[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
21 พฤษภาคม 2567 08:51:03 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 117
81  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / “ชาด” เครื่องสำอางที่ทำให้สาวจีนโบราณแก้มแดงระเรื่อ มาจาก สารขับถ่ายของแมลง”? เมื่อ: 16 ธันวาคม 2566 13:10:13

"Beauty Playing Go", a painting by an unknown Chinese artist of the Tang Dynasty period; the painting shows a woman playing Go.

“ชาด” เครื่องสำอางที่ทำให้สาวจีนโบราณแก้มแดงระเรื่อ สุขภาพดี มาจาก “สารขับถ่ายของแมลง”?

ผู้เขียน - ปดิวลดา บวรศักดิ์
เผยแพร่ - เว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2566


“ชาด” เป็น เครื่องประทินโฉม ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน บ้างก็ว่าเกิดขึ้นในสมัยโจ้วหวังหรือราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล บ้างก็ว่าเกิดอย่างน้อยก็น่าจะไม่เกินสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ (ราชวงศ์ฉิน) หรือราชวงศ์ฮั่น แม้ไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วชาดถูกใช้เพื่อแต่งแต้มแก้มให้แดงระเรื่อตั้งแต่เมื่อใด แต่ใน ประเทศจีน อันยิ่งใหญ่กลับมีสูตรนานาชนิดที่รังสรรค์ “ชาด” ให้ออกมาสวยพร้อมเสิร์ฟเป็นจำนวนมาก และไม่ได้มีเพียง “ชาด” ที่ทำมาจากแร่หรือดอกไม้เท่านั้น ทว่าถึงขั้นทำมาจาก “สารขับถ่ายของแมลง”?

ชาด จัดเป็น เครื่องประทินโฉม หรือเครื่องสำอาง มีสีแดงเป็นเอกลักษณ์ มักใช้ทาบริเวณแก้ม ปาก เพื่อให้ผิวเปล่งปลั่งฝาดแดงระเรื่อ สุขภาพดี เหมือนคนดื่มน้ำครบ 8 แก้วต่อวัน

อุปกรณ์เพิ่มความงามนี้มีหลากชนิด เริ่มต้นจากสมัยโบราณ ซึ่งอย่างน้อยก็น่าจะราชวงศ์โจว มักใช้แร่หรือจูซาเพื่อเสริมเติมแต่งความงาม โดยเป็นแร่ชนิดหนึ่งที่มีสีม่วงแดง ทำให้เป็นผง ก่อนจะผสมกับน้ำดอกหงฮวา

ก่อนที่ในสมัยราชวงศ์ฮั่นจะเกิดชาดจากดอกไม้ ซึ่งก็คือ “ชาดดอกหงหลาน” โดยชนเผ่าซุงหนูได้นำมาเผยแพร่ในจีนเนื่องจากศึกสงคราม จนหญิงจีนมากหน้าหลายตาได้รับวัฒนธรรมความงามนี้มา และเริ่มแต่งแต้มใบหน้าด้วยสีแดงจากชาดดอกไม้

“ชาดดอกหงหลาน” นี้ทำมาจากดอกหงหลาน มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เหลียงฮั่นและซีอวี้ (เอเชียกลาง) มีรสเผ็ด ลักษณะอุ่น ไม่มีพิษ จึงเหมาะกับการทำชาด

วิธีการทำชาดด้วยดอกหงหลาน ใน “ฉีหมินเย่าซู่ เล่มที่ 5” โดยเจี่ยซือเสีย สมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย ระบุไว้ว่า ต้องฆ่าดอกไม้ (หรือคือตำดอกไม้ให้ละเอียดนั่นแหละ) เสียก่อน ถึงจะเริ่มทำชาดได้ ในการฆ่าดอกไม้มีดังนี้

“นำดอกหงหลานมาตำให้ละเอียด ล้างด้วยน้ำ แล้วใส่ถุงผ้าคั้นน้ำสีเหลืองทิ้ง ตำอีก ล้างด้วยน้ำซาวข้าวฟ่างผสมกับน้ำส้มสายชูหมัก แล้วใส่ถุงผ้าคั้นน้ำ ได้น้ำสีแดง กากอย่าทิ้ง นำไปใส่ในอ่างกระเบื้อง ปิดผ้า พอรุ่งเช้านำมาตำให้ละเอียด วางบนเสื่อนำไปตากแดดพอหมาด แล้วปั้นเป็นแผ่น ในการปั้นต้องไม่แห้งเกินไป ให้ชื้นเล็กน้อย”

เมื่อฆ่าดอกไม้หรือตำดอกไม้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาทำชาด ซึ่งระบุไว้ต่อมาว่า

“นำต้นลั่วหลี ต้นหลีเตี้ยว และต้นเฮามาเผาให้เป็นขี้เถ้า ถ้าไม่มีใช้ขี้เถ้าหญ้าก็ได้ แช่น้ำแล้วรินเอาแต่น้ำใส น้ำแรกที่ได้เข้มข้นเกินไป ใช้ฆ่าดอกไม้ไม่ได้ เอามาซักผ้าเท่านั้น ใช้น้ำที่แช่ครั้งที่ 3 นำมาขยำกับดอกไม้ ทำให้สีสวย ขยำ 10 รอบ ออกแรงเต็มที่ ใส่ถุงผ้าคั้นเอาน้ำ ใส่ชามกระเบื้อง นำทับทิมเปรี้ยวสองสามผล เขี่ยเมล็ดออก ตำละเอียด ผสมกับน้ำซาวข้าวฟ่างเล็กน้อย

คั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำคั้นดอกไม้ ถ้าไม่มีทับทิม ใช้น้ำส้มสายชูหมักกับน้ำซาวข้าวแทน ถ้าไม่มีน้ำส้มสายชู ใช้น้ำซาวข้าวที่เปรี้ยวจัดก็ได้ เติมแป้งข้าวเท่าพุทราจีน ถ้าแป้งเยอะจะทำให้ได้สีออกขาว ใช้ไม้ไผ่สะอาดคนเป็นเวลานาน ปิดฝาตั้งไว้ข้ามคืน แล้วรินน้ำใสทิ้งให้หมด ใส่ถุงผ้าแขวนทิ้งไว้ 1 วัน วันรุ่งขึ้นก็แห้งหมาด ๆ ปั้นเป็นแท่งเล็กขนาดครึ่งหนึ่งของเชือกป่านผึ่งลมให้แห้งก็ใช้ได้”

ไม่เพียงแค่ดอกหงหลานเท่านั้น ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำชาด เพราะยังมี “ดอกซานเยียนจือ” ที่ทำให้เกิด ชาดซานฮวา, ชาดฮวาลู่ “ดอกกุหลาบ” ที่ทำให้เกิด ชาดกุหลาบ รวมไปถึง “ดอกซานหลิว” หรือ “ดอกตู้เจวียน” ที่มาของชาดดอกซานหลิว เป็นต้น

การใช้ชาดแต่งหน้าปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์จีนเรื่อยมา จนในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงก็เกิด “ชาดหูเยียนจือ” ที่ทำมาจาก “สารขับถ่ายของแมลง” อย่าง “จื่อเหมา” ซึ่งปรากฏในตำราแพทย์ “ว่ายไถมี่เย่า” โดยหวังทาว ในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งขณะนั้นยังคงเป็นเพียงกรรมวิธีภายในตระกูลไว้ว่า

“จื่อเหมา 1 ชั่ง บดละเอียด ไป๋ผี (เปลือกของต้นเว่ยเหมา-แยกต่างหาก) 8 สลึง บดละเอียด หูถงเล่ย (ยางไม้ต้นหยางหลิ่ว) ครึ่งตำลึง น้ำตาลกรวดเปอร์เซีย 2 ช้อน

เตรียมวัตถุดิบทั้งสี่ นำน้ำ 8 เซิงใส่ในภาชนะโลหะ ต้มด้วยไฟแรงจนเดือดพล่าน เติมจื่อเหมา ต้มจนเดือด เติมไป๋ผี คนให้ทั่ว จากนั้นเติมหูถงเล่ยและน้ำตาลกรวด ต้มจนเดือด รอให้จื่อเหม่า ต้มจนเดือด รอให้จื่อเหมาตกตะกอนก็ใช้ได้ นำมากรองด้วยผ้าบาง ใช้ก้อนสำลีหรือผ้าจุ่มลงไปขนาดใหญ่เล็กตามใจชอบ พอจุ่มเสร็จใช้ไม้ไผ่ประกบเหมือนเนื้อเค็ม นำมาย่างบนเตาถ่าน ย่างจนแห้งแล้วจุ่มใหม่ ทำเช่นนี้หกเจ็ดครั้งก็ใช้ได้ ถ้าทำ 10 ครั้งขึ้นไปยิ่งดี สีจะเข้มสวยงาม” 

แม้ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะไม่นิยมนำชาดจากแหล่งธรรมชาติมาเสริมเติมแต่งใบหน้าแล้ว เนื่องจากเครื่องสำอางสมัยใหม่มีพัฒนาการไปมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีต “ชาด” เป็นเครื่องสำอางที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ขาดไม่ได้

82  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / พระอินทโมลี (ช้าง) วัดบรมธาตุ จังหวัดชัยนาท เมื่อ: 11 ธันวาคม 2566 12:25:29


พระอินทโมลี (ช้าง)
วัดบรมธาตุ จังหวัดชัยนาท (พ.ศ.๒๓๘๕-๒๔๖๕)

พระอินทโมลีศรีบรมธาตุวรวิหาร สุวิจารรณ์สังฆปาโมกข์ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ท่านมีนามเดิมว่าช้าง เกิดที่บ้านคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เมื่อเดิน แปด พ.ศ.๒๓๘๒ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาชื่อโชติ มารชื่อบัว ท่านเป็นบุตรคนโต มีสุขภาพร่างการแข็งแรงสมบูรณ์ บิดาจึงตั้งชื่อว่าช้าง เป็นคนอัธยาศัยดี มีเมตตากรุณามาแต่เด็ก การศึกษา เมื่อท่านอายุ ๙ ขวบ ย้ายไปอยู่ในเขตท้องที่อำเภอเมือง บิดาได้นำไปฝากให้ศึกษาเล่าเรียนกับพระครูเมธังกร (จู) วัดพระบรมธาตุ ด้วยท่านมีสติปัญญาดีเฉลียวฉลาดจึงเป็นที่ยกย่องและโปรดปรานของพระครูเมธังกร พออายุได้ ๑๓ ปีจึงบรรพชาเป็นสามเณรและเริ่มศึกษาภาบาลี เช่น คัมภีร์มูลกัจจายน์ธรรมบท และมงคลทีปนี จนแตกฉานสามารถแปลข้อความจากภาษาบาลีเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการคงวัดบางกะพี้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายาว่า อินทสโร หลังจากได้ศึกษาด้านคันถธุระ จนสามารถค้นคว้าหลักธรรมะได้อย่างดีแล้วจึงมุ่งทางด้านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยได้รับการถ่ายทอดหลักปฏิบัติจากพระครูอินทชาติวรญาณ พร้อมทั้งเชี่ยวชาญด้านอิทธิปาฏิหาริย์ เช่น เสกของหลักให้เบาเหมือนนุ่น ร่นระยะทางให้สั้นได้

หน้าที่การงานและสมณศักดิ์ : พ.ศ.๒๔๑๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นฐานานุกรมในพระครูเมธังกร นามว่าพระใบฎีกาช้าง กาลต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ฯ สืบต่อจากเจ้าอาวาสองค์ก่อน ส่วนจะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันเดือนปีอะไรไม่มีหลักฐานแน่นนอน จึงมิอาจทราบได้นอกจากคะเนตามอายุการปกครองวัด คงจะในราวระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๔๓ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร มีราชทินนามว่าพระครูอินทโมลี พร้อมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย พ.ศ.๒๔๔๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะเมืองชัยนาท พ.ศ.๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระอินทโมลีบรมธาตุวิหารสุวิจารณ์สังฆปาโมกข์

ความดีที่ควรยกย่อง ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ท่านได้พัฒนาวัดโดยการบูรณะก่อสร้างกุฎิ วิหาร และสนับสนุนการศึกษาเป็นอย่างดี การปฏิบัติธรรมของท่านได้รับยกย่องว่าเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ ถือสันโดษ ยึดมั่นในระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ของประเพณีจนเป็นที่เกรงขามกันโดยทั่วไป อย่างเช่นตามคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คือ เจ้าเมืองชัยนาทขี่ม้าออกตรวจการเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรในเขตท้องที่และได้ขี่ม้าเข้าไปในวัดโดยไม่ถอดหมวก พระอินทโมลีได้ใช้อำนาจอาชญาวัด ใช้ไม้ตีเจ้าเมืองพร้อมทั้งถามว่า เข้ามาในวัดทำไมไม่ถอดหมวก เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปในสมัยนั้น หลังจากได้รับถ่ายทอดวิชาจากพระครูอินทรชาติวรณาณ ทั้งด้านวิปัสสนากรรมฐานวิชาไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา การปลุกเสก จนเป็นที่พอใจของอาจารย์แล้วท่านก็ได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชาดังกล่าวจนมีคนมาขอศึกษากับท่านมากมายและตัวท่านเองก็มีวิชาอาคมเสมอกับพระครูวิมลคุณากร(ศุข) ถึงกับคนเก่าๆ ของเมืองชัยนาท เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อช้างกับหลวงพ่อวัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านชอบพอกันมาตั้งแต่เด็ก มีวิชาดีด้วยกันทั้งคู่ เคยทดสอบวิชากันเช่นหลวงพ่อศุขวัดปากคลองฯ สร้างเสือสมิง หลวงพ่อช้างวัดพระบรมธาตุฯ สร้างควายธนู ทั้งเสือสมิงและควายธนูต่างก็นทำอะไรกันไม่ได้ หมายความว่ามีวิชาเสมอกัน  อนึ่ง เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นตามลำน้ำเจ้าพระยา มาถึงวัดพระบรมธาตุฯ ท่านนำพระสวดมนต์ถวายพระพร จนได้รับคำชมเชยว่าเสียงดัง ฟังชัด แม่นยำ และได้รับพระราชทานผ้ากราบ ผ้ารองย่าม เป็นที่ระลึก พระอินทโมลี (ช้าง) อาจารย์ผู้ยิ่งยงแห่งวัดพระบรมธาตุวรวิหาร หมู่ที่ ๖ ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท มีชื่อเสียงทางด้านเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ ยึดมั่นในกฎเกณฑ์ประเพณี ได้ถึงแก่กาลมรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ ๒๔๖๕ ขณะอายุของท่านได้ ๘๑ ปี
83  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / “พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ” พระอิสริยยศที่ไม่คุ้นหู มีที่มาจากไหน? เมื่อ: 08 ธันวาคม 2566 15:55:23


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระองค์เจ้าหญิงบุตรี

“พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ” พระอิสริยยศที่ไม่คุ้นหู มีที่มาจากไหน?

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - นิตยสารศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2566


พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เป็นพระอิสริยยศของเชื้อพระวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทุกวันนี้หลายคนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน แล้วคำนำพระนามนี้มีที่มาจากไหน?

ราชบัณฑิตยสภา อธิบายที่มาและความหมายของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอไว้ว่า เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ คำนำพระนามของเจ้านายในรัชกาลก่อนก็ย่อมเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ และเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้มีพระราชโอรสพระราชธิดาที่มีพระสกุลยศชั้นเจ้าฟ้า พระราชโอรสพระราชธิดาซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระองค์ เมื่อมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ก็จะกลายเป็นพระเจ้าหลานเธอ

เมื่อเป็นดังนี้ รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ใช้คำนำพระนามว่าพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ โดยให้คงศักดินาเสมอพระเจ้าลูกเธอ คือ ศักดินา 6,000 ทรงกรมศักดินา 15,000 เพราะหากใช้คำนำพระนามว่า “พระเจ้าหลานเธอ” ศักดินาก็จะลดลงไปเป็นพระเจ้าหลานเธอ ศักดินาเท่าพระองค์เจ้าวังหน้า ที่ศักดินา 4000 ทรงกรมศักดินา 11000

คำนำพระนามพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ใช้ต่อเนื่องมาถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนคำนำพระนามพระราชโอรสพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ โดยใช้คำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ตามพระเกียรติยศ

ราชบัณฑิตยสภา อธิบายต่ออีกว่า ด้วยเหตุนี้ คำนำพระนามพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 จึงเปลี่ยนมาใช้ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 เมื่อมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ทรงศักดิ์เป็นชั้น ลุง ป้า น้า อา หากมีพระสกุลยศชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าทรงกรมชั้นสมเด็จกรมพระ หรือสมเด็จกรมพระยา ใช้คำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ แต่หากมีพระสกุลยศชั้นพระองค์เจ้าและพระองค์เจ้าทรงกรม ที่มิได้เป็นสมเด็จกรมพระ หรือสมเด็จกรมพระยา ก็ใช้คำนำพระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ

เจ้านายที่ทรงมีคำนำพระนามพระเจ้าราชวงศ์เธอ มีเช่นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ในรัชกาลที่ 3 เป็นต้น
84  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / “คลุมถุงชน” มาจากไหน? การแต่งงานที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรัก เมื่อ: 29 พฤศจิกายน 2566 14:53:34


ภาพเขียนชื่อ “ก่อนพิธีวิวาห์” โดย Firs Sergeyevich Zhuravlev
ศิลปินรัสเซียในศตวรรษที่ 19 ซึ่งยังเป็นสมัยที่การคลุมถุงชนยังเป็นที่แพร่หลายในสังคมรัสเซีย


“คลุมถุงชน” มาจากไหน? การแต่งงานที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรัก

ผู้เขียน - ผิน ทุ่งคา
เผยแพร่ - เว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2566


คลุมถุงชน หรือการแต่งงานด้วยการจัดแจงจากพ่อแม่ หรือผู้อาวุโสของบ่าวสาว โดยที่คู่สมรสไม่จำเป็นต้องสมัครใจยินยอมกับการแต่งงานนั้นๆ ถือว่าเป็นธรรมเนียมการแต่งงานที่มีมานานแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะค่อยๆ เสื่อมความนิยม (และไม่ได้รับการยอมรับ) เมื่อสังคมนั้นๆ เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่รัฐจะกำหนดให้ การแต่งงาน ต้องเกิดจากความยินยอมของบ่าวสาวเท่านั้น (และปัจจุบันก็มีหลายรัฐยอมรับการแต่งงานของ บ่าว-บ่าว, สาว-สาว แล้วด้วย)

เดิมทีชาวบ้านทั่วไปในอุษาคเนย์คงมิได้เข้มงวดกับการแต่งงานเท่าใดนัก เห็นได้จากบันทึกของ โจวต้ากวาน ทูตจีนที่เดินทางไปยังดินแดนเขมรเมื่อกว่า 700 ปีก่อน ได้เล่าว่า

“เกี่ยวกับการมีสามีและการมีภรรยา แม้จะมีประเพณีรับผ้าไหว้ ก็เป็นเพียงแต่การกระทำลวกๆ พอเป็นพิธี หญิงชายส่วนมากได้เสียกันมาแล้วจึงได้แต่งงานกัน ตามขนบธรรมเนียมและประเพณีของเขาไม่ถือเป็นสิ่งที่น่าละอายและก็ไม่ถือเป็นเรื่องประหลาดด้วย”

ในเมืองไทยสมัยก่อนก็เช่นกัน การแต่งงานที่มีการควบคุมแบบเข้มงวดจากพ่อแม่ มักจะเกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีหน้ามีตามีฐานะดีเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านชาวช่องทั่วๆ ไป ไม่ค่อยจะมาใส่ใจควบคุมว่าลูกหลานตัวเองจะไปหาคนแบบไหนมาเป็นคู่สมรส เหมือนอย่างที่ โยส เซาเต็น พ่อค้าฮอลันดาที่เดินทางมาอยุธยาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้เล่าถึงธรรมเนียมการแต่งงานของคนไทยสมัยนั้นเอาไว้ว่า

“ชาวสยามมีพิธีแต่งงานหลายอย่าง สำหรับผู้มั่งมีมีหน้ามีตาการแต่งงานจะต้องได้รับความเห็นชอบจากพ่อแม่ เพื่อนฝูง และต้องมีการแลกของมีค่ากัน พิธีแต่งงานนั้น ไม่มีพิธีศาสนามาเกี่ยวข้อง แต่มีการละเล่นสนุกสนาน และมีการเลี้ยงดูกันอย่างครึกครื้นคู่สมรสย่อมมีสิทธิ์จะแยกจากกันได้ทุกเมื่อถ้ามีเหตุผลเพียงพอ”

การคลุมถุงชนจึงเกิดขึ้น เมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ครอบครัวต่างๆ ใช้กลไกการแต่งงานเพื่อประโยชน์ในการรักษาสถานะทางสังคมหรือการเมือง เป็นธรรมเนียมที่ปรากฏอยู่ในบรรดาชนชั้นสูง และผู้มีฐานะเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปจะเอาอย่างบ้าง

ส่วนคำว่า “คลุมถุงชน” จะถูกใช้แทนการแต่งงานด้วยการจัดแจงของผู้ใหญ่ตั้งแต่เมื่อไหร่นั้น ผู้เขียนก็ไม่รู้แน่เหมือนกัน แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นคำที่เกิดขึ้นเมื่อมันกลายเป็นธรรมเนียม “ตลาดๆ” ที่คนทั่วๆ ไปคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว เนื่องจากคำว่าคลุมถุงชนนั้นน่าจะมีที่มาจาก “บ่อนไก่” ดังที่ ภาษิต จิตรภาษา [1] นักเขียนผู้รอบรู้ด้านภาษาไทย เคยอธิบายไว้ว่า

“คลุมถุงชน มาจากการชนไก่. แต่ก่อนการเอาไก่ไปบ่อนเพื่อไปชนนั้น เขาจะเอาถุงคลุมไปแต่บ้านเพื่อกันไก่ตื่น, เมื่อถึงบ่อนก็เปิดถุงออกเอาไก่เปรียบแล้วชนกัน. แต่เจ้าของไก่บางคนกระสันมาก เห็นเพื่ออุ้มไก่มายังไม่ทันเปิดถุงดูรูปร่างหน้าตาก็ท้าชนเลย. เมื่อตกลงกันก็เปิดถุงปล่อยเข้าสังเวียนชนกันเลย ไม่มีข้อแม้เล็ก-ใหญ่. หนุ่ม-สาว ที่ไม่เคยรู้จัก-รักใคร่กันมาก่อน, พ่อ-แม่จัดให้อย่างไรก็เอาอย่างนั้น มันเหมือนกับการชนไก่แบบนี้ จึงเรียก ‘คลุมถุงชน’.”

ในเมืองไทยแม้การคลุมถุงชนจะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรแล้ว แต่ที่อินเดีย [2] ประเพณีนี้ยังคงเข้มแข็ง การสำรวจในปี 2013 พบว่า คนอินเดียรุ่นใหม่กว่า 74% เห็นดีเห็นงามกับการแต่งแบบคลุมถุงชน และการสำรวจอีกอันบอกว่า การแต่งงานในอินเดียกว่า 90% เป็นการคลุมถุงชนกันทั้งนั้น

ที่น่าแปลกใจก็คือ การแต่งงาน ที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรัก คู่สมรสกลับใช้ชีวิตคู่กันอย่างยืนยาว โดยในอินเดียการสมรสที่จบลงด้วยการหย่าร้างมีสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น

แต่จะเอาตัวเลขนี้มาบอกว่า การแต่งงานแบบคลุมถุงชนคือสาเหตุที่ทำให้คู่สมรสประสบความสำเร็จกับชีวิตคู่ คงเป็นการด่วนสรุปเกินไป โดยมิได้คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ หนึ่งในนั้นก็คือ ทัศนคติต่อการหย่าร้าง ซึ่งในสังคมแบบอนุรักษนิยมอย่างอินเดีย ยังคงไม่ยอมรับการหย่าร้าง การหย่าร้างจึงมักจะเกิดขึ้นในบรรดาคู่สมรสหัวสมัยใหม่ที่แต่งงานโดยสมัครใจเป็นหลัก (ซึ่งก็มีน้อยอยู่แล้ว)

ส่วนคนที่ยอมรับการแต่งงานแบบคลุมถุงชน ส่วนใหญ่ก็จะมาจากครอบครัวอนุรักษนิยม ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบใจคู่สมรส ก็ไม่กล้าที่จะหย่าด้วยแรงกดดันทางสังคม รวมถึงความยากลำบากที่จะตามมาหลังการหย่าร้าง โดยเฉพาะคู่สมรสฝ่ายหญิงที่มักจะต้องพึ่งพาด้านการเงินจากสามี หลายๆ คู่จึงจำยอมรับสภาพการสมรสที่ขมขื่น มากกว่าจะเลือกการหย่าร้าง



อ้างอิง :
[1] “ภาษาประวัติศาสตร์”. ภาษิต จิตรภาษา. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2538
[2] “Why Are So Many Indian Arranged Marriages Successful?”. Psychology Today. <https://www.psychologytoday.com/blog/the-science-behind-behavior/201511/why-are-so-many-indian-arranged-marriages-successful>.




85  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / เจ้าจอม ม.ร.ว.แป้ม มาลากุล ผู้ซื่อสัตย์ได้ดูแลคลังสมบัติพระบรมราชินีนาถใน ร. 5 เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2566 14:11:05


เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม มาลากุล หรือ ท้าววรคณานันท อัพภันตรปตานี ราชนารีกิจวิจารณ์
(ภาพโดย BillArthur1 จาก TU Digital Collections ใน Wikimedia Commons)


เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม มาลากุล
ผู้ซื่อสัตย์ได้ดูแลคลังสมบัติพระบรมราชินีนาถในร. 5

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - เว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2566


ความซื่อสัตย์สุจริตคือวิถีของมนุษย์ผู้เจริญ ส่วนความโลภ ริษยา ลุ่มหลง หรือความเลวร้ายประการอื่นใดทั้งปวงก็อาจทำให้ความซื่อสัตย์สุจริตนี้กลายเป็นความทุจริต แต่ความเลวร้ายเหล่านี้มิอาจมีอิทธิพลเหนือจิตใจผู้ที่มั่นคงกับความซื่อสัตย์สุจริต เฉกเช่น เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม มาลากุล ดูแลคลังสมบัติสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ

เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม คือผู้ดูแล “คลังสมบัติ” ของ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นที่รู้ดีกันว่าในสมัยนั้น สำนักของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ เป็นสำนักที่ใหญ่โต หรูหรา และมีอิทธิพลที่สุดในราชสำนักฝ่ายใน ทรงมีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มากมายมหาศาล ดังที่นายแพทย์มัลคาล์ม สมิธ ชาวอังกฤษ แพทย์ประจำพระองค์ได้เขียนเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ไว้ว่า

“…พระราชทรัพย์ที่มีอยู่อย่างมากมายของพระองค์ นอกเหนือจากเบี้ยหวัดเงินปีที่ทรงได้รับพระราชทานอยู่เป็นประจำแล้ว สมเด็จพระพันปีหลวงทรงมีรายได้ของพระองค์เองอีกส่วนหนึ่ง เป็นรายได้ที่เกิดจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งข้าพเจ้าประมาณการจากที่พระองค์เคยตรัสให้ข้าพเจ้าฟังว่า รายได้ทั้งหมดเมื่อรวมกันแล้วน่าจะตกประมาณ 80,000-90,000 ปอนด์ ต่อปี…”



สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงฉายกับพระราชโอรส
(จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
(ภาพจากหนังสือ “สมเด็จพระบรมราชินี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร ๒๕๔๗)

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทรงมีเครื่องเพชรหลายชุด เช่น ชุดเพชรรูปกลม ชุดเพชรรูปกลมขนาดใหญ่ และชุดเพชรรูปน้ำหยด แต่เชื่อว่าทรงมีเครื่องเพชรมากกว่านี้แต่ไม่ได้บันทึกไว้เพราะเป็นเรื่องส่วนพระองค์ ดังที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงบรรยายเรื่องเครื่องเพชรของพระอัยยิกา ครั้งประทับที่วังพญาไท ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ความตอนหนึ่งว่า

“…ถ้าจะเสด็จไปในงานใด ข้าหลวงจะต้องเอาเครื่องเพชรของท่านมาถวายทั้งหมดให้ทรงเลือก นอกจากเครื่องใหญ่จริง ๆ จึงไม่มีเก็บไว้ที่พญาไท เพราะเครื่องชุดใหญ่ ๆ นั้นเก็บรักษาไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง ถึงกระนั้นเครื่องเพชรย่อย ๆ ของท่านก็ดูคล้าย ๆ กับร้านขายเครื่องเพชรร้านใหญ่ในมหานครหลวงในยุโรป ข้าหลวงต้องขนมาเป็นถาด ๆ หลาย ๆ ถาด บางทีถาดเดียวจะมีธำมรงค์เพชรพลอยต่าง ๆ ตั้ง 60 วง…”


พระราชสมบัติเหล่านี้จะถูกเก็บไว้เป็นห้อง ๆ โดยผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดูแลรักษาและรับผิดชอบคือ เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม ซึ่งท่านก็ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเรียบร้อย ไม่มีข้อบกพร่องหรือมลทินด่างพร้อย เล่ากันว่าโต๊ะทำงานและที่นอนของท่านอยู่หน้าห้องและข้างห้องเก็บพระราชสมบัติ เรียกว่า “ห้องทอง” เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม จึงมีสมญาว่า “คุณห้องทอง” ไปด้วย

เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม ถวายงานรับใช้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ท่านพกกุญแจพวงใหญ่ที่ใช้ไขห้องทองไว้กับตัวตลอดเวลาทั้งยามหลับและยามตื่น ความซื่อสัตย์สุจริตนี้ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย แสดงความเห็นว่าความซื่อสัตย์สุจริตนี้น่าจะสืบเชื้อสายมาทางสายโลหิตของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้นราชสกุล “มาลากุล”

สมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นเจ้านายทรงกรมพระองค์หนึ่งที่ได้รับการระบุพระนามฐานะมีสิทธิในราชบัลลังก์ เป็นที่ริษยา เพ่งเล็ง สงสัยจากคนทั่วไป แต่พระองค์ได้พิสูจน์ว่าทรงมีความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ ถวายงานรับใช้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความซื่อสัตย์มาโดยตลอด ทั้งพระโอรสธิดาก็ถวายงานรับใช้ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เช่น

ม.ร.ว. เปีย มาลากุล รับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล รับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง

ม.ร.ว. โป้ย มาลากุล รับราชการเป็นเจ้ากรมพระราชพิธีสำนักพระราชวัง

และธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ หรือ หม่อมเจ้าขจร (พระโอรสในสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์) 4 ท่านคือ ม.ร.ว. แป้น แป้ม แป้ว ปุย ได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 และอยู่ในความอุปการะของ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ เมื่อ ร.ศ.129


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้นราชสกุล “มาลากุล” (ภาพจาก wikipedia)

เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม ยังถวายงานรับใช้ในพระตำหนักของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทั้งในพระบรมมหาราชวังและครั้งเสด็จฯ มาประทับที่วังพญาไท โดยรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทจวบจนสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ สวรรคต ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ท้าวทรงกันดาล” มีตำแหน่งบังคับบัญชาการพระคลังใน ถือศักดินา 1,000

ต่อมาวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2491 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ท้าววรคณานันท อัพภันตรปตานี ราชนารีกิจวิจารณ์” เป็นใหญ่กว่าท้าวนางทั้งปวง และสำหรับตรวจสั่งสอนความผิดและชอบข้าราชการฝ่ายในทั้งปวง ถือศักดินา 3,000

เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้จึงแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้ที่ถวายงานรับใช้พระราชวงศ์จักรีมาโดยตลอดหลายแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยแท้ กระทั่งท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ.2502 สิริอายุ 83 ปี


86  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / ทรัฟเฟิล เห็ดที่มีราคาแพงที่สุดในโลก แพงกว่าทองคำเสียอีก! เมื่อ: 24 พฤศจิกายน 2566 18:33:10


เห็ดทรัฟเฟิล หั่นทานแบบสด ๆ กับคาโบนาร่า (ภาพโดย Vincent Dörig ใน Unsplash)

ทรัฟเฟิล ราชาแห่งเห็ด “เพชรของครัว” เห็ดที่มีราคาแพงที่สุดในโลก แพงกว่าทองคำเสียอีก!

ผู้เขียน - ธนกฤต ก้องเวหา
เผยแพร่ - เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2566


ทรัฟเฟิล (Truffle) คือ เห็ด เป็นเห็ดราไร้พิษชนิดหนึ่ง อยู่ในกลุ่ม “ฟังไจ” (Fungi) หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ทั้งพืชและสัตว์ ทรัฟเฟิลนั้นมีรสจัดและมีกลิ่นเฉพาะตัวอันโดดเด่น เป็นส่วนประกอบในหลายเมนูโดยเฉพาะอาหารฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศแรก ๆ ที่คลั่งไคล้เห็ดราชนิดนี้แบบสุด ๆ จนความนิยมแพร่กระจายไปทุกมุมโลกในเวลาต่อมา ทำให้ทรัฟเฟิลเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศและถูกยกย่องอย่างสูงในโลกของอาหาร พร้อมกับถูกขนานนามว่าเป็น “เพชรของครัว” (Diamond of the Kitchen) กลายเป็น “เห็ดที่มีราคาแพงที่สุดในโลก” และแพงกว่าทองคำเสียอีก!

ทรัฟเฟิล ไม่สามารถเจริญเติบโตได้โดยปราศจากการพึ่งพิงต้นไม้ใหญ่ เห็ดชนิดนี้มีลักษณะเหมือนพืชที่เป็นหัวอยู่ใต้ดิน รูปร่างคล้ายขิง มีหูด และผิวขรุขระตะปุ่มตะป่ำ เจริญเติบโตเป็นวงอยู่ใต้ดินลึกลงไปประมาณ 5-40 เซนติเมตร ไม่ห่างจากรากต้นโอ๊กและต้นเอล์ม (รัศมี 1.2-1.5 เมตร) เนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางชีวภาพกับต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีรากแผ่กระจายอยู่รอบ ๆ จุดเกิดของมัน รากต้นไม้กับราสามารถแบ่งปันอาหารให้กันและกันได้ โดยต้นไม้รับน้ำและแร่ธาตุจากรา ส่วนรารับสารอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล โปรตีน และวิตามิน จากระบบรากของต้นไม้ เป็นลักษณะของความสัมพันธ์ที่พึ่งพาอาศัยกัน เรียกว่า “ไมคอร์ไรซา” (Mycorrhizal)

สำหรับวิธีการหาทรัฟเฟิลมาประกอบอาหารนั้น เนื่องจากมันซ่อนอยู่ใต้ดินและไม่มีส่วนใดโผล่เหนือพื้นดินขึ้นมาแสดงตำแหน่งเลย การขุดหาจึงต้องใช้ “หมู” ดมกลิ่นตามพื้น เพราะหมูมีประสาทรับกลิ่นดี และไวต่อกลิ่นทรัฟเฟิลมาก แถมกลิ่นของเห็ดชนิดนี้ยังไปคล้ายกับฮอร์โมนของหมูตัวผู้ด้วย จึงมักใช้หมูตัวเมียเป็นนักล่าเห็ดทรัฟเฟิลนั่นเอง แต่ปัญหาคือ หมูจะกินเห็ดอย่างเอร็ดอร่อยทันทีที่มันขุดพบเห็ด จึงมีการฝึกสุนัขมาทดแทน โดยให้ลูกสุนัขคุ้นเคยกับกลิ่นทรัฟเฟิลตั้งแต่ยังเล็ก จากนั้นพาไปฝึกตามกลิ่นในพื้นที่เจริญเติบโตของเห็ด ก็จะได้นักล่าทรัฟเฟิลจมูกไวที่ไม่สวาปามทรัฟเฟิลเสียเองก่อนมนุษย์




ภาพเขียน การใช้ “หมู” ดมกลิ่นหาเห็ดทรัฟเฟิล (ภาพจาก Wikimedia Commons / Public domain)

มีเอกสารโบราณที่กล่าวถึงเห็ดทรัฟเฟิลในวัฒนธรรมมื้ออาหารของชาวสุเมเรียนเมื่อราว 1,600 ปีก่อนคริสตกาล รวมถึงในอารยธรรมกรีก-โรมัน และอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ก่อนจะนิยมอย่างแพร่หลายในฝรั่งเศสราวปลายศตวรรษที่ 18 เมื่อพ่อครัวชาวฝรั่งเศสพยายามลดการใช้เครื่องเทศจากตะวันออก เพราะมีรสจัดและกลิ่นฉุนเกินไป

ในระยะแรก ๆ ความนิยมบริโภคทรัฟเฟิลในอิตาลีกับฝรั่งเศสยังวนเวียนอยู่กับชนชั้นสูงเป็นหลัก เพราะเป็นสินค้าหายากที่ราคาสูงลิ่ว ส่วนวิธีรับประทานก็ไม่ซับซ้อน คือ กินสดโดยการหั่นบาง ๆ แทรกไปกับสเต็ก บ้างหมักกับตับห่าน (Foie Gras) แทรกในเครื่องในยัดไส้ หรือโรยผงทรัฟเฟิลบนผักสลัด พาสตา ตลอดจนใส่ผสมกับเนยแข็ง

เนื่องจากมีแหล่งกำเนิดเฉพาะตัวและวิธีเก็บเกี่ยวที่ยุ่งยาก ซับซ้อน (ใช่ว่าสุนัขทุกตัวจะถูกฝึกฝนให้ควานหาทรัฟเฟิลได้ง่าย ๆ) ทำให้เห็ดทรัฟเฟิลมีราคาสูงมาก ทรัฟเฟิลสายพันธุ์ยุโรปทั้ง 2 ชนิด ได้แก่ ทรัฟเฟิลดำ (Tuber Melanosporum) มีราคาถึง 3,500 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม (ราว 1.2 แสนบาท) กับ ทรัฟเฟิลขาว (Tuber Magnatum) ที่มีชื่อเสียงกว่า มีราคาสูงกว่าทรัฟเฟิลดำเกือบสองเท่าตัว เนื่องจากสายพันธุ์นี้สามารถพบได้เฉพาะที่เมืองอัลบา (Alba) แคว้นปีดมอนต์ (Piedmont) ทางตอนเหนือของอิตาลีเท่านั้น ทั้งมีรสและกลิ่นชัดกว่าทรัฟเฟิลดำ นอกจากสายพันธุ์ข้างต้น ยังมี “ทรัฟเฟิลทะเลทราย” ที่พบได้ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งชาวเบดูอินนำมาประกอบอาหารกันมานานแล้ว

ครั้งหนึ่ง ทรัฟเฟิล เคยเป็นของป่าหายากและพบได้เฉพาะพื้นที่ คนจำนวนมากจึงเชื่อว่าไม่สามารถเพาะปลูกหรือผลิตเห็ดชนิดนี้ได้เอง ต้องอาศัยโชคในการตามหา แต่ความจริงคือ มีการเพาะเลี้ยงเห็ดทรัฟเฟิลสำเร็จตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว เพราะมีผู้ทดลองเก็บลูกนัทจากต้นโอ๊กที่เคยมีเห็ดทรัฟเฟิลอยู่แล้วนำไปปลูก หลายปีต่อมาจึงเกิดเห็ดทรัฟเฟิลขึ้นรอบต้นโอ๊กเหล่านั้น ฟาร์มทรัฟเฟิลจึงเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ นอกอิตาลีและฝรั่งเศสด้วยวิธีเพาะปลูกข้างต้น ก่อนกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ทั่วโลก แต่ทรัฟเฟิลจากยุโรปยังคงได้รับการยอมรับว่ามีรสชาติและกลิ่นดีที่สุด โดยเฉพาะทรัฟเฟิลขาวจากแคว้นปีดมอนต์ของอิตาลี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแหล่งผลิตและส่งออกทรัฟเฟิลใหญ่ที่สุดของโลกคือจีน ซึ่งสามารถผลิตทรัฟเฟิลส่งออกสู่ตลาดโลกได้ปริมาณมาก ส่งผลให้ตลาดการค้าทรัฟเฟิลเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จากสินค้าหายาก มีเฉพาะถิ่น และมีมูลค่าสูง กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารหลาย ๆ ประเภท ดังจะเห็นว่ามีสินค้าหรืออาหารที่มีทรัฟเฟิลเป็นส่วนประกอบมากและหลากหลายขึ้น ทรัฟเฟิลจีนมี 3 ชนิด ดังนี้

1. Tuber Sinensis หน้าตาคล้ายทรัฟเฟิลดำ แต่ราคาถูกกว่าทรัฟเฟิลยุโรปมาก เพราะมีการผลิตจำนวนมาก ส่วนคุณภาพเรื่องรสชาติและกลิ่นไม่เท่าของยุโรป แต่มีการส่งออกไปขายฝั่งตะวันตกโดยเติมกลิ่นสกัดของทรัฟเฟิลดำเพิ่มเข้าไปเพื่อเพิ่มมูลค่า

2. Tuber Himalayansis เหมือนทรัฟเฟิลดำจนแยกแทบไม่ออก เป็น Tuber Sinensis ที่เพิ่มทั้งกลิ่นและรสชาติให้ดีขึ้นไปอีก แต่มีผลิตได้น้อยมาก

3. Tuber Ramiayyadis เหมือนทรัฟเฟิลขาวของอิตาลี แต่กลิ่นและรสชาติแตกต่างกัน



เห็ดทรัฟเฟิลดำ (ภาพโดย Uzan จาก Pixabay)

ทรัฟเฟิลไทย
เมื่อ พ.ศ.2557 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ พวกเขาตั้งชื่อมันว่า “Tuber thailanddicum” ทั้งมีรสชาติเดียวกับทรัฟเฟิลขาวที่พบในอิตาลี ทีมนักวิจัยเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้ทำงานวิจัยในอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อศึกษาค้นคว้าเรื่องเห็ดมาเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่ ดร.นครินทร์ สุวรรณราช หนึ่งในสมาชิกของทีมจะพบเห็ดทรัฟเฟิลใกล้กับบริเวณที่เกิดดินถล่มโดยบังเอิญ มันจึงถูกส่งไปต่างประเทศเพื่อตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ และผลการตรวจสอบยืนยันว่าเป็นเห็ดทรัฟเฟิลอย่างแน่นอน

ดร.นครินทร์ สุวรรณราช ให้ข้อมูลว่า “ทรัฟเฟิลไทย” ไม่ได้เติบโตใกล้ต้นโอ๊กเหมือนทรัฟเฟิลตะวันตก แต่พบอยู่ใกล้ต้นเบิร์ช หรือต้น “กำลังเสือโคร่ง” ทีมงานยังเก็บตัวอย่าง “เห็ด” ดังกล่าวไว้ในห้องแล็บเพื่อกำลังปรับปรุงสายพันธุ์สำหรับใช้ต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต ซึ่งคงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าทรัฟเฟิลจะกลายวัตถุดิบ “ท้องถิ่น” ของไทยได้ ต่อมาทรัฟเฟิลไทยได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ในขณะนั้น) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2560 โดยได้ชื่อว่า “เห็ดทรัฟเฟิลขาวเทพสุคนธ์
87  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / “น้ำปลา” เครื่องปรุงรสเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ไทย ปรากฏครั้งแรกเมื่อไหร่ เมื่อ: 20 พฤศจิกายน 2566 18:40:07

น้ำปลาพริก เครื่องปรุสรสเพิ่มเติมบนโต๊ะอาหาร
(ภาพจาก www.matichonacademy.com)



“น้ำปลา” เครื่องปรุงรสเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ไทย ปรากฏครั้งแรกเมื่อไหร่

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - เว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม วันพฤหัสที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2566


น้ำปลา เป็นเครื่องปรุง รสอาหารที่ต้องมีกันทุกบ้าน หากเมื่ออาหารนั้นมาถึงมือถึงปากผู้กินแล้วยังไม่ได้รสชาติอย่างที่ต้องการน้ำปลา หรือบางทีอาจเป็นน้ำปลาพริก ก็เป็นสิ่งที่เรียกขอเพิ่มเติมได้ปกติในวัฒนธรรมการกินของไทย แต่ถ้าจะถามว่าเรากิน เราใช้ เราทำน้ำปลามาแต่เมื่อไร กลับยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

น้ำปลาปรากฏชัดเจนสมัยอยุธยาตอนปลายสุด ใน กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ที่สันนิษฐานว่าเป็นพระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร พระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนหนึ่งที่ว่า

๏ หมากม่วงดิบห่ามฝาน ใส่ในจานพานตบะรอง

นั่งล้อมห้อมเนืองนอง จิ้มน้ำปลางาปิกิน ฯ

๏ หมากม่วงดิบห่ามให้ ปอกฝาน

งาปิน้ำปลาจาน จุ่มจิ้ม

นั่งล้อมห้อมกินกราน กินอยู่

เข็ดฟันผันหน้ายิ้ม อิ่มเอื้อนราถอย ฯ

[สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

คำว่า “งาปิ” เป็นภาษาชาววังหรือภาษาผู้ดี (บางคนว่ามาจากภาษาพม่า) หมายถึงกะปิ ส่วน “กะปิน้ำปลา” ที่กล่าวถึงมาจากไหน

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม : เอกสารจากหอหลวง อันเป็นบันทึกความทรงจำของคนรุ่นสุดท้ายที่เคยใช้ชีวิตในกรุงศรีอยุธยา เล่าว่า

“อนึ่ง เรือปากใต้ปากกว้าง 6 ศอก 7 ศอก ชาวบ้านยี่สารบ้านแหลมเมืองเพชรบุรี แลบ้านบางตะบูนแลบ้านบางทะลุบันทุกกะปิน้ำปลาปูเคมปลากุเราปลากะพงปลาหูปลากะเบนย่างมาจอดเรือฃายแถววัดเจ้าพระนางเชิง 1”

นั่นคือกะปิ น้ำปลา ปูเค็ม และปลาย่างปลาเค็มที่คนอยุธยากินกัน อย่างน้อยก็มีส่วนหนึ่งที่ส่งจากแถบยี่สาร (สมุทรสงคราม) บ้านแหลม บางตะบูน บางทะลุ (เพชรบุรี) แล้วล่องเรือมาขายแถววัดพนัญเชิง

บ้านแหลม บ้านบางตะบูน และบ้านบางทะลุ ล้วนเป็นย่านทำนาเกลือที่ยังสืบเนื่องมาจนถึงสมัยหลัง ดังปรากฏรายชื่อเกลือจากท้องถิ่นเหล่านี้ รวมอยู่ใน “บาญชีเกลือต่างๆ”

สมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานเอกสารเพิ่มขึ้น เช่น ประกาศหมายรับสั่งในรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2396 เรื่องให้เรียกกะปิ น้ำปลา ว่าเยื่อเคย น้ำเคย ความว่า

“คำบุราณราษฎรชาวบ้านเรียกกันว่า กะปิ น้ำปลา คำข้าราชการกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าน้ำเคย ว่างาปิ พระราชดำริทรงเห็นว่า เรียกว่างาปินั้นหาสมกับของดีบังเกิดในเยื่อเคยไม่ แลงาปินั้นชอบแต่จะเรียกว่าเยื่อเคยจึงจะต้องกับของที่บังเกิดจึงจะควร แต่น้ำเคยนั้น ข้าราชการเรียกว่าน้ำเคยก็ควร ด้วยเปนของบังเกิดแต่เยื่อเคย คำบุราณราษฎรเรียกว่ากันว่ากะปิ น้ำปลา เห็นหาควรกับของที่บังเกิดไม่ ตั้งแต่นี้ไปภายหน้าให้ข้าราชการพระบรมมหาราชวัง พระบวรราชวัง แลเจ้าต่างกรมเจ้ายังไม่ได้ตั้งกรม แลอาณาประชาราษฎรทั้งปวง ให้เรียกว่าเยื่อเคยน้ำเคย ตามพระกระแสพระราชบัญญัติจึงจะควร” [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

อักขราภิธานศรับท์ พจนานุกรมต้นรัชกาลที่ 5 พิมพ์ในปี 2416 ที่เก็บรวบรวมคำต่างๆ ก็ปรากฏคำว่าน้ำปลาด้วยเช่นกัน ดังนี้

กะปิ, ของคนเอากุ้งตัวเล็กๆ มาคลุกเข้ากับเกลือแล้วทำให้ละเอียดสำหรับแกงบ้าง ตำน้ำพริกบ้าง.

เคยกุ้ง, กะปิกุ้ง, คือกุ้งตัวเล็กๆ ที่สำรับทำกะปินั้น, เหมือนอย่างเคยตาดำเปนต้น.

น้ำเคย, น้ำปลา, คือน้ำใสที่ไหลตกออกจากกุ้งกะปิทั้งปวงนั้น, เช่นน้ำเคยในตะกร้อ, ฤๅน้ำปลา.

น้ำปลา, คือน้ำใสๆ ที่เกิดแต่ไตปลานั้น, เช่นน้ำเคยเกิดแต่กุ้งกะปิ.

ตำรับอาหาร แม่ครัวหัวป่าก์ ของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ปรากฏว่า เครื่องปรุง รสเค็มหลายชนิด  น้ำเคยดี (คือน้ำเคยอย่างดี) น้ำปลาญี่ปุ่น (ซอสถั่วเหลือง) และน้ำปลาร้า แต่สูตรอาหารส่วนใหญ่มักให้ใส่ “น้ำปลาดี”

สมัยรัชกาลที่ 6 หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม 2464 มีโฆษณาเกี่ยวกับน้ำปลา และระบุว่าทำจาก “เยื่อเคย”  ดังนี้

“อาหารของไทยเราจะมีโอชารสดีที่ใช้น้ำปลาดีและน้ำพริกดีเปนประมาณ น้ำพริกเผาที่ดีอย่างที่ 1 ผสมด้วยเนื้อปลากุเลา ราคาเพียงกะปุกละ 1 บาท คลุกข้าวและจิ้มอะไรรับประทาน มีรสอร่อย ถึงจะเดินทางไกลก็เอาไปได้สดวก กับน้ำปลาอย่างดีทำจากเยื่อเคยชั้นที่ 1 นั้น ก็เปนยอดแห่งอาหาร จะเปนแกงจืดแกงเผ็ดหรือผัดอะไร ถ้าได้เหยาะน้ำปลาดีลงไปแล้วก็ทำให้มีโอชารสขึ้นเปนอันมาก ราคาขายขวดละ 1 บาทเท่านั้น ท่านต้องการให้อาหารมีรสอร่อยแล้วไม่ควรจะทิ้งน้ำปลาดีหรือน้ำพริกเผาของร้านเลขที่ 1790 ริมถนนมหาไชย จังหวัดพระนคร” [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

หนังสือชุดจังหวัดต่างๆ ที่รัฐบาลพิมพ์ขึ้นเนื่องในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ หนังสือจังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงอุตสาหกรรมน้ำปลาในจังหวัดว่า

“มีโรงอุตสาหกรรมทำน้ำปลาที่อำเภอขลุง แหลมสิงห์ และท่าใหม่ รวม 10 โรง เป็นโรงทำน้ำปลาขนาดกลาง ใช้ปลาทูและปลาเบญจพรรณ ผลิตได้ประมาณปีละ 200,000 ลิตร…รส กลิ่น ของน้ำปลายังไม่ดีเท่าน้ำปลาชั้นพิเศษของจังหวัดระยอง…”  [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
88  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / ประเทศนิการากัว เมื่อ: 20 พฤศจิกายน 2566 18:35:04


ประเทศนิการากัว

สำหรับ มิสยูนิเวิร์ส 2023 ในปีนี้มาจากประเทศนิการากัว เรามาทำความรู้จักกับประเทศนี้กันว่ามีอะไรที่น่าสนใจ และสวยงามบ้าง

นิการากัว หรือ สาธารณรัฐนิการากัว เป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดในอเมริกากลาง แต่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยที่สุด มีอาณาเขตทางเหนือจรดประเทศฮอนดูรัส ทางใต้จรดประเทศคอสตาริกา ชายฝั่งตะวันตกจรดมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนชายฝั่งตะวันออกจรดทะเลแคริบเบียน ชื่อของประเทศมาจากการสนธิระหว่างคำว่า “นีการาโอ” (Nicarao) เป็นชื่อชนเผ่าพื้นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดขณะที่ชาวสเปนมาถึง กับคำว่า “อะกวา” (Agua) ซึ่งเป็นคำในภาษาสเปน แปลว่าน้ำ

ประเทศนิการากัว แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 15 จังหวัด (departamentos) กับ 2 เขตปกครองตนเอง มีรายละเอียด ดังนี้

    จังหวัดโบอาโก (โบอาโก)

    จังหวัดการาโซ (ฮิโนเตเป)

    จังหวัดชินันเดกา (ชินันเดกา)

    จังหวัดชอนตาเลส (ฮุยกัลปา)

    จังหวัดเอสเตลี (เอสเตลี)

    จังหวัดกรานาดา (กรานาดา)

    จังหวัดฮิโนเตกา (ฮิโนเตกา)

    จังหวัดเลออน (เลออน)

    จังหวัดมาดริซ (โซโมโต)

    จังหวัดมานากัว (มานากัว)

    จังหวัดมาซายา (มาซายา)

    จังหวัดมาตากัลปา (มาตากัลปา)

    จังหวัดนูเอบาเซโกเบีย (โอโกตัล)

    จังหวัดริบัส (ริบัส)

    จังหวัดริโอซานฮวน (ซานการ์โลส)

    เขตปกครองตนเองโกสตาการิเบนอร์เต (ปูเอร์โตกาเบซัส)

    เขตปกครองตนเองโกสตาการิเบซูร์ (บลูฟิลส์)

สำหรับ นิการากัว เป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดในอเมริกากลาง แต่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยที่สุด มีอาณาเขตทางเหนือจรดประเทศฮอนดูรัส ทางใต้จรดประเทศคอสตาริกา ในช่วงหลังมานี้การท่องเที่ยวในประเทศนิการากัว เติบโตเป็นอย่างมากจนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับสองที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมานิยมมาเที่ยวชมวัฒธรรม อาคารสถานที่โบราณต่างๆ การผจญภัย ชายหาด ทะเลสาบ และภูเขาไฟ ประเทศนิการากัวจึงเป็นตัวเลือกยอดนิยมของนักท่องเที่ยวแบบแบ๊กแพ็ก

นอกจากนี้ประเทศนิการากัว นักท่องเที่ยว ได้มีการเรียกขานกันว่า  “ดินแดนแห่งทะเลสาบและภูเขาไฟ” เนื่องจากประเทศนี้ขึ้นชื่อว่ามีทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกากลาง โดยประชาชนพื้นเมืองที่นั่นเรียกทะเลสาบนี้ว่า “โกซิบอลกา” ซึ่งหมายความว่า “ทะเลหวาน” ทะเลสาบนี้มีเกาะหลายร้อยเกาะและเป็นทะเลสาบน้ำจืดแห่งเดียวที่มีปลาทะเลหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น ฉลาม ปลากะโทงแทงดาบ หรือ ปลาทาร์พอน เป็นต้น

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย






89  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ / รูปปั้น “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” ที่สนามหลวง เมื่อ: 18 พฤศจิกายน 2566 13:39:50



“พระแม่ธรณีบีบมวยผม”
เทพีแห่งผืนดินกับฉากสำคัญในพุทธศาสนา กับรูปปั้นที่สนามหลวง

ผู้เขียน - ธนกฤต ก้องเวหา
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2566


กล่าวได้ว่า พระแม่ธรณี มีความเป็นมาอันยาวนานและผูกพันกับวัฒนธรรมไทยผ่านพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น เพราะพระแม่ธรณี เป็นมารดาแห่งโลก เทพีแห่งผืนดิน หรือผู้คุ้มครองแผ่นดิน

ดังปรากฏในพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น ทรงผจญท้าววสวัตตีมาร พญามาร พร้อมด้วยเหล่ามารทั้งหลาย ที่ออกอุบายให้ทรงเกิดกิเลสตัญหา แต่พระพุทธองค์ทรงไม่ยินดียินร้าย

ครั้งนั้น พระแม่ธรณี ได้ออกมาแสดงปาฏิหาริย์ บีบมวยผมให้น้ำไหลบ่าท่วมกองทัพมารทั้งมวล จนถูกพัดพาพ่ายแพ้ไป เป็นที่มาของ “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” หรือปาง “อุทกทาน” หมายความว่า การให้ทานด้วยน้ำ หรือให้น้ำเป็นธรรมทานนั่นเอง

พระแม่ธรณีเป็นเทพีที่คนโบราณเคารพสักการะมาเนิ่นนานแล้ว ไม่เพียงแต่ในพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะพบได้ทั้งในตำนานฝ่ายพราหมณ์-ฮินดูด้วย เชื่อกันว่า พระแม่จะสถิตอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วทุกหนแห่ง โดยสามารถบูชาได้ด้วยข้าว ผลไม้ และนม นำโภชนาหารเหล่านี้วางไว้บนก้อนหิน หรือประพรมลงบนผืนดิน หรือใช้เหล้าเป็นเครื่องสังเวย

พระแม่ธรณีมีศาลเก่าตั้งอยู่บริเวณหัวมุมสนามหลวง ริมถนนราชดำเนิน ใกล้โรงแรมรัตนโกสินทร์ และสะพานผ่านพิภพลีลา เป็นปูนปั้นพระแม่ธรณีกำลังบีบมวยผม ในอดีตเคยมีน้ำสะอาดไหลออกมาจากปลายมวยผม และสามารถใช้ดื่มกินได้ด้วย สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยพระราชดำริของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ด้วยมีพระราชประสงค์ในการแจกจ่ายน้ำดื่มสะอาดบริสุทธิ์แก่ราษฎร

ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ยังทรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าวชิราวุธฯ จึงพระราชทานคำแนะนำให้สร้างอุทกทาน หรือ พระแม่ธรณีบีบมวยผม กระทั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคข้าวยากหมากแพง อุทกทานถูกชาวบ้านขโมยอุปกรณ์ท่อน้ำต่าง ๆ จนไม่สามารถใช้การได้ แม้จะมีการซ่อมแซมให้ใช้ได้ดังเก่าในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่สถานที่นี้ก็ไม่ได้ใช้เป็นที่แจกจ่ายน้ำสะอาดอีกต่อไป เป็นแต่ศาลศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้คนเข้ามาสักการะเท่านั้น
90  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / กำเนิด “ซีอิ๊ว” เครื่องปรุงรสยอดนิยมอายุหลายพันปี เมื่อ: 18 พฤศจิกายน 2566 13:01:45

โรงงานซีอิ๊วที่ฮ่องกง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 (AFP PHOTO / TED ALJIBE)


กำเนิด “ซีอิ๊ว” เครื่องปรุงรสยอดนิยมอายุหลายพันปี

ผู้เขียน - เด็กชายผักอีเลิด
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2566


ซีอิ๊ว (Soy Sauce) หรือ ซอสถั่วเหลือง ของเหลวให้รสเค็มและมีกลิ่นหอม เครื่องปรุงรสยอดนิยมของคนไทย โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน น้ำซีอิ๊วเป็นของเหลวที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง ด้วยจุลินทรีย์ ก่อนพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurization) แล้วบรรจุขวด ด้วยวัตถุดิบหลักที่เป็นถั่วเหลือง ซอสปรุงรสชนิดนี้จึงได้เปรียบน้ำปลาเพราะสามารถนำมาปรุงอาหารเจได้

วัฒนธรรมทางอาหารของผู้คนในอเชียนิยมเก็บรักษาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อปลา ด้วยการหมักกับเกลือเพื่อเป็นการถนอมอาหาร กระบวนการดังกล่าวนำไปสู่การผลิต “น้ำปลา” มาเป็นเครื่องปรุงรสในการประกอบอาหารอีกที ซีอิ๊วได้แรงบันดาลใจจาการทำน้ำปลาเช่นกัน เชื่อว่าซอสปรุงรสนี้กำเนิดในประเทศจีนเมื่อประมาณ 2,500-3,000 ปีมาแล้วในสมัยราชวงศ์โจว (Zhou Dynasty, 1046-256 ปีก่อนคริสตกาล)

คนจีนรู้จักถั่วเหลืองมาไม่น้อยกว่า 3,500 ปี ในฐานะธัญพืชที่ให้พลังงานหรือโปรตีนสูง เชื่อว่าการหมักถั่วเหลืองระยะแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อถนอมอาหารให้สามารถเก็บถั่วเหลืองไว้กินได้นานขึ้น เมื่อชาวจีนโบราณค้นพบว่าน้ำที่ได้จากการหมักมีกลิ่นหอมและรสเค็มที่สามารถนำไปประกอบอาหารได้ จึงพัฒนากระบวนการหมักเพื่อผลิตเป็นซอสปรุงรส โดยใส่ข้าวสาลีหมักผสมลงไปด้วยเพื่อเพิ่มความกลมกล่อม น้ำหมักที่ได้เรียกว่า “เชียง” (Chiang) หรือ “เจียง” (Jiang) ใช้ถั่วเหลืองทั้งเมล็ดซึ่งกลายเป็นเต้าเจี้ยวถั่วเหลือง ส่วนน้ำซีอิ๊วเป็นน้ำกรองที่ได้จากถั่วเหลืองหมักกับข้าวสาลีและเกลือ

สมัยราชวงศ์ซ้อง (Song Dynasty, ค.ศ.960-1279) ซีอิ๊วได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนกลายเป็น 1 ใน 7 สิ่งจำเป็นในวิถีชีวิตของชาวจีน ร่วมกับ ฟืน ข้าว น้ำมัน เกลือ น้ำส้ม และชา คำว่า Chiangyou หรือ เจียงโหยว กลายเป็นชื่อเฉพาะของซีอิ๊ว เพื่อแยกจากถั่วเหลืองหมักถั่วไป วัฒนธรรมปรุงอาหารด้วยซีอิ๊วถูกส่งผ่านจากจีนไปยังญี่ปุ่นโดยเริ่มจากการทำมิโสะ และเกิด “ซอสโชยุ” ที่กลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมการกินอาหารของชาวญี่ปุ่นอย่างลงตัว คำว่า “โชยุ” ก็มีรากศัพย์มาจากคำว่า “ชิ-โหย่ว” หรือเจียงโหยวในภาษาจีนกวางตุ้งนั่นเอง

ชาวตะวันตกรู้จักซีอิ๊วจากการค้ากับญี่ปุ่น มีการซื้อ-ขายซีอิ๊วแล้วนำเข้าไปยังยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยพ่อค้าชาวฮอลันดา (เนเธอแลนด์) เครื่องปรุงรสนี้เป็นเป็นที่รู้จักในยุโรปว่า โซย่า (Soya) ซึ่งแปลตรงตัวว่า ถั่วเหลือง การเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (Luis XV) แห่งฝรั่งเศส ยิ่งทำให้ซีอิ๊วเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในยุโรป ภาษาอังกฤษเรียกซีอิ๊วว่า Soya หรือ Soy ตามภาษาดัตช์ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น Soy Sauce หรือ ซอสถั่วเหลือง เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

สำหรับคนไทยเรียก “ซีอิ๊ว” ตามสำเนียงแต้จิ๋ว การหมักซีอิ๊วของคนจีนในไทยช่วงแรกๆ ทำโดยชาวจีนกวางตุ้ง พวกเขามักเร่ขายซีอิ๊วที่ผลิตเองตามร้านขายของชำ กระทั่งขยับขยายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยทั่วไป ซีอิ๊วไทยมักใสและสีอ่อนกว่าของจีน


การผลิตซีอิ๊ว
กระบวนการผลิตซีอิ๊ว เริ่มจากนำเมล็ดถั่วเหลืองมาล้างสิ่งปนเปื้อน แช่น้ำ 8-10 ชั่วโมงโดยเปลี่ยนน้ำเรื่อยๆ ด้วยวิธีน้ำล้นเพื่อป้องกันการเน่าเสีย ก่อนนึ่งถั่วเหลืองให้สุกแล้วผึ่งให้แห้ง ถั่วเหลืองที่เหมาะสำหรับหมักซีอิ๊วคือถั่วเหลืองที่ให้โปรตีนปริมาณมาก คือต้องมีเปลือกหนา เมล็ดเหนียว ไม่แตกง่าย

จากนั้นผสมแป้งข้าวสาลีรวมกับถั่วเหลือง ข้าวสาลีถือเป็นข้าวที่มีกลิ่นหอมกว่าข้าวชนิดอื่นๆ จึงช่วยเพิ่มกลิ่นหอมและความกลมกล่อมให้ซีอิ๊วได้ โดยใช้ได้ทั้งข้าวสาลีแบบคั่ว แบบโม่ละเอียด หรือเป็นแป้งสาลีก็ได้เช่นกัน

ผสมจุลินทรีย์กับถั่วเหลืองและแป้งข้าวสาลี จุลินทรีย์ดังกล่าวคือเชื้อรา (Fungi) ที่เป็นกรดจากผลไม้ กรดนี้จะช่วยย่อยโปรตีนถั่วเหลือง เชื้อราที่ใช้คือ Aspergillus oryza และ Aspergillus soyae ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการสร้างเอนไซม์ เพาะเลี้ยงง่าย ระหว่างการหมักเชื้อจะค่อยๆ ตายไปพร้อมช่วยเร่งการสลายโปรตีน เกลี่ยทิ้งไว้ 3-4 วัน จะเกิดเส้นใย เรียกว่า “โคจิ”

ใส่ทั้งหมดลงในถังหมัก หมักโดยเติมน้ำเกลือจนท่วม น้ำเกลือจะใช้เกลือทะเลละลายน้ำ ความเข้มข้น 17-22% เพื่อยับยั้งแบคทีเรียที่ทำให้เน่าเติบโตระหว่างการหมัก แต่จะไม่เข้มข้นจนทำลายจุลินทรีย์จากเชื้อรา ยิ่งผ่านแสงแดดหรืออุณภูมิสูงๆ ช่วยเร่งกระบวนการหมักถังหมักควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเท ไม่ร้อนหรืออับชื้น

ระหว่างการหมักควรคนสัปดาห์ละครั้งเพื่อไล่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกและยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการ ทำแบบนี้เรื่อยๆ 3-6 เดือน หรือ 1-3 ปี โดยทั่วไปยิ่งใช้เวลาหมักน้อย สีของซีอิ๊วจะอ่อนและรสชาติเค็มจัด แต่ยิ่งหมักนานสีจะเข้มขึ้นจากน้ำสีน้ำตาลแดงกลายเป็นสีดำ ความเค็มจะน้อยลงเรื่อยๆ แต่รสชาติกลมกล่อมขึ้น น้ำซอสจะหนืดและมีปริมาณของกรดอะมิโนเยอะขึ้นด้วย

เมื่อหมักได้ระยะครบกำหนดที่ต้องการ กรองน้ำหมักด้วยผ้าดิบหรือเครื่องอัด จะมีน้ำมันถั่วเหลืองปนมาด้วย ทิ้งไว้ 4 วันให้น้ำมันลอยแยกชั้นจะได้น้ำสีดำใส รสเค็ม กลิ่นหอม เรียกว่า “ซีอิ๊วขาว” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้นก่อนแปรรูปเป็นซีอิ๊วแบบอื่นๆ ได้แก่ ซีอิ๊วดำ, ซีอิ๊วดำเค็ม และซีอิ๊วหวาน
91  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / Re: เครื่องรางของขลัง เมื่อ: 14 พฤศจิกายน 2566 16:00:31

เครื่องรางเสือ-งาแกะ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน พระเกจิชื่อดังนครสวรรค์

เครื่องรางเสือ-งาแกะ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน พระเกจิชื่อดังนครสวรรค์

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม - 6 เมษายน 2566
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ.2566


“พระครูพิสิษฐสมถคุณ” หรือ “หลวงพ่อเฮง คังคสุวัณโณ” วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ พระเกจิชื่อดัง ต้นตำรับเครื่องรางงาแกะอันโด่งดัง พระอาจารย์ของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์

เครื่องรางของขลังเป็นของคู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน ชนิดที่เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ก็เป็นที่นิยม เช่น เครื่องรางรูปเสือ มีพระเกจิอาจารย์หลายท่านที่จัดสร้างอาทิ เสือของหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน, เสือหลวงพ่อนก วัดสังกะสี

แต่หากเป็นในแถบพื้นที่ จ.นครสวรรค์ คือ “เสืองาแกะ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน”

ศึกษาวิทยาการต่างๆ มากมาย ทั้งวิทยาคม วิชาโหราศาสตร์ อีกทั้งแพทย์แผนโบราณ ออกธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อศึกษาวิปัสสนา และได้พบกับพระเกจิอาจารย์หลายรูปในป่าที่ได้ธุดงค์ไป

ระหว่างทางก็ได้พบกับงากำจัดและงากำจาย งาช้างประเภทนี้ เป็นงาช้างตัวผู้ที่ตกมัน และแทงงาหักปักติดต้นไม้ในป่าบ้าง หักคาตลิ่งน้ำในป่าบ้าง หรือที่ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงกันเป็นจ่าโขลงแล้วเกิดแตกหักตกหล่นอยู่ในป่าบ้าง จึงได้เก็บรักษาไว้

ต่อมาจึงได้นำมาให้ช่างแกะสลัก เป็นรูปคชสีห์ เสือ หมูโทน ฯลฯ จึงปลุกเสกและมอบให้แก่บรรดาลูกศิษย์ เพื่อไว้คุ้มครองป้องกันตัว

เครื่องรางของขลังรูปสัตว์แกะจากงา เชื่อกันว่ามีพุทธคุณเด่น ด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม

เสืองาแกะ หลวงพ่อเฮง มีอายุการสร้างร่วม 100 ปี เป็นเสือที่มีศิลปะในการแกะ มีตาคล้ายลูกเต๋า บริเวณแผงคอมีเส้นขนเป็นขีดยาว หางพาดหลังมีรอยบั้ง

หายากมากในปัจจุบัน เนื่องจากจำนวนงากำจัดและงากำจายที่ท่านเก็บมาจากในป่า แกะได้จำนวนไม่มาก

ดังนั้น ผู้ที่มีไว้ในครอบครองจึงหวงแหนและเป็นมรดกตกทอดกันต่อมา




หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน

อัตโนประวัติ หลวงพ่อเฮง คังคสุวัณโณ : เกิดเมื่อปี 2402 ที่บ้านมหาโพธิ์ ต.มหาโพธิ์ อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ บิดาชื่อ นายสังข์ มารดาชื่อ นางเปี่ยม หลังเกิดมาครอบครัวก็มีฐานะดีขึ้นตามลำดับ บิดา-มารดาจึงตั้งชื่อให้ว่า “เฮง”

มีนิสัยเมตตาต่อสัตว์และชอบให้ทานแก่สัตว์มาตั้งแต่เด็กๆ ขนาดบิดาให้ไปเฝ้านา เห็นนกมากินข้าวก็ยังไม่ยอมไล่ เพราะถือว่าเป็นการให้อาหารทาน

ในเยาว์วัย เป็นคนที่รักการศึกษา เมื่อมีเวลาว่างจะไปหาหลวงพ่อทับ วัดมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้น เพื่อให้สอนวิชาให้ คือ วิชาแพทย์แผนโบราณ คชศาสตร์ และวิทยาคมต่างๆ พออายุได้ 12 ปี บรรพชาที่วัดมหาโพธิ์ใต้ อยู่ได้ 4 ปี ก็ลาสึกออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ

ครั้นอายุครบบวช เมื่อปี พ.ศ.2423 จึงเข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดมหาโพธิ์ใต้ โดยมีพระครูกิ่ม เจ้าอาวาสวัดมหาโพธิ์ใต้ เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาพระปริยัติธรรม ตลอดจนโหราศาสตร์ และวิทยาคมต่างๆ อีกมากมายจากพระ อาจารย์กิ่ม ขณะเดียวกัน วัดมหาโพธิ์ใต้ ยังเป็นแหล่งรวบรวมวิชาการและตำราต่างๆ ไว้มากมาย อีกทั้งอุโบสถของวัดก็เป็นแบบมหาอุด ซึ่งเป็นที่ปลุกเสกเครื่องรางของขลังได้ยอดเยี่ยม และมีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี

วัดมหาโพธิ์ใต้ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง จึงมีพระเกจิอาจารย์ที่ออกธุดงค์มาแวะพักอยู่เสมอๆ จึงได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ จากพระเกจิอาจารย์เหล่านั้นไปด้วย

ต่อมาได้ออกธุดงค์ไปในป่าดงดิบต่างๆ ถึงพม่า เขมร และลาวหลายครั้ง

กลับมาจากธุดงค์พอดีกับทางวัดว่างเจ้าอาวาส ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าอาวาสปกครองวัดมหาโพธิ์ใต้

พ.ศ.2449 เป็นเจ้าอาวาสปกครองถึง 2 วัด คือ วัดมหาโพธิ์ใต้ และวัดเขาดิน ซึ่งอยู่สองฝั่งแม่น้ำปิง ต่อมาได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาดิน เนื่องจากกำลังก่อสร้างศาลาการเปรียญอยู่

มีเหตุการณ์ที่ทำให้เป็นที่เลื่อมใสมาก คือ ได้บอกกับชาวบ้านว่า ให้จัดทำปะรำพิธีต้อนรับที่วัดเขาดิน ชาวบ้านต่างไม่เข้าใจว่าให้สร้างทำไม?

กระทั่งวันที่ 28 สิงหาคม 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จประพาสต้นไปกำแพงเพชร ทางชลมารคได้จอดเรือพระที่นั่งแวะที่วัดเขาดิน โดยไม่มีหมายกำหนดการ และชาวบ้านแถบนั้นไม่มีใครรู้

จดหมายเหตุของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 บันทึกไว้ว่า

“เมื่อมาถึงวัดเขาดินได้ยินเสียงมโหรีและพระสวด เห็นเวลายังวันอยู่จึงได้คิดแวะถ่ายรูป แต่ชายหาดน้ำตื้นเรือใหญ่เข้าไปไม่ถึง ต้องลงเรือเล็กลำเลียงเข้าไปอีก เดินหาดร้อนเหลือกำลังทั้งเวลาก็บ่ายสี่โมงแล้ว ไม่ตั้งใจจะขึ้นเขา แต่ครั้นเข้าถ่ายรูปที่เขาแล้วเห็นวัด วัดตระเตรียมแน่นหนามาก จึงเลยไปถ่ายรูป

ครั้นเข้าไปใกล้ดูคนตะเกียกตะกายกันหนักขึ้น จะต้องยอมขึ้นวัดวัดนี้มีเจ้าอธิการชื่อเฮง รูปพรรณสัณฐานดีกลางคน ไม่หนุ่มไม่แก่ เป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่คนจะนับถือมาก เพิ่งมาจากวัดมหาโพธิ์ใต้ที่ฝั่งตรงกันข้ามได้ 2 ปี แต่มีคนแก่สัปปุรุษและชาวบ้านหลายคนมาคอยอธิบายชี้แจงโน้นนี่ เจ้าอธิการว่าได้สร้างศาลาไว้หลังหนึ่งขัดเครื่องมุง จึงให้เงิน 100 บาท ช่วยศาลานั้น แล้วสัปปุรุษทายกชักชวนให้เข้าไปดูในวัด”

พัฒนาวัดเขาดิน จนมีความเจริญรุ่งเรือง เมื่อท่านได้พัฒนาวัดเขาดินแล้ว ท่านยังไปพัฒนาวัดมหาโพธิ์ใต้อีก ในที่สุดชาวบ้านจึงให้ท่านปกครองทั้ง 2 วัด คือ วัดมหาโพธิ์ใต้และวัดเขาดิน ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามฝั่งแม่น้ำถือว่าเป็นวัดพี่วัดน้อง

มรณภาพในเดือน 12 ปี พ.ศ.2485 สิริอายุ 83 ปี พรรษา 63 •




หมูทองแดง หลวงปู่เส็ง

เครื่องรางหมูทองแดง หลวงปู่เส็ง จันทรังสี วัดบางนา จ.ปทุมธานี

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 เมษายน 2566
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ.2566


วัดบางนา อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เป็นวัดเก่าแก่ที่ชาวรามัญสร้างขึ้น และเป็นสถานศึกษาแก่บรรดาลูกหลานในย่านนั้น

เดิมอยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศตะวันตก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดบางนา ต่อมาย้ายร่นลงไปอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมา

ในอดีตมีชื่อเสียง มีคนไปทำบุญที่วัดมากที่สุด เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่ มีพระไปบวชศึกษาเล่าเรียนมาก ปฏิบัติกิจของสงฆ์อย่างเคร่งครัด ชาวบ้านจึงเลื่อมใสศรัทธา

โดยเฉพาะ “พระครูมงคลธรรมสุนทร” หรือ “หลวงปู่เส็ง จันทรังสี” อดีตเจ้าอาวาสวัดบางนา ถือว่าเป็นพระที่ได้รับสมณศักดิ์รูปแรก และเป็นผู้เริ่มทำพระเครื่องวัตถุมงคลของวัดบางนา จนโด่งดัง

เริ่มสร้างวัตถุมงคลตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง

ที่โด่งดังและรู้จักกันมาก คือ หมูทองแดง

มูลเหตุในการสร้าง คือ ในราวปี พ.ศ.2515 มีคนนำหมูตัวหนึ่งไปโยนน้ำ หวังจะให้ตาย เดชะบุญหมูลอยมากับผักตบชวา และมาหยุดอยู่ที่ตรงท่าน้ำวัด มีคนได้ยินเสียงร้องและได้ช่วยชีวิตไว้

จึงเลี้ยงหมูตัวนี้ ชั่วระยะเวลาไม่ถึงปี หมูตัวนี้ก็เติบใหญ่กินนอนอยู่ข้างกุฏิ

ต่อมาในปี พ.ศ.2521 หมูตัวนี้เกิดตาย ญาติโยมจึงช่วยกันนำออกไปจากวัด โดยไม่ได้แจ้งหลวงปู่ จากนั้นก็นำไปแล่เนื้อ แต่ปรากฏว่าแล่ไม่เข้า หมูตัวนี้มีเขี้ยวงอกยาวออกมาและปรากฏว่าเป็นเขี้ยวตัน

หลวงปู่เส็งจึงได้ให้ลูกศิษย์ออกแบบสร้างเครื่องรางรูปหมูทองแดง โดยจารอักขระในแผ่นทองสามกษัตริย์ เป็นชนวนหล่อ เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ประกอบพิธีภายในอุโบสถของวัดบางนา โดยมีพระเกจิอาจารย์ในจังหวัดปทุมธานี 10 รูป นั่งสวดในพิธีกรรม

จากนั้นนำไปปลุกเสกเดี่ยวอีกครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ก็มอบให้ศิษยานุศิษย์และญาติโยมที่มาทำบุญบูชา จนเกิดประสบการณ์ต่างๆ มากมาย

จัดเป็นเครื่องรางยอดนิยมที่ต่างก็เสาะแสวงหา




หลวงปู่เส็ง จันทรังสี ชาติภูมิ เป็นคนพื้นเพละแวกวัด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2444 พ่อเป็นชาวจีนล่องเรือสำเภาจากเมืองจีนมาอยู่ที่สามโคก บิดาชื่อ จู แซ่บุญเซ็ง เป็นชาวจีน มารดาชื่อ เข็ม เชื้อสายรามัญ ครอบครัวมีพี่น้องทั้งหมด 7 คน พี่น้องเสียชีวิตด้วยโรคฝีดาษด้วยกันหมด เหลือเพียงท่านเท่านั้น

บวชเมื่อปี พ.ศ.2465 โดยเจ้าคุณพระรามัญมุนี วัดบางหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูบวรธรรมกิจ หรือหลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงปู่ทัด ลาหุโล เจ้าอาวาสวัดบางนา มีศักดิ์เป็นน้าชาย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า จันทรังสี

เล่าเรียนอักขระเลขยันต์จากพระอาจารย์ต่างๆ และมีการเรียนภาษาขอมและภาษารามัญ ศึกษาเล่าเรียนทั้งสองภาษาจนแตกฉาน

นอกจากนี้ ยังไปศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงปู่เทียน ที่วัดโบสถ์อีกด้วย

มีปฏิปทาในการใฝ่หาวิชาความรู้มาก ใครแนะนำสั่งสอนท่านก็จดจำไว้เป็นอย่างดี หลวงปู่ท่านเชี่ยวชาญด้านภาษาขอมเป็นพิเศษ เรื่องอักขระเลขยันต์ต่างๆ

กระทั่งปี พ.ศ.2486 หลวงปู่ทัด เจ้าอาวาสวัดบางนามรณภาพ จึงได้รับแต่งตั้งให้รักษาการเจ้าอาวาส

ในปี พ.ศ.2487 สามารถสอบนักธรรมชั้นเอก และ พ.ศ.2489 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการ

ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็บูรณปฏิสังขรณ์วัดจนรุ่งเรือง รับงานการสร้างโบสถ์ต่อจากหลวงปู่ทัด อดีตเจ้าอาวาสที่ทำคั่งค้างไว้จนสำเร็จลุล่วงลงด้วยดี

เป็นพระปฏิบัติมักจะออกธุดงค์ไปปริวาสกรรม ทุกปีมิได้ขาด มีปฏิปทาในทางสมถะ บริกรรมภาวนาเจริญพระคาถาวิชาอาคมต่างๆ

เล่ากันว่าเวลาว่างจากงานที่ต้องกระทำ จะนั่งนับลูกประคำที่คล้องคออยู่ บริกรรมพระคาถาเนืองนิตย์

เป็นสมภารปกครองวัดเรื่อยมาจนกระทั่งอายุ 65 ปี จึงเริ่มทำวัตถุมงคล การทำวัตถุมงคลครั้งแรกนั้นสร้างพระผงสมเด็จ 3 ชั้น รุ่นแรกของวัดบางนา ในปี พ.ศ.2510 หลังจากสร้างพระผงสมเด็จ 3 ชั้นมอบให้ลูกศิษย์ลูกหา

นอกจากนี้ ยังสร้างพระกริ่งรูปเหมือนท่าน มีทั้งแบบหลังตรงและหลังค่อม เนื้อทองแดงผสม สร้างพระปิดตาเนื้อทองเหลืองผสม สร้างเหรียญรูปไข่ รุ่นขี่วัวเนื้อทองแดงผสม สร้างเหรียญจอบรูปเหมือน มีทั้งจอบเล็กและจอบใหญ่ สร้างเหรียญหยดน้ำเนื้อทองแดงผสม สร้างรูปหล่อเนื้อผงปิดทอง

ที่กล่าวมานี้เป็นวัตถุมงคลรุ่นเก่าๆ ที่หลวงปู่สร้างขึ้นมา

วัตรปฏิบัติงดงามเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นผู้สงบเสงี่ยม พูดน้อย ใจดี มีอะไรแล้วใครขอเป็นต้องให้ผู้นั้นเสมอ เมื่อมีผู้ใดนำปัจจัยสี่มาถวาย มิได้เก็บไว้เป็นส่วนตัวเลย โดยจัดเฉลี่ยให้พระสงฆ์ที่อยู่ในวัด ถ้ามีมากก็จะมอบให้เป็นค่าก่อสร้างถาวรวัตถุ

นำเงินไปสร้างวัดวังหิน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง ได้ทำนุบำรุงหมู่กุฏิเสนาสนะวัดบางนาที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น

สาเหตุที่ไปสร้างวัดวังหินอีกแห่งหนึ่งนั้น ก็เนื่องจากท่านเห็นว่าสมัยนั้นชาวบ้านยากจนมาก ถิ่นที่อยู่ก็ทุรกันดารเป็นแหล่งหลบซ่อนของเหล่าเสือปล้น เกรงว่าชาวบ้านและลูกหลานจะมีนิสัยดุร้ายกันไปหมด

วันที่ 21 มกราคม 2531 มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 87 ปี พรรษา 66 •
92  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / Re: พระเครื่อง เมื่อ: 14 พฤศจิกายน 2566 15:33:44

เหรียญหลวงพ่อจุ่น รุ่น 3

เหรียญหลวงพ่อจุ่น วัดโคกบำรุงราษฎร์ พระเกจิดำเนินสะดวก

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 ธันวาคม 2565 - 5 มกราคม 2566
 เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2565


“หลวงพ่อจุ่น รตนลาโภ” หรือ “พระครูมงคลรัตนาภิรักษ์” วัดโคกบำรุงราษฎร์ ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี พระเกจิที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

นอกจากการปกครองพระ-เณร พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองแล้ว ยังช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมสั่งสอนธรรมะ อบรมให้กระทำแต่ความดี

ด้านวิทยาคมถือเป็นอันดับต้นในพื้นที่ดำเนินสะดวก ยุคนั้นร่ำลือกันว่า เมื่อครั้งที่วัดนักบุญอันตน ดอนมดตะนอย จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นวัดคริสต์ สร้างเหรียญนักบุญอันตน ยังต้องให้เป็นผู้เสก

ด้านวัตถุมงคล หลายรุ่นล้วนแต่ได้รับความนิยม

โดยเฉพาะเหรียญรุ่น 3 พ.ศ.2514 ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้เหรียญรุ่นแรก

ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์และงานทำบุญอายุครบ 72 ปี สร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงรมดำ ไม่ได้บันทึกว่าสร้างจำนวนเท่าใด

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มกลม มีหูห่วง ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนครึ่งองค์หันหน้าตรง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนเขียนว่า “พระครูมงคลรัตนภิรักษ์” ด้านล่างเขียนคำว่า “วัดโคกบำรุงราษฎร์”

ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระยันต์ มีภาษาไทยล้อมรอบขอบว่า “งานฉลองสมณศักดิ์ทำบุญอายุครบ ๖ รอบ ๒๕๑๔”

จัดเป็นวัตถุมงคลที่หายากและมีราคา ผู้ใดครอบครองมักจะหวงแหน





หลวงพ่อจุ่น รตนลาโภ เกิดในสกุลใบบน ที่บ้านวัดแก้ว ต.วัดแก้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี เมื่อวันพุธ เดือน 11 แรม 1 ค่ำ ตรงกับวันที่ 20 ตุลาคม 2442 บิดา-มารดาชื่อ นายทิมและนางลำใย ใบบน

ในสมัยเด็ก เรียนหนังสือกับพระอธิการแจ้ง วัดแก้ว จนอ่านได้ทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอมตั้งแต่เด็ก ต่อมา ย้ายมาอยู่กับลุงและป้าที่ ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก

อายุครบ 23 ปี ลุงกับป้าจัดบวชพระให้ ที่พัทธสีมาวัดโคกบำรุงราษฎร์ ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ได้รับฉายาว่า รตนลาโภ โดยมีหลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการแจ้ง วัดโคกบำรุงราษฎร์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ชม วัดกลางวังเย็น เป็นพระอนุสาวนาจารย์

จำพรรษาอยู่ที่วัดโคกบำรุงราษฎร์นานถึง 10 พรรษา ต่อมาบิดาป่วย จึงกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดแก้ว เป็นระยะเวลา 8 พรรษา เพื่อที่จะได้ใกล้ชิดและดูแลบิดาจนสิ้นชีวิต

เมื่อจัดการงานศพเสร็จจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดโคกบำรุงราษฎร์ดังเดิม

พ.ศ.2486 พระอาจารย์เกิด อดีตเจ้าอาวาสลาสิกขาไป ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน

วัดโคกบำรุงราษฎร์ เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ ในหมู่บ้านโคกตานาค ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก เป็นที่ประกอบศาสนกิจของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านได้พร้อมใจกันก่อสร้างขึ้น เมื่อแรกก่อตั้งมีกุฏิ 2 หลัง ชาวบ้านนิมนต์พระภิกษุมาจำพรรษา

ต่อมาในราวปี พ.ศ.2454 เมื่อหลวงพ่อรัตน์จำพรรษา ทำนุบำรุงและก่อสร้างวัดขึ้นมาเป็นหลักเป็นฐาน มีการสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิเพิ่มเติม และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2456

พ.ศ.2501 หลังจากที่หลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม มรณภาพลง จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลท่านัด

พ.ศ.2506 รับตำแหน่งพระครูชั้นประทวน

พ.ศ.2514 รับตำแหน่งพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ พระครูมงคลรัตนาภิรักษ์

เป็นพระเกจิที่มีวิทยาคมเข้มขลัง กระทั่งหลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง ยังยกย่องว่าเก่งกาจหาใครเทียบได้ยาก

นอกเหนือจากเรียนวิชาอาคมกับพระอธิการวัดแก้วแล้ว ยังร่ำเรียนวิชาจากพระอธิการแจ้ง พระกรรมวาจาจารย์ ซึ่งมีชื่อด้านการทำน้ำมนต์และมหาอุด เรียนวิชาการทำตะกรุดโทน เสื้อยันต์ และผ้ายันต์จากพระวินัยธรกล่อม วัดดีบอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เรียนวิชาคงกระพันชาตรีจากหลวงพ่อพวง วัดเอียน อ.บางแพ จ.ราชบุรี

ยังมีเรื่องราววัตถุมงคลที่ได้รับการกล่าวขาน คือ “ธงกันฝน” ที่มีอิทธิปาฏิหาริย์การหยุดลมหยุดฝน ธงกันฝนถือว่ายอดนักแล หลายต่อหลายครั้งที่แสดงให้คนได้เห็นว่าลมฝนมาแรงๆ ก็ให้เอาธงมาเสก เพียงไม่นานลมฝนหยุดทันตา

มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่สร้างอุโบสถหลังใหม่เอาธงขึ้นไปแขวน ฝนไม่ตกบริเวณนั้นเป็นปี จนชาวบ้านเริ่มจะเดือดร้อน ลูกศิษย์ต้องมาขอร้องให้เอาธงลง ฝนถึงได้ตกตามปกติ

ศิษย์ใกล้ชิดคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนตอนที่สร้างเหรียญเพื่อหาเงินทำบุญ ได้เดินทางไปด้วย โดยทำหน้าที่ขับรถให้ท่านเวลาไปไหนมาไหนอยู่เป็นประจำ

มีอยู่วันหนึ่งไปที่ปราณบุรีเพื่อหาผ้าป่า ชาวไร่สับปะรดถามว่า เหรียญท่านแน่จริงหรือ ท่านจึงให้ศิษย์แขวนเหรียญเอาไว้ แล้วให้ชาวไร่สับปะรด ลองเอาปืนมายิง ปรากฏว่าปืนยิงไม่ออก จนเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน ต่างพากันมาขอเหรียญหล่อ แต่ก็ไม่ให้ใครเลยสักเหรียญ และเดินทางกลับวัดเสียดื้อๆ

ปรากฏว่าวันงานผ้าป่าที่วัดมีคณะผ้าป่า เดินทางมาจากปราณบุรีด้วยกันถึงสองคันรถบัส เมื่อมาถึงชาวบ้านปราณบุรีเหล่านั้น ก็ได้ช่วยกันถากหญ้าพัฒนาวัด และร่วมทำบุญ เพื่อจะขอเหรียญเอาไปบูชา

เป็นพระเถระที่ให้ความสำคัญของการศึกษา จะรับเลี้ยงเด็กกำพร้าและส่งให้เรียนหนังสือจนจบ มีหลายคนที่ได้ดิบได้ดี ส่วนที่มาบวชเป็นพระมีอีกหลายรูปได้เป็นเจ้าอาวาส

แม้กระทั่งหลวงพ่อพร เจ้าอาวาสรูปต่อมา ก็คือเด็กกำพร้าหนึ่งในจำนวนมากที่ส่งเสียให้เรียนหนังสือ

มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2515

สิริอายุ 73 ปี พรรษา 50




เหรียญรุ่นเสือเผ่น-ผู้ชนะ หลวงพ่อเที่ยง จันทสโร วัดม่วงชุม กาญจนบุรี

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 มกราคม 2566
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ.2566


พระครูจันทสโรภาส” หรือ “หลวงพ่อเที่ยง จันทสโร” อดีตเจ้าคณะตำบลม่วงชุม และอดีตเจ้าอาวาสวัดม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เจ้าตำรับตะกรุดหนังเสืออันลือลั่น

เป็นศิษย์และยังมีศักดิ์เป็นหลานพระวิสุทธิรังษี (หลวงปู่เปลี่ยน) วัดใต้หรือวัดไชยชุมพลชนะสงคราม พระเกจิชื่อดัง รวมทั้งเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อนารถ วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง อีกทั้งมีความสนิทสนมอย่างมากกับหลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จังหวัดนครปฐม

ว่ากันว่าเรียนวิชาทำตะกรุดหนังเสือมาจากสำนักเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีสหธรรมิกอีกหลายท่านที่พบกันในงานพุทธาภิเษก อาทิ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่, หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก, หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว เป็นต้น

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ เป็นวัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงมาก สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2520 จัดเป็นเครื่องรางยุคแรกที่จัดสร้างและทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง




เหรียญหลวงพ่อเที่ยง วัดม่วงชุม รุ่นเสือเผ่น

นอกจากตะกรุดหนังหน้าผากเสือ กล่าวได้ว่า เหรียญรุ่นเสือเผ่น ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2519 จัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น ซึ่งเนื้อทองแดงนี้ ยังแบ่งออกเป็น เนื้อทองแดงกะไหล่ทองลงยา และเนื้อทองแดงรมดำ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมา แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยเขียนคำว่า “พระครูจันทสโรภาส(เที่ยง)”

ด้านหลัง มีรูปพัดยศ และรูปเสือเผ่นใต้เสือมีเลขไทย “๒๕๑๙” มีอักขระภาษาไทยเขียนคำว่า “วัดม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี”




เหรียญหลวงพ่อเที่ยง วัดม่วงชุม รุ่นผู้ชนะ

นอกจากนี้ ยังมีเหรียญรุ่นผู้ชนะ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2520 จัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น แบ่งออกเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง เนื้อทองแดงรมดำ และเนื้อทองแดงลงยาสีต่างๆ โดยทุกเหรียญจะตอกโค้ดที่ใต้อาสนะ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว โดยสร้างขึ้น ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเที่ยง นั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “หลวงพ่อเที่ยง วัดม่วงชุม อายุ ๙๐” มีการตอกโค้ดไว้ใต้รูปหลวงพ่อ

ด้านหลัง เป็นรูปยันต์สามตรงกลาง ด้านบนเขียนคำว่า “ผู้ชนะ” ด้านล่างเขียนคำว่า “กาญจนบุรี”

จัดเป็นวัตถุมงคลหายากในปัจจุบัน

 


หลวงพ่อเที่ยง จันทสโร

มีนามเดิมว่า เที่ยง ท่านกเอี้ยง เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ปีชวด ที่บ้านม่วงชุม ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ.2431 เป็นบุตรของนายเขียวและนางทองแคล้ว ท่านกเอี้ยง มีพี่น้องรวม 8 คน

ในวัยเด็ก มีอุปนิสัยชอบทางด้านชกมวย และรักความยุติธรรม เป็นคนพูดแบบตรงไปตรงมาไม่เกรงกลัวใคร จึงเป็นที่รักของเด็กวัยเดียวกัน ยกให้เป็นพี่ใหญ่

พ.ศ.2452 อายุ 21 ปีบริบูรณ์ ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารรับใช้ชาติอยู่ 2 ปี หลังปลดประจำการ กลับมาอยู่บ้านประกอบอาชีพทำนา

อายุ 24 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดบ้านถ้ำ อยู่ศึกษาเล่าเรียนกับอุปัชฌาย์ระยะหนึ่ง แล้วย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดม่วงชุม ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้บ้าน

เนื่องจากในวัยเด็กมีโอกาสเล่าเรียนไม่มาก เพราะขาดแคลนครูและห้องเรียน ยิ่งเรียนก็มีความสุขกับการเรียน ทำให้มีความแตกฉานอย่างมาก

หลังจากศึกษาพระปริยัติธรรม และพิธีกรรม จึงเริ่มหันมาศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคมกับหลวงปู่เปลี่ยน วัดใต้ ในฐานะที่หลวงพ่อเที่ยงมีศักดิ์เป็นหลานของหลวงปู่เปลี่ยน จึงได้รับความเมตตาจากหลวงปู่เปลี่ยนเป็นพิเศษในการถ่ายทอดสรรพวิชาด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านพุทธาคม จนมีความเชี่ยวชาญอย่างมาก

ชาวบ้านทั่วไปมักกล่าวขวัญว่า “ใครแขวนวัตถุมงคลของท่าน แมลงวันไม่ได้กินเลือด” หมายความว่า คนคนนั้นหนังเหนียว แทงไม่เข้า ยิงไม่ออก

แม้กระทั่งหลวงปู่แย้ม พระเกจิอาจารย์ดังแห่งวัดสามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ยังกล่าวยกย่องว่าเก่งกล้า โดยท่านเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อเต๋ คงทอง (อาจารย์หลวงปู่แย้ม) ซึ่งทั้งสองท่านต่างมีชื่อเสียงอย่างมากในการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือ

เป็นพระของชาวบ้านชนบทโดยแท้ พูดตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ภาษาที่ใช้สื่อสารก็เหมือนหลวงพ่อคูณเป็นภาษาไทยแท้ๆ ฟังไม่เพราะหู แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา ญาติโยมที่ไปขอความช่วยเหลือจากท่านจะได้รับความเมตตาช่วยเหลือในทุกๆ เรื่องด้วยดี

จากการบอกเล่าของชาวบ้านกล่าวว่าชอบกีฬาชกมวยอย่างมาก การละเล่นนิยมลิเกและหนังตะลุง เป็นพระโบราณลูกทุ่งชนบท ชอบฉันหมากไม่เคยขาดปากเลย

จึงเป็นที่มาของการสร้างพระเครื่องเนื้อชานหมากที่โด่งดัง

หลวงพ่อเที่ยง จันทสโร ลงมือสร้างอุโบสถเมื่อปี พ.ศ.2484 ค่อยสร้างอุโบสถตามกำลังที่มี โดยไม่มีการเรี่ยไร เพราะไม่ต้องการเป็นภาระของชาวบ้าน

ช่วงนั้นประเทศไทยยังตกอยู่ในระหว่างปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองกาญจน์ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามอย่างมาก ด้วยทหารญี่ปุ่นมาตั้งฐานทัพหลายแห่ง ทำให้ทหารพันธมิตรนำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเพื่อทำลายฐานทัพของญี่ปุ่น

เป็นเหตุให้สภาพเศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง แต่ชาวบ้านก็ช่วยบริจาคทุนทรัพย์สร้างอุโบสถจนสำเร็จ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2494

มรณภาพด้วยอาการสงบ เวลา 09.00 น. เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2523 ที่วัดม่วงชุม สิริอายุ 92 ปี พรรษา 69  






พระท่ากระดานเนื้อชินตะกั่ว หลวงปู่เหรียญ สุวัณณโชติ วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี

ที่มา คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 มกราคม 2566
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ.2566


พระโสภณสมาจาร” หรือ “หลวงปู่เหรียญ สุวัณณโชติ” อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) และอดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองกาญจนบุรี

ได้ชื่อว่าเป็นศิษย์เอกใกล้ชิดและได้รับการสืบทอดวิทยาคมจาก “หลวงปู่ยิ้ม” เจ้าอาวาสรูปสำคัญของวัดหนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี อันเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีพุทธาคมสูง

ที่สำคัญ ยังได้เคยสั่งสอนศิษย์ให้เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในด้านไสยเวทในยุคต่อมาอีกหลายรูป

นอกจากหลวงปู่เหรียญ ยังมีหลวงปู่ดี วัดเหนือ, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ, หลวงพ่อสอน วัดลาดหญ้า, หลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี, หลวงพ่อหัง วัดเหนือ, หลวงพ่อดอกไม้ วัดดอนเจดีย์, หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ เป็นต้น

สร้างวัตถุมงคลและเครื่อรางไว้มากมาย อาทิ ตะกรุด ลูกอม ลูกอมแผง แหวนพิรอด พระปิดตา ซึ่งสร้างตามแบบของหลวงปู่ยิ้ม แต่มีขนาดย่อมกว่า สันนิษฐานว่าได้สร้างมาเรื่อยๆ ตามแต่จะมีผู้เลื่อมใสศรัทธาขอและแจกเรื่อยมา

จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงบั้นปลายชีวิต บรรดาลูกศิษย์เห็นว่าวัตถุมงคลที่ได้รับแจกมามีประสบการณ์ ประกอบกับเห็นว่า หลวงปู่ชราภาพมากแล้ว จึงกราบขอให้จัดสร้างพระเครื่องวัตถุมงคล เพื่อไว้เป็นที่ระลึก

วัตถุมงคลทุกรุ่น ล้วนแต่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะ พระท่ากระดาน




พระท่ากระดาน หลวงปู่เหรียญ พ.ศ.2497

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2497 ลักษณะเป็นพระพิมพ์ท่ากระดานเนื้อชินตะกั่ว เล่ากันว่า วัดหนองบัว สมัยหลวงปู่เหรียญ เป็นเจ้าอาวาส ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น เนื่องจากมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ขณะที่รื้อซ่อมอุโบสถเก่า ได้พระท่ากระดานจำนวน 93 องค์ แต่ชำรุดเสียหายเป็นส่วนใหญ่ เหลือสภาพสมบูรณ์เพียง 7 องค์เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังได้ค้นพบพระพิมพ์ต่างๆ ของหลวงปู่ยิ้มอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดถูกบรรจุรวมกันอยู่ภายในโถโบราณ หรือบาตรลูกหนึ่ง ตั้งอยู่บนเพดานพระอุโบสถ ตรงกับทับหลังของประตู ด้านหลังพระประธาน

พระท่ากระดานที่ชำรุดแตกหักเหล่านั้น นำมาหล่อหลอมรวมกับโลหะอื่นๆ สร้างเป็นพระท่ากระดานขึ้น โดยหลอมรวมกับตะกั่วโบราณ หรือเนื้อชินโบราณ ซึ่งลูกศิษย์นำมาถวาย จำนวนสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐานเขียง องค์พระไม่ตัดชิดแบบพระท่ากระดานทั่วๆ ไป พระเกศขององค์พระแหลมแต่สั้นไม่โค้งงอ

ด้านหลังเรียบ ไม่มีอักขระยันต์




พระท่ากระดาน หลวงปู่เหรียญ พ.ศ.2500

นอกจากนี้ ในเวลาต่อมา ยังได้สร้างพระท่ากระดาน ในปี พ.ศ.2500 ลักษณะเป็นพระพิมพ์ท่ากระดานเนื้อชินตะกั่ว โดยรวบรวมตะกั่วโบราณ หรือเนื้อชินโบราณ ซึ่งลูกศิษย์นำมาถวายเป็นส่วนผสมหลัก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เช่นกัน

ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐานเขียง แบบพระท่ากระดานกรุศรีสวัสดิ์ พระเกศขององค์พระโค้งงอไปทางขวาขององค์พระ

ด้านหลังเรียบ ไม่มีอักขระยันต์

จัดเป็นเครื่องรางพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์ ที่ค่อนข้างจะหาได้ยาก





หลวงปู่เหรียญ สุวัณณโชติ มีนามเดิมว่า เหรียญ รัสสุวรรณ เป็นบุตรของชาวไทยเชื้อสายจีน เกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2419 ตรงกับวันเสาร์ แรม 7 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด ที่บ้านหนองบัว ต.หนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายโผ และนางแย้ม รัสสุวรรณ มีพี่น้องรวมกันทั้งหมด 7 คน

ถึงแม้จะเกิดมาในตระกูลชาวนา-ชาวไร่ มีอาชีพที่เรียกว่าหาเช้ากินค่ำ ต้องช่วยบิดา มารดา หาเลี้ยงชีพตามวิสัยชาวชนบท

แต่กระนั้น ก็ยังสามารถเสาะแสวงหาความรู้ ด้วยความเอาใจใส่กับวิชาที่เล่าเรียน จนสามารถอ่านออกเขียนได้ มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญยิ่งทั้งภาษาไทย และภาษาขอม เป็นที่พึ่งแก่คนทั่วไป นับได้ว่าควรแก่การสรรเสริญ จากนั้นท่านจึงได้กลับมาช่วยเหลือบิดา มารดา ทำไร่ไถนา เป็นการแบ่งเบาภาระตามความจำเป็นในยุคนั้น

อายุย่าง 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2440 มีเจ้าอธิการยิ้ม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสิงคิบุรณคณาจารย์ (คง ทองสุด) วัดเทวสังฆาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์อยู่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “สุวัณณโชติ”

อยู่จำพรรษาอยู่วัดศรีอุปลารามตลอดมา ครั้นมีพรรษาพอสมควร หลวงปู่ยิ้ม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ มอบกิจการต่างๆ ให้ช่วยดูแล และเป็นพระกรรมวาจาจารย์สวดนาค

ระหว่างที่ปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์และศึกษาวิทยาคมจนหมดสิ้น

เป็นพระนอบน้อมถ่อมตน ไม่ชอบโอ้อวดว่ามีดี ให้เกียรติและยกย่องพระอุปัชฌาย์และศิษย์รุ่นพี่ร่วมสำนักอยู่เสมอ

พ.ศ.2454 พระครูวิสุทธิรังษี (เปลี่ยน อินทสโร) วัดชัยชุมพลชนะสงคราม เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วยพระครูสิงคิบุรคราจารย์ (สุด) วัดเทวสังฆาราม รองเจ้าคณะจังหวัด ตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวสืบมา

ลําดับงานปกครอง

พ.ศ.2458 เป็นเจ้าคณะแขวงเมือง

พ.ศ.2473 เป็นพระอุปัชฌาย์

ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2461 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูนิวิฐสมาจาร

พ.ศ.2490 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2496 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระโสภณสมาจาร

มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2503

สิริอายุ 84 ปี พรรษา 63 •
93  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / ผัวขายเมีย ครอบครัวขายผู้หญิงในไทยสมัยโบราณ ขายได้เงินเท่าไหร่? เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2566 14:17:01


ทาสชาวสยาม มีสภาพชีวิตแทบไม่ต่างจากไพร่สามัญในทัศนะของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 จากหอสมุดดำรงราชานุภาพ)



ผัวขายเมีย ครอบครัวขายผู้หญิงในไทยสมัยโบราณ ขายได้เงินเท่าไหร่?

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2566



ผัวขายเมีย ในชนชั้น “ไพร่” ครอบครัวขายผู้หญิงในไทยสมัยโบราณ ขายได้เงินเท่าไหร่?

ผู้คนในไทยสมัยโบราณนอกเหนือจากชนชั้นระดับเจ้านายและขุนนางแล้ว ส่วนใหญ่ถูกนิยามว่า “ไพร่” และ “ทาส” ในบรรดาชนชั้นไพร่ที่ทำการเกษตร เมื่อประสบปัญหาด้านผลผลิตสืบเนื่องมาจากภัยต่างๆ สถานะการเงินของชาวนาย่อมยากลำบากจน บางครั้งมักพบเห็นชนชั้นไพร่ขายวัวควาย แม้กระทั่งขายลูกขายเมียก็มี


การขายลูกขายเมียในอดีตปรากฏในบันทึกหลากหลายฉบับ ตัวอย่างหนึ่งคือบันทึกของอ็องรี มูโอต์ เป็นนักสำรวจชาวฝรั่งเศสในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งเดินทางมาสำรวจพื้นที่อุษาคเนย์ บันทึกของเขาเอ่ยถึงสัญญาซื้อขายทาส โดยยกหลักฐานมาจากบันทึกของสังฆราชปาลเลอกัว เนื้อหาในสัญญามีว่า

“วันพุธที่ 25 เดือน 6 ทางจันทรคติ จุลศักราช 1211 ข้าพเจ้า ผู้เป็นผัว พร้อมนางกล ผู้เป็นเมีย นำลูกสาวชื่อ ‘มา’ มาขายให้กับคุณหลวงศรี เป็นเงิน 80 ติกัล (240 ฟรังก์) เพื่อให้ทำงานรับใช้นายท่านแทนดอกเบี้ย ถ้านานมาลูกสาวของเราหลบหนี ให้นายท่านกุมตัวข้าพเจ้า และบังคับให้ตามตัวนางมาส่งคืน”

มูโอต์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า คนที่มีสถานะเป็นหัวหน้าครอบครัวขายเมียเป็นทาส “เป็นเรื่องทั่วไปในหมู่คนชั้นล่าง” และเป็นเรื่องที่ “เกิดขึ้นบ่อยและชวนสลดใจไม่มากก็น้อย”

ผู้ศึกษาค้นคว้าเอกสารทางประวัติศาสตร์อีกท่านที่พบหลักฐานเกี่ยวกับ ผัวขายเมีย คือ ชัย เรืองศิลป์ ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ สมัย พ.ศ.2352-2453 ด้านสังคม” ชัย เรืองศิลป์ อธิบายไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวว่า ไม่สามารถหาตัวเลขราคาขายลูกขายเมียอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 2-3

แต่ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพิมพ์ในกรุงเทพฯ โดย “หมอสมิท” ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ไซแอมรีโพซิตอรี” เขียนเล่าไว้ว่า เขาได้รับฟังชาวบางปลาสร้อยปรับทุกข์ว่า ทำหนังสือกรมธรรม์ขายเมียของเขาต่อหน้าเจ้าพนักงานเป็นเงิน 9 ตำลึง

เขานำเงินจำนวนนี้มาซื้อที่นาแปลงหนึ่ง จากนั้นก็ลงมือปลูกบ้าน ภายหลังมีญาติของเจ้าของที่ดินมารื้อบ้าน และฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน ผู้ว่าราชการเมืองบางปลาสร้อยไม่สามารถตัดสินคดีลงได้ ต้องส่งเรื่องมาให้ในหลวงพิจารณา ซึ่งกรณีนี้หมอสมิทแสดงความคิดเห็นวิจารณ์ผู้ว่าราชการเมืองบางปลาสร้อยว่าไร้สมรรถภาพ จากที่ต้องส่งเรื่องคดีแบบนี้มาให้ในหลวงพิจารณาตัดสิน

สำหรับค่าตัว ทาสสินไถ่ (หมายถึงทาสที่เป็นชนต่างด้าว, ผู้ที่ถูกพ่อ-แม่หรือผัวขาย, ผู้สมัครใจเป็นทาสเอง, ผู้ถูกศาลตัดสินให้เป็นทาสเพราะไม่มีเงินชำระหนี้) ชัย เรืองศิลป์ ค้นคว้าแล้วไม่พบว่ามีระบุพิกัดค่าตัวทาสสินไถ่ไว้ในกฎหมาย ซื้อขายกันเท่าไหร่ก็ได้ คาดว่าอาจถือพิกัดลูกทาสเป็นเกณฑ์ตั้งราคาก็เป็นได้

ส่วนในแง่ตัวเลขราคาการขายในอดีตนั้น พิกัดค่าลูกทาส/ลูกครอก(ลูกที่เกิดจากมารดาซึ่งขายตัวเป็นทาส)เพศหญิงที่รัฐบาลตั้งไว้มีดังนี้

อายุ 16-20 ค่า 10 ตำลึง

อายุ 21-30 ค่าสูงสุด 12 ตำลึง

อายุ 31-35 ค่า 11 ตำลึง

อายุ 36-40 ค่า 10 ตำลึง

อายุ 41-45 ค่า 9 ตำลึง

กฎหมายมีระบุค่าตัวไปจนถึงอายุ 100 ปี

ทั้งนี้ ชนชั้นในไทยแตกต่างจากของอินเดีย ชนชั้นของไทยไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิดเหมือนระบบวรรณะ ของไทยสามารถเลื่อนชั้นได้ แต่จากการศึกษาเรื่องทาสในสมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ โดย ชาติชาย พณานานนท์ ซึ่งศึกษาจากหลักฐานศิลาจารึกสมัยอยุธยา, บันทึกร่วมสมัยของชาวต่างชาติ และประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 (ส่วนใหญ่แล้วประมวลกฎหมายของรัชกาลที่ 1 ยังคงใช้มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5) พบว่า การเลื่อนชั้นมีให้เห็นน้อยมาก โดยทาสจะเป็นอิสระได้ต่อเมื่อมีสงครามแล้วอาสาไปรบ เมื่อรอดตายจะได้เป็นอิสระ หรืออีกกรณีคือหาเงินไถ่ตัวได้

ขณะที่งานวิจัยเรื่อง “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยตั้งแต่รัชสมัยพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถึงสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2310-2394)” โดย สุวิทย์ ธีรศาสวัต ให้ข้อมูลไว้เพิ่มเติมว่า ทาสว่ายากแล้ว สำหรับไพร่ ขุนนาง และข้าราชการ เลื่อนชั้นยากกว่าอีก ช่วงต้นรัตนโกสินทร์พบหลักฐานเกิดขึ้นครั้งเดียวคือการรัฐประหารล้มอำนาจสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พวกที่มีโอกาสได้เลื่อนชั้นมากกว่าพวกอื่นคือ ไพร่ ได้เป็นขุนนางและข้าราชการ ไพร่ในช่วง พ.ศ.2374-2392 มี 675 คน จาก 4,355 คน ได้เลื่อนชั้นเป็นข้าราชการและขุนนาง
94  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / ทำไม “เจ้านายไทย” สมัยก่อนใช้ชีวิตกลางคืนตื่นบรรทม 6 โมงเย็น เมื่อ: 25 ตุลาคม 2566 13:45:32

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ทรงฉายกับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ


ทำไม “เจ้านายไทย” สมัยก่อนใช้ชีวิตกลางคืนตื่นบรรทม 6 โมงเย็นแม้ราชการใช้เวลาออฟฟิศแล้ว


ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - เพจ ศิลปวัฒนธรรม วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2566


ราชการไทยเริ่มทำงานแบบเต็มเวลาในระบบแบบ “ออฟฟิศ” ตามตะวันตกตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 แต่เมื่อบุคลากรจากต่างแดนเข้ามาประสบตารางเวลาทำงานของ เจ้านายไทย ในราชวงศ์จักรีแล้วก็ยังแปลกใจกับการทำงานที่เจ้านายหลายพระองค์ทรงใช้ชีวิต (ทั้งทรงงานและการส่วนพระองค์) ในเวลากลางคืน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นช่วงที่เริ่มนำระบบทำงานแบบเต็มเวลาในออฟฟิศมาใช้ในระบบราชการเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2418 และถูกนำมาใช้เต็มรูปแบบในทุกกระทรวงใน พ.ศ. 2435 (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2545)

วีระยุทธ ปีสาลี ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “ชีวิตยามค่ำคืนในกรุงเทพฯ พ.ศ.2427-2488” ตั้งข้อสังเกตว่า การปฏิรูประบบการทำงานในสยาม เป็นผลมาจากความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยในยุคอาณานิคม แต่สำหรับการทำงานแบบเต็มเวลาในโลกตะวันตกนั้น มาจากแนวคิดในระบบทุนนิยมที่ต้องทำงานเพื่อสร้างผลผลิตที่มีมูลค่าสูงในโรงงานเอกชน

สำหรับการทำงานของ เจ้านายไทย นายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ (Malcolm Smith) แพทย์ประจำพระองค์ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แสดงความคิดเห็นเมื่อพบเห็นการทำงานในช่วงเวลากลางคืนเสมือนกับว่าทำกลางคืนให้กลายเป็นกลางวัน กลางวันกลายเป็นกลางคืนว่า เป็นเรื่องแปลกไปจากที่คุ้นเคย

ข้อมูลที่อ้างอิง มัลคอล์ม สมิธ เผยในเอกสาร “ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ” เล่าว่า สมเด็จพระพันปีหลวงทรงเป็นเจ้านายพระองค์สำคัญที่ทรงตื่นบรรทมเวลาประมาณ 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม บางคราวเลยไปถึง 4 ทุ่มก็มี หลังจากนั้นจึงสรงน้ำ เปลี่ยนฉลองพระองค์ แล้วจึงเริ่มปฏิบัติภารกิจประจำวันไปจนถึงรุ่งเช้าจนเข้าบรรทมประมาณ 7 โมงเช้า

ส่วนผู้ที่เข้าเฝ้าจะมาในเวลากลางคืน แน่นอนว่าฝั่งนายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ ก็เช่นกัน โดยนายแพทย์ฝรั่งเล่าว่า มักได้เข้าเฝ้าเกือบเที่ยงคืน ขณะที่เจ้านายหลายพระองค์ต่างผลัดกันเสด็จมาเข้าเฝ้าในแต่ละคืนด้วย

ผู้เขียนหนังสือยังอ้างอิงข้อมูลจากเอกสารที่เล่าประสบการณ์ของหมอสมิธว่า เจ้านายไทย องค์อื่นก็โปรดใช้ชีวิตทำงานในช่วงราตรีเช่นกัน อาทิ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 6 ทรงใช้เวลาทรงพระอักษร ทรงพระบิลเลียด ทรงไพ่บริดจ์ และซ้อมละครหรือโขนร่วมกับข้าราชการสำนักชายของพระองค์ ซึ่งเหตุผลการใช้ชีวิตยามค่ำคืนมีว่า (จมื่นอมรดรุณารักษ์, 2517)

“…เวลาดังกล่าวนี้ถ้าจะสืบดูจากประวัติศาสตร์โดยทั่วไปแล้วจะเห็นว่าภัยของประเทศที่จะมีขึ้นเพื่อโค่นล้มรัฐบาลนั้น จะถือเอาเวลาตอนดึกนี้ทำการปฏิวัติ เพราะฉะนั้นพระองค์ผู้มีหน้าที่รักษาความสุขของประชาชนก็จะต้องเป็นยามคอยระแวดระวังภัยให้ชาติบ้านเมืองได้รับความสงบสุขอยู่ตลอดเวลา”

จากข้อมูลข้างต้นอาจพอทำให้เห็นภาพการใช้ชีวิตยามค่ำคืนของเจ้านายหลายพระองค์ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหน้าที่ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา และหากอ้างอิงตามข้อมูลที่มี พอจะบอกได้ว่าเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับเหตุผลทางการเมืองมากกว่าความพึงพอพระราชหฤทัยส่วนพระองค์
95  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม / “พระแม่ลักษมี” ในเทวปกรณัม มหาเทวีผู้ทรงอานุภาพด้านความรักและโชคลาภ เมื่อ: 25 ตุลาคม 2566 13:39:08

ภาพเขียนพระลักษมี ภายในวิหารฮินดู รัฐทมิฬนาฑู
(ภาพโดย Ankushsamant ใน Wikimedia Commons สิทธิการใช้งาน CC BY-SA 3.0)


“พระแม่ลักษมี” ในเทวปกรณัม มหาเทวีผู้ทรงอานุภาพด้านความรักและโชคลาภ


ผู้เขียน กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - เพจ ศิลปวัฒนธรรม วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2566


นิยายเทวปกรณัมฮินดูหลายเรื่องที่นำเสนอเกี่ยวกับความรักและโชคลาภมักกล่าวถึง “พระลักษมี” พระนางคือตัวแทนของ ความรัก ความโรแมนติก และ โชคลาภ โดยเฉพาะที่โดดเด่นและกำลังเป็นกระแสในปัจจุบันคือ ทรงมีอานุภาพดลใจให้หนุ่มสาวมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

สำหรับเรื่องราวในนิทานโบราณคดีภาษาสันสกฤตของอินเดีย หรือภารตนิยาย มีเรื่องราวของ พระลักษมี สอดแทรกอยู่มากมาย เช่น เรื่อง สุโลจนา เรื่องราวของเจ้าหญิงสุโลจนาแห่งปลักษทวีป นางต้องเข้าพิธีสมรสกับวิทยาธรผู้หนึ่ง แต่ก่อนพิธี 7 วัน พระมาธวะ เจ้าชายแห่งนครตาลธวัช เนื้อคู่ตัวจริงพยายามอย่างหนักเพื่อดั้นด้นมาพบนางให้ได้ และเป็นพระลักษมีที่มาแจ้งเรื่องนี้ให้สุโลจนาทราบด้วยการเข้าฝันนาง

แม้กระทั่งนิทานพุทธศาสนาอย่างเรื่อง กามนิต วาสิฏฐี คู่พระ-นางได้พบกันครั้งแรกยังมีพระลักษมีเข้ามา “มีเอี่ยว” เพราะเกิดขึ้นตอนฝ่ายหญิงเข้าพิธีระบำเดาะคลีถวายพระลักษมี ทั้งคู่พลันตกหลุมรักกันตั้งแต่แรกเห็นเสียอย่างนั้น

นอกจากความรักเชิงชู้สาวแล้ว พระลักษมียังมีอานุภาพด้านความรักแบบครอบครัว อย่างเรื่อง จันทรสวามี พราหมณ์จันทรสวามีเป็นผู้มีความรักให้บุตรทั้งสองอย่างมั่นคง แต่เกิดพลัดพรากจากกัน จันทรสวามีตามหาลูก ๆ อย่างอุตสาหะและไม่ย่อท้อหรือสิ้นหวัง แม้จะติดตามไปผิดทาง กระทั่งมานอนอยู่บนต้นไทรใหญ่ พระลักษมีจึงมาโปรดด้วยการปรากฏพระองค์ ยื่นดอกไม้ให้จันทรสวามีดอกหนึ่ง แล้วกล่าวว่า

“ดูก่อนจันทรสวามี ท่านจงรับดอกไม้นี่ไปเถิด นี่คือดอกปาริชาติในแดนสวรรค์ ร้อยปีจะบานสักครั้งหนึ่ง เรามอบให้ท่าน ทิพยบุปผาอันรวยรื่นชื่นใจนี้ ไม่มีมรรตัยชนคนใดจะเคยได้สัมผัสมาก่อน สำหรับท่านควรจะนับว่าเป็นบุคคลพิเศษที่สมควรจะได้รับ เพราะท่านมีความรักอันบริสุทธิ์ ยั่งยืนและจริงจัง และท่านได้ตกเป็นเหยื่อของชะตากรรมได้รับความทุกข์ยากมานานนักหนาแล้ว บุปผาสวรรค์นี้จะพลิกโชคชะตาของท่าน อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ สิ่งที่สูญหายก็จะได้คืนมา ทุกข์โศกโรคภัยจะหายสิ้น น้ำตาจะกลับเป็นรอยยิ้มอันแสนสุข เพราะเรา ‘ภัทราลักษมี’ เทวีแห่งโชคดีมาเยือนท่านแล้วในวันนี้”


จากนั้นพระนางก็อันตรธานไป รุ่งเช้า จันทรสวามีได้พบลูก ๆ จนได้ เป็นที่น่าอัศจรรย์ แต่การพลัดพรากจากกันนานทำให้ลูกจดจำบุพการีมิได้ ก็ได้ดอกปาริชาติของพระลักษมีฟื้นฟูความทรงจำให้เด็กทั้งสอง เรื่องราวจึงจบบริบูรณ์

บางครั้งพระลักษมียังประทาน “โชคลาภ” ด้วยการให้บุตรผู้เปี่ยมบุญญาธิการ เช่น เรื่อง จันทรางคฑ กล่าวถึงพระเจ้าอินทรเสนผู้ครองแคว้นนิษัทต่อจากพระนล ผู้เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ แต่ทรงปกครองแคว้นจนรอดพ้นอันตรายทั้งหลายไปได้ เพราะพระลักษมีประทานพระโอรสและสร้อยจันทรกานต์มาให้

อย่างไรก็ตาม อานุภาพด้านโชคลาภของพระลักษมีมิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน ดังปรากฏในตอนหนึ่งเรื่อง วิทยุตประภา ความว่า “พระลักษมีเทวีแห่งโชคลาภหาได้สถิตอยู่กับผู้ใดตลอดไปไม่ เมื่อมีโชคดี (ภัทราลักษมี) ได้ ก็ย่อมมีโชคร้าย (ปาปีลักษมี) เป็นของคู่กันธรรมดา”

พระลักษมีไม่เพียงประทานโชคลาภแก่ผู้มีความรักอันบริสุทธิ์เท่านั้น ในเรื่อง หริศรรมัน พราหมณ์หริศรรมันนี้มิได้มีคุณวิเศษอันใด ทั้งพาตนเองตกกระไดพลอยโจนจากความไม่รอบคอบ จนกลายเป็นผู้มีตาทิพย์ เอาตัวรอดจากหลายสถานการณ์ย่ำแย่ต่าง ๆ ได้อยู่ร่ำไป พราหมณ์หริศรรมันบอกความลับในการเอาตัวรอดอย่างน่าเหลือเชื่อแก่ภรรยาว่า

“ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ข้าเชื่อของข้าอย่างปราศจากข้อสงสัยว่า ‘พระภัทราลักษมี’ เทวีแห่งโชคลาภเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนข้า บุคคลใดแม้มีวิทยาการล้ำเลิศแค่ไหน มีสกุลรุนชาติสูงส่งเพียงมด แต่ถ้าพระศรีไม่โปรดปรานแล้ว ชีวิตของเขาก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จดังปรารถนา ข้าเชื่อและข้าจงรักภักดีในพระเทวี ข้าถวายบรรณาการเป็นพลีแด่องค์พระศรี โดยเผาเครื่องหอมในถาดนำไปสังเวยที่ต้นตุลสีเพียงครั้งเดียว พระเทวีก็ทรงโปรดปรานประทานโชคให้แก่ข้า”

“พระลักษมี” ถือเป็นมหาเทวีที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญตาเจริญใจ มีน้ำพระทัยงดงาม อ่อนหวานนุ่มนวล พระสุรเสียงไพเราะ ทรงอุปถัมภ์ความสมบูรณ์ด้านต่าง ๆ ทั้งเสน่หา มิตรภาพ ความรัก ความสุขกายสบายใจ และความสมบูรณ์ในโภคทรัพย์ทั้งปวง พระนางจึงเป็นทั้งแบบอย่างความงามพร้อมในคติของชาวฮินดู และเป็นผู้นำโชคลาภมาประทานแก่ผู้บูชาอย่างแท้จริง
96  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / ประวัติย่อ หลวงปู่เชอรี่ อภิเจโต วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี เมื่อ: 19 ตุลาคม 2566 17:00:00



ประวัติย่อ หลวงปู่เชอรี่ อภิเจโต
วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี

๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๖ มุทิตาอาจาริยบูชาคุณ ๘๗ ปี หลวงปู่เชอรี่ (พอ.จอร์จ) อภิเจโต "สมณะผู้ทำตนเรียบง่ายแห่งวัดป่าบ้านตาด"

พระอาจารย์เชอรี่ อภิเจโต เป็นพระภิกษุชาวต่างชาติ รุ่นเดียวกับท่านพระอาจารย์ปัญญา ปัญญาวุฑโฒ ที่ดำรงขันธ์อยู่ องค์ท่านเข้ามาศึกษาธรรมะกับหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน และญัตติเป็นธรรมยุติพร้อมท่านพระอาจารย์ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ

• ประวัติย่อหลวงปู่เชอรี่ อภิเจโต
นามเดิม นายยอจ รอดเน นามสกุล เชอรี่ (CHERRY GEORGE RODNEY) เกิดเมื่อวันที่ ๑๘​ ตุลาคม ๒๔๗๙​ ณ เมืองโพรวิเดนซ์ โรดไอแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

บิดาชื่อ นายวิลเลี่ยมแอส มารดาชื่อ นางลีนัวร์ เชอรี่ มีน้องสาวร่วมบิดามารดา ทั้งหมด ๑ คน การศึกษา ระดับไฮสกูล

พระอาจารย์เชอรี่ อภิเจโต เดินทางเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ โดยเดินทางผ่านประเทศมาเลเซีย เข้าสู่ประเทศไทย ผ่านทางภาคใต้ เที่ยวเรื่อยมาจนถึงกรุงเทพมหานคร (พระนคร) ได้พบ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เกิดความศรัทธา ในพระพุทธศาสนา มีความประสงค์จะบรรพชาเป็นสามเณร จึงได้เขียน จดหมายไปขอมารดา เมื่อได้รับอนุญาตจากมารดาแล้ว จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๒๗​ กันยายน ๒๕๐๗ (ขณะมีอายุ ๒๘ ปี) ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีพระสาสนโสภณ เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่ออายุ ๒๘ ปี (ย่างเข้า ๒๙ ปี) พระอาจารย์เชอรี่ ได้เข้าพิธีอุปสมบทพร้อมกับท่านพระอาจารย์ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ (พระฝรั่งชาวอังกฤษ เดิมเป็นวิศวกร) ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๐๘ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบางลำภู เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร​ เป็น​ "พระยอจ รอดเน" ได้รับฉายาว่า “อภิเจโต" ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้มีจิตใจอันยิ่งใหญ่” โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่​ ๑๙​ แห่ง​กรุง​รัตน​โกสินทร์​ (หรือ​ พระสาสนโสภณ ราชทินนามในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์  พระเทพญาณกวี เป็นพระกรรมวาจาจารย์  หลวงตาพระมหาบัว ญาณสมปันโน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เกร็ดประวัติหลวงปู่ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ
พระอาจารย์ปัญญา อุปสมบทครั้งที่ ๒ ขณะอายุ ๓๙ ปี อุปสมบทซ้ำในฝ่ายธรรมยุตินิกาย (ทำพิธีบวชซ้ำอีกโดยมิได้ลาสิกขาบทไปเป็นฆราวาสก่อน) เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๐๘ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับนามฉายา ภาษามคธว่า “ปญฺญาวฑฺโฒ” แปลว่า ผู้เจริญด้วยปัญญา ครูบาอาจารย์และลูกศิษย์ลูกหาทั่วไปจึงได้เรียกชื่อท่านสั้นๆ ว่า “ปัญญาๆ” ตั้งแต่นั้นมา

จากปี พ.ศ.๒๕๐๘ พระอาจารย์เชอรี่ ได้ติดตามหลวงตาพระมหาบัว มาจำพรรษา ณ วัดป่าบ้านตาด จนถึงปัจจุบัน โดยท่านเป็นพระที่ตั้งมั่นถือปฏิปทาพระธุดงค์กรรมฐานตามแบบหลวงตาพระมหาบัว เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ถือข้อวัตร มีเพียงผ้าสามผืน อัฐบริขาร ใบมีดโกน ในกุฏิไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก วัตถุสิ่งของ และปัจจัย ๔ พระอาจารย์เชอรี่​ มีจริตชอบอดอาหาร (ไม่ออกฉันที่ศาลา) และนั่งภาวนาเป็นเวลานาน ๆ ไม่ชอบพบปะผู้คน มักน้อย สันโดษ ทำข้อวัตรปฏิบัติไม่เคยขาด เก็บเศษขยะรอบวัดป่าบ้านตาดเป็นประจำ ไม่บกพร่องในกิจของสงฆ์ ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์มาก ให้ความเมตตาช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวบ้านอย่างกว้างขวาง แต่ไม่เปิดเผย ไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ท่านชอบทำบุญให้ทาน และเป็นผู้ให้ที่ให้เกียรติแก่ผู้รับ​

หลวงตาพระมหาบัวเคยกล่าวถึงท่านพระอาจารย์ว่า "ท่านเชอรี่ท่านไม่ยึดติดอะไรปล่อยวางหมดแล้ว" มาระยะหลัง หลวงตาช่วยชาติ พระอาจารย์จึงเริ่มสงเคราะห์โลก เมตตาสอนธรรมะแก่ลูกศิษย์และนักภาวนา โดยเฉพาะเรื่องเจโต การรู้วาระจิต ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดี่ยวกันว่า "ท่านรู้วาระจิตจริงๆ" ทำอะไรให้ระวังให้ดีท่านจะรู้เจโตวาระจิต

มีบุคคลท่านหนึ่งไปกับเพื่อนในงานบุญประทายข้าวเปลือก เพื่อนขอยืมเงินทำบุญ ๖๐ บาท จริงแล้วเพื่อน ๆ มีเงิน ๕๐๐ แต่ครุ่นคิดว่าจะทำบุญดีหรือไม่ บุคคลท่านนี้คิดในใจว่า "ยืมเงิน ๖๐ บาท ขอบุญครึ่งหนึ่งล่ะกันเพื่อน" อยู่ดี ๆ พระอาจารย์มาจากไหนไม่รู้มาจับมือเพื่อนแล้ว บอกว่า "การทำบุญอย่าตระหนี่ถี่เหนียวนะ ทำบุญให้ตั้งอกตั้งใจให้ได้ทั้งบุญนอกบุญใน เข้าใจมั่ย" แล้วท่านก็เดินจากไป ทั้งสองคนต่างตกใจ ว่าท่านรู้ได้ยังไง เพราะคุยกันสองคนและท่านก็ไม่ได้อยู่แถวนั้นด้วย อยู่ดี ๆ ท่านเดินมาจากไหนไม่รู้ ทำให้ทั้งสองศรัทธาและเห็นผลในพระพุทธศาสนา โดยมีพระอาจารย์เป็นเครื่องยืนยัน อีกเรื่อง

จริง ๆ มีอีกมาก เล่าพอสังเขป มีพี่ท่านหนึ่ง ทะเลาะกับพ่อแม่ แล้วหนีออกมาจากบ้าน ต้องการหลักใจเลยมาวัดป่าบ้านตาด แล้วมากราบพระประธานที่ศาลา ปรากฏว่าพระอาจารย์มาจากไหนไม่รู้ แล้วเดินขึ้นศาลา แล้วกล่าวว่า "ตี๋ (ขออนุญาตสมมุติชื่อ) ตี๋อยู่ไหน เราจะคุยกับตี๋" พี่ท่านนี้แปลกใจมากว่า ท่านรู้ชื่อเราได้ยังไง แล้วพระอาจารย์ก็เทศน์สอนพี่ว่า "พ่อแม่เราอย่าไปทะเลาะกับท่าน ให้มีความเคารพกตัญญูท่าน ท่านเป็น on 1. "

พี่ท่านนี้ทราบว่า ท่านรู้วาระจิตจริง ๆ เพราะพึ่งทะเลาะกับพ่อแม่มาและท่านทราบชื่อทั้งที่เจอครั้งแรก และไม่ได้บอกมาก่อนด้วย ทำให้พี่ท่านนี้เกิดความศรัทธาตั้งมั่นในพระอาจารย์และถือธรรมของท่านเป็นหลักในการดำรงชีวิต...
สมแล้วที่ท่านพระอาจารย์ ได้ฉายาว่า"อภิเจโต" ผู้มีจิตใจอันยิ่งใหญ่

อาการอาพาธ
ปัจจุบันพระอาจารย์เชอรี่เข้าสู่ปัจฉิมวัย มีอาการเจ็บป่วยตามอายุที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถออกรับบิณฑบาตได้ มีโยมอุปฐากคอยดูแลเรื่องอาหาร พระอาจารย์เชอรี่ฉันอาหารได้เฉพาะปลา สลัดผัก ประเภทของเหลว น้ำผลไม้ และช็อกโกแลต

เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๓ ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอุดรธานี เนื่องจากมีแผลเรื้อรังที่ศีรษะ และผ่าตัดโดยได้ส่งก้อนเนื้อตรวจหาเชื้อมะเร็ง ผลปรากฏว่า ไม่พบเชื้อมะเร็งเป็นก้อนเนื้อปกติ ปัจจุบันหายเป็นปกติแล้ว

ปัญหาสุขภาพในปัจจุบัน พระอาจารย์เชอรี่​ มีโรคประจำตัว ถุงลมโป่งพอง หลอดเลือดหัวใจ ริดสีดวงทวาร เส้นเลือดขอด บริเวณขาสองข้างอาการเป็นปกติ

การรักษาจะเข้าพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีและศูนย์โรคหัวใจสิริกิตติ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อติดตามอาการและรับยา

เมื่อวันที่ ๒​ พฤษภาคม ๒๕๖๔​ ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอุดรธานี เนื่องจากมีอาการรอยจุดซ้ำ และแดงใต้ผิวหนังที่เป็น ๆ หาย ๆ มีเส้นเลือดฝอยขอด ผิวช้ำ ผิวหนังกระ แบบผิวชาวต่างชาติสูงอายุ และเป็นมะเร็งผิวหนังเฉพาะจุด (ไม่รุนแรง) แต่สุขภาพทั่วไปสมวัย ไม่มีภาวะเบาหวานหรือความดันสูง
ลูก​หลาน​ ศิษยานุศิษย์​ กราบอาราธนา​อ​ำ​นา​จ​คุณ​พระศรี​รัตนตรัย​ขอให้​หลวง​ปู่​เชอรี่​ อภิเจโต มีธาตุขันธ์​แข็งแรง​อยู่​เป็น​ร่มโพธิ​ธรรม​ สืบ​ต่ออายุ​พระ​พุทธศาสนา​สืบ​นาน​เท่า​นาน​เทอญ


เพจ ธรรมะพระป่ากรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น
97  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / ตำรับอาหารของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร จากอิทธิพลอาหารชาววัง เมื่อ: 19 ตุลาคม 2566 15:20:48


ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร หนังสือกับข้าวสอนลูกหลานของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร

ตำรับอาหารของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
จากอิทธิพลอาหารชาววัง คลุ้งกลิ่นอาย ไทย จีน แขก ฝรั่ง


ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - www.silpa-mag.com วันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2566


ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เป็นธิดาของหมื่นนรารักษ์ (ปิ่น บางยี่ขัน) กับนางหุ่น เกิดในตระกูลสนธิรัตน์ ได้สมรสกับพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) เมื่อ พ.ศ.2419 ท่านผู้หญิงกลีบได้เขียนตำราอาหารชื่อ “หนังสือกับข้าวสอนลูกหลานของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร” ซึ่งเป็นหนังสือที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องอาหารแก่ลูกหลาน ถือเป็นตำราอาหารมรดกตกทอดของตระกูลไกรฤกษ์และตระกูลที่เกี่ยวข้อง

ในวัยเด็กท่านผู้หญิงกลีบ ได้เข้าออกในพระบรมมหาราชวังมาโดยตลอด ได้รับการเลี้ยงดูจากเจ้าจอมพุ่มในรัชกาลที่ 3 ต่อจากนั้นก็ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจามรี, เจ้าจอมมารดาดวงคำ ในรัชกาลที่ 4 ตามลำดับ ช่วงเวลาที่อยู่ในวังนี้เองที่ท่านผู้หญิงกลีบได้เรียนรู้วิถีกุลสตรีชาววังทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ผึกหัดกิริยามารยาท เย็บปักถักร้อย จัดดอกไม้ ทำขนม และทำอาหาร

ต่อมาเมื่อมีครอบครัวแล้ว จึงได้เขียนตำราขึ้น ตำราอาหารของท่านผู้หญิงกลีบมีลักษณะเป็นตำราอาหารชาววังที่ไม่ต่างกับตำราอาหารของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ (ผู้เขียนตำรา “แม่ครัวหัวป่าก์”) แต่ตำราอาหารของท่านผู้หญิงกลีบมีกลิ่นอายของความเป็นจีนที่ถูกปรับให้เป็นอาหารไทย

นั่นเป็นเพราะตระกูลไกรฤกษ์สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา มีฐานะมั่นคง รับราชการมีบรรดาศักดิ์สูง จึงสามารถรักษาวัฒนธรรมและประเพณีแบบจีนไว้ในสายตระกูลมาอย่างยาวนาน คุ้นเคยการรับประทานอาหารจีน ทำอาหารในพิธีตรุษสารทและการบูชาบรรพบุรุษ ดังนั้น ตำราอาหารของท่านผู้หญิงกลีบจึงมีกลิ่นอายของอาหารจีนค่อนข้างสูง ประกอบกับท่านผู้หญิงกลีบเติบโตมาในสังคมไทยช่วงที่อิทธิพลจากตะวันตกเข้ามาอย่างเด่นชัดแล้ว ทำให้ตำราอาหารของท่านผู้หญิงกลีบได้รับอิทธิพลจากอาหารตะวันตกอยู่ด้วยเช่นกัน

ยกตัวอย่างเมนูประเภทข้าว เช่น ข้าวต้ม มีข้าวต้มกุ้ง. ข้าวต้มปลา. ข้าวต้มเนื้อไก่. (เซ่งจี๊ ตับเหล็ก) ข้าวต้มโจ๊ก, ข้าวผัด มีข้าวผัดชาววัง ใส่หมูต้มเค็ม กุ้ง ไข่. ข้าวผัดตลาด ใส่เนื้อวัวหรือไก่ ปรุงรสด้วยน้ำเต้าหู้ยี้กับซอสมะเขือเทศ. ข้าวผัดอย่างไทย ใส่กุ้งแห้ง เต้าหู้เหลือง หัวผักกาดเค็ม. ข้าวผัดกะปิ. ข้าวผัดกุ้งใส่น้ำพริกเผา. โดยเฉพาะข้าวผัดเต้าหู้ยี้กับข้าวผัดหนำเลี๊ยบหรือหนำพ๊วย ซึ่งมีกลิ่นอายของจีนชัดเจน

นอกจากนี้เมนูประเภทข้าวอีกหลายเมนูที่กลิ่นอายของอาหารนานาชาติ เช่น ข้าวบุหรี่ (อย่างแขก) ผัดข้าวกันเนย ใส่หญ้าฝรั่น แล้วใส่ไก่หุงรวมกัน คล้ายข้าวหมกไก่, ข้าวบุหรี่ (อย่างไทย) หุงด้วยน้ำกะทิ ใส่ลูกกระวานและกานพลู, ข้าวต้มฝรั่ง ข้าวจะน้อยกว่าผัก คล้ายซุปผักของฝรั่ง ซึ่งใส่ข้าวเป็นส่วนผสม

สุนทรี อาสะไวย์ อธิบายว่า “ข้อน่าสังเกตก็คือ การใช้วัตถุดิบประเภทเนื้อหมูและปลาทะเลได้มีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับการต้มน้ำแกงแบบจีน ตำรับของท่านผู้หญิงกลีบมีอาหารประเภทแกงจืดที่มีอิทธิพลจากอาหารจีนเพิ่มขึ้นจากของท่านผู้หญิงเปลี่ยน…”

เช่น แกงไข่นกกระสา แกงจืดเอ็นปลา หนังแรดเอ็นกวาง แกงจืดเซ่งจี๊ แกงไก่เจ๊ก แกงจืดลูกกรอก แกงจืดปลาแดง แกงจืดตะพาบน้ำ และอีกตำรับที่น่าสนใจ อันเป็นการผสมผสานระหว่าง ไทย จีน แขก คือ แกงจีจ๋วน เป็นแกงกะทิใส่ไก่ ใส่เครื่องแกงแดง โป๊ยกั๊ก (จีน) ขมิ้นผง (แขก) ส้มซ่า (ไทย) และพริกหยวก

ส่วนอาหารประเภทเครื่องว่างหรือของว่างก็มีความหลากหลาย ตั้งแต่อาหารจีนประเภทหมี่พะเยา ก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่ปู เกี๊ยวลูก ไปจนถึงเนื้อสะเต๊ะ ข้าวตังหน้าตั้ง ข้าวตังบรรดาศักดิ์ ข้าวเม่าหมี่ และเมี่ยงหลายชนิด เช่น เมี่ยงฝรั่ง เมี่ยงกระท้อน เมี่ยงเด็ก เมี่ยงชูชก และเมี่ยงปลาทู

สุนทรี อาสะไวย์ สรุปว่า “ในตำรับของท่านผู้หญิงกลีบ พบว่าอาหารประเภทกับข้าวของจานเริ่มมีมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอาหารจีนที่ทำง่าย และขั้นตอนไม่ซับซ้อนเท่าอาหารไทย อาจจะเป็นเพราะสังคมกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลง คนจีนมีฐานะในสังคมเพิ่มมากขึ้น อาหารจีนจึงได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมมากขึ้นด้วย“
98  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / Re: พระเครื่อง เมื่อ: 19 ตุลาคม 2566 15:03:28


เหรียญนิยม หลวงพ่อจันทร์ โฆสโก วัดหาดสองแคว อุตรดิตถ์

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 ธันวาคม 2565
เผยแพร่ - วันพฤหัสที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2565


“พระครูนวการโฆษิต” หรือ “หลวงพ่อจันทร์ โฆสโก” วัดหาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังเป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองอุตรดิตถ์ จนได้รับฉายา “เทพเจ้าชาวหาดสองแคว”

ด้วยคณะศิษย์ต่างมีความเลื่อมใสศรัทธาปสาทะอย่างที่สุด กระทั่งคณะกรรมการวัดพร้อมใจขออนุญาตสร้างวัตถุมงคลหลายครั้งแต่ก็บอกว่ายังไม่ถึงเวลา ในที่สุด เห็นในความจริงใจและศรัทธาจึงได้อนุญาตให้จัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกขึ้นในปี พ.ศ.2491 มอบเป็นที่ระลึกแก่คณะศิษย์ผู้ที่มีจิตศรัทธาบริจาคสิ่งของช่วยเหลืองานวัดเป็นประจำ

พ.ศ.2520 เป็นปีที่อายุครบ 80 ปี พรรษา 58 คณะศิษย์ขออนุญาตสร้างวัตถุมงคล เป็นที่ระลึกในงานฝังลูกนิมิตอุโบสถ ซึ่งการสร้างวัตถุรุ่นนี้ เป็นรุ่นที่ 7 รุ่นสุดท้าย

ประกอบด้วยเหรียญทองคำ จำนวน 10 เหรียญ เหรียญเงิน จำนวน 1,000 เหรียญ เหรียญทองแดงกะไหล่ทอง จำนวน 2,000 เหรียญ เหรียญทองแดงรมดำ จำนวน 10,000 เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อจันทร์ (หน้า)  ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ หันหน้าตรง ด้านบน เขียนคำว่า “หลวงพ่อจันทร์ โฆสโก” ด้านล่าง เขียนคำว่า “อายุ ๘๐ ปี”

ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นยันต์อุณาโลม มีอักขระด้านข้าง 4 ตัว คือ นะ ชา ลี ติ ยันต์น้ำ 3 บ่อ มะ อะ อุ อยู่ด้านล่างยันต์อุณาโลมขอเหรียญเขียนคำว่า “ที่ระลึกในงานฝังลูกนิมิตพระอุโบสถวัดหาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ๔ มี.ค.๒๕๒๐”

ปัจจุบัน เริ่มหายาก ส่วนใหญ่ถูกตามเก็บเข้ากรุ





หลวงพ่อจันทร์ โฆสโก วัดหาดสองแคว อุตรดิตถ์

มีนามเดิม จันทร์ ตรีพุฒ เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2440 ตรงกับวันจันทร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 4 ปีระกา ที่หมู่บ้านหาดสองแคว ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ บิดา-มารดาชื่อ นายกิและนางบัว ตรีพุฒ

ในวัยเด็ก เป็นคนว่านอนสอนง่าย ไม่เคยสร้างปัญหาให้บิดามารดา มีความเมตตาปรานีต่อเพื่อนและสัตว์ทั่วไป ถึงกับในบางครั้งครอบครัวต้องอดอาหาร เพราะแอบนำปลาที่บิดาจับไว้เป็นอาหาร นำไปปล่อยลงแม่น้ำน่านด้วยเพราะความสงสาร

พร้อมกับใช้เวลาว่างส่วนใหญ่เข้าวัดหัดเรียนเขียนอ่านท่องบทสวดมนต์กับพระภิกษุในวัดจนเย็น

สมัยก่อนไม่มีการศึกษาภาคบังคับเช่นปัจจุบัน การเรียนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการตั้งใจที่จะศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองกับพระสงฆ์ในวัด แต่ด้วยเป็นผู้มีความสนใจในหนังสือไทยและตำราขอมตั้งแต่ยังเล็ก ว่ากันว่าสามารถสวดมนต์ร่วมกับพระได้อย่างคล่องแคล่ว

บิดามารดาเห็นถึงความตั้งใจ จึงนำเข้าพิธีบรรพชาเมื่อปี พ.ศ.2453 ขณะอายุ 13 ปี

เป็นที่กล่าวขานกันว่า สามารถท่องบทสวดปาติโมกข์ และพระคาถาชินบัญชรอย่างคล่องแคล่วแตกฉาน

เมื่ออายุครบบวช จึงอุปสมบท ณ วัดบ้านแก่งใต้ ต.บ้านแก่ง อ.ตรอน เมื่อปี พ.ศ.2462 มีพระวิเชียรปัญญามุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นพระอุปัฌาย์, หลวงพ่อพุ่ม จันทสโร เจ้าอาวาสวัดคลึงคราช เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูเมธาวรคุณ เจ้าอาวาสวัดบ้านแก่งใต้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งบาลี สันสกฤต หาเวลาไปศึกษาและหัดเทศน์ธรรมกับหลวงพ่อพุ่มที่วัดคลึงคราช ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม กิตติศัพท์เป็นพระนักเทศน์มีชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์

พร้อมกับศึกษาวิทยาคมตำราภาษาขอม จากหลวงพ่อพุ่ม ร่วมกับหลวงพ่อทองคำ แห่งวัดท่าทอง ต.วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

ตามประวัติเล่ากันว่า หลวงพ่อพุ่ม และหลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม เคยร่วมเดินทางไปศึกษาวิทยาคมจากหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร ส่วนหนึ่งศึกษาจากตำราภาษาขอมด้วย

มักกล่าวปรารภเสมอ ยามที่มีผู้ถามถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิทยาคม ว่า “ศึกษาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์”

กระทั่งท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหาดสองแคว

ปกครองดูแลพระภิกษุสามเณร ทั้งเกื้อกูลต่ออุบาสก-อุบาสิกา มายาวนาน เป็นพระอุปัชฌาย์ให้กุลบุตรทั้งหลายได้บรรพชาอุปสมบท เป็นสามเณรและพระภิกษุเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

จากวัตรปฏิบัติและเมตตาธรรม จึงเป็นที่เคารพนับถือ ประกอบกับเมื่อท่านได้สร้างวัตถุมงคลและมีผู้นำไปบูชาแล้วเกิดผลเป็นสุข ความเจริญ หรือแคล้วคลาดจากภัยพิบัติต่างๆ จึงทำให้ชื่อเสียงอยู่ในทำเนียบของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่งของเมืองไทย

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2499 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูนวการโฆสิต

ด้านวัตถุมงคล จัดสร้างเหรียญวัตถุมงคลไว้หลายรุ่น อาทิ เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2491 แจกแม่ครัว, เหรียญ พ.ศ.2504, เหรียญ พ.ศ.2516 รุ่นเสาร์ห้า, เหรียญ พ.ศ.2520 รุ่นแซยิด 80 ปี พร้อมวัตถุมงคลชนิดอื่น อาทิ ภาพถ่ายขาวดำ ขนาด 1 นิ้ว ขนาดโปสการ์ด ล็อกเก็ต รูปหล่อจำลองขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว กิเลนทองนำโชคตัวผู้ตัวเมียรุ่นสอง พระปิดตายันต์ยุ่งเนื้อเงิน พระสิวลี และแหนบติดกระเป๋า ฯลฯ

ตลอดชีวิตนำวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาช่วยเหลือชาวบ้านและลูกศิษย์อย่างต่อเนื่อง ท่านเป็นสงฆ์ที่รักสันโดษ ครองบรรพชิตอย่างเรียบง่าย และไม่เคยโอ้อวดตนเอง

มรณภาพอย่างสงบ ที่วัดหาดสองแคว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 เวลา 24.40 น. สิริอายุ 82 ปี พรรษา 60 •





เหรียญหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ รุ่น จปร.

เหรียญปืนไขว้หลวงพ่อแดง
ที่ระลึก 30 ปี-รุ่น12 นายทหาร-ตำรวจ ‘จปร.’

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 ธันวาคม 2565
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2565


“หลวงพ่อแดง รัตโต” หรือ “พระครูญาณวิลาศ” วัดเขาบันไดอิฐ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ยอดพระเกจิที่มีชื่อเสียงไม่เพียงแต่ในเพชรบุรีเท่านั้น

สร้างวัตถุมงคลเอาไว้หลายชนิด ในวาระและโอกาสต่างๆ เป็นที่นิยมเสาะหากันแพร่หลาย

หลังสร้างเหรียญรุ่นแรก จนได้รับความนิยมแล้ว ยังมีเหรียญรูปเหมือนอีกรุ่นที่ยอดฮิต ได้แก่ เหรียญรุ่นนายทหาร-ตำรวจ จปร. ปี พ.ศ.2513

สร้างขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี ในการรับราชการของคณะนายทหาร-นายตำรวจ รุ่นที่ 12 (รุ่น 12 ธันวาคม 2483) นำโดย พล.ท.ฉลาด หิรัญศิริ ประธานรุ่น เป็นผู้ขออนุญาตจัดสร้าง จากนั้นจึงดำเนินการ โดยมีการตั้งชื่อรุ่นว่า “จปร.”

เพื่อนำรายได้ทั้งหมดจากการสั่งจองเหรียญครั้งนั้น สร้างอุโบสถวัด 12 ธันวาราม หรือวัดหัวลำภูทอง จ.สมุทรปราการ

หลวงพ่อแดงปลุกเสกนาน 3 เดือน ก่อนนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากทั่วประเทศในยุคนั้นหลายรูป ร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต จำนวนการสร้างครั้งนั้นประมาณ 60,000 เหรียญ แบ่งพิมพ์เป็น 2 พิมพ์ คือ เหรียญพิมพ์หนาและเหรียญพิมพ์บาง

วงการพระเครื่อง นิยมเรียกขานเหรียญรุ่นนี้ว่า “เหรียญปืนไขว้”

เหรียญหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ รุ่น จปร. ลักษณะเป็นเหรียญทรงรูปไข่ มีหูในตัว ด้านหน้ามีรูปเหมือนหลวงพ่อแดงครึ่งองค์ หันหน้าตรง ด้านล่างรูปเหมือนหลวงพ่อแดง เขียนคำว่า “ที่ระลึกรับราชการครบ ๓๐ ปี” ตรงขอบเหรียญช่วงกลางฝั่งซ้ายและขวาเป็นรูปปืนไขว้ทั้ง 2 ฝั่ง

รอบเหรียญทางด้านบนจากซ้ายไปขวา เขียนคำว่า “พระครูญาณวิลาศ (แดง)” และขอบด้านล่างจากซ้ายไปขวา เขียนคำว่า “นายทหาร นายตำรวจ จปร. รุ่น ๑๒ ธันวาคม ๒๕๘๓”

ด้านหลังมีรูปยันต์ตรงบริเวณกึ่งกลางเหรียญ และมีเส้นลากยาวผ่านตรงยันต์ มีการตอกโค้ดคำว่า “แดง” โดยการนำลายมือของหลวงพ่อแดงไปแกะเป็นแม่พิมพ์ แล้วจึงทำการตอกโค้ด จากนั้น นำเหรียญออกให้เช่าบูชา ช่วงปลายปี พ.ศ.2512

ปัจจุบันค่อนข้างหายาก





หลวงพ่อแดง รัตโต
 
เกิดในสกุลอ้นแสง ที่ ต.บางจาก อ.เมือง จ.เพชรบุรี เมื่อวันพุธขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 พ.ศ.2422

วัยเด็กช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา ไม่มีโอกาสร่ำเรียนหนังสือ

ครั้นถึงวัยหนุ่ม พ่อแม่หวังจะให้บวชเรียน จึงพาไปฝากกับพระอาจารย์เปลี่ยน วัดเขาบันไดอิฐ

อายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดเขาบันไดอิฐ ต.ไร่ส้ม อ.เมือง จ.เพชรบุรี มีพระครูญาณวิสุทธิ วัดแก่นเหล็ก อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า รัตโต

เคร่งครัดต่อพระวินัยและปฏิบัติต่อพระอาจารย์เป็นอย่างดี พระอาจารย์เปลี่ยนจึงเมตตสอนวิชาการวิปัสสนา และวิธีนั่งปลงกัมมัฏฐานให้ รวมถึงถ่ายทอดวิยาคมให้อย่างไม่ปิดบัง

เหตุนี้ทำให้มีความปีติเพลิดเพลินในการศึกษาวิชาความรู้ ยิ่งนานวันก็ยิ่งสำนึกในรสพระธรรม ไม่มีความคิดลาสิกขาแต่อย่างใด จึงกลายเป็นพระปฏิบัติดีที่มีอาวุโสสูงสุด

กระทั่งพระอาจารย์เปลี่ยนมรณภาพลง จึงรับหน้าที่เป็นสมภารวัดเขาบันไดอิฐแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2461 เป็นต้นมา และแม้จะได้เป็นสมภารซึ่งต้องมีภารกิจมาก แต่ท่านก็ยังปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิในถ้ำเพื่อแสวงหาวิมุตติภาวนาทุกวัน

ไม่เคยอวดอ้างในญาณสมาธิใดๆ แต่ผลของความศักดิ์สิทธิ์ในเลขยันต์เป่ามนต์ได้สำแดงออกมาให้ประจักษ์ว่าคุ้มครองป้องกันภัยได้

มีเรื่องเล่ากันมาว่า ระหว่าง พ.ศ.2477-2480 เวลานั้นเกิดโรคระบาดสัตว์ วัวควายเป็นโรคปากเท้าเปื่อยที่ติดต่อร้ายแรง พากันล้มตาย สัตวแพทย์ก็ไม่มี ต้องขอให้ทางการมาช่วยฉีดยา ราษฎรจึงพากันไปหาหลวงพ่อให้ช่วยปัดเป่าป้องกันโรคระบาดสัตว์ให้

จึงปลุกเสกลงเลขยันต์ในผืนผ้ารูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ แจกให้ชาวบ้านที่เลี้ยงวัวควายนำไปผูกปลายไม้ปักไว้ที่คอกสัตว์ ปรากฏว่า คอกสัตว์ที่ปักผ้าประเจียดยันต์หลวงพ่อแดงไม่ตาย

กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ มหาสงครามเอเชียบูรพา เมืองเพชรบุรีมีระเบิดลงทุกวันทำลายสถานีรถไฟ สะพานข้ามแม่น้ำ บ้านเรือน โรงเรียนต้องสั่งปิด ข้าราชการไม่ได้ไปทำงาน ทุกหน่วยราชการปิดหมด

และปรากฏเรื่องเป็นที่ฮือฮาว่า บ้านคนที่มีผ้ายันต์หรือเหรียญหลวงพ่อแดง กลับไม่ได้รับอันตรายใดๆ

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2502 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูญาณวิลาศ พร้อมรับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ

เป็นพระใจดีมีเมตตาสูง และอารมณ์ดีเสมอ ไม่ชอบดุด่า ว่าใคร โดยเฉพาะคำหยาบคายถึงพ่อแม่ ท่านห้ามขาด เพราะทุกคนเขาก็มีพ่อมีแม่ การด่าถึงบุพการีทำให้ความดีงามเสื่อมถอย ถึงห้อยพระ พระท่านก็ไม่คุ้มครอง

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2517 สิริอายุ 96 ปี พรรษา 74

ก่อนสิ้นลม ได้ฝากฝังกับพระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโล รองเจ้าอาวาสขณะนั้น ว่า “เมื่อฉันหมดลมหายใจแล้วอย่าเผา ให้เก็บร่างฉันไว้ที่หอสวดมนต์ และให้เอาเหรียญที่ปลุกเสกรุ่น 1 ใส่ปากไว้พร้อมเงินพดด้วง 1 ก้อน ส่วนนี้ฉันเอาไปได้ และให้เอาขมิ้นมาทาตัวฉันให้เหลืองเหมือนทองคำ”

พระปลัดบุญส่งรับปากและได้ทำตามประสงค์ไว้ทุกประการ

ทุกวันนี้ หลวงพ่อแดงยังเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวจังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาไม่เสื่อมคลาย •
99  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / “หอยนางรมเป็นอาหารเจ” ความเชื่อนี้อ้างอิงมาจากไหน? เมื่อ: 15 ตุลาคม 2566 12:41:06


หอยนางรมจากอ่าว Arcachon
ในฝรั่งเศส ภาพเมื่อปี 2006, AFP PHOTO / JEAN-PIERRE MULLER


“หอยนางรมเป็นอาหารเจ” ความเชื่อนี้อ้างอิงมาจากไหน?
ทำไมพระมหายานถึงไม่กิน?

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2566


ข้อสงสัยที่ว่า “หอยนางรม” เป็น “อาหารเจ” ได้อย่างไร? ความเชื่อเรื่องนี้อ้างอิงมาจากไหน? คำตอบอยู่ในหนังสือ “เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้” เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และประเพณีจีน ได้กล่าวถึงข้อถกเถียงว่า อาหารชนิดใดเป็น “อาหารเจ” หรือไม่ เอาไว้ว่า

“…ในการกินเจมักถือเคร่งครัดกันเรื่องอาหาร จนบางทีมีปัญหาถกเถียงกันว่าอาหารใดเป็นเจหรือไม่เจ เช่น ผักฉุน 5 อย่าง ที่ห้ามกินมีอะไรบ้าง หอยนางรมกินได้หรือไม่ เรื่องผักฉุน 5 อย่าง เมื่อศึกษาที่มาแล้วจะเห็นว่า โบราณไม่กิน เพราะกลิ่นแรงทำให้มึนงง มีผลต่อความสงบของจิตใจ เดิมถือต่างกันไป

ต่อมาในเมืองไทยถือตามแบบพุทธศาสนา และปรับให้สอดคล้องกับผักในเมืองไทย คือ หอม กระเทียม กุยช่าย หอมปรัง (หลักเกี๋ยว) และผักชี มหาหิงคุ์คนไทยไม่ใช้เป็นอาหารอยู่แล้ว การงดเว้นผัก 5 อย่าง จึงเป็นการถือตามประเพณีนิยมที่ปฏิบัติกันมา

ส่วนเรื่องหอยนางรมเป็นอาหารเจหรือไม่นั้น ธนัสถ์ สุวัฒนมหาตม์ เขียนไว้ชัดเจนแล้วดังนี้

‘สิ่งที่น่าแปลกกว่านั้นคือ อาหารบางชนิดแม้จะเป็นเนื้อสัตว์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปกลับถือว่าเป็นของเจ นั่นคือ หอยนางรม ชาวบ้านทั่วไปมีความเชื่อว่า การกินหอยนางรมไม่เป็นการละเมิดข้อห้ามเรื่องกินเจ

ทั้งนี้สืบเนื่องจากตำนานที่เล่ากันเรื่อยมาว่า เมื่อครั้งพระถังซำจั๋งเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกยังชมพูทวีป (ประเทศอินเดียในปัจจุบัน) ระหว่างทางไม่สามารถหาสิ่งใดฉันได้เลย จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากมีสิ่งใดที่อาตมาฉันได้โดยไม่ผิดบาป ขอจงปรากฏขึ้นมาเป็นภักษาหารด้วยเถิด ปรากฏว่าหอยนางรมผุดขึ้นมาจากดินเป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า หอยนางรม เป็นของเจ ผู้ที่กินเจจึงสามารถรับประทานหอยนางรมได้

แต่เนื่องจากตำนานดังกล่าวเป็นเพียงวัตถุนิทานที่เล่าสืบต่อกันมาในหมู่ชาวบ้าน ไม่มีหลักฐานอ้างอิง การรับประทานหอยนางรมจึงอนุโลมใช้กับผู้กินเจเป็นกิจวัตร (กินตลอดชีพ) ที่ไม่ใช่พระภิกษุสงฆ์ตามลัทธิมหายานเท่านั้น โดยถือเป็นข้อผ่อนผันให้รับประทานได้บ้างตามโอกาส

แต่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ตามลัทธิมหายาน และผู้ที่กินเจในช่วงเทศกาลกินเจยังคงถือเคร่งครัดที่จะไม่รับประทานหอยนางรมอย่างเด็ดขาด’…”

100  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / พิธีกินเจของจักรพรรดิจีน ในพระราชวังต้องห้าม เมื่อ: 15 ตุลาคม 2566 12:35:48

ป้ายถือศีลกินเจที่ให้แขวนติดตัว  (ภาพจาก “ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม”)

พิธีกินเจของจักรพรรดิจีน ในพระราชวังต้องห้าม


ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2566


“พิธีถือศีลกินเจ” ในสมัยราชวงศ์ชิงรับสืบทอดประเพณีมาจากยุคก่อนหน้า จักรพรรดิถือศีล กินเจ ก่อนประกอบพิธีเซ่นไหว้ตามเทศกาลสำคัญ หรือรัฐพิธีต่าง ๆ โดยพิธีใหญ่ถือศีลกินเจ 3 วัน, พิธีกลาง 2 วัน และพิธีรวม 1 วัน พิธีใหญ่มีพิธี 13 รายการ ซึ่งโดยทั่วไปจักรพรรดิเป็นประธานพิธี, พิธีกลางมี 13 รายการ และพิธีอื่น 53 รายการ โดยพิธี 2 ประเภทหลังส่วนใหญ่มอบหมายให้ขุนนางทำพิธีแทน (จากจื่อจิ้นเฉิงเน่ยไจกงเตอะเจี้ยนจื้อเหอสื่อย่ง) รวมแล้วในแต่ละปีจึงมีพิธีถือศีลกินเจประมาณ 100 กว่าวัน

เดิมสมัยราชวงศ์หมิง-ต้นราชวงศ์ชิงทำพิธีถือศีลกินเจนอกวังมาตลอด แต่สมัยจักรพรรดิยงเจิ้ง มีการชิงบัลลังก์จนเกิดความขัดแย้งรุนแรงในราชสำนัก จึงกังวลว่าอาจมีการลอบปลงพระชนม์หรือล้มราชบัลลังก์ เพื่อความปลอดภัยจึงโปรดให้สร้างไจกงในรัชศกยงเจิ้งปีที่ 9 (ค.ศ.1731) อยู่บนพื้นที่เดิมของหงเข่าเตี้ยน และเสินเซียวเตี้ยน และทำพิธีถือศีลกินเจในวังแทนเรื่อยมา

ข้อห้ามระหว่างที่จักรพรรดิถือศีลกินเจ เช่น ต้องชำระร่างกาย, เปลี่ยนเครื่องทรง, ห้ามเสวยของโปรด, ห้ามพิจารณาโทษ, ห้ามจัดงานรื่นเริง, ห้ามร่วมหลับนอนกับสตรี, ห้ามเยี่ยมผู้ป่วยและไว้ทุกข์, ห้ามเสวยสุรา, ห้ามเซ่นไหว้เทพเจ้า, ห้ามทำความสะอาดสุสาน ฯลฯ

ในสมัยโบราณ พิธีถือศีลกินเจ จะชำระร่างกายก่อนพิธีเซ่นไหว้เพื่อแสดงถึงความเคารพ สมัยราชวงศ์หมิงมีกฏให้ทุกจวนคือ การติดป้ายถือศีลกินเจว่า “อาณาจักรมีกฎหมาย เทพเจ้าย่อมดูแลสอดส่อง”

รัชศกยงเจิ้งปีที่ 10 (ค.ศ.1732) จักรพรรดิทรงเห็นว่า ป้ายถือศีลกินเจหน้าจวนไม่อาจเตือนใจได้ดีพอ จึงออกแบบป้ายถือศีลกินเจตามแบบป้ายห้อยเอวที่นิยมสมัยราชวงศ์หมิง ขนาด 4.9 เซนติเมตร สลักคำว่า “ถือศีลกินเจ” ด้านหนึ่งเป็นภาษาจีน อีกด้านเป็นภาษาแมนจู มีป้ายที่ทำจากวัสดุและรูปทรงหลากหลาย

ซึ่งรวมแบบหนึ่งเป็นป้ายเล็ก ๆ แขวนไว้แนบอก ผู้ที่ต้องเข้าพิธีเซ่นไหว้ในช่วงถือศีล กินเจต้องแขวนป้ายไว้เพื่อเตือนตนเองและผู้อื่นให้สำรวม ขณะเดียวกันป้ายถือศีลกินเจประดิษฐ์ได้งดงามจนกลายเป็นของขวัญที่จักรพรรดิพระราชทานแด่ขุนนางผู้ใหญ่
หน้า:  1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 117
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.143 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 17 เมษายน 2567 11:32:22