[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
25 เมษายน 2567 16:24:22 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: “หลายสิ่งดูจะชัดเจนขึ้นยามเมื่อคุณจนมุม” บทสัมภาษณ์ เชอเกียม ตรุงปะ  (อ่าน 2173 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5065


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 24 กันยายน 2553 15:40:28 »

หลายสิ่งดูจะชัดเจนขึ้นยามเมื่อคุณจนมุม”
บทสัมภาษณ์เชอเกียม ตรุงปะ

แปลและเรียบเรียง โดย วิจักขณ์ พานิช



pvichak@gmail.com

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ปาจารยสาร ฉบับเดือนมิถุนายน-กรกฏาคม ๒๕๕๐





เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช (ค.ศ. ๑๙๔๐- ๑๙๘๗) วัชราจารย์ชาวทิเบต ผู้ใช้เวลากว่า ๒๐ ปี ในการเผยแผ่พุทธศาสนาในซีกโลกตะวันตก เขาได้ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมชัมบาลากว่า ๑๐๐ ศูนย์ทั่วทั้งทวีปอเมริกาและยุโรป ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ มหาวิทยาลัยแนวพุทธในเมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีงานเขียนที่ตีพิมพ์แล้วกว่า ๔๐ เล่ม

เชอเกียม ตรุงปะ เป็นธรรมาจารย์ชาวทิเบตเพียงไม่กี่ท่าน ที่ยอมทิ้งคราบของความเป็นพระ และวัฒนธรรมทิเบตที่เขาเติบโตมา เพื่อการทำความเข้าใจชีวิตนักเรียนชาวตะวันตกของเขาอย่างไม่ถือตน คำสอนสำคัญในเรื่อง "วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ" ถือเป็นการกระตุ้นเตือนให้ชาวพุทธได้หันกลับมามองในเรื่องของการใช้หลักธรรมหรือภาพลักษณ์ความสูงส่งทางจิตวิญญาณเพียงเพื่อการหลอกตัวเอง อย่างปราศจากการนำพุทธธรรมมาฝึกฝนปฏิบัติจริงในชีวิต

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ ณ เวลานั้นเชอเกียม ตรุงปะ เพิ่งเริ่มสอนพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เพียงห้าปีเศษเท่านั้น กว่าสามสิบปีผ่านไป พุทธศาสนาทิเบตได้หยั่งรากและกำลังงอกงามบนผืนดินซีกโลกตะวันตก และธรรมาจารย์ชาวทิเบตรุ่นหลังได้กระจายไปเผยแผ่พุทธธรรมในทั่วทุกมุมโลก แต่ข้อความที่เชอเกียม ตรุงปะพยายามสื่อสารถึงผู้ปฏิบัติธรรมชาวตะวันตกในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ยังคงทันกับยุคสมัยและสามารถนำมาใช้ได้กับผู้ปฏิบัติธรรมในโลกสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางกระแสความตื่นตาตื่นใจในความแปลกใหม่ของพุทธศาสนาวัชรยานในบ้านเรา บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้น่าจะทำหน้าที่เป็นข้อเตือนใจให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมชาวไทยได้ไม่มากก็น้อย



ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คุณมองเห็นความเป็นไปได้แค่ไหนที่คนอเมริกันจะสามารถฝึกฝนพุทธตันตระ เพราะดูเหมือนว่าแนวโน้มของวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณจะมีความรุนแรงมาก อีกทั้งคนอเมริกันดูจะมีพื้นฐานในเรื่องของการปฏิบัติทางจิตวิญญาณน้อยมากเมื่อเทียบกับคนทิเบต


ประเทศพุทธในแถบเอเชียต่างกำลังประสบกับวิกฤติทางจิตวิญญาณ วิถีการปฏิบัติถูกลดความสำคัญลง สายการปฏิบัติเริ่มขาดช่วงและเลือนหาย อิทธิพลของวัตถุนิยมและบริโภคนิยมแผ่กระจายไปทั่ว เกิดการคอรัปชั่นในองค์กรทางศาสนาทั่วทุกแห่งหน แม้ประเทศทิเบตจะถูกยึดครองโดยกองทัพจีนโดยสมบูรณ์ เราชาวทิเบตยังถือว่าโชคดีมาก เพราะยังหลงเหลือคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่รอดมาได้ด้วยเลือดอุ่นๆของการฝึกฝนทางจิตวิญญาณอย่างเข้มข้น ด้วยพลังการตื่นรู้ที่อยู่ในหัวใจของคนกลุ่มนี้จะเป็นโอกาสให้พุทธธรรมสามารถถูกสืบทอดต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นสถานการณ์ทั้งหมดคงเป็นได้เพียงภาพความตายอย่างช้าๆ

ส่วนในเรื่องของการเผยแผ่พุทธธรรมในประเทศอเมริกา เราไม่ได้ให้ความสนใจไปที่การปรับเอาวัฒนธรรมทิเบตมาใช้ที่นี่ เราแค่ต้องการที่จะฝึกฝนหลักคำสอนในวิถีทางที่เหมาะสม ธรรมาจารย์ชาวทิเบตจำเป็นที่จะต้องให้ความเคารพแก่ภาษา วิธีคิด การสื่อสาร และความเข้าใจชีวิตในแบบของชาวตะวันตก ในฐานะรากฐานของการสื่อสารปัญญาญาณแห่งวิถีพุทธ จากนั้นเมื่อผู้คนที่นี่ได้เริ่มฝึกฝน จนมีความเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น รูปแบบ ประเพณี และวัฒนธรรมบนฐานแห่งการตื่นรู้ก็จะเริ่มก่อตัวขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ หากเราคิดจะไปยัดเยียดแบบแผนพิธีกรรมให้พวกเขาตั้งแต่เริ่มต้นเสียแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ก็คงเป็นแค่ความตื่นตาตื่นใจในวัฒนธรรมการรู้แจ้งทางจิตวิญญาณของชนชาติทิเบตอย่างผิวเผิน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ข้อความสำคัญก็ไม่ได้ถูกส่งถึงผู้รับสาร เราจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยแนวทางที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมากมาย จากนั้นจึงค่อยๆเพิ่มความเคร่งครัดมากขึ้นทีละน้อย หนทางนี้น่าจะเปิดโอกาสให้ชาวตะวันตกสามารถซึมซับและเข้าใจแก่นของพุทธธรรมได้อย่างแท้จริง

ในหนังสือ “เกิดในทิเบต” คุณได้อธิบายถึงแรงบันดาลใจของการปรับเข้าหาวัฒนธรรมตะวันตก โดยการสละผ้าเหลือง เพื่อจะได้สามารถใช้ชีวิตฆราวาสร่วมกับนักเรียนของคุณ

ชาวทิเบตจำเป็นที่จะต้องตัดผ่านเมฆหมอกแห่งความตื่นตาตื่นใจทางวัฒนธรรมและโลกทัศน์วิทยาศาสตร์วัตถุนิยมเข้าไปให้ได้ ธรรมาจารย์หลายท่านเลือกที่จะเผชิญกับความเป็นจริงอย่างยั้งๆ หรือไม่ก็ระมัดระวังจนเกิดเหตุจนถึงขนาดเลือกที่จะไม่พยายามสื่อสารอะไรเลยก็มี บางครั้งเราจะเห็นพวกเขาแสดงธรรมแบบตีฝีปากกับโลกสมัยใหม่ ใช้กลยุทธ์ทางการทูตเชื่อมสัมพันธไมตรีแบบฉาบฉวย แต่ในใจกลับมีความกลัวอะไรบางอย่างปกคลุมอยู่ พูดง่ายๆว่าธรรมาจารย์ที่เติบโตมาในวิถีปฏิบัติสมัยเก่ายังไม่มีความเชื่อว่าสิ่งที่เรียกว่าพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่จะเกิดขึ้นได้ ธรรมาจารย์บางคนถึงกับมองวัฒนธรรมสมัยใหม่เป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องโสโครกอย่างโลกๆตามความเชื่อบ้าบอแบบไสยศาสตร์ตะวันตก ผมมองว่าถึงเวลาที่เราจะต้องตัดผ่านเมฆหมอกเหล่านี้ไปให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทางที่เราจะสามารถสืบทอดคุณค่าแห่งพุทธธรรมสู่คนรุ่นต่อๆไปได้เลย

ก่อนที่ผมจะมาที่ประเทศอเมริกา ผมเห็นข้อจำกัดที่ว่านั้นในตนเอง สิ่งที่ผมได้ตระหนักก็คือ ผมจำเป็นจะต้องให้ความเข้าใจแก่นักเรียนของผมมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องโยนเอาความคาดหวังหรืออุดมคติอันสูงส่งไปให้พวกเขาแบกไว้ให้เมื่อย สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่ากลับเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างการสื่อสารด้วยหัวใจอย่างตรงไปตรงมา และการแสดงธรรมคำสอนในรูปแบบของการดำเนินชีวิตประจำวัน เหล่าธรรมาจารย์ทั้งหลายจะต้องกล้าที่จะลงมาจากอาสนะหรือแท่นบัลลังก์อันสูงส่ง เพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในระดับเดียวกันกับศิษย์ ไม่เช่นนั้นพุทธธรรมก็ยังถูกมองเป็นวัตถุล้ำค่าที่พระสงฆ์องค์เจ้าเฝ้าแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ เอาแต่รอให้ศิษย์เข้ามาก้มกราบ แล้วจึงหยิบยื่นคำสอนให้กันราวกับวัตถุโบราณที่แลกเปลี่ยนซื้อขายกันในท้องตลาด นั่นคือข้อความที่ส่งถึงผมขณะที่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษ “เธอจะต้องลงมาจากหลังม้า สู่การเดินดินใช้ชีวิตธรรมดาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้คน”

ก้าวแรกคือการพูดคุยทำความรู้จัก จากนั้นจึงเป็นเพื่อนกับเขา ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนอาจทำให้เขารู้สึกชื่นชมในวิถีการดำเนินชีวิตของเรา อันบ่งบอกถึงคุณค่าที่แท้แห่งพุทธธรรมที่เราต้องการจะถ่ายทอด จากนั้นเราจึงค่อยๆพัฒนาสู่ความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์อย่างเป็นธรรมชาติ โดยยังรักษาการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาในระดับสายตาเอาไว้ ในฐานะรากฐานที่แสดงว่าคำสอนและผู้สอนไม่ได้เป็นสิ่งที่แยกขาดจากกัน

อะไรคือความหมายของคำว่า “คุรุ” และความสัมพันธ์ระหว่างคุรุกับศิษย์

ความหมายของคำว่าคุรุนั้นแบ่งออกได้เป็นสามขั้นด้วยกัน ในขั้นต้น คุรุ คือ ปราชญ์ ผู้มีความรู้ที่สามารถสอนคนอื่นได้ ในขั้นนี้ศิษย์มองไปที่คุรุด้วยความเคารพรักราวกับพ่อแม่ เราในฐานะศิษย์เหมือนกับทารกที่ทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้ อาจารย์ต้องคอยป้อนนม ป้อนน้ำ เช็ดขี้ เช็ดเยี่ยว สอนเราให้รู้จักดูแลตัวเองในทุกๆเรื่อง จากนั้นเมื่อเราพอที่จะยืนด้วยลำแข้งตัวเอง รับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ความสัมพันธ์ของศิษย์กับคุรุก็จะพัฒนาไปเป็นความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร หรือเพื่อนเดินทาง ในขั้นนี้คุรุจะคอยให้กำลังใจแทนที่จะเป็นการจูงมือกันไปเหมือนแต่ก่อน

ในความสัมพันธ์ในขั้นของวัชรยาน คุรุเปรียบเสมือนนักรบ ผู้ที่แสดงให้เราเห็นถึงการดำเนินชีวิต การเผชิญหน้ากับปัญหา และการสร้างความสัมพันธ์กับโลกอันกว้างใหญ่อย่างองอาจและสง่างาม หน้าที่ของคุรุในแง่มุมนี้เป็นสิ่งที่มีพลังมาก คุรุเปรียบได้กับธรรมราชาผู้ปกครองโลกให้อยู่ในความผาสุก แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ได้แบ่งปันโลกของเขาให้แก่ศิษย์ไปด้วย ธรรมราชาผู้นี้ไม่ได้ดูถูกพลเมืองว่าสกปรกหรือต่ำต้อย เขาได้ให้เกียรติ มอบความเชื่อมั่นและศักดิ์ศรีให้กับศิษย์ทุกคนราวกับว่า เมื่อคุณได้มอบชีวิตให้แก่การฝึกฝนปฏิบัติธรรม คุณก็สามารถดำรงชีวิตด้วยศักดิ์ศรีและเสรีภาพได้อย่างเท่าเทียม

คุณได้บอกว่าอาจจะต้องใช้เวลาถึง ๒๐-๓๐ ปี กว่าที่วัชรยานจะสามารถหยั่งรากในตะวันตกได้โดยสมบูรณ์ ณ จุดนี้คุณได้สร้างพื้นฐานให้กับนักเรียนของคุณอย่างไรบ้าง

วัชรยานเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายมาก มันเป็นคำสอนที่ห้วนๆ และตรงไปตรงมาอย่างที่สุด อาจจะเรียกได้ว่าพุทธธรรมในขั้นของวัชรยานสื่อสารไปที่หัวใจอันเปล่าเปลือยของคุณโดยตรง เพราะความง่ายๆแสนธรรมดาและตรงไปตรงมานี้เองที่ทำให้วัชรยานเป็นคำสอนที่มีพลังที่สุดและง่ายต่อการเข้าใจผิดได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน ความเปล่าเปลือยของพุทธธรรมขั้นวัชรยานส่งผลให้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้หากปราศจากซึ่งการฝึกฝนขั้นพื้นฐานมาก่อน

คุณต้องเข้าใจว่านี่คือความหมายของพลังแห่งการตื่นรู้ตามวิถีอเทวนิยม เราไม่มีพระเจ้าจากฟากฟ้าเบื้องบนมาช่วยบันดลให้เรารู้แจ้ง มนุษย์ทุกคนมีพุทธสภาวะเป็นธรรมชาติพื้นฐานอยู่แล้ว ปัญหาก็คือ มันถูกปกคลุมไว้ด้วยเมฆหมอกแห่งสมมติสัจจะที่เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก เราจึงไม่สามารถเข้าใจโลกตามที่เป็นจริงได้ จึงจำเป็นที่เราจะต้องค่อยๆเรียนรู้ย้อนกลับสู่ธรรมชาติเดิมแท้ ลอกปอกเปลือกอัตตาไปจากรากฐานของหินยาน สู่มหายาน เราจึงจะสามารถเข้าใจสิ่งที่วัชรยานต้องการสื่อได้ นั่นคือความหมายของเส้นทางการฝึกฝนพุทธธรรมในแง่ของพุทธพาหนะหรือไตรยาน

การฝึกฝนขั้นหินยานเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด คุณจะต้องเรียนรู้ที่จะบ่มเพาะความมีสติกับทุกรายละเอียดของชีวิต ตระหนักรู้ถึงความเป็นไปรอบตัว และเอาใจใส่กับเส้นทางชีวิตของตน จากนั้นจิตใจของเราก็จะเริ่มขยายกว้างขึ้นสู่ขั้นของมหายาน

ความพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น และความสามารถที่จะดูแลรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้ในขั้นของหินยาน จะนำมาซึ่งความรักและความปรารถนาดีที่แผ่ซ่านและครอบคลุมสู่ผู้อื่นและสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างเป็นธรรมชาติ แทนที่เราจะต้องเผชิญหน้ากับโลกด้วยความหวาดกลัวเหมือนในอดีต เราได้ฝึกฝนจนหัวใจของเรากล้าที่จะเปิดเรียนรู้โลกอย่างไม่เขินอาย นั่นถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการฝึกฝนในขั้นของวัชรยาน

แม้แต่ในประเทศพุทธฝ่ายเถรวาทที่วัชรยานไม่ได้ถูกรวมไว้ในหลักคำสอน อริยบุคคลผู้ฝึกฝนจนรู้แจ้งได้ผ่านขั้นตอนของการเติบโตทางจิตวิญญาณในลักษณะเดียวกัน อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่ว่าคุณจะฝึกอยู่ในสายปฏิบัติใด ท้ายที่สุดแล้วความสุกงอมทางจิตวิญญาณก็จะไปบรรจบกันที่ขั้นของวัชรยาน











นักเรียนของคุณได้เริ่มฝึกวัชรยานกันแล้วหรือยัง

พวกเขาจะต้องผ่านการฝึกนั่งสมาธิพื้นฐานมาแล้วหลายต่อหลายชั่วโมงกว่าจะถึงจุดที่เรียกได้ว่าพร้อม แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ หัวใจที่พร้อมอุทิศตนให้กับเส้นทางสายนี้อย่างถึงที่สุด ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ค่อยๆเกิดขึ้นตามการฝึกฝน ณ ขณะนี้ เรามีสมาชิกในสังฆะที่เมืองโบลเดอร์ประมาณ ๔๐๐ คน ในจำนวนนั้นมีประมาณ ๑๐๐ คนที่เป็นนักเรียนตันตระ แต่ก็เรียกได้ว่ายังอยู่ในขั้นอนุบาล ซึ่งยังไม่สามารถเรียกว่าเป็นผู้ฝึกตันตระได้เสียทีเดียวนัก

เป็นไปได้หรือไม่ที่นักเรียนชาวอเมริกันของคุณจะสามารถพัฒนาตนเองได้รวดเร็วพอๆกับชาวทิเบตที่เติบโตมากับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมพุทธ


ผมมองว่าเป็นไปได้ทั้งสองทาง บางครั้งคนที่เติบโตมาในประเทศพุทธก็พบกับอุปสรรคที่หนักหนาในรูปแบบที่ต่างออกไป ด้วยประเพณีและวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมายาวนาน คุณก็อาจจะไปรับเอาหลักการ นิยาม หรือความคาดหวังต่างๆนานา เกี่ยวกับศาสนาหรือวิถีปฏิบัติทางจิตวิญญาณมาแบกไว้ แทนที่จะได้ค้นหาคุณค่าและความหมายที่แท้จริงในแบบของคุณเอง

ในเรื่องของภาษาก็มีส่วนมาก ประเทศที่รับเอาพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมได้นำเข้าภาษาบาลีหรือสันสกฤตมาใช้กันในชีวิตประจำวัน จนความหมายที่ลึกซึ้งของมันได้ผิดเพี้ยนไปมาก ภาษาพุทธได้กลายเป็นศัพท์สูงหรือศัพท์เทคนิคที่แสดงถึงสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พุทธธรรม เช่น สถานะทางสังคม การศึกษา หรือพิธีรีตอง เป็นต้น ซึ่งผมมองว่าเปลือกความผิดเพี้ยนเหล่านี้ได้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงหัวใจแห่งพุทธธรรมอย่างน่าเศร้า

ในหลายๆทาง ผมคิดว่าชาวอเมริกันดูจะมีเหตุปัจจัยที่ดีกว่าในข้อนี้ ภาษาที่เราใช้ในการสื่อสารพุทธธรรมในโลกตะวันตกเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ทุกสิ่งเกิดขึ้นอย่างสดใหม่ ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันจะได้ประโยชน์สูงสุดจากพุทธธรรมที่ปลอดจากหลักการความคาดหวังทางวัฒนธรรม แต่ในอีกทางหนึ่งเมื่อคุณไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีประเพณีเป็นภาชนะรองรับ คุณก็อาจหลงทางได้ง่ายกว่า ดังนั้นคุณจำเป็นจะต้องรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอาจารย์ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้มาก

นอกเหนือจากส่วนของความน่าตื่นตาตื่นใจแล้ว กระบวนการที่เรียกว่าตันตระที่แท้นั้นแสดงถึงอะไรบ้าง

สิ่งสำคัญที่สุด คือ สิ่งที่เราเรียกกันว่า “สายธรรม (Lineage)” ไม่ใช่หนังสือ ประเพณี หรือ พิธีกรรมที่ถูกยื่นให้ต่อๆกันมา ธารธรรมที่ว่านั้นเป็นประสบการณ์ตรงของการเปลี่ยนแปลงด้านในของผู้ฝึกฝน เป็นประสบการณ์การรู้แจ้งในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่ผู้ฝึกเริ่มรู้สึกได้ด้วยตัวของเขาเอง จริงๆแล้วมันเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาหากคุณทุ่มเทให้กับการฝึกฝนอย่างถวายชีวิต ผู้ฝึกค่อยๆสะสมประสบการณ์ใหม่ๆจากสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากอาจารย์ของเขา อาจารย์ผู้ซึ่งเคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาก่อนจากการฝึกกับอาจารย์ของเขาเช่นเดียวกัน สายธรรมที่มีชีวิตได้ถูกส่งผ่านต่อกันอย่างไม่ขาดสายด้วยการพบกันของสองจิต สิ่งนี้ทำให้วิถีแห่งตันตระมีพลังยิ่งกว่าสายปฏิบัติไหนๆ ตันตระไม่ต้องการที่พึ่งใดๆจากภายนอก ขอเพียงแค่อาจารย์กับศิษย์สั่งสอนและฝึกฝนร่วมกัน ตราบใดที่การถ่ายทอดประสบการณ์แห่งธรรมชาติเดิมแท้ของจิตในรูปแบบตัวต่อตัวเช่นนี้ยังคงอยู่ สายธรรมแห่งตันตระก็จะยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างไม่ขาดสาย

เพื่อนของผมคนหนึ่งเล่าประสบการณ์การไปร่วมฟังปาฐกถาของคุณ พวกเขาได้เห็นนิมิตของท่านมาร์ปะ และมิลาเรปะ อีกทั้งยังรู้สึกถึงพลังบางอย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้จากตัวคุณ การส่งทอดธารธรรมที่ว่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

อืม..ผมค่อนข้างจะตั้งข้อสงสัยกับประสบการณ์นิมิตจำพวกนั้นอยู่นะ (หัวเราะ) แต่สำหรับนักเรียนผู้ที่อุทิศตนให้กับพุทธธรรมจริงๆ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของการไม่มีทางเลือกมากกว่า คือคุณไม่มีพื้นที่ให้กับการหันหลังกลับไปหมกมุ่นกับแบบแผนชีวิตว่ายวนอย่างในอดีตอีกต่อไป “สิ่งต่างๆดูจะชัดเจนขึ้นยามที่คุณจนมุม” แทนที่จะถูกบังคับขู่เข็ญ ลักพาตัว หรือคุมขัง เมื่อคุณหมดทางเลือก คุณยอมแพ้ เลิกขัดขืนชีวิตโดยสิ้นเชิง เมื่อบางสิ่งบางอย่างได้ถูกปล่อยวาง คุณได้เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สมบูรณ์กับการภาวนา แทนที่จะมองว่าการภาวนาเป็นทางเลือก

ณ จุดนั้น อาจเป็นครั้งแรกที่คุณได้เข้าไปสัมผัสกับชีวิตของตัวเองจริงๆ พอคุณหมดทางเลือก คุณยอมแพ้ ยอมศิโรราบ คุณได้ยอมให้พุทธธรรมแทรกซึมเข้าไปในเลือดเนื้อด้วยการเริ่มฝึกภาวนา เรียนรู้ที่จะหายใจเข้าออกอย่างถูกต้อง คุณรู้สึกราวกับได้เกิดใหม่ คุณอาจตระหนักได้ถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆในชีวิตที่คุณไม่เคยสัมผัสมาก่อน ลองมองให้ดีสิ...มันเป็นเรื่องง่ายๆของการศิโรราบหลักการทั้งหลายที่คุณแบกไปไหนมาไหน แล้ว “ตื่น” เงยหน้าขึ้นมามองโลกตามที่เป็นจริง ชีวิตที่ตื่นนั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยความร่ำรวยและพลังสร้างสรรค์ เมื่อเกิดวินาทีนั้นนักเรียนจะเริ่มรู้สึกให้คุณค่ากับคำสอนและตัวผู้ถ่ายทอด ทั้งๆที่จริงแล้วตัวธรรมจารย์นั้นไม่ได้ทำอะไรเลย (หัวเราะ) การส่งทอดของสายธรรมเกิดขึ้นอยู่แล้วตลอดเวลาตามธรรมชาติ

ผู้ฝึกจะต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้างที่จะทำให้เขาสามารถปล่อยวางชีวิตเช่นนั้นได้ แทนที่จะต้องพยายามควบคุมชีวิตอยู่ตลอดเวลา

ในขั้นเริ่มต้นของการฝึก เวลาที่คุณพยายามนั่งขัดสมาธิหลับตานิ่ง นั่นยังถือว่าเป็นการแสร้งที่จะภาวนาแทนที่จะเป็นการภาวนาจริงๆ ไม่ว่าคุณจะพยายามมากแค่ไหนมันก็ยังคงเป็นการดัดจริตอยู่ดี (หัวเราะ) แต่กระนั้นคุณก็ต้องนั่งไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งคุณเริ่มรู้สึกถึงจิตที่วิ่งวุ่นไม่หยุดพัก แม้ข้างนอกจะดูสงบนิ่ง แต่ข้างในดูจะมีเสียงซุบซิบนินทา คุณเริ่มรู้สึกสับสน ท้อแท้ และหดหู่ นั่นคือจุดที่คุณเริ่มเฝ้าดูตัวเองอย่างจริงจัง คุณเริ่มตระหนักว่าคุณไม่ได้ดัดจริตอีกต่อไป คุณกำลังภาวนาเฝ้าดูจิตใจตัวเองอยู่จริงๆ!

ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต ทางจิตวิญญาณและการทำความรู้จักกับชีวิตของคุณเอง คุณพบว่าคุณได้ค่อยๆเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับอารมณ์ในแง่มุมต่างๆ ทุกอย่างยังคงอยู่ในแบบของมัน การภาวนาไม่ได้ช่วยให้คุณเปลี่ยนเป็นคนใหม่ หรือสลัดส่วนแย่ๆของชีวิตคุณทิ้งไปได้ คุณยอมรับที่จะล้มเลิกความคาดหวัง คุณเปลี่ยนทัศนคติจากการกำจัดเป็นการยอมรับ คุณจนมุม หมดทางสู้โดยสมบูรณ์ คุณยอมตายโดยสันติ ...ณ จุดนั้นดูเหมือนจะมีบางอย่าง “คลิ๊ก”

เพื่อที่จะเกิดกระบวนการที่ว่านั้น การปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอยังถือเป็นสิ่งสำคัญใช่หรือไม่

แน่นอนที่สุด เราไม่ได้กำลังพูดกันถึงหลักการทางปรัชญา มันจะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคุณเองจริงๆ ผมไม่มีสิทธิ์จะไปวิเคราะห์หรือตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนอื่น ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของผมที่จะไปบอกว่าใครควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร คุณจะทำอะไรก็เรื่องของคุณ นั่นมันชีวิตของคุณ ผมในฐานะธรรมาจารย์ไม่ได้มีหน้าที่มาตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูกแทนคนอื่น ทุกคนจะต้องรู้จักเชื่อใจในประสบการณ์ที่ตัวเองสัมผัส ยืนบนลำแข้งของตนเองและเติบโตตามเส้นทางชีวิตที่ตัวเองได้เลือก แม้สิ่งที่ผมถามจะเป็นเรื่องธรรมดาๆอย่าง “เธอนั่งวันละกี่ชั่วโมง?” “เธอกำลังเรียนอะไรอยู่?” “เธอทำงานที่ไหน?” แต่สิ่งที่ผมสนใจคือประสบการณ์ชีวิตของเขา พุทธธรรมที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ คือ ประสบการณ์แห่งการตื่นรู้ที่ทุกคนสามารถฝึกฝนและสัมผัสได้จริงในชีวิตของตนเอง

คุณคิดว่าวันหนึ่งนักเรียนชาวตะวันตกของคุณจะสามารถฝึกเทคนิคตันตระขั้นสูงอย่าง โยคะทั้งหกของนาโรปะ หรือมหามุทราได้ไหม

แน่นอน ไม่มีข้อจำกัดของเชื้อชาติและวัฒนธรรมในเรื่องของธรรมะ ตราบใดที่พวกเขามีความศรัทธาและความวิริยะอุตสาหะในการฝึกฝนตนเอง

ในข้อเขียนของคุณ คุณได้บอกว่ามหามุทรายังไม่ใช่ขั้นสูงสุดของการรู้แจ้ง นั่นเป็นเพราะผู้ฝึกยังยึดมั่นอยู่ในภาวะสุญญตาในฐานะสภาวะสูงสุดหรือเปล่า

เป็นความจริงที่ว่าสัญชาตญาณแห่งการตื่นรู้คือกระดูกสันหลังของการฝึกทั้งหมด แต่การรู้แจ้งในสุญญตาโดยปราศจากการนำไปใช้ในชีวิตจริงก็กลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ การภาวนากับชีวิตจึงต้องไปคู่กันเสมอ มหามุทรา เป็นเพียงขั้นต้นของความเข้าใจในจิตวิญญาณแห่งวิถีตันตระ ความเข้าใจในขั้นที่ลึกซึ้งขึ้นเรียกว่า อติ หรือ มหาอติ อันเป็นขั้นที่ประสบการณ์สุญญตาได้ปรากฏให้เราเห็นได้ในชีวิตประจำวันโดยสมบูรณ์

ความหมายของตันตระ คือความต่อเนื่อง อันแสดงถึงความต่อเนื่องแห่งสัจธรรมในชีวิต คุณจึงไม่สามารถแยกสัญชาตญาณแห่งการตระหนักรู้ในสุญญตากับการดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้ เปรียบได้กับนกที่จะบินได้ก็ด้วยปีกทั้งสองข้าง

หมายความว่า การรู้แจ้งในขั้นของมหาอติ หรือ ซกเช็น คือการหวนสู่การดำเนินชีวิตธรรมดาสามัญในโลก แทนที่จะพอใจแค่การเข้าถึงสัจธรรมภายในเพียงแค่นั้น

ลองคิดเสียว่า คุณได้สัมผัสกับศักยภาพแห่งพื้นที่ว่างในถ้วยใบนี้ จากนั้นคุณก็ค่อยๆขยายถ้วยให้กว้างขึ้นเรื่อยๆเพื่อที่จะได้สัมผัสกับพื้นที่ว่างให้มากขึ้นอีก จนในที่สุดถ้วยก็แตกออก คุณได้สัมผัสกับพื้นที่ว่างภายนอกโดยสมบูรณ์ คุณตระหนักว่าคุณไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในถ้วยเพื่อที่จะสัมผัสความว่างอีกต่อไป พื้นที่ว่างอันไพศาลนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

ประสบการณ์ในลักษณะของถ้วยแตกจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

จริงๆแล้วมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ข้อความบางอย่างต้องการสื่อสารถึงเราอยู่ตลอด สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกอย่างเป็นพลวัตแห่งสัจธรรม อาจจะเรียกได้ว่าการฝึกฝนทางจิตวิญญาณคือการเรียนรู้ที่จะเข้าใจธรรมชาติ เลิกขัดขืนต่อต้าน แล้วหันมาผ่อนพักและตระหนักรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เราไม่จำเป็นต้องสร้างเกราะมาป้องกันตัวเองอีกต่อไป เพราะไม่ช้าก็เร็วสัจธรรมก็จะตัดผ่านและส่งสารถึงเราผ่านความทุกข์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เราต้องการแค่ความเข้าใจที่ถูกต้อง จากนั้นจึงเรียนรู้ที่จะนำความเข้าใจนั้นมาปฏิบัติจริงในชีวิต จริงๆแล้วมันไม่มีเทคนิคตายตัวหรอกนะ เหมือนกับเวลาคุณเริ่มต้นขี่จักรยาน ไม่มีใครสามารถสอนคุณได้ว่าควรจะทำอย่างไร แต่คุณต้องลองทำไปเรื่อยๆ ล้มแล้วลุกนับครั้งไม่ถ้วน จนในที่สุดคุณก็ทำได้ สิ่งสำคัญคือคุณต้องไม่กลัวเจ็บ

อะไรคือ “การตรัสรู้” หรือการรู้แจ้งขั้นสูงสุดในพุทธศาสนา
ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการรู้แจ้งขั้นสูงสุดอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกันหรอก ในการเดินทางแห่งจิตวิญญาณไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “สิ่งสุดท้าย” เป้าหมายคือการเดินทาง การรู้แจ้งเกิดขึ้นอยู่ตลอด แต่ถึงจุดหนึ่งคุณได้ศิโรราบให้กับการสูญเสียหลักเกาะเกี่ยวทั้งหลายโดยสมบูรณ์ คุณไม่มีที่พึ่งอีกต่อไป คุณเลิกที่จะเปรียบเทียบนั่นกับนี่ นี่กับโน่น (หัวเราะ) ไม่ใช่ว่ามันเป็นเรื่องเลวร้ายที่จะพูดถึงสภาวะนั้นหรอกนะ แต่คุณไม่สามารถพูดถึงมันได้ อีกทางหนึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรที่จะพยายามหาคำมาอธิบาย

แต่มันน่าจะมีสิ่งที่อธิบายคุณลักษณะ อย่างที่ในหลายศาสนา(รวมถึงพุทธศาสนา) ได้พยายามอธิบายสัจธรรมสูงสุด

แน่นอนว่าศาสนาในฐานะสถาบันพยายามที่จะให้คำนิยามประสบการณ์ของการเข้าถึงสัจธรรมสูงสุด แต่นั่นไม่ใช่ประสบการณ์ในตัวของมันเอง สิ่งที่เรากำลังสื่อสาร คือ พุทธธรรมในฐานะประสบการณ์ตรง เราต้องเข้าใจว่าศาสนาไม่ใช่เจ้าของสัจธรรม และศาสนาไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิต

ท่านนาคารชุนกล่าวไว้ว่า “ฉันไม่มีหลักปรัชญาอะไรมาใช้อธิบาย เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเอง” คุณต้องเข้าใจว่าเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่บทสรุปสุดท้าย แต่คือ การตัดลัดวงจรตรรกะแห่งการหาบทสรุปให้หมดไปเสีย คุณอาจเรียกกระบวนการทั้งหมดง่ายๆว่า “ตื่น” แทนที่จะเป็นการตรัสรู้อะไรให้ซับซ้อน

_____________________________________________________

๏ แปลและเรียบเรียงจาก “Things Get Very Clear When You’re Cornered: Interview with Chögyam Trungpa” ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร “The Laughing Man” ฉบับที่ ๒ ปี ค.ศ. ๑๙๗๖
๏ ฉบับแปลภาษาไทยตีพิมพ์ครั้งแรกใน ปาจารยสาร ฉบับเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ๒๕๕๐ แปลและเรียบเรียงโดย วิจักขณ์ พานิช



http://www.buddhayan.com/board.php?subject_id=263&ss=

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ลิงหลอกเจ้า : ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ( โดย เชอเกรียม ตรุงปะ )
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 3 11250 กระทู้ล่าสุด 15 มิถุนายน 2553 19:52:13
โดย มดเอ๊ก
หนทางสู่สันติภาพโลก บทสัมภาษณ์ องค์ทาไลลามะ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 2 2756 กระทู้ล่าสุด 21 มิถุนายน 2553 20:33:43
โดย มดเอ๊ก
ตรุงปะ คุรุบ้าผู้ปรีชาญาณ : การสอนยานทั้งสาม
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 9 6471 กระทู้ล่าสุด 17 มกราคม 2554 17:45:01
โดย มดเอ๊ก
Deep listening บทสัมภาษณ์ หลวงปู่ ติช นัท ฮันน์ ในรายการของ โอปรา วินฟรีย์
ไดอะล็อก คือ ดอกอะไร - พลังไดอะล็อก (Dialogue)
มดเอ๊ก 0 1876 กระทู้ล่าสุด 04 กรกฎาคม 2559 06:39:19
โดย มดเอ๊ก
เชอเกียม ตรุงปะ - วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ [บรรยายไทย]
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1430 กระทู้ล่าสุด 16 ธันวาคม 2560 20:32:38
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.663 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 27 มีนาคม 2567 11:15:28