[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 20:25:16 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2 3   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ  (อ่าน 92725 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 09 เมษายน 2557 13:52:10 »

.


โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์  วรรณปก
เปรียญธรรม ๙ ประโยค -  ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์
 

   "สติมากยิ่งดี"

สติ  แปลกันโดยทั่วไปว่า ความระลึกได้ นึกได้ ความจริงการระลึกได้เป็นเพียงหน้าที่หนึ่งและหน้าที่แรกของสติเท่านั้น

สติในความหมายที่เต็ม หมายถึง ความระมัดระวัง ความตื่นตัวเต็มที่ (หมายถึงจิตตื่นตัวนะครับ อย่าคิดมาก) ภาวะที่พร้อมเสมอในการคอยรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

ในแง่จริยธรรม สติเปรียบได้กับนายยามที่คอยดูคนเดินเข้า เดินออก คอยห้ามคนที่ไม่ควรเข้าไม่ให้เข้า คนที่ไม่ควรออกไม่ให้ออก นึกถึงบทบาทของอาบังที่เฝ้าบริษัทห้างร้าน หรือธนาคาร สำนักงานใหญ่ๆ สักแห่งจะเข้าใจดี

สติ จึงเป็นความไม่ประมาท ความยับยั้งชั่งใจตนเองมิให้เผลอทำความผิด ความชั่ว

พูดอีกนัยหนึ่ง สตินอกจากจะทำหน้าที่ระลึกนึกได้ หรือจำเรื่องที่ล่วงมาแล้วได้ ยังทำหน้าที่คอยยับยั้งใจมิให้ทำชั่ว และเตือนคนให้กระทำความดีด้วย

ปัจฉิมพุทธโอวาทที่ตรัสว่า "อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด" นั้น ถ้าแปลง่ายๆ ให้ฟังรู้ทันทีก็คือ "พวกเธอจงอย่าประมาท" หรือ "พวกเธอจงมีสติอยู่เสมอ" นั้นเอง

คนมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ นับว่าเป็น "ผู้ตื่น" คนที่ตื่นอยู่ด้วยการมีสติอยู่กับตัวทั่วพร้อมทุก อิริยาบถ กิเลส (โลภ โกรธ หลง) ยากจะมีอิทธิพลเหนือจิตใจได้

เจ้าของบ้านที่ตื่นอยู่ โอกาสที่ขโมยจะขึ้นบ้านไปขโมยสิ่งของในบ้าน ย่อมยากจะเกิดขึ้น ทั้งหลายแหล่มีแต่ประเภทนอนกรนคร็อกฟี้ๆ นั่นแหละที่เป็นที่ "หวานคอแร้ง" ของบรรดานักย่องเบา ฉันใดก็ฉันนั้นแหละครับ

พระท่านว่า ธรรมะข้ออื่นๆ ต้องมีพอเหมาะพอดี จึงจะอำนวยประโยชน์ ถ้ามีมากเกินพอดี อาจให้โทษได้เช่น ศรัทธามากไป ทำให้เชื่องมงายไม่ลืมหูลืมตา โดนต้ม โดนตุ๋นได้ง่าย ปัญญามากเกินไปทำให้หัวแข็ง ยึดมั่นในตัวเองสูง ไม่ยอมเชื่อใคร สมาธิมากเกินไป ทำให้ติดสุข เพราะเวลาจิตมีสมาธิ ร่างกายจะขับสารชื่อ "เอ็นดอร์ฟีน" ออกมาทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า "เสพติดทางใจ" กลายเป็นคนเกียจคร้านเฉื่อยชาได้

แต่สติยิ่งมีมากเท่าไรยิ่งดี มีแต่คุณ ไม่มีโทษ ฉะนั้นเรามา สร้างสติกำกับทุกขณะจิตเถิด จะได้สมกับที่เป็นชาว "พุทธ" ผู้ตื่นเสมอ

มีสติตื่นตัวตลอดเวลา กษณะประชาหลับใหล

ชีวิตเราที่เกิดมา ไม่ไร้ค่าแต่อย่างใด



   "คาถากับผี"

ครั้งหนึ่งพระสงฆ์จำนวนหนึ่งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเข้าป่าจำพรรษาเหล่าเทวดาที่สิงสถิตอยู่บนต้นไม้เห็นพระคุณเจ้าเดินมาพากันลงจาก "วิมาน" มานั่งไหว้อยู่บนพื้นดิน

แรกๆ ก็นึกว่าท่านจะอยู่ชั่วคราว แต่ตอนนี้ท่านทำท่าจะอยู่หลายเดือน พวกตนคงไม่มีโอกาสสลักต้นไม้ เอ๊ย! ไม่มีโอกาสขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ตามเดิมอีกนาน

เพราะพระสงฆ์องค์เจ้าท่านอยู่บนพื้นดิน จะอยู่สูงกว่าผู้ทรงศีลกระไรอยู่ ครั้นจะทนอยู่บนพื้นดินก็ลำบาก จึงคิดหาทาง "ไล่" พระท่านไป

แหม! ยังกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประเทศสนธยาเปี๊ยบเลยนะ

ในที่สุดก็ตกลงกันใช้แผนจู่โจม ไม่ถึงกับยิงเจาะหัวทิ้งดอกครับ แต่ก็น่ากลัวไม่ใช่เล่น

บ้างก็แปลงเป็นผีหัวขาด บ้างก็เนรมิตเป็นเปรตตัวสูงเท่าต้นตาล แลบลิ้นปลิ้นตาหลอก บ้างก็แสดงภาพน่าเกลียดน่ากลัวต่างๆ นานา

พระก็พระเถอะครับ ลงได้เจอแบบนี้ก็ต้องแจว ขืนอยู่ต่อไปหัวโกร๋นแน่ และพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องพิลึกกึกกือที่พบเห็นมาให้ทรงทราบ

พระองค์ตรัสว่า พวกเธอไม่เอา "อาวุธ" ไปด้วยนี่จึงถูกผีหลอก ว่าแล้วก็ประทาน "กรณียเมตตาปริตร" หรือ "กรณียเมตตสูตร" ให้พวกเธอท่องจนขึ้นใจ แล้วส่งกลับไปที่เดิมใหม่

ได้ "ปริตร" หรือ "ตำนาณ" (มนต์ป้องกันภัย) แล้วพระคุณเจ้าก็มีกำลังใจ พอย่างเข้าเขตป่าก็สวดสังวัธยายเสียงก้องกังวานไปทั่วไพรสณฑ์

ตั้งแต่นั้นมา ไม่ปรากฏผีสางคางแดงที่ไหนมาหลอกหลอนอีก เหล่าเทวดาได้ยินเสียงสวดมนต์ทุกคืนเกิดความรักใคร่เห็นใจพระคุณเจ้า จนไม่กล้าหลอกหลอนอีก เพราะใจความของมนต์บทนี้ได้พูดถึงวิธีแผ่เมตตาส่งความรักความปรารถนาดีไปยังสรรพสัตว์รวมถึงผีสางคางแดง เทวดาทั้งที่เกิดแล้วและกำลังเร่ร่อน หาภพถาวรเกิดอยู่ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

ถ้าจะถามว่า "ปริตร" หรือ "ตำนาณ" ที่ปัจจุบันเขียนว่า "ตำนาน" นั้น มันขลังตรงไหน คำตอบก็คือขลังที่พลังเมตตา คนเราลงได้แผ่เมตตาทุกวันๆ สภาพจิตจะเป็นสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิจะบริสุทธิ์ สะอาด มีพลัง มีความเรืองแสง สามารถฉายไปสัมผัสจิตใจคนอื่นสัตว์อื่นให้เกิดความรักตอบได้

ท่านเจ้าคุณพระราชสุธี (เสรี ธมฺมเวที) เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เคยเขียนเรื่อง เมตตาตั้งชื่อเรื่องว่า "คนดีแม้แต่ผียังรัก" เป็นความจริงครับ คนมีเมตตาประจำใจ อย่าว่าแต่คนด้วยกันเลย ภูตผีเทวดาก็รัก

ใครกลัวผีเวลาไปพักค้างแรมที่ไหนแปลกถิ่น ก่อนนอนแผ่เมตตารับรองนอนหลับสบาย



   "โอวาทปาติโมกข์"

ไม่ทำความชั่วทั้งปวง  ทำความดีให้พร้อม  ทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

พุทธวจนะข้างต้นเรียกว่า "โอวาทปาติโมกข์" (หลักคำสอนสำคัญ) อันเป็น "หัวใจพระพุทธศาสนา" พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ที่มาประชุมกันที่พระเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย ในวันเพ็ญเดือนสาม เหตุการณ์ครั้งนั้นได้กลายมาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ชื่อ "มาฆบูชา" ชาวพุทธได้เฉลิมฉลองสืบต่อมาจนบัดนี้

พระพุทธองค์ได้ประทานหลักการปลูกฝังและพัฒนาตนให้เป็นคนดีไว้ ๓ หลัก ซึ่งจะต้องกระทำต่อเนื่องกันไปเป็นขั้นเป็นตอน คือ

ขั้นแรก ต้องละเว้นความชั่วทั้งปวง คือ เว้นจากการกระทำที่ทำตัวเราให้ชั่ว ให้เลวทรามลงทั้งหมด เปรียบได้กับการปราบพื้นที่ให้เรียบ เช่น ไถ พรวนดิน กำจัดวัชพืช ทำพื้นที่ให้เหมาะที่จะเพาะปลูกพันธุ์พืช

ขั้นที่สอง ต้องกระทำความดีเสริม คือสร้างพฤติกรรมที่จะทำให้จิตใจเราสูงขึ้น ประเสริฐขึ้น เปรียบได้กับนำเอาพันธุ์พืชที่ต้องการเพาะหรือปลูกลงยังพื้นที่ซึ่งได้เตรียมไว้แล้ว

ขั้นที่สาม ต้องทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หมายถึง ทำใจให้สะอาดหมดจดจากสิ่งมัวหมอง เบื้องต้นต้องถอนจิตจากเรื่องร้ายเสียก่อน เช่น คิดจะโกง คิดจะเอารัดเอาเปรียบเขา คิดจะล้างผลาญเขา ก็ถอนใจออกมาเสีย แล้วน้อมใจไปในเรื่องที่ดีงาม ที่ทำให้จิตบริสุทธิ์สะอาดขึ้น สูงขึ้น เปรียบได้กับการเอาใจใส่ดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ให้แก่พันธุ์พืชที่เพาะปลูกแล้วให้เจริญเติบโต

เพาะปลูกพืชจะให้ได้ผลผลิตสมบูรณ์ดี ก็ต้องทำเป็นขั้น เป็นตอน  การปลูกฝังความดีงามในตัวคน ก็จะต้องทำเป็นขั้นเป็นตอนเช่นกัน และต้องทำให้ครบ สมบูรณ์เต็มที่ไม่ขาดตกบกพร่องด้วย

เพียงงดเว้นจากความชั่วเท่านั้น ผู้รู้ท่านเรียกว่า "คนไม่ทำชั่ว"  งดเว้นจากความชั่วแล้วทำความดีเสริมเต็มความสามารถ อาจเรียกเขาว่า "คนดี"

งดเว้นจากความชั่ว ทำความดีให้พร้อม และทำจิตให้สะอาดผ่องใส จึงควรได้สมญาว่า "คนดีแท้จริง"



   "สำคัญที่ผู้นำ"

ไม่ว่าคนหรือสัตว์ เวลาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม จะแบ่งออกเป็นสองฝ่ายโดยอัตโนมัติ คือ ฝ่ายผู้นำ กับฝ่ายผู้ตาม

ในกรณีสัตว์ที่อยากเป็นผู้นำหลายตัว ก็มักจะแย่งชิงความเป็นใหญ่ด้วยการประลองกำลังกัน ตัวไหนแข็งแรงกว่าก็ได้รับการยอมรับ โดยดุษณีว่าเป็นผู้นำ หรือ "จ่าฝูง"

จ่าฝูง จะมีอิทธิพลต่อสัตว์บริวารมาก ถ้าจ่าฝูงฉลาด รอบรู้ และสามารถ ก็นำพาฝูงสัตว์บริวารอยู่รอดปลอดภัย จากการตามล่าของสัตว์ร้ายที่แข็งแรงกว่า จากน้ำมือของมนุษย์ ผู้โหดร้ายและจากภัยธรรมชาติ ถ้าจ่าฝูงไร้ความสามารถก็อาจนำพาฝูงบริวารประสบหายนะได้

ในหมู่มนุษย์เล่า ความเป็นผู้นำและผู้ตาม จะปรากฏเห็นตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ แม้กระทั่งพวกเด็กๆ ที่วิ่งเล่นตามลานบ้าน พวกเขาจะยอมรับใครคนใดคนหนึ่งเป็นหัวหน้าและพร้อมจะเชื่อฟัง เขาโตมาเป็นหนุ่มเป็นสาวก็จะมีหัวหน้าหรือผู้นำกลุ่มเพื่อนๆ

ไม่ว่าหัวหน้าจะพูด จะทำอะไร ก็มักจะมีอิทธิพลต่อพวกเขาไปเสียหมด ยิ่งถ้าพวกเขายึดถือใครเป็น "ฮีโร่" หรือนิยมชมชอบใครเป็นพิเศษ ก็มักจะเอาอย่างในด้านความประพฤติ

ถ้าถูกผู้นำชักจูงไปในทางดีก็ดีไป แต่ถ้าถูกชักจูงไปทางเสียหาย เช่น พาเสพสิ่งเสพติด เล่นการพนัน ดื่มสุรายาเมา ลักเล็กขโมยน้อย ก่อเรื่องทะเลาะวิวาท ก็จะพลอยเป็นเช่นนั้นไปด้วย

ใหม่ๆ อาจขัดความรู้สึก แต่พอนานเข้าก็เคยชินเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า "คบคนเช่นใดย่อมกลายเป็นคนเช่นนั้นไปด้วย"

มองในมุมกว้าง ผู้นำประเทศชาติคือรัฐบาล ถ้ารัฐบาลเป็นผู้นำแท้จริง คือตั้งใจสร้างสุขบำบัดทุกข์แก่ประชาชนจริงๆ มิใช่อยู่เพียง "ตัวอักษร" ที่เขียนแถลงนโยบาย

นั่นคือ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ เป็นตัวอย่างของผู้ "สัตย์ซื่อมือสะอาด" และควบคุมองค์กรของรัฐให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ประชาชนก็จะอยู่ร่มเย็นเป็นสุข เอารัดเอาเปรียบกันน้อยลง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมากขึ้น

ผู้นำมีคดโกงคอร์รัปชั่น และเข้มงวดกวดขันเสียอย่างเดียว ข้าราชการน้อยใหญ่ที่ไหนจะกล้าคดโกง? เมื่อไม่มีใครต้องการ "ส่วย" ประเพณี "ส่งส่วย" จะมีได้อย่างไร?



   "ทุกข์ของคนเกษียณ"

มีผู้เชิญให้ไปบรรยายเรื่องเกี่ยวกับผู้จะเกษียณอายุราชการบ่อยเป็นที่น่าสังเกต หัวข้อบรรยาย เช่นการ เตรียมใจของผู้จะเกษียณบ้าง ธรรมะสำหรับผู้เกษียณบ้าง ทุกข์ของผู้เกษียณบ้าง ฯลฯ ฟังแล้วแปลก

แสดงว่าผู้จัด (ซึ่งยังไม่เกษียณ) คิดเอาว่า คนเกษียณไปแล้ว มีปัญหา มีความทุกข์หนักถึงกับต้องเตรียมใจไว้รับ หรือเอาธรรมะเข้าข่ม เพื่อให้ทุกข์มันบรรเทาเบาบาง

การเหมาเอาว่า คนเกษียณอายุราชการแล้วทุกข์มากกว่าคนที่กำลังรับราชการอยู่ เห็นจะผิดแล้วนะครับ ลงคนมันจะทุกข์แล้ว ไม่ว่ากำลังทำงานอยู่ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน หรือเกษียณอายุไปแล้วก็ทุกข์พอๆ กัน

ผมเองก็เป็นข้าราชการเกษียณ ถึงจะเกษียณก่อนกำหนดสิบปี ก็เรียกว่าเกษียณเหมือนกัน ผมกลับรู้สึกว่า ทันทีที่พ้นหน้าที่ "เช้าชามเย็นชาม" ผมมีความสุขอย่างบอกไม่ถูกที่จะได้ทำงานที่อยากทำ ซึ่งในขณะที่รับราชการอยู่ไม่มีเวลา ขณะนี้ได้ทำงานที่ตนรัก เป็นอิสระ ไม่เป็นลูกจ้างหรือลูกน้องใคร (ยกเว้นภรรยา) มันช่างสุขสบายเสียนี่กระไร

รู้อย่างนี้ลาออกเสียนานแล้วคนเกษียณอายุราชการที่จะทุกข์มีอยู่ประเภทเดียวคือ คนที่ไม่รู้จักโลกธรรมแปด คือ ลาภ-เสื่อมลาภ, ยศ-เสื่อมยศ, สรรเสริญ-นินทา, สุข-ทุกข์ ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็น "ความจริง" ของชีวิตที่ต้องประสบพบพานกันทุกคน มันมาแล้วไปไปแล้วก็มา เหมือนแขกมาเยี่ยมบ้านเรา ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวก็อำลาจากไป

คนเคยเป็นใหญ่เป็นโต ไปไหนมาไหนมีคนล้อมหน้าล้อมหลัง พูดอะไรถึงเชยเขาก็ว่าเฉียบแหลมยังกับขงเบ้ง ทำอะไรไม่เข้าท่าเขาก็ว่าท่านเก่ง ใครพูดขัดหูยังไม่ทันพยักหน้าเลย ลูกน้อง "จัดการ" แทนแล้ว ไล่เตะได้ก็เตะ เตะไม่ได้ก็เอาแค่พังรั้วบ้าน "นายข้าใครอย่าแตะ" ว่างั้นเถอะ

"ภาพ" เหล่านี้จะเห็นในขณะที่ยังมียศศักดิ์อยู่เท่านั้น พอเกษียณไปแล้วก็จะหายวับไปทันทีไม่ต่างอะไรกับความฝัน

หมดอำนาจวาสนา ไม่อยู่ในฐานะให้คุณให้โทษแก่เขาอีกต่อไปแล้ว

อย่าหวังจะได้ความเคารพนับถือเหมือนเดิมเขายังจำได้ว่าเคยเป็นนายก็บุญแล้วนี่คือโลกธรรม ที่จะต้องเข้าใจ "ปลง" เสียให้ตก แล้วจะไม่มีทุกข์

ได้เครื่องบินปีกทองฝังเพชรวันนี้ วันต่อไปถึงจะไม่ได้อะไรอีก เดินผ่านหน้า ความจำเขาเสื่อม จำเราไม่ได้ ก็ไม่เป็นทุกข์  เพราะเราปลงได้แล้วนี่ครับ



   "จงหยุดเสียบ้างเถิด"

คนส่วนมากคิดว่า รถนั้นดีที่วิ่งเร็ว เร่ง สปีดได้ตามปรารถนา "ความเร็ว" เป็นความดีของรถที่พูดนี้ก็ถูก แต่ถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะยังมีความดีอย่างอื่นอีก และจำเป็นด้วย คือ "ความหยุด"

รถที่วิ่งเร็ว ก็ต้องมีห้ามล้อที่ดีด้วย อยากเร่งสปีดเมื่อใดเร่งได้ อยากหยุดเมื่อใดก็หยุดได้ทันที อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าดีครบเครื่อง

ถ้าดีแต่วิ่งเร็ว หยุดไม่ได้ ก็พาคนขับลง คูคลอง หรือชนรถชนคนบาดเจ็บเสียหาย อย่างร้ายแรงที่สุดก็ถึงตาย

ดูรถแล้วหันมาดูคน คนเราก็เหมือนกัน มีความรู้ความสามารถในการทำงาน รู้สารพัด เก่งสารพัด ใครๆ ก็ชื่นชมสรรเสริญ แต่เพียงความรู้ความสามารถเท่านั้นไม่พอ ต้องรู้จัก "ห้ามล้อ" หรือ "หยุด" ตัวเองได้ในคราวที่ควรหยุดด้วย จึงจะนับว่า เป็นคนดีจริง

ความรู้นั้นไม่ยาก ถ้าหากขยันศึกษาเล่าเรียน ยึดหลัก สุ. จิ. ปุ. ลิ. คือ ฟังให้มาก ค้นคว้าให้มาก ฟังแล้วอ่านแล้ว นำมาคิดไตร่ตรองทบทวน ทำความเข้าใจ เรื่องใดยังไม่แจ่มชัดก็ซักถามครูบาอาจารย์ ถามได้ความรู้แน่ชัดแล้ว จดบันทึกไว้กันลืม

ปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ก็สามารถเรียนรู้เป็น "พหูสูต" หรือ ผู้คงแก่เรียนได้ "ความรู้อาจเรียนทันกันหมด" ขอแต่ให้มุ่งมั่นอย่างจริงจังเท่านั้น ใครๆ ก็ทำได้

แต่รู้แล้ว จะ "หยุด" ได้มากน้อยเพียงใดนี่สิ เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนกันมาก

คนที่รู้อะไรสารพัด แต่ไม่รู้จักหยุดเมื่อถึงคราวควรหยุด มีให้เห็นมากมาย

การพนันเป็นสิ่งไม่ดี ใครเล่นแล้วไม่มีทางร่ำรวยถาวรได้มาแล้วก็หมดไป ขืนหมกมุ่นกับการพนันมากๆ ไม่ช้าก็หมดตัว รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ก็อดเล่นไม่ได้

บุหรี่เหล้าเป็นโทษต่อสุขภาพร่างกาย เป็นอบายมุขทางแห่งความเสื่อม รู้ แต่ก็อด สูบอดดื่มไม่ได้

การทะเลาะเบาะแว้งกันไม่ดี ใครทะเลาะกัน ไม่ว่าฝ่ายผิดฝ่ายถูก ต่างก็เหมือนสาดโคลนใส่กัน ไม่มีใครไม่เปรอะเปื้อน ในที่สุดอาจรุนแรงถึงขั้นประหัตประหารกัน นี่ก็รู้แต่ก็อดทะเลาะไม่ได้

รู้มาก แต่หยุดไม่ได้ หาความสงบร่มเย็นในชีวิตได้ยาก

ความชั่วร้ายที่รุมเร้าจิตใจเรานั้นเรียกรวมๆ ว่า "กิเลส" มีมากมายจาระไนไม่หมด แต่สรุปแล้วก็มีเพียง ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ

โลภ อยากแต่จะได้ใคร่จะเอา ไม่คำนึงถึงถูกผิด ขอแต่ให้ได้มาก็แล้วกัน คนอื่นจะเดือดร้อนช่างมัน ความชั่วชนิดนี้ใครมีมากก็ทำให้เป็นคนเกียจคร้าน และเป็นคนทุจริต

โกรธ อยากฆ่า อยากทำลาย ให้ฝ่ายที่ตนไม่ชอบ ตายหรือพินาศย่อยยับ ใครมีความชั่วชนิดนี้มากเป็นคนดุร้ายทารุณ หยาบกระด้าง น่ากลัว

หลง หมกมุ่นงมงายในเรื่องไร้สาระเชื่อถือผิดๆ ไม่มีเหตุผล เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด

สิ่งเหล่านี้เกิดกับใจ เมื่อมันเกิดแล้ว มันจะเพิ่มอัตราเข้มขึ้นหรือจางลงจนดับไป ก็อยู่ที่ใจเรา เช่นกัน ถ้าเรา "หยุด" มันเสียแต่ตอนต้น หรือตอนที่มันเริ่มเกิด โอกาสที่มันจะขยายตัวก็ยากขึ้น

การห้ามมิให้โลภ โกรธ หลง เกิดกับใจเรานั้นห้ามยาก เหมือนห้ามน้ำมิให้ไหลลงสู่ที่ต่ำ แต่การ "หยุด" หรือ "ลดความแรง" ลงนั้น สามารถทำได้ ด้วยการใช้สติระงับ ยับยั้งใจ

วิธีฝึกหยุดความชั่วร้ายมี ๓ วิธีคือ

(๑) เปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าถูกอารมณ์ร้ายรบกวน เช่น อารมณ์โกรธ ก็ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ลุกเดินไปมา เปลี่ยนเรื่องดู เรื่องฟัง ถ้าอยู่ว่างๆ ก็หยิบหนังสืออ่าน หรือทำงานอะไรสักอย่าง เพื่อเบี่ยงเบนอารมณ์โกรธออกไป

(๒) เปลี่ยนสภาพแวดล้อม ถ้ากำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความคิดชั่วที่แรงมาก ทำตามวิธีที่หนึ่งแล้วไม่หาย ก็ให้เปลี่ยนสภาพแวดล้อม เช่น อาบน้ำ ผลัดเครื่องแต่งตัวเสียใหม่ ถ้าคนที่ทำให้เกิดเรื่องยังอยู่ต่อหน้าเรา ก็หนีไปเสียหรือให้เขาไปที่อื่นเสีย อย่างนี้ห้วงคิดชั่วร้ายก็จะสลายตัวลง

(๓) เลื่อนเวลา ถ้าจะทำอะไรลงในขณะนั้น อาจรุนแรงยิ่งกว่าเดิม เช่น ลูกเราทำผิด เราเดือดดาลมาก ถ้าจะทำโทษขณะนั้นอาจลงโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ เพราะอารมณ์โกรธ ก็ให้เลื่อนไปพูดกันวันหน้า มีใครมาฟ้องว่า "คนนั้นนินทาว่าร้ายท่าน" แทนที่จะบอกว่า "ไปเรียกมันมานี่" ก็เลื่อนเวลาไปเสีย ด้วยพูดว่า "แล้วผมจะจัดการภายหลัง" ดังนี้เป็นต้น

รถเมล์จากต้นทางไปถึงปลายทาง จอดป้ายรายทางเพื่อให้ผู้โดยสารลงเป็นระยะๆ ฉันใด การครองชีวิตที่ดีก็ควรจะ "จอดป้าย" ให้ความชั่วลงจากใจเป็นระยะๆ ฉันนั้น.



   "ยอดกัณฑ์พระไตรปิฎก"

ผมเคยเขียนไว้ว่า มีผู้ขอให้แปลคาถายอดกัณฑ์พระไตรปิฎก ผมไม่แปล เพราะภาษาบาลีที่มีผู้รวบรวมมาที่ตั้งชื่อว่า "คาถายอดกัณฑ์พระไตรปิฎก" นั้น ถึงจะพอเดาได้ว่า หมายถึงอะไร ก็ไม่ใช่ภาษาที่ดี ไม่ถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์ของภาษา

ต่างจากคาถาชินบัญชร ซึ่งแต่งถูกต้องตามหลักภาษาเป็นคำฉันท์ (ปัฐยาวัตร) ที่สละสลวยเป็นฝีมือของปราชญ์ (ถึงจะคัดเลือกมาผิดเพี้ยนกันไปบ้างบางวลี บางประโยค ก็แปลได้ความ)

ถ้าจะเปรียบภาษาในคาถายอดกัณฑ์พระไตรปิฎก ก็เปรียบได้กับภาษาฝรั่งของชาวบ้านที่พูดว่า "แบงค็อก เมนี่คาร์ โตเกียวเมนี่คาร์ เซม เซม" (กรุงเทพฯ รถมาก โตเกียวก็รถมากเหมือนๆ กัน) แปลได้ความ แต่ไม่เป็นภาษา

ในคาถายอดกัณฑ์พระไตรปิฎกนั้น แปลได้ความครับ กล่าวถึงพระพุทธคุณ กล่าวถึงชื่อย่อของพระไตรปิฎก ชื่อย่อพระโพธิสัตว์และบารมีต่างๆ เป็นต้น เป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสติ ล้วนแต่เรื่องดีๆ ทั้งนั้น

ใครเคยสวดแล้วก็สวดต่อไป ที่ยังไม่เคยสวด อยากสวดก็สวดเถิด ผมไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่บอกว่าผมไม่แปลเท่านั้นเอง

พูดถึงการสวดมนต์ มีแฟนๆ ถามกันมามาก ควรจะสวดบทไหนบ้าง สวดมากสวดน้อยแค่ไหน สวดโดยไม่ทราบความหมายจะได้บุญเหมือนผู้ที่ทราบความหมายหรือไม่ ฯลฯ

บทสวดมนต์ทางพุทธคุณ ส่วนมากท่านคัดเอาพระสูตรที่เป็นพุทธวจนะ หรือบทประพันธ์ที่ปราชญ์รุ่นหลังแต่งขึ้น เป็นหลักธรรมคำสอนโดยตรง หรือไม่ก็เป็นบทสรรเสริญพระคุณพระรัตนตรัย จุดประสงค์มุ่งให้ผู้สวดยึดถือหรือคุณความดีของพระรัตนตรัยเป็นแนวทางดำเนินชีวิต

มิใช่สวดอ้อนวอนขอนั่นขอนี่ ซึ่งขัดกับหลักการของพระพุทธศาสนา การสวดมนต์ไหว้พระจึงตรงกับคำว่า Chanting มากกว่า pray อย่างของฝรั่ง

สวดมากสวดน้อยไม่มีปัญหาดอกครับ ใครท่องจำได้มากก็สวดมาก ท่องได้น้อยก็สวดน้อยขอให้สวดก็แล้วกัน

เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ มักไม่ค่อยสวดกัน จึงนอนไม่ค่อยหลับ เป็นโรคประสาทกันทั่วบ้านทั่วเมือง



   "ตั้งตนให้ดีไม่มีทางล้ม"

ตั้งตนให้ดีไม่มีทางล้ม : หลายคนอาจนึกไปไกลว่า การตั้งตน หรือ ตั้งตัว หมายถึงทำสิ่งนอกตัวเรา เช่น การสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ หรือ หน้าที่การงาน ดังคำพูดที่ได้ยินเสมอว่า
“ขอตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้ก่อนจึงจะแต่งงาน” อะไรทำนองนี้

แต่การตั้งตนที่ถูกต้องนั้น ท่านหมายถึงการ “ตั้งจิต” ของตนไว้ในทางที่ชอบ

ถ้าถามว่า การตั้งจิตไว้ชอบนั้นตั้งอย่างไร คำตอบก็คือ ตั้งให้ดี ตั้งให้ถูก ตั้งให้เหมาะนั่นแหละ แค่ไหนถึงจะเรียกว่า ดี ถูก เหมาะ อันนี้วัดจากพฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย วาจา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากใจอีกทีหนึ่ง

ถ้าพฤติกรรมทางกาย วาจา ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น ถือว่า ดี ถูก เหมาะ แล้วเช่น

แต่ก่อนเคยเป็นคนโหดร้าย ชอบฆ่าชอบรังแกสัตว์ แต่บัดนี้กลายเป็นคนมีเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจตนอื่น สัตว์อื่น พร้อมจะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก

แต่ก่อนเป็นคนงกเห็นแก่ได้ ทนไม่ได้ที่จะเห็นคนอื่นมีมากกว่าตัว กอบโกย ฉ้อโกง หรือทำสารพัดวิธีที่จะได้มาก แต่ตอนนี้กลายเป็นคนไม่คิดเอาของของคนอื่นที่ตนไม่มีสิทธิ์จะได้ และไม่คิดเอามาโดยไม่ถูกต้องชอบธรรม ถ้าอยากได้ให้หามาเองด้วยสัมมาอาชีพ

แต่ก่อนเป็นคนไม่รู้จักพอในการแสวงหาความสุขทางเนื้อหนัง ลูกเขาเมียใครไม่คำนึง ประพฤติตนเป็นคนมากชู้หลายเมีย (หรือหลายสามี) มาบัดนี้รู้จักเคารพสิทธิทางความรักของคนอื่น ยินดีเฉพาะยอดชู้คู่ชื่นของตน

แต่ก่อนไม่รู้จักสำรวมวาจา พูดเท็จ คำหยาบ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ มาบัดนี้เป็นคนมีวาจาสัตย์ไม่พูดคำหยาบไม่พูดส่อเสียดยุแยงตะแคงรั่ว ไม่พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล

แต่ก่อนเป็นคนสำมะเลเทเมา ติดสุรายาเมา ชนิดหัวราน้ำ บัดนี้กลายเป็นคนมีสติยับยั้งชั่งใจ หากจะดื่มบ้างก็พอประมาณ ไม่ถึงกับปีศาจสุรา

คนที่มีพฤติกรรมไม่เบียดเบียนตนและคนอื่นให้เดือดร้อนอย่างนี้เรียกว่า คนตั้งตนไว้ดี ตั้งตนไว้ถูก ตั้งตนไว้เหมาะสม นับเป็นคนที่มี “ฐานมั่นคง”

คนตั้งตนไว้ดีไม่มีทางตกต่ำ หรือล้มเหลวในชีวิต มีแต่ทางจะเจริญรุ่งเรืองในภายหน้า ดุจดังพระปฐมเจดีย์ที่สูงเท่านกเขาเหิน ตั้งตระหง่านอยู่เนิ่นนาน เพราะรากฐานมั่นคงฉะนั้น...



   "ปริศนาธรรม"

ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง มีผู้คนอยู่อาศัยประมาณสองร้อยครอบครัว บ้านแต่ละหลังปลูกอยู่บนพื้นที่ประมาณ ๕๐-๖๐ ตารางวา มีรั้วรอบขอบชิดก่อด้วยอิฐบล็อกสูงเสมอไหล่สามารถมองเห็นบริเวณของอีกบ้านหนึ่งได้สะดวก

ประชากรของหมู่บ้านแห่งนี้เป็นคนชั้นกลาง ส่วนมากเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทเอกชน หรือ เจ้าหน้าที่ธนาคารที่มีรายได้ประจำพอที่จะเช่าซื้อบ้านอยู่อาศัย ต่างคนต่างก็มีภูมิหลังและพื้นฐานการศึกษาอบรมที่แตกต่างกัน ไม่เคยรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อนและไม่พยายามจะรู้จักกัน ทั้งๆ ที่ บัดนี้ได้มาอาศัยอยู่รวมกันแล้ว ซ้ำร้ายบ้านที่รั้วติดกันก็ทะเลาะ เบาะแว้งกันเสียอีก หลายคนมีรถยนต์ส่วนตัวขับไปทำงาน ผู้ที่ไม่มีรถยนต์ประจำตัว เวลาไปทำงาน หรือออกไปทำธุระข้างนอกก็ต้องเดินออกมาปากซอย ซึ่งห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑ กิโลเมตร เพื่อรอรถสองแถว ซึ่งนานๆ จะผ่านมาสักครั้งหนึ่ง

เวลาเดินสวนทางกัน พวกเขาจะไม่ค่อยทักทายปราศรัยกัน

อย่างดีก็มองหน้ากันและยิ้มให้กันเล็กน้อย บรรยากาศอย่างนี้นานทีจะมีให้เห็น ส่วนมากจะมองกันด้วยสายตาอันว่างเปล่า ราวกับไม่เคยพบเห็นมาก่อน จนใครบางคนตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "หมู่บ้านแปลกหน้าประชาบึ้งตึง" เพียงการโอภาปราศรัยกันฉันมิตรยังหายาก

โจรผู้ร้ายชุกชุม แทบไม่มีบ้านหลังใดที่โจรผู้ร้ายไม่เคยมาเยี่ยมเยียน ส่วนมากโจรกรรมมักเกิดขึ้นตอนกลางวันเวลาเจ้าของบ้านไปทำงาน มีน้อยหลังที่มีคนเฝ้าแต่ก็เฝ้าเฉพาะบ้านของตน ถึงจะเห็นโจรกำลังขนของออกจากบ้านหลังอื่น ก็ถือว่า "ธุระไม่ใช่ ไม่ควรยุ่งเกี่ยว ดีไม่ดีอาจเจ็บตัวเอาได้"

มีสมาชิกบางคนพยายามชักชวนให้ร่วมกันตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือดูแลกันและกันเสนอให้ออกเงินครอบครัวละ ๑,๐๐๐ บาทต่อเดือน เพื่อจ้างยามมารักษาความปลอดภัยแต่ก็มิได้รับความสนใจ

เพราะต่างก็คิดว่าบ้านใครใครก็ดูแลเอง เรื่องอะไรจะต้องเสียเงินแพงๆ เพื่อคุ้มครองทรัพย์ของคนอื่นด้วย

นี่คือสภาพความเป็นอยู่ของ "หมู่บ้านแปลกหน้าประชาบึ้งตึง"

สภาพอย่างนี้คงหาได้ทั่วไปในยุคสมัยสังคมไทยปัจจุบัน อยากถามเด็กๆ ว่า คนหมู่บ้านนี้ขาดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาข้อใดบ้าง

จ้างก็ตอบไม่ได้ เพราะเขาให้คุณเรียนพระพุทธศาสนากะพร่องกะแพร่ง ขนาดผู้ใหญ่ในระดับกระทรวงบางคนยังหันมาถามลูกน้องเลยว่า หัวใจพระพุทธศาสนา คืออะไร!!...


ที่มา คอลัมน์ ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 สิงหาคม 2558 13:51:55 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2557 19:33:20 »

.
 
  "พระสูตรน่าสนใจ" (๑) ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

พระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ตรัสสอนปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระสูตรนี้แปลตามตัวอักษรว่า "พระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อ คือ พระธรรม"

เนื้อหาของพระสูตรตอนแรกว่าด้วยแนวทางที่ไม่ควรปฏิบัติ หรือทางที่ไม่ควรดำเนินสองทาง คือ
(๑) การหมกมุ่นอยู่กับกามารมณ์ หรือการเสพสุขในเนื้อหนังมังสา ติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งเรียกว่า "กามสุขัลลิกานุโยค" และ
(๒) การทรมานตนด้วยการบำเพ็ญตบะต่างๆ ซึ่งเรียกว่า "อัตตกิลมถานุโยค"

ทั้งสองทางนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า "อันตา" (ทางตัน) ไม่สามารถนำผู้ปฏิบัติตามให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้

ตอนที่สองว่าด้วย "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือ "ทางสายกลาง" ที่ผู้ปฏิบัติควรดำเนิน อันได้แก่ สัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การกระทำชอบ) สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ) สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ (ตั้งใจมั่นชอบ)

ตอนที่สามว่าด้วยอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทรงแสดงอริยสัจสี่ครบวงจร และตรัสว่า เมื่อก่อนยังไม่รู้แจ้งอริยสัจสี่ครบวงจร พระองค์ไม่กล้าประกาศยืนยันว่าพระองค์ได้ตรัสรู้ แต่บัดนี้พระองค์ได้รู้แจ่มแจ้งแล้ว จึงกล้าประกาศยืนยัน

เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบ โกณฑัญญะ หัวหน้าปัญจวัคคีย์ก็ได้ "ดวงตาเห็นธรรม" คือรู้กระจ่างว่า "สรรพสิ่งมีการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา" พระองค์ตรัสว่า "โกณฑัญญะรู้แล้วๆ" โกณฑัญญะทูลขอบวชเป็นพระสาวกองค์แรก

ก็ได้สั้นๆ เพียงนี้ เพราะหมดเนื้อที่พอดี!!...



   "พระสูตรน่าสนใจ" (๒)  กาลามสูตร

คงเคยได้ยินชื่อ กาลามสูตร กันมาบ้างไม่มากก็น้อย พระสูตรนี้ชาวตะวันตกที่หันมาสนใจพระพุทธศาสนารู้จักกันดี เพราะมีเนื้อหา "ท้าทาย" และบ่งบอกเอกลักษณ์ของความเป็นพุทธ อันแตกต่างจากศาสนาดั้งเดิมที่พวกเขานับถือ

นั่นคือ เน้นบทบาทของปัญญา ก่อนจะเชื่อถือปฏิบัติอะไร ให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน

เนื้อหาความของพระสูตรมีว่า ชาวกาลามะแห่งเกสปุตตนิคม เมื่อพบพระพุทธเจ้าพากันกราบทูลว่า สมณพราหมณ์หลายพวกหลายลัทธิผ่านมายังหมู่บ้านนี้ ต่างฝ่ายต่างก็ยกย่องลัทธิของตนว่าถูก ตำหนิว่าลัทธิของฝ่ายอื่นว่าผิด พวกตนงงไปหมดไม่รู้จะเชื่อฝ่ายไหน

พระองค์ตรัสว่า ก็น่าที่พวกเธอจะสงสัยอยู่ดอก เพราะแต่ละฝ่ายก็ยกย่องแต่ลัทธิความเชื่อของตน เราตถาคตขอบอกว่าดังนี้
 ๑. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะฟังตามกันมา
 ๒. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะนับถือสืบๆ กันมา
 ๓. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
 ๔. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีอ้างไว้ในตำรา
 ๕. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะตรรกะ (โบราณแปลว่า "เดา" แต่หมายถึงเหตุผลทางตรรกะ)
 ๖. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะอนุมาน (คือ สรุปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ)
 ๗. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคิดตรองตามอาการที่ปรากฏ
 ๘. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเข้ากับความเห็นของตน
 ๙. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะรูปลักษณะน่าเชื่อถือ
๑๐. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าผู้พูดเป็นครูของตน

พุทธวจนะนี้มิได้หมายความว่าสอนให้เป็นคนไม่เชื่อถืออะไรเลย แต่ให้ใช้ปัญญาไตร่ตรองก่อนจึงค่อยเชื่อ "ต่อเมื่อใด รู้ด้วยใจว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล เป็นกุศลมีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้น แล้วจึงควรละหรือถือปฏิบัติตาม"

ความจริงพระสูตรนี้ชื่อ "เกสปุตติยสูตร" แต่เพราะแสดงแก่ชนเผ่ากาละมะ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "กาลามสูตร"



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๓)  อักโกสกสูตร

ในชีวิตประจำวันของเรามักถูกคนด่าว่า หรือนินทาให้เสียหาย ทั้งๆ ที่บางทีเราก็ไม่ได้ทำอะไรผิด บางท่านทนไม่ได้ก็อาจ "ด่าตอบ" หรือนินทาตอบเพื่อให้หายแค้น บางท่านก็ "ทำใจ" ได้ไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วย ก็ดีไปอย่าง

มีพระสูตรหนึ่งชื่อ อักโกสกสูตร น่าจะนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันเราไม่น้อย

เรื่องมีว่า ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์คนหนึ่ง ไม่รู้ว่าโกรธแค้นพระพุทธเจ้ามาแต่ปางไหน พบพระพุทธองค์ก็เข้าไปด่าเลย แบบไม่ได้ทันตั้งเนื้อตั้งตัว ด่าว่าอย่างไรไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ บอกแต่ว่า อสพฺภาหิ ผรุสาหิ วาจาหิ อกฺโกสติ ปริภาสติ ด่าและบริภาษด้วยวาจาหยาบคาย ไม่ใช่ของสุภาพบุรุษ  เมื่อเขาด่าจนพอแล้ว พระพุทธองค์ตรัสถามว่า พราหมณ์ที่บ้านท่านมีญาติมิตรมาเยี่ยมบ้างไหม พราหมณ์บอกว่ามีสิ ข้าพเจ้ามิใช่คนสิ้นญาติขาดมิตรนี่ (หว่า) พระองค์ตรัสถามว่า เวลาเขามา ท่านเอาอะไรต้อนรับเขา พราหมณ์บอกว่าก็เอาน้ำดื่ม ของเคี้ยวของกินต้อนรับสิ

"ถ้าแขกที่มาบ้านท่าน ไม่กินไม่ดื่มของต้อนรับเหล่านั้น ของเหล่านั้นจะเป็นของใคร" พระพุทธองค์ตรัสถาม

"ก็ตกเป็นของข้าพเจ้าตามเดิมสิ" พราหมณ์ตอบ

พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า "เช่นเดียวกันนั่นแหละพราหมณ์ ท่านด่าเรา เราไม่รับคำด่านั้น คำด่านั้นก็ตกเป็นของท่านสินะ"

โดนเข้าไม้นี้ อีตาพราหมณ์นิ่งอึ้งเลย พระพุทธองค์ตรัสสอนต่อไปว่า

"ผู้โกรธตอบคนที่ด่า เลวกว่าคนด่าเสียอีก คนที่ไม่โกรธตอบคนที่ด่านับว่าชนะสงครามที่ชนะได้แสนยาก คนที่มีสติยับยั้งชั่งใจ ไม่โกรธเวลาเขาด่า นับว่าทำประโยชน์ทั้งแก่ตนและคนอื่น แต่คนเช่นนี้ คนที่ไม่เข้าถึงธรรมมักจะหาว่าเป็นคนโง่"

พราหมณ์สำนึกผิดว่า ตนได้ด่าผู้ที่ไม่สมควรด่าอย่างยิ่ง จึงปฏิญาณตนนับถือพระรัตนตรัย ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา หลังจากบวชไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๔)  อาสีวิสสูตร

พระสูตรที่จะกล่าวถึงนี้ชื่อ อาสีวิสสูตร (สูตรว่าด้วยงูพิษ) ความว่า มีคนมาบอกชายคนหนึ่งว่ามีอสรพิษ ๔ ตัว จะต้องดูแลให้ดี ปลุกตามเวลา ให้อาบน้ำตามเวลา ให้กินตามเวลา ให้เข้าที่อยู่ตามเวลา ถ้าตัวใดโกรธขึ้นมามันอาจกัดเอาถึงตายได้ ชายคนนั้นกลัวอสรพิษ ๔ ตัว นั้น จึงหนีไปที่อื่น

ณ ที่นั้นมีคนบอกว่า มีเพชฌฆาต ๕ คน ไล่ตามหลังมาพบท่านที่ใดจะฆ่าท่านทันที เขาวิ่งหนีด้วยความกลัว มีคนมาบอกเขาอีกว่า มีพวกโจรเหาะเหินเดินอากาศได้เงื้อดาบไล่ตามหลังท่านมา พบที่ใดจะตัดศีรษะท่านทันที ณ ที่นั้น

เขากลัวอสรพิษ กลัวเพชฌฆาต กลัวโจร วิ่งหนีไปยังบ้านร้างแห่งหนึ่ง มีคนมาบอกว่ามีโจรคอยดักฆ่าคนที่เข้ามาบ้านร้างนี้เสมอ เขากลัว รีบวิ่งหนีไป พบห้วงน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ฝั่งนี้เต็มไปด้วยอันตราย ฝั่งโน้นปลอดภัย เขาจึงเอาไม้มาผูกเป็นแพ พยายามแจวหรือพายจนข้ามถึงฝั่งโน้นโดยสวัสดี

พระพุทธองค์ตรัสดังนี้แล้ว ทรงไขความว่า
อสรพิษ ๔ ตัว หมายถึง มหาภูตรูป ๔ อัน ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม
เพชฌฆาต ๕ คน หมายถึง ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
พวกโจร หมายถึง ความกำหนัดยินดีในกามคุณ
บ้านร้าง หมายถึง อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ห้วงน้ำใหญ่ หมายถึง กาม ภพ (ความมีความเป็น) ความ เห็นผิด ความโง่เขลา
ฝั่งนี้ หมายถึง ร่างกายของเรา
ฝั่งโน้น หมายถึง พระนิพพาน
แพ หมายถึง อริยมรรคมีองค์ ๘
การพยายามแจวหรือพายเรือด้วยมือและเท้า หมายถึง การทำความเพียรฝึกฝนอบรมตน
การถึงฝั่งโดยสวัสดี หมายถึง การบรรลุ อรหัตผล เป็นพระอรหันต์ถึงจุดหมายปลายทางแห่งชีวิต

พระสูตรนี้ตรัสเป็นปริศนาธรรมให้ขบคิดหาคำตอบคล้าย "โกอาน" หรือ "กงอั้น" ที่นิกายเซนนำไปใช้อย่างแพร่หลาย สูตรทำนองนี้มีไม่น้อยในพระไตรปิฎก จะได้นำมาเล่าสู่กันฟังตามลำดับ



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๕)  ปิณโฑลยสูตร

พวกภิกษุบวชใหม่มาจากต่างเมือง เพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า ส่งเสียงเอะอะอื้ออึงไม่สงบสำรวม

พระพุทธองค์ไม่ประทานอนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าเฝ้า ตรัสบอกให้กลับไปขณะนั้นท้าวสหัมบดีพรหมเข้ามาเฝ้า กราบทูลว่า

"ภิกษุเหล่านี้เพิ่งบวชใหม่ เหมือนลูกโคน้อยๆ ไม่เห็นแม่จะรวนเร เหมือนพืชที่ยังอ่อน ไม่ได้น้ำรดจะเฉาตาย ขอพระองค์ทรงอนุเคราะห์พวกเธอเถิด"

พระพุทธองค์จึงรับสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าเฝ้า ตรัสสอนว่า "พวกเธอเข้ามาบวชในธรรมวินัยนี้ จุดประสงค์เพื่อทำที่สุดทุกข์" ถ้าบวชมาแล้วมากด้วยอภิชฌา (โลภจ้องอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน) มีความกำหนัดยินดี, มีจิตพยาบาท (ต้องการให้ผู้อื่นมีความพินาศ), หลงลืมสติ, ไร้สัมปชัญญะ ใจไม่เป็นสมาธิ, จิตหมุนไปผิดทาง, ไม่สำรวมการแสดงออก จะทำที่สุดทุกข์ได้อย่างไร คนเช่นนี้ เสื่อมจากโภคทรัพย์แห่งคฤหัสถ์ ไม่ทำสมณภาวะให้บริบูรณ์ นับว่าเสื่อมทั้งสองทาง ดุจดุ้นฟืนที่เผาศพ ติดไฟทั้งสองด้านตรงกลางเปื้อนคูถ จะใช้เป็นฟืนในบ้านก็ไม่ได้ ในป่าก็ไม่ได้"

พระสูตรนี้สั้นๆ ชื่อ ปิณโฑลยสูตร เนื้อหาน่าสนใจ และมีข้อคิดน่าพิจารณาดังนี้
๑. ที่ตรัสขับไล่ ไม่ต้องการให้พระใหม่จากต่างเมืองเข้าเฝ้าในตอนแรก มิใช่เพราะทรงปราศจากพระกรุณา แต่ต้องการเตือนสติให้พวกเธอรู้จัก "กาลเทศะ" ว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน กำลังจะมาทำอะไร มิใช่อยู่ในป่าที่ส่งเสียงดังได้ตามชอบใจ
๒. การที่สหัมบดีพรหมมาทูลเชิญให้ทรงสงเคราะห์พวกเธอนั้นจะตีความเป็นพรหมจริงๆ ก็ได้ แต่ถ้าตีเป็นสัญลักษณ์ก็คือ ทรงมีพระมหากรุณานั่นเอง จึงทรงเปิดโอกาสให้พวกเธอเฝ้าหลังจากพวกเธอสำนึกแล้ว
๓. พระโอวาทน่าสนใจ คนที่บวชมาถ้าไม่บวชเพื่อดับทุกข์ นับว่าเสื่อมทั้งสองทาง คือ ล้มเหลวทางชีวิตคฤหัสถ์ และล้มเหลวทางชีวิตพระ ไม่ต่างกับดุ้นฟืนเผาศพ ติดไฟสองด้านตรงกลางเปื้อนขี้อีกต่างหาก ใช้ทำอะไรก็ไม่ได้



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๖)  ฆฏสูตร

วันหนึ่งพระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวา เห็นพระโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้ายมีใบหน้าผ่องใสเป็นพิเศษ จึงถามว่า ท่านอยู่ด้วยวิหารธรรมอันละเอียดใดหรือ วันนี้จึงมีหน้าตาผ่องใสยิ่งนัก

พระโมคคัลลานะตอบว่า ผมอยู่ด้วยวิหารธรรมอย่างหยาบ แต่ได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าจึงมีปีติในธรรมอย่างยิ่ง

ครั้นพระสารีบุตรซักว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ไกลจากที่นี้มาก ท่านเหาะไปเข้าเฝ้าพระองค์หรือ พระโมคคัลลานะตอบว่า ไม่ได้เหาะไป แต่ฟังด้วยทิพโสต

พระโมคคัลลานะเล่าให้พระสารีบุตรฟังต่อไปว่า ท่านได้กราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า แค่ไหนเพียงใด จึงจะเรียกว่ามีความพากเพียร พระพุทธองค์ตรัสว่า ต้องตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า "แม้นเลือดในร่างกายของเรา จะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่บรรลุผลที่พึงบรรลุถึงได้ ด้วยความพากเพียรของบุรุษด้วยความบากบั่นของบุรุษ จะไม่ยอมหยุดความพยายามอย่างเด็ดขาด ต้องมั่นคงถึงขนาดนี้จึงจะเรียกว่ามีความพากเพียรจริง

พระสารีบุตรกล่าวชมเชยว่า "ท่านโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์มากจริงๆ เมื่อเปรียบกันแล้ว ผมเป็นเสมือนก้อนหินเล็กๆ วางอยู่ต่อหน้าภูเขาใหญ่ คนมีฤทธิ์มากอย่างท่านแม้ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป ก็สามารถทำได้"

พระโมคคัลลานะตอบว่า "ท่านสารีบุตรต่างหากเป็นสาวกรูปเดียวที่พระพุทธองค์ตรัสยกย่องว่ามีปัญญามาก มีศีล และอุปสมะ (ความสงบ) ถ้าจะเปรียบไปแล้วผมก็เหมือนก้อนเกลือเล็กๆ วางอยู่ข้างหม้อเกลือใหญ่"

พระสูตรนี้ชื่อ ฆฏสูตร เนื้อหาว่าด้วยพระอัครสาวกสองรูปสนทนากัน ต่างก็ยกย่องชมเชยด้วยใจจริง ถึงความสามารถของอีกฝ่ายหนึ่ง

ข้อคิดที่ได้จากพระสูตรนี้ก็คือ พระเถระทั้งสองต่างก็ได้รับยกย่องว่าเป็น "เอตทัคคะ" (ผู้เลิศกว่าคนอื่น) ท่านกลับไม่ (ขอใช้ภาษาธรรมดา) ไม่ถือตน กลับมีความถ่อมตนเป็นอย่างยิ่ง ยกย่องชมเชยความดี ความสามารถของผู้อื่น ตรงนี้แหละที่ควรนำมาเป็นแบบอย่างได้

อย่าเอาอย่างนักวิชาการแสนรู้ เรียนมาแขนงเดียว นึกว่าตนรู้หมดทุกอย่าง ดูถูกคนอื่นว่าโง่ไปหมด



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๗)  

พระสารีบุตรเข้าไปบิณฑบาตที่เมืองราชคฤห์ในเช้าวันหนึ่ง ได้อาหารพอฉันแล้วก็นั่งฉัน ณ ที่อันสมควรแห่งหนึ่ง ปริพาชิกาชื่อ สุจิมุขี เข้าไปหา ท่านถามว่า
“สมณะ ท่านก้มหน้าฉันหรือ”
“เรามิได้ก้มหน้าฉัน” พระเถระตอบ
“ถ้าอย่างนั้น ท่านก็แหงนหน้าฉัน” ปริพาชิกากล่าว
“เรามิได้แหงนหน้าฉัน”
“ถ้าอย่างนั้น ท่านก็มองดูทิศใหญ่ฉัน”
“เรามิได้มองทิศใหญ่ฉัน”
“ถ้าอย่างนั้น ท่านก็มองทิศน้อยฉัน”
“เรามิได้มองดูทิศน้อยฉัน”

เมื่อพระเถระปฏิเสธทุกอย่าง ปริพาชิกาจึงถามว่า “แล้วท่านฉันด้วยอาการไหนเล่า” พระสารีบุตรอัครสาวกกล่าวว่า
“สมณพราหมณ์เหล่าใด เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ ด้วยดิรัจฉานวิชชา คือ วิชาดูพื้นที่ สมณพราหมณ์เหล่านั้น เรียกว่า “ก้มหน้าฉัน”
สมณพราหมณ์พวกที่เลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชชาคือ รับทำนายอวัยวะน้อยใหญ่ (ดูโหงวเฮ้ง) เรียกว่า “มองดูทิศน้อยฉัน”

แต่เรา สารีบุตร มิได้เลี้ยงชีพด้วยวิชชาเหล่านี้ แสวงหาภักษาหารด้วยการบิณฑบาตโดยชอบธรรม จึงไม่ได้ฉันด้วยอาการดังกล่าวข้างต้น”

เรียกภาษาพระว่าท่านมี “อาชีวปริสุทธิศีล” (ศีลว่าด้วยการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์) ไม่บำเพ็ญตนเป็น “เกจิอาจารย์ขลัง” ต่างๆ

พระสูตรนี้บันทึกการโต้ตอบอย่างคมคาย เป็นปริศนาธรรม โต้ตอบด้วยปฏิภาณอาจเป็นด้วยปริพาชิกาเป็นนักบวชประเภทชอบโต้วาทะทำนองพวก โซฟิสต์ (Sophist) พระสารีบุตรจึงเล่นปริศนาธรรมด้วย...ใครอ่านแล้วจะพิจารณาตนว่ากำลังกินแบบไหนก็ดีไม่น้อย



   "พระสูตรน่าสนใจ" (๘)  อินทกสูตร

อินทกยักษ์ทูลถามปัญหา รูปหาชีวะมิได้ สัตว์นี้ได้ร่างกายมาแต่ไหน กระดูกและก้อนเนื้อมาจากไหน สัตว์อยู่ในครรภ์อย่างไร

พระพุทธองค์ตรัสว่า เบื้องแรกเกิดมี "กลละ" ก่อน จากนั้นก็เป็น "อัพพุทะ"
จากอัพพุทะเป็น "เปสิ" จากเปสิ เป็น "ฆนะ"
จากฆนะเป็น "ปุ่มห้าปุ่ม" จากปุ่มห้าปุ่มเป็นผม ขน เล็บ

มารดาดื่มกินอะไร สัตว์ในครรภ์ยังชีพด้วยสิ่งนั้น

พระสูตรนี้ชื่อ อินทกสูตร ตรัสไว้สั้นๆ แต่ทรงขยายความในอีกสูตรหนึ่งชื่อ มหาตัณหาสังขยสูตร ว่า คนเราจะเกิดขึ้นมาได้ต้องมีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ
๑. บิดามารดาร่วมกัน
๒. มารดามีไข่สุกพร้อมจะผสม และ
๓. คันธัพพะ ปรากฏ

"คันธัพพะ" มีปัจจัยหรือองค์ประกอบ๓ คือ กรรมที่สัตว์ทำไว้เปรียบเหมือนที่นา วิญญาณ เปรียบเหมือนเมล็ดพืช และตัณหา เปรียบเหมือนยางเหนียวในเมล็ดพืช

สรุปแล้วคนจะเกิดเป็นคนขึ้นมาได้ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งรูปธรรมและนามธรรม ในขณะที่นักวิชาการสมัยใหม่พูดถึงแต่ในแง่รูปธรรมอย่างเดียว

พัฒนาการของชีวิตในครรภ์ที่ตรัสไว้ข้างบนนั้น ท่านอธิบายรายละเอียดดังนี้
กลละ มีลักษณะใสสะอาดเหมือนหยาดน้ำมันงา มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพราะเล็กมาก ท่านเปรียบเหมือนเอาขนจามรีจุ่มน้ำมันใสแล้วสลัด ๗ ครั้ง ที่เหลืออยู่บนปลายขนจามรีนั่นแหละเท่าขนาดของกลละ

เมื่อผ่านไป ๗ วัน จะมีการเปลี่ยนแปลง คือ สีจะข้นขึ้น (อัพพุทะ)
ผ่านไปอีก ๗ วัน สีจะแดงเรื่อ เหมือนน้ำล้างเนื้อ (เปสิ)
ผ่านไปอีก ๗ วันจะจับเป็นก้อน (ฆนะ)
ผ่านไปอีก ๗ วัน จะมีปุ่ม ๕ ปุ่มคือศีรษะ แขนสอง ขาสอง ต่อจากนั้นก็เกิด ผม ขน เล็บ ในระยะนี้ก็อาศัยอาหารผ่านรกมารดาเจริญเติบโตตามลำดับถ้วนทศมาสก็คลอดออกมา

คนรุ่นใหม่อ่านพบข้อความพระสูตรนี้ต่างก็ทึ่งว่าช่างตรงกับวิทยาการที่ปราชญ์สมัยนี้ค้นพบจริงๆ จะพูดให้ถูกต้องว่าพวกเขาเก่งที่ค้นพบความจริงตรงตามที่พระองค์ตรัสไว้



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๙)  ทารขันธสูตร

อีกสูตรหนึ่งเนื้อหาคล้าย อาสีวิสสูตร ชื่อ ทารขันธสูตร ความว่า พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นขอนไม้ลอยมา จึงตรัสว่าถ้าขอนไม้นั้นไม่เข้าฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น จักไม่จบในระหว่าง ไม่เกยบก ไม่ถูกใครจับเอาไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนพัด ไม่เน่าเสียภายใน มันจักลอยเรื่อยไปสู่มหาสมุทร

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่แวะฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น ก็จักไม่เกยบก ไม่จมในระหว่าง ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนพัด ไม่เน่าเสียภายในเช่นเดียวกัน

ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลถามพระองค์ว่า ข้อความที่ตรัสนั้นหมายความว่าอย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า
ฝั่งนี้ คือ อายตนะภายใน ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
ฝั่งโน้น คือ อายตนะภายนอก ๖ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์)
การจมในระหว่าง คือ นันทิราคะ (ความเพลิดเพลินยินดี)
เกยบก คือ อัสมิมานะ (การถือว่ามีตัวกู)
ถูกมนุษย์จับไว้ หมายถึง พระภิกษุที่คลุกคลีกับคฤหัสถ์ ร่วมสุขร่วมทุกข์กับเขา ช่วยเหลือทำกิจการให้เขา
ถูกอมนุษย์จับไว้ หมายถึงพระภิกษุที่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อหวังไปเกิดในเทพนิกาย (หมู่เทวดา) หมู่ใดหมู่หนึ่ง
เกลียวน้ำวน หมายถึง กามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ)
เน่าเสียภายใน หมายถึง พระภิกษุทุศีล มีความประพฤติน่ารังเกียจ ไม่บริสุทธิ์ มีการกระทำซ่อนเร้น ไม่เป็นสมณะอ้างว่าเป็นสมณะ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์อ้างว่าประพฤติ มีกิเลสหนา เน่าเสียภายใน ดุจขยะเน่าเหม็น

พระสูตรนี้ตรัสทำนองปริศนาธรรมให้คิด บังเอิญผู้ฟัง คิดไม่ออก จึงกราบทูลถาม พระพุทธองค์จึงไขปริศนาให้ทราบเสียเลย ไม่ต้องคิดให้เปลืองสมอง และเสี่ยงต่อการ ตีความผิดๆ ด้วย



  "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๐)  สกุณัคฆีสูตร

นกมูลไถ ไปหากินในที่ที่มิใช่โคจร (คือหากินในถิ่นที่ตนเองไม่เคยไป) ถูกเหยี่ยวตัวหนึ่งจับไปรำพันว่า "สมควรแล้วที่เราถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป เพราะไม่รู้จักหากินในถิ่นปิตุภูมิของตน"

เหยี่ยวถามว่า "ที่ไหนล่ะเป็นถิ่นปิตุภูมิของเจ้า"

นกมูลไถบอกว่า "ที่ที่เขาไถนานั่นแหละคือถิ่นที่เป็นปิตุภูมิของข้า"

เหยี่ยวนึกลำพองว่าตนเองมีกำลังแข็งแรง โฉบเฉี่ยวได้เร็ว จึงปล่อยนกมูลไถไปยังที่นาที่เขาไถไว้ นกมูลไถยืนบนรอยไถท้าเหยี่ยวว่า แน่จริงโฉบลงมาจับข้าสิ

เหยี่ยวถลาลงมาด้วยความเร็ว กระแทกกับก้อนดิน ดิ้นตายตรงนั้นพอดี

พระพุทธเจ้าทรงยกอุปมาเรื่องนี้แล้วตรัสสอนภิกษุสงฆ์ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเที่ยวไปในที่มิใช่โคจรของตน มารจักได้ช่องทำลายพวกเธอ

มารนั้นคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส) ธัมมารมณ์ (ความคิดคำนึง) อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ชวนให้กำหนัดยินดี

พวกเธอจงเที่ยวไปในถิ่นปิตุภูมิของตนเถิด

ถิ่นปิตุภูมิ คือสติปัฏฐาน ๔ แล้วมารจะไม่สามารถทำลายพวกเธอได้ สติปัฏฐาน ๔ คือ ตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็น ตามเป็นจริง, ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา, ตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนาว่าเป็นเพียงความรู้ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา, ตั้งสติกำหนดพิจารณาจิตของตนว่ามีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นหรือไม่ ตามที่เป็นอยู่ขณะนั้น, ตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมให้รู้ตามเป็นจริงว่าเป็นเพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

พระสูตรนี้ชื่อ "สกุณัคฆีสูตร" อุปมาอุปไมย ฟังง่าย ชัดเจนดี



ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 สิงหาคม 2558 13:57:51 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 17 สิงหาคม 2557 18:57:31 »

   "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๑)  โรหณสูตร
"ภิกษุทั้งหลาย การขับร้องคือการร้องไห้ในวินัยของอริยเจ้า การฟ้อนรำคือ ความเป็นบ้าในวินัยของอริยเจ้า การหัวเราะจนเห็นฟันเต็มปากคือความเป็นเด็กในวินัยของอริยเจ้า

เพราะฉะนั้น จึงควรเลิกเด็ดขาดซึ่งการขับร้อง ฟ้อนรำ เมื่อมีความเบิกบานใจในธรรม เพียงแต่ยิ้มแย้มก็พอ"

ข้อความสั้นๆ นี้ตรัสไว้ใน "โรหณสูตร" ถึงจะตรัสสอนเฉพาะภิกษุก็จริงแต่น่าจะเป็นคติเตือนใจคนทั้ง ๒ ระดับคือ
ระดับชาวบ้านทั่วไป ก็เตือนสติว่าอย่าได้หลงระเริง สนุกสนานในการฟ้อนรำขับร้องจนเกินไป "รำที่ไหนไปที่นั่น ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น ดีดสีตีเป่าที่ไหนไปที่นั่น เสภาที่ไหนไปที่นั่น เพลงที่ไหนไปที่นั่น เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น" สิ่งเหล่านี้ถ้าหมกมุ่นมากๆ ท่านว่าเป็นอบายมุข (ปากทางแห่งความเสื่อม)

สิ่งที่ชาวโลกเรียกว่าความสุขนั้น ในสายตาพระอริยะแล้วก็คือ กิริยาอาการเยี่ยงทารกผู้ไร้เดียงสานั่นเอง เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ หรือไม่ก็คือกิริยาอาการของคนบ้า

สำหรับพระภิกษุผู้ปฏิญาณตนงดเว้นอากัปกิริยาของชาวบ้านแล้ว ถ้ายังประพฤติเช่นชาวบ้านอยู่ก็ไม่สมควรอย่างยิ่ง พระสูตรนี้เตือนบรรพชิตให้รู้จักสำรวจ ปฏิบัติตนให้เป็นที่เจริญศรัทธาปสาทะของประชาชนอย่าได้ทำให้พระศาสนาเต็มไปด้วย "การร้องไห้หรือหัวเราะบ้าคลั่ง" เป็นที่สลดสังเวชแก่วิญญูชน

พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้ามีความเบิกบานใจในธรรม เพียงแต่ยิ้มแย้มก็พอ อย่าได้เอิ๊กอ๊ากๆ อย่างสุดๆ

"ยิ้ม" เห็นแก้ม "แย้ม" เห็นไรฟัน แต่ "หัวเราะ" ขบขันเห็นฟันเต็มปาก นี่คือคำจำกัดความที่ฟังชัดเจนที่สุด เอาแค่ให้เห็นแก้มกับไรฟันก็พอครับ •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๒)  วันมิกสูตร
มีจอมปลวกหนึ่ง กลางคืนพ่นควัน กลางวันลุกเป็นไฟ พราหมณ์ บอกศิษย์ ชื่อสุเมธให้เอาจอบขุด

สุเมธขุดลงไปพบลิ่มสลัก พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกให้เอาทิ้งไป ขุดต่อไปพบอึ่งอ่าง ทางสองแพร่ง หม้อกรองน้ำด่าง เต่า เขียงหั่นเนื้อ และชิ้นเนื้อ ตามลำดับ

สุดท้ายขุดพบพญานาคหรืองูใหญ่ อาจารย์บอกว่า อย่าไปทำอะไรมัน ให้ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้องเหมาะสม

ข้อความทำนองปริศนาธรรม หรือ "โกอาน" นี้มีผู้ฝากให้พระกุมารกัสสปะไปทูลถามพระพุทธเจ้า ปรากฏอยู่ในพระสูตรชื่อ วันมิกสูตร พระกุมารกัสสปะไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงไขปริศนาดังนี้

จอมปลวก หมายถึง ร่างกาย

กลางคืนพ่นควัน หมายถึง เวลากลางคืน คนเราก็นอนคิดวางแผนว่าจะทำอะไรในวันรุ่งขึ้น

กลางวันลุกเป็นไฟ หมายถึง พอถึงกลางวันก็ต้องทำงานตามที่วางแผนไว้อาบเหงื่อต่างน้ำ ดุจร่างกายจะลุกเป็นไฟ

พราหมณ์ หมายถึง พระศาสดา หรือพระสาวก อรหันตสาวกทั้งหลาย

สุเมธ หมายถึง ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อความรู้แจ้ง

จอบ หมายถึง ปัญญา

การขุด หมายถึง ความเพียรหรือการใช้ปัญญา

ลิ่มสลัก หมายถึง อวิชชา (ความไม่รู้ตามเป็นจริง)

อึ่งอ่าง หมายถึง ความโกรธ ความเคียดแค้น

ทางสองแพร่ง หมายถึง ความลังเลสงสัย ตัดสินใจไม่ได้ หม้อน้ำด่าง หมายถึง นิวรณ์ ๕ (ความใคร่, พยาบาท, ความหดหู่, เซื่องซึม, ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ และความลังเลสงสัย) เขียงหั่นเนื้อ หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึง ชิ้นเนื้อ หมายถึง ความเพลิดเพลินยินดีในรูปเสียง เป็นต้น พญานาค หมายถึง พระอรหันต์ หรือผู้บรรลุจุดหมายปลายทางแห่งชีวิตแล้ว ฟังพระพุทธ องค์ทรงไขให้ทราบแล้ว ถ้ายังไม่กระจ่างก็ลองค่อยๆ พิจารณาอีกทีครับ, แล้วทุกอย่างจะชัดเจนขึ้น •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๓)  โทณปากสูตร
เล่ากันว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์ ผู้ครองเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เสวยจุ ทรงรู้สึกอึดอัด อุ้ยอ้าย ไม่กระปรี้กระเปร่า

ทุกครั้งที่เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงสังเกตเห็นพระอาการนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า มนุษย์มีสติทุกเมื่อ  รู้ประมาณในการกิน  เวทนาย่อมเบาบาง  อายุย่อมแก่ช้า

พระเจ้าปเสนทิโกศล รับสั่งให้มหาดเล็กชื่อสุทัศนะ ผู้อยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ให้เรียนคาถานั้นแล้วให้ท่องให้พระองค์ฟังทุกครั้งที่เสวยพระกระยาหาร เพื่อเตือนพระสติให้เสวยน้อยลง

สุทัศนะเรียนคาถานั้นจนจำได้แม่นยำ ท่องดังๆ ให้พระเจ้าปเสนทิโกศลฟังทุกครั้ง ขณะเสวยพระกระยาหาร

ไม่นาน พระเจ้าปเสนทิโกศลกลับมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า ทรงลูบพระวรกายด้วยฝ่าพระหัตถ์ ทรงเปล่งอุทานด้วยความดีพระทัยว่า "พระพุทธเจ้า ทรงอนุเคราะห์เราด้วยประโยชน์ทั้งสอง คือประโยชน์เฉพาะหน้า และประโยชน์ในระยะยาวจริงๆ หนอ"

พระสูตรสั้นๆ นี้ชื่อ โทณปากสูตร ว่ากันว่าเป็น "เคล็ดลับชะลอความแก่อย่างดีทีเดียว ใครอยากแก่ช้าก็ลองท่องคาถานี้เตือนสติทุกครั้งที่รับประทานอาหาร รับรองได้ผลเกินคาด



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๔)  สัตตวัสสสูตร
พระสูตรชื่อ "สัตตวัสสสูตร" กล่าวว่า พญามารชื่อ วสวัตตี ติดตามพระพุทธ เจ้าเป็นเวลา ๗ ปี คอยจ้องหาโอกาสดึงพระองค์กลับไปสู่โลกียวิสัยให้ได้ แต่ก็ไม่ได้ช่อง วันหนึ่งจึงเข้าไปหาพระพุทธองค์ กล่าวว่า "ท่านทุกข์อะไรหรือจึงมาอยู่ตัวคนเดียว เสื่อมจากทรัพย์แล้วหรือ หรือว่าหาช่องทำชั่วไม่ให้ใครรู้เห็น ทำไมไม่ไปสมาคมกับหมู่คนเล่า"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "เราขุดรากถอนโคนความโศกหมดแล้ว ไม่มีความชั่วที่ต้องแอบทำ เราไม่เกาะเกี่ยวในเรื่อง "ความมี-ความเป็น" หมดกิเลสแล้ว นั่งเข้าฌานอยู่คนเดียว"

มารแย้งว่า "ถ้าท่านยังคิดอยู่ว่า "ตัวฉัน" "ของฉัน" สมณะเอย ท่านไม่มีทางพ้นเงื้อมมือเรา"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "สิ่งที่ผู้คนเขาถือมั่น ไม่ถือมั่น สิ่งที่ผู้คนเขาว่าเป็นฉัน เป็นของฉัน เราไม่ยึดถืออย่างนั้น มารเอย จงรู้เถิด ท่านไม่มีทางตามเราทัน"

มารตัดพ้อว่า "เมื่อท่านรู้ทางพระนิพพานแล้ว ทำไมไม่ปลีกตัวไปคนเดียวเล่า ชวนคนอื่นไปด้วยทำไม"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "คนที่ถึงฝั่งแล้ว (คือบรรลุพระนิพพานแล้ว) ย่อมพ้นเงื้อมมือมาร เป็นหน้าที่ของคนเช่นนี้จะต้องแสดงสัจธรรมให้คนอื่นรู้ช่วยให้เขาข้ามถึงฝั่งด้วย"

มารกล่าวด้วยความเสียใจว่า ตนได้ถูกพระพุทธเจ้าทำลายแล้ว ไม่ต่างอะไรกับปูถูกหักก้าม ไม่ต่างอะไรกับกาเห็นหินสีเหมือนมันข้นนึกว่าเป็นอาหาร บินถลาลงไปจิกชนก้อนหินบาดเจ็บ ท้ายพระสูตรเล่าถึงธิดามารทั้งสามอาสาพ่อไปยั่วยวนพระพุทธองค์ แต่ก็ผิดหวัง พระองค์ไม่สนพระทัย จึงพ่ายแพ้หนีไป

พระสูตรนี้ให้แง่คิดอะไรบ้าง คิดเอาเองนะครับ



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๕)  อิณสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสว่าความจนเป็นทุกข์ในโลก ทรงแสดงว่า "ความจนทางโลก" กับ "ความจนทางธรรม" นั้นต่างกัน

ทุกข์ของชาวบ้าน "ผู้บริโภคกาม" มี ๖ อย่างคือ
๑. ความจน เป็นทุกข์ในโลก
๒. การกู้หนี้ยืมสิน เป็นทุกข์ในโลก
๓. การเสียดอกเบี้ย เป็นทุกข์ในโลก
๔. การถูกทวงหนี้ เป็นทุกข์ในโลก
๕. การถูกตามตัว เป็นทุกข์ในโลก
๖. การถูกจองจำ เป็นทุกข์ในโลก

ทุกข์ในทางธรรมมี ๖ ประการคือ
๑. ผู้ไม่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา คือ คนจน
๒. ผู้นั้นทำชั่วทางกาย วาจา ใจ คือ การกู้หนี้
๓. ทำชั่วแล้วนึกภาวนาไม่อยากให้ใครรู้ คือ การเสียดอกเบี้ย
๔. ผู้มีศีลธรรมอื่นๆ ตำหนิการกระทำของเขาคือ การถูกทวงหนี้
๕. ความเดือดร้อนใจติดตามเขาไปทุกแห่ง คือ การถูกตามตัว
๖. สิ้นชีวิตแล้วเกิดในกำเนิดเดรัจฉานบ้าง ถูกทรมานในนรกบ้าง คือ การถูกจองจำ

พระสูตรนี้ชื่อ อิณสูตร ข้อความสั้นๆ แต่น่าคิด ชาวไร่ชาวนาที่ยากจนเงินทอง เพียง "จนภายนอก" ถ้ามีคุณธรรมดังกล่าวข้างต้น ไม่ทำความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ เป็นคนดีพอสมควรก็นับว่าเป็น "คนมี" ได้เหมือนกัน ถ้ามีความดีมากๆ ก็เข้าขั้น "มหาเศรษฐี" คือ มหาเศรษฐีในทางธรรม ส่วนคนที่ร่ำรวยมหาศาลนั่งรถคันละ ๕๐ ล้าน (เขาว่ากันอย่างนั้น) ถ้าไม่มีคุณธรรมแม้แต่นิด ก็คือ "คนจน" ที่น่าสงสารคนหนึ่งเท่านั้นเอง ...เท่านั้นจริงๆ



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๖)  กสิสูตร
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปยังที่นาของพราหมณ์ชื่อ ภารัทวาชะ ในเวลาเช้า ขณะแกกำลังไถนาอยู่ พราหมณ์ต่อว่าพระพุทธองค์ว่าคนอื่นเขาไถนาปลูกข้าวเลี้ยงชีพ พระองค์กลับไม่ทำอะไร มัวแต่เที่ยวสัญจรไปทั่ว

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ก็เป็นชาวนาเหมือนกัน พราหมณ์ย้อนถามว่า "แอก ไถ โค เป็นต้นของท่านอยู่ที่ไหน"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ศรัทธา เป็นพืช ความเพียร เป็นฝน   ปัญญา เป็นแอกและไถ หิริ เป็นงอนไถ  ใจ เป็นเชือก  สติ เป็นผาลและปะฏัก  เราสำรวมกาย วาจา รู้ประมาณในการกิน มีสัจจะ มีโสรัจจะ (ความสงบเสงี่ยม) บากบั่นไม่ท้อถอย  เราทำนาอย่างนี้ นาที่เราทำมีผลเป็นอมตะ  ทำให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง"

พราหมณ์ฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งใจ กราบทูลว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดสิ่งที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง และเหมือนส่องประทีปนำทางให้ผู้มีตาได้มองเห็นฉะนั้น

พระสูตรนี้ชื่อ "กสิสูตร" (สูตรว่าด้วยการไถนา) ใครที่ทำไร่ไถนาแล้วได้ข้าวไม่พอยังชีพ จะหันมา "ทำนาใจ" อย่างนี้ดูบ้าง คงจะดีไม่น้อยนะครับ •



     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๗)  ปาปณิกสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ไม่สามารถได้โภค ทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือไม่ทำโภคทรัพย์ที่ได้มาแล้วให้เพิ่มพูนขึ้น องค์ ๓ ประการนั้นคือ ไม่ตั้งใจทำงานอย่างดีในเวลาเช้า ไม่ตั้งใจทำงานอย่างดีในเวลาเที่ยง ไม่ตั้งใจทำงานอย่างดีในเวลาเย็น"

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้มีคุณสมบัติ ๓ ประการ ย่อมมีโภคทรัพย์มากมายมหาศาลชั่วเวลาไม่นานเลยคือ มีตาดี จัดเจนในธุรกิจ และมีแหล่งทุนที่พึ่งพาได้

พระสูตรนี้ชื่อ ปาปณิกสูตร ตรัสถึงพ่อค้านักธุรกิจที่ทำการค้าไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งทำยิ่งเจ๊ง กับพ่อค้านักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะคุณสมบัติอย่างหลังนี้น่าสนใจและน่านำไปปฏิบัติคือ พ่อค้านักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต้อง
๑. มีตาดี (จกฺขุมา) คือ สายตากว้างขวาง ยาวไกล รู้จักสินค้า ดูของเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไรแม่นยำ
๒. จัดเจนธุรกิจ (วิธุโร) คือ มีหัวการค้า รู้แหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวต้องการของตลาด สามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจและเอาใจลูกค้า
๓. มีแหล่งทุนพร้อมที่พึ่งพาได้ (นิสฺสยสมฺปนฺโน) คือ รู้จักคนมาก เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจในหมู่แหล่งทุนใหญ่ๆ หาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการได้ง่าย

ใครเคยเข้าใจผิดว่าพระพุทธองค์ได้แต่สอนคนให้ไปนิพพาน ก็เปลี่ยนใจมาอ่านพระไตรปิฎกเสีย จะได้รู้ว่า "การดับทุกข์แบบโลกๆ" พระองค์ก็ทรงสอนไว้มากมาย ดังเรื่องนี้เป็นต้น



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๘)  สีสปาสูตร
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าสีสปาวัน (แปลกันว่าป่าสีเสียดบ้าง ป่าประดู่ลายบ้าง) แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมาก

พระองค์ทรงหยิบใบไม้ขึ้นแล้วตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย ใบไม้ในมือของเรา กับใบไม้บนต้นไม้อย่างไหนจะมากกว่ากัน

พระสงฆ์กราบทูลว่า "ใบไม้ที่ทรงถืออยู่จำนวนเล็กน้อย ใบไม้บนต้นไม้มีจำนวนมากกว่า พระเจ้าข้า"

"อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกพวกเธอมีมากมาย ดุจใบไม้บนต้นไม้ในป่า แต่สิ่งที่เรารู้แล้วนำมาบอกมาสอนพวกเธอมีนิดเดียว ดุจใบไม้ในกำมือเรานี้

เพราะเหตุใดเราจึงไม่บอก เพราะสิ่งนั้นไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่หลักการใหญ่เพื่อชีวิตอันประเสริฐ ไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อดับกิเลสและกองทุกข์ได้สิ้นเชิง

สิ่งที่เรารู้แล้วนำมาบอกมาสอนก็คือ ทุกข์ สาเหตุของทุกข์ ความดับทุกข์ และทางดับทุกข์ ที่นำมาบอกมาสอนก็เพราะสิ่งนี้เป็นประโยชน์ เป็นหลักการใหญ่เพื่อชีวิตอันประเสริฐ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อดับกิเลสและกองทุนได้สิ้นเชิง"

พระสูตรนี้ชื่อ สีสปาสูตร สั้นๆ ลึกซึ้ง กินใจ แสดงถึง "พุทธทรรศนะ" ว่า ความรู้อื่นใดมากมาย ถ้าไม่ใช่รู้เพื่อทำชีวิตให้ดีขึ้น เพื่อลด ละ เลิก โลภ โกรธ หลง ก็หาใช่ความรู้แท้จริงไม่

รู้มาก ก็ "อวิชา" มาก แบกทุกข์ไว้มาก



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๙)  เกสีสูตร
นายเกสีคนฝึกม้า เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถามว่า เกสีใครๆ ก็ว่าเธอฝึกม้าเก่ง เธอมีวิธีฝึกอย่างไร

นายเกสีกราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าใช้วิธีละมุนละม่อมบ้าง วิธีรุนแรงบ้าง ทั้งสองวิธีรวมกันบ้าง พระเจ้าข้า"
เขากราบทูลอธิบายว่า ม้าตัวใดฝึกด้วยวิธีละมุนละม่อมไม่สำเร็จ ก็จะใช้วิธีเข้มงวดรุนแรง ถ้าใช้วิธีเข้มงวดรุนแรงไม่สำเร็จ ก็จะใช้ทั้งวิธีละมุนละม่อมและรุนแรง ถ้าอย่างนี้แล้วก็ยังฝึกไม่ได้ ก็จะฆ่ามันทิ้งเสีย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์เวลาสอนคนก็ใช้ทั้งสามวิธีเช่นเดียวกัน ถ้าใครฝึกไม่ได้ พระองค์ก็ทรงฆ่าทิ้งเหมือนกัน

นายเกสีกราบทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) ไม่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคมิใช่หรือ ทำไมพระองค์ตรัสว่าพระองค์ทรงฆ่าทิ้งเสีย"

พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายว่า การฝึกอย่างละมุนละม่อมหมายถึงชี้ให้เห็นสุจริตและผลแห่งสุจริต การฝึกอย่างรุนแรงหมายถึงการชี้ให้เห็นทุจริตและผลแห่งทุจริต การฆ่าในอริยวินัยของพระองค์คือ การไม่ว่ากล่าวตักเตือนอีกต่อไป

พระสูตรนี้ชื่อ เกสีสูตร อ่านแล้วได้แนวคิดหลากหลาย ที่เด่นชัดอย่างหนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าทรงมีเทคนิควิธีสอนคนได้เหมาะสมตามอัธยาศัยแนวโน้มและความถนัดของแต่ละคนจริงๆ เพราะอย่างนี้เองพระองค์ทรงสอนใคร ผู้นั้นจึงได้เข้าถึงธรรม ทุกคนไป สมกับพระนามว่า "พระบรมครู" แท้จริง



   "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๐)  วิสาขาสูตร
นางวิสาขา มหาอุบาสิกา เป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก นางได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว บรรลุเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ

คราวหนึ่งหลานสาวที่รักยิ่งได้ถึงแก่กรรมลง นางเศร้าโศกเสียใจมาก ร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ตรัสสอนเธอว่า
"วิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๙๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๘๐ ...ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีความโศก ไม่มีความคับ แค้นใจ"

นางวิสาขาได้หายเศร้าโศก เพราะพระธรรมเทศนานั้น

พระพุทธเจ้าได้เปล่งอุทานว่า

"โศก ปริเทวนา และทุกข์มากหลาย ย่อมมีในโลกนี้ เพราะอาศัยสิ่งที่รัก เมื่อไม่มีสิ่งที่รัก โศกเป็นต้นนั้นก็ไม่มี ผู้ไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ต้องการโศกเศร้า ก็ไม่ควรรักสิ่งใด"

พระสูตรนี้ชื่อ วิสาขาสูตร ฝากไว้สำหรับคนที่มีความรัก และมีทุกข์เพราะความรัก บางทีอาจตาสว่างขึ้นบ้าง



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๑)  เอฬกสูตร
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัส เอฬกสูตร แก่ภิกษุสงฆ์ในวันหนึ่งว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะชื่อเสียง เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอย่างยิ่ง ภิกษุทั้งหลาย แมลง "เอฬกะ" (หนอนรันขี้) กินขี้เต็มท้อง มีขี้วัวขี้ควายกองใหญ่ข้างหน้า มันคุยอวดหนอนรันขี้ตัวอื่นว่า เรากินขี้เต็มท้องแล้ว ยังมีขี้กองใหญ่อยู่ข้างหน้าเราอีกเห็นไหม

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปก็เหมือนกัน ตกอยู่ใต้อิทธิพลของลาภสักการะและชื่อเสียง ไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ได้อาหารฉันเต็มบาตรแล้วกลับวัด คุยอวดภิกษุรูปอื่นว่า ผมได้อาหารพอแก่ความต้องการแล้ว วันนี้ทายกยังนิมนต์ผมเพื่อไปฉันในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย และยังจะได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรคอีกเป็นอันมาก

ภิกษุนั้นตกอยู่ใต้อิทธิพลของลาภสักการะและชื่อเสียง ย่อมดูหมิ่นภิกษุผู้ทรงศีลอื่นๆ ว่ามีบุญน้อย มีศักดิ์น้อย ไม่ร่ำรวยปัจจัยสี่เท่ากับตน ข้อนี้จะเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และเพื่อความทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน"

โบราณว่า "พระงามที่จน คนงามที่รวย" พระภิกษุใดอวดร่ำอวดรวย ดูถูกดูหมิ่นพระภิกษุรูปอื่นที่ไม่ร่ำรวยเหมือนตน ไม่ต่างกับหนอนรันขี้กินขี้เต็มท้องแล้วร้องอวดหนอนรันขี้ตัวอื่นว่า เห็นไหมๆ ข้ามีขี้กินเยอะเลย

หนอนรันขี้ ภาคอีสานเรียกว่า "กุดจี่ขี้" มันปั้นขี้เป็นก้อนๆ แล้วก็ไสไป พระที่อวดร่ำรวยปัจจัยสี่ก็เห็นจะเรียกว่า "พระกุดจี่ขี้" นั่นแหละครับ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๒)  ฉัปปาณสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายในวันหนึ่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย สังวร (คือการระมัดระวังในการแสดงออก) ไม่ต่างอะไรกับการจับสัตว์ ๖ ชนิด มัดรวมกันไว้ที่เดียวกัน ย่อมเป็นการยากลำบากอย่างยิ่ง

สัตว์ ๖ ชนิด ที่มีวิสัยต่างกัน มีที่หากินต่างกัน ถูกขับมาผูกติดกันไว้ คือ งู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก และลิง

สัตว์เหล่านี้ ต่างก็ดึงไปยังที่อยู่ที่ตนเคยชิน งูก็จะดึงไปสู่จอมปลวก จระเข้ก็จะลงน้ำ นกก็จะบินขึ้นฟ้า สุนัขบ้านก็จะเข้าไปยังหมู่บ้าน สุนัขจิ้งจอกก็จะเข้าป่า ลิงก็จะปีนขึ้นต้นไม้ ตัวใดที่กำลังมาก ตัวนั้นก็จะลากสัตว์อื่นไปตามกำลังตน ส่วนตัวที่มีกำลังน้อยก็จะถูกลากถูไปแม้ไม่เต็มใจก็ตาม

ภิกษุบางรูปก็ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างไปจากสัตว์ ๖ ชนิดนี้ ไม่ฝึกฝนอบรม กายคตาสติ (สติกำหนดพิจารณาความเป็นจริงของกาย) ย่อมจะถูกตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดึงไปสู่ทางที่มันเคยชิน ตกเป็นทาส รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิดคำนึง ย่อมจะลำบากไม่น้อยเลย"

พระสูตรนี้ชื่อ ฉัปปาณสูตร สอนพระสงฆ์ก็จริง ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ด้วย คนเราที่ทุกข์หนักกันทุกวันนี้ก็เพราะยอมตกเป็นทาสของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันบัญชาให้แสวงหา รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึงที่ต้องการมาสนองความต้องการของมันไม่รู้จบสิ้น

มีเงินก็พอไหว ในยุคสมัยนี้หุ้นตกฮวบฮาบ ค่ารถเมล์ขึ้นมหาโหดอย่างนี้ ใครยังสุขอยู่ได้ก็เห็นจะต้องใช้สำนวน น.นพรัตน์ ว่า "นับถือๆ" พร้อมประสานมือค้อมคารวะ •



   "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๓)  พรหมชาลสูตร
พระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จดำเนินทางไกลระหว่างเมืองราช คฤห์กับเมืองนาลันทา สุปปิยมาณพพร้อมศิษย์ชื่อ พรหมทัตตะ เดินตามหลังพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์บนทางสายเดียวกัน

สุปปิยมาณพกล่าวตำหนิติเตียนพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ต่างๆ นานา ขณะที่พรหมทัตตะผู้ศิษย์ไม่เห็นด้วย กลับกล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัยเป็นอันมาก

พระสงฆ์ทราบเรื่องนั้น กราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระองค์ตรัสสอนว่า "ภิกษุทั้งหลาย คนอื่นเขาติฉินนินทาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พวกเธออย่าได้อาฆาตแค้นโทมนัสน้อยใจ เพราะถ้าหากเธอทำเช่นนั้นจะไม่เกิดผลดีอะไรเลย

เขาตำหนิติเตียน พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ถ้าคำตำหนินั้นเป็นจริงก็ควรแก้ไข ถ้าไม่จริงก็ให้รับรู้ว่า ไม่จริง

เขาสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พวกเธอก็อย่าได้ดีใจ เพราะนั้นจะเกิดผลเสียแก่พวกเธอ

ถ้าคำกล่าวชมนั้นๆ เป็นจริงก็รับรู้ว่า เป็นจริงตามนั้นก็พอ"

พระสูตรนี้ชื่อ พรหมชาลสูตร เนื้อหาพระสูตรว่าด้วยลัทธิความเชื่อถือของคนอินเดียสมัยโน้นว่ามีมากมายถึง ๖๐ ลัทธิ ล้วนเป็นเรื่อง "อภิปรัชญา" ลึกซึ้งทั้งนั้น เฉพาะคำสอนข้างต้นนี้มีอยู่ตอนต้นๆ ของพระสูตร

เวลาถูกใครนินทาว่าร้าย ให้ปฏิบัติตามพระพุทโธวาทข้างต้น ทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยดี อย่าเอาอย่างนักการเมือง (บางคนเท่านั้นนะ) แผลเต็มตัว พอใครเขาตำหนิหน่อยเดียวก็สลัดน้ำหนองกระเซ็นใส่เขาทันทีทันควัน อย่างนี้ก็เหม็นตายสิครับ



     "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๔)  กิรสูตร
ภิกษุทั้งหลายในอดีตกาลนานมาแล้ว ในเมืองสาวัตถีนี้เอง พระราชารับสั่งให้คนตาบอดทั้งหมดเข้าเฝ้าให้คนนำช้างมาให้ดู คนตาบอดเหล่านั้น บางคนก็คลำศีรษะช้าง บางคนก็คลำหูช้าง...ต่างก็เข้าใจรูปลักษณะของช้างแตกต่างกันไป

เมื่อถูกถาม คนที่คลำศีรษะช้างกราบทูลว่า ช้างเหมือนหม้อน้ำ คนที่คลำหูกราบทูลว่า ช้างเหมือนกระด้ง คนที่คลำงากราบทูลว่า ช้างเหมือนผาล คนที่คลำงวงกราบทูลว่า ช้างเหมือนงอนไถ คนที่คลำตัวช้าง กราบทูลว่า ช้างเหมือนฉางข้าว คนที่คลำเท้ากราบทูลว่า ช้างเหมือนเสาเรือน คนที่คลำหลังกราบทูลว่า ช้างเหมือนครก ตำข้าว คนที่คลำโคนหางกราบทูลว่า ช้างเหมือนสาก คนที่คลำปลายหางกราบทูลว่า ช้างเหมือนไม้กวาด

คนตาบอดเหล่านี้ทุ่มเถียงกัน ช้างเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้นโว้ย ต่อหน้าพระที่นั่ง พระราชาทรงพระสรวลด้วยความขบขันเป็นอย่างยิ่ง ข้อนี้ฉันใด

พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นดุจคนตาบอด ไม่มีจักษุ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม และมิใช่ธรรมต่างทะเลาะกัน ทิ่มแทงกัน "ด้วยหอกคือปาก"

พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานในเวลาต่อมาว่า
"เหล่าสมณพราหมณ์ที่ยึดมั่นในทิฐิ (ความเห็นผิด) อันหาสาระมิได้  มองอะไรในแง่มุมเดียว ย่อมทะเลาะวิวาทกัน"

พระสูตรนี้ชื่อ "กิรสูตร" คนตาบอดดูช้าง ดูยังไงๆ ก็ไม่เห็นช้างทั้งตัว อาศัยมือคลำดู คลำถูกส่วนไหนก็คิดว่าช้างเป็นอย่างนั้น แล้วไม่วายทุ่มเถียงกับคนตาบอด อื่นๆ เป็นที่ขบขันของคนตาดี ในสังคมปัจจุบันนี้ก็มี "คนตาบอด" ที่นึกว่าตัวรู้เห็นอะไรกว่าคนอื่นอยู่ไม่น้อย ยังไงๆ มันก็คนตาบอดอยู่นั่นแหละ (วะ)



   "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๕)  จุฬมาลุงกยสูตร
พระมาลุงกยบุตร กราบทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับ "ปัญหาโลกแตก" เช่น โลกนิรันดรหรือไม่ โลกมีที่สิ้นสุดหรือไม่ ชีวะ (วิญญาณ) กับสรีระ เป็นอย่างเดียวกันหรือคนละอย่าง สัตว์หลังจากตายแล้วยังคงอยู่หรือไม่ คงอยู่ก็มิใช่ ไม่คงอยู่ก็มิใช่หรือ

พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ ตรัสกับมา ลุงกยบุตรว่า สมมติว่าใครคนใดคนหนึ่ง ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ญาติพี่น้องหามเข้าไปหาหมอผู้เชี่ยวชาญให้รักษา หมอกำลังจะผ่าตัดเอาลูกศรออก คนคนนั้น ร้องห้ามว่า ข้ายังไม่ยอมให้ถอนลูกศรออกจนกว่าข้าจะรู้ว่า ใครยิงข้า เกิดในตระกูลอะไร วรรณะอะไร สูงต่ำดำขาวอย่างไร ลูกศรที่ยิงข้าทำด้วยไม้อะไร ขนนกที่ปลายลูกศรทำด้วยขนนกอะไร สายธนูทำด้วย ปอป่านเยื่อไม้หรือเอ็นชนิดไหน เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาคงจะตายก่อนที่จะรู้ว่าใครยิงเขาเป็นแน่แท้ ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าใครมาคาดคั้นให้เราตอบคำถามเหล่านี้ เขาผู้นั้นก็คงจะตายก่อนเป็นแน่แท้เพราะปัญหาเหล่านี้เราไม่ตอบ

ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้โลกนิรันดรหรือไม่เป็นต้น คนเราก็ไม่มีทางพ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจอยู่นั่นเอง ปัญหาเหล่านี้เราไม่ตอบเพราะไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นหลักการสำคัญของวิถีชีวิตอันประเสริฐ ไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อตรัสรูป เพื่อดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล

เราจะตอบและสอนเกี่ยวกับทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์เท่านั้น

ข้อความนี้คัดจาก จุฬมาลุงกยสูตร สุภาษิตที่ว่า "รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม" นั้นใช้ไม่ได้สำหรับชาวพุทธที่แท้ เพราะความรู้บางอย่างยิ่งรู้มากก็ยิ่งทุกข์มาก ควรจะรู้เรื่องทุกข์และวิธีแก้ทุกข์ของตนเองจะดีกว่า ยิ่งรู้ก็ยิ่งเบา ไม่ต้องเป็นไอ้บ้าหอบฟาง! •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๖)  (สรุปจากหลายสูตร) เช่น สตาปารัทธสูตร อัสสัทธมูลกสูตร ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค
"ภิกษุทั้งหลาย มูตรกับมูตร น้ำลายกับน้ำลาย โลหิตกับโลหิต นมสดกับนมสด น้ำมันกับน้ำมัน เนยใสกับเนยใส น้ำผึ้งกับน้ำผึ้ง น้ำอ้อยกับน้ำอ้อย ย่อมเข้ากันได้ รวมกันได้ฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมคบหาสมาคมกันตามธาตุ (อัธยาศัยและแนวโน้มของจิตใจ) ไม่ว่าอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ย่อมเป็นอย่างนี้เสมอ

พวกที่ไม่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ มี สุตะน้อย เกียจคร้าน หลงลืมสติ มีปัญญาทราม ชอบผิดศีล ๕ ก็ย่อมคบหาสมาคมกับพวกที่ไม่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ เกียจคร้าน หลงลืมสติ มีปัญญาทราม ชอบผิดศีล ๕"

ข้อความนี้สรุปจากหลายสูตร เช่น สตาปารัทธสูตร อัสสัทธมูลกสูตร ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค สรุปใจความให้สั้นที่สุดคือ "สิ่งที่เหมือนกันย่อมดึงดูดกัน"

คนเราธาตุแท้เป็นเช่นใดก็มักคบหาสมาคมกับคนที่มีธาตุแท้เหมือนตน พวกนิยม อรหันต์ตั้ง (คือตั้งกันเองว่าใครเป็นอรหันต์) ก็จัดทัวร์ชมบุญอรหันต์ด้วยกัน พวกชอบรำพัดก็ตั้งวงกวดวิชาคำนวณ (นับแต้ม) กับพวกที่ชอบเหมือนๆ กัน เป็นของธรรมดา •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๗)  …..ใครมีศีลหรือทุศีลแค่ไหน มองผาดๆ ไม่รู้ดอกครับ ต้องดูกันนานๆ
ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า มีชฎิล ๗ คน นิครนถ์ (นักบวชไม่นุ่งผ้า) ๗ คน นิครนถ์นุ่งผ้า ๗ คน ปริพาชก ๗ คน เดินผ่าน ไป พระเจ้าปเสนทิโกศลลุกขึ้นประคองอัญชลี (ยกมือไหว้) ไปทางนักพรตเหล่านั้น กราบทูลว่า "นักพรตเหล่านั้น เป็นอรหันต์ หรือไม่ก็บรรลุธรรมขั้นใด ขั้นหนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มหาบพิตร เป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม มีโอรส มีมเหสีเป็นปุถุชน รู้ได้อย่างไรคนพวกนั้นเป็นอรหันต์

พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพระสติว่า
"จะรู้ว่าใครมีศีลหรือไม่ ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ
จะรู้ว่าใครมีความสะอาดหรือไม่ ต้องดูที่การทำงาน
จะรู้ว่าใครมีปัญญาหรือไม่ ต้องดูที่การสนทนา
จะรู้ว่าใครมีกำลังใจเข้มแข็งหรือไม่ ต้องดูเมื่อตกอยู่ในอันตราย"

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงรับสารภาพว่า แท้ที่จริง นักพรตเหล่านั้นเป็นจารบุรุษที่พระองค์ทรงส่งไปสอดแนมความเคลื่อนไหวตามชายแดน

ใครมีศีลหรือทุศีลแค่ไหน มองผาดๆ ไม่รู้ดอกครับ ต้องดูกันนานๆ บางคนอ้างว่าตนถือศีลมากกว่าชาวบ้านทั่วไป แต่โกหกไฟแลบ อย่างนี้ก็ต้องดูกันนานๆ จะอาศัยแค่ฉากที่เขาจัดให้ดูหาได้ไม่

บางคนแสดงว่าข้าเก่ง ฉลาด "อมภูมิ" อยู่ตั้งนาน พอเปิดปากพูดเท่านั้น เขาก็รู้ว่าหัวขี้เลื่อยธรรมดาๆ นี่เอง อย่างนี้ต้องดูกันนานๆ ครับ



ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 สิงหาคม 2558 14:08:51 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 24 สิงหาคม 2557 10:45:32 »

    "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๘)  สิคาลสูตร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นสุนัขจิ้งจอกแก่ในเช้าตรู่วันนี้ไหม สุนัขจิ้งจอกแก่ตัวนี้เป็นโรคเรื้อนนอนบนบกก็ไม่สบาย อยู่ใต้ต้นไม้ก็ไม่สบาย อยู่ที่แจ้งก็ไม่สบาย จะเดิน ยืน นั่ง หรือนอน ในที่ใดๆ ก็เป็นทุกข์ในที่นั้นๆ

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็เช่นเดียวกับสุนัขจิ้งจอกขี้เรื้อนตัวนั้น มีลาภสักการะ มีชื่อเสียง ถูกลาภสักการะและชื่อเสียงครอบงำย่ำยีจิตแล้ว อยู่ในเรือนว่างก็ไม่สบาย อยู่โคนต้นไม้ก็ไม่สบาย อยู่กลางแจ้งก็ไม่สบาย จะเดิน ยืน นั่ง หรือนอน ในที่ใดๆ ก็เป็นทุกข์ในที่นั้นๆ

ลาภสักการะและชื่อเสียง มันร้ายกาจเช่นนี้แหละ พวกเธอพึงตระหนักอย่างนี้

พระสูตรนี้เรียกว่า สิคาลสูตร ข้อความสั้นๆ กินใจดี พูดถึงพระภิกษุที่บวชมาแล้ว บางรูปร่ำรวยปัจจัยสี่มีญาติโยมนับหน้าถือตา ก็อวดความร่ำรวยนั้นและเกิดความทิฐิมานะเพราะความมีชื่อเสียง เป็น "พระดัง"

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พวกนี้เป็น "พระขี้เรื้อน"

หมาขี้เรื้อนไปไหนๆ มันก็คัน เวลามันคัน มันไม่คิดว่าเพราะพิษขี้เรื้อนของมัน แต่มันจะโทษสถานที่นั้นๆ ว่าทำให้มันคัน

พระสูตรนี้ตรัสสอนพระก็จริง แต่ประยุกต์ใช้ได้กับคนทั่วไป ใครก็ตามไม่ว่านักการเมือง (นักการเมืองอีกแล้ว) ครูอาจารย์ ข้าราชการ หรืออาชีพอื่นใด ถ้าฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริตคิดมิชอบ ก่ออกุศลกรรม ก็ไม่ต่างกับหมาขี้เรื้อน

ยิ่งถ้าทำตัวผิดทำชั่วแล้ว ไม่ยอมรับมัวแต่โทษคนอื่น ยิ่งเป็นขี้เรื้อนกำลังสอง •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๙)  สุภาสิต ชยสูตร
ครั้งหนึ่งพระ พุทธเจ้าตรัสเล่าให้พระสงฆ์ฟังว่า ท้าวเวปจิตติอสุรกับพระอนิทร์แข่งกล่าว คำสุภาษิตกันว่า คำของใครไพเราะและมีเหตุผลกว่ากัน เวปจิตติ กล่าวว่า

คนพาลนั้นถ้าไม่รีบปราบเสียแต่ต้น จะยิ่งกำเริบใหญ่

เพราะฉะนั้น ปราชญ์ควรปราบคนพาลด้วยการลงทัณฑ์

พระอินทร์กล่าวว่า  ผู้ที่เห็นคนอื่นโกรธแล้ว มีสติยับยั้งไม่โกรธตอบ เราเห็นว่านี่แหละคือวิธีกำราบคนพาล

เวปจิตติกล่าวต่อไปว่า เราเห็นข้อเสียของการอดกลั้นมาแล้ว เมื่อคนพาลเห็นเรานิ่ง ยิ่งจะข่มขู่ เหมือนโคที่แพ้วิ่งหนี ตัวที่ชนะยิ่งวิ่งไล่ขวิด

พระอินทร์กล่าวว่า ผู้แข็งแรงอดกลั้นคำล่วงเกินของผู้อ่อนแอนับว่าเป็นยอดความอดทน เพราะผู้อ่อนแอจำต้องทนเป็นประจำอยู่แล้ว ความอดทนของคนอ่อนแอ ไม่นับว่าเป็นพลัง ผู้โกรธคนอื่นนับว่าเลวแล้ว แต่ผู้ที่โกรธตอบคนนี่ ยิ่งเลวกว่า ผู้ไม่โกรธตอบ นับว่าชนะสงครามที่ชนะได้แสนยาก

ที่ประชุมเทวดาและอสูรตัดสินว่า คำกล่าวของเวปจิตติเป็นการชวนทะเลาะ ไม่เป็นสุภาษิต คำของพระอินทร์เป็นสุภาษิต จึงให้พระอินทร์เป็นผู้ชนะ

พระสูตรนี้ชื่อ สุภาสิต ชยสูตร ถอดใจความโดยไม่อ้างอสูรและพระอินทร์ก็ได้ความว่า คนพาลคิดแต่เอาชนะแบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" บัณฑิตเอาชนะด้วยความดี  •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๐)  ภิกษุผู้มีคุณสมบัติ ๑๑ ประการก็ย่อมเจริญงอกงามในพระธรรมวินัย
พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระภิกษุสงฆ์ครั้งหนึ่งว่า นายโคบาลที่มีคุณสมบัติ ๑๑ ประการ สามารถเลี้ยงโคและทำกิจการเกี่ยวกับโคให้เจริญได้ ภิกษุผู้มีคุณสมบัติ ๑๑ ประการก็ย่อมเจริญงอกงามในพระธรรมวินัย

เช่นเดียวกับ คุณสมบัติ ๑๑ ประการ มีดังนี้
๑. นายโคบาลที่ดีต้องรู้จักรูปพรรณโค เปรียบกับพระรู้ธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) และคุณสมบัติของธาตุ ๔
๒. รู้จักลักษณะโค เปรียบกับพระรู้จักลักษณะของคนพาลและบัณฑิต
๓. รู้จักเขี่ยไข่ขาง (ขี้แมลงวันที่แผลโค) เปรียบกับพระที่รู้จักกำจัดความคิดฝ่ายชั่วออกจากใจ
๔. รู้จักปิดแผลโค เปรียบกับพระรู้จักสำรวมการแสดงออกทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ
๕. รู้จักสุมควัน เปรียบกับพระที่รู้จักแสดงธรรมให้คนฟังได้โดยพิสดาร
๖. รู้จักหาท่าน้ำ เปรียบกับพระรู้จักเข้าไปรักษาหารือขอคำแนะนำของผู้รู้ธรรม
๗. รู้จักน้ำดื่ม เปรียบกับพระที่ฟังธรรมแล้วดื่มด่ำในรสพระธรรม
๘. รู้จักทาง เปรียบกับพระรู้จักอริยมรรคมีองค์ ๘ และปฏิบัติดำเนินตามนั้น
๙. รู้จักที่หากินของโค เปรียบกับพระที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นประจำ
๑๐. รู้จักรีดนมโค เปรียบกับพระที่รู้ประมาณในการรับปัจจัย ๔
๑๑. รู้จักทะนุถนอมพ่อโคที่เป็นจ่าฝูง เปรียบกับพระที่เคารพนับถือพระผู้ใหญ่ที่เป็นสังฆบิดร

ชมพูทวีปมีโคมาก พระพุทธเจ้านำเอาโคมาเป็น "สื่อการสอน" พระที่เป็นนักปฏิบัติฝึกฝนอบรมตนก็ควรจะมีลักษณะเช่นเดียวกับคนเลี้ยงโคที่ฉลาดจึงจะประสบความสำเร็จในทางธรรม

คนอื่นๆ ก็ควรเอา "เยี่ยง" นายโคบาลเหมือนกันนะครับ เพียงข้อเดียวคือ "รู้จักเขี่ยไข่ขาง" (ไม่คิดอกุศล) ก็ทำให้ชีวิตมีความสุขไม่น้อย ในโลกใบเบี้ยวๆ นี้ •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๑)  เข้าใจปฏิจจสมุทบาท ละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง
พระสุสิมะเห็นพระสาวกหลายรูปพยากรณ์อรหัตผลในสำนักพระพุทธเจ้า (คือไปกราบทูลว่า ตนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หลังจากได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระองค์) มีความสงสัย จึงไปถามพระเหล่านั้นว่า ที่ท่านว่าท่านได้เป็นพระอรหันต์ พวกท่านมีฤทธิ์ต่างๆ เช่น เนรมิตร่างเป็นหลายคน เดินทะลุฝา ทะลุกำแพงภูเขาหรือดำดิน เหาะได้เป็นต้นไหม พระเหล่านั้นตอบว่า เราไม่ได้คุณวิเศษอย่างนั้น เราบรรลุธรรมด้วยปัญญารู้แจ้ง

พระสุสิมะไม่เข้าใจ จึงไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงซักถามเธอว่า ถ้าพิจารณาขันธ์ ๕ ทีละอย่างๆ จนเห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาไร้ตัวตนที่ควร ยึดมั่นถือมั่น เข้าใจปฏิจจสมุทบาท (การเกิดขึ้นและดับไปแห่งสรรพสิ่งตามเหตุปัจจัย ว่าทุกอย่างมันเป็นไปเช่นนั้นเอง ไม่ขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของใคร และไม่เป็นไปตามความต้องการ หรืออ้อนวอนของใคร) คนผู้นี้จะแสดงฤทธิ์ต่างๆ เช่น คนเดียวเนรมิตเป็นหลายคน หลายคนเนรมิตเป็นคนเดียว ปรากฏตัวแล้วหายไปได้ ทะลุฝากำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด ดำดินเดินบนผิวน้ำ เหาะเหินเดินอากาศเป็นต้นอย่างนั้นหรือ

พระสุสิมะจึงเข้าใจว่า พระอรหันต์นั้นคือ ผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง คนที่หมดกิเลสไม่จำเป็นต้องได้อิทธิฤทธิ์ต่างๆ ดังกล่าวมา

อิทธิปาฏิหาริย์มิใช่มาตรวัดว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่เป็น การหมดกิเลสโดยสิ้นเชิงต่างหากเป็นตัวกำหนด •


 
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๒)  กุมารกสูตร
ขณะประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังเมืองสาวัตถี ระหว่างทางทอดพระเนตรเห็นเด็กหนุ่มจำนวนหนึ่งจับปลาอยู่

พระพุทธองค์ตรัสถามพวกเขาว่า พ่อหนุ่มทั้งหลาย พวกเธอกลัวความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่ปรารถนาของพวกเธอมิใช่หรือ

เด็กหนุ่มกราบทูลว่า เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

พระพุทธองค์ตรัสสอนพวกเขาว่า  ถ้าพวกเธอกลัวต่อความทุกข์ ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่รักของพวกเธอ พวกเธออย่าได้ทำบาปกรรมทั้งในที่ลับและที่แจ้งเลย ถ้าพวกเธอจะทำหรือกำลังทำบาปกรรม กรรมที่ทำนี้จะตามสนองพวกเธอ ถึงจะเหาะหนีไปไหนก็ไม่มีทางหลีกพ้นจากความทุกข์เลย

พระสูตรนี้ชื่อว่า กุมารกสูตร การเบียดเบียนรังแกสัตว์ หรือการทำลายชีวิตสัตว์ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดเป็นบาปทั้งสิ้น

วิธีสอนของพระพุทธองค์ง่ายๆ และได้ผลดี คือ ทรงสอนให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อนึกว่าเราเองไม่ชอบให้ใครเบียดเบียนรังแก คนอื่น สัตว์อื่น ก็คงไม่ชอบเช่นกัน คิดได้ดังนี้แล้วก็จะมีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์เหมือนๆ กัน •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๓)  จูฬสาโรปมสูตร
บุรุษบางคนต้องการแก่นไม้ แต่แทนที่จะเอาแก่นก็เอากิ่งและใบบ้างสะเก็ดบ้าง เปลือกบ้าง กระพี้บ้าง ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น กุลบุตรบางคนก็เช่นเดียวกัน ออกบวชตั้งใจจะพ้นทุกข์ แต่การปฏิบัติของเขาไม่ต่างกับบุรุษผู้ไม่รู้จักแก่นไม้

บางคนบวชแล้วมีลาภสักการะ มีชื่อเสียงก็อิ่มใจพอใจนึกว่าตนเป็นพระรวย พระดัง ดูถูกพระรูปอื่น คนชนิดนี้บวชมาได้เพียง "กิ่งและใบศาสนา"

บางคนไม่พอใจแค่ลาภสักการะชื่อเสียง พยายามรักษาศีลให้บริบูรณ์กระหยิ่มยิ้มย่องว่าตนเป็นพระเคร่ง ดูถูกพระอื่นว่าไม่เคร่งเหมือนตน เขาก็ได้เพียง "สะเก็ดศาสนา"

บางคนพยายามปฏิบัติจนได้การรู้เห็นตามเป็นจริง หรือได้ปัญญา พอใจเพียงแค่นั้น ยกตนข่มคนอื่น คนเช่นนี้ก็ได้เพียง "กระพี้ศาสนา"

บางคนไม่พอใจแค่นั้น พยายามปฏิบัติจนได้บรรลุถึงวิมุติหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง คนนี้เรียกว่า บวชมาแล้วได้ "แก่นศาสนา"

ข้อความข้างต้น จากพระสูตรชื่อ จูฬสาโรปมสูตร ตรัสถึงจุดมุ่งหมายของการบวชว่า ต้องปฏิบัติตนเพื่อให้บรรลุการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง อันเป็น "แก่น" ของพระพุทธศาสนา

ใครบวชมาแล้วมัวแสวงหาแต่ลาภสักการะสะสมทรัพย์สินเงินทองไว้อวดกัน ท่านตรัสว่าได้อย่างมากแค่กิ่งและใบของพระศาสนาเท่านั้น

ถึงจะถอยรถเบนซ์ใหม่เอี่ยมออกมานั่งให้สมตำแหน่งพระราชาคณะ ก็ได้แค่ใบเหี่ยวๆ แห้งๆ ของพระศาสนาเท่านั้น แก่นแท้พระศาสนามิได้อยู่ที่ตรงนี้ •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๔)  มัลลิกสูตร
พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถี มีพระมเหสีอันเป็นที่รักยิ่ง พระนามว่าพระนางมัลลิกา พระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องการได้ยินจากพระโอษฐ์ของพระนางว่า พระนางทรงมีความรักในพระองค์ยิ่งกว่าชีวิต (ตามประสาที่คนรักกันชอบพูด) จึงตรัสถามพระนางว่า

"มัลลิกาที่รัก มีใครที่น้องนางรักมากที่สุด"

พระนางมัลลิกากราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราช ไม่มีใครที่หม่อมฉันจะรักเท่าตัวหม่อมฉันเอง"

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงน้อยพระทัยที่พระมเหสีไม่รักพระองค์ (ยิ่งกว่าชีวิตของพระนาง) เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องที่โต้ตอบสนทนากันให้ทรงทราบ

พระพุทธเจ้าตรัสรับรองคำพูดของพระนางมัลลิกาว่า

"ไม่มีใครรักคนอื่นเท่ากับตนเองดอก ตนเองเป็นที่รักยิ่งของคนทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่รักตนเอง จึงไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น"

พระสูตรนี้ชื่อ มัลลิกสูตร ตรัสเตือนให้นึกถึงความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วไม่อะไรจะเป็นที่รักของตนเท่ากับตัวตนของผู้นั้น ใครที่พูดว่า "ใครมันฆ่าน้องของข้ามันก็เหมือนฆ่าข้าเช่นกัน" ก็พูดให้เว่อร์ไปยังงั้นเอง ถ้าเขาจะฆ่า "ข้า" จริงๆ "ข้า" ก็คงเปิดแน่บไปก่อนน้องแน่นอน

เชื่อข้าเถอะ!  •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๕)  อลคัททูปมสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษเปล่าบางพวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเรียนธรรม เรียนธรรมแล้วไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นย่อม ไม่ควร ซึ่งการเพ่งแก่บุรุษเปล่าเหล่านั้น ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา บุรุษเปล่าเหล่านั้นเป็นผู้มีความข่มผู้อื่น และมีการเปลื้องความนินทาเป็นอานิสงส์ ย่อมไม่ได้รับประโยชน์แห่งการเรียนธรรมนั้น..."

คำแปลข้างบน จากพระสูตรชื่อ อลคัททูปมสูตร แปลแล้วก็คงยังไม่เป็นที่เข้าใจสำหรับชาวบ้าน ขอถอดความอีกชั้นหนึ่งดังนี้ครับ

คนไม่เอาไหนบางจำพวกเรียนธรรม สักแต่ว่าเรียน ไม่ได้ไตร่ตรองพินิจพิจารณาให้เข้าใจถ่องแท้ เรียนธรรมก็เพื่อจะโก้ อวด หรือข่มคนอื่นว่าตนรู้มาก เพื่อให้เขาสรรเสริญ คนไม่เอาไหนพวกนี้เรียนธรรมไปก็ไร้บอย เอ๊ย ไร้ประโยชน์

พระพุทธองค์ตรัสเปรียบเทียบไว้ว่า คนโง่บางคนจับงูพิษที่ขนดหรือที่หาง ย่อมถูกงูพิษนั้นแว้งกัดเอาถึงตาย หรือบาดเจ็บปางตายฉันใด คนไม่เอาไหนที่เรียนธรรมไม่ดี เรียนธรรมผิดจุดประสงค์ของธรรม ย่อมได้รับอันตรายเพราะการเรียนโง่ๆ แบบนั้นฉันนั้น

คัดลอกพุทธวจนะมาฝากไว้ให้คิด ปริยัตินั้นต้องคู่กับปฏิบัติจึงจะเกิดผลคือปฏิเวธที่แท้ ถ้าสักแต่ท่องหลักธรรม หรือนั่งนับจิตเจตสิกกี่ดวงๆ แล้วก็ถูกคนอื่นว่าโง่ไม่รู้ธรรมลึกซึ้งเท่าตน ก็ไม่พ้นข่าย "โมฆบุรุษ" (คนไม่เอาไหน) ดอกครับ

อย่าคุยนักเลย เหม็นขี้ฟัน  •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๖)  คนไร้สมบัตินั่นแหละไม่เศร้าโศก
เทวดาตนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวันกล่าวโศลกพรรณนา "แนวคิด" ของตนให้พระพุทธองค์ฟัง ทำนองขอความเห็นชอบ ดังนี้

คนมีบุตร เพลิดเพลินเพราะบุตร คนมีโค เพลิดเพลินเพราะโค

คนมีสมบัติ เพลิดเพลินเพราะสมบัติ คนไร้สมบัติ หาความเพลิดเพลินมิได้

พระพุทธเจ้าตรัสโศลกแก้ว่า
คนมีบุตร เศร้าโศกเพราะบุตร คนมีโค เศร้าโศกเพราะโค

คนมีสมบัติ เศร้าโศกเพราะสมบัติ คนไร้สมบัตินั่นแหละไม่เศร้าโศก

ทรรศนะของเทวดาส่วนมากจะเป็น "โลกิยะ" มีความคิดความเห็นเหมือนปุถุชนคนมีกิเลสทั่วไปว่า เมื่อมีมากๆ นั่นแหละจะมีความสุข แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า ยิ่งมีมากก็ยิ่งทุกข์มาก เพราะสมบัติพัสถานเป็นเหตุให้คนยึดมั่น เมื่อยึดมั่นมากก็ทุกข์มาก

เก้าอี้เดียวก็ทุกข์อยู่แล้ว ขยายก้นนั่งทับถึง ๒ เก้าอี้ ไม่รู้จะทุกข์ขนาดไหน แบ่งให้คนอื่นเขานั่งบ้างก็ได้นะ เดี๋ยวจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกกระทรวง แล้วจะร้องว่า "อโห ทุกขัง = โอ้นี่ทุกข์จริงๆ" •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๗)  หลักธรรมเพื่อการสร้างเนื้อสร้างตัว
วันหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนนาถบิณฑิกเศรษฐี เกี่ยวกับเรื่องความสุขของผู้ครองเรือนว่า

ดูก่อนคหบดี คฤหัสถ์ผู้ "บริโภคกาม" พึงแสวงหาความสุข ๔ ประการคือ
๑. สุขเกิดจากการมีทรัพย์ คือหมั่นขยันทำงานหาเงินทองมาเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว เมื่อได้มาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายก็มีความสุข
๒. สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ เมื่อมีทรัพย์ที่ได้มาด้วยความสุจริตก็รู้จักใช้จ่ายทรัพย์นั้นทำบุญกุศลต่างๆ ก็มีความสุข
๓. สุขเกิดจากการไม่มีหนี้ คือ มีทรัพย์พอใช้จ่าย ไม่เป็นหนี้เป็นสินใคร ก็มีความสุข
๔. สุขเกิดจากการทำงานที่สุจริตไร้โทษ คือ ทรัพย์สินทั้งหมดหามาได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้คดโกงใครมา เป็นทรัพย์สินที่บริสุทธิ์ ย่อมมีความสุข

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า พระต้องจน คือ มักน้อยในปัจจัยสี่ แต่คนคือผู้ครองเรือนต้องร่ำรวย จึงทรงสอนหลักธรรมเพื่อการสร้างเนื้อสร้างตัว เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ผู้ครองเรือนไว้มากมาย

พระพุทธศาสนามิได้รังเกียจความร่ำรวย แต่รังเกียจวิธีแสวงผู้ร่ำรวยในทางทุจริตและรังเกียจพวกร่ำรวยแล้วไม่จุนเจือสังคม

อยู่ปอนๆ มีหม้อห้อมเพียงชุดสองชุดไม่พอจุนเจือสังคมดอกครับ นอกจากจะเอาภาพความจนเป็น "จุดขาย" เพื่อจะสะสมทรัพย์สินเป็นเศรษฐีเงียบๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๘)  อัจจายิกสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุสงฆ์วันหนึ่งว่า ชาวนามีกิจเร่งด่วนจะต้องทำ ๓ ประการ คือ เร่งปรับพื้นที่ไถ คราดให้เรียบร้อย แล้วเร่งหว่านพืชลง เสร็จแล้วเอาใจใส่ไขน้ำเข้าบ้าง ระบายน้ำออกบ้าง ชาวนาไม่มีฤทธิ์บันดาลข้าวกล้างอกงามในวันนี้ พรุ่งนี้ ทุกอย่างจะเป็นไปตามกาลเวลาเอง

ภิกษุก็เหมือนชาวนา มีกิจเร่งด่วนที่ต้องทำอยู่ ๓ ประการ คือ
- การสมาทานอธิศีลสิกขา (ตั้งใจฝึกฝนอบรมศีล คือควบคุมกาย วาจาให้เรียบร้อย
- การสมาทานอธิจิต (ตั้งใจฝึกฝนอบรมจิตให้มีคุณภาพสมรรถภาพและสุขภาพ) และ
- การสมาทานอธิปัญญา (ตั้งใจพัฒนาปัญญารู้เท่าทัน ปรากฏการณ์ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต)

การฝึกฝนอบรมศีล เปรียบกับการปรับพื้นที่ให้เรียบร้อย การฝึกฝนอบรมจิต เปรียบกับการหว่านพืชลง และการฝึกฝนอบรมปัญญา เปรียบกับการไขน้ำเข้าเมื่อน้ำน้อยเกินไป ระบายน้ำออกเมื่อน้ำมากเกินไป

หน้าที่ชาวนาคือทำกิจทั้ง ๓ ประการให้ดี หน้าที่ของภิกษุ (รวมชาวบ้านด้วย) ก็เช่นกัน ต้องทำศีลสมาธิ และปัญญาให้บริบูรณ์ แล้วผลจากการปฏิบัติจะเกิดขึ้นเอง มิต้องนั่งหวังหรืออ้อนวอน

พระสูตรนี้ชื่อ อัจจายิกสูตร ตรัสสอนวิธีการทำนาภายนอกและทำนาภายในไว้ชัด เเจ้งดี นำมาฝากไว้ให้พิจารณาครับ •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๙)  ทูตสูตร
"ภิกษุทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ สมควรเป็นทูตได้ คือ ฟังเป็น ให้ผู้อื่นฟังเป็น คงแก่เรียน จำแม่น รู้แจ่มแจ้ง ให้ผู้อื่นรู้แจ่มแจ้ง ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่ชวนทะเลาะ ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๘ ประการดังกล่าว จึงควรเป็นทูต"

ข้อความนี้จาก ทูตสูตร ตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรว่า มีคุณสมบัติเป็นนักการทูต คงจะสืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งพระเทวทัต ยื่นเงื่อนไข ๕ ประการว่า ให้พระสงฆ์อยู่โคนต้นไม้เท่านั้น ไม่ให้ฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต....เป็นต้น พระองค์ตรัสปฏิเสธ เพราะชีวิตพระสงฆ์ต้องอาศัยชาวบ้านเลี้ยงชีพ เขาให้อย่างใดก็ยังชีพอยู่ด้วยสิ่งนั้น จะไปตั้งเงื่อนไขว่าต้องเอาอย่างนั้น ไม่เอาอย่างนั้นไม่ได้ พระเทวทัตอ้างว่า ตนเสนอข้อปฏิบัติเพื่อ "ขัดเกลา" พระศาสดากลับไม่ยอมรับ ใครเห็นว่าเราเทวทัตเป็นพระแท้ให้ตามมา แล้วก็เดินออกที่ประชุม พระบวชใหม่ ๕๐๐ รูป ไม่รู้ธรรมวินัยหลงผิดตามพระเทวทัตไป ภายหลังพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะตามไปชี้แจงให้พวกเขาเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร พวกเธอจึงกลับมา เพราะความสามารถนี้พระสารีบุตรจึงได้รับคำสรรเสริญจากพระพุทธองค์ว่า "เป็นนักการทูตที่ดี"

นักการทูตสมัยนี้ควรพิจารณาตัวเองด้วยว่า มีคุณสมบัติ ๘ ประการนั้นหรือไม่ โดยเฉพาะสองข้อท้ายอะไรเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองให้รู้จักเลือกเอา และไม่ชวนเขาทะเลาะหรือทะเลาะกันเองให้ต่างชาติเขาเห็น

ประเภทที่ไปประจานรัฐบาลว่าบริหารประเทศล้มเหลว มีคอร์รัปชั่นมากมายโดยที่ตนก็ร่วมเป็นรัฐบาลกับเขาด้วยนั้น มันก็ประจานตนเองนั่นเอง ไม่มีนักการทูตที่ไหนเขาทำกันดอกครับ •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๐)  สังฆาฏิสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่มีความละโมบ ยินดีในกาม มีจิตพยาบาท มีความคิดชั่วร้าย ไร้สติสัมปชัญญะ มีจิตไม่มั่นคง คิดผิด ไม่สำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ คนเช่นนี้ถึงจะเกาะชายสังฆาฏิเดินตามหลังเราต้อยๆ ก็นับว่าอยู่ไกลเราโดยแท้ เพราะเธอไม่เห็นธรรม ผู้ไม่เห็นธรรมย่อมไม่เห็นเรา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถึงจะอยู่ห่างไกลจากเราตั้งร้อยโยชน์ แต่ถ้าใครไม่มีความละโมบ ไม่ยินดีในกาม ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความคิดชั่วร้าย มีสติสัมปชัญญะ มีจิตมั่นคง มีสมาธิแน่วแน่ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจเธอผู้นี้นับว่าอยู่ใกล้เราโดยแท้ เพราะเธอเห็นธรรม ผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นเรา"

ข้อความนี้ตรัสไว้ใน สังฆาฏิสูตร "สาระ" เช่นเดียวกับที่ตรัสแก่พระวักกลิ ผู้ออกบวชเพราะติดใจใน "ความหล่อ" ของพระพุทธเจ้า บวชมาแล้วก็นั่งจ้องพระสิริโฉมของพระองค์ ไม่สนใจฟังธรรม จนในที่สุดพระองค์ตรัส "กระทุ้ง" แรงๆ ว่า "วักกลิ ประโยชน์อันใดที่มาจ้องดูร่างกายอันเปื่อยเน่านี้ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม"

คัดลอกมาฝากไว้เป็น "อนุสติ" ครับ ใครก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ไม่มีโอกาสได้ "เข้าเฝ้า" พระพุทธองค์ แม้ว่าจะปั้นรูปหล่อเหรียญพระพุทธองค์จำหน่ายจ่ายแจกวันละหลายๆ องค์ก็ตาม

อย่างนี้เขาเรียก "ขายพ่อกิน" มากกว่า (ว่ะ)!  •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๑)  
พระพุทธองค์ตรัสสอนเกี่ยวกับ คนไข้ และพยาบาล ไว้วันหนึ่ง มีความว่า

"คนไข้ที่รักษาพยาบาลยาก คือ คนไข้ที่มีลักษณะ ๕ อย่าง คือ ๑. มักทำให้สิ่งที่ไม่สบาย (หมายถึงชอบขัดคำสั่งหมอและพยาบาล เช่น ไม่ให้กินของแสลงก็กิน เป็นต้น) ๒. ไม่รู้ประมาณในสิ่งสบาย ๓. ไม่กินยา ๔. ไม่บอกอาการ ป่วยตามจริง ๕. ไม่อดทนต่อเวทนา (เป็นอะไรนิดหน่อยก็ร้องโอดโอย ยังกับจะตายเดี๋ยวนั้น)

คนไข้ที่รักษาพยาบาลง่าย คือ คนไข้ที่มีคุณสมบัติตรงกันข้ามจากข้างต้น

หมอหรือพยาบาลที่ไม่ควรรักษาคนไข้ คือ หมอ-พยาบาล ที่มีลักษณะ ๕ อย่าง คือ ๑. ไม่สามารถที่จะจัดยา (สั่งยาผิดๆ ถูกๆ แบบหมอตี๋) ๒. ไม่รู้ของแสลงของไม่แสลง นำของแสลงไปให้ นำของไม่แสลงออก ๓. ไม่มีเมตตาจิต เห็นแก่อามิส ๔. รังเกียจอุจจาระ ปัสสาวะ อาเจียน และเขฬะ(น้ำลาย) คนไข้ ๕. ไม่รู้จักพูดปลุกปลอบใจคนไข้เป็นครั้งคราว

หมอหรือพยาบาลที่มีลักษณะตรงกันข้ามจากข้างต้น เป็นผู้ควรรักษาคนไข้"

พระพุทธเจ้าทรงมีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า เภสัชชครุ (ไภษัชคุรุ) "ครูในทางยา" หรือปรมาจารย์ทางการแพทย์ เพราะทรงรอบรู้ทั้งโรคทางกายและโรคทางจิตวิญญาณ พระองค์ตรัสไว้ในที่หนึ่งว่า "โรคทางกายบางคนอาจไม่เป็นเลยตลอดเวลา เป็นสิบๆ ปี แต่คนที่มิได้ป่วยด้วยโรคทางจิตแม้ชั่วขณะเดียวหามีไม่" โรคทางจิตก็คือกิเลสนั่นเองครับ

แม้พระพุทธองค์จะทรงสอนธรรมเพื่อเยียวยาโรคทางจิตแก่สัตว์โลก ก็ไม่ทรงละเลยเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยธรรมดาๆ พุทธวจนะข้างต้นอาจเป็นประโยชน์ทั้งแก่คนไข้ และคนมีหน้าที่รักษาคนไข้จึงนำมาฝากครับ •


ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 สิงหาคม 2558 14:15:15 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2557 13:05:31 »


    "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๒)  วัตถูปมสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษหนึ่งเดินทางไกลมาถึงแม่น้ำแห่งหนึ่งประสงค์จะข้ามน้ำ จึงรวบรวมหญ้า ไม้ และกิ่งไม้มาผูกเป็นแพ แล้วพยายามพายหรือแจวไปจนข้ามถึงฝั่งโน้นได้โดยสวัสดี พวกเธอคิดอย่างไร ถ้าบุรุษนั้นคิดว่า แพนี้มีประโยชน์แก่เขามาก พาเขาข้ามฝั่งได้โดยปลอดภัย แล้วก็แบกแพนั้นไปด้วย บุรุษนั้นทำหน้าที่ถูกต้องหรือไม่"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ไม่ถูกต้องพระเจ้าค่ะ ทางที่ถูก บุรุษนั้นควรจะผูกแพนั้นไว้ริมฝั่ง หรือยกขึ้นมาเกยบกแล้วเดินทางต่อไป เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องอาศัยแพอีกแล้ว"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "เช่นเดียวกัน ภิกษุทั้งหลาย เราแสดงธรรมเพื่อเป็นอุปกรณ์ให้ปฏิบัติเพื่อออกไปจากทุกข์ดุจแพนำไปสู่ฝั่ง ไม่ใช่เพื่อให้ยึดมั่นถือมั่นธรรมะ (สิ่งที่ดีๆ) ยังจะต้องละ ไม่จำต้องพูดถึงอธรรมะ (สิ่งที่ไม่ดี) ดอก"

พระสูตรนี้ชื่อ วัตถูปมสูตร คำสอนน่าคิด ธรรมะที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนั้นเป็นดุจแพพาข้ามฝั่ง คือ เป็นอุปกรณ์ให้นำมาปฏิบัติฝึกฝนตนเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ นิพพาน มิใช่เพื่อยึดมั่นถือมั่น การยึดมั่น ถือมั่นไม่ว่าในเรื่องใดไม่ดีทั้งนั้น

เก้าอี้ก็คือเก้าอี้ ไปยึดมันมากก็ทุกข์มาก กลัวคนอื่นจะแย่งนั่ง ยศศักดิ์ก็คือยศศักดิ์ ยึดมาก็อยากได้มาก อยากมากก็ต้องจ่ายมาก มีบัญชีหนึ่งแล้วก็มีบัญชีสองบัญชีสามตามมา

ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี้วุ่นวายหนอ! •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๓)  วัตถูปมาสูตร
"ดูก่อนพราหมณ์ คนพาลมีบาป ไปยังแม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสวัสดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดีเป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำเหล่านั้นจะช่วยอะไรได้ จะชำระคนผู้มีเวรมีกรรมหยาบช้าทำบาปกรรมมามากให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ฤกษ์ดี อุโบสถ และวัตรย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจด มีการงานสะอาด

พราหมณ์เอย ถ้าท่านจะอาบน้ำชำระบาป จงอาบน้ำในธรรมวินัยของเราเถิด คือให้ความปลอดภัยแก่สัตว์ทั้งปวง ไม่พูดเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ลักขโมยของของคนอื่น มีความเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ถ้าท่านอาบน้ำโดยวิธีนี้ไม่จำต้องไปอาบไปดื่มน้ำที่ท่าน้ำคยาเป็นต้น"

ข้อความนี้ตรัสไว้ใน วัตถูปมาสูตร พราหมณ์ชื่อสุนทริกะ ไปชวนพระพุทธเจ้าไปอาบน้ำล้างบาปอ้างว่า อาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์แล้วบาปจะหายไป กลายเป็นผู้หมดจด พระพุทธองค์ตรัสว่า บาปไม่หมดไปด้วยการอาบน้ำ ถ้าอยากจะหมดบาปก็ต้องไม่ทำบาป เช่น ไม่ฆ่าหรือเบียดเบียนสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่พูดเท็จ เป็นต้น

ธรรมเนียมพุทธมีการประพรมน้ำพุทธมนต์ก็เพียงเอา "น้ำ" มาเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรมที่พรมใจให้ชุ่มเย็นเท่านั้น มิใช่ในความหมายว่าจะล้างความชั่วให้หมดไป หรือบันดาลลาภยศอะไรไม่

เจ้ากูรูปใดพรมน้ำไปปากพร่ำไปว่า ขอให้ถูกรางวัลที่หนึ่งนะโยมก็ดี ประสกสีกาใดถูกจับเพราะทำผิดกฎหมายและศีลธรรม วิ่งไปอาบน้ำมนต์เจ็ดวัดแปดวัดเพื่อล้างซวย ล้วนปฏิบัติผิดคำสอนพระพุทธองค์ทั้งสิ้น •





    "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๔)  นาถสูตร
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นคนมีที่พึ่งเถิด อย่าเป็นคนไม่มีที่พึ่งเลย เพราะคนไม่มีที่พึ่งย่อมอยู่เป็นทุกข์ ธรรมะที่ทำให้มีที่พึ่งมี ๑๐ ประการคือ
๑. ความประพฤติดี รักษาระเบียบวินัย มีอาชีพบริสุทธิ์ (ศีล)
๒. ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีความรู้กว้างขวาง (พาหุสัจจะ)
๓. การคบเพื่อนที่ดี ได้ผู้ปรึกษาและแนะนำสั่งสอนที่ดี (กัลยาณมิตตตา)
๔. ความเป็นคนรับฟังเหตุผล ใจกว้างรับฟังความเห็นและคำแนะนำของคนอื่น (โสวจัสสตา)
๕. ความมีน้ำใจช่วยเหลือกิจการน้อยใหญ่ของหมู่คณะ และขยันกิจการงานของตนเอง (ทักขตา)
๖. ความเป็นผู้รักธรรม คือ ใฝ่ความดีงาม (ธัมมกามตา)
๗. ความมีความเพียรระวังชั่ว เพียรละชั่ว เพียงทำดี และเพียรรักษาความดีที่มีอยู่ (วิริยารัมภะ)
๘. ความภาคภูมิใจในสิ่งที่ได้มาด้วยความพากเพียรของตน และได้มาด้วยความสุจริตชอบธรรม (สันตุฏฐี)
๙. ความมีสติสัมปชัญญะ (สติสัมปชัญญะ)
๑๐. ความมีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้คิดพิจารณา เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง (ปัญญา)

ทุกวันนี้เรามักสอนให้รู้จัก "พึ่งตนเอง" แต่ไม่ได้บอกชัดเจนว่า การพึ่งตนเองต้องทำอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัส "นาถสูตร" สูตรแห่งการพึ่งตนเองไว้ว่า คนจะพึ่งตนเองได้ดี จะต้องมีคุณสมบัติ ๑๐ ประการนี้ •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๕)  พหุธิติสูตร
โค ๑๔ ตัว ของพราหมณ์คนหนึ่งหายไป แกตามหาโคเข้าไปในป่า พบพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิอยู่ในป่า เห็นพระพักตร์อิ่มเอิบด้วยความสุข จึงรำพึงว่า สมณะผู้นี้ท่าทางมีความสุขจริงหนอ พระพุทธเจ้าตรัสแก่เขาว่า

พราหมณ์เอย โค ๑๔ ตัว ของเราไม่มีเลย แต่ของท่านหายไปได้ ๖๐ วันนี่แล้ว ด้วยเหตุนี้เราจึงมีความสุข งาที่มีใบเลวใบหนึ่งหรือสองใบในไร่เราก็ไม่มี เราจึงมีความสุข หนูก็ไม่มีมาวิ่งกระโดดโลดเต้นในฉางของเรา เราจึงมีความสุข เครื่องปูลาดที่ใช้มาตั้งเจ็ดเดือนที่มีสัตว์อาศัยอยู่ของเราก็ไม่มี เราจึงมีความสุข

พราหมณ์เอย ภรรยาผู้มีบุตรคนหรือสองคน ของเราก็ไม่มี เราจึงมีความสุข แมลงวันลายที่มาไต่ตอมคนนอนหลับก็ไม่ไต่ตอมเราเลย เราจึงมีความสุข

พราหมณ์เอย ในเวลาเช้า เจ้าหนี้ทั้งหลายก็ไม่มาทวงหนี้เราเลย ด้วยเหตุนี้เราจึงมีความสุข

พระสูตรนี้ชื่อ พหุธิติสูตร แสดงภาพตรงกันข้ามระหว่างพระพุทธเจ้ากับพราหมณ์ พราหมณ์มีโคและโคหาย ปลูกงางาก็ไม่ค่อยงาม ข้าวในฉางก็มีหนูเต็ม เครื่องปูลาดก็มีมดมีไรสิงอาศัย มีบุตรภรรยาจะต้องเลี้ยงดูเวลานอนก็มีแมลงวันไต่ตอม จึงเต็มไปด้วยความทุกข์และกังวล แต่พระพุทธองค์ไม่มีสิ่งเหล่านี้ จึงทรงมีความสุข

"การมีมากๆ อยากได้มากๆ ก่อให้เกิดทุกข์ ไม่มี ไม่อยากได้ จึงจะเป็นความสุขที่แท้" ทั้งๆ ที่รู้อยู่อย่างนี้ก็อดงกอดแสวงหามาปรนเปรอตนตามประสาปุถุชนไม่ได้ มันเป็นเสียอย่างนี้แหละครับ •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๖)  อาณีสูตร
"เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ตะโพนชื่ออานกะ ของกษัตริย์พระนามว่า ทสารหะแตก เขาได้ตอกลิ่มลงไป สมัยต่อมา โครงเก่าของตะโพนอานกะหายไป ยังเหลือแต่โครงลิ่ม ฉันใด ภิกษุในอนาคตก็ฉันนั้น เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตแสดงไว้ ที่ลึกซึ้ง มีอรรถลึกเป็นโลกุตระ ประกอบด้วย สุญญตา จักไม่ปรารถนาจะฟัง ไม่ตั้งใจเรียน

ต่อเมื่อเขากล่าวสูตรภายนอก กาพย์ กลอนที่แต่งกวี มีอักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะวิจิตร เป็นสาวกภาษิต กลับสนใจฟัง สนใจเรียนรู้ เห็นว่าเป็นเรื่องควรศึกษา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสูตรเหล่านั้นที่ตถาคตแสดงไว้ อันลึก มีอรรถลึกเป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญญตา จักอันตรธานไปเช่นเดียวกับตะโพนอานกะนั้นแล เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงสำเหนียกศึกษาว่า เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ลึกซึ้ง มีอรรถลึก เป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญญตา เราจักตั้งใจฟัง ตั้งใจเรียนรู้ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง

พระสูตรนี้ชื่อ อาณีสูตร ตรัสเตือนสติพระภิกษุทั้งหลายว่า ให้ใส่ใจศึกษาพุทธวจนะที่สอนแนวทางปฏิบัติให้ดับทุกข์ อย่าได้สนใจเรียนเรื่องภายนอก หาไม่แล้วพระธรรมคำสอนก็จะอันตรธานไปในที่สุด ดุจดังตะโพนอานกะ ถูกเสริมถูกแต่งซ่อมแซมเรื่อยๆ นานไปไม่เหลือเนื้อเดิมไว้เลย

ความจริงบัดนี้ปรากฏแล้ว สาวกของพระพุทธองค์ไม่สนใจศึกษาพระธรรมวินัย หันไปให้ความสำคัญแก่ดิรัจฉานวิชชา จนลืมไปว่าพระพุทธศาสนาสอนอย่างไร บ้างก็ปั้นปลัดขิกแจกดารา นักการเมือง........(ดีว่าตายไปแล้ว) บ้างก็ปั๊มเหรียญปั๊มพระอิฐพระปูนจำหน่ายเป็นล่ำเป็นสัน

ต่อให้ประชุมสัมมนาจะสังคายนาร้อยครั้งพันครั้งก็แก้ไม่ได้ดอกครับ ในเมื่อหัวส่ายแล้ว หางมันก็กระดิกเป็นธรรมดา มันก็แปะเอี่ย



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๗)  สปุพพัณหสูตร
"ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย วาจา ใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วย กาย วาจา ใจ ในเวลาเที่ยง เวลาเที่ยงก็เป็นเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วย กาย วาจา ใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น"

"สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดีและบูชาดี..."

พระสูตรนี้ชื่อ สปุพพัณหสูตร พระพุทธเจ้าตรัสให้ยึดถือการกระทำที่สุจริตทางไตรทวารเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทำดีแล้ว ไม่ว่าเวลาใด เวลานั้นถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดี ไม่จำต้องไปพึ่งหมอดูให้ฤกษ์ให้ยามก็ดี

ฤกษ์ยามที่หมอดูเขาให้นั้น ก็เพื่อให้มีกำลังใจ เมื่อมีกำลังใจดี ไม่วิตกกังวลแล้ว การกระทำกิจการต่างๆ ก็มีความมั่นใจ และสำเร็จเอง สำเร็จเพราะการกระทำของเราเองต่างหาก

ผู้รู้บางท่านเวลาให้ฤกษ์แก่คนมาขอ ท่านให้ "ฤกษ์สะดวก" คือ ถามว่าสะดวกวันไหน แล้วท่านก็กำหนดเวลาของวันนั้นให้ อย่างนี้ก็เป็นวิธีที่ดีอย่างหนึ่ง

พระเถระรูปหนึ่ง (พระธรรมปิฎก ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เมื่อมีผู้ถามว่า ควรจะเชื่อเรื่องเหล่านี้ไหม ท่านตอบว่า ถ้าเชื่อเรื่องนี้แล้วไม่เสียหลักกรรมก็ใช้ได้

"ไม่เสียหลักกรรม" ของท่านหมายถึง อย่าไปโยนทุกอย่างให้ ดวง ให้ฤกษ์ยามไปหมด โดยไม่ได้ทำอะไร เราต้องทำด้วยตัวเราเอง ทำดีนั่นแหละเป็นยอดฤกษ์ ทำเมื่อใด ฤกษ์ดีเมื่อนั้น •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๘)  อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
ภิกษุทั้งหลาย กายอยู่ร่วมกัน ๔ ประเภท มีอยู่ในโลกนี้ คือ
๑. ศพอยู่ร่วมกับศพ
๒. ศพอยู่ร่วมกับเทพ
๓. เทพอยู่ร่วมกับศพ
๔. เทพอยู่ร่วมกับเทพ

๑. ศพอยู่ร่วมกับศพ หมายถึง สามีเป็นคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดในกาม พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ ละโมบอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท ชอบด่าบริภาษสมณชีพราหมณ์ ภรรยาประพฤติเช่นเดียวกัน
๒. ศพอยู่ร่วมกับเทพ หมายถึง สามีมีพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นแต่ภรรยาเป็นคนมีศีลธรรม เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดในกาม เป็นต้น
๓. เทพอยู่ร่วมกับศพ หมายถึง สามีเป็นคนดีมีศีลธรรม ส่วนภรรยามีพฤติกรรมผิดศีลธรรม
๕. เทพอยู่ร่วมกับเทพ หมายถึง ทั้ง สามีและภรรยาต่างก็เป็นคนมีศีลมีธรรมเสมอกัน

ข้อความนี้มีอยู่ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต พระพุทธเจ้า "ทรงรู้แจ้งโลก" อันหมายทั้งรู้เรื่องโลกๆ และรู้เรื่องทุกข์และแนวทางดับทุกข์ ตรัสสอนผู้ครองเรือนว่า การครองเรือนนั้นต้องมี "คู่" ที่สมกันทุกด้านจึงจะมีความสุข

คู่แรกกับคู่สุดท้ายเท่านั้นที่จะอยู่ด้วยกันยืด ตลอดรอดฝั่ง คู่แรกร้ายด้วยกันทั้งคู่เรียกว่า "คู่เวรคู่กรรม" ส่วนคู่สุดท้ายดีด้วยกันทั้งคู่ เรียกว่า "คู่สร้างคู่สม" •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๙)  อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
"ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ มิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนเขาบ่นเพ้อถึง มิใช่เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและชื่อเสียง มิใช้เพื่อเป็นเจ้าลัทธิ มิใช้เพื่อ ให้คนรู้จักเรา แต่แท้จริงแล้ว เราประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความระวัง เพื่อละกิเลส เพื่อคลายกำหนัดยินดี เพื่อดับกิเลสโดยสิ้นเชิง"

พุทธวจนะบทนี้ตรัสใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ทรงเน้นเป้าหมายของพรหม จรรย์เพื่อสำรวมระวังละกิเลส คลายกำหนัดยินดี และดับกิเลสโดยสิ้นเชิง (พระนิพพาน) บวชมาเพื่อสิ่งนี้เท่านั้น จึงจะเรียกว่าบวชเพื่อพ้นทุกข์

แต่ถ้าบวชมาเป็นหัวหน้าทัวร์ จัดสรรที่ดินสร้างคอนโดฯ เอาเงินดาวน์เขาไปหมุน เมื่อเขาทวงเงินคืนเพราะไม่สร้างสักที ก็ตอกหน้าเขาไปว่า โยมบริจาคเข้ามูลนิธิแล้ว ใบอนุโมทนาก็ได้ไปแล้วจะมาทวงอะไร อาตมาไม่เคยเห็นคนทำบุญแล้วทวงเงินคืน!

บวชมาแล้วจัดฉากแสดงว่าตนรู้ธรรม ลึกซึ้งสงบสำรวมยิ่งกว่าใครในโลก มีวิธีโฆษณาตัวเองให้คนคลั่งไคล้ใหลหลง

บวชมาแล้วเรียนบ้างไม่เรียนบ้าง ปฏิบัติบ้างไม่ปฏิบัติบ้าง แล้วก็โอ้อวดว่าตนรู้แจ้งเห็นจริงสอนนอกวินัย ให้คนเข้าใจวิปริติ ผิดเพี้ยน ตั้งตนเป็นศาสดาลืมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

บวชมาแล้วตั้งโรงงานอุตสาหกรรมย่อย ผลิตพระเครื่องปั๊มเหรียญ "ขาย" ร่ำรวย เป็นร้อยล้านพันล้านลาภสักการะมหาศาล เป็นเหตุให้เกิดค่านิยมใหม่ในหมู่เพื่อนพรหมจรรย์ว่า "ภิกษุใดจน ภิกษุนั้นต้องปาจิตตีย์" หรือพฤติกรรมอื่นใดคล้ายกันนี้ ล้วนมิใช่เป้าหมายของพรหมจรรย์ทั้งนั้น

เชื่อพระพุทธองค์เถิด พระนั้นต้องจน คน (ชาวบ้าน) ต้องมั่งมี จึงจะถูกครรลอง อย่าให้ถึงขั้นนั่งเบนซ์ออกบิณฑบาตเลยขอรับ •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๐)  โกฏฐิกสูตร
พระโกฏฐิกะ สนทนากับพระสารีบุตร พระอัครสาวกวันหนึ่ง พระโกฏฐิกะถามพระอัครสาวกว่า ตาเกาะเกี่ยวรูป (แสงสี) หรือ หูเกาะเกี่ยวเสียง หรือจมูกเกาะเกี่ยวกลิ่น หรือ ลิ้นเกาะเกี่ยวรส หรือกายเกาะเกี่ยวสัมผัส หรือ ใจเกาะเกี่ยวมโนภาพหรือ

พระสารีบุตรย้อนถามว่า โคขาวกับโคดำที่เขาเอาเชือกผูกติดกันไว้ อยากทราบว่า โคขาวติดกับโคดำหรือโคดำติดกับโคขาวหรือไม่

พระโกฏฐิกะตอบว่า หามิได้ เชือกเท่านั้นที่ทำให้โคขาวกับโคดำเนื่องกัน

พระสารีบุตรกล่าวว่า เช่นเดียวกัน ตามิได้เกาะเกี่ยวรูป หูมิได้เกาะเกี่ยวเสียง จมูกมิได้เกาะเกี่ยวกลิ่น ลิ้นมิได้เกาะเกี่ยวรส กายมิได้เกาะเกี่ยวสัมผัส ใจมิได้เกาะเกี่ยวมโนภาพ ความรักใคร่พอใจ (ฉันทราคะ) ในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส มโนภาพ ต่างหากที่เป็นตัวผูกให้สิ่งเหล่านั้นเนื่องกัน

ข้อความนี้จาก โกฏฐิกสูตร ต้องการสอนว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส กาย มโนภาพ เป็นเพียงอายตนะ (สื่อ) ภายนอกและภายในเท่านั้น มันไม่ดีไม่ชั่วในตัวเอง ไม่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ในตัวเอง ถ้าตาดูรูป หูฟังเสียง ลิ้นลิ้มรส จมูกดมกลิ่น กายต้องสัมผัส ใจคิดคำนึง ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าตาดูรูป เป็นต้น ด้วยความกำหนัดยินดี ย่อมจะติดในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสมโนภาพ นั้นๆ แล้วทุกข์ก็ย่อมเกิด

พระสูตรบางสูตร (ขณะสูตร) กล่าวเสริมว่า ตาหูจมูกลิ้นกายใจ รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสมโนภาพ เป็นได้ทั้ง "นรก" และ "สวรรค์" ในปัจจุบันขึ้นอยู่กับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันด้วยความกำหนัดรักใคร่ หรือด้วยความปล่อยวาง •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๑)  กูฏทันตสูตร
กูฏทันตพราหมณ์ เตรียมบูชายัญใหญ่สั่งให้เอาโคผู้ โคเมีย ลูกโค แพะ และแกะ อย่างละ ๗๐๐ ตัว ผูกติดเสาไว้เพื่อฆ่าบูชายัญ พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดตรัสสอนว่า ในอดีตกาลนานโพ้น มีมหาราช พระองค์หนึ่งคิดทำเช่นเดียวกับพราหมณ์นี้แหละ ปุโรหิตกราบทูลให้ทำการบูชายัญชนิดที่ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์ คือ

ให้ปราบโจรผู้ร้ายชนิดถอนรากถอนโคน มิใช่ด้วยการฆ่าหรือจองจำ เพราะยิ่งฆ่าก็ยิ่งเพิ่มแบบตัวตายตัวแทน แต่ให้จัดระบบเศรษฐกิจให้ดีคือ
- แจกพืชแก่เกษตรกรในชนบทที่อุตสาหะประกอบอาชีพ
- ให้ทุนแก่พ่อค้าที่อุตสาหะในการค้า
-ให้อาหารและค่าจ้างแก่ราชการ
- สนับสนุนให้ทุกคนมีอาชีพที่ชอบธรรมและมีรายได้

ทำได้เช่นนี้จะขจัดความยากจน ประเทศปราศจากผู้ร้าย "ชนบทก็ไร้เสี้ยนหนาม มนุษย์ทั้งหลายจะมีความรื่นเริงอุ้มบุตรให้ฟ้อนอยู่ที่อก ไม่ต้องปิดประตูเรือนนอน"

กูฏทันตพราหมณ์กราบทูลถามว่า ยังมีวิธีบูชายัญอื่นที่ทำง่ายและได้อานิสงส์มากกว่ากล่าวมาไหม พระพุทธเจ้าตรัสว่ามี คือให้ทานเป็นนิตย์อุทิศแก่ผู้มีศีล, สร้างที่อยู่อุทิศแก่สงฆ์ที่มาจาก ๔ ทิศ, ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก, สมาทานศีล ๕ เป็นนิตย์, ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์จนได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติตามลำดับ

ข้อความนี้จาก กูฏทันตสูตร คัดมาฝากครับ ท่อนแรกฝากผู้บริหารประเทศ ให้คิดว่าการปกครองบ้านปกครองเมืองให้สงบสุข ปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องนอนสะดุ้งทุกคืนนั้นทำอย่างไร ท่อนหลังคัดมาฝากผู้ที่มักบ่นว่าไม่มีเงินจะทำบุญให้ทราบว่า "บุญ" นั้นไม่จำเป็นเอาทรัพย์แลกเสมอไป ความมั่นคงในพระรัตนตรัย และรักษาศีล ๕ เคร่งครัดก็เป็นบุญอย่างยิ่งแล้ว

ยศศักดิ์ต่างหากเล่าบางทีต้องเอาเงินแลก มีบัญชีหนึ่งแล้วต้องบัญชีสามตามมา •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๒)  ยมกสูตร
พระยมกะอวดอ้างว่าตนรู้ทั่วถึงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า มีทรรศนะว่า "พระอรหันต์" ตายแล้วดับสูญไม่เกิดอีก ภิกษุทั้งหลายห้ามพูดเช่นนั้นก็ไม่ฟัง พวกเธอจึงไปขอร้องให้พระสารีบุตรอัครสาวกตักเตือน

พระสารีบุตรไปสนทนาด้วย โดยซักถามขันธ์ทีละอย่างๆ ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่ เป็นสัตว์บุคคลมีในขันธ์ ๕ แต่ละอย่างหรือไม่ สัตว์บุคคลอื่นจากขันธ์ ๕ แต่ละอย่างหรือไม่ สัตว์บุคคลไม่มีในขันธ์ ๕ แต่ละอย่างใช่หรือไม่

เมื่อซักไปๆ ก็ค้นหา "สัตว์บุคคล" ในขันธ์ทั้ง ๕ นั้นไม่พบ

พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า ท่านยมกะ โดยแท้จริงแล้ว ทาสจะค้นหาสัตว์บุคคลในขันธ์ 5 นี้ไม่ได้เลย ควรหรือที่ท่านจะยืนยันว่า "พระอรหันต์" ตายไปแล้วย่อมขาดสูญพินาศไป ไม่เกิดอีก

พระสูตรนี้ชื่อว่า ยมกสูตร ในพระสูตรนี้ใช้คำว่า "ตถาคโต" ปราชญ์โดยมากแปลว่า พระอรหันต์ แต่ในคัมภีร์อรรถกถาแปลว่า สัตว์โดยทั่วไป

อ่านความเห็นของพระยมกะ และการซักค้านของพระสารีบุตรแล้ว ไม่น่าจะรับกัน แต่ที่จริงแล้วถ้าใครเห็นว่า "คน" ตายแล้วสูญไปเลย ก็เท่ากับยอมรับว่า คนที่เห็นเป็นตัวเป็นตนนี้เกิดมาแล้วก็แตกดับไปเลย จะไม่มีอีกชั่วนิรันดร ความเห็นเช่นนี้ก็เป็น "อุจเฉททิฐิ" (เห็นว่าตายแล้วสูญไปเลย) อันเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง

แม้พระอรหันต์หมดกิเลสแล้วตายไปจะ "ดับ" ไปเลย พูดภาษาสามัญก็ว่าไม่เกิดอีกก็ตาม แต่ถ้าใครพูดว่า "พระอรหันต์" ที่เห็นๆ อยู่นี้ตายแล้วสูญ ก็ไม่พ้นข่าย อุจเฉททิฐิ เพราะเท่ากับว่าผู้พูดถือว่าพระอรหันต์เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์บุคคล ซึ่งมีอยู่ หลังจากตายแล้วก็สูญไปเลย

คำซักค้านของพระสารีบุตรต้องการบอกว่า "แท้ที่จริงแล้ว สัตว์บุคคลไม่มี มันเป็นเพียงขันธ์ ๕ เท่านั้น เมื่อ "คน" ไม่มีตั้งแต่ต้น ก็ไม่มีอะไรตายไม่มีอะไรสูญ"

วันนี้ขอนำธรรมะลึกซึ้งมาฝากหน่อยครับ กรุณาปีนกระไดขึ้นไปอ่านบนปราสาทชั้น ๗ ก็แล้วกัน •




    "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๓)  นิวาปสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายเกี่ยวกับสมณพราหมณ์ ๔ จำพวก โดยเปรียบกับเนื้อ ๔ จำพวก ดังนี้

๑. สมณพราหมณ์พวกที่หนึ่ง ติดอยู่ในกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ไม่พ้นเงื้อมมือมาร เปรียบดุจเนื้อพวกแรกที่เห็นแก่เหยื่อล่อของนายพราน ถูกนายพรานยิงตาย
๒. สมณพราหมณ์พวกที่สอง ไม่ติดในกามคุณ ๕ ในตอนแรก แต่ทนต่อความเย้ายวนไม่ไหวจึงตกอยู่ในอำนาจของมันในภายหลัง เปรียบเหมือนเนื้อพวกที่สองที่หนีเหยื่อล่อตอนแรก แต่ทนความอยากไม่ไหวต้องมาหาเหยื่อในภายหลัง
๓. สมณพราหมณ์พวกที่สาม ไม่ติดในกามคุณ ๕ แต่ติดในความเห็นผิดเปรียบเหมือน เนื้อพวกที่สามไม่ติดเหยื่อล่อ แต่ถูกนายพรานล้อมจับได้
๔. สมณพราหมณ์พวกที่สี่ ไม่ติดในกามคุณ ๕ ไม่ติดอยู่ในความเห็นผิด ไม่ประมาท จึงพ้นเงื้อมมือมาร เปรียบเหมือนเนื้อพวกที่สี่ ไม่ติดเหยื่อล่อ และไม่ถูกล้อมจับได้

จากนั้นทรงแสดงข้อปฏิบัติที่มารไม่สามารถจะตามไปถึงและไม่สามารถมองเห็นได้ คือ บำเพ็ญสมาธิจนได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ (ฌานสมาบัติที่ดับความจำ และความรู้สึก)

พระสูตรนี้ชื่อ นิวาปสูตร (สูตรว่าด้วยเหยื่อล่อ) เหยื่อล่อของเนื้อก็คือหญ้า เหยื่อล่อของนักบวชก็คือ กามคุณ ๕

ครับ ไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าคน ไม่ว่าชาวบ้าน ไม่ว่าพระ ลงได้เห็นแก่เหยื่อล่อ เสพสุขอย่างตะกรุมตะกราม ในที่สุดก็ไม่พ้นหายนะ มีตัวอย่างมานักต่อนักแล้ว •


ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 ธันวาคม 2557 11:16:21 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 03 ธันวาคม 2557 11:43:03 »


http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๔)  ชีวกสูตร
หมอชีวกโกมารภัจจ์ นอกจากเป็นแพทย์หลวงประจำราชสำนักพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์ผู้ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ยังเป็นแพทย์ประจำพระพุทธเจ้าด้วย เขามีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์มาก ว่างจากการดูแลคนไข้เมื่อใด เป็นถือโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อกราบทูลถามข้อข้องใจในธรรมเสมอ ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างบางเรื่องที่เขากราบทูลถามพระองค์ เมื่อคราวเสด็จประทับอยู่สวนมะม่วงของเขา

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนปฏิบัติตนได้แค่ไหน จึงจะเรียกว่าเป็นอุบาสก"
"ผู้ที่นับถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ เรียกว่าอุบาสก"
"อุบาสกชนิดไหน เรียกว่า อุบาสกมีศีล"
"อุบาสกที่งดเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มสุราเมรัย เรียกว่า อุบาสกมีศีล"
"อุบาสกชนิดไหนเรียกว่าอุบาสกผู้เอาตัวรอดคนเดียว"
"อุบาสกที่มีศรัทธา มีศีล มีจาคะ มีความเห็นถูกต้อง ใคร่เห็นพระสงฆ์ ใคร่สดับธรรม ฟังธรรมแล้วจดจำไว้ จดจำได้แล้วพิจารณาไตร่ตรอง รู้ข้อธรรมแล้ว ปฏิบัติตามถูกต้อง อุบาสก ชนิดนี้เรียกว่าอุบาสกผู้เอาตัวรอดคนเดียว"
"แล้วอย่างไหนชื่อว่าเอาตัวรอดด้วย ช่วยคนอื่นด้วย"
"คนที่ประกอบด้วยคุณธรรมดังกล่าวข้างต้น แล้วชักชวนให้คนอื่นทำตาม ชื่อว่าอุบาสกผู้ช่วยตัวเองด้วยช่วยคนอื่นด้วย"

ข้อความนี้อยู่ใน ชีวกสูตร การได้รู้เห็นสิ่งที่ดีงามสำหรับชีวิตและปฏิบัติตนได้แล้ว ไม่บอกคนอื่นไม่ชักชวนคนอื่นให้ได้รับสิ่งที่ดีงามนั้นด้วย เรียกว่า ขาด "ธรรมทาน" และเป็น "ธรรมมัจฉริยะ" (หวงธรรม, หวงสิ่งที่ดีงาม) เพราะฉะนั้น ใครพบสิ่งที่ดีงามก็จงเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นด้วยเถอะครับ

แต่ถ้า "หางด้วน" แล้วกรุณาอย่าชวนคนอื่น เชิญ "ด้วน" ไปคนเดียวแล้วกัน! •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๕)  ชีวกสูตร
คราวหนึ่ง หมอชีวกโกมารภัจจ์ กราบทูลถามพระพุทธเจ้า ขณะประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของเขาว่า "ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินคนตำหนิพระองค์ว่า พระองค์สอนให้คนอื่นเว้นจากการฆ่าสัตว์ แต่เสวยอาหารที่เขาฆ่าถวายเป็นความจริงเพียงไร"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ถ้าได้เห็น ได้ยิน และสงสัยว่าเขาฆ่าถวาย ตถาคตไม่ฉันเนื้อนั้น แต่ถ้าไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเจาะจงถวาย ตถาคตฉันเนื้อนั้น"

ตรัสอธิบายต่อไปว่า "ภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา มีจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และแผ่คุณธรรมเหล่านี้ไปยังสรรพสัตว์ทั่วโลก อยู่ด้วยจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทต่อใคร เลี้ยงชีพด้วยอาหารบิณฑบาตที่ชาวบ้านถวาย เมื่อมีผู้นิมนต์ไปฉันอาหาร ก็ไป เขาถวายอาหารชนิดใด จะเลว หรือประณีต ก็ฉันพอดำรงอัตภาพไม่ติดหรือยึดมั่นในอาหารที่ฉันนั้น"

เสร็จแล้วพระองค์ก็ตรัสถามหมอชีวกว่า "ภิกษุปฏิบัติเช่นนี้ จะเรียกว่าเบียดเบียนคนอื่นหรือไม่"
หมอชีวกกราบทูลว่า "ไม่ พระเจ้าข้า"
"อาหารอย่างนี้ไม่มีโทษ (คือกินได้ ไม่เรียกว่าสนับสนุนให้ฆ่าสัตว์) มิใช่หรือ
"เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า"

พระองค์ตรัสต่อไปว่า ผู้ที่ฆ่าสัตว์เจาะจงถวายพระองค์และพระสงฆ์สาวก ย่อมก่อบาปกรรมทั้งแก่ตนและคนอื่น เพราะเหตุ ๕ ประการคือ สั่งให้นำสัตว์มาฆ่า (เท่ากับชักนำให้คนอื่นทำบาปด้วย), ออกคำสั่งให้ฆ่า (ตัวเองก็บาปคนฆ่าก็บาป) สัตว์นั้นถูกนำไปฆ่า ได้รับความเจ็บปวด, กำลังถูกฆ่ายิ่งเจ็บปวดยิ่งขึ้นจนสิ้นชีวิต, ทำให้คนอื่นหาช่องว่าพระองค์และพระสงฆ์สาวก (จริงอยู่ถ้าพระไม่รู้ไม่เห็น ไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเจาะจงตน ไม่ต้องอาบัติ แต่คนภายนอกอาจหาว่า พระแกล้งไม่รู้ ทำนองปากว่าตาขยิบก็ได้)

หมอชีวกได้รับวิสัชนาจากพระพุทธองค์จนแจ่มแจ้งหายสงสัยแล้ว กราบทูลขึ้นว่า ตนเคยได้ยินว่าพระพรหมนั้นมีวิหาร ๔ แต่ไม่เคยเห็นพระพรหม บัดนี้ตนได้เห็น พระพรหม" ตัวจริงคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เอง (จากชีวกสูตร) •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๖)  คณกโมคคัลลานสูตร
พราหมณ์ชื่อ คณกโมคคัลลานะ กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ในการศึกษาศิลปวิทยาต่างๆ เช่น วิชาคำนวณ เขาให้ศิษย์เรียนตามลำดับ เริ่มตั้งแต่หัดให้นับหนึ่ง สอง สาม ก่อน ในพระศาสนาของพระองค์มีการสอนตามลำดับเช่นนี้หรือไม่

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในพระศาสนาของพระองค์เน้นการศึกษาตามลำดับ ตามขั้นตอน ผู้ที่บวชเข้ามาแล้ว เริ่มต้นพระองค์จะทรงสอนให้รักษาศีลให้เคร่งครัด จากนั้นก็ให้รู้จักสำรวมอินทรีย์ (คือระวังการแสดงออกทางตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส และความคิดคำนึง) จากนั้นให้รู้จักประมาณในการบริโภค ให้กินเพื่อยังชีพมีกำลังประพฤติพรหมจรรย์ จากนั้นสอนให้มีความเพียรตื่นตลอดเวลา จากนั้นให้มีสติสัมปชัญญะ รู้เท่าและรู้ทันการเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ จากนั้นก็ทรงแนะให้หาที่สงบสงัด เช่น ป่า ภูเขา ถ้ำ ฝึกสมาธิ วิปัสสนาให้จิตสงบ ระงับนิวรณ์ ได้บรรลุฌานขั้นต่างๆ จนกระทั่งทำให้แจ้งพระนิพพาน (หมายถึงหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์)

พราหมณ์กราบทูลว่า เมื่อพระองค์พร่ำสอนอย่างนี้ สาวกของพระองค์บรรลุนิพพานหมดทุกคนหรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่าบางพวกที่บรรลุ บางพวกก็ไม่บรรลุ พราหมณ์กราบทูลถามต่อว่า ในเมื่อพระนิพพานก็มีอยู่ ทางไปพระนิพพานก็มีอยู่ พระองค์ผู้ทรงชี้ทางก็มีอยู่ ทำไมจึงมีบางพวกไม่บรรลุพระนิพพาน

พระพุทธองค์ตรัสว่า เวลาท่านบอกทางคนสองคนที่เดินทางไปเมืองราชคฤห์ คนหนึ่งไปถึง อีกคนหนึ่งไปไม่ถึง ทำไมเป็นเช่นนั้น ในเมื่อเมืองราชคฤห์ก็มีอยู่ ทางก็มีอยู่ ท่านผู้บอกทางก็มีอยู่ ทำไมเขาไปไม่ถึงเล่า

พราหมณ์กราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าจะทำอะไรได้ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น"

พระองค์ตรัสต่อไปว่า "เช่นเดียวกันนั่นแหละ พระนิพพานก็มีอยู่ ทางไปพระนิพพานก็มีอยู่ เราตถาคตผู้บอกทางก็มีอยู่ แต่บางพวกก็ไม่บรรลุพระนิพพาน เราตถาคตจะทำอะไรได้ เราตถาคตเป็นผู้ชี้บอกทางเท่านั้น"

พระสูตรนี้ชื่อ คณกโมคคัลลานสูตร ให้แง่คิดว่า ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อยฝึกฝนไปตามขั้นตอนย่อมจะบรรลุผลสูงขึ้นตามลำดับ

แต่ถ้าเพียงพูดว่า "ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน" ไม่กล้าตัดสินใจทำเสียที ได้แต่เต้นฟุตเวิร์กอยู่ยากจะบรรลุผลเหมือนกันนะครับ •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๗)  โลกวิปัตติสูตร  
"ภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการ ย่อมหมุนไปตามโลก และสัตว์โลกก็หมุนเวียนตามมันไป โลกธรรม ๘ ประการคือ ได้ลาภ, เสื่อมลาภ, ได้ยศ, เสื่อมยศ, สรรเสริญ, นินทา, สุข, ทุกข์

โลกธรรมทั้ง ๘ ประการนี้เกิดขึ้นทั้งแก่ปุถุชนคนผู้มิได้เรียนรู้และแก่อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ต่างกันแต่ว่าฝ่ายแรกไม่รู้เห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา แล้วก็ลุ่มหลง ยินดียินร้าย ปล่อยให้มันเข้ามาย่ำยีจิต ปล่อยให้จิตขึ้นลงไปตามกระแสของมัน ย่อมไม่พ้นจากทุกข์มีความโศกและความพิไรรำพันเป็นต้น ส่วนอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ พิจารณาเห็นตามเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรเปลี่ยนไปตามธรรมดา ไม่ลุ่มหลงมัวเมา อยู่อย่างมีสติ ย่อมปราศจากทุกข์มีความโศกและความพิไรรำพันเป็นต้น"

พระสูตรนี้ชื่อ โลกวิปัตติสูตร ทรงสอนให้รู้ธรรมดาของชีวิตว่า ทุกคนไม่ว่าปุถุชนหรือพระอริยเจ้าย่อมพบพาน "โลกธรรม" ๘ ประการด้วยกัน แต่การรับรู้แตกต่างกัน ปุถุชนคนมีกิเลส ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ย่อมฟูและยุบไปตามกระแสโลกธรรม ลุ่มหลง ไม่รู้ตามเป็นจริง ผลที่สุดก็ไม่พ้นทุกข์ ส่วนพระอริยเจ้า ไม่ฟู ไม่ยุบ ไปตามกระแสโลกธรรม รับรู้ตามเป็นจริงว่า มันก็แค่นั้น ไม่ติดสมมติบัญญัติ ย่อมอยู่เหนือโลกธรรม จึงหาความทุกข์มิได้ อาวุธสำคัญที่จะต่อกรกับโลกธรรมได้คือ "สติ" พระอริยเจ้าท่านมีสติตลอดเวลา จึงรู้เท่ารู้ทัน ปุถุชนถ้าหากหมั่นปลูกสร้างสติเสมอ ก็จะสามารถรู้เท่าทันยับยั้งใจได้บางครั้งบางคราว แทนที่จะทุกข์มากก็ทุกข์น้อยลง

ส่วนคนที่ตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ปลื้มอกปลื้มใจกับการแห่แหนแวดล้อมชื่นชมของผู้คน ยินดีกับการยกยอสรรเสริญอันจอมปลอม ก็ปล่อยเขาไปเถอะ ไม่ช้าไม่นานเมื่อน้ำลด ตอมันจะผุดขึ้นมาเอง แล้วจะคร่ำครวญว่า โอ้ นี่ทุกข์จริงๆ •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๘)  สีหสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สีหมฤคราชออกจากที่อยู่อาศัยในเวลาเย็น ย่อมเยื้องกรายเหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วออกไปเที่ยวหากิน สีหมฤคราชนั้น ถ้าจะจับช้าง ย่อมจับโดยแม่นยำไม่พลาด ถ้าจะจับกระบือ ย่อมจับโดยแม่นยำไม่พลาด ถ้าจะจับโค ย่อมจับโดยแม่นยำไม่พลาด ถ้าจะจับสัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น กระต่าย แมว ย่อมจับโดยแม่นยำไม่พลาด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า "สีหะ" นี้เป็นชื่อของตถาคต ตถาคตแสดงธรรมแก่บริษัทนี้แหละเป็นการบันลือสีหนาท ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยเคารพ ไม่ใช่แสดงโดยไม่เคารพ ถ้าจะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย...แก่ปุถุชนทั่วไปทั้งหลาย โดยที่สุดแม้แต่คนขอทานและพรานนก ย่อมแสดงโดยเคารพ มิใช่แสดงโดยไม่เคารพ

ข้อนั้นเพราะเหตุใด? เพราะตถาคตเป็นผู้หนักในธรรม เคารพในธรรม

พระสูตรนี้ชื่อ "สีหสูตร" มีอยู่ใน อังคุตตร นิกาย ฉักกนิบาต ให้ข้อคิดว่า พระบรมศาสดาทรงให้ความสำคัญแก่พุทธบริษัท ไม่ว่ายากดีมีจน เมื่อเข้ามาฟังธรรม พระองค์จะให้ความสำคัญเท่ากันหมด ทรงแสดงธรรมแก่เขาโดยเคารพ หวังผลคือความสว่างในทางธรรมเหมือนๆ กัน

สาวกพระพุทธองค์สมัยนี้ บางรูปไม่สนใจแสดงธรรม หมกมุ่นแต่แจกพระแจกเหรียญ บางรูปคนยากคนจนเข้าหาไม่ถึง แต่ถ้านั่งรถเบนซ์ไปหาก็ต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี ขอฝากพระสูตรนี้ให้อ่านและทบทวนดู ว่าตนกำลังดำเนินตามเบื้องยุคลบาทพระศาสดาหรือว่ากำลังเดินออกนอกทาง

ข้อคิดประการที่สองก็คือ ราชสีห์ลงว่าตั้งใจจับเหยื่อแล้วไม่มีทางพลาด คือผู้ฟังได้บรรลุมรรคผลทุกคน เพราะทรงรู้อุปนิสัย ความถนัด แนวโน้มแห่งจิตใจของแต่ละคนเป็นอย่างดี และเลือกธรรมที่เหมาะแก่คนๆ ไป เรียกว่าพระองค์เป็น "สิงห์จับเหยื่อไม่เคยพลาด"

ต่างจากสิงห์สมัยนี้จับเหยื่อไม่เคยได้กลายเป็นสิงห์เดี้ยงไปหมด •




http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๙)  ปหาราทสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสความอัศจรรย์ของพระธรรมวินัย (พระศาสนา) ของพระองค์เปรียบกับมหาสมุทร ๘ ประการ คือ
๑. ในพระธรรมวินัยนี้มีการศึกษา การปฏิบัติและการตรัสรู้ตามลำดับ เปรียบเหมือนมหาสมุทรค่อยๆ ลาดลุ่มลึกลงตามลำดับ
๒. เหล่าสาวกไม่ละเมิดข้อบัญญัติที่ตราไว้ เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีลักษณะคงตัว ไม่ล้นฝั่ง
๓. พระธรรมวินัยนี้ไม่เก็บคนทุศีลไว้ เปรียบเหมือนมหาสมุทรไม่เก็บซากศพไว้ มีแต่ซัดเข้าหาฝั่ง
๔. พระธรรมวินัยนี้เป็นที่รวมของวรรณะทั้ง ๔ บุคคลไม่ว่าจะมาจากวรรณะไหน ย่อมทิ้งชื่อและโคตรเดิมหมด เหลือแต่เชื้อ "สมณศากยบุตร" เปรียบเหมือนมหาสมุทรเป็นที่รวมของแม่น้ำทั้งหลาย เมื่อไหลมาถึงมหาสมุทรก็ทิ้งชื่อเดิมหมด
๕. แม้ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จะล่วงลับไปมากต่อมาก ก็ไม่ปรากฏว่า พระธรรมวินัยบกพร่องหรือล้น เปรียบเหมือนมหาสมุทรไม่ปรากฏพร่องหรือล้น
๖. พระธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ "วิมุติรส" (รสแห่งความหลุดพ้นทุกข์) เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม
๗. พระธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมาย เช่น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรัตนะมากมาย เช่น มุกดา ไพฑูรย์
๘. พระธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของบุคคลสำคัญๆ เช่น พระโสดาบัน พระสกทาคามี เปรียบเหมือนมหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใหญ่ๆ เช่น ปลาติมิ ปลาติมิงคละ

พระสูตรนี้ชื่อ ปหาราทสูตร ตรัสแก่ปหาราทะจอมอสูร ให้ข้อคิดว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งบริสุทธิ์ "ศักดิ์สิทธิ์" คนไม่บริสุทธิ์อยู่ในพระศาสนาไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ที่บวชเข้ามาประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าบำเพ็ญตนเป็นอลัชชี ไม่ว่าจะมีอิทธิพล มีสานุศิษย์ ล้อมหน้าล้อมหลังเพียงใด ก็อย่าได้เหิมเกริมไป

"ซากศพ" เช่นนี้ พระธรรมวินัยไม่เอาไว้ดอกครับ •




http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๐)  สุขุมสูตร (หรือ กุมโมปมสูตร)
พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายวันหนึ่งว่า "เคยมีเรื่องเล่าว่า เต่าตัวหนึ่งเที่ยวหากินอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเล็กๆ สายหนึ่ง ในเวลาเย็น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเดินผ่านมาพอดี เต่าเห็นสุนัขจิ้งจอกก็รีบหดอวัยวะ ๕ ส่วนคือ ขา ทั้ง ๔ และคอ ๑ เข้าในกระดอง นิ่งอยู่

สุนัขจิ้งจอกก็หยุดนิ่ง คอยจ้องอยู่ว่า เมื่อใดเต่าเหยียดคอหรือขาข้างใดข้างหนึ่งออกมานอกกระดอง เราจะงับมันฟาดให้กระดองแตกแล้วกินเนื้อมันทันที

เต่าเหมือนรู้ความคิดของสุนัขจิ้งจอก ไม่ยอมยื่นขาหรือคอออกนอกกระดอง นิ่งอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน

สุนัขจิ้งจอกสุดจะทนรอได้ จึงหนีไปด้วยความเสียใจ

ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เธอทั้งหลาย "คุ้มครองอินทรีย์ (คือระวังการแสดงออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เห็นรูป (คือมองเห็นสิ่งต่างๆ) แล้วไม่มองรวม (คือไม่มองภาพรวมแล้วเห็นว่าสวยงามจริงเป็นต้น)

ไม่มองแยก (คือไม่มองอวัยวะทีละส่วนแล้วเห็นว่าแขนสวย ขาสวย เป็นต้น) ระมัดระวังการแสดงออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ "มาร" คือ ความโลภจ้องอยากได้ของคนอื่น (อภิชฌา) และความเสียใจทุกข์ใจ (โทมนัส) จะไม่มีโอกาสทำให้พวกเธอตกเป็นเหยื่อได้"

ข้อความนี้อยู่ใน สุขุมสูตร (หรือ กุมโมปมสูตร) ให้ข้อคิดว่า ถ้าเราระวังทุกด้าน มารก็หมดโอกาสทำลาย ดุจเต่าหดหัวและขาอยู่ในกระดอง ปลอดภัยจากสุนัขจิ้งจอกงับ

แต่ถ้าเป็น "เต่ากระดองแตก" ถึงจะหดขาดีอย่างไร ก็ไม่มีทางพ้นมือสุนัขจิ้งจอกได้ดอกครับ •



ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 มกราคม 2558 15:04:20 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 09 มกราคม 2558 15:36:33 »


http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๑)  สังยุตตนิกาย มหาวรรค, อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต และขุททกนิกาย อิติวุตตกะ
"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มอุทัย ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อนฉันใด ความมีกัลยาณมิตร (คือมีเพื่อนดี) ย่อมเป็นนิมิตหมายเบื้องต้นแห่งความเจริญของมรรคมีองค์แปด ฉันนั้น

ความมีกัลยาณมิตรเท่ากับเป็นครองชีวิตประเสริฐทั้งหมดทีเดียว เพราะผู้มีกัลยาณมิตรจักทำให้มรรคมีองค์แปด เจริญได้

อาศัยเราตถาคตเป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ย่อมพ้นจาก เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ

เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอย่างอื่นแม้แต่อย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับผู้ยังศึกษาอยู่เหมือนกับความมีกัลยาณมิตร ผู้มีกัลยาณมิตรย่อมขจัดอกุศล และยังกุศลให้เกิดขึ้นได้

ความมีกัลยาณมิตรย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม (พระพุทธศาสนา)"

ข้อความนี้จาก สังยุตตนิกาย มหาวรรค, อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต และขุททกนิกาย อิติวุตตกะ รวมแปลเข้าด้วยกัน ชี้ให้เห็นว่า การมีมิตรดี มิตรแท้ หรือผู้คอยแนะนำสั่งสอนคอยให้คำปรึกษาที่มีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้า ทั้งทางโลกและทางธรรม

มิตรดีอย่างสูงหมายถึงเอาพระพุทธเจ้า อย่างต่ำหมายถึงผู้มีประสบการณ์ผู้ปรารถนาดี คอยแนะนำตักเตือน ตลอดถึงสิ่งแวดล้อมทาง สังคม ที่เอื้อต่อการพัฒนาตน

สำหรับนักการเมืองก็คงหมายถึง ที่ปรึกษานั่นแหละครับ ถ้าที่ปรึกษาตั้งเอาไว้มากๆ อาศัย "อิทธิพล" ของนักการเมือง แสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้อง เบียดเบียนรังแกคนอื่นอย่างนี้เขาเรียกว่า "ผู้แวดล้อมเป็นพิษ" ครับ •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๒)  โมคคัลลานสูตร
พระโมคคัลลานะ หลังจากบวชแล้ว ได้บำเพ็ญเพียรทางจิตอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ รู้สึกง่วงเหงาหาวนอนอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงวิธีแก้ง่วงให้ท่านโมคคัลลานะ ดังนี้
๑. มีสัญญาอย่างไรอยู่ เกิดความง่วง ก็ให้ทำในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก หมายถึงว่าถ้าเรากำหนดหมาย
    หรือนึกคิดเรื่องใดแล้วรู้สึกง่วง ก็ให้นึกคิดเรื่องนั้นให้มากกว่าเดิมแล้วความง่วงจะหาย
๒.ถ้าไม่หายให้ตรึกตรองพิจารณาข้อความหรือเรื่องราวที่ได้ฟังมา หรือเล่าเรียนมาแล้วจะหาย
๓. ถ้ายังไม่หายให้ท่องข้อความ เช่น ตำราที่กำลังอ่านอยู่นั้นออกมาดังๆ การเปล่งเสียงดังๆ จะทำให้หายง่วงได้
๔. ถ้ายังไม่หายให้ยอนหูทั้งสองข้าง หมายถึง เอาอะไรแยงหูให้ความง่วงหายไป
๕. ถ้ายังไม่หายให้เอาฝ่ามือลูบตามตัว จะทำให้ตื่นตัวหายง่วงได้
๖. ถ้ายังไม่หายให้คำนึงถึง "เอาโลกสัญญา" หมายถึง นึกถึงแสงสว่าง ถึงจะนั่งอยู่ในที่มืดในยามราตรี
    ก็นึกว่ากำลังนั่งอยู่ตอนกลางวันพระอาทิตย์กำลังแผดแสงจ้า ความง่วงจะหายไป
๗. ถ้ายังไม่หาย ก็ให้เดินจงกรม คือลุกขึ้นเดินกลับไปกลับมา สักพัก ความง่วงจะหายไป
๘. แต่ถ้าลุกเดินแล้วยังง่วงอยู่ แสดงว่าง่วงเต็มทีแล้ว ก็ให้เข้า นอนเสีย

พระสูตรนี้ชื่อ โมคคัลลานสูตร ให้ข้อคิดดี นักเรียน นักศึกษา เวลาดูหนังสือแล้วง่วง ลองนำเอาไปปฏิบัติดูครับ ทำตามคำแนะนำเป็นข้อๆ บางคนทำมาถึงข้อ ๓-๔ ก็คงหายง่วง บางคนอาจจะทำถึงข้อ ๗ ก็หายง่วง

ส่วนคนไหนทำจนครบแล้วยังไม่หายแสดงว่าง่วงเต็มแก่ นอนซะ รับรองแก้ง่วงได้ชะงัดแล •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๓)  อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต

"ภิกษุทั้งหลาย ถึงบุตรจะยก บิดา มารดา ไว้บนบ่าทั้งสองของตน ปรนนิบัติท่านทั้งสอง ด้วยการอบกลิ่น นวด อาบน้ำให้ ให้ท่านทั้งสองถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะรดตลอดร้อยปี แม้อย่างนี้ก็ยังไม่ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณของบิดา มารดา เลย

อีกประการหนึ่ง บุตรจะพึงสถาปนา บิดา มารดา ในราชสมบัติในแผ่นดินใหญ่อันมีแก้ว ๗ ประการ

แม้อย่างนี้ก็ยังไม่ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณ บิดา มารดาเลย เพราะบิดา มารดา มีบุญคุณมาก เป็นผู้เลี้ยงดูบุตร และเป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย

ส่วนบุตรคนใดช่วยให้ บิดา มารดา ผู้ไม่มีศรัทธา กลับมีศรัทธา ไม่มีศีล กลับเป็นผู้มีศีล, ผู้ตระหนี่ กลับเป็นผู้ไม่ตระหนี่ บริจาคทานเป็นนิตย์, ไม่มีปัญญา กลับเป็นผู้มีปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุ ๔ ประการนี้แหละ บุตรได้ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณบิดา มารดา"

ข้อความนี้จาก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต แสดงถึงคุณของพ่อแม่ที่มีต่อลูกมากมาย สุดจะยกมากล่าว ตัวอย่างที่ทรงยกมาว่า ถึงบุตรจะให้พ่อแม่อยู่บนบ่า ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะรดถึงร้อยปีก็ทดแทนคุณไม่ได้นั้น ในความเป็นจริงคงไม่มีใครทำได้ แต่ทรงต้องการบอกว่า ถึงไม่มีใครทำอย่างนี้จริงๆ ก็ไม่สามารถตอบแทนคุณพ่อแม่ได้

ทางเดียวที่จะทดแทนได้ก็คือ ลูกที่ สามารถกลับใจพ่อแม่ให้เป็นคนดีมีศีลธรรม คือให้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย มีศีล มีความยินดีในการบริจาคทานและมีปัญญา ดังกรณีพระสารีบุตรเทศน์สอนมารดาผู้เป็นมิจฉาทิฐิ ให้หันมาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะได้ในนาทีสุดท้ายก่อนท่านจะดับขันธ์

มีบางคนพยายามจะบอกว่า พ่อแม่ที่สักแต่ให้กำเนิดมาไม่ได้เลี้ยงดูลูก ไม่มีบุญคุณ หรือถึงมีก็ไม่มากนั้น ขอให้รำลึกว่า ทั้งเนื้อทั้งตัวทั้งชีวิตจิตใจที่มีมาและยืนหยัดอยู่ได้ในโลกนี้ ล้วนสิ่งที่พ่อแม่ให้มาทั้งนั้น เพียงแค่นี้ก็บุญคุณเหลือจะพรรณนาแล้ว

ถ้าเขาเอาขี้เถ้ายัดปากทันทีที่เกิดมาจะมีโอกาสมาลอยหน้าลอยตาอย่างนี้หรือ •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๔)  มิคาลสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุรูปหนึ่งนามว่ามิคชาละ ขณะเข้าเฝ้าพระเชตวัน พระมิคชาละกราบทูลถามว่า อย่างไรภิกษุเรียกว่าอยู่คนเดียว อย่างไรเรียกว่ามีเพื่อน

พระพุทธองค์ตรัสว่า "มิคชาละ" รูปที่เห็นด้วยตา น่ารัก น่าใคร่ ชวนให้กำหนัด ถ้าภิกษุยินดีก็มีความเกี่ยวข้อง ภิกษุมีความเพลิดเพลินและเกี่ยวข้อง ชื่อว่า "มีเพื่อน"

มิคชาละ ภิกษุผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีความกำหนัด ไม่เกี่ยวข้องในรูปที่เห็นด้วยตาอันน่ารัก น่าใคร่ ชวนให้กำหนัดดังกล่าว เรียกเรียกว่า "ชอบอยู่คนเดียว"

ภิกษุผู้ชอบอยู่คนเดียวอย่างนี้ ถึงจะอยู่ท่ามกลางภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ก็ยังเรียกว่า "ชอบอยู่คนเดียว" เพราะเธอไม่มีตัณหาเป็นเพื่อน

ข้อความนี้คัดจาก มิคาลสูตร จะเรียกว่าเป็น "ปริศนาธรรม" หรือ "โกอาน" ก็ได้ เพราะมิได้ตรัสตรงๆ ชนิดที่ฟังแล้วเข้าใจทันที ต้องพินิจพิจารณาจึงจะเข้าใจความหมายที่ทรงประสงค์ในแนวคิดทั่วไป พระภิกษุผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา พึงปลีกตัวเข้าป่าหาความวิเวกบำเพ็ญเพียรภาวนา ไม่พึงคลุกคลีด้วยหมู่คณะ อันจักทำให้ฟุ้งซ่านเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจิต ในพระสูตรหลายแห่งตรัสสรรเสริญภิกษุผู้มีบริขารน้อย ใช้ชีวิตอย่างเบาสบาย ไม่ติดถิ่น ไปไหนไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง "ดุจดังนกบินจากคอน" หรือ "ดุจนอแรด" (คืออยู่คนเดียว ดุจนอแรดมีนอเดียว)

การอยู่คนเดียวในด้านกายภาพ ยังนับว่าดี แต่ถ้าสามารถอยู่คนเดียวในทางจิตก็วิเศษ คือ ไม่ได้อยู่ด้วยกิเลสตัณหา

ผู้ที่ไม่ตกเป็นทาสกามคุณ ถึงจะอยู่ท่ามกลางคนหมู่มากก็ยังเรียกว่า "อยู่คนเดียว" เพราะไม่มีเพื่อนคือ กิเลสตัณหาคอยชักจูงไปในทางชั่วเสียหาย •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๕)  พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์
"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชั่วบางรูป รวบรวมสมัครพรรคพวกได้จำนวนมากแล้วล้อมหน้าล้อมหลังด้วยผู้คนเหล่านั้น จาริกไปยังคามนิคมราชธานี มีคฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา อ่อนน้อม ได้จีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เป็นจำนวนมาก นี้คือมหาโจรประเภทหนึ่ง

ภิกษุชั่วบางรูป เรียนพระธรรมวินัยที่พระศาสดาประกาศสั่งสอนแล้ว โกหกคนอื่นว่าตนไม่ได้เรียนมาจากใคร นี้เป็นมหาโจรประเภทที่สอง

ภิกษุชั่วบางรูป ใส่ความเพื่อนพรหมจารี (เพื่อนภิกษุด้วยกัน) ผู้บริสุทธิ์ด้วยข้อหาประพฤติผิดพรหมจรรย์อันไม่มีมูล นี้เป็นมหาโจรประเภทที่สาม ภิกษุชั่วบางรูป ถือเอาของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์ เช่น อาราม ที่ตั้งอาราม วิหาร ที่ตั้งวิหาร เตียง ตั่ง เป็นต้น ไปสงเคราะห์ คฤหัสถ์ เพื่อประจบเขา (เพราะเห็นลาภ) นี้เป็นมหาโจรประเภทที่สี่

ภิกษุชั่วบางรูป อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน (เช่น อวดว่าบรรลุผลขั้นนั้นขั้นนี้) นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ห้า นับว่าเป็นยอดมหาโจร เพราะบริโภคข้าวชาวบ้านด้วยอาการแห่งขโมย"

พุทธวจนะนี้ตรัสไว้ใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เนื่องจากภิกษุจำนวนหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ใกล้แม่น้ำวัด คุมุทา บังเอิญเกิดข้าวยากหมากแพง บิณฑบาตไม่พอฉัน จึงออกอุบายหลอกลวงชาวบ้าน เช่น พูดบอกเขาว่าพระรูปนี้เป็นพระโสดาบัน รูปนั้นเป็นสกทาคามี... ชาวบ้านหลงเชื่อก็นำข้าวปลาอาหารมาถวาย อยู่ดีสบายกันถ้วนหน้า พระพุทธองค์ทรงทราบทรงตำหนิว่า พวกเธอประพฤติตนเป็นยอดมหาโจรหลอกลวงกินข้าวชาวบ้าน จึงทรงบัญญัติ ปาราชิก ข้อที่สี่ ห้ามอวดอุตริมนุสธรรม

มหาโจรธรรมดาเวลาเข้าปล้น ใครเห็นก็รู้ทันที เพราะพกอาวุธ แต่มหาโจรมาในคราบผู้ทรงศีล ดูยังไงก็ไม่ออก กว่าจะรู้ว่าเป็นมหาโจร ก็ถูกปล้นเสียจนหมดใจ แหละครับ เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกว่า "ยอดมหาโจร"

จะไปโทษมหาโจรแกก็ไม่ได้ ก็โง่ให้เขาปล้นเอง •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๖)  อัคคิขันโชปมสูตร
"ภิกษุยอมตาย หรือรับทุกข์เจียนตาย เพราะนอนกอดกองไฟ ยังดีกว่าเป็นคนทุศีล, ยอมให้เขาเอาเชือกขนสัตว์พันแข้งชักไปมา ให้มันบาดจนถึงเยื่อในกระดูก ดีกว่าเป็นคนทุศีลแล้วยินดีการกราบไหว้ของปวงชน, ยอมให้เขาเอาแผ่นเหล็กแดงลุกโชนนาบตัว ยังดีกว่าเป็นคนทุศีล, ยอมให้เขาเอาหอกแทงที่หว่างอก ยังดีกว่าเป็นคนทุศีลห่มจีวรที่ปวงชนถวายด้วยศรัทธา

ภิกษุยอมกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ลุกโชน ยังดีกว่าเป็นคนทุศีลกลืนกินข้าวของชาวบ้านชาวเมืองที่เขาถวายด้วยศรัทธา, ยอมนั่งนอนบนเตียงตั่งเหล็กแดงที่ลุกโชน ดีกว่าเป็นคนทุศีลใช้สอยเตียงตั่งที่ปวงชนเขาถวายด้วยศรัทธา

ภิกษุยอมให้เขาจับหัวห้อยลงต้มในหม้อโลหะอันร้อน ยังดีกว่าเป็นคนทุศีลอยู่ในวิหารที่ผู้มีจิตศรัทธาสร้างถวาย"

พระดำรัสของพระพุทธองค์ตอนนี้อยู่ใน อัคคิขันโชปมสูตร ตรัสสอนภิกษุจำนวนหนึ่ง หลังจากฟังจบบางรูปก็กระอักเลือดอุ่นๆ ออกมา เพราะตนทุศีล อีกจำนวนหนึ่งลาสิกขาอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีศีลบริสุทธิ์จิตหลุดพ้นจากกิเลส

ศาสนาของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งบริสุทธิ์พระองค์จึงทรงตำหนิคนทุศีลอย่างแรงว่า "เป็นคนสกปรก นึกกินแหนงตัวเอง รกชัฏภายใน เน่าใน ห่อหุ้มด้วยเครื่องหมายสมณะก็ไม่เป็นสมณะขจัดรากเหง้าของตนเอง"

ขณะเดียวกัน ก็ทรงสรรเสริญผู้มีศีลไว้มากมาย จะมาเสนอคราวหน้าครับ •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๗)  ขุททกนิกาย ธรรมบท ท่อนสุดท้ายคัดจาก วิสุทธิมรรค ภาค ๑
(๑) "กลิ่นบุปผชาติหอมทวนลมไม่ได้ กลิ่นจันทร์ กฤษณา หรือดอกมะลิ ก็หอมทวนลมไม่ได้ แต่กลิ่นสัตบุรุษหอมฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ จันทร์ กฤษณา ดอกอุบล กะลำพัก ที่ว่าหอมแล้วยังสู้กลิ่นหอมของศีลมิได้ กฤษณา หรือจันทร์ มีกลิ่นหอมน้อยนัก แต่กลิ่นหอมของท่านผู้ทรงศีลประเสริฐนัก หอมฟุ้งกระทั่งถึงทวยเทพยดา"

(๒) "ศีลของภิกษุใดหมดจดดีแล้ว การบวชของเธอนั้นจัดว่ามีผล การทรงบาตรของเธอย่อมนำมาซึ่งความเลื่อมใส ภัยเช่นการติเตียนตนเป็นต้นไม่เกิดกระทบใจเธอผู้บริสุทธิ์ ดุจความมืดไม่อาจกระทบแสงอาทิตย์

ภิกษุงดงามในพรหมจรรย์เพราะมีศีล เหมือนพระจันทร์งามกลางหาว เพราะรัศมียองใย เพียงกลิ่นกายของผู้มีศีลยังทำความปราโมทย์แก่เหล่าเทวดา ไม่จำต้องพูดถึงกลิ่นศีล กลิ่นศีลย่อมครอบงำกลิ่นคันธชาติทั้งปวงหอมตลบไปทั่วสารทิศ

สักการะน้อยๆ ที่ทายกถวายผู้มีศีลย่อมมีผลมาก เพราะท่านเป็นภาชนะควรรับสักการะอาสวกิเลส ครอบงำผู้มีศีลไม่ได้ ผู้มีศีลย่อมขุดรากเหง้าของทุกข์อันจะเกิดข้างหน้าได้

สมบัติใดในหมู่มนุษย์และทวยเทพ สมบัตินั้นถ้าผู้มีศีลปรารถนาก็ไม่เป็นของยาก ใจของผู้มีศีลย่อมเล่นไปสู่พระนิพพาน คือความดับกิเลสได้สนิท เป็นความเยือกเย็นใจอย่างยิ่ง"

ข้อความท่อนแรกคัดจาก ขุททกนิกาย ธรรมบท ท่อนสุดท้ายคัดจาก วิสุทธิมรรค ภาค ๑ ฝากไว้ให้คิดว่า ผู้ทรงศีลนั้นแม้กลิ่นกายก็ยังหอม เป็นที่ชื่นชมของเทพยดาทั้งหลาย แล้วกลิ่นศีลจะหอมแค่ไหน ผู้ทรงศีลย่อมหอมไกลและหอมทน ตายไปแล้วกี่ปีๆ ก็ยังหอมอยู่ในใจของผู้หวนระลึกถึง

ต่างจากคนทุศีล เน่าตั้งแต่ยังไม่ตาย



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๘)  จูฬตัณหาสังขยสูตร
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ากล่าวโดยย่อ ภิกษุปฏิบัติได้แค่ไหน จึงเชื่อว่าหลุดพ้นจากตัณหา มีความสำเร็จอย่างยิ่ง ปลอดโปร่งจากกิเลสรึงรัดใจเป็นผู้ประเสริฐยิ่งบรรลุจุดหมายปลายทางแห่งชีวิต ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย"

"ดูก่อนจอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ภิกษุนั้นรู้สิ่งทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นรู้ด้วยปัญญายิ่งแล้ว ก็กำหนดรู้สิ่งทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้สิ่งทั้งปวงแล้วไม่ว่าเธอจะเสวยเวทนาใดๆ จะเป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ เธอย่อมพิจารณาเห็นว่ามันไม่เที่ยงแท้ พิจารณาเห็นความจางคลาย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลาย

เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งใดในโลก เมื่อไม่ยึดมั่นก็ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่นก็ดับเย็นได้เฉพาะตัว เพราะรู้ชัดว่า ไม่ต้องเกิดอีกต่อไปแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุดแล้ว ได้ทำกิจควรทำแล้ว ไม่มีอะไรที่จะทำต่อไปอีกแล้ว"

ข้อความนี้มีใน จูฬตัณหาสังขยสูตร พระอินทร์เข้าไปกราบทูลถามว่า ถ้าจะว่าโดยย่อที่สุดพระปฏิบัติได้แค่ไหนจึงจะหมดกิเลสตัณหา พระพุทธองค์ตรัสว่า ต้องไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เมื่อเห็นสรรพสิ่งเป็นอนิจจัง ก็จะหน่าย คลายจาง ไม่ยึดติดและดับกิเลสได้สนิท สงบเย็นในที่สุด

อาจารย์เซ็นท่านหนึ่ง ไปเยี่ยมศพอาจารย์เพื่อนกันที่ถึงแก่มรณภาพใหม่ๆ เห็นบรรดาศิษย์ร้องไห้คร่ำครวญต่อหน้าศพอาจารย์ของตน ท่านจึงเดินเอาไม้เท้าเคาะโลง พูดดังๆ ว่า "คุณนี่ใช้ไม่ได้จริงๆ สอนลูกศิษย์อย่างไรจึงทำให้เขายึดติดถึงขนาดนี้ คุณตายแล้ว พวกเขายังไม่วางคุณเลย" ว่าแล้วก็เดินจากไป

ยกมาเป็นอุทาหรณ์สำหรับชาวพุทธครับ การยึดติดไม่ว่ายึดติดสิ่งใด สวนทางนิพพานทั้งนั้น อย่าว่าแต่ยึดติดในอาจารย์เลย แม้กระทั่งยึดติดในความดี ก็เป็นการยึดอย่างหนึ่ง และแกะออกยากกว่าสิ่งใดเสียอีก •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๙)  อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
"ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตทั้งหลาย (หมายถึงพระพุทธเจ้า) จะอุบัติขึ้นมาหรือไม่ก็ตาม หลักนั้นยังคงมีอยู่เป็นหลักธรรมดา เป็นกฎธรรมดา

หลักที่ว่านี้คือ สังขาร (สิ่งปรุงแต่ง, สิ่งผสม) ทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา

ตถาคตเข้าถึงหลักนั้น จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผยแจกแจง ทำให้เข้าใจง่ายว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา"

พุทธวจนะนี้มีอยู่ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ตรัสสอนว่า สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมาตามเหตุปัจจัย ตกอยู่ในกฎธรรมดา คือ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกันหมด พูดให้ฟังง่ายก็คือ สรรพสิ่งมีการแปรเปลี่ยน ดับสลายไปตามธรรมดา ไม่มีตัวตนและไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวตน

หลักธรรมดานี้เป็นสากล ไม่ขึ้นอยู่กับใคร แม้พระพุทธเจ้าเองท่านก็บอกว่า พระองค์เป็นเพียงผู้รู้หลักนั้นแจ่มแจ้งแล้ว เปิดเผยแสดงให้คนทั้งหลายเข้าใจ

"พระพุทธเจ้ามาช่วยให้เราเข้าถึงความจริงนั้นเสร็จแล้วเราก็อยู่กับความจริงนั้น พระพุทธเจ้าทรงทำหน้าที่ของพระองค์นั้น พระองค์ก็ผ่านไป ครูอาจารย์รุ่นหลังก็เช่นเดียวกัน มาช่วยแนะนำให้เรารู้หลักธรรมของพระพุทธเจ้า พาเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ก็หมดหน้าที่ของท่าน เราก็ไปฟังพระพุทธเจ้าต่อ เราก็เข้าถึงหลักและอยู่กับหลักความจริงนั้นแล้วก็จบ

ตัวหลักความจริงเป็นมาตรฐาน เป็นของแท้แน่นอน เราจับหลักนี้ได้แล้ว ไม่มีปัญหา ไม่แกว่งมาแกว่งไป เวลานี้คนเราไม่มีหลัก แกว่งไปแกว่งมาตามกระแส แกว่งไปตามบุคคล คนนั้นมา คนนี้มา ฮือฮา อย่างไรก็ฮือฮากันไป เสร็จแล้วพอมีอะไรเกิดขึ้นก็เอาศาสนาไปแขวนไว้กับบุคคล

บุคคลนั้นเสียได้ บุคคลนั้นเป็นอย่างไรไป เราก็พลอยเป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่าไม่มีหลัก"

สามย่อหน้าท้ายนี้เป็นวาทะของพระธรรมปิฎก (ประยุทธ ปยุตฺโต) ครับ เห็นว่าให้ข้อคิดดี และบังเอิญเข้ากับเนื้อหาพระสูตรข้างต้นด้วย จึงนำมาฝากเป็นอนุสติครับ •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๐)  จูฬกัมมวิภังคสูตร
พระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาของ สุภัททะโตไทยบุตร ที่ถามว่าทำไมคนเกิดมาไม่เหมือนกัน ดังนี้

คนที่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการฆ่าสัตว์อื่น ไว้เมตตากรุณาตายไปตกนรก ถ้ามาเกิดอีกก็จะเป็นคนที่อายุสั้น คนที่ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีเมตตากรุณาในหมู่สัตว์จะเกิดมามีอายุยืน

คนที่ชอบเบียดเบียนสัตว์ให้ลำบากด้วยวิธีการต่างๆ ตายแล้วตกนรก ถ้ามาเกิดอีกก็จะเป็นคนขี้โรค ส่วนคนที่ไม่เบียดเบียนสัตว์ เกิดมาก็จะเป็นคนมีโรคน้อย ไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย

คนที่มักโกรธ ขัดเคืองง่าย พยาบาทปองร้ายคนอื่นเสมอ เกิดมาก็จะมีผิวพรรณทราม ส่วนคนที่ไม่มักโกรธ ไม่ขัดเคืองง่าย ไม่พยาบาทปองร้ายคนอื่น เกิดมามีผิวพรรณงดงาม

คนที่มักอิจฉาริษยาคนอื่น ขาดความเคารพนับถือผู้อื่น เกิดมาก็จะมีอำนาจน้อย ส่วนคนที่ไม่ชอบอิจฉาริษยาคนอื่น เคารพนับถือคนอื่น เกิดมาก็จะมีอำนาจมาก

คนที่ขี้เหนียว ไม่ชอบให้ทาน เกิดมาก็จะเป็นคนยากจน ส่วนคนที่ไม่ตระหนี่ ชอบให้ทานอยู่เสมอ เกิดมาก็จะเป็นคนร่ำรวย

คนที่กระด้าง ถือตัว ไม่รู้จักเคารพอ่อนน้อมหรือกราบไหว้คนที่ควรเคารพอ่อนน้อมกราบไหว้ จะเกิดมาในตระกูลต่ำ ส่วนคนที่เคารพอ่อนน้อมกราบไหว้ คนที่ควรเคารพอ่อนน้อมกราบไหว้จะเกิดมาในตระกูลสูง

คนที่ไม่ชอบเสวนากับผู้รู้ ไม่สนใจไต่ถามเรื่องบาปบุญคุณโทษ จะเกิดมาเป็นคนโง่เขลา ส่วนคนที่ชอบเสวนากับบัณฑิต สนใจศึกษาเรื่องบุญกุศล ก็จะเกิดมาเป็นคนฉลาด

ข้อความนี้จาก จูฬกัมมวิภังคสูตร ชี้ให้เห็นว่าคนเราจะเป็นอย่างไรเพราะผลของกรรมที่ทำไว้ เช่น คนอายุสั้นเพราะชาติก่อนชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นคนขี้โรคเพราะชอบเบียดเบียนสัตว์ เป็นต้น ทำอย่างใดย่อมได้อย่างนั้น หรือผลที่คล้ายกันนั้น เพราะฉะนั้น เมื่ออยากได้ผลในทางดีๆ เป็นพอใจ ท่านจึงสอนให้สร้างเหตุปัจจัยที่ดีๆ อันจะอำนวยผลเช่นนั้น

ใครทำใครได้ ทำแทนกันไม่ได้ ความบริสุทธิ์ หรือสกปรกเศร้าหมองเป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำให้คนอื่นบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองไม่ได้ •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๑)  จูฬราหุโลวาทสูตร
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเทน้ำล้างพระบาทแล้วตรัสถามพระราหุล (สามเณรราหุล) ว่า "ดูก่อนราหุล เธอเห็นน้ำที่เราเหลือไว้ในภาชนะหน่อยหนึ่งไหม

พระราหุลกราบทูลว่า "เห็น พระเจ้าข้า"
"ดูก่อนราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ก็มีคุณความดีเหลืออยู่น้อยนิด เหมือนน้ำในภาชนะนี้แหละ" พระพุทธเจ้าตรัสแล้วจึงเทน้ำที่เหลือน้อยหนึ่งนั้นทิ้ง แล้วตรัสถามพระราหุลว่า
"ราหุล เธอเห็นน้ำหน่อยหนึ่งที่เราเททิ้งไหม"
"เห็น พระเจ้าข้า" พระราหุลกราบทูล
"เช่นเดียวกันนั่นแหละ ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมเทคุณความดีที่มีอยู่ทิ้งไปหมดเหมือนเทน้ำจากภาชนะจนหมด"

เสร็จแล้วพระองค์ทรงคว่ำภาชนะลง ตรัสถามพระราหุลว่า "ราหุล เธอเห็นภาชนะที่คว่ำนี้หรือไม่"
"เห็น พระเจ้าข้า" พระราหุลกราบทูล
"เช่นเดียวกันนั่นแหละ ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้คุณความดีของเขาย่อม "คว่ำ" หมด"

ต่อจากนั้นพระองค์ทรงหงายภาชนะเปล่าขึ้น แล้วตรัสถามว่า "ราหุล เธอเห็นภาชนะเปล่านี้ไหม"
"เห็น พระเจ้าข้า" ราหุลกราบทูล
"เช่นเดียวกันนั่นแหละ ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ก็มีแต่ความว่างเปล่า ไม่เหลือคุณความดีอะไรในตัวเลย"

ข้อความนี้จาก จูฬราหุโลวาทสูตร ให้ข้อคิดว่า คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ว่ามันไม่ดี นับว่าทำลายคุณงามความดีเสียหมดสิ้น สมกับพระพุทธภาษิตแห่งหนึ่งว่า "คนพูดเท็จจะไม่ทำความชั่วเป็นไม่มี"

พูดเท็จเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวนับว่าเลวแล้ว พูดเท็จเพื่อทำลายผู้อื่นจะเลวขนาดไหน•



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๒)  อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต - สังยุตต นิกาย ธันธวารวรรค
"ดูก่อนคหบดี ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นสิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นของได้มายากในโลก คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ ธรรม ๕ ประการนี้ ถ้าจะมีได้เพราะการอ้อนวอนหรือตั้งความปรารถนาแล้วไซร้ ใครเล่าในโลกนี้จะพึงเสื่อมจากอะไร

ดูก่อนคหบดี อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุยืน ไม่พึงอ้อนวอนหรือมัวเพลินเพราะการอยากอายุยืนนั้นเลย อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุยืน พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติที่จะเป็นไปเพื่ออายุยืน เพราะข้อปฏิบัติอันเป็นไปเพื่ออายุยืนที่ปฏิบัติแล้วนั่นแหละอริยสาวกนั้นย่อมได้อายุยืน ไม่ว่าจะเป็นของทิพย์ หรือของมนุษย์

ผู้ปรารถนาวรรณะ...สุข...ยศ...สวรรค์ ก็พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติ ที่จะเป็นไปเพื่อวรรณะ....สุข...ยศ...สวรรค์

"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่หมั่นประกอบความเพียงในการฝึกจิต ถึงจะปรารถนาว่า "ขอให้จิตของเราหลุดพ้นจากอาสวะเถิด" จิตของเธอก็หาหลุดพ้นไม่เหมือนไข่ไก่ ๘ ฟอง หรือ ๑๐ ฟอง ที่แม่ไก่ไม่นอนทับ ไม่กก ไม่ฟัก ถึงแม่ไก่จะปรารถนาว่า ขอให้ลูกไก่จงเอาจะงอยปาก หรือปลายเล็บจิกหรือทำลายเปลือกไข่ออกมาเถิด ลูกไก่ก็หาออกมาได้ไม่"

พุทธวจนะท่อนแรกมาจาก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ท่อนสุดท้ายมาจาก สังยุตต นิกาย ธันธวารวรรค คัดมารวมกันไว้เพื่อชี้ประเด็นว่า ไม่ควรฝากชีวิตไว้กับความหวังลมๆ แล้งๆ หรือการอ้อนวอน ถ้าทุกอย่างมีได้เป็นได้ด้วยการอ้อนวอน หรือหวังแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ใครเล่าจะพึงเสื่อมจากอะไร" หมายความว่าทุกคนก็คงได้สมหวังหมด หวังจากอยากมีรูปงาม มีแฟนสาวๆ ล้อมหน้าล้อมหลังก็คงได้เหมือนกันหมด หวังอยากฉลาดปราดเปรื่องกว่าขงเบ้งผู้หยั่งรู้ดินฟ้าก็ได้เป็นหมด หวังอยากรวยล้นฟ้าก็รวยเหมือนกันหมด แล้วใครมันจะอยากขี้เหร่ อยากโง่ อยากยากจนเล่าครับ

เพียงหวัง เพียงอ้อนวอน ไม่สามารถทำให้คนบรรลุสิ่งต้องการได้ จะต้องลง มือทำ ลงมือปฏิบัติ สร้างเหตุปัจจัยที่อำนวยผลในทางนั้นๆ จึงจะบรรลุถึงได้นี้แล คือ "หลักธรรม" ของพระพุทธองค์ อยากได้อะไร อยากเป็นอะไร ลงมือทำเอาเองเถิด •



http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
    "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๓)  อังคุตตนิกาย นวกนิบาต
พราหมณ์ผู้ถือลัทธิโลกายัด (ลัทธิวัตถุนิยม) ๒ คน ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า เจ้าลัทธิชื่อ นิครนถ์ นาฏบุตร และเจ้าลัทธิชื่อว่า ปูรณะกัสสปะ ต่างก็อ้างว่าตนเป็น "สัพพัญญู" (ผู้รู้สิ่งทั้งปวง) และเป็น "สัพพหัสสาวี" (ผู้เห็นสิ่งทั้งปวง) รู้เห็นโลกไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยญาณไม่มีที่สิ้นสุด ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองขอกราบทูลถามพระองค์ว่า ทั้งสองท่านนี้ใครพูดเท็จ ใครพูดจริง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ใครจะพูดเท็จ ใครจะพูดจริง ช่างเขาเถอะ เราจะแสดงธรรมให้ท่านทั้งสองฟังดีกว่า" แล้วพระองค์ตรัสต่อไปว่า
"บุรุษ ๔ คน มีฝีเท้าเร็วอย่างยิ่ง ออกวิ่งหาที่สุดโลกโดยไม่พักเลย แม้มีอายุถึง ๑๐๐ ปี ก็จะตายเสียก่อนถึงที่สุดโลก ใน "อริยวินัย" นี้ คำว่า "โลก" หมายถึง กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎิฐัพพะ (สัมผัส) ธรรมารมณ์ (ความคิดคำนึง) อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวนชวนให้กำหนัด ภิกษุผู้สงัดจากกาม (คือ ปลีกกลายปลีกใจออกจากกาม) สงัดจากอกุศลธรรม ได้บรรลุรูปฌาน ๔ (ฌานที่ได้จากการเพ่งรูปธรรม) อรูปฌาน ๔ (ฌานที่ได้จากการเพ่งอรูปธรรม) และสัญญาเวทยิตนิโรธ เข้าฌานสมาบัติถึงขั้นดับสัญญา หรือความจำ และเวทนา หรือความเสวยอารมณ์ได้) บรรลุเป็นพระอรหันต์หมดสิ้นอาสวะ ภิกษุเช่นนี้แหละ จึงจะเรียกว่า ได้ไปถึงที่สุดแล้ว"

พุทธวจนะนี้มาจากอังคุตตนิกาย นวกนิบาต ให้ข้อคิดว่า ถึงใครคิดพิสดารว่าจะแสวงหาที่สิ้นสุดของโลก โดยวิธีใดก็ตาม ไม่สามารถค้นพบได้ (หรือถึงจะค้นพบได้ ก็เป็นโลกภายนอก ไม่นับว่าถึงที่สุดจริงๆ) โลกจริงๆ คือ "โลกภายใน" ถ้าใครละกามคุณได้ บำเพ็ญสมาธิภาวนาจนได้ฌานขั้นต่างๆ แล้วบรรลุอรหัต หมดกิเลสตัณหาโดยสิ้นเชิง จึงจะนับว่าได้ค้นพบที่สุดโลกจริงๆ

ในพระสูตรอีกสูตรหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า "โลกก็คือทุกข์ ที่สุดโลกก็คือความสิ้นทุกข์" เพราะฉะนั้นที่สิ้นสุดโลกจึงไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการไป แต่จะเข้าถึงได้ด้วยการ "ไม่ไป" คือ หยุด หรือลด ละ เลิก กิเลส ตัณหา•

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มีนาคม 2558 14:33:48 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 14 กุมภาพันธ์ 2558 10:56:32 »


    "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๔)  อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
"ภิกษุทั้งหลาย มีคนอยู่ ๓ ประเภท คือ ๑. ผู้หมดหวัง ๒. ผู้มีหวัง และ ๓. ผู้ไม่มีหวัง มีอธิบายอย่างไร

บางคนเกิดในตระกูลต่ำ เช่น ตระกูลจัณฑาล...มีข้าวน้ำและโภชนาน้อย เป็นอยู่อย่างลำบาก มีผิวพรรณไม่ดี มีโรคมาก เป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา...เมื่อสดับข่าวว่าบุคคลชื่อนั้นชื่อนี้ได้รับมุรธาภิเษกเป็นกษัตริย์ เขามิได้คิดหวังเลยว่า สักวันหนึ่งตนคงได้รับมุรธาภิเษกเช่นนั้นบ้าง คนเช่นนี้เรียกว่า "ผู้หมดหวัง" (ในทางโลก)

ภิกษุบางรูป เป็นคนทุศีล มีธรรมทราม ไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการกระทำที่ต้องปกปิดไม่ใช่สมณะ ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ปฏิญาณตนว่าประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน มีกิเลสมาก รุงรังดุจหยากเยื่อ ที่สางได้ยาก เธอได้ฟังข่าวว่า ภิกษุชื่อนั้นชื่อนี้ได้บรรลุธรรม หาอาสวะมิได้มิได้คิดเลยว่า สักวันหนึ่งตนจะต้องเป็นเช่นนั้นบ้าง ภิกษุเช่นนี้ เรียกว่า "ผู้หมดหวัง" (ในทางธรรม)

บางคนเกิดในตระกูลกษัตริย์ ได้รับทราบข่าวว่า เจ้าชายชื่อนั้นชื่อนี้ได้รับมุรธาภิเษกเป็นกษัตริย์แล้วย่อมมีความหวังว่า สักวันหนึ่งตนคงเป็นเช่นนั้นบ้าง บุคคลเช่นนี้เรียกว่า "ผู้มีหวัง" (ในทางโลก)

ภิกษุบางรูป เป็นผู้มีศีล มีธรรมดีงาม ได้ฟังข่าวว่า ภิกษุชื่อนั้นชื่อนี้ได้บรรลุธรรม หาอาสวะมิได้แล้วย่อมมีความหวังว่า สักวันหนึ่งตนก็คงได้บรรลุธรรมเช่นนั้นบ้าง ภิกษุเช่นนี้เรียกว่า "ผู้มีหวัง" (ในทางธรรม)

พระราชาผู้ได้รับมุรธาภิเษกเป็นกษัตริย์แล้ว ได้ยินว่าเจ้าชายชื่อนั้นชื่อนี้ได้เป็นกษัตริย์แล้ว ย่อมได้คิดอยากเป็นพระราชา เพราะตนได้เป็นก่อนแล้ว พระองค์ไม่จำเป็นต้องหวังอีกต่อไป อย่างนี้เรียกว่า "ผู้ไม่หวัง" (ในทางโลก)

ภิกษุผู้เป็นอรหันต์แล้ว แม้จะได้ยินว่า มีภิกษุชื่อโน้นชื่อนี้ได้เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่หวังอยากเป็นเช่นนั้น เพราะตนได้เป็นเรียบร้อยแล้ว อย่างนี้เรียกว่า "ผู้ไม่หวัง" (ในทางธรรม)

ข้อความนี้จาก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สรุปสั้นๆ ว่า ภิกษุทุศีลเป็นคน "หมดหวัง" ภิกษุมีศีลเป็นคน "มีหวัง" พระอรหันต์เป็นคน "ไม่หวัง" ใครอยากเป็นคนประเภทไหนก็เลือกเอาเทอญ •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๕)  อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายวันหนึ่งว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีบุคคลอยู่ ๓ ประเภท คือ คนตาบอดสนิท คนตาบอดข้างเดียว และคนตาดีทั้ง สองข้าง"

พระองค์ทรงอธิบายต่อไปว่า "คนตาบอดสนิท" หมายถึงคนที่ไม่สามารถตั้งเนื้อตั้งตัวทางทรัพย์สิน ไม่สามารถทำทรัพย์สมบัติของตระกูลให้เจริญไพศาลได้ และไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ (นี้เป็นคนตาบอดสนิททั้งทางโลกและทางธรรม)

"คนตาบอดข้างเดียว" หมายถึงคนที่ประสบความสำเร็จในทางแสวงหาทรัพย์สิน และทำความเจริญงอกงามแก่ทรัพย์สินที่หามาได้นั้น แต่ล้มเหลวทางศีลธรรม ไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ (นี้เรียกว่าไม่บอดทางโลกแต่บอดทางธรรม)

"คนตาดีทั้งสองข้าง" หมายถึงคนที่ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ทางทรัพย์สิน และประสบความสำเร็จในทางธรรม คือ รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ (นี้เรียกว่าทางโลกก็ไม่บอด ทางธรรมก็ ไม่บอด)

ข้อความนี้จาก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต คัดมาจากเครื่องเตือนใจ ควรแยกว่าคฤหัสถ์กับบรรพชิตไม่เหมือนกัน ชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์นั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้แสวงหาทรัพย์สินในทางทุจริต เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวและเพื่อเจือจานสังคม ไม่เคยสอนให้คฤหัสถ์ทำตนเป็นคนยากจน แต่ทรงเน้นว่า เมื่อร่ำรวยแล้วให้สละทรัพย์สินที่มีช่วยเหลือสังคม เมื่อประสบความสำเร็จทางทรัพย์สินแล้วก็ให้ก้าวไปสู่ความเจริญทางคุณธรรมด้วย อย่างนี้จึงจะชื่อว่า "คนตาดีทั้งสองข้าง" ส่วนภิกษุนั้นทรงสอนให้มักน้อยในปัจจัยสี่ แต่พัฒนาทางจิตใจ ลด ละ กิเลสตามลำดับจนหมดสิ้นไปในที่สุด

คฤหัสถ์ชาวพุทธเป็นอาเสี่ยน่ะดี แต่พระภิกษุจะทำตนเป็น "หลวงเสี่ย" มีแต่ทางเสียครับ•



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๖)  ธนัญชานิสูตร
พระสารีบุตรอัครสาวก ได้ทราบว่า ธนัญชานิพราหมณ์ อยู่ด้วยความประมาทจึงไปเยี่ยมถามว่า "ท่านอยู่ด้วยความไม่ประมาทหรือไม่" พราหมณ์ตอบว่า "จะไม่ประมาทได้อย่างไร ข้าพเจ้ามีบุตร ภรรยา บิดา มารดา ข้าทาส และคนรับใช้ต้องเลี้ยงดู ต้องรับใช้มิตรและอำมาตย์ ทำหน้าที่สงเคราะห์ญาติ ต้อนรับแขก ต้องทำบุญบวงสรวงเทพยดา อุทิศส่วนกุศล แก่บรรพชน และต้องบำรุงบำเรอร่างกายตนเองให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดี"

พระสารีบุตรถามว่า "คนที่ประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะอ้างว่าทำเพื่อบิดา มารดา บุตร ภรรยา เป็นต้น ตายไปแล้ว นายนิรยบาลจะโยนลงนรก จะอ้างได้ไหม ถึงจะอ้างว่าอย่างไร นายนิรยบาลก็คงไม่ฟัง คงไล่เขาลงสู่นรกอยู่นั้นเอง"

พระสารีบุตรถามว่า "คนประพฤติชอบธรรม เพื่อบิดา มารดา บุตร ภรรยา เป็นต้น กับคนประพฤติไม่ชอบธรรม เพื่อบิดา มารดา บุตร ภรรยา เป็นต้น คนไหนจะประเสริฐกว่ากัน" พราหมณ์รับว่า "คนแรกประเสริฐกว่า"

พระสารีบุตรกล่าวสอนว่า "ยังมีการงานอย่างอื่นอีกมากมายที่บุคคลจะพึงทำเพื่อเลี้ยงตนเอง และบิดา มารดา บุตร ภรรยา เป็นต้นให้มีความสุข โดยไม่ต้องทำบาปกรรม"

พระสูตรนี้ชื่อ ธนัญชานิสูตร ให้ข้อคิดว่า คนทั่วไปก็ไม่ต่างจากพราหมณ์คนนี้ คือ คิดว่า ตนยังมีภาระจะต้องเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว บางครั้งจึงจำต้องทำบาปทำกรรม หรือทุจริตในหน้าที่เพื่อหาเงินมายังชีพ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น ก็ไม่รู้จะเอาอะไรกิน แต่ความจริง จะมาอ้างความจำเป็นในการยังชีพมาทำความชั่วหาได้ไม่ เพราะยังมีหน้าที่การงานอย่างอื่นอีกมากมายที่ทำเงินได้ โดยไม่ต้องทุจริตคิดมิชอบ

ในพระสูตรนี้บอกด้วยว่า ภรรยาเก่าที่ตายไปของพราหมณ์เป็นคนมีศีลธรรม ภรรยาใหม่เป็นคนไม่มีศีลธรรม คงจะยุให้พราหมณ์ใช้อำนาจหน้าที่ผิดๆ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวอะไรทำนองนั้น

มีฝากไว้ด้วยว่า คนที่ พ.พ.ม. (พังเพราะเมีย) มีมาก่อนแล้วและยังคงมีต่อไป



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๗)  อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
"ภิกษุทั้งหลาย มีลัทธินอกพระพุทธศาสนา ๓ ลัทธิ คือ
(๑) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่งที่คนเราได้รับในปัจจุบัน ทั้งหมดล้วนเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน

(๒) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ที่คนเราได้รับในปัจจุบันทั้งหมดล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระเจ้าผู้เป็นใหญ่

(๓) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ที่คนเราได้รับในปัจจุบัน ทั้งหมดล้วนหาเหตุปัจจัยมิได้

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลยึดแต่กรรมเก่าเป็นสาระ....ยึดแต่การบันดาลของพระเจ้า ผู้เป็นใหญ่เป็นสาระ...ยึดแต่ความไม่มีเหตุปัจจัยเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ย่อมไม่มี"

พุทธวจนะนี้มาจาก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ฟังคำแปลค่อนข้างเข้าใจยาก ขอถอดความง่ายๆ ว่า มีคนอยู่ 3 จำพวก จำพวกหนึ่งชื่อว่า คนเราจะสุขจะทุกข์ เพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนอย่างเดียว อย่างอื่นไม่เกี่ยว อีกพวกหนึ่งเชื่อว่า เพราะพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลอย่างเดียว อีกพวกหนึ่งว่า มันเป็นไปเองโดยบังเอิญ

ทั้ง ๓ จำพวกนี้ยังเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง "กรรม" ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าเชื่ออย่างนั้นจะไม่มีความคิดที่จะกระทำ หรือปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีกว่าเดิม จะปล่อยไปตามเรื่องตามราวที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นความเชื่อที่ผิด มันผิดตรงนี้แหละครับ

นักเรียนที่เรียนไม่เอาไหน สอบตกแทบทุกวิชามิใช่เพราะกรรมเก่า หรือเพราะเทพเจ้าบันดาลหรือเพราะความบังเอิญดอกครับ เพราะการกระทำของตนเองในปัจจุบันนี้เอง

เรียนก็ไม่สนใจเรียน เอาแต่ชวน กันไป "ซิ่ง" ไปเที่ยว ไปเล่นเกมออนไลน์บ้างจนตาเหล่ ตาเจ็บบ้าง แล้วจะไปโทษสิ่งโน้นสิ่งนี้ได้อย่างไรเล่า ลูกหลานเอ๋ย  •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๘)  มาคัณฑิยสูตร
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่โรงบูชาไฟของภารทวาชพราหมณ์ ใกล้นิคาของชากุรุ ในกุรุรัฐ ได้ทรงสนทนากับมาคัณฑิยปริพาชก เกี่ยวกับเรื่อง "โทษของกาม" เป็นอเนกประการ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

"มาคัณฑิยะ เปรียบเหมือนบุรุษเป็นโรคผิวหนังร้ายแรง มีตัวเป็นแผลมีตัวสุก มีหมู่กิมิชาติชอนไช เกาปากแผลด้วยเล็บ ย่างกายให้ร้อนด้วยไฟ ปากแผลของเขาสกปรกขึ้น มีกลิ่นและ เน่าขึ้น เขาพึงมีความเอร็ดอร่อย ความพอใจสักหน่อยหนึ่ง เพราะการเกาปากแผลนั้นเป็นเหตุ ฉันใด

สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม ถูกกาม ตัณหาเคี้ยวกินอยู่ ถูกความเร่าร้อนเพราะความ ปรารถนากามแผดเผาอยู่ ยังเสพกามอยู่ สัตว์เหล่านั้นจะพึงมีความเอร็ดอร่อย ความพอใจอยู่บ้างสักหน่อยหนึ่งเพราะอาศัยกามคุณทั้งห้าประการนั้น"

ข้อความนี้มาจาก มาคัณฑิยสูตร คำแปลของท่านอาจฟังยาก ใจความก็คือ คนเป็นโรคผิวหนัง(ในพระสูตรท่านว่าเป็นโรคเรื้อน) เอาแค่โรคหิด โรคกลากก็ได้ มักจะคันยิบๆ ไปทั้งตัว อดที่จะเกาไม่ได้ ขณะเกาก็รู้สึกสบายดี ยิ่งเกาก็ ยิ่งมัน

ความสุขของคนเป็นหิดเป็นกลาก ก็คือสุขจากการเกา ไม่ต่างกับปุถุชนคนมีกิเลส ยังเห็นว่ากามคุณห้า(รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) เป็นของน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ต่างก็แสวงหามาบำรุงบำเรอตน ยิ่งเสพยิ่งบริโภคก็ยิ่งมีความรู้สึกว่ามันหวานมันเสียนี่กระไร ครั้นพระท่านบอกว่ากามคุณทั้งหลายมีสัมผัสร้อน มีทุกข์มาก มีความพอใจน้อย ก็นึกเถียงอยู่ในใจ ยิ่งท่านว่าความสุขจากกามไม่ต่างอะไรกับความสุขจากการเกาหิดเกากลากก็นึกถึงอีก "ถึงยังไงมันก็มันดี"

ต่อเมื่อเกาจนมันเป็นแผลนั่นแหละ จึงจะรู้ว่ามันปวดแสบปวดร้อนอย่างไร



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๙)  นาวาสูตร
"ภิกษุทั้งหลาย รอยนิ้วมือหรือรอยนิ้วหัวแม่มือ ย่อมปรากฏที่ด้ามมีดของนายช่างไม้ แต่นายช่างไม้หารู้ไม่ว่า วันนี้ด้ามมีดของเขาสึกไปประมาณเท่านี้ เมื่อวานนี้สึกไปประมาณเท่านี้ วันก่อนๆ สึกไปประมาณเท่านี้ นายช่างไม้มีความรู้สึกแต่เพียงว่า สึกไปแล้ว สึกไปแล้ว โดยแท้ ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุปฏิบัติธรรมอยู่ ก็หารู้ไม่ว่า วันนี้กิเลสและอาสวะทั้งหลายของเราหมดไปแล้วประมาณเท่านี้ เมื่อวานนี้หมดไปแล้วเท่านี้ วันก่อนๆ หมดไปแล้วเท่านี้

แต่เมื่อกิเลสและอาสวะสิ้นไปหรือหมดไปแล้วนั่นแหละ เธอย่อมรู้ว่า หมดไปแล้ว สิ้นไปแล้ว ฉันนั้นแล"

ข้อความนี้จาก นาวาสูตร ให้ข้อคิดว่า เมื่อเราฝึกฝนอบรมจิต หรือปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติถูกทาง "สิ่งที่ควรลดก็ย่อมลด สิ่งที่ควรเพิ่มก็ย่อมเพิ่ม" สิ่งที่ควรลดก็คือ กิเลสทั้งหลายนั่นแหละ มักจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ ขณะเดียวกัน ปัญญา เมตตา กรุณา และความบริสุทธิ์ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

ไม่รู้หรอกว่ากิเลสมันลดลงวันละเท่าไร แต่เมื่อมันลดลงแล้วนั่นแหละจะรู้เอง เหมือนด้ามมีดที่กำอยู่ทุกวันมันสึกกร่อนลงทีละนิดๆ ไม่รู้หรอก จะรู้ก็ต่อเมื่อมันสึกกร่อนให้เห็นชัดเจนแล้วนั่นแหละ เปรียบอย่างนี้ชาวไร่ ชาวนาที่กำ มีดกำเคียวอยู่เสมอย่อมเข้าใจดี ถ้าจะเปรียบให้ชาวเมืองฟังก็น่าจะเปรียบเหมือนยางล้อรถสึกนั่นแหละครับ

ที่น่าคิดก็คือ กิเลสลดหรือไม่ ตัวเราเท่านั้นที่รู้ดี คนอื่นหารู้ไม่ เพราะฉะนั้นที่ไปชี้ว่าใครเป็นอริยะอรหันต์นั่นนะ ล้วนพวกเบลอๆ ทั้งนั้นแหละ โยมเอ๋ย  •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๐)  สมุททสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมกล่าวว่า "มหาสมุทร" มหาสมุทรที่เขาเรียกนั้น มิใช่มหาสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า มหา สมุทรนั้นเป็นเพียงแอ่งน้ำใหญ่ เป็นเพียงห้วงน้ำใหญ่

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นับเป็น "มหาสมุทร" ของคน กำลังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิดคำนึง

บุคคลใดย่อมอดกลั้นกำลัง อันเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิดคำนึงนั้นได้ บุคคลนี้เรียกว่าเป็น "พราหมณ์" ในความหมายของพระพุทธศาสนา (พราหมณ์ในความหมายของพระพุทธเจ้าคือ ผู้หมดบาป ผู้ลอยบาปทิ้งแล้ว)

บุคคลนี้สามารถข้ามมหาสมุทรคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นไปยืนอยู่บนบกได้ อยู่จบพรหมจรรย์ถึงที่สุดแห่งโลก ข้ามถึงฝั่งแล้ว"

ข้อความนี้จาก สมุททสูตร ตรัสให้ข้อคิดว่า มหาสมุทรหรือทะเลหลวงที่ว่ากว้างใหญ่มีคลื่นน้ำวนและมีสัตว์ร้ายนานาชนิดตามที่ชาวโลกเขาเรียกกันนั้น ความจริงเป็นเรื่องเล็กใครต่อใครสามารถข้ามได้มานักต่อนักแล้ว แต่ "มหาสมุทร" คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึงนี่สิ ยากที่จะข้ามได้ง่ายๆ เพราะปุถุชนส่วนมากมักจะหลงติดอยู่ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน เป็นต้น เท่ากับว่าจมอยู่วังน้ำวน ถูกกระแสคลื่นคือ กิเลสพัดพาไปตามยถากรรม

ที่น่าสงสารก็คือ กำลังจะ "จมดิ่งลงสู่ก้นสมุทร" ยังไม่รู้ตัวนี่สิครับ



     "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๑)  นครวินเทยยสูตร
นักบวชเหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่เห็นด้วยตา มีความลุ่มหลงในเสียงที่ได้ยินด้วยหู มีความลุ่มหลงในกลิ่นที่ได้ดมด้วยจมูก มีความลุ่มหลงในรสที่ได้ลิ้มด้วยลิ้น มีความลุ่มหลงในสัมผัสที่ได้ถูกต้องด้วยกาย มีความลุ่มหลงในความคิดคำนึงที่เกิดทางใจ มีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา และทางใจอยู่

นักบวชเหล่านี้ไม่ควรที่ใครจะสักการะ ไม่ควรเคารพนับถือ และบูชา เพราะเหตุใด? เพราะว่า แม้พวกชาวบ้านยังมีความกำหนัด มีความขัดเคือง มีความลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา และทางใจอยู่ เมื่อพวกเขาเห็นนักบวช มีความประพฤติไม่ยิ่งไปกว่าเขา เช่นนี้ พวกเขาไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ และบูชา

ถ้านักบวชเหล่าใดประพฤติตนตรงข้ามจากนี้ นักบวชเหล่านั้นจึงควรแก่การสักการะเคารพ นับถือ และบูชา ของชาวบ้านโดยแท้"

ข้อความข้างต้นจาก นครวินเทยยสูตร ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ หมู่บ้านนคร วินเทยยะ ในรัฐโกศล ชาวบ้านมากราบทูลถามว่า นักบวชพวกไหนควรที่พวกเขาจะเคารพนับถือบูชา พระองค์ให้หลักว่า การควรเคารพนับถือบูชานักบวชที่ "บวช" ทั้งกาย และใจ คือออกจากกามารมณ์โดยสิ้นเชิง ถ้านักบวชใดยังมีความกำหนัด ขัดเคืองและหลงอยู่ในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสความคิดคำนึง ก็ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้าน

แล้วอย่างนี้จะมีคุณความดีอะไรให้เขากราบไหว้นับถือเล่า •



     "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๒)  พาลสิกสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรานเบ็ดหย่อนเบ็ดที่มีเหยื่อลงในห้วงน้ำลึก ปลาที่เห็นแก่เหยื่อตัวใดตัวหนึ่งกลืนกินเบ็ดนั้น ชื่อว่า กลืนเบ็ดของนายพรานเบ็ด ย่อมถึงความวิบัติ พรานเบ็ดย่อมกระทำเอาตามใจชอบฉันใด

ในโลกนี้มี "เบ็ด" อยู่ 6 อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึง ที่พึงรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ

ภิกษุใดเพลิดเพลิน สรรเสริญ และหมกมุ่นอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึงนั้นๆ ภิกษุนั้นเรียกว่า "กลืนเบ็ดของมาร" ย่อมถึงความวิบัติ มารย่อมกระทำเอาตามใจชอบฉันนั้น

ถ้าภิกษุใด ไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ และไม่หมกมุ่นอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึง ที่พึงรู้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นๆ ภิกษุนั้นเรียกว่า ไม่ได้กลืนเบ็ดของมาร ตรงกันข้ามกับทำลาย ย่ำยีเบ็ดของมารได้ ไม่ถึงความวิบัติ มารใจบาปย่อมทำอะไรตามใจชอบไม่ได้

ข้อความข้างต้นจาก พาลสิกสูตร น่าคิดนะครับ คนเรามักจะกลัว "มาร" คิดภาพเอาว่ามารก็คือปีศาจร้ายที่คอยล้างผลาญคน แต่น้อยคนจะคิดว่า อันที่จริงมารก็อยู่ในตัวเรานี่เอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความนึกคิด คำนึงของเรานี้เอง ถ้าเราปล่อยให้มันชักจูงไปต่างๆ นานาก็เท่ากับว่า สิ่งเหล่านี้เป็นมารล้างผลาญเรา แต่ถ้าเราสำรวมระวัง ไม่ตกเป็นทาสของมันก็เท่ากับเราทำลายกำจัดอิทธิพลร้ายของมารได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระพุทธองค์ทรงสอนเน้นพระภิกษุว่า อย่าหลง "กลืนเบ็ดมาร" เจ้ากูรูปใดหลงกลืนเข้าไปแล้วก็นับเป็นเวรกรรมของเจ้ากูรูปนั้น ยิ่งดิ้นก็ยิ่งเจ็บปวดทรมาน •



     "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๓)  บิณฑปาตปาริสุทธิสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสชมพระสารีบุตรว่า มีผิวพรรณผ่องใส เธออยู่ด้วยธรรมอะไร พระสารีบุตรกราบทูลว่าอยู่ด้วยความว่าง ทรงอนุโมทนาแล้วตรัสแนะนำให้ทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ใจความย่อว่า

ถ้าภิกษุต้องการอยู่ด้วยความว่าง เวลาเข้าไปบิณฑบาตให้สังเกตจิตของตนว่า มีความพอใจ มีความกำหนัด มีความขัดเคือง มีความหลง มีความชอบ มีความชัง ในสิ่งที่มองเห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ได้สูดดม รสที่ได้ลิ้ม สัมผัสที่ได้ถูกต้อง และเรื่องที่คิดคำนึงหรือไม่

หลังจากกลับจากบิณฑบาตแล้ว มีความชอบ ความชัง ความหลง หรือได้กระทบอารมณ์ทางใจที่เป็นอกุศล ก็จงพยายามละเสีย ถ้าเป็นฝ่ายกุศลก็ให้รักษาไว้ด้วยความยินดี

พระพุทธองค์ทรงแนะนำต่อไปว่า ให้ละกามคุณ ๕ นิวรณ์ ๕ กำหนดรู้อุปมาทานขันธ์ ๕ เจริญสติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามลำดับ

ข้อความนี้จาก บิณฑปาตปาริสุทธิสูตร ให้ข้อคิดว่า การบิณฑบาตมิใช่เพียงไปขอข้าวชาวบ้านฉันอย่างเดียว หากเป็นอุบายฝึกฝนอบรมจิตด้วย ขณะเข้าไปรับอาหาร ให้กำหนดจิตของตนว่า ในขณะที่เห็นรูป ได้ยินเสียง เป็นต้น มีความชอบ ความชัง มีความกำหนัดขัดเคือง เป็นต้น หรือไม่อย่างไรกลับมาแล้วมีความรู้สึกเหล่านั้นหรือไม่อย่างไร ถ้ามีก็ให้พยายามละ ฝึกนึกคิดสิ่งที่ดีงาม อันจะเกื้อกูลการปฏิบัติขั้นสูงๆ ต่อไป เช่น การละกามคุณ ละนิวรณ์ เป็นต้น

เสียดายว่าเดี๋ยวนี้พระภิกษุจำนวนมากไม่ออกบิณฑบาตกันแล้ว ด้วยคิดเพียงว่า มีอาหารฉันเป็นประจำแล้ว กิจวัตรที่ควรทำก็เลยงดวันไป ที่โบราณเรียกการบิณฑบาตว่า "โปรดสัตว์" นั่นท่านหมายความเอา "โปรดตัวเอง" (คือ เป็นวิธีฝึกตนเอง) ด้วย นอกเหนือจากการไปโปรดชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาใส่บาตร  •



     "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๔)  สคารวสูตร
"ดูก่อนพราหมณ์ ภาชนะใส่น้ำ ซึ่งผสมด้วยสีครั่ง สีเหลือง สีเขียว สีแดง คนตาดีเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำที่ผสมด้วยสีนั้นๆ ย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ผู้มีจิตฟุ้งซ่านด้วยราคะ ย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งราคะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ฉันนั้น

ดูก่อนพราหมณ์ ภาชนะใส่น้ำร้อนที่เดือดพล่าน มีไอพุ่งขึ้น คนตาดีเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้นย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ผู้มีจิตฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท (คิดปองร้ายเขา) ย่อมไม่รู้ ไม่เห็น อุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งพยาบาทซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง ฉันนั้น

ดูก่อนพราหมณ์ ภาชนะใส่น้ำซึ่งถูกลมพัดให้กระเพื่อม คนตาดีเมื่อมองดูใบหน้าของตนในน้ำนั้นย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ผู้มีจิตฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจ กุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) ย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอุทธัจจะ กุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง ฉันนั้น

ดูก่อนพราหมณ์ ภาชนะใส่น้ำซึ่งขุ่นมัวเป็นตมคนตาดีเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ผู้ที่มีจิตฟุ้งซ่านด้วย วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ย่อมไม่รู้ ไม่เห็น อุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง ฉันนั้น"

ข้อความนี้จาก สคารวสูตร เปรียบเทียบไว้น่าฟังในน้ำเจือสี น้ำเดือด น้ำมีจอกเแหนปกคลุมและน้ำขุ่นเป็นตม คนเรามองดูเงาตัวเองไม่เห็น, คนที่จิตใจถูกนิวรณ์ครอบงำก็เช่นกัน ถึงมีตาดีก็เหมือนคนตาบอด มองหาทางออกไม่เจอ จึงแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ได้แต่ซัดกันไปซัดกันมา ตามประสา "คนตามืดมิดจิตมืดมน" เช่นนี้แหละโยมเอ๋ย •



     "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๕)  อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต (ไม่มีชื่อพระสูตร)
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวก ที่ยังละบาปกรรม ๓ อย่างไม่ได้จะต้องไปอบาย ไปนรก บุคคล ๓ จำพวก คือ
๑. ผู้มิใช่พรหมจารี แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารี
๒. ผู้กำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้บริสุทธิ์ ด้วยการ กล่าวหาไม่มีมูล
๓. ผู้มีความเห็นว่า กามไม่มีโทษ"

๑. ผู้มิใช่พรหมจารี หมายถึง ผู้มิใช่สมณะ ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ คือ เป็นพระต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ยังดื้อด้านไม่ยอมสละเพศ คนประเภทนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า ถึงจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ และบอกใครต่อใครว่าฉันเป็นพระ ก็หาเป็นพระไม่ ดุจลาเดินตามฝูงโค แม้จะร้อง "มอๆ" ก็หาใช่โคไม่ คนประเภทนี้ตายไปแล้วไม่แคล้วลงนรก หรือลงนรกตั้งแต่ยังไม่ตายเลยก็ว่าได้

๒. คนประเภทที่ ๒ คือ ผู้ที่กล่าวหาฟ้องร้องภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ ด้วยข้อหาไม่มีมูลทางพระวินัยปรับอาบัติสังฆาทิเสส แก่ภิกษุผู้โจทก์ภิกษุอื่นด้วยข้อหาปาราชิกไม่มีมูล การกล่าวหาไม่มีมูล เพื่อทำลายผู้บริสุทธิ์แสดงถึงจิตใจต่ำทรามของผู้โจทก์เป็นคนพูดเท็จทั้งๆ ที่รู้

๓. คนประเภทที่ ๓ คือ ผู้ที่ไม่เห็นโทษในกาม หมกมุ่นอยู่ในกาม ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็พอทำเนา แต่ถ้าถือเพศบรรพชิตยังสรรเสริญกามหรือบริโภคกามอยู่ก็เท่ากับไม่ได้บวชนั่นเอง คำว่า "บริโภคกาม" มิได้หมายเพียงประกอบกามกิจอย่างชาวบ้าน หากหมายถึงยังยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าใคร่น่าพอใจด้วย

พุทธวจนะข้างต้นนั้น จาก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ไม่มีชื่อพระสูตร จึงมิได้บอกไว้ ฝากไว้พิจารณาเพื่อประดับสติปัญญาและเป็นคติเตือนใจด้วย ฝากทุกคนนั่นแหละขอรับ •


     "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๘)  อุปกิเลสสูตร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เครื่องมัวหมองของพระจันทร์และพระอาทิตย์ อันเป็นเหตุให้พระจันทร์และพระอาทิตย์ไม่ส่องแสงไพโรจน์มี ๔ ประการ คือ เมฆ ๑ หมอก ๑ ควันและละออง ๑ ราหูจอมอสูร ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลส (เครื่องมัวหมอง) ของสมณพราหมณ์ทั้งหลายอันเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์ไม่สง่างาม ไม่รุ่งเรืองไพโรจน์มี ๔ ประการคือ ดื่มสุรา และเมรัย ๑ เสพเมถุนธรรม ๑ ยินดีทองและเงิน ๑ เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ๑

สมณพราหมณ์บางพวก ถูกราคะและโทสะครอบงำแล้ว อวิชชาหุ้มห่อแล้ว ย่อมดื่มสุราเมรัย เสพเมถุนธรรม เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง ยินดีทองและเงิน สมณพราหมณ์บางพวก เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ สมณพราหมณ์พวกนี้ย่อมไม่สง่างาม ไม่รุ่งเรืองไพโรจน์ เป็นที่รู้กันว่าไม่บริสุทธิ์ มีธุลี คือ กิเลส อันความมืดปกคลุมแล้วเป็นทาส ตัณหา ถูกตัณหาชักจูงไป ย่อมเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏไม่สิ้นสุด

ข้อความนี้จาก อุปกิเลสสูตร ตรัสสอนสมณพราหมณ์ หรือพวกนักบวชโดยเฉพาะ แต่ชาวบ้านก็ควรรู้ด้วย จะได้ตัดสินถูกว่านักบวชประเภทใดควรแก่การเคารพนับถือ หรือควรแก่การตำหนิหรือขจัดออกจากพระศาสนา

สุราเมรัยนั้น ทางพระวินัยถ้าพระดื่มปรับอาบัติเบาแค่ "ปาจิตตีย์" แต่เนื่องจากเป็นโลกวัชชะ (ชาวบ้านติเตียน) เป็นความเศร้าหมองของพระ ใครละเมิด ถูกสึกได้ เงินทองถ้าจับต้องและมีไว้ครอบครอง (มีครอบครองโดยไม่จับก็ผิดเหมือนกัน ไม่ต้องตีความเข้าข้างตัว) ปรับอาบัติ "นิสสัคคียปาจิตตีย์" ไม่ถึงกับขาดจากความเป็นพระ แต่ถ้าทุจริตเรื่องเงินทอง เช่น ลัก ยักยอก ราคาเกิน ๕ มาสก (๑ บาท) ขึ้นไปขาดจากความเป็นพระ

เมถุนธรรม ชาวบ้านทำได้ในกรอบของ ศีล (ไม่ผิดศีลข้อ ๓) แต่พระทำไม่ได้ ย่อมขาดจากภิกษุภาวะทันที เสพเมถุนธรรม ไม่จำต้องให้ใครมาฟ้องร้องกล่าวหา พระวินัยของพระพุทธองค์ศักดิ์สิทธิ์ในตัวอยู่แล้ว •



ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
15-...
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 มีนาคม 2558 14:09:11 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 25 มีนาคม 2558 15:33:20 »


    "พระสูตรน่าสนใจ" (๙๐)  กุมภสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หม้อน้ำ ๔ ชนิด คือ หม้อน้ำเปล่าปิดชนิด ๑ หม้อน้ำเต็มเปิดชนิด ๑ หม้อน้ำเปล่าเปิดชนิด ๑ หม้อน้ำเต็มปิดชนิด ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลกลางคนมีอากัปกิริยาดูน่าเลื่อมใส มารยาทเรียบร้อย แต่ไม่รู้อริยสัจ บุคคลนี้เปรียบเหมือนหม้อน้ำเปล่าที่ปิดฝาไว้
บุคคลอากัปกิริยาดูไม่น่าเลื่อมใส ไม่ค่อยเรียบร้อย แต่รู้อริยสัจ บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนหม้อน้ำเต็มเปิด
บุคคลบางคนดูน่าเลื่อมใส มารยาทเรียบร้อย และไม่รู้อริยสัจด้วย บุคคลนี้เปรียบเหมือนหม้อน้ำเปล่าเปิด
บุคคลบางคนอากัปกิริยาดูน่าเลื่อมใส มารยาทเรียบร้อย และรู้อริยสัจด้วย บุคคลนี้เปรียบเหมือนหม้อน้ำเต็มปิด"

ข้อความนี้จาก กุมภสูตร เปรียบคนเหมือนหม้อน้ำ ในเมืองอินเดียไปไหนๆ ก็จะเห็นหม้อน้ำ การยกเอาสิ่งที่พบเห็นอยู่ประจำมาสอนเปรียบเทียบ ทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายและเข้าใจได้เร็ว การสอนด้วยอุปมาอุปไมยเป็นวิธีการหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงใช้มากที่สุด

คนที่ไม่มีอะไรแล้วเปิดเผยให้คนเห็นว่าไม่มีอะไร ก็น่ารักไปอีกอย่างหนึ่ง ถึงจะเปรียบเหมือนหม้อน้ำเปล่าเปิดฝาก็ตาม แต่คนที่น่าเกลียดคือคนที่ไม่มีอะไรดีในตัว แถมยังปิดบังซ่อนเร้นนี้สิ เขาเปรียบเหมือนหม้อเปล่าปิดฝาไว้ ในหม้อเปล่านั้นซ่อนอสรพิษอยู่ด้วยหรือเปล่านี่ยากที่จะรู้

นี่เป็นการ "ตีความ" นัยหนึ่งเท่านั้นนะครับ อาจตีความอีกอย่างอื่นก็ได้ ฝากไว้ให้คิด •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๙๒)  คัทรสูตร
"ภิกษุทั้งหลาย ลาที่เดินตามฝูงโค แม้มันจะร้องว่า "ข้าเป็นโค ข้าเป็นโค" ก็ตาม แต่สีของมันหาเป็นสีโคไม่ เสียงของมันหาเป็นเสียงโคไม่ เท้าของมันก็หาเป็นเท้าโคไม่ มันได้แต่เดินตามฝูงโคไปข้างหลังแล้วร้องว่า "ข้าเป็นโค ข้าเป็นโค" ดังนี้เท่านั้น ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปก็ฉันนั้น แม้เดินตามภิกษุทั้งหลายไปข้างหลัง จะร้องประกาศว่า "ฉันเป็นภิกษุ ฉันเป็นภิกษุ" ก็ตาม ความปรารถนาในการประพฤติศีลสิกขาของเธอ ไม่เหมือนภิกษุแท้ทั้งหลาย ความปรารถนาในการประพฤติจิตตสิกขาของเธอ ไม่เหมือนภิกษุแท้ทั้งหลาย ความปรารถนาในการประพฤติปัญญาสิกขาของเธอไม่เหมือนภิกษุแท้ทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นเดินตามหมู่ภิกษุ ประกาศเอาเองว่า "ฉันเป็นภิกษุ ฉันเป็นภิกษุ" ดังนี้เท่านั้น

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงสำเหนียกศึกษาอย่างนี้ว่า "ความปรารถนาในการประพฤติศีลสิกขาของเราต้องเข้มงวดเสมอ ความปรารถนาเห็นการประพฤติจิตตสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ ความปรารถนาในการประพฤติปัญญาสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ พวกเธอพึงสำเหนียกศึกษาอย่างนี้แล้ว"

ข้อความนี้จาก คัทรสูตร ให้ข้อคิดว่า ในพระพุทธศาสนาก็อาจมีผู้แอบแฝง เข้ามาอาศัยพระศาสนาหากิน ปลอมเป็นพระ คนพวกนี้ส่วนมากก็บวชถูกต้อง มีอุปัชฌาย์ อาจารย์ แต่อุปัชฌาย์อาจารย์ปล่อยปละละเลย ไม่อบรมสั่งสอน ถูกความอยากใหญ่ครอบงำตั้งตนเป็นอาจารย์ จัดฉาก โฆษณาตัวเองเพื่อสร้างความเด่นความดัง ไม่สนศึกษาปฏิบัติ บ้างก็สอนธรรมะผิดๆ ถูกๆ บ้างก็ละเมิดพระวินัยอย่างร้ายแรง คนพวกนี้ถึงจะบอกใครต่อใครว่า "อาตมาเป็นพระ" ก็หาใช่พระไม่ พระพุทธองค์ทรงเปรียบเห็นภาพดีคือเปรียบดุจลาในฝูงโค ยังไงๆ มันก็เป็นลาวันยังค่ำ

พระปลอมอาศัยพระศาสนาหากิน นับว่าบาปอยู่แล้ว ญาติโยมที่อุปถัมภ์บำรุงหรือสนับสนุนพระปลอมนั้น บาปกว่าหลายร้อยเท่าเพราะให้กำลังอลัชชีทำลายพระพุทธศาสนาเรื่องมันเป็นอย่างนี้แหละครับ •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๙๕)  มหานิทานสูตร
"ดูก่อนอานนท์ เพราะอาศัยอวิชชา (ความไม่รู้) จึงเกิดสังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) เพราะอาศัยสังขาร จึงเกิดวิญญาณ (ความรับรู้) เพราะอาศัยวิญญาณ จึงเกิดนามรูป (กระบวนแห่งนามธรรมและรูปธรรม) เพราะอาศัยนามรูป จึงเกิดสฬายตนะ (สื่อสำหรับติดต่อโลกภายนอก 6 อย่าง) เพราะอาศัยสฬายตนะ จึงเกิดผัสสะ (การสัมผัส) เพราะอาศัยผัสสะ จึงเกิดเวทนา (ความรู้สึกต่างๆ) เพราะอาศัยเวทนาจึงเกิดตัณหา (ความทะยานอยาก)

เพราะอาศัยตัณหา จึงเกิดการแสวงหา เพราะอาศัยแสวงหา จึงมีการได้มา เพราะอาศัยการได้มา จึงเกิดการตกลงใจ เพราะอาศัยการตกลงใจ จึงเกิดความรักใคร่ เพราะอาศัยความรักใคร่ จึงเกิดความฝังใจ เพราะอาศัยความฝังใจ จึงเกิดความหวง เพราะอาศัยความหวง จึงเกิดความตระหนี่ เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงเกิดการปกป้อง เพราะอาศัยการปกป้องจึงเกิดการถือไม้, ถือมีด, ทะเลาะ, แก่งแย่งขึ้นมึงขึ้นกู, ส่อเสียด, มุสาวาท

อกุศลธรรม (ความชั่วร้าย) ทั้งปวงย่อมเกิดมีด้วยประการฉะนี้"

ข้อความนี้จาก มหานิทานสูตร ตรัสถึง "ปฏฺจจสมุปมาท" (วงจรแห่งความทุกข์) ทางสังคม" ส่วนมากแล้ว พระพุทธองค์ตรัสปฏิจจสมุปบาท หรือวงจรแห่งทุกข์สำหรับปัจเจกบุคคล คือ ทรงชี้ว่า เพราะความไม่รู้ในอริยสัจ หรือในกฎแห่งเหตุปัจจัย จึงเกิดมีความคิดปรุงแต่งต่างๆ อันเป็นเหตุให้ทำกรรมดีหรือชั่ว...จนกระทั่งมีชาติ (การเกิด) เมื่อมีชาติก็มีชราและมรณะ กองทุกข์ทั้งมวลก็ย่อมมีไม่หมดสิ้น ถ้าจะให้หมดทุกข์ก็ต้องตัดวงจรนี้ ให้ได้

แต่ในพระสูตรนี้ พระองค์ตรัสปฏิจจสมุปบาท ทางสังคมว่า ต้นเหตุที่เด่นชัดแห่งความทุกข์หรือความชั่วร้ายในสังคมมาจากความอยาก เมื่ออยากก็แสวงหา เมื่อแสวงหาก็ได้มา ได้มาแล้วก็ตกลงใจ เมื่อตกลงใจก็เกิดความรักใคร่ รักมากก็ฝังใจ ฝังใจมากก็หวง หวงมากๆ ก็ตระหนี่เห็นแก่ตัว ตระหนี่มากก็พยายามปกป้องรักษากลัวสูญหาย เมื่อพยายามปกป้องก็เป็นเหตุให้ถือศาสตราอาวุธ ทะเลาะเบาะแว้ง ด่าทอ ส่อเสียด หรือโกหก ตอแหลต่างๆ ความทุกข์ความเลวร้ายจึงเกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ด้วยประการฉะนี้ •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๙๘)  พุทธวจนะ - คัดมาจากพระวินัยปิฎก  
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราพ้นจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ทั้งที่เป็นของมนุษย์ พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์

พวกเธอจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีในดวงตาน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมจะเสื่อม ผู้ที่สามารถรู้ทั่วถึงธรรมมีอยู่ ส่วนเราก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม"

พุทธวจนะนี้คัดมาจากพระวินัยปิฎก ตรัสตอนส่งพระอรหันตสาวก ๖๐ องค์ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผู้รู้กล่าวว่านี้คือ "อุดมการณ์" ของพระพุทธศาสนาทีเดียว เพราะชี้ถึงประเด็นสำคัญอย่างน้อย ๓ ประการคือ
๑. พุทธศาสนาเน้นให้ผู้บวชมาแล้วศึกษาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ จนได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ต้องทำตนให้พร้อม
๒. เมื่อพร้อมแล้วก็ออกไปช่วยสังคม จาริกไปสั่งสอนแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีงามแก่ประชาชน มิใช่ว่าบวชมาแล้วให้ปลีกตัวออกจากสังคมไปเสพความสงบสุขทางจิตใจเพียงผู้เดียว ดังที่บางคนเข้าใจ
๓. การแสดงธรรมนั้นก็พึงแสดงให้แจ่มกระจ่างให้ได้ทั้ง "ความ" (อรรถ) และ "คำ" (พยัญชนะ) อันนี้คงหมายถึงการรู้จักปรับประยุกต์วิธีการแสดงเพื่อให้สอดคล้องกับอุปนิสัยและ "อธิมุติ" (แนวโน้ม หรือความถนัด) ของผู้ฟัง เพื่อให้สำเร็จผลด้วย •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๐๐)  สันตุฏฐสูตร
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร เมือง สาวัตถี ตรัสยกย่องพระมหากัสสปเถระว่า เป็นยอดของผู้ที่สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชตามมีตามได้ เป็นผู้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษ ไม่แสวงหาด้วยวิธีอันไม่สมควร เมื่อไม่ได้ก็ ไม่เดือดร้อน เมื่อได้บิณฑบาตก็ไม่ดีใจ ไม่ติดใจ ไม่พัวพัน บริโภคปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ จักแสวงหาด้วยวิธีอันไม่สมควร

ภิกษุทั้งหลาย เราจะสอนพวกเธอ พวกเธอจงตามอย่างกัสสปะ หรือผู้ใดทำตัวได้อย่างกัสสปะ พวกเธอจงปฏิบัติตนเหมือนผู้นั้น

ข้อความนี้จาก สันตุฏฐสูตร ทรงสอนให้ภิกษุอื่นเอาอย่างพระมหากัสสปะ หรือเอาตามอย่างผู้ที่มีปฏิปทาเหมือนพระมหากัสสปะ ในเรื่องความเป็นผู้มักน้อยในปัจจัย ๔ ได้มาอย่างใดก็ยินดีตามนั้น ไม่เป็นผู้โลภมาก ไม่สะสมบริขารจนมากมายเกินจำเป็น

โบราณว่า "พระงามที่จน คน (ชาวบ้าน) งามที่มี" พระกับคฤหัสถ์งามไม่เหมือนกัน พระยิ่งจนยิ่งงาม ส่วนคฤหัสถ์จนไม่งาม มีแต่คนเขาดูถูก

อย่าให้กลับตาลปัตรเป็นอันขาดนะขอรับ •



    "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๐๑)  มหาปรินิพพานสูตร
"ดูกรคหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีล สมบัติ (ความถึงพร้อมด้วยศีล) มี ๕ ประการ คือ
(๑) คนมีศีลย่อมถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์อันยิ่งใหญ่ เพราะความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ ของการมีศีล
(๒) เกียรติศัพท์อันงามของคนมีศีลย่อมฟุ้งขจรไป นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ของการมีศีล
(๓) คนมีศีลจะเข้าไปสู่บริษัท (ชุมชนใด) ไม่ว่าจะเป็นขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท ย่อมองอาจ ไม่เก้อเขิน นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ของการมีศีล
(๔) คนมีศีลย่อมไม่หลงทำกาละ (ตาย) นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ถ ของการมีศีล
(๕) คนมีศีล ตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ของการมีศีล"

ข้อความนี้จาก มหาปรินิพพานสูตร ตรัสผลดีของการมีศีลบริสุทธิ์ไว้ ๕ ประการ ลองไตร่ตรองดูตามพระดำรัส จะเห็นว่าเป็นความจริง คนมีศีลนั้น รวยแน่นอน และเป็นความรวยที่ร่มเย็น ไม่มีเวร ไม่มีภัยด้วย ไม่เหมือนคนทุศีลคอร์รัปชั่นเขามา รวยจริง แต่ไปไหนมาไหนต้องมี "มือปืน" คอยคุ้มกันเป็นขบวน

คนมีศีล มีแต่คนสรรเสริญ ชื่นชม ตายไปกี่ร้อยกี่ปีชื่อเสียงก็ยังอยู่ ส่วนคนทุศีลเน่าแต่ยังไม่ตาย แม้จะเกณฑ์ให้บริษัทบริวารรับรองในความบริสุทธิ์ให้ก็ตาม

คนมีศีลเข้าสู่สมาคมใด ก็ไม่หวาดหวั่น ส่วนคนทุศีล ไม่องอาจเพราะมีแผลอยู่ในใจ กลัวใครเขายกเอาความประพฤติอันชั่วทรามของตนขึ้นมาพูดในที่ชุมนุม ดังภาษิตโบราณว่า วัวสันหลังหวะ อีกาบินผ่านก็เสียวแล้ว

คนมีศีลเวลาตายจะตายอย่างสงบเหมือนหลับ ส่วนคนทุศีล จะเพ้อคุมสติไม่อยู่ ดังคนบางคนสั่งฆ่าคนมามากเพ้อว่า "ฆ่ามันสิวะๆ" อย่างนี้พระท่านว่า "หลงตาย"

มีคนศีลตายแล้วขึ้นสวรรค์ ส่วนคนทุศีลตายแล้วต้องลงนรก ยมบาลรอรับ เลี้ยงฉลองอยู่ ใครทุศีลก็รีบๆ ไปเสีย เดี๋ยวยมบาลฉุนขึ้นมาจะลำบาก •



     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๐๒)  มหาปรินิพพานสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงปฏิบัติในมาตุคาม (สตรี) อย่างไร”
“ดูก่อนอานนท์ การไม่เห็นได้เป็นการดี”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจำเป็นต้องเห็น (เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้) จะพึงปฏิบัติอย่างไร”
“ไม่ต้องพูดด้วยสิ อานนท์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าจำเป็นต้องพูดด้วยจะพึงปฏิบัติอย่างไร”
“พึงพูดด้วยสติสิ อานนท์”

ข้อความนี้จาก มหาปรินิพพานสูตร ขณะพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินารา เพื่อปรินิพพาน ณ คราวหนึ่งพระอานนท์ พุทธอนุชา ได้กราบทูลถามวิธีปฏิบัติต่อมาตุคาม (คือสตรี) ว่าพึงปฏิบัติอย่างไร พระองค์ตรัสดังข้อความข้างต้น

นักสิทธิสตรีบางคนกล่าวว่า พระพุทธเจ้ามิให้เกียรติสตรี หาว่าทรงรังเกียจสตรี จึงแนะให้พระสาวกไม่มอง ไม่เห็น ถ้าจำเป็นต้องมอง ต้องเห็นก็ไม่ให้พูดด้วย และถ้าจำเป็นต้องพูดด้วยก็ให้พูดด้วยสติ    ความจริงสตรีในสังคมสมัยพุทธกาล ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียงในสังคมใดๆ  พระพุทธศาสนาต่างหากเปิดโอกาสให้มีสิทธิมีเสียงในสังคม เช่น เปิดโอกาสให้สตรีออกบวช เพราะพระองค์ทรงเห็นว่าสตรีก็สามารถบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับบุรุษ

แต่เนื่องจากผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มักจะเศร้าหมองเพราะเกี่ยวข้องกับกาม จึงทรงเตือนให้ห่างๆ กันไว้ ขนาดทรงเตือนทรงย้ำอย่างนี้ เจ้ากูประเภท “ทุมมังกุ” (ผู้เก้อยาก) ยังฝ่าฝืนและสร้างความมัวหมองแก่วงการผ้าเหลืองครั้งแล้วครั้งเล่า

ลูกที่ไม่เคารพคำสั่งของพ่อ ยังจะมีหน้ามาอ้างว่าเป็นลูกพ่อได้หรือครับ



ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
15-...
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 เมษายน 2558 11:21:41 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 29 มีนาคม 2558 09:18:49 »


     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๐๒)  มหาปรินิพพานสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงปฏิบัติในมาตุคาม (สตรี) อย่างไร”
“ดูก่อนอานนท์ การไม่เห็นได้เป็นการดี”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจำเป็นต้องเห็น (เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้) จะพึงปฏิบัติอย่างไร”
“ไม่ต้องพูดด้วยสิ อานนท์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าจำเป็นต้องพูดด้วยจะพึงปฏิบัติอย่างไร”
“พึงพูดด้วยสติสิ อานนท์”

ข้อความนี้จาก มหาปรินิพพานสูตร ขณะพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินารา เพื่อปรินิพพาน ณ คราวหนึ่งพระอานนท์ พุทธอนุชา ได้กราบทูลถามวิธีปฏิบัติต่อมาตุคาม (คือสตรี) ว่าพึงปฏิบัติอย่างไร พระองค์ตรัสดังข้อความข้างต้น

นักสิทธิสตรีบางคนกล่าวว่า พระพุทธเจ้ามิให้เกียรติสตรี หาว่าทรงรังเกียจสตรี จึงแนะให้พระสาวกไม่มอง ไม่เห็น ถ้าจำเป็นต้องมอง ต้องเห็นก็ไม่ให้พูดด้วย และถ้าจำเป็นต้องพูดด้วยก็ให้พูดด้วยสติ    ความจริงสตรีในสังคมสมัยพุทธกาล ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียงในสังคมใดๆ  พระพุทธศาสนาต่างหากเปิดโอกาสให้มีสิทธิมีเสียงในสังคม เช่น เปิดโอกาสให้สตรีออกบวช เพราะพระองค์ทรงเห็นว่าสตรีก็สามารถบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับบุรุษ

แต่เนื่องจากผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มักจะเศร้าหมองเพราะเกี่ยวข้องกับกาม จึงทรงเตือนให้ห่างๆ กันไว้ ขนาดทรงเตือนทรงย้ำอย่างนี้ เจ้ากูประเภท “ทุมมังกุ” (ผู้เก้อยาก) ยังฝ่าฝืนและสร้างความมัวหมองแก่วงการผ้าเหลืองครั้งแล้วครั้งเล่า

ลูกที่ไม่เคารพคำสั่งของพ่อ ยังจะมีหน้ามาอ้างว่าเป็นลูกพ่อได้หรือครับ



ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
15-...
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 01 เมษายน 2558 11:31:52 »



ภาพเขียน อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต
"พระบรมโพธิคุณ"  
ตอนเรือก อัญเชิญจุติ

ดูเหมือนท่าน ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยพูดหรือเขียนไว้ในที่ไหน จำไม่ได้แล้ว (แก่แล้วความจำเสื่อม) ว่า พุทธประวัตินี้แปลก ผู้เขียนจงใจเขียนให้เป็น “ธรรมประวัติ”  คือแทนที่จะทำให้ผู้อ่าน อ่านแล้วมีความรู้สึกว่าได้อ่านชีวประวัติบุคคลในประวัติศาสตร์ กลับมีความรู้สึกว่า อ่านประวัติแห่งพระธรรม อะไรทำนองนั้น

แรกๆ ผมก็ไม่เข้าใจที่ท่านศาสตราจารย์พูด (หรือเขียน) พอพิจารณาไปก็เห็นจริง ด้วยประวัติพระพุทธเจ้าในอดีตทุกพระองค์ รวมถึงในอนาคตอีกหลายสิบหลายร้อยองค์ (ดังในหนังสือ อนาคตวงศ์) มีข้อเท็จจริงคล้ายกัน เป็นกษัตริย์ออกบวช สาเหตุออกบวชก็เช่นเดียวกัน ตรัสรู้เรื่องเดียวกัน ประกาศศาสนาในทำนองเดียวกัน ทุกอย่างมีโครงสร้างอยู่แล้ว เพียงเปลี่ยนบุคคลที่เป็นพระพุทธเจ้ามาสวมเท่านั้น

นี้แลที่ท่านว่าธรรมประวัติ

กล่าวเฉพาะพระพุทธเจ้าของเรา ท่านก็ดำเนินเรื่องมาตั้งแต่กาลก่อน ยาวไกลทีเดียว เริ่มด้วยแนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์คือบุคคลผู้ตั้งปณิธานเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านผู้นี้ได้ตั้งรับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าในอดีตทรงพระนามว่า ทีปังกร แล้วก็บำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ มาชาติละข้อๆ

บารมี นั้นตามศัพท์แปลว่า “คุณธรรมที่ให้ถึงฝั่ง” อันหมายถึงคุณธรรมที่ทำให้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ บารมี ในความหมายนี้ มิใช่ “ที่สุด” แต่เป็น “เครื่องมือให้ถึงที่สุด” ที่แปลบารมีว่า “ความเต็มเปี่ยม” นั้นหมายความว่าเมื่อคุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการนั้นสมบูรณ์แล้วพร้อมที่จะทำให้ผู้บำเพ็ญนั้นบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ

พูดให้สั้น เมื่อบารมีได้รับการบำเพ็ญจนสมบูรณ์ทุกข้อแล้ว จึงเป็น ความเต็มเปี่ยม หรือความพร้อมที่จะได้บรรลุ

บารมี ๑๐ ประการนั้นคือ เนกขัมมะ (ออกจากกาม)  เมตตา (ความรักใคร่ปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์)  วิริยะ (ความพยายาม)  อธิษฐาน (การตั้งจิตมั่น)  ปัญญา (ความรอบรู้)  ศีล (การรักษาศีล)  ขันติ (ความอดทน)   อุเบกขา (ความวางเฉย)  สัจจะ (ความสัตย์)  ทาน (การให้)

บุคคลคนเดียวอันเรียกว่าพระโพธิสัตว์นี้ จะบำเพ็ญบารมีแต่ละข้อตามลำดับ พระเตมีย์ใบ้ บำเพ็ญเนกขัมมบารมี พระสุวรรณสาม บำเพ็ญวิริยบารมี  พระมหาชนก บำเพ็ญวิริยบารมี  พระเนมิราช บำเพ็ญอธิษฐานบารมี  พระมโหสถ บำเพ็ญปัญญาบารมี  พระภูริทัต บำเพ็ญศีลบารมี  พระจันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี  พระนารทะ บำเพ็ญอุเบกขาบารมี  พระวิธุรบัณฑิต บำเพ็ญสัจจบารมี  พระเวสสันดร บำเพ็ญทานบารมี •


"พระบรมโพธิคุณ"  
ตอนเรือก อัญเชิญจุติ (จบ)

โบราณาจารย์ย่อให้ท่องจำง่ายดังนี้
พระ เต. ช. สุ. เน. ม. ภู. จ. นา. วิ. เว.
โพธิสัตว์
นามบารมี เน. วิ. เม. อ. ปัญ สี. ขัน. อุ. สัจ. ทา.

เวลาท่อง จะท่องไปทางขวางก็ได้ (เต-ช-สุ-เน-ม-ภู-จ-นา-วิ-เว) หรือจะท่องนามพระโพธิสัตว์คู่กับบารมีก็ได้ (เต-เน-ช-วิ-สุ-เม-เน-อ-ม-ปัญ-ภู-สี-จ-ขัน-นา-อุ-วิ-สัจ-เว-ทา)

เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ทั้ง ๓ ขั้น จึงจะพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

บารมี ๓ ขั้นคือ)
(๑) บารมี (บารมีระดับธรรมดาๆ ไม่เข้มเท่าใดนัก)  
(๒) อุปบารมี (บารมีระดับเกือบจะอุกฤษฏ์)  และ
(๓) ปรมัตถบารมี (บารมีระดับอุกฤษฏ์)

ตำราท่านยกตัวอย่างทานนั้น ๓ ขั้นว่า
- การบริจาคสิ่งของนอกกายให้เป็นทานเรียกว่า บารมีธรรมดา
- การบริจาคอวัยวะร่างกายบางส่วนให้เป็นทานเรียกว่าอุปบารมี
- การบริจาคชีวิตให้เป็นทาน เรียกว่า ปรมัตถบารมี

เมื่อบารมีครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว พระโพธิสัตว์ก็ไปเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ชั้นดุสิต มีนามคล้ายนามของชั้นนี้ว่า สันดุสิตเทพบุตร เสวยสุขอันเป็นทิพย์อยู่บนสรวงสวรรค์ รอวันเวลาจะมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้า

เมื่อได้เวลาอันเหมาะสม ท้าวมหาพรหมและเทพบนสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น มาชุมนุมต่อหน้าสันดุสิตเทพบุตร ทูลอัญเชิญให้จุติลงมาบังเกิดในมนุษย์โลก

สันดุสิตเทพบุตรพิจารณาดู “ปัญจมหาวิโลกนะ” (การตรวจตราดูอันยิ่งใหญ่ถึงเงื่อนไข ๕ ประการ) คือ
(๑) ตรวจดูกาล ว่าได้เวลาอันเหมาะสมจริงหรือไม่
(๒) ตรวจดูประเทศ ประเทศหรือถิ่นที่จะไปบังเกิดเป็นมัธยมประเทศ หรือ “จุงกั๋ว” หรือไม่ (แน่ะ เดาะภาษาจีนเสียด้วย)(๓) ตรวจดูตระกูล ว่าตระกูลที่จะไปบังเกิดเป็นตระกูลสูงเช่นกษัตริย์ หรือไม่ และกษัตริย์เมืองใด
(๔) ตรวจดูมารดา พระมารดาที่จะอุ้มพระอุทรจนมีพระประสูติกาลคือใคร เหมาะสมหรือไม่
(๕) ตรวจดูอายุ อายุขัยที่จะอยู่ในมนุษย์โลกเท่าใด

เมื่อเห็นว่าเงื่อนไขทั้ง ๕ ประการพร้อมแล้ว สันดุสิตเทพบุตรก็รับอัญเชิญท้าวมหาพรหมและเหล่าเทพยดา เพื่อมาอุบัติในมนุษย์โลก พระโพธิสัตว์จึงลงมาปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา พระอัครมเหสีแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ ณ วันเพ็ญเดือน ๘ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี (โหรเขาคำนวณว่าอย่างนั้น)

พุทธประวัติปางนี้เรียกว่า ปางอัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์จุติ นับเป็นปางแรกสุดแล



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๘
15-...
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 กรกฎาคม 2558 17:21:52 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 08 เมษายน 2558 13:20:07 »


http://saisampan.net/pic/images/arx1405321666m.jpg
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ

ก่อนจากเจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จเข้าไปเยี่ยมพระชายาและพระโอรส
ซึ่งนอนหลับอยู่ เป็นการอำลาเป็นครั้งสุดท้าย

 
ปางเสด็จมหาภิเนษกรมณ์

มหาภิเนษกรมณ์ เขียนเป็นบาลี ว่า มหาภินิกฺขมน (มหา-อภินิกฺขมน=การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่)  แปลอย่างชาวบ้านธรรมดาๆ ว่าออกบวช พุทธรูปปางออกบวชนี้เขียนกันสองแบบ หรือสองช่วง บางครั้งเขียนตอนทรงม้ากัณฐกะออกจากประตูเมือง มีนายฉันนะเกาะหางม้า ท่าทางราวกับม้าพาเหาะออกจากเมืองกลางดึก บางครั้งก็เขียนตอนเสด็จออกนอกวังทอดพระเนตรเห็น “เทวทูต” ทั้ง ๔

เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อเจริญวัยแล้วก็ได้รับการศึกษาศาสตร์ต่างๆ อาจารย์ที่ถวายวิชาความรู้คงมีหลายท่าน แต่ระบุไว้เพียงท่านเดียวคือ วิศวามิตร ได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงยโสธรา หรือ พิมพา พระราชธิดาแห่งพระเจ้าสุปปพุทธะ และ พระนางอมิตา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา

พระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ก็ได้พระโอรสพระนามว่า ราหุล มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ พระนามว่า ราหุล แปลว่า “บ่วง” หมายถึงบ่วงที่ผูกมัดมิให้มีอิสระ สาเหตุที่ราชกุมารน้อยได้พระนามนี้ ก็คือ หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะได้ทอดพระเนตรเห็น คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ตามลำดับแล้ว ก็มาครุ่นคิดว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ มนุษย์ทั้งหลายถูกความทุกข์คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ครอบงำ จึงเวียนเกิดเวียนตายในสังสารวัฏไม่รู้จบสิ้น

ทรงคิดหาทางว่าจะมีทางหลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้อย่างไรหรือไม่ ก็ทรงได้ข้อเปรียบเทียบว่า สรรพสิ่งย่อมเป็นของคู่กัน เช่น มีมืดก็มีสว่าง มีร้อนก็ต้องมีเย็น เมื่อมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ย่อมมีการไม่เกิด ไม่เจ็บ ไม่แก่ ไม่ตายด้วย  ครั้นได้เห็นภาพของสมณะผู้สงบก็ได้ข้อสรุปว่า การจะพ้นจากทุกข์คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้ คงต้องดำเนินวิถีชีวิตแบบท่านผู้สงบนี้ จึงตัดสินพระทัยจะออกผนวช

ทันใดก็ได้รับรายงานว่า พระโอรสน้อยประสูติแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะทรงรู้สึกปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ความรักบุตรเกิดขึ้นท่วมท้นพระหฤทัย ทรงรู้สึกว่าถ้าออกบวชช้าจะไม่มีโอกาสแน่นอน เพราะความรักความผูกพันจะเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนยากจะตัดได้ จึงเปล่งพระอุทานว่า ราหุลํ ชาตํ พนฺธนํ ชาตํ บ่วงเกิดขึ้น เครื่องผูกพันเกิดขึ้นแล้ว

ว่ากันว่า เพราะเหตุนี้พระกุมารน้อยจึงได้พระนามว่า ราหุล

คืนวันนั้นพระองค์ทรงบรรทมไม่หลับ กระสับกระส่าย ไม่ทรงยินดียินร้ายกับเสียงขับประโคมของประดานางสนมนางบำเรอที่จัดถวายแต่ประการใด  ภาพของพวกนางที่นอนหลับใหลปรากฏต่อสายพระเนตรเจ้าชายผู้ลุกขึ้นมาตอนดึก ก่อนจากได้เสด็จเข้าไปเยี่ยมพระชายาและพระโอรสซึ่งนอนหลับอยู่ เป็นการอำลาเป็นครั้งสุดท้ายเสมือนป่าช้าผีดิบ ด้วยบางนางก็อ้าปาก กัดฟัน น้ำลายไหล บางนางก็ผ้านุ่งหลุด บางนางนอนกอดพิณละเมองึมงำๆ กลิ้งเกลือกไปมา ทำให้เกิดความสลดสังเวชอย่างยิ่ง

จึงทรงเรียกนายฉันนะ มหาดเล็กคนสนิท เตรียมม้ากัณฐกะ เพื่อเสด็จออกจากพระนคร  ประทับกัณฐกะอัศวราชหนีออกจากพระนครทันที

หลักฐานจากพระไตรปิฎกบอกว่า เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช ขณะที่พระราชบิดาและพระราชมารดาทรงเห็นๆ อยู่ แต่ไม่อยู่ในภาวะจะห้ามปรามได้ ขณะทั้งสองพระองค์ทรงกันแสงพิลาปรำพันอยู่ เจ้าชายสิทธัตถะได้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ถือเพศบรรพชิต

หลักฐานบางแห่งฉายภาพของวสวัตตีมารปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าชายสิทธัตถะ ยกมือห้ามออกนอกเมือง พลางพูดว่า รออีก ๗ วันเท่านั้น เจ้าชายก็จะได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์และจะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ์ผู้ยิ่งใหญ่ในไม่ช้า เจ้าชายสิทธัตถะไม่ทรงเชื่อ จึงตวาดไล่พญามารหนีไป

เหล่าเทพยดาได้บันดาลให้ประตูเมืองเปิดออกเอง มิพักต้องเสียแรงผลักแต่ประการใด เจ้าชายสิทธัตถะ ติดตามด้วยนายฉันนะ มหาดเล็กคนสนิท ทั้งสองได้ควบม้าห้อตะบึงจากพระนครกบิลพัสดุ์ จนบรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ตอนรุ่งสาง

เจ้าชายเปลื้องเครื่องทรงออก มอบพัสตราภรณ์และเครื่องประดับทั้งหลายแก่นายฉันนะ รับสั่งให้นำไปมอบให้พระราชบิดาและพระราชมารดา ทรงกระซิบข้างหูม้าคู่พระทัยให้กลับไปยังพระราชวังพร้อมกับนายฉันนะ  กัณฐกะอัศวราช มีน้ำตาไหลจากเบ้าตาทั้งสองด้วยความอาลัยอาวรณ์ในเจ้านายของตน ล้มลงหัวใจแหลกสลาย สิ้นชีวิต ณ ตรงนั้นเอง
พระองค์ได้ถือเพศบรรพชิต เดินดุ่มไปเดียวดาย เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏด้วยประการฉะนี้แล


http://saisampan.net/pic/images/arx1405321875b.jpg
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ

เจ้าชายสิทธัตถะได้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ถือเพศบรรพชิต ณ ริมฝั่งน้ำอโนมานที


ปางเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ (ต่อ)

เจ้าชายสิทธัตถะทรงถือเพศบรรพชิตนั้น หลายท่านสงสัยว่า ใครเป็นอุปัชฌาย์บวชให้ ทรงได้จีวรมาจากไหน โกนผมปลงหนวดหรือเปล่า ต้องเข้าใจว่าสมัยโน้นมีนักบวชกันมากมายหลายลัทธิ คำว่า บรรพชิต ก็ดี สมณะ ก็ดี เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลาย มีเกณฑ์กำหนดว่า ผู้สละชีวิตครองเรือน มาถือวัตร ถือศีล แบบผู้สละเรือน ก็เรียกว่า "บวช" กันทั้งนั้น ปลงผม ก็มี ไม่ปลงผมมุ่นผมเป็นชฎา ก็มี ผ้าที่นุ่งห่มก็เป็นผ้าแพรยาวๆ ผืนเดียวหรือสองผืนส่วนมาก ดูแขกในปัจจุบันนี้ก็จะเข้าใจว่า เขานุ่งห่มกันอย่างไร

ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เล่าว่าพระมหาสัตว์ (เป็นคำเรียกเจ้าชายสิทธัตถะ คำเดียวกับ "พระโพธิสัตว์") ทรงตัดพระเกศาให้สั้น ด้วยพระขรรค์ เปลื้องเครื่องทรงของขัตติยราชกุมาร นุ่งห่มผ้าธรรมดา (ซึ่งเข้าใจว่าคงเตรียมมาด้วย) ตั้งพระทัยว่าจะออกแสวงหาโมกษธรรม (คือพระนิพพาน ที่สิ้นทุกข์) เท่านี้ก็ถือได้ว่า "บวช" แล้ว

ยังไม่มีพิธีกรรมอะไร พิธีกรรมมาตั้งขึ้นภายหลังครับ

ก่อนจะเล่าต่อไป ขอย้อนไปถึงสาเหตุแห่งการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ก่อน มีคำถามแทรกเข้ามาว่า เป็นไปได้หรือที่เจ้าชายสิทธัตถะ พระชนมายุถึง ๒๙ พรรษาแล้ว ไม่เคยเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายเลย เพิ่งจะมาเห็นเอาตอนนี้ คำถามนี้ผมเคยถามลูกศิษย์ระดับมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ บางคนยืนยันว่าเป็นไปได้ เมื่อถามว่าเพราะเหตุไร

เธอตอบว่า พระเจ้าสุทโธทนะ หลังจากได้ฟังคำพยากรณ์จากพราหมณ์ทั้ง ๘ ตอนเจ้าชายน้อยประสูติแล้ว ทรงกลัวว่าเจ้าชายจะเสด็จออกผนวช กลัวจะไม่มีใครสืบทอดราชบัลลังก์ จึงทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ให้เจ้าชายทอดพระเนตรเห็นสิ่งที่ทำให้ทรงเบื่อหน่ายโลกียวิสัย เวลาจะทรงอนุญาตให้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จไปนอกเมือง ก็ทรงรับสั่งให้ "เคลียร์พื้นที่" ก่อนทุกครั้ง เจ้าชายจึงไม่มีโอกาสได้เห็นภาพที่ชวนให้สลดพระทัย จึงเป็นไปได้ที่เพิ่งจะมาเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย ตอนพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ศิษย์ของผมว่าอย่างนั้น

แต่อีกหลายคนก็ไม่เห็นด้วย ทำไมตำราจึงว่าไว้อย่างนี้ ข้อความตรงนี้น่าจะมิได้แปลตามตัวอักษรเสียแล้ว น่าจะมีความหมายระหว่างบรรทัดกระมังครับ คือ เจ้าชายสิทธัตถะ เห็นภาพคนแก่ คนเจ็บ คนตาย แน่นอน อาจจะเห็นทุกวันด้วย แต่การเห็นอย่างนั้นเป็นการเห็นด้วย "ตาเนื้อ" จึงเท่ากับไม่เห็น เพราะเห็นแล้วก็ผ่านเลยไป ไม่นำเอามาคิดให้เข้าใจสภาวธรรมทั้งหลายตามเป็นจริง แต่พอพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา เห็นสิ่งเหล่านี้แล้วนำมาขบคิดพินิจพิจารณา จนรู้สภาวะอันเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย เข้าใจในเรื่องความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีเกิดมีดับ ไม่มีอะไรแน่นอน

การเห็นในช่วงหลังนี้จึงเป็นการเห็นด้วย "ตาใน" คือปัญญา หลังจากมืดบอดมานาน เพิ่งจะตาสว่างกันคราวนี้เอง ว่าอย่างนั้นเถอะ เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า อยู่มาจนถึงพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา เพิ่งจะเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย กันคราวนี้เอง

เมื่อพระมหาสัตว์ตั้งปณิธานว่าจะแสวงหาทางพ้นทุกข์ ก็ทรงพิจารณาว่า จะหาจากสำนักไหนดี เนื่องจากสมัยนั้นมีสำนักปฏิบัติมากมาย แต่ละสำนักก็อ้างว่าตนปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ในสังสารวัฏทั้งนั้น ก็ทรงทราบว่า สำนักดาบสนามว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร มีชื่อเสียงเป็นที่ทราบกันทั่วไป จึงไปขอฝึกปฏิบัติด้วย

พูดธรรมดาก็ว่าไปสมัครเป็นศิษย์ฝึกด้วย ระบบที่ฝึกก็คือระบบโยคะ ฝึกสมาธิเพื่อให้จิตมีพลังกล้าแข็งขึ้นตามลำดับ พระองค์ทรงฝึกอยู่กับอาฬารดาบส จนได้ผลสัมฤทธิ์ขั้นสูงสุดของอาจารย์ คือขั้นที่เรียกตามศัพท์วิชาการว่า อากิญจัญญายตนะ (The State Nothingness) ทรงรู้สึกว่ายังไม่ใช่ที่สุด จึงลาอาจารย์ไปฝึกปฏิบัติอยู่กับอาจารย์อีกคนหนึ่ง ชื่อ อุทกดาบส รามบุตร ทรงฝึกระบบเดียวกัน จนได้ผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งอันเรียกว่า "เนวสัญญนาสัญญายตนะ" (The State of neither perception or Non-perception) ก็ทรงเห็นว่ายังมิใช่ที่สุดแห่งทุกข์ จึงทรงดำริที่จะแสวงหาด้วยพระองค์เอง

ความจริง อาจารย์ทั้งสองท่าน ชวนพระมหาสัตว์ให้อยู่เป็นอาจารย์สอนศิษย์อื่นๆ ต่อไป แต่พระองค์ไม่รับ ทรงอำลาอาจารย์ทั้งสองไปแสวงหาลำพังพระองค์ ทรงหันมาบำเพ็ญตบะ คือ การทรมานตนในรูปแบบต่างๆ เท่าที่คนสมัยนั้นคิดว่าเป็นทางบรรลุโมกษธรรม

พุทธประวัติช่วงนี้รวบรัดไปหน่อย ไม่พูดถึงเลยว่าพระองค์ทรงทำอะไรบ้าง แต่รายละเอียดมีอยู่ในพระสูตรต่างๆ ที่พระองค์ตรัสเล่าให้พระสาวกทั้งหลายฟัง อยากทราบรายละเอียดมีอยู่ โปรดตามไปค้นดูเถิด ไม่มีเนื้อที่จะเล่าโดยละเอียด

ที่น่าตั้งข้อสังเกตก็คือ ช่วงเวลา ๖ ปีก่อนตรัสรู้ พระองค์ทรงทำอะไรบ้าง ทรงอยู่กับดาบสทั้งสองกี่ปี บำเพ็ญตบะอยู่กี่ปี ผมคิดว่าพระองค์ทรงอยู่ในสำนักของดาบสทั้งสองไม่เกินสองปี อีกสี่ปีหลังทรงทรมานพระองค์เองด้วยระบบตบะวิธีต่างๆ ลงท้ายด้วยการอดพระกระยาหารอันเรียกว่า ทุกรกิริยา

บางท่านว่าทรงอดพระกระยาหาร ๖ ปี คงเป็นไปไม่ได้ดอกครับ ขืนอดนานปานนั้นก็ไม่เหลืออะไรแล้ว ความที่น่าเป็นไปได้ก็คือ ทรงใช้เวลาประมาณสองปี ศึกษาและปฏิบัติอยู่กับอาจารย์ทั้งสองสำนัก ที่เหลืออีกสี่ปีก็หมดไปกับการบำเพ็ญตบะ ทรมานตัวเองด้วยวิธีอันเคร่งครัดนานาประการ ท้ายที่สุดก็ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาสามขั้นตอน ขั้นตอนสุดท้าย ทรงอดพระกระยาหารดังที่ทราบกันดีแล้ว




ปางประสูติ

ตำนานเล่าว่า เมื่อพระโพธิสัตว์ก้าวลงสู่พระครรภ์พระนางสิริมหามายา พระนางทรงมีพระสุบินนิมิต ว่า ได้เสด็จไปชมป่าหิมพานต์ มีช้างเผือกเชือกหนึ่งลงมาจากยอดเขาสูง “ชูงวงอันจับบุณฑริกปทุมชาติสีขาว เพิ่งบานใหม่ ร้องโกญจนาท เข้ามาในกนกวิมาน แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบรรทม ถ้วนสามรอบ แล้วเสมือนดุจเข้าไปในอุทรประเทศ ฝ่ายทักษิณปรัศว์แห่งพระราชเทวี”

โหราจารย์ทำนายว่า ราชสำนักพระเจ้าสุทโธทนะ จะมีพระราชโอรสผู้มีบุญญาธิการมาอุบัติ พระราชโอรสพระองค์นี้มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนเด็กทารกทั่วไป

กล่าวไว้ด้วยว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จลงในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายานั้น เกิดปรากฏการณ์ประหลาดหลายอย่างเช่น พระมารดาไม่มีความยินดีในกามโดยอัตโนมัติ มีพระวรกายไม่ลำบาก มองเห็นพระโพธิสัตว์นั่งขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ออกมาข้างพื้นพระอุทรแห่งพระมารดา ขณะประทับในพระครรภ์ก็ไม่แปดเปื้อนมลทิน ไม่คุดคู้ดุจทารกทั่วไป

เมื่อถ้วนทศมาส พระโอรสก็ประสูติ ณ วนอุทยาน ลุมพินี ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ ตำนานเล่าว่า เป็นธรรมเนียมแต่โบราณ เมื่อสตรีจะคลอดบุตร จะเดินทางกลับไปคลอดยังตระกูลเดิมของตน พระนางสิริมหามายาก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อประสูติพระราชโอรสที่กรุงเทวทหะ

ขบวนเสด็จไปถึงสวนลุมพินี กึ่งกลางระหว่างเมืองทั้งสอง พระนางก็ทรงประชวรพระครรภ์ ได้เสด็จเข้าไปพักใต้ต้นสาละ ทรงยืนเหนี่ยวกิ่งสาละ ประสูติพระราชกุมาร ในอิริยาบถยืน

พระกุมาร ทันทีที่เสด็จออกจากพระครรภ์ ก็เสด็จดำเนินไปได้ ๗ ก้าว ทรงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นชี้พระดรรชนีบนท้องฟ้า บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุดร เปล่ง “อาสภิวาจา” ว่า
    อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส   เชฏฺโฐ เสฏฺโฐหมสฺมิ
     อยมนฺติมา ชาติ  นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว
     เราเป็นผู้เลิศของโลก  เป็นใหญ่ที่สุดและประเสริฐสุด
     นี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา  ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป


พระพุทธรูปปางนี้ ส่วนมากวาดหรือปั้นเป็นพระกุมารน้อยเสด็จดำเนินด้วยพระบาท มีดอกบัวผุดขึ้นรองรับพระบาท พระหัตถ์ขวาชี้ขึ้นบนฟ้า บางภาพทำพระโอษฐ์ดุจกำลังเปล่งพระวาจา ขณะที่พระราชชนนีทรงยืนเหนี่ยวกิ่งสาละอยู่ถัดไป

ภาพปั้นที่ลุมพินี ประเทศเนปาล ก็อยู่ในอิริยาบถนี้ พระลักษณะพระกุมารน้อย ดูแล้วสบายตาสบายใจมาก บ่งบอกว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการจริงๆ ข้อนี้ต้องชมคนปั้น

ที่เมืองไทยเรา ไม่นิยมปั้นพระพุทธรูปบางอื่น นอกจากปางสมาธิ หรือปางมารวิชัย  นอกนั้นมักเป็นภาพวาดมากกว่า โดยเฉพาะเหตุการณ์ก่อนตรัสรู้ มักไม่นิยม คงเห็นว่ายังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า จึงไม่ควรเรียกพระพุทธรูปกระมัง

ที่อินเดียจะเห็นพระรูปเจ้าชายน้อยแกะสลักด้วยไม้จันทน์อย่างสวยงาม เสียแต่ว่าเกณฑ์ให้เจ้าชายน้อยมีพระภูษาทรงเสียนี่ เด็กเกิดใหม่ไม่น่าจะนุ่งผ้า

ในขณะที่พระราชกุมารประสูตินั้น ได้มีมนุษย์ สัตว์ และสิ่งของเกิดขึ้นพร้อมพระราชกุมารเป็น “สหชาติ” ๗ คือ พระนางยโสธราพิมพา, พระอานนท์, นายฉันนะ, กาฬุทายีอำมาตย์, ต้นพระศรีมหาโพธิ์, ม้ากัณฐกะ และขุมทรัพย์ ๔ ขุม

ครั้งนั้น มีดาบสองค์หนึ่งนาม กาฬเทวิล เป็นที่รู้กันทั่วไปในนาม “อติสะ” ทราบข่าวพระราชกุมารประสูติ จึงเดินทางไปยังเมืองกบิลพัสดุ์ เพื่อเยี่ยมชมพระราชกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทรงปีติปราโมทย์ยิ่ง รับสั่งให้เชิญพระราชกุมารมาเพื่อนมัสการพระดาบส

อสิตดาบสเห็นพระราชกุมารสมบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ ก็ก้มถวายบังคมพระราชกุมารโดยอัตโนมัติ พลางพินิจพิจารณาดูพระลักษณะอย่างละเอียดแล้ว ก็หัวเราะออกมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

ทันใดนั้นหน้าตาที่ยิ้มแย้มก็กลับสลดลง ดาบสเกิดโทมนัส ร้องไห้ออกมา จนพระราชาทรงแปลกพระทัย ตรัสถามถึงเหตุแห่งการหัวเราะและร้องไห้

อสิตดาบสถวายพระพรว่า พระราชกุมารนี้สมบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะ จะได้เสด็จออกผนวช ตรัสรู้เป็นพระศาสดาเอกในโลกโดยมิต้องสงสัย อาตมภาพมองเห็นเหตุการณ์นี้จักเกิดขึ้นจริง จึงยินดีปรีดากับชาวโลกที่จะได้มีโอกาสสดับพระธรรมเทศนาอันไพจิตร จึงหัวเราะออกมาด้วยปีติยินดี แต่ครั้นคำนวณระยะเวลาดูก็รู้ว่าอาตมภาพจะไม่มีอายุยืนยาวจนได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระองค์ จึงสลดใจร้องไห้ออกมา สงสารในความอาภัพของตน

ครั้นถึงวันที่ ๕ นับแต่พระราชกุมารประสูติ พระเจ้าสุทโธทนะ โปรดให้อัญเชิญพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในพระเวทจำนวน ๑๐๘ ท่าน มารับพระราชทานฉันในพระบรมมหาราชวัง ได้เลือกเอาพราหมณ์ ๘ ท่านจากจำนวนนั้น ให้ตรวจดูพระลักษณะและขนานพระนามพระราชกุมาร

พราหมณ์ทั้ง ๘ ได้พร้อมใจกันถวายพระนามว่า สิทธัตถะ (แปลว่าผู้มีความประสงค์อันสำเร็จแล้ว) พิจารณาดูพระลักษณะของพระราชกุมารอย่างละเอียดแล้วทั้ง ๗ ท่าน  ยกเว้นพราหมณ์หนุ่มนามโกณฑัญญะ ได้พยากรณ์ เป็น ๒ คติว่า ถ้าพระราชกุมารจะอยู่ครองเพศฆราวาส จักได้เป็นพระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าเสด็จออกผนวชจะได้เป็น ศาสดาเอกในโลก

โกณฑัญญะคนเดียวยืนยันว่า พระราชกุมารจะสละโลกียวิสัยแน่นอน และจะได้เป็นพระบรมศาสดาผู้ประเสริฐของชาวโลก

พราหมณ์ทั้ง ๘ นั้นมีนามตามลำดับคือ รามพราหมณ์, ลักษณพราหมณ์, ยัญญพราหมณ์, ธุชพราหมณ์, โภชพราหมณ์, สุทัตตพราหมณ์, สุยามพราหมณ์, และโกณฑัญญพราหมณ์

เรื่องเล่ามหัศจรรย์เกี่ยวกับการประสูติพระราชกุมาร มีทั้งในคัมภีร์ชั้นต้นคือพระไตรปิฎก และคัมภีร์ชั้นรอง คือ อรรถกถา ฎีกา และพุทธประวัติที่แต่งภายหลัง เช่น ปฐมสมโพธิกถา มีการอธิบาย ๓ แนวทางคือ
๑. แปลตามตัวอักษร บอกว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริงๆ พูดได้ เดินได้จริงๆ
๒. อธิบายในแง่สัญลักษณ์ (เดิมใช้คำว่า บุพนิมิต) คือไม่แปลตามตัวอักษร เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอะไร เช่น เดินได้แสดงถึงจะสร้างความก้าวหน้าแก่ชาวโลก พูดได้แสดงว่าพระราชกุมารต่อไปจะได้ประกาศสัจธรรมที่ไม่เคยมีใครประกาศมาก่อน จำนวนย่างพระบาท ๗ ก้าว แสดงว่าพระราชกุมารจะเผยแพร่คำสอนแพร่หลายในแคว้นทั้ง ๗ (หรือพระกุมารจะได้ตรัสรู้เพราะโพชฌงค์ ๗ ประการ)  ดอกบัวที่ผุดขึ้นรองรับ แสดงถึงพระราชกุมารถึงจะอยู่ในโลก ก็ไม่ติดข้องอยู่ในโลกียวิสัย เป็นผู้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งมวล ฯลฯ (ดูการตีความในแง่สัญลักษณ์ใน ปฐมสมโพธิกถา, พุทธประวัติ เป็นต้น)

ในประเด็นที่ ๒ นั้น เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ในประเด็นที่ ๑ นั้น พระอรรถกถาจารย์ท่านเน้นย้ำทำนองให้เชื่อว่าเป็นความจริง เป็นไปได้ และเป็นไปแล้วจริง เหตุผลของท่านสั้นๆ ว่า ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ต่างๆ เกี่ยวกับพระโพธิสัตว์นั้น “เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์” (อยํ โพธิสตฺตสฺส ธมฺมตา=นี้เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์)

คำกล่าวนี้น่าคิด ท่านอธิบายว่า พระโพธิสัตว์มีสองระดับคือ (๑) อนิยตโพธิสัตว์=พระโพธิสัตว์ยังไม่แน่นอนว่าจะตรัสรู้ ต้องบำเพ็ญบารมีอีกนาน  กับ (๒) นิยตโพธิสัตว์=พระโพธิสัตว์ทีบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว ต้องตรัสรู้แน่นอน

พระสิทธัตถราชกุมารนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ประเภทที่ ๒ พระโพธิสัตว์ระดับที่จะต้องตรัสรู้แน่นอน เอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่ ย่อมมีเรื่องราวมหัศจรรย์เกี่ยวข้องกับท่านมากมาย ถือว่าเป็น “ธรรมดา” ของท่าน

มิใช่เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์นะครับ เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดาที่ไม่ทั่วไปแก่มนุษย์สามัญอื่นๆ

เอาอย่างนี้แล้วกัน ธรรมดาของนก ย่อมบินได้ ธรรมดาของปลา อยู่ในน้ำได้ทั้งวันโดยไม่โผล่ขึ้นมาหายใจเลย แต่ไม่ตาย เราอัศจรรย์ไหม

ตอบทันทีว่า ไม่อัศจรรย์แม้แต่น้อย เพราะอะไร เพราะเรารู้ว่าการบินได้เป็นธรรมดาของนก การอยู่ในน้ำทั้งวันโดยไม่โผล่ขึ้นมาหายใจ เป็นธรรมดาของปลา

เช่นเดียวกัน พระนิตยโพธิสัตว์ เมื่ออยู่ในครรภ์ก็ไม่คุดคู้ ไม่เปรอะเปื้อนมลทินครรภ์ เหมือนสัตว์ในครรภ์อื่นๆ ก็เป็นธรรมดาของท่าน เกิดมาแล้วเดินได้ พูดได้ทันที ก็เป็นธรรมดาของท่าน

ไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องธรรมดาครับ

ถ้าขี้สงสัยมาก ถามว่า มันจะเป็นไปได้หรือ เกิดมาแล้ว พูดได้ เดินได้ทันที เอาแค่คนธรรมดาๆ นี่แหละ ในกินเนสส์บุ๊ก เขาเคยบันทึกสถิติคนเกิดมาแล้วสองชั่วโมงพูดได้ อายุ ๔ ขวบพูดได้ ๗ ภาษา และแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับปรัชญาชั้นสูงในมหาสมาคมของนักปราชญ์ทั้งหลายเป็นที่อัศจรรย์ไปตามๆ กัน ท่านผู้นี้นามจำง่าย เพราะคล้ายยี่ห้อเบียร์ คือ นาม คริสเตียน ไฮเนเก้น

ฝรั่งคงไม่หลอกเรากระมังครับ เพราะสถิติแปลกๆ ที่เขาบันทึกไว้ ก็บันทึกจากเรื่องจริง

นี้ขนาดคนธรรมดา มิใช่นิยตโพธิสัตว์ เกิดมาแล้วไม่นานยังพูดได้ ทำไมพระสิทธัตถราชกุมารซึ่งเป็นนิยตโพธิสัตว์จะพูดไม่ได้ละครับ ฝากไว้ให้คิด ไม่จำต้องเชื่อ

เชื่อง่ายนักเดี๋ยวถูกหลอกชีช้ำเปล่าๆ ชาวพุทธเอ๋ย •




 
ปางทุกรกิริยา (๑)

คงจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง คือพระพุทธรูปผอมแห้ง เหลือแต่กระดูก มองเห็นเส้นเอ็นทั่วร่าง พระพุทรูปปางนี้เรียกว่า ปางทุกรกิริยา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ปางทรมานกาย

เห็นการณ์เกิดขึ้นในถ้ำที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่า ดงคศิริ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นภาษาอะไร แปลว่าอย่างไร ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา (ทองยอด ภูริปญฺโญ) ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงขนามนามให้ว่า "ยอดบรรยาย" อธิบายให้ฟังว่า น่าจะมาจาก มาตังเคศวรี (มาตังค-อิศวรี = เขามาตังคอันยิ่งใหญ่) แล้วท่านก็หันมาถามผมว่า รู้ไหม "มาตังคะ" หมายถึงอะไร ผมเรียนท่านไปตามที่นึกได้ว่า มาตังคะ เป็นชื่อช้างตระกูลสูงตระกูลหนึ่ง ถ้าจะแปลก็แปลว่า "เขาพญาช้าง" หรือ "ภูพญาช้าง" อะไรทำนองนั้น มาตังค กร่อนลงเหลือแต่ ตังค แล้วเป็น "ดงค" ในที่สุด อิศวรี กร่อนเหลือแต่ ศิริ จึงเป็น ดงคศิริ ด้วยประการฉะนี้

ถ้ำดงคศิริ อยู่ฝั่งตะวันออกของตำบลพุทธคยา ปัจจุบันนี้มีพระทิเบตไปสร้างวัด คอยเฝ้าอยู่ ชาวพุทธน้อยคนจะเดินทางไปถึง เพราะไปค่อนข้างลำบาก ภายในเป็นถ้ำกว้างจุได้ประมาณ ๘-๑๐ คน มีพระพุทธรูปปางทุกรกิริยาตั้งอยู่ด้วย ณ ถ้ำแห่งนี้เองที่พระมหาสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา โดยมีพราหมณ์ห้าคนคือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ คอยเฝ้าปรนนิบัติอยู่

พราหมณ์ทั้งห้าคนนี้ เฉพาะโกณฑัญญะ เป็นพราหมณ์ที่หนุ่มที่สุดในแปดคน ที่ทำนายพระลักษณะและขนานพระนามให้เจ้าชายสิทธัตถะ และเป็นคนเดียวที่ยืนยันว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะออกผนวชและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นทราบภายหลังว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชจึงชวนพราหมณ์อีกสี่คนออกบวชตามด้วย

พระมหาสัตว์ได้ทำทุกรกิริยาเป็นขั้นตอนตามลำดับดังนี้
๑. ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุด้วยพระชิวหาไว้ให้แน่น จนพระเสโทไหลออกจากพระกัจฉะ ทรงได้รับทุกขเวทนาอันกล้า เหมือนมีใครมาบีบคอไว้แน่น แต่ในที่สุดก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทาง จึงเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

๒. ทรงผ่อนกลั้นอัสสาสะ ปัสสาสะ เมื่อลมเดินทางช่องพระนาสิกและช่องพระโอษฐ์ไม่ได้สะดวก ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระ กรรณทั้งสองข้าง ทำให้เสียดพระอุทร ร้อนพระวรกายเป็นกำลัง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จึงทรงเปลี่ยนเป็นวิธีอื่น

๓. ทรงอดพระกระยาหาร โดยเสวยวันละเล็กละน้อย จนไม่เสวยอะไรเลย จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง พระฉวีวรรณเศร้าหมอง พระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย เมื่อลูบพระวรกาย เส้นพระโลมาร่วงติดมือมา มีพระกำลังถดถอย จะเสด็จไปไหนก็ซวนเซล้ม แต่ก็ยังไม่สำเร็จอีก

ทรงทำถึงขั้นนี้นับว่าถึงที่สุดแล้ว ก็ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณที่ทรงมุ่งหวัง พอดีทรงได้คิดขึ้นมา แล้วทรงค้นทางสายกลาง จึงทรงเลิกทุกรกิริยา

ว่ากันว่า พระอินทร์มาเทียบเสียงพิณสามสายให้ฟัง พระมหาสัตว์ได้ยินก็เลยนำเอามาเปรียบเทียบกับการกระทำของพระองค์ ถ้าสายพิณตึงเกินไป เสียงก็ไม่ไพเราะ พานจะขาดเอาได้ ถ้าสายพิณหย่อนเกินไป เสียงก็ไม่ไพเราะเช่นเดียวกัน แต่เมื่อขึงสายให้พอเหมาะพอดี เสียงพิณก็ไพเราะชวนฟัง ดุจเดียวกับการปฏิบัติ เคร่งครัดทรมานเกินไป หรือย่อหย่อนเกินไป ไม่มีทางสำเร็จได้ ต้องพอเหมาะพอดี จึงจะสำเร็จประโยชน์ ทรงคิดได้ดังนี้จึงทรงเลิกทุกรกิริยาอย่างเด็ดขาด

ปางทุกรกิริยา (จบ)

ในช่วงนั้น พระมหาสัตว์ทรงคิดเปรียบเทียบการปฏิบัติของพระองค์ กับท่อนไม้ลอยน้ำ ๓ ข้อคือ
๑. ท่อนไม้สด ชุ่มด้วยยาง แช่น้ำ นำไปก่อไฟไม่ติด เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ทั้งกายและใจหมกมุ่นอยู่ในกาม ถึงจะปฏิบัติเคร่งครัดทรมานตนอย่างไร ก็ไม่มีทางพ้นทุกข์
๒. ท่อนไม้สด ชุ่มด้วยยาง อยู่บนบก นำไปก่อไฟไม่ติดเช่นกัน เปรียบเสมือนสมณพราหมณ์ที่กายออกจากกาม (ในรูปแบบนักบวช) แล้ว แต่ใจยังติดอยู่ในกาม ก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ได้
๓. ท่อนไม้แห้ง อยู่บนบก นำไปก่อไฟติด ดุจเดียวกับสมณพราหมณ์ที่ปลีกออกจากกามทั้งกายและใจ ย่อมบรรลุความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวลได้

เมื่อทรงค้นพบ "ทางสายกลาง" จึงหันมาเสวยพระกระยาหารให้มีพระกำลังแข็งแรงต่อไป เป็นเหตุให้ปัญจวัคคีย์ผิดหวัง เข้าใจผิดว่า พระมหาสัตว์คลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมาก เห็นแก่กินแล้ว ไม่มีทางบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแน่ จึงชวนกันหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

การที่ทรงเลิกทุกรกิริยา และค้นพบทางสายกลางนี้ มิใช่อยู่ๆ ก็เลิกเฉยๆ ประสบการณ์ที่ทรงผ่านพบมาตั้งแต่ต้นนั้นแหละ เป็นข้อมูลให้พระองค์ทรงนำมาพินิจพิจารณา จนกระทั่งแน่พระทัยว่าเป็นแนวทางไม่ถูกต้อง เพราะถ้าถูกต้อง พระองค์ก็น่าจะบรรลุเป้าหมายแล้ว เนื่องจากทรงกระทำมาจนถึงที่สุดแล้ว ครั้นแว่วเสียงใครบางคนเทียบพิณสามสายให้ฟัง ก็ยิ่งแน่ชัดว่าทางนั้น (การทรมานตน) ไม่ถูก ทางสายกลางต่างหากเป็นทางที่ถูกต้อง

ขอตั้งข้อสังเกตตรงนี้สักนิด ผู้มาเทียบเสียงพิณให้พระมหาสัตว์ฟังนั้น ตำนานว่าพระอินทร์ พระอินทร์ก็พระอินทร์ ไม่ว่ากระไร เพราะพระอินทร์ช่วงหลังนี้ ถูกเขา "ปลด" จากทำเนียบหัวหน้าเทพทั้งหลายแล้ว ยกพระพรหมขึ้นแทนมานานแล้ว จึงได้มา "อาศัย" อยู่ในร่มเงาพระพุทธศาสนา (และวรรณคดี โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ในวรรณคดีไทย) จะเชื่อว่าพระอินทร์จริงๆ ก็ย่อมได้

หรืออาจหมายถึงหนุ่มภารตะคนใดคนหนึ่ง มานั่งดีดพิณอยู่ใกล้ๆ "ถ้ำเขาพญาช้าง" (มาตังเคศวรี) นั้นก็ได้ ด้วยว่า วีณา หรือพิณนั้นเป็นเครื่องดนตรีที่ชาวภารตะถือไปไหนมาไหนประจำดุจดังหนุ่มอีสานถือแคน หนุ่มเหนือถือซึง และหนุ่มภาคกลางถือกีตาร์ อะไรทำนองนั้น

หรืออาจไม่มีใครมาดีดพิณ แต่ขณะนั้นพระมหาสัตว์ทรงเทียบการกระทำของพระองค์ดุจพิณสามสาย ทุกรกิริยานี้ดุจขึงสายพิณเสียตึงเปรี๊ยะ กามสุขัลลิกานุโยค ก็หย่อนเสียเหลือเกินดุจสายพิณที่หย่อนยาน ทั้งสองแนวทางนี้คงมิใช่ทางบรรลุโมกษธรรม ทางสายกลางดุจสายพิณที่ขึงพอดี น่าจะเป็นทางที่ถูกต้องกว่า

ทรงฉุกคิดได้ดังนี้ จึงทรงเลิกอดพระกระยาหาร มุ่งปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป ด้วยประการฉะนี้แล


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 สิงหาคม 2558 14:19:29 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 10.0 MS Internet Explorer 10.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 04 พฤษภาคม 2558 14:21:39 »


https://dhammaweekly.files.wordpress.com/2010/04/e0b8a1e0b8b2e0b8a3.jpg
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ


ปางผจญมาร (๑)

หลังจากทรงเลิกทุกรกิริยา และหลังจากศิษย์ทั้งห้าละทิ้งไปแล้ว ทุกอย่างดูเหมือนจะเอื้อให้พระปณิธานของพระองค์บรรลุผลสัมฤทธิ์เร็วขึ้น เพราะพระพลานามัยก็ได้สมบูรณ์ขึ้น และพระองค์ได้อยู่เพียงลำพัง ไม่มีเสียงผู้คนรบกวน เช้าวันนั้น (วันที่จะตรัสรู้) พระมหาสัตว์ประทับอยู่ใต้ต้นไทรใหญ่ สาวใช้ของนายหญิงธิดาของนายบ้านอุรุเวลา เสนานิคม มาเห็นพระองค์แล้วรีบกลับไปรายงานนายหญิงว่า เทพารักษ์ ท่านนั่งรอนายหญิงอยู่

นายหญิงที่ว่านี้ ชื่อ สุชาดา เคยบนเทพที่ต้นไทรไว้ว่า ถ้าได้แต่งงานกับคนมีตระกูลเสมอกัน และมีบุตรชายคนแรก ก็จะแก้บนด้วยข้าวมธุปายาสอย่างดี ครั้นได้แต่งงานกับบุตรเศรษฐี (ว่ากันว่าบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี) ได้ย้ายไปอยู่กับตระกูลสามีแล้วก็ลืมเสีย จนกระทั่งบุตรชายเป็นหนุ่มแล้ว จึงนึกได้ จึงได้กลับมาทำพิธีแก้บนที่บ้านเกิด สั่งให้สาวใช้ไปปัดกวาดโคนต้นไทรให้สะอาด

ได้ยินสาวใช้ รายงานดังนั้น นางก็ดีใจเอาข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองปิดอย่างดีแล้วก็รีบนำไปยังต้นไทร ไปถึงก็ไม่กล้ามองตรงๆ ยื่นถาดข้าวมธุปายาสให้แล้วก็รีบกลับบ้าน

พระมหาสัตว์เสวยข้าวมธุปายาสนั้นแล้ว ก็ลงไปล้างพระโอษฐ์ที่ลำธารอันมีนามว่า เนรัญชรา ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่าถ้าจะได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณดังปรารถนา ก็ให้ปรากฏนิมิตล่วงหน้าด้วยเถิด แล้วทรงลอยถาดทอง ทันใดนั้นถาดทองก็ไหลทวนกระแสน้ำไปสักระยะหนึ่งแล้วก็จม

ตำนานแต่งเพิ่มไปอีกไกลว่า ถาดนั้นจมลงไปยังนาคพิภพ ไปซ้อนกับถาดอีกสามใบเสียงถาดกระทบกันดังกริ๊ง ทำให้พญานาคซึ่งหลับอยู่ตื่นขึ้นมา แล้วก็ร้องว่า "อ้อ มาตรัสรู้อีกหนึ่งองค์แล้วหรือ" แล้วก็หลับต่อไป

พญานาคอะไรขี้เซาเหลือประมาณ นอนหลับเป็นกัปเป็นกัลป์เชียวหรือ

ข้อความที่กล่าวมา คงเป็นเพียงภาษาสัญลักษณ์ ต้องการบอกว่า การที่ถาดลอยน้ำ แสดงว่า พระมหาสัตว์จะได้ตรัสรู้ธรรมอันสูงสุด และได้สั่งสอนประชาชนให้รับรู้ตามอย่างกว้างขวาง และธรรมนั้นก็ดี วิถีดำเนินชีวิตที่พระองค์ทรงวางไว้ให้หมู่ชนผู้ปฏิบัติตามพระองค์ในกาลต่อมาก็ดี เป็นสิ่งที่ "ทวนกระแสโลก" โดยทั่วไป

พญานาคขี้เซาที่หลับทั้งกัลป์นั้นเป็นตัวแทนของหมู่สัตว์ผู้หลับใหลอยู่ด้วยอำนาจกิเลสนิทรา การตื่นมาเพียงชั่วครู่แล้วหลับต่อไป เท่ากับบอกว่า แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมอย่างไม่เห็นแก่เหนื่อยยากพระวรกายตลอดพระชนมชีพ ก็มีเพียงคนจำนวนน้อยที่ได้ปฏิบัติและได้รู้ตามพระองค์ ยังคงมีอีกจำนวนมากมายมหาศาล ที่ยัง "หลับใหล" อยู่ด้วยอำนาจกิเลสนิทรา อะไรทำนองนั้น

ทั้งหมดนี้ก็เดาเอาแหละครับ ผิดถูกอย่างไร ก็ขออภัยด้วย



ปางผจญมาร (จบ)
ตกบ่ายพระมหาสัตว์ก็ข้ามน้ำไปยังฝั่งตะวันตก (น้ำในแม่น้ำเนรัญชรา ในช่วงนั้นคงไม่ลึกพอลุยข้ามไปได้) ทรงพบคนตัดหญ้าคนหนึ่งนามโสตถิยะ เขาได้ถวายหญ้ากุศะแปดกำ หญ้ากุศะ แปลกันว่าหญ้าคา แต่ดูจริงๆ แล้วไม่ใช่หญ้าคา พระองค์เอาหญ้ากุศะแปดกำนั้นลาดเป็นที่นั่ง ณ โคนต้นอัสสัตถะ (ต่อมาเรียกว่า ต้นโพธิ์) ประทับผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระปฤษฎางค์พิงต้นอัสสัตถะ ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า "ตราบใดที่ยังไม่บรรลุสิ่งที่พึงบรรลุได้ความพยายามของบุรุษ ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ แม้เลือดและเนื้อจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังและกระดูกก็ตามที เราจะไม่ลุกขึ้นจากอาสนะนี้"

ทรงนั่งสมาธิเข้าฌาน ใช้ฌานเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาแนวดิ่งต่อไป ว่ากันว่าพญามารนามว่า วสวัตตี ผู้ตามผจญพระมหาสัตว์มาตลอด ตั้งแต่วันเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) มาแล้ว คอยหาช่องโอกาสอยู่เสมอ แม้ขณะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา พญามารเธอก็ไปกระซิบบอกให้ปรินิพพานเสียเถอะ พระมหาสัตว์ตรัสว่า ตราบใดที่ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ยังจะไม่ปรินิพพาน มาวันนี้เห็นพระมหาสัตว์ทำท่าว่าจะก้าวล่วงวิสัยของตน จึงเดือดร้อนใจมาก ยกทัพมหึมามาผจญพระองค์

ฉากนี้ ตำราเขียนไว้น่ากลัวพิลึก วสวัตตีชี้นิ้วสั่งพระมหาสัตว์เลยว่า "นี่มันอาสนะของข้าท่านจงลุกขึ้นเดี๋ยวนี้"

พระมหาสัตว์บอกว่า "หาใช่ของท่านไม่ ของเรา เราเอาหญ้ากุศะที่นายโสตถิยะถวายมาปูเป็นอาสนะนี้"
"ท่านว่าอาสนะของท่าน ท่านมีพยานไหม" พญามารรุก "แต่ข้ามีพยานนะ ลูกน้องทั้งหมดของข้านี้เป็นพยานได้" แล้วหันไปถามลูกน้องว่า "ใช่ไหมวะ"
"ใช่ครับ เจ้านาย" เสียงลิ่วล้อพญามารร้องตอบ
"เห็นไหม ทั้งหมดเขายืนยันว่าอาสนะนี้เป็นของข้า แล้วท่านเล่า มีพยานไหม" มารรุกฆาต พระมหาสัตว์ทรงชี้พระดรรชนีลงที่พื้นดิน ตรัสว่า "ขอให้วสุนธรา จงเป็นพยาน"

วสุนธรา เป็นนามหนึ่งของแผ่นดิน ทันใดนั้น พระแม่ธรณีก็โผล่ขึ้นจากพื้นดิน บีบมวยผมบันดาลให้กระแสน้ำไหลบ่ามาอย่างแรง ท่วมกองทัพพญามารพัดพาหายไป ณ บัดดล เป็นอันว่ากองทัพพญามารได้พ่ายแพ้อย่างหมดท่า



http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a7/BuddhaShakyamuni.jpg
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ


แถมท้ายตรงนี้หน่อยว่า พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นปางนั่งสมาธิ พระหัตถ์ขวาวางที่พระเพลา ชี้พระดรรชนี (ความจริงทั้งห้านิ้ว) ลงพื้นดิน พระพุทธรูปปางนี้เรียกว่าปางมารวิชัย  (อ่าน "มา-ระ-วิ-ไช") หรือ "ปางผจญมาร" ชาวบ้านเรียก ปางสะดุ้งมาร เพราะความเข้าใจผิด

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่งพระพักตร์ไม่ค่อยสวย ตรัสล้อว่า "องค์นี้ท่าจะสะดุ้งมาร" หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ตอนนั้นเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จำเอาไปเขียนบรรยายพระปางมารวิชัยว่า "ปางสะดุ้งมาร" คนเลยเข้าใจตามนั้น แม้ภายหลังจะแก้ไขแล้ว ก็ยังมีคนเรียกอย่างนั้นต่อมา

เหตุการณ์ข้างต้น เป็นภาษาสัญลักษณ์มากกว่าจะตีความตามตัวอักษร

พญามาร เป็นสัญลักษณ์แทนกิเลสที่เป็นหัวหน้า ๓ ตัวอันเรียกว่า อกุศลมูลคือ โลภะ โทสะ โมหะ ส่วนเสนามารก็ได้แก่กิเลสเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นบริวารของโลภะ โทสะ โมหะนั้น

การที่พระมหาสัตว์ผจญมาร ก็คือทรงกำลังต่อสู้กับอำนาจของกิเลสเหล่านี้นั้นเอง

พระแม่ธรณี เป็นสัญลักษณ์บารมีทั้ง๑๐ ที่ทรงบำเพ็ญมา การอ้างพระแม่ธรณี ก็คือทรงอ้างถึงคุณงามความดีที่ทรงบำเพ็ญมาเป็นกำลังใจในการต่อสู้กับอำนาจของกิเลสนั้นเอง เพราะทรงมีบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาเต็มเปี่ยม พระองค์จึงสามารถเอาชนะอำนาจของกิเลสทั้งปวง บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด ดังนี้แล




ปางตรัสรู้ (๑)

พระพุทธรูปปางตรัสรู้ถือว่าเป็นปางหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดเริ่มของพระพุทธศาสนา จากการตรัสรู้ของพระมหาสัตว์ ประชาชนชาวโลกทั้งหลายจึงได้รับพระธรรมคำสั่งสอนอันเป็นแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีงามในกาลต่อมา

ถามว่าพระมหาสัตว์ได้ตรัสรู้อะไร หรือแม้กระทั่งคำว่า ตรัสรู้ หมายถึงอะไร ตอบว่า คำว่าตรัสรู้เป็นคำไทยผสมกับ (คิดว่า) คำเขมร แปลว่า รู้แจ้ง (ตรัส=แจ้ง, รู้ คือรู้) บาลีของคำนี้คือ สมฺมมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธ = รู้ยิ่งแล้ว ซึ่งความรู้พร้อมโดยชอบ ความรู้พร้อมโดยชอบ คือรู้อริยสัจ (ความจริงอันประเสริฐ) ๔ ประการคือ  ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ได้ และแนวทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์

ณ คืนนั้น (คืนวันเพ็ญเดือนหก) หลังจากทรงอธิษฐานจิตว่าจะไม่ยอมลุกจากที่นั่งจนกว่าจะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเข้าสมาธิผ่านฌานทั้งสี่แล้ว ทำฌานให้เป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา ล่วงปฐมยามก็ทรงบรรลุญาณอันเรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ อันหมายถึงทรงรู้ชาติหนหลังของพระองค์ ได้ ว่าทรงเกิดอะไร ในชาติไหนบ้าง พอถึงมัชฌิมยาม ก็บรรลุจุตูปปาตญาณ (หรือ ทิพพจักขุญาณ) หยั่งรู้ว่าการเกิดการตายของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยอำนาจแห่งกรรมที่แต่ละคนทำมา พอถึงปัจฉิมยาม ก็ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ คือความรู้แจ้งถึงความสิ้นไปแห่งกิเลสจากจิตสันดานของพระองค์

ทรงเป็นสัมมาสัมพุทธะ ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง คือตรัสรู้อริยสัจสี่นั้นแล

ชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูปปางตรัสรู้ขึ้นมา เพื่อเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ พระพุทธรูปท่านั่งสมาธิ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระพุทธรูปปางนี้ต่างจากปางมารวิชัย นิดหนึ่ง ตรงที่ปางมารวิชัยพระหัตถ์ขวายื่นลงยังพื้น ตำนานว่าอ้างพระนางธรณีเป็นพยาน ดังเล่ามาแล้วในตอนก่อน

ถ้าคิดแบบสามัญชน การผจญพญามาร ก็คือการหวนรำลึกถึงความสุขเก่าๆ เมื่อครั้งก่อนเสด็จออกผนวช ทรงรำพึงว่า พระองค์ได้ตรากตรำแสวงหาทางพ้นทุกข์ โดยการทดลองสารพัดวิธี จนล่วงเข้าหกขวบปีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะถึงฝั่ง จะเลิกแสวงหาดีไหม หรือว่าจะสู้ต่อไป การลังเลว่าจะเลิกหรือไม่เลิก เท่ากับกำลังผจญกับพญามารและเสนามาร ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงอธิบายว่า คือการผจญกับกิเลส นั้นแล

แต่ท้ายสุด พระองค์ตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ ต้องไปให้ถึงที่สุด เท่ากับอ้างพระแม่ธรณี แล้วต่อสู้ต่อไป โดยการดำเนินตามทางสายกลางที่ค้นพบใหม่ จนประสบความสำเร็จในที่สุด ได้เป็น พระสัมมาสัมพุทธ (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานโดยชอบด้วยพระองค์เอง) หรือพระพิชิตมาร (พระผู้ทรงชนะมาร)



ปางตรัสรู้ (จบ)
เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ พรรณนาฉากตรัสรู้ไว้ไพเราะมาก บังเอิญผมหา The Light of Asia ไม่เจอ จึงขออนุญาตนำเอาบทกวีที่ คุณกรองแก้ว บูรณะกิจ ประพันธ์ไว้ ในหนังสือเล่มหนาชื่อ พุทธบูชา มาลงดังนี้

พระองค์ทรงพยายามสู้ความคิด บำเพ็ญกิจพิมลให้พ้นเข็ญ
ลังเลถูกขจัดตัดประเด็น ทรงรู้เห็นกิเลสก่อเหตุนี้
แต่ภาพหลอนทั้งหลายไม่คลายคลาด ยังผุดผาดเจิดจรัสรัศมี
รำลึกถึงพิมพามหาเทวี เคยร่วมศรีสวาสดิ์เคียงร่วมเวียงวัง
ทรงคิดถึงราหุล ว้าวุ่นใหญ่ ด้วยสลัดทิ้งไว้ในเบื้องหลัง
ล้วนเป็นภาพหวนกลับมายับยั้ง และฉุดรั้งมุ่งหมายทำลายกัน
จึงบังคับพระทัยให้กลับที่ คืนไปสู่วิถีที่เฉิดฉัน
แสวงจุดอุบัติสัจธรรม เพื่อพบวันตรัสรู้พ้นหมู่กรรม
ในที่สุดพระองค์ทรงประจักษ์ ได้พบหลักสำคัญอันก่องก่ำ
เป็นยอดแห่งสัจจะนาม พระธรรม ซึ่งจักนำสัตว์ทั้งหลายคลายทุกข์ตรม
ตรัสรู้เห็นจริงในสิ่งสรรพ อันเกี่ยวกับทุกข์เศร้าเข้าทับถม
คือเกิดแก่เจ็บตายคลายระทม ภายใต้ร่มธรรมะแห่งพระองค์
ทรงเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ชนเฝ้าบูชิตสิ้นพิศวง
นำมวลชนพ้นทุกข์สุขจำนง พระนามบ่ง โคตมะ พุทธะ
เพ็ญเดือนหกปีระกาสิบห้าค่ำ โลกได้ธรรมอุบัติยอดสัจจะ
หกปีที่บั่นบุกทำชำระ ทรงชนะหมู่มารผลาญโศกปวง

ครับทรงหักห้ามพระทัยอันหวนหาอาลัยที่ทำให้พะว้าพะวังได้แล้ว ก็มุ่งแน่วสู่ทางวิปัสสนา บรรลุญาณขั้นต่างๆ ตามลำดับ จนถึงอาสวักขยญาณ อันสามารถขจัดตัดกิเลสที่หมักดองในจิตสันดานมานานแสนนาน ลุถึงวิชชาวิมุตติหลุดพ้นโดยประการทั้งปวง ณ รุ่งอรุณแห่งคืนวันพระจันทร์เสวยฤกษ์วิสาขะแล้วแล  



ปางถวายเนตร (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ ไม่ค่อยเห็นบ่อยนัก แต่ผู้ที่สนใจในเรื่องพระพุทธรูปประจำวันคงจะทราบ และบางท่านก็คงจะนำไปเป็นพระบูชาประจำวันเกิด เพราะถือกันว่าเป็นพระประจำวันอาทิตย์

พระพุทธรูปปางถวายเนตร ท่าทรงยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเต็มที่ ทอดพระเนตรต้นโพธิ์ พระหัตถ์ทั้งสองข้างห้อยลงมา ประสานกันหน้าพระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ในอิริยาบถสำรวม

ถามว่า พระพุทธองค์ทรงทำอะไร ตอบแบบสามัญก็ว่า ทรงยืนจ้องต้นโพธิ์ ถามต่อไปว่า ทรงจ้องทำไม นั่นสิครับ น่าจะมีเหตุผลอธิบาย เหตุว่าอย่างไร ผมยังไม่เคยอ่านที่ไหน จึงจำต้องเดา ก่อนจะเดาก็ขอเวลานอกสักเล็กน้อย

เวลานอกที่ขอมา ก็เพื่อตั้งข้อสังเกตว่า ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลา ๔ สัปดาห์ หลังจากตรัสรู้ ในการเสวยวิมุติสุขใต้ต้นโพธิ์ และต้นไม้อื่นๆ ในปริมณฑล ๔ สัปดาห์ก็ ๒๘ วัน แต่ในคัมภีร์รุ่นหลัง ท่านเติมเข้ามาอีก ๓ สัปดาห์ รวมเป็น ๗ สัปดาห์ (๔๙ วัน)

สัปดาห์ที่เพิ่มมาก็คือ สัปดาห์ที่ ๒ ทรงจ้องต้นโพธิ์ สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จเดินจงกรม สัปดาห์ที่ ๔ ทรงประทับเรือนแก้ว พิจารณาอภิธรรม

ตั้งข้อสังเกตไว้แค่นี้ก่อน แล้วค่อยหาเหตุผลมาอธิบายกันต่อไป หาไม่ได้ ก็ใช้วิธีสันนิษฐาน หรือเดาเอาแหละครับ ไม่มีวิธีอื่น

ตำนานท่านเล่าเรื่องปางถวายเนตรว่า หลังจากตรัสรู้แล้ว ในสัปดาห์ที่ ๒ พระพุทธองค์เสด็จออกจากบริเวณใต้ต้นโพธิ์ ไปประทับยืน (หรือเรียกให้ถูก "ทรงยืน" เพราะ "ประทับ" แปลว่า นั่ง ประทับยืน ก็ต้องแปลว่า นั่งยืน นั่งยืนทำอย่างไรไม่เคยเห็น) ณ ทางทิศอีสานของต้นโพธิ์จ้องพระเนตรดูต้นโพธิ์ โดยไม่กะพริบ ตลอดเวลา ๗ วัน

๗ วันเต็มๆ เชียวนะครับ สถานที่ทรงยืนจ้องต้นโพธิ์ตลอด ๗ วันนี้ เรียกชื่อว่า อนิมิสสเจดีย์ แปลว่าเจดีย์ที่สร้าง ณ สถานที่พระพุทธเจ้าไม่กะพริบพระเนตร

ผู้แต่งพุทธประวัติก็ดี แต่งหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆ ก็ดี มิได้บอกเหตุผลว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงจ้องต้นโพธิ์ตลอด ๗ วัน

ถ้าจะเดาก็ต้องเดาว่า พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง

ดังที่ทราบอยู่แล้วว่า พระจริยาวัตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของชาวโลกทั้งมวล การกระทำใดๆ ย่อมเป็นไปเพื่อการนี้ทั้งนั้น นี่คือหลักการใหญ่

ต้นโพธิ์ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธองค์ทรงอาศัยนั่งใต้โคนต้น บำเพ็ญวิปัสสนาตลอดทั้งคืนจนได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ความปรารถนาที่ทรงตั้งไว้ตลอดกาลเวลาอันยาวนาน ได้บรรลุผลสำเร็จ ณ รุ่งเช้าของวันเพ็ญเดือนหก และ ณ โคนต้นโพธิ์ต้นนี้



http://www.creditonhand.com/images/spell/20145121145361.jpg
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ


ปางถวายเนตร (จบ)
ต้นโพธิ์ต้นนี้ จึงมีบุญคุณต่อพระพุทธองค์ (นี่พูดโดยภาษาสามัญชนนะครับ) พระพุทธองค์ทรงต้องการจะแสดงความขอบคุณต่อต้นโพธิ์ จึงทรงจ้องต้นโพธิ์ด้วยความซาบซึ้งและขอบคุณ

การรู้บุญคุณของผู้ที่มีบุญคุณ เป็นคุณธรรมที่ดีงามอย่างหนึ่ง เรียกว่า กตัญญู (เรียกให้ถูกว่า กตัญญุตา) และเมื่อรู้ในบุญคุณนั้นแล้ว ก็ตอบแทน เรียกว่า กตเวที (หรือ กตเวทิตา)

ขอบเขตของกตัญญูกตเวที มิใช่อยู่เพียงบุคคล หากรวมถึงสัตว์ สิ่งของด้วย รู้คุณบุคคลที่มีคุณ ก็เป็นกตัญญู รู้คุณต่อสัตว์ที่มีคุณ มีประโยชน์ ก็เป็นกตัญญู รู้คุณ หรือรู้ค่าของสภาพแวดล้อม เช่น ต้นไม้ ภูเขา ลำธาร ฯลฯ ก็เป็นกตัญญู ในเรื่องกตเวทีก็เช่นเดียวกัน

การที่พระพุทธเจ้าทรงจ้องต้นโพธิ์นี้จะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ (หรือได้ แต่ตอนนี้ผมยังตีความไม่ออก) นอกจากเพื่อขอบคุณหรือแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อต้นไม้ที่มีบุญคุณต่อพระองค์นั้นแล

มองให้ลึก พระพุทธองค์ไม่ได้ทำอย่างนี้เพื่อพระองค์เอง หากทรงทำให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนในภายหลัง อนุชนในภายหลังจะได้มีจิตสำนึกในเรื่องนี้ ใครหรืออะไรที่มีบุญคุณต่อตนเองอย่าได้ละเลยให้รู้สำนึกในบุญคุณนั้นและตอบแทนเท่าที่จะทำได้

คุณธรรมสองข้อนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็น "พื้นฐาน" ของคนดี คนดีจะต้องเริ่มจากพื้นฐานนี้ (ภูมิ เว สปฺปุริสานํ กตญฺญูกตเวทิตา = ความรู้คุณ และตอบแทนคุณ เป็นพื้นฐานของคนดี)

พระพุทธจริยาวัตรนี้เอง ทำให้ชาวพุทธไทยถือเอาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต จนกล่าวได้ว่าคนไทยเป็นคนมีคุณธรรมข้อกตัญญูกตเวทีสูงมาก ตั้งแต่โบราณกาล ผู้เฒ่าผู้แก่พร่ำสอนลูกหลานว่า ให้รู้จักบุญคุณคน ใครให้ข้าวให้น้ำกินแม้ครั้งเดียวก็อย่าลืม หรือแม้ไปนั่งหลบร้อนใต้ต้นไม้ใดแม้เพียงชั่วครู่ ก็ให้รู้บุญคุณ อย่าได้เด็ดกิ่งใบ หรือทำลายต้นไม้เป็นอันขาด  หาไม่จะถูกตราหน้าว่า เนรคุณ

พูดถึงการไม่รู้บุญคุณนึกถึงการกระทำอย่างหนึ่ง ในสังคมไทยคือโรงเรียนที่อาศัยวัดอยู่และได้รับการอนุเคราะห์จากวัดนั้นๆ ด้วย แต่ก่อนตั้งชื่อโรงเรียนมี คำว่า "วัด" อยู่ด้วย เช่น โรงเรียนวัดโคกขี้แร้ง (สมมติ) ต่อมาได้เอาคำว่าวัดออก เหลือแต่ "โรงเรียนโคกขี้แร้ง"

นี่คือตัวอย่างของการไม่รู้บุญคุณ ใครเป็นต้นเหตุให้เกิดการกระทำที่ไม่รู้บุญคุณนี้สืบเอาก็แล้วกัน

เพื่อนผมคนหนึ่งพูดทีตลกว่า ถึงจะเอาคำว่าวัดออกก็ดูดี แต่มีอยู่โรงเรียนหนึ่งห้ามเอาออกเด็ดขาด เอาออกแล้วจะเสียหายใหญ่โตทีเดียว

เมื่อถามว่า โรงเรียนอะไรหรือ "โรงเรียนวัดสังเวช"  



ปางจงกรมแก้ว

ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก เห็นภาพวาดลายเส้น เป็นพระพุทธรูปทรงยืน พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานอยู่หน้าพระเพลา แสดงอาการก้าวเดินจงกรม พระเนตรทอดต่ำลงมา อยู่ในอาการสำรวม เห็นปั๊บก็รู้ว่า "กำลังเดิน"

ความเป็นมา ดังที่กล่าวไว้ในตอนก่อน (ตอนว่าด้วย ปางถวายเนตร) พระอรรถกถาจารย์เพิ่มเข้ามาภายหลัง เพราะในพระไตรปิฎก กล่าวว่า หลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุติสุขใต้ต้นโพธิ์ และต้นไม้อื่น ในปริมณฑลเพียง ๔ สัปดาห์ แต่อรรถกถาเพิ่มเข้ามาอีก ๓ สัปดาห์รวมเป็น ๗ สัปดาห์

เหตุที่เพิ่ม เราไม่ทราบ แต่พอจะเดาได้บางเรื่องบางประเด็น (จะกล่าวถึงภายหลัง) ก่อนอื่นขอเล่าตามที่ท่านรจนาไว้ก่อน

ในสัปดาห์ที่ ๓ หลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงถอยจากจุดที่ทรงยืนจ้องต้นพระศรีมหาโพธิ์ เข้ามาอยู่ตรงกึ่งกลาง ระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิ์ กับ อนิมิสสเจดีย์ เสด็จจงกรมไปมา อยู่ตลอดเจ็ดวัน

จงกรม แปลตามศัพท์ว่า เดินธรรมดานี่แหละครับ แต่นำมาใช้เรียกการเดินช้าๆ และเดินกลับไปกลับมาด้วย ถามว่าทำไมต้องเดินกลับไปกลับมา ตอบง่าย เพราะในการฝึกสมาธิ พระท่านจะทำสถานที่สำหรับเดินจงกรมเป็นพิเศษ บางแห่งสร้างเป็นแท่น หรือแพลตฟอร์มเตี้ยๆ จึงต้องกำหนดพื้นที่ ที่กว้างยาวพอเหมาะแก่การนี้ การเดินจะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ จึงต้องเดินกลับไปกลับมาหลายเที่ยว

จุดประสงค์ของการเดินจงกรม ในกรณีของพระพุทธองค์นั้น เข้าใจว่าเพื่อทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถเท่านั้นเอง สังเกตดู พระพุทธองค์ประทับเสียส่วนมาก ไม่ได้เสด็จดำเนินเลย ใต้ต้นโพธิ์ก็นั่ง ใต้ต้นไทรก็นั่ง ใต้ต้นเกดก็นั่ง ใต้ต้นจิกก็นั่ง แต่ละแห่งก็นั่ง "มาราธอน" ถึง ๗ วัน พูดด้วยภาษาสามัญก็ว่าคงต้องเมื่อยขบแหละครับ

เพิ่งจะมียืน และเดินก็ตอนนี้เอง และถ้าจะคิดลึกไปกว่านี้ การที่พระพุทธองค์ทรงทำอย่างนี้ ก็เท่ากับบอกนัยสำคัญดังนี้
๑. เน้นย้ำเรื่อง "สายกลาง" จริงอยู่สายกลางที่ว่าคือข้อปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด เพื่อพ้นทุกข์ แต่ในความหมายที่ประยุกต์มาเพื่อใช้กับกรณีอื่นคือ "ความพอดี" ถ้าหากเกณฑ์ให้พระพุทธองค์ประทับอย่างเดียว ไม่มีการพักผ่อนพระอิริยาบถ หรือเปลี่ยนพระอิริยาบถเลย ก็เท่ากับไม่เน้น "ความพอดี" กลายเป็นสนับสนุนการกระทำที่ "ตึง" เกินไป ไม่รู้จัก "พักผ่อน" เสียบ้าง

๒.การพักผ่อน ที่ว่านี้คือการเปลี่ยนอิริยาบถ มิใช่การนอนหลับ นั่งนานๆ เกิดความเมื่อยขบ ลุกมาเดินเสียบ้าง แต่ในการเดินนั้นก็เดินอย่างสำรวม มีสติกำกับทุกย่างก้าว การทำเช่นนี้เป็นการ "พักผ่อนที่มิได้พักผ่อน" หรือการ "ไม่พักผ่อนที่เป็นการพักผ่อน"

ผมว่านี้คือ รหัสนัย ที่พึงไขให้แจ้งชัด พระพุทธศาสนาสอนให้เห็นความสำคัญของกาลเวลา ไม่พึงปล่อยกาลเวลาให้ล่วงไปเปล่า โดยมิได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ หายใจเข้าออกทุกวินาทีให้ถือเอาประโยชน์จากการหายใจให้ได้ ทุกการเคลื่อนไหว ทุกอิริยาบถควรจะเป็นเครื่องมือ หรือสื่อแห่งการปฏิบัติธรรม

พระพุทธองค์ทรงเดินจงกรมไปมา หลังจากยืนจ้องต้นโพธิ์อยู่เจ็ดวัน บางท่านอาจคิดว่าทรงทรมานพระองค์เอง ทั้งๆ ที่ทรงเลิกละวิธีอย่างนั้นมาแล้ว แต่แท้ที่จริง พระองค์ทรง "พักผ่อน" แต่พักผ่อนด้วยการ "ทำงาน" อย่างอื่น คือ เปลี่ยนพระอิริยาบถ

เคยถามนักปราชญ์ท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งตลอดชีวิตของท่านทำแต่งาน ว่าท่านไม่พักผ่อนบ้างเลยหรือ ท่านบอกว่าพักผ่อนไม่พักก็แย่สิ ท่านเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนงานทำเป็นระยะ เช่น เขียนหนังสือวิชาการหนักสมองไปสักระยะหนึ่ง สมองล้าเข้า ก็หันมาเขียนเรื่องเบาสมอง ท่านว่านี้คือการพักผ่อน "พักโดยไม่พัก" ท่านว่าอย่างนั้น

ผมว่าท่านคงได้ "เคล็ดลับ" จากพุทธจริยาวัตรตอนนี้นี่เอง ทั้งหมดนี้ ผมเดาเอาทั้งนั้นครับไม่เชื่อก็อย่าดูหมิ่น

เพราะฉะนั้นในการฝึกสมาธิวิปัสสนา นอกจากจะให้นั่งแล้ว ยังให้เดินจงกรมด้วย ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งการฝึกปฏิบัติ (หลวงพ่อเทียน วัดสนามใน ท่านให้ศิษย์ "วิ่งจงกรม" แทนเดินช้าๆ ก็ถือว่าเป็นการ "จงกรม" เหมือนกัน)

นั่งจนเมื่อยแล้ว ลุกเดินบ้าง อย่างน้อยก็เป็นการพักผ่อนยืดเส้นยืดสาย แต่ในการพักผ่อนนั้นได้ทำงานไปในตัวอย่างต่อเนื่องด้วย จึงไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมบางท่านทำสมาธิกันได้ทนตลอดทั้งวันก็ไม่เหนื่อย ก็จะเหนื่อยอะไรเล่าได้พักผ่อนอยู่ในตัวนี่ครับ


[
ปางเรือนแก้ว (๑)

ปางนี้ก็เช่นกัน เพิ่มเข้ามาใหม่เพื่อเหตุผลอะไรบางอย่าง ดังจะสันนิษฐานต่อไป ก่อนอื่นขอเล่าประวัติความเป็นมาก่อน

ในสัปดาห์ที่ ๔ พระพุทธองค์เสด็จออกจากรัตนจงกรมเจดีย์ไปยังทิศพายัพของต้นโพธิ์ ประทับ ณ เรือนแก้ว (รัตนฆระ) ว่ากันว่าเทวดาเนรมิตถวาย พระองค์ประทับ ณ เรือนแก้วนี้เป็นเวลา ๗ วัน ทรงพิจารณาพระอภิธรรม

พระอภิธรรมที่ว่านี้คือ พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ที่โบราณาจารย์ย่อให้สั้นเพื่อจำง่ายว่า สัง-วิ-ธา-ปุ-ก-ย-ป

สัง คือ สังคณี (ประมวลธรรมเป็นหมวดๆ)
วิ คือ วิภังค์ (จำแนกธรรมที่ประมวลไว้นั้นโดยพิสดาร)
ธา คือ ธาตุกถา (แจงขันธ์, ธาตุ, อายตนะ ว่าแต่ละอย่างเข้ากันได้หรือไม่อย่างไร)
ปุ คือ ปุคคลบัญญัติ (บัญญัติเรียกคนตามคุณธรรม เช่น เรียกว่าโสดาบัน เพราะคุณธรรมอะไร)
คือ กถาวัตถุ (แถลงทฤษฎีว่าอย่างไหนถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท)
คือ ยมก (ยกธรรมขึ้นถามตอบโดยตั้งคำถามเป็นคู่ๆ)
คือ ปัฏฐาน (แจงปัจจัยหรือเงื่อนไขทางธรรมว่ามีอะไรบ้าง)

ปัญหาเรื่องพระอภิธรรมนี้มีมานานแล้ว คือมี ผู้ปฏิเสธว่าพระอภิธรรมนี้ เกิดขึ้นภายหลังพุทธปรินิพพาน สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงแสดงเฉพาะธรรมกับวินัย หลังพุทธปรินิพพานแล้วประมาณสองร้อยกว่าปี ธรรม กับ วินัย จึงได้แตกแขนงออกเป็น ๓ หมวด อันเรียกว่า พระไตรปิฎก โดย ธรรม ได้แตกออกเป็น พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก วินัย ยังคงเป็นพระวินัยปิฎก

พูดง่ายๆ พระอภิธรรม มาจาก "ธรรม" หรือเป็นส่วนหนึ่งของ "ธรรม" นั่นเอง

เพราะฉะนั้น พระอภิธรรม จึงนับว่าเป็นพัฒนาการยุคหลัง  



ปางเรือนแก้ว (จบ)

แต่ฝ่ายที่ยกย่องพระอภิธรรมปิฎกไม่ยอมรับในเรื่องนี้ จึงพยายามชี้ให้เห็นว่าพระอภิธรรมมีมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ตรัสรู้โน่นแน่ะ เพราะมีหลักฐานว่าหลังตรัสรู้แล้วเพียง ๓ สัปดาห์เท่านั้น พระองค์ยังประทับพิจารณาพระอภิธรรมในเรือนแก้วเลย

และหลังจากประกาศพระพุทธศาสนาแล้วประมาณ ๗ ปี พระพุทธองค์ยังได้เสด็จขึ้นไปแสดงพระอภิธรรมแก่อดีตพุทธมารดาซึ่งไปเกิดเป็นเทพบุตร ณ สวรรค์ชั้นดุสิต พระพุทธองค์เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อดีตพุทธมารดาได้ลงมาฟังพระอภิธรรมร่วมกับเหล่าเทพทั้งหลาย ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ใครช่างกล่าวหาว่าพระอภิธรรมเป็นพัฒนาการในยุคหลัง เป็นไปไม่ได้เป็นอันขาด ว่าอย่างนั้นเถอะ

ครับ ถ้าจะเอาหลักฐาน ก็มีดังที่กล่าวมานี้แหละ แต่หลักฐานนี้ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่งขึ้นภายหลังโดยปราชญ์สำนักอภิธรรมนั้นแล

พระอรรถกถาจารย์คือพระพุทธโฆสาจารย์ ผู้แต่งอรรถกถามากมาย เป็นพระสำนักอภิธรรม จึงจำเป็นอยู่เองที่ท่านต้องการยืนยันความเก่าของพระอภิธรรม เก่าแก่มาแต่สมัยพุทธกาล

ไม่ผิดดอกครับ ที่ท่านเสริมเพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง เพราะไม่มีใครปฏิเสธว่าพระอภิธรรมมิใช่พุทธวจนะ หรือมิใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแน่นอน

เพียงแต่ต้องการให้นักศึกษาสำเหนียกในแง่ประวัติศาสตร์ว่า ธรรมะส่วนไหนของพระพุทธเจ้าเกิดก่อนเกิดหลัง ปิฎกไหนของพระไตรปิฎกเกิดก่อนเกิดหลังเท่านั้นเอง

ใครไปนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ที่อินเดีย ก็จะเห็นสถานที่ต่างๆ ที่พระพุทธองค์เคยประทับรัตนจงกรมเจดีย์เขาก็สร้างไว้ข้างวิหารพุทธคยามีดอกบัวสำหรับรองรับพระบาท (กี่ดอกไม่ได้นับ) รัตนฆรเจดีย์ ก็สร้างเป็นเรือนถัดจากรัตนจงกรมเจดีย์ให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 สิงหาคม 2558 14:36:08 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 08 กรกฎาคม 2558 19:08:02 »


http://img.tarad.com/shop/t/thaiartcollection/img-lib/spd_20111217161042_b.jpg
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ

ปางห้ามมาร (๑)

ทางด้านทิศบูรพาแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีต้นไทรย้อยที่ร่มรื่นอยู่ต้นหนึ่ง พวกเด็กเลี้ยงแพะชอบมาอยู่กัน จึงเรียกว่า "อชปาลนิโครธ" พระพุทธองค์ได้เสด็จออกจากรัตนฆรเจดีย์ มาประทับใต้ต้น อชปาลนิโครธนี้ เพื่อเสวยวิมุติสุขต่อในสัปดาห์ ๕ (ตามหลักฐานพระไตรปิฎก เป็นสัปดาห์ที่ ๒ ดังกล่าวมาแล้ว)

วสวัตตีมาร เมื่อพ่ายแพ้พระพุทธองค์แล้วก็นั่งเสียอกเสียใจที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนีพ้นวิสัยแห่งตนไปเสียแล้ว ขณะนั้นธิดาพญามาร ๓ ตน มีนามว่า ตัณหา ราคา และอรดี ตามลำดับ พากันมาปลอบโยนบิดามิให้เศร้าโศกเสียใจ พวกตนอาสาจะไปยั่วยวนพระสมณโคดม นำกลับมาสู่วิสัยแห่งมารให้ได้

นางทั้งสามไปปรากฏกายต่อพระพักตร์พระพุทธองค์ขณะประทับอยู่ใต้ต้นอชปาลนิโครธ ร่ายรำแสดงอาการยั่วยวนด้วยประการต่างๆ เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงมีความยินดี

พระพุทธองค์ประทับนิ่ง ยกพระหัตถ์ทำนองห้ามปราม ตรัสด้วยพระอาการสงบว่า
พุทธะใด เอาชนะกิเลสได้เด็ดขาดแล้ว
ปราศจากตัณหา ดุจตาข่ายดักสัตว์อันร้ายกาจแล้ว
พุทธะนั้น มีสัพพัญญุตญาณหาที่สุดมิได้
ไม่เดินตามทางของสรรพกิเลสแล้ว
พวกเธอจะนำพุทธะนั้นไปตามทางไหนเล่า


ธิดามารทั้งสามยังไม่ยอมละความพยายาม จำแลงกายเป็นหญิงวัยต่างๆ ตั้งแต่วัยกัลยาณีแรกรุ่นเพื่อให้พระพุทธองค์ทรงยินดี แต่พระพุทธองค์ยังคงประทับนิ่งในสมาธิ มิได้สนพระทัยไยดีแม้แต่น้อย เมื่อเห็นพวกนางยังดื้อดึงอยู่ จึงทรงบันดาลให้ร่างกายสาวงามทั้งสามนั้นกลายเป็นหญิงชรา ร่างกายเหี่ยวย่นน่าเกลียดขึ้นมาทันที นางทั้งสามพากันตกใจหายวับไปในทันใด

พระพุทธรูปปางนี้ สร้างเป็นท่านั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระ แสดงอาการห้าม เรียกกันว่า "ปางห้าม (ธิดา) มาร"

เมื่อมารหมายถึงกิเลสตัวเบิ้มทั้ง ๓ คือโลภ โกรธ หลง ธิดามารก็คือกิเลสนั้นเอง ฟังแต่ชื่อก็รู้ว่ากิเลสตัวใด ราคา ก็คือราคะ (ความกำหนัดยินดีในกามารมณ์) ตัณหา ก็คือความทะยานอยาก อรดี ก็คือความขัดเคืองใจ หรือความพยาบาท


ปางห้ามมาร (จบ)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อทรงนิพนธ์พุทธประวัติ ทรงสันนิษฐานว่าพญามารที่มาผจญพระพุทธเจ้าคือกิเลส การที่ทรงเอาชนะพญามารได้ก็คือ คือทรงชนะกิเลสทั้งหมดได้เด็ดขาดแล้ว เมื่อมีฉากธิดามารมาผจญอีกหลังตรัสรู้แล้ว ไม่ทรงแน่พระทัยว่าเหตุการณ์นี้ทำไมจึงเกิดขึ้นหลังตรัสรู้กิเลสที่ทรงละได้หมดแล้ว จะกลับมายั่วยวนพระพุทธองค์ย่อมไม่สมเหตุสมผล "ข้อนี้ขอฝากผู้รู้พิจารณาด้วย" พระองค์ว่าอย่างนั้น

แต่ก็ไม่เห็นมีใครรับฝาก คือไม่มีใครหาเหตุมาอธิบายให้สมเหตุสมผล ก็มีหลวงพ่อพุทธทาสนี่แหละครับ ที่ได้ให้คำวินิจฉัยไว้ ซึ่งผมว่าเข้าท่าดี

ท่านว่า ธิดามารมาผจญหลังตรัสรู้แล้วนั่นแหละถูกต้องแล้ว ธิดามารในที่นี้ มิใช่กิเลสเพราะกิเลสทรงละได้หมดตอนตรัสรู้ แต่เป็นเพียงทรงรำลึกถึงความร้ายกาจของกิเลสที่เพิ่งเอาชนะได้หยกๆ ว่ามันช่างร้ายกาจจริงๆ ต้องต่อสู้เป็นกัปเป็นกัลป์กว่าจะละมันได้

การทรงหวนรำลึกถึงความร้ายกาจของกิเลสนี้ เพียงชั่วครู่เดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นในหนังสือจึงว่าธิดามารทั้งสามมาร่ายรำยั่วยวนพระพุทธเจ้าเพียงชั่วครู่ เมื่อเห็นว่าพระองค์ไม่สนใจไยดีจึงพากันหนีไปในทันที

ฉากธิดามารยั่วยวน จึงไม่นานมาราธอนเหมือนตอนพญามารและกองทัพมาผจญ

คำอธิบายนี้ผมเห็นว่าสมเหตุสมผล น่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง

อนึ่งในขณะที่พระพุทธองค์ประทับ ณ โคนต้นอชปาลนิโครธนี้ มีพราหมณ์คนหนึ่ง มีอัสมิมานะ (ความถือตัว) สูง ชอบตวาดคนอื่น เข้ามาถามพระพุทธองค์ว่า ท่านเป็นพราหมณ์หรือไม่ ทำนองว่าถ้าไม่ใช่พราหมณ์ก็ไม่คุยด้วย เพราะเป็นคนชั้นต่ำ

พระพุทธองค์ได้ตรัสให้ "นิยาม" คำว่าพราหมณ์ เป็นคาถา (โศลก) ว่า
ผู้ใดลอยบาป (คือละบาป) ได้แล้ว ไม่ขู่ตวาดคนอื่นด้วย คำหยาบ
หมดกิเลสเครื่องย้อมใจ สำรวม ถึงที่สุดแห่งพระเวท
ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์แล้ว ผู้ที่ไม่มีกิเลสเหิมเกริมใดๆ จึงควรเรียกว่า พราหมณ์


คนทั่วไป มักนึกว่าการเกิดในวรรณะพราหมณ์ การเรียนจบไตรเพท เป็นคุณสมบัติของพราหมณ์ พระพุทธองค์ตรัสว่าเพียงแค่นั้นยังไม่ใช่ พราหมณ์ที่แท้จริงต้องละบาปได้ ละกิเลสได้ ไม่มีอัสมิมานะ สงบสำรวม อยู่จบพรหมจรรย์ (คือประพฤติพรหมจรรย์จนบรรลุมรรคผลนิพพาน)




ปางถวายสัตตุก้อนสัตตุผง (๑)

"สัตตุก้อน สัตตุผง" ที่พาณิชสองพี่น้องถวายคืออะไร สงสัยนานมาก ไม่ได้ถามผู้รู้และไม่ได้เปิดตำรา จนถูกลูกศิษย์ถามนั่นแหละจึงได้ไปเปิดพระไตรปิฎกดู ได้ความดังนี้ครับ

สิ่งที่สองพี่น้องถวายพระพุทธเจ้าคือ มนฺถญฺจ มธุปิณฺฑิกญฺจ (มันถะ และมธุบิณฑิกะ) มันถะ คือข้าวตากที่ตำละเอียด น่าจะเป็น "สัตตุผง" มธุบิณฑิกะ คือข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นก้อนๆ นี่น่าจะเป็น "สัตตุก้อน" เพราะฉะนั้นข้อความตรงนี้ต้องแปลตามลำดับว่า "สัตตุผง และสัตตุก้อน"

ในสัปดาห์ที่ ๗ (ที่ ๓ ตามลำดับในพระไตรปิฎก) พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) เข้าใจว่าพวกราชาหรือมหาราชาคงมาพักที่นี่บ่อย จึงเรียกว่า "ราชายตนะ" (ที่พักของพวกราชา) ขณะนั้นพ่อค้าสองพี่น้องมาจากอุกกลชนบทเพื่อค้าขาย เห็นพระพุทธองค์ก็เกิดความเลื่อมใสได้น้อมนำเอาข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อนไปถวาย

ขณะนั้นพระพุทธองค์ยังไม่มีบาตร ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ จึงน้อมนำบาตรองค์ละใบ พระพุทธองค์ดำริว่า บาตรใบเดียวย่อมเพียงพอแก่เรา จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง ๔ ใบ ประสานเข้ากันเป็นใบเดียว ทรงรับข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อนจากพาณิชทั้งสอง เสวยเสร็จก็ประทานอนุโมทนา

ทั้งสองได้กล่าววาจาถึงพระรัตนะทั้งสอง (คือพระพุทธ พระธรรม) เป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต ทั้งสองจึงได้ชื่อว่าเป็น "เทฺววาจิกอุบาสก" (อุบาสกผู้ถึงรัตนะสอง) เป็นคู่แรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

พาณิชสองพี่น้องได้กราบทูลลาพระพุทธองค์กลับไปยังบ้านเมืองของตน

ในพระไตรปิฎกเขียนไว้เท่านี้ แต่ในอรรถกถาเขียนเพิ่มว่า ทั้งสองคนกราบทูลว่า เมื่อพวกตนกลับมายังมาตุภูมิแล้ว คิดถึงพระพุทธองค์ขึ้นมาจะทำประการใด พระพุทธองค์ทรงลูบพระเศียร พระเกศาแปดเส้นก็หลุดติดพระหัตถ์มา พระองค์ประทานให้สองพี่น้องนำไปบูชา ว่าอย่างนั้น

ถึงตรงนี้ปราชญ์พม่าก็สวมรอยทันที บอกด้วยว่า พาณิชสองพี่น้องนั้นเป็นชาวพม่า คือ เป็นชาวหงสาวดี เดินทางจากหงสาวดีไปค้าขายยังชมพูทวีป พบพระพุทธองค์ ถวายภัตตาหารแก่พระองค์ และได้รับประทานพระเกศธาตุแปดองค์กลับมายังบ้านเมืองของตน

เมื่อไปถึงก็ได้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระเกศธาตุนั้นไว้บูชาตราบมาจนทุกวันนี้ และพระเจดีย์นั้นก็คือ พระธาตุชเวดากองนั้นเอง ว่าอย่างนั้น อะไรจะปานนั้น



ปางถวายสัตตุก้อนสัตตุผง (จบ)

นี้เป็นเรื่องต่อเติมเข้ามาภายหลัง ไม่ว่าพม่า ไทย หรือแขก ต่างก็ชอบเติมชอบแทรกกันทั้งนั้น ไม่ควรว่ากัน ไทยเราก็แต่งแทรกเรื่องนาคถวายชื่อไว้เรียกขานผู้จะบวช (ดังกล่าวแล้วในตอนก่อน) พม่าเขาจะอ้างบ้าง ก็ปล่อยเขาไป ขอให้รู้ว่าตรงนี้เขาแต่งเติม ของเก่ามีเท่านี้ แค่นี้ก็พอครับ

พูดถึงตรงนี้ นึกขึ้นมาได้ว่า ครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยศิลปากร มีสัมมนาเรื่อง "ลัทธิความเชื่อของพม่า" เขาเชิญผมไปพูดเรื่องพระพุทธศาสนาในพม่า จำได้ว่าได้ยกเอาเรื่องพ่อค้าสองพี่น้อง ที่ชาวพม่าอ้างว่าเป็นชาวหงสาวดีมาพูดด้วย

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งพยายามจะเอาคำตอบจากผมว่า ผมเชื่ออย่างนั้นหรือไม่ ถ้าไม่เชื่ออย่างไร ผมไม่สามารถตอบได้ พูดเลี่ยงไปว่า พิจารณาตามคำศัพท์ของอาหารที่สองพี่น้องถวายน่าจะเป็นคนจีนนะ
"เหตุผล" ท่านผู้นั้นถาม
"ก็ท่านใช้คำว่า มนฺถํ มันใกล้เคียง หมั่นโถ น่ะ" ผมว่า เรียกเสียงฮาทั่วห้องประชุม
"แต่พิจารณาตามชื่อ น่าจะเป็นคนไทย" ผมลูกเล่นต่อ

คราวนี้ไม่รอให้ถาม ผมกล่าวต่อเลยว่า "ท่านลองฟังดูสิ คนพี่ชื่อ ตปุสสะ คนน้องชื่อ ภัลลิกะ มันก็ ตาบุตร กับ ตาพัน เราดีๆ นี่เอง"

อย่าซีเรียสนะครับ เล่าให้ฟังเฉยๆ จนบัดนี้เราก็ไม่ทราบว่าสองพี่น้องเป็นใครกันแน่ รู้แต่ว่าเป็นชาวอุกกลชนบท ซึ่งอรรถกถาบอกเพียงเลาๆ ว่า อยู่ทางเหนือของอินเดีย แถวๆ ตักกสิลาเก่า กลับบ้านเมืองของตนแล้วเป็นอยู่อย่างไร ก็หายจ้อย ไม่มีที่ไหนกล่าวถึง

ถึงอย่างไรสองพี่น้องก็มีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ให้กล่าวขวัญถึงตลอดไปว่า ผู้ถึงพระรัตนะสอง (คือพระพุทธ และพระธรรม) คู่แรกคือ ตปุสสะ กับภัลลิกะ แห่งอุกกลชนบท ผู้ถึงพระรัตนตรัยคู่แรกคือ บิดาและมารดาของพระยสะ

มารดาของพระยสะ ว่ากันว่าคือนางสุชาดา ธิดาแห่งนายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ผู้ถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้นั้นแหละครับ ตำราบอกไว้อย่างนั้น

มีข้อสงสัยนิดเดียว นางสุชาดาอยู่ตำบลพุทธคยา มารดาพระยสะอยู่เมืองพาราณสี ห่างกันหลายร้อยกิโล ไม่น่าจะเป็นคนเดียวกัน

แต่ก็มีผู้เฉลยว่า เมื่อก่อนน่ะใช่ สุชาดาอยู่ตำบลพุทธคยา เมื่อแต่งงานแล้วได้ตามไปอยู่กับตระกูลสามีที่เมืองพาราณสี เคยบนเทพที่ต้นไทรไว้ก่อนแต่งงานแล้วก็ลืม พอได้บุตรจนบุตรโตแล้วนึกขึ้นมาได้ จึงกลับไปแก้บนที่บ้านเกิด ว่าอย่างนั้น

เมื่อไม่มีคำอธิบายเป็นอย่างอื่น ก็ต้องรับฟังตามนี้ไปก่อน




ปางมหาพรหมอัญเชิญ แสดงธรรม (๑)

มีธรรมเนียมในหมู่ชาวพุทธ เวลาพระจะเทศน์ พิธีกรจะกล่าวอาราธนาธรรม คือ อาราธนาให้พระธรรมกถึกแสดงธรรม ขึ้นต้นด้วยคำว่า พฺรหฺมา จะ โลกาธิปตี สะหัมปะติ...ธรรมเนียมนี้มีที่มาดังนี้

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากโคนต้นราชยตนะในสัปดาห์ที่ ๗ หลังตรัสรู้ (พระไตรปิฎกว่าสัปดาห์ที่ ๔) ก็เสด็จไปยังต้นอชปาลินโครธอีกครั้ง

คราวนั้นพระองค์ทรงพิจารณาธรรมะที่ตรัสรู้แล้วว่า เป็นสภาวะที่ละเอียด ประณีตลึกซึ้ง แม้เหตุผลทางตรรกะก็หยั่งไม่ถึง รู้ตามได้ยาก ทรงมีพระหฤทัยน้อมไปในความเป็นผู้ขวนขวายน้อย (นี้เป็นสำนวนพระ ความหมายก็คือ ไม่คิดแสดงธรรม คิดจะอยู่เฉยๆ)

ขณะนั้นท้าวสหัมบดีพรหม ทราบพระปริวิตกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเข้ามานมัสการ กราบทูลอัญเชิญให้พระองค์เสด็จไปประกาศพระธรรม โดยกล่าวว่า สัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อยยังมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมจากประโยชน์ที่พึงได้ เพราะมิได้ฟังธรรมจากพระองค์

ความหมายในที่นี้ก็คือ "ผู้ที่มีพื้นความรู้พอจะเข้าใจยังมีอยู่ ขอให้พระองค์เสด็จไปแสดงธรรมเถิด"

พระพุทธเจ้าหลังจากทรงพิจารณาสัตว์โลกเปรียบเทียบกับดอกบัวเหล่าที่เจริญงอกงามในสระแล้ว ก็ทรงรับคำอาราธนาของสหัมบดีพรหม  ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อเราจะอาราธนาใหัภิกษุแสดงธรรมเราจึงกล่าวคำอาราธนา อ้างชื่อสหัมบดีพรหมว่า "พฺรหฺมา จะ โลกาธิปะติ สะหัมปะติ..." ดังที่ทราบกันดีแล้ว

พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลกดุจดอกบัว ๓ เหล่า (คือดอกอุบล, ดอกปทุม, ดอกบุณฑริกา) อันเกิดและเจริญในสระ ๓ ระดับ คือ
ระดับที่หนึ่ง ดอกบัวพ้นน้ำ เปรียบเสมือนผู้ฉลาดมากสามารถเข้าใจธรรมทันทีที่ได้ฟังโดยสังเขป
ระดับที่สอง ดอกบัวเสมอผิวน้ำ เปรียบเหมือนคนที่ฉลาด พอฟังโดยพิสดารก็เข้าใจ
ระดับที่สาม ดอกบัวอยู่กลางท้องน้ำ เปรียบเหมือนคนผู้พอฝึกฝนอบรมได้ ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจึงจะเข้าใจ

คำว่า "เข้าใจ" หมายถึงตรัสรู้ธรรม ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ ข้อที่ ๙ หน้า ๑๑  กล่าวถึงดอกบัว ๓ ระดับเท่านั้น ไม่มีระดับที่ ๔  ซึ่งเติมมาภายหลัง เพื่อให้เข้าคู่กับบุคคล ๔ จำพวก

ถ้าไม่พูดเสียตรงนี้ก็จะไม่เข้าใจกันแจ่มแจ้ง ขอขยายเลยนะคัรบ
๑.พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์เปรียบเทียบกับดอกบัว ๓ เหล่า ๓ ระดับ ไม่เกี่ยวกับบุคคล ๔ ประเภท



ปางมหาพรหมอัญเชิญ แสดงธรรม (จบ)

๒.ส่วนการแบ่งบุคคลออกเป็นหลายประเภทนั้น ตรัสไว้ในที่อื่น เช่น สองประเภท สามประเภท สี่ประเภท ห้าประเภท ฯลฯ ไม่เกี่ยวกับการตรวจตราดูสัตว์โลก

๓.เฉพาะบุคคล ๔ ประเภท ก็มีหลายหมวด หนึ่งในหลายหมวดนั้น ทรงแบ่งดังนี้
     (๑) อุคฆติตัญญู ผู้ตรัสรู้ฉับพลัน เพียงฟังหัวข้อธรรมก็ตรัสรู้
     (๒) วิปัญจิตัญญู ผู้ตรัสรู้เร็ว เพียงฟังธรรมโดยพิสดารก็ตรัสรู้ (ต้นฉบับเดิมเขียน วิปัญจิตญญู มิใช่วิปัจจิตัญญู)
     (๓) เนยยะ ผู้พึงฝึกฝนอบรมได้ ต้องใกล้ชิดสัตบุรุษ ฟังธรรมจากท่านเหล่านั้น ฝึกฝนอบรมสักระยะหนึ่ง จึงตรัสรู้
     (๔) ปทปรมะ ผู้เป็นพหูสูต จำได้มาก กล่าวได้มาก แต่ไม่สามารถตรัสรู้ในชาตินี้

นี้คือคำจำกัดความของบุคคล ๔ ประเภท หรือ ๔ ระดับ เฉพาะประเภทท้าย (ปทปรมะ) มิได้หมายถึงคนโง่ หากหมายถึงผู้รู้ทฤษฎีมาก เป็นพหูสูต คนพวกนี้เป็น ผู้"มากบท มากเรื่อง" ยากจะตรัสรู้ได้ในชาตินี้

พระอรรถกถาจารย์ คงเห็นว่าเข้าท่าดี จึงนำเอาบุคคล ๔ ประเภทมาจับคู่กับดอกบัว ๓ ระดับ

พอมาถึงประเภทที่ ๔ จึงเติมดอกบัวระดับที่ ๔ เข้ามาเพื่อเข้าคู่กัน แล้วให้คำนิยามใหม่ว่า "บัวจมโคลนเลน มีแต่จะเป็นภักษาของปลาและเต่า เปรียบเสมือนคนประเภท ปทปรมะ คือคนโง่เขลา ไม่มีทางตรัสรู้ได้"

เรื่องราวมันเป็นมาอย่างนี้แล
จึงมี "ดอกบัว ๔ เหล่า" ดังที่เราเรียนกันในโรงเรียน บังเอิญผมมีโอกาสเป็นกรรมการร่างหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาด้วยผู้หนึ่ง และได้เขียนตำราเรียน จึงได้แก้ไขตรงนี้ จากดอกบัว ๔ เหล่า เป็นดอกบัว ๓ เหล่า ๓ ระดับ ให้ตรงกับพระบาลีพระไตรปิฎก ก็ไม่เห็นมีใครทักท้วงนี่ครับ ถ้าทักมาจะได้ยกหลักฐานมายืนยัน

เมื่อรู้ว่าผิดมาแล้ว ก็น่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง

มีข้อสังเกตที่อยากฝากไว้ตรงนี้สักเล็กน้อย ถ้าพินิจตามความในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงมองว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพทัดเทียมกัน ทุกคนโปรดได้ ไม่มีใครที่โปรดไม่ขึ้น หรือพูดให้ชัดว่า ไม่มีประเภทปทปรมะ ในความหมายว่าโง่เง่าเต่าตุ่น โปรดไม่ขึ้น ดุจดอกบัวจมโคลนเลน

ข้อสังเกตที่สองก็คือ พระพรหมที่มาอัญเชิญไม่จำต้องแปลตามตัวอักษรว่าเป็นพรหมจริงๆ ก็ได้ อาจเป็นสัญลักษณ์ หมายถึงพรหมวิหารธรรม อันมีกรุณาเป็นตัวจักรสำคัญ พูดง่ายๆ พรหมก็คือ พระมหากรุณาของพระพุทธองค์นั้นเอง พระองค์ทรงสงสารสัตว์โลกที่ตกอยู่ในความทุกข์ในสังสารวัฏ จึงทรงอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเคลื่อนไหวออกไปเทศน์โปรด การที่ทรงเคลื่อนไหวออกไปเทศน์โปรดสัตว์โลกนี้เป็นการเคลื่อนไหวอันยิ่งใหญ่ พอๆ กับพระพรหม (ที่คนสมัยนั้นนับถือมาก) มาอัญเชิญทีเดียว



http://www.bloggang.com/data/travelaround/picture/1239347482.jpg
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ

ปางโปรดอุปกาชีวก (๑)

เมื่อตัดสินพระทัยจะทรงประกาศธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาดูว่าจะโปรดใครก่อน ภาพของอาจารย์ทั้งสอง (อาฬารดาบส กับ อุทกดาบส) ก็ปรากฏในข่ายคือพระญาณ แต่ก็ทรงทราบในทันทีว่าท่านทั้งสองได้สิ้นชีพไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน จึงทรงรำลึกถึงปัญจวัคคีย์ผู้เคยเฝ้ารับใช้เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และทั้ง ๕ ท่านก็หนีไปด้วยความเข้าใจผิด จึงสมควรไปเทศน์โปรดเพื่อให้พวกเธอได้เกิดสัมมาทิฐิ

จากนั้นก็เสด็จดำเนินด้วยพระบาทจากตำบลพุทธคยามุ่งตรงไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณสองร้อยกว่ากิโลเมตร ระหว่างทางทรงพบกับอุปกาชีวกนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา อุปกาชีวกพบพระพุทธองค์ทรงสง่างาม มีฉัพพรรณรังสีฉายออกจากพระวรกาย สงบสำรวม เสด็จดำเนินมาตามทาง ก็เกิดความเลื่อมใสในพระบุคลิกภาพ

ขอแทรกตรงนี้สักหน่อย ได้ยินคำว่า "ฉัพพรรณรังสี" กันบ่อย แต่สีอะไรบ้าง ไม่ค่อยทราบกัน ฉัพพรรณรังสี คือรัศมี หรือความเรืองแสง ๖ ชนิด ได้แก่
- สีเขียวดุจดอกอัญชัน (นีละ)
- สีเหลืองดุจหรดาลทอง (ปีตะ)
- สีแดงดุจแสงตะวันอ่อน (โลหิตะ)
- สีขาวดุจแผ่นเงิน (โอทาตะ)
- สีแสดดุจดอกหงอนไก่ (มัญเชฏฐะ)
- สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก (ปภัสสระ)

ความเรืองแสงทั้ง ๖ นี้ ฉายออกจากพระวรกาย ปัจจุบันนี้เวลาเราสร้างพระพุทธรูปจะทำเป็นรัศมีทั้ง ๖ เป็นวงกลมเหนือพระเศียร อันเรียกว่า "ประภามณฑล"

อุปกาชีวกจึงเข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ความว่า ใครเป็นศาสดาของพระองค์ พระองค์ทรงชอบใจคำสอนของใคร พระพุทธองค์ตรัสตอบเป็นคาถา (โศลก) ว่า
"เราชนะสรรพสิ่ง ตรัสรู้สรรพสิ่ง ไม่ติดอยู่ในสรรพสิ่ง
หลุดพ้นเพราะทำลายตัณหา เราตรัสรู้ด้วยตนเอง จะพึงอ้างใครว่าเป็นครูเราเล่า
เราไม่มีใครสอน คนเช่นเราไม่มีในโลกพร้อมเทวโลก เราเป็นอรหันต์
เป็นศาสดามหาศาสดาอื่นยิ่งกว่าไม่มี เราผู้เดียวเป็นสัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้ดับเย็นแล้ว บรรลุนิพพานแล้ว
เรากำลังเดินทางไปยังแคว้นกาสี เพื่อหมุนกงล้อคือธรรม และเพื่อลั่นอมตเภรีในโลกที่มืดมนอนธการนี้"


ปางโปรดอุปกาชีวก (จบ)

อุปกะได้ยินดังนั้นถามอีกว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านก็เป็น "อนันตชินะ" ซินะ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

"ผู้บรรลุความสิ้นอาสวะเช่นเรา นับเป็นพระชินะทั้งนั้นแหละ ธรรมชั่วร้าย (บาปอกุศล) ทั้งหลายเราเอาชนะได้แล้ว เพราะฉะนั้น อุปกะเอย เราจึงเป็นพระชินะ"

อุปกาชีวกฟังคำอื่นไม่เข้าใจ แกคงคุ้นอยู่เฉพาะกับคำว่า "อนันตชินะ" (ซึ่งพวกศาสนาเชนเขาใช้กันอยู่ก่อนแล้ว) จึงถามไปว่า ถ้าเช่นนั้นพระองค์ก็เป็น อนันตชินะ นะสิ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสว่า ทรงเป็นเพราะทรงละความชั่วได้หมดแล้ว อุปกาชีวกจึงกล่าวว่า "อาวุโส ที่ท่านพูดนั้นพึงเป็นไปได้" (หุเวยฺยาวุโสติ) แล้วก็สั่นศีรษะ หลีกทางไป

ตรงนี้ผมมีข้อสังเกต ๒ ประการคือ
๑.อุปกาชีวกเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่ ตามพุทธประวัติที่เขียนกันภายหลัง แทบทุกฉบับกล่าวตรงกันว่า อุปกาชีวกไม่เชื่อพระพุทธเจ้า จึงสั่นศีรษะหลีกไป บางฉบับต้องการให้ชัดเจนขึ้นเติม แลบลิ้นปลิ้นตาหลอกด้วย แต่ถ้าพิจารณาตามวัฒนธรรมชาวภารตะ การสั่นศีรษะหมายถึงการยอมรับ เพราะฉะนั้นอุปกาชีวกน่าจะเชื่อพระพุทธเจ้า เพราะ (๑) สั่นศีรษะ (๒) คำพูดของแกนั่นแหละเป็นข้อบ่งชี้ แกพูดว่า หุเวยฺยาวุโส - ผู้มีอายุ ที่ท่านพูดนั้นพึงเป็นไปได้" ตรงนี้สำนวนแปลฝรั่งว่า I see สำแดงว่ามีเปอร์เซ็นต์ความเชื่อเกิน ๗๐ แล้วนะครับ

เพื่อหาเหตุผลสนับสนุนว่า อุปกาชีวกแกเชื่อพระพุทธองค์จริงๆ เอาไว้คราวหน้าครับ จะหาทางสันนิษฐาน (คือเดา) ให้สนุกเชียว

๒.ข้อสังเกตประการที่สอง พุทธวจนะที่ตรัสตอบอุปกาชีวก ได้ถูกนำมาแปรเป็นรูปธรรม กลายเป็นสัญลักษณ์พระพุทธศาสนาทั้ง ๒ นิกาย คือ ฝ่ายเถรวาทนำเอาพระพุทธวจนะว่า "เพื่อหมุนกงล้อธรรม" มาสร้างเป็นธงธรรมจักร ฝ่ายมหายานนำเอาพระพุทธวจนะว่า "เพื่อลั่นอมตเภรี" มาทำเป็นกลองสำหรับทำพิธีทางศาสนา ดังพระจีน พระทิเบตสวดมนต์ไปด้วยตีกลองไปด้วย ฉะนี้แล

ชาวพุทธเถรวาท เห็นพระฝ่ายมหายานสวดมนต์ไปพลางตีกลองไปพลาง ก็หัวเราะขบขันว่าเอาธรรมเนียมที่ไหนมา ความจริงก็มาจากแหล่งเดียวกันนั่นเอง แต่จับเอาไปคนละอย่าง มิควรตำหนิติติงกัน

อนึ่ง ฉัพพรรณรังสี ก็ได้มีผู้นำเอาไปประดิษฐ์ธงฉัพพรรณรังสีแล้ว โดยพันเอกออลคอตต์ เป็นผู้ริเริ่ม ปัจจุบันนี้จะเห็นธงนี้ทั่วไปในประเทศศรีลังกา และทางองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ได้นำมาเป็นธงประจำองค์การ มาจนปัจจุบันนี้


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 กรกฎาคม 2558 12:37:10 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 26 กรกฎาคม 2558 15:52:34 »

.


ปางแสดงปฐมเทศนา (๑)  

จากพุทธคยาถึงสารนาถ ซึ่งในอดีตเรียกว่า ป่าอิสิปตน มฤคทายวัน อยู่ในเขตเมืองพาราณสี สิ้นระยะทางประมาณสองร้อยกว่ากิโลเมตร พระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินโดยพระบาทไปเพื่อโปรดศิษย์เก่าทั้งห้าของพระองค์

คำว่า สารนาถ ย่อมาจากคำเต็มว่า สารังคนาค(สารังค = กวาง - นาถ = ที่พึ่ง) แปลว่าป่าอันเป็นที่พึ่งแห่งกวาง หรือป่าสวนกวาง อะไรทำนองนั้น มิใช่แปลว่า ป่าที่เป็นที่พึ่งอันเป็นแก่นสาร ดังบางคนอธิบายไม่

ปัญจวัคคีย์ศิษย์ผู้ปฏิเสธอาจารย์ เห็นแต่ไกลว่า พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จดำเนินมา ก็ชี้ให้กันดูว่า "โน่นไง บุคคลผู้คลายความเพียร เวียนมาเป็น ผู้มักมากมาแล้ว คงไม่มีใครดูแลสิท่า จึงมาหาเรา เราอย่าลุกรับ อย่านมัสการ ปูแต่อาสนะไว้ให้ อยากนั่งก็นั่ง ไม่อยากนั่งก็ตามใจ"

แต่พอพระพุทธองค์เสด็จดำเนินมาใกล้ ปัญจวัคคีย์ลืมข้อตกลงกันโดยสิ้นเชิง เพราะพระบารมีพระพุทธองค์ จึงต่างลุกขึ้นต้อนรับ อัญเชิญเสด็จไปประทับบนอาสนะ แต่ปากยังแข็งอยู่เรียกพระพุทธองค์ว่า "อาวุโส โคตม" (คุณโคตม)

พระพุทธองค์ตรัสว่า อย่าพูดกับเราอย่างนั้น บัดนี้เราได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว นั่งลง เราจะแสดงธรรมให้ฟัง

ปัญจวัคคีย์พูดว่า ไม่เชื่อ ท่านอดอาหารแทบตายยังไม่บรรลุเลย เมื่อกลับมาบริโภคอาหารจนอ้วนพีอย่างนี้ จะบรรลุได้อย่างไร

พระพุทธองค์ตรัสว่า พวกเธอจงรำลึกความหลังดูซิ พวกเธออยู่กับเรามาเป็นเวลานาน เคยได้ยินเราพูดว่าได้ตรัสรู้หรือไม่

เมื่อโดนไม้นี้ ปัญจวัคคีย์นิ่งอึ้งไปอยู่พักใหญ่ ยอมรับว่าพระพุทธองค์ไม่เคยตรัสว่าได้บรรลุเลย ขนาดทรมานพระองค์จนเกือบจะสิ้นพระชนม์ ก็ไม่เคยตรัสว่าใกล้บรรลุ หรือได้บรรลุแล้ว วันนี้ตรัสว่าได้บรรลุ น่าจะบรรลุจริง (แฮะ)

คิดได้ดังนี้ จึงพร้อมใจกันนั่งลงสดับพระธรรม พระพุทธองค์จึงทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (พระสูตรว่าด้วย การหมุนล้อธรรม) เนื้อหาว่าด้วย อริยสัจสี่ประการ และขั้นตอนของการตรัสรู้ของพระองค์

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาอริยสัจสี่ พระพุทธองค์ตรัสถึงทางที่ไม่ควรดำเนินสองทางก่อน แล้วชี้ถึงทางสายกลาง ถามว่าเพราะเหตุใด

เราน่าจะมาหาคำตอบดูนะครับ ก่อนจะตอบคำถามนี้ ก็ถามเพิ่มว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงไม่ทรงแสดง อนุบุพพิกถา (แถลงธรรมที่ลึกลงตามลำดับ) เพื่อปูพื้นฐาน หรือเตรียมความพร้อมก่อน (ดังที่ทรงปฏิเสธเสมอ ในเวลาต่อมา) ทำไมทรงแสดงอริยสัจทันทีเลย

คำตอบสำหรับข้อแรก (ทำไมตรัสถึงทางที่ไม่ควรดำเนินก่อน) ก็คือ พระพุทธองค์ต้องการชำระข้อ "คาใจ" ของปัญจวัคคีย์ก่อน ปัญจวัคคีย์นั้นมีความเชื่อฝังใจอยู่ว่า การทรมานตนอย่างอุกฤษฏ์เท่านั้น ทำให้บรรลุความสิ้นกิเลสได้ เมื่อเห็นพระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา จึงเลื่อมใส คอยมาปรนนิบัติ เพราะเชื่อแน่ว่า พระองค์จะต้องบรรลุสัจธรรมสูงสุดแน่ แต่เมื่อพระองค์เลิกทุกรกิริยา หันมาเสวยพระกระยาหาร ปัญจวัคคีย์จึงผิดหวัง เชื่อแน่ว่าพระองค์ไม่มีทางบรรลุธรรมแน่นอน

เพราะเหตุนี้ ทันทีที่ปัญจวัคคีย์ยอมนั่งลงฟังธรรม พระพุทธองค์จึงแก้ข้อสงสัย หรือเรียกให้ถูก "ล้างความเชื่อเดิม" ของปัญจวัคคีย์ให้หมดไป ด้วยการตรัสยืนยันว่า การทรมานตัวเองด้วยการอดอาหารนั้นไม่ใช่ทางบรรลุ เป็น "ทางตัน" สายหนึ่งในจำนวนทางตันสองสายคือ (๑) อัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตน) ที่กำลังกล่าวถึงนี้ (๒) กามสุขัล ลิกานุโยค (การหมกมุ่นในกาม) ดังลัทธิวัตถุนิยมประพฤติกันอยู่



ปางแสดงปฐมเทศนา (จบ)

เมื่อปฏิเสธทางตันทั้งสองนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงชี้ทางที่ไม่ตัน ทางที่นำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงคือ "ทางสายกลาง" อันได้แก่ อริยมรรคมีองค์แปด มีสัมมาทิฐิ เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ เป็นปริโยสาน (ปริโยสาน เท่ากับคำ อวสาน แปลว่าที่สุดครับ)

เมื่อชำระข้อค้างคาใจของปัญจวัคคีย์แล้ว พระองค์จึงทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ โดยไม่เสียเวลาแสดงอนุบุพพีกถา เป็นการปูทางก่อน

ถึงตรงนี้มีคำถามว่า อนุบุพพีกถา คืออะไร คำตอบคือ เรื่องที่พึงเข้าใจ และปฏิบัติตามลำดับ ๕ เรื่องด้วยกันคือ (๑) ทาน (๒) ศีล (๓) สวรรค์ (๔) กามาทีนวะ (โทษของกาม) และ (๕) เนกขัมมะ (การออกจากกามหรือออกบวช)

ต้องไม่ลืมว่า ปัญจวัคคีย์เป็นนักพรต สละโลกีย์วิสัยมาถือเพศเป็นนักบวชแล้ว เห็นโทษของกาม และกำลังฝึกตนเพื่อละกิเลสทั้งหลายแล้ว มีความพร้อม มีพื้นพอที่จะเข้าใจสัจธรรมสูงสุดโดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งที่ ทาน ศีล พระพุทธองค์จึงไม่ทรง เสียเวลา แสดงอนุบุพพีกถา ทรงเริ่มแสดงอริยสัจสี่เลยทีเดียว

ไม่เหมือนผู้ครองเรือนอย่างเช่น ยสกุมาร บิดามารดาของยสกุมาร หรือคนอื่นๆ ที่ทรงแสดงธรรมโปรดในภายหลัง

เนื้อหาของอริยสัจสี่เอาไว้พูดในคราวหน้า ขอพูดถึงเหตุการณ์หลังแสดงธรรมจบก่อน หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงอริยสัจสี่ จบลง หัวหน้าปัญจวัคคีย์คือ โกณฑัญญะ ได้ "ดวงตาเห็นธรรม" ภาษาบาลีว่า ได้ ธัมมจักขุ คือได้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เข้าใจว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับเป็นธรรมดา" (ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ)

ท่านว่าการรู้เห็นอย่างนี้ เป็นยถาภูตญาณ (การหยั่งรู้ตามเป็นจริง) เป็นความเข้าใจของพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน อันเป็นระดับต้นในจำนวนพระอริยบุคคลทั้งสี่ (โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์) พระโสดาบันนั้น เป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยแล้ว ไม่มีทางหวนกลับ หรือกลับกลายเป็นอื่น มีแต่จะเดินหน้าสู่ความหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง

พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระสัพพัญญุญาณว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงแก่ท่านโกณฑัญญะแล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺทัญฺโญ (โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ) ซ้ำถึงสองครั้ง

จากนั้น โกณฑัญญะทูลขอบวช พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เอหิ ภิกขุ สวากฺขาโต ธมฺโม จร พรหมฺจริยํ สมฺมา ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยายะ (จงมาเป็นภิกษุเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์เถิด) เพียงแค่นี้การบวชของท่านก็สำเร็จ ไม่มีพิธีรีตองอะไร

ต่อมาการบวชแบบนี้มีชื่อเรียกว่า บวชแบบเอหิภิกขุ (เอหิภิกขุอุปสัมปทา) ท่านโกณฑัญญะ จึงได้เป็นพระสาวกรูปแรก และเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรก พระรัตนตรัยได้ครบจำนวนก็เมื่อคราวนี้ ก่อนหน้านี้มีแต่พระพุทธ และพระธรรม คราวนี้มีพระสงฆ์เพิ่มขึ้นเป็นพระรัตนตรัย

ชาวพุทธไทย (เน้นพุทธไทย) จึงบัญญัติวันนี้ วันที่ท่านโกณฑัญญะบวชนี้ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เรียกว่า วันอาสาฬหบูชา (อ่านว่า อา-สาน-หะ-บู-ชา)

อ้อ จากพระพุทธอุทานว่า อญฺญาสิ...นั้นแล คำว่า "อัญญา" จึงมาเป็นคำต้นชื่อท่านว่า อัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่บัดนั้นมา




ปางโปรดปัญจวัคคีย์ (๑)  

ปัญจวัคคีย์ คือนักพรตห้ารูป มีโกณฑัญญะ อดีตโหราจารย์ชื่อดังเป็นหัวหน้า ทั้งห้าท่านนี้มาบวชรับใช้พระพุทธเจ้า เมื่อครั้งทรงทำทุกรกิริยา (คำนี้ แม้มหาเปรียญหลายประโยคก็เผลอเรียกทุกขกิริยา เสมอแฮะ ระวังไว้หน่อย) พอพระองค์ทรงเลิกอดพระกระยาหาร หันมาเสวยข้าวจนมีพระพลานามัยสมบูรณ์ เพราะทรงได้คิดว่า ต้องดำเนินทางสายกลาง ทั้งห้าท่านก็เสียใจ และเสื่อมศรัทธา พากันหนีมาอยู่ที่ป่าอันมีนามว่า "อิสิปตนะ มฤคทายวัน"

ชื่อยาวดีจัง อิสิปตนะ แปลว่าเป็นที่ประชุมของฤๅษี ส่วน มฤคทายวัน แปลว่าป่าแห่งเนื้อ เนื้อ ในที่นี้เน้นไปที่กวาง จึงมีคนแปลชัดๆ ว่า "ป่าสวนกวาง"

เฉพาะคำ ปตนะ นั้น ตามศัพท์จริงๆ แปลว่า "ที่ตกลงไป" ความหมายรองจึงหมายถึง "ที่ประชุม" หรือ "ที่อยู่" ความจริง ผู้แต่งคัมภีร์อรรถกถา ท่านหมายเอาตามตัวอักษรจริงๆ ท่านเล่าว่า บรรดาฤๅษี ที่ได้ฌานเหาะเหินเดินหาวได้ เวลาเหาะผ่านมาตรงนี้ มักจะตกลงมาที่นี่ทันที ดังหนึ่งต้องอาถรรพ์ เมื่อฤๅษี ก. ก็ตกลงมา ฤๅษี ข. ก็ตกลงมา ฤๅษี ค. ฯลฯ ก็ตกลงมา นานเข้าก็เลยเต็มไปด้วยฤๅษี ว่าไปโน่น สนุกดีเหมือนกัน

ยังไง ป่านี้ก็คงเป็นที่มีฤๅษีชีไพรชุกชุมตลอดเวลายาวนาน รวมทั้งบรรดาเนื้อทั้งหลายด้วย เพราะใครๆ จะมาล่าสัตว์ ก็ย่อมยำเกรงพระคุณเจ้าผู้มีอิทธิฤทธิ์เป็นธรรมดา

ป่านี้ต่อมาจึงเรียกชื่อว่า สารนาถ (ย่อมาจากคำเต็มว่า สารังคนาถ แปลว่า ป่าอันเป็น ที่พึ่ง หรือเป็นสถานที่ปลอดภัยของกวาง ทั้งหลาย) ระยะทางจากพุทธคยาถึงสารนาถ ประมาณสองร้อยกว่ากิโลเมตร พระพุทธองค์เสด็จดำเนินด้วยพระบาทมุ่งหน้ามา เพื่อโปรดศิษย์เก่า ดูจากข้อความแวดล้อม เป็นความมุ่งมั่นของพระพุทธองค์มาก อยากจะมาโปรดห้าท่านนี้จริงๆ คล้ายกับทรงมีเรื่อง "ค้างคาใจ" กันอยู่ ไม่สนพระทัยจะเทศน์สอนคนอื่นก่อน ทรงต้องการโปรดเอาทั้งห้าท่านนี้เป็นสาวกรุ่นแรกจริงๆ

ผมตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ ใครจะว่าอะไร ก็ว่ามา ยินดีน้อมรับฟัง เพราะความคิดเห็นจากท่านผู้รู้เป็นประดุจน้ำทิพย์ชโลมใจให้ชื่นบาน ปานนั้นเชียวนะ

ทั้งห้าท่านนี้มีความเชื่อฝังหัวมาแต่แรกแล้วว่า การจะบรรลุมรรคผลได้ ต้องทรมานตัวเองให้ถึงที่สุด เพราะเชื่อเช่นนี้ เมื่อเห็นพระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทุกรกริยา จึงพากันมาเฝ้าปรนนิบัติดูแล เรียกง่ายๆ ว่า มาเฝ้าดูเลยทีเดียว ดูไปก็ยิ้มด้วยความหวังไป ยิ่งเห็นพระองค์เป็นลมเป็นแล้งสลบลง ยิ่งยิ้มด้วยความดีใจว่า ใกล้แล้วๆ ใกล้จะบรรลุแล้ว ตาเป็นประกายด้วยความหวังว่า ตนเองจะได้รับอานิสงส์ (ผล) จากการบรรลุธรรมของพระองค์บ้าง

ครั้นเห็นพระองค์ทรงเลิกอดพระกระยาหาร จึงเสียใจ ผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโกณฑัญญะผู้หัวหน้า เคยทายไว้ไม่มีเงื่อนไขว่าเจ้าชายจะออกบวช จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พอมาถึงตอนนี้ จำต้อง "เผาตำรา" ทิ้ง เจ็บปวดขนาดไหน คิดเอาก็แล้วกัน



ปางโปรดปัญจวัคคีย์ (จบ)

บอกไว้ว่าจะนำคำแปล ธัมมจักกัปปวัตนสูตร มาให้อ่าน จึงขอนำมาลงไว้ ณ ที่นี้ เป็นพระสูตรสั้นๆ แต่ครอบคลุมคำสอนของพระพุทธองค์ทั้งหมด ว่าไปทำไมมี คำสั่งสอนทั้งหลายที่พรั่งพรูออกจากพระโอษฐ์ ในเวลาต่อมา ดังที่บันทึกไว้เป็นพระไตรปิฎก ๔๕ เล่มสมุด หนาถึง ๒๒,๓๙๐ หน้า ก็ขยายจากพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกนี้แล

คำแปลธัมมจักกัปปวัตนสูตร
"ข้าพเจ้า (พระอานนท์) สดับมาดังนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนะ มฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ตรัสแก่ปัญจวัคคีย์ว่า มีทางตัน ๒ ทาง ที่บรรพชิตไม่พึงดำเนินคือ
(๑) การหมกมุ่นในกามารมณ์ อันเป็นสิ่งเลวทราม เป็นเรื่องของชาวบ้าน ของปุถุชน (คนมีกิเลสหนา) ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์
(๒) การทรมานตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์

ตถาคต (คือพระพุทธเจ้า) ค้นพบทางสายกลาง ที่ไม่ข้องแวะเกาะเกี่ยวทางตัน ๒ อย่างนั้นเป็นทางที่ทำให้มองเห็น และรู้ความจริงอันสูงสุด เป็นที่เพื่อความสงบ ความรู้ยิ่งและความดับกิเลสได้สนิท ทางสายกลางนั้นคือ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ

ทุกข์คือความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความน้อยใจ ความคับแค้นใจ การประสบสิ่งไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก การไม่ได้ดังปรารถนา โดยสรุปขันธ์ ๕ อันเป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นนี้แหละเป็นทุกข์

เหตุเกิดทุกข์คือ ตัณหา ๓ ชนิด ที่เป็นตัวสร้างภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดยินดีเป็นตัวทำให้ติดเพลินในเรื่องต่างๆ คือ กามตัณหา (อยากได้ อยากมี อยากเป็น) ภวตัณหา (อยากให้สิ่งที่ได้ ที่มี ที่เป็นคงอยู่นานๆ) วิภวตัณหา (อยากหนีหรือสลัดภาวะที่ไม่ชอบใจ)

ความดับทุกข์คือ ความดับตัณหา ๓ ชนิดโดยไม่เหลือ ความสลัดทิ้งไป ความสละคืน ความหลุดพ้น ความไม่มีเยื่อใยใดๆ

ทางดับทุกข์คือ อริยมรรคมีองค์แปด ได้แก่ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ

เราเกิดการหยั่งรู้ ความรู้ทั่วถึง ความรู้แจ้ง ความสว่าง ในสิ่งที่เราไม่เคยได้สดับมาก่อนว่านี้ทุกข์ ทุกข์นี้ควรกำหนดรู้ตามความเป็นจริง และทุกข์นี้เราได้รู้แล้ว

นี้เหตุเกิดทุกข์ เหตุเกิดทุกข์นี้ควรละ และเหตุเกิดทุกข์นี้เราละได้แล้ว

นี้ความดับทุกข์ ความดับทุกข์นี้ควรทำให้แจ้ง และความดับทุกข์นี้ เราทำให้แจ้งแล้ว

นี้ทางดับทุกข์ ทางดับทุกข์นี้ควรทำให้เจริญ ทางดับทุกข์นี้เราทำให้เจริญแล้ว

ตราบใดการรู้เห็นตามเป็นจริง ในอริยสัจ ๔ อันมี ๓ รอบ ๑๒ อาการนี้ ยังไม่ชัดแจ้ง ตราบนั้น เรายังไม่ประกาศยืนยันว่า เราได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐ

ต่อเมื่อการรู้เห็นนั้นชัดแจ้ง เราจึงกล้าประกาศยืนยัน ท่ามกลางหมู่สัตว์ อันประกอบด้วย สมณะ พราหมณ์ มนุษย์ เทวดา มาร และพรหม การรู้เห็นนั้น เกิดขึ้นแก่เราจริง การหลุดพ้นนั้นเป็นของแท้จริง ชาตินี้เป็นหนสุดท้าย ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป"

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบ พระปัญจวัคคีย์ชื่นชมภาษิตของพระองค์ โกณฑัญญะได้ "ดวงตาเห็นธรรม" เป็นการรู้เห็นแจ่มกระจ่างว่า

"สรรพสิ่งมีการเกิดขึ้น และดับไปเป็นธรรมดา"

เมื่อพระพุทธองค์ทรงหมุนกงล้อธรรมแล้ว เหล่าภุมมเทวดาร้องบอกต่อกันว่า พระพุทธเจ้าทรงหมุนกงล้อธรรม ที่ป่าอิสิปตนะ มฤคทายวันแล้ว ไม่มีใครหมุนกลับได้ ไม่ว่าสมณะ พราหมณ์ มารหรือพรหม แล้วก็บอกต่อๆ กันไปจนถึงพรหมโลก หมื่นโลกธาตุ สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ปรากฏแสงสว่างไปทั่วโลก หาประมาณมิได้ ยิ่งกว่าอานุภาพเทวดาบันดาลเสียอีก

พระพุทธองค์ทรงเปล่งพุทธอุทานว่า "โกณฑัญญะ รู้แล้วหนอๆ"

ดังนั้น โกณฑัญญะจึงได้นามต่อมาว่า อัญญาโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้แล



.


ปางโปรดยสะ (๑) 

ความจริงพระพุทธรูปปางโปรดยสะ ไม่มีเรียกดอก ส่วนมากจะเรียกว่า ปางภัตตกิจ คือ ปางเสวยพระกระยาหาร คือเสวยภัตตาหารที่บ้านบิดามารดาของยสะกุลบุตร การบวชของยสะกุลบุตรนั้น ทำให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายรวดเร็ว เพราะหลังจากยสะมาบวช สหายของท่านและบริวารตามมาบวชด้วย จนเกิดมีพระอรหันตสาวกขึ้นจำนวนทั้งหมด ๖๐ รูป ชั่วระยะเวลาไม่นาน

ยสะ เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี ชื่อเสียงเรียงไร ไม่บอกไว้ มารดาของท่านนั้น คัมภีร์อรรถกถาได้แก่นางสุชาดา สุชาดาบุตรีแห่งนายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ที่พุทธคยาโน่นแหละครับ ไปยังไงมายังไงสุชาดาสาวสวยแห่งอุรุเวลาเสนานิคม ซึ่งอยู่คนละเมืองกับพาราณสี ได้มาอยู่ที่พาราณสี ดูเหมือนผมได้สันนิษฐาน (คอเดา) ไว้แล้วในที่อื่น จะไม่เขียนไว้ในที่นี้

เอาเป็นว่า นางเคยบนเทพที่ต้นไทรไว้ว่าถ้าได้บุตรชายจะมาแก้บน บนตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน ต่อมาได้แต่งงาน (เดาเอาว่า) กับเศรษฐีเมืองพาราณสี แล้วได้มาอยู่กับตระกูลสามี มีลูกโตเป็นหนุ่มแล้ว เพิ่งนึกได้ว่าบนไว้ จึงกลับมาแก้บน (ตอนที่เอาข้าวมธุปายาสไปถวายพระโพธิสัตว์นั้นแหละครับ) แก้บนแล้วก็คงกลับเมืองพาราณสี

คืนวันหนึ่งลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเศรษฐีและคุณนายสุชาดา ตื่นขึ้นมากลางดึก เห็นภาพเหล่าสตรีที่มาประโคมดนตรี ฟ้อนรำ สร้างความสุขสนุกสนานให้ ตามที่เคยปฏิบัติมา นอนหลับมีอาการแปลกๆ เช่น บางนางก็นอนกรนเสียงดัง น้ำลายไหล บางนางก็กัดฟันกรอดๆ ละเมอไม่เป็นส่ำ บางนางผ้านุ่งห่มหลุดลุ่ย ปรากฏแก่ยสะ ดุจ "ซากศพในป่าช้า" ว่ากันอย่างนั้น

ยสะเห็นแล้วก็สลดสังเวชใจ เบื่อหน่ายเต็มที่ ถึงกับเปล่งอุทานว่า อุปัททูตัง วะตะ โภ อุปสัฏฐัง

วะตะ โภ ท่านแปลได้ความกระชับว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" ทนดูต่อไปไม่ไหว จึงเดินลงจากคฤหาสน์กลางดึก

ไม่มีจุดหมายครับ แล้วแต่เท้าจะพาไป เข้าไปยังป่าอิสิปตนะมฤคทายวันโดยไม่รู้ตัว ขณะนั้นก็จวนสว่างแล้ว ประมาณตีสี่ พระพุทธองค์ตื่นบรรทม เสด็จจงกรมอยู่ ยสะผู้เบื่อโลกก็อุทานมาตลอดทางว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "อิทัง อะนุปัททูตัง อิทัง อะนุปะสัฏฐัง = ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง

หนุ่มยสะผู้เบื่อโลก พลันสะดุ้งตื่นจากภวังค์ จึงถอดรองเท้า เข้าไปกราบถวายบังคมแล้วนั่งเจี๋ยมเจี้ยม ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

พระพุทธองค์ตรัสเทศนา อนุปุพพิกถา เป็นการปูพื้นให้ยสะก่อนแล้ว ตามด้วยอริยสัจสี่ประการโดยพิสดาร เมื่อจบพระธรรมเทศนา ยสะดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผล


ปางโปรดยสะ (จบ)

ขอแวะตรงนี้นิดหน่อย อนุบุพพิกถา คือการแสดงธรรมที่ลึกลงไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่เรื่องง่ายๆ แล้วก็ลึกลงไปเรื่อยๆ ง่ายๆ ที่ว่านี้คือง่ายที่คนทั่วไปจะทำได้ คือเริ่มด้วย ทาน (การให้) ศีล (ความประพฤติที่ดีงาม) สักกะ (เรื่องสวรรค์ ความสุขที่พึงได้ด้วยการให้ทานรักษาศีล) กามาทีนวะ (โทษของกามคุณ) และเนกขัมมะ (การไม่หมกมุ่นในกามารมณ์)

เมื่อปูพื้นดังนี้แล้ว ก็ทรงแสดงอริยสัจครบวงจรเป็นอย่างไร ดูเหมือนได้เล่าไว้แล้วในตอนโปรดปัญจวัคคีย์

กล่าวถึงมารดาบิดาของยสะ เมื่อลูกหายไป จึงตามมาจนถึงป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน พบพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมจากพระองค์ ขณะที่ยสะเอง ก็นั่งฟังอยู่ด้วย แต่พ่อแม่ลูกมองไม่เห็นกัน เพราะอิทธาภิสังขาร (การบันดาลฤทธิ์ของพระพุทธองค์ไม่ต้องการให้เห็นกัน) ขณะพ่อแม่ฟังธรรมอยู่ ยสะก็ส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนานั้นด้วย เมื่อจบพระธรรมเทศนา พ่อแม่ของยสะได้ดวงตาเห็นธรรม ถวายตนเป็นอุบาสก อุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ยสะได้บรรลุพระอรหัตผล

หลังจากนั้นพระองค์ทรงคลายฤทธิ์ สามพ่อแม่ลูกพบหน้ากัน ท่านเศรษฐีกล่าวกับยสะว่า ลูกรักตอนลูกหายไปมารดาเจ้าร้องไห้รำพันถึงเจ้าอยู่ จงกลับบ้านเถอะ พระพุทธองค์ตรัสว่า บัดนี้ยสะบรรลุอรหัตผลแล้ว ไม่สมควรครองเรือนอีก มีแต่จะบวชครองสมณเพศต่อไป

เศรษฐีกราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นก็เป็นลาภอันประเสริฐของข้าพระองค์ทั้งสอง แล้วทูลอัญเชิญพระพุทธองค์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านตนในวันรุ่งขึ้น

นี้คือที่มาของปางภัตกิจ ทำไมต้องเน้นช่วงนี้ ก่อนหน้านี้พระองค์มิได้เสวยภัตตาหารหรือ เสวยครับ หลังตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสวยสัตตุผง สัตตุก้อน จากพ่อค้าสองพี่น้อง และจากที่อื่นด้วย  แต่การเสวยภัตตาหารที่คฤหาสน์เศรษฐีนี้ เป็นกิจนิมนต์เป็นกิจจะลักษณะ เป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จออกประกาศพระพุทธศาสนา

ครูบาอาจารย์กล่าวว่า ประเพณีนิมนต์พระสงฆ์และพระบวชใหม่ไปฉันที่บ้าน อันเรียกว่าทำบุญฉลองพระใหม่ ที่ชาวพุทธไทยนิยมกระทำกันมานั้น มาจากพุทธประวัติตอนนี้เอง ว่ากันอย่างนั้น

อ้อ ลืมไป สองสามีภรรยา บิดามารดาท่านยสะเป็นอุบาสกอุบาสิกาคู่แรก ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะนะครับ ก่อนนั้นพ่อค้าสองพี่น้อง ถึงพระพุทธกับพระธรรมเป็นสรณะเท่านั้น


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 สิงหาคม 2558 12:38:48 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 16 สิงหาคม 2558 12:47:02 »

.


ปางโปรด ภาติกชฎิล (๑)  

ภาติกชฎิล แปลว่าชฎิลที่เป็นพี่น้องกัน ๓ คน คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ ทั้งสามนี้ตั้งสำนักอยู่ตามคุ้งน้ำ แห่งแม่น้ำเนรัญชรา ถัดกันตามลำดับ

ชฎิลผู้พี่ใหญ่ ตั้งสำนักอยู่คุ้งน้ำ ตำบลอุรุเวลา พร้อมบริวาร ๕๐๐ คน คนพี่รอง ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำ ตำบลนที พร้อมบริวาร ๓๐๐ คน ส่วนน้องเล็ก ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำตำบลคยา พร้อมบริวาร ๒๐๐ คน

รวมเป็นจำนวน (ไม่นับเจ้าสำนักทั้งสาม) ๑,๐๐๐ คนพอดี

ท่านเหล่านี้เป็นใคร ทำอะไรอยู่ ณ ริมน้ำแห่งนี้ ท่านเหล่านี้เป็นนักบวชเกล้าผม ไม่ยอมตัดผม จะใช้วิธีมุ่นผมเป็นชฎา จึงเรียกว่า "ชฎิล" (แปลตามศัพท์ว่าไว้ผมดุจชฎา) ท่านเหล่านี้ถือลัทธิบูชาไฟ

พูดแค่นี้คนไทยก็คงงง คงคิดว่าวันๆ ไม่ต้องทำอะไร นั่งยกมือไหว้ไฟตลอดหรืออย่างไร เพราะคำว่า "บูชา" ก็น่าจะส่อความในทำนองนั้น

แท้ที่จริงแล้ว การบูชาไฟ ของพวกพราหมณ์นั้นเป็นพิธีกรรมที่ถือศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะพวกเขาเชื่อกันว่า การนำเครื่องบูชา หรือเครื่องสังเวยมาถวายเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ โดยผ่านตัวแทนพวกเขาจะได้รับความโปรดปราน และรางวัลจากเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่นั้น

พวกเขาจะเอาเครื่องสังเวยมาเผาไฟ (ทำนองเดียวกับชาวจีนเผากงเต๊กกระมังครับ) เชื่อกันว่ามีเทพองค์หนึ่งคือ "อัคนีเทพ" จะกลืนกินเครื่องสังเวยนั้น แล้วก็จะลอยลิ่วขึ้นไปบนสวรรค์ไปป้อนเครื่องสังเวยนั้นเข้าปากพระปชาบดี (เป็นชื่อหนึ่งของพระพรหม) และเทพองค์อื่นๆ บนสรวงสวรรค์

ดุจดังแม่นกป้อนอาหาร ลูกนกนั้นแล

เมื่อพระปชาบดี และเทพทั้งหลายได้รับการ "ป้อนอาหาร" ผ่านอัคนีเทพบ่อยๆ เทพเหล่านั้นก็จะเมตตาปรานีมนุษย์ทั้งหลายผู้ทำการเซ่นสรวง ก็จะประทานรางวัลให้ตามความเชื่อของพวกเขา

เรื่องความเชื่อครับ เราไม่เชื่ออย่าดูหมิ่น ชฎิลเหล่านี้ถือปฏิบัติอย่างนี้อย่างเคร่งครัดบำเพ็ญพรตอย่างเข้มงวดเสมอมา เข้าใจว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ สั่งสอนประชาชนชาวมคธรัฐอันมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมหากษัตริย์มานานปี ทุกกึ่งเดือน พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองจะไปฟังธรรมจากชฎิลเหล่านี้เป็นประจำ

ในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่ามีพระอรหันตสาวกถึง ๖๐ รูป มากพอที่จะส่งไปประกาศพระศาสนาแล้ว จึงทรงส่งท่านเหล่านี้แยกย้ายกันไปยังแว่นแคว้นต่างๆ พระพุทธดำรัสที่ตรัสตอนส่งพระสาวกเหล่านี้ไปน่าสนใจมาก มีดังนี้ครับ

"ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งเป็นของทิพย์ ทั้งเป็นของมนุษย์ พวกเธอก็พ้นแล้วเช่นเดียวกัน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่คนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พวกเธออย่าไปทางเดียวกันสองรูป พวกเธอจงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ท่าม กลางและที่สุดจงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง พร้อมอรรถะ (ความ) และพยัญชนะ (คำ) เหล่าสัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อย (คือมีอุปนิสัยพอจะเข้าใจได้) ถ้าไม่ได้ฟังธรรม จะเสื่อมจากประโยชน์ที่พึงได้ เราตถาคตเอง ก็จะไปยังตำบลอุรุเวลา เสนานิคม"

ขอตั้งข้อสังเกตไว้สั้นๆ ก่อนกล่าวอะไรต่อไป พุทธโอวาทตอนนี้ ถือว่าเป็น "อุดม การณ์" ของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว พระองค์ทรงประกาศว่า
(๑) ก่อนจะไปสอนใครตนเองต้องพัฒนาตนเองให้พร้อมก่อน ในกรณีนี้ พระพุทธองค์และสาวกทั้งหลาย ได้บรรลุอรหัตผล ถึงจุดหมายสูงสุดแล้ว
(๒) พระพุทธศาสนาเน้นว่า เมื่อตนเองพร้อมแล้ว ก็ให้ออกไปทำประโยชน์แก่สังคม มิได้สอนปลีกตัวเสวยวิเวกเพียงลำพัง

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว จะได้ไม่กล่าวหาผิดๆ ว่าพระพุทธศาสนาสอนคนให้ "เอาตัวรอด" เฉพาะตน ไม่สนใจสังคมดังที่บางคนมักเข้าใจผิดกัน

เมื่อพระสงฆ์สาวกต่างแยกย้ายกันไปตามชนบทคาม นิคมต่างๆ พระพุทธองค์เสด็จดำเนินไปพระองค์เดียว จุดมุ่งหมายคือชฎิลสามพี่น้องดังกล่าวข้างต้น



ปางโปรด ภาติกชฎิล (๒)

ระหว่างทางพระพุทธเจ้าพบภัททวัคคีย์ เด็กหนุ่มเจ้าสำราญ ๓๐ คน ชาวแคว้นโกศลกำลังตามล่าโสเภณีนางหนึ่ง ที่ "เชิด" ทรัพย์สมบัติของพวกเขาไปหมด

ไม่เล่าเดี๋ยวความไม่ต่อเนื่อง ขอเล่า นิดหน่อย ภัททวัคคีย์ (ตามศัพท์แปลว่า พวกที่เจริญ แต่ตามบริบทน่าจะหมายถึง พวกหนุ่มเจ้าสำราญมากกว่า) ๓๐ คน เป็นเพื่อนกิน เพื่อนเที่ยวกัน วันหนึ่งนัดกันไป "ปิกนิก" นอกเมือง ต่างก็พา "แฟน" ของตนไปด้วย หนึ่งในจำนวนนั้นยังไม่มีคู่หมั้น คู่หมาย จึงไปจ้างนางโสเภณี สมัยนี้เรียกว่า escort มานางหนึ่ง

เมื่อทั้งหมดเปลื้องพัสตราภรณ์ลงเล่นน้ำกันอยู่ นางเอสคอร์ตก็ขโมยทรัพย์สินของพวกเขาหนีไป เมื่อรู้ตัวก็ตามล่าเป็น การใหญ่ พวกเขาสวนทางกับพระพุทธองค์ จึงถามว่า "สมณะ เห็นสตรีนางหนึ่งผ่านมาทางนี้ไหม"

พระพุทธเจ้าตรัสประโยคสั้นๆ ทำให้พวกเขาถึงกับชะงัก ตรัสว่า "ประโยชน์อะไรที่มาตามหาสตรี ทำไมไม่ตามหาตนให้พบเล่า"

"ตัวตนเราก็เห็นๆ อยู่ ทำไม สมณะท่านบอกให้ตามหาให้พบ" พวกเขาฉุกคิด จึงทูลถามไป พระองค์จึงทรงแสดงธรรมให้ฟัง ทรงแสดงอนุบุพพิกถา ตามด้วยอริยสัจให้ฟัง ภัททวัคคีย์บรรลุโสดาปัตติผล ทูลขอบวชเป็นสาวกของพระองค์ พระ พุทธองค์ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้แล้วทรงส่งไปประกาศพระศาสนา

ในตำนานไม่พูดถึงภรรยาของพวกเขา ๒๙ คน ว่าไปไหน หลังจากสามีบวชพระแล้วเข้าใจว่าคงกลับภูมิลำเนาของตน

จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลาตามลำดับ เสด็จไปยังอาศรมของชฎิลผู้พี่นาม อุรุเวลกัสสปะ เวลาค่ำพอดี ขอพักอาศัยค้างคืนด้วย อุรุเวลกัสสปะทำท่าอิดเอื้อน ไม่เต็มใจให้พัก อ้างไม่มีที่พัก พระพุทธองค์ทรงชี้ไปที่โรงไฟว่า ขอพัก ณ โรงไฟก็ได้ ถ้าไม่รังเกียจ

อุรุเวลกัสสปะกล่าวว่า อย่าพักที่นั่นเลย มีนาคราช (งูใหญ่) อยู่ จะเป็นอันตรายเปล่าๆ พระพุทธองค์ทรงยืนยันจะพักที่นั่น อุรุเวลกัสสปะจึงอนุญาต นึกว่าเดี๋ยวก็รู้สึก

พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปประทับข้างใน ดำรงพระสติมั่นต่อกรรมฐานภาวนา ฝ่ายพญานาคเห็นมีคนเข้ามาก็โกรธ พ่นพิษตลบไป พระพุทธองค์ทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ให้เกิดควันฟุ้งตลบ ไปสัมผัสผิวกายพญา นาค พญานาคยิ่งโกรธมากขึ้น พ่นพิษเป็นเพลิงพุ่งขึ้น พระพุทธองค์ทรงเข้าเตโชกสิณสมาบัติ บันดาลเพลิงลุกโชติช่วง ดังหนึ่งจะเผาผลาญโรงไฟให้เป็นจุณวิจุณในบัดดล

เหล่าชฎิลเห็นควันและเปลวเพลิงพุ่งขึ้น โชตนาการเช่นนั้น ก็พากันมายืนมุงดู ต่างก็กล่าวด้วยความสลดใจว่า "สมณะหนุ่ม รูปงามนั้น คงถูกพญานาคกำจัดเสียแล้ว น่าเสียดายที่มาสิ้นชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น"

ครั้นรุ่งเช้า พวกชฎิลก็เข้าไปในโรงไฟ มองไม่เห็นพญานาค เห็นแต่ "สมณะหนุ่มรูปงาม" ของพวกเขานั่งสงบอยู่ สายตาก็มองหาว่าพญานาคอยู่ที่ไหน พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพวกเขาคิดอะไร จึงทรงเปิดฝาบาตร แสดงพญานาคที่พระองค์ทรงใช้อิทธิฤทธิ์ย่อขนาดเล็กนิดใส่ในบาตรให้พวกเขาดู

เมื่อเห็นพญานาคตัวใหญ่ กลายเป็นงูเล็ก ขด "มะก้องด้อง" อยู่ในบาตรสมณะหนุ่มรูปงาม ก็อัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ต่างก็เปล่งอุทานว่า สมณะท่านมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งใหญ่แท้ ข้าแต่สมณะ นิมนต์ท่านอยู่ที่อาศรมของข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด ข้าพเจ้าทั้งหลายจะถวายภัตตาหารเป็นนิตย์

น่าสังเกตว่า ถึงจะยอมรับว่าพระพุทธเจ้ามีอิทธิฤทธิ์มากกว่าตน แต่ก็ยังไม่ยอมรับว่าพระองค์เป็นอรหันต์เหมือนพวกตน มีทิฐิมานะถือตนว่าพวกเขาเท่านั้นเป็นพระอรหันต์

พระพุทธองค์จึงเสด็จไปประทับ ณ พนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ใกล้อาศรมของอุรุเวล กัสสปะ ครั้นถึงรัตติกาล ท้าวจาตุมมหาราชทั้ง ๔ ก็ลงมาถวายบังคมพระพุทธองค์ ส่องแสงสว่างไปทั่วสี่ทิศ รุ่งเช้าอุรุเวลกัสสปะเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ถามว่า เมื่อคืนมีแสงสว่างทั่วสี่ทิศ เกิดอะไรขึ้น พระพุทธองค์ตรัสว่า ท้าวจาตุมมหาราชทั้งสี่มาไหว้พระองค์

คืนวันต่อๆ มา ท้าวสักกเทวราช สหัมบดีพรหม ก็มาเฝ้าตามลำดับ อุรุเวลกัสสปะ เมื่อทราบเช่นนั้น ก็นึกอัศจรรย์ใจว่า สมณะหนุ่มรูปนี้มีอานุภาพยิ่งใหญ่กว่าพระอินทร์ และพรหมเชียวหนอ แต่ช่างเถอะ สมณะหนุ่มนี้มิได้เป็นอรหันต์เช่นเดียวกับเรา



ปางโปรด ภาติกชฎิล (๓)

อีกไม่กี่วันข้างหน้า เป็นกำหนดวันมหายัญญลาภของพวกชฎิล ถึงวันนี้พวกชาวเมืองราชคฤห์จะนำลาภสักการะเป็นจำนวนมากมาถวายและฟังธรรมจากหัวหน้าชฎิล อุรุเวลกัสสปะ นึกว่าถ้าสมณะหนุ่มอยู่กับเรา เธอก็จะได้ส่วนแบ่งจากลาภสักการะด้วย ไฉนหนอ จะให้เธอจากไปเสียก่อนวันงานจะมาถึง

พระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตของอุรุเวลกัสสปะ พอถึงวันมหายัญญลาภ พระองค์เสด็จออกไปยังอุตตรกุรุทวีป ทรงยับยั้งอยู่จนล่วงเลยวันที่กำหนดแล้ว จึงเสด็จกลับมา อุรุเวลชฎิลถามว่าพระองค์หายไปไหน จึงตรัสบอกตามความจริง อุรุเวลกัสสปะนึกอัศจรรย์ใจว่า สมณะหนุ่มนี้มีฤทธิ์มากจริงๆ แต่ถึงอย่างไรก็มิได้เป็นพระอรหันต์เช่นเรา

เรียกว่าทิฐิมานะยังไม่ลด ว่าอย่างนั้นเถอะ พระพุทธองค์ต้องทรมานให้หายพยศให้ได้ จึงจะทรงแสดงธรรมให้ฟัง

วันหนึ่งเหล่าชฎิลจะผ่าฟืน ก่อไฟทำพิธีบูชาไฟ พระพุทธองค์ทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ให้พวกเขาไม่อาจผ่าฟืนได้ พยายามอย่างไรๆ ก็ผ่าไม่ได้ อุรุเวลกัสสปะจึงกล่าวกับพระพุทธองค์ว่า ไม่ทราบว่าเพราะอะไรวันนี้พวกตนจึงผ่าฟืนไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลองพยายามอีกครั้งซิ ครั้นพวกเขาผ่าอีกครั้ง ก็สำเร็จ

ครั้งที่สอง พวกเขาจะก่อไฟ ก็ก่อไม่สำเร็จ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสขึ้นเท่านั้นไฟก็ลุกโชนขึ้นทันที โดยมิทันจุด ครั้นทำยัญพิธีเสร็จแล้ว จะดับก็ไม่สามารถดับได้ จนกว่าพระพุทธองค์จะรับสั่งให้ไฟดับ

ครั้งที่สาม พวกชฎิลลงไปดำผุดดำว่ายในน้ำ (คงทำพิธีกรรมตามความเชื่อของตน) รู้สึกหนาวมาก ขึ้นมาแล้วประสงค์จะผิงไฟ ทันใดก็ปรากฏกองไฟลุกโชน ณ ทุกจุดที่พวกเขาขึ้นจากน้ำ พวกเขาจึงนึกว่า นี้คงเป็นสมณะหนุ่มบันดาลแน่นอน เธอช่างมีอิทธิฤทธิ์มากจริงๆ แต่ถึงจะมีฤทธิ์มาก ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา ว่าเข้านั่น

ครั้งที่สี่ วันหนึ่งเกิดฝนตกอย่างหนัก กระแสน้ำหลากมาท่วมบริเวณโดยรอบ รวมถึงตำบลที่พระพุทธองค์ประทับด้วย พวกชฎิลพากันหนีไปอยู่บนที่ดอน รุ่งเช้าขึ้นมา นึกถึง "สมณะหนุ่ม" ขึ้นมาได้ พากันลงเรือมายังตำบลนั้น เพื่อดู และแล้วพวกเขาก็อัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเห็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงยืนจงกรมไปมาอยู่นั้น เป็นโพลงมีน้ำล้อมรอบดุจดังมีกำแพงกั้นไว้ พระพุทธองค์จึงเสด็จเหาะขึ้นจากภูมิภาคขึ้นไปนภากาศ ลอยไปลงสู่เรือของชฎิล สร้างความประหลาดมหัศจรรย์แก่พวกเขาเป็นทวีตรีคูณ



http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Bod.jpg
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ

ปางโปรดอัครสาวก (๑)
พระพุทธเจ้าประทับยืน ปางประทานอภัย ขนาบด้วยพระอัครสาวก
คือ พระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร ขนาด ๑.๐๓ x ๒.๙๒ เมตร
ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจาก : เว็บไซท์ dhammajak.net  

เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ จนมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ได้สร้างวัดพระเวฬุวันถวายไว้ในพระพุทธ ศาสนา วัดพระเวฬุวันนับเป็นวัดแห่งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เมืองราชคฤห์ พระนครหลวงแห่งแคว้นมคธ จึงเป็นศูนย์พระพุทธศาสนาแห่งแรกเช่นเดียวกัน

ความจริงพระเจ้าพิมพิสารเคยพบพระพุทธองค์แล้ว เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จออกผนวชใหม่ๆ เสด็จมาถึงเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทูลอัญเชิญสละเพศนักพรตไปครองราชสมบัติร่วมกับพระองค์ ทรงสัญญาว่าจะแบ่งอาณาจักรให้ครอบครองครึ่งหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ออกบวชนี้ประสงค์สัมมาสัมโพธิญาณ มิได้หวังความยิ่งใหญ่ทางโลก พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงขอว่า ถ้าเช่นนั้น หลังจากที่ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะแล้ว ให้เสด็จมาโปรดเป็นคนแรกเถิด พระพุทธองค์ทรงรับด้วยดุษณีภาพ การเสด็จมาเมืองราชคฤห์นี้ จะว่าเพื่อเปลื้องสัญญานั้นก็ได้ และบัดนี้ก็ได้ทรงทำภารกิจนี้เสร็จสิ้นแล้ว

ในช่วงเวลาดังกล่าว พระอัสสชิ น้องสุดท้องของปัญจวัคคีย์ ได้ทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จมาประทับที่เมืองราชคฤห์ ตั้งใจจะไปเฝ้าเพื่อรายงานผลการไปปฏิบัติงานยังต่างเมืองให้ทรงทราบ เช้าวันหนึ่งท่านออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์

ขอตัดภาพไปยังสองสหายนามว่า อุปติสสะ กับ โกลิตะ ก่อน อุปติสสะเป็นบุตรของนายบ้านอุปติสสคาม บิดาไม่ปรากฏชื่อ มารดานามว่านางสารี ส่วนโกลิตะเป็นบุตรของนางโมคคัลลีภรรยาของนายบ้านโกลิตคาม เนื่องจากหมู่บ้านทั้งสองอยู่ไม่ห่างไกลกัน และตระกูลทั้งสองก็ทัดเทียมกัน ทั้งมีความสนิทคุ้นเคย กันดี บุตรของทั้งสองตระกูลจึงเป็นเพื่อนรักใคร่กัน ไปมาหาสู่กันอย่างสนิทสนม

วันหนึ่ง สองสหายขึ้นไปดูมหรสพบนเขา แทนที่จะมีความสนุกสนานเพลิดเพลินดังแต่ก่อน กลับมีความสลดสังเวชใจ มองเห็นความไร้แก่นสารของการมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน พอรู้ว่าต่างคนต่างก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน จึงตกลงกัน ว่าจะไปแสวงหา "โมกษธรรม" (ทางพ้นทุกข์)

สองสหายไปฝากตนศึกษาและปฏิบัติอยู่กับอาจารย์ สัญชัย เวลัฏฐบุตร สำนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงโด่งดังสำนักหนึ่งในจำนวน 6 สำนักในขณะนั้น อันเป็นที่รู้จักกันในนาม "ครูทั้งหก" (สำนักครูทั้งหกคือ ปูรณะ กัสสปะ, มักขลิ โคสาละ, ปกุธะ กัจจายนะ, อชิตะ เกสกัมพล, นิครนถ์ นาฏบุตร และสัญชัย เวลัฏฐบุตร)

พรหมชาลสูตร ทีฆนิกาย กล่าวว่า สัญชัย เวลัฏฐบุตร สอนลัทธิ "อมราวิกเขปิกา" แปลว่าความเห็นไม่แน่นอน (จับไม่อยู่) ดุจปลาไหล คือ มีทรรศนะไม่แน่นอน ไม่ยืนยันแง่ใดแง่หนึ่งอย่างแน่ชัด เพราะกลัวจะผูกมัดกับความคิดเห็นนั้นๆ บางท่านกล่าวว่า อมราวิกเขปิกา ก็คือ ลัทธิปรัชญาที่สมัยนี้เรียกว่า สเก็ปติกส์ (skepticism) นั้นเอง ผมไม่ได้เรียนปรัชญา จึงขอเดาเอาตามประสาผมว่า คือลัทธิที่สงสัยมันเรื่อยไป ไม่ยอมรับแม้กระทั่งทฤษฎีที่ตกลงกันแล้ว เช่น (สมมติ) สองบวกสองทำไมต้องเป็นสี่ เป็นห้าเป็นหกไม่ได้หรือ อะไรทำนองนี้

พวกนี้คิดในอีกมุมหนึ่ง น่าจะเป็นพวกเหลวไหล เอาแน่อะไรไม่ได้ แต่มองอีกด้านหนึ่งพวกนี้น่าจะเป็นนักคิดที่มีเหตุผล และวิธีคิดที่หลากหลายทีเดียว มิได้คับแคบ ผูกติดหรือเชื่อฝังหัวในทรรศนะหนึ่งทรรศนะใดอย่างงมงาย ไม่รู้สิครับ ก็บอกแล้วว่าผมมิใช่นักปรัชญา

ทั้งสองหนุ่มไปศึกษาอยู่ที่สำนักนี้จนจบความรู้ของครู ก็เห็นว่ามิใช่ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง พูดสำนวนอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ก็เป็นการสอนวิธีตีฝีปาก เสียมากกว่าวิธีดับทุกข์ ว่าอย่างนั้นเถอะ จึงตกลงกันเงียบๆ สองคนว่า จะไปหาแนวทางใหม่ ที่ดีกว่า ใครพบก่อนกันก็ให้บอกอีกฝ่ายหนึ่งด้วย


ปางโปรดอัครสาวก (๒)

อุปติสสะกำลังเดินอยู่ในเมือง สายตาก็ไปสัมผัสกับอากัปกิริยาอันสงบของสมณะรูปหนึ่ง รู้สึกประทับใจ ขณะนั้นท่านเดินบิณฑบาตอยู่ อยากจะเข้าไปสนทนาธรรมกับท่าน เกรงว่าจะไม่เหมาะสม จึงเดินตามไปห่างๆ เมื่อท่านได้ภัตตาหารเพียงพอแก่อัตภาพแล้ว หลีกไปยังสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อฉันภัตตาหาร อุปติสสะจึงรีบเข้าไปหาท่าน จัดตั้งอาสนะถวาย นั่งปรนนิบัติถวายน้ำใช้น้ำฉัน ครั้นเสร็จภัตกิจแล้ว อุปติสสะจึงกล่าวกับท่านว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ใบหน้าท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณท่านก็บริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบรรพชาอยู่ในสำนักท่านผู้ใด ใครเป็นครูอาจารย์ของท่าน ท่านเล่าเรียนธรรม จากผู้ใด"

พระอัสสชิกล่าวตอบว่า "ดูก่อนปริพาชก พระสมณะศากยบุตร ผู้ออกบวชจากศากยวงศ์ พระองค์นั้น เป็นศาสดาของเรา เราเป็นสาวกของพระองค์"

อุปติสสะ กล่าวว่า "ข้าแต่ผู้เจริญ ขอท่านโปรดแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กระผมฟังด้วยเถิด"

พระเถระแสดงธรรมข้อใดให้อุปติสสะฟัง ต่อคราวหน้าครับ

เมื่ออุปติสสะ ขอให้แสดงธรรมให้ฟัง พระอัสสชิกล่าวถ่อมตนว่า ท่านเพิ่งอุปสมบทไม่นาน ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารได้ ครั้นอุปติสสะบอกว่าขอให้แสดงโดยย่อก็ได้

พระเถระจึงกล่าวคาถา อันแสดงถึง "หัวใจ" แห่งอริยสัจสี่มี ใจความว่า
     เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต (อาห)
     เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ
     ธรรม (สิ่ง) เหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
     และความดับเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะ อย่างนี้

คาถานี้ แสดงหลักอริยสัจโดยย่อนั่นเอง อริยสัจพูดถึงทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ การจะดับทุกข์ได้ ก็ต้องดับที่ต้นเหตุ อริยสัจเน้นถึงวิธีดับทุกข์ หรือวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแห่งปัญหา

น่าสังเกตว่า เมื่อพระสมณทูตเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดน ท่านจะเทศนาเน้นไปที่ "แก่น" แห่งอริยสัจนี้เสมอ

เมื่อครั้งพระโสณะและพระอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ (อันเข้าใจกันว่า ศูนย์กลางก็คือจังหวัดนครปฐมในปัจจุบันนี้) ท่านก็คงเทศนาสั่งสอนในเรื่องนี้เป็นหลัก ดังปรากฏว่ามีผู้ค้นพบคาถาพระอัสสชิ จารึกเป็นหลักฐาน รวมกับโบราณวัตถุอื่นๆ เช่น ธรรมจักร กวางหมอบ ด้วย

คาถาพระอัสสชินี้ ขึ้นต้นด้วยคำว่า "เยธัมมา" คนจึงเรียกว่า "คาถาเยธัมมา"

นอกจากที่นครปฐมแล้ว ยังค้นพบในที่อื่นอีก แสดงว่าคนสมัยก่อนถือว่าคาถานี้เป็นคาถาแสดง "หัวใจ" ของพระพุทธศาสนา ในสมัยต่อมาเท่านั้นที่เปลี่ยนมาใช้คาถาโอวาทปาติโมกข์แทน (โอวาทปาติโมกข์คือ การไม่ทำชั่ว การทำความดีให้พร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว)

อุปติสสะได้ฟังเท่านี้ก็พลันเกิด "ดวงตาเห็นธรรม" (ธรรมจักษุ) ทันที จึงเรียนถามท่านว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เวลานี้พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่ไหน"

พระเถระตอบว่า "เวลานี้พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร"

อุปติสสะจึงกราบลาพระอัสสชิ อาจารย์ผู้ให้แสงสว่างในทางธรรมของตน รีบไปหาโกลิตะผู้สหาย กล่าวคาถานั้นให้โกลิตะฟัง โกลิตะก็เกิดดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกัน

ทั้งสองจึงชวนกัน ไปชวนอาจารย์สัญชัย เพื่อไปเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ชวนผิดคนเสียแล้วครับ สัญชัยเป็นถึงอาจารย์ใหญ่ เจ้าของลัทธิที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น มีหรือจะยอมไปเป็นลูกศิษย์คนอื่นอีก ศิษย์ทั้งสองหวังดี แต่เป็นความหวังดีที่ยากจะรับได้ ลองฟังบทสนทนาของศิษย์อาจารย์ดูก็แล้วกันครับ

ศิษย์ "อาจารย์ครับ บัดนี้พระสัมมา สัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกแล้ว เราทั้งสามไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เพื่อฟังธรรมกันเถิด"



ปางโปรด อัครสาวก (๓)

อาจารย์ "ไยเธอทั้งสองมาดเช่นนี้กับเรา เราเป็นอาจารย์ใหญ่ เจ้าสำนักที่มีชื่อเสียง ยังจะต้องไปเป็นศิษย์ใครอีกหรือ"

ศิษย์ "ท่านอาจารย์ครับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ธรรมะที่ทรงแสดงก็เป็นนิยยานิกธรรม (สามารถนำคนออกจากทุกข์) จริงๆ เรามาไปกันเถิด"

อาจารย์ "เราไม่ไป เธอทั้งสองอยากไป ก็ตามใจเถิด"

ศิษย์ "ท่านอาจารย์ครับ ใครๆ ได้ทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว ก็พากันไปฟังธรรม ไปบวชเป็นสาวกของพระองค์กันมากแล้ว ท่านอาจารย์จะอยู่อย่างไร"

อาจารย์ "เราขอถามอะไรสักอย่าง"
ศิษย์ "อะไรครับ อาจารย์"
อาจารย์ "ในโลกนี้ คนโง่กับคนฉลาดอย่างไหนมากกว่ากัน"
ศิษย์ "คนโง่ครับ ท่านอาจารย์ คนฉลาดมีจำนวนน้อย"

อาจารย์ "คนโง่จำนวนมากนั้นเขาจะมาสู่สำนักเราเอง ส่วนคนฉลาดๆ อย่างเธอทั้งสองก็จะไปยังสำนักพระสมณโคดม เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าเราจะไม่มีศิษย์ เธอทั้งสองอยากไปเป็นศิษย์พระสมณโคดมก็ไปเถิด ไม่ต้องห่วงเรา"

อย่ามาชวนเสียให้ยาก เอาช้างมาฉุดข้าก็ไม่ไป ว่าอย่างนั้นเถอะ ชะชะ เป็นอาจารย์อยู่ดีๆ จะมาชวนให้ไปเป็นศิษย์คนอื่น ไม่เตะเอาก็บุญแล้ว สัญชัยอาจคิดอย่างนี้ก็ได้

เมื่ออาจารย์ไม่ไปด้วย ศิษย์ทั้งสองจึงอำลาอาจารย์เดินทางไปยังพระเวฬุวันวิหาร ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับท่ามกลางภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ทอดพระเนตรเห็นทั้งสองเดินมาแต่ไกล จึงทรงชี้พระดรรชนี ตรัสกับภิกษุสงฆ์ว่า "ภิกษุทั้งหลาย สองคนนั้นจะเป็นคู่แห่งอัครสาวกของเรา"

น่าสังเกตว่า ทั้งสองยังไม่ได้บวชเลย พระพุทธองค์จะตั้งให้เป็นอัครสาวกแล้ว ด้วยเหตุดังฤๅ ได้คิดหาคำตอบกันคราวหน้าครับ

เมื่อทั้งสองท่านได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าแล้ว อุปติสสมาณพ ได้นามเรียกขานกันในหมู่เพื่อนพรหมจรรย์ว่า สารีบุตร โกลิตมาณพ ได้ชื่อว่า โมคคัลลานะ

บวชได้ ๗ วันพระโมคคัลลานะ บำเพ็ญเพียรอยู่ที่ตำบลกัลลวาลมุตตคาม ถูกความง่วงครอบงำไม่สามารถขจัดให้หายไปได้ พระพุทธองค์เสด็จไปตรัสบอกวิธีแก้ง่วง ๘ ประการให้ท่านปฏิบัติ (มีอะไรบ้าง เคยเขียนไว้ในที่อื่นแล้ว จะไม่ขอพูดในที่นี้) ท่านโมคคัลลานะปฏิบัติตามที่ทรงแนะนำ สามารถขจัดความง่วงได้ และได้บรรลุพระอรหัต

อีก ๗ วันต่อมา พระสารีบุตรกำลังถวายงานพัดพระพุทธองค์ ขณะประทับแสดงธรรมแก่ปริพาชกเล็บยาว หลานชายท่าน ถวายงานพัดไป ส่งใจพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนาไปด้วย เมื่อทรงแสดงธรรมจบลงก็ได้บรรลุพระอรหัต ในขณะที่ผู้ฟังพระธรรมเทศนาโดยตรงคือปริพาชกเล็บยาวไม่ได้บรรลุ



ปางโปรด อัครสาวก (จบ)

สถานที่ท่านบรรลุพระอรหัตคือ ถ้ำสุกรขาตา (ถ้ำหมูขุด หรือที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่าถ้ำคางหมู) อยู่เชิงเขาคิชฌกูฏ ปัจจุบันนี้ใครไปนมัสการพระมูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏ ก็จะผ่านถ้ำคางหมูก่อน และมักจะแวะนนัสการเสมอ เพราะเป็นปูชนียสถานที่สำคัญเช่นเดียวกัน

ที่ไม่ควรลืมก็คือ วันที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุพระอรหัต เป็นเช้าวันเพ็ญเดือน ๓ เป็นวันที่พระพุทธองค์ประทานโอวาทปาติโมกข์แก่ที่ประชุมสงฆ์ "จาตุรงคสันนิบาต" พอดี ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้เป็นวันมาฆบูชา ดังที่ทราบกันดีแล้ว

จากนั้นพระพุทธองค์ก็ประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา และเบื้องซ้าย พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เลิศกว่าผู้อื่นในทางมีปัญญามาก พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลิศกว่าผู้อื่นในทางมีฤทธิ์มาก

ปริศนาที่ตั้งไว้ในสัปดาห์ก่อนโน้นว่า เพราะเหตุไรพระพุทธองค์จึงทรงแต่งตั้งท่านทั้งสองเป็นอัครสาวก ทั้งๆ ที่อายุพรรษาน้อยกว่าพระเถระรูปอื่นๆ จะว่าไปแล้วทรง "ทำท่า" จะตั้งตั้งแต่วินาทีแรกที่ทอดพระเนตรเห็นสองท่านเดินเข้าวัดมาด้วยซ้ำ มิเป็น "มุโขโลกนะ" (เห็นแก่หน้า) ดอกหรือ

คำตอบที่พระอรรถกถาจารย์ให้ไว้ ก็คือ พระองค์ทรงแต่งตั้งให้ทั้งสองท่านเป็นอัครสาวก เพราะทั้งสองท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้แล้วในพุทธกาลก่อนๆ นานมาแล้ว พูดง่ายๆ ว่าตั้งตามความปรารถนาของทั้งสองท่าน ถึงจะฟังทะแม่งๆ ก็รับฟังไว้ก็แล้วกันครับ

ถ้าจะให้ผมเดา (พูดให้โก้ว่าสันนิษฐาน) ผมก็เดาว่าพระพุทธองค์กำลังจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหมู่พราหมณ์ พระองค์ต้องการ "มือ" มาช่วยทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งสองท่านนี้เหมาะกับงานนี้พอดี จึงทรงแต่งตั้ง ให้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ทั้งสองท่านมีคุณสมบัติดังนี้ครับ
๑.เกิดในวรรณะพราหมณ์ มีความเชี่ยวชาญในไตรเพทของพวกพราหมณ์เป็นอย่างดี เมื่อมาเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมจะสามารถโต้ตอบหักล้างแนวความคิดความเชื่อของพวกพราหมณ์ได้อย่างดี
๒.เป็นบัณฑิตทางปรัชญา จบปรัชญาสาขา "อมราวิกเขปิกา" จากสำนักอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปรัชญาสำนักนี้เน้นวาทะ การโต้ตอบด้วยปฏิภาณ จึงเป็น "เครื่องมือ" อย่างดี ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พระพุทธองค์ทรงมองเห็นแล้วว่า ทั้งสองท่านมีความสามารถที่สาวกรูปอื่นๆ ไม่มี จึงทรงสถาปนาทั้งสองท่านในตำแหน่งอัครสาวกดังกล่าว

ทั้งหมดนี้เดาเอาครับ ย่อมมีสิทธิ์ผิดได้ (และดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นด้วย)




ภาพจาก : เว็บไซต์ bloggang.com
ปางประทานโอวาทปาติโมกข์ (๑)

เดิมเขียนว่า "ปาฏิโมกข์" ปัจจุบัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้เขียน "ปาติโมกข์" ตัว ฏ เป็น ต นี้ถือเป็นธรรมดา เป็น ด ก็ธรรมดา อย่าง ถนน "ปฏิพัทธ์" เป็นถนน "ประดิพัทธ์" นั้นแล

ได้บอกไว้ว่า พระสารีบุตรบรรลุพระอรหัตในเช้าวันเพ็ญที่พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะพอดี (ต่อมากำหนดให้เป็นวัน วันมาฆบูชา) การบรรลุธรรมของพระสารีบุตร สัมพันธ์กับเหตุการณ์วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ทำให้จดจำได้ง่ายดี

วันนั้น พระสาวกทั้งหลายคงเดินทางมุ่งหน้ามายังพระเวฬุวันเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าหลังจากเดินทางไปเผยแพร่พระศาสนายังต่างเมือง ท่านเหล่านั้นคงมิได้นัดหมายกันจริงตามที่มีผู้สันนิษฐานกัน เมื่อองค์ประกอบทั้ง ๔ ประการมาบรรจบกันเข้า ทำให้เห็นเป็นอัศจรรย์คือ
๑. พระสาวกของพระพุทธเจ้ามาประชุมกันที่พระเวฬุวันจำนวน ๑,๒๕๐ รูป โดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน
๒. ท่านเหล่านั้นล้วนเป็น เอหิภิกขุ (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง)
๓. ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา
๔. วันนั้นเป็นวันพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะพอดี

การประชุมใหญ่ของพระสาวก อันประกอบด้วยเหตุการณ์สำคัญทั้ง ๔ นี้ เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นนิมิตหมายอันดี จึงประทานโอวาทปาติโมกข์ (คำสอนที่เป็นหลักสำคัญ) ให้พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น

มีคำถามว่า จำนวน ๑,๒๕๐ มาจากไหน บางท่านบอกว่า ความจริงมิได้มาจากไหนดอก เอาแค่ภาติกชฎิลกับบริวาร ก็พันกับสามรูปแล้ว รวมกับพระอัครสาวกและบริวาร๕๐๐ ก็เกินแล้ว ทั้งนี้ไม่รวมถึงพระอรหันต์ ๖๐ รูป ที่ทรงส่งไปก่อนหน้านี้แล้ว ท่านเหล่านี้แหละ เมื่อปฏิบัติภารกิจลุล่วงแล้ว บางส่วนได้กลับมาเพื่อกราบทูลถวายรายงานหรือเพื่อขอประทานพระโอวาทเพิ่มเติม

ถามว่า ทำไมท่านเหล่านี้จึงจำเพาะเจาะจงมาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันเวลาดังกล่าวนี้ นักสันนิษฐานบางท่านกล่าวว่า เพราะความเคยชิน ว่าอย่างนั้น ถามว่าเคยชินอะไร ท่านบอกว่าพระสาวกเหล่านี้เป็นพราหมณ์มาก่อน และวันที่พระจันทร์เต็มดวงในเดือนนี้เป็นวันที่เขาทำพิธีที่เรียกว่า ศิวาราตรี ครั้นท่านเหล่านี้ได้มาบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีโอกาสทำพิธีอะไรของพวกพราหมณ์เหมือนเมื่อครั้งก่อนแล้ว จึงพากันมาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน ว่าอย่างนั้น



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 ตุลาคม 2558 15:37:36 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 27 สิงหาคม 2558 15:08:14 »

.


ภาพจาก : เว็บไซต์ bloggang.com
ปางประทานโอวาทปาติโมกข์ (จบ)

ผมเองไม่มีความรู้เรื่องศิวาราตรี ว่าพวกพราหมณ์ทำอะไรกัน แต่การจะเกณฑ์ให้พระอรหันต์ซึ่งหมดกิเลส ทรงอภิญญาแล้ว ยังต้องทำอะไรตามความเคยชินอยู่ ออกจะไม่สมเหตุสมผล น่าจะเรียกว่า "เดา" หรือ "เดาสุ่ม" มากกว่า เพราะพระอรหันต์เหล่านี้ใช่ว่าจะเป็นพราหมณ์หมดทุกรูปก็หาไม่

เมื่ออ้างนักสันนิษฐานคนที่หนึ่งแล้ว ไม่อ้างคนที่สองก็ดูกระไรอยู่ คนที่สองเขาสันนิษฐานดังนี้ครับ การประทานพระโอวาทครั้งนี้ นับเป็น "ปัจฉิมนิเทศ" พระธรรมทูตชุดแรก และ "ปฐมนิเทศ"พระธรรมทูตชุดที่สอง ท่านว่าอย่างนั้น

ชุดแรกคือจำนวน ๖๐ รูปที่ทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาก่อนหน้านั้น ท่านเหล่านั้นได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าบางส่วน เพื่อกราบทูลรายงานผล พระองค์ทรงถือโอกาสสรุปและประทานคำแนะนำเพิ่มเติมในคราวนี้

ชุดที่สองคือชุดที่จะส่งไปในคราวนี้ ประทานพุทธโอวาทอันเป็นหลักการสำคัญในการเผยแผ่พระศาสนา สมบูรณ์แบบทีเดียว ขอให้ดูเนื้อหาพระ "โอวาทปาติโมกข์" จะเห็นว่าสมบูรณ์แบบอย่างไร

เนื้อหาโอวาทปาติโมกข์มีดังนี้
(๑) "ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นธรรมเผากิเลสอย่างยิ่ง
(๒) นิพพาน ท่านผู้รู้กล่าวว่าเป็นธรรมสูงสุด
(๓) ผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ไม่นับเป็นบรรพชิต
(๔) ผู้ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่นับเป็นสมณะ
(๕) การไม่ทำบาปทั้งปวง
(๖) การทำความดีให้พร้อม
(๗) การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
(๘) การไม่ว่าร้ายเขา
(๙) การไม่ทำร้ายเขา
(๑๐) การระมัดระวังในระเบียบข้อบังคับ
(๑๑) การรู้ประมาณในการบริโภค
(๑๒) การนั่งนอนในสถานที่สงัด
(๑๓) การฝึกสมาธิจิตอย่างสูงยิ่ง นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ทั้งหมดมี ๑๓ หัวข้อใหญ่ๆ แต่เมื่อสรุปแล้ว จะครอบคลุมทั้งด้านเป้าหมาย หลักการและวิธีการ ตลอดจนคุณสมบัติของผู้เผยแผ่พระศาสนา ขอให้ดูดังนี้
(๑) เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ทรงเน้นไปที่พระนิพพาน ความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล
(๒) หลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา ทรงชี้ว่าต้องไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นหลักการใหญ่ จะว่าไปแล้วก็คือหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ และปัญญา) นั้นเอง
(๓) วิธีการเผยแผ่พระศาสนา ทรงเน้นไปที่การใช้สันติวิธี ไม่เบียดเบียนเขา ไม่ว่าร้ายเขา ให้ใช้ขันติธรรม และวิธีประสานประโยชน์
(๔) คุณสมบัติของผู้เผยแผ่ ทรงเน้นว่าพระภิกษุผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา พึงอยู่ง่าย กินง่าย ไม่เห็นแก่กิน เคร่งครัดในพระปาติโมกข์ (ศีลสำคัญ) ฝึกฝนตนเองในสมาธิชั้นสูงเสมอ

ข้อสันนิษฐานนี้ค่อยฟังเข้าทีหน่อย ฝากผู้รู้พิจารณาเอาก็แล้วกัน




ภาพจาก : เว็บไซต์ laksanathai.com
ปางห้ามพยาธิ หรือห้ามพระญาตินัยที่ ๑

มีเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ ๒ เหตุการณ์ ที่ทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางหนึ่ง อ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนไม่เหมือนกัน คือ ปางห้ามพยาธิ (อ่าน"ห้ามพะยาด") กับ ปางห้ามพระญาติ (อ่าน"ห้ามพระยาด") เอาเหตุการณ์ที่หนึ่งก่อน ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวันเมืองราชคฤห์ ที่เมืองไพศาลี ได้เกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนล้มตายเพราะความอดอยากจำนวนมาก มิหนำซ้ำโรคห่า (อหิวาตกโรค) ก็เข้าคุกคาม ศพทิ้งเกลื่อนกลาด เมื่อภูมิภาคปฏิกูลด้วยศพมากมาย ภูตผีปีศาจก็เข้าเมืองมากินซากศพ และมนุษย์ที่ป่วยไข้ตายกันมากมาย

ว่ากันว่าเมืองไพศาลีต้องผจญกับภัยพิบัติ ๓ ประการพร้อมกันคือ ภัยเกิดจากความอดอยาก ภัยเกิดจากอหิวาตกโรค และภัยจากภูตผีปีศาจเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ผู้ครองนครไพศาลี จึงส่งเจ้าชายมหาลิไปกราบทูลอัญเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวเมืองไพศาลี เพื่อให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งสามประการนั้น พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา เสด็จออกจากเมืองราชคฤห์ พร้อมพระสาวกจำนวน ๕๐๐ รูป ไปยังเมืองไพศาลีทางเรือ

เสด็จถึงท่าเมืองไพศาลี ทันทีที่ทรงเหยียบพื้นปฐพีแห่งพระนครไพศาลี จ้องพระเนตรจับท้องฟ้า ทรงรำลึกถึงพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาแต่ปางก่อน ทันใดนั้นมหาเมฆก็ตั้งเค้าดังแผ่นผ้าสีครามผืนยาวเหยียดในด้านปัจฉิมทิศ แล้วเคลื่อนมาปกคลุมพระนครไพศาลี ส่งเสียงคำรามกระหึ่ม สายฟ้าแลบแปลบปลาบ แล้วห่าฝนก็กระหน่ำลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา เสมือนจะล้างพื้นดินที่สกปรกโสโครก ด้วยสิ่งปฏิกูลให้สะอาดหมดจด ต้อนรับพระพุทธองค์

จริงตามนั้น พอฝนซัดลงมามากมายเช่นนั้น ไม่ช้าน้ำฝนก็ไหลบ่านองพื้น พัดพาเอาซากศพมนุษย์และสัตว์ซึ่งนอนทับถมพื้นดินอยู่ไหลลงสู่ทะเลใหญ่โดยสิ้นเชิง พอฝนขาดเม็ด พื้นปฐพีก็สะอาดปราศจากสิ่งปฏิกูล ความอบอ้าวเร่าร้อนของอากาศก็สงบ บรรเทาโรคได้ถึงครึ่งด้วยพุทธานุภาพ

พระพุทธองค์รับสั่งให้พระอานนท์ สวดรัตนสูตร พระเถระเจ้ารับพระพุทธบัญชา อุ้มบาตรบรรจุน้ำมนต์จาริกรอบกำแพงเมืองไพศาลี พลางประพรมน้ำพุทธมนต์ไปด้วย ติดตามด้วยเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีและประชาชนจำนวนมาก ว่ากันว่าบรรดาภูตผีปีศาจทั้งหลายพอร่างกายถูกหยาดน้ำพุทธมนต์ต้องตัว ก็รู้สึกปวดแสบปวดร้อน วิ่งหนีกันจ้าละหวั่น

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดกษัตริย์ลิจฉวีและชาวเมือง เมื่อความร่มเย็นผาสุกลับมาสู่พระนครไพศาลีดังเดิมแล้วก็เสด็จนิวัติยังพระนครราชคฤห์ดังเดิม

พระพุทธรูปปางห้ามพยาธิ จึงสร้างขึ้นเพื่อจารึกเหตุการณ์ครั้งนี้ นี้ว่าตามข้อมูลกระแสหนึ่ง แต่อีกกระแสหนึ่งไม่ว่าอย่างนี้ ว่าอย่างไร ไว้คราวหน้าก็แล้วกันครับ

สำหรับคราวนี้ ขอตั้งข้อสังเกตสักเล็กน้อย ว่ากันว่าพระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระอานนท์สวดรัตนสูตร และพรมน้ำพุทธมนต์รอบเมืองไพศาลี ข้อมูลนี้น่าสนใจ น่าสนใจก็เพราะโยงเอาพระพุทธเจ้าไปเกี่ยวกับการทำน้ำมนต์ และประพรมน้ำมนต์

รัตนสูตรนั้นมีบันทึกอยู่ในขุททกนิกาย (นิกายสุดท้ายของพระไตรปิฎก) เนื้อหาพูดถึงพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ว่าประเสริฐกว่ารัตนะอื่นใดในโลก ข้อนี้ไม่แปลกประหลาดอันใด

ที่น่าประหลาดก็คือเกณฑ์ให้พระพุทธเจ้าทรงสั่งให้ทำน้ำมนต์และพรมน้ำมนต์ เมื่อเป็นเช่นนี้บอกได้เลยว่าพระสูตรนี้เพิ่มเข้ามาภายหลัง เพิ่มมาในยุคที่ชาวพุทธนิยมการสวดมนต์ป้องกันภัยหลังพุทธปรินิพพาน น่าจะเป็นประเทศศรีลังกาครับ

ที่แน่ๆ สมัยพุทธกาลไม่มีการทำน้ำพุทธมนต์ และการประพรมพุทธมนต์ แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งครับ



ปางห้ามพยาธิ หรือห้ามพระญาตินัยที่ ๒
ทีนี้มาว่าถึงนัยที่ ๒ ห้ามพระญาติ หมายถึงห้ามญาติพี่น้อง ญาติพี่น้องหรือพระประยุรญาติของพระพุทธเจ้ากำลังจะฆ่าฟันกัน พระพุทธองค์จึงเสด็จไปห้าม

เรื่องมีอยู่ว่า ศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ตั้งเมืองอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี กษัตริย์ทั้งสองวงศ์มีอาชีพหลักคือการเกษตร จึงต้องเอาน้ำในแม่น้ำโรหิณีมาทำนา บางปีน้ำมีน้อยไม่เพียงพอ จึงต้องแย่งน้ำกัน ว่ากันว่าความกระทบกระทั่งเพราะเรื่องนี้มีเสมอมา แต่ไม่มีครั้งไหนใหญ่โตเหมือนครั้งที่กล่าวถึงนี้

คัมภีร์อรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) เล่าอย่างมีอารมณ์ว่า ทั้งสองฝ่ายเมื่อความโกรธครอบงำ ก็ด่าทอกัน ขุดโคตรบรรพบุรุษมาด่ากัน ฝ่ายศากยวงศ์ก็ด่าฝ่ายโกลิยวงศ์ว่า พวกลูกหลานขี้เรื้อน สมสู่กันในป่า ฝ่ายโกลิยวงศ์ก็ด่าตอบว่า ขี้เรื้อนสมสู่กันในป่ายังดีกว่าพวกสมสู่กันเองระหว่างพี่กับน้อง ยิ่งกว่าสุนัข

ครับว่ากันแรงขนาดนี้ จึงปะทุอารมณ์ขึ้นมาถึงกับต้องออกมาสู้รบกัน

ก่อนอื่นขอเล่าเรื่องเบื้องหลังสักเล็กน้อย ว่ากันว่าพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าโอกกากราช บรรพบุรุษแห่งศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ ถูกสั่งให้ไปสร้างบ้านเมืองใหม่ เพราะได้ออกปากยกราชสมบัติให้พระราชโอรสที่ประสูติกับพระมเหสีองค์รองแล้ว

ทั้งหมดได้สร้างเมืองขึ้นใหม่ ตามคำแนะนำของกบิลฤๅษี แล้วก็อภิเษกสมรสกันเองระหว่างพี่น้อง ยกเว้นพระพี่นางซึ่งได้แยกตัวออกไปอยู่ที่อื่น เมื่อสร้างเมืองเสร็จก็กลับมา กราบทูลพระเจ้าโอกกากราชทรงทราบ พระองค์ทรงเปล่งอุทานว่า สกฺกา วต เม ปุตฺตา = บุตรของเราองอาจจริงหนอ ตั้งแต่นั้นเมืองนี้จึงมีชื่อว่า "กบิลพัสดุ์" (แปลว่าเมืองที่สร้างบนพื้นที่ที่กบิลฤๅษีแนะนำ) กษัตริย์เหล่านี้จึงมีชื่อเรียกว่า "ศากยะ" (แปลว่าผู้กล้าหาญ)

กล่าวถึงพระพี่นางผู้แยกตัวออกไป ต่อมาได้ป่วยเป็นโรคเรื้อน ได้พบอดีตพระราชาเมืองหนึ่งซึ่งเคยเป็นโรคเรื้อนและได้หายแล้ว อดีตพระราชาพระองค์นั้นทรงแนะนำให้เสวยผลกระเบา โรคได้หายขาด ทั้งสองได้อภิเษกสมรสกัน "สร้างบ้านแปงเมือง" ต่อมา ได้ตั้ง "โกลิยวงศ์" (แปลว่าวงศ์ต้นกระเบา) สืบมา

คำด่าที่ทั้งสองฝ่ายขุดมาด่ากัน เป็นภูมิหลังของทั้งสองฝ่ายดังกล่าวมา ด้วยประการฉะนี้แล

พระพุทธองค์ทรงทราบว่าญาติพี่น้องกำลังจะประหัตประหารกันเพราะเรื่องน้ำ จึงเสด็จไปห้าม พระพุทธดำรัสที่ทำให้พวกเขายินยอม อรรถกถาบันทึกไว้ดังนี้ครับ
พุทธ "มหาบพิตรทั้งหลาย พวกท่านจะสู้รบกันเพราะเหตุใด"
กษัตริย์ "เพราะเหตุนี้ (เรื่องน้ำ) พระเจ้าข้า"
พุทธ "มหาบพิตรทั้งหลาย พวกท่านเห็นอย่างไร ระหว่างน้ำกับโลหิตที่จะไหลหลั่งออกมาเพราะการรบพุ่งกันนี้ อย่างไหนมีค่ามากกว่ากัน"
กษัตริย์ "โลหิตมีค่ามากกว่า น้ำมีค่าเล็กน้อย พระเจ้าข้า"
พุทธ "ถ้าเช่นนั้นพวกท่านจะเอาสิ่งที่มีค่ามหาศาลไปแลกกับสิ่งมีค่าเล็กน้อยทำไมเล่า"

รายละเอียดคงจะเจรจากันยาวและใช้เวลานาน แต่สาระคงมีตามที่ท่านสรุปมาให้ฟังนี้

กษัตริย์ทั้งสองวงศ์เมื่อได้รับประทานพระโอวาทจากพระพุทธองค์ก็ยินยอมสงบศึก ตกลงแบ่งน้ำกันคนละครึ่ง ยกทัพกลับเข้าเมือง

ว่ากันว่าพระพุทธรูปปาง "ห้ามพระญาติ" สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ เขียน "ห้ามพระญาติ" อันหมายถึง พระประยุรญาติทั้งสองฝ่าย มิใช่พยาธิ (โรคร้าย) แต่อย่างใด




ภาพจาก : เว็บไซต์ manager.co.th
ปางโปรดพุทธบิดา (๑)

ทราบกันแล้วว่าพระพุทธบิดาทรงพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระองค์ไม่มีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสออกผนวชแม้แต่น้อย จึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะ "ดึง" พระราชโอรสไว้ได้ เช่น สร้างปราสาทสามฤดูที่ "หะรูหะรา" ให้อยู่ ปรนเปรอด้วยรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสธัมมารมณ์สารพัด แต่ยิ่งทำก็ยิ่งเร่งให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นความจริงของสรรพสิ่งมากยิ่งขึ้น

ในที่สุดก็เสด็จออกผนวช สละเสียสิ้นซึ่งกามวิสัยทั้งปวง แสวงหาโมกษธรรม (ทางหลุดพ้น) เพื่อช่วยพระองค์เองให้พ้นทุกข์ แล้วจะได้ช่วยสรรพสัตว์อื่นให้พ้นทุกข์ด้วย

พระเจ้าสุทโธทนะนั้นแทบพระทัยจะสลาย เมื่อทราบว่าพระราชโอรสทิ้งพระนครไปโดยไม่มีวี่แววว่าจะหวนกลับมา ในพุทธประวัติที่เราเรียนไม่พูดถึงว่าหลังจากพระราชกุมารเสด็จออกผนวชแล้วพระราชบิดาทรงทำอะไรบ้าง แต่ในฉบับอื่น (หมายถึงของฝ่ายมหายาน) เล่าไว้ว่าพระองค์ทรงส่งคนไปสืบดูว่าพระราชกุมารอยู่ที่ไหน ทำอะไรบ้าง เรียกว่าทรงรับทราบความเป็นไปของพระราชโอรสทุกระยะ ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระเจ้าสุทโธทนะแม้จะไม่ยินดีที่พระราชโอรสออกผนวช แต่เมื่อทรงทราบว่าพระมหาสัตว์ได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดที่ทรงปรารถนาแล้ว และเสด็จไปประทับ ณ พระเวฬุวันเมืองราชคฤห์ก็อดดีพระทัยไม่ได้ จัดคณะทูตคณะหนึ่งไปทูลอันเชิญเสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระองค์และพระประยุรญาติ

คณะทูตอันประกอบด้วยมหาอำมาตย์และบริวาร ๘ นาย ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมแล้วต่างก็เลื่อมใส ทูลขอบวชเป็นสาวกพระพุทธองค์ เลยลืมสัญญาที่ให้ไว้กับพระเจ้าสุทโธทนะ

เมื่อคณะทูตคณะที่หนึ่งหายจ้อย พระองค์ก็ส่งคณะที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่หก ที่เจ็ด ที่แปด มาตามลำดับ จะเห็นว่าทรงอยากพบ "พระลูกชาย" ปานใด แต่ก็ช่างกระไร ทูตทุกคณะที่ไปไม่มีใครกลับมาเลยสักคน บวชเป็นพระแล้วก็ลืมสัญญาหมด มัน "เจ๊กอั่ก" น้อยไปหรือ

คราวนี้ทรงส่งมหาอำมาตย์ซึ่งเป็นสหชาต (เกิดพร้อมกัน) กับเจ้าชายสิทธัตถะ นามว่า กาฬุทายี กำชับกำชาให้นำ "พระลูกชาย" มาให้ได้ กาฬุทายีทูลขอลาอุปสมบทด้วย แต่จะไม่ลืมอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าเป็นอันขาด

เมื่อรับเป็นมั่นเหมาะแล้ว กาฬุทายีก็เดินทางไปยังเมืองราชคฤห์ เข้าเฝ้า ณ พระเวฬุวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตแล้วทูลขออุปสมบท หลังจากบวชแล้วเมื่อสิ้นเหมันตฤดูย่างเข้าคิมหันตฤดู พระกาฬุทายีคำนึงว่าฤดูนี้ประชาชนเพิ่งเสร็จงานเก็บเกี่ยว มรรคาไปสู่พระนครกบิลพัสดุ์สะดวกสบาย สองข้างทางมีพฤกษาเรียงรายอยู่น่ารื่นรมย์ สมควรที่อัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสู่เมืองกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระพุทธบิดาและบรรดาพระประยุรญาติทั้งปวง

จึงเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลอาราธนาให้เสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์ ว่ากันว่าพระกาฬุทายีได้ประพันธ์คาถา (โศลก) บรรยายสภาพของมรรคาจากราชคฤห์สู่กบิลพัสดุ์ ซึ่งมีความยาว ๖๐ โยชน์ รวม ๖๐ คาถาด้วยกัน

พระพุทธองค์ทรงรับคำอาราธนา ตรัสบอกกาฬุทายีว่า ให้แจ้งแก่พระสงฆ์ทั้งปวงว่าพระบรมศาสดาจะเสด็จไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายก็ตระเตรียมอัฐบริขารของตนเพื่อโดยเสด็จพระบรมครูไปยังเมืองมาตุภูมิของพระองค์

เสด็จถึงเมืองกบิลพัสดุ์ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม (ป่าไทรย้อย) นอกเมือง บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งหลาย ทั้งหนุ่มและแก่ ต่างก็มาเฝ้า บางพวกที่มีทิฐิว่าตนอาวุโสกว่าก็กระด้างกระเดื่องไม่ประณมหัตถ์นมัสการ บางพวกก็นมัสการด้วยความเคารพ และทำในใจว่าตนกำลังไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเพียบพร้อมไปด้วยพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ไม่ได้ถือตนว่าเป็นผู้อาวุโสกว่าแต่อย่างใด

พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นอหังการมมังการของพระประยุรญาติบางเหล่า จึงทรงสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์เหาะลอยขึ้นในนภากาศ ปรากฏประหนึ่งให้ละอองธุลีพระบาทหล่นลงยังเศียรเกล้าของพระประยุรญาติทั้งหลาย ด้วยพุทธานุภาพเป็นมหัศจรรย์



ปางโปรดพุทธบิดา (๒)
พระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดา ประณมหัตถ์เหนือพระเศียรกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ประสูติใหม่ได้ ๑ วัน หม่อมฉันให้พี่เลี้ยงนำมาเพื่อไหว้อสิตดาบส (กาลเทวิลดาบส) พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏ ขึ้นไปบนชฎาของดาบส ครั้งนั้นหม่อมฉันถวายบังคมพระองค์เป็นครั้งปฐม

ต่อมาเมื่องานพระราชพิธีวัปปมงคล (แรกนาขวัญ) พระพี่เลี้ยงนำพระองค์ไปประทับใต้ต้นหว้า เมื่อพระอาทิตย์บ่ายคล้อยไปแล้ว เงาไม้ก็มิคล้อยไปตามตะวัน หม่อมฉันเห็นเป็นอัศจรรย์ ได้ถวายบังคมเป็นครั้งที่สอง คราครั้งนี้หม่อมฉันขอถวายบังคมเป็นครั้งที่สาม

บรรดาพระประยุรญาติที่กระด้างกระเดื่องในเบื้องต้นต่างก็พากันลดทิฐิมานะ ก้มกราบถวายบังคมทั่วหน้ากัน พระสุคตเจ้าเสด็จลงจากนภากาศประทับบนพระพุทธอาสน์ท่ามกลางเหล่าศากยวงศ์ทั้งปวง

ขณะนั้นเมฆได้ตั้งเค้า บันดาลหยาดฝนเม็ดหยาบสีแดงเรื่อตกลงมา ประหลาดว่าเม็ดสีแดงเรื่ออันเรียกว่าฝนโบกขรพรรษนั้น ใครไม่ประสงค์จะให้ร่างกายเปียก ก็ไม่เปียก ใครประสงค์จะให้เปียก จึงเปียก

เป็นที่มหัศจรรย์อย่างยิ่งแล

ภิกษุทั้งหลายเห็นเหตุการณ์มหัศจรรย์นั้นแล้ว ก็ประชุมสนทนากันด้วยความสงสัยว่าทำไมหนอฝนประหลาดนี้จึงเกิดขึ้นได้ ไม่เคยพบเคยเห็นเลย

พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงเสด็จมาตรัสแก้ข้อกังขาของพวกเธอว่า "ภิกษุทั้งหลาย ใช่ว่าฝนโบกขรพรรษนี้จะตกเฉพาะครั้งนี้เท่านั้น ในอดีตกาล เมื่อตถาคตยังเป็นพระโพธิสัตว์ ฝนนี้ก็เคยตกมาแล้วเช่นกัน" แล้วทรงเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ให้ภิกษุสงฆ์ฟัง

พระสงฆ์ไทยได้นำเอามหาเวสสันดรชาดกมาเทศน์ให้ญาติโยมฟังในเทศกาลวันออกพรรษาเป็นประเพณีสืบมาจนบัดนี้ (ปัจจุบันนี้อาจเลือนหายไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีอยู่) เป็นการปลูกฝังจริยธรรม โดยเฉพาะด้านการให้ทาน สอนให้คนไทยเป็นผู้ใจบุญสุนทาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดำเนินตามรอยพระเวสสันดรโพธิสัตว์

แต่ไหนแต่ไรมาก็ไม่มีใครคิดสงสัยเหมือนคนสมัยนี้ เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป นิสัยสันดานคนเปลี่ยนไปด้วย แต่ก่อนเห็นว่าการให้ทาน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ทำอะไรมุ่งประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด ให้เพื่อให้ มิใช่ให้เพื่อจะเอา เป็นการดี แต่ปัจจุบันคนที่ให้เพื่อหวังผล ให้เพื่อจะได้จะเอามีมากขึ้น เลยไม่เชื่อว่าคนประเภทที่คิดจะให้ ให้...ให้...อย่างเดียว แบบพระเวชสันดรนั้นมีจริง

ถึงจะยอมรับว่ามี ก็กลับเห็นว่าคนอย่างพระเวชสันดรนั้นใช้ไม่ได้ เป็นคนใจจืดใจดำให้ได้กระทั่งลูกเมียเป็นทาน บางรายไปไกลกว่านั้น กล่าวว่าไม่ควรนำเอาเรื่องพระเวสสันดรมาสอนเด็ก จะทำให้เด็กเห็นแก่ตัวเปล่าๆ

เออแน่ะ คนที่เห็นแก่ตัวกลับไปหาว่าคนไม่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ตัวไปได้ ประหลาดแท้ ผมใคร่ขอนำเรื่องนี้มาถกแถลงกับท่านผู้อ่าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ผิดถูกอย่างไรขอน้อมรับไว้เพียงผู้เดียว เพราะเป็นทรรศนะส่วนตัว

ก่อนอื่นขอให้ย้อนรำลึกสักนิดว่า
๑.เราอย่าเอาความรู้สึกของปุถุชนอย่างเราๆ ไปตัดสินการกระทำของพระโพธิสัตว์ (พระเวสสันดร)
๒.อย่าลืมว่าเหตุการณ์ในคัมภีร์มิได้เกิดขึ้นในยุคสังคมบริโภค ยุคที่ผู้คน "คลั่งวัตถุ" เป็นบ้าเป็นหลังอย่างปัจจุบัน "บริบท" ทางสังคมย่อมแตกต่างจากปัจจุบันนี้มาก
๓.อย่าลืมว่าการกระทำทั้งหมดเป็นการกระทำของ "พระโพธิสัตว์" ผู้มีจุดมุ่งหมายแตกต่างไปจากปุถุชนทั่วไป



ปางโปรดพุทธบิดา (๓)
พระเวสสันดร ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ตั้งปณิธานเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าถามว่า ตรัสรู้ไปทำไม ตอบว่า เพื่อจะได้ช่วยสรรพสัตว์ผู้ตกอยู่ห้วงแห่งความทุกข์ในสังสารวัฏ

พูดให้สั้นก็คือ เพื่อช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากเกิดแก่เจ็บตายอันเป็นสุดยอดแห่งความทุกข์

จากจุดนี้เป็นจุดแรก จะเห็นได้ว่า พระเวสสันดรไม่เห็นแก่ตัว ตรงกันข้ามกลับเป็นคนมีจิตใจกว้างขวาง เห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นอย่างยิ่ง

เพราะท่านต้องการช่วยคนทั้งโลกให้พ้นทุกข์

และการจะช่วยได้สำเร็จก็ต้องได้บรรลุโพธิญาณคือตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก่อน การบำเพ็ญบารมีเป็นขั้นตอนของการเตรียมพร้อมเพื่อบรรลุทานอันอุกฤษฏ์ เป็นหนึ่งในธรรมที่ต้องบำเพ็ญเพื่อให้ได้โพธิญาณนั้น

ถ้าไม่บริจาคลูกเมีย บารมีก็ไม่สมบูรณ์ ไม่มีทางได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นพระโพธิสัตว์จึงบริจาคลูกเมียให้เป็นทาน

เมื่อบริจาคลูกเมียเป็นทานแล้ว ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็สามารถช่วยได้ มิใช่เฉพาะลูกเมียของท่าน หากได้ช่วยเหลือคนทั้งโลก

การกระทำอย่างนี้แทนที่จะเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ตน กลับเป็นการเห็นแก่โลกทั้งโลก เพราะหลังจากนั้นพระเวสสันดรได้เป็นพระพุทธเจ้าได้ประกาศสัจธรรม ช่วยปลดเปลื้องสัตว์โลกจากทุกข์มากต่อมาก และได้ฝากคำสั่งสอนเป็นประทีปส่องทางชีวิตของชาวโลกทั้งปวงมาตราบเท่าทุกวันนี้

ได้นำข้อกล่าวหาว่าพระเวสสันดรเห็นแก่ตัวถึงขนาดบริจาคลูกเมียเป็นทาน เป็นคนไม่เข้าท่า ไม่เอาไหน มากล่าวในคราวก่อน พร้อมได้อธิบายว่าเป็นความเข้าใจผิด

ผิดตั้งแต่เอาเหตุผลของปุถุชนไปตัดสินการกระทำของพระโพธิสัตว์ ถึงจะเป็นปุถุชนก็มิใช่ปุถุชนธรรมดา หากเป็นปุถุชนผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อเป้าหมายอันสูงส่ง

ผิดเพราะบริบททางสังคมมันเปลี่ยนแปลงไป ค่านิยมคนเปลี่ยนไปด้วย เห็นง่ายๆ แม้กระทั่งความคิดว่า ใครเห็นแก่ตัว ใครไม่เห็นแก่ตัว เกณฑ์ตัดสินก็แตกต่างกันแล้ว

การบริจาคลูกเมียเป็นทานเพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้วจะได้ช่วยสั่งสอนสัตว์ให้ปลดเปลื้องอวิชชา ได้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอันเป็นยอดแห่งความทุกข์ เป็นจุดหมายของพระโพธิสัตว์

การกระทำอย่างนี้วิญญูชนเห็นว่าเป็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่ เป็นการกระทำที่หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งมวลพาลชน (คนตรงข้ามกับวิญญูชน) กลับมองว่านี่คือความเห็นแก่ตัวร้ายกาจ

เพราะฉะนั้น ความไม่เห็นแก่ตัว (ในสายตาของอริยะ) ก็คือความเห็นแก่ตัว (ในสายตาปุถุชน) ได้แล



ปางโปรดพุทธบิดา (จบ)
ในเรื่องพระเวสสันดรนี้ ถ้าพระเวสสันดรไม่บริจาคช้างปัจจัยนาคเป็นทานก็ไม่ต้องถูกผลักดันออกจากเมือง ปกครองบ้านเมืองเป็นสุขตามอัตภาพ ไม่มีโอกาสได้บริจาคลูกเมียเป็นทาน ท่านก็ช่วยเหลือได้เฉพาะลูกเมียของท่านและประชาชนของท่าน สิ้นพระชนม์แล้วก็จมหายไปตามกาลเวลา

อย่างนี้จะเรียกว่า พระเวสสันดรเห็นแก่ตน เห็นแก่ลูกเมียของตนและบ้านเมืองของตนก็สมควรอยู่

แต่นี่มิได้เป็นเช่นนั้นเลย จะหาว่าท่านเป็นคนเห็นแก่ตนได้อย่างไร

อนึ่ง ทุกขั้นตอนของการกระทำ พระโพธิสัตว์ทำด้วยปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบและเปี่ยมด้วยความรักต่อลูกเมียทั้งสิ้น เช่น
๑.ทรงชี้แจงให้ลูกทั้งสองเข้าใจว่า การกระทำของพ่อมิใช่เพราะไม่รักลูก หากทำด้วยความรักลูกสุดชีวิต เพราะมุ่งหวังโพธิญาณ ต้องการช่วยโลกทั้งมวล จึงต้องบริจาคลูกเป็นทานและท้ายสุดลูกทั้งสองก็เข้าใจเจตนาของพ่อ จึงยินยอมเป็น "สำเภาทอง" เพื่อนำส่งพ่อให้ "ข้ามฟาก" ในที่สุด

การบริจาคทานของพระเวสสันดรเป็นการบริจาคที่บริสุทธิ์ ทั้งผู้ให้ (พ่อ) และผู้ถูกให้ (ลูกทั้งสอง) ศรัทธาในจุดมุ่งหมายอันสูงสุดนั้นและยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย

๒.นอกจากนี้ พระเวสสันดรได้วางแผนให้ลูกทั้งสองกลับไปหา "ปู่" อย่างผู้มีปัญญาเห็นการณ์ไกลที่ท่านตั้งค่าไถ่ตัวลูกทั้งสองไว้สูงลิ่ว (ชาลีค่าตัวทองพันลิ่ม กัณหาทองร้อยลิ่ม ทาสทาสีและของมีค่าอื่นๆ อย่างละร้อย) ก็เพราะเล็งเห็นว่าคนที่มีทรัพย์มากมายจะไถ่ลูกได้ก็มีแต่พระเจ้ากรุงสีพี พระราชบิดาของตนเท่านั้น

ชูชกก็เป็นคนโลภ อยากได้เงินมากๆ ก็ต้องพาสองกุมารไปกรุงสีพีแน่นอน ซึ่งก็เป็นจริงตามคาด

๓.พอให้ลูกเป็นทาน ปุบปับก็ปรากฏพราหมณ์เฒ่าแต่งตัวดี ท่าทางภูมิฐาน โผล่มาจากไหนไม่ทันสังเกต ออกปากขอพระชายา พระโพธิสัตว์นึกในใจอยู่แล้วคงมิใช่คนธรรมดา จึงออกปากยกให้โดยไม่ลังเล ทันทีที่หลั่งน้ำบนหัตถ์พราหมณ์เฒ่า พราหมณ์เฒ่าก็กลายร่างเป็นพระอินทร์ กล่าวอนุโมทนาในทานอันอุกฤษฏ์ครั้งนี้และขอให้บรรลุโพธิญาณสมความมุ่งหมาย

จริงดังสังหรณ์ใจ ในที่สุดพระอินทร์ก็มาช่วยเป็น "สำเภาทอง" ส่งพระโพธิสัตว์ข้ามฝั่งอีกคน ดุจสองกุมารกุมารี

ถ้าถาม ทำไมคนสมัยนี้มองไม่เห็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ความกรุณาอันยิ่งใหญ่ ของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ที่มีต่อชาวโลก กลับมองเป็นการเห็นแก่ตัว เอาตัวรอดคนเดียวอะไรไปโน่น

คำตอบก็คงจะเป็นว่า เพราะใช้มาตรฐานคนละอย่าง มีวิธีคิดคนละอย่างก็ได้ อาจมที่เหม็นร้ายกาจนั้น ถึงจะมีเทวดามาบอกว่ามันเหม็น หนอนอ้วนที่ดำผุดดำว่ายอยู่นั้น มันคงไม่เห็นด้วย

เพราะมันหอมหวานจะตายไป หนอนว่าอย่างนั้น



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 ตุลาคม 2558 16:01:34 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 21 ตุลาคม 2558 15:26:24 »


ปางโปรดพระราหุล (๑)

ตอนว่าด้วยโปรดพระพุทธบิดาก็ได้พูดถึงราหุลกุมารมาบ้างแล้ว ขอต่อตรงที่เจ้าชายราหุลเดินตามพระพุทธเจ้า ปากก็พร่ำขอขุมทรัพย์ (หรือความเป็นรัชทายาท) จากพระพุทธองค์ ตามคำแนะนำของพระนางยโสธราพิมพา พระมารดา พระพุทธองค์ไม่ตรัสตอบ ยังคงเสด็จดำเนินไปเรื่อยๆ จนเสด็จกลับจากบิณฑบาต ไปยังป่าไทร (นิโครธราม) อันเป็นที่ประทับชั่วคราว นอกเมืองกบิลพัสดุ์

พระพุทธองค์ทรงดำริว่า อันธรรมดาทรัพย์ภายนอกทั้งหลายย่อมไม่ปลอดภัย อาจวิบัติฉิบหายไปเพราะโจรภัย อัคคีภัย ราชภัย เป็นต้น แต่ทรัพย์ภายในอันเป็นทรัพย์อันประเสริฐ (อริยทรัพย์) ไม่มีวันสูญหายไป จึงรับสั่งให้พระสารีบุตร อัครสาวกบวชให้ราหุลกุมาร เพราะมีทางนี้เท่านั้นที่จะประทาน "อริยทรัพย์" ให้ได้

พระสารีบุตรก็งงเหมือนกัน เนื่องจากไม่เคยมีเด็กอายุน้อยปานนี้บวชมาก่อน จึงกราบทูลถามว่า "จะให้บวชแบบไหน"

"ให้ราหุลรับไตรสรณคมน์ก็พอ" พระพุทธองค์ตรัสตอบ

ตรงนี้ทรงหมายถึง การกล่าววาจาถึงพระรัตนตรัยสามครั้งว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ พุทธัง...ธัมมัง...สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ตติยัมปิ พุทธัง...ธัมมัง...สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

เปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์แล้ว กล่าวสมาทานศีล ๑๐ ก็เป็นสามเณรโดยสมบูรณ์

สมัยก่อนโน้น ยังไม่มีการแบ่งว่าบวชแบบไหนเรียกว่า บรรพชา แบบไหนเรียกว่า อุปสมบท คงใช้คำว่า บรรพชา เหมือนกัน พระบวชก็บรรพชา เณรบวชก็บรรพชา เรียกผู้บรรพชาว่า บรรพชิต

และคำว่า บรรพชิต (ปพฺพชิต) นี้ก็มีความหมายสองนัยคือ
(๑) "ผู้เว้นหมดทุกอย่าง" คือทุกอย่างที่เคยทำ เคยประพฤติในสมัยยังครองเรือน แม้กระทั่งการกิน ก็ปรับเปลี่ยน การแต่งกายก็เปลี่ยน ตลอดจนการเรียกขาน เปลี่ยนหมด เว้นหมด ท่านจึงเรียก บรรพชิต

(๒) ความหมายที่สอง "ผู้ก้าวเดินไปข้างหน้า" หมายความว่าละเพศผู้ครองเรือนแล้ว ก็มุ่งการลดละกิเลส บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด ก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น ไม่ยอมหวนกลับมาสู่โลกียวิสัยเป็นอันขาด

เมื่อมีเด็กอายุน้อยมาบวชดังกรณีราหุลกุมารนี้ การใช้คำจึงต้องเปลี่ยน เรียกการบวชเณรว่า บรรพชา เรียกการบวชพระว่า อุปสมบท นี้คือความเป็นมาของถ้อยคำ



ปางโปรดพระราหุล (๒)

ที่บางครั้ง เรียกการบวชว่า บรรพชาอุปสมบท ทั้งสองคำนั้น ก็เพราะผู้บวชเป็นพระต้องผ่านการบวชเณรก่อนอยู่ดี ท่านจึงเรียกพร้อมกันสองคำว่า บรรพชาอุปสมบท แต่จะเรียกว่าอุปสมบทคำเดียวโดดๆ ก็ย่อมได้

เมื่อ "พระลูกชาย" เสด็จออกผนวช พระเจ้าสุทโธทนะ ก็ทรงเสียพระทัยมากแล้ว ทรงตั้งความหวังไว้ว่า ราหุล กุมารนี้แลจะเป็นตัวแทนพระบิดา แต่เมื่อราหุลกุมารถูกพระบิดานำไปบวชอีก พระองค์ย่อมทรงเศร้าโศกเสียพระทัยอย่างสุดซึ้ง ถึงต้องเสด็จไปต่อว่าต่อขานพระพุทธองค์ขนานใหญ่ ในที่สุดได้ทูลขอพรว่า ต่อไปจะให้ใครบวช ขอให้เขาผู้นั้นได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน พระพุทธองค์ก็ทรงประทานอนุญาตตามนั้น

ในพิธีอุปสมบทในเวลาต่อมา จึงมีการซักถามจากพระคู่สวดว่า อนุญฺญาโตสิ มาตาปิตูหิ = เธอได้รับอนุญาตจากบิดา มารดาแล้วหรือ นาค หรือผู้ขอบวชจะต้องตอบว่า อามะ ภันเต = ขออนุญาตแล้ว ขอรับ

ปัจจุบันนี้ เพิ่มภรรยาเข้าด้วย ภรรยาต้องอนุญาตด้วย ไม่อย่างนั้นเกิดเรื่องใหญ่แน่นอน เผลอๆ โบสถ์จะพังเอาไม่รู้ด้วย ยิ่งถ้ามีหลายบ้าน ก็ต้องจัดการให้เรียบร้อยทุกบ้าน

ราหุลสามเณรหลังจากบวชแล้ว ก็ตามเสด็จพระพุทธเจ้าและพระอุปัชฌาย์ไปยังเมืองอื่น เช่น ไพศาลี และสาวัตถี

ท่านเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย และเป็นผู้ใฝ่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง คุณสมบัติข้อนี้เองที่ท่านได้รับการยกย่องในเอตทัคคะ (ความเป็น ผู้เลิศกว่าผู้อื่น)

ว่ากันว่าทุกเช้า ท่านจะลงจากกุฏิ เอามือกอบทรายแล้วอธิษฐานดังๆ ว่า "วันนี้ ขอให้พระศาสดาและพระอุปัชฌาย์ประทานโอวาทแก่เรา มากมายดุจเมล็ดทรายในกำมือของเรานี้เถิด"

ความว่านอนสอนง่าย ไม่ถือตัวว่าเป็น "ลูก" ของพระศาสดานั้นเป็นที่รู้กันไปทั่ว ครั้งหนึ่งพระจากต่างจังหวัดจำนวนมาก มาพักที่พระเชตวัน เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อที่พักไม่พอ จึงไล่สามเณรราหุลออกไปนอนข้างนอก เพราะมีสิกขาบทบัญญัติไว้ว่า "ห้ามภิกษุนอนในที่มุงที่บังเดียวกับอนุปสัมบันเกินหนึ่งคืน"

ราหุลไม่ทราบว่าจะไปอยู่ที่ไหน จึงไปอยู่ในวัจกุฎี (ส้วม) ของพระพุทธเจ้า นั่งตัวสั่นงันงกอยู่ท่ามกลางความมืด ตกดึก พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปยังวัจกุฎี ทรงกระแอมกระไอให้สัญญาณ ราหุลน้อยก็กระแอมตอบ พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องเข้า จึงพาราหุลน้อยกลับไปพำนักที่พระคันธกุฎีของพระพุทธองค์

รุ่งเช้าขึ้นมา พระองค์ตรัสถามพระสารีบุตรว่า สารีบุตร เธอรู้ไหมเมื่อคืนนี้ราหุลพักอยู่ที่ไหน พระสารีบุตรกราบทูลว่า ไม่ทราบพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธองค์จึงทรงเล่าเรื่องให้ฟัง เนื่องด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงลดหย่อนสิกขาบท ข้อห้ามภิกษุพักในที่มุงที่บังเดียวกันกับอนุปสัมบันเกินครึ่งคืน ให้เป็นเวลาไม่เกินสามคืน เพื่อให้มีเวลาหาที่พักได้ทัน

เรื่องราวที่เล่านี้ ชี้ว่าราหุลสามเณรเป็นผู้ว่าง่าย เคารพพระสงฆ์ พระจากบ้านนอก ย่อมไม่รู้ว่าสามเณรน้อยรูปนี้เป็นใคร ถ้าราหุลท่านถือตัว ท่านบอกว่า ท่านคือราหุล พระโอรสของพระบรมศาสดา พระเหล่านั้นคงไม่กล้าออกปากไล่ท่านแน่นอน แต่เพราะความเป็นผู้เคารพในสงฆ์ และเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ราหุลจึงไม่ปริปากแต่อย่างใด ปฏิบัติตามคำสั่งของพระภิกษุเหล่านั้นอย่างว่าง่าย

สามเณรราหุลได้รับคำแนะนำในด้านการปฏิบัติธรรมจากพระพุทธเจ้าเป็นพิเศษ เนื่องจากท่านเป็นเด็กธรรมะที่สอนและวิธีการถ่ายทอดแก่ราหุลจึงมีลักษณะและจุดเน้นแตกต่างจากที่ทรงสอนแก่บุคคลทั่วไป ในพระไตรปิฎกมีบันทึกพระสูตรที่ตรัสสอนแก่ราหุลสามเณร สองหรือสามสูตร เนื้อหาน่าสนใจ ขอนำมาเสนอในคราวต่อไปก็แล้วกัน

วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อน  



ปางโปรดพระราหุล (๓)

ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า พระสูตรที่ทรงแสดงแก่พุทธบริษัทนั้น ส่วนมากเป็นการแสดงแก่ผู้ใหญ่ทั้งนั้น น้อยนักจะเป็นการเทศน์โปรดเด็กๆ โดยเฉพาะเมื่ออยากรู้ว่าทรงแสดงอะไร อย่างไร แก่เด็กๆ ก็นึกถึงสามเณรราหุลขึ้นมาทันที สามเณรราหุลบวชเมื่ออายุเพียง ๗ ขวบ ธรรมะที่ทรงแสดงแก่ราหุลสามเณร ย่อมพิเศษกว่าที่ทรงแสดงแก่ผู้อื่นแน่นอน จึงตามไปเปิดตู้พระไตรปิฎกดู ปรากฏมี จูฬราหุโลวาทสูตร มหาราหุโลวาทสูตร ได้การละ ผมคิด จึงตะลุยอ่าน อ่านแล้วก็ได้ความกระจ่างขึ้นมามากมาย ขอขยายภายหลังก็แล้วกัน

ตอนนี้ขอเล่าพระโอวาทที่ทรงสอนเด็กจากคัมภีร์รุ่นหลัง คืออรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) ก่อน มีอยู่เรื่องหนึ่ง พระพุทธองค์กำลังเสด็จพุทธดำเนินเข้าไปยังเมืองสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ในระหว่างทางทอดพระเนตรเห็นเด็กเล็กๆ จำนวนหนึ่งกำลังไล่ตีงูอยู่ จึงตรัสถามว่า เด็กน้อยทั้งหลายพวกเธอกำลังทำอะไร

"ไล่ตีงู พระเจ้าข้า" เด็กพวกนี้คงรู้จักพระพุทธเจ้าเป็นใคร จึงวางไม้และก้อนดิน ยืนเจี๋ยมเจี้ยมด้วยความเขินอาย
"ตีมันทำไม" พระสุรเสียงกังวานตามมาอีก
"กลัวมันกัด พระเจ้าข้า"เด็กๆ ตอบ

พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า "สมมติว่ามีใครตีพวกเธอ พวกเธอเจ็บไหม"
"เจ็บ พระเจ้าข้า"
"พวกเธออยากให้เขาตีไหม"
"ไม่อยาก พระเจ้าข้า" พวกเด็กๆ ตอบ

พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า "งูมันก็เจ็บเหมือนกัน ไม่อยากให้ใครตีมันเหมือนกัน ถ้าเธอไม่อยากให้ใครตีพวกเธอ พวกเธอก็อย่าตีงูมันสิจ๊ะ"

เด็กๆ พวกนั้นเข้าใจที่พระพุทธองค์สอน ไม่ตีงูอีกต่อไป

อ่านเรื่องนี้แล้ว เห็นได้ว่า วิธีทรงสอนเด็กนั้น ทรงยกตัวอย่างง่ายๆ ใช้คำพูดที่ตรงไปตรงมา เด็กเข้าใจในการสอน สามเณรราหุลก็เช่นกัน พระองค์ทรงสอนง่ายๆ โดยการใช้สื่อช่วย และสื่อที่ว่านี้ก็หาเอาใกล้ตัวนั่นเอง

ครั้งหนึ่ง ขณะที่ราหุลสามเณรตักน้ำล้างพระบาท พระพุทธองค์ทรงเอาขันน้ำนั้นตักน้ำเต็มขัน ทรงเทน้ำออกหน่อยหนึ่งแล้วตรัสถามว่า
"ราหุล เห็นน้ำที่เราเทออกหน่อยหนึ่งไหม"
"เห็น พระเจ้าข้า" ราหุลตอบ
"เช่นเดียวกัน ราหุล ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมเทคุณความดีของตนออกทีละนิด ดุจเทน้ำออกจากขันนี้"

ทรงเทน้ำออกหมดแล้วตรัสถามว่า "เห็นน้ำที่เราเทออกหมดไหม"



ปางโปรดพระราหุล (จบ)

"เห็น พระเจ้าข้า"
"เช่นเดียวกันราหุล ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมเทคุณความดีออกหมด ดุจน้ำที่เทออกจากขันหมดนี้" แล้วทรงคว่ำขันลง ตรัสถามว่า

"ราหุล เห็นขันน้ำที่เราคว่ำลงนี้ไหม"
"เห็น พระเจ้าข้า"
"เช่นเดียวกันราหุล ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมคว่ำคุณความดีหมดเกลี้ยง ดุจขันน้ำที่คว่ำนี้" แล้วทรงหงายขันเปล่าขึ้น ตรัสถามว่า
"ราหุล เห็นขันเปล่าที่หงายขึ้นนี้ไหม ไม่มีน้ำแม้หยดเดียว"
"เห็น พระเจ้าข้า"
"เช่นเดียวกันราหุล ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมไม่มีคุณความดีอะไรเหลืออยู่ ดุจขันเปล่าไร้น้ำนี้"

เห็นไหมครับ ทรงใช้สื่อช่วยสอน เป็นขั้นเป็นตอน เข้าใจแจ่มแจ้งแดงแจ๋จริงๆ ความจริงเพียงหนึ่งหรือสองขั้นตอน ก็เชื่อว่าราหุลท่านเข้าใจแล้ว แต่เพื่อให้กระจ่างชัด พระองค์จึงทรงแสดงถึงสี่ขั้นตอน เทน้ำลงหน่อยหนึ่ง - เทออกหมด - คว่ำขันลง - หงายขันเปล่าขึ้น แต่ละขั้นตอนก็สรุปเปรียบเทียบให้เห็น อย่างนี้เรียกว่า ทรงใช้เทคนิคการสอน ๔ ส. อันเป็นพุทธวิธีการสอนเฉพาะพระองค์

๔ ส. คืออะไร
๑. ส. = สันทัสสนา (แจ่มชัด)
๒. ส. = สมาทปนา (ชักชวนให้ปฏิบัติ)
๓. ส. = สมุตเตชนา (เร้าให้กล้า)
๔. ส. = สัมปหังสนา (ปลุกให้ร่าเริง)

พระธรรมเทศนาอีกกัณฑ์หนึ่งที่ประทานสามเณรราหุล คือ ให้ตรวจสอบว่ามีความบกพร่องแห่งการแสดงออกทางกาย วาจา ใจ อย่างไรบ้าง จะได้ปรับปรุงแก้ไข ทรงยกแว่นส่องหน้าขึ้นมาเปรียบเทียบ ดังนี้

"ราหุล แว่นมีไว้สำหรับทำอะไร"
"มีไว้สำหรับส่องดูหน้าตัวเอง พระเจ้าข้า"
"เช่นเดียวกัน ราหุล เธอพึงส่องดูกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ดุจส่องหน้าตัวเอง" ข้อเปรียบเทียบนี้ชัดเจน ฟังแล้วเข้าใจทันที

เมื่อราหุลเป็นหนุ่ม อายุประมาณ ๑๘ ปี พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนให้พิจารณาขันธ์ ๕ โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ราหุลสดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุพระอรหัต


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 สิงหาคม 2559 14:29:57 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2558 19:50:00 »



ภาพจาก : เว็บไซต์ bangkrod.blogspot.com
ปางโปรดพระนันทะ (๑)

นันทกุมาร เป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของพระพุทธเจ้า คือท่านเป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระแม่น้าของพระพุทธองค์ นันทกุมารมีกนิษฐานามว่า รูปนันทา ต่อมา รูปนันทาก็ไปบวชเป็นภิกษุณี

ในวันที่ ๕ หลังจากเสด็จนิวัตพระนครกบิลพัสดุ์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปในงานอาวาหมงคลของเจ้าชาย นันทะกับพระนางชนบทกัลยาณี เสวยภัตตาหาร ประทานอนุโมทนาแล้ว ขณะจะเสด็จกลับนิโครธาราม ก็ประทานบาตรให้นันทกุมารถือตามเสด็จ

ขณะนันทกุมารอุ้มบาตรตามเสด็จ พระนางชนบทกัลยาณีร้องสั่งว่า "เสด็จพี่รีบกลับมานะ" ตั้งใจว่าส่งเสด็จพระพุทธองค์แล้วก็จะรีบกลับ แต่พอไปถึงนิโครธาราม พระพุทธองค์หันมาตรัสถามว่า "นันทะ เธออยากบวชใช่ไหม"

เล่นตรัสถามแบบไม่มีทางปฏิเสธอย่างนี้ นันทกุมารก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร นอกจาก Yes Sir ด้วยความเกรงพระทัย ว่าแล้วพระองค์ก็ประทานการอุปสมบทให้นันทกุมารพระอนุชาทันที เป็นเจ้าบ่าวหมาดๆ ยังไม่ทันได้ส่งตัว บัดนี้กลายเป็นพระภิกษุหนุ่มเสียแล้ว

ตำราอรรถกถาเล่าว่า หลังจากพระนันทะบวชแล้ว จิตใจว้าวุ่น ไม่เป็นอันปฏิบัติธรรม หูก็แว่วเสียงสั่งของชายาว่า เสด็จพี่ให้รีบกลับมานะ ตลอดเวลา ก็น่าเห็นใจคนกำลังแต่งงานใหม่ๆ ถูกจับบวชเสียนี่ พระพุทธองค์ก็ทรงทราบความเป็นไปดี แต่ก็ปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปสักเล็กน้อย วันหนึ่งเสด็จไปหาพระนันทะ ตรัสถามว่า "นันทะ เธอยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่หรือ"

พระนันทะก็กราบทูลตามตรงว่า ไม่มีกะจิตกะใจปฏิบัติธรรมเลย เพราะคิดถึงแต่พระชายาที่เพิ่งเข้าพิธีอภิเษกสมรส พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า "ชนบทกัลยาณี ชายาของเธอ สวยมากนักหรือ จึงคิดถึงเหลือเกิน"

"สวยมาก พระเจ้าข้า ไม่มีนางใดสวยเท่าอีกแล้ว" เป็นใครก็ต้องตอบอย่างนี้ (ยกเว้นแต่งงานไปนานๆ นั่นแหละ คำตอบอาจจะเปลี่ยนไป)

ขณะนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงบันดาลฤทธิ์ จับแขนพระนันทะแล้วพาเหาะลิ่วๆ ขึ้นท้องนภากาศ ไปยังดาวดึงส์สวรรค์ ระหว่างทางทรงชี้ให้ดูกาดำจับอยู่ที่ตอไม้ซึ่งถูกไฟไหม้ เมื่อถึงสวรรค์ก็ปรากฏมีนางเทพอัปสรจำนวนมาก ล้วนรูปร่างสวยงาม สุดจะพรรณนาได้ ทำให้ภิกษุหนุ่มแลตะลึงลานด้วยความอัศจรรย์ใจ

พระพุทธองค์ทรงทราบความในใจของพระภิกษุหนุ่มดี จึงตรัสถามว่า "นางอัปสรเหล่านี้สวยไหม นันทะ"
"สวยมากพระเจ้าข้า" กราบทูลไปตาก็ชำเลืองแลนางฟ้าเหล่านั้นไป



ปางโปรดพระนันทะ (จบ)

"เทียบกับชายาของเธอ เป็นอย่างไร ใครสวยกว่ากัน" ตรัสถาม

"เทียบกันไม่ได้เลย พระเจ้าข้า นางอัปสรเหล่านี้สวยกว่าชนบทกัลยาณีมาก ถ้านางมาอยู่ต่อหน้านางอัปสรเหล่านี้ นางคงเหมือนกาดำตัวที่จับอยู่ตอไม้ที่ผ่านมาเท่านั้นเอง" (ไหมล่ะ พอเห็นคนใหม่สวยกว่า ทำเป็นลืมคนเก่าเสียแล้ว)

"เธออยากได้นางเหล่านี้ไหม" พระสุรเสียงรับสั่งถาม
"อยากได้ พระเจ้าข้า" พระหนุ่มกระซิบตอบ
"ถ้าอย่างนั้น กลับวัด เราตถาคตจะบอกวิธีที่จะให้ได้นางเหล่านี้"

ว่าแล้วก็จับแขนพระอนุชา เหาะลิ่วๆ กลับมายังพระวิหารที่ประทับ

พระพุทธองค์ประทานกรรมฐานให้พระภิกษุหนุ่มปฏิบัติ แต่มิได้ตรัสบอกตรงๆ พระหนุ่มก็นึกว่าปฏิบัติอย่างนี้คือวิธีที่จะได้นางฟ้ามาครอง จึงขะมักเขม้นฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง ลืมนึกถึงพระชายาคนงามเสียแล้วละครับ

ข่าวพระนันทะปฏิบัติธรรมเพื่อแลกนางฟ้าก็แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยต่างก็วิพากษ์วิจารณ์กัน เห็นพระนันทะเดินผ่านไป ก็จะกระซิบกระซาบ "นั่นไง พระนันทะปฏิบัติธรรมแลกนางฟ้า จวนจะได้สักนางหรือยัง"

ภิกษุหนุ่มไม่สนใจใครจะว่าอย่างไร ยังคงตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำแนะนำของพระพุทธองค์ ในไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ (คำหลังนี้มาจาก ขีณาสโว = ผู้มีอาสวะอันสิ้นแล้ว คือหมดอาสวะ อาสวะคืออะไร อาสวะคือกิเลส กิเลสคืออะไร แล้วกัน ถามอะไรละเอียดนัก ไม่รู้อะไรสักอย่างเลยหรือ ฮิฮิ)

วันหนึ่ง ภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยทั้งหลายพบท่านนันทะ จึงกระเซ้า (เหมือนเดิม) ว่า "ว่าไงท่านนันทะ ใกล้จะได้นางฟ้าหรือยัง"

ภิกษุหนุ่มตอบอย่างสงบว่า "เดี๋ยวนี้ ผมไม่ปรารถนาอะไรแล้ว ไม่ว่านางฟ้าหรือนางอะไร ผมหมดความยินดีอยากได้นั่นอยากได้นี่แล้ว"

คำพูดอย่างนี้มิใช่มีความหมายธรรมดาเสียแล้ว แสดงว่าผู้พูดจะต้องบรรลุคุณวิเศษสูงสุด (คือพระอรหัตผล) แน่นอน เหล่าภิกษุทั้งหลายได้ยินเข้า ก็เข้าใจว่าพระนันทะอวดอุตริมนุสธรรม อวดว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จึงพากันไปกราบทูลพระพุทธเจ้า (เรียกว่าไปฟ้องจึงจะถูก พระสมัยโน้นก็ฟ้องเก่งเหมือนกัน) ว่า พระนันทะอวดอ้างตนได้บรรลุพระอรหัตผล

พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าพระนันทะได้ปฏิบัติก้าวหน้าไปถึงไหน จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย นันทะมิได้อวดอ้าง สิ่งที่นันทะพูดนั้นเป็นความจริงทุกประการ

พระพุทธองค์ได้ใช้เทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสมแก่อุปนิสัยของพระนันทะ สอนเธอจนได้บรรลุจุดหมายสูงสุดแห่งชีวิตแล้วด้วยประการฉะนี้ เทคนิคนี้อาจเรียกว่า กุศโลบาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คงไม่มีใครพิเรนทร์คิดว่าพระพุทธเจ้าทรงหลอกพระนันทะแน่นอน





ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ (๑)
ว่ากันว่าหลังประกาศพระพุทธศาสนาได้ ๖-๗ ปี พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลาย ประชาชนทุกชั้นวรรณะเลื่อมใสและเข้ามาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้ามากขึ้นตามลำดับ สถาบันพระพุทธศาสนาอันประกอบด้วยพุทธบริษัทสี่ เกิดขึ้นและเป็นไปด้วยความมั่นคง

ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาย้ายจากเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มาอยู่ที่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล อันมีพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเป็นพระประมุข พระเจ้าปเสนทิโกศลเองก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ถวายความอุปถัมภ์แก่พระพุทธศาสนาอย่างแข็งแรง

ในสังคมชมพูทวีปสมัยนั้น มิใช่มีเพียงพระพุทธศาสนาเท่านั้น ศาสนาอื่นที่มีอยู่ก่อนและมีผู้นับถือจำนวนมากก็มีศาสนาพราหมณ์ (ต่อมาเรียกศาสนาฮินดู) และศาสนาเชน (ศาสนาของมหาวีระ หรือ นิครนถ์ นาฏบุตร) เมื่อพระพุทธศาสนาได้รับความเอาใจใส่จากพระราชามหากษัตริย์เป็นพิเศษ พวกเขาก็ย่อมจะอิจฉาตาร้อนเป็นธรรมดา นี้คือเรื่องธรรมดาของมนุษย์

บังเอิญในช่วงนี้ เศรษฐีชาวเมืองสาวัตถีท่านหนึ่งได้บาตรไม้จันทน์มาลูกหนึ่ง เศรษฐีแกคิดอยากพิสูจน์อะไรสักอย่าง คงจะเป็นด้วยว่าเรื่องที่ว่านี้กำลังเป็นฮอตอิสชุ (hot issue) ในสมัยนั้นก็ได้ นั่นก็คือ ข่าวลือเรื่องพระอรหันต์ทรงอภิญญา บ้างก็ว่าพระคุณเจ้ารูปนั้นเป็นพระอรหันต์มีอิทธิฤทธิ์ บ้างก็ว่าพระคุณเจ้าวัดโน้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา ไม่ต่างอะไรกับที่ลือกันในเมืองไทยปัจจุบันนี้แหละครับ

เศรษฐีจึงเอาบาตรไม้จันทน์ไปแขวนไว้กลางอากาศ วิธีของแกก็คือเอาบาตรครอบไว้บนปลายไม้ ยกขึ้นตั้งไว้สูงเท่าลำตาล แล้วประกาศทั่วเมืองว่า "ได้ยินว่ามีผู้อ้างว่าเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญามากมาย ถ้ามีจริงก็ขอให้เหาะมาเอาบาตรของข้าพเจ้าภายในเจ็ดวัน ถ้าเลยเจ็ดวันแล้วไม่มีใครเหาะมาเอาได้ข้าพเจ้าจะถือว่าไม่มีพระอรหันต์ทรงอภิญญา"

ตำราอรรถกถาเล่าเรื่องออกจะไม่ให้เกียรติศาสนาอื่นนิดหน่อยว่า พวกเดียรถีย์ (ลัทธิศาสนาอื่นจากพระพุทธศาสนา เน้นพวกนิครนถ์) อยากได้บาตรไม้จันทน์ก็พากันมายังนิเวศสถานของเศรษฐี ขอให้ถวายบาตรแก่พวกเขา เศรษฐีกล่าวว่า

"ถ้าท่านมีฤทธิ์เหาะไปเอาได้ กระผมถวายแน่นอน นิมนต์เหาะไปเอาเถิด"

"ท่านเศรษฐี ธรรมดาว่าอิทธิปาฏิหาริย์ เขาไม่สำแดงเพราะเรื่องเล็กน้อยอย่างนี้ จะสำแดงก็ต่อเมื่อเรื่องใหญ่ๆ บาตรลูกนี้เหมาะแก่อาตมภาพ ขอให้แก่อาตมภาพเถิด" หัวหน้าเดียรถีย์อ้อน พอๆ กับอ้อนให้เขาเซ็นเช็กเงินล้านสร้างพระประดับเจดีย์ ทำนองนั้น

"กระผมประกาศแล้วว่าจะถวายแก่ท่านผู้ใดก็ได้ที่สามารถเหาะไปเอา ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขนี้ก็ถวายไม่ได้" เศรษฐียืนยัน


ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ (๒)
หัวหน้าเดียรถีย์ จึงขยับขากางแขนทั้งสองออก ร้องว่า "ถ้าเช่นนั้นอาตมภาพก็จะเหาะไปเอาละ เอาละนะ..."

ทันใดนั้นบรรดาลูกศิษย์อยู่ข้างๆ ก็เข้ามากอดแข้งกอดขา พลางร้องห้ามว่า "ท่านอาจารย์ แค่บาตรลูกเดียว ไม่จำต้องสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์อะไรก็ได้ เอาไว้สำแดงเฉพาะกรณีสำคัญๆ ดีกว่า"

เมื่อเห็นบรรดาลูกศิษย์กอดแข้งกอดขาแน่นหนา หัวหน้าเดียรถีย์จึงกล่าวกับเศรษฐีว่า "ท่านเศรษฐี ลูกศิษย์ไม่ยอมให้อาตมภาพสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ ท่านจงเอาบาตรมาให้อาตมภาพเถิด"

เศรษฐีกล่าวว่า "ให้ไม่ได้ เมื่อท่านไม่สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์เหาะไปเอา ก็ไม่มีสิทธิ์ได้"

เป็นอันว่าบาตรที่แขวนอยู่บนอากาศก็ยังคงแขวนอยู่ ล่วงเข้าวันที่ ๗ แล้ว ยังไม่มีอรหันต์รูปใดเหาะไปเอาเลย ประชาชนก็โจษจันกันไปทั่วว่า มีแต่ราคาคุย เอาจริงๆ แล้ว ไม่ปรากฏมีพระอรหันต์ทรงอภิญญาสักองค์เลย

เช้าวันนั้นพระโมคคัลลานะ กับพระปิณโฑละ ภารทวาชะ ออกไปบิณฑบาตในเมือง ได้ยินประชาชนพูดในทำนองดูหมิ่นว่าไม่มีผู้ทรงอภิญญาจริง ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงบอกท่านปิณโฑละว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ประชาชนกำลังดูหมิ่นว่าไม่มีพระอรหันต์ทรงอภิญญา ขอนิมนต์ท่านสำแดงให้เขาหายสงสัยทีเถิด"

พระปิณโฑละ ภารทวาชะ จึงเข้าฌานสมาบัติ เหาะไปเอาบาตรไม้จันทน์นั้นลงมา เศรษฐีเห็นดังนั้นก็มีความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง นิมนต์ท่านขึ้นไปฉันภัตตาหารบนคฤหาสน์ เสร็จแล้วก็อุ้มบาตรตามไปส่งท่านที่พระเชตวัน ท่ามกลางเสียงอื้ออึงของ "แขกมุง" จำนวนมาก

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระคันธกุฎี ทรงสดับเสียงอื้ออึง จึงตรัสถามพระอานนท์ ทรงทราบความแล้ว แทนที่จะทรงสรรเสริญ กลับทรงตำหนิการกระทำของท่านปิณโฑละ พระองค์ตรัสเรียกท่านเข้าไปยังประชุมสงฆ์ ตรัสตำหนิว่า การสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์เพียงเพราะบาตรลูกเดียวเป็นการสำแดงเพื่อลาภสักการะ ไม่เหมาะไม่ควรที่สมณศากยบุตรจะพึงกระทำ ไม่ต่างอะไรกับหญิงโสเภณีเปิดอวัยวะของตนเองเพื่อแลกเงินและทองฉะนั้น

คำเปรียบเทียบนี้แรงเอาการทีเดียว จากเหตุการณ์ครั้งนี้เอง พระพุทธองค์ทรงห้ามสาวกของพระองค์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ในเวลาต่อมา

พวกเดียรถีย์ทราบข่าว ก็เรียกประชุมกันวางแผนเล่นงานพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายทันที

"ได้ทราบว่า พระสมณโคดม ห้ามสาวกแสดงปาฏิหาริย์ ก็เท่ากับห้ามตัวเองด้วย เป็นโอกาสของพวกเราจะปฏิบัติการเชิงรุก (ฮั่นแน่ ใช้คำทันสมัยเสียด้วย) พวกเราต้องประกาศไปเลยว่า จะท้าพระสมณโคดมแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แข่งกัน ที่ไหน เมื่อไร อย่างไรก็ได้ ไม่เกี่ยง เมื่อพวกเราประกาศออกไป พระสมณโคดมก็ไม่สามารถสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ พวกเราก็ได้ทีประกาศชัยชนะแบบไร้คู่แข่ง ทีนี้พระศาสนาของเราก็จะปรากฏเกียรติคุณขจรขจายไปทั่วโลก

ครับเมื่อวางแผนอะไร ก็มักจะฟังดูหรูหราเป็นธรรมดา แต่ผลจะเป็นดังคาดหวังหรือไม่ต้องรอดูกันตอนหน้าเสียแล้วละครับ



ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ (๓)
เมื่อข่าวพระพุทธเจ้าทรงห้ามพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์แพร่ไปถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ทรงร้อนพระทัย เสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ทรงปรารภว่า จะอย่างไรละทีนี้

"ทำอะไรดี หมายถึงอะไร มหาบพิตร" พระพุทธองค์มีกระแสรับสั่งถาม
"พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงห้ามพระสาวกแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แล้ว พวกเดียรถีย์ประกาศท้าทายพระองค์แสดงแข่งกับพวกเขา พระองค์จะทรงทำอย่างไร"
"ตถาคตก็แสดงเองสิ มหาบพิตร" พระพุทธองค์รับสั่ง
"ก็พระผู้มีพระภาค ทรงห้ามพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์แล้ว พระผู้มีพระภาคก็แสดงไม่ได้มิใช่หรือ"

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า
"มหาบพิตร สมมติว่า มีคนมาเอาผลมะม่วงจากพระราชอุทยานของพระองค์ไปกิน มหาบพิตรจะทำอย่างไร"
"ข้าพระองค์ก็จะทำโทษเขา ฐานขโมยมะม่วงของข้าพระองค์"
"ถ้ามหาบพิตรเอามาเสวยเอง มหาบพิตรจะทำโทษพระองค์เองไหม"
"ไม่ พระเจ้าข้า เพราะข้าพระองค์เป็นเจ้าของสวนมะม่วง ย่อมมีสิทธิ์กินมะม่วงตามปรารถนา"
"ฉันใดก็ฉันนั้นแล มหาบพิตร ตถาคตห้ามสาวกแสดงปาฏิหาริย์ มิได้หมายความว่าตถาคตห้ามตนเอง เพราะตถาคตเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ดุจเดียวกับเจ้าของสวนมะม่วงเก็บผลมะม่วงกินตามปรารถนา ฉะนั้น"

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบดังนั้น ก็เบาพระทัย ทูลถามอีกว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงปาฏิหาริย์ ณ ที่ไหน"
"ณ ต้นมะม่วงใหญ่ ในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ มหาบพิตร"

เหล่าเดียรถีย์ ได้ทราบว่าพระพุทธองค์จะทรงแสดงปาฏิหาริย์ ใต้ต้นมะม่วงใหญ่ต้นหนึ่งนอกเมือง พากันไปโค่นต้นมะม่วงจนหมด (ไม่ถูกจับ ฐานโค่นต้นไม้ทำลายป่าหรืออย่างไร ไม่ทราบ) คิดตื้นๆ ว่า เมื่อไม่มีต้นมะม่วง แล้วพระสมณโคดมจะแสดงปาฏิหาริย์ได้อย่างไร

คิดผิดครับ ปาฏิหาริย์คือปาฏิหาริย์ เมื่อพระองค์ตรัสว่าจะทรงแสดงปาฏิหาริย์ ณ บริเวณต้นมะม่วง ก็ย่อมจะมีต้นมะม่วงขึ้นมา ด้วยปาฏิหาริย์จนได้

เช้าวันที่กำหนด พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมือง เสด็จออกมาสวนทางกับนายคัณฑะ คนเฝ้าอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล นายคัณฑะได้มะม่วงผลใหญ่พิเศษผลหนึ่ง ตั้งใจจะนำไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อพบพระพุทธเจ้าก็เปลี่ยนใจนำเอาไปถวายพระองค์



ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ (จบ)
พระพุทธองค์เสวยมะม่วงผลนั้นแล้ว ทรงเอาเมล็ดเพาะลงในดิน เอาน้ำล้างพระหัตถ์รด ทันใดนั้น เมล็ดมะม่วงนั้นก็ค่อยงอกขึ้นๆ เป็นลำต้นโตขึ้นตามลำดับ แผ่กิ่งก้านสาขา มีดอกมีผลภายในไม่กี่นาที เป็นที่มหัศจรรย์

เมื่อได้เวลา พระพุทธเจ้าก็เสด็จมายังบริเวณต้นมะม่วงใหญ่ ทรงเนรมิตที่จงกรมแก้วเหนือต้นมะม่วง เสด็จขึ้นประทับนั่งยังจงกรมแก้ว ทรงบันดาลปาฏิหาริย์ให้บังเกิดท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง และท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง และท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระกรรณข้างขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระกรรณข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากพระกรรณ ข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระกรรณข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากช่องพระนาสิกข้างขวา สายน้ำ พุ่งออกจากช่องพระนาสิกข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออก จากช่องพระนาสิกข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระนาสิกข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากจะงอยพระอังสะข้างขวา สายน้ำพุ่งออกจากจะงอยพระอังสะข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากจะงอยพระอังสะข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากจะงอยพระอังสะข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระหัตถ์ข้างขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระหัตถ์ข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากพระหัตถ์ข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระหัตถ์ข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระปรัศว์ (สีข้าง) เบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระปรัศว์เบื้องซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากพระปรัศว์เบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระปรัศว์เบื้องขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากนิ้วพระหัตถ์ข้างขวา สายน้ำพุ่งออกจากนิ้วพระหัตถ์ข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากนิ้วพระหัตถ์ข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากนิ้วพระหัตถ์ข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากเส้นพระโลมาเส้นหนึ่ง สายน้ำพุ่งออกจากเส้นพระโลมาเส้นหนึ่ง เป็นคู่ๆ สลับกันทั่วพระวรกาย มีสีสันต่างๆ สลับกัน ๖ สี คือ สีเขียว เหลือง แดง ขาว หงสบาท และประภัสสร

เมื่อสีออกจากแสงไฟ ซึ่งพุ่งมากระทบน้ำ ก็ทำสายน้ำให้มีสีต่างๆ ไปตามสีไฟ สลับกันไปมาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ทั้งท่อไฟสายน้ำที่พุ่งออกมาก็ไปไกล ทำให้ท้องนภากาศสว่างไสวเห็นกันทั่วทุกทิศ

จากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิตขึ้นอีกพระองค์หนึ่ง มีพระรูปโฉมโนมพรรณคล้ายองค์จริงทุกประการ ทรงกระทำพระอาการสลับกันโดยตลอดคือ

พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรม พระพุทธนิรมิตทรงยืน พระพุทธนิรมิตเสด็จจงกรม พระพุทธเจ้าทรงยืน เป็นคู่หนึ่ง

พระพุทธเจ้าประทับ (นั่ง) พระพุทธนิรมิตทรงสำเร็จสีหไสยา (นอนตะแคงขวา) พระพุทธนิรมิตประทับ พระพุทธเจ้าทรงสำเร็จสีหไสยา เป็นคู่หนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสถาม พระพุทธนิรมิตตรัสตอบ พระพุทธนิรมิตตรัสถาม พระพุทธเจ้าตรัสตอบ เป็นคู่หนึ่ง

นี้แลเรียกยมกปาฏิหาริย์ เป็นที่ชื่นชมมหัศจรรย์ของประชาชนผู้เฝ้าดูเป็นอย่างยิ่ง เหล่าเดียรถีย์เห็นพุทธานุภาพเช่นนั้น ต่างก็พากันหลบลี้หนีไป ไม่กล้าอยู่ให้ขายหน้าประชาชนต่อไป ด้วยประการฉะนี้แล


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 พฤศจิกายน 2558 11:40:01 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #19 เมื่อ: 24 พฤศจิกายน 2558 12:51:17 »

.



ปางโปรดพุทธมารดา (๑)
พุทธมารดา ที่ถูกต้องเรียกว่า อดีตพุทธมารดา เพราะพระนางสิริมหามายาได้สวรรคตไปอุบัติเป็นเทพแล้ว เมื่อพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปโปรดเหล่าเทพยดาบนดาวดึงส์ อันมีท้าวสักกเทวราชเป็นประมุขนั้น สันดุสิตเทพบุตรซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นสูงขึ้นไป ได้ลงมาสดับพระธรรมเทศนา ณ ดาวดึงส์สวรรค์ด้วย

คนชอบสงสัยมักจะถามว่า พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงส์สวรรค์และทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาจริงหรือ คำถามนี้ ท่านผู้รู้ยืนยันว่าจริง ถ้าถามต่อว่ารู้ได้อย่างไร คำตอบก็คือ ก็ท่านรู้ และผู้ที่รู้ด้วยกันก็ย่อมรู้ว่ารู้ได้อย่างไร

ตอบอย่างนี้มิใช่ยวน (ไทยแท้ๆ เลย ไม่ใช่ญวน) สมมติง่ายๆ อย่างนี้ คนตาบอดสองข้างสงสัยว่าสีแดง สีขาว พระอาทิตย์ พระจันทร์ มีหรือไม่ คนดีตอบว่ามี คนตาบอดซึ่งมองไม่เห็นซักว่า คุณรู้ได้อย่างไรว่ามี คนตาดีตอบว่า รู้แล้วกัน และคนอื่นๆ ที่ตาดีเหมือนเขาก็รู้ว่ามี ฉันใด ฉันนั้นแล โยม

แม้ว่าจะมีการตีความการเสด็จไปโปรดพุทธมารดา เป็นภาษาสัญลักษณ์ และเป็นการตีความที่มีเหตุผลน่ารับฟังก็ตาม มิได้หมายความว่าการแปลความตามตัวอักษรจะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ความต่างแห่งเงื่อนเวลาระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์เป็นเรื่องน่าสังเกต พระพุทธเจ้าทรงหายไปสามเดือนไปแสดงธรรมโปรดเทวดา แต่เวลาบนสวรรค์นั้นแค่เพียงไม่กี่นาทีเอง พูดอีกนัยหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จแวบไปเทศน์บนสวรรค์เดี๋ยวเดียว ไม่รบกวนเวลาของเทวดาสักเท่าไร แต่นับตามเวลาของมนุษย์ตั้งสามเดือนแน่ะ

คัมภีร์อรรถกถาเล่าว่า หลังจากทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์เสร็จแล้ว พระพุทธองค์ทรงรำพึงว่า บัดนี้ได้เวลาจะไปโปรดพุทธมารดา ซึ่งเคยอยู่บนดุสิตสวรรค์แล้ว จึงทรงยกพระบาทขวาขึ้นจากจงกรมแก้ว ก้าวขึ้นเหยียบยอดเขายุคันธร แล้วยกพระบาทซ้ายก้าวขึ้นเหยียบยอดเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ) แล้วเสด็จขึ้นประทับยังแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ร่มไม้ปาริชาตบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ตำราท่านพูดอย่างนี้ ก็ทำให้เราวาดภาพว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ขณะพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไป ก็ปรากฏแก่สายตาประชาชนทั้งหลาย จะพูดอย่างนั้นก็ได้ แต่ความเป็นจริง สวรรค์จะอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่บนยอดเขา ซ้อนๆ อยู่ในโลกเรานี้แหละ หากแต่เพียงอยู่คนละมิติ มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถมองเห็นได้

พระพุทธองค์ไปสวรรค์ก็อาจแวบไปชั่ววินาทีเดียว ดุจเราหมุนคลื่นวิทยุหรือโทรทัศน์ จากคลื่น ก. ไปหาคลื่น ข. เดี๋ยวเดียวเท่านั้น เดี๋ยวเดียวแค่มือกดจริงๆ และเสียงหรือภาพก็เปลี่ยนไป



ปางโปรดพุทธมารดา (จบ)
ทันที ที่คัมภีร์บรรยายให้เห็นภาพพระพุทธองค์เสด็จก้าวพระบาทเหยียบยอดเขาขึ้นไปสวรรค์ เพียงแต่บรรยายให้เห็นในแง่รูปธรรมเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเช่นนั้นจริงๆ ผมว่าของผมอย่างนี้แหละ คุณจะว่าอย่างไร ยินดีรับฟังครับ

ท้าวสักกเทวราช ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธองค์ขึ้นมาประทับบนพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ก็มีความยินดี ป่าวประกาศให้บรรดาเทพยดาบนสรวงสวรรค์ทราบ เหล่าเทพยดาก็พากันมาเฝ้า พุทธมารดาซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตก็ทราบข่าวการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าด้วย จึงมาเฝ้าพระพุทธองค์เช่นกัน

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระอภิธรรม กล่าวกันว่าอย่างนั้น แก่ประชุมเทพยดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันมีท้าวสักกเทวราชเป็นประมุข

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้ประชุมเทพยดาทั้งหลายฟัง ว่ากันว่าทรงแสดงพระอภิธรรม ว่ากันอย่างนั้น คำกล่าวนี้กล่าวตามคัมภีร์อรรถกถา เช่น ธัมมปทัฏฐกถา และอัตถสาลินี แต่ไม่มีหลักฐานใดในพระไตรปิฎก จึงเชื่อกันว่าเป็นความคิดยุคหลัง

เพราะถ้าเชื่อตามอรรถกถา ก็แสดงว่า พระไตรปิฎกมีมาตั้งแต่พุทธกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอภิธรรมปิฎกมีมาตั้งแต่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าโน่นแน่ะ เพราะมีพูดถึงพระพุทธองค์ทรงพิจารณาพระอภิธรรม ในเรือนแก้วในสัปดาห์ที่สี่หลังตรัสรู้ ความเชื่อเช่นนี้ไม่เป็นที่รับรองกันนักในวงวิชาการพระพุทธศาสนา ฝากไว้ให้พิจารณาด้วย

เล่ากันอีกแหละว่า ได้เวลาเช้าพระพุทธองค์ก็เสด็จลงมาให้พระสารีบุตรเฝ้า ใกล้สระอโนดาต ป่าหิมพานต์ พระพุทธองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมให้พระสารีบุตรฟังอีกทอดหนึ่ง ในขณะที่เสด็จลงมายังมนุษย์โลก พระพุทธองค์ทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิตแสดงธรรมแทนพระองค์ โดยที่เหล่าเทพยดาไม่รู้ว่าพระองค์ไม่อยู่ นึกว่าพุทธนิรมิตเป็นพระองค์จริง

พระสารีบุตรเมื่อได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์แล้ว ก็ได้นำไปถ่ายทอดให้ภิกษุสงฆ์และประชาชนฟังในเวลาต่อมา

ตรงนี้คือที่มาของระบบความเชื่อของชาวพุทธนิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายอภิธรรม นิกายอภิธรรมนี้ ระบุว่า พระอภิธรรมปิฎกเป็นเถรภาษิต คือเป็นเทศนาของพระสารีบุตร และพระมหากัจจายนะ หาใช่พระพุทธองค์โดยตรงไม่

เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่บนดาวดึงส์สวรรค์ครบสามเดือนแล้ว ก็เสด็จลงยังมนุษย์โลกตามเดิมต่อไป




ปางปาฏิหาริย์เปิดโลก (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ มักจะอธิบายรวมกันกับปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ส่วนมากอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวา-ซ้ายเหยียดลงตามปกติ เหมือนปางทรงยืน (ไม่อยากใช้คำว่าประทับยืน) แต่แบพระหัตถ์ทั้งสองไปข้างหน้า ทำท่าเปิดโลก

แต่ท่านเหม เวชกร ศิลปินใหญ่ผู้ล่วงลับวาดเป็นภาพประทับท่าสมาธิ แต่เบื้องหน้าวาดภาพสัตว์ทั้งสามโลกปรากฏอยู่ในมิติเดียวกัน มองเห็นกันและกัน ชัดแจ๋วแหววเหมือนนั่งอยู่ข้างๆ กัน

โลกทั้งสามที่ว่านี้คือ เทวโลก มนุษย์โลก และยมโลก เทวโลกคือโลกเทวดา ตั้งแต่พรหมโลกลงมา จนถึงสวรรค์ทุกชั้น มนุษย์โลกก็คือโลกมนุษย์เดินดินทั้งหลายนี้แล ส่วนยมโลกก็คือนรกทั้งหลาย กี่ขุมๆ ปรากฏให้เห็นหมด

พระพุทธองค์ ขณะเสด็จลงจากดาวดึงส์ ทอดพระเนตรดูเบื้องบน โลกทั้งมวลตั้งแต่มนุษย์ก็สว่างโล่งไปหมด เมื่อทรงเหลียวดูไปรอบทิศก็สว่างไปทั่ว เมื่อทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ ความสว่างก็ปรากฏไปทั่วนรกทุกขุม

สัตว์ทั้งหลายต่างก็แลเห็นกันและกัน มนุษย์เห็นเทวดา เทวดาเห็นมนุษย์ มนุษย์และเทวดาเห็นสัตว์นรก สัตว์นรกเห็นมนุษย์และเทวดา เป็นที่น่าอัศจรรย์

คัมภีร์ปฐมสมโพธิบรรยายว่า "ครั้งนั้นเทพยดา มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉาน กำหนดที่สุดมดดำมดแดง ซึ่งเห็นพระชินสีห์ แลสัตว์คนใดคนหนึ่งซึ่งจะมิได้ปรารถนาพุทธภูมินั้น มิได้มีเป็นอันขาด"

แปลไทยเป็นไทยว่า ทุกคนปรารถนาอยากเป็นพระพุทธเจ้า อยากทำได้เหมือนพระพุทธเจ้า อย่าว่าแต่คนเลย กระทั่งมดดำมดแดงก็อยากเป็นเลย สำนวนบรรยายท่านอาจจะ "เว่อร์" ไปบ้าง แต่สรุปแล้วก็คือ ไม่ว่าใครเมื่อเห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้แล้ว ต่างก็อัศจรรย์ใจและเลื่อมใสในพุทธานุภาพ

ฉากนี้จะ "ถอดความ" หรือแปลภาษาสัญลักษณ์ก็น่าจะได้ความว่า มาถึงตอนนี้ (ประมาณ ๗ ปีหลังตรัสรู้) พระพุทธองค์ทรงประกาศพระพุทธศาสนาได้ผล ประชาชนทุกชาติชั้นวรรณะ ตั้งแต่สูงลงมาหาต่ำ ต่างก็เลื่อมใส และเข้ามาบวชเป็นสาวกของพระองค์มากขึ้น พรมแดนระหว่างวรรณะสูงกับวรรณะต่ำไม่มีอีกต่อไป ไม่ว่ามาจากวรรณะไหน เมื่อมาบวชแล้วก็ถูกหลอมลงเป็น "สมณะศากยบุตร" เหมือนกัน ถือศีลวินัย มีข้อวัตรปฏิบัติเหมือนๆ กัน

นี้เท่ากับพระพุทธองค์ทรงเปิดโลกทุกโลกให้มาอยู่ในมิติเดียวกันนั้นแล อย่างนี้ไม่เรียกว่าปาฏิหาริย์จะเรียกว่าอะไรเล่าครับ



ปางปาฏิหาริย์เปิดโลก (๒)
บังเอิญ ขณะเขียนต้นฉบับนี้ พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ ส่งพุทธประวัติภาคหลากบทกวี มาให้อ่าน จึงเปิดผ่านๆ ไปถึง "ทรงเปิดโลก" ท่านแต่งได้ไพเราะดี ขออนุญาตคัดลอกบางตอนมาลงไว้ดังนี้

ทรงทำโลกวิวรณ์ปาฏิหาริย์
โอ้..ตระการน่าตระหนกไม่ผกผัน
โลกาเกิดเปิดกระจ่างสว่างพลัน
ทุกแห่งนั้นเตียนโล่งแลโปร่งทาง
ทั่วทุกทิศทั้งทุกหนจนทุกที่
หาได้มีสิ่งสรรพ์มากั้นขวาง
นรกเปิดสวรรค์เผยไม่เลยราง
แลสว่างอย่างไสวให้เห็นมอง
มนุษย์มองจ้องตาเทวาจ้อง
สบตามองต้องตากันนั่นสนอง
นรกเห็นสวรรค์อ้าช่างน่าปอง
ทั่วทั้งผองต้องตะลึงอึ้งตะไล
พุทธองค์ทรงย่างเยื้องยุรยาตร
ค่อยลีลาศลงมางามตามวิสัย
โดยบันไดแก้วพราวแวววาวไว
เพื่อลงไปให้ชโยแก่โลกัน
มีท้าวเทพอมรินทร์องค์ปิ่นฟ้า
อยู่เบื้องขวาบันไดทองประคองขวัญ
ท้าวสหัมบดีพรหมอุดมวรรณ
ค่อยผายผันลงมาจากฟ้าคราม
อยู่บันไดเงินเบื้องซ้ายพราวพรายพร่าง
แลสว่างอย่างสง่าน่าเกรงขาม
ปัญจสิขรคนธรรพ์เทวัญงาม
ไม่ครั่นคร้ามอยู่หน้าเริงร่าสราญ
ดีดพิณเหลืองเสียงใสฟังไพเราะ
โสตเสนาะเพราะเสมอเสนอหวาน
มธุรถ้อยร้อยเรียงเสียงกังวาน
ขับผสานขานผสมกลมกลืนไป...

แค่นี้คงพอครับ คัดมาให้อ่านมาก เดี๋ยวมดจะขึ้นเต็มห้อง แต่งได้หวานจริงครับ


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 ธันวาคม 2558 10:56:23 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  [1] 2 3   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.883 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 29 กุมภาพันธ์ 2567 04:58:05