[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
13 พฤษภาคม 2567 03:50:00 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 233 234 [235] 236
4681  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: Back To Spirit : จิตวิญญาณใหม่ในโลกใบเดิม เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 09:51:41



Hare Krishna ขวัญใจฮิปปี้

 
ในยุค 60 - 70 เราอาจเคยเห็นภาพชาวตะวันตกใส่เสื้อแขกตัวยาว นุ่งผ้าคล้ายโจงกระเบนสีเหลือง ส่วนผู้หญิงนุ่งส่าหรี ตีกลอง เต้น และร้อง " Hare Krishna Hare Krishna Hare ... " ไปบนถนน หรือไม่ก็กลุ่มคนที่โกนผมหมดแต่ไว้ปอยผมไว้หนึ่งปอยอยู่บนขวัญ

หากเห็นสัญลักษณ์เหล่านี้แล้ว แน่ใจได้เลยว่าพวกเขาเหล่านี้คือ กลุ่ม Hare Krishna คนไทยเราเองก็อาจจะเคยเห็นภาพเหล่านี้สอดแทรก อยู่ในภาพยนต์ที่พูดถึงฮิปปี้ในยุค 60

International Society For Krishna Consciousness ( ISKCON ) หรือที่รู้จักกันดีว่า กลุ่ม Hare Krishna ก่อตั้งขึ้นในตะวันตก เมื่อปี 1966 ที่เมืองนิวยอร์ค โดยท่านคุรุ Srila Prabhupada ซึ่งเป็นทีรู้จักดีของชาวตะวันตก และท่านเป็นผู้หนึ่งที่แปลคัมภีร์ภควคีตาออกมาเป็น ภาษาอังกฤษ

กลุ่ม ISKCON เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มศาสนาใหม่ โดยมีปรัชญาคำสอนตั้งอยู่บนพื้นฐานของคัมภีร์ภควคีตา และเป็นการฝึกโยคะ ในสายลัทธิภักดีโยคะ หรือที่คนไทยเรียกว่าลัทธิภักดี นับถือต่อพระกฤษณะซึ่งเป็นองค์อวตารของพระวิษณุ

ในการฝึกปฏิบัติสมาธิ คนกลุ่มนี้จะร้องท่องคำมันตระ เพื่อให้ดำดิ่งสู่สภาวะอันล้ำลึกแห่งจิตวิญญาณ อันนำไปสู่สภาวะการตระหนักรู้ และสัมผัสสภาวะแห่งพระเจ้า โดยจะร้องมหามันตระนี้ว่า ... " Hare Krishna Hare Krishna Krishna Krishna Hare Hare Hare Rama Hare Rama Rama Rama Hare Hare "

เพลง Hare Krishna เคยติดอันดับท็อปเท็นของฝั่งอังกฤษมาแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นเพลงที่ร้องกันในกลุ่มฮิปปี้ ทั้ง ๆ ที่รูปแบบ และหลักการของการเข้ามาเป็นผู้ติดตามในกลุ่ม Hare Krishna นั้น แตกต่างกับรูปแบบชีวิตของฮิปปี้อย่างสิ้นเชิง

ผู้ที่จะเข้ามาใช้ชีวิตในทางจิตวิญญาณในกลุ่มชอง ISCKON จะต้องปฏิบัติตามที่ท่าน Srila Prabhupada ระบุไว้อย่างเคร่งครัดนั่นก็คือ ห้ามกินเนื้อสัตว์ ปลา และไข่ ห้ามประพฤติผิดในกามารมณ์ และไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ห้ามเล่นการพนัน และข้อสุดท้ายคือห้ามสิ่ง เสพติดทุกชนิด ไม่ว่ากัญชา สุรา บุหรี่ หรือแม้แต่อะไรก็ตามที่มีคาเฟอีน

ปัจจุบันมีเครือข่ายของกลุ่ม ISKCON กระจายอยู่ทั่วโลก มีกิจกรรมร่วมกันทั้งร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า หรือนั่งสมาธิร่วมกัน นอกจากนั้นก็ยังมีการสร้างโรงเรียน ร้านอาหาร และฟาร์ม เพราะวัดของกลุ่ม ISKCON เป็นโรงทานแจกจ่ายอาหารให้กับผู้ขัดสน

หลายมหาวิทยาลัยในตะวันตกมีการเรียนสอนวิชา Krishnology แต่ภาพอีกด้านหนึ่งของกลุ่ม Hare Krishna และผู้นำอย่าง Prabhupada ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายทั้งในสังคมตะวันตก ในประเทศอินเดียและสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับแนวทางพฤติกรรมของผู้นำและองค์กร
4682  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: Back To Spirit : จิตวิญญาณใหม่ในโลกใบเดิม เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 09:51:08




Osho กับ ห้องปฏิบัติการพัฒนามนุษย์คุณภาพใหม่
 

เจ้าหน้าที่ของโอโชยืนยันและอ้างว่า Osho International Meditation Resort เป็นรีสอร์ทแห่งจิตวิญญาณเพียงแห่งเดียวในโลก และไม่มีที่ใดที่คุณจะได้รับพลังแห่งการตื่นรู้เท่ากับการได้มาฝึก Active Meditation ที่นี่ ซึ่งเป็นการปฏิบัติสมาธิในรูปแบบใหม่ที่ถูกคิดค้น ขึ้นโดยท่านโอโช หนึ่งในผู้นำทางจิตวิญญาณที่ทรงอิทธิพลแห่งศตวรรษที่ 20

บนเนื้อที่ 40 เอเคอร์ แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ แมกไม้ และสายน้ำ การจัดภูมิทัศน์เน้นความสมดุลระหว่างพื่นที่ว่างและสวนสไตน์เซน มีคนเคยเปรียบที่นี่ไว้ว่าเป็น Paradise on Earth อาคารที่นี่ถูกออกแบบเพื่อให้มันมีผลต่อการพัฒนาสมาธิโดยตรง โดยใช้รูปแบบของพีรามิด ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนผืนน้ำ

ในแต่ละวันจะมีเทคนิคของการฝึก Active Meditation แตกต่างกันไปในแต่ละชั่วโมง ซึ่งทั้งหมดถูกออกแบบและพัฒนาโดยท่านโอโช เช่น Dynamic Meditation สมาธิที่มีพลวัต เคลื่อนไหว สามารถเข้ากับคนทุกเพศทุกวัย หรือแม้แต่คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านสมาธิ นอกจากนั้น Wheeling Meditation แบบ Sufism ก็ถูกนำมาปรับใช้ให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างสภาวะการตระหนักรู้แห่งตน

โอโชได้รับการขนานนามว่า เขาเป็น ' บุรุษผู้อันตราย ' ภายหลังการมาของพระเยซู แต่โอโชเรียกตัวเองว่า เขาเป็น ' True existentialist ' และเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ

นอกจากนั้นโอโชก็เคยถูกเรียกขนานว่า เขาเป็น ' Sex Guru ' เนื่องจากท่านหยิบเอา ' ตันตระ ' ออกมาสอนผู้คนโดยเฉพาะในเรื่อง ที่เกี่ยวกับเซกส์ และตีความกามารมณ์ใหม่ให้เห็นมิติแห่งจิตวิญญาณ ซึ่งคนภายนอกที่ไม่เคยได้รับรู้ว่าโอโชสอนอะไร ก็คิดตีความไปใน เรื่องกามารมณ์ตามแบบที่เคยได้รับรู้มา

ช่วงปี 1970 เป็นช่วงที่โอโชย้ายจากอเมริกากลับมาอินเดีย ครั้งนั้นลูกศิษย์ลูกหาของท่านมากมายก็ติดตามท่านมาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปูเณ่แห่งนี้ และตั้งโอโช คอมมูน ขึ้นมา นับเนื่องตั้งแต่ห้วงเวลานั้นจนถึงปัจจุบัน ทั้งชาวตะวันตกและตะวันออกที่คลั่งไคล้และศรัทธาในคำสอนของ ท่านก็ยังคงเดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปูเณ่แห่งนี้ทุกปี

แม้ว่าวันนี้โอโชจะไม่อยู่ในร่างเดิมแล้ว แต่เสียงแห่งคำสอนท่านก็ยังดังกังวาลอยู่ในห้องประชุมใหญ่ทุกวันในเวลา 8 นาฬิกาตรง ปัจจุบันมีผู้คนกว่า 20 , 000 คนจากทั่วทุกมุมโลก ยังคงเลือกให้ Osho
International Meditation Resort แห่งเมืองปูเณ่ รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย เป็นที่เยียวยาและพัฒนาทางจิตวิญญาณของตน
4683  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: Back To Spirit : จิตวิญญาณใหม่ในโลกใบเดิม เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 09:47:23



ตามไปฟังทะไล ลามะ บรรยายธรรม
 
นอกจากเมืองธรรมศาลา ตอนเหนือของประเทศอินเดีย จะเป็นที่ตั้งของรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น วัดและวังของท่านทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตแล้ว ที่นี่ยังเป็นเสมือนบ้านของชาวต่างชาติพลัดถิ่นด้วย แต่ละปีจะมีผู้คนมากมายมาจองโรงแรม เกสต์เฮาส์เพื่อให้ได้ฟังและเห็นท่านทะไลลามะ ในการบรรยายธรรม

หนึ่งในโปรแกรมการเดินทางแห่งจิตวิญญาณในอินเดียของชาวตะวันตก และปัจจุบันชาวตะวันออกอย่าง เกาหลี จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ก็เช่นกัน นอกจากจะมาเรียนโยคะ ฝึกสมาธิ สัมผัสแม่น้ำคงคาแล้ว การมาได้ฟังท่านทะไลลามะเทศน์ ก็เสมือนหนึ่งได้บรรลุประสบการณ์ ทางจิตวิญญาณไปอีกขั้น

ใช่ว่ามีสตางค์แล้วจะซื้อบัตรกันได้ง่าย ๆ เพราะต้องคอยจับจ้องติตดามข่าวสารกันให้ดี ๆ ว่าท่านจะไปบรรยายธรรม หรือไปพบปะสนทนากับผู้คนที่เมืองไหนและเมื่อใด โดยปกตินั้นบัตรที่จะเข้าฟังการบรรยายก็มักจะหมดตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เริ่มจำหน่าย

แต่สำหรับการบรรยายธรรมของทะไลลามะ ณ ธรรมศาลา จะเริ่มในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมของทุกปี บรรยายประมาณ 15 วัน ทุกคนไม่ว่าจะศาสนาไหนเชื้อชาติใดก็สามารถเข้าฟังได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
 
ผู้ที่จะเข้าฟังต้องมีอุปกรณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเสื่อผืนหมอนใบ เพราะต้องนั่งกับพื้น วิทยุ FM ไว้ฟังการแปลเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมหูฟังเพื่อจะได้ไม่รบกวนคนข้าง ๆ อุปกรณ์ทุกอย่างจะผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ผู้ที่ต้องการเข้าฟังต้องลงทะเบียนที่สำนักงานรักษาความปลอดภัยล่วงหน้าอย่างน้อย 4 วัน พร้อมรูปถ่าย พาสปอร์ต

ภายใต้ข้อขัดแย้งทางการเมืองกับรัฐบาลจีนต่อเนื่องมาหลายสิบปี ทะไลลามะ เพิ่งประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่าจะยุติความเคลื่อนไหว ทางการเมืองทั้งปวง เหลือไว้แต่กิจกรรมทางธรรมเท่านั้
4684  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: Back To Spirit : จิตวิญญาณใหม่ในโลกใบเดิม เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 09:46:56
5 คุรุ ผู้สร้างปรากฏการณ์
 
 



Hugging Mother " อ้อมกอดเปลี่ยนชีวิต "

 
20 , 000 คน คือ จำนวนของผู้คนที่เธอสวมกอดภายใน 1 วัน
22 ชั่วโมง คือ เวลาประมาณของชั่วโมงทั้งหมดที่เธอนั่งกอดและปลอบประโลมผู้คน
33 ปีมาแล้วที่เธอทำอยู่เช่นนี้ในการหยิบยื่นอ้อมกอดแห่งการเปลี่ยนแปลง
24 ล้านครั้งแล้วที่เธอสวมกอดผู้คน


Mata Amritanandamayi หรือที่คนทั่วไปเรียกเธอว่า ' อัมม่า ' คุรุฮินดูแห่งรัฐเกรละที่ได้รับการกล่าวขานจากผู้คนทั้งในและนอกประเทศ


แต่ละปีมีนักแสวงหาทางจิตวิญญาณ ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมันนี ประเทศไทย และอีกมากมายหลาย ประเทศไปยืนรอต่อคิวเพื่อให้ได้รับการสวมกอดจากเธอ


หลายคนยืนยันว่า " อ้อมกอดเธอนั้นมีพลังและสามารถหยิบยื่นพลังดี ๆ ให้กับคุณได้ "


" ถ้าคุณได้ให้เธอสวมกอดสักครั้ง ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปเลยทีเดียว " นี่คือเสียงของบรรดาผู้ที่ศรัทธาเธอ
ชื่อ Amaritanandamayi ! แปลว่า " แม่ของความสุขอันแท้จริง " อัมม่ามาจากคนวรรณะต่ำธรรมดาที่ครอบครัวมีอาชีพหาปลาในรัฐเกละ แต่ปัจจุบันเธอเป็นคุรุทางจิตวิญญาณที่มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น โยลันดา คิงส์ ลูกสาวของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ หรือ ซาเบียร์ บูเทีย ผู้ก่อตั้ง Hotmail


คนไทยเราอย่างมีแม่ชีศันสนีย์ ก็เคยมาเยี่ยมถึงอาศรม และเขียนถึงอัมม่าไว้ที่อาศรมเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2546 ว่า " อัมม่า เป็นผู้หยิบยื่น ความรักอันปราศจากเงื่อนไขและไร้ขีดจำกัด ให้กับทุก ๆ คนที่เธอได้พบ "
ในปี 1980 อัมม่าเริ่มก่อตั้งอาศรม อย่างเป็นทางการเพื่อต้อนรับผู้คนและมอบ " อ้อมกอดแห่งการเยียวยา "
มีคนเคยถามเธอว่า " ทำไมต้องสวมกอดผู้คน "

เธอตอบว่า " เช่นดียวกับเธอถามแม่น้ำว่า ทำไมต้องไหลริน " - " มันเป็นโชคชะตาของฉันที่จะต้องมาปลอบประโลมคนบนโลกนี้ที่ โศกเศร้า "

มีคนเคยถามอัมม่าว่าเธอนับถือศาสนาอะไร เธอตอบว่า ศาสนาของเธอคือ ความรัก และเธอก็บอกกับทุกคนที่เข้ามาหาเธอว่า " ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงความเชื่อใด ๆ ที่มีมาของเธอแต่ให้หันกลับไปสู่ แต่ให้หันกลับไปสู่ธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง และเชื่อมั่นในตนเองเท่านั้น "

The Mata Amritanandamayi Math ashram ตั้งอยู่ในเมือง โคลัม รัฐเกรละ แต่ละวันจะมีกิจธรรมทางจิตวิญญาณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การร้องเพลง นั่งสมาธิ สวดมนตรา นอกจากนั้นอาศรมยังมีกิจกรรมการกุศลในการช่วยเหลือคนยากจน ตรวจรักษาโรคให้กับคนจน แจกทาน และปลูกที่อยู่อาศัยให้กับคนไร้บ้าน
อย่างไรก็ตาม ' อัมม่า ' ก็ถูกวิจารณ์ว่า เธอมักจะกอดชาวต่างชาตินานกว่าคนอินเดีย บ้างก็ว่าเป็นเรื่องฝรั่งมังค่าที่อินเดีย เพื่อมองหาความตื่นเต้นทางจิตวิญญาณ และมันก็เป็นแค่ความศรัทธาของผู้คนที่ไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาพิสูจน์
4685  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: Back To Spirit : จิตวิญญาณใหม่ในโลกใบเดิม เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 09:46:30

 
 
 
ความสงบ ภายใต้ความขัดแย้ง และความเกลียดชัง

 

30 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรง และความขัดแย้งในสังคมไม่ได้เลือนหายไปจากจิตใจมนุษย์แต่อย่างใด เราเปลี่ยนจากความขัดแย้ง และการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมือง ทุนนิยม กับคอมมิวนิสต์ มาเป็นการต่อสู้กับบริโภคนิยม และความสุดโต่งในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะศาสนา อุดมคติทางเชื้อชาติ ศาสนา ซึ่ง พระไพศาล เรียกว่า " วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง "


" คำสอนของท่านนัท ฮันห์ ยังมีคุณค่า ไม่ว่าการใช้สันติวิธี การให้อภัยที่จะเผชิญความรุนแรงที่มาจากความสุดโต่งทางศาสนา หรือความสงบสุขภายในที่ต้องเผชิญกับการยั่วยุของบริโภคนิยม ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าเรามีความสงบภายใน เราจะเผชิญกับ วัฒนธรรมแห่งความโกรธเกลียดและความละโมบได้ "


นอกจากนี้พระไพศาล ได้ยกตัวอย่างความประทับใจในมุมมองของท่านนัท ฮันห์ ในการสนทนาครั้งหนึ่งกับ เดเนียล เบอร์ริแกน บาทหลวงนิกายเยซูอิต ในช่วงสงครามเวียดนามเมื่อปี 2517 โดยเดเนียลถามท่านว่า " ระหว่างศาสนากับสันติภาพท่านจะเลือกอะไร "


ท่านนัท ฮันห์ ตอบว่า เลือกสันติภาพ เพราะว่าชาวพุทธหรือพุทธศาสนายอมไม่ได้ที่จะเลือกศาสนาแล้วไม่มีสันติภาพ


ท่านนัทฮันห์ บอกว่า พุทธศาสนาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่โบสถ์ ไม่ได้อยู่ที่จีวร แต่อยู่ในใจ เพราะฉะนั้นตราบใดที่มีสันติภาพ เราก็แน่ใจได้ว่าสวันหนึ่งพุทธศาสนาจะงอกงามในใจคน สันติภาพที่เกิดขึ้นอาจจะหมายถึงการกดขี่บีฑาชาวพุทธและกิจกรรมทาง พุทธศาสนา แต่แต่มันไม่สามารถจะทำลายวัดหรือพุทธศาสนาในใจได้ ฉะนั้นท่านเลือกสันติภาพ


" ตรงกับบทกัลยณธรรมข้อแรกที่ว่า เธออย่ายึดติดอุดมการณ์ใด ๆ แม้กระทั่งพุทธศาสนา ถ้าเราทำทุกอย่างเพื่อพระพุทธศาสนา ถ้าเราเลือกพุทธศาสนาแต่หมายถึงการละทิ้งสันติภาพ อันนั้นเป็นความขัดแย้งในตัว ตรงนี้ทำให้เราคิดเลยว่า ถ้าจะเป็นชาวพุทธอย่าง แท้จริง ต้องไปพ้นจากยี้ห้อพุทธศาสนาด้วยซ้ำ ตรงนี้ชาวพุทธทั่วไปอาจทำใจยาก "


" นี่คือเหตุผลว่าทำไมลังกาถึงลุกเป็นไฟ เพราะคนจำนวนมากเลือกพุทธศาสนามากกว่าสันติภาพ สนับสนุนรัฐบาลให้ทำสงครามกับ ชาวทมิฬ เพราะเชื่อว่าอย่างนั้นจะทำให้พุทธศาสนาอยู่ได้ โดยหารู้ไม่ว่ายิ่งฆ่ากันมากเท่าไหร่ พุทธศาสนายิ่งถูกบั่นทอน เหลือแต่พุทธ ที่เป็นยี้ห้อ พุทธในใจหมดไปแล้ว เพราะว่าเกลียดกัน "

ในบทกวีของท่านนัท ฮันห์ กล่าวไว้ว่า " ศัตรูที่แท้จริงของเราไม่ใช่มนุษย์ ศัตรูของเราคือ ความโกรธ ความเกลียด ความยึดติดในอุดมการณ์ และตรงนี้เองเมื่อเราพยายามหยั่งลึกเข้าไปในจิตใจของคนเหล่านี้ จะพบว่าเขาเองก็เป็นเหยื่อ ในขณะที่เขาทำกับเราเขาก็เป็นเหยื่อของ ความรุนแรง "


" อาตมาคิดว่าในยุคแห่งความโกรธเกลียดโดยมีศาสนาเป็นเชื้ออย่างดีเช่นนี้ คำพูดอย่างนี้ยังไม่ล้าสมัย และจะเป็นอมตะไปตลอดกาล " พระไพศาลกล่าว



 
 
โอบอุ้มไว้ด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งสติ


 
ปาฐกถาธรรมของท่าน นัท ฮันห์ ตั้งแต่สวนลุมพินี ที่จังหวัดเชียงใหม่ และตามที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพ สารที่ท่านพยายาส่งถึงผู้ฟังก็คือ " การมีสติ และตระหนักรู้ให้ได้ถึงลมหายใจ เข้าและออกของเรา "

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เรามีสติที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ ทันทีที่เราอยู่กับปัจจุบันขณะ ความโกรธ ความเกลียดชัง ความกลัว ความทุกข์ทั้งหลาย จะเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อเราสงบ มีความสุข เราก็จะทำให้คนอื่น ๆ มีความสุขไปด้วย โดยเฉพาะ " ความสุขอันเป็นหนึ่งเดียวในครอบครัว และสังคม "

" สาเหตุที่เราป่วยกาย ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเราไม่รู้จักวิธีการดูแลจิตใจของเรานี่เอง ลมหายใจช่วยให้เราตระหนักรู้ และเอาสิ่งที่ปิดกั้น เมล็ดพันธุ์ที่ดีงามออก เมื่อเกิดความรู้สึกไม่ดี หรือเมล็ดพันธุ์ไม่ดีเกิดขึ้นในใจเรา เราสามารถเชื้อเชิญลมหายใจแห่งสติโอบอุ้มความรู้สึก เหล่านั้น เมื่อความโกรธได้อาบน้ำแห่งสติ สภาพแห่งจิตของเราจะดีขึ้น " ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าว

นอกจากนี้ในเรื่องของศีลห้า หรือ ข้อฝึกอบรมสติ 5 ประการ ท่านติช นัท ฮันห์ได้นำศีล 5 มาตีความใหม่ ให้มีเนื้อหาร่วมสมัย เข้ากับสภาวการณ์สังคมปัจจุบัน โดยมีมิติที่กว้าง และลึกทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นข้อห้าม แต่จะเป็นการตระหนักรู้และเอาใจใส่ต่อ การใช้ชีวิตอย่างจริงจัง
 
 



ความรักอันไม่แบ่งแยก
 
เกือบทุกแห่งที่ท่านไปปาฐกถาธรรม คำถามหนึ่งที่มีผู้คนสนใจถามและอยากให้ท่านชี้ทางออก นั่นคือ เรื่องความขัดแย้งโดยมีความรุนแรง ในสามจังหวัดภาคใต้เป็นตัวอย่างกรณีศึกษา


ท่านนัท ฮันห์ กล่าวว่า " ชาวพุทธเปรียบดั่งมือขวา ชาวมุสลิมเปรียบดั่งมือซ้าย เราเป็นดั่งพี่น้องกัน หากเราทำให้อีกฝ่ายทุกข์ เราย่อมเป็น ทุกข์ด้วย "


" การจะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ มิใช่เพราะเราต่างเป็นชาวพุทธเหมือนกัน ฉันเห็นชาวพุทธมากมายมิได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่การจะอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบสันตินั้นมีรากฐานมาจากความเข้าใจและความรัก ซึ่งความรักและความเมตตาต่อกัน มีพื้นฐานจาก การฝึกปฏิบัติ และ ความเข้าใจ "


ท่านให้ความเห็นว่า พี่น้องชาวมุสลิมในประเทศไทยอาจได้รับข้อมูลที่ผิด จึงทำให้พวกเขามีความโกรธ ความกลัว ความไม่เข้าใจ พวกเขาได้รับการรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรง ความโกรธ และความกลัวมากเกินไป ในขณะที่เมล็ดพันธุ์แห่งสันติ ความเป็นพี่น้อง ความรัก ความเข้าใจ ไม่ได้รับการรดน้ำอย่างเพียงพอ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง ใช้วาจาแห่งสติ และเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์


ท่านแนะนำให้ รัฐบาลไทยเชิญผู้มีปัญญาในสังคม และเชื้อเชิญทุกฝ่ายในความขัดแย้งนี้มาร่วมฟังกันอย่างลึกซึ้ง ด้วยความเมตตากรุณา เพื่อให้รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีความโกรธแค้นชิงชังและสงสัยคลางแคลงเพราะอะไร แลกเปลี่ยนข้อมูลให้ทุกฝ่ายได้สร้างความเข้าใจกัน จากการฟังเช่นนี้เอง เราจะตระหนักว่า เราเองก็ได้ทำอะไรผิดพลาดเช่นกัน เราควรใช้โอกาสนี้ในการขอโทษและสัญญาว่า จะไม่ทำเช่นนั้นอีก เพื่อสมานไมตรีทีดีต่อกัน
 

ก้อนเมฆในน้ำชา


 
' ความสืบเนื่อง ' เป็นปาฐกถาธรรมครั้งสุดท้ายที่เชียงใหม่ หนึ่งในตัวอย่างที่ท่านนำมาอธิบายธรรม คือ ' ก้อนเมฆในน้ำชา ' เพราะก่อนที่จะมาเป็นก้อนเมฆนั้น ก็คือไอน้ำและไอน้ำก็เคยเป็นทั้งหิมะ แม่น้ำ ทะเล หรือแม้แต่หยดน้ำค้างบนใบหญ้า ซึ่งตอนนี้กลายเป็นน้ำชาในถ้วย และกลายเป็นคำพูดในการบรรยายธรรม

ถ้าเราสามารถเห็นก้อนเมฆในน้ำชาอย่างที่ท่านสอน เราก็จะเข้าใจการสืบเนื่องของสรรพสิ่ง ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เราเห็นความจริงแห่งชีวิต และธรรมชาติเท่านั้น แต่จะทำให้เราตระหนักรู้ถึงการกระทำของเรา เพราะแค่เพียงความคิดด้านลบของเรา แม้ปล่อยให้เกิดขึ้น ก็มีผลทำร้ายทำลายโลกทั้งใบได้
4686  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: Back To Spirit : จิตวิญญาณใหม่ในโลกใบเดิม เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 09:45:54

 
 
 
วงล้อแห่งธรรม กับการกลับมาของ ท่านติช นัท ฮันห์


 
ในทางพุทธศาสนา ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นสืบเนื่อง หมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็น วัฏจักร
เฉกเช่นเดียวกันกับการสืบเนื่อง และการมาเมืองไทยอีกครั้งของท่านติช นัท ฮันห์ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ในการมาเมืองไทยของท่าน ห่างจากการมาเยือนครั้งแรกในเมษายน พ.ศ. 2518 ถึง 32 ปี


การกลับมาครั้งนี้ของท่าน หากมองให้ลึกถึงแก่นของปัญหา สถานการณ์บ้านเมืองในวันนี้แทบไม่ได้มีอะไรต่างไปจากเมื่อ 30 ปีก่อน เพราะยังคงเป็นความขัดแย้งทางศาสนา การเมือง สังคม มิจฉาทิฐิต่าง ๆ จะต่างกันก็เพียงตัวละครและห้วงเวลา


ระยะเวลา 14 วัน ตั้งแต่ 19 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2550 ในการมาเยือนประเทศไทย การมาร่วมงานวิสาขบูชาโลก และการมาเผยแผ่วิถีปฏิบัติธรรมแนวทางหมู่บ้านพลัม ของท่านติช นัท ฮันห์ และคณะภิกษุ และภิกษุณี จากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะแต่ละครั้งมีผู้ติดตามท่านไปปฏิบัติ และฟังการบรรยายธรรมเป็น จำนวนมาก


ที่น่าแปลกคือ มิใช่แต่กลุ่มคนที่เป็นนักกิจกรรมนักแสวงหา หรือแฟนพันธุ์แท้ที่ติดตามอ่านงานของท่านเท่านั้น แต่ยังเป็นการมารวมกัน ของคนหลากหลายอาชีพ ชนชั้น ตั้งแต่ ไฮโซ นักการเมือง นักสื่อสารมวลชนทั้งรุ่นใหญ่ รุนใหม่ เด็กเล็ก ๆ จนไปถึงวัยรุ่นหนุ่มสาว และผู้สูงวัยอีกมากมาย


หากวงล้อแห่งธรรมจะหมุนซ้ำ ก็นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ ' ระฆังแห่งสติ ' จะดังก้องกังวานอีกครั้งในสังคมไทยและให้ผู้คนได้หยุด ตระหนักรู้ สำรวจดูท่าที และความคิดของตน พร้อมเปิดโอกาสให้เมล็ดพันธุ์แห่งความเมตตา ความรัก และการให้อภัยที่ท่านติช นัท ฮันห์ หว่านไว้นั้น ได้งอกงามในทุกหัวใจของผู้ที่เห็นธรรมดังเช่นเมื่อ 30 กว่าปีก่อน


 
ก้าวแรกแห่งการผลิบาน
 
คนไทยที่บทบาทอย่างมากในการเป็นสะพานเชื่อมให้คนไทยได้รู้จักท่านติช นัท ฮันห์ ก็คือ สุลักษณ์ ศิวรักษณ์ โดยการเผยแพร่งานเขียน ของท่านในสังคมไทย ตั้งแต่ปี 2517 โดยเฉพาะในวารสารปาจารยสาร
ท่านติช นัท ฮันห์ ถือเป็นตัวอย่างของนักปฏิบัติธรรมที่ไม่ได้แยกการปฏิบัติทางจิตวิญญาณออกจากการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานเพื่อรับใช้สังคม หรือที่เรียกกันในชื่อ Engaged Buddhismอย่างที่ท่านเคยกล่าวว่า พุทธศาสนาจะต้องสัมพันธ์กับชีวิตและสังคมอย่าง แนบแน่น


เมื่อครั้งที่ท่านมาประชุมอาศรมแปซิฟิก อาจารย์สุลักษณ์ เป็นผู้จัดให้มีการบรรยายธรรมของท่านตัช นัท ฮันห์ ที่วัดผาลาด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนเมษายน ปี 2518 กลุ่มคนที่ติดตามไปฟังครั้งนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ศึกษาและติดตามงานของท่าน และสายธารความคิดจาก ครั้งนั้นทำให้เมล็ดพันธุ์ได้เบ่งบาน สืบเนื่องในกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสังคม และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทยอย่างมาก ดังที่เราคุ้น ชื่อกันดีไม่ว่าจะเป็นพระไพศาล วิสาโล , รสนา โตสิตระกูล , พจนา จันทรสันติ , ประชา หุตานุวัตร , สันติสุข โสภณศิริ และวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์


" อาตมาจำได้ว่าใส่ชุดนักเรียนขาสั้นมาเชียงใหม่ การได้มาพบท่านนัท ฮันห์และภิกษุษีเจิงคอม ทำให้เราประทับใจ เพราะท่านทำให้เรา เห็นว่าการทำงานเพื่อสันติภาพหรืออะไรก็ตาม จิตใจเราต้องสงบ ต้องสันติเป็นประการแรก และท่านทำให้ชีวิตและการทำงานเพื่อสังคม ต้องสันติเป็นประการแรก และท่านทำให้ชีวิตและการทำงานเพื่อสังคมเป็นการปฏิบัติไปในตัว ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างธรรมกับชีวิตประจำวัน และไม่มีเส้นแบ่งระหว่างธรรมะกับการงานเพื่อสังคม " พระไพศาล วิสาโล เล่าไว้ในงานเสวนา 3 ทศวรรษสารธารความคิด ติช นัท ฮันห์ กับสังคมไทย


ในช่วงปี 2517 - 18 ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญความขัดแย้งและการต่อสู้รุนแรง แน่นอนว่ามีผู้คนจำนวนมากที่ไม่อยากเลือกข้างไม่ว่า จะซ้ายหรือขวา เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่งานของท่านติช นัท ฮันห์ และขบวนการชาวพุทธในเวียดนามได้เผยแผ่ออกไป ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งได้เห็นทางเลือกที่สาม นั่นก็คือการไม่ใช้ความรุนแรง การอุทิศตัวให้สันติภาพ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นการต่อสู้ที่เคลื่อน จากพลังแห่งความเมตตา กรุณา และใช้ความรักเข้าต่อสู้


" ตอนนั้นอาตมาไม่ค่อยได้ทำงานการเมือง เพราะไม่ค่อยเชื่อ แต่ทำงานเชิงมนุษยธรรมหรืองานสังคมมากกว่า และได้เรียนรู้ว่าระหว่าง ที่เราทำนั้นเราก็ได้ปฏิบัติธรรมไปด้วย สิ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจคือ ในระหว่างทำงานจะมีการแลกเปลี่ยนจดหมายกัน ท่านนัท ฮันห์ จะเขียนจดหมายให้กำลังใจและเตือนพวกเรา สมัยก่อนท่านไม่ใช่คนดังมาก ท่านจะมีเวลาเขียนจดหมาย เคยไปเยี่ยมท่านที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2520 มีคนไปไม่กี่คน เรามีเวลาคุยกับท่านนาน ๆ ได้อยู่ไกล้ชิด เพราะฉะนั้นท่านเป็นฮีโร่ที่ใกล้ตัวเรายิ่งกว่าคานธี "

รสนา โตสิตระกูล เล่าว่าในยุคนั้นนักศึกษาที่ไม่เป็นฝ่ายซ้าย มักถูกเพื่อน ๆ ต่อว่า

" เมื่อก่อนเพื่อนถามว่า เขาอยู่ฝ่ายซ้ายกันแล้วเธอไปอยู่อะไรชุมนุมพุทธ เราบอกว่ากำลังแสวงหา เขาบอกว่า เขาพบกันหมดแล้ว เธอยังแสวงหาอยู่อีกหรือ ก็ไม่เป็นไร ตอนนี้พวกเขายังแสวงหากันอยู่เลย ... แต่เราพบแล้ว "
รสนาเล่าว่า เส้นทางเดินของเธอเมื่อ 30 ปีก่อนยังไม่ได้เปลี่ยนไป สิ่งที่เธอสนใจมากในงานของท่านนัท ฮันห์ คือ ท่านเสนอเป็นรูปแบบ และรูปธรรมของการต่อสู้ทางสังคม ขณะที่ความรุนแรงของการแบ่งขั้วระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา คนที่อยู่ตรงกลางจะดำรงตนได้อย่างไร ในการที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคมด้วย แต่ในขณะเดียวกันไม่ตกไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งเธอประทับใจมากกับขบวนการคนหนุ่มสาว ของไถ่ ( ท่านนัท ฮันห์ ) เมื่อ 30 ปีก่อน
4687  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Back To Spirit : จิตวิญญาณใหม่ในโลกใบเดิม เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 09:45:24

 
 
Back To Spirit
 
 
 
จิตวิญญาณใหม่ในโลกใบเดิม

 
ชั่วระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แม้แต่คนที่นั่งอยู่เฉย ๆ ก็น่าจะรับรู้ได้ถึง ' แรงกระเพื่อม ' ของปรากฏการณ์ทางศาสนาและจิตวิญญาณ ผ่านรูปแบบการเคลื่อนไหวอันเป็นรูปธรรมหลากหลายประการ ...

ไล่มาตั้งแต่ประเด็นข้อถกเถียงว่าด้วยจะบรรจุหรือไม่บรรจุคำว่า ' พระพุทธศาสนา ' ให้เป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งเป็นระลอกคลื่นที่เกิดไล่หลังปรากฏการณ์จตุคาม - รามเทพ ที่สร้างความตกตะลึงงุนงงให้แก่นักเศรษศาสตร์ด้วยเม็ดเงินหมุนเวียนใน ระบบหลายหมื่นล้านบาท ... มากพอที่จะดันตัวเลขจีดีพีของประเทศให้หรูหราสวยงามขึ้น

พร้อม ๆ กันนั้น แรงเหวี่ยงของปรากฏการณ์ความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศและธรรมชาติอันมีสาเหตุหลักจากน้ำมือมนุษย์เอง ก็ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนจนมีการส่งต่อข้อมูลภาพและคำทำนายถึงสภาพสังคมสภาพดินฟ้าอากาศอันเลวร้าย จนกลายเป็น ปรากฏการณ์ของความกลัวโดยไม่สามารถหาคำอธิบาย

แต่ในช่วงระยะใกล้ ๆ กันนั้นเอง ประเทศไทยก็มีโอกาสต้อนรับการกลับมาเยือนอีกครั้งของท่านติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนามซึ่งได้ รับความยอมรับนับถือจากผู้คนในฝั่ง ' ก้าวหน้า ' การมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้สื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างก็พร้อมใจ นำเสนอเป็นข่าวใหญ่ในช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา

ภายใต้ปรากฏการณ์ที่ดูย้อนแย้งสับสนนี้ ... เป็นไปได้ไหมว่า มันอาจเป็นการ ' ส่งข่าว ' สำคัญบางอย่างมาสู่ผู้คนทั้งสังคม ... และทั้งโลก
4688  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / กฏแห่งกระจก : กฏมหัศจรรย์ที่จะช่วยแก้ไขทุกปัญหาชีวิตของคุณ เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 09:41:51

 

กฎแห่งกระจก


มีใครได้อ่านหนังสือเรื่อง กฎแห่งกระจกหรือยังคะ  เขียนโดย โยชิโนริ โนงุจิ แปลโดย ทิพย์วรรณ ยามาโมะโตะ อ่านแล้วน้ำตาไหลเลยหล่ะ ซึ้งกินใจมากเลยค่ะ

เห็นบอกไว้ว่าเป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ตัวนำเรื่องชื่อ เอโกะ เป็นแม่บ้านวัย 41กำลังมีเรื่องกลุ้มใจที่ยูตะ ลูกชายของเธอถูกเพื่อน ๆ กลั่นแกล้ง ทำให้เอโกะเจ็บปวดใจมาก และเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น เอโกะจึงตัดสินใจโทรศัพท์ไปหาคุณยางุจิ รุ่นพี่ของสามีเพื่อขอคำปรึกษา เอโกะเปิดใจปรึกษาปัญหาลูกชายของตัวเอง เมื่อคุณยางุจิได้รับฟังแล้วจึงยกหลักจิตวิทยาที่ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ‘ผลลัพธ์’ เมื่อมี ‘ผลลัพธ์’ ก็ต้องมี ‘สาเหตุ’ และสาเหตุนั้นก็มาจากจิตใจของคุณเอง หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตคือกระจกส่องสะท้อนจิตใจ




บางส่วนของเนื้อเรื่องค่ะ  


ได้ข้อมูลมาจาก
 
http://board.palungjit.com/showthread.php?t=152238
 
 



ซื้อหนังสือมา พออ่านจบก็ให้เพื่อนยืมไปอ่าน เพื่อนอ่านแล้วดีก็ให้เพื่อนอีกคนยืมต่อ ตอนนี้ผ่านไป 3 คนแล้วค่ะ ยังไม่ได้คืนเลย คนที่ 3 ก็บอกว่าขอยืมไปให้เพื่อนแถวบ้านอ่านต่อ ไม่รู้จะได้คืนมั้ย ตั้งใจจะบริจาคเข้าห้องสมุดคณะฯ เสียหน่อยจะได้มีคนอ่านเยอะ ๆ



คนที่อ่านไปแล้วเขามาเล่าให้ฟังค่ะว่าดีมาก ๆ เลย แต่ทำไมได้ คงให้อภัยไม่ได้ ก็เลยบอกเค้าไปว่าจริง ๆ แล้วก็ไม่คาดหวังว่าอ่านแล้วจะทำได้หรอกนะ ขอแค่เพียงฉุกคิดก็ดีใจมาก ๆ แล้วหล่ะค่ะ
<HR>


เอโกะผู้มีความทุกข์จากการที่ลูกชายไม่ยอมเปิดใจเป็นที่มาของที่ปรึกษาโยชิโนริ โนงุจิ “กฎแห่งกระจก”สะท้อนถึงจิตใจ ก้าวข้ามปัญหาด้วยการให้อภัย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ‘ผลลัพธ์’ เมื่อมี ‘ผลลัพธ์’ ก็ต้องมี‘ต้นเหตุ’ และต้นเหตุก็ต้องมีที่มาจากจิตใจของเราเองหรือพูดอีกนัยก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตคือกระจกสะท้อนจิตใจของเราเอง การมีกระจกที่เรียกว่าชีวิตจะทำให้เรามองเห็นสภาพของตัวเอง แลเกิดแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ชีวิตของคนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
“ทุกคนต่างก็มีจุดเด่นและความสามารถเฉพาะตัว”
“เริ่มจากการกระทำภายนอกก่อนก็ได้ เดี๋ยวความรู้สึกก็ตามมาเอง”


“มีกฎที่เรียกว่า
‘กฎของสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น’ เมื่อเราเริ่มเข้าใจถึงสิ่งหนึ่ง เราก็จะเริ่มเข้าใจอีกสิ่งหนึ่งตามมา ที่จริงแล้ว ทุกปัญหาในชีวิตที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้รู้ซึ้งถึงความสำคัญบางสิ่ง หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นมาบังเอิญแต่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นต่างหาก นั่นหมายความว่า ปัญหาที่เราแก้ไขด้วยตนเองไม่ได้จะไม่มีวันเกิดขึ้น เราแก้ไขได้ทุกปัญหาและถ้าพยายามอย่างเอาใจใส่ มองโลกในแง่ดี เราก็จะนึกขอบคุณในภายหลังว่า ดีแล้วที่เกิดปัญหานั้นขึ้น เพราะนั่นทำให้ฉัน…’”
“ปัญหาในชีวิตที่เกิดขึ้นเพื่อให้เรารู้ซึ้งถึงสิ่งสำคัญ”


ชีวิตคือกระจกส่องสะท้อนจิตใจ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตคือกระจกส่องสะท้อนจิตใจของเราเอง” และนี่ก็คือ“กฎแห่งกระจก” ถ้าจิตใจของเรามีแต่ความทุกข์ เงาในกระจกที่สะท้อนออกมาก็คือเหตูการณ์ไม่ดีต่างๆนานาที่ทำให้เป็นทุกข์ ในทางกลับกัน ถ้าจิตใจของเราเปี่ยมไปด้วยความสำนึกรู้คุณเหตุการณ์ดีๆที่จะทำให้เรารู้สึกสำนึกรู้คุณก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ชีวิตคือกระจกส่องสะท้อนจิตใจของเราเอง”หมายความว่า
“เหตุการณ์ในปัจจุบันจะเกิดขึ้นตามคลื่นความถี่ของหัวใจ”พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ“สาเหตที่เกิดขึ้นในจิตใจจะกลายเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง” เป็นกฎง่ายๆที่เมื่อเข้าใจแล้ว เราจะรู้วิธีควบคุมชีวิตของตัวเอง เราเห็นจิตใจของตนเองได้ด้วยการมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

การแก้ปัญหาชีวิตตั้งแต่รากฐานนั้นจำเป็นต้องแก้ที่ต้นเหตุในจิตใจตัวเอง จะหวังพึ่งคนอื่นหรือรอให้สถานการณ์เปลี่ยนไปโดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงจิตใจตัวเองเลยนั้นอะไรๆก็คงไม่เป็นไปอย่างที่คิด
ขอให้ตระหนักให้ดีว่า ต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วค่อยๆเปลี่ยนแปลงจิตใจไปพร้อมๆกับ
ความสบายใจจากการให้อภัย

คำว่า
“ให้อภัยไม่ได้” คือสภาพจิตใจที่ติดอยู่กับอดีต และนึกเกลียดใครบางคนอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดที่เราเกลียดคนอื่นและ “ไม่ให้อภัย” เราจะรู้สึกไม่สบายใจ

ทุกคนมีสิทธิ์ “ให้อภัย” หรือ “ไม่ให้อภัย”การให้อภัยนั้นไม่ได้หมายถึการยอมรับการกระทำของคนอื่นไม่ได้หมายถึงการมองข้ามความผิดของเขา และไม่ได้หมายความว่าเราต้องอดทนทั้งที่คิดว่าเขาผิด

การให้อภัยหมายถึงการปล่อยวางจากการยึดติดอยู่กับอดีตเลิกโทษว่าเป็นความผิดของใคร และเลือกที่จะมีแต่ความสบายใจ การให้อภัยไม่ได้เป็นการทำเพื่อคนอื่น แต่เพื่อตัวคุณเองต่างหาก

ก่อนคุณต้องให้อภัยตัวเอง ในสาขาจิตวิทยาเราเรียกสิ่งนี้ว่าการยอมรับตัวเอง ยอมรับว่าคุณกำลังเจ็บช้ำแล้วให้อภัยตัวเองที่ให้คนอื่นไม่ได้ เมื่อคิดได้เช่นนั้นแล้ว ขอให้คุณมองสิ่งที่เรียกว่าBelief ของตัวเอง Belief คือสิ่งที่คุณเชื่อมั่นโดยไม่มีข้อสงสัย

ตัวอย่างของ Belief ที่ทำให้เราอภัยให้ผู้อื่นได้ยาก ได้แก่
- การให้อภัยทำให้เราเสียประโยชน์
- การที่เรารู้สึกแย่ก็เพราะเขาแท้ๆ เราไม่ผิดร้อยเปอร์เซ็นต์
- การเนผู้เสียหายย่อมสบายกว่าการยอมรับว่าเป็นคนผิด
- เขาต้องได้รับโทษอย่างสาสม
- แค้นนี้ต้องชำระ
- เราให้อภัยไม่ได้ เราต้องปกป้องตัวเอง
แต่ขอให้ลองคิดดูให้ดีว่า Belief เหล่านี้ทำให้คุณมีความสุขหรือไม่




8 ขั้นตอนสู่การให้อภัย

[ขั้นตอนที่ 1] เขียนรายชื่อ “คนที่ให้อภัยไม่ได้”ลงในกระดาษ เลือกคนที่คุณคิดว่าเหมาะจะลองใช้ “ 8 ขั้นตอนสู่การให้อภัย” ดู

[ขั้นตอนที่2] ระบายความรู้สึกของตัวเองเขียนระบายความรู้สึกที่มีต่อคนคนนั้นควรเขียนความรู้สึกในใจแทนที่จะเขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถ้ารู้สึกโกรธจะเขียนคำว่า
“ คนบ้า” “ทุเรศ” หรือคำอื่นก็ได้และถ้ารู้สึกเป็นทุกข์เศร้าเสียใจก็ขอให้เขียนลงไปด้วยเขียนระบายความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา เมื่อเขียนอย่างหมดไส้หมดพุงแล้ว ขอให้ฉีกกระดาษเป็นชิ้นๆแล้วทิ้งลงถังขยะไป

[ขั้นตอนที่3] จินตนาการสาเหตุของการกระทำ

1.เขียนการกระทำของคนคนนั้นที่ทำให้คุณ “ให้อภัยไม่ได้”
2.ลองจินตนาการสาเหตุที่ทำให้เขาต้องทำเช่นนั้น แรงจูงใจที่ทำให้คนทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยจำแนกออกเป็นสองสาเหตุใหญ่ๆคือ อยากมีความสุข และ อยากเลี่ยงความทุกข์ ลองจินตนาการว่าเขาอยากได้ความสุขแบบใดหรืออยากเลี่ยงความทุกข์แบบไหนถึงได้ทำเช่นนั้น
3.ขอให้เข้าใจว่าสิ่งนั้นคือการกระทำที่เกิดขึ้นจากความด้อยประสบการณ์ ความไม่รู้หรือความอ่อนแอ เราทุกคนมักทำผิดพลาดอยู่บ่อยๆ เช่น ทำบางอย่างเพื่อให้มีความสุข แต่กลับกลายเป็นความทุกข์ การกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงความทุกข์กลับกลายเป็นเพิ่มความทุกข์ เข้าไปอีก
4.ขอให้พิจารณาการกระทำของคนคนนั้นพูดออกมาว่า “ คุณก็คงอยากมีความสุขคุณก็คงอยากหนีให้พ้นจากความทุกข์เหมือนกันกับฉัน”

[ขั้นตอนที่4]เขียนสิ่งที่ควรขอบคุณ เขียนสิ่งที่ควรขอบคุณคนคนนั้นออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆก็ขอให้เขียนลงไป แม้ต้องใช้เวลาสักหน่อย เขียนให้มากเข้าไว้

[ขั้นตอนที่5]ขอพลังจากการพูด
1 .ปฏิญาณว่า “ฉันจะให้อภัยคุณเพื่อความเป็นอิสระความสบายใจ และความสุขของตัวเอง”
2.กล่าวคำขอบคุณซ้ำๆว่า“คุณ (ชื่อ) ขอบคุณครับ/ค่ะ” ไม่จำเป็นต้องรู้สึกจากใจจริง แม้ในจิตใจจะยังรู้สึกไม่ให้อภัย แต่ก็ขอให้เริ่มจากคำพูด ( การกระทำภายนอก) ก่อน ใช้เวลาในขั้นตอนนี้ 10 นาทีเป็นอย่างน้อย เราจพูดได้ประมาณ 400-500 ครั้ง และหากเป็นไปได้ ขอให้พูดต่อเนื่องนาน 30 นาที เพื่อจะได้รู้สึกอยากพูดขอบคุรคนคนนั้นจากความรู้สึกที่แท้จริงแล้วจึงค่อยพูดกับเจ้าตัว

[ขั้นตอนที่6]เขียนสิ่งที่อยากขอโทษ เขียนสิ่งที่อยากขอโทษคนคนนั้นให้มากที่สุด


[ขั้นตอนที่7] เขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการรู้จักคนคนนั้น คุณอาจได้เรียนรู้หรือรับรู้สิ่งใหม่ๆจากการคิดเรื่องที่ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรกับเขา ควรทำตัวอย่างไรจึงจะทำให้ทั้งคุณและเขามีความสุข

[ขั้นตอนที่8]ประกาศว่าฉันให้อภัยแล้ว

หากทำครบทั้ง 8 ขั้นตอนแล้ว แต่ยังรู้สึก “ให้อภัยไม่ได้” ก็ไม่เป็นไรให้ทำตามขั้นตอนที่ 2 ถึง ขั้นตอนที่ 5 เป็นประจำ พร้อมนึกถึงหน้าของคนคนนั้น แล้วพูดซ้ำไปซ้ำมาว่า (ชื่อคนๆนั้น) ขอบคุณครับ/ค่ะ ทำอย่างน้อยวันละ 5 นาที แล้ววันหนึ่งความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น


 
http://www.oknation.net/blog/concentration/2008/10/16/entry-1
4689  สุขใจในธรรม / จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม / ห้องสมุด เครือข่ายจิตอาสา เชิญโหลดไปอ่านได้ เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 09:13:31
 

หัวเราะลั่น

http://www.volunteerspirit.org/library
4690  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตตปัญญาศึกษา : กระบวนการคิดให้แยบคาย ๑๐ แบบ เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 09:06:55
โดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหิดล 2549

http://gotoknow.org/blog/reading-transfer/45669
 
กระบวนการคิดแบบโยนิโสมนสิการ เป็นการพิจารณาอย่างแยบคายเพื่อเลือกปฏิบัติทางการคิดให้ถูกต้องกับลักษณะ ของโจทย์ที่ต้องการเข้าถึงความจริง ผมศึกษาเอาจากหนังสือของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ แล้วใช้เป็นฐานพัฒนาวิธีคิด เพื่อเป็นเครื่องมือทำงานต่างๆ เช่น การพัฒนาประเด็นคำถามแบบมีโครงสร้าง การพัฒนาประเด็นการสนทนาแบบตารางไขว้ (Matrix Thinking System) เหมือนกับเรามีแบบสอบถามที่ไม่ตายตัวอยู่ในหัว 
 
การสร้างความรู้โดยเฉพาะความรู้และปัญญาที่บูรณาการอยู่กับการปฏิบัติ หากขาดองค์ประกอบที่เป็นกระบวนการภายในของเรา ก็จะทำให้เป็นความรู้ที่แยกส่วนออกจากการปฏิบัติ และแยกส่วนออกจากความเป็นมนุษย์ ดังนั้น  การสร้างความรู้ที่ลุ่มลึก จึงควรประกอบด้วย หัวใจ + สติ + สมอง + และความเป็นจริงภายนอก ซึ่งการทำความคิดให้แยบคาย หรือกระบวนการโยนิโสมนสิการ เป็นกระบวนการทางความคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราสามารถพิจารณาให้พอเพียงแก่เหตุปัจจัย 10  แบบ

1.คิดแบบสืบสาวปัจจัย เราสามารถเข้าใจความจริงได้ดีขึ้นโดยศึกษาตัวแทนความเป็นจริงที่ปรากฏ (Proxy variable หรือ Reality Representation) แล้วสืบสาวไปประมาณสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเนื้อ ทว่าต้องเห็นด้วยตัวปัญญา ด้านหนึ่งคือ ลักษณะแบบ ปฏิโลม หรือการดูผลที่ปรากฏเพื่อเข้าใจสาเหตุ เป็นการศึกษาแบบถดถอยเข้าหาตัวแปรต้น (Regression) การเข้าใจสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เช่น การศึกษาเชิงพัฒนาการ  ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ เป็นต้น  อีกลักษณะหนึ่งคือการคิดแบบ อนุโลม ดูความเป็นปัจจุบันในฐานะที่เป็นพลวัตรปัจจัย เพื่อคาดประมาณว่าจะเกิดผลอย่างไรตามมา เป็นการคิดศึกษาแบบคาดอนาคต (Prediction) โดยดูจากสิ่งที่ปรากฏ ณ ปัจจุบันขณะ
 

2. คิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ เป็นกระบวนการคิดแบบลดทอน เพื่อเข้าใจความเป็นจริงพื้นฐานของปรากฏการณ์หรือสิ่งที่ใหญ่โต หรือสิ่งที่แลดูแบบผิวเผินแล้ว ไม่สามารถแสดงความเป็นจริงได้อย่างครอบคลุมองค์ประกอบทั้งหมดของสิ่งนั้น มีลักษณะการสร้างความจริงแบบวิเคราะห์ (Analytical Thinking) แตกความเป็นจริงของสิ่งนั้นออกไปจนสุดเขตที่จะทอนต่อไปได้อีก ใช้เกณฑ์ที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือทอนออกไป (Discrimination) แล้วจึงหาข้อสรุป
 

3. คิดแบบสามัญลักษณะ  เป็น การคิดเพื่อเข้าถึงลักษณะร่วม หรือความเป็นธรรมดา ความเป็นคุณลักษณะทั่วไป (Normative and Commons) ที่อยู่ภายใต้สิ่งที่ดูเหมือนว่าแตกต่าง  หลากหลาย  โกลาหล มีลักษณะเป็นการสังเคราะห์ (Synthesis thinking) เป็นการคิดเพื่อสร้างปัญญาและความรู้อธิบายความเหมือนกันของสิ่งที่แตกต่าง ในระดับปรากฏการณ์  ใช้เกณฑ์ที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงลักษณะร่วม (Assimilation) แล้วจึงหาข้อสรุป กระบวนการคิดแบบนี้เหมาะสำหรับการหาแบบแผนภายใต้ภาวะความไร้ระเบียบ  เช่น เห็นความประสานสอดคล้องของเพลงแจ๊ส เห็นความเป็นระบบภายใต้ความวุ่นวาย โกลาหล เป็นต้น
 

4. คิดแบบอริยสัจ เป็นการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผลที่สืบเนื่องเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ ตอนผมเรียนปริญญาโทเทคโนโลยีการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ ดร.มงคล เอี่ยมสำอางค์ (ถึงแก่กรรมแล้ว) อาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ท่านสอนการวิจัยให้พวกผมใช้เทคนิคการคิดแบบนี้ เป็นตารางสี่เหลี่ยมอยู่ในหัว(Quadrant analysis) แล้วพัฒนาการตั้งคำถามและค้นคว้าคำตอบให้ตนเองบนหน้ากระดาษ ทำแล้วทำเล่า จนกลายเป็นเค้าโครงการวิจัย ซึ่งได้ผลเป็นอย่างมาก ผมใช้เทคนิคนี้มาจนกระทั่งบัดนี้ หลายท่านอาจเรียกระบบคิดนี้ว่า ธรรมวิจัย
 


5. คิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ ใครที่เก่งวิชาเรขาคณิต หรือนักใช้เหตุผล เช่นนักกฏหมาย หรือนักปรัชญา นักวางแผน นักบริหารแบบอิงวัตถุประสงค์ จะเข้าใจกระบวนการคิดแบบนี้ได้ดีกว่าเพื่อน เพราะเป็นการคิดแบบเชื่อมโยง อิงจุดหมายและหลักการ เพราะจุดหมายและเจตนาเป็นอย่างนี้ เหตุผลและความเป็นจริงทางการปฏิบัติควรเป็นอย่างไร เป็นต้น เครื่องมือการคิดที่เหมาะคือ ตารางที (T-square analysis) หรือตารางเปรียบเทียบ เป็นวิธีสร้างความรู้แบบสร้างเกณฑ์อ้างอิงขึ้นมาก่อน (คล้ายกับการต้องสร้าง Bench Mark หรือ Norm of Reference) แล้วจึงเปรียบต่างๆให้ได้ความจริงที่สัมพันธ์กันอีกด้าน (Comparative method)
 

6. การคิดแบบคุณโทษและทางออก เป็นการคิดเชิงตรวจสอบ (Examine thinking) เพื่อเข้าถึงความเป็นจริงของการปฏิบัติต่างๆให้รอบด้าน อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างทางออกร่วมกันให้ดีที่สุด  มีความเป็นเหตุเป็นผลที่ได้ช่วยกันดู  ช่วยกันตรวจตรา เหมาะสมกับการคิดเพื่อหาข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน การคิดที่นำผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาคิดร่วมกัน การคิดเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบที่เป็นสิ่งจูงใจและสิ่งขัดแย้งของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่มีจุดยืนหลากหลาย (Motivation analysis and Searching for Common Interests)
 

7. การคิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม เป็นกระบวนการคิดเพื่อพิจารณาอรรถประโยชน์หรือคิดเพื่อวิเคราะห์ประโยชน์ใช้สอย ให้เข้าถึงคุณค่าพื้นฐานหรือคุณค่าที่แท้ เข้าใจจำแนกแยกแยะประโยชน์เพื่อการใช้สอย และคุณค่าที่แท้ ทำให้ได้หลักเกณฑ์การปฏิบัติที่เหมาะสมที่พ้นไปจาก ปรากฏการณ์ผิวเผินและความฉาบฉวย
 

8. คิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม เป็นกระบวนการคิดหาพลังในการสร้างสิ่งที่เป็นกุศลให้แก่เงื่อนไขที่เผชิญอยู่ เป็นกระบวนการคิดเพื่อครองตนและครองธรรม อยู่โดยธรรม และเผชิญทุกอย่างโดยมั่นในคุณธรรม  มั่นในกุศลธรรม หนักแน่น เร้าใจเร้าสติปัญญาตนเองผ่านกระบวนการคิด เป็นกระบวนการคิดแบบนักอุดมคติ หรือคนที่ตั้งมั่นในคุณธรรมของปัจเจก
 

9. คิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบันขณะ เป็นกระบวนการคิดแบบไม่คิดแต่เป็นการรู้สึกตรง ซึ่งอธิบายให้เข้าใจตรงความเป็นจริงได้ยาก หากใครเคยฝึกฝนการทำกรรมฐาน หรือทำอาณาปาณสติ เมื่อเป็นหนึ่งอยู่กับลมหายใจได้ จะเข้าใจความคิดแต่ไม่คิดอย่างเป็นปัจจุบันขณะได้ เป็นการคิดที่ส่งการรู้สึกทั่วไปยังทุกสรรพสิ่ง เหมือนกับเราเป็นหนึ่งเดียวกับรถเวลาขับรถ จิตใจเป็นหนึ่งเดียวกับกระบี่ เป็รกระบวนการคิดแบบตื่นรู้ ตื่นตัว เหมาะกับการปฏิบัติด้วยสติและความตื่นตัวที่สุด เช่น การเล่นกีฬา การทำกิจกรรมที่ผิดพลาดไม่ได้แม้แต่น้อย เป็นต้น
 

10. การคิดแบบวิภัชชวาท เป็นกระบวนการคิดจำแนกแยกแยะที่เห็นจากวาทกรรม ท่านอธิบายว่าเป็นการคิดผ่านการพูด ซึ่งถ้าใครศึกษางานของมิเชล ฟูโกต์ หรือศึกษางานแนวนิรุกติศาสตร์ของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือศึกษากระบวนการทางวาทกรรม (Discourse analysis) ก็พอจะเข้าใจได้ง่าย เพราะการพูดการสื่อสาร เป็นสิ่งที่สร้างความเป็นมนุษย์ (เราจึงจัดว่าสามารถใช้ศึกษาเพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์...มนุษยศาสตร์ได้) ในงานจิตวิทยาการศึกษาสมัยใหม่เช่น ของกานเย (Gange) ก็มีแนวทางอธิบายกระบวนการคิดแบบนี้ไว้ด้วย โดยเขาโต้แย้งนักการศึกษาที่กล่าวว่าการสอนให้จำเป็นการสอนที่ผิดพลาดว่า คนเราถ้าไม่มีข่าวสารเก็บไว้ในหัวก็จะไม่สามารถคิดให้ทะลุ (Break Through) จนเกิดความเข้าใจสิ่งต่างๆได้  ดังนั้นต้องป้อนข้อมูลและพัฒนาการจำก่อน การคิดแบบนี้เหมาะสำหรับการทำการเรียนรู้ให้แตกฉานแล้วคิด  คิดแบบคนสดับตรับฟังรู้เรื่องต่างๆมาก  คิดแบบพหูสูต..ทำนองนั้น การคิดแบบสุดท้ายนี้ ขาดไม่ได้ที่จะต้องศึกษาอบรมตนแบบ สุ จิ ปุ ลิ
ในทางจัดการความรู้กระบวนการคิด จัดว่าเป็นการประมวลความรู้ภายใน (Internal Knowledge and Information Computation Process)
 
กระบวนการคิดให้แยบคาย หรือโยนิโสมนสิการ จึงเป็นการพัฒนาเชิงคุณภาพของการจัดการความรู้อย่างผสมผสานระหว่างความรู้ในตัวเรา (Tacit Knowlege) กับความรู้ภายนอกที่ใช้ร่วมกันของสังคม (Explicit Knowlege) ศึกษาเรียนรู้โดยพิสดารเอาจากหนังสือพุทธธรรมนะครับ ที่ย่อยมาแลกเปลี่ยนนี้ เป็นการเข้าใจของผมซึ่งยังเป็นนักเรียนอยู่ครับ
 
http://www.ce.mahidol.ac.th/content/index.php?option=com_content&view=article&id=110:2009-06-27-16-11-00&catid=39:2009-06-20-01-04-00&Itemid=46
4691  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตวิวัฒน์ : จิตวิทยาการศึกษา – วิวัฒน์สู่เอสคิวจิตวิญญาณ เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 08:53:50



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ


หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 ธันวาคม 2552

สำหรับความคิดส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดและเชื่อว่าสมองไม่ใช่จิต แต่จิตต้องพึ่งสมองในการบริหาร โดยจะบริหารจิตไร้สำนึกโดยรวมของจักรวาล ซึ่ง คาร์ล จุง เรียก (universe unconscious continuum) – ที่จวงจื๊อบอกว่าคือ เต๋าที่อยู่ทุกหนทุกแห่งและทะลุทะลวงทุกๆ สรรพสิ่งของจักรวาล - ให้เป็นจิตสำนึกของปัจเจกบุคล - นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเชื่อทั้ง เคน วิลเบอร์ ฌอง เก็บเซอร์ อับบราฮัม มาสลอฟ ฯลฯ รวมทั้งทุกศาสนาที่อุบัติขึ้นทางตะวันออก ที่บอกว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องมีวิวัฒนาการของจิตโดยธรรมชาติไป ตามลำดับของสเปกตรัม พระพุทธเจ้าบอกว่า มนุษย์ทุกๆ คนและสัตว์โลกทั้งหลายจะบรรลุธรรม (transcendence or spirituality) และเข้าถึงนิพพานกันทั้งนั้น

ผู้เขียนจึงสรุปตามนักฟิสิกส์ใหม่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกทุกคนเท่าที่รู้ว่า สมองจำเป็นสำหรับจิต จิตไม่ใช่สมอง ไม่ใช่ผลผลิตของการทำงานที่ซับซ้อนของสมองดังที่นักประสาทวิทยาศาสตร์เชื่อ ซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วมาก

บทความนี้ผู้เขียนได้มาจากหลายๆ ที่มา ซึ่งจะไม่อ้างอิงเพราะมากเหลือเกินจนอ้างไม่ไหม สรุปได้ว่าเอามาจากสามแหล่งมาใหญ่ๆ (นอกจากที่คิดเอาเอง) คือจากพุทธศาสนามหายานและวัชรยาน ปรัชญาและจิตวิทยาจาก จอห์น เซิร์ล วิลเลียม เจมส์ และคาร์ล จุง กับนักฟิสิกส์ใหม่ทั้งสองทฤษฎี โดยเฉพาะแควนตัมแมคคานิกส์ คือผู้เขียนเชื่อดังได้กล่าวมาแล้วว่า

หนึ่ง จิตไม่ใช่สมอง แต่สมองเป็นตัวแทนหรือตัวแสดงของจิต สอง จิตรู้หรือจิตสำนึก (conscious mind) ที่อยู่ในปัจเจก มาจากจิตไร้สำนึกร่วมของสากลของจักรวาล สาม สมองมีหน้าที่บริหารหรือเปลี่ยนจิตไร้สำนึกร่วมที่เข้ามาอยู่ในสมองของแต่ละคนให้เป็นจิตสำนึกด้วยกลไกทางแควนตัม (wave collapse) ข้อสามนี้จะยกเว้น “จิตหนึ่ง” ซึ่งเป็นแก่นแกนของจิตไร้สำนึกอันกระจ่างใส ซึ่งอยู่ภายในสุดของจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาล (ที่เราเรียกเช่นนั้นเฉพาะขามาของวิวัฒนาการของจักรวาล จากหนึ่งสู่ความหลากหลายเท่านั้น ส่วนวิวัฒนาการขากลับจากความหลากหลายกลับไปหาหนึ่งนั้น เราจะเรียกว่านิพพานซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับจิตหนึ่ง) – ตรงกับภาษาอังกฤษ uni + verse หวนกลับไปหาหนึ่ง

นักศาสนานักปรัชญาส่วนใหญ่เชื่อว่า จิตสำนึกต้องหาแก่นแกนของจิตไร้สำนึกให้พบ หรือรวมกับแก่นแกนของจิตด้วยวิวัฒนาการขากลับ ตามวิวัฒนาการธรรมชาติของจิต ผ่านจิตวิญญาณ อันเป็นจิตเหนือสำนึก (superconsciousness) ไปเรื่อยๆ จนถึงนิพพาน ฉะนั้นสิ่งที่ชมรมจิตวิวัฒน์บอกว่า ชมรมมีขึ้นเพื่อสร้าง “จิตสำนึกใหม่” ให้แก่คนไทยและสังคมไทยนั้น ผู้เขียนคิดว่า “จิตสำนึกไม่” ในที่นี้คือจิตเหนือสำนึก (superconscious mind) หรือการเร่งให้เกิดวิวัฒนาการสู่จิตวิญญาณ

บทความวันนี้มีความประสงค์จะชี้บ่งถึงการปลูกฝังหรือเร่งเร้าให้มนุษย์เกิดมีวิวัฒนาการของจิตเหนือสำนึกเร็วขึ้นและมากขึ้น เพราะภัยธรรมชาตินานัปการซึ่งเราสร้างขึ้นมาด้วยมือของเราเองจากความไม่รู้และความอวดดี กำลังมา (อวิชชา และ anthropocentric) นั่นคือ เอสคิว (SQ) ซึ่งคนทั่วไปเรียกกัน (social quotient) ซึ่งสัมพันธ์กับเวลาและสถานที่ของสังคมในขณะนั้นๆ แต่ไม่สัมพันธ์กับวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ฉะนั้น ในที่นี้ เอสคิวจะหมายถึงจิตวิญญาณ (spiritual quotient) ซึ่งนักจิตวิทยาเด็กมักจะพูดรวมๆ กันไปกับสติปัญญาความฉลาดที่วัดได้ (IQ) ที่ ฟรานซิส แกลตัน นักจิตวิทยาอังกฤษคิดขึ้น และแพร่มาถึงบ้านเราเมื่อตอนที่ผู้เขียนยังเล็กๆ และบ้านเราก็รับทันที เพราะ ฟรานซิส แกลตัน เชื่อนักเชื่อหนาว่าสืบทอดในตระกูลได้โดยกรรมพันธุ์ อย่างน้อยก็เป็นลักษณะจำเพาะเป็นพิเศษประจำครอบครัว ที่ผู้เขียนบอกว่า บ้านเรารับในทันทีตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ – ทั้งๆ ที่มีข้อมูลใหม่ๆ ที่บอกว่า การวัดสติปัญญาความฉลาด หรือไอคิวนั้น เชื่อถือไม่ได้ เพราะว่าความเชื่อดังกล่าวเกิดไปตรงกับภูมิปัญญาชาวบ้านของเราที่บอกว่า “เสือย่อมไม่ทิ้งลาย” หรือ “เชื้อย่อมไม่ทิ้งแถว” อะไรพวกนี้ นั่นคือ ถ้าพ่อเป็นโจรก็ให้ระวังลูกที่อาจเป็นโจรตามพ่อก็เป็นได้ จริงๆ แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าภูมิปัญญาชาวบ้านน่าจะถูก ถ้าไม่เป็นพันธุกรรมก็เป็นลักษณะจำเพราะที่ว่า

ส่วนอารมณ์ความรู้สึก ผู้เขียนคิดเอาเองว่า ความรู้สึกแยกออกจากอารมณ์ (EQ) ไม่ได้ ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ จึงแยกจากเวทนาไม่ได้ เพราะอารมณ์นั้นเป็นผลพวงของความรู้สึกทางกายภาพเป็นไปในทันทีทันใด คือห้ามไม่ให้มันเกิดไม่ได้ แต่ระงับได้ โดยจิตที่อยู่เหนือสำนึกที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติบางส่วนที่ซ่อนตัวอยู่ลึกล้ำที่ภายใน ซึ่งจะโผล่ปรากฏออกมาเมื่อชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตรายหรือกำลังจะตายทันทีถ้าหากช่วยไม่ทัน จิตเหนือสำนึก (spirituality หรือในที่นี้คือ SQ) คือจิตพ้นผ่านหรือก้าวล่วง – จิตสำนึกที่เรียกว่าจิตวิญญาณหรือธรรมจิตนี้ คือจิตบริสุทธิ์ที่งามพร้อม เป็นเป้าหมายสูงสุดของในทุกๆ ศาสนา ในศาสนาพุทธคือเส้นทางไปสู่นิพพาน ส่วนในศาสนาที่มีพระเจ้าคือการที่จิตอันบริสุทธิ์แต่ละดวงจะได้รวมกับจิตของพระเจ้าเป็นหนึ่งเดียว

สามความฉลาดที่ว่า ทั้งไอคิว อีคิว และเอสคิว นั้น มีส่วนที่มนุษย์สามารถสร้างบางส่วน หรือเร่งเร้าให้เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งนักจิตวิทยาที่ศรัทธาในพระเจ้าผู้สร้างโลกสร้างจักรวาลรวมทั้งสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงโดยเฉพาะมนุษย์ - เชื่อ มนุษยชาติได้ผ่านหรือพบกับไอคิวและอีคิวมาแล้ว แต่เรายังขาดเอสคิว - จิตวิญญาณที่โดยปกติแทบไม่มีเลย ที่มีอยู่บ้างก็ถูกซ่อนตัวเอาไว้อย่างล้ำลึก นั่นคือเนื้อหาสาระของบทความวันนี้

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายถึงการสร้างสรรค์ของมนุษย์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดที่วัดได้ (นักจิตวิทยาการศึกษาส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเชื่อ โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ ว่าวัดไม่ได้) เราจะต้องรู้ความหมายของทั้งสามความฉลาดเสียก่อน (ไอคิว อีคิว และเอสคิว) จึงจะขออธิบายนิยามของสติปัญญาความฉลาด (intelligence) รู้และเข้าใจอารมณ์ที่แยกออกจากความรู้สึกยากมาก (emotion) และจิตวิญญาณ (spirituality) พอสังเขปตามที่ผู้เขียนเข้าใจ

ในความเห็นของผู้เขียน ไอคิว อีคิว และเอสคิวนั้น เราเอาเรียงกันอย่างผิดๆ ซึ่งหากเราเรียกตามการเจริญเติบโตวิวัฒนาการ ไม่ใช่สนใจหรือว่าพบอันไหนและวัดอันไหนก่อน ความฉลาดทางอารมณ์ต้องมาก่อนเพื่อนนานนักหนา เพราะเป็นเรื่องของการ “รู้รอด” ซึ่งสัมพันธ์กับสัญชาตญาณ จริงอยู่ ทั้งสามเป็นวิวัฒนาการของจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาลที่เข้ามาอยู่ในปัจเจกบุคคลเพื่อ “การรู้” (cognition) แต่อีคิวเป็นวิวัฒนาการที่หยาบซึ่งมาก่อนในสัตว์ที่ระบบลิมบิกวิวัฒนาการแล้วเท่านั้น เราต้องรู้ว่าจักรวาลมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ วิวัฒนาการ และวิวัฒนาการนั้นจะต้องดำเนินไปสู่ “การรู้” ที่สูงขึ้นกว่า ซับซ้อนยิ่งขึ้นกว่า และลึกล้ำมากขึ้นกว่าตลอดเวลา ทั้งในทางกายภาพและทางจิตภาพ แต่กายภาพจะมีวิวัฒนาการก่อน และจิตภาพมาทีหลัง โดยมีวิวัฒนาการช้ากว่ากระทั่งในคนส่วนใหญ่มากๆ หรือแทบทุกคน ซึ่งพุทธศาสนาบอกว่าจะต้องมีการสะสมบารมีข้ามภพข้ามชาติมาตลอดเวลา นั่นเป็นวิวัฒนาการสุดท้ายของจักรวาลเมื่อมนุษย์ทุกคนสามารถจะ “รู้แจ้ง”

เคน วิลเบอร์ จะบอกว่า วิวัฒนาการทางจิตใจมนุษย์ ผ่านสเปกตรัมต่างๆ ที่เรียกว่า “เส้นทาง” (line) – จะเป็นการต่อยอดของเส้นที่เดิมมีเพียงเส้นทางเดียวก็ได้ หรือเป็นวิวัฒนาการที่เริ่มต้นจะมีหลายๆ เส้นทางก็ได้ ฉะนั้น เส้นทางจึงไม่มีความสำคัญเมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ของจิตรู้ที่สัมพันธ์กับรูปร่างทางกายภาพ

แต่ผู้เขียนเชื่อว่า หากพิจารณาจากลักษณะของความเป็นองค์รวมของวิวัฒนาการ องค์กรใหม่จะเป็นวิวัฒนาการขององค์เก่า บวกกับส่วนที่ได้มาใหม่เสมอ (transcend and include) ซึ่ง เคน วิลเบอร์ ได้พูดมาเองและผู้เขียนเชื่อเช่นนั้น กระบวนการวิวัฒนาการก็น่าจะเป็นเช่นนั้น มนุษย์หรือสัตว์โลกทั้งหลาย จะต้องเรียนรู้หรือวิวัฒนาการมาตามลำดับ “รู้รอด” ต้องผ่านสัญชาตญาณก่อน และ “รู้เพื่อรู้” ต้องตามหลังรู้รอด ฉะนั้นสติปัญญาความฉลาด (intelligence) จึงต้องตามหลังการต่อสู้และหนีภัย และความฉลาดเหนือสติปัญญา (wisdom) ต้องผ่านความฉลาดธรรมดาๆ ก่อน เอสคิว หรือการรู้ของจิตวิญญาณ (spirituality) - อันจะนำไปสู่ความรู้แจ้งแทงตลอดและวิมุตติ – จึงเหนือกว่าสติปัญญาความฉลาดธรรมดามากนัก

สรุปได้ว่า ทั้งศาสนาและปรัชญากับทั้งวิทยาศาสตร์ – ที่ต่างพยายามอธิบายความจริงแท้ของธรรมชาติ แต่อธิบายบนหลักการและวิธีการคนละอย่างแตกต่างกัน บอกเหมือนๆ กันว่า ความแท้จริงมีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งศาสนปรัชญาบอกว่ามีจิตเป็นปฐม ส่วนวิทยาศาสตร์บอกว่าเป็นรูปกายวัตถุที่ตั้งอยู่ข้างนอก แล้วถึงอธิบายจักรวาลซึ่งเป็นตัวเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างไปตามนั้น และทั้งสองบอกว่าจักรวาลมีเป้าหมายอย่างเดียวจริงๆ คือวิวัฒนาการ

วิวัฒนาการไปทำไมหรือ?

ทั้งศาสนากับวิทยาศาสตร์บอกว่าวิวัฒนาการเพื่อให้ชีวิตกับมนุษย์ดำรงอยู่ได้ นั่นคือที่มาของความรู้ เห็นกับไม่เห็น ไม่เห็นนั้นพิสูจน์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์หรือรูปกายวัตถุไม่ได้ เพราะจิตไม่ใช่กาย วิทยาศาสตร์จึงปลดความรู้ออกจากศาสนา เหลือไว้แต่ความเชื่อความศรัทธา ซึ่งวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่ใช่ความจริง ส่วนศาสนาก็เถียงว่าวิทยาศาสตร์ไม่ยุติธรรม เพราะใช้แต่วิธีการทางรูปกายวัตถุอย่างเดียวในการพิสูจน์ แต่ไม่ใช้วิธีการทางจิตเลย เช่นการทำสมาธิที่มีในทุกๆ ศาสนา จากนั้นเมื่อเถียงกันไม่รู้จักจบเป็นต้นมา ทั้งสองก็แยกกันโดยเดินกันคนละทาง กระทั่งมีฟิสิกส์ใหม่ที่คล้ายๆ กับศาสนาโดยเฉพาะศาสนาที่อุบัติขึ้นทางตะวันออก ฟิสิกส์ใหม่ซึ่งให้ความจริงแท้ของธรรมชาติ (ทั้งสองระดับคือทั้งกายและจิต) ยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์กายวัตถุเป็นไหนๆ

เอสคิวที่ผู้เขียนหมายถึงในที่นี้ คือการวัดความฉลาดทางวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ และความฉลาดนั้นก็ไม่ใช่สติปัญญา (intelligence) หากแต่เป็นปรีชาญาณ ญาณการหยั่งรู้ และภาวนามยปัญญา (intuition or wisdom) ซึ่งเป็นไปเพื่อวิวัฒนาการของเหตุผลที่ไม่มีเหตุผล คือเป็นอารมณ์ด้านบวก อารมณ์ทุกๆ อารมณ์จะไม่มีเหตุผลทั้งนั้น จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ อารมณ์กับเหตุผลเชื่อกันว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้ ถ้ามีเหตุผลก็ต้องไม่มีอารมณ์ หรือถ้าหากกำลังมีอารมณ์อยู่ก็อย่าหวังว่าจะใช้เหตุผลช่วยได้ เพราะเราอยู่ในยุคที่มีเหตุผลเป็นใหญ่ - ที่ผิดความจริงทางแควนตัมอย่างชัดๆ – ดังนั้นเรื่องของอารมณ์โดยเฉพาะด้านลบจึงเป็นของต้องห้าม เป็นเรื่องที่ผิด แต่ผลของการวิจัยใหม่ๆ ชี้บ่งอย่างเป็นตรงกันข้าม ทั้งสองกลับเสริมเติมซึ่งกันและกันเพื่อวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ เช่น รัก เมตตา และให้อภัยด้วยใจจริง อารมณ์ช่วยให้เหตุผลเกิด และเหตุผลจะช่วยกำจัดอารมณ์ในคราวต่อๆ ไปให้มีน้อยลงๆ และค่อยๆ หมดไป (Antonio Damasio: Descartes’ Error, 1999) โลกในอนาคตอันใกล้นี้ การอยู่รอดของมนุษยชาติจะไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผลและสติปัญญาความฉลาดอีกต่อไปแล้ว แต่จะขึ้นกับภาวนามยปัญญาซึ่งมีเป็นปกติธรรมชาติต่อเมื่อมนุษยชาติมีวิวัฒนาการทางจิตไปสู่ระดับจิตวิญญาณเส้นทางไปสู่นิพพานแล้ว
 
 
http://jitwiwat.blogspot.com/2009/12/blog-post_11.html
4692  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตวิวัฒน์ : สัตว์ร้าย ๓ ตัว และบ่วงอมีกดาลา เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 08:51:44




โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี



หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 มกราคม 2553

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่พุทธศักราช ๒๕๕๓ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่านประสบความสุขความเจริญโดยทั่วกัน ความทุกข์โศกโชคไม่ดีใดๆ ขอให้ผ่านเลยไปพร้อมกับปีเก่า ขอให้รุ่งอรุณแห่งปีใหม่นำความสดใสเรืองรองมาสู่ชีวิตของท่าน ขอให้จิตวิวัฒน์อย่างก้าวกระโดดในปี ๒๕๕๓ เพราะจิตวิวัฒน์เป็นปัจจัยของความสุขที่แน่นอนที่สุด และจิตมนุษย์ยังวิวัฒน์ได้อีกมาก ในขณะที่กายจะไม่วิวัฒน์ต่อไปอีกแล้ว

วิวัฒน์จากจิตเล็กเป็นจิตใหญ่

จิตเล็กนั้นคับแคบ บีบคั้น และนำมาซึ่งความทุกข์ จิตใหญ่นั้นกว้างขวาง เป็นอิสระ จึงนำมาซึ่งความสุข ในมนุษย์ปุถุชนทุกคนมีสัตว์ร้ายอยู่ ๓ ตัวที่คอยก่อความทุกข์ให้ตัวเองและผู้อื่น สัตว์ร้ายทั้ง ๓ นี้คอยบงการความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเราโดยเราไม่รู้ตัว เมื่อเราไม่รู้ตัวมันก็ทำร้ายเราเรื่อยไป ทำให้เราอึดอัดขัดแย้ง อยู่ไม่เป็นสุข ก่อทุกข์ให้ผู้อื่น ในคนบางคน สัตว์ร้ายทั้ง ๓ ตัวมันโตมาก เป็น Mega beasts มันก็มีฤทธิ์ทำลายมาก จนโกลาหลไปทั้งแผ่นดินก็ได้ ถ้าเรารู้ตัว เห็นมัน เจ้าสัตว์ร้ายทั้ง ๓ ก็จะอ่อนฤทธิ์หรือสงบลง เมื่อมันแรง มันจะบีบให้จิตเล็ก แต่เมื่อมันสงบ จิตจะใหญ่และเกิดความสุขอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สารสุขจำพวกเอ็นดอร์ฟินส์จะหลั่งออกมามาก ทำให้ความสุขซึมซ่านไปทั้งเนื้อทั้งตัว

สัตว์ร้าย ๓ ตัว มีชื่อว่า ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

ตัณหา คือ ความอยากเอาอยากเป็น

มานะ คือ ความต้องการใช้อำนาจเหนือผู้อื่น

ทิฏฐิ คือ การเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่

ลูกพี่ของสัตว์ร้ายทั้ง ๓ คือ “อัตตา” หรือตัวตน คือการเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง หรือความเห็นแก่ตัว อัตตานี้เป็นธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดก็จริง แต่อีกด้านหนึ่ง มันรบกวนบีบคั้นจิตใจจนถึงขั้นเป็นพยาธิสภาพ มันเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ทางลบต่างๆ เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว ความโกรธ ความเกลียด หรือ ก ยกกำลัง ๔ คือ กลัว โกรธ เกลียด กังวล

อารมณ์ทางลบ ๔ ก (ที่จริงมีมากกว่านี้) บ่อนทำลายความสุข และทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ก่อทุกข์ หรือทุกขสัมพันธ์ กับคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน ในที่ทำงาน ในสังคม ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง ตลอดจนสงคราม

เมื่อมีอารมณ์ทางลบ จะตกบ่วงอมีกดาลา (Amygdala)

อมีกดาลาเป็นส่วนของสมองที่เป็นศูนย์อารมณ์ ตั้งอยู่ตรงกลางสมอง เดี๋ยวนี้เขามีเครื่องที่สามารถถ่ายภาพการทำงานของสมอง (Brain imaging) ที่ทำให้เห็นว่าเมื่อรู้สึกนึกคิดอย่างไร สมองส่วนไหนที่มันแดงวาบขึ้น เช่น เวลาโลภ ตรงที่เรียกว่านิวเคลียส แอคคัมเบนส์ มันแดงวาบขึ้น รวมทั้งรู้ว่าคนที่ศีลธรรมเสื่อม สมองตรงที่เรียกว่าพรีฟรอนตัล ซึ่งอยู่หลังหน้าผากมันเสียไป ฯลฯ

มีพระกรรมฐานกล่าวว่า เวลามีอารมณ์รู้สึกมันร้อนตรงกลางสมอง ก็คงจะตรงกับอมีกดาลาที่มันแดงวาบขึ้น ที่ว่าตกบ่วงอมีกดาลานั้น คือเวลามีอารมณ์มันจะไปรับความรู้สึกที่ไม่จริงเข้ามาแบบที่ว่าเห็นดีเป็นร้าย เช่น ผัวหรือเมียที่กำลังโกรธจัด อีกข้างพยายามพูดอะไรดีๆ หรือความจริง แต่คนที่กำลังโกรธจะเข้าใจผิดไป คือเข้าใจผิดความจริง จะไปกระตุ้นอารมณ์ทางลบให้ดับไม่ได้ อีกข้างก็จะไม่เข้าใจว่า เอ๊ะ เราพูดดีๆ ทำไมกลายเป็นร้ายไป ก็อาจจะโกรธขึ้นมาอีกคน โกรธต่อโกรธก็จะปะทะกันบานปลายออกไป ถึงทุบตี ฆ่าแกง หย่าร้าง นี่แหละเป็นตัวอย่างของความทุกข์ความบีบคั้นในตัวเองและทุกขสัมพันธ์

อมีกดาลามันมีคู่หูชื่อ ฮิปโปแคมพัส (Hippocampus) เสียงมันคล้ายฮิปโปโปเตมัส เจ้าฮิปโปนี้เป็นศูนย์ความจำ มันอยู่ชิดกันเลยกับอมีกดาลาซึ่งเป็นศูนย์อารมณ์ มันเป็นคู่หูเข้าคู่กันแล้วกัดเราดังต่อไปนี้ครับ

ธรรมชาติของความจำนั้นมันจะจำเรื่องร้ายได้มากกว่าเรื่องดี

เรื่องดีๆ ก็ผ่านไปง่าย แต่เรื่องไม่ดีมันจำค้างคาใจ อย่างสามีภรรยาอยู่ด้วยกันมามีเรื่องดีๆ ตั้ง ๙๙ ส่วน มีเรื่องร้ายอะไรสักเรื่องเดียว มันจะจำๆ ได้มากกว่า ๙๙ เมื่อเรื่องไม่ดีมันจำแม่น และค้างคาใจอยู่ มันก็คอยฟุ้งขึ้นมา ใส่เข้าไปสู่อมีกดาลา หรือศูนย์อารมณ์ซึ่งเป็นคู่หูอยู่ติดๆ กันนั่นแหละ ทำให้เกิดอารมณ์ลบอยู่เรื่อยๆ บีบคั้นตัวเองและทำให้ความสัมพันธ์แตกร้าว ฉะนั้นอย่าแปลกใจว่าทำไมเรื่องนิดเดียวผัวเมียหย่าร้างกันได้ ก็เพราะมันตกบ่วงอมีกดาลานี่แหละ ที่เจ้าฮิปโปมันเป็นคู่หูกับอมีกดาลา

มนุษย์ตกเป็นเหยื่อของกระแสฮิปโป-อมีกดาลา ทางลบนานัปการ นี่เป็นที่มาว่าทำไมสื่อมวลชนจึงสื่อเรื่องร้ายๆ มากกว่าเรื่องดี ทั้งๆ ที่เรื่องดีๆ มีมากกว่า เพราะเรื่องร้ายมันขายได้ เรื่องดีมันก็ธรรมดาๆ ไม่น่าสนใจ เพราะเราสนใจเรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี เราสนใจสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น สื่อมวลชนก็เลยสนองความต้องการที่จะเสพสิ่งร้าย เข้าทำนองว่า “เรื่องร้ายลงฟรี เรื่องดีต้องเสียเงิน” ข่าวสารที่ประชาชนเสพทุกวี่ทุกวันจึงเอียง เป็นข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี จนเสพติดข่าวร้าย ทีนี้ข่าวร้ายที่ได้รับเข้ามาทุกวี่ทุกวันก็ไปกระตุ้นเจ้าคู่หูฮิปโป-อมีกดาลา ทำให้คนทั้งปวงตกบ่วงอมีกดาลา เรียกว่าสังคมตกบ่วงอมีกดาลา คือสังคมมีอารมณ์ลบและรับรู้ผิดๆ ตลอดเวลา การรับรู้ผิดๆ ก็คือหลงไป คือโมหะ เมื่อเป็นเช่นนั้นคนทั้งปวงก็ตกอยู่ใน “โมหภูมิ” ตามที่มีพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่องพระมหาชนก เมื่อคนทั้งปวงตกอยู่ในโมหภูมิ ก็พากันสร้าง “เมืองอวิชชา” ขึ้น ในปี ๒๕๕๓ นี้ ควรจะหันกลับไปอ่านพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกกันให้มากๆ และลึก แล้วจะเข้าใจสาเหตุของความทุกข์ยาก เมื่อเข้าใจและจะได้แก้ไขได้

การแก้ไขอย่างหนึ่งคือ การทวนกระแสฮิปโป-อมีกดาลา หรือการสลัดตัวออกจากบ่วงอมีกดาลา

ดังที่บอกแล้วว่า เรื่องดีๆ มีมากกว่าเรื่องร้าย แต่เราเลือกที่จะสนใจและจำเรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี เลยตกบ่วงอมีกดาลากันทั้งสังคม เราจะต้องตั้งใจทวนกระแสทางลบนี้เพื่อออกจากบ่วงทุกข์และการมองเห็นผิดๆ นั่นคือหันมาสนใจและจดจำเรื่องดีๆ ทุกวันควรระลึกถึงเรื่องดีๆ ที่เกิดกับเราหรือที่เราทำ เปลี่ยนมุมมองที่เรามองสามีภรรยา พ่อแม่ลูก ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน โดยตั้งคำถามในใจว่า เขามีด้านดีอะไรบ้าง พอเปลี่ยนมุมมองมาเห็นด้านดีของเขาเหล่านั้น จะมีความสุขทันที เป็น Instant Happiness จริงๆ ทดลองดูด้วยตัวเองเถิดครับ เมื่อเปลี่ยนมุมมองจากลบเป็นบวก เกิดความสุขทันที ในสังคมโดยเฉพาะในชุมชนมีเรื่องดีๆ มากมาย ถ้าเราหันไปสนใจเรื่องความดี และเอาเรื่องดีๆ มาสื่อสารกันมากขึ้น ความสุข ความสร้างสรรค์ และพลังทางสังคมก็จะเพิ่มมากขึ้น เรามาตกลงกันดีไหมว่า ต่อไปสื่อมวลชนควรจะเอาเรื่องดีๆ มาเสนอกันไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ เพื่อว่าคนไทยและสังคมไทยจะได้หลุดจากบ่วงอมีกดาลา

ส่วนสัตว์ร้าย ๓ ตัวในตัวเรานั้นมันกลัวการรู้ตัว

คือ ถ้าเราไม่รู้กายรู้ในของเรา เราก็จะตกเป็นเหยื่อมัน สัตว์ทั้ง ๓ อาศัยความไม่รู้ตัวเป็นอาหาร ตัวมันก็จะโตขึ้น อาจโตคับบ้านคับเมืองโดยเจ้าตัวก็ไม่รู้ตัว แต่ถ้าเราหมั่นรู้กายรู้ใจของเราไว้เสมอ เจ้าสัตว์ร้ายทั้ง ๓ ก็จะหดตัวลง แล้วเราก็จะมีความสุขขึ้น เพราะฉะนั้นต้องฝึกไว้เสมอให้รู้ความรู้สึกนึกคิดของเรา ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร กำลังคิดอะไร เจ้าตัณหา มานะ ทิฏฐิ มันกำลังทำอะไรกับความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเราหรือไม่ เมื่อเราฝึกเห็นสัตว์ร้ายในตัวเราบ่อยขึ้นๆ มันก็จะเชื่องลงๆ หมดฤทธิ์ลงๆ พร้อมๆ กับเรามีความสงบสบายและความสุขมากขึ้น เพราะความเป็นอิสระจากสัตว์ร้ายเหล่านั้น

ที่ว่าฝึกให้รู้กายรู้ใจ หรือรู้ความรู้สึกนึกคิด ก็คือการเจริญสตินั่นเอง สติจะทำให้เราพ้นจากความบีบคั้นของกรรมทั้งปวง ประสบความดีงามและความสุข

ฉะนั้น ในโอกาสขึ้นปีใหม่นี้ จึงขออวยพรให้ท่านประสบความสุขความเจริญ โดยพ้นจากการตกบ่วงอมีกดาลา และพ้นจากความครอบงำของสัตว์ร้าย ๓ ตัว คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ ด้วยการสวนกระแสทางลบ และด้วยการเจริญสติรู้กายรู้ใจของตัวเอง
 
 
http://jitwiwat.blogspot.com/2010/01/blog-post.html
4693  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตวิวัฒน์ : เรียนรู้ด้วยใจอย่างไร้คอก เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 08:48:42


โดย วิจักขณ์ พานิช



หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 มกราคม 2553

กระบวนการเรียนรู้ใจตัวเองเป็นเรื่องแปลก แปลกที่ว่าหากเผลอเมื่อไร ใจเราก็มักจะสร้างคอกของ “ความรู้ (แล้ว)” ไว้เป็นหลักอ้างอิงให้กับตัวมันเองอยู่เสมอๆ ความรู้ที่ว่านี้อาจใช้การได้ดี และอาจขายได้อยู่พักใหญ่ แต่ไม่นานนักความรู้ก็จะกลายเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งยวดต่อกระบวนการเรียนรู้ของใจ

ธรรมชาติของใจไม่มีคอก ไม่มีขอบเขตแม้กระทั่งเรื่องของความถูกผิด นั่นคือเหตุที่ว่าทำไมใจจึง (ง่าย) งาม ใจจึง (ปกติ) ดี และใจจึงกว้างขวางยิ่งนัก จนเราสามารถไว้วางธรรมชาติของใจได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ขอเน้นย้ำว่าเราไว้วาง “ใจ” ไม่ใช่เอาใจไปวางไว้ (ในคอก)

คอกที่ว่านี้มีด้วยกันหลายรูปแบบ ความร่ำรวยมีชื่อเสียง เกียรติยศ ปริญญา สถานะ ความเด่น ความดัง และความสำเร็จ ถือเป็นคอกลักษณะหนึ่งที่เราชอบเอาใจไปวางไว้ ของรักของชอบ ความสุข ความสมหวังในชีวิต และเพื่อนฝูง ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง และอีกแบบหนึ่งที่ลึกซึ้งขึ้นไป ก็คือเรื่องของความรู้ความเข้าใจ สติปัญญา และความดี (ความงามและความจริง) ที่ยิ่งใจเดินทางไปไกลมากเท่าไร คอกเจ้ากรรมก็ดูจะมีความเจ้าเล่ห์ยิ่งขึ้น ดูดียิ่งขึ้น เชื้อชวนและชวนเชื่อยิ่งขึ้น จนเราอดไม่ได้ที่จะพักใจไปวางไว้ในคอก แต่หากเรายังรู้ใจตน นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาที่มืดมนอะไร

ใจของแต่ละคนผ่านการเดินทางมาแสนยาวนาน พักบ้าง ตื่นบ้างไปตามเรื่องตามราว ทว่าความสุขสูงสุดทางจิตใจ คือการที่ใจได้เรียนรู้ที่จะปลดโซ่ตรวนที่ล่ามอิสรภาพของใจไปทีละน้อย ชั่วขณะของความสุขทางจิตวิญญาณ คือการที่เราได้เข้าไปสัมผัสสายลมแห่งอิสรภาพที่ผ่านพัด และการเดินทางก็ยังมีต่อไปด้วยความโหยหาของใจที่จะเข้าถึงอิสรภาพโดยสมบูรณ์ สู่ธรรมชาติเดิมแท้ของใจที่ไร้การปรุงแต่ง ดังนั้นแม้เราจะแอบเอาใจไปพักไว้ในคอกบ้างเป็นครั้งคราว แต่เมื่อใดที่เราได้กลับมารู้ใจตัวเองแล้ว เราก็ควร “ออกนอกคอก” เสีย แล้วเดินทางต่อ

การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ คือการบ่มเพาะความเชื่อมั่นของ “ใจนอกคอก” ดวงนี้ ด้วยความรู้จิตรู้ใจของตัวเอง เคราะห์ดีที่เราๆ เกิดมาเป็นคนที่มีร่างกาย เราจึงไม่ต้องมัวดูดาย นิ่งดูใจไปอย่างแอบๆ และแอ็บสแตรค การรู้จิตรู้ใจจึงฝึกฝนกันได้แบบคนเดินดินธรรมดา ด้วยการบ่มเพาะความรู้เนื้อรู้ตัว ที่ทำให้ใจนอกคอกดวงนี้ปกติตั้งมั่น จนรู้ทันตัวเองได้ในทุกย่างก้าว

และเมื่ออุตส่าห์ลงมาเดินดินกันแล้ว ไม่ว่าความเป็นคนมันจะดูห่วยขนาดไหน มันจะเจ็บขนาดไหน มันจะร้อนรุ่มขนาดไหน มันจะซาบซ่านขนาดไหน มันจะหลงไปไกลใครบ่นอะไรก็ไม่ได้ยิน สิ่งเร้าเข้ามากระทบ อารมณ์ผุด ความรู้สึกโผล่ หรือแม้แต่ความโหยหา ความปรารถนา ตัณหาราคะ ความโกรธ ความเกลียด อิจฉาริษยา อยากจะฆ่าใคร ก็ไหนๆ เหตุปัจจัยก็เอื้อให้สิ่งเหล่านี้ที่ยังคงเหลืออยู่ในใจ ได้ขึ้นมาให้เราเห็นกันจะๆ แล้ว เราจะมัวหนีไปไย แล้วเราจะไปเอาคอกที่ไหนมากดเก็บและกีดกันภาวะเหล่านี้เพื่อจะได้เอาใจไปเก็บใส่ไว้อีก

บางคนอาจจะกล้าๆ กลัวๆ แล้วแก้ตัวไปขุ่นๆ ว่า “ก็เข้าใจอ่ะนะ แต่เอาเป็นว่าฉันจะลองมองหาคอกดีๆ ก็แล้วกัน” คอกที่ดูดีจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเอาไว้ผูกใจที่กล้าๆ กลัวๆ เป็นภาวะของความกึ่งดิบกึ่งดีทางปัญญาที่ดูเผินๆ ออกจะน่าหลงใหลอยู่ไม่น้อย ทว่ายิ่งคอกดีมากเท่าไร ใจก็ดูจะยิ่งถูกปิดกั้นจากการรู้ใจตนมากเท่านั้น

การเรียนรู้ของใจจะเกิดขึ้นได้ ก็แต่ในคอกห่วยๆ เท่านั้น คอกที่มีขึ้นเพียงชั่วคราวบนรากฐานของความเข้าใจในความยิ่งใหญ่ของ “ใจนอกคอก” คอกที่คอยโอบอุ้มให้ใจที่กล้าๆ กลัวๆ ได้รู้จักความกล้าและความกลัวตามที่เป็น ไม่มีมาตรฐานผ่านเกณฑ์ ไม่มีกดดันบีบคั้น ไม่มีรางวัล พันธสัญญา หรือปริญญาบัตร (หรือหากจะมีก็มีไปขำๆ) เพราะจิตวิญญาณแห่งการแสวงหา คือการเข้าถึงใจตน ไม่ใช่ไปเอาใจใคร เป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจ ไม่ใช่การเรียนรู้เพื่อเอาใจ (หรือเอาแต่ใจ) คอกห่วยๆ จึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งห่วยเท่าไรก็ยิ่งดี เป็นคอกห่วยดีที่หลวม สด ดิบ ง่าย ไม่ซับซ้อน พร้อมที่จะถูกแหกออกเพื่อหลีกทางให้กับใจนอกคอกได้ออกไปโลดโผนยามที่ใจพร้อม หากคอกเกิดพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วยใจอะไรขึ้นมา ก็น่าจะอ่อนน้อมถ่อมตัวเป็น “ศูนย์นอกคอก” ที่รวมความหลากหลายของใจทั้งในคอกและนอกคอก ใจในคอกที่ยอมรับถึงข้อจำกัดของใจตน จนไม่ยกตัวตนไปข่มใคร และไม่พยายามเอาใครมาใส่คอก และใจนอกคอกที่เห็นใจเหตุปัจจัยภายในคอก สื่อสาร สัมพันธ์ บนรากฐานของความจริงใจ จนเส้นแบ่งระหว่างนอกและในหายไปจนศูนย์ไม่กลายเป็นคอก

แล้วการเรียนรู้ของใจก็จะเดินทางต่อไป บนหนทางแห่งความไม่รู้ (แล้ว) ที่ยิ่งก้าวไป ใจก็ยิ่งอ่อนน้อม พร้อมที่จะเผชิญกับทุกภาวะ ทุกผู้คน ทุกเหตุการณ์ ทุกปัญหา ทุกความสับสน ทุกสุข ทุกทุกข์ ที่ผ่านเข้ามาอย่างรู้ใจตน เกิดเป็นความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพื่อไทย เพื่อใคร หรือเพื่ออะไร ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีอะไรทั้งนั้น มีก็แต่เพียงเส้นทางของ “การเรียนรู้ด้วยใจ” อย่างที่ไม่มีคอกใดจะเอาอยู่
 
http://jitwiwat.blogspot.com/2010/01/blog-post_08.html
4694  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตวิวัฒน์ : อารยธรรมแห่งการอยู่ร่วม เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 08:46:42


โดย ณัฐฬส วังวิญญู



หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 มกราคม 2553

การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทางปัญญาที่มองเห็นความเชื่อมโยงและการพึ่งพิงอาศัยของข่ายใยชีวิต สำหรับคนในยุคปัจจุบันที่วิถีชีวิตมีความสะดวกสบายผ่านการใช้เงินตราและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็น เรื่องที่ท้าทาย ยิ่งการที่จะตระหนักว่าสังคมมนุษย์ยังคงพึ่งพาอาศัย “ธรรมชาติ” นั้น ดูจะห่างไกลจากสำนึก ประจำวันไปเสียทุกที เป็นแต่เพียงคำลอยๆ สวยๆ ที่นิยมใช้เพื่อชื่นชม “ธรรมชาติ” ราวกับเป็นเพียง เครื่องประดับจำเป็นที่จะต้องมีไว้เพื่อความครบถ้วนทางวาทกรรมเท่านั้น ยิ่งคำๆ นี้ดำรงอยู่เพียงในความคิด หรือคำพูด อย่างขาดการสัมผัสตรงเท่าไร “ธรรมชาติ” ก็เป็นแค่เพียงมายาคติที่ถูกโหยหาและกล่าวถึง แอบอ้างอย่างผิวเผิน

การตระหนักรู้ถึงธรรมชาติของชีวิตที่เชื่อมโยงพึ่งพิง จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้สัมผัสตรงกับธรรมชาติ ในช่วงเวลาที่ยาวนานพอ และในภาวะการรับรู้ที่ละเอียดอ่อนมากพอแล้ว คำว่า “ธรรมชาติคือครูที่ยิ่งใหญ่” จะมีความหมายสำหรับเรามากกว่าหลักปรัชญางามหรู เพราะเราสามารถสัมผัสได้ถึงความมีชีวิตชีวาที่มี ลักษณะเป็นองค์กรจัดการตัวเองของธรรมชาติ เราสามารถรับรู้และให้ความหมายพลังของธรรมชาติได้อย่าง หลากหลาย มีทั้งความธรรมดาเรียบง่ายและยิ่งใหญ่อลังการ มีทั้งความบรรสานกลมกลืนและความแตกต่าง อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตน

วิกฤติของสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่ ท้าทายความสามารถในการ “อยู่ร่วม” กันท่ามกลางความ แตกต่างหลากหลายทางความคิด คุณค่า และวิธีการอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมองไปทางไหน เราจะพบ ความแตกแยก ความไม่ลงรอย ความรุนแรงทั้งแบบเปิดเผยและแบบหลบซ่อน ทั้งในองค์กรธุรกิจ องค์กรทาง วิชาการ และองค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ ที่ผู้คนมีความตั้งใจหรือเจตนาที่ดีในการสร้างสรรค์สังคมให้มีสุข เกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่ก้าวหน้า มีการศึกษา และเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีที่ชาญฉลาด

ผู้เขียนคิดว่า อารยธรรมมนุษย์ที่เดินทางมาสุดขั้วความเจริญทางวัตถุ กำลังเรียนรู้ที่จะเดินทางต่อด้วย การหวนคืนสู่การใช้เทคโนโลยีทางจิต ที่อาจดูเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ไม่มีมูลค่าหรือราคาค่างวดใดๆ แต่กลับอาจ ส่งผลให้เราสามารถ “อยู่ร่วมกัน” กับตัวเองและผู้อื่นได้อย่างกลมกลืนและอ่อนโยนยิ่งขึ้น การสัมผัสรับรู้ถึง “ธรรมชาติของชีวิต” จะทำให้เราเห็นว่า ชีวิตไม่ได้อยู่ในอำนาจควบคุมของเรา ธรรมชาติไม่ได้ถูกสร้างโดยมนุษย์ ในทางตรงกันข้าม ธรรมชาติคือแหล่งกำเนิดหรือที่มาของชีวิตทั้งมวลรวมทั้งมนุษย์ นอกจากนี้ ธรรมชาติยังเป็น “บ้าน” เป็น “ฐานทรัพยากร” ให้กับอารยธรรมแห่งการบริโภคที่มีแต่จะเสื่อมโทรม และร่อยหรอลงทุกทีๆ แม้จะมีความพยายามในการ “จัดการ” ทรัพยากรเหล่านี้อย่างยั่งยืนเพียงใด ก็ดูจะเล็กน้อยไม่ทันอัตราการล้างผลาญที่กำลังเกิดขึ้น นี่อาจจะถึงจุดที่การจัดการที่สำคัญคือการจัดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับ “บ้าน” หลังนี้ของเรา

คุรุหรือผู้นำที่สามารถเป็นตัวอย่างแห่งการสำนึกรักและตระหนักรู้ในภาวะพึ่งพิงอาศัยของระบบชีวิตนี้ อาจไม่ได้อยู่ตามมหาวิทยาลัยหรือชุมชนวิชาการที่มีผลงานน่าเชื่อถือ แต่คือชุมชนที่ยังคงสืบทอดและดำรง วิถีชีวิตของเผ่าพันธุ์เรื่อยมาอย่างถ่อมตัว หนึ่งในนั้นคือชาวปกาเกอญอแห่งบ้านสบลาน ที่อยู่อาศัยกันเพียง ๒๐ ครัวเรือน แต่รับผิดชอบดูแลผืนป่านับหมื่นไร่ในเขตพื้นที่ของอำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำปิง และแม่น้ำเจ้าพระยา หลายปีก่อนหญิงชาวปกาเกอญอคนหนึ่งเคยกล่าว กับผมว่า “แม้ว่าเราจะเป็นคนตัวเล็กๆ และดูแลลำห้วยเล็กๆ ที่นี่ แต่เราก็รู้ว่าเรากำลังทำหน้าที่ดูแลแม่น้ำให้กับ คนพื้นราบ คนเชียงใหม่ คนกรุงเทพฯ ไปด้วย เราคือคนตัวเล็กๆ ที่ดูแลคนกรุงเทพฯ และเราภูมิใจที่ได้ทำ อย่างนั้น”

ในช่วงกลางเดือนธันวาคม ๒๕๕๒ ผมได้นำพากลุ่มผู้ฝึกกระบวนกรในโครงการจิตตปัญญาศึกษา ที่เสมสิกขาลัยร่วมกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางไปเรียนรู้กับชุมชนสบลาน ในหัวข้อ นิเวศภาวนา (Ecological Quest) เป็นเวลา ๗ วัน โดยผู้ร่วมเดินทางประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน และนักการละคร เป็นการเรียนรู้ผ่าน การสัมผัสตรงกับเรื่องราวของการอยู่ร่วมอย่างเป็นชุมชน มิติของความศักดิ์สิทธิ์และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อย่างอ่อนน้อม ทั้งสองมิตินี้เป็นลักษณะสำคัญของ “จิตวิญญาณชนเผ่า” ที่อาจจะดูไม่ฮิบหรือล้าหลังไปใน ยุคออนไลน์ แต่ผมกลับเห็นว่าเป็นทางออกทางหนึ่งของสังคม ด้วยความเป็นตัวอย่างของความรู้ที่ได้รับ การผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวิถีชีวิตจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรมที่หวานหูดูดีมีสำนึกทางนิเวศเท่านั้น

พวกเราใช้เวลาในการเรียนรู้ชีวิตที่ธรรมชาติและเรียบง่ายธรรมดาที่หมู่บ้าน แล้วจึงเดินทางไป ภาวนาในป่าเพื่อทำความเข้าใจกับชีวิตตัวเอง เป้าหมายชีวิต การคลี่คลายความสัมพันธ์กับผู้คนในอดีต หรืออาจค้นหาแรงบันดาลใจ ความกระจ่างชัดจากธรรมชาติ เพื่อนำกลับมาสู่การดำเนินชีวิตในเมือง อีกครั้งหนึ่ง การที่ได้มีเวลาอยู่กับธรรมชาติเพียงลำพัง ทำให้หลายคนได้เผชิญหน้ากับความกลัว ความโดดเดี่ยว อ้างว้าง ความหิว และความเบื่อหน่าย แต่เมื่อพวกเราผ่านความยากลำบากทั้งทางกาย และใจไปได้ ผลที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นความผูกพันกับชีวิตที่แน่นแฟ้นและกลมกลืนยิ่งขึ้น รอยละอองของฝุ่น และคราบไคลบนผิวหน้าก็ไม่ใช่เป็นสิ่งแปลกปลอมของชีวิตอีกต่อไป พร้อมกับใจที่กลมกลืนน้อมรับชีวิต แวดล้อมอย่างอ่อนโยนและยืดหยุ่น ราวกับได้กลับมารู้สึกอีกครั้งว่าธรรมชาติคือบ้านที่แท้จริงของเรา ดังที่บรรพบุรุษของเราอาจเคยตระหนักเช่นนั้น

ประสบการณ์นี้ช่วยย้ำเตือนให้พวกเราไม่หลงลืมธรรมชาติแห่งความเป็นปกติ และความเป็นเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยง อีกทั้งได้สัมผัสความอ่อนโยนและความกรุณาภายในตัวเอง ไม่เพียงแต่เท่านั้น ชาวปกาเกอญอเจ้าบ้าน ทั้งคนหนุ่มและผู้เฒ่าที่เป็นดังครูของพวกเรา ก็ยังได้ระลึกรู้ถึงความสำคัญและคุณค่าของพวกเขาเองที่มีต่อโลกและสังคมอีกด้วย ผู้เฒ่าคนหนึ่ง “พะตีแดง” เคยกล่าวกับผมเมื่อหลายปีก่อนว่า “อยากให้พวกเรามากันบ่อยๆ พวกเราที่อยู่ที่นี่ จะได้ไม่หลงลืมว่าเราคือใคร และมีความหมายอย่างไร” ตอนแรกๆ ผมไม่เข้าใจนักว่าการมาของพวกเรา จะช่วยไม่ให้ชาวบ้าน หลงลืมคุณค่าของตัวเองได้อย่างไร แต่มาตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่า การพึ่งพาอาศัยกัน และกันทางจิตใจนั้น ดำรงอยู่ในปฏิสัมพันธ์ บทสนทนาที่เป็นมิตร และการอยู่ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ช่วยทำให้เรารับรู้คุณค่าและความหมายของการดำรงอยู่ของตัวเองได้

ชายหนุ่มปกาเกอญอคนหนึ่งได้กล่าวถ้อยคำจากใจกับพวกเราก่อนกลับว่า “ผมดีใจที่มีคนส่วนหนึ่ง เข้าใจปกาเกอญอ ผมภูมิใจกับความเป็นปกาเกอญอ ถึงแม้จะไม่รวย ความรวยไม่ทําให้คนสบายเสมอไป อาจจะสู้น้ำใจ รอยยิ้มไม่ได้ สิ่งเหล่านี้มีค่ามากกว่าเงิน อย่างพะตี (พวกผู้เฒ่า) อาจรวยอีกแบบ รวยธรรมชาติ แต่ถ้าในเมืองอาจมองอีกแบบ คิดว่าคนดอยไม่รู้อะไร อยากฝากทุกท่านว่า ชาวบ้านมีวิถีชีวิต จิตวิญญาณแบบนี้ วันใดถ้าผมไม่ได้อยู่ที่นี้ ผมก็ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ ผมจบ (การศึกษากับ) มีด จบมุย (ฆ้อน) จบหน้าแข้ง จบจากบรรพบุรุษ ผมจะทําอย่างนี้ตลอดไป การศึกษาไม่ใช่ไม่จำเป็น จําเป็น ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีเข้ามา ซึ่งเทคโนโลยีอาจพัฒนาอะไรบางอย่งผิดอยู่ ผมยังจับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เป็นห่วง อาจกระทบทั้งบ้านเมือง ไปทั้งหมด อยากฝากว่า ชาวบ้นที่นี้จะรักษาผืนป่านี้ จะภูมิใจ แม้ว่าเขาจะว่าว่าเป็นคนดอย คนปกาเกอญอก็จะไม่น้อยใจ จะมีแรงบันดาลใจ ความรู้สึกดีๆ จะไม่ลืม จะจําไว้ตลอดชีวิต ถ้มีโอกาส ก็ชวนให้กลับมาอีก ทุกคนยินดีต้อนรับเสมอ”

http://jitwiwat.blogspot.com/2010/01/blog-post_15.html
4695  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตวิวัฒน์ : อวตารของเรา เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 08:43:33


โดย ชลนภา อนุกูล


หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 มกราคม 2553

“โลกที่เราจากมาไม่มีสีเขียวอีกแล้ว พวกเขาฆ่าแม่ตัวเอง และกำลังทำอย่างนั้นกับที่นี่” - นี้อาจจะเป็นสาสน์ที่ทรงพลังที่สุดจากภาพยนตร์เรื่องอวตาร ตำนานใหม่ที่มนุษย์สร้างขึ้นบนแผ่นฟิล์มในต้นศตวรรษที่ ๒๑

เมื่อหญิงสาวต้องฆ่าเพื่อช่วยชีวิต เธอก็มิได้ยินดีในการฆ่าแม้แต่น้อย และเมื่อชายหนุ่มผู้เป็นศิษย์แสดงให้เห็นถึงการฆ่าที่ปราศจากความกระหายหรือละโมบในชีวิต เธอก็ถึงกับเอ่ยปากว่า “เป็นการประหารที่ประณีตหมดจด”

แม้ในการใช้สัตว์เป็นพาหนะ การสร้างความผูกพันด้วยการผูกโยงอวัยวะของกันและกันไว้เพื่อสื่อสารเชื่อมโยงนั้นเป็นมากกว่าการทำตัวเป็นเจ้าชีวิตเหนืออีกชีวิตหนึ่ง

แม้จะรู้ว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต แต่การสื่อสารพูดคุยระหว่างต้นไม้ กระทั่งข้ามเผ่าพันธุ์ชีวิต ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใดสำหรับชาวเนวี

ส่วนตัวละครมนุษย์ของเราในภาพยนตร์นั้นก็คงไม่ต่างจากพวกเราเท่าไหร่นัก ที่มองเห็นแต่ว่า ณ ดวงดาวอันไกลโพ้นที่อุตส่าห์กระเสือกกระสนเดินทางไปจนถึงนั้น มีแร่มูลค่ายิ่งกว่าทองรอให้ขุด และถ้ามีชาวบ้านสร้างบ้านนั่งทับเหมืองนั้นอยู่ ก็แค่ไล่ตะเพิดไปให้พ้นก็เป็นพอ ไหนเลยจะเห็นได้ว่า ชาวบ้านนั้นกำลังปกปักรักษานิเวศน์ชีวาลัย อันเป็นหัวใจแห่งสรรพชีวีและชีวาอาตมันของดาวแพนโดราแห่งนั้น

เราอาจเคยได้ยินเรื่องเล่าของชนเผ่าพื้นเมืองในทวีปอเมริกาอย่างอินเดียนแดง ได้ยินตำนานเล่าขานเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่ผสานสอดคล้องกับธรรมชาติ และการศิโรราบสยบยอมต่อมารดาบิดาและบรรพบุรุษอันศักดิ์สิทธิ์ – ภาพเหล่านั้นดูเหมือนจะปรากฎให้เห็นชัดเจนขึ้นกับตาด้วยเทคโนโลยีชั้นเลิศในการถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าว

แต่เรื่องราวดังกล่าวในภาพยนตร์เป็นแต่เพียงผลผลิตของจินตนาการเพ้อฝันและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกอันทรงพลังล่ะหรือ?

แนวคิดที่ว่าชีวาลัยอย่างโลก หรือดาวแพนโดรา เป็นสิ่งมีชีวิตนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ดังที่เจมส์ เลิฟล็อก ได้นำเสนอทฤษฎีกายา ที่ว่าด้วยโลกมีชีวิต ตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. ๑๙๖๐ ขณะที่ประจำอยู่ที่องค์การนาซ่า

ทฤษฎีกายาชี้เสนอว่า โลกเป็นระบบที่จัดการตัวเอง สามารถปรับตัวเพื่อให้เกิดสมดุลผ่านกลไกทางชีวภาพ เหมือนกับสิ่งมีชีวิตหนึ่ง เป็นต้นว่า มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มตัวเองทำให้น้ำบนโลกไม่ระเหยไปจนหมด สะท้อนความร้อนออกไปบางส่วนและเก็บไว้บางส่วน ทำให้มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ไม่เหมือนกับดวงจันทร์ ทั้งที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นระยะทางใกล้เคียงกัน

ที่น่าสนใจก็คือ ชั้นบรรยากาศของโลกเกิดขึ้นหลังจากการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิต ยิ่งทำให้ดูเหมือนว่า โลกและชีวิตบนโลกนั้นล้วนต่างพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกันอยู่ในที

แม้จะถูกโจมตีจากวงการวิทยาศาสตร์อย่างหนัก เพราะดูเหมือนเป็นการลากเอาวิทยาศาสตร์เข้าไปปนเปื้อนกับความเชื่อทางจิตวิญญาณ แต่อิทธิพลของแนวคิดจากทฤษฎีกายานั้นก็ส่งผลกระทบไปในวงกว้างทีเดียว ดังที่ได้เห็นจากภาพยนตร์เรื่องอวตาร หรือแม้แต่ภาพของต้นไม้พูดได้เดินได้ที่ลุกขึ้นมารื้อเขื่อนในเรื่องลอร์ดออฟเดอะริง จิตวิญญาณของแม่โลกในอนิเมชันเรื่องไฟนอลแฟนตาซีของฮอลลีวู้ด และพบได้ทั่วไปจากอนิเมชันจากญี่ปุ่นอย่างเรื่อง อรชุน (Arjuna) หรือ อีวานเกเลียน (Evangelion) เป็นต้น

ส่วนแนวคิดที่ว่าสัตว์และต้นไม้เป็นสิ่งชีวิตที่มีสติปัญญาและสามารถสื่อสารกันได้ก็เริ่มมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมารองรับกันมากขึ้น ดังเช่นงานของ ศ. อันโธนี เทรวาวัส แห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอร์ก ซึ่งยืนยันว่า พืชมีเจตจำนง ตัดสินใจได้ คำนวณได้ จำได้ ดังที่สามารถยื่นกิ่งก้านสาขาไปในตำแหน่งที่จะได้รับแสงมากที่สุด รู้ถึงวิธีการคำนวณหาจุดสมดุลของแรงโน้มถ่วงและจุดศูนย์ถ่วง พืชบางชนิด เช่น ยาสูบ เมื่อถูกแมลงกัดเจาะก็จะส่งสารเคมีบางอย่างออกมา ทำให้ลำต้นหนาขึ้น และสามารถส่งข่าวไปยังต้นที่อยู่ใกล้เคียงกันได้ด้วย

ทฤษฎีว่าด้วยความ “ล่มสลาย” ของ จาเร็ด ไดมอนด์ นั้นยืนยันอย่างชัดเจนว่า การทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยมือมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการล่มสลายของอารยธรรมหรือสังคมหนึ่ง เขายังมีข้อสังเกตอันแหลมคมต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาว่า ในหลายพื้นที่ แทบไม่มีความขัดแย้งระหว่างเผ่าฮูตูกับเผ่าทุตซีเลย แต่กลับมีการสวมรอยฆาตกรรม และแรงผลักดันหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรที่ดิน เนื่องจากประชากรจำนวนมากไม่สามารถเลี้ยงชีพปลูกผักเลี้ยงสัตว์ได้ด้วยผืนดินที่ครอบครองกันอยู่เพียงน้อยนิด

และถ้าเราจัดอันดับประเทศยากจนสิบอันดับแรกของโลก กับประเทศที่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมสิบอันดับแรกของโลก ดูเหมือนว่ารายชื่อประเทศจะไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่นัก

และถ้าตระหนักว่า โลกใบนี้มีอายุยืนยาวมากกว่าเซลล์แรกราว ๑ พันล้านปี และอยู่รอดจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้วถึง ๕ ครั้ง กระแสความสนใจสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบัน จึงไม่ใช่อะไรเลยนอกเสียจาก “การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์บนดาวโลกอันมีชีวิตเก่าแก่นี้”

หากมองตำนานในฐานะภาพสะท้อนจิตวิญญาณภายในของปัจเจกที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับสรรพสิ่งรอบตัว ดังที่ โจเซฟ แคมป์เบลล์ คุรุผู้ยิ่งใหญ่ด้านปกรณัมได้เสนอไว้ ตำนานของมนุษย์ยุคใหม่ที่แสดงตนผ่านภาพยนตร์ร่วมสมัยเหล่านี้ ก็กำลังก่อรูปสร้างรอยปกรณัมร่วมสมัยที่กำลังก่อตัวขึ้นมาบนโลกทัศน์ของการมองเห็นสายสัมพันธ์เชื่อมโยงของความเป็นญาติระหว่างเราและสรรพชีวิตและแร่ธาตุอื่นๆ บนโลกนี้

อวตารของเราในร่างมนุษย์เห็นจะมีหน้าที่ไม่ต่างกับชาวเนวีแห่งดาวแพนโดราในแง่ที่ว่า เราต้องกลับไปหาจิตวิญญาณของแม่โลก กำซาบซึ้งถึงสายสัมพันธ์แห่งบรรพบุรุษร่วมกัน และส่งต่อจิตวิญญาณดั้งเดิมต่อให้กับคนรุ่นต่อไป
 
http://jitwiwat.blogspot.com/2010/01/blog-post_29.html
4696  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตวิวัฒน์ : โรคสมองกดทับใจ เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 08:41:07


โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย


หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553


ผมนั่งจับเข่าคุยกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง สายตาเมียงมองหาเคาน์เตอร์กาแฟ นัยว่าจะช่วยทำให้การพูดคุยของเราออกรสยิ่งขึ้น... แต่เหมือนรู้ว่าผมกำลังทำอะไร เธอโพล่งออกมา

"เรากำลังควบคุมคาเฟอีนอยู่ งดกาแฟ ชา มาสองอาทิตย์แล้ว"

ยังไม่ทันที่ผมจะปริปากอะไร เธอไขข้อข้องใจให้

"ไมเกรนน่ะ…คาเฟอีนมันจะไปกระตุ้นไมเกรน แต่ก่อนไม่รู้ แต่ตั้งแต่มาฝึกโยคะ เริ่มสังเกตเห็นกายตัวเองมากขึ้น เห็นเลยว่าถ้าจิบเข้าไปมันขึ้นมาจี๊ดที่หัวเลย"

สารบางอย่างกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อร่างกาย เฉกเช่นเดียวกับอารมณ์ที่มากระทบทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อจิตใจ แต่จิตใจกับร่างกายสัมพันธ์กันอยู่อย่างลึกซึ้ง ร่างกายจึงถูกเหนี่ยวนำให้เปลี่ยนแปลง อาการทางกายเช่นปวดหัว ปวดท้อง โรคเรื้อรังทั้งหลายที่หมอหาสาเหตุไม่ได้ บางทีอาจจะเป็นโรค “สมองกดทับใจ” คืออารมณ์เหนี่ยวนำให้เกิดอาการทางใจ และใจเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดแตกซ่านจนสะท้อนย้อนลงมาจิตใจให้ปั่นป่วนสับสน ส่งผลระยะยาวต่อร่างกาย

เมื่อรู้อย่างนี้เราก็น่าจะหลีกไปเสียจากอารมณ์ที่จรมากระทบ ฟังดูง่ายและเป็นน่าจะเป็นทางแห่งความสุข เพราะคนเราล้วนรักสุขเกลียดทุกข์กันทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริงไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะหลายคนมีชีวิตอยู่โดยขาดดราม่าไม่ได้ หากชีวิตมันราบเรียบก็ต้องหาเรื่องให้โลดโผนเสียบ้าง อะไรที่มันจะดูราบรื่นก็ไปป่วนให้มันยุ่งเหยิงเสียบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้วงซุบซิบนินทาจึงไม่ว่างเว้นเรื่องราว ผมว่าหากอยากทราบว่าจิตร่วมของคนไทยวิวัฒน์ไปเท่าใดแล้ว ก็ให้เอาจำนวนผู้คนที่ยังหาความรื่นรมย์จากวงกอสซิบสนทนาไปลบออกจากจำนวนผู้ที่เริ่มหันมาสนใจเรื่องจิตตปัญญา เชื่อว่าคงอีกนานกว่าตัวเลขนี้จะเป็นบวก!!

ทำไมเราขาดดราม่าไม่ได้ เอ็กฮาร์ท โทลลี พูดถึง “เหง้ารันทด” (Pain-body) เป็นปมที่สั่งสมอารมณ์ลบของเราตั้งแต่ในอดีต มันรอวันจะปะทุเมื่อได้รับการกระตุ้นจากแหล่งใดก็ตาม เขายกตัวอย่างเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมคนหนึ่งซึ่งตามปกติเป็นคนใจเย็นและเป็นคนสบาย ๆ เปลี่ยนไปเป็นคนโกรธเกรี้ยวอย่างหยุดไม่อยู่เมื่อนายหน้าขายหุ้นโทรมาแจ้งข่าวร้าย โทลลีบอกว่าในครอบครัวที่ “เงิน” สร้างปัญหาและการทะเลาะเบาะแว้งในบ้านตลอดเวลา อารมณ์ลบเกี่ยวกับเงินจะถูกสั่งสมเข้ามาอยู่ในตัวเราและรอวันที่จะถูก “กระตุ้น” ให้ระเบิดออกมาตามแต่วาระโอกาสที่สุกงอม

เขายังพูดถึงเด็กผู้ชายที่ถูกแม่ทอดทิ้งตั้งแต่เล็กหรือถูกแม่เลี้ยงดูอย่างทิ้งขว้าง เขาจะสั่งสมความระทมทุกข์อย่างมหาศาล เพราะต้องการที่จะได้รับความรักอย่างมากแต่กลับถูกปฏิเสธ ความโกรธเกลียดจึงปูดโปนออกมานัวเนียกับความต้องการได้รับความรัก เมื่อเด็กคนนี้โตขึ้น เขาจะถือว่าผู้หญิงทุกคนคือสมรภูมิรบที่ต้องโรมรันเอาชนะ เขาจะชำนาญการเกี้ยวพาราสีมีเสน่ห์ดึงดูดใจเพศตรงข้าม เขาไม่รู้ว่า“เหง้ารันทด” กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มันโหยหา และเมื่อได้ตามปรารถนาแล้วก็หมดความสนใจและเปลี่ยนเป้าหมายต่อไป หรือมิฉะนั้นก็จะตีโพยตีพายอย่างโกรธเกรี้ยวเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เมื่อไม่จัดการกับเหง้าที่ฝังลึกและเงาที่แฝงเร้น เขาจึงรักใครไม่เป็นเอาเสียเลย

“เหง้ารันทด” ไม่ได้เป็นเพียงปมที่แฝงอยู่ในจิตอย่างไร้พิษสง โทลลีบอกว่ามันยังอาจจะส่งพลังงานออกไปยังคนรอบข้างให้สามารถสัมผัสได้ด้วย ผมเชื่อว่าทุกคนคงเคยเจอว่าบางคนเพียงเดินเข้ามาในประตูก็ทำให้บรรยากาศทั้งห้องเปลี่ยน บางคนอยู่ใกล้แล้วรู้สึกถึง “รังสีอำมหิต” แต่แท้จริงแล้วรังสีนั้นไม่ได้ออกมาจากเขาฝ่ายเดียว มันเกิดมาจากทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ คล้ายกับเมื่อเรานำกีตาร์สองตัวมาวางข้างกันแล้วดีดสายของกีตาร์ตัวหนึ่ง กีตาร์อีกตัวที่วางข้างกันซึ่งตั้งสายเอาไว้เหมือนกันจะเกิดคลื่นกำทอนส่งเสียงที่ความถี่นั้นออกมาด้วย ประเด็นอยู่ที่ต้องตั้งสายให้ตรงกัน หมายความว่าการส่งคลื่นจะไม่สมบูรณ์หากผู้รับไม่มีความสามารถในการรับ ดังนั้นครั้งหน้าเมื่อคุณรู้สึกว่าเดือดร้อนเพราะได้รับรังสีอำมหิตจากใคร ก็อย่าพึ่งไปโทษผู้ส่งเขาเสียฝ่ายเดียว ให้มองเสียใหม่ว่าตัวเราก็มี “เหง้ารันทด” เป็นภาครับสัญญานความถี่หรืออารมณ์นั้นอยู่ในตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว

เรื่องการส่งคลื่นระหว่างสิ่งมีชีวิตฟังดูเป็นเรื่องเหลวไหลที่ไร้ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ โจเซฟ ชิลตัน เพียซ บอกว่าด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เราสามารถวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากหัวใจซึ่งส่งกำลังออกไปได้ไกลในรัศมีถึง ๑๕ ฟุต ซึ่งถ้าเราไม่ลืมว่าแสงอาทิตย์ก็คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง สนามพลังที่ออกจากหัวใจจึงมีความไวเท่ากับแสงเลยทีเดียว ดร.ฟริซ อัลเบิร์ต พอพ (Dr.Fritz Albert Popp) นักชีวฟิสิกส์อ้างว่าในร่างกายคนเรามีปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นเป็นแสนครั้งต่อวินาที มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะควบคุมปฏิกิริยาเหล่านั้นด้วยกระบวนการทางเคมี แต่โดยอาศัยอนุภาคโฟตอนเพียงตัวเดียว เราจะสามารถให้ข้อมูลที่เซลล์ต้องการเพื่อจัดการกับกระบวนการทางเคมีจำนวนมหาศาลนั้นได้ทั้งหมด อนุภาคโฟตอนที่พูดถึงก็คือ ‘แสง’ ที่ประพฤติตัวเหมือนกับอนุภาคนั่นเอง

คลื่นความเร็วแสงที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูลจากเซลล์หนึ่งไปสู่เซลล์อื่นมีลักษณะไม่ต่างอะไรกับการส่งผ่านคลื่นระหว่างสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังสิ่งมีชีวิตหนึ่ง เพียซชี้ให้เห็นถึงความละม้ายคล้ายคลึงของสนามพลังรูปโดนัทที่ส่งออกมาจากสิ่งมีชีวิตกับสนามแม่เหล็กโลก หากเราขยายนัยออกไปจะเห็นว่าสนามพลังที่มีอยู่ในระดับตั้งแต่ระดับเซลล์ ระดับดวงดาว ระดับแกแลกซี่ ไปจนถึงระดับจักรวาล อาจจะมีลักษณะเหมือนกับโฮโลแกรมที่ไม่ว่าจะตัดเสี้ยวส่วนใดมาพิจารณาก็จะเห็นถึงส่วนทั้งหมด เป็น “จักรวาลในหนึ่งอะตอม” หรือเป็นดั่งวาทะของโวลแตร์ที่ว่า “พระเจ้านั้นเปรียบเหมือนวงกลมที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ทุกหนทุกแห่ง ส่วนเส้นรอบวงนั้นเล่าจะปรากฎ ณ ที่ใดก็หามิได้”

เพียซยังค้นพบผ่านกระบวนการฝึกสมาธิแบบฟรีซเฟรมของสถาบันฮาร์ทแมท (Institute of Heartmath) ว่าเมื่อปฏิบัติสมาธิถึงจุดหนึ่งจังหวะการเต้นของหัวใจกับคลื่นสมองจะเข้าสู่รูปคลื่นที่สอดคล้องกันเรียกว่า Entrainment เขาพบว่าการทำงานของสมองจะย้ายจากสมองส่วนหลังมาสู่สมองส่วนหน้า หรือพูดง่าย ๆ ว่าย้ายจากโหมดเอาตัวรอดไปสู่การใช้ปัญญาอันตื่นรู้ หมายความว่าคนนั้นจะไม่เป็นโรค “สมองกดทับใจ” หรือ “ใจกดทับสมอง” แต่ใจกับสมองไปด้วยกันด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว การฝึกปฏิบัติสมาธิที่ทำกันอยู่ในบ้านเราส่วนใหญ่น่าจะให้ผลเช่นเดียวกันโดยอาจไม่จำเป็นจะต้องใช้เครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าให้ยุ่งยาก เพราะถ้าปฏิบัติได้ถูกทางจะสังเกตเห็นได้ด้วยตนเองว่า อารมณ์ที่ผ่านเข้ามา “กระตุ้น” เรานั้นมีอิทธิพลต่อเราน้อยลง ส่วน “เหง้ารันทด” และ “เงาในซอกหลืบ” ของเราก็ไม่ชวนเราให้เล่นละครบทโศกดราม่าเคล้าน้ำตาบ่อยจนเกินไปนัก แม้บางครั้งเมื่อเขาส่งบททดสอบมาให้เล่น เราอาจจะตอบปฏิเสธไปเสียก็ยังทำได้ ไม่เหมือนก่อนที่ต้องเล่นไปตามนั้นอย่างไม่มีทางเลือก มิหนำซ้ำยังเล่นด้วยความสะใจอีกต่างหาก
 
http://jitwiwat.blogspot.com/2010/02/blog-post.html
4697  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตวิวัฒน์ : จุดดำดวงอาทิตย์เกี่ยวกับโลกไหม? เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 08:39:00


โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ


หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553

คาร์ล จุง ที่นักจิตวิทยาหลายคนเรียกว่าบิดาของจิตวิทยา พูดว่า “คนเราไม่ชอบฟังเรื่องจริง” ล่วงปีใหม่ไปแล้ว แต่ผู้เขียนยังเขียนเรื่อง ๒๐๑๒-๑๓ ที่ทางศาสนา วิทยาศาสตร์ และผู้เขียนคิดว่าอาจจะเป็นไปได้จริง แต่ผู้อ่านและคนไทยคงไม่ชอบฟัง อ่าน หรือได้ยินซ้ำๆ ซากๆ เพราะเบื่อ เพราะรู้แล้ว ทั้งยังเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง คนไทยทั่วไปร้อยละ ๙๙ คงคิดว่าไม่เกิด หรือถึงเกิดขึ้นแต่คงไม่ทั้งหมด เหมือนเรื่อง Y2K เรื่อง 5-5-2000 เรื่องอุกาบาตชนโลก และเรื่องอื่นๆ ซึ่งทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม ยกเว้นเรื่องภาวะโลกร้อนในปัจจุบันซึ่งคนไทยที่ตอบโพลล์ไม่เชื่อว่ามีมนุษย์เป็นเหตุ พูดง่ายๆ ว่ามนุษย์นั้นทำอะไรก็ไม่ผิด นอกจากทำผิดกฎสังคมหรือกฎหมาย เรื่องอยุธยา กรีซ โรมัน อียิปต์ เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยที่เราไม่ได้เห็นกับตา ฉะนั้นหาความสุขสนุกสนานกันดีกว่า แต่ครั้งนี้ – ในความคิดของผู้เขียน – คงไม่เป็นเช่นเดิมอีก เพราะว่าเราโลภ เราเห็นแก่ตัว และทำแต่เรื่องผิดๆ มากเกินไป

ผู้เขียนได้รับข้อมูลใหม่ๆ เรื่องการหายไปของจุดดำบนดวงอาทิตย์ การเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กโลก และความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์ลดลง ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อมีการสลับกันของขั้วแม่เหล็กดวงอาทิตย์ ที่อาจทำให้เกิดการย้ายขั้วโลกเหนือตามทฤษฎีของ ชาร์ลส์ แฮปกูด ซึ่งไอน์สไตน์สนับสนุนและเขียนคำนำให้ (Charles Hapgood, Paths of Pole, 1971) กับเมื่อเร็วๆ นี้ยังเกิดช่องเปิดของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์กับโลก (Magnatic portal) และเหมือนกับโลกกำลังย่างเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง คือเกิดความหนาวเย็นมากกว่าและนานกว่าธรรมดา ทั้งที่ยุโรป อเมริกา และแคนาดาโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ลุกลามมาถึง รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ

ผู้เขียนได้ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับระบบสุริยะ ซึ่งจะโคจรมาตรงกับศูนย์กลางกาแล็คซี่ทางช้างเผือกของเรา ในคืนวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๐๑๒ และจะมีการเรียงตัวเป็นแถวหรือระนาบเดียวกันของดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ (มิชิโอะ กากุ ดูใน NASA, Pole Shift) ผู้เขียนรอๆ ดูอยู่แต่ไม่เห็นมีใครที่เมืองไทยจะสนใจเอามาสื่อสารกัน หรืออาจจะมี แต่ผู้เขียนไม่รู้ไม่เห็นเอง เรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นักการเมืองโดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลทั่วโลก รวมทั้งสหประชาชาติจะต้องใส่ใจอย่างยิ่ง เพราะว่า หนึ่ง ภาวะล่มสลายของโลกและการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกแบบถอนรากถอนโคนโดยการมีจิตใหม่หรือจิตวิญญาณของชาวโลก กับ สอง เรื่องการย้ายขั้วโลกที่เป็นเรื่องนอกตัว นอกประเทศ และนอกโลกชนิดที่เราไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นจะคิดว่าไม่เป็นไร “ทุกอย่างจะเหมือนเดิม” นั้น – ไม่เป็นการประมาทเกินไปหรอกหรือ? - มิชิโอะ กากุ ไม่ใช่ศาสตราจารย์ธรรมดาๆ แต่เป็นถึงนักฟิสิกส์ทฤษฎีของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยซิตี นิวยอร์ค อันมีชื่อเสียงยิ่ง กระทั่งหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพลอย่างสูงมากๆ คือ นิวยอร์คไทม์ กับวอชิงตันโพสต์ ของสหรัฐอเมริกาได้เขียนชมหนังสือทั้ง ๒ เล่มของเขา ว่าเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของปีนั้นๆ – ต่างกรรมต่างวาระกัน

ผู้เขียนนั้น นานๆ ทีถึงได้ติดตามข้อมูลความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพหรือฟิสิกส์ของดวงอาทิตย์บ้าง พบว่าในระยะหลังๆ ดวงอาทิตย์มีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมนุษย์เรายังไม่รู้ไม่แน่ใจว่า การเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างนั้น จะมีผลต่อโลก ต่อมนุษยชาติ ต่อระบบสุริยะ หรือแม้แต่จักรวาลอย่างไรบ้าง? แต่ผู้เขียนคิดว่าไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรเสียหาย หากว่ารัฐบาลต่างๆ เช่น รัฐบาลไทยจะพูดคุยให้แน่ใจและเข้าใจถึง ความเป็นไปได้ ของการเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์ในครั้งนี้ โดยตั้งคณะกรรมการภัยธรรมชาติในด้านวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ติดต่อสอบถาม มิชิโอะ กากุ (ที่ www.mkaku.org) เรื่องเฉพาะหน้าคือ การเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์ในครั้งนี้ น่าจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังย่ำแย่สุดๆ อยู่ กับการค่อยๆ เปลี่ยนแปลง – บางทีและบางส่วนของจิตสำนึกที่กำลังแพร่สะพัดไปทั่วทั้งโลก เช่น จิตตปัญญาศึกษาและการทำสมาธิกรรมฐานที่มีผู้ปฏิบัติมากขึ้นมาก - บทความนี้จะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว

ความสัมพันธ์ที่กล่าวมานั้น อาจจะเกี่ยวกับภาวะล่มสลายทางด้านโลกกายภาพ (แต่โลกยังอยู่) กับวิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณของมนุษยชาติ แม้จะมีคนต่อว่าผู้เขียนทำนองว่าชอบมองโลกในแง่ร้าย หายใจเป็นเรื่องความล่มสลายหายนะของมนุษยชาติไปเสียทั้งหมด เหมือนกับว่าผู้เขียนตั้งใจแต่จะให้ความฉิบหายเกิดกับมนุษย์และโลก ผู้เขียนเองยอมรับเช่นนั้น แต่ในส่วนที่น้อยนิด ผู้เขียนใคร่ขอร้องให้ผู้ที่ต่อว่านั้น คิดให้รอบคอบและถ้วนถี่ อย่าตื่นเต้นเสียขวัญเพราะเรื่องอาจไม่เกิดก็ได้

คิดในเชิงวิทยาศาสตร์ทั้งทางกาย ทางจิตเช่นจิตวิทยา กับศาสนาต่างๆ รวมทั้งลัทธิความเชื่อที่มีตั้งแต่โบราณ แม้ว่าผู้เขียนจะย้ำเขียนอย่างซ้ำๆ ซากๆ – อย่างมีทั้งเหตุผล หลักฐาน และเป็นวิทยาศาสตร์พร้อมมูลชนิดที่ใครปฏิเสธไม่ได้ – ว่าจักรวาลและโลกมีหน้าที่หลักเพียงอย่างเดียว คือวิวัฒนาการ ส่วนวิวัฒนาการไปทำไม? เพื่ออะไร? และแน่ใจได้อย่างไร? ขอตอบตามที่นักปราชญ์ทั้งหลายตอบเหมือนกันเป๊ะๆ ว่า วิวัฒนาการของโลก ของจักรวาล และของมนุษย์ไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ ดิน (โลก) มนุษย์ ฟ้า (จักรวาลหรือสวรรค์) เพื่อให้มีชีวิตและมีมนุษย์ “ผู้ประเสริฐ” สามารถมีวิวัฒนาการทั้งทางกายหรือชีววิทยากับจิต หรือรูปกับนามให้สัมฤทธิตามเป้าหมาย ทั้งหมดนั้นไม่ใช่จิตนิยม ไกลตัว ไร้สาระ ซึ่งเราคนทั่วไปโดยตัวตนเป็นผู้คิด เราส่วนใหญ่ที่มักเป็นนักวัตถุนิยมจึงคิดกันง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องความบังเอิญ ท่านผู้อ่านช่วยกรุณาคิดให้รอบคอบด้วย เพราะไม่เพียงแต่นักปราชญ์ ศาสดา เซนต์ กับนะบีในทุกศาสนาต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันเช่นนั้น หากแต่นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกรวมทั้งผู้ได้รับรางวัลโนเบลทุกๆ คน ไม่มียกเว้น – เท่าที่ผู้เขียนรู้ – ยืนยันเช่นเดียวกันด้วย เช่น เดวิด โบห์ม เซอร์ อาเธอร์ เอดดิงตัน จอร์จ วอลด์ เจมส์ ลัฟลอค ฯลฯ แม้แต่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในทางอ้อม ทั้งนี้ว่ากันตรงๆ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทางกาย-ชีววิทยาสนับสนุนด้วย

การเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์เริ่มที่การสลับขั้วแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ซึ่งเคยเกิดมีมาก่อน ครั้งสุดท้ายเมื่อปี ๒๐๐๐-๐๑ และครั้งต่อไปจะมีในปี ๒๐๑๒-๑๓ นั้น – ย่อมทำให้สนามแม่เหล็กโลกหรือแมกนีโตสเฟียร์ (บริเวณที่มีสนามแม่เหล็กโลกแผ่กระจายไปถึง) หายไปด้วย และสองปีมานี้อยู่ๆ สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ก็ลดลงไปพร้อมกับการค่อยๆ หายไปอย่างมากของจุดดำ (sun spots) จากเรือนพันเรือนหมื่นลงมาเหลือไม่ถึงร้อยจุดในขณะนี้ หรือมีเค้าว่าจะลดลงไปกว่านั้นอีก นั่น-ทำให้อนุภาคที่เกิดในใจกลางดวงอาทิตย์ตามปกติวิสัยออกมาไม่ได้ด้วย จะมีแต่อนุภาคผีๆ เช่น นิวตริโนส์ที่ทะลวงออกมาได้ ดังที่มีรายงานไว้มากเช่นที่ แอลเอชซีแล็บ เป็นต้น และการที่สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ลดความเข้มข้นลงไปนี้ จะทำให้แมกนีโตสเฟียร์ของโลกค่อยๆ หายไปด้วย (เพราะแมกนีโตสเฟียร์เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสนามแม่เหล็กทั้งสอง) และโดยเฉพาะการขาดแมกนีเซียมจนทำให้จุดดำที่ดวงอาทิตย์หายไปกว่าร้อยละ ๙๐ ทำให้แมกนีโตสเฟียร์ของโลกต้องหายไปแทบสิ้นเชิง จะทำให้การป้องกันโลกด้วยสนามแม่เหล็กโลก (geomagnetism) หายไป เกิดภยันตรายจากรังสีแกมม่าของหลุมดำที่มาจากกาแล็คซีทางช้างเผือก

ไม่มีใครรู้ จริงๆ แล้วไม่มีใครเชื่อว่า ดวงอาทิตย์ของเราเคยมีช่องเปิด – ที่ปิด-เปิดโดยอัตโนมัติ ทุกๆ ๘ นาที มีขนาดใหญ่รูปทรงกระบอกแทบเท่าโลกของเรา - ทำให้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าระหว่างดวงอาทิตย์กับสนามแม่เหล็กติดต่อกันโดยตรงได้อย่างไม่มีมาก่อนนับตั้งแต่ติดตามดูดวงอาทิตย์มาหลายร้อยปี แต่ก่อนหน้านั้นเราไม่รู้ โดยเฉพาะในระหว่างการย้ายขั้วโลกเหนือ (ซึ่งเคยมีมาแล้วร่วม ๑๖ ครั้งในรอบหลายล้านปี) ครั้งสุดท้ายเมื่อ ๑๒,๐๐๐ ปีก่อนที่ขั้วโลกเหนืออยู่ที่อ่าวฮัดสัน – การย้ายของขั้วโลกเหนือ (ขั้วโลกใต้ไม่เคยย้ายที่เลยเท่าที่รู้ภายในเกือบ ๖๐๐ ล้านปี) ไม่เคยย้ายเกิน ๓๐ ดีกรีเลย (มีพูดไว้ในหนังสือของ ชาร์ลส์ แฮปกูด) การลดลงหรือหายไปหมดของสนามแม่เหล็กโลก (geomagnetic) มีแผ่นดินไหว และภูเขาไฟใกล้ระเบิดเหมือนกับสภาพโลกในปัจจุบัน จุดดำของดวงอาทิตย์หายไปหมดหรือเหลือน้อยเต็มทีเหมือนสภาพดวงอาทิตย์ในปัจจุบัน ดินฟ้าอากาศและฤดูกาลมีการเปลี่ยนแปลงเหมือนสภาพโลกในปัจจุบัน กับอีกอย่างหนึ่งที่มีในปัจจุบันแต่เราไม่รู้ คือเมื่อมีการย้ายขั้วโลกเหนือครั้งที่แล้วๆ ดวงอาทิตย์จะมีช่องเปิด เช่นที่เรามีในช่วงนี้หรือไม่? ส่วนอีกสองอย่างที่มีข้อมูลในปัจจุบัน แต่โลกเราไม่มีหรือยังไม่มี คือ ยุคน้ำแข็งใหญ่หรือย่อย กับการย้ายที่ของขั้วโลกเหนือ แต่ทั้งสองอย่างนั้นทางวิทยาศาสตร์เรารู้ว่า มันเกิดช้าหรือเร็วหรือเมื่อไรก็ได้

ฤดูกาลที่โลกประสบกับความหนาวเย็นจัดประดุจยุคน้ำแข็งเล็กหรือใหญ่มาเยือนเช่นในอดีตเมื่อ ๓๐๐-๕๐๐ ล้านปีที่แล้ว เรียกกันว่า มูแอนเดอมินิมัม (Muander minimum) เมื่อจุดดำของดวงอาทิตย์หายไปแทบทั้งหมด (คือเหลือไม่ถึง ๕๐ จุดจากหมื่นๆ จุดที่เคยมี) และความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ลดลงอย่างมาก สถานภาพของจุดดำและความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ลดลงอย่างมาก เหมือนสภาพปัจจุบันของดวงอาทิตย์และโลก เพียงแต่โลกยังไม่มียุคน้ำแข็งเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าอย่างน้อย โลก และมนุษยชาติ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อย่าลืมว่ากราฟที่ศูนย์สังเกตดวงอาทิตย์ (NSO) บอกว่าจุดดำกับความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์จะเหลือน้อยกว่าครึ่งในปี ๒๐๑๒-๑๓ และดวงอาทิตย์จะหมุนรอบตัวเองช้าลงด้วย อย่างมากโลกจะมีการย้ายที่ของขั้วโลกเหนือพ่วงยุคน้ำแข็งจริงๆ พร้อมกับมนุษย์ – สัตว์โลกจะเหลือน้อยลงเพราะสวิตซ์ของสายพานกัลฟ์สตรีมหยุดลงด้วย

นั่นคือการวิเคราะห์จุดดำของดวงอาทิตย์ในปี ๒๐๑๒
 
 
http://jitwiwat.blogspot.com/2010/02/blog-post_12.html
4698  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / 3S วิวัฒน์จิต: สู่การตื่นรู้ท่ามกลางโลกอันซับซ้อน เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 08:35:48



โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์

หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553

การตื่นรู้ในยุคปัจจุบันที่สังคมมีความซับซ้อนมากมายนั้น จำต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องการวิวัฒน์จิตให้ใหญ่ขึ้น และด้วยเหตุที่จิตใจมีอาณาเขตกว้างขวาง กินพื้นที่หลายพรมแดน ผู้เขียนจึงขอแนะนำพรมแดนภายในจิตใจสามพรมแดนใหญ่ๆ ที่เรียกว่า “3S” ซึ่งการเรียนรู้พรมแดนทั้งสามที่มีอยู่แล้วในจิตใจเราแต่ละคน อาจช่วยวิวัฒน์จิตให้ตื่นรู้เท่าทันกับโลกอันซับซ้อนในยุคนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย

พรมแดนแรกคือ สภาวะจิต (State) หากเปรียบเทียบกับภูมิทัศน์ทางกายภาพ ก็เหมือนเป็นมหาสมุทร เป็นพรมแดนที่มีลักษณะไม่คงที่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เปรียบดั่งคลื่นในมหาสมุทร บางขณะก็เงียบสงบ บางขณะก็บ้าคลั่ง ไม่มีความเป็นเส้นตรง อยู่เหนือความเข้าใจด้วยเหตุผล หรือตรรกะใดๆ แต่ปรากฎให้รับทราบได้เป็นความจริงชั่วคราว สภาวะจิตที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ สภาวะตื่น สภาวะหลับฝัน สภาวะหลับลึกไม่ฝัน สภาวะสมาธิ สภาวะเลื่อนไหล (flow) เป็นต้น สภาวะเหล่านี้มีจุดร่วมกันคือ “ความชั่วคราว” ที่สามารถรับรู้ได้ในปัจจุบันขณะ

พรมแดนที่สองคือ ระดับจิต (Stage) เปรียบดั่งผืนแผ่นดิน ที่มีทั้งที่ราบลุ่มไปจนถึงภูเขาสูงชัน ระดับจิตก็เปรียบได้กับระดับความสูงต่ำของผืนแผ่นดิน มนุษย์จะมีลักษณะการเพิ่มระดับจิตเป็นไปตามลำดับขั้น อย่างค่อยเป็นค่อยไป ก้าวกระโดดไม่ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะมี “ความถาวร” โดยสัมพัทธ์กับสภาวะจิต วงวิชาการจิตวิทยาตะวันตกค้นพบว่า มนุษย์มีโครงสร้างทางจิตที่พัฒนาซับซ้อนขึ้นนับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตาย ข้อค้นพบเหล่านี้ปรากฎในทฤษฎีโครงสร้างจิตของเพียเจต์ (Jean Piaget) โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg) และคีแกน (Robert Kegan) เป็นต้น หากยกตัวอย่างในระบบของคีแกน มนุษย์มี ๕ ระดับจิต ที่มีพัฒนาการตามลำดับคือ ๑. ช่วงแรกเกิดคือ “จิตตามสิ่งเร้า” (Impulsive Mind) ๒. ช่วงวัยแรกรุ่นคือ “จิตตามใจตน” (Imperial Mind) ๓. ช่วงผู้ใหญ่ตอนต้นคือ “จิตตามสังคม” (Socialized Mind) ๔. ช่วงวัยกลางคนคือ “จิตประพันธ์ตน” (Self-authoring Mind) และ ๕. ช่วงสูงวัยคือ “จิตวิวัฒน์ตน” (Self-transforming Mind) ด้วยเหตุที่จิตมีโครงสร้าง การเปลี่ยนระดับจิตขึ้นลงจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก และอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง

พรมแดนที่สามคือ เงา (Shadow) เปรียบดั่งพรมแดนลี้ลับที่ยังไม่เคยมีใครเข้าไปสำรวจ เป็นพรมแดนที่ไม่ได้อยู่ภายในการรับรู้ของจิตสำนึก แต่ยังคงมีอยู่ในจิตไร้สำนึก เงามักจะโผล่หรือหลุดออกมาตอนเราเผลอไม่รู้ตัว ได้แก่ การหัวเราะกลบเกลื่อนความอับอายบางอย่างในใจ การโยนความผิดไปที่คนอื่น ทั้งที่จริงเราเองก็เป็นสิ่งนั้น การพลั้งปากพูดคำที่ไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น แม้ว่าดูเผินๆ เราอาจจะเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อเราลองสืบค้นไป จะพบว่ามีอะไรทำงานอยู่ในจิตไร้สำนึกเวลาแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ หลายต่อหลายครั้งที่พฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้คนต้องจบชีวิตการแต่งงาน หันเข้าหายาเสพติด หรือไม่ก็ก่อความรุนแรงขึ้นในสังคม เบื้องหลังของเรื่องเล็กๆ ที่ถูกขยายให้กลายเป็นเรื่องใหญ่นั้น ผู้เขียนเชื่อว่ามีเงาเป็นมูลเหตุแทบทั้งสิ้น เงาเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดกันในวัฒนธรรม ครอบครัว จากรุ่นสู่รุ่น จะว่าไปแล้ว ก็คล้ายกับเวรกรรม ที่ถ่ายทอดกันจากจิตสู่จิต ในขณะเดียวกันก็มีความเฉพาะตัวส่วนบุคคลอยู่ในที ด้วยเหตุนี้บุคคลจึงมีโอกาสเลือกว่าจะส่งต่อกรรมนี้ไปยังลูกหลานรุ่นต่อไปหรือไม่

พรมแดนทั้งสามมีอยู่แล้วภายในจิตใจของทุกคน อันที่จริงความสัมพันธ์ของมันมีลักษณะ “ไร้พรมแดน” เสียด้วยซ้ำ กล่าวคือ แต่ละพรมแดนต่างมีอิทธิพลถึงกัน ถ่ายทอดข้อมูลข้ามไปมาอยู่เสมอๆ

ตัวอย่างเช่น ในเส้นทางการเติบโตทางจิต ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม ทั้งความคิด ความรู้สึก หรือศีลธรรม เรามักจะทิ้งอะไรบางอย่างไป เช่น ทิ้งความอ่อนแอ ทิ้งความขี้เล่น หรือทิ้งความสนุกสนาน เป็นต้น เคยได้ยินหรือไม่ว่า ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่เสียอะไรไป ชีวิตเราที่เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกัน เรายอมแลกอะไรบางอย่างไป เพื่อที่ว่าเราจะได้เติบโต แต่บางอย่างที่แลกไปนั้น อาจเป็นบางส่วนเสี้ยวของตัวตนที่เราเฉือนมันออกไป และนั่นก็จะกลายเป็น “เงา” ที่คอยตามหลอกหลอนมาในภายหลัง ว่ากันว่า ช่วงครึ่งแรกของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงของการเติบโตเพื่อเผชิญกับโลก จะเป็นช่วงแห่งการสะสมเงา ในขณะที่ช่วงครึ่งหลังของชีวิต จะเป็นช่วงแห่งการกลับมาของเงา แม้ว่าเราจะต้องการหรือไม่ก็ตาม การเติบโตในช่วงครึ่งหลังของชีวิตจึงเกี่ยวข้องอย่างมากกับการรู้จักและทำงานกับเงา

บางครั้งการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ ก็อาจแลกมาด้วยการสูญเสียตัวตนบางอย่างไปเช่นกัน และเงาที่เกิดขึ้นระหว่างทางการปฏิบัติจะย้อนกลับมาสร้างความยุ่งยากให้กับเราในภายหลัง เคยได้ยินหรือไม่ว่า นักปฏิบัติบางคนเมื่อปฏิบัติไปก็พบว่า ตนเองบรรลุธรรมขั้นนี้ๆ แล้ว ทั้งที่จริงเป็นเพียงวิปัสสนูกิเลสที่มาหลอกเอา หรือในทางคริสต์ศาสนามีช่วงเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณที่เรียกว่า “ค่ำคืนอันมืดมิด” (Dark Night) ถ้าในภาษาพุทธบ้านเราก็อาจเรียกว่าเป็นช่วง “พับเสื่อกลับบ้าน” ช่วงค่ำคืนเช่นนี้เองที่เงาอาจเข้ามาครอบงำ และทำให้นักปฏิบัติ “เพี้ยน” ไปได้ เริ่มเรี่ยไรเงินทอง มีเรื่องชู้สาว หรือเรื่องอำนาจบาตรใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง เงิน เซ็กส์ และอำนาจเป็นสิ่งที่เงามักเข้าไปจับ และเมื่อผูกเข้ากับเรื่องทางจิตวิญญาณแล้ว มันช่างเป็นเวรกรรมที่เรามักพบเห็นกันอยู่เนืองๆ ในสังคมไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะจิตกับระดับจิตก็มีประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อเราประสบกับสภาวะการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นภายในจิตใจ แล้วเราจำเป็นต้องสื่อสารบอกกล่าวให้กับสังคมรับรู้ถึงความหมายและความสำคัญของมัน เราจะสามารถให้ความหมายได้ตามระดับจิตที่เรากำลังเป็นอยู่เท่านั้น และหลายต่อหลายครั้งที่ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณเดียวกัน กลับถูกตีความหมายไปต่างๆ นานา จนทำให้ “ตัวประสบการณ์” ขาดเอกภาพในการตีความ และดูเหมือนขาดความน่าเชื่อถือ ผู้เขียนลองตั้งคำถามท้าทายว่า จำเป็นหรือที่การตีความต้องมี “เอกภาพ” ในขณะเดียวกัน เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ตัวประสบการณ์นั้นมีความจริงแท้และน่าเชื่อถือได้ สำหรับผู้เขียนแล้ว หากการปฏิบัติทางจิตวิญญาณดำเนินไปตามหลักที่ถูกต้องแล้ว ผลการปฏิบัติย่อมไม่แตกต่างกัน พบกับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่มีความจริงแท้เช่นเดียวกัน หากแต่การตีความเป็นอีกเรื่องที่อาศัยระดับจิตที่แตกต่างหลากหลายในการสร้างความหมายที่มากกว่าหนึ่งขึ้นไป

การตื่นรู้ในยุคนี้จึงมีความกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าการตื่นรู้ในยุคไหนๆ การเรียนรู้และเข้าใจพรมแดนทั้งสาม และความเข้าใจถึงลักษณะ “ไร้พรมแดน” จะช่วยให้เราตื่นรู้อย่าง “ก้าวข้ามและหลอมรวม” กล่าวคือ ก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ และหลอมรวมเอาแก่นสำคัญทั้งหมดของการตื่นรู้ ที่มนุษย์แต่ละยุคสมัยได้ค้นพบกันมา เพื่อที่ว่าการตื่นรู้ในยุคนี้ จะสามารถรองรับและทานทนต่อความซับซ้อนทางสังคมที่มากขึ้นได้

ชีวิตของเรานั้นเป็นองค์รวมโดยตัวมันเอง การฝึก 3S เป็นการฝึกที่เข้าไปสัมผัสกับพรมแดนต่างๆ ทีละส่วน เพื่อให้เราได้รับข้อมูลจากแต่ละส่วน แล้วนำมาบูรณาการเข้าหากันเป็นองค์รวม โดยไม่ได้พยายามหักล้างกัน แต่อนุญาตให้ข้อมูลไหลข้ามพรมแดนกัน แลกเปลี่ยน และถักทอจนเป็นผืนเดียวกัน จนเกิด “ปิ๊งแว้บ” เป็นปัญญาบูรณาการ

ดังนั้นฐานที่รองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามพรมแดนนี้ได้ ก็คือการฝึกฝนตนเองอย่างรอบด้าน ทั้งการฝึกสภาวะ ฝึกระดับจิต และฝึกทำงานกับเงา (ฝึก 3S)

การฝึกสภาวะจิต การฝึกที่คนไทยรู้จักกันดีได้แก่ การฝึกสมถะและวิปัสสนา กล่าวอย่างย่อ สมถะคือการฝึกสภาวะสมาธิ จนจิตตั้งมั่น สงบนิ่ง และเป็นหนึ่งเดียว วิปัสสนาคือ การเห็นตามการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของสภาวะต่างๆ หลวงพ่อพุธ (ฐานิโย) เคยกล่าวไว้ว่า “สมถะเริ่มเมื่อหมดความตั้งใจ วิปัสสนาเริ่มเมื่อหมดความคิด” ท่านกล่าวตรงไปยังลักษณะการเกิดขึ้นเองของสภาวะโดยไม่ได้บังคับ หรือคิดฟุ้งเอา การฝึกทั้งสองแนวทางอาศัยสติเป็นฐาน สติที่แท้เกิดขึ้นเอง บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่อาศัยว่าจำสภาวะได้ จึงมีสติ

การฝึกระดับจิต อาศัยการสืบค้นตนเองไปจนถึงสมมติฐานใหญ่ที่ยึดถืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อหรือข้อสรุปที่เรามักมีให้ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว สมมติฐานใหญ่เปรียบเสมือนธรรมนูญชีวิตที่เรากำหนดใช้กับตัวเอง เป็นปกติอยู่เองที่เวลาสืบค้นจนเจอธรรมนูญชีวิตแล้ว เราจะสะท้านสะเทือน เพราะหลายต่อหลายครั้งเราเองอาจจะไม่อยากเชื่อเลยว่า เราได้ยึดถือสมมติฐานนี้มาโดยตลอด และหลายต่อหลายครั้งที่สมมติฐานเหล่านี้อาจจะไม่ตรงต่อความเป็นจริงที่ปรากฎอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ภายใต้สมมติฐานใหญ่ เรามักมีปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติ ด่วนสรุปตัดสินอย่างรวดเร็วต่อเรื่องที่ปรากฎตรงหน้าว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดังนั้นจุดเริ่มต้นที่เป็นไปได้ประการหนึ่ง คือการสังเกตปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการด่วนสรุป การทึกทักเอา ความผิดหวัง เป็นต้น เมื่อพบกับปฏิกิริยาบางอย่างนี้ในตัวเรา ลองสืบค้นต่อไปว่า เราเชื่ออะไร เรามองโลกอย่างไร อาจเขียนออกมาเป็นประโยคหรือวลีเช่น “โลกนี้มีแต่สีขาว ไม่มีที่อยู่ให้กับสีดำ” “ไม่ควรมีใครรังเกียจฉันแม้แต่คนเดียว” “ผู้ชนะคือผู้ที่อยู่รอดเสมอ” “เกิดมาทั้งทีก็ใช้ชีวิตให้คุ้มค่า” “ฉันเท่านั้นที่รู้ทุกอย่าง คนอื่นไม่มีทางรู้ได้เท่าฉัน” เป็นต้น เมื่อสามารถสะท้อนสมมติฐานใหญ่เหล่านี้ออกมาได้ จากนั้นจึงเป็นการทดสอบสมมติฐานว่าจริงเท็จประการใด ซึ่งมีวิธีทดสอบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการให้เพื่อนช่วยบอกว่าเขาสังเกตเห็นอะไรในตัวเรา การสังเกตพฤติกรรมซ้ำๆ ของตนเอง การสังเกตแบบแผนทางความคิดของตนเอง ตลอดจนการสังเกตท่าทีที่เรามีต่อผู้อื่น เป็นต้น จนสามารถทำให้สมมติฐานใหญ่นั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่เข้ามาครอบงำเราได้อีกต่อไป

การฝึกทำงานกับเงา ด้วยการสังเกตในชีวิตประจำวันว่า เราหงุดหงิดรำคาญใจ หรือหลงใหลไปกับอะไรมากเป็นพิเศษ พูดในภาษาวัยรุ่นหน่อยก็ได้ว่า เรา “จี๊ด” “ปี๊ด” หรือ “ปลื้ม” ไปกับอะไร เราพึงตระหนักว่า มันอาจเกี่ยวข้องอะไรบางอย่างกับเงา วิธีที่ง่ายที่สุด (แต่อาจยอมรับยากที่สุด) คือ เราเกลียดอะไร สิ่งนั้นก็คือเงาของเรา สิ่งนั้นก็คือตัวตนที่เราไม่เอา ทิ้ง หรือเก็บกดมันเอาไว้ในจิตไร้สำนึก นอกจากสิ่งที่ “ปี๊ด” แล้ว เราอาจสังเกตจากการพลั้งปาก เผลอลงมือทำอะไรที่เราไม่คาดคิด เผลออ่านอะไรผิดๆ หรือเผลอได้ยินอะไรผิดๆ เป็นต้น สิ่งที่เผลอเหล่านี้เราอาจคิดว่า เป็นเรื่องเล่นๆ ตลกๆ แต่ลองพิจารณาดูให้ดี มันเกี่ยวข้องอะไรกับเงาที่เราเกลียดหรือไม่ การสังเกตเงายังมีอีกหลากหลายวิธี เช่น การสังเกตการกล่าวโทษผู้อื่นของตัวเรา การสังเกตความฝันซ้ำๆ หรือความฝันที่ทำให้เราหัวใจเต้นแรง การสังเกตท่าทีตีตลกกลบเกลื่อน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีที่ช่วยให้เรา “พบกับเงา” ที่อยู่ในมุมมืดของจิตใจ เมื่อพบแล้วก็มีโอกาสที่จะ “คืนรักให้กับเงา” ได้ด้วยกระบวนการทำงานกับเงา (ซึ่งต้องขออภัยที่ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด เพราะจะใช้เนื้อที่อีกมาก)

ข้อมูลที่ได้รับจากการฝึกทั้งสามพรมแดน จะทำให้มีโอกาสเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น เข้าใจโลกมากขึ้น เป็นหนทางแห่งการตื่นรู้ในยุคปัจจุบันที่ก้าวข้ามและหลอมรวมภูมิปัญญาในยุคต่างๆ ของมนุษย์ จิตที่รับข้อมูลอย่างรอบด้านนั้นเองจะเป็นผู้บูรณาการ จนเกิดปัญญาเห็นแจ้งในการดำรงอยู่กับโลก สามารถนำพาให้เราเผชิญกับความซับซ้อนของโลกได้อย่างเหมาะสม และสมบูรณ์ คือ สม อันแปลว่า พอดี และบูรณ อันแปลว่า เต็มรอบ ขอเพียงเราหมั่นฝึกฝนตนเองอย่างเต็มรอบพอดี อย่างน้อยก็ 3S ในช่วงชีวิตที่เรายังมีแรงฝึกกันได้ และจิตยังคงวิวัฒน์อยู่ การตื่นรู้เท่าทันโลกอันซับซ้อนก็จะบังเกิดขึ้นแก่ตัวท่านเอง
 
http://jitwiwat.blogspot.com/2010/02/3s.html
4699  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตวิวัฒน์ : ช่วยกันดูแลความคิดของตัวเราเอง เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 08:33:58


โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 27 กุมภาพันธ์ 2553

“ความคิด” ของมนุษย์เป็นพลังงานชนิดหนึ่งครับ

นักชีววิทยาชาวอังกฤษชื่อ รูเพิร์ต เชลเดรก ได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า

“สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีสนามของพลังงานร่วมกันอยู่” ที่เขาเรียกว่า “Morphic Resonance Field”

“สนามพลังของความคิดที่ร่วมกัน” นี้ ก็เหมือนกับที่มนุษย์ใช้บรรยากาศร่วมกัน เมื่อโลกร้อนขึ้นทุกคนก็จะถูกกระทบเช่นเดียวกันหมด ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

เชลเดรกได้สังเกตพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตต่างๆ มากมาย และเขารายงานว่ามีปรากฏการณ์ต่างๆ มากมายที่สนับสนุนสมมติฐานเรื่อง “สนามพลังร่วม” ที่ว่านี้ ตัวอย่างเช่น

เมื่อหลายร้อยปีก่อน ไร่นาในอังกฤษถูกวัวควายเดินย่ำจนเสียหาย ชาวนาก็เลยขุดร่องกั้นและวางแผ่นเหล็กเป็นช่องที่ใหญ่พอให้สัตว์เท้ากีบอย่างวัวควายเดินเข้าไปได้ แต่ไม่สามารถเดินผ่านได้ เพราะเมื่อฝูงวัวควายเดินเข้าไป กีบเท้าจะหลุดติดเข้าไปในช่องเหล็กที่ว่านี้ แผ่นเหล็กที่ว่านี้เรียกว่า “แคทเทิ้ลกริด” (Cattle Grid)

ปรากฏว่าในเวลาต่อมาวัวควายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าไม่เคยไปเที่ยวหรือไปดูงานในเกาะอังกฤษ เมื่อเห็นแผ่นแคทเทิ้ลกริดวางอยู่ วัวควายเหล่านี้จะเดินหนีไปเลย แถมคนอเมริกันยังหัวใส ไม่ต้องเสียเวลาทำแคทเทิ้ลกริดจริงๆ เพียงระบายสีบนพื้นให้เหมือนภาพของแคทเทิ้ลกริดเท่านั้น บรรดาวัวควายก็จะเดินเลี่ยงไปไม่ยอมเหยียบในพื้นที่ที่ระบายสีแบบนั้นอีกด้วย

ครั้งหนึ่งเมื่อนกชนิดหนึ่งในเมืองหนึ่งของอังกฤษ เรียนรู้ที่จะเจาะปากขวดนมวัวที่คนรีดนมวัวนำมาส่งและวางไว้หน้าบ้านในตอนเช้าได้ ก็ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ระบาดไปทั่วยุโรป ทั้งๆ ที่นกชนิดนี้เป็นนกเล็กๆ ที่ไม่สามารถบินไปไหนไกลๆ ได้

ในส่วนของมนุษย์ เราพบว่ามนุษย์ในแต่ละส่วนของโลกสามารถมีความคิดที่เหมือนๆ กันได้ ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้นไม่ได้มีการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยเลย เช่น มนุษย์ในแต่ละซีกโลกเริ่มรู้จักการเกษตรในเวลาไล่ๆ กัน ประดิษฐ์อักษรขึ้นมาใช้ในเวลาไล่ๆ กัน

หรือแม้แต่ “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” ของ ชาร์ล ดาร์วิน ก็มีหลักฐานว่า ในปีเดียวกัน มีนักชีววิทยาชาวมาเลเซียก็พูดถึงทฤษฎีในทำนองที่คล้ายคลึงกันมาก แต่ ชาร์ล ดาร์วิน ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ค้นพบ เพียงเพราะเขารายงานเร็วกว่า แต่ประเด็นก็คือ “ทำไมมนุษย์ในแต่ละซีกโลกถึงคิดถึงเรื่องราวเดียวกันได้ในเวลาใกล้เคียงกัน?”

ถ้ามองตามสมมติฐานของ รูเพิร์ต เชลเดรก นี้ มนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งก็น่าจะมี “สนามพลังร่วม” อยู่ด้วยกันกับมนุษย์ทั้งหกพันกว่าล้านคนบนโลกใบนี้

หมายความว่า ในขณะที่เรากำลังคิดอะไรอยู่ จะถูกบันทึกเข้าไปในสนามพลังร่วมของมนุษย์ และความคิดที่วิ่งอยู่ในหัวเราส่วนหนึ่งก็มาจากสนามพลังที่ว่านี้ด้วย

หรือหมายความว่า “ความคิดใดๆ” ของท่านผู้อ่านแต่ละท่านในขณะนี้ กำลังมี “ผลกระทบ” กับ “สนามพลังร่วมของมนุษย์” และ “กลับกันในทำนองเดียวกันด้วย”

เอ็กฮาร์ท โทลล์ (Ekhart Tolle) ผู้เขียนหนังสือขายดีที่ชื่อ The Power of Now และ The New Earth บอกไว้ว่า “พวกเราทุกคนควรจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความคิดที่อยู่ในหัวของเราว่า เราจะต้องไม่ยอมปล่อยให้ตัวเราทำให้โลกใบนี้ต้องปนเปื้อนไปด้วยความคิดด้านลบต่างๆ ของเราเอง”

คำสอนในพุทธศาสนา ท่านก็สอนให้เรา “คิดดีพูดดีทำดี” อยู่เสมอๆ ท่านติช นัท ฮันห์ พระชาวเวียดนามก็พูดถึงเรื่องทำนองนี้เสมอว่า เราจะต้องรับผิดชอบต่อ “สิ่งที่เราคิด” พูดและทำ

คือคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า โอเค เรื่องการพูดการกระทำที่ไม่ดีนั้นส่งผลกระทบในเชิงลบได้ แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจว่า “การคิด” คือเพียงแค่คิดจะมีผลกระทบมากมายขนาดนั้นได้จริงๆ เชียวหรือ?

ท่านผู้อ่านอาจจะลองนึกภาพเรื่องนี้เป็นแบบเดียวกันกับที่โรงงานอุตสาหกรรมหรือรถยนต์ทำให้บรรยากาศส่วนรวมปนเปื้อนไปด้วยก๊าซพิษ ฉันใดฉันนั้นเลยครับ

“บ่อพลัง” หรือ “สนามพลังของความคิด” ที่เป็น “ของส่วนรวม” นั้น สามารถ “ส่งผลกระทบ” ถึงมนุษย์ทุกๆ คน ไม่เว้นเราๆ ท่านๆ เลยครับ

วิธีการที่ดีก็คือ เราจะต้องฝึก “การรับรู้” ของเราให้ “ฉับไว” อยู่เสมอ

เราต้อง “รู้ทันความคิด” ที่กำลังก่อเกิดก่อตัวอยู่ในหัวสมองของเรา

“ความคิดด้านลบ” จะเกิดได้ยากขึ้น ถ้าเรา “รู้ตัวรู้ทัน”

และหากว่าเรายังสามารถ “ดำรงการรู้ตัวรู้ทันให้ยาวขึ้นอีก” แม้จะมีความคิดด้านลบผลุบขึ้นมาบ้าง พลังงานของความคิดด้านลบที่มีการรู้ตัวเกาะติดอยู่นี้ จะไม่รุนแรงมากเท่าความคิดด้านลบที่พลุ่งพล่านฟุ้งซ่านแบบม้าพยศ

ผมรู้สึกเห็นด้วยกับ เอ็กฮาร์ท โทลล์ เป็นอย่างยิ่งว่า บางทีแล้วสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง “หน้าที่สำคัญพื้นฐาน” ของเขาก็คือ “การรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองกำลังคิดอยู่” นั่นเอง

“รับผิดชอบ” เหมือนกับที่เราจะไม่สร้างควันพิษให้กับชั้นบรรยากาศ “รับผิดชอบ” เหมือนกับที่เราจะพยายามรณรงค์ประหยัดพลังงานเพื่อลดภาวะโลกร้อน เหมือนกับที่เราจะดูแลสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเราให้ดีให้สะอาด ไม่ทิ้งขยะให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อน เหมือนกับที่เราจะดูแลคนใกล้ชิดของเราหรือดูแลร่างกายของเราเองให้สะอาดอยู่เสมอ

“ความคิด” ของมนุษย์นั้นเป็นพลังงานอย่างหนึ่ง “ความคิดที่ไม่ดี-ด้านลบต่างๆ” ก็เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานที่ทำให้ “สนามพลังส่วนรวม” ปนเปื้อน

ถ้าเราอยากให้โลกใบนี้ดีขึ้นจริงๆ เราต้องเริ่มด้วยการ “รับผิดชอบ” ต่อ “สิ่งที่เรากำลังคิดอยู่ในหัวของเรา” นั่นเอง

คำอธิบายด้วยสมมติฐานเรื่อง “สนามพลังร่วม” ของ รูเพิร์ต เชลเดรก ในบทความนี้คงพอจะช่วยให้เกิดเข้าใจในเชิงวิทยาศาสตร์ได้บ้างกระมังครับ
 
http://jitwiwat.blogspot.com/2010/02/blog-post_26.html
4700  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / ความทรงจำนอกมิติ : โลกกับแผ่นดินไหว-ทำไมถึงถี่และรุนแรงจัง? เมื่อ: 15 มีนาคม 2553 07:44:06
<CENTER></CENTER>


พืชพันธุ์ป่าไม้กับสัตว์โลกทั้งหลายจำนวนมาก รวมทั้งมนุษย์เรา-ที่มาทีหลังเพื่อน-ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินของโลกในวันนี้ ในตอนแรกล้วนแล้วแต่ไม่รู้ว่าเราอยู่บนแผ่นดินแผ่นหินเปลือกโลก (crust) ที่สุดแสนจะบางมากเพียงประมาณ 10-40 กิโลเมตร ลิทโธเสฟียร์ (lithosphere) คือเปลือกโลกที่เป็นหินเป็นภูเขาจะมีความหนามากกว่านั้นเล็กน้อย คือหนาประมาณ 0-60 กิโลเมตร นั่น-เมื่อเทียบกับขนาดของโลกที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึงราวๆ 12,000 กิโลเมตร แถมที่สำคัญ แผ่นดินแผ่นหินดังกล่าวยังไหลเลื่อนเคลื่อนที่ตลอดเวลา เนื่องจากการที่มันลอยบนของเหลวที่ร้อนจัด โดยเคลื่อนที่ช้ามากเพียงหนึ่งนิ้วต่อปีไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตก เพราะโลกเราหมุนรอบตัวเองไปรอบๆ ดวงอาทิตย์แบบทวนเข็มนาฬิกา จริงๆ แล้วสถิติจะบอกเราว่า ทั่วทั้งโลกจะมีแผ่นดินสั่นไหวน้อยๆ โดยสังเกตไม่รู้ไม่เห็นในทุก 30 วินาที แต่จะมีขนาดใหญ่ที่รุนแรงราวๆ 4-5 มาตรของริกเตอร์ขึ้นไปประมาณ 15-20 ครั้งต่อปี แต่แทบทั้งหมดจะมีความรุนแรงอยู่แค่นั้น แต่ในระยะหลังๆ มานี้โลกเรามีแผ่นดินไหวจริงๆ ถี่ขึ้นกว่านี้ และที่สำคัญอย่างยิ่ง ในส่วนที่ใหญ่กว่าจะมีความรุนแรงมากว่าก่อนหน้านี้มากนัก เฉพาะปีนี้ปีเดียวและเพิ่งผ่านไปสองเดือนเศษๆ เท่านั้น โลกเราได้มีแผ่นดินไหวตั้งแต่ร่วม 6 มาตรของริกเตอร์ไปแล้วถึงแปดครั้ง รวมทั้งที่ไต้หวัน-ตุรกีซึ่งมีขนาดราวๆ 6-7 มาตรของริกเตอร์ มีสองครั้งที่มีขนาดใหญ่เกินกว่า 8.5 ริกเตอร์สเกล

ริกเตอร์สเกล หรือมาตรวัดของชาร์ลส์ ริกเตอร์ นั้น เป็นมาตรที่เราใช้วัดความหนักหน่วงรุนแรง (magnitude) ของแผ่นดินไหว จริงๆ แล้วมาตรของริกเตอร์สเกลนี้จะมีแค่ 9 สเกลเท่านั้น แต่แผ่นดินไหวที่ไหนที่มีขนาดหนักเกินกว่า 9 มาตรของริกเตอร์ เราจะถือว่าเกินมาตรปกติของแผ่นดินไหวของริกเตอร์ บางคนจึงคิดว่าริกเตอร์สเกลมี 10 ระดับ ผู้เขียนถึงได้คิดว่าเพื่อให้จำง่าย ทั้งสมัยก่อนไม่ค่อยพบกัน ที่รู้มาก็มีเพียงครั้งเดียวที่ชิลีเหมือนกันในปี 1960 ขนาด 9.7 ริกเตอร์ และก็ที่สุมาตราในมาตรที่ไม่น้อยกว่ากันเท่าไหร่ ซึ่งได้ก่อสึนามิที่ชายฝั่งทะเลอันดามันที่บ้านเรา และมีคนตายไปหลายหมื่นคนเมื่อปลายปี 2004 บางคนที่ว่าจึงนับให้ริกเตอร์สเกลมีทั้งหมดเป็น 10 ระดับเสียเลย อีกอย่างหนึ่งต่อนี้ไปดูจากปริมาณแผ่นดินไหวที่มีถี่ขึ้นและจะรุนแรงหนักขึ้นดังที่สถิติมันบอก แผ่นดินไหวจึงมีแต่หนักหน่วงขึ้น ฉะนั้นต่อไปนี้ระดับริกเตอร์สเกลที่มีเพียง 9 หรือ 8 ระดับด้วยซ้ำคงจะไม่พอ อนึ่ง-ดังที่ผู้เขียนได้เขียนมาแล้วว่า อาจจะมีการย้ายขั้วโลกจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก (ซึ่งเคยมีมาแล้วหลายครั้งในอดีต) และอาจจะเกิดอีกเมื่อไรก็ได้หรือเร็วๆ นี้ก็ได้ ระดับของริกเตอร์สเกลนั้น แต่ละระดับจะมีความหนักหน่วงรุนแรงนับเป็น 10 เท่าของระดับที่ต่ำกว่าเสมอไป พูดง่ายๆ ให้เอา 10 ไปคูณกับระดับที่มีความหนักหน่วงรุนแรงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหนึ่งระดับ ฉะนั้นระดับ 6 อาจจะยกตึกขนาดหลายหมื่นตันได้อย่างสบายๆ แต่ขนาด 7 จะให้พลังงานถึง 10 เท่าของระดับ 6

การย้ายที่ของแผ่นดินแผ่นหินของเปลือกโลก (lithosphere) นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของโลกเรา เพียงแต่เรายังไม่รู้ว่าแผ่นดินไหวและมหาสมุทรไหวมันเกิดได้อย่างไร? เรารู้แต่สิ่งที่ตามองเห็นหูได้ยินเท่านั้น มิน่าเราถึงเชื่อแต่สิ่งที่อวัยวะสัมผัสบอกเราเท่านั้น เราอยู่กับทฤษฎีกับเหตุผลที่เราใช้ความคิดคิดขึ้น ความรู้ที่เรามีทั้งหมด ครึ่งหนึ่งจึงเป็นความเชื่อที่เชื่อตามๆ กันมาและเราคิดว่ามีเหตุผล อีกครึ่งหนึ่งถึงเป็นความรู้ที่เรารู้จริงๆ เพราะเราเห็นหรือได้ยินหรือสัมผัสได้ และเป็นความจริงทางโลกเท่านั้น เพราะฉะนั้น ปฐพีวิทยา เรื่องของโลก เรื่องของดินของหินนั้น ก็เช่นเดียวกับความรู้ทั้งหลาย คือครึ่งหนึ่งเราไม่รู้ ครึ่งหนึ่งเรารู้เพราะตาเราเห็น เช่นรู้เพราะเชื่อตามที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า 99% ของธาตุที่ประกอบเป็นแผ่นเปลือกโลกนั้นมีอยู่สิบธาตุเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าเปลือกโลกมีขึ้นมาอย่างไร ทวีปหรืออเมริกาและประเทศไทยเรามีมาอย่างไร? ทั้งหมดเป็นแค่ทฤษฎีที่ไม่มีข้อพิสูจน์ตลอดกาล อยู่ที่ใครเชื่อมากน้อยเพียงใด หรือมีเหตุผลที่เราสมควรเชื่อตามหรือไม่?

ฉะนั้น ทฤษฎีแผ่นเปลือกโลก (plate tectonic theory) ที่มีขนาดใหญ่มากๆ 6 แผ่น และมีขนาดเล็กย่อยๆ อีกสิบกว่าแผ่น (ซึ่งเกิดจากการแตก-เบียดเสียดกันที่รอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกแผ่นใหญ่ที่ว่านั้น) ในปัจจุบันนี้ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฏ แต่นักปฐพีวิทยาบางคนคาดกันว่า เป็นธรรมชาติของโลกที่แผ่นเปลือกโลกใหญ่ๆ จะต้องย้ายเร็วขึ้นเป็นวัฏจักรของมัน และแผ่นเปลือกโลกแผ่นใหญ่ที่มีหกแผ่นนั้น ขณะนี้บางแผ่น เช่น แผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกได้มีการย้ายที่มีอัตราเร่งที่เร็วขึ้นมาก และนี่เองอาจอธิบายการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศชิลี ขนาด 8.7 มาตรของริกเตอร์ ที่น้อยกว่าแต่มีจุดศูนย์กลาง (focus) ที่ลึกกว่าแผ่นดินไหวเมื่อปี 1960 ที่มีความรุนแรงถึง 9.6 ริกเตอร์สเกล แต่การไหวที่ประเทศชิลีเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ถึงกับทำให้แกนโลกเอียงไปทางตะวันตกถึง 8 ซม. (ซึ่งได้เคยมีรายงานมาแล้ว (Sciencetific American, 1996 ว่าเพราะน้ำที่กักเอาไว้ที่เขื่อนฮูเวอร์ ทำให้การหมุนรอบตัวเองของโลกฉุดให้แกนโลกต้องเอียงไปทางทิศตะวันตกก่อนหน้านี้อยู่แล้วถึงสามนิ้ว เพราะฉะนั้นแกนโลกหรือขั้วโลกเหนือในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ได้ย้ายไปทางทิศตะวันตกไปแล้ว รวมกันประมาณ 15.5 ซม.) หากเกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณทวีปอเมริกาใต้หรือบริเวณแอฟริกาใต้สุดอีก และหากแผ่นดินไหวนั้นมีจุดที่ปล่อยพลังงาน (focus) ลึกใต้ผืนดินไปเยอะๆ หรือไม่ก็แผ่นดินไหวในทวีปแอนตาร์กติกเอง ก็อาจทำให้มีการย้ายขั้วโลกได้ การย้ายขั้วโลกเหนือไปมากๆ อาจจะก่อความล่มสลายหายนะให้กับสัตว์โลก รวมทั้งมนุษยชาติด้วยอย่างรุนแรง ยิ่งกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มฮิโชิมาและนางาซากิระเบิดพร้อมๆ กันนับแสนนับล้านลูกทีเดียว

อย่าลืมว่าการหมุนรอบตัวเองของโลกและแกนโลกนั้น ให้เรานึกถึงลูกข่างที่กำลังหมุนติ้วๆ อยู่ตลอดเวลา และฐานของมันหรือปลายล่างสุดของลูกข่างที่หมุนกับพื้น หรือทวีปแอนตาร์กติกหรือแอนตาร์กติกานั้น เป็นเทือกเขาสูงเหมือนเทือกเขาแอลป์ในยุโรป แถมยังมีน้ำแข็งปกคลุมบางแห่งที่หนาถึงสี่กิโลเมตร เราพอนึกภาพออกว่าขั้วโลกใต้มันแน่นหนาและหนักเพียงไร นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่ามันหนักและไม่เปลี่ยนแปลงมากเลย มาตั้งแต่มีแผ่นดินแผ่นหินที่ก่อประกอบเป็นทวีปกอนดาวันแลนด์ ทวีปดึกดำบรรพ์ที่รวมทวีปทั้งหมดของโลกไว้-รวมทั้งทวีปแอนตาร์กติกเอง-เมื่อประมาณ 600 ล้านปีก่อน เพราะฉะนั้น ฐานของลูกข่างหรือขั้วโลกใต้จึงน่าจะไม่ย้ายตำแหน่งเลยมาตั้งแต่ต้น ตรงกันข้ามกับขั้วโลกเหนือที่เคยย้ายที่มาแล้วถึง 200 ครั้งในกว่า 600 ล้านปีก่อน หรืออย่างน้อย 16 ครั้งในระยะหลังหรือไม่กี่ล้านปีมานี้ (Charles Hapgoods: Paths of the Pole, 1970) ที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เขียนคำนำให้และยกย่องแฮปกูดไว้เป็นพิเศษในหนังสือเรื่องเดียวกันที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านั้น ก่อนที่ไอน์สไตน์จะเสียชีวิตในปี 1955 แฮปกูดบอกว่าการย้ายที่ของขั้วโลกเหนือนั้นในทุกๆ ครั้งจะย้ายไม่เกิน 30 ดีกรี หรือ 2,000 ไมล์ (3,200 กิโลเมตร)

ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง มีอยู่อีกสองประเด็นที่ชาร์ลส์ แฮปกูด คิดจากการที่ตนค้นคว้ามา นั่นคือ หนึ่งการย้ายขั้วโลก (เหนือ) มักจะเกิดพร้อมๆ กับการเกิดธารน้ำแข็ง หรือทิศทางไหลของเกลซิเอชัน (glaciation) และการเกิดยุคน้ำแข็งที่เกี่ยวข้องกับการลดต่ำของสนามแม่เหล็กโลก (geomagnetics or magnetosphere) และการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ สอง-การย้ายขั้วโลกซึ่งความจริงก็คือการย้ายแผ่นเปลือกโลกทั้งหมดเลย ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นวันๆ แต่จะกินเวลานานหลายปีหรือบางทีนับร้อยๆ ปี แต่เมื่อการย้ายแผ่นเปลือกโลกได้เกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีอัตราเร่งเกิดขึ้นมากโดยเราไม่มีทางรู้ตัวเลย หลักฐานที่ชาร์ลส์ แฮปกูด ใช้คือ การใช้การสลายตัวของกัมมันตภาพรังสีของคาร์บอนและไอโอเนียม (radioactive carbon and ionium) ด้วยการตรวจของทั้งสองประการ แฮปกูดบอกว่าด้วยหลักฐานดังกล่าว เขาคิดว่าขั้วโลก (เหนือ) ในตำแหน่งที่เรารู้ว่าอยู่ในตำแหน่งของมันในปัจจุบันนี้นั้น ก่อนหน้านี้เมื่อราวๆ 18,000 ปีก่อน มันได้เริ่มย้ายจากตำแหน่งที่มันเคยอยู่ (ที่กรีนแลนด์) มาอยู่ที่อ่าวฮัดสันซึ่งต่ำกว่าตำแหน่งในปัจจุบันมาก คืออยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 60 องศาเหนือ และเส้นรุ้งที่ 87 องศาตะวันตก ซึ่งในตอนนั้นเป็นเวลาที่ธารน้ำแข็งของอเมริกาเหนือเกิดมีมากที่สุด และเป็นช่วงเวลาที่อากาศหนาวจัดที่สุดของยุคน้ำแข็ง (ซึ่งเริ่มราวๆ 90,000 ปีก่อน และน้ำทะเลที่แข็งได้ทำให้มีทางเดินบนพื้นดินสูงถึง 400 ฟีต เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปอเมริกาเหนือที่อะแลสกาพอดี)

ยุคน้ำแข็งไม่ว่าใหญ่หรือเล็กเป็นคนละเรื่อง หรือมีคนละเหตุปัจจัยกับภาวะโลกร้อนที่เป็นฝีมือของมนุษย์กับเทคโนโลยี และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมการตลาดเสรี ในขณะที่ยุคน้ำแข็ง-ไม่ว่าจะมีการย้ายขั้วโลก (เหนือ) หรือไม่?-เป็นเรื่องของวัฏจักรธรรมชาติ และยุคน้ำแข็งนั้นนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสัมพันธ์กับจุดดำในดวงอาทิตย์ (sun spots) และการหายไปของแมกนีโตสเฟียร์ของโลก ซึ่งทั้งสองกรณีก็กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้พอดี แถมเรื่องของแผ่นดินไหวที่มีทั้งถี่ขึ้นและรุนแรงหนักหน่วงยิ่งขึ้น จากการย้ายแผ่นเปลือกโลกแผ่นใหญ่ที่มีหลายๆ จุดและหลายๆ แผ่นด้วย เราไม่รู้ว่าแผ่นดินไหวใหญ่จริงๆ และการย้ายแผ่นเปลือกโลกพร้อมๆ กันทั้งหมดหรือแผ่นใหญ่ๆ เพียงบางส่วน อันเป็นสาเหตุของการย้ายตำแหน่งของขั้วโลกเหนือ-ที่ชาร์ลส์ แฮบกูด บอกว่าการย้ายที่แต่ละครั้งจะมีไม่เกิน 30 ดีกรี และไม่เกิน 2,000 ไมล์ที่ได้กล่าวมา แล้วจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? เพราะธรรมชาตินั้นเราจะทำนายอย่างเป๊ะๆ ไม่ได้เลย ไม่เหมือนกับภาวะโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ อย่างน้อยก็มากกว่าครึ่งหนึ่งที่บอกได้บ้าง เช่นเมื่ออุณหภูมิของโลกในเทมเพอเรตโซน (ยุโรปและตอนเหนือของสหรัฐอเมริกากับแคนาดา) เกินกว่า 5 องศา และก๊าซคาร์บอนในบรรยากาศเกินกว่า 390-400 ppm ซึ่งกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ ผู้เขียนคาดว่า-ตรงตามคำสัมภาษณ์ที่ให้กับหนังสือพิมพ์การ์เดียนเมื่อปีที่แล้วของนักวิทยาศาสตร์ใหญ่อังกฤษ เจมส์ ลัฟล็อก เพียงย่นเวลามาใกล้ๆ อีกสักหน่อย-โลกเราจะมีมนุษย์เหลืออยู่ไม่ถึง 20% ทั่วทั้งโลก ที่เกิดขึ้นเพราะภาวะโลกร้อนและน้ำท่วมโลก

ผู้เขียนคิดเอาเอง และเป็นไปได้ที่อาจจะคาดหมายว่าภัยธรรมชาติอันนี้คงจะมาก่อน และที่จะมาทีหลังระยะใกล้ๆ นั้น คือแผ่นดินไหวครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกเคยมีมา จะเกิดทวีปอเมริกา (ใต้หรือเหนือ) พร้อมๆ กันนั้นก็จะมีการย้ายแผ่นเปลือกโลก ที่จะทำให้เกิดการย้ายตำแหน่งของขั้วโลกเหนือไปทางทิศตะวันตก ประเทศไทยจะย้ายที่ไปทางทิศเหนือกับตะวันตก จะเข้าไปใกล้ๆ ขั้วโลกเหนือที่ตำแหน่งใหม่อีกนับเป็นพันๆ กิโลเมตรทีเดียว บวกกับยุคน้ำแข็งที่จะมาถึงพร้อมๆ กันนั้น เนื่องจากการหายไปของจุดดำของดวงอาทิตย์ (Maunder minimum) จึงอาจมีหิมะตกได้ดังที่อาจารย์อาจอง ชมสาย ณ อยุธยา ทำนายไว้.
 
http://www.thaipost.net/sunday/140310/19303
หน้า:  1 ... 233 234 [235] 236
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 2.393 วินาที กับ 26 คำสั่ง