[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 19:58:32 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: แมลงกินได้ : จากสารานุกรมไทย โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  (อ่าน 18249 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5446


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 02 กรกฎาคม 2557 14:47:57 »

.



แมลงกินได้

มนุษย์รับประทานอาหารอย่างหลากหลาย นอกจากพืชแล้ว ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่เป็นอาหารของมนุษย์ รวมทั้งแมลงบางชนิดที่มนุษย์นำมาเป็นอาหารสืบทอดกันมาตั้งแต่ในอดีต จากการศึกษาของหน่วยงานและกลุ่มนักวิจัยต่างๆ พอสรุปได้ว่า ทั่วโลกรู้จักแมลงที่กินได้ (edible insect) มากกว่า ๑,๔๐๐ ชนิด ประเทศที่มีการกินแมลง ได้แก่ ประเทศทางแถบทวีปแอฟริกา อเมริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และยุโรป

การศึกษาจากหลายหน่วยงานพบว่า แมลงหลายชนิดมีโภชนาการสูง ประกอบด้วย ไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต สามารถเป็นอาหารทดแทนให้กับคนท้องถิ่นที่อยู่ในชนบทหรือชุมชนที่ขาดแคลนอาหารได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ แมลงหลายชนิดมีแร่ธาตุต่างๆ ได้แก่ โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก ในปริมาณที่สูง และยังมีวิตามินบี วิตามินซี อีกด้วย  ในเรื่องนี้องค์กรระดับนานาชาติได้เห็นความสำคัญ เนื่องจากมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่า ช่วงกลางปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงกลางปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ประชากรจะพุ่งเข้าใกล้ ๗,๐๐๐ ล้านคน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงได้วางแผนส่งเสริมแมลงให้เป็นอาหารสำหรับคนทั่วโลก และมองว่าการทำฟาร์มแมลงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหารของมวลมนุษยชาติ FAO ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกได้จัดการประชุมปฏิบัติการเกี่ยวกับแมลงกินได้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ และเผยแพร่รายงานการประชุมดังกล่าวในชื่อ Edible Forest Insects : Humans Bite Back ซึ่งเป็นแหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับแมลงกินได้ในประเทศต่างๆ แถบทวีปเอเชียและประเทศติดมหาสมุทรแปซิฟิก อย่างเช่นแมลงกินได้นั้นมิใช่อาหารเพื่อประทังความหิวและเสริมสารอาหาร เช่น โปรตีน แก่ผู้ขาดสารอาหารเท่านั้น แต่คนจำนวนมากรับประทานแมลงเพราะความอร่อย ได้มีการทำรายการอาหารหลากหลายสำหรับมนุษย์รวมทั้งสัตว์เลี้ยง



แมลงที่นิยมนำมาบริโภคในประเทศไทย

ในสังคมไทยนิยมรับประทานแมลงสืบทอดกันมายาวนานทั้งทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนเป็นที่ยอมรับว่าแมลงเป็นอาหารโปรตีนของชาวชนบทไทย จากรายงานการศึกษาของ ดอกเตอร์ องุ่น ลิ่ววานิช และคณะ พบว่า มีแมลงกินได้ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประมาณ ๒๐๐ ชนิด แต่มีแมลงบางชนิดมีกลิ่นและรสชาติไม่ชวนรับประทาน แมลงแต่ละชนิดได้รับการคัดเลือกมาทำอาหารจากการสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ บางชนิดพบได้เฉพาะถิ่น บางชนิดพบได้ทั่วไปในประเทศ บางชนิดสามารถนำมาเพาะเลี้ยงได้ แมลงหลายชนิดหาซื้อได้ มีขายทั่วไปในตลาดสด เช่น แมลงดานา ซึ่งนิยมนำมาตำผสมน้ำพริก เป็นอาหารที่ชื่นชอบของคนไทย นอกจากนี้ ยังมีแมลงชนิดอื่นที่ขายสดและแปรรูปเป็นอาหารต่างๆ เช่น น้ำปลาที่ทำจากตั๊กแตน หนอนรถด่วนหรือหนอนไม้ไผ่ทอดกรอบ ข้าวเกรียบดักแด้ไหม


ตัวอย่างแมลงกินได้ที่นิยมบริโภคในประเทศไทย






ตั๊กแตนปาทังก้าทอด

ตั๊กแตนปาทังกา
มีชื่อท้องถิ่นว่า ตั๊กแตนอีสาน มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับตั๊กแตนชนิดอื่น ลำตัวยาว ๖-๗ เซนติเมตร
สันกะโหลกมีแถบสีครีมทอดยาวจากส่วนหน้าไปต่อกับแถบส่วนหลังอกซึ่งมีสีเดียวกัน
พบตามไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง นิยมรับประทานโดยการทอด แกง หรือผัด


แมลงกระชอนทอด

แมลงกระชอน
มีชื่อท้องถิ่นว่า แมลงกิซอน หรือแมงจอน มีสีน้ำตาล ความยาวประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร
ลักษณะที่สำคัญ คือ มีขาหน้ากว้างคล้ายอุ้งมือ ใช้สำหรับขุดดิน เป็นแมลงที่อาศัยอยู่ในดิน
ชอบความชุ่มชื้น มักจะขุดรูอยู่ใต้ดินต่ำกว่าผิวดินประมาณ ๑๕-๒๐ เซนติเมตร นิยมนำมา
เป็นอาหารโดยการทอด คั่ว นึ่ง ทำห่อหมก แกง ยำ ลาบ



จิ้งหรีดคั่ว

จิ้งหรีด
มีชื่อท้องถิ่นว่า กี้ดีด จี่นาย จิโหลน เพศผู้มีอวัยวะทำเสียงอยู่ที่ขอบปีกคู่หน้า
จึงใช้ปีกคู่หน้าถูกันให้เกิดเสียง จิ้งหรีดมีหลายชนิด เป็นแมลงที่ไม่ชอบแสงสว่าง มักทำรู
อยู่ตามคันนา ทุ่งหญ้า ออกจากรูในตอนกลางคืน นิยมนำมาเสียบไม้ย่าง ตำผสมน้ำพริก
คั่ว ปัจจุบันจัดได้ว่า จิ้งหรีดเป็นแมลงเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สามารถทำรายได้ให้กับประชาชน
โดยเฉพาะเกษตรกร จึงมีการส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริมในหลายจังหวัด
เช่น จังหวัดสกลนคร ขอนแก่น ลพบุรี พิจิตร พิษณุโลก และเชียงใหม่



จิ้งโกร่งทอด

จิ้งโกร่ง
มีชื่อท้องถิ่นว่า จีป่ม จิ้งโก่ง จิ้งหรีดโก่ง จิ้งหรีดหัวโต เป็นจิ้งหรีดชนิดหนึ่ง
มีรูปร่างอ้วน หัวโต ปีกสีน้ำตาล มีลายเส้นเล็กน้อย ลำตัวสีน้ำตาลอ่อน ชอบขุดดินทำรู
เป็นที่อยู่อาศัยตามคันนา ทุ่งหญ้า หรือบริเวณบ้านเรือน มีขายทั่วไป นิยมนำมารับประทาน
โดยการคั่ว ทอด ยำ หมก เสียบไม้ย่าง โดยเฉพาะในภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย




ดักแด้ผีเสื้อไหมทอด

ผีเสื้อไหม
มีชื่อท้องถิ่นว่า ดักแด้ ตัวดักแด้ ผีเสื้อไหมเป็นผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง ตัวสีครีม
เมื่อกางปีกออกมีความยาวประมาณ ๕ เซนติเมตร ลำตัวอ้วน บินไม่ได้ ตัวเต็มวัยไม่กินอาหาร
มีอายุสั้นเพียง ๒-๓ วัน วางไข่ได้ประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ ฟอง และตายหลังการวางไข่
ไข่เมื่อฟักออกเป็นตัวหนอน จะกินใบหม่อนเป็นอาหาร จนอายุ ๓๕-๔๐ วัน ก็จะเข้าดักแด้
โดยทำรังไหมห่อหุ้มตัว เมื่อนำรังไหมไปต้มและสาวเส้นไหมออกแล้วจะเหลือตัวดักแด้
ซึ่งเป็นระยะที่นำมารับประทานโดยการนึ่ง คั่ว ทอด แกง หรือตำผสมกับน้ำพริก
ตลอดจนแปรรูปเป็นข้าวเกรียบดักแด้ไหม มีรสชาติดีใกล้เคียงกับข้าวเกรียบกุ้ง




จักจั่นทอด

จักจั่น
มีชื่อท้องถิ่นว่า จักจั่น เรไร เป็นแมลงขนาดโต มีปีกคู่ หน้าใส
เนื้อปีกมีความหนาเท่ากันตลอดทั้งแผ่นปีก ลักษณะส่วนหัวและอกกว้าง
ตากลมโตเห็นได้ชัดเจน อยู่ตรงมุมสองข้างของหัว ลำตัวเรียวเล็กไปทางหาง
เพศผู้มีอวัยวะพิเศษสำหรับทำเสียงดัง ส่วนใหญ่ใช้ส่งเสียงเพื่อจับคู่
พบได้ตามต้นไม้ใหญ่ นิยมนำมารับประทานโดยการทอดกรอบ คั่ว ตำผสมกับน้ำพริก



บน มดแดงที่เป็นมดงาน
ล่างซ้าย ไข่ของมดแดง  ล่างขวา นางพญาของมดแดงหรือแม่เป้ง

มดแดง
มีชื่อท้องถิ่นว่า มดแดง ไข่มดแดง แม่เป้ง ชาวบ้านมักจะรับประทาน
ดักแด้ของมดงานและนางพญามดหรือแม่เป้ง เรียกรวมกันว่า ไข่มดแดง

ไข่ของมดแดงมีลักษณะยาวรี สีขาว มดงานตัวเต็มวัยเป็นเพศเมีย มีสีแดง ยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร
ไม่มีปีก มีก้านบนสันหลัง ส่วนท้องปล้องที่หนึ่งและสอง มีลักษณะเป็นปุ่มปม หนวดหักเป็นข้อศอก
มดงานเหล่านี้มีหน้าที่สร้างรังและเลี้ยงตัวอ่อน มดนางพญาเป็นตัวเต็มวัยเพศเมียที่มีขนาดตัวใหญ่
กว่ามดงาน ส่วนใหญ่ตัวสีเขียว มีปากใส มีหน้าที่ผสมพันธุ์และวางไข่ มดแดงชอบทำรังบนต้นไม้
โดยนำใบไม้หลายๆ ใบมาห่อรวมกันเพื่อสร้างรังและอาศัยอยู่ภายใน ไข่ของมดแดงนิยมนำมาทำ
อาหารประเภทยำหรือต้มยำ เพราะมีรสเปรี้ยวจากกรดฟอร์มิกที่ผลิตขึ้น ไข่ของมดแดงเมื่อนำมาทอด
กับไข่เจียวได้รสชาติเหมือนไข่ทอดหอยนางรม ส่วนนางพญาหรือแม่เป้งนิยมนำมาทำยำ คั่ว ทำเมี่ยง




บน มดงานของแมลงมัน  ล่าง แมลงมันทอด

แมลงมัน
มีชื่อเรียกท้องถิ่นว่า แมลงมัน แมงมัน เป็นมดชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากมดแดง มีเฉพาะทางภาคเหนือ
แมลงมันที่เป็นมดงานมีขนาดเล็ก สีส้มออกน้ำตาล กัดเจ็บและคันมาก นางพญามีสีดำคล้ำ ตัวใหญ่ มีปีกใส
รสชาติมัน นิยมนำมารับประทานเป็นอาหาร เรียกกันทั่วไปว่า “แมงมันแม่” เพศผู้มีสีเหลือง มีปีกใส ตัวเล็กกว่า
แมลงมันเพศเมีย ไม่นิยมรับประทาน เพราะมีรสขม เรียกกันทั่วไปว่า “แมงมันปู๊” หรือ “แมงมันคา”
ไข่ของแมลงมันลักษณะคล้ายไข่ของมดแดง มีสีนวล เรียกว่า “ไข่แมงมัน”

แมลงมันอยู่ในดินลึกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร แมลงมันที่ขุดได้ เมื่อนำมาล้างทำความสะอาดสามารถนำไป
แปรรูปเป็นอาหารต่างๆ เช่น จ่อม คั่ว ผสมทอดทำไข่เจียว ต้มยำ ตำผสมกับน้ำพริก แมลงมันมีราคาแพง
ถึงกิโลกรัมละ ๔๐๐-๕๐๐ บาท เพราะไม่สามารถนำมาเพาะเลี้ยงได้ และในหนึ่งปีจะออกมาบินผสมพันธุ์
ในช่วงฤดูฝนเพียงหนึ่งเดือน ชาวบ้านต้องจับตอนช่วงหัวค่ำขณะที่แมลงมันบินออกมาเล่นไฟ




แมลงเม่า
มีชื่อท้องถิ่นว่า แมลงเม่า แมงเม่า เป็นปลวกหนุ่มสาวที่ทำหน้าที่สืบพันธุ์ มีปีก ๒ คู่
ยาวกว่าลำตัว บางใส ปีกคู่หน้าและคู่หลังคล้ายกัน อาศัยอยู่ในรังใต้ต้นไม้และในจอมปลวก
มักออกจากรังในช่วงหัวค่ำของวันที่ฝนตก ระยะแรกของฤดูฝน หลังจากผสมพันธุ์แล้วจะสลัดปีกทิ้ง
แล้วมุดลงดินเพื่อสร้างรังใหม่ นิยมนำมารับประทานโดยการคั่ว นึ่ง ทำเมี่ยง





แมลงดานา
มีชื่อท้องถิ่นว่า แมงดา เป็นคนละชนิดกับแมงดาทะเล ซึ่งไม่ใช่แมลง
แมลงดานาเป็นแมลงที่ลำตัวใหญ่ที่สุดในพวกมวนด้วยกัน อาศัยอยู่ในน้ำ มีลำตัวกว้าง
และแบนเป็นรูปไข่ คู่หน้าเหมาะสำหรับจับสัตว์ ขาคู่กลางและหลังแบนตรง มีขนสีน้ำตาล
คลุมเป็นแผงด้านหนึ่ง ซึ่งเหมาะสำหรับว่ายน้ำ แมลงดานาพบได้ตามสระ หนอง บึง
กินแมลงและสัตว์น้ำเล็กๆ เป็นอาหาร ในฤดูฝนจะชอบออกมาบินเล่นไฟ ชาวบ้านทาง
ภาคเหนือหลายจังหวัดและแทบทุกจังหวัดทางภาคอีสานจะดักจับเวลากลางคืน
โดยนิยมทำกับดักแสงไฟ จับได้ครั้งละหลายร้อยตัว ตามท้องนาในจังหวัดสุโขทัย
และพิษณุโลก มีการดักจับแมลงดานาโดยใช้แสงไฟ เป็นอาชีพเสริมหลังจากทำนาแล้ว
คนไทยนิยมนำมาผสมกับน้ำพริก เพราะทำให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน นอกจากนั้น
ยังนำมาชุบแป้งทอด คั่ว นึ่ง




๑.แมลงเหนี่ยง  ๒.แมลงตับเต่า  ๓.แมลงกุดจี่ ๔.แมลงตับเต่าหรือด้วงดิ่งคั่ว

แมลงเหนี่ยง
มีชื่อท้องถิ่นว่า แมลงเหนี่ยง แมงงอดง้ำ แมงข้าวเกลี้ยง เป็นแมลงปีกแข็งพวกด้วงน้ำ
ที่คล้ายแมลงตับเต่ามาก แมลงเหนี่ยงมีลำตัวสีดำ รูปไข่ ตัวโค้งนูนมากกว่าแมลงตับเต่า มีหนวดมาก
ลักษณะคล้ายเส้นด้าย ปากยาวแหลมพับอยู่ใต้อก ปลายขาคู่กลางและหลังมีขนเป็นแพ เหมาะสำหรับว่ายน้ำ
แมลงเหนี่ยงอาศัยอยู่ในน้ำนิ่ง กินพืชและวัตถุเน่าเปื่อยในน้ำเป็นอาหาร ตัวเต็มวัยชอบเล่นไฟ
แมลงเหนี่ยงนิยมนำมารับประทานกันในภาคเหนือและภาคอีสาน โดยการนำมาทอด คั่ว ทำห่อหมก แกง



แมลงตับเต่าหรือด้วงดิ่ง
มีชื่อท้องถิ่นว่า แมลงกิเต่า เป็นแมลงปีกแข็งขนาดใหญ่ ลำตัวลื่นเป็นมัน รูปไข่
สีดำปนน้ำตาล และขอบปีกทางด้านข้างของลำตัวมีแถบสีเหลืองมัวๆ แตกต่างจากแมลงเหนี่ยง
ตรงที่มีหนวดยาวเป็นเส้นด้าย ขาคู่หลังยาวกว่าขาคู่อื่นๆ ลักษณะแบน และมีขนสำหรับว่ายน้ำ
โดยมากอาศัยอยู่ในบ่อ สระ แม่น้ำ ลำธาร คูคลอง หนอง บึงต่างๆ และนาข้าว มักเอาหัวดิ่งลง
เมื่อเกาะอยู่ที่ผิวน้ำ นิยมนำมาปรุงเป็นอาหารโดยการป่นเป็นน้ำพริก คั่ว ผัด และแกง



แมลงกุดจี่
มีชื่อท้องถิ่นว่า แมงกุดจี่ ด้วงขี้ควาย ด้วงขี้คน มีหลายชนิด ที่นิยมนำมาบริโภค ได้แก่
กุดจี่แดง  ส่วนหัว อกปล้องแรก และปีก มีสีดำปนส้ม ท้องดำ เพศผู้ มีเขา ๑ อัน ที่อกปล้องแรก
กุดจี่หวาย  ส่วนหัวมีลักษณะกลมแบนคล้ายจาน หนวดแบบหักศอก ปากเป็นแบบกัดกิน
หัว ท้อง และปีก มีสีน้ำตาล เพศผู้มีเขา ๒ อัน ที่อกปล้องแรก
กุดจี่เขา ลำตัวมีสีดำหรือสีน้ำตาล ส่วนหัวมีลักษณะโค้งครึ่งวงกลม ขอบแบน
เพศผู้มีเขาโค้งงอ ๑ อัน ที่หัว และที่อกปล้องแรกมีเขา ๒ อัน
กุดจี่มุม  มีสีดำมันทั้งตัว หัวมีลักษณะแบนโค้งรูปครึ่งวงกลม ปีกสีดำ
มีลายขนานกันตามยาว ขา ๒ คู่ มีลักษณะคล้ายใบพาย

ชาวบ้านนิยมนำแมลงกุดจี่มาคั่วใส่เกลือเล็กน้อย นึ่ง แกง ตำผสมกับน้ำพริก ยำ
วิธีเตรียมก่อนทำอาหารจะต้องนำตัวเป็นๆ มาแช่ในน้ำไว้หนึ่งคืนก่อน เพื่อให้ปล่อยมูลสัตว์
ที่กินเข้าไป เพื่อไม่ให้มีกลิ่นเหม็น แล้วจึงนำมาปรุงอาหาร




แมลงกินูน
มีชื่อท้องถิ่นว่า แมงอีนูน แมงจินูน เป็นแมลงปีกแข็ง ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาล
หรือสีอื่นที่แตกต่างกัน แล้วแต่ชนิด ลำตัวเป็นรูปไข่ ลักษณะที่สำคัญ คือ มีปีกคลุม
ถึงส่วนท้อง มักอาศัยตามต้นมะขาม ต้นเต็ง ตะโก คูน พุทรา มะม่วง น้อยหน่า
นิยมนำมาคั่ว ตำผสมกับน้ำพริก แกง




๑.รังผึ้งที่สร้างไว้ตามต้นไม้สูง  ๒.ผึ้งงานและผึ้งนางพญา (ในวงกลม)
๓.-๔ รังของผึ้งมิ้มซึ่งมีตัวอ่อนถูกตัดนำมาขาย

ผึ้ง
มีหลายชนิด แต่ที่ใช้เป็นอาหารโดยทั่วไปมีชื่อท้องถิ่นว่า ผึ้งมิ้ม มิ้ม และผึ้งหลวง
เป็นแมลงที่เก็บน้ำหวานจากดอกไม้ มีส่วนหัว อก และท้อง แยกกันชัดเจน ขาคู่หลังมีอวัยวะ
สำหรับเก็บเกสร (เรณู) ดอกไม้ มีปีกใส ๒ คู่ ผึ้งเพศเมียมีเหล็กในที่ต่อยศัตรูได้ครั้งเดียว
ผึ้งอยู่รวมกันในรังที่สร้างไว้ตามต้นไม้สูง หรือตามชายคาบ้าน หน้าผา การสร้างรังขึ้นอยู่กับชนิด
ของผึ้ง ชาวบ้านนิยมตัดรังมาขาย เฉพาะผึ้งหลวงและผึ้งมิ้มนิยมนำมารับประทานโดยนำตัวอ่อนผึ้ง
มาเจียวกับไข่ ทำห่อหมก ยำ ลาบ หรือรับประทานสด



๑.ต่อหัวเสือ  ๒.ตัวอ่อนต่อในรัง และ ๓.ลักษณะภายในรังของตัวต่อ

ต่อ
มีชื่อท้องถิ่นว่า ต่อ และมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามชนิดและลักษณะการสร้างรัง
เช่น ต่อซับใบ ต่อรัง ต่อหัวเสือ ต่อหลุม หรือต่อโพรง โดยทั่วไป ต่อมีลักษณะคล้ายผึ้ง แต่มีนิสัย
ดุร้ายกว่า มีปีกใส ๒ คู่ มีเหล็กในที่สามารถต่อยศัตรูได้หลายครั้ง อาศัยอยู่รวมกันเป็นรัง
สร้างรังจากใบไม้ โดยนำใบไม้มาเคี้ยวผสมกับน้ำลาย แล้วทำเป็นแผ่นบางๆ คล้ายกระดาษ
ไว้ตามพุ่มไม้ โพรงดิน ชอบล่าตัวหนอนของแมลงชนิดอื่นมาเป็นอาหารของตัวอ่อน นิยมนำมา
รับประทานโดยเจียวกับไข่ คั่ว แกง ผัด หรือรับประทานสด ตัวต่อไม่ผลิตน้ำผึ้ง ปัจจุบันชาวบ้าน
ภาคเหนือและภาคอีสานนำรังต่อเล็กๆ มาเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม



๑.แตน  ๒.ผีเสื้อหนอนรถด่วนระยะหนอนเติบโตอยู่ในปล้องไม้ไผ่  และ ๓.หนอนรถด่วนทอด

แตน
มีชื่อท้องถิ่นว่า แตน แมงกะสัง ลักษณะเหมือนตัวต่อ แต่ขนาดเล็กกว่า มีปีกใส ๒ คู่
และเหล็กในที่ต่อยศัตรูได้หลายครั้ง อาศัยรวมกันอยู่เป็นรัง โดยสร้างอยู่ตามกิ่งไม้
นิยมนำตัวอ่อนมารับประทานสดๆ ทันทีเมื่อตัวเต็มวัยบินออกจากรังหมดแล้ว


ผีเสื้อหนอนรถด่วน
เป็นแมลงพวกผีเสื้อกลางคืน อาศัยอยู่ในปล้องไม้ไผ่เกือบตลอดชีวิต
ตั้งแต่ระยะหนอนจนถึงดักแด้เป็นเวลาประมาณ ๑๑ เดือน เมื่อโตเต็มวัยเป็นผีเสื้อ
จะออกจากต้นไผ่เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ ปัจจุบันเป็นแมลงอุตสาหกรรม
ในระดับส่งออกต่างประเทศ นิยมนำตัวหนอนมารับประทาน และมีชื่อเรียกต่างๆ กัน
เช่น หนอนรถด่วน รถด่วน หนอนกินเยื่อไผ่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 พฤศจิกายน 2558 15:30:24 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5446


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 17 กันยายน 2557 16:37:10 »

.

คุณค่าทางโภชนาการของแมลงกินได้

แมลงจัดได้ว่าเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารอาหารประเภทโปรตีนสูง สามารถใช้เป็นแหล่งโปรตีน ปัจจุบันสามารถเลี้ยงแมลงบางชนิดเป็นอาชีพ และใช้เป็นอาหารเสริมให้แก่ชาวบ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินจำนวนมาก ไม่ต้องซื้อเนื้อสัตว์ที่มีราคาแพงมารับประทาน  นอกจากนี้ แมลงยังให้พลังงาน ไขมัน แร่ธาตุต่างๆ และวิตามิน หลายหน่วยงานและกลุ่มวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศได้วิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของแมลงกินได้ ซึ่งพบว่ามีค่าแตกต่างกันตามแหล่งแมลงที่ได้ ช่วงเวลาที่ได้แมลง ตลอดจนวิธีการวิเคราะห์
ดังตัวอย่างในตารางที่ ๒ และ ๓






จากการวิจัยพบว่า แมลงกินได้แต่ละชนิดให้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต แตกต่างกันดังจะเห็นจากตัวอย่างใน ตารางที่ ๒ นอกจากนั้นยังได้กล่าวว่า ในโปรตีนมีกรดแอมิโนครบถ้วน ทั้งกรดแอมิโนจำเป็นและไม่จำเป็น เช่น จากวารสารโภชนาการ ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้กล่าวว่า จากการศึกษาแมลงกินได้ ๖ ชนิด มีปริมาณกรดแอมิโนต่างกัน เช่น

ไลซีน (lysine) และแวลีน (valine) ซึ่งเป็นกรดแอมิโนจำเป็นที่ร่างกายสร้างไม่ได้ ระหว่าง ๑๘.๘๑-๗๗.๒๔ มิลลิกรัม/กรัมโปรตีน และระหว่าง ๒๔.๔๒-๖๒.๑๘ มิลลิกรัม/กรัมโปรตีน

อาร์จินีน (arginine) และไกลซีน (glycine) ซึ่งเป็นกรดแอมิโนไม่จำเป็นที่ร่างกายสร้างได้ ระหว่าง ๓๒.๓๑-๕๘.๗๘ มิลลิกรัม/กรัมโปรตีน และระหว่าง ๒๙.๖๖-๕๒.๗๕ มิลลิกรัม/กรัมโปรตีน

จากการศึกษาแมลง ๓๘ ชนิด ของดอกเตอร์ องุ่น ลิ่ววานิช และคณะ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๔๑ – กันยายน ๒๕๔๓ ที่วิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ โดยคำนวณจากน้ำหนักแมลงสด ๑๐๐ กรัม พบว่า ตั๊กแตนปาทังกาให้โปรตีนมากที่สุด ๒๕.๘๘ กรัม หนอนรถด่วนมีไขมันมากที่สุด ๑๙.๑๗ กรัม ตั๊กแตนหญ้าคาให้พลังงานมากที่สุด ๒๓๗.๒๖ กิโลแคลอรี หนอนนกมีแคลเซียมมากที่สุด ๐.๕๙ กรัม แมลงทับขาแดงมีฟอสฟอรัสมากที่สุด ๐.๓๔ กรัม

อย่างไรก็ตาม มีรายงานที่น่าสนใจ ระบุว่า แมลงที่มาจากธรรมชาติมีโปรตีนสูงมากและปลอดภัย ต่างจากแมลงที่อยู่ใกล้เมืองหรือจากการเพาะเลี้ยง ที่ต้องระวังสารกำจัดแมลงซึ่งปนเปื้อนมากับแมลงเหล่านั้น ฉะนั้น การรับประทานแมลงจึงควรเลือกแมลงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้



การปรุงอาหารแมลงกินได้

การบริโภคแมลงมีวิธีการปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย ตามวัฒนธรรมการบริโภคและความนิยมส่วนตัว การปรุงแต่งรสชาติเป็นศิลปะการประกอบอาหารที่ง่าย ใช้เวลาไม่มากในการจัดเตรียม  การปรุงอาหารจากแมลงที่ชาวบ้านนิยมรับประทานมีดังนี้

 เผา
การปรุงอาหารด้วยการเผาเป็นวิธีที่ง่ายและธรรมดาที่สุด วิธีนี้ใช้ได้กับแมลงกินได้เกือบทุกชนิด สามารถปรุงได้ทุกสถานที่เพียงมีแมลงที่จับมาหรือไล่ล่ามาได้เท่านั้น วิธีการเริ่มจากก่อไฟโดยใช้ถ่านหรือฟืนเป็นเชื้อไฟ หรือหากจับแมลงได้ในที่นา และต้องการรับประทานขณะนั้น ก็สามารถใช้ฟางข้าว ใบไม้ หรือเศษกิ่งไม้เป็นเชื้อไฟ จากนั้นนำแมลงสดวางไปบนวัสดุเชื้อไฟ แล้วสังเกตดูว่าแมลงสุก ไม่ไหม้จนเกินไป ก็นำมารับประทานได้ การเผาแตกต่างจากการย่างหรือการปิ้ง คือ การย่างหรือปิ้งจะวางแมลงบนตะแกรงซึ่งอยู่เหนือวัสดุเชื้อไฟ ส่วนการเผาตัวแมลงจะได้รับความร้อนโดยตรงจากวัสดุที่ใช้เป็นเชื้อไฟ


ซ้าย แมลงดานาเผา ขวารังผึ้งปิ้  คั่ว
เป็นการประกอบอาหารโดยไม่ใช้น้ำมัน แต่ใช้น้ำเพื่อไม่ให้อาหารไหม้ อาหารที่ได้จะมีความนุ่มและชุ่มชื้น ตัวแมลงที่คั่วจึงไม่แข็งเกินไป ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีนี้ เพราะกรรมวิธีการปรุงไม่ยุ่งยาก และสามารถทำได้กับแมลงเกือบทุกชนิด การคั่วจะเริ่มจากตั้งกระทะบนเตาไฟให้ร้อน ใส่น้ำลงไปพอประมาณ เมื่อน้ำเดือดให้ใส่แมลงไป หมั่นคนจนน้ำแห้ง สังเกตว่าแมลงเริ่มมีสีเหลืองหรือสุกแล้วจึงใส่เครื่องปรุงลงไป โดยอาจใส่ หอม กระเทียม เกลือ พริกแห้ง ผักชี ให้มีกลิ่นและรสชาติที่น่ารับประทานยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกลวิธีของแต่ละบุคคล ให้ได้รสชาติตามต้องการ บางคนอาจใส่ผงชูรส ซึ่งแท้จริงแล้วไม่จำเป็นเพราะถ้าใช้แมลงและเครื่องปรุงที่สดใหม่จะได้รสที่อร่อยตามธรรมชาติอยู่แล้ว



๑.การคั่วแมลงเป็นการใช้น้ำทำให้สุกแล้วใส่เครื่องปรุงเพิ่มรสชาติ  ๒.การนำแมลงมาทอด
๓.การนำแมลงมาชุบแป้งทอด  และ ๔.การนำแมลงมาเจียวกับไข่

 ทอด
เป็นการประกอบอาหารให้สุกโดยใช้น้ำมัน ด้วยการตั้งกระทะบนเตาไฟใส่น้ำมันลงไป รอจนน้ำมันร้อนแล้วจึงใส่แมลงทอดจนกว่าจะสุกเหลือง ช้อนขึ้นพักไว้จนสะเด็ดน้ำมัน นำมาปรุงรสโดยใส่เกลือ หรือเครื่องปรุงอื่นๆ ตามใจชอบ บางคนใช้วิธีชุบแป้งทอด โดยอาจใช้สูตรแป้งเช่นเดียวกับกุ้งทอดหรือไก่ทอด หรืออาจจะนำแมลงมาเป็นส่วนผสมทอดทำไข่เจียวเป็นอาหารว่าง หรือรับประทานกับข้าวได้

 นึ่ง
เป็นการทำให้สุกโดยใช้ไอน้ำ วิธีนี้มักจะทำเมื่อได้แมลงเป็นจำนวนมากและเป็นแมลงที่มีเปลือกหุ้มลำตัวไม่หนาจนเกินไป เพื่อให้ไอน้ำสามารถทะลุเข้าไปในลำตัวของแมลง การนึ่งเป็นการถนอมอาหารวิธีหนึ่ง แมลงที่นึ่งแล้วสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นและนำมาอุ่นเมื่อต้องการรับประทาน หรืออาจนำไปแปรรูป หรือใช้ประกอบอาหารประเภทอื่นๆ เช่น คั่ว แกง ทอด ได้

 ห่อหมก
การปรุงอาหารวิธีนี้จะไม่ใช้แมลงปีกแข็งหรือมีผนังลำตัวหนา การหมกเริ่มโดยนำพริกสดและหัวหอมเผาไฟให้มีกลิ่นหอม แล้วตำในครกให้ละเอียด จากนั้นซอยตะไคร้ใส่ลงไปพอประมาณ โขลกจนเป็นเนื้อเดียวกัน ใส่เครื่องปรุงตามใจชอบ แล้วนำมาคลุกกับแมลงที่เตรียมไว้ อาจตีไข่ใส่เพิ่มไปด้วยก็ได้ ใช้ใบตองห่อแล้วกลัดด้วยไม้กลัดให้เรียบร้อย นำไปปิ้งหรือนึ่งก็ได้  นอกจากนี้ ในแต่ละท้องถิ่นยังมีวิธีการนำแมลงมาประกอบอาหารอีกมากมาย เช่น ดอง เมี่ยง ลาบ ก้อย หลาม หรือนำมาเป็นส่วนผสมในน้ำพริก โดยมีผักสดในท้องถิ่นนั้นเป็นเครื่องเคียง แมลงบางชนิดอาจใช้เป็นส่วนผสมของอาหารประเภทต้ม ผัด แกง ทอด ได้ ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้บริโภค


ซ้าย การทำห่อหมกแมลง โดยคลุกเคล้ากับเครื่องปรุง  ขวา ใช้ใบตองห่อนึ่งให้สุก


๑. น้ำพริกกะปิแมลงดานา   ๒. ยำแม่เป้ง
๓. แกงเลียงไข่มดแดง  และ ๔. ไข่เจียวดักแด้ไหม



ข้อควรระวังในการบริโภคแมลง
การบริโภคแมลงมีทั้งการบริโภคสด และการบริโภคสุก การบริโภคสดเป็นการบริโภคแมลงขณะที่ยังเป็นตัวเป็นๆ โดยไม่ผ่านความร้อน ซึ่งอาจส่งผลให้พยาธิในตัวแมลงเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกาย อีกทั้งแมลงบางชนิดอาจมีสารพิษที่ก่ออันตรายต่อมนุษย์ได้

ดอกเตอร์ นายแพทย์ สุภัทร สุจริต กล่าวไว้ในหนังสือ กีฏวิทยาทางการแพทย์ ว่า แมลงในน้ำโดยเฉพาะแมลงก้องแขนและตัวอ่อนแมลงปอ สามารถเป็นพาหะของพยาธิใบไม้ได้

ด้วงประเภทต่างๆ และแมลงปีกแข็งเป็นพาหะของพยาธิ โดยเฉพาะด้วงที่อาศัยอยู่ตามกองมูลควาย พยาธิจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อบริเวณปากและใต้ลิ้น

แมลงกินูน และแมลงเหนี่ยง ทำให้เป็นโรคพยาธิได้เช่นกัน โดยพยาธิจะเข้าไปชอนไชลำไส้และฝังตัวที่ผนังลำไส้ ทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบ เป็นเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

ด้วงน้ำมัน หรือแมลงวันสเปน  เป็นด้วงปีกแข็งที่อันตรายมาก ผู้บริโภคที่ไม่รู้จักแมลงชนิดนี้ ถ้านำมาคั่วหรือแกงแล้วรับประทานเข้าไปจะได้รับสารแคนทาริดิน (cantharidin) ซึ่งเป็นสารพิษทำให้เสียชีวิตได้

จิ้งหรีด เป็นพาหะของพยาธิตัวกลม ทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร พยาธิอาจจะเกาะอาศัยที่กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และตับ ดูดเลือดเป็นอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดมาก เมื่อพยาธิเหล่านี้เคลื่อนที่ไปยังบริเวณต่างๆ ของระบบทางเดินอาหารทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารอักเสบและมีเลือดออก

หนอนรถด่วน ตรงส่วนหัวมีขนแข็งๆ ถ้ารับประทานสด อาจเกิดอันตรายเพราะขนจะทำให้เกิดบาดแผลที่ปากและหลอดอาหาร อาจเกิดการติดเชื้อได้

แมลงบางชนิดมีพิษเพื่อป้องกันตัว เช่น ผึ้ง ต่อ แตน ผู้ที่จะนำแมลงเหล่านี้มาบริโภคต้องมีความรู้และทักษะในการเก็บรัง เช่น จะต้องมีการรมควันและมีชุดสวมใส่ป้องกันแมลงต่อย หากไม่มีการป้องกันที่ดีอาจโดนต่อยและเกิดอาการแพ้จนถึงขั้นเสียชีวิตได้  อย่างไรก็ตาม แมลงหลายชนิดมีสารพิษและเป็นพาหะนำโรคต่างๆ เป็นต้นเหตุความเจ็บป่วยแก่ผู้บริโภค แมลงซึ่งไม่ผ่านการปรุงให้สุกก่อน ดังนั้น การปรุงอาหารให้สุกทำให้การบริโภคปลอดภัยจากสารพิษได้ระดับหนึ่ง โดยจะลดความเป็นพิษของแมลง ช่วยฆ่าเชื้อโรคและพยาธิก่อนที่จะรับประทาน นอกจากนี้ การรับประทานแมลงตัวเต็มวัยที่ตัวใหญ่ ควรเด็ดอวัยวะที่เป็นส่วนแข็งๆ เช่น ขา ปีก ออกเสียก่อน


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 พฤศจิกายน 2558 14:42:31 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5446


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 18 กันยายน 2557 14:09:18 »

.

การเพาะเลี้ยงแมลงกินได้
จากการที่ประชากรโลกเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้นิยมบริโภคแมลงบางชนิดมากขึ้น เนื่องจากมีการวิจัยว่า แมลงมีคุณค่าทางโภชนาการและอร่อย หลายหน่วยงานมีความห่วงใยว่าแมลงบางชนิดจะสูญพันธุ์ ถ้าบริโภคแมลงจากธรรมชาติเท่านั้น นอกจากนี้ เห็นว่าการเพาะเลี้ยงแมลงกินได้จะช่วยเพิ่มรายได้แก่ชาวบ้าน เกษตรกรและผู้สนใจ จึงมีมหาวิทยาลัยและหน่วยงานเกี่ยวกับการเกษตรหลายแห่ง ได้ค้นคว้าศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงแมลงกินได้ซึ่งเป็นที่นิยม เช่น กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปัจจุบันสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ได้วิจัยเรื่องหนอนรถด่วน แมลงกุดจี่ จิ้งหรีด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร วิจัยการเพาะเลี้ยงแมลงดานา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยการเพาะเลี้ยงมดแดงและจิ้งหรีด แมลงกินได้ชนิดหนึ่งที่หลายหน่วยงานได้มีการศึกษา คือ ผีเสื้อหนอนรถด่วน (ซึ่งมนุษย์นำมาบริโภคระยะที่เป็นตัวหนอน) เพราะนอกจากเป็นแมลงกินได้ที่นิยมบริโภค ทั้งคนชนบท คนเมือง รวมทั้งชาวต่างชาติ ทำรายได้ให้แก่ ผู้เก็บ ผู้ขายสด ผู้ปรุง และผู้ขายปลีก เป็นอย่างดี และนับเป็นแมลงเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการปลูกป่าไผ่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยชนิดเดียวของผีเสื้อหนอนรถด่วน


                       ตัวอย่างการเลี้ยงแมลงกินได้
          ของสำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้


คำอธิบายภาพจากบนซ้ายไปขวา จัดจานน้ำพร้อมฟองน้ำให้จิ้งหรีดเกาะกินน้ำ  - ใช้ตู้ปลาที่มีฝามุ้งลวดวางบนโต๊ะ หล่อน้ำขาโต๊ะ
จัดตู้เลี้ยงโดยแยกพื้นที่ดินและส่วนให้อาหาร - เพาะไข่จิ้งหรีดโดยให้วางไข่ในจานดิน
วางไข่จิ้งหรีดบนดินและในดิน - ลูกจิ้งหรีดอายุวัยหนึ่ง ลักษณะคล้ายมดดำ
ลูกจิ้งหรีดเกาะบนกระดาษฝอย - จิ้งหรีดเพศผู้มีปีกมีลายย่น เพศเมียปีกมีลายเรียบเส้นตรง


               การเพาะเลี้ยงแมลงกุดจี่

คำอธิบายภาพจากบนซ้ายไปขวา แมลงกุดจี่ขุดโพรงใต้ดิน เพื่อปั้นลูกเบ้าและวางไข่
แม่แมลงกุดจี่กับลูกเบ้า - ลูกแมลงกุดจี่เจาะรูลูกเบ้าออกมา
ขุดหาลูกเบ้า เพื่อนำลูกแมลงกุดจี่จากกรงเพาะเลี้ยง - ลูกแมลงกุดจี่ที่ได้จากการเพาะเลี้ยง

กรมป่าไม้ได้วิจัยศึกษาชีววิทยาและประชากรของผีเสื้อหนอนรถด่วน ที่จังหวัดลำปางและจังหวัดเชียงราย พบว่าทั้งผีเสื้อหนอนรถด่วน หนอนรถด่วน และต้นไผ่ อาจมีจำนวนลดน้อยลงเพราะเก็บหนอนรถด่วนไม่ถูกวิธี และได้เผยแพร่เอกสารเรื่องผีเสื้อหนอนรถด่วนนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและเพาะเลี้ยงหนอนรถด่วน” ในโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ชาวเขาดอยตุง และผู้สนใจที่จะนำความรู้ไปประกอบอาชีพ รวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่าไผ่ในโครงการ “ตามรอยสมเด็จย่าปลูกป่าสร้างคน” ของตำรวจตระเวนชายแดน จังหวัดเชียงรายด้วย ผลการศึกษาเกี่ยวกับผีเสื้อหนอนรถด่วน มีดังนี้



  แหล่งที่อยู่อาศัยแลสภาพทั่วไปของผีเสื้อหนอนรถด่วน
ผีเสื้อหนอนรถด่วนหรือผีเสื้อหนอนไม้ไผ่ เป็นผีเสื้อกลางคืน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ออมฟิซา ฟูสไซเดนทาลีส (Omphisa fuscidentalis) มักจะพบอยู่ในป่าไผ่ทางใต้ของแถบเอเชียใต้ เช่น ประเทศบังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาล และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา ลาว พม่า ไทย จีน เวียดนาม

ประเทศไทยพบการกระจายตัวของผีเสื้อหนอนรถด่วนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตก โดยพบมากสุดที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง ส่วนจังหวัดแพร่ ลำพูน น่าน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และกาญจนบุรี พบได้เพียงบางพื้นที่เท่านั้น

ปกติเราจะพบผีเสื้อหนอนรถด่วนในระยะที่เป็นตัวหนอนและระยะดักแด้ เพราะผีเสื้อตัวเต็มวัยมีอายุเพียง ๕-๗ วัน เท่านั้น ทั้งที่ผีเสื้อหนอนรถด่วนมีวงจรชีวิตโดยประมาณ ๑ ปี คือ มีระยะตัวหนอนประมาณ ๑๐ เดือน และระยะดักแด้ประมาณ ๓๐-๔๐ วัน เราจะพบหนอนรถด่วนจำนวนมากในปล้องลำไม้ไผ่ที่ไม่มีแสงส่องเข้าไป ส่วนใหญ่ไผ่ที่มีหนอนรถด่วนมีการแพร่กระจายอยู่ในป่าเบญจพรรณ รองลงมาเป็นห่าดิบเขาและดิบแล้ง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอากาศเย็น มีความชื้นและปริมาณน้ำฝนสูง ในผืนป่าเหล่านี้จะพบไผ่หลายชนิดอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบหนอนรถด่วนได้ในบริเวณที่มีการปลูกไผ่ในสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดที่กล่าวไปแล้ว



ซ้าย ตัวหนอนจะใช้ก้นติดกับปล้องไผ่ ห้อยหัวลงและเข้าสู่ระยะดักแด้  ขวา ลักษณะรูปร่างดักแด้หนอนรถด่วน



บนซ้าย เพศเมีย  บนขวา เพศผู้
ล่าง ผีเสื้อหนอนรถด่วนกำลังวางไข่ที่หน่อไม้



บนจากซ้ายไปขวา หนอนรถด่วนในปล้องไผ่หก - ไผ่ซาง
ล่างจากซ้ายไปขวา ไผ่รวก - ไผ่หก

อาหารของผีเสื้อหนอนรถด่วน
ผีเสื้อหนอนรถด่วนกินอาหารช่วงที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น อาหารของหนอนรถด่วน คือ เยื่อภายในปล้องของต้นไผ่ ซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าที่สูงที่สุดในโลก และเป็นพืชเขตต้อนถึงอบอุ่นในทวีปเอเชีย ไม้ไผ่ที่พบทั่วโลกมีประมาณ ๗๕ สกุล พบในประเทศไทยประมาณ ๑๕ สกุล ๘๒ ชนิด แต่มีไม้ไผ่เพียงบางชนิดเท่านั้นที่เป็นอาหารของหนอนรถด่วน ศูนย์วิจัยและเพาะเลี้ยงหนอนรถด่วนที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พบว่า มีไม้ไผ่เพียง ๓ ชนิดเท่านั้น ที่เป็นพืชอาศัยของหนอนรถด่วน คือ ไผ่รวก ไผ่หก ไผซาง ไม่ไผ่ที่ใช้เลี้ยงหนอนจะมีเมือกอยู่ข้างในซึ่งประกอบด้วยเส้นใย (fiber) ร้อยละ ๔๐-๖๐ มีซูโครสสูง รวมทั้งลิกนิน ร้อยละ ๒๐ ตัวหนอนจะกินจนกระทั่งเริ่มเข้าสู่ระยะดักแด้ ดังนั้น ไผ่ที่เลี้ยงหนอนรถด่วนได้ดีต้องมีเนื้อไผ่ที่หนา และมีช่องว่างภายในปล้องมาก

การเลี้ยงหนอนรถด่วนเป็นการค้า ต้องมีการปลูกไผ่เป็นจำนวนมากเพื่อให้มีเยื่อไผ่เพียงพอสำหรับเลี้ยงหนอนรถด่วน ส่งผลให้มีการปลูกป่าไผ่เพิ่มขึ้น จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์ต้นไผ่ ไม่ให้ถูกทำลายจนลดลงจากผืนป่าธรรมชาติ การเก็บหนอนรถด่วนอย่างถูกวิธี ช่วยให้ผู้เลี้ยงมีรายได้จากการขายหนอนรถด่วน จากการขายไม้ไผ่ และยังนำต้นไผ่ที่มีหนอนรถด่วนไปใช้ได้อีกด้วย

ผีเสื้อหนอนรถด่วนมีปากแบบดูดกิน มีริมฝีปากล่างเป็นท่อกลวงยาวคล้ายสายยางหรืองวง ตาเป็นแบบตาประกอบหรือตารวม หนวดมีลักษณะเรียวยาวคล้ายเส้นด้าย มีขาแบบขาเดิน เป็นขาที่มีต้นขาหน้าแข้งเรียว แต่ไม่มีลักษณะพิเศษและมีขนาดปกติ ส่วนสุดท้ายของลำตัว
คือส่วนท้อง เป็นบริเวณของอวัยวะเพศ จะสังเกตลักษณะของผีเสื้อเพศผู้ได้จากท้องที่เรียวยาว ส่วนเพศเมียท้องมีลักษณะอ้วน



ลักษณะภายนอกของผีเสื้อหนอนรถด่วน ๑.ผีเสื้อหนอนรถด่วนเพศผู้  ๒.ผีเสื้อหนอนรถด่วนเพศเมีย
๓.ไข่ของผีเสื้อบนผิวหน่อไม้  ๔.หนอนรถด่วนอายุ ๑ วัน  ๕.หนอนรถด่วน
๖.หนอนรถด่วนอายุ ๓ วัน ๗.หนอนรถด่วนตัวเต็มวัย มีขนาด ๓๐-๓๕ มิลลิเมตร


               วงจรชีวิตผีเสื้อหนอนรถด่วน

๑.ดักแด้หนอนที่จะเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัย (ผีเสื้อ)  ๒.ตัวเต็มวัย (ผีเสื้อ) ออกจากต้นไผ่ตรงรูที่เจาะไว้เมื่อเป็นตัวอ่อน เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่
๓.ไข่ที่ผีเสื้อแม่พันธุ์วางไว้ที่หน่อไม้ จะฟักเป็นตัวอ่อน (ตัวหนอน) ภายใน ๓-๕ วัน
๔.ตัวอ่อนหนอนรถด่วนจัดกระบวนเป็นแถว มุ่งหน้าหาปล้องที่เหมาะสม เพื่อเจาะเข้าไปในหน่อไม้ไผ่
๕.ตัวอ่อนหนอนเจาะรูเล็กเท่าปลายเข็มเพื่อเข้าไปอยู่ในต้นไผ่
๖.ตัวหนอนกระจายกันขึ้นไปกินเยื่อไผ่ตามปล้องต่างๆ   และ ๗.ตัวหนอนรวมตัวเป็นกลุ่มเมื่ออายุมากขึ้น


วงจรชีวิตของผีเสื้อหนอนรถด่วน
ระยะไข่ เพศเมียแต่ละตัวออกไข่ประมาณ ๑๒๗-๑๔๕ ฟอง ไข่มีลักษณะกลมรี
สีขาวขุ่น ผิวเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ต่อมาไข่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน แล้วจึงฟักเป็นตัวอ่อนหรือตัวหนอน



๑.ปักชำปล้องไม้ไผ่ที่มีหนอนรถด่วนอยู่  ๒.ใช้ตาข่ายครอบหน่อไผ่ที่ต้องการแล้วปล่อยพ่อพันธุ์ แม่พันธ์
๓.เปิดปากตาข่ายปล่อยให้ผีเสื้อผสมพันธุ์และวางไข่อย่างอิสระ

ระยะตัวหนอน ตัวหนอนระยะเต็มวัยมีความยาว ๓๐-๓๕ มิลลิเมตร ส่วนหัวมีปากสำหรับกัดกิน มีหนวดสั้นมาก ๑ คู่ ลำตัวแบ่งออกเป็น ๑๓ ปล้อง เป็นส่วนอก ๓ ปล้อง และส่วนท้อง ๑๐ ปล้อง มีขาที่ส่วนอก ๓ ปล้องเชื่อมต่อกัน ขาที่ส่วนท้องมี ๔ ปล้อง ซึ่งเป็นขาเทียม และมีขาที่ส่วนท้ายอีก ๑ ปล้อง ส่วนหัวสั้น สีน้ำตาลอมส้ม มีเล็บที่บริเวณขาสำหรับช่วยในการเคลื่อนที่ขึ้นและลงภายในลำต้นของไม้ไผ่

หลังจากที่ผีเสื้อผสมพันธุ์แล้ว แม่พันธุ์จะวางไข่บนผิวหน่อไม้ ไข่จะฟักเป็นตัวหนอนภายใน ๓-๕ วัน จากนั้นหนอนจะช่วยกันเจาะหน่อไม้ไผ่เข้าไปด้านใน ระยะนี้หนอนจะกระจายตัวกันกินเยื่อไผ่ภายในหน่อไผ่ปล้องต่างๆ ในลำเดียวกัน จากล่างขึ้นบน ตามการเจริญเติบโตของต้นไผ่ ช่วงที่เป็นตัวหนอนมีระยะเวลา ๙-๑๐ เดือน ก่อนเข้าระยะดักแด้ ในช่วงนี้หนอนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มภายในปล้องไม้ไผ่ เมื่อถึงช่วงที่จะเป็นดักแด้ตัวหนอนจะปล่อยใยเพื่อยึดก้นให้ติดกับด้านในปล้องไผ่และห้อยหัวลง



๑.การสำรวจผ่าไผ่เพื่อหาตัวหนอนที่จวนจะเป็นดักแด้  ๒.รูที่ตัวหนอนเจาะเตรียมให้ผีเสื้อออกจากปล้อง
๓.การตรวจสอบตัวหนอนกำลังเป็นดักแด้ภายในปล้องไม้ไผ่


บน หนอนที่จะเป็นดักแด้ในกระบอกไม้ไผ่อยู่ในกรองตาข่ายป้องกันอันตราย
ล่าง ดักแด้โตเต็มวัยจนกลายเป็นผีเสื้อ

ระยะดักแด้ ตัวหนอนรถด่วนจะลอกคราบกลายเป็นดักแด้ห้อยหัวลง มีเปลือกหุ้มอยู่ ระยะนี้ตัวหนอนจะไม่กินอะไร เรียกว่า “ระยะฟักตัว” ช่วงนี้เป็นช่วงอันตรายที่สุดที่อาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ตัวหนอนกำลังพัฒนาอวัยวะต่างๆ เช่น ปีก ตา หนวด เตรียมเข้าสู่ตัวเต็มวัย ระยะที่เป็นดักแด้มีประมาณ ๓๐-๔๐ วัน ขนาดดักแด้เพศผู้ยาวประมาณ ๓๐ มิลลิเมตร กว้างประมาณ ๖.๔ มิลลิเมตร น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ ๐.๓ กรัม ดักแด้เพศเมียยาวประมาณ ๕๐ มิลลิเมตร กว้างประมาณ ๖.๖ มิลลิเมตร น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ ๐.๔ กรัม

ระยะตัวเต็มวัยเมื่อหมดช่วงดักแด้เป็นตัวเต็มวัย ผีเสื้อหนอนรถด่วนมีลำตัวสีน้ำตาลเข้ม เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ มีส่วนท้องใหญ่ ลำตัวยาวประมาณ ๒๒-๒๓ มิลลิเมตร ปีกเมื่อกางออกมีขนาดประมาณ ๔๑-๔๓ มิลลิเมตร ส่วนปีกผีเสื้อเพศผู้มีขนาด ๑๙ มิลลิเมตร เล็กกว่าผีเสื้อเพศเมีย ปีกกว้างประมาณ ๓๘ มิลลิเมตร เมื่อเจริญเต็มที่ผีเสื้อจะออกจากต้นไผ่ตรงรูที่เจาะไว้เมื่อตอนเป็นตัวหนอน เมื่อถึงช่วงฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่หน่อไม้ออกพอดี ระยะตัวเต็มวัยของเพศเมียเจริญเต็มที่ มีไข่พร้อมที่จะผสมกับเพศผู้ได้เลย โดยปกติผสมพันธุ์ในช่วงค่ำ เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ตามกาบใบที่โคนของหน่อไม้ เริ่มวงจรชีวิตใหม่



๑.เตรียมผีเสื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไว้ในถุงตาข่าย  ๒.นำตาข่ายที่มีผีเสื้อไปครอบบนหน่อไม้
๓.ไข่ที่แม่พันธุ์วางไว้บนกาบหน่อไม้


บน หาต้นไผ่ที่มีหนอนที่จวนจะเป็นดักแด้ในแหล่งธรรมชาติ
ล่างซ้าย ตัดแบบ ก  ล่างขวา ตัดแบบ ข

การเลี้ยงหนอนรถด่วน
การเลี้ยงหนอนรถด่วนเริ่มจากนำตัวหนอนของผีเสื้อหนอนรถด่วนจากต้นไผ่ในธรรมชาติ มาเลี้ยงจนโตเป็นตัวเต็มวัย (ผีเสื้อ) แล้วให้ผีเสื้อแม่พันธุ์วางไข่บนผิวหน่อไม้หรือกาบต้นไผ่ ซึ่งทำได้ ๒ แบบ คือ ให้ผีเสื้อวางไข่บนหน่อไม้ที่ผู้เลี้ยงเลือกไว้ หรือปล่อยให้แม่พันธุ์วางไข่บนต้นใดก็ได้อย่างอิสระ

นางลีลา กญิกนันท์ อดีตนักวิทยาศาสตร์ กรมป่าไม้ ใช้การเลี้ยงทั้งแบบให้ผีเสื้อวางไข่บนหน่อไม้ที่เลือก และ แบบปล่อยให้ผีเสื้อแม่พันธุ์วางไข่บนหน่อไม้ไผ่อย่างอิสระ แบ่งได้เป็น ๒ ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ เตรียมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์โดยเลี้ยงหนอนในต้นไผ่หรือปล้องไม้ไผ่จนเข้าดักแด้ และเป็นตัวเต็มวัย (ผีเสื้อ) เพื่อเก็บรักษาใช้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ แล้วนำไปเพาะเลี้ยงต่อไป มี ๓ วิธี คือ
วิธีที่ ๑ ตัดเก็บปล้องไม้ไผ่ซึ่งมีหนอนรถด่วนอยู่มาเลี้ยง ปักชำในกระป๋องน้ำหรือถังน้ำ ใช้ตาข่ายสีเขียวหุ้ม
วิธีที่ ๒ ตัดเคลื่อนย้ายต้นไผ่ที่มีหนอนมาปักชำปลูกเลี้ยงในพื้นที่ชุ่มชื้น
วิธีที่ ๓ ย้ายตัวหนอนมาเลี้ยงในไผ่ต้นใหม่ในพื้นที่ที่ต้องการ


ขั้นตอนที่ ๒ เตรียมการผสมพันธุ์และวางไข่
เมื่อใกล้กำหนดจะเป็นผีเสื้อประมาณเดือนมิถุนายน นำตาข่ายไนลอนครอบปล้องไผ่ที่มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากขั้นตอนที่ ๑ เพื่อนำไปผสมพันธุ์และวางไข่ ซึ่งมี ๒ วิธี คือ
วิธีที่ ๑ ครอบผสมพันธุ์ : ใช้ตาข่ายเย็บเป็นถุงครอบหน่อไม้ที่ต้องการ แล้วปล่อยผีเสื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อย่างละ ๑-๔ ตัว
วิธีที่ ๒ ปล่อยผสมพันธุ์แบบอิสระ : นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ผีเสื้อปล่อยกลางแปลงหน่อไผ่ ผีเสื้อจะผสมพันธุ์อย่างอิสระ และเลือกวางไข่ตามหน่อไม้ที่ต้องการเอง วิธีนี้ง่าย สะดวก ปลอดภัยสำหรับผีเสื้อ ประหยัด ไม่ต้องลงทุน และเสียเวลาเย็บตาข่ายครอบหน่อไม้

ดอกเตอร์ รัทนา ทาปา อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นำตัวหนอนที่เข้าระยะดักแด้มาเลี้ยงให้เป็นผีเสื้อเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ ดังนี้
วิธีที่ ๑ ให้ผีเสื้อวางไข่บนหน่อไม้ที่เลือกไว้ มีขั้นตอนต่อไปนี้
ขั้นที่ ๑ สำรวจและตัดกระบอกไม้ไผ่ที่มีตัวหนอนที่จวนจะเป็นดักแด้จากธรรมชาติ

ขั้นที่ ๒ นำกระบอกไม้ไผ่ที่มีหนอนซึ่งกำลังจะเป็นดักแด้ใส่ในกรงตาข่ายขนาด กว้าง ยาว และสูง ด้านละ ๑๕ เซนติเมตร โดยจัดให้กระบอกไม้ไผ่อยู่ในลักษณะคล้ายกับในธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้กระบอกไม้ไผ่กระทบกระเทือนและเกิดอันตรายต่างๆ จนกระทั่งถึงระยะตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อ ซึ่งปกติจะมีเพศผู้และเพศเมียจำนวนเท่ากัน

ขั้นที่ ๓ ใช้ถุงตาข่ายขนาดกว้าง ๓๐ เซนติเมตร ยาว ๖๐ เซนติเมตร ปล่อยผีเสื้อเพศผู้ ๕ ตัว เพศเมีย ๕ ตัว และมัดปากถุงเพื่อป้องกันไม่ให้ผีเสื้อบินหนี

ขั้นที่ ๔ นำถุงในขั้นที่ ๓ ไปครอบหน่อไม้ที่มีอายุประมาณ ๒ สัปดาห์ เพื่อให้ผีเสื้อผสมพันธุ์กัน และให้แม่พันธุ์วางไข่บนผิวหน่อไม้นั้น

วิธีที่ ๒ การเลี้ยงโดยปล่อยให้ผีเสื้อผสมพันธุ์และวางไข่อย่างอิสระ มีขั้นตอนต่อไปนี้
ขั้นที่ ๑ หาต้นไผ่ที่มีหนอนจวนจะเป็นดักแด้ในแหล่งธรรมชาติ

ขั้นที่ ๒ ตัดกระบอกไม้ไผ่ที่มีหนอนจวนจะเป็นดักแด้ โดยตัดกระบอกไม้ไผ่ดังรูป ก หรือ ข ถ้าตัดแบบ ดักแด้จะเจริญเป็นผีเสื้อร้อยละ ๕๕ แต่ถ้าตัดแบบ ดักแด้จะเจริญเป็นผีเสื้อร้อยละ ๔๐

ขั้นที่ ๓ นำกระบอกไม้ไผ่ที่ตัดแล้วแขวนไว้ในกรงตาข่ายสีเขียว กว้าง ๒ เมตร ยาว ๒ เมตร สูง ๓ เมตร ที่ครอบไว้บริเวณที่เพาะหน่อไม้ไผ่ ทิ้งไว้ตามธรรมชาติ เมื่อดักแด้เป็นตัวหนอนผีเสื้อก็จะผสมพันธุ์กัน ให้คอยติดตามเฝ้าดูการวางไข่ที่หน่อไม้ไผ่ทุกวัน



บน กรงเลี้ยงตาข่ายสีเขียว  ล่าง กระบอกไม้ไผ่ที่แขวนไว้ในกรงตาข่ายสีเขียว ใกล้กับบริเวณที่เพาะหน่อไม้  

ข้อควรระวังในการเลี้ยง
๑. ระวังไม่ให้น้ำฝนตกลงบนตัวผีเสื้อ และระวังไม่ให้ผีเสื้อโดนแสงแดดโดยตรง
๒. ระวังไม่ให้มีมดขึ้นอย่างเด็ดขาด
๓. ระวังนก ตัวห้ำ
๔. ระวังแตนเบียนและแมลงวันเบียน


ปัญหาที่พบระหว่างการเพาะเลี้ยงหนอนรถด่วน
๑. หน่อไม้ตาย
๒. มีตัวห้ำและตัวเบียน
๓. ไข่ของผีเสื้อหนอนรถด่วนถูกไรทำร้าย
๔. ผีเสื้อเพศเมียไม่มีการวางไข่
๕. หน่อไม้ไผ่ถูกสัตว์และมนุษย์ทำลาย
๖. หน่อไม้ไผ่ถูกด้วงงวงหรือแมลงปีกแข็งเจาะทำลายลำต้น
๗. หน่อไม้ไผ่ถูกน้ำท่วมถึงลำต้น ทำให้หนอนรถด่วนไม่สามารถดำรงชีวิตได้




บนจากซ้ายไปขวา ด้วงงวง  มดแดง  ไรแดง
ล่างจากซ้ายไปขวา นกหัวขวาน  กระรอก

ศัตรูของหนอนรถด่วน

ด้วงเจาะไม้ไผ่
ด้วงงวงเจาะไม้ไผ่จะทำลายหน่อไม้ไผ่ที่หนอนรถด่วนอาศัยอยู่
ถ้ามีรูที่ด้วงงวงเจาะ หนอนรถด่วนจะไม่เข้าไปอาศัยอยู่ หรือถ้ามีด้วงงวงเข้าไป
หนอนรถด่วนที่อยู่ด้านในจะหนีออกมาทั้งหมด


http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/988/988/images/redant.jpg
แมลงกินได้ : จากสารานุกรมไทย โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภาพจาก : www.oknation.net
มด
เป็นศัตรูชนิดหนึ่งของไข่ผีเสื้อและหนอนรถด่วน โดยจะเข้าไปรบกวน
หนอนรถด่วนในปล้องไม้ไผ่ ดังนั้น จึงควรใช้น้ำมันเครื่องทาบริเวณโคนหน่อไม้
สูงจากพื้นประมาณ ๓ เซนติเมตร เพื่อป้องกันมดไม้ให้รบกวนหนอนรถด่วน



ภาพจาก : www.oknation.net
ไรแดง
ไรแดงหรือแมงมุมแดงจะเข้าไปกินหนอนรถด่วนในลำไม้ไผ่ วิธีป้องกันคือ
ใช้น้ำมันเครื่องทาบริเวณโคนหน่อไม้ สูงจากพื้นประมาณ ๓ เซนติเมตร


ภาพจาก : www.nprcenter.com
นกหัวขวาน
เป็นนกที่เจาะกินหนอนและแมลงตามต้นไม้ โดยทั่วไปเป็นนกสวยงาม
ปกติจะเจาะหาหนอนและแมลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศัตรูพืช ทำลายต้นไม้ แต่กรณี
ที่เลี้ยงหนอนรถด่วนในต้นไผ่ นกหัวขวานจะเจาะลำไผ่กินหนอนรถด่วนแทนแมลง
และหนอนอื่นๆ เพราะไม้ไผ่แต่ละปล้องจะมีหนอนรถด่วนเป็นจำนวนมาก


ภาพจาก : blogspot.com
กระรอก
เป็นสัตว์ฟันแทะที่สามารถเจาะต้นไม้และไม้ไผ่ได้ โดยจะเจาะลำไผ่
เข้าไปกินตัวหนอนรถด่วนแต่ละปล้องได้โดยง่าย ป้องกันโดยการวางกับดักล่อ
ไว้บริเวณโคนต้นไผ่



ธุรกิจเกี่ยวกับแมลงกินได้
การส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงแมลงกินได้ที่ถูกวิธี ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ การเพาะเลี้ยง การเก็บ การปรุงอาหาร ตลอดจนการขายแมลงที่ปรุงสุกแล้ว ก่อให้เกิดธุรกิจหลายอย่าง เช่น กลุ่มผู้หาแมลง ผู้เพาะเลี้ยง ผู้ขายแมลงสด ผู้ปรุงหรือแปรรูป ผู้ขายแมลงแปรรูป แมลงหลายชนิดสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ตได้ แมลงบางชนิดเช่น หนอนรถด่วนทอด เป็นรายการอาหารในภัตตาคาร ทำให้ผู้เกี่ยวข้องมีรายได้ อาจทำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม ราคาของแมลงกินได้แตกต่างกันไปตามแหล่งและช่วงเวลา เช่น หนอนรถด่วนสดหรือแช่แข็งขายส่งกิโลกรัมละ ๒๐๐-๕๐๐ บาท หนอนรถด่วนทอดขายกิโลกรัมละ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ บาท ร้านขายปลีกแบ่งขายแมลงกินได้สดตามจำนวนที่ผู้ซื้อต้องการ ขายตั๊กแตนปาทังกา ขีดละ ๓๐ บาท ตั๊กแตนเขียวโม ขีดละ ๒๐ บาท แมลงดานาสด ตัวละ ๑๐ บาท แมลงสะดิ้ง ขีดละ ๒๐ บาท ดักแด้ไหม ขีดละ ๒๐ บาท

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจประเภทนี้ ผู้หาหรือเพาะเลี้ยงแมลงควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมทั้งการไม่ทำลายธรรมชาติ

ผู้ซื้อไปจำหน่าย ผู้รับประทาน ควรเลือกแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้และเลือกรับประทานอย่างเหมาะสม เพราะแมลงกินได้มีหลายชนิด บางชนิดมีโปรตีนสูง บางชนิดมีไขมันสูง และการทอดก็เป็นการเพิ่มไขมันด้วย ดังนั้น ถ้ารับประทานมากเกินไปอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้


ผู้เรียบเรียง  ดร.รัทนา ปาทา และ นายสิทธิพงษ์ วงศ์วิลาศ

จบบริบูรณ์


เรื่อง "แมลงกินได้" : แมลงที่นิยมนำมาบริโภค, คุณค่าทางโภชนาการฯลฯ
          คัดจากหนังสือสารานุกรมไทยฯ เล่ม ๑๗  โดยได้รับอนุญาตจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์  พงศะบุตร กรรมการและเลขาธิการโครงการสารานุกรมไทยฯ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
          ให้คัดลอกและสแกนรูปภาพ เผยแพร่ใน www.sookjai.com เพื่อเป็นวิทยาทานแก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปผู้ใฝ่การเรียนรู้ในเรื่องราวและวิทยาการสาขาต่างๆ  
          ตามหนังสือที่ ส.๒๐/๒๕๕๖ ลง ๑๗ ม.ค. ๕๖    ในนามของเว็บไซต์ สุขใจดอทคอม ขอกราบขอบพระคุณในความกรุณาของท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 พฤศจิกายน 2558 16:08:00 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.036 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 10 เมษายน 2567 04:32:35