเป็นหนึ่งในอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ในเวลาต่อมา
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรติสสะ
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๖ ประจำวันที่ ๑๑-๑๗ มีนาคม ๒๕๕๙
สามเณรสุมนะ
คราวนี้มาว่าถึงสามเณรน้อยนามสุมนะ สามเณรอรหันต์ทรงอภิญญา ๖ ประการ หลานพระเจ้าอโศกมหาราช
ชื่อ สุมนะ ค่อนข้างจะดาษดื่นในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา สามเณรอรหันต์ในสมัยพุทธกาลรูปหนึ่งก็คือ สุมนะ สุมนะเป็นพระนามของอดีตพุทธะก็มี เป็นนามของพระปัจเจกพุทธะก็มี ชื่อของเศรษฐีก็มาก ชื่อคนยากก็เยอะ
ช่างเถอะครับ วันนี้ขอพูดถึงสุมนะ สามเณรน้อยหลานกษัตริย์แห่งเมืองปาตลีบุตรรูปเดียวเท่านั้น
ประวัติท่านมีไม่มาก บอกเพียงแต่ว่าเป็นบุตรของ นางสังฆมิตตา และอัคคิพราหมณ์
ท่านบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมอภิญญา ๖ ประการในขณะเป็นสามเณร
เมื่อพระเจ้าอโศก เสด็จตา (ราชาศัพท์แบบลิเกนะครับ) ทรงอุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ ๓ และส่งพระธรรมทูต ๙ คณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างประเทศ ธรรมทูตสายหนึ่งไปยังเกาะลังกา หรือประเทศศรีลังกาในปัจจุบันนี้
ธรรมทูตที่ส่งไปย่อมไปเป็นคณะ เรียกว่า คณะธรรมทูต คงมิใช่ส่งพระไปเพียงรูปสองรูปเป็นแม่นมั่น
ความข้างต้นนี้เป็นความคิดของผมนานแล้ว เนื่องจากได้อ่านหนังสือที่ใครๆ แต่ง ก็มักจะไม่พูดถึงคณะธรรมทูตพูดถึงพระเถระรูปสองรูปเท่านั้น เช่น พระโสณะและพระอุตตระมายังสุวรรณภูมิ (มาแค่สองรูปเท่านั้น) พระมหินทเถระไปยังเกาะลังกา (รายนี้ฉายเดี่ยว)
แต่เมื่อเปิดดูต้นฉบับดั้งเดิมจริงๆ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านไปเป็นคณะ มีพระสงฆ์ มีอุบาสกทำหน้าที่เป็นไวยาวัจกร คอยอำนวยความสะดวกให้แก่พระสงฆ์ ธรรมทูตสายที่ไปยังลังกาทวีป ประกอบด้วย
พระมหินทเถระ โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นหัวหน้าคณะ
พระอัฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระ พระภัทรสาลเถระ พระสัมพลเถระ
และสามเณรชื่อ สุมนะ ผู้ทรงอภิญญา ๖ ประการ มีฤทธิ์มากติดตามมาด้วย
และยังมีอุบาสกนามว่า ภัณฑกะ เป็นไวยาวัจกร ทั้งคณะมีจำนวน ๗ ท่านด้วยกัน
สมัยนั้น
เกาะศรีลังกายังคงนับถือผีสางตามเรื่อง ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา พระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าเทวานัมปิยะติสสะ ครองราชย์ต่อจากพระเจ้ามุฏสีวะพระราชบิดา อันพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะพระองค์นี้เป็น “อทิฏฐสหาย” กับ พระเจ้าอโศก คือ เป็นพระสหายที่เจริญสัมพันธไมตรีกัน ยังไม่เคยพบปะกันมาก่อน
ว่ากันว่า พระมหินทเถระพร้อมคณะไปยังเกาะลังกา ไปพำนักอยู่ที่มิสสกบรรพตก่อน ยังไม่ไปหาพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทันที พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เสด็จออกล่าเนื้อ มุ่งตรงไปยังสถานที่ที่พระคุณเจ้าและคณะอาศัยอยู่ พระมหินทเถระเห็นอุบายที่จะให้พระเจ้าแผ่นดินลังกาเลื่อมใส จึงจำแลงร่างเป็นละมั่งน้อยตัวหนึ่ง วิ่งผ่านกษัตริย์ลังกาไป
พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเสด็จตามละมั่งไป พลัดหลงกับข้าราชบริพารเสด็จถึงสถานที่ที่พระเถระทั้งหลายอาศัยอยู่ พระมหินทเถระบันดาลให้ละมั่งน้อยหายไป อธิษฐานจิตให้พระราชาทอดพระเนตรเห็นท่านเพียงผู้เดียว เรียกเสียงดังว่า “ติสสะ ติสสะ มาทางนี้”
พระราชาทรงฉงนพระทัยว่า ใครวะ บังอาจเรียกชื่อจริงเรา สาวพระบาทเข้ามาใกล้ ทอดพระเนตรเห็นสมณะรูปหนึ่ง ท่าทางสำรวม สง่า ยืนอยู่ข้างหน้า กำลังจะตรัสถามอยู่พอดีว่า สมณะนี้เป็นใคร พระเถระชิงถวายพระพรเสียก่อน
“ขอถวายพระพร อาตมภาพคือ มหินทเถระ โอรสแห่งพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป มาที่นี่เพื่ออนุเคราะห์มหาบพิตรและประชาชนชาวเกาะลังกา” พอได้สดับว่า สมณะรูปนี้เป็นโอรสพระอทิฏฐสหายของพระองค์ พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงเสด็จเข้าไปถวายบังคม
ขณะพระเถระสนทนาอยู่กับพระราชาอยู่ พระเถระที่เหลือพร้อมสามเณรสุมนะและภัณฑกอุบาสกก็ปรากฏกาย พระราชาทรงสงสัยว่า ท่านเหล่านี้มาได้อย่างไร พระเถระถวายพระพรว่า ความจริงท่านเหล่านี้ก็อยู่ ณ ที่นี้เอง แต่เพิ่งจะปรากฏต่อคลองจักษุของพระองค์ ณ บัดนี้ พระราชาจึงทรงทราบว่า สมณะเหล่านี้มีอิทธิฤทธิ์ จึงตรัสถามว่า พระคุณเจ้ามายังเกาะลังกาโดยทางไหน
“ขอถวายพระพร มิใช่ทางบก มิใช่ทางน้ำ”
“ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้ามาทางอากาศสินะ”
พระเถระทั้งหลายรับโดยดุษณีภาพ
เพื่อทดสอบพระปฏิภาณของพระราชาว่าสมควรที่จะถวายความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาหรือไม่ พระเถระชี้ไปที่ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง ถามว่า
“มหาบพิตร ต้นไม้ชื่ออะไร”
“ต้นมะม่วง ขอรับ” พระราชาตรัสตอบ
“มะม่วงต้นอื่นนอกจากมะม่วงต้นนี้มีหรือไม่”
“มีอยู่จำนวนมาก ขอรับ”
“นอกจากมะม่วงต้นนี้และมะม่วงต้นอื่น มีต้นไม้อื่นไหม”
“มี แต่ไม้เหล่านั้นมิใช่ต้นมะม่วง”
“นอกจากมะม่วงอื่น และที่มิใช่มะม่วง ยังมีต้นไม้อื่นไหม”
“ก็ต้นมะม่วงต้นนี้ไงเล่า พระคุณเจ้า” พระราชาตอบ
เพื่อทดสอบอีก พระเถระถามปัญหาต่อไปว่า
“มหาบพิตร พระญาติของมหาบพิตรมีอยู่หรือ”
“มีหลายคน พระคุณเจ้า” พระราชาตรัสตอบ
“นอกจากพระญาติเหล่านี้ ผู้ที่มิใช่พระญาติยังมีอยู่หรือ”
“มีมาก พระคุณเจ้า”
“นอกจากพระญาติของมหาบพิตร และผู้ที่มิใช่พระญาติ ยังมีใครอื่นอีกไหม”
“ก็โยมนี่ไง พระคุณเจ้า”
พระเถระกล่าวสาธุการว่า
สาธุๆ มหาบพิตรทรงมีพระปรีชาสามารถเฉียบแหลมยิ่ง จากนั้นพระเถระได้แสดงจุฬหัตถิปโทปมสูตร แด่พระราชา (และข้าราชบริพารที่ตามมาภายหลัง) จบพระธรรมเทศนา พระราชาทรงตั้งอยู่ในสมณะสามประกาศพระองค์เป็นอุบาสกนับถือพระพุทธศาสนา
หลังจากพระราชาเสด็จนิวัติพระนครแล้ว พระมหินทเถระสั่งให้สุมนสามเณรประกาศกาลฟังธรรม สุมนสามเณรเข้าญานมีอภิญญาเป็นบาท ออกจากญานแล้วอธิษฐานจิตว่า ขอให้เสียงประกาศกาลฟังธรรมนี้ได้ยินไปทั่วตัมพปัณณิทวีป (คือ เกาะลังกา) เสียงประกาศกาลฟังธรรมนี้ได้ยินไปทั่วพระนคร
พระราชาตกพระทัยนึกว่าเกิดอันตรายแก่พระคุณเจ้าทั้งหลาย จึงเสด็จมาตรัสถาม พระเถระถวายพระพรว่า หามีอันตรายใดๆ แก่พวกอาตมภาพไม่ เสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงประกาศกาลฟังธรรม
เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลของการบันดาลแห่งอิทธิฤทธิ์เฉพาะผู้มีฤทธิ์เท่านั้นย่อมทำได้ ปุถุชนคนธรรมดาทำอะไรไม่ได้ ก็อย่าได้ดูถูกว่าเหลวไหล
พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะได้ถวายอุทยานเมฆวันให้เป็นวัดที่อยู่อาศัยของพระมหินทเถระและคณะ พระเถระได้ทำการอุปสมบทแก่อริฏฐอำมาตย์ และพี่ชายน้องชายจำนวน ๕๕ คน จำพรรษาที่เมฆวัน ออกพรรษาปวารณาแล้วถวายพระพรพระราชาให้ทรงปรึกษากับสุมนสามเณรว่าจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานยังลังกาทวีปอย่างไร
พระราชาตรัสถามสามเณรน้อยว่า จะได้พระบรมสารีริกธาตุแต่ที่ไหน
สามเณรถวายพระพรว่า เบาพระทัยเถิด มหาบพิตร ไว้เป็นภาระของอาตมภาพ
ว่าแล้วสามเณรน้อยก็เข้าฌานหายวับไปกับตา ปรากฏตัวอีกทีที่ชมพูทวีป ณ พระราชวังของพระอัยกา ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากพระเจ้าอโศก ได้พระบรมสารีริกธาตุแล้วไปยังสำนักท้าวสักกเทวราช ขอพระธาตุรากขวัญเบื้องขวา จากพระองค์แล้วไปปรากฏตัวที่ตัมพปัณณิทวีป
พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ เจติยคิรี แล้วจัดงานสมโภชเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร
ตามประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในลังกา สามเณรสุมนะ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพระมหินทเถระประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ เกาะแห่งนี้
หลังจากสามเณรน้อยผู้บุตรมาไม่นาน มารดาสามเณรน้อยซึ่งบัดนี้เป็นพระเถรีนามว่า สังฆมิตตาเถรี ลงเรือมาปลูกยังเกาะลังกา และได้เป็น “ปวัตตินี” (อุปัชฌาย์) บวชให้แก่กุลสตรีชาวเมืองอนุราธบุรีจำนวนมาก สืบสถาบันภิกษุณีสงฆ์ในเกาะลังกามาแต่บัดนั้น
ไปไหว้พระรากขวัญเบื้องขวา และต้นพระศรีมหาโพธิทีไร ชาวพุทธที่รู้ความเป็นมา ก็อดรำลึกถึงคุณูปการของสองแม่ลูกนี้เสียมิได้
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรสุมนะ
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๗ ประจำวันที่ ๑๘-๒๔ มีนาคม ๒๕๕๙
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #52 เมื่อ:
04 เมษายน 2559 19:54:44 »
สามเณรปาลิต
เล่าเรื่องสามเณรอรหันต์มามากแล้ว คราวนี้ขอเล่าเรื่องสามเณรปุถุชนบ้าง แถมยังเป็นปุถุชนสมนามเสียด้วย (ปุถุชน=คนมีกิเลสหนาแน่น)
สามเณรรูปนี้นามว่า
ปาลิต
หลานชายพระอรหันต์จักษุบอดรูปหนึ่งนามว่า
จักขุปาละ
(จักษุบาล)
ความเป็นมาของสองลุงหลานนี้ค่อนข้างยาว เริ่มตั้งแต่มหากุฎุมพีคนหนึ่งนามว่า มหาสุวรรณ แห่งเมืองสาวัตถี ไม่มีบุตรสืบสกุล ไปบนขอบุตรจากรุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ว่าถ้าได้บุตรหรือธิดาจะทำพิธีกรรมถวายคือแก้บนนั่นเอง ไม่บอกว่าแก้บนด้วยอะไร แต่คงไม่แก้ผ้าฟ้อนรอบต้นไม้เหมือนบางคนที่บนพระพรหมกระมัง
และคงไม่บนพิเรนทร์เหมือนเด็กสาวคนหนึ่งบนจะทำกับหลวงพ่อวัดฉลอง
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ว่า เมื่อครั้งท่านเสด็จไปตรวจราชการที่ปักษ์ใต้ พระเถระรูปหนึ่งมาต้อนรับ แข็งท่านเต็มไปด้วยทองเหลืองอร่าม ได้ทราบว่าชาวบ้านเอามาปิดแก้บน ท่านรีบมาต้อนรับไม่ทันได้ล้างออก ทรงเล่าว่าแปลกที่คนเขาปิดทองพระเป็นๆ ไม่ยักปิดทองพระพุทธรูป
ได้ทราบว่าท่านเป็นพระขลัง
มีครั้งหนึ่งสาวคนหนึ่งบนว่าถ้าสิ่งที่ต้องการสำเร็จ จะปิดทอง “ปลัดขิก” หลวงพ่อ บังเอิญสำเร็จตามปรารถนา แต่นางไม่กล้าแก้บน จึงปล่อยให้กาลเวลาผ่านเลยไป ปรากฏว่านางเจ็บป่วยรักษาไม่หายขาดสักที จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่านางอาจผิดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่าง พ่อแม่จึงถามเอาความจริง ถูกซักมากเข้านางจึงบอกความจริง พ่อแม่พานางไปขอขมาหลวงพ่อ เล่าการบนอันพิเรนทร์ของลูกสาวของตนให้ท่านทราบ หลวงพ่อท่านบ่นคำเดียวว่า “บนอะไรบ้าๆ” ว่าแล้วก็เปิดสบงขึ้นบอกว่าเอ้าอยากปิดก็ปิด (หมายถึงปิดทองที่ปลัดขิก)
หญิงสาวหลับหูหลับตายื่นมือเอาทองไปปิด...ว่ากันว่าหลังจากนั้น หายป่วยสนิท
นัยว่าหลวงพ่อท่านเอาไม้เท้าสอดเข้าหว่างขาแทน “ของจริง” ว่ากันอย่างนั้น
กล่าวถึงกุฎุมพีคนนั้น หลังจากบนต้นไม้แล้ว ไม่นานภรรยาก็ตั้งครรภ์ได้บุตรชายมาคนหนึ่งตั้งชื่อว่าปาละ จากนั้นไม่นานก็ได้มาอีกคนหนึ่งชื่อปาละเหมือนกัน เลยต้องตั้งคนโตว่ามหาปาละ คนเล็กว่า จุลปาละ
มหาปาละ ได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเลื่อมใสใคร่จะบวชจึงไปขออนุญาตน้องชายไปบวช
หลังจากบวชแล้ว ได้ขอกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าเพื่อนำไปปฏิบัติ พร้อมภิกษุจำนวน ๖๐ รูป เดือนทางออกจากพระเชตวันไปยังราวป่าแห่งหนึ่ง ที่มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ๆ พำนักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นั้น โดยมีญาติโยมในหมู่บ้านนั้นปวารณารับใช้และอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับปัจจัยสี่อันสมควรแก่สมณะบริโภค
จวนเข้าพรรษา ท่านมหาปาละเรียกประชุมสงฆ์ถามว่า ในพรรษานี้พวกท่านทั้งปวง จะยังกาลเวลาให้ล่วงไปด้วยอิริยาบถเท่าไร (เป็นภาษาพระ หมายถึงว่า จะอยู่ด้วยอาการอย่างไร ยืน เดิน นั่ง นอน ครบสี่อิริยาบถหรือจะเอาเท่าไหร่)
พระทั้งปวงก็เรียนท่านว่า ก็ต้องสี่อยู่แล้ว พระเถระตำหนิว่าพวกท่านรับกรรมฐานมาจากพระพุทธองค์ ยังมัวประมาทหรือตามใจพวกท่านเถิด แต่ผมจะอยู่ด้วยอิริยาบถสามเท่านั้น ตลอดพรรษานี้จะไม่เอนหลังนอนเป็นอันขาด
พระเถระเอาจริง ไม่ยอมนอนเลย นั่งกรรมฐานทั้งวันทั้งคืน เมื่อยท่านั่งก็ลุกเดินจงกรม จนกระทั่งมีน้ำตาไหลจากเบ้าตา มีอาการเสียดแทงตา ชาวบ้านเห็นอาการของท่านไปตามหมอให้ไปรักษาท่าน หมอผสมยาหยอดตาส่งไปถวาย สั่งว่าให้ท่านหยอดทางจมูก ครั้งสองครั้งก็จะหาย ท่านนั่งหยอดจมูกมันจะเข้าอย่างไรเล่าครับ ยาก็ไหลลงเปรอะจีวรเท่านั้นเอง โรคก็ไม่ทุเลา เมื่อไปบิณฑบาตหมอถามว่าท่านหยอดยาตาหรือยัง ท่านบอกว่าหยอดแล้ว หมอถามท่านว่าอาการเป็นอย่างไร
“ยังเสียดแทงอยู่ อุบาสก” พระเถระตอบ
หมอคิดว่า ไม่น่าเป็นไปได้ ยาที่ตนให้เป็นยาชั้นดี หยอดเพียงครั้งเดียวก็ทุเลาแล้ว จึงเรียนถามท่านว่าท่านนั่งหยอดหรือนอนหยอด พระเถระก็นิ่งเสีย หมอจึงตามไปดูที่วัด ไม่เห็นที่นอนเห็นแต่ที่นั่งและที่เดินจงกรม จึงขอร้องให้ท่านนอนหยอด พระเถระก็ไม่ยอม เมื่อคนไข้ดื้อ หมอก็ระอา กล่าวว่า ท่านท่านอยากหายท่านต้องทำตามหมอสั่ง ไม่อย่างนั้นช่วยไม่ได้นะขอรับ ต่อไปนี้ถ้าเกิดอะไรขึ้น ท่านอย่าได้บอกว่าผมเป็นหมอรักษาท่าน ผมก็จะไม่แพร่งพรายให้ใครทราบ
แน่ะ กลัวเสียชื่อว่ารักษาโรคไม่หาย จะหมดทางทำมาหากิน อะไรจะปานนั้น
เมื่อหมอไปแล้ว ท่านมหาปาละก็นั่งปรึกษากับ “กรัชกาย” (หมายถึงร่างกายตัวเองนั่นแหละ) พูดกับตัวเองว่า จะเห็นแก่จักษุหรือแก่พระศาสนา ในสังสารวัฏนี้คนตาบอดก็มีนับไม่ถ้วน แต่คนที่พบพระพุทธองค์แล้วมีโอกาสดีๆ อย่างนี้หายาก ตามันจะบอดก็ช่างมันเถอะ เราจะพยายามเพื่อบรรลุธรรมให้ได้
ท่านกล่าวเป็นโศลกมีเนื้อหากินใจมาก เสียดายหน้ากระดาษไม่พอจะนำมาลงให้อ่าน ขอผ่านไปก็แล้วกันครับ
จากนั้นท่านก็คร่ำเคร่งนั่งกรรมฐาน เดินจงกรม ตาของท่านก็ปะทุมืดสนิทพร้อมๆ กับบรรลุพระอรหัตในขณะเดียวกัน เป็นพระอรหันต์อันมีนามว่า “
สุขวิปัสสกะ
” (คือหมดกิเลสด้วยวิปัสสนาล้วนๆ ไม่มีอภิญญา=ความสามารถเหนือสามัญวิสัยอย่างอื่น=เป็นของแถมเลย)
ออกพรรษาแล้วเหล่าภิกษุศิษย์ท่านพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวัน ท่านมหาปาละขออยู่เพียงผู้เดียว เพราะไม่อยากไปเป็นภาระแก่ท่านเหล่านั้น สั่งว่าไปถึงเมืองสาวัตถีแล้วให้แจ้งความแก่น้องชายท่านก็พอ
น้องชายทราบว่าพระพี่ชายตาพิการ จะส่งหลานของตนชื่อปาลิตให้ไปพาท่านกลับ ภิกษุทั้งหลายให้ปาลิตบวชสามเณรก่อนเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางซึ่งจะต้องผ่านดง อันเต็มไปด้วยอันตรายนานาชนิด
สามเณรปาลิต อายุอานามอยู่ในวัยรุ่น เดินทางผ่านดงไปยังที่พำนักของพระเถระ เรียนท่านว่า ลุง (จุลปาละ) สั่งให้ผมมาพาหลวงลุงกลับเมืองสาวัตถีเพื่อจะได้ดูแลใกล้ชิด
พระเถระกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นเธอจงจับไม้เท้าพาเราไปลาญาติโยมที่หมู่บ้านก่อน ว่าแล้วท่านก็เดินเข้าหมู่บ้าน โดยมีสามเณรหลานชายจูงไปอำลาญาติโยมทั้งปวงแล้ว เดินทางมุ่งตรงไปยังเมืองสาวัตถี
ขณะที่มาถึงกลางดง พลันเสียงเพลงขับของหญิงสาวก็แว่วมา ไม่บอกว่าเพลงอะไร เนื้อหาคงชวนฝันไม่น้อยทีเดียว ผู้แต่งตำรายังยกเอาพระพุทธวจนะมาสอดแทรกตรงนี้เลยว่า
ไม่มีเสียงอื่นใดจะสามารถแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ชำแรกเข้าไปถึงเยื่อในกระดูกของบุรุษได้เท่ากับเสียงสตรี สมดังพุทธวจนะว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นเสียงแม้เสียงเดียวที่จับจิตจับใจบุรุษเหมือนเสียงสตรีเลย
สามเณรหนุ่มบอกหลวงลุงว่า หลวงลุงครับ พักตรงนี้ประเดี๋ยว ผมจะไปทำ “สรีรกิจ” (หมายถึงไปอึ) แล้วก็หายไปครู่ใหญ่
พระเถระนั่งรออยู่ตั้งนาน รำพึงว่า ทำไมมันถ่ายอุจจาระนานนักหว่า นี่ก็ล่วงไปเกือบชั่วโมงแล้ว หรือว่า...พลันพระผู้เฒ่าก็นึกขึ้นมาได้
เมื่อกี้นี้แว่วเสียงเด็กหญิงร้องเพลง แล้วบัดนี้เสียงก็เงียบไป เห็นทีสามเณรปาลิตหลานเราจะทำอะไรมิบังควรเสียแล้ว
หลานชายหลับมากล่าวกับหลวงลุงว่า เรามาไปกันต่อเถอะจะจับไม้เท้าหลวงลุงจูง พระเถระไม่ให้จับ ถามว่า “ปาลิต เธอกลายเป็นคนชั่วแล้วหรือ” สามเณรไม่ตอบ พูดบ่ายเบี่ยงว่า เรามาไปกันต่อเถอะครับ เดี๋ยวจะมืดค่ำ พระเถระยังถามคำถามเดิม สามเณรก็ได้แต่นิ่ง
นิ่งคือการยอมรับ พระเถระจึงกล่าวว่า ไม่ต้องจับไม้เท้าเราดอกคนชั่วคนพาล ไม่ควรจะจับไม้เท้าเรา ปล่อยเราไว้ตรงนี้เถอะ เราไม่ปรารถนาจะเดินทางร่วมกับคนชั่ว
สามเณรอ้อนวอนว่า หลวงลุง ท่านจะอยู่ที่นี่ได้อย่างไร อันตรายมากมาย มาไปกันเถอะ พระเถระก็ยืนกรานไม่ไปท่าเดียว
สามเณรเปลื้องจีวรออก แต่งตัวอย่างคฤหัสถ์แล้วกล่าวกับพระเถระว่า บัดนี้ผมได้สึกแล้ว เป็นคฤหัสถ์แล้ว และผมก็มิได้บวชด้วยศรัทธา บวชเพราะต้องการความปลอดภัยในการเดินทางเท่านั้น
คำพูดของพระเถระเจ็บแสบมาก จนทำให้ “น้อยปาลิต” (ภาษากลางเรียกพระเณรที่สึกว่า “ทิด” เหมือนกันหมด ภาคเหนือพระสึกเรียก “หนาน” เณรเรียกว่า “น้อย” ภาคอีสานพระสึกเรียก “ทิด” เณรเรียกว่า “เซียง”) กอดแขนร้องไห้วิ่งเข้าป่าหายไปเลย
คำพูดนั้นมีว่า
“อาวุโส คิหิปาโปปิ สมณปาโปปิ ปาโปเยว ตฺวํ สมณภาเว ฐตฺวา สีลมตฺตํ ปูเรตุ นาสกฺขิ คิหี หุตฺวา กินฺนาม กลฺยาณํ กริสฺสสิ=พ่อหนุ่มเอ๋ย คฤหัสถ์ชั่ว หรือสมณะชั่ว มันก็คนชั่วเหมือนกัน เธอบวชแล้วแม้เพียงศีลก็รักษาไม่ได้ สึกไปเป็นคฤหัสถ์จักทำความดีงามอะไรได้”
“เซียงปาลิต” จะวิ่งกลับไปหาอีหนูกลางดงหรือว่าไปไหน ผู้แต่งตำราไม่ได้บอกไว้ แต่ก็ดีที่รู้ว่าตนประพฤติไม่สมควรแล้วสึกไปเสีย.
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรปาลิต
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๘ ประจำวันที่ ๒๕-๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙
สามเณรปิโลติกะ
วันนี้ขอนำเอาสามเณรอดีตเด็กสลัม ขอประทานโทษ เด็กชุมชนแออัดมาเล่าสู่กันฟัง เด็กคนนั้นชื่อเสียงเรียงไรไม่แจ้ง แต่ชาวบ้านเขาเรียก “ไอ้ผ้าเก่าขาด” หรือ “ไอ้ตูดขาด” เพราะแกนุ่งผ้าเก่าขาดวิ่นอยู่ผืนเดียว ก็มีอยู่แค่นี้นี่ครับ
วันๆ ก็ถือกะลาขอทานยังชีพ ได้อาหารการกินบ้าง อดบ้าง (อดเสียแหละส่วนมาก) ท่านพระอานนทเถระ ไปบิณฑบาต พบเด็กคนนี้เข้าก็เกิดความสงสารตามประสาพระชอบเลี้ยงเด็ก
พระอานนท์เป็นคนรักเด็ก เห็นเด็กเร่รอนก็นึกสงสารแล้วเขาจะอดตาย จึงจับมาบวชและให้การศึกษาอบรมเป็นจำนวนมาก จนพระมหากัสสปะเถระ ท่านพูดกระเซ้าเวลาพบกัน ด้วยวาทะว่า “เจ้าเด็กน้อย”
พระอานนท์ถามเด็กมอมแมมคนนี้ว่า เจ้าอยู่อย่างนี้ลำบากเหลือเกิน เจ้าบวชจะไม่ดีกว่าหรือ
เด็กน้อยถามว่า “ใครจะบวชให้ผมเล่าครับ”
“ฉันเอง” พระเถระพูด แล้วนำเขาไปวิหารอาบน้ำให้ด้วยมือท่านเอง ขัดคราบไคลออกหมดจนสะอาดสะอ้าน แล้วให้กรรมฐาน แล้วให้บวชเป็นสามเณร
พระเถระจับกางเกงขึ้นมาคลี่ดู ไม่เห็นว่าจะนำไปใช้อะไรได้ จึงเอาพาดกิ่งไม้ไว้
สามเณรน้อยได้รับการฝึกฝนอบรมจากพระอานนท์ เมื่ออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทจากภิกษุสงฆ์ มีปัจจัยสี่ใช้สอยไม่ขาดแคลน เมื่ออยู่ดีกินดีขึ้น ฉวีวรรณก็ผุดผ่องอ้วนท้วน มีน้ำมีนวลขึ้น
แล้วก็
“กระสัน”
ขึ้นมา
คำนี้ (กระสัน) เป็นภาษาพระ หมายถึงอยากสึกครับ ศัพท์บาลีว่า
อุกฺกณฺฐิโต
แปลตามศัพท์ว่า “ชูคอ”
อาจารย์สอนบาลีท่านอธิบายว่า มีความรู้สึกว่า ผ้าเหลืองร้อน นั่งไม่เป็นสุข วันๆ ก็นั่ง “ชูคอ” หรือชะเง้อคอมองออกนอกกำแพงวัดว่า เมื่อไรฉันจะได้ออกไปสักทีหนา อะไรทำนองนี้
ผมเคยเล่าเรื่องคนหนีเมียไปบวชเป็นหลวงตาไว้ใน “สองทศวรรษในดงขมิ้น” อ่านแล้วเห็นภาพพระที่เกิดอาการ “ชูคอ” นี้เป็นอย่างดี
นายคนหนึ่งทะเลาะกับเมียแล้วหนีไปบวช บวชเพราะต้องการประชดเมียมากกว่า ถือหนังสือปาติโมกข์เดินไปท่องอยู่ที่กำแพงวัด ตาก็ชำเลืองไปยังหลังคาบ้าน ท่อง “โย ปะนะภิกขุ โย ปะนะภิกขุ”
ข้างฝ่ายภรรยา ทีแรกนึกว่าสามีคงบวชไม่นาน เดี๋ยวก็สึก แต่ผ่านไปห้าวันแล้วยังไม่สึก จึงสั่งลูกชายไปบอกพ่อว่า จะขายควาย เมื่อลูกชายไปบอกหลวงพ่อ “หลวงพ่อ แม่บอกว่าจะขายควาย” หลวงพ่อก็ตอบทันทีว่า “ขายก็ขายไป ไม่ใช่ควายของกู โยปะนะภิกขุ”
วันหลังลูกชายมาบอกตามคำของแม่อีก “หลวงพ่อ แม่ว่าขายนา” “ขายก็ขายไป ไม่ใช่นาของกู โย ปะนะภิกขุ...ไอ้แดงมึงอย่ามากวนใจกู กูจะท่องหนังสือ”
ไอ้แดงกลับไปรายงานแม่ คราวนี้แม่ปล่อยทีเด็ดกระซิบข้างหูลูกชาย ทันทีที่ลูกชายบอกว่า “หลวงพ่อ แม่ว่าจะเอาผัวใหม่ (คือแต่งงานใหม่นะครับ)” เท่านั้นแหละหลวงพ่อโยนหนังสือปาติโมกข์ทันที
“ไปบอกแม่มึง กูจะสึกวันนี้”
นี่แหละครับ ที่ท่านว่า “อุกฺกณฺฐิโต” แปลตามศัพท์ว่า “ชูคอ” หมายถึงอยากสึก
เมื่อพระปิโลติกะเธอเกิดความคิดอยากสึก เธอจึงกลับไปยังต้นไม้ต้นนั้น กางเกงตูดขาดยังอยู่ เธอจึงหยิบมันขึ้นมาตั้งใจจะนุ่งแล้วถือกะลาไปขอทานตามเดิม
ทันใดนั้นเธอก็ชะงัก กล่าวสอนตนเองว่า “ไอ้โง่เอ๊ย เอ็งชักไม่มียางอายเสียเลย เอ็งบวชมาแล้ว มีเครื่องนุ่งห่มอย่างดี มีอาหารอย่างดีกิน แล้วยังอยากจะกลับมานุ่งผ้าเก่าขาดเที่ยวขอทานอีกหรือ”
ให้โอวาทตนเองเสร็จ ก็นึกละอายใจ ตัดสินใจไม่สึก จะขอบวชอยู่ในพระศาสนาต่อไป จึงเอากางเกงตูดขาดแขวนกิ่งไม้ไว้เช่นเดิม
ว่ากันว่าพระคุณเจ้า “กางเกงตูดขาด” เทียวไล้เทียวขื่อไปยังต้นไม้นั้นจับกางเกงตูดขาดลูบคลำไปมา พลางให้โอวาทเตือนสติตนเองแล้วก็ตัดสินใจไม่สึก ทำอย่างนี้ถึงสามครั้งสามครา เวลาพระอื่นถามว่าไปไหนก็บอกว่า “ผมจะไปสำนักอาจารย์”
สามสี่วันต่อมา เธอก็ได้บรรลุพระอรหัต ไม่ไปๆ มาๆ อีกต่อไป ภิกษุทั้งหลายจึงถามท่านว่า “ผู้มีอายุ เดี๋ยวนี้ท่านไม่ไปสำนักอาจารย์หรือ ทางนี้เป็นทางเที่ยวไปของท่านมิใช่หรือ”
เธอตอบว่า “ท่านทั้งหลาย เมื่อมีความเกี่ยวพันอยู่กับอาจารย์ ผมจึงไป แต่บัดนี้ผมตัดความเกี่ยวข้องกับอาจารย์หมดสิ้นแล้ว” เท่ากับบอกนัยว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว
เหล่าภิกษุไม่พอใจ หาว่าท่านปิโลติกะ (พระกางเกงตูดขาด) อวดอ้างว่า บรรลุพระอรหัต จึงพากันไปกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ
พระพุทธเจ้าเมื่อทรงสดับคำกล่าวหาของภิกษุทั้งหลายแล้วจึงตรัสว่าถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรา เมื่อมีความเกี่ยวข้องอยู่ จึงไปสำนักอาจารย์ บัดนี้เธอได้ตัดความเกี่ยวข้องนั้นแล้ว เธอได้บรรลุพระอรหัตแล้ว
จากนั้นพระพุทธองค์ ได้ตรัสคาถาดังต่อไปนี้
“คนที่หักห้ามใจจากความคิดอกุศลด้วยหิริ มีน้อยคนในโลก ผู้ที่ไม่เห็นแก่นอน ตื่นอยู่เสมอเหมือนมีม้าดีคอยหลบแส้ของสารถีหาได้ยาก
เธอทั้งหลายจงพากเพียร มีความสังเวช (สลดใจในความบกพร่องของตนเองแล้วเร่งพัฒนาตน) เหมือนม้าดี ถูกเขาหวดด้วยแส้ แล้วเร่งฝีเท้าขึ้นฉะนั้น
เธอทั้งหลายจงศรัทธา (เชื่อมั่นในสิ่งที่ดี) มีศีล (ประพฤติดีงาม) มีวิริยะ (ความบกพร่อง) มีสมาธิ (ความตั้งใจมั่น) และพรั่งพร้อมด้วยการวินิจฉัยธรรม มีความรู้และความประพฤติดี มีสติมั่นคงปฏิบัติตนได้ดังนี้ จักละทุกข์ได้ไม่น้อยเลย”
“พระกางเกงตูดขาด” อดีตเด็กสลัมมีหิริหักห้ามความคิดอกุศลมีความเพียร พยายามแก้ไขตนเอง สอนตนเองอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งพรหมจรรย์
กางเกงตูดขาดตัวนั้น ได้เป็น “อาจารย์” ของท่านคือเป็นเครื่องเตือนสติให้ท่านมีฉันทะอยู่ในพระศาสนาจนได้เป็นพระอรหันต์ด้วยประการนี้
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรปิโลติกะ
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๙ ประจำวันที่ ๑-๗ เมษายน ๒๕๕๙
.
สามเณรสังฆรักขิต
วันนี้ขอนำเด็กที่ถูกจับบวชเป็นสามเณรแล้วก็อยู่ต่อจนเป็นพระ เป็นพระแล้วก็ “กระสัน” อยากสึก มาเล่าให้ฟัง
เด็กน้อยชื่อ สังฆรักขิต ชื่อเดิมจะว่าอย่างไรไม่ทราบ หลังจากบวชแล้ว เขาเรียกท่านว่า สังฆรักขิต หรือ ภาคิไนยสังฆรักขิต = สังฆรักขิตผู้เป็นหลาน
ท่านเป็นหลานของพระเถระนามว่า สังฆรักขิต พระเถระรูปนี้เป็นพระอรหันต์ ทรงอภิญญา ไปเยี่ยมครอบครัวญาติพี่น้องของตน เห็นหลานชาย (บุตรน้องชาย) หน่วยก้านดีจึงพาไปบวชเป็นสามเณร สามเณรสังฆรักขิตปรนนิบัติหลวงลุง ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของตนด้วยอย่างดีเสมอมา เมื่ออายุครบบวชหลวงลุงก็เป็นอุปัชฌาย์บวชให้
วันหนึ่งท่านสังฆรักขิตผู้หลาน กลับไปเยี่ยมโยมบิดามารดา โยมถวายผ้ากัมพลเนื้อดีมาสองผืน ตั้งใจว่ากลับไปถึงวัด จะถวายผืนใหญ่แก่อุปัชฌาย์จึงนำไปถวาย ขณะบอกถวายผ้าแก่อุปัชฌาย์ ท่านสังฆรักขิตกำลังนวดเท้าอาจารย์ เสร็จแล้วนั่งพัดวีให้ท่านอยู่ อุปัชฌาย์ปฏิเสธบอกให้หลานชายเก็บไว้ใช้เองเถิด เพราะท่านมีจีวรมากพออยู่แล้ว อ้อนวอนอย่างไรหลวงลุงก็ไม่ยอมรับท่าเดียว
สังฆรักขิต จึงน้อยใจ คิดว่าเมื่อหลวงลุงไม่ยินดีรับผ้าที่เราถวาย เราจะบวชอยู่ต่อไปทำไม สึกไปครองเรือนดีกว่า
และแล้วความคิดของเธอก็เตลิดไปไกล
ข้าสึกไปแล้ว เอาผ้าสองผืนนี้ไปขายเอาเงิน ได้เงินจำนวนหนึ่งแล้ว ก็จะไปซื้อแม่แพะมาสักตัว
ธรรมดาแม่แพะย่อมตกลูกเร็ว เมื่อมีลูกแพะหลายๆ ตัว ข้าก็จะขายได้เงินมาจำนวนหนึ่ง จะใช้จ่ายสร้างบ้าน (เรือน) งามๆ สักหลัง ซื้อที่นาสักแปลง พอที่จะปลูกข้าวไว้กิน ซื้อโคเทียมเกวียนสักคู่ สำหรับช่วยไถนาและขนทัพสัมภาระ
เมื่อมีทุกอย่างแล้วข้าก็จะแต่งงานกับหญิงสาวที่สวยงามสักคนหนึ่ง เราทั้งสองก็จะอยู่ครองเรือนกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือสร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา จากนั้นไม่นาน เราก็จะมีลูกชายน่าเกลียดน่าชังมาสักคนหนึ่ง เราจะตั้งชื่อลูกชายว่าอย่างไรหนอ (อีตาเสฐียรพงษ์ แกก็ยังเป็นวุ้นอยู่ที่ไหนไม่ทราบ ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร แต่ช่างเถิด ตั้งเองก็แล้วกัน) เอาชื่อหลวงลุงนี่แหละมาเป็นชื่อลูกชาย
เมื่อลูกชายโตมาอีกหน่อย เราสองคนสามีภรรยา ก็จะพาลูกชายมานมัสการหลวงลุง โดยข้าจะขับยาน ภรรยานั่งอุ้มลูกอยู่ภายในประทุน
ขณะขับเกวียนไประหว่างทาง ข้าอยากอุ้มลูก อยากหอมแก้มลูกสักฟอด (คนมีลูกใหม่ๆ มักจะเป็นอย่างนี้แหละ) เมียข้าไม่ยอม บอกว่าพี่ขับเกวียนไปสิ ฉันจะอุ้มเอง ไปได้สักระยะหนึ่ง เมียข้าอุ้มลูกจนเมื่อย จึงวางลูกบนพื้นเกวียน เกวียนมันกระแทกเหวี่ยงไปมาเพราะหนทางมันขรุขระ ลูกก็ร้องจ้าด้วยความตกใจและเจ็บปวด
ข้าโมโหเมียที่ทำให้ลูกร้อง จึงเอาปฏักเคาะหัวเมียดังโป๊ก ขณะที่ฟุ้งซ่านมาถึงนี่ มือก็กำลังพัดวีหลวงลุงอยู่ก็จับด้ามพัดฟาดลงบนศีรษะหลวงลุงพอดี
เธอรู้ตัว ตกใจแถมหลวงลุงยังพูดว่า “สังฆรักขิต เธอโกรธมาตุคาม (สตรี) แล้วทำไมมาตีหัวเรา พระแก่อย่างเรามีความผิดอะไรด้วยเล่า”
เธอนึกว่าที่เธอคิดฟุ้งซ่านมาทั้งหมดนี้หลวงลุงรู้หมดแล้ว มีความละอายจึงรีบลงกุฏิหนีไป
พระหนุ่มเณรน้อยวิ่งตามจับมาหาหลวงลุง
หลวงลุงพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสถามเธอว่า
“สังฆรักขิต ทำไมเธอถึงหนีอุปัชฌาย์ไป”
“ข้าพระองค์ละอายใจที่คิดฟุ้งซ่าน จนหลวงลุงทราบหมด พระเจ้าข้า”
“แล้วเธอจะหนีไปไหน”
“สึกไปเป็นคฤหัสถ์ พระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ตรัสปลอบใจเธอว่า
สังฆรักขิต ปุถุชนก็อย่างนี้แหละ คิดโน่นคิดนี่ สร้างวิมานในอากาศไปเรื่อย จิตใจตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาไม่รู้จบสิ้น เธอไม่ต้องละอายดอก ใครๆ เขาก็เป็นอย่างนี้ แต่ขอให้พยายามบังคับจิตมิให้มันวิ่งวุ่นไปโน่นไปนี่ พยายามเข้าไว้ ไม่นานก็จะสามารถทำได้เอง ของอย่างนี้มันต้องค่อยฝึกค่อยทำ ว่าแล้วพระองค์ก็ตรัสโศลกบทหนึ่ง สอนภิกษุหนุ่มว่า
ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ
เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา
จิตนี้เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในถ้ำ (ร่างกาย)
ชนเหล่าใดสำรวมระวังจิตไว้ เขาเหล่านั้นก็จักพ้นบ่วงมาร
ว่ากันว่า พอทรงเทศน์จบ สังฆรักขิต ก็บรรลุเป็นพระโสดาบันกลับใจไม่ยอมสึก พากเพียรพยามปฏิบัติธรรมอยู่ในร่มเงาพระพุทธศาสนาต่อไป
ข้อมูลไม่บอกเราว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตผลในการต่อมาหรือไม่ แต่เชื่อว่าคงได้เป็นพระอรหันต์แน่นอน
ขอแถมนิด สมัยผมเป็นพระหนุ่ม เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ)
วัดสะเกศ ทูลถามว่า พระองค์เคยสึกบ้างไหม (จำได้ว่า อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ไปเฝ้าด้วย)
สมเด็จฯ รับสั่งว่า “เคยมีคนเอากางเกงมาให้แล้วด้วย เราลองเอามานุ่งดู มองตัวเองแล้วรู้สึกว่าน่าสังเวชเลยตัดใจไม่สึก”
เมื่อทูลถามว่า “ทำไมตัดใจได้ง่ายปานนั้น” รับสั่งว่า “นึกถึงพระพุทธวจนะที่ตรัสสอนพระอยากสึกในคัมภีร์ เลยเกิดอุตสาหะอยากอยู่ต่อไป”
เรียกสั้นๆ ว่า ทรงได้พระพุทธวจนะเป็น “กัลยาณมิตร” ว่าอย่างนั้นเถอะ พระผู้ใหญ่บางรูปได้เด็กวัดเป็นผู้เตือนสติ พระมหาทองสุก แห่งวัดชนะสงคราม อยากสึก หันมาถาม ส.ธรรมยศ ซึ่งตอนนั้นเป็นเด็กวัด “ถ้าหลวงพี่จะสึก เธอจะว่าอย่างไร”
ส.ธรรมยศ ตอบว่า “อย่าสึกเลย หลวงพี่ หลวงพี่มีความเป็นคนน้อย สึกไปก็เอาตัวไม่รอด”
ได้ยินคำตอบ หลวงพี่ฉุนกึก นึกว่าลูกศิษย์ด่า แต่ลูกศิษย์อธิบายว่า หลวงพี่มีความเป็นพระมาก มีความเป็นคนครองเรือนน้อย พูดง่ายๆ ว่าปรับตัวเข้ากับโลกของคนไม่ได้ อยู่เป็นพระนี่แหละ เจริญก้าวหน้าในพระศาสนาแน่นอน
จริงอย่างที่ลูกศิษย์ว่า ท่านบวชอยู่ต่อมาจนได้เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ เป็นสังฆมนตรี (ตามพระราชบัญญัติปกครองสงฆ์สมัยนั้น) นี้ เพราะอานิสงส์คำเตือนของเด็กวัดนักปราชญ์แท้ๆ
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรสังฆรักขิต
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๐ ประจำวันที่ ๘-๑๔ เมษายน ๒๕๕๙
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 เมษายน 2559 16:02:08 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #53 เมื่อ:
18 เมษายน 2559 16:06:36 »
.
สามเณรกัณฏกะ
มีผู้ถามว่า
คนจะบวชพระอายุต้องครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าจะบวชสามเณรจะต้องอายุเท่าไร มีกำหนดไว้แน่นอนหรือเปล่า
เคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ตอบว่า ต้องอายุ ๗ ขวบขึ้นไป เมื่อซักว่าทำไมต้อง ๗ ขวบ ท่านก็บอกว่าไม่รู้สิ แต่เมื่อคราวราหุลกุมารบรรพชา ก็มีพระชนมายุ ๗ พรรษา ข้อนี้น่าจะเป็นเกณฑ์ปฏิบัติทั่วไป ท่านว่าอย่างนั้น
ถามอีกว่า ถ้าอายุเลย ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้ว สามเณรรูปนั้นไม่บวชพระเลยยังคงเป็นสามเณรอยู่อย่างนั้น จะได้ไหม ผิดกฎข้อไหนไหม ท่านผู้เฒ่า เอ๊ย ผู้ใหญ่ท่านเดิมตอบว่า ไม่ผิดกฎข้อใด เพราะไม่มีกฎไว้
แต่ไม่เหมาะสม
ลองเปิดพระวินัยปิฎกทบทวนดู
ก็ปรากฏว่าข้อความน่าสนใจ คือเดิมที เหล่าภิกษุอุปสมบทให้แก่เด็กๆ จำนวน ๑๗ คน เรียกว่า “สัตตรสวัคคีย์” (พวก ๑๗ คน) เด็กเหล่านี้มีอุบาลีเป็นหัวหน้า เป็น “พระเด็ก” รุ่นแรกก็ว่าได้
พอบวชมาได้ไม่กี่วัน ก็ร้องไห้กระจองอแง หิวข้าวขึ้นมาก็ร้องจะกินข้าว กินขนม อุปัชฌาย์กับอาจารย์ก็ปลอบว่า ยังไม่ถึงเวลาฉัน รอให้รุ่งเช้าก่อนจึงจะฉันได้ ก็ไม่ยอม ร้องทั้งคืน บ้างก็อึรด ฉี่รดที่นอนเหม็นหึ่งไปหมด
พระพุทธเจ้าทรงสดับเสียงร้องของ “พระเด็ก” เหล่านี้ จึงตรัสถามทรงทราบความแล้วจึงตรัสห้ามว่าต่อไปห้ามทำการอุปสมบทแก่เด็กชายอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เพราะฉะนั้นเวลา “นาค” จะเข้ามาบวช พระกรรมวาจาจารย์จึงถามว่า “ปริปุณฺณวีสติวสฺโสสิ” ท่านอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์หรือเปล่า นาคต้องตอบยืนยันว่า “อาม ภนฺเต” ครบขอรับ (อ่าน “อามะ พันเต”) ท่านจึงจะอนุญาตให้บวช
ไม่ทราบว่า สัตตรสวัคคีย์ เหล่านี้มีอายุเท่าไรกันแน่
มีอีกคราวหนึ่ง ตระกูลหนึ่งป่วยด้วยอหิวาตกโรคตายกันหมด เหลือแต่พ่อกับลูกชายตัวเล็กๆ พ่อกับลูกชายจึงบวช เมื่อไปบิณฑบาตด้วยกัน เวลาพ่อได้อาหาร ลูกชายก็ร้องขอจากพ่อว่า พ่อให้ผมกินเถอะ อะไรทำนองนี้ ชาวบ้านเห็นแล้วก็ติเตียนว่า พระรูปนี้พาเด็กมาบิณฑบาต สงสัยเด็กคนนี้คงเป็นลูกนางภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งเป็นแน่ พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องจึงทรงบัญญัติห้ามว่า ต่อไปอย่าให้เด็กบวชพระ
เมื่อเด็กอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ถูกห้ามมิให้บวชเป็นพระภิกษุ พระสารีบุตรจึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้า (เมื่อคราวที่ตรัสสั่งให้พระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมาร) ว่า “จะให้บวชด้วยวิธีไหน พระเจ้าข้า” พระองค์จึงตรัสว่า “บวชด้วยการถึงสรณคมน์ก็แล้วกัน” ราหุลกุมารผู้มีพระชนมายุ ๗ พรรษาจึงได้บวชเป็นสามเณรรูปแรก
เมื่อสามเณรรูปแรกอายุ ๗ ขวบ ก็เลยถือเป็นประเพณีว่า ผู้จะบวชเณรควรอายุตั้งแต่ ๗ ขวบขึ้นไป
ในพระวินัยปิฎกอีกนั่นแหละ เล่าต่อว่าคนในตระกูลอุปัฏฐากพระอานนท์ ตายหมดเหลือแต่เด็กชายเล็กๆ ๒ คน พระอานนท์มีความสงสารก็คิดจะให้เด็กทั้งสองบวชสามเณร เข้าใจว่าอายุคงไม่ครบ ๗ ขวบ เหมือนสามเณรราหุล พระอานนท์จึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความประสงค์ของตน พระพุทธองค์ตรัสถามว่า เด็กทั้งสองนั้นโตพอไล่กาได้ไหมอานนท์
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ถ้าเช่นนั้น เธอให้บรรพชาเป็นสามเณรได้”
อรรถกถาอธิบายว่า เด็กอายุเท่าไรไม่สำคัญ “เด็กใดถือก้อนดินด้วยมือซ้าย นั่งแล้ว อาจเพื่อจะไล่กาทั้งหลาย ซึ่งพากันมาให้บินหนีไปแล้วบริโภคอาหารซึ่งวางไว้ข้างหน้าได้ เด็กนี้จัดว่าผู้ไล่กาไป จะให้เด็กนั้นบวชก็ควร”
สรุปก็คือ เด็กพอรู้เดียงสา สามารถไล่กา (ไล่หมาด้วย) ที่จะมาแย่งอาหารจากจานข้าวได้ ก็บวชเป็นเณรได้
ที่จับบวชหน้าไฟ ส่วนมากก็อายุยังน้อยทั้งนั้น บวชให้แล้วดูแลดีๆ ก็คงไม่เป็นไร บางครั้งผมเห็นญาติโยม (ตัวดี) พาเณรน้อยไปเที่ยวที่ห้างสรรพสินค้าก็มี
สามเณรที่อายุน้อยๆ ถ้าซนก็คงซนตามประสาเด็กไม่ค่อยเดียงสา แต่ถ้าสามเณรโค่ง คือสามเณรวัยรุ่น ความซนอาจออกไปทางอนาจาร เสี่ยงต่อการละเมิดทางเพศ ดังในคัมภีร์บันทึกพฤติกรรมของสามเณรกัณฏกะ (สามเณรหนาม) ไว้เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์
สามเณรหนาม มีประวัติเป็นมาอย่างไร ไม่แจ้งชัด รู้แต่ว่าเป็นศิษย์พระอุปนนท์ แห่งศากยวงศ์ ท่านอุปนนท์รูปนี้เป็นพระ “ดัง” (ในทางไม่ค่อยดี) รูปหนึ่ง ท่านเป็นพระนักเทศน์ รูปงาม เสียงจะดีด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ ชอบสอนให้ลูกศิษย์ออกไปนั่งกรรมฐานบ้าง เดินจงกรมบ้าง ตามลานวัด ตนเองก็เข้ากุฏิปิดประตูนอน
พอเหล่าศิษย์บำเพ็ญเพียรจนเหนื่อยแล้ว คิดจะกลับมาเอนหลังสักหน่อย ท่านอุปนนท์ก็ตื่นขึ้นมาพอดี ออกมาไล่ให้ไปจงกรม หรือนั่งสมาธิต่อจนกระทั่งพระลูกศิษย์ออกปากว่าอาจารย์เข้มงวดเหลือเกิน
บังเอิญศิษย์รูปหนึ่งแอบรู้พฤติกรรมของอาจารย์เข้า จึงกระซิบบอกต่อๆ กันไป จึงได้รู้ทั่วกันว่า อาจารย์ของพวกตนเป็นประเภท “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” เรื่องรู้ไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสสอนว่า ควรปฏิบัติตนให้ดีก่อน แล้วค่อยสอนคนอื่น ถ้าทำได้อย่างนี้ บัณฑิตจึงจะไม่มัวหมอง
แต่บัณฑิตอย่างอุปนนท์ ไม่สนใจ วันหนึ่งก็แสดงพฤติกรรมน่าเกลียดอีกจนได้ คราวนี้ท่านเดินทางไปยังวัดต่างๆ สามสี่แห่งก่อนวันเข้าพรรษา วางรองเท้าไว้ที่วัด ก. ร่มไว้ที่วัด ข. น้ำเต้าไว้ที่วัด ค. ตนเองไปจำพรรษาอยู่ที่วัด ง. พอออกพรรษาแล้วก็ไปทวง “ส่วนแบ่ง” ที่ผู้อยู่จำพรรษาพึงได้รับ ครั้นเขาแย้งว่า หลวงพ่อไม่ได้จำพรรษาวัดนี้นี่ครับ
“ใครว่า คุณ ผมเอารองเท้าจำพรรษาแทน แล้วไง คุณก็ต้องแบ่งให้ผมด้วย” เล่นกะหลวงพ่ออุปนนท์สิ
เมื่ออาจารย์เป็นอย่างไร ลูกศิษย์ก็คงไม่แตกต่างกัน กัณฏกะสามเณรอยู่ใกล้ชิดพระอุปนนท์ก็คงถอดแบบจากอาจารย์ สามเณรกัณฏกะจึงไม่ค่อยจะสำรวมสมเป็นเหล่ากอแห่งสมณะที่ดี ปากคอเราะร้าย พอเจอนางภิกษุณีก็มักจะ “ขายขนมจีบ” ไม่เลือกหน้า วันดีคืนดีก็ทำอนาจารกับภิกษุณีนามว่า กัณฏกี จนมีเรื่องฉาวโฉ่
พระบาลีใช้คำว่า
ภิกฺขุนึ ทูเสสิ
= ประทุษร้ายภิกษุณี
= ประพฤติอนาจาร ไม่ทราบว่าถึงขั้นไหน เพราะภาษากำกวม แม้ในภาษาปัจจุบันนี้ก็ใช้คำว่า กระทำอนาจารทางเพศเช่นกัน คือ กำกวมเช่นกัน
ความซุกซนของสามเณรกัณฏกะ ศิษย์หลวงพ่ออุปนนท์ เป็นที่รับรู้กันทั่วไป จนพระพุทธเจ้าทรงวางบทบัญญัติไว้เพื่อกวดขันสามเณรต่อไปคือ
๑.ให้ทำทัณฑกรรม (คาดโทษ) แก่สามเณรผู้มีพฤติกรรม ๕ ประการคือ
๑) ความพยายามเพื่อความเสื่อมลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย
๒) พยายามเพื่อความพินาศแห่งภิกษุทั้งหลาย
๓) พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
๔) ด่า บริภาษ ภิกษุทั้งหลาย
๕) ยุยงให้ภิกษุต่อภิกษุแตกกัน
๒.ให้นาสนะ (ให้ฉิบหาย, คือไล่ศึก) แก่สามเณรผู้มีพฤติกรรม ๑๐ ประการ คือ
๑)ทำลายสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป (ฆ่าสัตว์)
๒) ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้ (ลักทรัพย์)
๓) กระทำการอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ (เสพกาม)
๔) กล่าวเท็จ
๕) ดื่มสุราเมรัย
๖) กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
๗) กล่าวติเตียนพระธรรม
๘) กล่าวติเตียนพระสงฆ์
๙) มีความเห็นผิด
๑๐) ประทุษร้ายนางภิกษุณี
รวมถึงประทุษร้ายสามเณรด้วยแหละครับ แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายต่าง “ประทุษร้ายกันและกัน” ก็ต้องเฉดหัวออกไปทั้งสองแหละครับ ขืนปล่อยไว้เดี๋ยวจะ “ประทุษร้ายพระศาสนา”
ความซุกซนของสามเณรกัณฏกะ มองในแง่บวกก็เป็นผลดีแก่พระศาสนา คือ เป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์ทรงวางกฎเข้มงวดไม่ให้สามเณรทั้งหลายเอาเยี่ยงอย่างต่อไป
พระพุทธบัญญัติเรื่องนี้เรียกว่า “สามเณรสิกขา” = สิ่งที่สามเณรทั้งหลายพึงสำเหนียกปฏิบัติ ซึ่งสามเณรทั้งหลายในสยามประเทศสวดเตือนสติตัวเองทุกวัน หลังทำวัตรช้า ทำวัตรเย็น จนกระทั่งปัจจุบัน
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรกัณฏกะ
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๑ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ เมษายน ๒๕๕๙
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #54 เมื่อ:
28 เมษายน 2559 14:31:36 »
.
สามเณรอธิมุตตกะ
วันนี้
ขอเล่าเรื่องของ
สามเณรอธิมุตตกะ
ชื่อนี้แปลตามศัพท์ว่า “ผู้พ้นโดยยิ่งแล้ว” หรือ “ผู้พ้นโดยสิ้นเชิง”
ถ้าท่านผู้อ่านติดตามเรื่อง สามเณร=เหล่ากอแห่งสมณะ มาตั้งแต่ต้น คงจำได้ว่าผมได้นำเรื่องของสามเณรสังกิจ มาเล่าให้ฟังแล้ว
สามเณรสังกิจ บวชเป็นพระจนมีอายุพรรษาเป็นพระเถระ ท่านนำหลานชายคนหนึ่งชื่อ อธิมุตตกะ มาบวชเป็นสามเณร
สามเณรอธิมุตตกะ ได้อยู่รับใช้หลวงลุง จนกระทั่งอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ สมควรบวชเป็นพระภิกษุแล้ว หลวงลุงจึงสั่งให้เดินทางกลับบ้านไปลาบิดามารดา เพราะผู้จะบวชเป็นพระจะต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน
สามเณรอธิมุตตกะ เพื่อความแน่ใจว่าอายุตนเองครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แน่หรือไม่ จึงแวะไปเยี่ยมน้องสาวซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ใกล้ดงแห่งหนึ่ง ถามอายุของตน น้องสาวบอกว่าไม่ทราบ ต้องไปถามพ่อแม่
สามเณรจึงเดินทางข้ามดงไปเพื่อจะไปถามวันเดือนปีเกิดของตน และขออนุญาตพ่อแม่บวชเป็นพระภิกษุ
บังเอิญ ไม่ทราบเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้าย สามเณรถูกโจรห้าร้อยจับไว้ (โจรจำนวนห้าร้อย ไม่ใช่ “โจรห้าร้อย”) ในจำนวนโจรห้าร้อยนั้นก็มีบางคนที่หยาบช้า “ห้าร้อย” จริงๆ บอกว่าจะต้องฆ่าสามเณรบูชายัญ แต่อีกบางคนมีจิตใจอ่อนโยนเห็นแก่ผ้าเหลืองค้านว่า อย่าฆ่าสามเณรเลย เอาคนอื่นบูชายัญแทนเถอะ
สามเณรคิดว่า เราน่าจะสั่งสอนพวกโจรเหล่านี้ให้รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษได้บ้าง จึงพูดกับหัวหน้าโจรว่า ท่านหัวหน้า อาตมาจะเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง ในอดีตกาลมีเสือตัวหนึ่งอยู่ในดง มันฆ่า “จัมปกะ” (ไม่ได้แปลว่าเป็นอะไร สงสัยจะเป็นเนื้อตัวหนึ่ง) เมื่อจัมปกะถูกเสือกัดกิน เรื่องรู้ไปถึงหมู่เนื้อตัวอื่นๆ จึงพากันหนีจากดงนั้น ไม่อยู่เป็นเหยื่อของเสือตัวนั้นอีกต่อไป
ฉันใดก็ฉันนั้นแหละท่านหัวหน้า ถ้าท่านฆ่าสามเณรชื่ออธิมุตตกะตาย ใครๆ ได้ทราบข่าวว่าสามเณรอธิมุตตกะเดินทางผ่านดงมา ถูกพวกโจรจับฆ่าเสีย คนอื่นๆ ก็จะไม่เดินทางผ่านมาทางนี้เลย พวกท่านก็จะหมดโอกาสได้ทรัพย์สินจากคนเดินทาง คิดดูให้ดี การฆ่าสามเณรรูปหนึ่ง คุ้มกับสิ่งที่ท่านควรจะได้ในอนาคตไหม
สามเณรท่านเล่น “ไซโค” กับพวกโจร หัวหน้าโจรเอามือลูบเคราคิดหนักเอ่ยขึ้นว่า “ถ้าพวกผมปล่อยสามเณรไป สามเณรก็จะไปบอกคนอื่นว่าพวกโจรซุ่มอยู่ในดงนี้ พวกผมก็อดได้ปล้นทรัพย์คนเดินทางอยู่ดี”
“รับรอง อาตมาไม่บอกใคร สมณะเมื่อรับคำแล้วย่อมไม่คืนคำ” สามเณรกล่าวยืนยัน
หัวหน้าโจรจึงสั่งปล่อยสามเณร
สามเณรเดินข้ามดงไปพบบิดามารดาและญาติ ถามวันเดือนปีเกิดของตน และขออนุญาตบวชเป็นพระภิกษุแล้วก็เดินทางกลับ จากนั้นพ่อแม่และญาติๆ ของสามเณรเดินผ่านดงไป ถูกพวกโจรจับได้ จึงพากันร้องไห้คร่ำครวญด้วยความเสียใจ (เจ็บใจมากกว่า)
โดยเฉพาะโยมแม่ของสามเณรน้อยร้องเสียงดังกว่าเพื่อนว่า เณรน้อยลูกแม่ทำไมไม่บอกว่าที่ดงนี้มีพวกโจรอยู่ ปล่อยให้พ่อแม่และญาติๆ ถูกพวกมันจับฆ่าเสีย หรือว่าลูกเป็นพรรคพวกของพวกโจร
เมื่อพวกโจรถาม จึงบอกว่า สามเณรรูปที่เดินทางล่วงหน้าไปก่อนนั้นแหละคือลูกของตน ทำไมหนอลูกชายของตนจึงกลายเป็นพวกโจรไปได้ น่าเจ็บใจจริงๆ
หัวหน้าโจรรำพึงเบาๆ ว่า “สามเณรอธิมุตตกะรูปนี้ พูดจริงทำจริง เห็นพ่อแม่ญาติพี่น้องเดินทางมายังที่อยู่ของพวกโจรเช่นพวกเราก็มิได้บอกกล่าวแพร่งพรายให้ทราบถึงอันตราย น่านับถือจริงๆ”
เขาว่าสัจจะก็มีในหมู่โจร หัวหน้าโจรเห็นสามเณรยึดมั่นในสัจจะ ก็เลื่อมใสจึงสั่งปล่อยโยมพ่อแม่ รวมทั้งญาติๆ ของสามเณร ตนเองพร้อมบริวารรีบเดินทางตามสามเณรไปจนทัน แล้วขอบวชเป็นศิษย์สามเณร สามเณรอธิมุตตกะ จึงบวชให้โจรทั้งห้าร้อยเป็นสามเณรพาไปหาหลวงลุง อธิมุตตกะสามเณรได้อุปสมบทเป็นภิกษุ และสามเณรอดีตโจรเหล่านั้นก็ได้อุปสมบทในเวลาถัดมา และได้เป็นศิษย์อยู่ในโอวาทของพระอธิมุตตกะ ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันทุกรูป
นับว่าสามเณรน้อยรูปนี้ สามารถนำมหาโจรมาบวชในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขันทีเดียว
ตำราบอกว่า สามเณรได้บรรลุพระอรหัตตั้งแต่บวชใหม่ๆ ตอนที่เดินทางผ่านดงถูกพวกโจรจับนั้นไม่ใช่สามเณรปุถุชนธรรมดา หากเป็นสามเณรอรหันต์ทรงอภิญญา จึงไม่หวาดกลัวต่อความตาย ตรงข้ามกับ “ขึ้นธรรมาสน์ เทศน์สอน” พวกโจรอย่างไม่สะทกสะท้าน
เรื่องราวของสามเณรอธิมุตตกะนี้ มีบันทึกไว้ในสารัตถปกาสินีอรรถกถาแห่งพระสุตตันตปิฎกสังยุตตนิกาย ท่านเล่าเป็นเรื่องประกอบความเห็นของเทวดาที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทำนองจะขอความเห็นว่า ภาษิตของใครจะลึกซึ้งกว่ากัน
หัวข้อที่ประกวดกันกล่าวก็คือ “คบสัตบุรุษดี” ดีเพราะอะไร ต่างคนต่างให้เหตุผล
เทวดาองค์หนึ่งกล่าวว่า
“บุคคลควรนั่งใกล้สัตบุรุษ ควรสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะผู้ที่คบสัตบุรุษมีแต่ความประเสริฐ ไม่มีโทษเลย”
อีกองค์หนึ่งกล่าวว่า
“บุคคลควรนั่งใกล้สัตบุรุษ ควรสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะผู้ที่คบสัตบุรุษย่อมไพโรจน์ท่ามกลางหมู่ญาติ”
เมื่อถึงบทว่า “คนคบสัตบุรุษย่อมไพโรจน์ท่ามกลางหมู่ญาติ” ก็ยกเรื่องสามเณรอธิมุตตกะประกอบ ว่าสามเณรอธิมุตตกะนี้เป็นสัตบุรุษและคบสัตบุรุษ (คือพระสังกิจจะ) จึงไพโรจน์ คือสง่างามท่ามกลางหมู่ญาติทั้งหลายดังกล่าวมาข้างต้น
มีข้อน่าสังเกตนิดว่า ภาษิตของเทวดาสองสามองค์นั้น พระพุทธองค์ทรงรับว่าเป็นสุภาษิต (คือคำกล่าวดี พอใช้ได้) แต่ที่ถูกจริงๆ พระองค์ตรัสว่า “ผู้ที่คบสัตบุรุษย่อมพ้นทุกข์ทั้งปวง)
สัตบุรุษแท้จริงย่อมทำตนให้พ้นทุกข์ได้ และสามารถสอนคนอื่นให้พ้นทุกข์ได้ด้วยดังพระพุทธองค์ ทรงเป็นยอดสัตบุรุษ เพราะพระองค์
ทรงรู้ยิ่งแล้ว สอนเพื่อให้ผู้อื่นรู้ยิ่ง
ทรงดับเย็นแล้ว สอนให้ผู้อื่นดับเย็น
ทรงหลุดพ้นแล้ว สอนให้ผู้อื่นหลุดพ้น
เรื่องสามเณรอธิมุตตกะก็อวสานลงเพียงเท่านี้
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรอธิมุตตกะ
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๒ ประจำวันที่ ๒๒-๒๘ เมษายน ๒๕๕๙
สามเณรวาเสฏฐะ กับ ภารทวาชะ
วันนี้ขอเล่าเรื่องสามเณรสองรูปชื่อ
วาเสฏฐะ
กับ
ภารทวาชะ
เรื่องราวของสามเณรน้อยทั้งสองรูปมีบันทึกไว้ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย (อัคคัญญสูตร) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑
สามเณรทั้งสองเป็นบุตรพราหมณ์ เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งได้ชวนกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดบุพพาราม เมืองสาวัตถี พระพุทธเจ้าตรัสถามว่าเธอทั้งสองเป็นพราหมณ์มาบวชในธรรมวินัยของตถาคต ไม่ถูกพวกพราหมณ์ด้วยกันด่าว่าเอาหรือ สามเณรทั้งสองกราบทูลว่า ถูกด่ามากทีเดียว พระเจ้าข้า
“เขาด่าอย่างไรบ้าง” ตรัสซัก
“เขาด่าว่า พวกข้าพระองค์เกิดในวรรณะประเสริฐ เป็นวรรณะบริสุทธิ์ เป็นบุตรพรหม เกิดจากปากของพรหม ยังไม่รักดี มาบวชอยู่กับพวกสมณะโล้นซึ่งเป็นพวกไพร่ วรรณะเลว เกิดจากเท้าของพรหม”
พระพุทธเจ้าทรงสดับรายงานดังนั้น จึงตรัสว่า “พวกพราหมณ์พวกนั้นลืมตนเกิดจากโยนีของพราหมณีแท้ๆ ยังกล่าวว่าเกิดจากปากพระพรหม เป็นการพูดเท็จแท้ๆ”
พระองค์ตรัสต่อไปว่า ต่อไปถ้าใครถามว่าเป็นใคร พวกเธอจงกล่าวตอบว่า พวกเราเป็นสมณะ ศากยบุตร เป็นโอรสของตถาคตเกิดจากธรรมอันธรรมะสร้าง เป็นธรรมทายาท เพราะคำว่า ธรรมกาย พรหมกาย ธรรมทูต เป็นชื่อของตถาคต
จากนั้นพระองค์ตรัสเล่าว่า เมื่อโลกพินาศลง สัตว์ส่วนมากไปเกิดเป็นอาภัสรพรหม มีปีติเป็นภักษา ไม่มีเพศ มีความเรืองแสง อยู่ในวิมานอันสวยงาม เมื่อโลกเกิดขึ้นใหม่หลังพินาศ สัตว์เหล่านั้นจุติลงมาสู่โลกนี้ยังมีความเรืองแสงอยู่ และเหาะเหินเดินหาวได้
เบื้องแรกยังมีแต่น้ำ มืดมนไม่มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ไม่มีกลางคืนกลางวัน
ต่อมาเกิดง้วนดินลอยบนผิวน้ำ มีกลิ่นสีและรสอร่อย สัตว์โลกตนหนึ่งลองเอานิ้วจิ้มชิมดู ปรากฏว่ามีรสอร่อย สัตว์อื่นก็ทำตาม ต่างก็ติดในรสอร่อย ความเรืองแสงของร่างกายจึงหายไป เหาะไม่ได้อีกต่อไป
จากนั้นพระจันทร์พระอาทิตย์ก็ปรากฏ มีกลางวัน กลางคืน มีวัน เดือน ปี มีฤดูกาล จากนั้นก็เกิดสะเก็ดดิน มีสีกลิ่นและรสดีกินเป็นอาหารได้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายกินสะเก็ดดิน ผิวพรรณก็ค่อยหยาบขึ้นๆ ความแตกต่างแห่งผิวพรรณดีก็ดูหมิ่นเหยียดหยามพวกที่ผิวพรรณหยาบ เมื่อเกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามกันเพราะผิวพรรณ สะเก็ดดินก็หายไป มีเถาดินหรือเครือดินเกิดขึ้นแทน และเครือดินก็หายไปในที่สุด
เกิดข้าวสาลี ไม่มีเปลือก มีแต่ข้าวสาร มีรสชาติอร่อย เมื่อเก็บเอาตอนเช้า ตอนเย็นก็งอกขึ้นแทน เมื่อเก็บเอาตอนเย็น ตอนเช้าก็งอกขึ้นแทน เหล่าสัตว์ที่กินข้าวสาลี ต่างก็มีผิวพรรณหยาบขึ้นๆ พวกที่ผิวพรรณยังดีดูกว่าพวกอื่น ก็เหยียดหยามพวกที่ผิวพรรณเลวกว่าตน
จากนั้น
ก็เกิดเพศหญิงเพศชายขึ้น มีการเพ่งมองกันเกินขอบเขตเมื่อเพ่งมองมากเข้าราคะกำหนัดก็เกิด มีการเสพเมถุนธรรมกัน ถูกพวกสัตว์ที่ไม่เสพเมถุนธรรมรังเกียจ เอาก้อนดิน ท่อนไม้ขว้างปา ด่าว่าเสียๆ หายๆ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างกระท่อมหรือบ้านเรือนเพื่อกำบัง
ต่อมามีบางคนเกิดความโลภ นำข้าวสาลีมาตุนไว้เพื่อกินหลายวัน สัตว์อื่นๆ ก็ทำตาม การสะสมอาหารก็เกิดขึ้นทั่วไป ข้าวสาลีจึงมีเปลือก ที่ถูกถอนขึ้นแล้วก็ไม่งอกขึ้นแทนเหมือนแต่ก่อน เหล่าสัตว์โลกจึงประชุมแบ่งเขตข้าวสาลีกัน
ต่อมามีคนสันดานโกง ขโมยส่วนของคนอื่น เมื่อถูกจับได้ ก็ด่าว่าถกเถียงกัน จึงเห็นความจำเป็นจะต้องมีใครสักคนที่เป็นที่เชื่อถือของชุมชนคอยดูแลผลประโยชน์ของชุมชน ทั้งหมดจึงแต่ตั้งบางคนเป็นหัวหน้าคอยทำหน้าที่ตำหนิคนควรตำหนิ ขับไล่คนควรขับไล่ โดยพวกเขาแบ่งส่วนข้าวสาลีให้
คนที่ประชาชนเลือกขึ้นมาจึงมีชื่อเรียกกันว่า “มหาชนสมมติ” (ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง) เขาทำหน้าที่เป็นที่พอใจของปวงชน จึงมีชื่อว่า “ราชา” (ผู้เป็นที่พอใจของปวงชน) เขาเป็นหัวหน้าดูแลที่นาให้ปวงชนจึงชื่อว่า “กษัตริย์” (ผู้เป็นใหญ่แห่งที่นา) วรรณะกษัตริย์ เกิดขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้ (จะสังเกตว่าวรรณะกษัตริย์เกิดก่อน)
จากนั้นก็มีบางพวกปลีกตัวออกจากชุมชนเข้าป่าแสวงวิเวกสวดมนต์ภาวนา หรือเพ่งพินิจ พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะพราหมณ์
บางพวกยังยินดีในการครองเรือน ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพชั้นสูงต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะแพศย์
บางพวกประกอบอาชีพชั้นต่ำอื่นๆ เช่น การล่าเนื้อ ใช้แรงงานทั่วไป พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะศูทร
เมื่อทรงเล่าให้สามเณรทั้งสองฟังอย่างนี้แล้ว พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า ทั้งพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ถ้าดูให้ดี ล้วนเกิดมาจากสัตว์พวกนั้น ไม่ได้เกิดจากพวกอื่น เกิดจากพวกที่เสมอกันมิใช่เกิดจากคนที่ไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม
ตรงนี้เท่ากับทรงแย้งความเห็นของพราหมณ์ที่อ้างว่าคนเรามีกำเนิดสูงต่ำไม่เหมือนกัน พวกที่เกิดจากปากพรหมเป็นวรรณะพราหมณ์ พวกที่เกิดจากพาหาพรหมเป็นวรรณะกษัตริย์ พวกที่เกิดจากโสเภณี (ตะโพก) ของพรหมเป็นวรรณะแพศย์ พวกที่เกิดจากเท้าของพรหม เป็นวรรณะศูทร
พูดอีกนัยหนึ่ง วรรณะมิใช่เป็นเครื่องแบ่งความสูงต่ำ วรรณะแบ่งตามอาชีพที่แต่ละคนทำมากกว่า
โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์เกิดมาทัดเทียมกัน
จากนั้นทรงสรุปว่า ไม่ว่าคนเราจะมีกำเนิดมาอย่างไรก็ตาม นั้นมิใช่ประเด็นสำคัญ ที่สำคัญก็คือการกระทำของแต่ละคน ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ถ้าประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ก็เป็นคนชั่วคนเลวเสมอเหมือนกัน เมื่อตายไปก็ไปเกิดในอบาย ทุคติวินิบาต นรก เหมือนกัน
ถ้าประพฤติดีทางกาย วาจา ใจ ก็เป็นคนดีเสมอกัน เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน
ชาติชั้นวรรณะหาใช่เครื่องแบ่งแยกความแตกต่างกันไม่
ถ้าวรรณะทั้งสี่ สำรวมกาย วาจา ใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (คือ สติปัฏฐาน=การตั้งสติ ๔, สมมัปปธาน=ความเพียรชอบ , อิทธิบาท=ธรรมเครื่องให้บรรลุความสำเร็จ ๔, อินทรีย์=ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ๕, พละ=ธรรมที่เป็นกำลัง ๕, โพชฌงค์=ธรรมอันเป็นองค์ประกอบแห่งการตรัสรู้ ๗, อริยมรรค=ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ๘) ก็สามารถปรินิพพาน (ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล) ได้ในปัจจุบันเหมือนกัน
ในบรรดาวรรณะทั้งสี่นั้น ผู้ใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ (หมดสิ้นอาสวะ) หมดภารกิจ ปลงภาระ หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ นับว่าเป็นพระอรหันต์นั้นแหละเป็นวรรณะสูงที่สุด
ท้ายสุดทรงย้ำสุภาษิตของสนังกุมารพรหม ซึ่งตรงกับพระมติของพระองค์ว่า “ในหมู่ผู้ถือโคตร กษัตริย์นับว่าประเสริฐสุด แต่ผู้มีวิชชา (ความรู้ดี) และจรณะ (ความประพฤติดี) เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
พระสูตรนี้ มีผู้ตีความไปต่างๆ นานา เช่น บางคนว่า พระสูตรนี้เป็นตัวแทนพระพุทธศาสนาในเรื่องเกี่ยวกับกำเนิดและวิวัฒนาการของโลก และของมนุษย์ โดยเล่าว่าโลกเกิดขึ้นมาอย่างไร มนุษย์เกิดและพัฒนามาอย่างไร วรรณะต่างๆ (ในทรรศนะพระพุทธศาสนา) เป็นมาอย่างไร ตลอดจนสังคมความความคิดทางการเมือง และสถาบันทางการเมืองว่าเกิดขึ้นและวิวัฒนาการเป็นขั้นๆ อย่างไร
บางท่านก็ว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธองค์ทรงเล่าตามความเชื่อของคนสมัยนั้นมากกว่า ทรงเล่าผ่านๆ เพื่อต้องการวกเข้าหาประเด็นสำคัญที่ทรงต้องการสอนมากกว่า นั่นก็คือ ไม่ว่าโลกจะเป็นมาอย่างไร ไม่ว่ามนุษย์จะเกิดมาอย่างไร (ไม่ว่าจะเป็นอย่างที่เล่ามา หรืออย่างอื่นก็ตาม) ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญที่สุด ธรรมะ เท่านั้นเป็นเครื่องแบ่งแยกว่าคนจะเป็นคนดี หรือคนชั่วมิใช่ชาติชั้นวรรณะ
ธรรมะที่ทำให้คนเป็นคนดีที่สุดและประเสริฐที่สุด วิชชา=ความรู้ (ดี) และ จรณะ=ความประพฤติ (ดี)
สามเณรทั้งสองสดับพระธรรมเทศนาจบลงก็ชื่นชมในภาษิตของพระพุทธองค์มาก ตำราในที่อื่นบอกว่าจากนั้นไม่นาน สามเณรทั้งสองก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุและได้บรรลุพระอรหัต ดร.มาลาลาเสเกร่า ผู้รวบรวมเรียบเรียง
Dictionary of Pali Proper Names
กล่าวว่า สามเณรสองรูปนี้คือ วาเสฏฐะ และ ภารทวาชะ เป็นศิษย์ของโปกขรสาติพราหมณ์ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าครั้งแรกแล้วปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ นับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต ภายหลังมาบวชเป็นสามเณร และได้ฟังพระธรรมเทศนา เตวิชชสูตรและอัคคัญญสูตร ดังข้างต้น ว่าอย่างนั้น
เรื่องอย่างนี้ต้องเชื่อนักปราชญ์ผู้เป็น “เซียน” ทางด้านนี้เขา เหมือนคนเล่นพระเครื่อง ก็ต้องเชื่อ “เซียนพระเครื่อง” ฉะนี้แล
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรวาเสฏฐะ กับ ภารทวาชะ
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๓ ประจำวันที่ ๒๙ เมษายน - ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙
สามเณรสา
เล่าเรื่องสามเณรทั้งในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาลมาหลายรูปแล้ว บัดนี้ขอพูดถึงสามเณรในประเทศไทยสักสามรูป
ในประวัติศาสตร์การศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศสยาม มีสามเณรผู้สอบผ่านจนจบชั้นสูงสุดแต่อายุยังน้อยเป็นรูปแรกในสมัยรัชกาลที่สาม
สามเณรรูปนั้นเป็นชาวเมืองนนท์ นามว่า สามเณรสา บวชสามเณรที่วัดใหม่บางขุนเทียน จ.นนทบุรี
ก่อนจะไปไกล ขอเรียนเพิ่มเติมตรงนี้หน่อย สมัยก่อนโน้นพระท่านเรียนพระไตรปิฎกกัน แบ่งชั้นเรียนเป็นสามชั้น คือ บาเรียนตรีเรียนพระสุตตันตปิฎก บาเรียนโทเรียนพระวินัยปิฎก และบาเรียนเอกเรียนพระอภิธรรมปิฎก
ต่อมาในรัชกาลที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ขยายออกเป็นเก้าชั้นเรียกว่า “ประโยค” หลักสูตรเปลี่ยนจากใช้พระไตรปิฎกโดยตรงมาเป็นอรรถกถา (หนังสืออธิบายพระไตรปิฎก)
ประมาณสองหรือสามปี จะจัดสอบไล่ครั้งหนึ่ง ผู้สมัครสอบจะต้องเข้าแปลข้อความที่คณะกรรมการกำหนดให้ อันเรียกว่า “ประโยค” ใครสอบผ่านได้กี่ตอน ก็เรียกว่าสอบได้เท่านั้นเท่านี้ประโยค จนกระทั่งจบเก้าประโยคอันเป็นชั้นสูงสุด
ผู้สอบผ่านตั้งแต่สามประโยคขึ้นไปเรียกว่า มหาบาเรียน (ต่อมาเรียกมหาเปรียญ)
การสอบสมัยนั้นสอบ “แปลปาก” คือ แปลปากเปล่าให้คณะกรรมการฟัง ผู้ที่สอบได้เพียงหนึ่งหรือสองประโยค สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ทรงถวายอุปถัมภ์เป็นการให้กำลังใจว่าให้พยายามต่อไป จะได้เป็นเปรียญแน่นอน
ท่านที่สอบได้สองหรือสามประโยคเหล่านี้จึงเรียกว่า “เปรียญวังหน้า”
ต่อมาในรัชกาลที่หก ได้เปลี่ยนระบบการสอบปากเปล่าเป็นสอบข้อเขียน และกำหนดให้สอบได้ปีละครั้ง จึงไม่มีสามเณรสอบได้เปรียญเก้าประโยคมาเป็นเวลานาน เพราะอายุมักเกินยี่สิบปีบริบูรณ์ก่อน
นี่คือความเป็นมาย่อๆ ของประวัติการสอบพระปริยัติธรรม กลับมาพูดถึงสามเณรสา เข้าแปลบาลีครั้งแรกสอบได้สองประโยค ได้เป็น “เปรียญวังหน้า”
ต่อมาสามเณรสาได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระวชิรญาณภิกขุ (พระเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทววงศ์) เมื่อครั้งทรงผนวชอยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) จนอายุ ๑๘ ปี จึงเข้าแปลบาลีอีกครั้งหนึ่ง
คราวนี้สามเณรสาแปลคราวเดียวผ่านถึงเก้าประโยค อายุยังไม่ครบบวชเสียด้วยซ้ำ นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๒ สามเณรสาอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ได้รับการอุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์ คือ เป็นนาคหลวงในรัชกาลที่สาม บวชได้ ๖ พรรษา ก็ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี
ครั้นสิ้นรัชกาลที่สาม พระเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงสละเพศบรรพชิตขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอมรโมลีหรือพระมหาสา ปุริโส ขอลาสิกขาไปรับราชการด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ทรงโปรดให้สึก เพราะทรงเห็นว่าจะเป็นกำลังของพระศาสนาอย่างดี
แต่อย่างว่าแหละครับ “ฝนจะตก ลูกจะออก ขี้จะแตก พระจะสึก ใครจะห้ามได้” คำพังเพยเขาว่าอย่างนั้น มหาสาก็ดื้อสึกจนได้
ประวัติศาสตร์กระซิบเล่าว่า ในหลวงรับสั่งให้เอามหาสาขัง ให้เอาผ้าไตรไปวางไว้ข้างๆ รับสั่งว่าเลือกเอา
จะเอาคุกหรือผ้าไตร ใครมันจะอยากติดคุกเล่าครับ (ประวัติศาสตร์กระซิบบางฉบับว่า ถูกโบยด้วย) มหาสาก็เลยตัดสินใจเลือกเอาผ้าไตร ในหลวงก็โปรดเกล้าฯ ให้กลับไปอุปสมบทใหม่ คราวนี้ได้ฉายาว่า
ปุสฺสเทโว
ขอเรียนว่า “ประวัติศาสตร์กระซิบ” ที่ผมพูดถึง (ออกบ่อย) นี้ ไม่มีบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เล่าขานสืบต่อกันมา จึงควรใช้วิจารณญาณในการฟัง อย่าเพิ่งเชื่อและอย่าเพิ่งปฏิเสธ ฟังๆ ไว้แหละดี มันดีด้วย
ท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาจารย์ (เกษม อํสุการี) วัดมหาธาตุ สมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ ไปเป็นพระธรรมทูตที่วัดพุทธปทีป ประเทศอังกฤษ ท่านพูดกับผมว่า “เธอรู้ไหม ฉันนี่แหละเป็นเชื้อสายของมหาสา สังฆราชหลังลาย ฉันเป็นชาวเมืองนนท์) ว่าแล้วท่านก็เล่าประวัติสมเด็จพระสังฆราชสาอย่างละเอียด ชนิดที่ผมไม่เคยได้อ่านพบที่ไหนเลย ผมเรียนถามท่านว่า ทำไมหลวงพ่อเรียกพระองค์ว่า “
สังฆราชหลังลาย
”
“อ้าว ตอนถูกจับขังคุกนั้น ไม่ได้ขังเฉยๆ ถูกโบยหลังด้วย ไม่งั้น มหาสาคงไม่ตัดสินใจไปบวชอีก” ท่านว่าอย่างนั้น
พระมหาสาอยากทดสอบความรู้ภาษาบาลีของตนอีก จึงเข้าแปลอีกครั้ง ปรากฏว่าแปลครั้งเดียวก็ผ่านฉลุยถึงเก้าประโยค จึงเป็นที่ฮือฮา เรียกขานว่า “
พระมหาสิบแปดประโยค” เป็นรูปแรกและรูปเดียวในประวัติศาสตร์การศึกษาพระพุทธศาสนา
เมื่ออุปสมบทได้ ๗ พรรษา ก็ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ “พระสาสนโสภณ” (แปลว่าผู้งดงามในพระศาสนา) พระราชทินนามนี้แปลก มีคำว่า “
สา
” อันเป็นนามเดิมของท่านด้วย นับว่าเป็นนามที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้แม้ว่าท่านจะได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นเพียงใดก็ตามยังคงเป็นตำแหน่งในพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จฯ ที่ “พระธรรมวโรดม” ก็ยังคงนาม “พระสาสนโสภณ” อยู่ คือเป็น “พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม”
ตั้งแต่อุปสมบทครั้งหลัง ท่านอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ตลอดจนเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พ.ศ.๒๔๓๖ ก็ได้รับสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงดำรงตำแหน่งสังฆบิดรอยู่เป็นเวลา ๖ ปี ก็สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ สิริรวมพระชนมายุ ๘๗ พรรษา
ตรงนี้ถ้า “สิริ” รวมตัวเลขผิดก็ขออภัยด้วยนะครับ เพราะ “สิริ” เธอไม่มีเครื่องคิดเลข ด้วยเคยมีเรื่องขัน ท่านผู้หนึ่งอ่านประวัติคนตาย บอกวันเดือนปีเกิดและวันตายเสร็จ แล้วรวมอายุผิด โดยเขียนว่า “สิริรวมอายุ ๗๒ ปี” ท่านผู้นั้นเห็นว่ารวมผิด ควรเป็น ๗๓ ด้วยความปรารถนาดีจึงเขียนไปบอกเจ้าภาพว่า
ช่วยกรุณาบอก “คุณสิริ” ด้วย ว่ารวมอายุคนตายผิด
สมเด็จพระสังฆราช อดีตสามเณรสารูปนี้มีสติปัญญาเฉียบแหลมอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นถ้าอยู่ในเพศบรรพชิตจะเป็นกำลังสำคัญในการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จึงไม่ทรงโปรดฯ ให้สึกไปรับราชการ จึงหาทางผลักดันให้กลับมาบวชใหม่จนได้ ท่านได้แต่งหนังสือพุทธประวัติและปฐมสมโพธิ สำนวนใหม่ สำนวนภาษากระชับอ่านเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป
ยุคที่อดีตสามเณรสาบวชเรียนอยู่นั้น เป็นยุคทองแห่งภาษาบาลีก็ว่าได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอาจารย์ของสามเณรสา ทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลีมาก ทรงได้พระราชนิพนธ์บทสวดมนต์ตำรา เช่น ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์สังเขป ความเรียงภาษาบาลีพุทธศาสนสุภาษิต เป็นภาษาบาลีเสมอ ดังคาถาพระราชนิพนธ์พระนามและพระราชทานพรแก่พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอทั้งหลายก็เป็นฉันท์ภาษาบาลี ทรงประดิษฐ์คิดคำใหม่ๆ ชนิดที่ไม่มีในอดีตอีกด้วย
รวมถึงคาถาขอขมาเป็นภาษาบาลีที่ชาวบ้านเรียกว่า “คำลาตาย” ก็ทรงเป็นภาษาบาลีได้ลึกซึ้งและไพเราะยิ่ง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ “ปัญญา อัคคภิกขุ” สัทธิวิหาริกในพระเจ้าฟ้ามงกุฎฯ พระอุปัชฌาย์ของอดีตสามเณรสาก็ทรงดำเนินตามรอยยุคลบาท โดยทรงนิพนธ์เรื่อง “สุคตวิทัตถิวิธาน” (วินิจฉัยเรื่องคืบพระสุคต) เป็นภาษาบาลี นับเป็นวรรณคดีบาลีที่ดีเยี่ยมเรื่องหนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ เสียดายว่าไม่มีใครรู้จัก
พุทธศาสนสุภาษิตหลายบท ที่คนส่วนมากนึกว่าเป็นพุทธวจนะ เพราะเนื้อหาเป็นธรรมะถูกต้องดีงาม แต่ที่จริงเป็นผลงานของ “อาจารย์และศิษย์” สำคัญสามท่านคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราชสา เช่น
โลโก ปตฺถมฺภิกา เมตฺตา
=เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก เป็นของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
รกฺเขยฺย อตฺตโน สาธุ ลวณํโสณตํ ยถา
=พึงรักษาความดีของตน ดุจเกลือรักษาความเค็ม สุภาษิตบทนี้อดีตสามเณรสาเป็นผู้แต่งครับ
ตราบใดที่เกลือยังเค็มอยู่ ขอให้เรารักษาความดีให้ดีตราบนั้น มิได้หมายความว่าให้ “เค็ม” เหมือนเกลือนะขอรับ
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรสา
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๔ ประจำวันที่ ๖-๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 มิถุนายน 2559 16:39:02 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #55 เมื่อ:
25 พฤษภาคม 2559 13:54:58 »
สามเณรปลด
วันนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวสามเณรน้อยนามว่า
ปลด
ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สามเณรปลด นามสกุล เกตุทัต เป็นบุตรขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ) และนางปลั่ง เกิดวันจันทร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๑ โยมบิดาเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า และเป็นเจ้ากรมคนแรกในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
สามเณรปลดบวชเรียนเมื่ออายุ ๑๒ ปี ที่วัดพระเชตุพน เข้าสอบแปลบาลีคราวแรกได้ ๑ ประโยค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า เสด็จพระราชดำเนินฟังการแปลในวันนั้นด้วย ทอดพระเนตรเห็นสามเณรปลดแปลได้ก็ทรงพอพระทัย ตรัสว่า “เณรเล็กๆ ก็แปลได้”
และเมื่อทรงทราบว่า “เณรเล็กๆ” เป็นบุตรขุนพิษณุโลกประชานาถ ก็ทรงมีพระมหากรุณายิ่งขึ้น ทรงโปรดฯ ให้ย้ายมาอยู่วัดเบญจมบพิตรตั้งแต่วันที่เข้าสอบครั้งแรกนั้น
สามเณรปลดเข้าแปลอีกประมาณห้าหรือหกครั้ง ก็สอบผ่านได้เปรียญ ๙ ประโยค เมื่ออายุย่าง ๒๐ ปี ใน พ.ศ.๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า ทรงมีพระราชปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์เป็นกรณีพิเศษ โดยรับจัดพิธีอุปสมบทให้
พูดอย่างภาษาสามัญก็ว่าทรงเป็น “โยมบวช” ให้ สามเณรปลดเป็น “นาคหลวง” ว่าอย่างนั้นเถอะ
พระมหาปลดได้ฉายาว่า กิตฺติโสภโณ
(ผู้งามด้วยเกียรติ) มีสมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทยมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมวโรดม (จ่าย ปุณณทัตตมหาเถระ) และพระธรรมเจดีย์ (เข้ม ธัมมสรมหาเถระ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ ตามลำดับ
พระมหาหนุ่มความรู้เปรียญธรรมเก้าประโยค ใครๆ ก็คาดว่าคงจะบวชไม่นาน คงจะลาสิกขาไปรับราชการเหมือนพระมหาหนุ่มอื่นๆ หลายรูปในสมัยนั้น เช่น
พระมหาปั้น สุขุม
เปรียญสามประโยค วัดหงส์รัตนาราม ลาสิกขา ออกมารับราชการจนเป็นถึง
เจ้าพระยายมราช
พระมหานิ่ม กาญจนาชีวะ
เปรียญ ๖ ประโยคแห่งวัดสุทัศนเทพวราราม ลาพรตออกมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย แต่ไวยากรณ์ไทยที่คนไทยบ่นกันว่ายากอย่างยิ่ง (เพราะท่านยืมไวยากรณ์บาลีมาใช้) ท่านผู้นี้รับราชการจนเป็นถึง
พระยาอุปกิตศิลปสาร
เวลาคนไทยพบหน้ากันก็ทักกันว่า “สวัสดี” จนติดปาก ใครไม่รู้ก็จงรู้เสียว่ามหานิ่มคนนี้แหละครับเป็นผู้บัญญัติคำนี้ขึ้นใช้
พระมหาน้อย อาจารยางกูร
เปรียญ ๗ ประโยคแห่งวัดสระเกศ สึกออกมารับราชการเป็น
พระยาศรีสุนทรโวหาร
เป็นกวีเอก แต่งฉันท์ กาพย์กลอนได้ไพเราะยิ่ง บทสวดมนต์ที่สวดแล้วกินใจ “องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บมิหม่นมิหมองมัว...”
นั่นแหละครับฝีปากมหาน้อยท่าน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่หก ทรงเปรยทำนองจะชวนพระมหาปลดสึกมารับราชการ แต่พระมหาปลดแสดงท่าทีว่ายินดีอยู่ประพฤติพรหมจรรย์มากกว่า
ตอนนั้นท่านเป็นพระราชาคณะหนุ่ม ถวายพระธรรมเทศนาแด่ในหลวงเป็นที่โปรดปรานมาก ถ้าท่านลาสิกขาไปรับราชการ ท่านคงเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการแน่นอน
ผู้เฒ่าผู้แก่กระซิบ (ประวัติศาสตร์กระซิบอีกแล้ว) ว่า ที่พระมหาปลดไม่สึกนั้นเพราะ “รับฝากวัด” ไว้จากในหลวงรัชกาลที่ห้า เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนอุปสมบทหนึ่งวัน มีการประกอบพิธีทำขวัญนาคที่พระที่นั่งทรงธรรม ในหลวงรัชกาลที่ห้าเสด็จในพิธีด้วย ในตอนเสร็จพิธีก่อนจะเสด็จกลับ ทรงมีพระราชดำรัสกับสามเณรปลดว่า “เณร ฝากวัดด้วยนะ” สามเณรปลดก็ได้เฝ้าวัดที่ทรงฝากไว้จนกระทั่งได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ถ้าหากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ห้า ทรงทราบว่าสามเณรน้อยรูปนั้นได้รักษาวัดที่ทรงฝากไว้มาเป็นอย่างดี พระองค์ก็คงทรงปีติและโสมนัสมิใช่น้อย
สามเณรปลด ได้เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาตามลำดับ ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์ แล้วเลื่อนเป็นพระราชเวที พระเทพมุนี พระธรรมโกศาจารย์ พระพรหมมุนี สมเด็จพระวันรัต และในที่สุดได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ พระนามตามจารึกในสุพรรณบัฏยาวถึงสามบรรทัดว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมวิธานธำรง สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส ภูมิพลมหาราชอนุศาสวนาจารย์ กิตติโสภณาภิธานสังฆวิสสุต ปาวจนุตมกิตติโสภณ วิมลศีลสมาจารวัตร พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถานวิจิตปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช”
เรื่องชื่อยาวนี้มีเกร็ดเล่าว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์นี้เสด็จไปดูการพระศาสนายังยุโรปและอเมริกา หนังสือพิมพ์ฝรั่งพาดหัวข่าวว่า พระสังฆราชแห่งเมืองไทย ผู้มีนามยาวที่สุดในโลก โดยนำพระนามมาลงเป็นอักษรโรมัน
ผมอ่านแล้วทั้งฉุนทั้งขัน ที่ฉุนก็เพราะแกเรียกพระองค์ว่า “
Mister Somdej
” แต่เมื่อนึกว่าอยู่คนละวัฒนธรรมกับเรา ก็หายฉุนกลายเป็นขันแทน
อย่าว่าแต่คนอื่นเลย พี่ไทยเรานี่ก็เหมือนกัน ส่วนมากไม่ค่อยจะรู้เรื่องพระเรื่องเจ้า บางคนอยู่สมาคมอื่น องอาจกล้าหาญ พูดเสียงดัง แต่พอเข้าพระเข้าเจ้าตัวสั่นงันงก เก้ๆ กังๆ ไม่รู้จะวางตัวอย่างไร ไม่รู้จะพูดกับท่านอย่างไร พระท่านถามว่า มีธุระอะไรหรือโยม
“อาตมาจะมานิมนต์เชิญท่านไปฉันเพลที่บ้าน เจริญพร” แน่ะ แย่งคำของพระมาใช้หน้าตาเฉย
สมณศักดิ์พระราชาคณะที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ศรี” สมัยก่อนสงวนไว้สำหรับพระมหาเปรียญเก้าประโยค เช่น ถ้าเห็นพระราชทินนามว่า พระศรีวิสุทธิวงศ์ พระศรีโสภณ รู้ทันที่ว่า “เจ้าคุณ” องค์นี้มีภูมิปริยัติเปรียญเก้าประโยค และถ้าอยู่ในยุทธจักรดงขมิ้นก็จะรู้ “ศักดิ์ศรี” ของแต่ละตำแหน่งไม่เท่ากัน ตำแหน่งใน “ทำเนียบ” จะดูดีกว่า ผู้ได้รับสถาปนาก็จะภูมิใจกว่า ว่ากันอย่างนั้น สังเกตดูตำแหน่งที่พระมหาปลดได้รับล้วนแต่อยู่ในทำเนียบทั้งนั้น เช่น พระศรีวิสุทธิโมลี พระราชเวที พระเทพมุนี ฯลฯ
เฉพาะนามที่ลงท้ายด้วย “เวที” มีปัญหา ถูกญาติโยมผู้หวังดีแก้เป็น “เทวี” ทุกครั้งเลย เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ อาจารย์ผมเมื่อสมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเวที รับนิมนต์ไปแสดงธรรมทางวิทยุบ่อย แต่ถูกแก้ชื่อแทบทุกครั้ง “ต่อไปนี้ ท่านจะได้ฟังพระธรรมเทศนา แสดงโดย พระเทพเวที” ทราบว่าท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์สมัยดำรงสมณศักดิ์ พระเทพเวที ก็ถูกแก้ชื่อเช่นเดียวกัน นี่คือฝีมือของ “ผู้หวังดี” คือหวังดีจนทำเสีย
อดีตสามเณรปลด เป็นคนเจ้าระเบียบ เป็นนักการศึกษาและให้การศึกษาแก่ศิษยานุศิษย์ตลอดเวลาที่มีโอกาส ความเป็นเจ้าระเบียบ “เฮี้ยบ” นั้นลือลั่นกันมากในสมัยนั้น
เอาแค่ภายในวัดเบญจมบพิตร พระเณรเวลาลงจากกุฏิ จะเดินลงมาโดยมีแต่สบงกับอังสะเท่านั้นไม่ได้ ต้องห่มผ้าให้เรียบร้อยเป็นปริมณฑล
สีสบงกับจีวรจะต้องให้กลมกลืนกัน เข้มหรืออ่อนกว่ากันผืนใดผืนหนึ่ง นุ่งห่มแล้วมองเห็นสีไม่กลมกลืนกันไม่ได้
เวลามีงานพระราชพิธี ในหลวงจะเสด็จ เช่นที่วัดพระแก้ว อดีตสามเณรปลด เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต หรือสมเด็จพระสังฆราชแล้ว จะไปตรวจดูก่อนว่า จัดสถานที่เรียบร้อยหรือไม่
บุคลิกภาพก็เป็นสิ่งสำคัญที่ท่านกวดขันมาก เริ่มแต่รูปร่างหน้าตา ถ้าพระเณรรูปใดรูปร่าง “ขี้ริ้ว” เช่น ดำเกินไป (จนจะปิดทองได้เลย) สูงเกินไป (จนจะพอๆ กับเปรตวัดสุทัศน์) อย่าหมายว่าจะได้อยู่วัดเบญจมบพิตร เพราะท่านไม่เต็มใจรับ หาว่าเป็น “ปุริสทูสกะ” (ทำให้บริษัทเสียความงาม)
บริษัทในที่นี้หมายถึงภิกษุบริษัทนะครับ ไม่ใช่บริษัทมติชน อะไรทำนองนั้น
ความเป็นนักการศึกษาของท่าน ยืนยันได้จากการที่ท่านได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่ง “แม่กองบาลีสนามหลวง” และ “สังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา” มีหน้าที่จัดการศึกษารวมถึงการวัดและประเมินผล ติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน
เวลาให้อุปสมบทแก่กุลบุตร เมื่อให้ฉายาแก่นาคแล้ว มักจะหันมาถามพระที่ร่วมพิธีอุปสมบทว่า แปลว่าอย่างไร เป็นการทดสอบความรู้สัทธิวิหาริก (ศิษย์ที่ท่านบวชให้) และอันเตวาสิก (ศิษย์ที่ผู้อื่นบวชให้แต่มาอยู่ด้วย) ไปในตัว นี้นับเป็นวิธีการให้การศึกษาทางอ้อมที่ได้ผลดี ทำให้ศิษยานุศิษย์ตื่นตัวเตรียมพร้อมที่จะตอบคำถาม ซึ่งไม่รู้ว่าจะถูกถามเมื่อใด แต่ถึงจะเป็นนักการศึกษาอย่างใดก็ตาม ในช่วงแรกๆ นั้นท่านไม่นิยมให้พระเณรเรียนวิชาอื่นนอกจากพระธรรมวินัย หาว่าเป็น “ดิรัจฉานวิชา” ท่านจะไม่พอใจเมื่อเห็นพระในวัดไปเรียนมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ หรือเรียนภาษาฝรั่งมังค่า
ต่อเมื่อได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วนั่นแหละ ทรรศนะนี้ได้เปลี่ยนไป พระองค์ได้รับอาราธนาให้ไปดูการพระศาสนายังต่างแดน ตรัสภาษาฝรั่งไม่ได้ต้องอาศัยล่ามช่วยแปล นั่นแหละพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของวิชาการอื่นจากพระธรรมวินัย
เมื่อผมบวชใหม่ๆ ไปเข้าเฝ้า พระองค์ท่านรับสั่งถามว่า “เรียนภาษาฝรั่งบ้างหรือเปล่า” ผมกราบทูลด้วยความมั่นใจว่าพระองค์ทรงโปรดแน่ “ไม่ กระหม่อม” แต่ผิดถนัด พระองค์รับสั่งว่า “เรียนไว้นั่นแหละดี ไม่รู้ภาษาฝรั่งต้องหัวเราะทีหลัง อายเขา” เมื่อเห็นผมงง จึงทรงอธิบายว่า “ฉันพูดฝรั่งไม่ได้ ต้องผ่านล่าม เวลาพวกเขาพูดคุยกันหัวเราะขบขัน กว่าจะรู้ว่าเขาพูดเรื่องอะไรและได้หัวเราะบ้างก็ช้าไปแล้ว หัวเราะทีหลังมันอายเขาอย่างนี้แหละ”
สามเณรปลดนับเป็นสามเณรรูปที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ที่สอบได้เปรียญเก้าประโยคในสมัยแปลปาก แต่หลังจากเปลี่ยนเป็นสอบข้อเขียนแล้ว ไม่มีใครสอบได้มาเป็นเวลาห้าสิบกว่าปี จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๐๓ มีสามเณรน้อยจากมหาสารคาม ชื่อ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
สอบได้เป็นรูปแรกในรัชกาลปัจจุบัน ในปีถัดมาก็มีสามเณร
ประยุทธ์ อารยางกูร
ถัดจากสามเณรประยุทธ์ ก็มีตามมาอีกจำนวนมาก มีใครบ้างจำไม่ค่อยได้แล้ว
ต่อไป ถ้ารัฐได้ขยายโอกาสทางการศึกษาภาคบังคับจากหกปีเป็นเก้าปี ผู้จบประถมศึกษาย่างเข้าวัยต้องใช้แรงงานกันแล้ว คงจะพากันบวชเณรน้อยลง ถึงมาบวชก็คงไม่มีสามเณรเปรียญเก้าอีกต่อไป เพราะอายุจะเลยยี่สิบปีบริบูรณ์
นั่นไม่สำคัญเท่ากับต่อไปจะหาเณรน้อยลงทุกที เมื่อเณรน้อยลง พระก็จะลดน้อยลงด้วย แล้วใครจะอยู่สืบพระศาสนาเล่าเจ้าประคุณเอ๋ย
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรปลด
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๖ ประจำวันที่ ๒๐-๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙
สามเณรนิรนาม สมัยพระโปฏฐิละ
คราวนี้ถึงคิวสามเณรนิรนาม ไม่ทราบว่าชื่ออะไร รู้แต่ว่าอายุ ๗ ขวบ แถมยังเป็นสามเณรอรหันต์อีกต่างหาก มีบทบาทในการ “ปราบพยศ” พระเถระพหูสูตรูปหนึ่งผู้หยิ่งผยองในความรู้ของตนเอง
พระเถระรูปนี้ชื่อว่า
โปฏฐิละ
แปลว่า ตำราหรือคัมภีร์
นัยว่าท่านคัมภีร์นี้มีอายุอยู่ร่วมสมัยพุทธกาลโน่นแน่ะครับ อรรถกถาธรรมบท เขียนเล่าไว้อย่างนั้น
แต่เปิดพระไตรปิฎกดูทำเนียบพระสาวกทั้งหลายแล้วไม่ปรากฏชื่อ
เปิดพจนานุกรมอสาธารณนาม หรือ
Dictionary of Pali Proper Names
รวบรวมโดย ดร.มาลาลาเสเกรา ก็ไม่มี สงสัยผู้แต่ง (พระพุทธโฆษาจารย์) จะแต่งขึ้นมา โยงเรื่องราวไปถึงสมัยพุทธกาลมากกว่า
ท่านโปฏฐิละเป็นผู้ทรงจำพุทธวจนะได้มาก เป็นอาจารย์ของภิกษุทั้งหลายจำนวนหลายร้อย (ว่ากันว่า ๕๐๐ รูป) วันๆ ได้แต่สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา ไม่เคยคิดสั่งสอนตัวเองเลยว่า จะหาที่สิ้นสุดทุกข์แก่ตนได้อย่างไร
พระพุทธเจ้าทรงมีพระพุทธประสงค์จะเตือนเธอ เวลาท่านไปเฝ้าพระพุทธองค์พร้อมภิกษุทั้งหลาย พระองค์จะตรัสกับท่านว่า "อ้อ คุณใบลานเปล่า นั่งสิ คุณใบลานเปล่า”
เวลาท่านกราบทูลลากลับ พระองค์ก็จะตรัสว่า “คุณใบลานเปล่า จะกลับแล้วหรือ” อะไรอย่างนี้เป็นต้น
ท่านโปฏฐิละ คิดว่า เราเป็นถึงอาจารย์ใหญ่ เชี่ยวชาญในพระพุทธวจนะบอกธรรมแก่พระสงฆ์ถึง ๑๘ คณะใหญ่ ทำไมหนอ พระบรมศาสดายังตรัสเรียกเราว่า “ใบลานเปล่า” นี่คงหมายความว่า เราได้แต่บอกได้แต่สอนคนอื่น ไม่ได้สอนตัวเองเลย ไม่เช่นนั้นพระองค์คงไม่ทรงเรียกเราอย่างนี้
ครับ เรียกว่า ได้สำนึกตัวขึ้นมา เพราะพระพุทธองค์ตรัสเตือน จะเรียกว่าโดยตรงก็ได้ โดยอ้อมก็ได้ พระองค์มิได้ตรัสตรงๆ แต่ถ้อยคำมันบ่งค่อนข้างชัด “ใบลานเปล่า” ใครฟังก็เข้าใจทันทีว่า มีแต่ใบลาน ไม่มีพระธรรมจารึกไว้เลย
คนที่หลงตัว มัวเมาว่าตนเก่ง ตนดี ก็ต้องมีผู้เตือนอย่างนี้แหละครับจึงจะสำนึกได้ จะรอให้เขาเตือนตนเองคงยาก
“แพรเยื่อไม้” นักเขียนเรื่องสั้นชั้นเยี่ยมรูปเดียว ในวงการคณะสงฆ์ ผู้ล่วงลับไปแล้วได้แต่งเรื่อง “หลวงตา” เล่าถึงพระนักเทศน์เอกรูปหนึ่ง เทศน์เก่งมาก ไปเทศน์ที่ไหนญาติโยมตามไปฟังเป็นร้อยๆ แน่นศาลา ท่านจึงหลงตัว มัวเมาในความเด่นความดังของตน ไม่มีเวลาตรวจสอบจิตและสอนจิตตนเองแม้แต่น้อย วันหนึ่งหลังจากเทศน์จบ หลวงตาก็ลงจากธรรมาสน์ กระหยิ่มยิ้มย่องว่าวันนี้ตนเทศน์ได้ยอดเยี่ยมจริงๆ มานั่งรอรับกัณฑ์เทศน์ ทายกผู้เฒ่าคนหนึ่งยกถาดกัณฑ์เทศน์ถวาย สายตาหลวงตาเหลือบไปเห็นขวานวางอยู่ในถาดด้วย จึงเอ่ยถามว่า “กัณฑ์เทศน์มีขวานด้วยหรือ โยม”
“ครับ ถวายขวานให้ท่านใช้ ขวานนี้ดีนะครับ คม ถากอะไรได้สารพัด เสียอย่างเดียว...” พูดแค่นี้ก็ทำท่าจะยกกัณฑ์เทศน์ถวาย
“เสียอะไร โยม” พระถามต่อ
“มันถากด้ามของมันไม่ได้ครับ”
หลวงตานั่งรถกลับวัด คิดถึงคำพูดของทายกไปตลอดทาง กว่าจะรู้ว่าถูกโยมด่าก็ต่อเมื่อก้าวขึ้นบันไดกุฏินั้นแล
โยมเขาเตือนว่า ท่านก็ได้แต่ “ถาก” (สอน) คนอื่น ไม่ได้ “ถาก” ตนเองเลย แสบไหมละครับ
ท่านโปฏฐิละก็เช่นกัน เมื่อสำนึกตนได้ ก็บอกลาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย เข้าไปวัดป่าเพื่อขอปฏิบัติกรรมฐาน ไปกราบพระอาจารย์ผู้เฒ่ารูปหนึ่ง กล่าวว่า “ท่านอาจารย์ โปรดเป็นที่พึ่งของกระผมเถิด สอนธรรมให้ผมด้วยเถิด”
พระเถระกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรเช่นนั้น ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญพระพุทธวจนะ พวกเราได้รู้แนวการปฏิบัติก็เพราะท่านเป็นคนช่วยบอกช่วยสอน”
พระเถระนักปฏิบัติ ๓๐ รูป ที่ท่านโปฏฐิละเข้าไปมอบตนเป็นศิษย์ไม่ยอมรับ ต่างออกตัวไปตามๆ กัน ว่ากันว่า เพื่อขจัดทิฐิมานะของท่านให้หมดไป
พระนักปฏิบัติทั้งหลาย ดูเหมือนจะมองออกว่า คนระดับอาจารย์ใหญ่ มีลูกศิษย์ลูกหามากมายนั้น ทิฐิมานะย่อมฝังรากลึก เพื่อให้แน่ใจว่าหมดพยศจริงๆ จึงจะยินดีสอนกรรมฐานให้ ทางเดียวที่จะรู้ว่าหมดพยศจริงๆ หรือไม่ คือส่งไปหาสามเณร จึงส่งท่านไปยังสามเณรน้อยนิรนามรูปหนึ่ง ขณะกำลังสั่งสอยจีวรอยู่ ท่านโปฏฐิละเข้าไปหาสามเณรประคองอัญชลี (ยกมือไหว้) กล่าวว่า ท่านสัตบุรุษโปรดเป็นที่พึ่งให้ผมด้วย สอนธรรมให้ผมด้วย
สามเณรน้อยตกใจ ร้องว่า “ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรอย่างนั้นผมเป็นสามเณรมิบังอาจสอนอะไรให้แก่ท่านได้ ท่านเป็นถึงอาจารย์ใหญ่ระดับซาร์ศาสนา” (คงประมาณเดียวกับ “ซาร์เศรษฐกิจ” กระมัง ฮิฮิ)
“ได้โปรดเถิด พ่อเณร ผมไม่มีที่พึ่งอีกแล้ว” ซาร์ใหญ่อ้อนวอนอย่างน่าสงสาร
สามเณรน้อยกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ถ้าผมบอกให้ท่านอาจารย์ทำอะไรท่านอาจารย์ยินดีทำตามไหม” สามเณรน้อยยื่นเงื่อนไข
ความจริงสามเณรน้อยมิใช่ขี้ไก่ เป็นสามเณรอรหันต์ ย่อมรู้ว่าจะสอนนักวิชาการแสนรู้จะต้องทำอะไร
“ยินดีทำตามทุกอย่างครับ พ่อเณร” พระโปฏฐิละตอบ
“ท่านอาจารย์ เห็นสระน้ำข้างหน้าไหม”
“เห็นครับ”
“นิมนต์ท่านอาจารย์เดินลงไปยังสระน้ำนั้น ก้าวลงอย่างช้าๆ จนกว่าผมจะสั่งให้หยุด” อรหันต์น้อยสั่ง
พระเถระเดินลงสระน้ำอย่างว่าง่าย จนจีวรเปียกน้ำแล้วเดินลงไปตามลำดับ สามเณรน้อยเห็นพระเถระเอาจริง จึงสั่งให้หยุดให้ขึ้นมา แล้วกล่าวสอนว่า “ท่านอาจารย์ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง เหี้ยตัวหนึ่งวิ่งเข้าวิ่งออกตามช่องทั้ง ๖ นั้นเสมอ บุคคลประสงค์จะจับเหี้ยตัวนั้น จึงอุดช่องทั้ง ๕ ช่อง เปิดไว้เพียงช่องเดียว คอยเฝ้าอยู่ใกล้ช่องนั้น เมื่อเหี้ยออกช่องอื่นไม่ได้ ก็ออกมาทางช่องนั้น เขาก็จับเหี้ยตัวนั้นได้ตามประสงค์ เรื่องมันก็เป็นเช่นนี้แหละ ท่านอาจารย์”
อรหันต์น้อยกล่าวเป็นปริศนาธรรม
พระเถระผู้พหูสูต ฟังแค่นี้ก็ “
get
” ทันที ร้องว่า
I’ve got it
อะไรทำนองนั้น ท่านโปฏฐิละเข้าใจอย่างไรหรือครับ ท่านเข้าใจว่า ในกายของเรานี้มีอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นดุจ “ช่อง” ให้จิตเราเข้า-ออกๆ อยู่เสมอด้วยความเคยชิน เป็นที่ตั้งใจแห่งรัก โลภ โกรธ หลง ผูกพันไว้กับทุกข์ตลอดเวลา เมื่อต้องการบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจ ก็ต้องปิด “ช่อง” (ทวาร) ทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เปิดไว้ช่องเดียว คือ จิต คอยเฝ้าดูจิตตลอดเวลา บังคับให้มันอยู่กับที่เป็นสมาธินานๆ ไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อทำได้ดังนี้ก็จะสามารถทำจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ไม่ตกเป็นทาสให้กิเลสตัณหามันเสือกไสไปตามปรารถนาของมัน
พูดให้สั้นก็คือ พระเถระนึกได้แล้ว จะพ้นทุกข์ต้องฝึกฝนจิตของตนด้วยการปฏิบัติกรรมฐานนั่นแหละ จึงเริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง แล้วก็ก้าวหน้าในการปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแผ่รัศมีไปตรงหน้าท่าน ขณะท่านนั่งสมาธิอยู่ ดังหนึ่งปรากฏพระวรกายตรงหน้า ตรัสคาถา (โศลก) สอนว่า
โยคา เว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย
เอตํ เทวธาปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ
ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ปญฺญา ปวฑฺฒติ
ปัญญาเกิดมีได้ เพราะตั้งใจพินิจ เสื่อมไป เพราะไม่ตั้งใจพินิจ
เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมของปัญญาแล้ว ควรทำตนโดยวิถีทางปัญญาจะเจริญ
พระดำรัสสั้นๆ นี้ กระจ่างแก่พระโปฏฐิละเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุด ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัต ถึงจุดหมายปลายทางแห่งชีวิตแล้ว
งานนี้ ไม่ขอบคุณสามเณรน้อย จะขอบคุณใครเล่าครับ เพราะสามเณรน้อยอรหันต์นี้เอง พระพหูสูตอย่างท่านโปฏฐิละจึงเดินถูกทาง จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาจากพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดในที่สุด
เสียดายเราไม่มีโอกาสรู้ว่า สามเณรน้อยรูปนี้คือใคร
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรนิรนาม สมัยพระโปฏฐิละ
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๗ ประจำวันที่ ๒๗ พฤษภาคม-๒ มิถุนายน ๒๕๕๙
สามเณรนิรนาม สมัยพุทธกาล
สามเณรนิรนามอีกรูปหนึ่ง ผู้มีฤทธิ์มาก เหาะเหินเดินหาวได้ด้วยอิทธิฤทธิ์ แต่ท้ายสุดก็เสื่อมจากฤทธิ์ เพราะวัยหนุ่มเป็นเหตุ เสื่อมอย่างไร เสื่อมเพราะใครคงเดากันได้ ถ้าเดาไม่ได้ก็ตามผมมา จะเล่าให้ฟัง
เรื่องราวเกิดขึ้นสมัยหลังพุทธกาล คงราว พ.ศ.๙๐๐ กว่า ยุคที่อรรถกถา (หนังสืออธิบายพระไตรปิฎก) รุ่งเรือง ในอรรถกถา “สัมโมหวิโนทนี” เล่าไว้ว่า พระเถระอรหันต์รูปหนึ่ง พร้อมกับสามเณรผู้ติดตามเดินทางจากชนบทไปยังวัดในเมืองหลวงอันชื่อว่า ปิงครบริเวณ เพื่อนมัสการพระเจดีย์และต้นพระศรีมหาโพธิ์
ขณะที่พระเถระทั้งหลายพากันไปไหว้พระเจดีย์ พระเถระจากชนบท ท่านไม่ได้ไปด้วย รอให้ผู้คนกลับกันหมดแล้ว กลางคืนดึกสงัด ท่านจึงลุกขึ้นไปไหว้พระเจดีย์แต่เพียงผู้เดียวเงียบๆ ไม่ให้รู้แม้กระทั่งสามเณร
สามเณรเฝ้าดูอาการของพระเถระด้วยความแปลกใจ จึงแอบเดินตามหลังไปเงียบๆ พระเถระกราบพระเจดีย์แล้ว ก็ลุกขึ้นยืนประคองอัญชลีจ้องพระเจดีย์ด้วยความเคารพอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานจนกระทั่งสามเณรกระแอมกระไอขึ้น จึงหันมาถามว่า สามเณรมาเมื่อไร
“มาพร้อมท่าน ขอรับ”
“เหรอ ฉันไม่ทันสังเกต”
“ท่านอาจารย์ไหว้พระเจดีย์ ไม่เห็นมีดอกไม้เลยขอรับ”
“ถ้ามีก็ดี แต่เมื่อไม่มี ด้วยจิตที่เลื่อมใส ก็เสมือนบูชาด้วยดอกไม้นั่นแหละ สามเณร”
“ถ้าท่านอาจารย์ประสงค์ดอกไม้ กระผมจะไปนำมาถวาย” ว่าแล้วก็เข้าฌานเหาะไปยังป่าหิมพานต์นำดอกไม้หลากสีใส่ธมกรก (กระบอกกรองน้ำดื่ม) มาถวายพระเถระ พระเถระเกลี่ยดอกไม้ลงยังแท่นบูชา กล่าวว่า “ดอกไม้มีน้อยนะ สามเณร”
“ท่านอาจารย์ขอรับ ขอให้ท่านรำลึกถึงพระคุณอันมหาศาลของพระพุทธเจ้าแล้วบูชาเถิด” สามเณรกล่าว
พระเถระก้าวขึ้นตามบันไดไปยังมุขด้านทิศปัจฉิม แล้วเกลี่ยดอกไม้ลงแท่นบูชา ทันใดนั้นแท่นบูชาเต็มไปด้วยดอกไม้ แถมยังหล่นลงมากองบนพื้นข้างล่างอีกสูงท่วมเข่า พระเถระเดินลงยังพื้นชั้นล่าง วางดอกไม้บนฐานพระเจดีย์ ดอกไม้ก็แผ่เต็มบริเวณพระเจดีย์
“สามเณร ดอกไม้ยิ่งวางก็ยิ่งมาก” พระเถระหันมาพูดกับสามเณร สามเณรกราบเรียนท่านว่า “ท่านอาจารย์จงคว่ำธมกรกลง” พระเถระก็ทำตาม ทันใดนั้นดอกไม้ก็หมดไป
พระเถระอรหันต์ทรงอภิญญา ทราบว่า สามเณรหนุ่มนี้ต่อไปจักเสื่อมจากฤทธิ์เพราะมาตุคาม จึงกล่าวเตือนว่า “สามเณร เธอมีฤทธิ์มาก แต่ถ้าเธอประมาท ต่อไปเธอก็จะเสื่อมจากฤทธิ์ เธอจักดื่มน้ำข้าวอันช่างทอหูกตาบอดข้างหนึ่งเอามือขยำแล้ว”
สามเณรขัดใจนึกตำหนิว่า “พระผู้เฒ่านี้พูดอะไร ไม่เห็นเข้ารูหูเลย” ไม่ใส่ใจ เดินหนีไป
เมื่อพระเถระจะเข้าไปบิณฑบาต ให้สามเณรถือบาตรตามหลัง สามเณรถามว่าท่านจะไปหมู่บ้านไหน เมื่อพระเถระบอกชื่อหมู่บ้าน สามเณรก็บอกว่านิมนต์ท่านอาจารย์ไปก่อนเถอะ ปล่อยให้พระเถระเดินไป จวนจะเข้าหมู่บ้านแล้ว จึงเหาะตามไปเอาบาตรถวายพระเถระ
พระเถระกล่าวเตือนสามเณรผู้คะนองด้วยการใช้อิทธิฤทธิ์ มันหวั่นไหว เสื่อมได้ถ้าคะนอง เมื่อมันเสื่อมแล้วจะเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ในที่สุด
“พระผู้เฒ่าพูดอะไร ไม่เข้ารูหู” สามเณรหนุ่มบ่นอีกด้วยความรำคาญ ไม่ยอมฟัง
วันหนึ่งสามเณรเหาะลิ่วๆ ผ่านไปสระบัวแห่งหนึ่ง ได้ยินเสียงหญิงสาวร้องเพลงไพเราะจับใจ ยังกับเธอกำลังออกคอนเสิร์ตกลางสระน้ำก็มิปาน สามเณร “ลอยคว้าง” กลางอากาศ ตำราเปรียบว่า “เหมือนแมลงตาบอดติดอยู่ในรสหวาน” ไปไหนไม่ได้ ด้วยกำลังแห่งสมาบัติที่เหลืออยู่ถึงแม้ฤทธิ์จะเสื่อมแล้วแต่ก็ไม่หล่นตุ๊บลงบนพื้นน้ำ สามเณรผู้ต้องศรกามเทพค่อยๆ ลงมายืนเซ่ออยู่ริมฝั่ง สติยังมีอยู่บ้าง จึงรีบกลับวัดมาลาอาจารย์ว่าตนมีความจำเป็นจะต้องจากไป
พระเถระรู้ล่วงหน้าแล้วว่าอะไรเป็นอะไร จึงไม่เอ่ยปากทัดทานแม้คำเดียว ถึงห้ามก็คงไม่ฟัง ดังพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ที่ว่า “ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิว์ขังไว้ ย่อมโลดและแล่นไป มิยอมอยู่ ณ ที่ขัง” ฉะนั้นแล
ไม่ว่ารักของคนหนุ่มหรือของคนแก่ ความรักมันบุกไปถึงทั้งนั้นแหละครับ
สามเณรถอดสบงจีวรทิ้ง ยืนคอยหญิงสาวอยู่ริมสระ หญิงสาวขึ้นจากสระน้ำรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงขอร้องให้สามเณรกลับไปอยู่วัดอยู่วาตามเดิม ชีวิตครองเรือนมันมิได้โรยด้วยดอกกุหลาบดังสามเณรฝันดอก
ก็คงพูดไปตามประสา แต่ใจจริงหญิงสาวก็มีใจปฏิพัทธ์สามเณรหนุ่มรูปหล่ออยู่ เมื่อสามเณร (ตอนนี้กลายเป็น “น้อย” หรือ “เซียง” ไปแล้ว) ยืนยันจะอยู่เคียงข้างน้องนาง ไม่ว่าจะเข้าดงกุหลาบหรือดงอุตพิดก็ตาม
“ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดๆ” ว่าอย่างนั้นเถอะ
ทั้งสองก็พากันกลับไปยังเรือนของหญิงสาว พ่อแม่หญิงสาวกล่าวว่า “พ่อหนุ่มเอย เราเป็นช่างหูกจนๆ พ่อหนุ่มจะอยู่กับเราได้หรือ พ่อหนุ่มเคยบวชเรียนอยู่ในเพศสมณะสบายๆ จะทนลำบากไหวหรือ”
พ่อหนุ่มผู้มีรักเป็นสรณะยืนยันว่า “จะให้ทำอะไร ผมทำได้ทั้งนั้น เรื่องการงานข้อยบ่ยั่น” ขึงขังอะไรปานนั้น
เมื่อพ่อหนุ่มยืนยันแข็งขัน จึงยกลูกสาวให้ ทั้งสองอยู่ครองรักกันต่อมา จนพ่อตาแม่ยายเสียชีวิต พ่อหนุ่มก็ได้เป็นหัวหน้าครอบครัวรับมรดกช่างทอหูกสืบไป ครอบครัวอื่นเขามีคนใช้หรือผู้ช่วยงาน ครอบครัวของอดีตสามเณรมีกันเพียงสองคน เมื่อครอบครัวอื่นเขาให้คนนำอาหารไปให้สามีของเขาที่โรงทอหูกแต่เช้า ภรรยาของอดีตสามเณรหนุ่มทำงานบ้านก่อน กว่าจะนำอาหารไปให้สามีก็สาย สามีรอจนโมโหหิว เหตุการณ์มักจะเป็นอย่างนี้แทบทุกวัน
จนวันหนึ่งสามีทนไม่ได้ จึงดุด่าเอาแรงๆ ภรรยาก็เถียงบ้างว่า ก็ฉันมีอยู่คนเดียว ไม่มีใครช่วยงานบ้าน ก็ทำไมไม่หาคนมาช่วยงานบ้าง นำอาหารมาให้ก็บุญแล้ว อยากกินก็กิน ไม่อยากกินก็ตามใจสิ ว่าแล้วก็โยนอาหารลงพื้น โกรธเหมือนกันนี่คะ
เท่านั้นแหละครับ อดีตสามเณรผู้มีฤทธิ์ คราวนี้ออกฤทธิ์แบบชาวบ้านคือ หยิบกระสวยขว้างแม่ยอดยาหยี ภรรยาหลบไม่ทัน ปลายกระสวยทิ่มตาข้างหนึ่ง เลือดไหลเป็นทาง เธอเอามือกุมตาที่แตก ร้องไห้ครวญครางด้วยความเจ็บปวด
ตาบอดทันทีทันใดครับ
ไอ้ “น้อย” หรือ “ไอ้เซียง” เห็นดังนั้น ก็ร้องไห้ครวญครางไม่แพ้ภรรยา ชาวบ้านต่างก็มาปลอบโยนทั้งสองคนว่า เรื่องมันเกิดขึ้นแล้ว ทำคืนไม่ได้อย่าได้ถือสากันเลย ไอ้หนุ่มก็พาเมียไปรักษาตาให้หายเสีย เธอก็อย่าได้คร่ำครวญไปเลย ถึงเมียตาบอดข้าง ก็ยังมีอีกข้างมองเห็นอยู่ ต่อไปอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกก็แล้วกัน บวชเรียนมาแล้ว เย็นๆ ลงเสียบ้างไอ้น้อย
ไอ้น้อยครางอ่อยๆ ว่า “ฉันมิได้ร้องไห้เพราะเหตุนี้ดอก ฉันนึกถึงคำพูดของพระเถระอาจารย์ของฉัน ท่านบอกว่า ต่อไปฉันจะกินน้ำข้าวที่ช่างทอหูกตาบอดข้างหนึ่งเอามือขยำ อาจารย์ท่านมองเห็นล่วงหน้าแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น อุตส่าห์ตักเตือน แต่ฉันไม่ฟัง ฉันไม่ดีเอง ฮือ ฮือ”
“ไอ้น้อยเอ๋ย ก็เอ็งเลือกเดินทางนี้แล้ว ก็จงเดินต่อไป เมียตาบอดข้างก็เพราะเอ็งทำเขา เอ็งก็จงรับผิดชอบต่อไป”
ดูเหมือนอดีตสามเณรหนุ่มแว่วเสียงของอาจารย์มาแต่ไกลฉะนี้แล
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรนิรนาม สมัยพุทธกาล
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๘ ประจำวันที่ ๓-๙ มิถุนายน ๒๕๕๙
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 มิถุนายน 2559 16:21:49 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5773
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
«
ตอบ #56 เมื่อ:
17 มิถุนายน 2559 16:35:13 »
สามเณรเสฐียรพงษ์ วรรณปก
ส่วนสามเณรรูปถัดมานี้ ชื่อ ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นอาจารย์หรือนักวิชาการทางด้านพุทธศาสนาและภาษาบาลี ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ และยังเป็นนักเขียนบทกวี ตำรา และบทความในนิตยสารหลายฉบับ
ประวัติและการศึกษา เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๒ ที่บ้านโนนสูง ตำบลเลิงแฝก (ปัจจุบันคือ ตำบลหนองแวง) อำเภอบรบือ (ปัจจุบันคืออำเภอกุดรัง) จังหวัดมหาสารคาม
เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอัมพวัน ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ศึกษานักธรรมและบาลีไวยากรณ์ กับอาจารย์มหาบุดดี ปุญญากโร (บุดดี สุวรรณคำ) เจ้าอาวาส จนกระทั่งสอบได้นักธรรมโทจึงได้ย้ายไปศึกษาต่อที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยเป็นลูกศิษย์พระมหาชม ธมฺมธีโร (พระราชปริยัติยาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม)
สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญ ๓ ประโยค หลังจากนั้นกลับไปอยู่ที่วัดอัมพวันในบ้านเกิดสอบได้เปรียญ ๔ ประโยค แล้วจึงเดินทางมาศึกษาพระปริยัติธรรม ที่วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
เป็นศิษย์ของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ
พ.ศ.๒๕๐๘ ได้เดินทางไปศึกษาภาษาสันสกฤต ณ วิทยาลัยตรีนิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (
Trinity College, Cambridge University
) ประเทศอังกฤษ โดยการติดต่อประสานงานของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชียและมูลนิธิการศึกษาวัดทองนพคุณ พ.ศ.๒๕๑๒
สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (เกียรตินิยม)
เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ได้สอนพระปริยัติธรรม ณ วัดทองนพคุณ ดังเดิม พ.ศ.๒๕๑๔ ได้ลาสิกขาและรับราชการเป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พ.ศ.๒๕๑๙
โอนไปเป็นอาจารย์สอนวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใน พ.ศ.๒๕๒๒
โอนกลับไปคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตามเดิม จนได้รับการแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์ระดับ ๙
ก่อนจะลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕
วิทยฐานะ
- เปรียญธรรม ๙ ขณะเป็นสามเณร (รูปแรกในรัชกาลที่ ๙ สมัยเริ่มสอบด้วยข้อเขียน และเป็นรูปที่สามในสมัยรัตนโกสินทร์) อุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์
- ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
- ปริญญาโท สาขาภาษาตะวันออกโบราณ (บาลี-สันสกฤต) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
- ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ.๒๕๔๘
- ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะมหานิกาย) พ.ศ.๒๕๕๐
ผลงานประพันธ์
ได้เขียนบทความลงในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์เมื่อครั้งเป็นภิกษุ โดยการชักชวนของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ภายหลังได้เขียนบทความลงในนิตยสารต่างๆ เช่น ต่วยตูน, แม่และเด็ก, รักลูก, ชีวจิต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์มติชน มีผลงานที่พิมพ์เป็นเล่มประมาณ ๒๐๐ เล่ม
นามปากกา
- ไต้ ตามทาง ใช้เขียนเรื่องประเภทขำขันทีเล่นทีจริง
- “เปรียญเก้าประโยค” ใช้เขียนเรื่องประเภทการใช้ภาษา
- เสฐียรพงษ์ วรรณปก ใช้เขียนเรื่องประเภทวิชาการและสารคดี
มีผลงานหนังสือทางวิชาการ และกึ่งวิชาการที่พิมพ์เผยแพร่มากกว่า ๒๐๐ เล่ม อาทิ พุทธวจนะในธรรมบท, พุทธศาสนา ทรรศนะและวิจารณ์, พุทธจริยาวัตรพากษ์ไทย-อังกฤษ, พุทธจริยาวัตร ๖๐ ปาง, มีศัพท์ มีแสง, บทเพลงแห่งพระอรหันต์ : Song of the Arahant, เพลงรักจากพระไตรปิฎก, พระไตรปิฎกวิเคราะห์, สองทศวรรษในดงขมิ้น, สู่แดนพุทธภูมิ, ไปไหว้พระบาทพระพุทธองค์, เนื้อติดกระดูก, นิทานปรัชญาเต๋า, ยุทธวิธีแก้ทุกข์, สัมผัสพระพุทธเจ้าด้วยใจ, ยุทธจักรดงขมิ้น, ใต้ร่มใบบุญ, ฤๅสมัยนี้โลกมันเอียง, จุดศูนย์ถ่วง, บัวบานกลางเปลวเพลิง, ฝ่าความมืดสีขาว, ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ, สวนทางนิพพาน, พุทธศาสนสุภาษิต, พจนานุกรมไทย-อังกฤษ จัดทำร่วมกับ คุณดำเนิน การเด่น, ชุดสิบล่อหั่น (สิบอรหันต์) สี่เล่ม (๑.สิบล่อหั่นต้นพุทธกาล ๒.สิบล่อหั่นชีวิตพิสดาร ๓สิบล่อหั่นหญิง ๔.สิบล่อหั่นน้อย) จุดประกายแห่งชีวิต, ภูฏาน ดินแดนแห่งพุทธศาสนา, ไปสืบพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา, พระไตรปิฎกศึกษา ชุด ๑ ธรรมะนอกธรรมาสน์ พระไตรปิฎกศึกษา ชุด ๒ วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์, คำบรรยายพระไตรปิฎกช่องที่ไม่ว่าง, ผีสางคางแดง, สูตรสำเร็จชีวิต, ชีวิตตัวอย่าง หมอชีวกโกมารภัจจ์, คุณธรรมสำหรับนักบริหาร จากเสฐียรพงษ์ถึงพระเทพเวที และพุทธทาสภิกขุ, ความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย : ทางออก กรณียันตระ อมโร, สองอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ หลวงพ่อพุทธทาส และหลวงพ่อชา, คิดเป็นทำเป็นตามนัยพุทธธรรม, บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ เพื่อความความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม, พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเป็นอุบาสกรัตนะ, พระสูตรดับทุกข์, ธรรมะสู้ชีวิต, เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเปิดโลก มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางสองมิติ และสัปปุริสธรรม ๗ นัยที่สอง, ๙ พุทธ ๙ เต๋า ๙ เซน, สติ-สมาธิ, พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์, ธรรมะ
HOW TO
ฯลฯ
เกียรติคุณที่ได้รับ
- ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์ พ.ศ.๒๕๓๕
- ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักรในฐานะผู้เขียนหนังสือพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๓๕
- ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ รายการส่งเสริมคุณธรรมดีเด่น รายการ “ดรุณธรรม” ทางช่อง ๕ พ.ศ.๒๕๒๕
- ได้รับประทานเข็มเชิดชูเกียรติจากโรงเรียนนายเรืออากาศอาวุโส กองทัพอากาศ พ.ศ.๒๕๓๕
- ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน กรมตำรวจ
- ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พ.ศ.๒๕๔๓ สาขามนุษยศาสตร์ ในฐานะได้รับการยอมรับว่ามีความรู้ ความสามารถและแสดงให้เป็นที่ปรากฏว่ามีฝีมือและชื่อเสียงยอดเยี่ยมในทางศิลปวิทยา
- ได้รับรางวัลหนังสือวิชาการยอดเยี่ยมแห่งปี พจนานุกรมไทย-อังกฤษ จากอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) พ.ศ.๒๕๔๖ โดยได้รับรางวัลร่วมกับ คุณดำเนิน การเด่น
- ได้รับรางวัลปูชนียบุคคลด้านภาไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๕๒
- ได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูว่าเป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ จากคุรุสภา พ.ศ.๒๕๕๓
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรเสฐียรพงษ์ วรรณปก
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๙ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙
สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร ขณะอ่านหนังสืออยู่บนเตียงนอน
ในกุฏิที่วัดปราสาททอง ปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ (พระภิกษุท่านหนึ่งแอบถ่ายภาพและมอบให้)
สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร
พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) นามเดิม ประยุทธ์ อารยางกูร หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา “ป.อ.ปยุตฺโต” เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๑ ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ และเข้ามาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร จนสอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม ๙ ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร เป็นรูปที่สองในรัชกาลปัจจุบัน และเป็นรูปที่สี่ในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงได้รับการอุปสมบทเป็นนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๔ ณ พัทธสีมา วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโน) เป็นพระอุปัชฌาย์
สอบได้ปริญญาพุทธศาสนาบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๑) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๐๔ และได้วิชาชุดครู พ.ม. เมื่อปี ๒๕๐๖
พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระนักวิชาการ นักคิดนักเขียนผลงานทางพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ มีผลงานทางวิชการพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก
ผลงานที่เป็นที่รู้จัก เช่น พุทธธรรม เป็นต้น ได้รับการยกย่องจากทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ด้วยผลงานทำให้ได้รับรางวัลและดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบันทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ หรือยูเนสโก (
UNESCO Prize for Peace Education
)
นอกจากนี้ ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์รวมแล้วมากกว่า ๑๕ สถาบัน ซึ่งนับว่าเป็นพระภิกษุสงฆ์ไทยที่ได้รับการยกย่องให้ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มากที่สุดในปัจจุบัน
เนื่องจากเป็นเด็กสุขภาพไม่ใคร่ดีตั้งแต่เล็กจนโต จากคำบอกเล่าของญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดกล่าวว่า วัยเยาว์จะควบคู่ไปกับการเจ็บป่วยเรื่อยมา เป็นเกือบทุกโรค เป็นต้นว่า หัวใจรั่ว ต้องผ่าตัดถึงสองครั้ง หูเป็นน้ำหนวก อักเสบเข้าไปในกระดูกพรุนถึงโพรงศีรษะ แพ้อากาศ โรคปอด นิ่วในไต หลอดลมอักเสบ กล้าเนื้อแขนอักเสบ เส้นเสียงอักเสบ เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองข้างซ้ายเล็กลีบ เป็นต้น
จากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงเช่นนี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียนตามปกติ
หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ทางบ้านจึงสนับสนุนให้ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านกร่าง ตำบลศรีประจันต์ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้าน เพราะเล็งเห็นว่าการอยู่ในเพศบรรพชิตจะเอื้ออำนวยต่อการศึกษาได้มากกว่า เพราะไม่ต้องยุ่งยากเดินทางไปโรงเรียน และยังสามารถศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดได้
เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว สามเณรประยุทธ์ได้เริ่มเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๙๖ ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม ๙ ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ รับเป็นนาคหลวง โดยมีสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์
ศึกษาจนกระทั่งได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
หลังจากสอบชุดวิชาครู พ.ม.ได้ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาถึง ๑๐ ปี มีบทบาททางด้านการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยพยายามเชื่อมโยงความรู้ทางธรรมให้เข้ากับปัญหาสังคมร่วมสมัย
ในทางด้านการบริหารเคยดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๖ และลาออกจากตำแหน่งบริหารหลังจากนั้นในสามปีต่อมา โดยทุ่มเทเวลาและกำลังกายให้กับงานด้านวิชาการ ตีพิมพ์ผลงานเป็นหนังสือและบทความออกมาอย่างแพร่หลาย ทั้งร่วมเสวนาและสัมมนาทางวิชาการ กับนักวิชาการและปัญญาชนร่วมสมัยอย่างสม่ำเสมอ
หนังสือพุทธธรรม ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำเอกของวงการพุทธศาสนา ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า ๑๐ แห่ง และได้รับรางวัล “การศึกษาเพื่อสันติภาพ” จากยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ ซึ่งได้มอบเงินรางวัลทั้งหมดให้แก่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อจัดตั้งกองทุนการศึกษาพระธรรมปิฎกเพื่อสันติภาพ พระ ป.อ. ปยุตฺโต ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ เป็นพระเทพเวที พระธรรมปิฎก และพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปัจจุบันพระพรหมคุณาภรณ์ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และจำพรรษาอยู่ที่วัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
สมณศักดิ์
- พ.ศ.๒๕๑๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิโมลี
- พ.ศ.๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวรมุนี ศรีปริยัติบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ.๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที ศรีวิสาลปาพจนรจิต ตรีปิฎกบัณฑิตมหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปิฎก อดุลญาณนายก ปาพจนดิลกนิวิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ.๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏที่ พระพรหมคุณาภรณ์สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมปิฎก ปรากฏในหลายลักษณะ ทั้งในด้านการสอน การบรรยาย การปาฐกถา การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการแสดงพระธรรมเทศนา
ท่านได้รับอาราธนาไปสอนวิชาการทางพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศหลายครั้ง อาทิ
University Museum, University of Pennsylvania
พ.ศ.๒๕๑๕
Swarthmore College, Pennsylvania
ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ และ
Harvard University
ในปี พ.ศ.๒๕๒๔
และเป็นพระสงฆ์ไทยที่ได้รับการระบุอาราธนาแสดงปาฐกถาในที่ประชุมนานาชาติ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศหลายครั้ง
เช่น ปาฐกถาในการประชุม
The International Conference on Higher Education and the Promotion of Peace
เรื่อง
Buddhism and Peace
ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙
บรรยายในการประชุม
Buddhistic Knowledge Exchange Program in Honor of His Majesty the King of Thailand
เรื่อง
Identity of Buddhism
ซึ่งจัดโดยองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๐
ปาฐกถาในการประชุม
The Sixth Asian Workshop on Child and Adolescent Development
เรื่อง
Influence of Western & Asian Thought on Human Culture Development
เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๓ และได้รับนิมนต์ให้จัดทำสารบรรยายสำคัญ เรื่อง
A Buddhist Solution for the Twenty- Century
ในการประชุมสภาศาสนาโลก (
Parliament of the World’s Religions
) ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๓๖
งานนิพนธ์ในลักษณะตำรา เอกสารทางวิชาการ และหนังสืออธิบายธรรมทั่วๆ ไป เป็นที่รู้จักแพร่หลายในแวดวงวิชาการมีจำนวนมากกว่า ๒๓๐ เรื่อง เช่น พุทธธรรม, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ : ฉบับประมวลธรรม, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์, ธรรมนูญชีวิต, การศึกษาของคณะสงฆ์ : ปัญหาที่รอทางออก, การศึกษาที่สากลบนรากฐานแห่งภูมิปัญญาไทย,
Thai Buddhist in the Buddhist Economics
, พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์, นิติศาสตร์แนวพุทธ เป็นต้น
พระธรรมปิฎกยังได้รับนิมนต์เป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการสร้างพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์สำเร็จสมบูรณ์เป็นฉบับแรกของโลก
ทำให้การศึกษาค้นคว้าหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำอีกด้วย
•
ข้อมูล
: บทความพิเศษ
สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๐ ประจำวันที่ ๑๗-๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๙
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:
1
2
3
1
2
[
3
]
ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
จากใจถึงใจ
-----------------------------
=> หน้าบ้าน สุขใจ
===> สุขใจ ป่าวประกาศ (ข้อความจากทีมงาน)
===> สุขใจ เสนอแนะ (ข้อความจากสมาชิก)
===> สุขใจ ให้ละเลง (มุมทดสอบบอร์ด)
-----------------------------
สุขใจในธรรม
-----------------------------
=> พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
===> พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
===> ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
===> ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
===> นิทาน - ชาดก
=====> ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
=> ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
===> ธรรมะจากพระอาจารย์
===> เกร็ดครูบาอาจารย์
=> ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
=> สมถภาวนา - อภิญญาจิต
=> จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
=> เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
===> เอกสารธรรม
===> เสียงธรรมเทศนา
=====> ธรรมะจาก สมเด็จโต
=====> ธรรมะจาก หลวงปู่มั่น
=====> เสียงบทสวดมนต์
=====> เพลงสวดมนต์
=====> เพลงเพื่อจิตสำนึก แด่บุพการี
=====> ธรรมะ มิวสิค (เพลงธรรมทั่วไป)
===> ห้อง วีดีโอ
=> เกร็ดศาสนา
=> กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
=> ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
=> บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
=> พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
===> พุทธวัจนะ ในธรรมบท
===> พุทธศาสนสุภาษิต
===> คำทำนายภัยพิบัติที่จะเกิด
===> รวมข่าวภัยพิบัติ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
===> รู้ เพื่อ รอด (การเตรียมการ)
=> ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม
===> ฐานข้อมูล มูลนิธิต่าง ๆ ในประเทศไทย (Donation Exchange Center)
-----------------------------
วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ
-----------------------------
=> วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ
===> เรื่องราว จากนอกโลก
=====> ประสบการณ์เกี่ยวกับ UFO
=====> หลักฐาน และ การพิสูจน์ยูเอฟโอ
=====> คลิปวีดีโอ ยูเอฟโอ
=> ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
=> เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ
===> ร้อยภูติ พันวิญญาณ
=====> ประสบการณ์ ผี ๆ
=======> เรื่องเล่าในรั้วมหาลัย
=====> ประวัติ ต้นกำเนิด ตำนานผี
===> ดูดวง ทำนายทายทัก
===> ไดอะล็อก คือ ดอกอะไร - พลังไดอะล็อก (Dialogue)
===> กระบวนการ NEW AGE
=> เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
-----------------------------
นั่งเล่นหลังสวน
-----------------------------
=> สุขใจ จิบกาแฟ
=> สุขใจ ร้านน้ำชา
=> สุขใจ ห้องสมุด
===> สุขใจ หนังสือแนะนำ
===> สุขใจ คลังความรู้ลวงโลก
===> สยาม ในอดีต
=> สุขใจ ใต้เงาไม้
=> สุขใจ ตลาดสด
=> สุขใจ อนามัย
=> สุขใจ ไปเที่ยว
=> สุขใจ ในครัว
===> เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว
=> สุขใจ ไปรษณีย์
=> สุขใจ สวนสนุก
===> ลานกว้าง (มุมดูคลิป)
===> เวที จำอวด (จำอวดหน้าม่าน)
===> หนังกลางแปลง (ดูหนัง รีวิวหนัง)
===> หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
=====> เพลงไทยเดิม
===> แผงลอยริมทาง (รวมคลิปโฆษณาโดน ๆ)
คุณ
ไม่สามารถ
ตั้งกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
ตอบกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความได้
BBCode
เปิดใช้งาน
Smilies
เปิดใช้งาน
[img]
เปิดใช้งาน
HTML
เปิดใช้งาน
กำลังโหลด...